ฉบับที่ 260 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ กิจการที่กฎหมายควบคุมแต่พบเถื่อนใกล้ร้อยเปอร์เซ็นต์

        จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในกรุงเทพฯ จำนวน 3,041 คน โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร พบว่าประชาชนร้อยละ 70 เชื่อมั่นเรื่องคุณภาพของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญที่ใช้บริการอยู่ ถึงแม้ว่าจะสังเกตว่ามีการใบแสดงการขออนุญาตประกอบกิจการเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น         น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นแหล่งน้ำดื่มราคาไม่แพงหากเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งจากผลสำรวจทำให้ได้คำตอบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นถึงร้อยละ 70 แต่น้ำจากแหล่งทั้งสองมีการควบคุมกำกับที่ต่างกัน น้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิทควบคุมกำกับด้วย พ.ร.บ. อาหารมี อย.ทำหน้าที่กำกับดูแล  แต่น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ แม้เป็นกิจการที่กฎหมายให้อำนาจการควบคุมให้เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ประเภทที่ 3) ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2558 กล่าวคือบังคับให้ต้องมีการขออนุญาตดำเนินกิจการ โดยต้องขอใบอนุญาตจากราชการส่วนท้องถิ่นที่ตู้น้ำดื่มวางไว้เพื่อบริการประชาชน แต่เมื่อลงพื้นที่จริงกลับพบว่า กิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้อง เรียกว่าคนทำถูกต้องตามกฎหมายมีเพียงหยิบมือ แต่ “ตู้เถื่อน” เกลื่อนเมือง         ผลสำรวจเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการ         2559 มพบ. สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า ร้อยละ 91.6 ไม่มีใบอนุญาต         2561 กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า กทม. มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวนทั้งสิ้น 3,964 ตู้ แต่มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้องเพียง 160 ตู้ (ร้อยละ 4)         2562 กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า กทม. มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งหมด 6,114 ตู้ มีใบอนุญาตถูกต้อง 4,515 ตู้ หรือร้อยละ 73.85 ไม่มีใบอนุญาต 1,599 ตู้ หรือร้อยละ 26.15         ในปี 2561 กรุงเทพมหานครวางแนวทางไว้หลายอย่างเพื่อผลักดันให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเข้าสู่การกำกับดูแลตั้งแต่เรื่อง การขออนุญาตประกอบกิจการให้ถูกต้อง หากพบว่าไม่มีใบอนุญาตจะใช้กฎหมายบังคับ การตรวจสอบคุณภาพน้ำทุกสามเดือน หากพบว่าน้ำไม่สะอาดตามเกณฑ์มาตรฐานจะมีการแจ้งให้เจ้าของตู้หรือผู้ประกอบกิจการปรับปรุงแก้ไข จัดทำสติกเกอร์ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญสะอาดและปลอดภัย ติดหน้าตู้น้ำดื่มที่ได้ขออนุญาตถูกต้อง เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นได้อย่างชัดเจน หรือการพิจารณาลดค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาต ซึ่งทำให้ในภาพรวมจากการรายงานพบว่า ตู้น้ำดื่มมีการขอใบอนุญาตมากขึ้น แต่ยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับการเติบโตของกิจการหรือความนิยมที่พุ่งขึ้นเกือบสองเท่า           อย่างไรก็ตามการเติบโตของกิจการตู้น้ำดื่มยังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ เพราะทำง่ายลงทุนไม่มาก อีกทั้งการควบคุมกำกับหย่อนยาน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร จึงยังคงทำหน้าที่เฝ้าระวังสืบเนื่องเพื่อบอกกับสังคมว่า กิจการนี้ต้องได้รับการกำกับดูแลให้ครอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์ได้หรือยัง                   ผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 2565         การสำรวจแบ่งเป็นสองส่วน        1.อาสาสมัครลงพื้นที่สำรวจตู้น้ำจำนวน 1,530 ตู้ ระหว่างวันที่ 15-31 ส.ค. 2565 จำนวน 1,530 ตู้ ครอบคลุมพื้นที่ 33 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า         มีตู้ที่ไม่ติดใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1,380 ตู้ หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของกลุ่มตัวอย่าง พบไม่มีฉลากระบุเรื่องการควบคุมคุณภาพการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ 1,334 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 87.2 และไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำจำนวน 1,392 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 91         2.สำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 3,041 คน  ใน 33 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผลสำรวจ ดังนี้        ·     คิดว่าตู้น้ำที่ใช้บริการอยู่สะอาดถูกสุขลักษณะ ร้อยละ 70         ·     ไม่พบว่ามีการขอใบอนุญาต ร้อยละ 81 เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่าจำเป็นต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร้อยละ 76 แสดงความเห็นด้วย        ·     สถานที่ตั้งและความสะอาดของหัวจ่าย ส่วนใหญ่พบว่า สะอาด สถานที่ตั้ง ร้อยละ 67 , หัวจ่าย ร้อยละ 58        ·     สำหรับความมั่นใจว่ามีการเปลี่ยนไส้กรองสม่ำเสมอหรือไม่ พบว่า ไม่มั่นใจถึงร้อยละ 51 (สอดคล้องกับผลสำรวจตู้เรื่องการแสดงฉลากการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ ซึ่งพบว่า ร้อยละ 87.2 ไม่มีการแสดงฉลากทำให้ประชาชนไม่มีข้อมูล)

อ่านเพิ่มเติม >