ฉบับที่ 274 สายการบินทำกระเป๋าพัง ทรัพย์สินเสียหาย

        เมื่อคุณโดยสารเครื่องบิน แล้วพอถึงที่หมายพบว่าสายการบินทำกระเป๋าเดินทางพังจากการขนส่ง สิ่งแรกที่ควรทำคือถ่ายรูปความเสียหายทั้งหมดไว้ และติดต่อเคาน์เตอร์สายการบินที่คุณเดินทางมา หรือเจ้าหน้าที่ของสนามบินเพื่อขอเอกสารบันทึกความเสียหายของกระเป๋าเก็บไว้เป็นหลักฐาน และรีบขอเคลมค่าเสียหายกับสายการบินทันที หรือเมื่อสะดวกหลังจากการเดินทาง แต่ก็ต้องเผื่อใจว่าค่าชดเชยที่สายการบินเสนอให้เบื้องต้นอาจดูไม่สมน้ำสมเนื้อกับความเสียหายที่เกิดขึ้น         คุณเจนเป็นคนหนึ่งที่เจอประสบการณ์สุดเซ็งแบบนี้เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2566 เธอเล่าว่าซื้อตั๋วเครื่องบินของสายการบินที่ให้บริการภายในประเทศแห่งหนึ่ง เส้นทางดอนเมือง-ร้อยเอ็ด ราคา 2,499 บาท และซื้อน้ำหนักสัมภาระเพิ่มอีกต่างหาก เดินทางจากสนามบินดอนเมืองตอน 11โมงเช้า มาถึงร้อยเอ็ดตอนเที่ยงครึ่ง ทุกอย่างดูราบรื่นดี แต่พอเธอเดินไปรับกระเป๋าสัมภาระของตัวเองก็ต้องถึงกับอึ้ง เมื่อเห็นกระเป๋าพังยับเยินเกินเยียวยา ทำให้เครื่องสำอางและน้ำหอมราคาแพงที่อยู่ในกระเป๋านั้นเละตุ้มเป๊ะหมด ตอนนั้นตกใจมาก จนเธอไม่ทันได้ฉุกคิดเลยว่าจะต้องถ่ายรูปความเสียหายเก็บไว้         คุณเจนรีบไปติดต่อแผนกเคลมกระเป๋าสัมภาระ เจ้าหน้าที่ได้เสนอทางเลือกให้ว่าจะรับเป็นค่าชดเชย 800 บาท หรือกระเป๋าผ้าใบใหม่ไป เมื่อเธอปฏิเสธเพราะคิดว่าข้อเสนอนี้ไม่เป็นธรรม เจ้าหน้าที่ก็ให้ถุงดำมาใส่สัมภาระแทน คุณเจนไม่พอใจในการบริการของสายการบินนี้อย่างมากและต้องการเรียกร้องค่าชดเชยที่เหมาะสม จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ ทางช่องทางไลน์ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการไขแก้ปัญหา         ในกรณีนี้ ถ้าผู้โดยสารทำประกันการเดินทาง หรือประกันกระเป๋าเดินทางไว้ ก็จะสามารถเคลมได้ตามเงื่อนไขของประกัน แต่คุณเจนไม่ได้ทำไว้ ทางมูลนิธิฯ จึงให้ส่งข้อมูลมาเพิ่มเติม ดังนี้         1.สรุปค่าเสียหายที่ต้องการเรียกร้องกับสายการบิน (ค่ากระเป๋า 5,000 บาท ค่าโหลดกระเป๋าที่ซื้อเพิ่ม 2,000 บาท ค่าเครื่องสำอางและน้ำหอม 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 22,000 บาท)         2.ภาพถ่ายสินค้าที่เสียหาย (ใช้ภาพสินค้าที่ได้ซื้อมาจากอินเตอร์เน็ต พร้อมราคาสินค้าก็ได้)         เมื่อมีข้อมูลครบ มูลนิธิฯ ได้ออกหนังสือถึงบริษัทสายการบินแห่งนี้ เพื่อขอให้พิจารณาชดเชยความ         เสียหายให้กับคุณเจนแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 พนักงานโรงแรมทำ “โน้ตบุ๊ก” เสียหาย

        เวลาจะไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจทั้งที คิดว่าหลายๆ คน คงจะเลือกแล้ว เลือกอีกกับที่พัก เพราะนอกจากเราจะเสียเงินทั้งที ก็คงอยากได้ที่พักแบบคุ้มค่าและปลอดภัย ให้คุ้มกับเงินที่เสียไปใช่ไหมล่ะ?         ก็เหมือนกับคุณวี ที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่...ไม่ใช่เรื่องที่พักไม่ตรงปกอย่างที่คิดหรอกนะ แต่เป็น เรื่องที่ทางพนักงานของโรงแรมนั้น ทำทรัพย์สินของคุณวีเสียหายนะสิ โดยคุณวีเล่าให้ทางมูลนิธิฯ ฟังว่า เขาได้ไปเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อเขาเดินทางถึงโรงแรมดังกล่าว ก็มีรถกอล์ฟมารอรับ-ส่งทันที ในขณะที่ขนย้ายทรัพย์สินขึ้นบนรถกอล์ฟ ก็มีกระเป๋าใบหนึ่งที่เขาตั้งใจวางในลักษณะยืนตั้งเอาไว้ปกติ เพราะในกระเป๋าดังกล่าวมีโน้ตบุ๊ก จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อขนย้ายเสร็จสิ้น ก็เดินทางไปห้องพักทันที แต่...เมื่อมาถึงห้องพักกลับต้องตกใจ! เพราะว่าพนักงานโรงแรมดันเอา กระเป๋าเป้ที่มีโน้ตบุ๊ก ไปวางไว้ในลักษณะแนวนอนราบไปกับพื้น ทำให้ขวดน้ำที่อยู่ในกระเป๋าไหลมาโดนโน้ตบุ๊ก ซึ่งทางพนักงานเองก็ยอมรับว่าเป็นคนวางไว้แบบนั้นเอง         คุณวี จึงต้องรีบแก้ปัญหาโดยการนำกระเป๋าเป้ตั้งขึ้น พร้อมกับรีบเอาของทั้งหมดออกจากกระเป๋า ซึ่งในขณะเดียวกัน ทางพนักงานก็ได้กล่าวว่า “ขอตัวก่อนนะครับ” จึงทำให้ทางคุณวีรู้สึกว่า ทางพนักงานไม่มีการพูดกล่าวขอโทษ หรือพยายามช่วยเหลือเรื่องดังกล่าวเลย และโน้ตบุ๊กของเขาก็เสียหายอีกด้วย         แนวทางแก้ไขปัญหา         หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทางผู้ร้องได้มีการติดต่อส่งอีเมลไปยังโรงแรม พร้อมแจ้งรายละเอียดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต่อมา ทางโรงแรมก็ได้ติดต่อทางผู้ร้องมาว่าจะทำการตรวจสอบเรื่องราว 1 วัน และจะติดต่อกลับมา ซึ่งทางโรงแรมก็ได้ติดต่อกลับมาพร้อมแจ้งว่าจะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอให้ผู้ร้องส่งข้อมูล เช่น ใบเสร็จรับเงิน และโน้ตบุ๊กที่เสียหายไปยังโรงแรม แต่เมื่อคุณวีได้ส่งข้อมูลไปแล้วพบว่า ไม่มีการติดต่อกลับมาจากทางโรงแรมอีกเลย จึงได้แจ้งไปทางสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ ทางสำนักงานใหญ่จึงจะชดเชยเป็นเงินเพียง 5,000 บาท เท่านั้น ซึ่งทางผู้ร้องยังรู้สึกว่าไม่โอเค         เบื้องต้นทางมูลนิธิฯ ได้แนะนำให้ไปลงบันทึกประจำวัน และได้ทำหนังสือไปถึงทางโรงแรมดังกล่าวอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อยากให้ผู้บริโภคนั้น ระมัดระวังทรัพย์สินตัวเองด้วย หากเป็นทรัพย์สินมีค่าหรือของที่รู้สึกว่าเสียหายได้ง่าย อ่อนไหว ควรป้องกันโดยการแจ้งพนักงานให้ระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ขอบังคับคดีกับบุคคลภายนอกที่เป็นลูกหนี้ร่วมตามสัญญาประนีประนอมได้หรือไม่

        การบังคับคดี โดยปกติจะกระทำได้ก็เฉพาะคู่ความผู้ที่แพ้คดีและตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่บางกรณี บุคคลภายนอกก็อาจถูกบังคับคดีได้ หากเข้ามาเกี่ยวข้องกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา อย่างเช่นในกรณีที่หยิบยกในครั้งนี้ เป็นเรื่องของ นาย ส. ซึ่งเดิมมิใช่คู่ความในคดีเป็นบุคคลภายนอก แต่ในระหว่างดำเนินคดี ได้ยินยอมตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยในคดี  ต่อมาเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ ศาลฏีกาได้ตัดสินให้ นาย ส. ซึ่งแม้เป็นบุคคลภายนอกคดี แต่เมื่อยอมตกลงรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม แล้วต่อมา นาย ส.ไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญา ก็มีสิทธิบังคับคดีกับทรัพย์สินของนาย ส. ได้ เนื่องจากถือได้ว่านาย ส. อยู่ในฐานะเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ และต้องดำเนินการบังคับคดีภายในสิบปีวันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามมาตรา 274 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามแนวคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3787/2564  คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3787/2564         แม้ ส. เป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความในคดีที่ถูกฟ้องแต่แรก แต่ ส. ยินยอมเข้ามาในคดีโดยตกลงยอมรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างลูกหนี้ร่วมและได้ลงลายมือชื่อผูกพันตนว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274  แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560  มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2560 และโจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีภายหลังจากมาตรา 274  ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับแล้ว การบังคับคดีของโจทก์จึงตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 274  วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมที่ ส. ซึ่ง เป็นบุคคลภายนอกยินยอมเข้ามาผูกพันตนว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ ร่วมรับผิดกับจำเลยมีผลผูกพัน ส. ในฐานะเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องปฏิบัติตาม เมื่อ ส. ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับคดี ส. ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่เกร็ดความรู้เพิ่มเติม สำหรับหลายท่านที่เป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิบังคับคดี ในบางครั้งการบังคับคดี หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ทราบว่าทรัพย์สินลูกหนี้ตั้งอยู่หรือเก็บรักษาไว้ที่ใด เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนหาทรัพย์สินของลูกหนี้ได้             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2559          คำร้องของโจทก์ที่ระบุว่า โจทก์ได้ดำเนินการสืบหาทรัพย์ของจำเลยแล้ว  ปรากฏว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้  แต่ตามฐานะความเป็นอยู่ของจำเลยเชื่อว่าจำเลยมีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับมากกว่าที่ตนทราบแล้ว  ย่อมมีความหมายในตัวเองว่าโจทก์เห็นว่าจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นซึ่งโจทก์ยังไม่สามารถติดตามจนพบเพื่อบังคับคดีได้จึงต้องขอให้ศาลเรียกจำเลยมาไต่สวนให้ได้ความจริง  การที่โจทก์ไม่อาจนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ได้เพราะยังไม่พบว่าจำเลยมีทรัพย์สินใด   กรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ทราบว่าจำเลยมีทรัพย์สินใดเป็นที่แน่ชัดแล้ว  แต่จะอาศัย ป.วิ.พ.มาตรา 277  เป็นเครื่องมือติดตามตัวทรัพย์สิน  หรือเพื่อให้ทราบสถานที่ตั้งของทรัพย์สินนั้น จึงมีเหตุสมควรที่จะรับคำร้องของโจทก์และมีหมายเรียกจำเลยมาไต่สวนทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ของหลุดจำนำ

หากเรามีเหตุจำเป็นที่ต้องนำทรัพย์สินไปจำนำที่โรงรับจำนำ และไม่ต้องการให้ทรัพย์สินดังกล่าวหลุดจำนำ เราจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร ลองไปดูเหตุการณ์นี้กันคุณสมพรนำสร้อยคอทองคำไปจำนำ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายภายในครอบครัว โดยมีการตกลงวันชำระดอกเบี้ยที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามหลังจากชำระดอกเบี้ยไปได้ไม่กี่เดือน เธอก็ขาดส่งติดต่อกันหลายเดือน เนื่องจากมีปัญหาทางการเงิน ซึ่งภายหลังทางโรงรับจำนำก็ได้แจ้งมาว่าให้นำเงินมาไถ่ เพราะสร้อยคอดังกล่าวกำลังจะหลุดจำนำแล้ว ทำให้คุณสมพรไปกู้เงินมาจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปไถ่สร้อยคอของเธอ แต่เมื่อไปถึงที่โรงรับจำนำ กลับพบว่าไม่สามารถไถ่สร้อยคืนได้แล้ว จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์สอบถามข้อมูลผู้ร้องเพิ่มเติม ถึงวันและเวลาการขาดส่ง รวมถึงระยะเวลาการกลับไปไถ่สร้อยคอดังกล่าวคืน อย่างไรก็ตามผู้ร้องไม่สามารถจำวันและเวลาที่แน่นอนได้ ศูนย์ฯ จึงให้คำปรึกษาด้านกฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ซึ่งกำหนดขั้นตอนของทรัพย์สินที่จะหลุดเป็นของผู้รับจำนำไว้ ดังนี้  มาตรา 25 ให้ผู้รับจำนำทำบัญชีทรัพย์จำนำที่ผู้จำนำขาดส่งดอกเบี้ยเป็นเวลากว่า 4 เดือนยื่นต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต และปิดประกาศบัญชีนั้นไว้ ณ ที่เปิดเผย ที่โรงรับจำนำนั้นตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งถ้าผู้รับจำนำได้ปฏิบัติการถูกต้องครบถ้วนตามข้างต้นแล้ว ทรัพย์จำนำจะหลุดเป็นสิทธิของผู้รับจำนำก็ต่อเมื่อ 1. ทรัพย์นั้นอยู่ในประกาศของโรงรับจำนำ 2. ทรัพย์นั้นเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตมิได้สั่งอายัดไว้ และ 3. ผู้จำนำมิได้ขอไถ่ภายในกำหนดเวลา 30 วันนับแต่วันประกาศ ดังนั้นหากผู้ร้องไม่ได้ไปไถ่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ทรัพย์นั้นย่อมหลุดเป็นของผู้รับจำนำ ซึ่งมีสิทธินำไปขายต่อได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 ประกาศ “ไม่รับผิดชอบในการสูญหายของทรัพย์สิน” มีผลตามกฎหมายหรือไม่ ?

สวัสดีครับ ผู้อ่านทุกท่าน  วันนี้เราจะมาว่ากันถึงเรื่อง ป้ายต่างๆ ที่ชอบมีติดตามโรงแรม หรือตามที่จอดรถ ว่า “ ไม่รับผิดชอบในการสูญหายของทรัพย์สิน “ เคยสงสัยกันไหมครับว่าป้ายพวกนี้ มีผลทางกฎหมายมากน้อยเพียงใด อย่างแรกที่เรารู้กันคือป้ายพวกนี้ คนที่ทำขึ้นมักจะเป็นทางเจ้าของโรงแรม หรือ ห้างร้านต่างๆ ที่เราเข้าไปใช้บริการ เวลาเราไปใช้บริการพักในโรงแรมต่างๆ บ่อยครั้งต้องเดินทางไปหลายที่จึงต้องมีกระเป๋าเดินทาง เสื้อผ้า และทรัพย์สินอีกมากมาย ที่ต้องใช้ติดตัวในการเดินทาง แน่นอนว่า เราต้องนำสิ่งของ สัมภาระต่างๆ เหล่านี้ เก็บไว้ในห้องพัก หรือต้องนำรถยนต์มาจอดไว้ในโรงแรม ระหว่างที่เราเข้าพักหรือเราต้องเดินทางออกไปข้างนอก ในความเข้าใจของผู้บริโภคที่เข้าใช้บริการโรงแรม ย่อมเข้าใจว่า  หน้าที่ของโรงแรมไม่ใช่เป็นเพียงเปิดห้องพักเพื่อหลับนอนชั่วคราวเท่านั้น แต่ควรช่วยดูแลรักษาทรัพย์สินให้แก่ผู้เข้าพักด้วย   แต่หลายโรงแรมก็มักชอบติดป้ายประกาศ เพื่อยกเว้นความรับผิดของตนเอง ในทำนองว่า “ไม่รับผิดชอบในการสูญหายของทรัพย์สิน” เช่นนี้ ผู้บริโภคที่ใช้บริการจะได้รับความคุ้มครองอีกหรือไม่ ในเรื่องนี้ได้มีการโต้เถียงกันจนเป็นคดีขึ้นสู่ศาล เป็นคดีที่ ผู้บริโภคไปใช้บริการในโรงแรมแห่งหนึ่งแล้วได้จอดรถไว้ที่ลานจอดรถของโรงแรม มีการล็อครถอย่างดี แต่เมื่อเสร็จธุระในโรงแรม กลับมาปรากฎว่ารถหายไป จึงฟ้องร้องโรงแรมให้รับผิดชอบ ซึ่งศาลได้ตัดสินไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7790/2544 ลานจอดรถเป็นของจำเลยจัดให้ผู้มาพักโรงแรมของจำเลยได้จอดรถ น. ซึ่งเป็นคนเดินทางจึงมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะนำรถยนต์เข้าไปจอดภายในบริเวณลานจอดรถดังกล่าว ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ส่วนที่จำเลยปิดประกาศไม่รับผิดชอบหากเกิดการสูญหายของทรัพย์สิน ก็ไม่ปรากฏว่า น. ได้ตกลงด้วยโดยชัดแจ้งในการยกเว้นความรับผิดตามประกาศดังกล่าว กรณีนี้จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 677 และในการจอดรถ น. ได้ปิดล็อกประตูรถทุกบานแล้วเพราะเป็นระบบเซ็นทรัลล็อก ย่อมถือได้ว่า น. มิได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์สูญหาย กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นความรับผิดตามมาตรา 675 วรรคสาม รถยนต์เป็นเพียงทรัพย์สินธรรมดาทั่ว ๆ ไป เท่านั้น ถึงแม้ราคาจะค่อนข้างสูงก็ตาม ยังถือไม่ได้ว่ามีลักษณะเป็นของมีค่าตามมาตรา 675 วรรคสอง น. ไม่จำต้องแจ้งฝากรถยนต์ไว้ต่อจำเลย จากคำพิพากษาฏีกานี้ ทำให้เราเห็นว่า  ป้ายประกาศของทางโรงแรม ที่มีข้อความยกเว้นความรับผิด กรณีทรัพย์สินสูญหายนั้น ไม่มีผลใช้บังคับ เพราะเป็นป้ายที่ทางโรงแรมเป็นผู้กำหนดไว้เพียงฝ่ายเดียว ทางผู้บริโภคที่เข้าใช้บริการ เขาไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 677 ที่บัญญัติว่า “ถ้ามีคำแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่ อื่นทำนองเช่นว่านี้ เป็นข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของเจ้าสำนักไซร้ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดั่งว่านั้น” อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตอีกนิดว่า ถ้าเป็นทรัพย์สิน ของมีค่า ผู้เข้าพักต้องแจ้งให้ทางโรงแรมทราบและฝากไว้กับทางโรงแรม   โดยศาลมองว่า รถยนต์ เป็นเพียงทรัพย์สินที่มีราคาค่อนข้างสูงจริง แต่ยังไม่ถือว่าเป็นของมีค่า ซึ่งทรัพย์สินที่มีค่าในที่นี้ คือ เงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่นๆ หากแขกพักอาศัยหรือคนเดินทางนำเข้ามาในโรงแรมแล้วเก็บรักษาไว้เองและเกิดการสูญหายหรือเสียหายไปเจ้าสำนักโรงแรมจำกัดความรับผิดไว้เพียง 5,000 บาท ทั้งนี้แม้ว่าของมีค่านั้นจะมีราคาเกินกว่า  5,000 บาทก็ตาม แต่หากสิ่งของมีค่ามีราคาไม่ถึง 5,000 บาท เจ้าของสำนักย่อมรับผิดตามแต่เพียงราคาของสิ่งนั้น มิใช่รับผิด 5,000 บาท     แต่อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าเจ้าของโรงแรมจะต้องรับผิดไปเสียทุกกรณี  เพราะหากความสูญหายนั้น เกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือสภาพของทรัพย์สินนั้นเอง อันเกิดจากคนเดินทาง เจ้าของทรัพย์สินหรือบริวารที่พามาด้วย เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 675 ที่บัญญัติว่า “เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้าอัญมณี หรือของมีค่าอื่นๆ ให้จำกัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลาย อันเกิด แต่เหตุสุดวิสัยหรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้นหรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเองหรือบริวารของเขาหรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ” กรณีนี้ หากผู้บริโภคเห็นป้ายแล้วไม่เกิดความสงสัย เชื่อตามข้อความดังกล่าว ก็จะไม่กล้าเรียกร้องให้โรงแรมรับผิด  ดังนั้นผู้บริโภคต้องมีความเท่าทันในเรื่องเหล่านี้ เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการซื้อสินค้าและบริการ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 ลิขสิทธิ์ = ปิดโอกาส?

ส่วนใหญ่แล้วเมื่อเราพูดถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์เรามักจะได้ยินกันจนชิน คือเรื่องของเทปผี ซีดี/ดีวีดีเถื่อน ที่ว่าด้วยการสูญเสียผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างสำนักพิมพ์ ค่ายหนัง ค่ายเพลง ฯลฯ เสียมาก แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เรายังไม่ค่อยได้พูดถึงกันมากนักคือเรื่องของลิขสิทธิ์จากมุมมองของผู้บริโภค เช่นเรื่องของโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ จากงานอันมีลิขสิทธิ์ที่มีราคาแพงเกินกว่าที่ผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถซื้อได้ หรือสิทธิในการทำสำเนาเพื่อแบ่งปันงานลิขสิทธิ์ที่ผู้บริโภคได้ซื้อมาอย่างถูกต้อง รวมถึงการขาดการสนับสนุนจากรัฐให้มีการสร้างหรือใช้ประโยชน์จากงานที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการแบ่งปันอีกเป็นต้น การปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ค่อนไปทางการรักษาผลประโยชน์ของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการขยายขอบเขต/ระยะเวลาการคุ้มครอง การเพิ่มระดับการปราบปราม ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้วัสดุเพื่อการเรียนรู้มีราคาแพงขึ้นหรือหาได้ยากขึ้นสำหรับในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังต้องอาศัยการต่อยอดจากงานที่มีการสร้างสรรค์ไว้ก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ผู้บริโภคยังถูกปฏิเสธเสรีภาพในการใช้สินค้าในแบบที่ควรจะสามารถทำได้อีกด้วย ว่าแล้วเรามาดูกันว่าถึงวันนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไหนจะรักษาสมดุลระหว่างการรักษาผลประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์กับการเข้าถึงความรู้ของผู้บริโภคได้ดีกว่ากัน A2K Global surveyสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้ทำการสำรวจความเป็นมิตรต่อผู้บริโภคของกฎหมายลิขสิทธิ์ของ 34 ประเทศจากทั่วทุกภูมิภาคของโลกในประเด็นต่อไปนี้ • ขอบเขต/ระยะเวลาคุ้มครอง  • อิสระในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ • เสรีภาพในการแบ่งปันและถ่ายโอน • การบริหารจัดการและบังคับใช้กฎหมายเราพบว่า• ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 30 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามมีกฎหมายที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคมากกว่า (ในอันดับที่ 13 19 และ 20 ตามลำดับ)• สถานภาพทางเศรษฐกิจหรือระดับการพัฒนาไม่ใช่ตัวแปรชี้วัดการมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ สวีเดน อเมริกา บังคลาเทศและอินโดนีเซียต่างก็อยู่ในสิบอันดับต้น  ในขณะที่อังกฤษและเคนย่าต่างก็เป็นหนึ่งในสิบอันดับยอดแย่• ประเทศส่วนใหญ่ยังทำคะแนนได้น้อยในเรื่องของเสรีภาพในการแบ่งปันและถ่ายโอน  ซึ่งหมายความว่า ประเทศเหล่านี้ควรเพิ่มงบประมาณในการส่งเสริมการสร้างงานที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ สนับสนุนการใช้ ครีเอทีฟ คอมมอน และซอฟท์แวร์แบบโอเพ่นซอร์ส และใช้ประโยชน์จากงานที่ยังไม่มีผู้อ้างสิทธิ์ให้มากขึ้น• โดยรวมแล้วสิ่งที่ประเทศเหล่านี้ทำได้ดีก็คือเรื่องของการเข้าถึงและการใช้โดยสื่อมวลชน (แต่เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคน้อยมาก เพราะสื่อเหล่านี้มีงบประมาณไว้สำหรับจ่ายค่าลิขสิทธิ์อยู่แล้ว) Top ten ประเทศที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์และการบังคับใช้ที่เอื้อต่อการเข้าถึงความรู้มากที่สุด 10 อันดับ1. อินเดีย2. เลบานอน3. อิสราเอล4. สหรัฐอเมริกา5. อินโดนีเซีย 6. อัฟริกาใต้7. บังคลาเทศ 8. โมรอคโค 9. สวีเดน 10. ปากีสถาน กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศเหล่านี้ ระบุข้อยกเว้นไว้อย่างกว้างๆ ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานจากงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ สหรัฐอเมริกาและอิสราเอล เรียกข้อยกเว้นนี้ว่า “การใช้งานอย่างเป็นธรรม” ในขณะที่สวีเดนและเลบานอนเรียกว่า “การทำสำเนาเพื่อการใช้ส่วนตัว” (โดยไม่ได้ระบุว่าเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น ดังนั้นจึงสามารถใช้เพื่อการบันเทิงได้ด้วย) Bottom tenประเทศที่มีกฎหมายลิขสิทธิ์และการบังคับใช้ที่เอื้อต่อการเข้าถึงความรู้น้อยที่สุด 10 อันดับ1. ชิลี2. จอร์แดน 3. อังกฤษ 4. เคนยา5. ไทย6. อาร์เจนตินา7. บราซิล8. แซมเบีย9. อียิปต์ 10. ญี่ปุ่น   ประเทศไทยได้เกรดเฉลี่ย C- โนอา เมทธินี  นักกฎหมายอาสาสมัครของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นนักวิจัยที่ทำการวิเคราะห์กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทยในการสำรวจครั้งนี้บอกว่า โดยภาพรวมแล้วกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยยังไม่มีมาตรการในการรับมือกับการพัฒนาการทางเทคโนโลยีในสื่อใหม่ๆที่เกิดขึ้น เช่น การดาวน์โหลดผ่านอินเตอร์เนท รวมถึงยังไม่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้พิการในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่างๆ เขาตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อไรก็ตามที่เราจะมีการแก้กฎหมายเพื่อลดช่องว่างดังกล่าว เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ผู้บริโภคไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะประเทศไทยยังต้องการทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอย่างอเมริกาหรือกลุ่มประเทศอียู ซึ่งต้องการกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มขึ้น  ขณะนี้นักศึกษาสามารถทำสำเนาตำราเรียนเพื่อใช้ส่วนตัวได้ แต่ในอนาคตเมื่อมีการปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว การจะทำสำเนาได้จะต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนและยากขึ้น  ----- หมายเหตุ  ถ้าดูจากตาราง สหรัฐอเมริกาซึ่งจะทำข้อตกลงทางการค้ากับเราและเรียกร้องให้เรามีกฎหมายลิขสิทธิ์เข้มขึ้นนั้น ให้อิสระกับประชาชนในประเทศในการทำสำเนา และคัดลอกไฟล์ มากกว่าบ้านเรามากทีเดียว ประโยชน์ของภาคธุรกิจกับสิทธิผู้บริโภค ... สมดุลที่ต้องตามหา ภาคธุรกิจมักอ้างว่าควรมีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เข้มไว้ก่อน เพราะไม่เช่นนั้นจะได้รับความเสียหายจากเทคโนโลยีการแชร์ไฟล์ทางเน็ท แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการแชร์ไฟล์เป็นสาเหตุหลักของการขาดทุนของธุรกิจเพลง แต่มีหลักฐานว่าของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เพิ่มขึ้นสูงอย่างเป็นประวัติการณ์ในปี 2552 --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ทางเลือกของภาคธุรกิจ• ในแคนาดา สมาคมนักแต่งเพลงของแคนาดาเสนอให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมรายเดือน เพื่อให้คนสามารถแบ่งปันเพลงกันได้อย่างถูกกฎหมาย • บริษัทวอร์เนอร์สาขาประเทศจีน ออกแผ่นดีวีดีไม่กี่วันหลังภาพยนตร์ออกฉาย โดยจำหน่ายในราคาแผ่นละ 70 บาท• หลายประเทศให้ผู้บริโภคได้ฟังเพลงหรือดูภาพยนตร์ผ่านแพลทฟอร์มดิจิตัลด้วยค่าบริการที่สมเหตุสมผล เช่น Spotify (www.spotify.com)  หรือ Hulu (www.hulu.com) เป็นต้น • ปล่อยฟรีไปเลย หรือที่เรียกกันว่าเป็นผลงานสังกัดค่ายเพลงอินเตอร์เน็ท (netlabel)  เช่น เพลงของ Radio Head หรือ Nine Inch Nails ซึ่งการปล่อยฟรีในที่นี้เท่ากับเป็นการโปรโมทให้ผลงานของตนเองเป็นที่รับรู้โดยผู้ฟังจำนวนมาก --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- COPY COPY COPY  เมื่อการทำสำเนามีค่าใช้จ่าย  ในแคนาดา เสปน ยูเครน สวีเดน จะคิดภาษีเพิ่มในอุปกรณ์เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ และที่ใช้สื่อบันทึก อย่างแผ่นซีดี ดีวีดีเปล่า เป็นต้นแต่นั่นยังเข้มไม่เท่าที่อิตาลี ที่ผู้บริโภคแต่ละครัวเรือนจะต้องจ่ายเงินเพิ่มถึง 100 ยูโร (ประมาณ 4,000 บาท) เพื่อ “สิทธิในการทำสำเนาเพื่อใช้เอง” ซึ่งได้แก่ภาษีที่ต้องเสียเมื่อซื้อซีดี ดีวีเปล่า เมมโมรี่สติ๊ก หรือมือถือมัลติมีเดีย และค่าธรรมเนียมในการดาวน์โหลดจากร้านเพลงออนไลน์ และภาษีที่ต้องจ่ายเมื่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ (ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ในการทำสำเนาด้วย) เราคงไม่ปฏิเสธว่าสังคมจะยั่งยืนได้ถ้าทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้โดยไม่ถูกจำกัด และสามารถร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะได้  ติดตามการรณรงค์เพื่อการเข้าถึงความรู้ของสหพันธ์ผู้บริโภคสากลและความเคลื่อนไหวขององค์กรสมาชิกได้ที่ http://a2knetwork.org/ ---พบกับผลสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาไทย เรื่องของอุปสรรคในการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ ในฉลาดซื้อฉบับ 112 (มิถุนายน)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point