ฉบับที่ 237 เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์น้ำนมถั่วเหลือง 2020

        ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 193 เราได้เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองไว้ถึง 34 ตัวอย่าง จาก 9 ยี่ห้อ สะท้อนว่า ผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองได้รับความนิยมมาก มีหลากหลายสูตรให้ผู้บริโภคได้เลือกรับประทาน ซึ่งผลิตภัณฑ์หลักในสินค้ากลุ่มนี้ คือผลิตภัณฑ์ชนิดยูเอชที ที่ครองสัดส่วนการตลาดกว่าร้อยละ 96 มีสองแบรนด์หลักเป็นผู้ครองตลาด คือ แลคตาซอยและไวตามิ้ลค์ อย่างไรก็ตามในส่วนของผลิตภัณฑ์ชนิดพาสเจอร์ไรซ์ ถึงสัดส่วนจะมีเพียงร้อยละ 3 แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยมีแบรนด์โทฟุซัง ที่มาแรงครองใจผู้บริโภค ด้วยการวางภาพให้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หวานน้อย ใช้วัตถุดิบออร์แกนิกเป็นจุดขาย ซึ่งในปี 2020 นี้ ฉลาดซื้อเราได้สำรวจเพิ่มเติมเพื่อดูแนวโน้มและเปรียบเทียบเรื่องคุณค่าทางโภชนาการตามที่ชี้แจงในฉลากสำหรับผลิตภัณฑ์ยี่ห้อใหม่ๆ เพื่อให้เป็นข้อมูลสำหรับการเลือกซื้อของผู้บริโภค         เราไปส่องกันเลยว่าสินค้าที่เราเก็บตัวอย่างเดือนกันยายน ที่ผ่านมา มีอะไรบ้างสิ่งที่ควรพิจารณาเมื่อเลือกซื้อนมถั่วเหลือง1.เลือกที่มีส่วนผสมของน้ำนมถั่วเหลืองในปริมาณสูง2.เลือกรสชาติที่หวานน้อยเพื่อเลี่ยงภาวะติดหวาน3.เลือกที่ปราศจากวัตถุกันเสีย4.เลือกที่วันผลิตสดใหม่5.เลือกโดยพิจารณาว่าภาชนะบรรจุอยู่ในสภาพดี โดยเฉพาะชนิดกล่องต้องไม่อยู่ในสภาพบุบยุบตัวสิ่งที่ควรพิจารณาเมื่อเลือกซื้อนมถั่วเหลือง1.เลือกที่มีส่วนผสมของน้ำนมถั่วเหลืองในปริมาณสูง2.เลือกรสชาติที่หวานน้อยเพื่อเลี่ยงภาวะติดหวาน3.เลือกที่ปราศจากวัตถุกันเสีย4.เลือกที่วันผลิตสดใหม่5.เลือกโดยพิจารณาว่าภาชนะบรรจุอยู่ในสภาพดี โดยเฉพาะชนิดกล่องต้องไม่อยู่ในสภาพบุบยุบตัว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 231 ยาฆ่าหญ้า ไกลโฟเซต อันตรายที่ไกลตัว?

                มหากาพย์เรื่องยาวของการยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด แบ่งเป็นสารกำจัดวัชพืช (ยาฆ่าหญ้า) 2 ชนิด (พาราควอต และไกลโฟเซต) กับ สารกำจัดแมลง (ยาฆ่าแมลง) 1 ชนิด (คลอร์ไพริฟอส) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 ได้จบบทแรกลงไปแล้ว โดยที่ได้มีการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ให้พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ประกาศดังกล่าวส่งผลให้การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการยกเลิกการใช้สารเคมีประสบความสำเร็จบางส่วน อย่างไรก็ตามยังคงเหลือสารเคมีอีก 1 ตัวที่ยังไม่ถูกแบน ซึ่งได้แก่ยาฆ่าหญ้า – ไกลโฟเซต ที่ยังอยู่ในการควบคุมระดับวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 หรือการจำกัดการใช้เท่านั้น         การคงอยู่ของการใช้ไกลโฟเซตในวงจรการผลิตนำมาซึ่งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยและการตกค้าง ว่าจะมีการตกค้างของไกลโฟเซตหรือไม่ และถ้ามีจะมีมากน้อยเพียงใด “ฉลาดซื้อ” เลยถือโอกาสเก็บตัวอย่างถั่วเหลืองทั้งแบบเต็มเม็ดและแบบผ่าซีก เพื่อทดสอบหาการตกค้างของไกลโฟเซต มาให้หายสงสัยกัน อย่างไรก็ตามต้องแจ้งให้ท่านผู้อ่านทุกท่านทราบก่อนว่าผลการทดสอบครั้งนี้เป็นผลที่เก็บตัวอย่างและทดสอบกันมาระยะหนึ่งแล้วมิใช่การทดสอบที่เพิ่งดำเนินการแต่ประการใด         การเก็บตัวอย่าง 3 ครั้ง ในวันที่ 29 พ.ย., 2 ธ.ค. และ 6 ธ.ค. 62  ได้ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองรวม 8 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ การทดสอบทำตามเกณฑ์มาตรฐานในการอ้างอิงใช้ค่าการตกค้างสูงสุดที่ยอมรับได้จากมาตรฐานอาหารสากล (MRL CODEX : glyphosate 2006) ที่ 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม        สรุปผลการทดสอบ        ผลการทดสอบพบการตกค้างของไกลโฟเซตจำนวน 5 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62.5) (แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน) ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ ที่ 0.53 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ ที่ 0.07 มิลลิกรัม/กิโลกรัม, ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน ที่ 0.50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท ที่ 0.20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต ที่ 0.24 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยมี 3 ตัวอย่าง ที่ไม่พบการตกค้าง (ร้อยละ 37.5) ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, และถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์         นอกจากไกลโฟเซตแล้ว “ฉลาดซื้อ” ยังได้ตรวจสอบหาสารที่เป็นเมตาโบไลท์หลักของไกลโฟเซตชื่อ Aminomethyphosphonic acid: AMPA ซึ่งตรวจพบการตกค้างของ AMPA จำนวน 4 ตัวอย่าง (ร้อยละ 50) ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ ที่ 0.84 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ ที่ 0.16 มิลลิกรัม/กิโลกรัม,   ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน ที่ 0.79 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, และถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท ที่ 0.51 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนอีก 4 ตัวอย่างที่ตรวจไม่พบได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, ถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์, และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต         ข้อสังเกต จากทั้งหมดที่พบไกลโฟเซตจำนวน 5 ตัวอย่างมี 3 อย่าง (ถั่วเหลืองตราไร่ทิพย์, ถั่วเหลืองซีกตราเอโร่, และถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท) ที่เป็นผู้ผลิตรายเดียวกันคือ บริษัท ไร่ธัญญะ จำกัด         แม้ว่าการตรวจพบไกลโฟเซตจำนวน 5 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่าง (มี 1 ตัวอย่างเป็นถั่วเหลืองออร์กานิค) นั้น จะไม่มีตัวอย่างใดเลยที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานอาหารสากล (ค่าเฉลี่ยเพียงแค่ 0.31 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) แต่การพบการตกค้างหมายความว่า ยังคงมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการบริโภคในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านความร้อนสูงไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ ฯลฯ         การตกค้างที่ตรวจพบไม่ใช่เรื่องไกลตัวของผู้บริโภค ดังนั้นผู้บริโภคที่นิยมการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองในกลุ่มที่กล่าวไว้ข้างต้นอาจจะต้องสนใจในแหล่งที่มาของวัตถุดิบของอาหารของเราให้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอของฉลาดซื้อ คือ การแสดงฉลากโดยระบุว่า “ใช้ สาร….” (ในที่นี้คือไกลโฟเซต) ตรงส่วนประกอบของอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะเลือกซื้อ และเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารเคมีเกินสมควรด้วยตนเอง         อย่างไรก็ตามความปลอดภัยของผู้บริโภค ณ ต้นทาง ย่อมสำคัญกว่าการจัดการที่ปลายทาง ฉลาดซื้อยังคงคาดหวังที่จะเห็นการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซตเช่นเดียวกันกับ พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในอนาคตอันใกล้นี้ จึงอยากขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีส่วนร่วมโดยการเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย เร่งรัดการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซตโดยเร็วที่สุด โดยร่วมกันไม่อุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่แสดงว่ามีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง ทั้งนี้ให้เริ่มจากไกลโฟเซตเป็นลำดับแรก*ข้อมูลประกอบhttps://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%82%E0%B8%9F%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%95 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 สารอาหารในนมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม

เชื่อว่าหนึ่งในเหตุผลที่หลายคนชื่นชอบการบริโภคนมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้ มาจากคุณค่าหรือสารอาหารที่มีประโยชน์ในเครื่องดื่มดังกล่าว เพราะถั่วเหลืองมีไขมันอิ่มตัวน้อยและมีโปรตีนสูงใกล้เคียงกับนมวัว ทำให้ผู้ที่ควบคุมน้ำหนักหรือรับประทานมังสวิรัติสามารถดื่มนมถั่วเหลืองแทนนมวัวได้ นอกจากนี้ยังสามารถลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมและมดลูกได้อีกด้วย โดยปัจจุบันเราสามารถเลือกซื้อนมถั่วเหลืองมาบริโภคกันได้ง่ายขึ้น ผ่านร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าทั่วไป เพราะมีการจำหน่ายนมถั่วเหลืองในรูปแบบสำเร็จรูปพร้อมดื่มได้ทันทีนั่นเองอย่างไรก็ตามนมถั่วเหลืองพร้อมดื่มเหล่านี้ จำเป็นต้องมีการปรับรสชาติให้ถูกปากผู้บริโภคส่วนใหญ่ จึงอาจทำให้มีปริมาณน้ำตาลสูงเกินกว่าที่เราควรได้รับต่อวัน หรือไม่ควรเกินวันละ 24 กรัม/วัน (6 ช้อนชา) ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงสุ่มทดสอบปริมาณสารอาหารในนมถั่วเหลืองพร้อมดื่มจำนวน 34 ตัวอย่าง จาก 9 ยี่ห้อ ซึ่งตรวจสอบด้วยการดูฉลากว่ายี่ห้อไหนจะใส่น้ำตาลมากหรือน้อยกว่ากัน รวมทั้งตรวจสอบปริมาณโปรตีนและแคลเซียมในแต่ละยี่ห้ออีกด้วย โดยผลทดสอบจะเป็นอย่างไรลองไปดูกันเลยเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับนมถั่วเหลือง- นมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้ คือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองที่นำมาแปรรูป- ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองมีสารไฟโตเอสโตรเจน ซึ่งเป็นสารจากพืชที่ออกฤทธิ์เป็นฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) แต่มีฤทธิ์ในปริมาณค่อนข้างต่ำ จึงไม่ใช่ตัวการหลักที่กระตุ้นให้เด็กผู้หญิงมีรอบเดือนเร็วกว่าปกติ-  ผู้หญิงที่มักปวดท้องเมื่อมีรอบเดือน อาจมีสาเหตุจากร่างกายสร้างเอสโตรเจนออกมาในปริมาณมาก ซึ่งสามารถบรรเทาได้ด้วยการบริโภคผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเป็นประจำ เพราะในถั่วเหลืองมีสารเจ็นนิสตีน (genistine) ที่ช่วยทำให้เอสโตรเจนออกฤทธิ์น้อยลง ด้วยการแย่งพื้นที่จับบริเวณผนังเซลล์ของต่อมน้ำนมและมดลูก แต่หากบริโภคสารดังกล่าวในรูปแบบอาหารเสริมเป็นประจำ อาจส่งผลให้มีบุตรยากได้สรุปผลทดสอบจากนมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม 34 ตัวอย่าง 9 ยี่ห้อ พบว่า1. น้ำตาล- ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลสูงที่สุดคือ แลคตาซอย น้ำนมถั่วเหลืองยูเอชที รสหวาน สูตร Original Classic มีปริมาณน้ำตาล 28 กรัม/หน่วยบริโภค และยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุดคือ ดีน่า นมถั่วเหลืองยูเอชที สูตรผสมงาดำ 2 เท่า น้ำตาลน้อย (เจ) มีปริมาณน้ำตาล 4 กรัม/หน่วยบริโภค- ส่วนนมถั่วเหลืองชนิดแห้งที่มีปริมาณน้ำตาลสูงที่สุดคือ โอวันติน เนเจอร์ซีเล็คท์ ซอยย์ นมถั่วเหลืองปรุงสำเร็จชนิดผง สูตรผสมงาดำ (เจ) มีปริมาณน้ำตาล 18 กรัม/หน่วยบริโภค และยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุดคือ ดอยคำ นมถั่วเหลือง100% ไม่มีปริมาณน้ำตาลผสมอยู่เลย2. โปรตีน- ยี่ห้อที่มีปริมาณโปรตีนสูงที่สุดมี 5 ยี่ห้อ ได้แก่ 1.ดีน่า นมถั่วเหลืองยูเอชที สูตรผสมถั่วเหลืองสีดำ (แบล็ค ซิงค์) 2.ไวตามิ้ลค์ น้ำนมถั่วเหลือง สูตรข้าวบาร์เลย์และมอลต์ ทูโก (ขวดแก้ว) 3.ไวตามิ้ลค์ น้ำนมถั่วเหลือง สูตรทูโก ออริจินัล (ขวดแก้ว) 4.ไวตามิ้ลค์ น้ำนมถั่วเหลือง สูตรดับเบิ้ลช็อกโก ทูโก (ขวดแก้ว) 5.แลคตาซอย น้ำนมถั่วเหลืองยูเอชที รสหวาน สูตร Original Classic มีปริมาณโปรตีน 9 กรัม/หน่วยบริโภคเท่ากัน- ส่วนยี่ห้อที่มีปริมาณโปรตีนน้อยที่สุดคือ โทฟุซัง นมถั่วเหลืองออร์แกนิค รสออริจินัล (เจ) และดีน่า นมถั่วเหลืองยูเอชที สูตรผสมงาดำ 2 เท่า (เจ) มีปริมาณโปรตีน 4 กรัม/หน่วยบริโภคเท่ากัน3. แคลเซียม- ยี่ห้อที่มีปริมาณแคลเซียมสูงที่สุดคือ แลคตาซอย น้ำนมถั่วเหลืองยูเอชที ไฮแคลเซียม สูตรเจ มีปริมาณแคลเซียม 60%/หน่วยบริโภค ในขณะที่ยี่ห้อที่มีปริมาณแคลเซียมน้อยที่สุดคือ ดีน่า นมถั่วเหลืองยูเอชที สูตรผสมจมูกข้าวญี่ปุ่น น้ำตาลน้อย (เจ) และดีน่า นมถั่วเหลืองยูเอชที สูตรผสมน้ำนมข้าวโพด (เจ) มีปริมาณแคลเซียมน้อยกว่า 2%/หน่วยบริโภค4. พลังงาน- ยี่ห้อที่ให้พลังงานสูงที่สุดคือ แลคตาซอย น้ำนมถั่วเหลืองยูเอชที รสหวาน สูตร Original Classic ให้พลังงานทั้งหมด 260 กิโลแคลอรี/หน่วยบริโภค - ยี่ห้อที่ให้พลังงานน้อยที่สุดมี 3 ยี่ห้อ ได้แก่ 1.ดอยคำ นมถั่วเหลือง100% ให้พลังงานทั้งหมด 70 กิโลแคลอรี/หน่วยบริโภค และ 2.ดีน่า นมถั่วเหลืองยูเอชที สูตรผสมงาดำ 2 เท่า (เจ) 3. โทฟุซัง นมถั่วเหลืองออร์แกนิค รสออริจินัล (เจ) ให้พลังงานทั้งหมด 90 กิโลแคลอรี/หน่วยบริโภคเท่ากัน 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 187 อะฟลาท็อกซินในถั่วเหลือง

“ถั่วเหลือง” เป็นอีกหนึ่งธัญพืชที่นิยมบริโภคกันทั่วไป หารับประทานง่าย รสชาติอร่อย ซึ่งส่วนใหญ่เรานิยมนำถั่วเหลืองไปแปรรูป เป็นน้ำนมถั่วเหลือง หรือ น้ำเต้าหู้ รวมทั้งนำมาทำเป็นเต้าหูประเภทต่างๆ นำมากวนทำขนม หรือจะนำเมล็ดถั่วเหลืองมาคั่วคลุกเกลือ กินเป็นขนมทานเล่นก็อร่อยไม่แพ้กันเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะบริโภคอาหารที่แปรรูปจากถั่วเหลืองแทบจะทุกวัน การคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย การตรวจสอบป้องกันการปนเปื้อนของสารที่เป็นอันตรายของสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งก็เช่นเดียวกับถั่วชนิดอื่นๆ ที่มักจะมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของ “อะฟลาท็อกซิน” สารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ถ้าได้รับเข้าไปมากๆ จะมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร คนที่แพ้ก็อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นอาเจียน หมดสติ แถมถ้าสะสมในร่างกายนานๆ เข้าก็อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ฉลาดซื้อ ฉบับที่แล้ว (ฉบับที่ 186) เราได้นำเสนอผลทดสอบอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสง ซึ่งผลที่ออกมาถือเป็นข่าวดีของผู้บริโภค เมื่อพบว่ามีถั่วลิสงถึง 10 จากทั้งหมด 11 ตัวอย่างที่เรานำมาตรวจวิเคราะห์ ไม่พบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน ส่วนอีก 1 ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนก็พบในปริมาณที่น้อยมาก ซึ่งไม่เกินจากปริมาณที่กฎหมายกำหนด เรียกว่าผู้บริโภคสามารถกินถั่วลิสงได้อย่างสบายใจ ปลอดภัยหายห่วง ส่วนฉบับนี้ก็เป็นทีของถั่วเหลืองบ้าง ไปดูกันสิว่า ถั่วเหลืองหลากหลายยี่ห้อที่วางขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไป จะเจอการปนเปื้อนของ อะฟลาท็อกซิน บ้างหรือเปล่าผลการทดสอบผู้บริโภคได้ดีใจกันอีกครั้ง เมื่อผลทดสอบการปนเปื้อนของ อะฟลาท็อกซิน ในถั่วเหลือง ได้ผลที่ปลอดภัยในการบริโภค ไม่พบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินเลยในถั่วเหลืองทั้ง 8 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบข้อกำหนดปริมาณอะฟลาท็อกซินในอาหารประกาศกระทรวงสาธาณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่องมาตรฐานอาหารที่ทีสารปนเปื้อน กำหนดให้พบการปนเปื้อนของ อะฟลาท็อกซิน ในอาหารได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรับ ต่อ อาหาร 1 กิโลกรัมสถานการณ์การบริโภคถั่วเหลืองในประเทศไทยข้อมูลจากรายงานสถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญและแนวโน้ม ปี 2558 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า เมื่อปี 2557 ประเทศไทยเรามีความต้องการใช้เมล็ดถั่วเหลืองอยู่ที่ 2.07 ล้านตัน มากกว่าปี 2556 ที่มีความต้องใช้อยู่ที่ 1.74 ล้านตัน เพิ่มมากขึ้นถึง 18.65% โดยมีการนำเมล็ดถั่วเหลืองไปใช้ประโยชน์ในหลายวัตถุประสงค์ ที่มากที่สุดก็คือ การนำไปสกัดน้ำมัน คิดเป็น 81.87% ของจำนวนถั่วเหลืองที่ใช้ทั้งหมดในประเทศ รองลงมาคือการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร 17.65% และนำไปทำพันธุ์ 0.19%แม้ว่าประเทศไทยเราจะมีความต้องการถั่วเหลืองค่อนข้างสูง แต่ว่าการผลิตในประเทศยังค่อนข้างน้อย เนื่องจากขาดแคลนเมล็ดพันธ์ที่ดี และถั่วเหลืองถือเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ส่งผลให้ไทยเราต้องมีการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองในปริมาณที่ค่อนข้างสูง โดยในปี 2558 มีการนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 2.10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่นำเข้าในปริมาณใกล้เคียงกันคือ 2.02 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณเมล็ดถั่วเหลืองที่เราสามารถผลิตได้เองในประเทศอยู่ที่แค่ 5 หมื่นกว่าตันเท่านั้น หนำซ้ำยังมีการคาดการณ์กันว่าเนื้อที่เพราะปลูกถั่วเหลืองในประเทศน่าจะลดลงเรื่อง โดยปัจจุบันเรามีเนื้อที่เพราะปลูกถั่วเหลืองอยู่ที่ประมาณ 0.18 ล้านไร่ถั่วเหลือง อาหารมากคุณประโยชน์ถั่วเหลือง ถือเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ในถั่วเหลืองประกอบด้วยโปรตีน 35% ไขมัน 20% ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่นตัวเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีใยอาหาร มีแร่ธาตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แคลเซียม เหล็ก วิตามินบี 1 และ วิตามินบี 2ประโยชน์จากการบริโภคถั่วเหลืองนั่นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน เพราะในถั่วเหลืองมีแคลเซียมสูง นอกจากนี้โปรตีนในถั่วเหลืองยังช่วยยับยั้งให้ร่างกายของเราสูญเสียแคลเซียมลดลง ถั่วเหลืองยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง สารประกอบในถั่วเหลืองเป็นสารที่ช่วยในการยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ที่จะเปลี่ยนเซลล์ปกติไปเป็นเซลล์มะเร็ง โปรตีนในถั่วเหลืองยังไปช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ในถั่วเหลืองยังมีสารที่ชื่อว่า “ไฟโตเอสโตรเจน” (phytoestrogen) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิง ถือเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อผู้หญิงช่วยให้ฮอร์โมนทำงานได้ปกติและดีขึ้น ลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ดีต่อสุขภาพของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน การบริโภคอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองเป็นประจำจึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อร่างกายของเรา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 184 ร้องเรียนเรื่องนมถั่วเหลืองบูดก่อนวันหมดอายุ

กลับมาแล้วจ้ะ  หลังจากหายหน้าไปนาน เล่มนี้เราจะมาเรียนรู้วิธีการพิทักษ์สิทธิของเราเอง  เมื่อเจอสินค้าเสื่อมคุณภาพ(สินค้าเน่าเสียก่อนวันหมดอายุ)   โดยต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม  ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ กรณีนมถั่วเหลืองชนิดยูเอชที เน่าเสียก่อนวันหมดอายุ(ตามที่ระบุไว้ที่กล่อง)   เอาล่ะเราก็ต้องตรวจสอบไล่เรียงเรื่องราวกันก่อน ได้ความว่าผู้ร้องได้ซื้อนมถั่วเหลืองยี่ห้อหนึ่งจากร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน  เพื่อนำไปแจกในงานศพญาติ  ก่อนซื้อได้ตรวจดูวันผลิตและวันหมดอายุแล้ว(ผลิตวันที่ 25 กุมภาพันธ์.59 หมดอายุ 25 ธันวาคม 59) ผู้ร้องซื้อสินค้าตอนต้นเดือนมีนาคม ห่างจากวันผลิตไม่ถึง 10 วัน จริงๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่หลังจากแจกจ่ายนมไปแล้ว   ปรากฏว่าแขกในงานที่ได้รับแจกนมกล่องไป ได้โทรมาต่อว่าผู้ร้อง ว่าแจกนมบูดไปให้เขากิน  ผู้ร้องจึงได้ไปตรวจสอบนม ที่เหลืออยู่ปรากฏว่าบูดเสียจริงทั้งแพ็กที่ซื้อมาจึงได้มาร้องเรียนที่สมาคมฯ   จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า เรื่องนี้ไม่สามารถไปเอาผิดกับร้านสะดวกซื้อได้ เพราะไม่ได้จำหน่ายสินค้าหมดอายุ  จึงต้องนำเรื่องไปร้องเรียนที่บริษัทผู้ผลิต ซึ่งเหตุการณ์นี้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดจากความบกพร่องในกระบวนการผลิต    ทางสมาคมฯ จึงได้แนะนำกับผู้ร้องให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้  1. ผู้ร้องต้องกลับไปซื้อนมร้านเดิม วันเดือนปี ผลิตเดียวกัน(ซึ่งพบว่ายังมีจำหน่ายอยู่) มาเปิดพิสูจน์อีกครั้งว่าเน่าเสียเหมือนกันหมดหรือไม่ 2. ถ้าพบว่านมนั้นเน่าเสีย  ให้นำนมนั้นไปเป็นหลักฐานในการแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งผลคือพบนมเน่าเสียทั้งหมด (อันที่จริงถ้าไม่พบที่ร้านอีกก็สามารถนำนมที่เหลืออยู่กับผู้ร้องไปแจ้งความได้) ผู้ร้องจึงได้ไปแจ้งความลงบันทึกตามคำแนะนำของสมาคมฯ จากนั้นสมาคมฯ ได้รวบรวมเอกสารหลักฐาน พร้อมส่งหนังสือร้องเรียนไปที่บริษัทผู้ผลิตนมยี่ห้อนั้น  ซึ่งทางบริษัทผู้ผลิตแสดงความรับผิดชอบต่อสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานของตน และได้ทำหนังสือมาขอโทษและแจ้งว่าบริษัทฯ ได้ตรวจสอบนมล็อตที่ถูกร้องเรียน ซึ่งพบว่า มีปัญหาเน่าเสียจริง อันเป็นผลจากกระบวนการขนส่งบริษัท และทางบริษัทฯ ได้เรียกเก็บนมล็อตนั้นออกจากตลาดแล้วทั้งหมด   จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการเจราจาความเสียหายของผู้ร้องเรียน  บริษัทเสนอชดเชยด้วยนมจำนวน 4 ลัง และขอให้เรื่องจบ   สมาคมฯ เห็นว่าไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้บริโภค และแจ้งบริษัทว่ากรณีร้องเรียนนี้ ผู้ร้องมิได้เสียหายแค่ซื้อสินค้ามาบริโภคเอง แต่มีการแจกจ่ายไปให้ผู้ร่วมงานศพ ทำให้เพื่อนบ้านในวงกว้าง เข้าใจผิด ทำให้ผู้ร้องเสียหายจากการถูกกล่าวหาว่าซื้อของเน่าเสียมาแจก  ทำให้เกิดความเสียหายทางด้านจิตใจ สมาคมฯในฐานะคนกลางในการไกล่เกลี่ย ได้เสนอการเยียวยาความเสียหายของผู้ร้อง 2 ข้อดังนี้ คือหนึ่งให้บริษัทเยียวยาความเสียหายของผู้ร้องเป็นจำนวนเงิน  20,000  บาท  สองให้บริษัททำหนังสือขอโทษ และสัญญาว่าจะระมัดระวังผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานทุกชิ้นก่อนถึงมือผู้บริโภค  จากนั้นมีการลงนาม 3 ฝ่าย (บริษัทผู้ผลิต สมาคมฯ ผู้รับเรื่องร้องทุกข์ ผู้ร้องเรียนในฐานะผู้เสียหาย) ในข้อตกลง และแต่ละฝ่ายเก็บข้อตกลงไว้คนละฉบับ ซึ่งทางบริษัทยินดีปฏิบัติตามข้อเสนอ      

อ่านเพิ่มเติม >