ฉบับที่ 273 ผู้ประกอบการ “ยอดแย่” แห่งปี

        ประมาณช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี องค์กรผู้บริโภคออสเตรเลียหรือเรียกสั้นๆ ว่า CHOICE จะ “มอบ” รางวัลให้กับผู้ประกอบการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคจนสมควรแก่การพูดถึง ปีนี้เป็นการแจกครั้งที่ 18 แล้ว เจ้าของรางวัล Shonky 2023 มีตั้งแต่ร้านค้าปลีก แพลตฟอร์มหาบ้านเช่า อุปกรณ์ไอที เว็บไซต์ ไปจนถึง “ตู้เย็น”ห้างค้าปลีก Woolworths and Coles ได้รางวัลแชมป์ขูดรีด         ปีนี้คนออสซีเผชิญค่าเช่าแพง ดอกเบี้ยเงินกู้แพง แถมข้าวของยังพากันขึ้นราคาอีกการสำรวจล่าสุดพบว่าร้อยละ 88 ของคนออสเตรเลียกังวลเรื่องราคาอาหารและสินค้าในชีวิตประจำวันเพราะพวกเขาเริ่มรู้สึกว่าได้ของกลับบ้านน้อยทั้งๆ ที่จ่ายเงินมากขึ้น ในขณะที่สองห้างใหญ่โกยกำไรอู้ฟู่         เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาห้างวูลเวิร์ธประกาศว่าปีนี้มีกำไร 1,620 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากปีก่อนหน้า ผู้บริหารให้เหตุผลว่าที่กำไรเพิ่มก็เพราะมีค่าใช้จ่ายส่วนที่เกี่ยวกับโควิดน้อยลง หลังทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ ทางห้างโคลส์ก็มีกำไรถึง 1,100 ล้านเหรียญ เช่นกัน         การสำรวจโดย CHOICE ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาพบว่าร้อยละ 60 ของนักช้อปเชื่อว่าสองห้างนี้กำลังกอบโกยกำไรมหาศาลจากการขึ้นราคาสินค้า มีไม่ถึงร้อยละ 20 ที่คิดว่าซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งสองแห่ง (ครองตลาดรวมกันถึงร้อยละ 65) ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วที่จะไม่ขึ้นราคาสินค้า RentTech แพลตฟอร์มหาบ้านเช่า ที่ข้อมูลเกินจำเป็น         นอกจากค่าเช่าบ้านที่แพงขึ้นแล้ว คนออสซีจำนวนไม่น้อยยังหาบ้านอยู่ไม่ได้อีกด้วย แพลตฟอร์มหาบ้านเช่า อย่าง Ignite, 2Apply และ Snug จึงกลายเป็นที่พึ่งสุดท้าย พวกเขาต้องยอมให้ข้อมูลมากมาย เพราะอยากมีที่อยู่ ตั้งแต่สเตทเมนท์ธนาคาร ที่อยู่ปัจจุบัน ที่อยู่ก่อนหน้า บุคคลรับรองจากงานที่ทำล่าสุด 5 งาน หรือแม้แต่รูปถ่ายของลูกๆ และสัตว์เลี้ยง         การสำรวจโดย CHOICE พบว่าร้อยละ 60 ของผู้ใช้แอปฯ เหล่า รู้สึกไม่พอใจกับปริมาณหรือชนิดของข้อมูลที่ต้องให้กับแอปฯ         ในขณะที่ร้อยละ 41 เคยถูกเจ้าของบ้านกดดันให้ทำเรื่องขอเช่าผ่านแอปฯ มีจำนวนไม่น้อย (ร้อยละ 29)ที่ตัดสินใจไม่เช่าเพราะไม่ไว้ใจแพลตฟอร์มเหล่านี้         CHOICE เสนอว่าถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องออกกฎหมายควบคุม เพื่อป้องกันการเรียกขอข้อมูลตามใจชอบโดยไม่มีการแจ้งผู้ใช้ว่าจะส่งให้ใคร นำไปใช้อย่างไร และจะเก็บไว้นานแค่ไหน  Personal alarms อุปกรณ์ฉุกเฉินที่ชิลเกินไป         สินค้ายอดนิยมอย่างหนึ่งที่ลูกหลานนิยมซื้อให้ผู้สูงอายุใส่ติดตัวคืออุปกรณ์แจ้งเตือนฉุกเฉิน เจ้าเครื่องนี้ควรจะช่วยให้ผู้ที่สวมใส่ (ห้อยไว้ที่คอ สวมรอบข้อมือ หรือติดเป็นเข็มขัด) สามารถส่งสัญญาณไปขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลได้อย่างรวดเร็ว         แต่การทดสอบของ CHOICE ที่ทำกับอุปกรณ์นี้จำนวน  40 รุ่น พบว่ามันไม่เป็นเช่นนั้น แม้จะทำหลายปีก็ยังไม่เจออุปกรณ์ที่ดีสักรุ่นเดียว ทั้งตั้งค่ายาก ใช้งานยาก ตัวหนังสือเล็กมาก คู่มือก็ไม่มีให้ ผู้ใช้ต้องดาวน์โหลดเองจากอินเทอร์เน็ต ได้มาแล้วก็ยังอ่านยาก เจ้าหน้าที่ทดสอบ (ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี) อ่านเท่าไรก็ยังไม่เข้าใจ ต้องโทรไปถามฝ่ายบริการลูกค้าของบริษัท แถมต้องชาร์จบ่อย ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องความจำจะทำอย่างไร แต่ถึงจะจำได้ก็ชาร์จยากอยู่ดี ซ้ำร้ายบางรุ่นสัญญาณจะขาดหายเวลาที่ผู้ใช้งานอยู่บนยานพาหนะ เช่น รถเมล์ รถไฟ บ้างก็ไม่ส่งเสียงเตือนเมื่อผู้สวมใส่อยู่นอกเขตที่โปรแกรมไว้ สรุปว่าผู้ผลิตต้องปรับปรุงด่วน อุปกรณ์เหล่านี้จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายได้ก็ต่อเมื่อมันทำงานได้จริง Kogan First ทำเนียนเก็บค่าสมาชิก         การซื้อของออนไลน์ เหมือนการเดินฝ่าดงกับระเบิด หูตาต้องไว บางครั้งอาจไม่ใช่การกด “เลือก” แต่เราต้องมีสติและกด “ไม่เลือก” ไม่เช่นนั้นอาจถูกหักเงินในบัญชีบัตรเครดิตโดยไม่รู้ตัว         ผู้ที่ซื้อของกับร้านออนไลน์ของ Kogan หรือ Dick Smith จะเห็นตัวเลือก “ฟรีช้อปปิ้ง” ที่หน้าเช็คเอาท์ มีเครื่องหมายเหมือนถูกกดเลือกไว้แล้ว พวกเขาก็เข้าใจไปว่ามันฟรีตามนั้น แต่มองไม่เห็นตัวหนังสือเล็กๆ ที่แจ้งข้อความทำนองว่า “คุณได้สมัครเป็นสมาชิกเพื่อทดลองใช้บริการของเรา และสามารถใช้ได้ฟรีเป็นเวลาสองสัปดาห์ หากพ้นกำหนดแล้วคุณจะถูกหักเงิน 99 เหรียญ”         CHOICE ทอลองให้ผู้ใช้ 19 คน ลองเข้าไปใช้งานเว็บไซต์ดังกล่าว และพบว่ามีถึง 9 คนที่ “พลาด” สมัครใช้บริการโดยไม่รู้ตัวว่าอีกสองอาทิตย์จะถูกหักเงิน         ปัจจุบันออสเตรเลียยังไม่มีกฎหมายที่จะสกัดพฤติกรรมแบบนี้ของผู้ประกอบการ ในขณะที่ยุโรป อเมริกาและสิงคโปร์มีแล้ว   Xbox Mini Fridge ตู้เย็นอะไร แช่แล้วไม่เย็น         เครื่องใช้ไฟฟ้านี้เป็นผลงานที่ Microsoft กับ Ukonic ร่วมกันพัฒนาเพื่อตอบโต้เรื่องล้อเลียนบนอินเทอร์เน็ตที่บอกว่าเกมคอนโซล Xbox Series X หน้าตาเหมือนตู้เย็นไม่มีผิด         ไหนๆ ถูกล้อแล้วก็ทำตู้เย็นไปเลย แต่ปัญหาคือมันแช่แล้วไม่เย็นนี่สิ         การทดสอบของ CHOICE ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิ 32 องศา พบว่าตู้นี้ใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมงกว่าจะทำให้เครื่องดื่มบรรจุกระป๋อง 8 กระป๋อง มีอุณหภูมิ 21 องศา (น้ำเปิดจากก๊อกยังเย็นกว่า) แถมยังกินไฟมากด้วย ถ้าเสียบปลั๊กไว้ทั้งวันทั้งคืนจะกินไฟประมาณ 376 kWh ต่อปี ไม่ต่างกับตู้เย็นขนาด 500 ลิตร ที่ทำความเย็นได้จริงๆ เลย เสียชื่อไมโครซอฟท์ที่เป็นผู้นำด้านการลดการใช้พลังงานของวิดีโอเกม         CHOICE สรุปว่ามันไม่ใช่ตู้เย็น มันเป็นแค่ตู้เก็บความเย็นที่มีความจุ 10 ลิตร เราต้องนำของไปแช่ในตู้เย็นจริงๆ ก่อนแล้วค่อยเอามาใส่ แถมยังแช่เครื่องดื่มได้น้อยกว่าที่ออกแบบและโฆษณาไว้ เพราะกระป๋องเครื่องดื่มในออสเตรเลียมีขนาดใหญ่กว่าในอเมริกา เลยใส่ได้แค่ 8 กระป๋อง แทนที่จะเป็น 12

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 กระแสต่างแดน

Shonky Awards 2019        ทุกปีองค์กรผู้บริโภคออสเตรเลีย CHOICE จะประกาศรายชื่อผู้ประกอบการยอดแย่โดยคัดเลือกจากผลสำรวจความเห็น ผลทดสอบผลิตภัณฑ์ พฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภค หรือเรื่องร้องเรียนต่อผู้ประกอบการ และในปีนี้ “ผู้โชคดี” ได้แก่...         ·  ห้างออนไลน์ Kogan ที่โฆษณาว่าตนเองเป็น “ผู้นำด้านการบริการลูกค้า” แต่ในช่วง 7 เดือนแรกของปีกลับมีเรื่องร้องเรียนมากกว่า 300 เรื่อง (เฉพาะในรัฐนิวเซาท์เวลส์) ลูกค้าหลายรายต้องเสียเวลาวุ่นวายอยู่นานกว่าจะได้เงินคืนกรณีที่สั่งซื้อสินค้ามาแล้วเกิดความชำรุดบกพร่อง อดีตพนักงานคนหนึ่งของห้างบอกว่าเคยเห็นยื้ออยู่สามสี่รอบ ทั้งๆ ที่ลูกค้าควรได้เงินคืนตั้งแต่รอบแรก นอกจากนี้บริษัทยังถูก ACCC องค์กรที่ดูแลด้านการแข่งขันฟ้องเพราะถูกจับได้ว่าแอบเพิ่มราคาสินค้าขึ้นร้อยละ 10 ก่อนที่จะทำโปรโมชั่น “ลด 10 เปอร์เซนต์” ...สายช้อปออนไลน์ต้องระวัง         ·  อีกรายคือผลิตภัณฑ์อาหารเช้าสำหรับเด็ก XO Crunch ที่ติดฉลากอวดอ้างว่าเป็นแหล่งไฟเบอร์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับเด็กๆ CHOICE คำนวณแล้วพบว่าถ้าจะกินให้ได้ครบความต้องการของร่างกายของเด็ก ลูกๆ ของคุณจะต้องกินถึง 8 ถ้วย และรับน้ำตาลเข้าไป 62 กรัมหรือ 14 ช้อนชาด้วยและที่น่าสงสัยคือ ผลิตภัณฑ์นี้ได้ “4 ดาวสุขภาพ” มาได้อย่างไร ทั้งที่มีน้ำตาลมากกว่าร้อยละ 22 ความจริงเมื่อคำนวณจากปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายต้องการต่อวัน XO Crunch ควรจะได้แค่ 1.5 ดาวเท่านั้น (ร้อยละ 5 ของพลังงานที่ต้องการต่อวัน)         ·  AMP ที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุนเจ้าดังในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ก็คว้ารางวัลนี้ไปเช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ซับซ้อนเกินเข้าใจว่าทำไมถึงแนะนำให้ลูกค้ายกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตที่เคยมี แล้วขายแผนการคุ้มครองใหม่ให้ด้วยเบี้ยประกันที่สูงขึ้น รายนี้คิดค่าธรรมเนียมการให้คำปรึกษาแพงลิ่วโดยไม่ได้ให้อะไรตอบแทนลูกค้า และฝ่ายที่ได้รับเสียงบ่นจากลูกค้ามากที่สุดคือฝ่ายดูแลกองทุนเงินเกษียณ บริษัทมีบัญชีที่ไม่มีความเคลื่อนไหว AMP Retirement Trust และ Super Savings Trust อยู่ประมาณหนึ่งล้านบัญชี ในปี 2018 เอาไว้กินค่าธรรมเนียมสบายๆ         ·  นอกจากตู้ โต๊ะ เตียงแบบประกอบเอง และสินค้าเครื่องใช้ในบ้านอื่นๆ อิเกีย ยังทำตู้เย็นขายด้วย ทีมทดสอบของ CHOICE ซึ่งทดสอบตู้เย็นมาอย่างโชกโชนพบว่าตู้เย็นรุ่น Nekyld ของเจ้านี้มีข้อบกพร่องมากจนไม่น่าเชื่อ         ตู้เย็นแบบ “มินิมอลลิสต์” นี้ใช้พลังงานมากกว่าที่ระบุบนฉลากประหยัดไฟถึงร้อยละ 8.9 และเพื่อให้ราคาถูก เขาจึงตัดฟีเจอร์ที่ “ไม่จำเป็น” ออกไปหลายอย่าง ส่งผลต่อประสิทธิภาพและทำให้อาหารเสียเร็วขึ้น ตู้เย็นรุ่นนี้ได้คะแนน 39 เต็ม 100 ถ้าเป็นการสอบก็เรียกว่า “ตก” สินะ         ·  โดยรวมแล้วผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพของออสเตรเลียถือว่าไม่คุ้มค่าเงินนัก การสำรวจโดย CHOICE ก็พบว่าผลิตภัณฑ์การเงินที่คนออสซี่กังวลมากที่สุดคือเรื่องนี้ คนรุ่นใหม่ก็ให้ความสนใจซื้อน้อยลง เพราะนอกจากเบี้ยจะสูงขึ้นทุกปี ความคุ้มค่ากลับลดลง มีผู้ประกอบการไม่น้อยที่เสนอผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสิทธิประโยชน์นอกเหนือไปจากที่ทุกคนได้ฟรีอยู่แล้วในระบบประกันสุขภาพ แต่เจ้าที่โดดเด่นจนต้องได้รับรางวัลไปได้แก่ เมดิแบงก์ ที่ขายแผนประกันแบบ “เบสิก” ในราคาที่แพงกว่าแบบ “บรอนซ์” ของเจ้าอื่นๆ         ·  CHOICE ออกตัวชัดเจนให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อประกันสำหรับสัตว์เลี้ยงไว้ก่อน จากการสำรวจกรมธรรม์ประกันสัตว์เลี้ยงเขาพบว่าเงื่อนไข ข้อยกเว้น ข้อจำกัด มันมากมายจนเวียนหัว เช่น ไม่รวมค่าหมอถ้าสัตว์เลี้ยงของเรามีอาการป่วยแบบเดิมซ้ำ หรือไม่รวมค่าตรวจนอกเวลาทำการ ที่สำคัญถ้าจะซื้อก็ต้องซื้อตั้งแต่สัตว์เลี้ยงยังอายุน้อยๆ ซึ่งดูเหมือนต้องเริ่มจ่ายเร็วขึ้นโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าไม่ซื้อไว้ก่อน ก็จะมีข้อยกเว้นมากมายเรื่องสุขภาพของสัตว์ก่อนการทำประกัน ราคาเบี้ยมีตั้งแต่ปีละ 180 ถึง 4,500 เหรียญ (3,700 ถึง 93,000 บาท) และจะเพิ่มขึ้นเมื่อสัตว์เลี้ยงอายุมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 ไปต่างจังหวัดพักเดียวกลับมาตู้เย็นเน่า

        เรื่องนี้เป็นคราวโชคร้ายของผู้บริโภครายหนึ่งที่เช่าหอพักไว้สำหรับการอาศัยในกรุงเทพมหานคร แต่เมื่อมีเหตุต้องไปทำงานต่างจังหวัด พอกลับมาหอพักปรากฏเจ้าของหอตัดไฟเสียอย่างนั้น ทำให้ตู้เย็นซึ่งจำเป็นต้องมีไฟฟ้าให้พลังงานไม่สามารถทำงานได้ ของในตู้จึงเน่าเสียเป็นเหตุให้ห้องเลอะเทอะเสียหาย มาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้น         คุณลัดดาเช่าห้องพักของ ส.อพาร์ตเม้นต์(ชื่อสมมติ) ซึ่งอยู่ในซอยเอกมัย กรุงเทพฯ ไว้ตั้งแต่มกราคม 2559 ในราคาเดือนละ 2,700 บาท โดยมีกำหนดชำระค่าห้องทุกวันที่ 6 ของเดือน จนตุลาคมปีที่ผ่านมา คุณลัดดาต้องไปทำงานต่างจังหวัดจึงได้ฝากเรื่องการชำระค่าห้อง ค่าน้ำไฟไว้กับคุณธีระ ซึ่งเป็นญาติให้ช่วยดูแล โดยคุณธีระก็จัดการและแจ้งให้คุณลัดดาทราบทุกครั้ง จนเมื่อเดือนธันวาคม ประมาณ 23.00 น. คุณลัดดากลับมาที่ห้องพัก ก็แทบช็อกนึกว่าเกิดเหตุฆาตกรรมให้ห้อง เพราะมีกลิ่นเน่าเหม็นโชยคละคลุ้ง เมื่อค้นหาต้นตอก็พบว่าเป็นน้ำเน่าที่ไหลนองออกมาจากตู้เย็น ที่เต็มไปด้วยของเน่าเสียเนื่องจากห้องพักถูกตัดไฟฟ้า ซึ่งผู้ที่ทำได้คงมีแต่เจ้าของหอพักเท่านั้น จึงร้องเรียนมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำปรึกษา ว่าจะสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้อย่างไร แนวทางแก้ไขปัญหา        เมื่อสอบถามจากผู้บริโภคแล้วทราบว่า ทางผู้บริโภคมิได้ละเลยในเรื่องการชำระค่าบริการเช่าห้อง ดังนั้นจึงไม่มีเหตุให้ทางเจ้าของหอพักจะต้องทำถึงขนาดตัดน้ำตัดไฟผู้เช่า ดังนั้นผู้เช่าจึงมีสิทธิได้รับการชดเชยในส่วนที่เกิดความเสียหาย ซึ่งคุณลัดดาแจ้งว่า ต้องการให้ชดเชยเป็นเงิน 3,000 บาท สำหรับค่าทำความสะอาด ต่อมาได้ทราบจากคุณลัดดาว่า ได้ไกล่เกลี่ยกับทางเจ้าของอพาร์ตเม้นต์แล้ว โดยจะจ่ายให้ที่ 2,500 บาท ซึ่งคุณลัดดายอมรับได้ จึงเป็นอันยุติเรื่อง

อ่านเพิ่มเติม >