ฉบับที่ 196 วิตามินซีต้านหวัด...หรือ!!!!

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ข้อมูลว่า วิตามินซีนั้นช่วยป้องกันหวัด (และเลยเถิดไปถึงการป้องกันมะเร็ง) โดยอ้างถึงความเชื่อในเรื่องนี้ของ ดร.ไลนัส พอลิ่ง (Dr. Linus Pauling เป็นนักวิทยาศาสตร์เพียงหนึ่งในสองคนของโลกที่ได้รางวัลโนเบลถึงสองสาขา) ซึ่งทุ่มเทความรู้ความสามารถพยายามพิสูจน์ในคุณประโยชน์ของวิตามินซีในประเด็นดังกล่าว จึงทำให้มีคนศรัทธาเชื่อตามในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้ที่ขายวิตามินซีเป็นอาชีพอย่างไรก็ตามผู้ที่สนใจติดตามข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถของวิตามินซีอย่างลึกซึ้ง หรือได้เรียนรู้ในศาสตร์สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพในระดับที่สูงขึ้นกว่าคนทั่วไป มักเคยพบข้อมูลเกี่ยวกับความสงสัยในเรื่องนี้ว่า “วิตามินซีป้องกันหวัดได้จริงหรือ” เพราะเมื่ออ่านผลการศึกษาทางระบาดวิทยาแล้ว ส่วนใหญ่มักออกมาในแบบไม่สามารถสรุปผลได้ชัดเจน อาจเนื่องจากมนุษย์กินอาหารที่เป็นของผสมซึ่งซับซ้อนจนยากในการแยกแยะว่า การที่ใครสักคนมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคใดมากหรือน้อยนั้นขึ้นกับสารอาหารชนิดใด เพราะส่วนใหญ่มักเป็นผลที่เกิดเนื่องจากรูปแบบการกินอาหารมากกว่า ดังนั้นความเชื่อเรื่องการเสริมวิตามินซีในระดับสูงกว่าที่มนุษย์กินเป็นปรกติจากอาหารเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดนั้น จึงดูว่า ยังสรุปอย่างชัดเจนไม่ได้วิตามินซีนั้นเป็นสารชีวเคมีที่มนุษย์สร้างเองในร่างกายไม่ได้ ต้องแสวงหาโดยการกินผักใบเขียว มะเขือเทศ พริก ฯลฯ และกินผลไม้ตระกูลส้ม ฝรั่ง มะขามป้อม มะละกอสุก สตอร์เบอร์รี่ ฯลฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งวิตามินซีอันสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของเรา วิตามินซีมีความสำคัญต่อกระบวนการสร้างโปรตีนชนิดที่เรียกว่า คอลลาเจน(โดยในกระบวนการสร้างนั้นมีเอ็นซัมหนึ่งในหลายชนิดที่มีวิตามินซีเป็นตัวช่วยสำคัญร่วมทำหน้าที่นี้) โปรตีนชนิดนี้เป็นองค์ประกอบหลักของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน(Connective tissue) ในร่างกายเราซึ่งพบได้ที่ ผิวหนัง เหงือก กล้ามเนื้อ ข้อต่อของร่างกาย หลอดเลือดต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อใดที่ร่างกายต้องซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ชำรุด วิตามินซีต้องถูกเรียกใช้งานเป็นประจำ อีกทั้งความสามารถในการสร้างคอลลาเจนนั้นเป็นดัชนีชี้วัดความแก่ของเราที่มองเห็นด้วยสายตาของผู้อื่นประการสำคัญที่เกี่ยวกับการป้องกันหวัดคือ วิตามินซียังเป็นหนึ่งในสารอาหารอีกหลายชนิดที่เชื่อกันว่า จำเป็นต่อระบบภูมิต้านทาน ประเด็นนี้ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า การกินวิตามินซีชนิดเดียวมากๆ เข้าไปนั้นอาจช่วยป้องกันหวัดได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะระบบภูมิต้านทานที่ลดความเสี่ยงในการเป็นหวัดของเรานั้นต้องอาศัยสารอาหารอื่นร่วมด้วยคือ โปรตีนที่มีกรดอะมิโนครบ วิตามินเอ แร่ธาตุเช่น สังกะสี และอื่นๆ มาร่วมทำงานกับวิตามินซี ข้อมูลจากบทความเรื่อง Can vitamin C prevent a cold ? ซึ่งปรากฏใน Harvard Health Letter ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2017 นั้นเล่าถึงผลสรุปของการศึกษาทางระบาดวิทยาที่รวบรวมหลักฐานจากการศึกษา 29 ชิ้น มีอาสาสมัครร่วมงานวิจัยกว่า 11,000 คน แสดงให้เห็นว่า วิตามินซีราว 200 มิลลิกรัมต่อวันที่ให้แก่นักวิ่งมาราธอน นักกีฬาแข่งสกี และทหารประจำการที่ฝึกหนักในบริเวณที่มีอากาศหนาวนั้น สามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดได้ถึงร้อยละ 50 ในขณะที่วิตามินซีขนาดเดียวกันไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดในกลุ่มคนธรรมดาซึ่งไม่ได้ออกแรงเท่าใดนักในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ดียังมีข้อมูลที่ทำให้คนขายวิตามินซีใจชื้นขึ้นมานิดหนึ่งว่า โดยทั่วไปแล้วการได้รับวิตามินซี(ทั้งจากอาหารหรือการเสริม) ในขนาด 200 มิลลิกรัมต่อวันนั้นช่วยให้จำนวนวันของการเป็นหวัดในผู้ใหญ่ลดลงร้อยละ 8 และลดลงร้อยละ 14 ในเด็ก ข้อมูลดังกล่าวนี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์คำนวนต่อได้ว่า วิตามินซีน่าจะช่วยให้วันที่คนไม่สามารถทำงานเพราะเป็นไข้หวัดนั้นกลับคืนมามากว่า 23 ล้านวันทำงานต่อปีทีเดียว บทสรุปที่ได้จากบทความของ Harvard Health Letter ฉบับที่อ้างถึงข้างต้นนี้คือ ถ้าต้องการลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดควรได้รับวิตามินซีราว 200 มิลลิกรัมต่อวัน(ไม่ว่าจากการเสริมหรือจากอาหาร) พร้อมกับมีการใช้แรงกายมากพอจึงได้ผลดี(ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกับการเสริมแคลเซียมที่ต้องออกกำลังกายด้วยหลังกินแคลเซียมเม็ดเพื่อให้ได้ผลในการลดความเสี่ยงของอาการกระดูกบาง) ที่สำคัญคือ ต้องกินวิตามินซีก่อนเป็นหวัด ไม่ใช่เป็นหวัดแล้วจึงกินซึ่งช่วยได้แค่ทางใจนอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดที่ผู้เขียนคิดว่า น่าจะใช่ กล่าวคือ ผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องไปในสถานที่ที่มีคนน่าจะเป็นหวัดเยอะเช่น โรงพยาบาลของราชการ(โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่มักไม่จอแจและมีระบบระบายอากาศดีเป็นไปตามค่าบริการที่ค่อนข้างสูง) โรงภาพยนตร์ รถประจำทางปรับอากาศรุ่นโกโรโกโส เป็นต้น ประเด็นหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญแต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงคือ การได้รับวิตามินซีจากอาหารและจากการเสริมในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น มีความแตกต่างกันในบริบทของการได้รับสารอาหารจำเป็นอื่นๆ ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เพราะวิตามินซีที่ขายเป็นเม็ดนั้นคือ กรดแอสคอบิค(ชื่อทางเคมีของวิตามินซี) มักถูกผสมกับแป้งพร้อมน้ำตาลทราย และอาจมีการเพิ่มสารสกัดจากธรรมชาติบางชนิด เช่น ฟลาโวนอยด์ นัยว่าฟลาโวนอยด์นั้นช่วยให้การดูดซึมวิตามินซีให้ดีขึ้น จึงเป็นเหตุผลในการใช้คำเฉพาะเพื่อส่งเสริมการขายเช่น Bio-vitamin C โดยหวังให้ผู้บริโภคเข้าใจเอาเองว่า สินค้าที่ระบุแบบนี้เป็นวิตามินซีที่สกัดจากธรรมชาติ ซึ่งมักมีราคาที่แพงขึ้นกว่าวิตามินซีเม็ดที่สังเคราะห์ในโรงงาน ดังนั้นถ้าจะให้การกินวิตามินซีได้ผลดีท่านผู้บริโภคควรกินในรูปผลไม้เพื่อให้ได้ฟลาโวนอยด์ไปพร้อมกันกับความอร่อยของผลไม้นั้นอีกประเด็นที่หลายท่านมักเข้าใจผิดว่า อาหารที่มีวิตามินซีสูงต้องมีรสเปรี้ยว ดังเช่นเมื่อกินผลไม้ตระกูลส้มซึ่งมักมีรสเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ แล้วได้วิตามินซีในระดับน่าพอใจ เลยเข้าใจว่าการดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำเชื่อมใส่น้ำแข็งก็น่าจะได้วิตามินซีในระดับสูงเช่นกัน เรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกนักเพราะ รสชาติที่แท้จริงของวิตามินซีคือ ขม ดังนั้นผลไม้ที่ขม เช่น มะขามป้อม จึงมีวิตามินซีสูงกว่ามะนาว อีกทั้งข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมักระบุว่า สามารถพบวิตามินซีระดับสูงได้ในอาหารที่ไม่มีรสเปรี้ยว เช่น พริกหวาน บรอคโคลี กะหล่ำดาว (Brussels sprout) ฯลฯ และการที่ผู้ค้าวิตามินซีเม็ด นำเอาน้ำตาลทรายและกรดมะนาวมาปิดบังความขมของวิตามินซีชนิดเม็ดนั้น เป็นการทำให้เด็กติดในรสชาติหวานอมเปรี้ยวซึ่งไม่ถูกต้อง เป็นการทำให้เด็กเข้าใจผิดว่า วิตามินซีเม็ดนั้นเป็นลูกอมที่มีประโยชน์ปราศจากโทษ น่าจะอมเล่นได้ทั้งวัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการได้รับวิตามินนี้เกินควร จึงมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าอมวิตามินซีมากเกินจำเป็นแล้วจะส่งผลเสียต่อร่างกายหรือไม่ ข้อมูลชิ้นหนึ่งซึ่งสืบค้นได้ในอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า การกินวิตามินซีเสริมในระดับ 2000 มิลลิกรัมต่อวันนั้นมักก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และอาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังมีผู้ตั้งสมมุติฐานว่า วิตามินซีปริมาณสูงมากๆ นั้นเป็นสาเหตุของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ด้วยเหตุนี้นักวิชาการที่ไม่มีนอกมีในกับบริษัทผู้ค้าวิตามินชนิดนี้ส่วนใหญ่ มักแนะนำผู้บริโภคว่า การกินอาหารที่มีวิตามินซีสูงดีกว่าการกินวิตามินซีเม็ด เพราะเมื่อกินจากอาหารจะได้ความอร่อยในภาพรวมมากกว่าการกินสิ่งที่เป็นเม็ด ซึ่งอาจมีแค่ความเปรี้ยวหวานหลอกเด็ก ประการที่สำคัญคือ การกินจากอาหารมักทำให้ได้วิตามินซีพร้อมสารอาหารอื่น ซึ่งจำเป็นในการทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย อย่างไรก็ดีเมื่อใดก็ตามที่ผู้บริโภคอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถกินผักผลไม้สดได้ วิตามินซีที่เป็นเม็ดก็เป็นทางเลือกที่จำเป็นต่อสุขภาพที่ดีเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 255219 สิงหาคม 2552อันตราย! อย่าซื้อยาต้านหวัด 2009 ผ่านเน็ตนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาขายยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทางอินเทอร์เน็ต โดยที่แพทย์ไม่ได้เป็นผู้จ่ายยา เพราะอาจเกิดอันตรายร้ายแรงทั้งจากการได้รับยาปลอม ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต รวมถึงการได้รับยาที่ไม่เหมาะสมต่อร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการดื้อยา   ยาต้านไวรัสดังกล่าวจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ และมีเงื่อนไขให้ใช้เฉพาะโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล จะไม่มีจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีการกระจายยาต้านไวรัส (โอเซลทามิเวียร์) ไปยังโรงพยาบาลและคลินิกที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น 25 สิงหาคม 2552เชิญร่วมทดสอบความไวเน็ต เร็วจริงหรือแค่คำโฆษณาสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) จับมือกับสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เปิดโครงการ "สปีดเทสต์" (Speed Test) เพื่อเก็บข้อมูลเรื่องความเร็วในการใช้บริการอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีผู้ร้องเรียนเข้ามามากว่าความเร็วต่ำกว่าที่มีการโฆษณา โดยหวังใช้ผลทดสอบครั้งนี้เป็นแนวทางแก้ไขและเอาผิดผู้ให้บริการที่เอาเปรียบผู้บริโภค นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สบท. กล่าวว่า “โครงการนี้มีชื่อว่า "โครงการสำรวจและทดสอบคุณภาพความเร็วอินเตอร์เน็ตปี 2552" โดยที่มาของโครงการนี้เนื่องจากทาง สบท. ได้รับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่เดือนม.ค.- มิ.ย. 2552 จำนวน 622 เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตถึง 90% ซึ่งเรื่องที่ร้องเรียนเป็นเรื่องของประสิทธิภาพของความเร็วอินเตอร์เน็ตที่ไม่เป็นไปตามที่ผู้ให้บริการโฆษณา จุดมุ่งหมายของการสำรวจข้อมูลนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลมาปรับปรุงคุณภาพการให้บริการแก่ผู้บริโภค ซึ่งหากมีผู้ประกอบการรายได้มีข้อร้องเรียนเกินกว่า 50% ก็จะแจ้งให้ กทช.ดำเนินการต่อไป แต่เพื่อให้พัฒนาบริการไม่ใช่เพื่อปิดการให้บริการ” ผู้บริโภคสามารถเข้าทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ตัวเองใช้ผ่านเว็บไซต์ได้ที่ www.speedtest.or.th ซึ่งระบบจะทดสอบความเร็วของผู้ให้บริการรายนั้นทันที และเก็บข้อมูลไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ จากนั้นจะนำผลที่ได้มาทำการประมวลและแจ้งผลให้ทราบในวันที่ 30 พ.ย. 2552 27 สิงหาคม 2552อย. ยันยังไม่พบสาหร่ายปลอมกรณีพบฟอร์เวิร์ดเมลเรื่องสาหร่ายปลอม ซึ่งสร้างความกังวลให้กับผู้บริโภคว่า สาหร่ายที่นำเข้ามาจากต่างประเทศจะมีการปลอมปนพลาสติกนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้ตรวจสอบการนำเข้าและการจำหน่าย พร้อมเก็บตัวอย่างสาหร่ายอบแห้งส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อวิเคราะห์หา DNA ของสิ่งมีชีวิตและพิสูจน์ว่าเป็นพลาสติกหรือไม่ โดยตรวจสอบสาหร่ายอบแห้งที่วางจำหน่ายในท้องตลาดจำนวน 5 ยี่ห้อ ซึ่งจากการส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูลักษณะทางกายภาพ ปรากฏว่าสามารถเห็นเซลล์สาหร่ายได้อย่างชัดเจน ซึ่งยืนยันได้ว่าเป็นสาหร่ายจริง อย. แนะผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย ระบุรายละเอียดครบถ้วน ย้ำผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านการตรวจสอบจากด่าน อย. ปลอดภัยแน่นอน สธ. รับกลับไปใช้ชื่อ “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ” ตามเดิมหลังเจรจาเครือข่ายภาคประชาชนสธ. มอบคำมั่นกับภาคประชาชน ยืนยันใช้ชื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ตามเดิม พร้อมรับพิจารณาเรื่องสัดส่วนคณะกรรมการต้องเท่าเทียม ส่วนเรื่องตั้งเป็นองค์กรอิสระให้ครม.ตัดสินใจ เร่ง รมว.สธ. ทำข้อสรุปยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป เครือข่ายภาคประชาชน ได้แก่ เครือข่ายผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ชมรมเพื่อนโรคไต ฯลฯ กว่า 100 คน ได้เดินทางเข้ากระทรวงสาธารณสุขเพื่อไปเรียกร้อง ติดตามและหาข้อสรุป เรื่องร่าง “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ...” โดยมีนายพิเชฐ พัฒนโชติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการเจรจา โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วย นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้เข้าพบนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร้องเรียนถึงปัญหาของการเปลี่ยนแปลงแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งในการพิจารณาของกฤษฎีกามีการแก้ไขในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของกฎหมายโดยเป็นไปตามที่ตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขนำเสนอ ทั้งในส่วนของชื่อร่าง พ.ร.บ. ที่ถูกเปลี่ยนเป็น ร่าง พ.ร.บ.เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ต้องการช่วยเหลือในเรื่องการดูแลชดเชยผู้เสียหายจากระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยลดการฟ้องร้องระว่างแพทย์และคนไข้ได้อีกด้วย เรื่องการตั้งสำนักงานกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขที่ควรเป็นอิสระและเรื่องสัดส่วนของคณะกรรมการตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่พบว่ามีไม่เท่าเทียมกันระหว่าง สภาวิชาชีพกับภาคประชาชน จึงต้องการให้มีการพิจารณาแก้ไข หลังจากการประชุมหารือ นายพิเชฐ ได้กล่าวสรุปเห็นด้วยว่าให้เปลี่ยนชื่อร่าง พ.ร.บ.กลับไปใช้ชื่อตามร่างเดิม ส่วนประเด็นการตั้งสำนักงานกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งร่างเดิมไม่มีความชัดเจนว่าจะตั้งเป็นองค์กรในลักษณะใด ดังนั้นในการพิจารณาชั้นกฤษฎีกาจึงให้สำนักงานดังกล่าวขึ้นกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แต่เมื่อภาคประชาชนเห็นว่า สำนักงานน่าจะเป็นองค์กรอิสระหรืออยู่ภายใต้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดังนั้นจะทำข้อสรุปให้กับนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำเรื่องนี้ให้ที่ประชุมครม. ทบทวนว่าจะจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะมีมติให้อยู่ภายใต้ สปสช.หรือ สบส.ถือเป็นการตัดสินใจของ ครม. ส่วนเรื่ององค์ประกอบคณะกรรมการตาม ที่ประชุมยังคงมีความเห็นที่ขัดแย้งกันแต่มีแนวโน้มที่จะใช้ข้อกำหนดตามร่างเดิม คือ ให้มีตัวแทนภาคประชาชนและตัวแทนสภาวิชาชีพฝ่ายละ 3 คน แต่เนื่องจากการประชุมหารือครั้งนี้ ไม่มีตัวแทนภายในสภาวิชาชีพอยู่ด้วย จึงมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ โดยทั้งนี้จะทำสรุปข้อเสนอต่างๆ ของที่ประชุมให้ รมว.สาธารณสุข เสนอไปยังกฤษฎีกาอีกครั้ง สู่มาตรฐาน รถโดยสารสาธารณะในงานสัมมนาระดับชาติ เรื่อง อุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ 9 ที่ไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 52 ได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “เวทีติดตามนโยบาย : สู่มาตรฐาน รถโดยสารสาธารณะ” โดยมีผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเรื่องรถโดยสารสาธารณะหลายท่านร่วมเป็นวิทยากร ผศ.ดร.สมประสงค์ สัตยมัลลี จากสำนักวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำเสนอปัญหามาตรฐานตัวถังรถที่มักมีโครงสร้างที่ไม่แข็งแรงพอ ซึ่งมักเป็นสาเหตุทำให้ผู้เสียชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น เก้าอี้หลุด หลังคายุบ ยางรถไม่มีดอกยาง ไม่มีเข็มขัดนิรภัย ขณะที่คนขับรถโดยสารสาธารณะมักขาดคุณสมบัติและขาดการฝึกอบรมที่ดี ขณะที่สภาพถนนในหลายจุดของประเทศก็สร้างความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุด้วย ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นำเสนอประเด็นเรื่องนโยบายการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะในเชิงเศรษฐศาสตร์ ในการควบคุมการให้บริการ ควบคุมราคา ซึ่งเมื่อรัฐเข้ามาดูจัดการตรงนี้อย่างจริงจังก็น่าจะช่วยพัฒนาศักยภาพการให้บริการและความปลอดภัยของรถโดยสารให้เพิ่มขึ้นได้ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้พูดถึงปัญหาของผู้ประสบภัยซึ่งนำไปสู่การฟ้องคดีที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีที่มาจากหลายสาเหตุทั้งการเตะถ่วงดึงเวลาจากบริษัทรถและบริษัทประกัน การไม่ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมและการที่ผู้เสียหายไม่ทราบสิทธิของตัวเอง โดยปกติผู้โดยสารจะได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 แต่ก็จะมีการจำกัดวงเงินการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยหนักหรือทุพพลภาพที่ต้องรักษาต่อเนื่องมักถูกผลักภาระให้ไปอยู่ในระบบสุขภาพอื่นๆ หรือกรณีที่มีคู่กรณีชัดเจนก็ต้องรอการพิสูจน์ความผิดเสียก่อน ทำให้กระบวนการชดเชยค่าเสียหายล่าช้า หากเสียชีวิตก็ได้รับเงินเพียง 1 แสนบาท ซึ่งเป็นอัตราต่ำมากในปัจจุบัน ทางออกที่เห็นว่าเหมาะสม คือการผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. … ขึ้นมาทดแทน พ.ร.บ. ฉบับเดิม ซึ่งจะช่วยเรื่องการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนตามจริง ด้วยขั้นตอนที่รวดเร็วและเป็นระบบ ลดความซ้ำซ้อนและลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ลดภาระประชาชน และลดภาระความยุ่งยากในการเข้าถึงสิทธิของผู้ประสบภัย "ปฏิญญาเชียงราย" มาตรการคุ้มครองสิทธิด้านโทรคมนาคมสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน (Southeast Asian Consumer Council) สหพันธ์ผู้บริโภคสากล และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดการประชุมเครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมแห่งภูมิภาคอาเซียนขึ้น เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ณ โรงแรมดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย ถือเป็นเวทีการประชุมด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมของกลุ่มอาเซียนที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเป็นเวทีคู่ขนานกับการประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ การประชุมดังกล่าว มีผู้แทนจากองค์กรเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมจาก 8 ประเทศ ร่วมรายงานสถานการณ์และแบ่งปันประสบการณ์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจโทรคมนาคม ได้แก่ ออสเตรเลีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ สเปน และไทย โดยสถานการณ์ปัญหาที่สำคัญของโทรคมนาคมที่กระทบต่อผู้บริโภคคือ ปัญหาการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้ง ระบบการเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่เที่ยงตรง การโทร.และส่งข้อความรบกวน การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว การไม่รู้เท่าทันกฎหมาย ความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงบริการ และผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากการใช้โทรคมนาคม เป็นต้น ผลจากการประชุมทำให้ได้ร่างปฏิญญาเชียงรายที่มีเนื้อสำคัญดังนี้ (1) ทำงานอย่างแข็งขันและต่อเนื่องร่วมกับภาคีในกิจการโทรคมนาคม (2) กำหนดมาตรฐานพื้นฐานว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (3) ตระหนักว่ากิจการโทรคมนาคมเป็นบริการจำเป็นพื้นฐาน (4) ตระหนักว่าการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นพิมพ์เขียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยใช้แนวทาง "คนเป็นศูนย์กลาง"(5) จัดตั้งหน่วยงานกิจการโทรคมนาคมในภูมิภาคโดยใช้กลไกที่จัดตั้งขึ้นแล้วเป็นหลัก (6) จัดประชุมทุกปี โดยจัดทำประเด็นรณรงค์ร่วมกันทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบของการใช้บริการโทรคมนาคมต่อสุขภาพ หรือการบริโภคอย่างยั่งยืน (7) ดำเนินการวิจัย/สำรวจเปรียบเทียบระหว่างประเทศในกิจการโทรคมนาคม โดยมีหัวข้อหลักคือการเข้าถึงเท่าเทียม ระบบการจ่ายเงินล่วงหน้า (Pre-paid) ระบบการเรียกเก็บค่าบริการที่เที่ยงตรง และความปลอดภัย (8) สร้างเว็บไซต์เพื่อการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (9) เรียกร้องให้รัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าร่วมและสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรปกป้องผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (10) ผลักดันให้บริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมใช้หลักบริการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

อ่านเพิ่มเติม >