ฉบับที่ 218 โดนหลอกให้โอนเงิน ( อีกแล้ว)

        สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ทนายโสภณ กลับมารายงานตัว ฉบับนี้ผมจะขอหยิบยกเรื่องราวที่คนมักจะพบเป็นข่าวกันบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องของการหลอกให้โอนเงิน เชื่อว่าหลายท่านคงรู้ดีว่าปัจจุบันนี้ พวกมิจฉาชีพมักแฝงตัวมาในรูปแบบต่างๆ มากมาย  ส่วนหนึ่งอาศัยความโลภ ความอยากของคนเรามาใช้ประโยชน์ ทำให้ได้เงินหรือทรัพย์สินไป ซึ่งในเรื่องเหล่านี้มีแง่มุมทางกฎหมาย และมีคำตัดสินของศาลหลายๆ ส่วนที่น่าศึกษา และเห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงเอามาบอกเล่ากับผู้อ่านทุกท่านครับ         คดีแรกที่เกิดขึ้น  เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายถูกหลอกให้โอนเงิน เพราะหวังผลตอบแทนจากดอกเบี้ยต่อเดือนที่สูงกว่าปกติ(ร้อยละ 15 ต่อเดือน) โดยได้โอนเงินไปให้แก่จำเลยเกือบสองล้าน แน่นอนเพื่อให้เหยื่อตายใจ ในช่วงแรกก็มีการจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันจริง แต่พอสักพักก็ไม่จ่ายให้ หายไปติดต่อไม่ได้ ผู้เสียหายจึงรู้ตัวว่าโดนหลอกแล้ว จึงไปแจ้งความกับตำรวจ โดยตำรวจก็ได้ลงบันทึกประจำวันไว้ เพื่อดำเนินการ เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล จำเลยก็อ้างว่า ที่ผู้เสียหายหรือโจทก์ไปแจ้งตำรวจเป็นเพียงข้อความที่โจทก์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามด้วยตนเองต่อไป ไม่ใช่การร้องทุกข์เพื่อให้ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งต่อมาศาลฎีกาก็ได้ตัดสินเป็นหลักไว้ว่า การที่โจทก์ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานโดยมีพนักงานสอบสวนเวรรับแจ้งไว้ตามประสงค์ของผู้แจ้ง เพื่อดำเนินการต่อไป ถือว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษในความผิดฐานฉ้อโกง ทั้งพนักงานสอบสวนเวรผู้รับแจ้งความก็รับว่าจะไปดำเนินการต่อไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายแล้ว        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6637/2558        รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ร. ร่วมกับ ณ. และ อ. หลอกลวงให้โจทก์โอนเงิน 13 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,952,000 บาท โดยแจ้งว่าจะนำเงินที่โจทก์โอนให้ไปลงทุนหรือให้บุคคลอื่นกู้ยืม และจะให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อเดือน ประกอบกับ ร. มากับ ส. เจ้าของรีสอร์ท ทำให้โจทก์หลงเชื่อ เป็นเหตุให้โจทก์โอนเงินเพื่อปล่อยกู้จำนวนดังกล่าว ช่วงแรก ร. โอนเงินดอกเบี้ยให้ร้อยละ 15 ต่อเดือนจริง ประมาณ 4 ครั้ง โจทก์จึงหลงเชื่อโอนเงินให้ แต่เมื่อ ร. กับพวกได้เงินแล้ว โจทก์ติดต่อไป ร. กับพวกกลับเงียบหาย โจทก์จึงทราบว่าถูกหลอกลวง การกระทำของ ร. กับพวก เป็นการฉ้อโกง โจทก์จึงมาที่สถานีตำรวจบ่อผุดเพื่อลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานและเพื่อจะได้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งพันตำรวจโท พ. พนักงานสอบสวนเวร รับแจ้งไว้ตามประสงค์ของผู้แจ้ง เพื่อดำเนินการต่อไป แสดงให้เห็นแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตลอดจนชื่อของผู้กระทำผิดและโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษทั้งพนักงานสอบสวนเวรผู้รับแจ้งความก็รับว่าจะไปดำเนินการต่อไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แล้ว หาใช่เป็นเพียงข้อความที่โจทก์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามด้วยตนเองต่อไปแต่อย่างใดไม่                คดีที่สอง เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันโทรศัพท์หลอกลวงผู้เสียหายทั้ง 61 คนว่า ผู้เสียหายแต่ละคนมีสิทธิได้รับเงินภาษีคืนจากกรมสรรพากรบ้าง หรือได้รับเงินประกันสังคมคืนจากสำนักงานประกันสังคมบ้าง โดยจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันแสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันอ้างว่าจะมีการโอนเงินภาษีหรือเงินประกันสังคมดังกล่าวคืนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหายซึ่งผู้เสียหายแต่ละคนสามารถใช้บัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารออกให้ไปทำรายการที่ตู้รับฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคาร (ตู้เอทีเอ็ม) ตามรายการขั้นตอนที่จำเลยที่ 1 กับพวกบอกซึ่งจะทำให้ผู้เสียหายทั้ง 61 คนได้รับคืนเงินค่าภาษีจากกรมสรรพากร และเงินประกันสังคมจากสำนักงานประกันสังคมด้วยวิธีการโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหายซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความเท็จทั้งสิ้น จากการหลอกลวงของจำเลยที่ 1 กับพวกดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายทั้ง 61 คนหลงเชื่อนำบัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารออกให้ของแต่ละคนไปทำรายการที่ตู้รับฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคารตามขั้นตอนที่จำเลยที่ 1 กับพวกหลอกลวงเป็นเหตุให้มีการโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหายแต่ละคนทั้ง 61 คนไปเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีชื่อหลายคนที่จำเลยที่ 1 กับพวกหลอกให้เปิดบัญชีเงินฝากไว้         จากนั้นจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้บัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ในการเบิกถอนเงินสดทำการเบิกถอนเงินสดที่มีการโอนมาจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายทั้ง 61 คน ทำให้จำเลยที่ 1 กับพวกได้เงินของผู้เสียหายทั้ง 61 คนไปในที่สุด ซึ่งคดีนี้มีข้อน่าสนใจว่าการที่จำเลยกับพวก อ้างตนเองเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คือเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ถือว่ามีการหลอกลวงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นหรือไม่ ต่อมาศาลฎีกาก็ได้ตัดสินวางหลักไว้ว่า กรณีดังกล่าว เป็นเพียงการแสดงฐานะของตนเองอันเป็นเท็จ ไม่ใช่การแสดงตนเป็นคนอื่น จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด จำเลยกับพวกจึงไม่ต้องรับโทษในความผิดดังกล่าว         คำพิพากษาฎีกาที่ 8145/2559        "ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 นั้น ถ้าผู้กระทำกระทำโดยแสดงตนเป็นคนอื่น จะต้องระวางโทษหนักขึ้นตามมาตรา 342          การที่จำเลยเพียงแต่แสดงฐานะของตนเองอันเป็นเท็จว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ไม่ใช่การแสดงตนเป็นคนอื่น จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 342 (1)"

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 สูงวัยอาจถูกหลอก?

ปัจจุบันนี้ นอกจากเทคโนโลยีจะทันสมัยเพิ่มมากขึ้นแล้ว กลุ่มผู้สูงวัยก็เป็นพลเมืองอีกกลุ่มที่จะเพิ่มมากขึ้นไปด้วย หน่วยงานต่างๆ หลายแห่งหันมาให้ความสนใจกับกลุ่มผู้สูงวัยมากขึ้น มีการสนับสนุนการรวมตัวหรือจัดกิจกรรมต่างๆ ให้กลุ่มผู้สูงวัย  โดยบางทีก็ไม่รู้ว่าอาจจะตกเป็นเครื่องมือของคน(ไม่หวังดี) บางกลุ่ม ผู้เขียนได้รับแจ้งข่าวพร้อมภาพจากพลเมืองดีว่า เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ได้ไปเยี่ยมกลุ่มชมรมผู้สูงอายุที่จัดกิจกรรมในพื้นที่แห่งหนึ่ง แต่เมื่อไปถึงกลับพบว่าครั้งนี้มันแปลกไป ไม่ได้หมายถึงผู้สูงวัยท่านจะกลับมาเป็นวัยหนุ่มสาวหรอกนะครับ หากแต่พบว่า มีกลุ่มบุคคลแจ้งว่าตนเองมาจากมูลนิธิแห่งหนึ่ง มาตรวจแนะนำสุขภาพให้ผู้สูงวัย แหม..เริ่มต้นด้วยจิตอันเป็นกุศลอย่างนี้ไม่ว่าวัยไหนๆ คงระทวยไปตามๆ กัน การตรวจก็ง่ายๆ ครับ มีอุปกรณ์เครื่องมือชิ้นเล็กๆ หนีบนิ้ว แล้วมีสายต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะแสดงผลหน้าจอออกมาเป็นกราฟ เห็นอุปกรณ์ทันสมัยไฮเทคขนาดนี้แล้ว ยิ่งบุคคลผู้ตรวจ ซึ่งเป็นเพศชายดูมีบุคลิกดี ทะมัดทะแมง ทรงภูมิ ดูมีการศึกษา แถมอธิบายกราฟให้คุณตาคุณยายฟังเป็นฉากๆ เจอกับตาตนเองขนาดนี้แล้ว ผู้สูงวัยทั้งหลายต่างก็อ้าปากค้างกันไปเลย ทยอยมาต่อคิวกันตรวจกันใหญ่ แต่โลกนี้คงไม่มีอะไรฟรีๆ ดังนั้นถึงจะมาในนามมูลนิธิก็เถอะ บริการฟรีๆ จะมีที่ไหน ถัดไปอีกโต๊ะจะมีกลุ่มพนักงานหญิงมาพร้อมกับผลิตภัณฑ์สินค้ามากมาย อย่าเพิ่งดีใจ เขาไม่ได้มาแจกฟรีนะครับ เอามาจำหน่ายครับ มีขายเป็นชุด เช่น ชุดสมอง-หัวใจ-ไต-กระดูก ชุดละ 6 ขวด ราคา 3,000 บาท แต่ถ้าคุณตาคุณยายเงินน้อยก็ยินดีขายแยกขวดนะครับ มีหลายผลิตภัณฑ์ ราคาประมาณขวดละห้าร้อยถึงหกร้อยบาท ถึงราคาจะสูง แต่คุณตาคุณยายเห็นทั้งกราฟจากจอคอมพิวเตอร์ แถมมีคนแนะนำกระหน่ำโรคให้หวั่นไหวหัวใจขนาดนี้แล้ว คุณตาคุณยายบางคนก็ยอมควักกระเป๋าจ่าย หมดเงินไปตามๆ กัน ฟังเรื่องราวแล้วก็ละเหี่ยใจ แทนที่จะเคารพดูแลผู้สูงวัย กลับมาหลอกลวงท่านให้เสียเงินเสียทองไปอีก ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เท่าที่ดูจากรูปก็เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่วางขายทั่วๆ ไป คุณภาพสรรพคุณก็ไม่ได้สูงตามราคา พลเมืองดีท่านนี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางผู้ขายจะตระเวนไปเรื่อยๆ ตามสถานที่ประชุมกลุ่มหรือชมรมผู้สูงวัยทั้งหลาย  ไม่รู้ว่าจะวนเวียนไปแถวไหนอีก หากใครพบเห็น ขอให้รีบแจ้งกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เลยนะครับ ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้สูงวัยในพื้นที่ หากเจอใครมาติดต่อขอให้บริการผู้สูงวัยในลักษณะนี้ ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคเช่นกัน จะได้มาตรวจสอบและป้องกันการให้ข้อมูลบิดเบือนได้ทัน ก่อนที่คุณตาคุณยายทั้งหลายอาจจะตกเป็นเหยื่อได้นะครับ

อ่านเพิ่มเติม >