ฉบับที่ 106 ฝันลม ๆ แล้ง ๆ กับถั่วขาว

ผู้เขียนมีอาการ(ซึ่งไม่ใช่โรค) ประจำตัวอยู่อาการหนึ่งคือ อาการปวดหัวไมเกรน (Migraine headache) ด้วยสาเหตุนานาประการ แต่ที่จำแม่นคือ อาการท้องอืด ดังนั้นเมื่อใดที่กินอาหารแล้วเกิดอาการท้องอืด สิ่งที่ผู้เขียนจะรีบทำคือ กินยาช่วยย่อย สาเหตุของการท้องอืดนั้นมากมายหลายประการ แต่ที่แน่นอนและเป็นบ่อยคือ อาหารไม่ย่อย ไม่ ว่าจะไม่ย่อยเพราะกินมากไปเนื่องจากไปกินบุฟเฟ่ต์ที่ต้องเอาให้คุ้ม หรือบางครั้งไม่ได้กินมาก แต่มันมีสาเหตุว่าในอาหารมีสารที่ไปยับยั้งการย่อยอาหาร เช่น ถั่วลันเตาอบกรอบ คำถามว่า ทำไมเมื่ออาหารไม่ย่อยแล้วจึงทำให้ปวดหัวไมเกรนได้ปรกติแล้วอาหารที่ผ่านการย่อยในลำไส้เล็ก มักเหลือเพียงกากใยซึ่งเป็นส่วนของพืชผักที่ไม่ถูกย่อย เมื่อลงสู่ลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในนั้นก็จะย่อยใยอาหารบางส่วนเป็นอาหาร จนเหลือส่วนที่ไม่มีใครย่อยได้ปนกับสิ่งอื่นๆ ออกเป็นอุจจาระ ท่านผู้อ่านอาจรู้สึกแปลกใจจนถึงอาจเกิดอาการกังวลถ้าทราบว่า ชนิดของแบคทีเรียที่มีได้ในลำไส้ใหญ่นั้นมากมายนัก ราว 300 ถึง 400 สายพันธุ์ ไม่ได้มีเฉพาะแลคโตบาซิลัส สายพันธุ์พิเศษที่สาวขายยา…บอกดอก ชนิดของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่นั้นถูกกำหนดด้วยกากอาหารที่เราผ่านลงไป วันหนึ่งกินอาหารอย่างหนึ่งก็เหลือกากอาหารแบบหนึ่งลงไปทำให้แบคทีเรียสายพันธุ์หนึ่งเจริญ พออีกวันกินอาหารอีกแบบหนึ่งสายพันธุ์ของแบคทีเรียก็เปลี่ยนไป แบคทีเรียเหล่านี้ทำหน้าที่ต่างกันไป บางชนิดช่วยกระตุ้นการดูดน้ำออกจากกากอาหารพอประมาณ ทำให้กลายเป็นอุจจาระที่สมบูรณ์แบบคือ ไม่แข็งโป๊ก หรือเหลวปิ๊ด แต่บางสายพันธุ์สามารถทำให้ท่านผู้อ่านหน้านิ่วคิ้วผูกโบว์ได้ในตอนเช้า เพราะการดูดน้ำออกจากกากอาหารมากไป หรือหน้าเซียวไปเลยถ้ามันเหลวเละเพราะแบคทีเรียไม่ช่วยกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่ดูดน้ำออกจากกากอาหาร ดังนั้นการบริโภคอาหารที่มีกากใยที่แบคทีเรียย่อยได้ดีและเป็นแบคทีเรียที่ช่วยให้การดูดน้ำออกจากกากอาหารไม่มากเกินไป ช่วงเวลาเข้าห้องน้ำตอนเช้าก็จะสุขารมย์ปานยกภูเขาออกจากอก แต่ในกรณีที่มีอาหารที่ไม่ใช่กากใยจากผักผลไม้ผ่านลงไปด้วย เช่น กรณีที่อาหารพวกคาร์โบไฮเดรตไม่ถูกย่อยในลำไส้เล็ก ผ่านลงไปลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียชนิดที่ใช้คาร์โบไฮเดรตชนิดนั้นได้ ก็จะเจริญมากขึ้นเป็นเสาหลักของลำไส้ใหญ่ ตัวอย่างเช่น กรณีที่ท่านผู้อ่านหลายท่านเลิกดื่มนมหลังจากที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว วันหนึ่งเกิดกลัวเป็นโรคกระดูกพรุนเร็ว เพราะโทรทัศน์เขาเตือนว่า วันนี้คุณดื่มนมแล้วหรือยัง เลยรีบไปหามาดื่ม แล้วก็พบว่า ภายในคืนนั้นเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาจมีอาการถ่ายเหลวที่ไม่ใช่อาการท้องเสีย เพราะอุจจาระที่ถ่ายออกมาไม่ได้มีกลิ่นเหม็นแบบรุนแรง แต่เป็นกลิ่นปรกติของมัน ซึ่งอาการดังกล่าวจะหายไปในไม่ช้า เหตุที่การกินนมหลังจากเลิกมานานแล้วทำให้ถ่ายท้องนั้น อธิบายได้ว่าผู้ใหญ่หลายคนขาดเอนไซม์ที่ใช้ย่อยน้ำตาลแลคโตส เนื่องจากเอนไซม์นี้มีเฉพาะในผู้ใหญ่ที่ดื่มนมเป็นประจำมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ส่วนคนที่พอคิดว่าโตแล้วต้องเลิกดื่มนม เพราะกลัวถูกหาว่าเป็นลูกแหง่ ร่างกายก็เลยเลิกสร้างเอนไซม์นี้เพราะเมื่อเลิกกินนมก็ไม่มีน้ำตาลแลคโตสจากนมไปคอยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเอนไซม์ออกมาใช้ ดังนั้นเมื่อหวนกลับมาดื่มนมจึงไม่มีเอนไซมไปย่อยน้ำตาลแลคโตสเป็นพลังงาน แบคทีเรียที่มีในลำไส้ใหญ่ชนิดที่กินน้ำตาลแลคโตสได้ก็จะกินแทนแล้วปล่อยแก๊สเช่น ไฮโดรเจน ออกมาทำให้ท้องอืดท้องเฟ้อ อาการท้องอืดท้องเฟ้อนั้นน่าจะส่งผลเนื่องไปถึงระบบประสาทที่สมอง ทำให้เกิดอาการไมเกรนได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นสารอาหารประเภทใดเหลือลงไปในลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียชนิดที่กินอาหารกลุ่มนั้นได้ก็จะ เจริญมากขึ้น และมักปล่อยแก๊สต่างๆ ออกมา เหม็นมากบ้าง น้อยบ้าง เช่น ถ้าเป็นอาหารพวกโปรตีนหลงลงไปลำไส้ใหญ่ แก๊สที่เกิดมักเป็นไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือแก๊สไข่เน่า ซึ่งท่านผู้อ่านจะประจักษ์ได้เลยว่า วันไหนได้กินอาหารมีโปรตีนสูงมากจนย่อยในลำไส้เล็กไม่หมด วันนั้นจะสร้างมลพิษในอากาศจนคนใกล้ตัวอยากฆ่าตัวตายหนีไปเลย เกริ่นมาเสียยาวเกี่ยวกับเรื่องอาการท้องอืดเฟ้อเพราะในฉลาดซื้อฉบับนี้ตั้งใจคุยถึงโฆษณาสินค้าที่จัดเป็นอาหารชิ้นหนึ่งคือ ผลิตภัณฑ์ใส่ถั่วขาว ความสนใจของผู้เขียนนั้นเริ่มที่ว่าในโฆษณานั้นมีการใส่กางเกงยีนของสตรีนางหนึ่ง ซึ่งถ่ายทำค่อนข้างเร็วจนผู้เขียนเกิดความสงสัยว่า ตอนที่กางเกงยีนไม่เข้าที่นั้นเขาคงต้องใส่แต่ชั้นในชิ้นเดียวจึงได้เข้าไปในเว็บ www.adintrend.com เพื่อดูคลิปนี้ให้หายข้องใจ และก็พบความจริงว่าผู้แสดงโฆษณาใส่อะไรก่อนใส่กางเกงยีนที่ใส่ยากเย็นจนลิ้นแล่บออกมา ผลของการใส่กางเกงยีนยากนั้น ในโฆษณาวางเนื้อเรื่องให้เราคิดต่อไปว่า นางแบบคงรู้สึกตัวว่าอ้วนจึงคิดถึงผลิตภัณฑ์ที่อาจทำให้ผอมลงได้คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีการผสมถั่วขาวเข้าไป ก่อนทำเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ความสงสัยจึงเกิดขึ้นทันทีว่า ถั่วขาวคืออะไร และมันไปทำให้ผอมได้อย่างไรเข้าเน็ทไปก็พบว่า ถั่วขาว (White Kidney Beans) จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับถั่วเหลือง ถั่วปากอ้า ถั่วแขก และถั่วพูลักษณะเป็นฝักที่มีเมล็ดคล้ายรูปไต พบมากในเขตน้ำกร่อย ขึ้นได้ดีในดินเลนค่อนข้างแข็ง ออกดอกและผลเกือบตลอดทั้งปี จากเว็บ www.foodsafetymobile.org ทำให้รู้ว่าถั่วขาวมีกำเนิดจากพื้นที่สูงแถวเม็กซิโกและกัวเตมาลา เป็นพืชขึ้นได้ดีในอากาศหนาวเย็นระหว่างเจริญเติบโต ในประเทศไทยนั้นก็มีการลองปลูกถั่วขาวบนพื้นที่สูงและพบว่าปลูกได้ดีทีเดียวแต่ไม่แพร่หลายเพราะเรานิยมกินถั่วเหลืองมากกว่า ถั่วชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง มีความสูงประมาณ 8-15 เมตร มีผลแบบงอกตั้งแต่ยังอยู่ บนต้น ผลสีเขียวยาว 1-1.4 ซม. กลีบเลี้ยงหุ้มผลรูปดาว กลีบโค้งกลับ มีการนำถั่วขาวมาแปรรูปทางด้านอุตสาหกรรมอาหารพร้อมบริโภคต่างๆ หลากหลาย เช่น ถั่วขาวในกาแฟและโกโก้ ซุปครีมถั่วขาว ถั่วขาวผสมคอลลาเจน ถั่วขาวในซอสมะเขือเทศบรรจุกระป๋อง เป็นต้น สำคัญที่สุดคือ มีการสกัดสารสำคัญในถั่วขาวชื่อว่า ฟาซิโอลามีน (Phaseolamin) ซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะไมเลสซึ่งขับออกมาจากตับอ่อน (เพื่อย่อยแป้งในลำไส้เล็ก) ได้ถึง 66% ดังนั้นการกินสารนี้เข้าไปจะทำให้เกิดการสูญเปล่าในการกินอาหารแป้ง มีคำแนะนำว่าถ้าได้กินสารนี้ราว 500 มิลลิกรัมต่อวัน ร่างกายจะได้รับพลังงานจากแป้งลดน้อยลงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งมีผลทำให้การสะสมของไขมันในร่างกายที่เกิดจากน้ำตาลในแป้งลดน้อยลง เมื่อร่างกายได้รับพลังงานไม่เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน ดังนั้นร่างกายก็จะเผาผลาญไขมันเก่าที่สะสมออกมาใช้มากยิ่งขึ้น ร่วมไปถึงยังลดระดับของไตรกรีเซอไรด์ในร่างกายด้วย จึงทำให้น้ำหนักลดลงโดยไม่ต้องใช้วิธีอดอาหารหรือกินยาลดความอ้วน แต่โปรดอย่าลืมว่า สารสกัดบริสุทธิ์ 500 มิลลิกรัมนั้นไม่ทราบว่ามาจากถั่วขาวธรรมดากี่กรัมหรืออาจเป็นกี่กิโลกรัม ความจริงโทษสมบัติในการยับยั้งการย่อยแป้ง ตลอดจนโปรตีนและไขมันนั้น เป็นโทษสมบัติของถั่วดิบทั่วไป ตัวอย่างเช่น การทำนมถั่วเหลือง ถ้าต้มไม่สุก สารพิษที่ยับยั้งการย่อยสารอาหารนั้นจะส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เนื่องจากอาหารไม่ย่อย แต่แบคทีเรียย่อยแทนได้แก๊สออกมา จากเว็บ quackwatch.com นายแพทย์ Stephen Barrett ได้กล่าวถึงสารกลุ่มที่เป็น calorie blocker หรือสารยับยั้งการได้พลังงานจากอาหารแป้งว่า ในปี 2525 ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยาได้รับรายงานว่ามีผู้ป่วยราว 100 ราย ที่เกิดอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว และอาเจียน หลังจากบริโภคสารกลุ่มที่ยับยั้งการใช้แป้ง ดังนั้นผลิตภัณฑ์กลุ่มที่เติมสารดังกล่าวจึงได้ถูกเก็บออกจากตลาด อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ที่เกิดในสหรัฐอเมริกานั้น คงไม่ได้รวมเอาผลิตภัณฑ์ที่เติมถั่วขาวเข้าไปด้วยเพราะขณะนั้นคงยังไม่มีการพัฒนาขึ้นมา แต่อาการนั้นใกล้เคียงกับการได้รับสารพิษตามธรรมชาติจากถั่วดิบต่าง ๆ จึงมีคำถามว่า ถ้าถั่วขาวที่เติมลงในกาแฟ หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ สามารถออกฤทธิ์ได้จริงอย่างที่หวัง ผู้บริโภคจะถ่ายเหลว ผายลม ปวดท้องหรือไม่ เพราะอาการดังกล่าวมักเกิดเวลาท้องอืด ในทางตรงข้ามกัน ถ้าบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีถั่วขาวเป็นองค์ประกอบแล้ว ไม่เกิดอาการขายหน้าเลย ก็แสดงว่าปริมาณสารออกฤทธิ์จากถั่วขาวในผลิตภัณฑ์นั้นน้อยไป จนไม่ออกฤทธิ์ ดังนั้นการป้องกันการได้พลังงานจากอาหารแป้งที่กินเข้าไป ก็จะไม่ได้ผล อาจพอประมาณได้ว่า กินผลิตภัณฑ์ผสมถั่วขาวได้ผลลมหายใจออกข้างล่างแทน อยากพิสูจน์ต้องไปหาซื้อมากินสักครั้งในวันอาทิตย์ ซึ่งสามารถทำขายหน้าได้ที่บ้าน เพื่อดูว่าจะเกิดอาการตามที่สงสัยหรือไม่ สำหรับผู้เขียนเองค่อนข้างจะเชื่อในข้อสงสัยเรื่องการผลิตลม เพราะวารสารทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับความเชื่อถือสูงคือ Science ชุดที่ 219 ฉบับที่ 4583 หน้าที่ 393-395 ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง A bean alpha-amylase inhibitor formulation (starch blocker) is ineffective in man ซึ่งแปลง่ายๆ ว่า อาหารที่มีสารพวกที่ทำหน้าที่ยับยั้งการย่อยแป้งซึ่งเรียกว่า starch blocker นั้นไม่มีผลอะไรในมนุษย์ ซึ่งบทความนี้ได้สรุปแบบฟันเสาธงเลยว่า this formulation has no effect on starch digestion in humans. ดังนั้นถ้าท่านบริโภคอะไรก็ตามที่ใส่ถั่วขาว ก็ขอให้บริโภคเพราะชอบในรสชาติก็แล้วกัน อย่าเพิ่งหวังอะไรมากนักเลย เดี๋ยวจะเสียใจภายหลัง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point