ฉบับที่ 268 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2566

ทิ้งขยะในพื้นที่เขตทางหลวงบทลงโทษถึงติดคุก         เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 66 ที่ผ่านมา กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ได้เตือนประชาชนถึงกรณี ห้ามทิ้งขยะในพื้นที่เขตทางหลวง ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อนต่อคนที่ต้องสัญจร ไป-มา เช่น การทิ้งขยะออกจากรถที่แล่นอยู่ เทน้ำเสียบนถนน ทิ้งเศษวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ การบรรทุก หิน ดิน  ทราย  หรืออื่นๆ โดยไม่ใช้อุปกรณ์ผูกมัดให้ดีทำให้มีสิ่งของร่วงหล่นบนทางจราจร ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ใช้เส้นทางจราจรได้นั้น เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 45 “ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งขยะมูลฝอย  สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย น้ำโสโครก เศษหิน ดิน ทราย หรือสิ่งอื่นใดในเขตทางหลวงหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ เป็นเหตุให้ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล เศษหิน ดิน ทราย ตกหล่นบนทางจราจรหรือไหล่ทาง” หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 72 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมโรงงานจับมือสคบ. ห้ามโฆษณาขาย “ไซยาไนด์” ทางออนไลน์         หลังมีข่าวเกี่ยวกับการใช้ “ไซยาไนด์” ในทางที่ผิดเพื่อก่ออาชญากรรมนั้น 1 มิ.ย.66 อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เผยว่า โพแทสเซียมไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบดูแล ขณะนี้ทางกรมฯ ออกมาตรฐานเร่งด่วนเพื่อยกระดับการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด โดยเชิญผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตฯ เกี่ยวกับสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ มารับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลและรับทราบมาตรการพิเศษที่ออกแนบท้ายใบอนุญาตแล้ว และจะใช้ไปจนกว่าคดี "แอม สรารัตน์" จะมีคำพิพากษาถึงที่สุด         ในเรื่องการโฆษณา ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ขอความร่วมมือจากทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศเพื่อห้ามมิให้มีการโฆษณาและจำหน่ายโพแทสเซียมไซยาไนด์ทางช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ซื้อ-ขาย สินค้าทุกประเภท พร้อมกับเร่งยกร่างประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขการโฆษณาและนำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เนื่องจากตามกฎหมายกรมโรงงานกำกับดูแลเฉพาะเรื่องการนำไปใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ อนึ่งสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ คือ วัตถุตรายชนิดที่ 3 หากผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ผู้ใช้ นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์มีโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ระวังมิจฉาชีพมาในรูปแบบ “งานเสริม”         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลของศูนย์บริหารรับแจ้งความออนไลน์ของเดือนมีนาคม 66 ที่ผ่านมาว่า มีประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานเสริมเป็นจำนวนมากกว่า 37,900 ราย เสียหายกว่า 4,590 ล้านบาท โดยใช้วิธีการส่งข้อความทาง SMS หรือโทรหาเหยื่อโดยตรง และโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ในออนไลน์  ซึ่งลักษณะงานช่วงแรกจะเป็นงานง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และเหยื่อได้รับเงินจริง หลังจากนั้นจะมีการดึงเข้ากลุ่มไลน์และอ้างว่าให้ทำภารกิจพิเศษพร้อมได้ค่าคอมมิชชัน แต่ต้องโอนเงินเข้าระบบเป็นการวางมัดจำก่อนนั้น         ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ามี 10 งานเสริมที่มิจฉาชีพนำมาใช้หลอกลวง ดังนี้ 1.พนักงานกดรับออเดอร์สินค้า แอบอ้างแพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ เช่น Shopee Lazada Amazon 2.กดไลก์ ถูกใจ ตาม Facebook TikTok Instagram หรือกดแชร์ กดโหวตภาพยนตร์  3.รับชมคลิปวิดีโอเพิ่มยอดวิวใน YouTube TikTok 4.งานรีวิว ทดลองใช้สินค้าหรือบริการ เช่น รีวิวสถานที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร 5.รับจ้างนอนโรงแรม อ้างแค่นอนหลับก็มีรายได้ 6.งานแพ็กของต่างๆ เช่น สบู่ ยางมัดผม พวงกุญแจ 7.งานฝีมือทำได้ที่บ้าน เช่น ร้อยลูกปัด ทำริบบิ้น ฉีกเชือกฟาง พับนกกระดาษ พับดาว พับเหรียญโปรยทาน 8.ลงทุนส่งเสริมการโปรโมทสื่อสังคมออนไลน์ในสังกัด ตามเรทราคาต่างๆ 9.ถ่ายรูปเซลฟี่ไม่ต้องเห็นใบหน้า หลังจากส่งเสื้อผ้าให้ ไม่จำกัดส่วนสูงน้ำหนัก 10.ตัดต่อวิดีโอสั้น ไม่ต้องมีประสบการณ์ สอนให้ฟรี มพบ. ชี้ ร้านค้าตั้งเงื่อนไขไม่รับเคลมสินค้า เข้าข่ายสัญญาไม่เป็นธรรม         จากกรณีที่มีร้านค้าบางรายที่จำหน่ายสินค้าในช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ มีการตั้งเงื่อนไข กำหนดการรีวิวสินค้า เช่น การรีวิวต่ำกว่า 5 ดาว สินค้าที่ซื้อจะหมดประกันทันที ในกรณีเกิดปัญหาจะไม่รับเคลม และไม่รับคืนสินค้า พร้อมทั้งอีกกรณีคือการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยต้องรีวิว 5 ดาว ร้านค้าถึงจะขยายเวลารับประกันให้ หรือการระบุข้อความว่า #กรุณาถ่ายวิดีโอขณะเปิดกล่องพัสดุ #ไม่มีหลักฐานงดเคลมทุกกรณีไว้ที่หน้ากล่องนั้น        นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า วิธีการกำหนดเงื่อนไขไม่รับเคลมข้างต้น เข้าข่าย “ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม” เพราะเป็นสัญญาที่ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินสมควร ประกอบกับคู่สัญญาไม่ได้รับความยินยอมในสัญญาตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม โดยระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ดังนั้นการที่ผู้ขายใช้เงื่อนไขบีบบังคับผู้ซื้อด้วยข้อความ “ไม่ถ่ายคลิปตอนเปิดพัสดุเคลมไม่ได้” จึงถือเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม         ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 กำหนดเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคว่า ให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาโดยส่งหนังสือแสดงเจตนาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการ ไปยังผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง (มาตรา 33) เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคจ่ายไปคืนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2563

4 เดือนโครงการรับยาใกล้บ้าน ยอดแตะ 91 รพ. 750 ร้านขายยา        สปสช.โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผย “โครงการผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เพื่อช่วยลดแออัดในโรงพยาบาลรัฐ หรือโครงการรับยาใกล้บ้านนั้น ตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 1 ก.พ. 2563 รวม 4 เดือนพบว่า โรงพยาบาลที่เข้าร่วมดำเนินโครงการจำนวน 91 แห่ง ขณะที่มีร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เข้าร่วมให้บริการจำนวน 750 แห่ง จาก 55 จังหวัด โดย รพ.ขอนแก่น มีร้านยาร่วมเครือข่ายบริการมากสุด 50 แห่ง รพ.ลำพูน มีผู้ป่วยร่วมโครงการมากสุด 480 คน ขณะที่ภาพรวมผู้ป่วยร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และจิตเวช นอกจากนี้ยังมีโรคเรื้อรังอื่นที่ผู้ป่วยมีภาวะคงที่ โดยให้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งจากข้อมูลเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการฯ สะสมแล้ว มีจำนวน 2,453 รายแล้ว อย. เรียกเก็บน้ำเกลือล้างแผลพบการปนเปื้อน        รายงานข่าว นพ. สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหนังสือที่ สธ 1009.5/ว 1955 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 แจ้งเตือนภัยเร่งด่วน การเรียกเก็บยา KLEAN & KARE NORMAL SALINE เลขทะเบียน 1A 512/56 รุ่นการผลิต 061607 คืนจากท้องตลาดโดยสมัครใจ 29 มี.ค. มอเตอร์ไซค์ใหม่ทุกคันต้องได้ยูโร 4         นายวันชัย  พนมชัย  เลขาธิการ  สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ได้เชิญผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์กว่า 40 ราย ชี้แจงทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมในการยื่นขอ มอก. 2915-2561 รถจักรยานยนต์เฉพาะด้านความปลอดภัย – สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับยูโร 4  ซึ่งประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2563 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นพิษหรือ PM 2.5  ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวมีข้อกำหนดที่ควบคุมปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์ ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอนออกไซด์ของไนโตรเจน ลดลงถึง 50% เมื่อเปรียบเทียบกับ มอก. เดิม คือ ยูโร 3         นอกจากนี้ มาตรฐานฉบับดังกล่าวนี้ยังมีข้อกำหนดเรื่องความทนทานของอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ เพื่อให้มั่นใจว่ารถจักรยานยนต์ที่ผ่านการใช้งานแล้วระยะเวลาหนึ่ง  ยังคงสามารถควบคุมปริมาณสารมลพิษเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ เสวนา พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบยอดร้องเรียนสูงแต่เอาผิดได้น้อย        5 กุมภาพันธ์ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ งานเสวนา “12 ปี  พ.ร.บ  ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551” เผยสถิติ แม้มียอดร้องเรียนนับพันแต่เอาผิดตามกฎหมายได้น้อย        นายคำรณ  ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ระบุ 1 ปีที่ผ่านมา มาตรการบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น สังคมตื่นตัว รับรู้ข้อกฎหมายมากขึ้น จึงมีผู้ร้องเรียนเมื่อพบข้อมูลการทำผิดกฎหมายมากถึง 1,100 กรณี สำหรับความผิดที่พบมากที่สุด (ร้อยละ 60) คือ โฆษณาส่งเสริมการตลาด พบว่า ธุรกิจน้ำเมายังคงมั่งคั่ง ใช้กิจกรรมการตลาด จัดคอนเสิร์ตเปิดลานเบียร์ เป็นกิจกรรมหลัก ที่รุกจากหน้าห้างกิจกรรมรายย่อยยันทุ่งนา และใช้ตราเสมือนคือเครื่องดื่มน้ำ โซดา รวมไปถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เป็นตราหลักสื่อสารการตลาด การโฆษณาในสื่อต่างๆ “เครือข่ายฯ ยังพบกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ ที่น่าเคลือบแคลงสงสัยในแบบอุปถัมภ์เกื้อหนุนกันระหว่างทุนเหล้ากับกลไกราชการ โดยกิจกรรมการตลาดต่างๆ มักอ้างหรือดึงส่วนราชการเข้ามาร่วมด้วย เพื่อทำให้การบังคับใช้กฎหมาย ขาดประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้คือ ภัยคุกคามสำคัญ”         นพ.นิพนธ์  ชิชานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า         “มาตรการควบคุมผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการออกตรวจตามวันที่ห้ามขาย เช่น วันสำคัญทางศาสนา สุ่มตรวจจากเรื่องร้องเรียนในประเด็นที่เป็นปัญหาตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 32 ว่าด้วยการห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มฯ และมาตรา 30 ว่าด้วยการห้ามขาย ด้วยวิธีการ เร่ขาย เครื่องขายอัตโนมัติ ลดแลกแจกแถม ในสถานที่ราชการ สถานศึกษาฯ ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนเข้ามามากกว่า 2,000 เคส แต่พบว่า สำหรับการดำเนินคดีการตามกฎหมายจนสิ้นสุดคดียังมีจำนวนน้อย เพราะการควบคุมหย่อนยานไม่ทั่วถึง ทั้งนี้ต้องกระตุ้นไปยังเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายตามกลไกการใช้กฎหมายในแต่ระดับพื้นที่ จะส่งผลให้ติดตามง่ายลดการกระทำผิดซ้ำ”  สมัชชาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 1        18 กุมภาพันธ์ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน จัด ‘เวทีสมัชชาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 1’ ขึ้น เพื่อสะท้อนภาพรวมของปัญหาจากอุบัติเหตุทางถนนและเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุให้มีสิทธิและโอกาสการเข้าถึงสังคมที่มีอย่างทั่วถึงเท่าเทียม         ในตอนหนึ่งของการเสวนา การชดเชยเยียวยาผู้เสียหายกรณีรถโดยสาร นักวิจัยระบุ การทำประกันภัยให้รถโดยสารสาธารณะช่วยผู้บริโภคได้ดีกว่าการฟ้องร้อง แต่ปัจจุบันรถโดยสารที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ขณะที่ มพบ. ให้ข้อมูลว่า การฟ้องร้องยังจำเป็นเพราะผู้เสียหายอาจเสียเปรียบจากระบบประกันภัย โดยเฉพาะการตีความตามบทบัญญัติที่ไม่สื่อสภาพจริงของสังคม         ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า “การประกันภัย สามารถตอบโจทย์การชดเชยเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ได้ดีกว่าการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายโดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาในการได้รับค่าชดเชยเยียวยา ซึ่งวงเงินคุ้มครองที่เพิ่มสูง ประกอบกับนโยบายของกรมการขนส่งทางบกที่บังคับให้รถโดยสารสาธารณะต้องทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มเติม ทำให้ผู้ประสบภัยสามารถได้รับการชดชดเชยเยียวยาได้ทันท่วงทีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า ปัจจุบันมีรถโดยสารที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจเพียง 1 ใน 3 จากจำนวนรถที่จดทะเบียนทั้งหมด จึงมองว่าควรจะมีการสำรวจและศึกษาผลกระทบของรถที่ไม่ได้ทำประกันภัยด้วย อย่างไรก็ตามการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายยังคงจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคในระบบรถโดยสารสาธารณะที่เหมาะสมต่อไป”         ด้าน ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ถึงแม้ระบบประกันภัยจะรวดเร็ว แต่สุดท้ายเมื่อผู้เสียหายไม่สามารถที่จะได้รับการชดเชยค่าเสียหายในระบบประกันภัยได้ ก็จะต้องกลับเข้าไปสู่ระบบของกระบวนการยุติธรรมอยู่ดี ทั้งนี้ในรายละเอียดยังมีคำถามจำนวนมากเกี่ยวกับการคำนวณ การกำหนดค่าสินไหมทดแทน เช่น ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าเสียหายเชิงลงโทษ ค่าเสียหายทางจิตใจ ทายาท ฯลฯ ตลอดจนการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนว่า กรณีใดบ้างที่บริษัทขนส่งหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้วย เพราะมีบางกรณีที่บริษัทขนส่งหลุดจากคดี เนื่องจากอ้างว่ารถที่ผู้เสียหายใช้บริการนั้นเป็นรถเถื่อนทั้งที่ขึ้นในสถานีของทางขนส่งเอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 รำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน

        ปิดฉากกันไปอย่างสวยงามกับกิจกรรมเดิน - วิ่ง “หยุดซิ่ง... มาวิ่งกันเถอะ” ที่จัดขึ้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ (สวนบางกะเจ้า) อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ กับการแสดงพลังของผู้คนมากกว่า 2,000 คน ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ         ในวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน” (World Day of Remembrance for Road Traffic Victims 2019) ที่ทุกคนมาช่วยกันหยุด… หยุดไม่ให้มีเหยื่อรายใหม่ หยุดให้อุบัติเหตุทางถนนลดน้อยลง ร่วมกันจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน เรียกได้ว่าเป็นการส่งเสียงของกลุ่มคนที่ต้องการบอกให้รู้ว่า ปัญหาความไม่ปลอดภัยทางถนนที่ป้องกันได้ต้องถูกดำเนินการทันที การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทางถนนต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเป็นธรรม เพื่อป้องกันปัญหาอุบัติเหตุและคุ้มครองสิทธิความปลอดภัยทางถนนและร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้มีในหัวใจคนไทยทุกคนแต่ก็น่าเสียดายที่งานครั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลด้านคมนาคม ทั้งกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก ยังไม่เห็นถึงความสำคัญในกิจกรรมครั้งนี้ เลยไม่ได้เข้าร่วมหรือสนับสนุนแต่อย่างใด  ขณะที่ภาคประชาชนเริ่มเคลื่อนไหว เพื่อต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ภาคนโยบายและบริหารโดยรัฐกลับยังเหมือนขยับตัวช้าและไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก ยังไม่รวมถึงเป้าหมายที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2563 ตามแผน 10 ปี แห่งทศวรรษความปลอดภัยทางถนนของประเทศ แต่ก็ยังทำไม่ได้ไม่สำเร็จ        อันที่จริงในรอบสิบปีที่ผ่านมา แต่ละรัฐบาลต่างมีเป้าหมายที่จะลดอุบัติเหตุด้วยมาตรการหลายอย่างที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการลดอุบัติเหตุ ลดการเจ็บตายในช่วงเทศกาลใหญ่ๆ การบังคับติดจีพีเอสกับรถบรรทุกและรถสาธารณะเพื่อควบคุมความเร็ว การยกเลิกรถโดยสารสองชั้น จัดระเบียบรถตู้โดยสาร ตั้งเป้าลดจำนวนรถตู้โดยสารปรับเปลี่ยนเป็นไมโครบัส ตลอดจนการเพิ่มโทษปรับกับผู้ขับขี่ที่ทำผิดกฎจราจรในทุกประเภทรวมถึงการเมาแล้วขับ         แต่ด้วยความไม่ต่อเนื่องของนโยบายที่มาจากฝ่ายบริหารที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามกระแสการเมือง ดังคำที่ว่า เมื่อการเมืองเปลี่ยนนโยบายก็ต้องเปลี่ยน ทำให้หลายมาตรการที่ดีกลับถูกดองหรือแช่แข็ง เช่น กรณีรถตู้โดยสารสิบปีต้องเปลี่ยนเป็นไมโครบัสเป็นให้เปลี่ยนด้วยความสมัครใจ เป็นต้น รวมถึงขาดความต่อเนื่องเชื่อมร้อยของนโยบายและการปฏิบัติการ ส่งผลให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการทำงานทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน         ที่ผ่านมาการทำงานด้านลดอุบัติเหตุและความปลอดภัยทางถนนหลายส่วน กลายสภาพเหมือนงานอีเวนท์ที่ต้องรอนโยบายสั่งการจากคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กระทรวงมหาดไทย ที่กว่าจะจัดประชุมเตรียมงานสั่งการความปลอดภัยทางถนนก็ปาเข้าไปกลางเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ระดับจังหวัดก็เตรียมงานเตรียมคนมุ่งจัดรณรงค์ลดอุบัติเหตุ 7 วันอันตราย ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ตามเดิมแบบที่เคยทำกันทุกปี         แม้ที่ผ่านมาแนวทางของรัฐจะผลักดันให้มีศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนทั้งในระดับอำเภอและตำบล เพื่อให้การดำเนินการด้านความปลอดภัยในระดับท้องถิ่นมีความคล่องตัวต่อเนื่อง เป็นขั้นตอนต่อจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด แต่ถ้าดูจากตัวเลขอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศของบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 – 14 ธันวาคม 2562 ตอนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 15,786 คน ยังไม่รวมผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่ไม่ได้ใช้สิทธิ พรบ. โดยเป็นอัตราการเสียชีวิตที่มีจำนวนมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 (ทั้งปี) ที่มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 13,956 คน นั่นยิ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำถึงความล้มเหลวของมาตรการลดอุบัติเหตุของรัฐโดยสิ้นเชิง         การที่คนไทยต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยถึงวันละ 60 คน (เสียชีวิตปีละ 20,000 คน) นี้ ยังไม่สามารถผลักดันให้รัฐจัดทำมาตรการที่เด็ดขาด เพื่อทำให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงบริการขนส่งมวลที่ดี และสร้างระบบการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัยได้ ดังนั้นในปี 2563 ซึ่งจะเป็นปีที่ครบรอบทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนตามแผนของประเทศที่กำหนดไว้ แต่เมื่อทุกอย่างยังไม่มีทิศทางว่าจะดีขึ้นแบบนี้ อาจจะต้องเรียกใหม่เป็น ครบรอบสิบปี ทศวรรษแห่งความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย แทนก็เป็นได้ สวัสดีปลอดภัยกันทุกท่านครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ชวนวิ่ง...สร้างกองทุนเพื่อเหยื่อรถโดยสาร

        วันนี้มีคำถามจากเพื่อนสมาชิกที่สนใจกิจกรรมหยุดซิ่ง…มาวิ่งกันเถอะ ถามมาว่ากิจกรรมนี้มีดีอะไร ทำไมถึงต้องสมัครเดิน-วิ่งในงานนี้ด้วย  แล้วทำไมต้องจัดในวันที่ 17 พฤศจิกายน ทำไมไม่จัดวันอื่น และเพื่อไม่ให้ค้างคาใจกัน วันนี้เลยมาขอตอบให้ชัดกันไปเลยว่าทำไม!         สำหรับคำถามแรกที่ถามว่า กิจกรรมนี้มีดีอะไร ทำไมถึงต้องสมัครเดิน-วิ่งในงานนี้  ?    ต้องบอกเลยว่างานนี้เป็นกิจกรรมที่กลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนนและภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนมากกว่า 20 องค์กร มารวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรมนี้ขึ้น โดยมี 3 เหตุผลสุดคุ้ม ที่ว่าทำไมต้องหยุดซิ่ง...แล้วมาวิ่งกันเถอะ         ประการที่หนึ่ง เพื่อรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน หยุดไม่ให้มีเหยื่อรายใหม่ เพราะประเทศไทยที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากถึงวันละ 62 คนต่อวัน หรือทุกๆ หนึ่งชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนชั่วโมงละ 2.5 คน ตัวเลขดูน้อยๆ แบบนี้ พวกเราอาจจะไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่นัก เพราะคนที่สูญเสียไม่ใช่ตัวเราหรือคนใกล้ชิด ในความเป็นจริงหากมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ความสูญเสียนั้นไม่ใช่เพียงแค่หนึ่งชีวิตที่ต้องเสียไป แต่หมายรวมถึงครอบครัวที่ต้องมาทนทุกข์กับการสูญเสียนี้ด้วย         ประการที่สอง เพื่อจัดตั้งกองทุนผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน รู้ไหมในแต่ละปีผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต้องประสบกับความยากลำบากขนาดไหน แม้วันเวลาจะพาให้เรื่องราวของอุบัติเหตุจะผ่านพ้นไป แต่ความทุกข์ของคนที่บาดเจ็บและสูญเสียนั้นยังอยู่ การใช้ชีวิตหลังความสูญเสียต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่ากินค่าอยู่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน แม้รัฐจะมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหาย แต่การเข้าถึงสิทธิกองทุนกลับมีเงื่อนไขมากมายที่ไม่เอื้อต่อการใช้สิทธิ ขณะที่สิ่งที่ผู้ประสบอุบัติเหตุต้องการ คือ อยากให้มีกองทุนที่สามารถช่วยเหลือเยียวยาค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนได้จริง อย่างน้อยก็เพื่อช่วยให้มีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้ประสบอุบัติเหตุทุกคน           ประการที่สาม เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี ด้วยการออกกำลังกายกับการเดิน-วิ่งที่เป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดและต้นทุนน้อยที่สุด ที่สำคัญถ้าทุกคนได้มาวิ่งที่สวนบางกะเจ้า ก็จะได้พบกับแหล่งโอโซนอากาศบริสุทธิ์ สถานที่ฟอกปอดที่เหมาะสำหรับการมาเดิน-วิ่ง พักผ่อนกันแบบชิลๆ และไม่ใช่จะได้เพียงสุขภาพที่ดีอากาศบริสุทธิ์เท่านั้น ทุกคนยังได้มีโอกาสสัมผัสวิถีชุมชนที่คงอยู่กับการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวอีกด้วย          สำหรับคำถามสองที่ถามว่า กิจกรรมหยุดซิ่ง…มาวิ่งกันเถอะ ทำไมต้องจัดในวันที่ 17 พฤศจิกายน ทำไมไม่จัดวันอื่น ?         เพราะวันที่ 17 พฤศจิกายนของปีนี้ จะตรงกับวันอาทิตย์ที่สามของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ทุกวันอาทิตย์ที่สามของเดือนพฤศจิกายน เป็นวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน หรือ “วันเหยื่อโลก” เพื่อรณรงค์ให้ทุกประเทศดำเนินมาตรการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจัง        เพราะอุบัติเหตุทางถนนส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ และคร่าชีวิตผู้คนจากความประมาทเป็นจำนวนมาก มีตัวเลขที่น่าตกใจที่พบว่า แต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 1.3 ล้านคน บาดเจ็บอีกกว่า 50 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 22,491 คนต่อปี  หรือ 62 คนบนถนนทุกวัน และที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ แค่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวก็มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่ใกล้เคียงกับผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่เสียชีวิตต่อปีประมาณ 26,500 คน         จะเห็นได้ว่าความรุนแรงของอุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เลย ซึ่งเป้าหมายของ “วันเหยื่อโลก” คือวันที่คนทั้งโลกจะร่วมกันรำลึกอาลัยแก่ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งตระหนักถึงผลกระทบ และความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน เช่น การเสียชีวิต พิการ บาดเจ็บ สูญเสียทรัพย์สิน รวมถึงปัญหาค่าใช้จ่ายในการรักษาในระยะยาว การสูญเสียผู้นำของครอบครัว ตลอดจนผลกระทบทางด้านจิตใจของคนในครอบครัวและคนรอบข้าง         อย่างไรก็ดี ในวันเหยื่อโลกของทุกๆ ปี ทั่วโลกจะมีกิจกรรมรำลึกถึงผู้สูญเสียที่หลากหลายรูปแบบกันไป และวันเหยื่อโลกในปีนี้ที่จะมาครบบรรจบในวันที่ 17 พฤศจิกายน สำหรับประเทศไทยจะเป็นครั้งแรกของการรวมพลังของกลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนนและภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ที่อยากรณรงค์เชิญชวนให้ทุกคนทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน         ด้วยการรณรงค์เดิน-วิ่ง หยุดซิ่ง…มาวิ่งกันเถอะ “Run for Road Traffic Victims” ที่มีเป้าหมายเพื่อการลดอุบัติเหตุหยุดไม่ให้เหยื่อรายใหม่ และรายได้จาการค่าสมัครสมทบจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมกัน ในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุ และครอบครัวให้มีสิทธิ และโอกาสการเข้าถึงสังคมเหมือนเช่นคนปกติทั่วไป         ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยคนมักจะมองว่าเป็นเรื่องเวรกรรมและเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ความจริงอุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนป้องกันได้ นอกจากนี้ทุกคนยังมีโอกาสเป็นเหยื่อได้เหมือนกัน ฉะนั้นเราอย่าประมาทชะล่าใจ สักวันอาจจะเกิดกับตัวเราและคนรอบข้างก็ได้  ถึงเวลาแล้วล่ะที่ทุกคนต้องช่วยกันหยุดสิ่งนี้ด้วยกัน หยุดซิ่ง…แล้วมาวิ่งกันเถอะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 วิ่งเพื่อ เหยื่อรถโดยสาร

        รู้หรือไม่แต่ละปีทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 1.3 ล้านคน และบาดเจ็บอีกกว่า 50 ล้านคน หรือเท่ากับมีคนเสียชีวิตวันละ 3,700 คนทุกวัน หากนึกไม่ออกว่ารุนแรงขนาดไหน ลองนึกภาพเรือสำราญขนาดใหญ่ที่มีผู้โดยสารเต็มความจุของเรือ แล้วเรือลำนั้นเกิดล่มและผู้โดยสารทั้งหมดเสียชีวิต!!! เป็นแบบนี้ทุกวันทุกวันวันละ 3,700 คน         หากเป็นเหตุการณ์ปกติถ้ามีเรือสำราญขนาดใหญ่ล่มจมน้ำ เพียงแค่ครั้งเดียวก็คงเป็นข่าวใหญ่ที่ทำให้คนทั้งโลกต้องตกใจ และมีคำถามตามมาว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ขณะที่มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากเท่ากับจำนวนผู้โดยสารบนเรือสำราญขนาดใหญ่ที่เสียชีวิตทุกวันแบบนี้ ก็ยังไม่สามารถทำให้คนทั้งโลกรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนนในส่วนนี้ได้เลย         สำหรับประเทศไทยนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของความสูญเสียดังกล่าวเช่นกัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยรายงาน Global Status Report on Road Safety 2561 เรื่องรายงานความปลอดภัยทางถนนระดับโลก ระบุว่า ประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในลำดับที่ 9 มีอัตราผู้เสียชีวิต 32.7 รายต่อแสนประชากร หรือเสียชีวิต 22,491 คนต่อปี  หรือเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิต 62 คนบนถนนทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนคนวัยทำงาน ขณะที่มีผู้พิการรายใหม่เพิ่มมากขึ้นกว่า 40,000 คนต่อปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี        แม้ว่าในรอบ 5 ปีหลังสุดตัวเลขอย่างเป็นทางการขององค์การอนามัยโลกจะบ่งชี้ว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตของประชากรจากอุบัติเหตุทางถนนลดน้อยลง แต่การที่คนไทยต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยถึงวันละ 62 คน นั้นนับเป็นเรื่องที่ทุกคนควรตระหนักและยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นสถิติการเสียชีวิตที่มากกว่าโรคภัยร้ายแรงเสียอีก        ทั้งนี้อุบัติเหตุทางถนนแต่ละครั้งไม่ได้จบแค่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ทุกๆ ปีมีผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 2 แสนคน ทั้งครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บพิการ สิ่งที่เหลือไว้จากอุบัติเหตุ คือ ความทุกข์ของคนที่ยังอยู่ หลายครอบครัวไม่ได้จบแค่การสูญเสียญาติพี่น้องที่จากไปเท่านั้น แต่การต้องดิ้นรนต่อสู้กับสภาพชีวิตสังคมหลังเกิดเหตุนั่นแหละ คือหัวใจของการต้องมีชีวิตอยู่ให้ได้        หลายคนต้องเจ็บปวดซ้ำซ้อน เจ็บตัวแล้วยังต้องเจ็บใจ เสียคนรักไปไม่พอ ยังโดนยัดเยียดการชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นธรรมเข้าไปด้วย จากระบบการช่วยเหลือผู้เสียหายที่ล้มเหลว โดนวลีเด็ดที่หลายคนเจอ คือ “อยากได้มากกว่านี้ให้ไปฟ้องเอา” หลายคนต้องมีคดีฟ้องต่อศาลเสียเงินจ้างทนายความ ต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ บางครอบครัวต้องสู้คดีกันถึงสามศาล จบคดีได้เงินก็โชคดีไป บางครอบครัวได้มาแต่คำพิพากษา กลายเป็นปัญหาซ้ำเติมความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับครอบครัวพวกเขาเหล่านั้น         ขณะที่ยังมีผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนนอีกจำนวนมากที่ขาดโอกาสจากสังคม แม้ภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือในหลายส่วน แต่เรื่องสำคัญและจำเป็น เช่น การเดินทางซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์นั้น ยังมีคุณภาพไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ ดูแลตัวเองและประกอบอาชีพเพื่อการพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่มีคุณภาพได้         ด้วยปัจจัยและปัญหาที่สะสมอย่างต่อเนื่องยาวนาน จากกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่อยากจะทำงานใหญ่ ว่าจะทำอย่างไรดี ที่จะทำให้คนส่วนใหญ่เห็นถึงความสำคัญของความปลอดภัยทางถนน เพื่อช่วยให้คนที่เสียโอกาสทางสังคมกลุ่มนี้ได้กลับเข้ามามีที่ยืนและพร้อมที่จะลุกขึ้นมาช่วยกัน         ทำให้การเยียวยาความเสียหายรวดเร็วไม่เป็นภาระของทุกคน และหาทางเร่งรัดให้มีบริการขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพรถและความปลอดภัยมากขึ้น เพราะชีวิตไม่ใช่ชิ้นส่วนรถยนต์ ต้องไม่ยอมจำนนกับรถถนนที่ไม่ปลอดภัย         จากจุดเริ่มต้นของกลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเมาไม่ขับ ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและความปลอดภัยทางถนนมากกว่า 20 องค์กร        จึงได้ร่วมกันจัด เดิน – วิ่ง กับกิจกรรม หยุดซิ่งมาวิ่งกันเถอะ “Run For Road Traffic Victims” ภายใต้เป้าหมาย รณรงค์รวมพลังลดอุบัติเหตุหยุดเหยื่อรายใหม่ และจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2562  ณ สวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติศรีนครเขื่อนขันธ์ (สวนบางกะเจ้า) อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ         กิจกรรมดีๆ กับค่าสมัครเพียง 500 บาทเท่านั้น กับการวิ่ง 2 ระยะ ได้แก่ เดิน-วิ่งระยะสั้น Fun Run 5 กิโลเมตร และวิ่งมินิมาราธอน 10 กิโลเมต         หยุดซิ่ง... แล้วมาวิ่งกันที่สวนบางกะเจ้า ผู้สนใจสามารถมาสมัครกันเลย ที่ https://rtv.regist.co ตั้งแต่วันนี้ - 31 ตุลาคม 2562 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : https://www.facebook.com/SafeThaibus หรือ โทร : 094-4869598        

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 ‘อุบัติเหตุบนท้องถนน’ เป็นเพราะเรื่องอาถรรพ์หรือพฤติกรรมเสี่ยงกันแน่

ถ้าลองค้นหาในกูเกิ้ลด้วยคำว่า อุบัติเหตุทางถนน และ อาถรรพ์ คุณก็จะได้ผลลัพธ์ประมาณว่า ‘10 ถนนอันตราย สุดเฮี้ยนในเมืองไทย’‘10 ถนนที่เฮี้ยนที่สุดในประเทศไทย’ หรือ‘สะพรึง!!! 7 โค้งอันตราย อาถรรพ์หรือประมาทเอง?’หรือพาดหัวข่าวตามหน้าสื่อก็เช่น ‘ตูมสนั่น! เก๋งชนรถ 'คาราบาวแดง' แยกอาถรรพ์สังเวย 4 ศพ’ ‘อาถรรพ์โค้ง ศาลปู่โทน  รถพ่วง 18 ล้อเสยกระบะสาหัส 7’ ถ้อยคำจำพวกนี้บอกอะไรเราได้บ้าง? คราวนี้ ลองมาดูสถิติอุบัติเหตุจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ Thai RSC ข้อมูลรับแจ้งอุบัติเหตุทางถนนในปี 2560 ถึง ณ วันที่ 28 สิงหาคม มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 647,145 คน เสียชีวิต 9,757 คน รวม 656,902 คน ประเมินตัวเลขแบบหยาบ เรามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเฉลี่ยเดือนละ 1,000 กว่าคน ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมาบูรณาการกันจะได้ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ 22,281 คนต่อปี ตัวเลขมากขนาดนี้ ทุกหัวโค้งในประเทศก็คงเป็นโค้งอาถรรพ์เกือบหมด ใช่หรือไม่? องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ทำตัวเลขประมาณการไว้เมื่อปี 2556 ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็นอัตราการตายที่ 36.2 คนต่อประชากร 1 แสนคน สถิติแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่าทำลาย แต่การสื่อสารเนื้อหาที่หวือหวาด้วยเรื่องอาถรรพ์สารพัดและพระเครื่องของเหล่าเกจิดัง มันได้กลบฝังความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนลงไปอย่างมาก จนละเลยค้นหาสาเหตุที่ประกอบด้วยปัจจัยหลากหลาย และในบางครั้งก็ซับซ้อน ใหญ่โต ถึงระดับโครงสร้างร้อยละ 24 ของคนไทยหรือ 1 ใน 4 เชื่อว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นป้องกันไม่ได้ อุบัติเหตุเป็นเคราะห์ร้าย โชคชะตา อาถรรพ์ ปัจจัย 2 ระดับของอุบัติเหตุบนท้องถนน น่าสนใจทีเดียวเมื่อพบว่า คนไทย 1 ใน 4 เชื่อว่าอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ได้ มันคือคราวเคราะห์ โชคชะตา อาถรรพ์ แต่ถ้าเราพาตัวเองหลุดจากโค้งอาถรรพ์ แล้ววิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจะพบว่า มี 2 ระดับที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน แต่เราอาจนึกไม่ถึงมาก่อนและคิดเหมาไปว่าเป็นเรื่องเดียวกัน 1.สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ เช่น เมาแล้วขับ โทรแล้วขับ หรือการขับรถเร็ว เป็นต้น 2.สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต เช่น การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่มีถุงลมนิรภัย หรือโครงสร้างของรถไม่แข็งแรงเพียงพอ ที่ต้องแยกออกเป็น 2 ปัจจัย เพื่อให้การวิเคราะห์และแก้ปัญหาดำเนินไปอย่างถูกต้อง เพราะการเกิดอุบัติเหตุไม่จำเป็นต้องมาคู่กับการสูญเสียชีวิตทุกครั้ง นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า“เราต้องมองสาเหตุทั้งสองระดับ คือสาเหตุของการเกิดเหตุและสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต เมื่อนำปัจจัยเหล่านี้มาวิเคราะห์ร่วมกับคน รถ และถนน เราจึงจะได้ภาพรวมว่าเหตุการณ์นี้จะจัดการตรงจุดไหนได้บ้าง เราจึงต้องวิเคราะห์ทั้งสองส่วน เวลาเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งเราจะไม่สรุปแค่ว่าขับรถโดยประมาท ทุกวันนี้ เรื่องอุบัติเหตุถูกครอบงำ ถูกทำให้มองไม่ลึก เช่น ถูกมองแบบบิดเบือนเชื่อมโยงกับอาถรรพ์ ปาฏิหาริย์ โชคชะตา ซึ่งทำให้การมองปัญหาเพื่อนำไปสู่การป้องกันมีจำกัด”นพ.ธนะพงษ์ กล่าวว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 43 ไม่มีคู่กรณี แต่กลับมีการเสียชีวิตถึงร้อยละ 34 แสดงว่าความตายเกิดจากวัตถุอันตรายข้างทาง เช่น ต้นไม้ เสาไฟฟ้า ป้าย เป็นต้น หรือเพราะสภาพกายภาพของถนน ทั้งที่วัตถุเหล่านี้ควรมีระยะห่างจากขอบทางอย่างน้อย 5-7 เมตร แต่สภาพความเป็นจริงคือ 3-4 เมตรหรือกรณีถนนบริเวณหน้าศาลอาญารัชดาที่ถูกเรียกขานเป็นโค้งอาถรรพ์ นพ.ธนะพงษ์ อธิบายว่า ถ้าเป็นทางหลวงรถสามารถทำความเร็วได้มากกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การออกแบบถนนบริเวณโค้งจะมีการยกระดับความลาดเอียงขึ้นเพื่อป้องกันการหลุดโค้งของรถ แต่สำหรับถนนในเมืองซึ่งไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้รถทำความเร็ว ทางโค้งจึงไม่ได้ออกแบบให้มีความลาดเอียงไว้ เมื่อวิเคราะห์ต่อไปว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดเวลากลางคืน ถนนโล่ง รถจึงทำความเร็วเกินกำหนด แต่เมื่อถนนไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทำความเร็วระดับนี้ อุบัติเหตุรถหลุดโค้งจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่แทนที่จะวิเคราะห์หาปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ กลับถูกสื่อเล่นข่าวเป็นโค้งอาถรรพ์ จนการมองปัญหาผิดเพี้ยนไป“อีกประการคือเวลาพูดถึงอุบัติเหตุ ต้องไม่โทษเหยื่อหรือตัวเหตุการณ์ เช่นไม่มองว่าเพราะรถซิ่ง โจ๋ซิ่งทำให้เสียชีวิต โดยไม่รู้ตัว คำนี้ทำให้คนรับสารไม่รู้สึกถึงการอยากป้องกัน มองแค่ว่าเขาทำตัวเอง บางทีจะรู้สึกว่าสมควรแล้วที่เกิดกับคนเหล่านั้น ไม่ไปชนคนอื่นก็ดีแล้ว ทั้งที่เราไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง แต่เราถูกทำให้สรุปไปอย่างนั้น ดังนั้น การนำเสนอ การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ นอกจากต้องไม่เชื่อมโยงกับเรื่องอาถรรพ์แล้ว ยังต้องไม่ตำหนิกล่าวโทษตัวเหยื่อ และต้องชี้ให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องสุดวิสัย เช่น ฝนตกถนนลื่นซึ่งเราจะเห็นประจำ แต่คำถามคือถ้าฝนตกถนนลื่น ทำไมอุบัติเหตุจึงเกิดกับคันนี้คันเดียว แสดงว่าต้องมีอะไรมากกว่าฝนตกถนนลื่น อาจเป็นไปได้ว่ายางรถยนต์ของคันนี้เป็นยางเสื่อมสภาพหรือคันนี้ขับเร็ว คือสิ่งที่จะถูกวิเคราะห์และนำเสนอ ต้องการการเปลี่ยนมุมมองของคนที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ปัญหาต้องเห็นองค์ประกอบที่ครบถ้วน”องค์ประกอบ 4 ด้านของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อกล่าวถึงอุบัติเหตุบนท้องถนน คน ถนน รถ และสภาพแวดล้อม ใน 4 ปัจจัยนี้ ปัจจัยแรกมีผลมากที่สุดต่อการเกิดอุบัติเหตุ มันคือเรื่องของพฤติกรรม ยามที่คุณขับขี่รถไปบนท้องถนน เชื่อเหลือเกินว่าคุ้นเคยดีกับพฤติกรรมการขับขี่รถที่ไม่เหมาะสมและสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงถือเป็นหัวใจหลักประการหนึ่งของการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ทุกครั้งที่พูดถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เรามักได้ยินคำพูดซ้ำๆ ว่า ต้องสร้างจิตสำนึก ต้องสร้างจิตสำนึก และต้องสร้างจิตสำนึก เป็นคำที่ถูกนำมาใช้เสมอเพื่อวัตถุประสงค์นี้ แต่เราก็สร้างจิตสำนึกกันมานานมากแล้ว พฤติกรรมการขับขี่ (หรือแม้กระทั่งเรื่องอื่นๆ) ก็ไม่เปลี่ยน ใช่หรือไม่ว่า ถ้าไม่ใช่เพราะวิธีการสร้างจิตสำนึกของเราล้มเหลว ตัววิธีการสร้างจิตสำนึกเองต่างหากที่น่าจะมีปัญหาหรือไม่เพียงพอ“ถ้ากล่าวเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สิ่งที่สังคมต้องการตอนนี้คือไม่ใช่แค่เรื่องสร้างจิตสำนึก แต่เรากำลังต้องการการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมว่า การมีพฤติกรรมแบบนี้เป็นพฤติกรรมอันตรายและให้คนในสังคมกำกับหรือกดดันควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย” นพ.ธนะพงศ์ กล่าวแน่นอนว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสร้างจิตสำนึกยังเป็นความจำเป็น แต่ไม่เพียงพอ หากต้องใส่องค์ประกอบอื่นๆ ลงไปด้วยรวมเป็น 4 องค์ประกอบ1.การสร้างจิตสำนึก2.การสร้างบรรทัดฐานทางสังคม3.การบังคับใช้กฎหมาย4.การใช้สิ่งปลูกสร้างทางกายภาพยกตัวอย่าง การจอดรถในที่จอดรถของผู้พิการที่ปัจจุบันลดลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความเข็ดขยาดจากการถูกถ่ายคลิปหรือรูป แล้วส่งต่อกันในโลกโซเชียลมีเดีย และนี่กลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ทางสังคมขึ้นมา ซึ่งไม่ได้เกิดจากสำนึกที่ถูกสร้าง แต่เกิดจากมาตรการทางสังคมที่ก่อรูปบรรทัดฐานที่ควรจะเป็น“ผมขยายความเรื่องบรรทัดฐาน มันไม่ใช่การสร้างบรรทัดฐานผ่านโลกโซเชียลอย่างเดียว เราสามารถสอดแทรกเข้าไปในกลไกที่มีอยู่ เช่น ทำให้องค์กรต้นสังกัดกำหนดพฤติกรรมความปลอดภัย ยกตัวอย่างองค์กรหนึ่งบอกกับพนักงานว่า ต่อไปถ้าจะขี่มอเตอร์ไซค์มาต้องใส่หมวก ไม่ใส่จะมีผล จะเห็นว่าพฤติกรรมนี้ไม่ได้ถูกกำกับด้วยตัวปัจเจกแล้ว แต่ถูกกำกับด้วยตัวองค์กร เป็นตัวช่วยอีกแบบในการสร้างบรรทัดฐาน”หรือกรณีการขับรถแซงเข้ามาเบียดที่คอสะพานเพื่อหวังจะได้ไปก่อน นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า การสร้างจิตสำนึกยังคงต้องทำต่อไป แต่วิธีการที่ได้ผลกว่าคือรถคันอื่นๆ จะต้องไม่ยอมรถจำพวกนี้ ต้องแชร์พฤติกรรมนี้ และมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดไปในเวลาเดียวกันการบังคับใช้กฎหมายดูจะเป็นข้ออ่อนอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทย นพ.ธนะพงศ์ เล่าให้ฟังว่า เรามักพูดว่าคนไทยขาดจิตสำนึกทำให้ไม่ยอมใส่หมวกกันน็อกเวลาขี่รถจักรยานยนต์ แต่พอคนไทยคนเดียวกันนี้ข้ามไปประเทศมาเลเซีย กลับหยิบหมวกกันน็อกขึ้นมาใส่ คำถามคือ คนคนนี้เกิดจิตสำนึกขึ้นมาโดยพลัน หรือเพราะเกรงกลัวการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดของมาเลเซียการใช้สิ่งปลูกสร้างทางกายภาพเพื่อกำกับพฤติกรรมเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ต้องนำมาใช้ ยกตัวอย่างปัญหาการขับขี่รถจักรยานยนต์ขึ้นมาบนฟุตปาธ ที่ผ่านมาการรณรงค์ การสร้างจิตสำนึก พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล ล่าสุด หน่วยงานรัฐออกนโยบายให้ผู้เห็นพฤติกรรมดังกล่าวถ่ายรูปส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อปรับและแบ่งค่าปรับคนละครึ่ง นพ.ธนะพงศ์ตั้งคำถามว่า วิธีการที่ง่ายกว่านั้นคือติดอุปกรณ์ขวางไว้ดีหรือไม่ จะช่วยขจัดพฤติกรรมให้หายไปได้ ไม่ใช่เพราะมีจิตสำนึกหรือถูกจับ แต่หายไปเพราะไม่สามารถทำพฤติกรรมนี้ได้ เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างทางกายภาพมากำกับ หรือกรณีรถวิ่งเร็วในซอย การติดป้ายรณรงค์หรือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเฝ้าคงไม่อาจทำได้ตลอด แต่การสร้างเนินชะลอความเร็วจะบังคับให้รถทุกคันต้องขับช้าลง ดังนั้นอิทธิพลทางกายภาพจึงมีผลต่อพฤติกรรมบนท้องถนนมากกว่าการบังคับใช้กฎหมายธูป เทียน ดอกไม้ ไม่ใช่คำตอบ แต่เดี๋ยวก่อน สิ่งปลูกสร้างทางกายภาพไม่ใช่คำตอบสมบูรณ์ของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบนท้องถนน ไม่ใช่เลย เราคงเคยเห็นผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ไม่สนใจสิ่งปลูกสร้างทางกายภาพและยังคงทำผิดกฎจราจรเช่นเดิม“เวลาพูดถึงการเปลี่ยนแปลง เราทำเรื่องเดียวไม่ได้ ต้องทำกับตัวปัจเจก กับบรรทัดฐาน กับการบังคับใช้กฎหมาย และกับด้านกายภาพไปพร้อมๆ กัน ผมกำลังบอกว่า เวลาเราคิดเรื่องนี้ มันไม่เบ็ดเสร็จ เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ต้องสร้างจิตสำนึก ไม่จริงหรอก พลังมันไม่พอ ต้องทำควบคู่กันหลายอย่าง”ไกลและกว้างกว่านั้น นพ.ธนะพงศ์ อยากให้เรามองปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่แค่เรื่องพฤติกรรมเชิงปัจเจกหรือกฎหมาย เช่น เวลาเผชิญปัญหารถติด ความคิดโดยทั่วไปคือทำไมไม่ขยายถนน แต่เมื่อขยายถนน สิ่งที่ตามมาคือรถวิ่งเร็วขึ้น เพราะสามารถทำความเร็วได้มากขึ้น เสี่ยงทั้งต่อผู้ขับขี่และต่อคนเดินถนนหรือปัญหาในระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เมื่อระบบขนส่งมีข้อจำกัด ผู้คนจึงเลือกการซื้อรถยนต์ส่วนตัวเป็นทางออก แล้วปัญหาต่างๆ ก็ติดตามมาเป็นลูกโซ่ทั้งหมดนี้บอกอะไร?มันกำลังบอกว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่เรื่องของพลังงานลี้ลับ แต่เป็นปัจจัยจากตัวบุคคล รถ ถนน และสภาพแวดล้อม ธูป เทียน ดอกไม้ และเครื่องเซ่นสรวง จึงไม่ใช่คำตอบของการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ผ่านกลไกทั้ง 4 ด้านไปพร้อมๆ กันและการแก้ไขปัญหาระยะยาวในเชิงโครงสร้างต่างหากคือคำตอบที่ได้ผลยั่งยืนกว่า

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 135 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2555 “RFID” อาจมีปัญหา เพิ่งเริ่มใช้ได้ไม่ทันไรก็ทำท่าจะมีปัญหาซะแล้ว สำหรับระบบตรวจจับความเร็วรถตู้โดยสาร หรือระบบ RFID เมื่อ นายรักษิต ฐิติพัฒนพงศ์ และนายสัญญา คล่องในวัย จากหน่วยวิจัยสารสนเทศ การสื่อสารและการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้นำเสนองานวิจัย “ข้อจำกัดของการใช้ RFID ในการตรวจจับความเร็วในยานพาหนะ” พบว่ายังมีข้อจำกัดเรื่องการรายงานผล เพราะใช้วิธีการจับความเร็วของรถที่วิ่งผ่านจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง ซึ่งทำให้การรายงานผลมีความล่าช้ากว่าจะประมวลผลมายังตัวผู้ขับรถ ซึ่งเท่ากับผู้โดยสารก็ยังพบกับความเสี่ยงอยู่เช่นเดิม สำหรับทางเลือกที่น่าจะนำมาใช้ควบคุมความเร็วของรถตู้โดยสารคือระบบ GPS ซึ่งเป็นระบบที่รายงานผลโดยตรงผ่านระบบดาวเทียมและสามารถแจ้งเตือนไปยังพนักงานขับรถได้ทันที ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรียกร้องให้หยุดการจดทะเบียนรถตู้เพิ่มเติมและให้ตั้งกองทุนคุ้มครองสิทธิผู้ใช้รถสาธารณะ ----------------------------------------------------------------------------------------   ไม่รับขึ้นทะเบียนรถประกอบจากชิ้นส่วนมือสอง ถึงแม้หลายคนๆ จะบ่นเรื่องน้ำมันราคาแพง แต่เราก็ยังเห็นรถยนต์ป้ายแดงออกมาวิ่งบนถนนเต็มไปหมด แสดงว่าคนไทยเราก็ยังซื้อรถกันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งอาจมีบางคนที่เลือกซื้อรถมือสองหรือรถนำเข้า แต่ต่อจากนี้ไปรถยนต์ที่ประกอบจากชิ้นส่วนที่ผ่านการใช้งานแล้วจะไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการและเตรียมร่างเป็นกฎกระทรวงงดรับจดทะเบียนรถยนต์ที่ประกอบจากชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถที่ใช้แล้ว 4 ประเภท ประกอบด้วย รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน, รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน, รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล มาตรการนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งกับผู้บริโภคที่ไม่ต้องเสี่ยงกับรถยนต์ที่ไม่ได้คุณภาพและผิดกฎหมาย ส่วนภาครัฐก็สามารถควบคุมดูแลเรื่องจากจัดเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่ วย เพราะบรรดาชิ้นส่วนหรือโครงสร้างรถยนต์ใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศแล้วมาประกอบเป็นรถยนต์ในประเทศจะหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ที่สำคัญคือผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศจะได้รับการดูแลไม่ต้องถูกแย่งตลาดจากผู้ที่ทำผิดกฎหมาย ------------------------------------------------------------------------   โทรนานระวังสูญเสียการได้ยิน เดี๋ยวนี้ไม่ว่าใครก็ใช้โทรศัพท์มือถือกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัวก็สามารถสื่อสารถึงกันได้อย่างง่ายดายทันใจ แต่ถึงจะมีข้อดีมากมายก็ใช่ว่าจะหนีพ้นเรื่องข้อเสีย มีการศึกษาพบว่า การคุยโทรศัพท์มือถือนานๆ อาจทำให้เซลล์ประสาทหูชั้นในเสื่อมสมรรถภาพ ซึ่งอาจส่งผลร้ายถึงขั้นมีผลทำให้สูญเสียการได้ยิน ซึ่ง รศ.นพ.ภาคภูมิ สุปิยพันธุ์ ประธานราชวิทยาลัยโสต สอ นาสิกแห่งประเทศไทย ได้ฝากเตือนถึงคนที่ชอบคุยโทรศัพท์มือถือให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้หูได้รับบาดเจ็บ ทั้งการใช้โทรศัพท์ในลักษณะกดแนบแน่นกับหูเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบที่กระดูกใบหู การใช้สมอลล์ทอล์กหรือบลูทูธก็อาจทำให้เกิดอาการเจ็บได้เช่นเดียวกัน เพราะจะเป็นการกดระบบประสาทในบริเวณนั้น อาจทำให้เนื้อเยื่อมีการบาดเจ็บและเป็นแผลได้ หรือการเปิดเสียงโทรศัพท์ดังๆ ก็อาจเป็นอันตรายกับประสาทหูโดยตรง ยิ่งคนที่มีปัญหาประสาทหูเสื่อมอยู่แล้วยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากให้หูของเราได้รับบาดเจ็บหรือสูญเสียการได้ยินก็ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวมา การคุยโทรศัพท์ในแต่ละครั้งก็ไม่ควรใช้เวลานานเกิน 30 นาที และควรผลัดเปลี่ยนการใช้งานทั้งหูข้างซ้ายและข้างขวา -----------------------------------------------------------------------------------------   แคลิฟอร์เนีย (ไม่) ว้าว ใครจะคิดว่าฟิตเนสชื่อดังอย่าง “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” จะถูกฟ้องล้มละลาย เรื่องนี้ถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รับแจ้งจากบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ว่าทาง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าหนี้ ได้ฟ้องล้มละลายบริษัท เนื่องจากบริษัทไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาเงินกู้ยืมมูลหนี้ตามที่ระบุในคำฟ้อง 71.90 ล้านบาท ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ระบุในคำฟ้อง 3.97 ล้านบาท รวมมูลหนี้ตามที่ระบุไว้ในคำฟ้อง 75.87 ล้านบาท ซึ่งผลที่จะตามมาคือ บริษัทประสบปัญหาในการขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารในอนาคต และต้องเข้าสู่ระบบดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ส่วนผู้ที่ใช้บริการฟิตเนสแคลิฟอร์เนีย ว้าว ณ ขณะนี้ยังสามารถใช้บริการได้ตามปกติตามสัญญาเดิมที่ได้ตกลงเอาไว้ แต่ก็คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สำหรับลูกค้าที่มีปัญหาเรื่องการใช้บริการที่ไม่เป็นไปตามสัญญา สามารถฟ้องร้องขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) --------------------------   เมื่อ “ทรุด” ก็ต้องซ่อม กทม.เดินหน้าปรับปรุงถนนทั่วกรุง หลายคนคงตกใจกับข่าวถนนในกรุงเทพฯ ที่เกิดการทรุดตัวหลายจุดในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายเพราะอาจเป็นต้นเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมัวนิ่งนอนใจอยู่ไม่ได้ กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้จึงได้เตรียมมาตรการแก้ไข ปฏิบัติการซ่อมบำรุงถนนที่มีปัญหาทั่วกรุงเทพฯ โดยหลังจากตรวจสอบพบพื้นที่จำนวน 155 จุด ในถนน 65 สาย ใน 36 เขต ที่มีความเสี่ยง ได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว 4 จุด คือ 1.ถนนรามคำแหง 24 2.ถนนหัวหมาก 3.ปากซอยรามคำแหง 68 และ 4.ถนนพระรามที่ 4 บริเวณแยกมหานครขาออก ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของผิวจราจรและคันทางชำรุด โดยการซ่อมแซมจะเป็นหน้าที่ของสำนักการโยธา ซึ่งคาดการณ์ว่าการซ่อมแซมจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน การซ่อมแซมจะแบ่งเป็น 3 ระดับ 1.หากไม่พบโพรงใต้ดินจะใช้วิธียาแนวผิวคอนกรีตที่แตกร้าว 2.ถ้าพบโพรงแต่ไม่ใหญ่มาก จะใช้ซีเมนต์อัดปิดโพรง และ 3.ถ้าพบโพรงใหญ่ จะทุบรื้อเพื่อหาสาเหตุว่ามีดินไหลหรือไม่ เพื่อวิเคราะห์หาแนวทางการซ่อมแซมที่เหมาะสม ซึ่งในส่วนนี้ทางกรุงเทพฯ จะหารือกับทางวิศวกรรมสถานแห่งชาติแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เพื่อหาข้อสรุปของการทรุดตัวของถนนก่อนเร่งดำเนินการแก้ไขต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 ทางด่วน ที่ไม่ด่วน แล้วจะให้ทำยังไง

ถึงเทศกาล การเดินทางกันอีกแล้วละพี่น้อง และเมื่อต้องเดินทางคงหนีไม่พ้นถนนใช่ไหม วันนี้เลยมีเรื่องถนนมาเล่าสู่กันฟัง พอดีเมื่อวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2552 ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปบางแสน จังหวัดชลบุรี แนะๆ คิดว่าไปเที่ยวล่ะซิ เปล่า…เลย ไปประชุมต่างหาก พอดีที่นั่นมีชาวบ้านเขาร้องเรียนเรื่องความเดือดร้อนจากการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจกรรมโทรคมนาคม จึงไปจัดเวทีเพื่อระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ทั้งผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการ นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาเชิงระบบในภาพรวม เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่อไป แต่คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร จากการที่ถูกเชิญจึงทำให้ต้องเดินทางไปจากสมุทรสงคราม ซึ่งหนีไม่พ้นคือต้องขึ้นทางด่วนที่ดาวคะนองเพื่อมุ่งหน้าไปบางนาแล้วผ่านไปยังบางแสน ขาไปก็ไม่รู้สึกอะไร เสียค่าทางด่วนที่ดาวคะนอง 45 บาท เจออีกด่านก็รับบัตร ไปเสียเงินด่านหน้า อีก 65 บาท รวมเป็น 110 บาท มามีเรื่องเอาขากลับ วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม 2552 (กลับทางเดิม) เริ่มต้นเข้าทางด่วนก็รับบัตร เพื่อไปเสียเงินด่านหน้า พอถึงด่านเวลาบ่าย 3 โมงกว่าๆ พอส่งบัตรให้ เจ้าหน้าที่บอกเราว่า เสียค่าผ่านทาง 105 บาท เราก็นึกในใจว่า “โอ้โฮ...ขากลับเสียเงินมากกว่าตอนขาไปอีก ทางก็เท่ากันทำไมเก็บไม่เท่ากัน” แต่ก็ต้องจ่ายไปนั่นแหละใช้ทางเขาแล้วนี่… แล้วก็ขับรถต่อไประยะทางไม่ไกลนัก ก็เริ่มเห็นความหนาแน่นของรถข้างหน้าที่มากขึ้นเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่าติดขัด ขยับไม่ได้ เราก็คิดว่าข้างหน้าต้องมีอุบัติเหตุแน่ๆ เลย ใช้เวลาอยู่ตรงนั้นเกือบ 20 นาที (หงุดหงิดบอกตรงๆ ก็อากาศมันร้อนจัดนี่) รถขยับไปทีละนิดถึงได้รู้ว่าสาเหตุที่ทำให้รถติดเพราะข้างหน้ามีด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง ตอนแรกก็ไม่รู้สึกอะไร เสียก็เสียซิจะเป็นไรไป แต่พอจ่ายเงินลมออกหูเลยท่านผู้อ่าน ก็จะไม่ให้โมโหได้ไงมันมีด่านไว้เก็บเงินแค่ 5 บาท ดู่ดู๊....ดูเขาทำ... 5 บาทเนี่ยนะ...ที่มันทำให้เราต้องเสียเวลาตั้งมากตั้งมายเสียน้ำมันอย่างน้อยก็ 2 ลิตร เกือบ 50 บาท เพื่อให้เขาเก็บเงินเราเพียง 5 บาท ท่าจะบ้าไปแล้ว…อันนี้ชี้ให้เห็นเลยว่า “ธุรกิจทางด่วนไม่ได้สนอกสนใจความรู้สึกของผู้ใช้บริการเล้ย...จริงๆ” เห็นแต่ผลประโยชน์ของตนเองชัดๆ เราเคยหงุดหงิดว่าก่อนลงงามวงค์วาน มีด่านเก็บเงิน 10 บาท แต่นี่ 5 บาทก็เอา ทำไมไม่เก็บรวมไปเลยเรายอมเสียอยู่แล้ว ดูซิอ้างเรื่องสัญญาว่ากี่ปีมีสิทธิขึ้นค่าผ่านทาง ถึงเวลาก็ขึ้นเลย อ้างสัญญาตลอด แต่ในสัญญา(ที่แอบรู้มา) ระบุว่าในแต่ละ1 เดือนจะมีรถขึ้นทางด่วน 200,000 คัน เอาเข้าจริงเป็นล้านคัน จำนวนรถที่เกินก็เก็บเงินเพิ่มมหาศาลแล้ว แถมยังขึ้นค่าผ่านทางได้อีก ท่านผู้อ่านคิดดูนะว่าทำไมเราต้องยอม เขาจะขึ้นค่าผ่านทางเราก็ยอมเขาพอใจจะตั้งด่านเก็บเงินตรงไหนเราก็ยอม คนจ่ายตังค์อย่างเราไม่เคยมีส่วนร่วมด้วยเลย มีหน้าที่จ่ายอย่างเดียว ทั้งๆ ที่เขาไม่มีเราเขาก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ทางด่วนมีอิสระมากในการบริหารจัดการเหมือนไม่มีหน่วยงานใดดูแลอยู่เลย คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ทั้งรัฐมนตรีรัฐมนโท รวมถึงข้าราชการที่กินเงินเดือนจากภาษีของเราทั้งหลายไปไหนกันหมด ยังมีความสุขดีกันอยู่ไหม ตื่นๆๆๆๆ มาทำงานกันบ้าง ไม่ต้องรอให้ผู้บริโภคต้องออกมาโวยหรือรออยู่จะได้จัดให้.... ที่ฮึ่มกันอยู่นี่ยังไม่พอใช่ไหมจ๊ะ ราด-ทะ-บาน-ปะ-ชา-ทิ-ปาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 กระแสต่างแดน

ดื่มตามลำดับทิม ฮันท์ บรรณาธิการร่วมของนิตยสาร Ethical Consumer ชักชวนให้คนอังกฤษเปลี่ยนจากการเดินเข้าร้านกาแฟใหญ่ๆ ด้วยความเคยชิน ไปอุดหนุนร้านกาแฟอิสระเจ้าเล็กบ้างการสำรวจโดยนิตยสารดังกล่าวพบว่าร้านอย่างสตาร์บัคส์  คอสตา  หรือคาเฟ่เนโร ได้คะแนนจริยธรรมการประกอบการในอันดับต่ำมากเมื่อเทียบกับร้านกาแฟเจ้าเล็กกว่าในขณะที่ร้านที่ได้คะแนนความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 3 อันดับต้นคือ ร้านโซโห คอฟฟี่  เอสไควร์ คอฟฟี่ และเอเอ็มที คอฟฟี่  คุณฮันท์เขาบอกว่าร้านพวกนี้ไม่เคยเลี่ยงภาษี แถมยังใช้เมล็ดกาแฟที่จัดซื้อมาด้วยราคาเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านโซโห ที่ใช้ชา กาแฟ และผงโกโก้ที่มีตรารับรอง “Fairtrade” หรือ “การค้าที่เป็นธรรม” ทั้งสิ้น หรือร้านเอเอ็มที ที่ใช้นมออร์กานิกเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มในทางกลับกัน ร้านใหญ่อย่างสตาร์บัคส์ กลับละเมิดข้อตกลงกับสหภาพแรงงาน ยกเลิกการจ่ายค่าจ้างในช่วงพักกลางวัน และไม่แสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าจะจัดหาน้ำมันปาล์มจากแหล่งที่ถูกที่ควร ส่วนคาเฟ่เนโร และคอสตา คอฟฟี่ ก็แทบไม่มีหลักฐานการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีจริยธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเลย    ที่สำคัญ สามเจ้านี้มีสาขารวมกันไม่ต่ำกว่า 3,000 สาขาทั่วอังกฤษจะไม่บอกก็กระไรอยู่ว่าเจ้าที่ได้คะแนนต่ำสุดคือ Harris + Hoole ของเทสโก ที่สร้างภาพว่าเป็นแบรนด์กาแฟอิสระ เจ้านี้ไม่มีข้อมูลด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม จริยธรรม หรือการจัดซื้อที่ชัดเจนเลย     ขอถนนเพื่อคนเดินบ้าง“ร้อยละ 92 ของผู้คนที่ใช้รถใช้ถนนในซิดนีย์ทุกวันนี้เป็นคนเดินเท้า แต่ทำไมพวกเขาถึงถูกปฏิบัติต่อราวกับเป็นพลเมืองชั้นสอง” นี่เป็นคำถามจาก โคลเวอร์ มัวร์ ผู้ว่าการเมืองซิดนีย์  เธอยังสงสัยต่อไปว่า ทำไมเวลาในการยืนรอข้ามถนนถึงนานกว่าระยะเวลาที่รถติด ระยะเวลาที่ให้เดินข้ามก็สั้นกว่าเวลาที่ปล่อยให้รถวิ่ง ... เราจัดลำดับอะไรผิดหรือเปล่า?คงมีหลายคนข้องใจเหมือนๆกัน จึงทำให้ในที่สุดเทศบาลเมืองซิดนีย์วางแผนจะเพิ่มและปรับปรุงทางเท้าและทางข้ามถนน โดยใช้เงินปีละไม่ต่ำกว่า 15 ล้านเหรียญ (ประมาณ 400 ล้านบาท)โครงการที่ใช้งบประมาณทั้งหมด 60 ล้านเหรียญ (1,600 ล้านบาท) นี้ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนผู้เดินทางด้วยเท้า ลดเวลาการเดินทาง ขยายทางเท้า และทำให้การทางเดินไปยังร้านค้าต่างๆ สะดวกสบายขึ้น ที่สำคัญคือต้องลดอุบัติเหตุรถยนต์ที่เกิดกับคนเดินเท้าลงให้ได้ร้อยละ 50 แม้ว่าจำนวนคนถูกรถชนจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็ยังน่าตกใจ เช่น ในรัศมี 400 เมตรจากสถานีรถไฟเซ็นทรัล มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ 131 คน และในรัศมี 300 เมตรจากศาลาว่ากลางเมืองซิดนีย์มีคนเดินที่ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนถึง 142 คน ดราม่าบะหมี่ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเคยเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตของผู้คนทั้งในจีนและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เพราะทั้งสะดวก อร่อย และถูกคนจีนบริโภคบะหมี่ดังกล่าวปีละ 40,000 ล้านซอง (ครึ่งหนึ่งของบะหมี่ที่ชาวโลกบริโภค) แต่เสน่ห์ของอาหารเส้นชนิดนี้ลดลงอย่างฮวบฮาบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนรายได้น้อย ข่าวบอกว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2014 ยอดขายลดลงร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เพราะคนจีนเริ่มมองว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารขยะ ที่อาจทำให้เป็นโรคหัวใจได้ถ้าบริโภคบ่อยเกินไป ปัจจุบันจีนมีผู้ผลิตบะหมี่เจ้าใหญ่อยู่เพียง 2 ราย ได้แก่ Uni-President China และ Master Kong (บริษัทบะหมี่ถึงร้อยละ 90 ปิดกิจการไปในช่วงปี 2000 ถึง 2010) นอกจากนี้รายงานจากนีลเซนยังพบว่า ร้อยละ 75 ของผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจ ยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อให้ได้อาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาหารที่ไม่มีสารปรุงแต่ง หรือไม่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรมด้วย   นอกจากความกังวลเรื่องสุขภาพแล้ว การสำรวจโดย China Confidential ยังพบว่า แรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่บริโภคบะหมี่สำเร็จรูปมากที่สุด มีการย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมืองเล็กๆ ในขณะที่บริษัทบะหมี่ยังคงทำการตลาดอยู่ในเมืองใหญ่เท่านั้นแต่เดี๋ยวก่อน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไฮเอนด์ที่นำเข้าจากเกาหลียังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย เพราะกระแสความนิยมละครทีวีของเกาหลีที่ยังแรงไม่หยุดนั่นเอง บิดลดควันเวียดนามมีแผนจะทำให้ร้อยละ 20 ของรถจักรยานยนต์ลดการปล่อยควันเสียลงให้ได้ภายในปี 2013 แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องเริ่มกันใหม่ ด้วยมาตรการตรวจควันเสียดานังจะเป็นเมืองแรกที่มีมาตรการบังคับดังกล่าว นี่คือข้อเสนอต่อกระทรวงขนส่งที่ระบุว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2018 เป็นต้นไป เจ้าของรถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งาน 10 ปีขึ้นไป จะต้องนำรถเข้ารับการตรวจควันปีต่อมาจะขยายผลไปยังรถที่อายุ 5 ปีขึ้นไป และภายในปี 2020 แผนนี้จะถูกนำไปใช้ในเมืองฮานอย ไฮฟอง เกิ่นเทอ และโฮจิมิห์นซิตี้ ด้วยเจ้าของรถคันที่ตรวจแล้วไม่ผ่าน จะต้องนำไปปรับปรุงแล้วมารับการตรวจวัดใหม่ ถ้าผ่านก็จะได้ตรารับรองไป ใครไม่ยอมปรับปรุงและยังขับขี่รถที่ไม่มีตรารับรอง ก็จะโดนปรับชาวบ้านโอดว่าค่าธรรมเนียมรถมอเตอร์ไซค์ที่จ่ายอยู่จะไม่ยิ่งสูงไปกว่าเดิมหรือ แต่ทางการยืนยันว่าค่าตรวจสอบรายปีนั้นไม่เกิน 150,000 ดอง (230 บาท) ว่าแล้วเขาก็บอกว่ากำลังจะขอความร่วมมือจาก ฮอนดา ซูซูกิ พิอาจิโอ และยามาฮา ให้ช่วยตั้งสถานีตรวจควันด้วยสาเหตุที่เลือกดานังเป็นเมืองแรกเพราะขนาดประชากรที่พอเหมาะ (1 ล้านคน) และการบริหารจัดการที่ดีของหน่วยงานรัฐ และเมืองนี้มีจักรยานยนต์ 713,000 คัน งดขายงดดื่ม         พรรคอิสลามของอินโดนีเซียเสนอให้มีการห้ามผลิต ขาย หรือบริโภคเครื่องดื่มทุกชนิดที่มีแอลกอฮอลมากกว่าร้อยละ 1 และให้มีโทษจำคุกถึง 2 ปีสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนผู้เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายฉบับนี้ที่อาจจะประกาศใช้ภายในสิ้นปี 2015 ระบุว่า การห้ามดังกล่าวเป็นไปเพื่อสุขภาพมากกว่าเรื่องของศีลธรรม แต่มียังข้อห่วงใยเรื่องผลกระทบต่อการท่องเที่ยว รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของเขาบอกว่าอาจจะต้องยกเว้นให้กับโรงแรมห้าดาวและเกาะบาหลี เพราะ “คนตะวันตกนั้น มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต”ด้านสมาคมผู้ผลิตก็บอกว่าการสั่งแบนดังกล่าวอาจทำให้มีคนตกงานกว่า 200,000 คนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ทั้งเบียร์สัญชาติอินโดนีเซียอย่าง บินตัง (ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คือไฮเนเก้น) ไปจนถึงเครื่องดื่มของผู้ประกอบการจากต่างประเทศอย่างคาร์ลสเบิร์กและดีอาจิโออินโดนีเซียมีประชากร 250 ล้านคน และมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก อัตราการบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ ปัจจุบันรั้งอันดับ 10 ของเอเชีย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 กระแสต่างแดน

  เมดไม่อยู่ คุณหนูต้องออกเที่ยว เทศกาลวันหยุดหลังการถือศีลอดของชาวมุสลิมที่อินโดนีเซีย เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้คนก็พากันกลับต่างจังหวัด คล้ายๆ กับเทศกาลสงกรานต์บ้านเรา  และเมื่อสาวใช้ในบ้านพากันลากลับบ้านไปใช้เงินโบนัสให้สาสมใจนั้น บรรดาคนมีเงินที่นั่นเขาก็ต้องหาที่ไปเหมือนกันเพราะไม่ถนัดจะอยู่บ้านโดยไม่มีแม่บ้านคอยดูแลจัดการทุกอย่างให้สะอาดเข้าที่เข้าทาง  บ้างก็นิยมไปเที่ยวเมืองนอก เรื่องนี้สมาคมท่องเที่ยวของอินโดนีเซียเขายืนยันมา ว่าแพ็คเกจทัวร์ไป  ประเทศยอดฮิตของคนที่นั่นซึ่งได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน และฮ่องกง ขายหมดไปแล้วตั้งแต่สองสามเดือนก่อน แอร์เอเชียก็ยืนยันมาว่าขนาดเพิ่มเที่ยวบินเป็น 8 เที่ยวต่อวัน ก็ยังมีตั๋วไม่พอขาย บ้างก็ไม่อยากข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลเพราะเป็นห่วงบ้าน เลยใช้วิธียกครอบครัวไปพักที่โรงแรมแทน สมาคมโรงแรมเขาก็ยืนยันว่าอัตราการจองห้องพักของคนอินโดนีเซียในช่วงวันหยุดดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85  อีกปรากฏการณ์ที่หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ เขารายงานไว้คือ ช่วงเทศกาลดังกล่าวเป็นช่วงที่โรงรับจำนำจะมีลูกค้าหนาแน่นเป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่เพราะผู้คนพากันเอาของมีค่ามาจำนำหรอกนะ เขาบอกว่าร้อยละ 70 ของลูกค้าที่เดินเข้ามา จะมาไถ่เครื่องประดับออกมาไว้ใส่ไปอวดใครต่อใครตอนกลับไปเยี่ยมบ้านนี่แหละ หลายคนบอกว่าตอนนี้ทองราคาขึ้น เอาออกมาไว้กับตัวดีกว่า เผื่อจะได้ขายทำเงิน   ได้เวลา … ภาษีลดความอ้วนฮังการี ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีหนี้มากที่สุดในยุโรปตะวันออก ประกาศนโยบายหารายได้เข้ารัฐด้วยการเรียกเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน หรือเกลือสูงเกินไป ว่ากันว่านี่คือนโยบายเก็บภาษีจากอาหารขยะแบบเข้มที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งนี้ก็แอบหวังเล็กๆ ว่า “ภาษีลดความอ้วน” ที่เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา จะเป็นการช่วยปรับนิสัยการกินของคนฮังกาเรียน ที่หันมาเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้น และนำไปสู่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบเป็นจำนวนไม่น้อย  พูดง่ายๆ ใครเลือกที่จะกินผลิตภัณฑ์อาหารเจ้าปัญหาเหล่านี้ จะต้องเสียเงินเพิ่มจากเดิมประมาณ 1.50 บาทต่อชิ้น/ซอง ส่วนนักดื่ม (น้ำอัดลม) ก็จะต้องจ่ายในราคาที่เพิ่มจากเดิมร้อยละ 10 เป็นต้น ทางการเขาบอกมาว่ามาตรการนี้จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 100 ล้านเหรียญ (ประมาณ 3,000 ล้านบาท)  ด้านอุตสาหกรรมอาหารก็คัดค้านเป็นธรรมดา เขาอ้างว่าวิธีนี้ปรับปรุงนิสัยการกินไม่ได้หรอก เพราะขนาดประเทศเดนมาร์กที่เก็บ “ภาษีลูกกวาด” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465 ก็ยังมีอัตราการเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอยู่ดี แถมยังบอกว่ามาตรการนี้เป็นการเลือกปฏิบัติและจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้มีรายได้น้อยอีกด้วย  ว่าแต่ผู้บริโภคก็มีทางเลือกที่จะไม่ซื้อขนม(ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ) ในราคาที่แพงขึ้น และรัฐบาลเขาก็ไม่ได้ประกาศห้ามอุตสาหกรรมผลิตขนมที่ดีต่อสุขภาพออกมาขายนี่นา  สถิติบอกว่าคนฮังกาเรียน ใช้เงินประมาณร้อยละ 17 ของรายได้ครอบครัวในการซื้ออาหาร (มากกว่าคนอเมริกันถึงสองเท่า) ทั้งนี้เพราะอาหารและเครื่องดื่มที่นั่นมีภาษีร้อยละ 25 ยกเว้นผลิตภัณฑ์จากนมและผลิตภัณฑ์ขนมปังที่มีภาษีร้อยละ 12  อิสราเอล กด Like “ไม่ซื้อเนยแพง”ผู้คนจำนวนหลายแสนคนที่รวมตัวกันทางเครือข่ายสังคม Facebook ได้ช่วยกันบอยคอตเนยคอทเทจยี่ห้อ Tnuva ที่พวกเขาเห็นว่าราคาแพงขึ้นจนรับไม่ได้   นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศเลิกควบคุมราคา คอทเทจชีสยี่ห้อนี้ก็แพงขึ้นกว่าเดิมถึงร้อยละ 25  เริ่มจากมีผู้บริโภคคนหนึ่งโพสต์กระทู้ลงในเฟสบุ๊ค ชักชวนเพื่อร่วมเครือข่ายให้หยุดซื้อเนยคอทเทจจาก Tnuva ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจ้าใหญ่ที่สุดในอิสราเอล ปรากฏว่าเพียงไม่กี่วันมีคนมาร่วมแจมเป็นแสนคน และจำนวนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคอทเทจชีสนั้นถือเป็นอาหารสามัญประจำโต๊ะกับข้าวของคนที่นั่น  ผลก็คือในที่สุด Tnuva ซึ่งเจ้าของตัวจริงได้แก่ Apax Investment Fund ของอังกฤษ ถึงแม้จะไม่ยอมลดราคากลับมาเท่าเดิม แต่ก็ต้องยอมเพิ่มปริมาณเนยเข้าไปอีกร้อยละ 10  นี่คือผลของการรวมตัวกัน “ไม่ซื้อ” ของผู้บริโภคกว่า 450,000 คน(ซึ่งนับว่าไม่น้อยเลยสำหรับประเทศที่มีประชากรทั้งหมด 7 ล้านคน) คนกลุ่มนี้มีการศึกษา มีงานทำ และทำงานด้วยความทุ่มเท แต่กลับมีรายได้แทบไม่พอกับการใช้จ่ายพื้นฐานในครัวเรือน พวกเขาจึงรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างแล้ว  สถิติบอกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เงินเดือนของคนอิสราเอลนั้นเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.6 ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคนั้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25  และพลังผู้บริโภคยังไม่หยุดแค่นั้น การบอยคอตที่ว่ายังขยายไปยังสินค้าจำเป็นอื่นๆ อีกด้วย สมาชิกเครือข่ายนี้จะร่วมกันเสนอชื่อสินค้าที่พวกเขาเห็นว่าตั้งราคาอย่างไม่เป็นธรรม และทุกคนก็จะร่วมมือกันไม่ซื้อสินค้าดังกล่าว  ยอดเยี่ยมจริงๆ ฉลาดซื้อ ขอกด Like ด้วยคน   เอาชีวิตรอดบนถนนในเมืองหลวงการขับรถบนถนนในเมือง มอสโก (เมืองหลวงเก่า) ของรัสเซีย คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะเขาถึงกับต้องมีการเปิดสอนคอร์ส “การเอาตัวรอดบนถนนมอสโก” กันเลยทีเดียว   สภาพถนนส่วนใหญ่ในรัสเซียนั้นเขาว่ากันว่าแย่มากๆ แถมยังไม่ค่อยมีป้ายสัญญาณ และแทบจะไม่มีการวางแผนจราจรด้วย หนำซ้ำอุบัติเหตุส่วนใหญ่ยังเกิดจากการฝ่าฝืนกฎจราจรโดยผู้ใช้รถใช้ถนนนี่แหละ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของรัสเซียบอกว่า ปัญหาหลักอยู่ที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าตนเองสามารถทำผิดกฎหมายโดยไม่มีใครทำอะไรได้  เลยต้องเกิดสภาพตัวใครตัวมันขึ้นมาอย่างที่เป็นอยู่ สิบปีก่อน เซอเก้ โมเซเยฟ เป็นเซลส์แมนที่ต้องพบกับประสบการณ์ขนหัวลุกทั้งวันที่เขาต้องขับรถไปหาลูกค้า เขาเลยไปลงเรียนคอร์สดังกล่าว เซอเก้บอกว่าเป็นการตัดสินใจที่นอกจากจะช่วยชีวิตเขาไว้ได้แล้ว ยังช่วยประหยัดเงินและเวลาที่จะต้องไปทำเรื่องที่สถานีตำรวจอย่างน้อย 3 วัน และค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกร้อยละ 10 กรณีที่เขาเป็นฝ่ายผิดอีกด้วย  พูดง่ายๆ ว่า แม้แต่การเฉี่ยวชนเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้ต้องเสียโอกาสทำเงินไปไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท  แล้วเซอเก้ก็ตัดสินใจเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ด้วยการสมัครเป็นครูที่สถาบันแห่งนั้นเสียเลย    เพราะธุรกิจนี้ดูท่าจะรุ่งเพราะบรรดาบริษัทต่างๆ นิยมส่งพนักงานมาเรียนเพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ถูกต้องทันท่วงที ในสถานการณ์คับขันบนท้องถนน แม้แต่พวกที่ซื้อใบขับขี่ในตลาดมืด ก็ยังต้องมาลงเรียนคอร์สนี้  พฤติกรรมแย่ๆ ในการขับรถระบาดมาถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ข่าวบอกว่าพักหลังนี่เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกันโดยมีรถตำรวจเข้าไปเป็นคู่ความบ่อยครั้ง จนกระทรวงมหาดไทยของรัสเซียต้องประกาศให้นายตำรวจทุกคนที่ใช้รถลาดตระเวน มาสอบขับรถกันใหม่ ภายใน 1 เดือนนับจากวันออกประกาศ  รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสถิติการตายบนท้องถนนมากที่สุดในโลก ปีที่แล้วมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าวถึง 26,000 คน ซึ่งถือว่าดีขึ้นมากจากเมื่อ 6 ปีก่อนที่ตัวเลขสูงกว่านี้เกือบร้อยละ 4  ข่าวบอกว่ามาตรการปราบปรามพวก “เมาไม่ขับ” ของที่นั่นก็ประสบความสำเร็จดีเกินคาด แต่หนังสือพิมพ์เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งอ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อระบุว่า ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมาตรการเข้มงวดที่ว่านั้นทำให้ “สินบน” ที่ต้องจ่ายให้ตำรวจนั้นถีบตัวขึ้นไปสูงถึง 300,000 บาททีเดียว  จริงเท็จอย่างไร เราพิสูจน์ไม่ได้ เพราะเขาไม่มีใบเสร็จรับรอง 

อ่านเพิ่มเติม >