ฉบับที่ 267 แพ้ต่างหู ดูแลอย่างไรดี

        มีใครชอบใส่ต่างหูบ้าง ยังปกติดีใช่ไหม ถ้าเกิดผิดปกติหรือมีอาการแพ้ เราจะทำอย่างไรดีนะ         เครื่องประดับที่นิยมกันมากๆ ต่างหูติดอันดับแน่นอน แล้วก็ใส่กันหลายแบบหลายวัสดุ อาการแพ้ (ใครไม่เคยแพ้ขอปรบมือให้) สาเหตุหลักก็เกิดจากวัสดุที่นำมาผลิตต่างหู โดยเฉพาะต่างหูราคาไม่แพง ต่างหูแฟชั่นที่ใช้วัสดุพวกโลหะนิกเกิล ซึ่งระคายเคืองผิวหนังได้มากที่สุด หรืออีกสาเหตุก็อาจจะเกิดจากการที่เราไปเจาะต่างหูแล้วทางร้านทำได้ไม่สะอาด ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อได้         ฉลาดซื้อมีวิธีแนะนำสำหรับคนที่อยากเจาะต่างหูครั้งแรก ดังนี้        ·     หากเราเจาะหูครั้งแรกควรที่จะเลือกร้านที่สะอาด ไว้ใจได้ อาจจะศึกษาหาร้านได้จากการรีวิว อีกอย่างควรจะเลือกร้านที่มีขั้นตอนทำความสะอาดอุปกรณ์ในการเจาะหูฆ่าเชื้อได้เป็นอย่างดี        ·     ทางเลือกหนึ่งที่ปลอดภัยแน่นอน คือ  เจาะหูที่โรงพยาบาลกับแพทย์ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่า ร้านธรรมดาตามห้างเคาน์เตอร์ แต่คุณภาพการดูแลและขั้นตอนการเจาะนั้น ปลอดภัยแน่นอน        ·     อาจจะเน้นไปที่ร้านที่ใช้อุปกรณ์ในการทำ 1 ครั้ง/คน และทำการเปลี่ยนใหม่ให้คนต่อไป หากจะใช้ร้านที่ใช้ปืนเจาะหู ก็ควรดูให้ดี เพราะปืนเจาะหูที่ใช้ต้องได้รับการฆ่าเชื้อ เนื่องจากเป็นปืนเจาะอาจไม่ได้ทำการเปลี่ยน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายเช่นติดเชื้อได้ อาการอย่างไรเรียกว่าแพ้ต่างหู        หลังจากที่เราเจาะหูเรียบร้อยแล้ว หากเรามีอาการบวมแดงเล็กๆ น้อยๆ ในระยะเวลา 3-6 วัน ถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติ อันนี้ไม่ต้องกังวลใจไป แต่หากว่าถ้าเริ่มผ่านมาหลายวันเกินไป แต่แผลยังไม่แห้งยังมีอาการบวมแดงมากกว่าเดิม พร้อมทั้ง มีอาการ เช่น เลือดออก หนองหรือสะเด็ดแผล ต่างหูติดไปกับแผลที่เจาะ รวมทั้งมีอาการไข้ขึ้นเพิ่มเติมมากกว่า 37 องศาเซลเซียลนั้น ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อให้แพทย์ช่วยประเมินว่าเกิดจากการติดเชื้อหรือไม่ ทำอย่างไร ไม่ให้เสี่ยงติดเชื้อได้         1. ล้างมือทุกครั้งก่อนเอามือไปสัมผัสบริเวณที่เจาะหู  และควรล้างด้วยสบู่ให้สะอาด        2. ไม่นำมือไปจับที่หู หรือหมุนที่ต่างหูบ่อยๆ เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบได้        3. ทำความสะอาดรอบที่เจาะหูด้วยการใช้น้ำเกลือ และใช้อุปกรณ์ในการล้างคือสำลี เพื่อเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง         สุดท้ายนี้ ถ้าเจาะหูมาแล้ว ไม่ควรถอดต่างหูก่อน 6-8 สัปดาห์แรก ควรรอให้แผลแห้งก่อน แต่ในระหว่างนี้ควรทำตามคำแนะนำข้างต้น ข้อ 1-3 ด้วยเพื่อป้องกัน เนื่องจากการถอดต่างหู เข้าๆ ออกๆ ก็เป็นต้นเหตุอีกอย่างหนึ่งให้หูหรือแผลอักเสบได้เช่นกัน         ทั้งนี้ คนที่แพ้ต่างหู เช่น พวกโลหะนิกเกิลก่อนเลือกต่างหูตามร้านควรสอบถามร้านค้าเพื่อความแน่ใจ จะได้หลีกเลี่ยงลดความเสี่ยง  อีกทางเลือก คือ สวมใส่เฉพาะต่างหูที่เป็นโลหะที่ทำจาก “เครื่องมือทางการแพทย์” แทน ซึ่งต่างหูรูปแบบนี้บางอันอาจจะมีนิกเกิล เจือปนอยู่บ้างเล็กน้อยแต่ยังคงปลอดภัยอยู่ ถ้ายังแพ้อยู่อีกแนะนำให้ใส่ต่างหูไทเทเนียมแทน         ที่สำคัญงดการสวมใส่ต่างหูแฟชั่น เนื่องจากต่างหูแฟชั่นนั้นเราจะไม่สามารถรู้ได้ว่ามีสารนิกเกิลมากน้อยแค่ไหนเป็นส่วนประกอบ ดั้งนั้นการหลีกเลี่ยงหรืองดไปเลยดีที่สุด         นอกจากแพ้ต่างหูจนติดเชื้อ สิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างคือ แผลเป็นคีลอยด์ เพราะอาจจะไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกายรุนแรงมากนัก แต่ส่งผลเสียต่อบุคลิกภายนอกและความมั่นใจได้ อีกอย่างแผลเป็นคีลอยด์สามารถขยายให้ใหญ่ขึ้นได้ จนอาจทำให้รูปร่างใบหูของเราผิดแปลกไปจากเดิมได้         อ้างอิง แพ้ต่างหู..น่ากลัว รายการ สามัญประจำบ้าน ep.88 https://youtu.be/9iAWeRKvZ3E        เรื่อง เจาะหู เรื่องต้องรู้ก่อนตัดสินใจ https://www.pobpad.com/          เรื่อง เจาะหูเพื่อความปัง ระวังพังเพราะคีลอยด์ https://www.phyathai.com/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 เครื่องประดับคุมกำเนิด

เป็นที่ทราบกันดีว่า มนุษย์นั้นมีความกำหนัดแทบทุกคน มากน้อยขึ้นกับพันธุกรรม การอบรมและสิ่งแวดล้อม ความข้อนี้สามารถพิสูจน์ได้ถ้าท่านผู้อ่านเป็นผู้ที่ช่างสังเกตความเป็นไปของคนในสังคม ไม่ว่าจะเล็กขนาดในหมู่บ้านหรือใหญ่ถึงระดับประเทศ ดังนั้นเมื่อคุมความกำหนัดได้ยาก สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องทำให้ได้คือ การคุมกำเนิดเมื่อมีความกำหนัด ซึ่งว่าไปแล้วในทางวิทยาศาสตร์สามารถกล่าวได้ว่า มันไม่ได้ปลอดภัยเสียทีเดียว เนื่องจากมันคือการเข้าไปรบกวนระบบฮอร์โมนของมนุษย์ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดความผิดปรกติต่าง ๆ ได้        มีข่าวหนึ่งซึ่งอาจเป็นที่ยินดีในระบบการวางแผนครอบครัวสำหรับผู้หญิงวันนี้ เพราะกระบวนการนั้นอาจ “ง่ายเหมือนการใส่ต่างหู” โดยรายงานการวิจัยเรื่อง Pharmaceutical jewelry: Earring patch for transdermal delivery of contraceptive hormone ในวารสาร Journal of Controlled Release ชุดที่ 301 หน้าที่ 140–145 ของปี 2019 ได้อธิบายถึงเทคนิคในการให้ยาคุมกำเนิดผ่านการใช้เครื่องประดับ เช่น ต่างหู (ซึ่งมีแนวโน้มว่า น่าจะใช้ได้กับ นาฬิกาข้อมือ แหวน หรือสร้อยคอด้วย) โดยที่ยาคุมกำเนิดนั้นบรรจุอยู่ในแผ่นอาบยา(transdermal patches) ที่สามารถประกอบเข้าเป็นส่วนของเครื่องประดับเช่น ต่างหู ซึ่งเมื่อสัมผัสกับผิวหนังสามารถทำให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้        การทดสอบเบื้องต้นในรายงานการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า แผ่นอาบยาคุมกำเนิดนั้นสามารถจ่ายตัวยาซึ่งออกฤทธิ์เป็นฮอร์โมนเพศหญิงในปริมาณที่เพียงพอต่อการคุมกำเนิดได้ในสัตว์ทดลอง(จะกล่าวถึงกระบวนการในส่วนต่อไปของบทความ) ซึ่งงานวิจัยในสัตว์ทดลองเพื่อพิสูจน์แนวคิดนี้ ได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา(USAID) โดยเป้าหมายต่อไปสำหรับเทคนิคใหม่นี้คือ การปรับปรุงให้สามารถใช้แผ่นอาบยาประกอบกับเครื่องประดับต่างๆ ในการให้ยาคุมกำเนิดผ่านเข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนังแก่กลุ่มเป้าหมายจริง และยังอาจเลยไปถึงการให้ยาชนิดอื่นๆ แก่ผู้ป่วยด้วย        เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้การใช้ยาคุมกำเนิดอาจต้องเปลี่ยนวิธีไปจากการกินประจำวันแบบเดิม เพราะมีในบทความเรื่อง Contraceptive Failure in the United States: Estimates from the 2006–2010 National Survey of Family Growth ตีพิมพ์ในวารสาร Perspectives on Sexual and Reproductive Health ชุดที่ 49 หน้าที่ 7-16 ในปี 2017 ได้ให้ข้อมูลว่า ในการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดนั้นแม้มีความระมัดระวังที่ดีแล้วอย่างไรก็ตาม โอกาสเกิดปัญหาจากการลืมกินยาก็ยังอยู่ที่ร้อยละ 0.3 และถ้าเป็นกรณีที่ผู้ใช้ยาขาดความระมัดระวังคือ ไม่เตือนตนให้กินยาตามกำหนดแล้ว ความผิดพลาดอาจสูงถึงร้อยละ 9 ทีเดียว        ที่น่าสนใจจากงานวิจัยนี้คือ ถ้าชนิดของยาคุมกำเนิดมีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างของหญิง(หรือชาย) แต่ละคนได้ ก็ควรเป็นเรื่องที่ดีเพราะการสวมเครื่องประดับนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวันของคนที่ทำงานนอกบ้าน แล้วเทคนิคนี้อาจช่วยให้ผู้หญิงบางคนที่อาจติดขัดในข้อบังคับทางศาสนาสามารถ(แอบ) ป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจจากสามีผู้ไม่ประมาณตนในการมีลูกในยุคที่กล่าวกันว่า การมีลูก 1คน อาจยากจนไปถึง 70 ปี ไม่ใช่แค่ 7 ปี ดังคำโบราณที่เคยกล่าวไว้        จริงแล้วการใช้แผ่นอาบยาเพื่อคุมกำเนิดนั้น ไม่ใช่แนวคิดการให้ยาวิธีใหม่เสียทีเดียว เพราะเป็นการปรับเทคโนโลยีในการใช้แผ่นอาบยาป้องกันอาการเมารถ ช่วยการเลิกสูบบุหรี่ และควบคุมอาการของวัยหมดประจำเดือน แต่นี่เป็นแนวคิดครั้งแรกที่ประยุกต์วิธีการดังกล่าวเข้าไปกับการใช้เครื่องประดับซึ่งน่าจะดึงดูดใจในการใช้ยาได้ง่ายขึ้น        วงการแพทย์นั้นมีประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับการสร้างและการใช้แผ่นอาบยาแปะผิวหนังเพื่อจ่ายยาสู่ชั้นใต้ผิวหนังคนไข้ เพียงแต่ในครั้งนี้ต้องการพัฒนาให้แผ่นอาบยามีขนาดเล็กลง (แต่สามารถบรรจุยาที่มีขนาดเพียงพอกับวัตถุประสงค์) จนเนียนพอในการประกอบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประดับ ซึ่งต่างหูดูจะดึงดูดใจสาวได้ดีพอกับแหวนวงงาม นาฬิกาสุดหรู หรือสร้อยคอเก๋ ๆ        ในการทดสอบแนวความคิดเกี่ยวกับการให้ยาด้วยวิธีดังกล่าวโดยใช้สัตว์ทดลองนั้น เริ่มจากการใช้ใบหูของหมู (pig) เพื่อทดสอบว่า ยา levonorgestrel (ซึ่งอยู่ในบัญชียาหลักเพื่อใช้ในสูตรยาคุมกำเนิดสตรีขององค์การอนามัยโลก และยานี้กำลังถูกพัฒนาในสูตรที่เอื้อต่อการคุมกำเนิดในบุรุษด้วย) ซึมผ่านได้ดีตามต้องการ จากนั้นนักวิจัยได้ใช้แผ่นอาบยาดังกล่าวแปะหลังใบหูหนูชนิดที่ไม่มีขน (nude rat) เนื่องจากการผ่าเหล่านาน 16 ชั่วโมงแล้วถอดออก 8 ชั่วโมง(เพื่อจำลองการถอดต่างหูระหว่างการนอนหลับของคนทั่วไป) ผลการทดสอบนั้นชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าระดับยาในเลือดหนูได้ลดลงบ้างในขณะที่เอาต่างหูออกไป แต่ความเข้มข้นของยาที่เหลืออยู่ในช่วงต่ำสุดนั้นก็ยังดูว่าเข้มข้นพอต่อการออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้        แผ่นอาบยาที่ใช้ทดสอบโดยนักวิจัยนั้นมีสามชั้น โดยชั้นแรกเป็นวัสดุที่ยาไม่สามารถซึมผ่านได้ มีกาวที่สามารถยึดให้ติดกับเครื่องประดับ สำหรับชั้นกลางของแผ่นอาบยานั้นประกอบด้วยยาคุมกำเนิดในรูปที่สามารถผ่านวัสดุชั้นที่สามที่มีกาวยึดช่วยยึดเกาะกับผิวหนังแล้วให้ยาผ่านซึมเข้าใต้ผิวหนัง เพื่อเข้าสู่กระแสเลือดได้ตามต้องการ ในรายงานการวิจัยกล่าวว่า แผ่นอาบยาที่ใช้ศึกษานั้นมีขนาดประมาณหนึ่งตารางเซนติเมตร สามารถเกาะผิวหนังของสัตว์ทดลองได้อย่างแน่นหนา ดังนั้นการใช้ต่างหูหรือเครื่องประดับอื่นที่เหมาะสมจึงอาจเป็นแนวทางที่มีประโยชน์มากที่สุดสำหรับการให้ยา        ในที่สุดแล้วถ้าวิธีการนี้ใช้ได้สำเร็จในการคุมกำเนิดของมนุษย์ แผ่นอาบยาที่แปะบนต่างหูจำต้องมีการเปลี่ยนเป็นระยะๆ ที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ใช้ได้รับยาในระดับที่มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด ซึ่งทำให้ผู้รับยาสามารถเปลี่ยนต่างหูได้ตามชอบใจโดยใช้แผ่นอาบยาเดิมได้ วิธีการนี้ควรเป็นแรงดึงดูดให้มีการรับยาในลักษณะที่ลดโอกาศผิดพลาดเหมือนการกินหรือฉีดแบบเดิม ๆ        ข้อมูลในงานวิจัยกล่าวประมาณว่า การปรับเปลี่ยนวิธีให้ยาคุมกำเนิดนี้มีวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์อย่างมากในประเทศกำลังพัฒนาที่การเข้าถึงบริการให้ยาคุมกำเนิดทั้งชนิดกินหรือที่ออกฤทธิ์นานเป็นยาฉีดยังเป็นปัญหา ทั้งนี้เพราะสตรีคงสนใจกับเครื่องประดับที่ให้ยาได้มากกว่าการกินยาหรือใช้อุปกรณ์การแพทย์ เช่น ห่วงคุมกำเนิด โดยตรง งานวิจัยที่จำเป็นต้องตามมาคือ การศึกษาว่า กลุ่มสตรีในพื้นที่ต่างกันนั้นมีรสนิยมหลักแบบใดในการเลือกเครื่องประดับใช้ เพื่อให้การบริหารการใช้ยาไม่มีความจำกัดที่ความชอบในรูปแบบของเครื่องประดับ        ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการคือ นอกจากการศึกษาดูประสิทธิภาพและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของเครื่องประดับคุมกำเนิดแล้ว ยังจำเป็นต้องศึกษาถึงปัจจัยทางสังคมและความเป็นปัจเจกบุคคลที่เข้ามามีบทบาทกับผู้หญิง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่การคุมกำเนิดเป็นข้อห้ามในชีวิตประจำวันผู้ทำการวิจัยได้ให้ความหวังว่า แนวทางการให้ยาแบบนี้ควรมีการศึกษาถึงการใช้ยาชนิดอื่นที่ต้องได้รับเป็นประจำ โดยมีความจำเป็นที่ต้องศึกษาว่า ยาแต่ละชนิดนั้นต้องยังมีประสิทธิภาพด้วยปริมาณที่ต่ำพอที่จะบรรจุในพื้นที่ที่จำกัดของแผ่นแปะซึ่งจะนำไปใช้ร่วมกับเครื่องประดับต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติม >