ฉบับที่ 219 รู้ทันตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ (ตอนที่2)

        หลังจากฉบับที่แล้วเราได้พิจารณารูปโฉมโนมพรรณภายนอกของเจ้าตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไปแล้ว เรามาล้วงลูกผ่าตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญดูภายในกันเลย ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ผลิตจากแต่ละบริษัทอาจแตกต่างกันไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ภายใน จะแยกได้เป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นถังเก็บน้ำ และส่วนที่ติดตั้งระบบการกรองและระบบฆ่าเชื้อโรค                      จะเห็นได้ว่าส่วนที่จะส่งผลทำให้น้ำดื่มที่จะจ่ายออกมาสะอาดหรือไม่ คือ ถังเก็บน้ำมันสะอาดจริงหรือ? และระบบการกรองและระบบฆ่าเชื้อมันยังคงมีประสิทธิภาพเหมือนตอนผลิตใหม่ๆ หรือไม่? คราวนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องสอบถามหาคนรับผิดชอบ หรือสอบถามคนใกล้เคียง เพื่อหาข้อมูลการดูแลตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนี้ให้มั่นใจ โดยสอบถามในประเด็นต่างๆเกี่ยวกับการดูแล บำรุงรักษา ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนี้        1. ใครเป็นผู้รับผิดชอบดูแลตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนี้ แล้วมาดูแลอย่างไร บ่อยแค่ไหน           การดูแลนั้น ไม่ใช่แค่มาดูว่าตู้ฯพังหรือไม่? หรือมาเปิดเพื่อเก็บเงิน แต่ต้องมาดูแลเช็ดถู ทั้งภายนอกและภายใน ของตู้ฯให้สะอาด        2. มีการดูแลระบบและอุปกรณ์ที่การกรอง และฆ่าเชื้อตามระยะเวลาตามที่ติดไว้บริเวณด้านหน้าของเครื่องหรือไม่ เช่น มีการล้างไส้กรอง มีการเปลี่ยนไส้กรองแต่ละชนิด หรือหลอดยูวีตามวัน เดือน ปี ที่ระบุหรือไม่         3. มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำจากตู้นี้บ้างหรือไม่ อย่างไร        โดยการตรวจสอบคุณภาพน้ำจะทำได้สองแบบ         (1) การตรวจสอบด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น ซึ่งควรจะทำการทดสอบให้ครบทั้ง 3 อย่าง ได้แก่ ทดสอบความเป็นกรด-ด่าง (ผลที่ได้ควรมีค่าอยู่ในช่วง 6.5 – 8.5) ทดสอบความกระด้าง (ผลที่ได้ไม่ควรเกิน 100 มิลลิกรัม/ลิตร) และทดสอบเชื้อโรคด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น (ผลที่ได้ไม่ควรพบเชื้อโรค)         (2) การเก็บตัวอย่างน้ำส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องแลบ เพื่อยืนยันว่าน้ำดื่มได้มาตรฐานจริงๆหากสอบถามแล้วเรายังไม่ได้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ ก็เหมือนการยอมเสียเงินเพื่อได้น้ำดื่มที่เราไม่รู้ว่าสะอาดหรือไม่มาบริโภคนั่นเอง          ไม่มั่นใจหรือสงสัย สอบถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ที่อยู่ใกล้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 รู้ทันตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ(ตอนที่1)

        แม้ว่าปัจจุบันนี้เราจะหาซื้อน้ำดื่มบรรจุในขวดหรือบรรจุในถังมาบริโภคได้ไม่ยาก แต่ในต่างจังหวัดหรือในชุมชนต่างๆ กลับพบว่ามีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมาติดตั้งมากมาย ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากเงินกองทุนต่างๆที่ชุมชนเลือกดำเนินการ แต่เมื่อได้ติดตั้งตู้ฯ ไประยะหนึ่งแล้ว มักพบว่าตู้เหล่านี้เหมือนถูกทอดทิ้งชอบกล บางตู้ไม่มีผู้ดูแลประจำ บางตู้แม้มีการมอบหมายคนดูแล แต่คนดูแลก็ไม่ค่อยมาใส่ใจดูแลสม่ำเสมอ สุดท้ายผู้บริโภคที่มาหยอดเหรียญซื้อน้ำ เลยไม่รู้ว่าตนเองได้น้ำสะอาด หรือน้ำแถมเชื้อโรคกันแน่ ดังนั้นหากเราเป็นผู้บริโภคที่จะต้องเสียเงินซื้อน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเพื่อนำมาบริโภคแล้ว เราควรรู้เท่าทันมัน จะได้คุ้มค่าและได้น้ำที่สะอาดจากตู้ฯ มาบริโภค         การผลิตน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญก็คล้ายๆ กับการย่อโรงงานผลิตน้ำดื่มให้เล็กลงแล้วยัดลงไปในตู้ หากมองจากภายนอก เราจะเห็นว่ามันมีช่องให้หยอดเหรียญ มีบริเวณให้วางภาชนะเพื่อรองรับน้ำที่ไหลออกมาจากหัวจ่าย  ดังนั้นอันดับแรกก่อนจะเสียเงิน ให้มองดูฮวงจุ้ยของตู้ฯ เสียก่อน ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ตั้งใกล้ถังขยะ ใกล้แหล่งน้ำขังน้ำเน่า หรือใกล้จุดที่มีฝุ่นละอองต่างๆ มาก ถือว่าเป็นอัปมงคลแห่งทรัพย์ที่จะเสีย เพราะย่อมมีความเสี่ยงที่สิ่งสกปรกเหล่านี้จะมาปนเปื้อนที่ตัวตู้ฯ อย่างแน่นอน ที่น่ากลัวคือบริเวณหัวจ่ายน้ำ หากพบว่าหัวจ่ายสกปรก มีคราบตะไคร่คราบฝุ่นติดมากมาย (ทดสอบโดยการนำเอากระดาษทิชชู่เช็ดที่หัวจ่าย) แสดงว่าสิ่งสกปรกเหล่านี้กำลังรอที่จะผสมลงไปในน้ำดื่มที่ตู้ฯ กำลังจะจ่ายให้เรา        เสร็จจากดูฮวงจุ้ยของตู้น้ำหยอดเหรียญแล้ว ถ้ามันผ่านก็อย่าเพิ่งรีบดีใจจนเนื้อเต้น ให้ตั้งสติหันมาดูรายละเอียดที่บริเวณด้านหน้าของตู้ฯด้วย เพราะ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522  ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่  31  (พ.ศ.  2553) กำหนดให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ซึ่งต้องแสดงรายละเอียด ติดไว้ที่ด้านหน้าของตู้ให้อ่านได้ชัดเจน คงทนถาวร และมีรายละเอียดครบถ้วนดังนี้         1. ข้อแนะนําในการใช้  ต้องระบุรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้                    (ก) ต้องดูความสะอาดของหัวจ่ายน้ำ                (ข) ต้องหลีกเลี่ยงการใช้บริการจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติที่มีลักษณะ ไม่ถูกสุขอนามัย                    (ค) ต้องใช้ภาชนะที่สะอาดในการบรรจุน้ำ                    (ง) ต้องหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติที่มีสีกลิ่นหรือรสผิดปกติ                    (จ) ไม่ควรนําภาชนะที่เคยบรรจุของเหลวชนิดอื่นมาบรรจุน้ำ        2. ระบุวัน  เดือน  ปี  ที่เปลี่ยนไส้กรอง  แต่ละชนิด        3. คําเตือน  ต้องระบุว่า  “ระวังอันตราย  หากไม่ตรวจสอบวัน  เดือน  ปีที่เปลี่ยนไส้กรอง  และตรวจสอบคุณภาพน้ำ”  โดยข้อความที่เป็น  “คําเตือน”  ต้องใช้ตัวอักษรหนาสีแดงขนาดไม่ต่ำกว่า  1  เซนติเมตร  บนพื้นสีขาว            ดังนั้นหากเราดูภายนอกแล้วพบว่าตู้น้ำหยอดเหรียญนี้ไม่แสดงฉลาก แสดงว่าตู้นี้เป็นตู้ที่ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522   แจ้งเจ้าหน้าที่ สำนักงานจังหวัดที่รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522 ที่ศาลากลางจังหวัดที่ตู้นั้นตั้งอยู่ได้เลย        หากเราตรวจสอบลักษณะภายนอกของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญดังข้างต้นแล้ว พบว่าถูกต้องครบถ้วน อย่าเพิ่งไว้ใจ ฉบับต่อไปเราจะชวนผู้บริโภคผ่าตู้ให้รู้ทันกันไปเลยว่าข้างในมีอะไร อย่าลืมติดตามอ่านในฉบับต่อไปนะครับ  

อ่านเพิ่มเติม >