ฉบับที่ 265 ถุงเท้าและการนอนหลับ

        ช่วงเดือนธันวาคม 2565 ติ๊กต๊อกเกอร์คนหนึ่งแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับ การใส่ถุงเท้านอนอาจส่งผลร้ายต่อร่างกาย เสี่ยงต่อโรคไหลตาย โดยอ้างถึงข้อมูลจากบทความของหมอชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง (ไม่ระบุแหล่งที่มา) กล่าวว่า “การใส่ถุงเท้านอนส่งผลเสียต่อร่ายกายในระยะยาวโดยเฉพาะเด็กทารก เนื่องจากเวลาที่มนุษย์นอนนั้นอุณหภูมิของร่างกายต้องลดลง แต่เมื่อใส่ถุงเท้าแล้วกลายเป็นการขวางทางการระบายความร้อนของร่ายกาย จึงอาจทำให้ไหลตายได้”         ข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้เกิดการอภิปรายกันในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง โดยมีแนวโน้มว่า ไม่น่าจะจริง สุดท้ายติ๊กต๊อกเกอร์คนนี้ได้ออกมาขอโทษที่นำข้อมูลที่ไม่ได้ตรวจสอบมาเผยแพร่ เนื่องจากเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและตรงกับตัวเขาที่โดนแม่คอยบอกด้วยความหวังดีเสมอว่า “ให้ใส่ถุงเท้านอนนะลูก”         ประเด็นการใส่ถุงเท้านอนนั้น จริงแล้วเป็นเรื่องจำเป็นต่อสุขภาพสำหรับคนที่มีเท้าเย็นกว่าส่วนอื่นของร่างกายเป็นประจำ สำหรับผู้เขียนซึ่งสังเกตตนเองมานานกว่า 30 ปีแล้วพบว่า คืนใดที่รู้ว่าเท้าเย็นมากกว่าปรกติ แม้ห่มผ้าที่ทำให้ร่างกายอุ่นแล้วก็ตาม (อุณหภูมิห้องนอนถูกปรับอากาศอยู่ที่ 26-27 องศาเซลเซียส) ตอนรุ่งเช้ามักปวดหัวไมเกรน ซึ่งเมื่อเป็นบ่อยเข้าผู้เขียนจึงตั้งสมมุติฐานว่า ความเครียดของร่างกายเนื่องจากเท้าเย็นน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดไมเกรน ดังนั้นผู้เขียนจึงเริ่มใส่ถุงเท้านอน หลังจากนั้นก็ไม่มีอาการไมเกรนในตอนเช้าอีกเลย ส่งผลให้ปัจจุบันผู้เขียนซึ่งมีอายุย่างเข้า 70 ปีแล้วก็ใส่ถุงเท้าเกือบทั้งวัน ยกเว้นวันที่อากาศร้อนมากช่วงกลางวันหรือเวลาต้องมีกิจกรรมที่เท้าเปียกน้ำ เช่น รดน้ำต้นไม้ สำหรับการปวดหัวไมเกรนเนื่องจากปัจจัยอื่นนั้นยังมีอยู่บ้างจึงต้องคอยหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นเหตุกระตุ้นต่าง ๆ งานวิจัยเกี่ยวกับผลดีของการใส่ถุงเท้านอน         งานวิจัยที่อธิบายเกี่ยวกับการใส่ถุงเท้านอนแล้วส่งผลดีต่อร่างกายนั้นมีมากพอควร จึงขอยกตัวอย่างสัก 3 เรื่องที่น่าสนใจให้ผู้อ่านได้พิจารณา โดยงานวิจัยเรื่องแรกชื่อ Effects of Barefoot Habituation In Winter on Thermal and Hormonal Responses in Young Children - A Preliminary Study ในวารสาร Journal of Human Ergology นั้น เป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างนักวิจัยชาวเกาหลี ญี่ปุ่นและฮ่องกง เกี่ยวกับผลของการใส่ถุงเท้าหรือไม่ใส่ถุงเท้าต่อการปรับตัวของร่างกายเมื่ออยู่ในอุณหภูมิต่ำ งานวิจัยนี้ให้ข้อมูลว่า พฤติกรรมการสวมถุงเท้าหรือการเดินเท้าเปล่าเป็นประจำในฤดูหนาวมีผลต่อระดับอุณหภูมิผิวหนังของปลายแขนและปลายขา และมีผลต่อการขับฮอร์โมนบางชนิดในเด็ก โดยในการทดลองที่ 1 นั้น ได้ทำการวัดอุณหภูมิผิวหนังเท้าและขาในเด็กก่อนวัยเรียนนาน 30 นาที ขณะอยู่ในห้องเรียนที่ควบคุมไว้ที่อุณหภูมิ 23±2°C และความชื้น 50±5% ซึ่งพบว่าอุณหภูมิของผิวหนังที่ขาในกลุ่มเท้าเปล่ามีแนวโน้มว่าต่ำกว่าที่ขาของกลุ่มที่ใส่ถุงเท้า         ส่วนการทดลองที่ 2 เป็นการศึกษาในเด็กประถมซึ่งถูกแบ่งกลุ่มให้สวมและไม่สวมถุงเท้า จากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ปริมาณของฮอร์โมนที่ร่างกายหลั่งเมื่อเกิดความเครียดหรือความคับขันในสถานะการณ์ต่าง ๆ ระหว่างการนอนหลับตอนกลางคืนซึ่งพบว่า เด็กประถมในกลุ่มที่เท้าเปล่ามีแนวโน้มการขับนอร์อะดรีนาลีนและคอร์ติซอลออกมาในปัสสาวะ (ซึ่งขับออกมาในตอนเช้า) สูงกว่าเด็กประถมที่ใส่ถุงเท้า ทำให้สรุปได้ประมาณว่า เด็กเล็กที่มีนิสัยชอบเดินเท้าเปล่าต้องพยายามปรับตัวต่อความเย็นของอากาศให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นด้วยการเพิ่มอัตราการเผาผลาญในร่างกาย ซึ่งดูได้จากปริมาณฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างพลังงานเมื่อร่างกายมีความเครียดที่ตรวจพบในปัสสาวะสูงกว่าเด็กที่ใส่ถุงเท้า (ข้อมูลส่วนนี้อาจพอช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมเมื่อเท้าเย็นเกินไปเพราะไม่ใส่ถุงเท้าแล้วฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการปรับตัวเมื่อเกิดความเครียดจากสิ่งแวดล้อมต่อร่างกายต้องเพิ่มขึ้นเพื่อเร่งการเผาผลาญให้เกิดความร้อนสูงขึ้น และถ้ากระบวนการดังกล่าวไม่สำเร็จหรือไม่เพียงพอ ผู้เขียนจึงเกิดอาการไมเกรน ดังนั้นการใส่ถุงเท้าเพื่อป้องกันความหนาวเย็นที่เท้าจึงเป็นเรื่องจำเป็น)        บทความที่สองเป็นงานวิจัยของนักวิจัยชาวดัทช์เรื่อง Skin temperature and sleep-onset latency: Changes with age and insomnia ในวารสาร Physiology & Behavior ของปี 2007 ซึ่งศึกษาถึงผลของอุณหภูมิที่เท้าก่อนนอนหลับ บทความนี้ให้ข้อมูลว่า โดยปรกติช่วงเวลาที่เริ่มนอนจนหลับนั้นมีการลดลงอุณหภูมิของเท้าซึ่งทำให้นักวิจัยสนใจว่า ช่วงเวลาที่เริ่มเข้าสู่การนอนหลับนั้นมีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิผิวหนังก่อนนอนหรือไม่ โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาทุกคนที่เลือกมานั้นไม่มีการใช้ยาที่ส่งผลต่อการนอนหลับหรือระบบนาฬิกาชีวิต ไม่ใช้ยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีการแบ่งกลุ่มอาสาสมัครเป็น คนหนุ่มสาวที่มีสุขภาพดี 8 คนที่ไม่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ (อายุ 21-39 ปี เพศละ 4 คน) ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง 8 คนที่ไม่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ (อายุ 56–80 ปี เพศละ 4 คน) และผู้สูงอายุ 8 คนที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับแต่มีสุขภาพดี (อายุ 51–66 ปี เพศละ 4 คน) โดยผลการศึกษาพบว่า ตลอด 24 ชั่วโมงของแต่ละวันที่มีการนอนหลับและการตื่นนั้นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกาย        การศึกษานี้นักวิจัยสามารถเพิ่มแนวโน้มในการทำให้อาสาสมัครนอนหลับเร็วขึ้นได้ด้วยการทำให้ผิวหนังอุ่นขึ้นจนถึงระดับที่ปกติเกิดขึ้นก่อนหลับและระหว่างการนอนหลับด้วยการทำให้เท้าอุ่นด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่ การปรับอุณหภูมิเท้าด้วย 1. แช่เท้าในน้ำอุ่นก่อนเข้านอน 2. สวมถุงเท้าปรับความร้อนได้ (heatable bed socks) ก่อนปิดไฟนอน และ 3. สวมถุงเท้าปรับความร้อนได้หลังปิดไฟนอน ซึ่งผลการศึกษาพบว่า การกระตุ้นให้เท้าอุ่นหรือการใส่ถุงเท้าปรับอุณหภูมิหลังจากปิดไฟนอนสามารถเร่งการนอนหลับในผู้สูงอายุที่ไม่มีปัญหาการนอนหลับได้ ส่วนในผู้สูงอายุที่ปรกตินอนไม่ค่อยหลับนั้นไม่มีวิธีการใดในการศึกษานี้ที่ช่วยเร่งการนอนหลับ         ในการศึกษาถึงผลของการใส่ถุงเท้าต่อคุณภาพของการนอนหลับนั้น พบได้ในบทความเรื่อง Effects of feet warming using bed socks on sleep quality and thermoregulatory responses in a cool environment ในวารสาร Journal of Physiological Anthropology ของปี 2018 ซึ่งเป็นผลการศึกษาของนักวิจัยชาวเกาหลีที่ศึกษาในชายหนุ่ม 6 คน (อายุ 22.7 ± 2.0 ปี) ซึ่งไม่มีปัญหาการนอนหลับยากที่เข้าร่วมการทดลองถึงผลการทำให้เท้าอุ่นขึ้นระหว่างการนอนหลับ 7 ชั่วโมง ในห้องที่มีอุณหภูมิ 23°C ความชื้นสัมพัทธ์ 50% เพื่อวัดช่วงเวลาเข้าสู่การนอนหลับ (sleep-onset latency) คุณภาพของการนอนหลับ ช่วงเวลานอนหลับทั้งหมด จำนวนการตื่นกลางคันหลังจากนอนหลับแล้ว ลักษณะการเคลื่อนไหวร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิเฉลี่ยของทวารหนักและผิวหนังระหว่างการนอนหลับ 7 ชั่วโมง และทำแบบสอบถามถึงคุณภาพการนอนหลังตื่นนอนตอนเช้า         ผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่สวมถุงเท้าสำหรับใส่นอน (bed socks ทำด้วยเส้นใย polyester 98.6% และ polyurethane 1.4%.) เทียบกับผู้ที่นอนเท้าเปล่านั้น มีช่วงเวลาเข้าสู่การนอนหลับสั้นลงโดยเฉลี่ยคือ 7.5 นาที เวลานอนรวมนานขึ้น 32 นาที (กลุ่มไม่ใส่ถุงเท้าเฉลี่ยการนอนราว 7 ชั่วโมง) การตื่นนอนกลางดึกน้อยลง 7.5 เท่า และคุณภาพการนอนหลับดีขึ้น 7.6% โดยที่มีอุณหภูมิของเท้าสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 1.3 °C ในขณะที่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของอัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวหนังและทวารหนัก หรือการตอบแบบสอบถามถึงคุณภาพการนอน ดังนั้นโดยสรุปแล้วการทำให้เท้าอุ่นโดยใช้ถุงเท้า (bed socks) ระหว่างการนอนหลับในสภาพแวดล้อมที่เย็นมีผลในเชิงบวกต่อคุณภาพการนอนหลับ แต่ไม่มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่ออุณหภูมิแกนกลางของร่างกายซึ่งชี้ว่าคุณภาพการนอนหลับสามารถปรับปรุงได้โดยการปรับอุณหภูมิเท้าให้อุ่นไว้ตลอดการนอน         ก่อนจบบทความนี้ผู้เขียนมีความสนใจระหว่างการเขียนว่า bed socks นั้นต่างจากถุงเท้าที่ใส่กันเป็นประจำอย่างไร ก็ได้พบข้อมูลประมาณว่า “Bed sock” นั้นส่วนใหญ่เป็นถุงเท้ายาวซึ่งเมื่อใส่แล้วมักพับลงมาที่ระดับข้อเท้าหรืออาจไม่พับแล้วปล่อยยาวถึงหัวเข่า เป็นถุงเท้าที่หนากว่าปรกติและส่วนที่พับลงมาที่ข้อเท้าบางรุ่นมีความปุกปุยด้วยวัสดุใยสังเคราะห์หรือวัสดุธรรมชาติ เช่น ฝ้ายหรือขนสัตว์         ราคาของถุงเท้าชนิดนี้ในประเทศไทยมีความหลากหลายมาก เช่น ถ้าซื้อบนแพลตฟอร์มที่มีสินค้าขายเกือบทุกอย่างนั้นมีราคาราว 25 บาท (4 คู่ 100) ซึ่งท่านผู้อ่านคงพอเดาคุณภาพและความประทับใจได้ว่าน่าจะเป็นอย่างไร ส่วนที่ขายบนแพลตฟอร์มในต่างประเทศนั้นเท่าที่เห็นคือ $10 สหรัฐขึ้นไป หรือหนักหน่อยที่เป็นแบรนด์เนมสำหรับคนไทยที่พอใจคำอธิบายคุณภาพว่า Adult Bed Socks in Organic Merino Wool, Natural White,...นั้นราคาของร้านที่เป็นสาขาในไทยคือ เกือบห้าพันบาท ซึ่งประหยัดได้เกือบ 40% (แสดงว่าราคาเดิมน่าจะเป็น 8 พันกว่าบาท) ดังนั้นผู้ที่สนใจในการดูแลสุขภาพเท้าเพื่อให้นอนหลับสบายขึ้นสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ตามความเหมาะสมของเท้าและกระเป๋าสตางค์ของแต่ละคน ส่วนผู้เขียนนั้นถุงเท้าอเนกประสงค์ราคา 3 คู่ 100 ซึ่งจะหนาและมีขนาดใหญ่หน่อยก็พอเพียงต่อการป้องกันการเกิดไมเกรนหลังตื่นนอนแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ถุงเท้า 1 แถม 1 ที่ราคาไม่ตรงกับป้ายที่ติดไว้

        ผู้บริโภคคงเคยเจอเหตุการณ์ร้านค้าขายสินค้าไม่ตรงกับป้ายราคาที่แจ้งไว้ แล้วได้จัดการปัญหานี้อย่างไรหรือว่าปล่อยเหตุการณ์แบบนี้ผ่านไป ถ้าเราอยากจัดการปัญหาลองมาดูกันสิว่าผู้บริโภคที่พบเจอเหตุการณ์แบบนี้เขามีวิธีการจัดการปัญหาอย่างไร         คุณจันจิราพนักงานบริษัทผู้แข็งขันได้รับมอบหมายให้จัดประชุมกรรมการบริหารของบริษัท จึงไปเตรียมการจัดประชุมที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เมื่อถึงห้องพักเธอนำเสื้อผ้าออกจากประเป๋า เพื่อเตรียมชุดสำหรับประชุมวันรุ่งขึ้น แต่กลับพบว่า เธอไม่ได้นำถุงเท้ามาด้วย จึงต้องออกไปซื้อถุงเท้าที่ร้านสะดวกซื้อใกล้โรงแรม เบื้องต้นก็ถามพนักงานว่า มีถุงเท้าขายไหม อยู่ตรงไหน พนักงานพาเธอมาตรงชั้นสินค้าที่วางถุงเท้า เธอเห็นป้ายราคาติดไว้ 35 บาท ซื้อ 1 แถม 1 “เออก็ถูกดีนะ” เธอจึงหยิบมา 2 คู่ ตามป้ายที่ระบุไว้ คือ 1 แถม 1 (ถุงเท้า 2 คู่ ราคา 35 บาท)        เมื่อพนักงานชำระเงินสแกนบาร์โค้ดสินค้า ราคาถุงเท้าจาก 2 คู่ 35 บาท เป็น 2 คู่ 49 บาท เธอจึงแย้งพนักงานว่า ที่ชั้นวางสินค้าติดราคาไว้ว่า 2 คู่ 35 บาท ทำไมราคาไม่ตรงกัน พนักงานจึงเดินไปดูที่ชั้นวางสินค้า พบว่าป็นอย่างที่เธอพูดจริงๆ คุณพนักงานรีบกล่าวขอโทษ แต่แจ้งเธอว่า “สินค้าหมดโปรโมชั่นแล้วค่ะ” คุณจันจิราคิดในใจ “ไม่เล่นแบบนี้นะคะน้อง” แล้วจึงหยิบป้ายที่ติดราคาไว้มาดูและชี้ให้พนักงานดูว่า “ยังไม่หมดโปรโมชั่นค่ะ” พนักงานจึงกล่าวขอโทษอีกครั้งและแจ้งว่าน่าจะติดราคาสินค้าผิด        คุณจันจิราเริ่มหงุดหงิด จึงบอกให้พนักงานเอาป้ายราคาที่ติดผิดออก พนักงานแจ้งว่า เดี๋ยวจะดำเนินการนำป้ายราคาที่ผิดออก “แน่ะ ยังจะเดี๋ยวอีก” คุณจันจิราแจ้งว่าให้นำออกทันทีสิคะ เพราะอาจจะมีคนอื่นซื้อเพราะเข้าใจผิดอีกก็ได้ เป็นพนักงานของร้านเมื่อพบว่า ป้ายสินค้ามีปัญหาก็ควรรีบแก้ไข และควรระวังการติดป้ายราคาผิดพลาดด้วย  หลังจากจัดพนักงานไปหนึ่งชุด สุดท้ายเธอก็จำต้องซื้อถุงเท้ามาในราคา 49 บาท เพราะจำเป็นต้องใช้งาน แต่ก็ยังสงสัยอยู่ในใจว่าถ้าเธอหรือคนอื่นเจอเหตุการณ์แบบนี้ต้องทำอย่างไร ที่เธอทำไปถูกหรือไม่ จึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิฯ แนะนำว่า จริงๆ แล้ว ผู้ร้องสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่ร้านค้าติดป้ายไว้ เพราะเป็นความผิดของทางร้านค้า การที่ผู้ขายขายสินค้าไม่ตรงกับราคาตามป้ายแสดงราคา มีความผิดต้องโดนปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และผู้ร้องสามารถแจ้งไปได้ที่กรมการค้าภายใน สายด่วน 1569 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง         นอกจากร้องเรียนไปยังหน่วยงานเพื่อให้แก้ไขปัญหาของตัวเองแล้ว ยังสามารถแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดของร้านค้า ทั้งนี้หน่วยงานยังมีรางวัลนำจับสำหรับผู้แจ้งเบาะแสถึง 25 เท่าของค่าปรับ เมื่อหน่วยงานดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการที่ถูกแจ้งเบาะแสแล้ว เพื่อเป็นการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้ควรจะร้องเรียนไปยังหน่วยงาน เพื่อใช้มาตรการทางอ้อมในการให้ร้านค้าคำนึงถึงผู้บริโภคมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >