ฉบับที่ 256 คุณหมีปาฏิหาริย์ : วัตถุเป็นแหล่งสะสมความทรงจำที่เจ้าของฝากฝังไว้

                ในสังคมตั้งแต่ครั้งบุรพกาลนานมา เชื่อกันว่า วัตถุมิใช่เพียงแค่สิ่งของที่ไร้ซึ่งชีวิตจิตใจ หากแต่ข้าวของต่างๆ รอบตัวเรานั้น เป็นวัตถุธรรมที่บรรจุไว้ซึ่งความทรงจำและจิตวิญญาณอันเกี่ยวข้องกับมนุษย์เรา อันเป็นการผูกโยงไว้ซึ่งความสัมพันธ์สามเส้าอันแนบแน่นระหว่างมนุษย์ วัตถุในธรรมชาติ และความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ         ดังตัวอย่างของความคิดความเชื่อเรื่องการสู่ขวัญให้กับวัตถุต่างๆ ที่ดำรงอรรถประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของผู้คน การปลุกเสกให้วัตถุสามัญมีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่สถิตของพลังอำนาจบางอย่าง ไปจนถึงการที่คนสมัยก่อนเองก็มักใช้วัตถุเป็น “ของขวัญ” หรือตัวแทนเชื่อมโยงความรักความทรงจำ ที่คนคนหนึ่งผูกพันจิตใจให้ไว้กับคนอีกคนหนึ่ง         แต่ทว่า มุมมองต่อวัตถุข้าวของเริ่มแปรเปลี่ยนไป เมื่อระบอบทุนนิยมได้ตัดสะบั้นความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างมนุษย์-วัตถุ-สิ่งเหนือธรรมชาตินั้นเสีย สิ่งของต่างๆ สามารถสรรหามาได้เพียงเพราะเราใช้เงินในกระเป๋าซื้อมา พร้อมๆ กับลัทธิวัตถุนิยมได้เข้ามาแทนที่ความเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ จนท้ายที่สุดวัตถุก็กลายเป็นเพียงวัตถุที่ขาดความทรงจำทั้งของปัจเจกบุคคลและของสังคมไปโดยปริยาย         ด้วยเหตุฉะนั้น เมื่อละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกเอาใจบรรดา “สาววาย” อย่าง “คุณหมีปาฏิหาริย์” ได้เปิดเรื่องขึ้นโดยให้ตุ๊กตาหมีสีขาวนวลตัวใหญ่ของพระเอกหนุ่ม “พีรณัฐ” บังเอิญถูกสุนัขชื่อ “ขึ้นช่าย” บุกเล่นงานจนตกลงมาจากห้องนอนชั้นสอง และกลายร่างเป็นชายหนุ่มร่างสูงผิวขาวที่มีเลือดเนื้อและจิตใจขึ้นมา ปาฏิหาริย์ที่บังเกิดต่อตุ๊กตาหมีก็ดูเหมือนจะพาเราหวนกลับไปสู่โลกทัศน์ที่ครั้นอดีตเราเคยเชื่อกันว่า วัตถุสิ่งของล้วนมีจิตวิญญาณและความทรงจำสลักฝังอยู่ในนั้น         เพราะสิ่งของก็มีจิตใจ เมื่อตุ๊กตา “คุณหมีปาฏิหาริย์” ได้ตื่นจากสภาพหลับใหลกลายเป็นมนุษย์ขึ้นมา ตุ๊กตาในร่างชายหนุ่มที่ “มทนา” แม่ของพีรณัฐเชื่อว่า เขาเป็น “เจ้าชายน้อย” ตัวละครเอกในวรรณกรรมคลาสสิกที่เธอชื่นชอบ และเธอได้เรียกขานตั้งชื่อเขาว่า “เต้าหู้” สมาชิกใหม่ในบ้าน ผู้ที่จะเข้ามาเชื่อมร้อยและซ่อมแซมสายสัมพันธ์ที่ห่างหายไปนานแล้วในครอบครัวของพีรณัฐ         ควบคู่ไปกับการกลายร่างเป็นมนุษย์ของตุ๊กตาหมี ผู้ชมเองก็ได้ถูกดึงหลุดเข้าไปท่องพิภพแฟนตาซีอยู่ในห้องนอนของพีรณัฐ ที่บรรดาวัตถุสิ่งของต่างลุกขึ้นมามีชีวิต ณ อีกโลกหนึ่งที่คู่ขนานไปกับโลกที่มนุษย์เราสัมผัสผ่านได้เพียงอายตนะทั้งห้าเท่านั้น         กับฉากอรุณสวัสดิ์เริ่มต้นเรื่อง ที่แนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักกับตัวละครวัตถุข้าวของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณลุงสมุดบันทึกสีน้ำตาลผู้คอยรองรับน้ำตาและความทรงจำของพีรณัฐยามที่เขาทุกข์โศก คุณหมอนข้างและคุณน้าผ้านวมที่แสนใจดีและอบอุ่น คุณโต๊ะผู้เป็นโค้ชใหญ่ของบ้าน คุณเก้าอี้สาวขี้อายประจำห้องนอน และอีกหลากหลายสรรพชีวิตของวัตถุสิ่งของที่พูดคุยเสวนาสารทุกข์สุขดิบกันทุกๆ เช้า รวมไปถึงตุ๊กตาหมีผู้ผูกพันและนั่งอยู่ในห้องนอนเคียงข้างตัวพีรณัฐมานานนับสิบปี         เพราะสิ่งของเครื่องใช้มีส่วนผสมทั้งด้านวัตถุรูปธรรมที่จับต้องได้ กับด้านแห่งจิตใจหรือจิตวิญญาณนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ วัตถุอย่างตุ๊กตาหมีจึงถูกมอบหมายให้เป็นสะพานเชื่อมร้อยสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้น เมื่อตุ๊กตาหมีกลายร่างเป็นคน ภารกิจการถักทอสายสัมพันธ์จึงทำให้เต้าหู้ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพีรณัฐ (หรือที่เต้าหู้เรียกว่า “พี่ณัฐ”) และผู้คนรอบตัวไปด้วยเช่นกัน         เมื่อเข้ามาอยู่ในวังวนของชีวิตมนุษย์ เต้าหู้ก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่า ทุกวันนี้ระบอบอำนาจนิยมได้แผ่ซ่านซึมแทรกอยู่ในถ้วนทั่วทุกองคาพยพของสังคม โดยเริ่มจากในครอบครัวก่อนจะลามไปสู่สถาบันอื่นๆ แบบเดียวกับที่ “ตาธาร” ผู้เป็นรักครั้งแรกของพี่ณัฐเคยกล่าวว่า “แค่คนเราคิดต่างกัน คนเราก็ทำร้ายกันได้”         ไม่ว่าจะเป็น “สิบหมื่น” ผู้ใช้อำนาจของพ่อกดทับและทำร้ายจิตใจพี่ณัฐ ที่ไม่เลือกเพศวิถีตามที่ชายชาติทหารผู้พ่ออยากให้ลูกชายเป็น หรือ “แสน” พี่ชายฝาแฝดของสิบหมื่นและเป็นอดีตคนรักของมทนา ที่เพียงเพื่อปกป้องอดีตคนเคยรัก ก็ถึงกับเลือกวางยาฆาตกรรมน้องชายของตน หรือแม้แต่ “สัจจารีย์” ภรรยาที่ไม่เคยได้รับความรักจากแสน ก็ลุแก่อำนาจจนนำไปสู่โศกนาฏกรรมในตอนท้ายเรื่อง         เพราะระบอบอำนาจที่ทำให้มนุษย์ห้ำหั่นกัน และสลัดทิ้งขว้างข้าวของให้กลายเป็นวัตถุซึ่งปราศจากชีวิตจิตใจ ภารกิจของเต้าหู้จึงเริ่มต้นประสานสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และเติมเต็มความรักที่เหือดแห้งไปนานแล้วจากหัวใจของพี่ณัฐ ภาพความรักมุ้งมิ้งฟรุ้งฟริ้งเอาใจ “สาววาย” ของพีรณัฐกับเต้าหู้น่าจะแสดงนัยได้ว่า แม้เขาจะลืมรักแรกไม่ได้ แต่เต้าหู้ก็ไม่ต่างจาก “ของขวัญ” ที่มาชดเชยด้านที่หายไปในชีวิต เฉกเช่นที่พระเอกหนุ่มได้พูดว่า “ที่มึงเคยถามกูว่าวันเกิดปีนี้ทำไมกูไม่อยากได้อะไร เพราะว่าปีนี้กูมีมึงแล้วไง”         และควบคู่กันไปนั้น เต้าหู้และเพื่อนๆ ข้าวของเครื่องใช้เองก็ยังได้เข้ามาดูแลมทนาที่มีอาการอัลไซเมอร์ในระยะแรกๆ และได้ต่อเติมความรักความผูกพันที่หดหายไปเป็นสิบปีระหว่างพีรณัฐกับมารดา         ปิ่นโตอาหารที่ทั้งมทนาและเต้าหู้ปรุงสำรับให้พีรณัฐทุกเช้า เค้กวันเกิดสีรุ้งที่แม่บรรจงทำให้กับลูกชาย โทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ที่พีรณัฐซื้อให้แทนความรักความห่วงใยต่อมารดา เครื่องสำอางและเสื้อผ้าชุดใหม่ที่พี่ณัฐเลือกให้แม่ได้แปลงโฉมต่างไปจากเดิม ไปจนถึงรองเท้าคู่ใหม่ที่พี่ณัฐนั่งสวมใส่เท้าของแม่ ล้วนแล้วแต่ทำให้ทั้งคู่รู้สึกอิ่มใจ หลังจากที่สายสัมพันธ์แม่ลูกถูกเซาะกร่อนมาเป็นเวลานานแสนนาน         ก็คงเหมือนกับเสียงความในใจของเต้าหู้ที่ตั้งคำถามว่า “ข้าวของบางชิ้นถ้าคนไม่ต้องการ ก็จะเอาไปทิ้งได้ แต่คนเราจะทิ้งคนด้วยกันได้จริงหรือ” เพราะฉะนั้น อาจมีบางจังหวะที่มนุษย์หลงลืมความรักความผูกพัน หรือเริ่มต้นกันบนความไม่เข้าใจ แต่ก็คงไม่ยากเกินไปที่เราจะหวนกลับมาซ่อมแซมมันได้อีกครั้งครา         ด้วยเหตุที่วัตถุจะมีชีวิตจิตใจขึ้นมาได้ ก็เพราะมนุษย์ใส่ความรักสลักความทรงจำลงไปในนั้น ดังนั้นในตอนจบของเรื่องจึงเฉลยคำตอบให้เรารู้ว่า เต้าหู้ก็คือของขวัญที่พี่ณัฐรับมอบเป็นตัวแทนความรักจากตาธารเมื่อสิบปีก่อน และความรักความทรงจำของทั้งสองคนก็คือ “ปาฏิหาริย์” ที่ทำให้ตุ๊กตาหมีตื่นมามีชีวิตเป็นเต้าหู้ผู้มีเลือดเนื้อและหัวใจ และที่สำคัญ แม้จะดูทำร้ายจิตใจคอละคร “สาววาย” ก็ตาม แต่เต้าหู้ก็เลือกที่จะสละความเป็นมนุษย์ของตน เพื่อให้ตาธารได้กลับมามีชีวิต และให้พี่ณัฐได้สมหวังกับความรักกันอีกครั้ง         กับภาพฉากจบที่เต้าหู้ได้เข้ามานั่งอยู่ระหว่างอ้อมกอดของพี่ณัฐและตาธาร ก็คงย้อนกลับไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ในวัตถุสิ่งของทั้งหลายต่างก็มีชีวิตและความทรงจำของมนุษย์แอบอิงอยู่ในนั้น เสียงก้องในใจของตุ๊กตา “คุณหมีปาฏิหาริย์” ก็ชวนขบคิดว่า “ข้าวของเป็นแหล่งสะสมความทรงจำที่เจ้าของฝากฝังไว้” และก็คงเป็นสิ่งของเครื่องใช้นั่นแหละที่ทำให้มนุษย์หันกลับมามีรอยยิ้มและความผูกพันกันได้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >