ฉบับที่ 269 ทวงหนี้ผ่านออนไลน์ กฎหมายที่ลูกหนี้ควรรู้

        ปัจจุบัน การกู้ยืมเงินเป็นเรื่องปกติ ยิ่งมีสื่อสังคมออนไลน์ การกู้ยืมเงินยิ่งทำได้ง่าย แค่พิมพ์คุยกันทางแชท มีหลักฐานโอนเงิน ตกลงวันเวลาคืนเงิน ทุกอย่างมีหลักฐานการกู้ยืมหมด และบางครั้ง เมื่อถึงกำหนดชำระ ลูกหนี้เบี้ยว เจ้าหนี้ก็ต้องมีการติดตามทวงถามหนี้ แต่บางครั้ง เจ้าหนี้ก็ใช้วิธีการทวงหนี้ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อลูกหนี้ เช่น โพสต์ทวงหนี้ผ่านเฟสบุค หรือบางคนใช้วิธีนินทาบอกคนอื่นในกลุ่มไลน์ เช่นนี้ หลายคนสงสัยว่าทำได้หรือไม่          ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า การทวงถามหนี้ เป็นสิทธิที่เจ้าหนี้สามารถทำได้ แต่เป็นการทวงกับตัวลูกหนี้โดยตรง แต่หากใช้วิธีบอกคนอื่นว่าลูกหนี้เป็นหนี้ มีการบอกชื่อสกุล หรือทำให้รู้ว่าหมายถึงคนใดอันเข้าข่ายประจานลูกหนี้ โดยวิธีการโพสต์ หรือพิมพ์ทางไลน์กลุ่มที่มีคนอื่นนอกจากลูกหนี้อยู่ อาจเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326         นอกจากนี้ ปัจจุบันมีกฎหมาย ชื่อว่า พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ที่เป็นกฏหมายคุ้มครองลูกหนี้ ไม่ให้ถูกทวงหนี้ด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่น ห้ามทวงถามหนี้กับคนอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้ เว้นแต่บุคคลที่ลูกหนี้ระบุไว้ ห้ามบอกความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่น ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นต้น  แต่เจ้าหนี้ที่จะอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จะหมายถึงเฉพาะ ผู้ให้สินเชื่อ เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินเท่านั้น  เช่น สถาบันการเงิน เจ้าหนี้นอกระบบ บริการแอปกู้เงินต่างๆ ดังนั้น หากเป็นกรณี บุคคลธรรมดายืมเงินกัน เช่น เจ้าหนี้เป็นเพื่อน ญาติ  คนในครอบครัว ที่ให้กู้ยืมเงินเป็นครั้งคราว ไม่ใช่คนมีอาชีพปล่อยเงินกู้เป็นปกติ ก็ไม่ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ หรือผู้ทวงถามหนี้ ตามกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้น แม้มีการทวงหนี้จากบุคคลดังกล่าวผ่านทางเฟสบุคหรือกลุ่มไลน์ ก็อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแต่จะไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558   ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8375/2563          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8375/2563         โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและฐานทวงถามหนี้ผู้อื่นในลักษณะการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้ การเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ การติดต่อลูกหนี้โดยสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงหนี้อย่างชัดเจน ตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 11 (1) (2) (3) (4) อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องความผิดฐานหมิ่นประมาท โจทก์มิได้อุทธรณ์ ความผิดฐานหมิ่นประมาทจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่มีอำนาจหยิบยกความผิดฐานดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเพื่อลงโทษจำเลยได้อีกต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 หยิบยกความผิดฐานหมิ่นประมาทขึ้นมาวินิจฉัยและพิพากษาลงโทษจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โจทก์และจำเลยย่อมฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225         พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 3 “ผู้ทวงถามหนี้” หมายความว่า เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และเจ้าหนี้อื่นซึ่งมีสิทธิรับชำระหนี้อันเกิดจากการกระทำที่เป็นทางการค้าปกติหรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้ ทั้งนี้ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึง และ “ผู้ให้สินเชื่อ” หมายความว่า (1) บุคคลซึ่งให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ หรือ (2) บุคคลซึ่งรับซื้อหรือรับโอนสินเชื่อต่อไปทุกทอด         จำเลยไม่ใช่ผู้ให้สินเชื่อหรือให้กู้ยืมเงินเป็นทางการค้าปกติหรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้ อันเป็นผู้ทวงถามหนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานทวงถามหนี้ในลักษณะเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 11 (3)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 หากลูกหนี้โดนข่มขู่ทวงหนี้ แจ้งความได้

        คุณชัดเจนเป็นลูกหนี้ที่ดีมาตลอด ถือคติ “ติดหนี้ ต้องจ่าย” แต่บังเอิญเกิดเหตุสภาพคล่องทางการเงินสะดุดอย่างสุดวิสัย จนชำระหนี้ไม่ได้ตามกำหนด ต่อมาเขาโดนโทรศัพท์ตามขมขู่ทวงหนี้แบบหยาบคายมากๆ เขาจึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         เรื่องของเรื่องคือ คุณชัดเจนเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อบิ๊กไบท์มาในราคาประมาณ 300,000 บาท จากบริษัทลิซซิ่งแห่งหนึ่งต้องส่งค่างวดทั้งหมด 60 งวด งวดละ 5000 กว่าบาท ซึ่งเขาก็ส่งตรงกำหนดตลอด จนกระทั่งเขามีปัญหาทางการเงินอย่างกะทันหัน หมุนเงินไม่ทัน เขาจึงผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อมา 2 งวด หลังจากนั้นพนักงานของบริษัทรับจ้างทวงหนี้ สมมติชื่อบริษัท เอ็ม ก็โทรศัพท์ติดต่อมาทวงค่างวดรถที่เขายังค้างส่งอยู่ พนักงานคนนี้พูดจาหยาบคาย ข่มขู่ให้เขาเร่งจ่ายหนี้แบบไม่ไว้หน้ากันเลย แม้เขาจะเตือนอีกฝ่ายว่าการพูดทวงหนี้แบบนี้ผิดกฎหมายนะ แต่พนักงานก็ยังคงท้าทายและด่าเขาไม่หยุด เขาจึงอยากรู้ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับพวกที่ทวงหนี้ผิดกฎหมายแบบนี้ได้บ้างแนวทางการแก้ไขปัญหา         ตาม “กฎหมายทวงหนี้” ที่ออกมาคุ้มครองลูกหนี้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 ระบุไว้ ห้ามดุด่า พูดจาหยาบคาย หรือนำความลับของลูกหนี้ไปบอกกับบุคคลที่ 3 ซึ่งการกระทำดังกล่าวผิดตามกฎหมายอาญา ถือเป็นการประจานหรือหมิ่นประมาท มีโทษขั้นต่ำจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ        ในกรณีนี้ ได้แนะนำให้คุณชัดเจนไปแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ เพราะการกระทำของพนักงานจากบริษัททวงหนี้คนนี้เข้าข่ายการทวงหนี้ผิดกฎหมาย โดยให้อัดเสียงสนทนาในโทรศัพท์ที่พนักงานพูดจาข่มขู่ทวงหนี้หยาบคายเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐานก่อน แล้วในวันที่ไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจก็อย่าเพิ่งบอกว่าตัวเองเป็นหนี้ เพราะตำรวจจะไม่รับเรื่อง แต่ให้บอกว่ามาแจ้งความในเรื่องทวงหนี้ผิดกฎหมาย         หากคุณชัดเจนไม่สะดวกจะไปแจ้งความ ก็ยังสามารถร้องเรียนไปได้ที่คณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ ที่มีทั้งระดับประเทศและระดับจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ เพื่อแจ้งการกระทำความผิดได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน 2665

ภาชนะพลาสติกสำหรับอาหารจะเป็นสินค้าควบคุม         สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศเพิ่มเติมให้สินค้าประเภทพลาสติกที่ใช้กับอาหารเป็นสินค้าควบคุม เนื่องจากภาชนะที่ใช้สัมผัสอาหารโดยตรงอาจมีความเสี่ยงให้ก่อสารมะเร็งได้ เช่น สีที่ใช้ทาเคลือบภายนอก สารที่ใช้ทำพลาสติก         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จำนวน 136 รายการ ที่ทาง สมอ. ประกาศเป็นสินค้าควบคุม และกำลังจะเพิ่มอีก 5 รายการ ได้แก่ 1.ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากพอลิเอทิลีน พอลิพรอพิลีน พอลิสไตรีน พอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลต พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ และพอลิเมทิลเพนทีน  2. ภาชนะเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากพอลิไวนิลคลอไรด์ พอลิคาร์บอเนต พอลิแอไมด์ และพอลิเมทิลเมทาคริเลต 3. ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับใส่อาหาร ทำจากอะคริโลไนไทรล์-บิวทะไดอีน-สไตรีน และสไตรีน-อะคริโลไนไทรล์  4. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่น (ใช้ซ้ำได้)  5. ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ สำหรับการอุ่นครั้งเดียว เพิ่มเติม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งทั้ง 5 รายการที่กล่าวมาจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 มกราคม 2565 นี้ ทวงหนี้ผิดกฎหมายระบาด         นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยว่า พบแก๊งมิจฉาชีพส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ทวงหนี้เงินกู้มากขึ้น และชักชวนให้กู้วงเงินเพิ่ม โดยมี 3 ข้ออ้าง ดังนี้ 1.ขู่ว่าเป็นหนี้ไม่จ่ายจะติดคุก ความจริงคือ ไม่จ่ายหนี้ไม่ใช่ความผิดทางอาญา แต่เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ 2.จะมีการยึดทรัพย์ทันทีหากไม่ยอมจ่ายหนี้ ความจริงคือ เจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีถึงที่สุดก่อน 3.การทวง เช้า กลางวัน เย็น ไม่สามารถทำได้ ทางกฎหมายให้ทวงนี้แค่วันละ 1 ครั้งเท่านั้น หากใครได้รับการข่มขู่ลักษณะข้างต้นให้ตั้งสติแล้วบันทึกข้อมูลเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ เช่น ข้อมูลสนทนา ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เพื่อใช้ดำเนินคดีอย่าเพิกเฉย         การทวงหนี้ตามกฎหมายหากมีลักษณะการข่มขู่ ดุหมิ่น เปิดเผยข้อมูลของลูกหนี้ หรือใช้ความรุนแรงทำให้เสียทรัพย์ใดๆ อาจถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และ ผู้ประประกอบการสินเชื่อที่ไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000 – 500,000 บาท เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ห้ามโอนลอยรถ เสี่ยงได้รถผิดกฎหมาย                    กรมการขนส่งทางบก แจ้งเตือนประชาชนที่ ซื้อ-ขาย รถมือสองว่าไม่ควรซื้อ-ขาย โดยวิธีการโอนลอย เช่น การเซ็นเอกสารแล้วมาดำเนินการทีหลัง เพราะอาจจะก่อให้เกิดปัญหาสำหรับผู้ซื้อและผู้ขายได้ เช่น ผู้ซื้อไม่ยอมชำระภาษีประจำปี รถเกิดอุบัติเหตุ หรือเคยนำรถไปกระทำโดยผิดกฎหมายอาจจะสร้างปัญหาผู้ขายได้ เนื่องจากชื่อเจ้าของรถยังคงปรากฎเป็นเจ้าของรายเดิมอยู่ในระบบ         ทั้งนี้การไม่นำรถมาโอนทางทะเบียน อาจทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของรถได้ว่าเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมาหรือไม่ อย่างไรก็ตามทางกรมการขนส่งทางบกได้กำชับทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขายว่าต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของรถก่อนการซื้อทุกครั้ง และต้องตรวจสอบหลักฐานทะเบียนรถให้ครบถ้วน โดยเฉพาะคู่มือรถฉบับจริงที่มีชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สีรถถูกต้องตรงกับที่ซื้อขายทุกรายการ ที่สำคัญควรตรวจสอบว่ามีการชำระภาษีประจำปีถูกต้องครบถ้วน สั่งอาหารออนไลน์ระวังเชื้อรา        กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนผู้บริโภคที่นิยมสั่งซื้ออาหารผ่านทางออนไลน์ ว่า ระวังเสี่ยงเชื้อราและให้สังเกตบรรจุภัณฑ์ หรือดูวันหมดอายุก่อนบริโภคทุกครั้ง         นายแพทย์เอกชัย  เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกรมอนามัย เผยว่า ปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านแอปพลิเคชันทางออนไลน์กันมากขึ้น เพราะสะดวก ประหยัดน้ำมัน และไม่เสียเวลาในการเดินทาง ผู้ผลิตยังนิยมจัดกลยุทธ์การตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย ทำให้ผู้บริโภคสั่งซื้ออาหารนั้นบ่อยและมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว จึงควรระวังสินค้าเก่าเก็บที่อาจเสี่ยงเชื้อรา เพราะหากเก็บรักษาไม่เหมาะสม เช่น เก็บไว้ในที่ชื้นเกินไปหรือไม่มีการอบให้แห้งดีพอ จะก่อให้เกิดสาร “อะฟลาทอกซิน” หากมีการบริโภคเข้าไปสะสมในปริมาณมากก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้ ดังนั้น เมื่อได้รับสินค้าควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ว่าสะอาด มีฝาปิดมิดชิด ซองบรรจุไม่มีรูรั่ว และอ่านฉลากให้ครบถ้วน ตั้งแต่ชนิด ส่วนประกอบ วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดคุณภาพ         สำหรับอาหารสดก่อนที่จะนำมาปรุง ประกอบอาหาร ควรล้างให้สะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อน และควรตรวจสอบวันหมดอายุก่อนนำมาบริโภคทุกครั้ง นอกจากผู้บริโภคควรสังเกตเรื่องความปลอดภัยของอาหารแล้ว หากพบอาหารที่สั่งมามีกลิ่นหรือสีที่เปลี่ยนไปถึงแม้จะมองไม่เห็นว่ามีเชื้อราก็ไม่ควรนำมาบริโภค ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ “สารอะฟลาทอกซิน” เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง โดยปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัมสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง ศาลปกครองกลาง "รับฟ้อง" คดีควบรวมธุรกิจทรู-ดีแทค        จากที่ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ยื่นคำร้อง ให้เพิกถอนมติ กสทช. “รับทราบ” การควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว และทาง สอบ.ได้นำรายชื่อผู้บริโภค 2,022 ราย ที่ได้ร่วมรณรงค์คัดค้านและสนับสนุนเรื่องดังกล่าวยื่นต่อศาลปกครองอีกด้วย         กรณีที่ผู้บริโภคยื่นคำขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ศาลได้รับคำขอดังกล่าวไว้ และรอให้ ทรู-ดีแทค มาเป็นผู้ร้องสอดในคดีจึงจะเริ่มพิจารณา เนื่องจากศาลมองว่า 2 บริษัทเป็นบุคคลภายนอกที่อาจมีผลกระทบจากการพิพากษา นอกจากนี้ สาเหตุที่ สอบ.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางนั้นมาจากที่ มติในการประชุมของ กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งด้านเนื้อหาและกระบวนการเพราะก่อนลงมติฯ กสทช.ไม่ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้บริการก่อน ทั้งนี้มติดังกล่าวกระทบกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากกว่า 118 ล้านเลขหมาย โดยเฉพาะผู้ใช้บริการของทรูและดีแทคที่มีจำนวนสูงถึง 60 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 ทวงหนี้ผิดกฎหมาย

        ชีวิน เป็นหนี้บัตรเครดิต เขาค้างยอดชำระหนี้อยู่ 20,000 บาท โดยเขาไม่ได้ชำระหนี้เลยเพราะหมดความสามารถ ต่อมาเขาถูกโทรทวงถามหนี้ แต่ว่าเจ้าหนี้ไม่ได้โทรมาทวงที่เขาโดยตรง แต่เป็นฝ่ายเร่งรัดหนี้สินของบริษัทบัตรเครดิตได้โทรศัพท์ไปหาผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านของเขา บอกเล่าให้ผู้ใหญ่บ้านฟังว่า เขาเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่กับบริษัทฯ ให้ผู้ใหญ่บ้านไปบอกชีวินว่า ให้รีบไปใช้หนี้ด่วน ซึ่งชีวินเครียดมาก เขาไม่ได้อยากให้ใครรู้ว่าเขาเป็นหนี้ และก็ไม่เคยบอกบริษัทบัตรเครดิตไว้ว่าให้ทวงหนี้กับผู้ใหญบ้านได้ การโทรทวงหนี้ที่ผู้ใหญ่บ้านของบริษัทบัตรเครดิต ทำให้เขาอับอายอย่างมาก จึงขอคำปรึกษามูลนิธิว่า บริษัทบัตรเครดิตสามารถทวงถามแบบนี้ได้หรือไม่ และเขาควรทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         ปัจจุบันเรื่องการทวงหนี้ได้มีกฎหมายควบคุมและคุ้มครองลูกหนี้ คือ พระราชบัญญัติทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ซึ่งกฎหมายบอกว่า การทวงหนี้ต้องทวงกับลูกหนี้หรือบุคคลที่ลูกหนี้แจ้งไว้ว่าให้ทวงได้เท่านั้น ห้ามแจ้งว่าลูกหนี้เป็นหนี้กับคนอื่นที่ลูกหนี้ไม่ได้แจ้งไว้ การที่บริษัทบัตรเครดิตแจ้งกับผู้ใหญ่บ้านว่าผู้ร้องเป็นหนี้บัตรเครดิตเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การกระทำดังกล่าวส่งผลให้ผู้ร้องเสื่อมเสียชื่อเสียง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย         เมื่อเกิดการทวงหนี้ผิดกฎหมายผู้ร้องสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง คณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ ณ ที่ว่าการอำเภอ เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทบัตรเครดิต  อย่างไรก็ตามเป็นหนี้ก็ควรชำระ หากไม่มีความสามารถชำระเงินได้ตามกำหนด ควรหาทางประนอมหนี้กับทางบริษัทบัตรเครดิต เพื่อไม่ให้ต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบจากการทวงหนี้ผิดกฎหมายและเพื่อไม่ให้เสียเครดิตทางการเงินด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 ค้างจ่าย 2 เดือน มือถือถูกระงับ แต่กลับได้บิลทวงหนี้ย้อนหลัง 11 เดือน

        คำเตือน สำหรับใครที่ใช้แพ็กเกจมือถือแบบเหมาจ่ายรายเดือน คุณรู้ไหมว่าเงื่อนไขการใช้งานนั้น จะเป็นแบบใช้งานก่อนและชำระค่าบริการทีหลัง ถึงแม้จะไม่มีการใช้งานหมายเลข ระบบก็ยังคงคิดค่าบริการต่อเนื่องตามปกติ จนกว่าจะมีการยกเลิกหมายเลข ระบบจึงจะหยุดคิดค่าบริการ หลายคนอาจยังไม่รู้ คุณแท้จริง(นามสมมติ) ก็เช่นกัน         คุณแท้จริงต้องการยกเลิกการใช้เบอร์โทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท X แบบจ่ายรายเดือน ที่ใช้มาหลายปี แต่ไม่เคยใช้งานเบอร์นี้เต็มแพ็กเกจเลย เพราะเจอปัญหาสัญญาณไม่เต็มตามที่ผู้ให้บริการระบุไว้ เขาจึงหยุดใช้และมียอดค้างจ่ายอยู่ 2 เดือน ต่อมาบริษัทส่งข้อความระงับการใช้บริการมาให้ นับแต่นั้นเขาก็ไม่ได้ใช้เบอร์นั้นอีกเลยและเข้าใจว่าถูกยกเลิกไปโดยปริยายแล้ว         จนกระทั่งปลายเดือน มิถุนายน 2564 คุณแท้จริงได้รับหนังสือจากสำนักงานกฎหมายแจ้งทวงหนี้มา 7 พันกว่าบาท เป็นค่าบริการตั้งแต่ มกราคม - พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเขาเองก็สงสัยว่า จริงๆ บริษัทมีสิทธิเรียกเก็บเงินเฉพาะส่วนที่คงค้างก่อนถูกตัดสัญญาณเท่านั้นไม่ใช่เหรอ ทำไมยังเรียกเก็บเพิ่มอีกล่ะทั้งๆ ที่เขาเลิกใช้เบอร์นั้นนานแล้ว คุณแท้จริงจึงเขียนจดหมายมาขอคำปรึกษาเรื่องนี้กับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ เป็นไปได้ว่าบริษัทอาจแจ้งระงับสัญญาณชั่วคราว เพื่อให้ผู้บริโภคไปชำระค่าบริการที่ค้างอยู่ ยังไม่ได้ยกเลิกบริการอย่างที่ผู้บริโภคเข้าใจ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคยังคงมีหน้าที่ชำระค่าบริการอยู่ โดยการระงับสัญญาณชั่วคราวนั้นผู้ประกอบการสามารถทำได้ ตามข้อ 28 (6) ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ซึ่งระบุไว้ว่า ผู้ให้บริการสามารถแจ้งขอระงับสัญญาณชั่วคราวได้ในกรณีที่ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระเกิน 2 รอบบิล ซึ่งเป็นสิทธิในการระงับสัญญาณ ยังไม่ใช่การยกเลิกสัญญา          ดังนั้น ผู้บริโภคควรทำเรื่องยกเลิกสัญญากับผู้ประกอบการให้เรียบร้อย ก่อนที่จะยุติการใช้เบอร์มือถือนั้นๆ ซึ่งก่อนจะยกเลิกสัญญาจะต้องชำระค่าบริการให้ครบถ้วนจนถึงวันที่ยกเลิกสัญญา ตามข้อ 32 ของประกาศเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 คนกรุง 83.9 % มีหนี้สิน 54.3 % รู้ว่ามี พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ และ 28.5 % เคยถูกประจานทำให้อับอาย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,135 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 27 - 30 มิถุนายน 2564 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เนื่องจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 มีผลใช้บังคับจริงในวันที่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นไป ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกาศใช้บังคับ คือ เพื่อป้องกันและแก้ไขการทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม การขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น เป็นการปกป้องลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ ในรูปแบบต่างๆ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน ร้อยละ 83.9 โดยการกู้ซื้อรถยนต์เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 36.7 อันดับสองคือ การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 33.9 อันดับสามคือ การกู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 21.9 อันดับสี่คือ การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 20.6 อันดับห้าคือ การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 19.2 และอันดับหกคือ การกู้ยืมจากสหกรณ์ ร้อยละ 10.5                 โดยหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อันดับสองคือ บริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง ร้อยละ 30.6 อันดับสามคือ กองทุน ร้อยละ 23.1 อันดับสี่คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 20.8 อันดับห้าคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 18.8 และอันดับหกคือ สหกรณ์ ร้อยละ 12.8                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบเรื่อง พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 คุ้มครองลูกหนี้ร้อยละ 54.3 ทราบว่าพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มีการคุ้มครองลูกหนี้เพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 49.8                 ในส่วนของการที่ไม่เคยผิดนัดผ่อนชำระ ร้อยละ 48.5 เคยผิดนัดผ่อนชำระ ร้อยละ 40.6 และไม่เคยถูกทวงถามหนี้ ร้อยละ 45.0 เคยถูกทวงถามหนี้ ร้อยละ 37.9                 โดยเคยถูกทวงถามหนี้ ผ่านทางจดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึกมากที่สุด ร้อยละ 32.4 อันดับสองคือ การคิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 26.4 อันดับสามคือ พูดจาไม่สุภาพ ร้อยละ 20.5 อันดับสี่คือ ทวงหนี้กับญาติ ร้อยละ 11.2 อันดับห้าคือ ประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 9.7                ทราบว่าการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ร้อยละ 50.7 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. ร้อยละ 42.4 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ร้อยละ 42.6                 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 61.7 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 52.0                 ทราบว่า การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 42.6 และไม่ทราบว่า ผู้ทวงถามหนี้ ต้องขออนุญาตจดทะเบียนประกอบธุรกิจทวงหนี้และข้าราชการห้ามประกอบธุรกิจทวงถามหนี้  ร้อยละ 32.3                 ไม่เคยถูกทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 53.3 เคยถูกทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 25.7 และไม่เคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 59.2 เคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 16.8                 ทราบว่า หากเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จะร้องเรียนผ่าน สถานีตำรวจ มากที่สุด ร้อยละ 60.7 อันดับสองคือ คณะกรรมการการกํากับการทวงถามหนี้ประจําจังหวัด สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร้อยละ 31.6 อันดับสามคือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร้อยละ 25.0 อันดับสี่คือ เขตหรือที่ว่าการอำเภอ ร้อยละ 19.0 อันดับที่ห้าคือ สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน ร้อยละ 16.9 อันดับที่หกคือ สำนักงานสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ร้อยละ 16.0 และอันดับสุดท้ายคือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร้อยละ 13.1 โดยไม่แน่ใจว่าได้รับการแก้ไขปัญหา จากเคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 66.2                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ คือถูกประจานทำให้อับอาย เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 28.5  อันดับที่สองคือ ถูกส่งคนติดตาม ร้อยละ 14.4 อันดับที่สามคือ ถูกข่มขู่ ร้อยละ 13.1

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 226 ทวงหนี้แบบนี้พี่ฟ้อง

        เพราะเป็นลูกหนี้จึงต้องใช้หนี้ แต่ถ้าเจ้าหนี้รุกไล่มากเกินไปจนชีวิตหาความสุขไม่ได้ ถูกประจานให้อับอาย รู้ไว้นะว่าเขามีกฎหมายปกป้องลูกหนี้ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิแบบนี้ ซึ่งหลายคนอาจยังไม่ทราบและบริษัทที่ประกอบการทวงหนี้หลายแห่งก็ใช้ความไม่รู้กฎหมายของผู้บริโภคมาละเมิดสิทธิ เรามาดูกันว่า รูปแบบไหนเรียกว่าละเมิดสิทธิ ทวงหนี้ผิดกฎหมายและจะรับมืออย่างไร         คุณมานพ ได้ร้องเข้ามายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเองนั้นเป็นหนี้บัตรเครดิตธนาคารแห่งหนึ่ง เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท ก่อนจะเกิดปัญหาหนี้สินนี้ ที่ผ่านมาคุณมานพสามารถหมุนเงินมาจัดการจ่ายหนี้ได้ แต่ต่อมาขาดสภาพคล่องทำให้ไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ตามกำหนดเวลา จึงตัดสินใจหยุดพักชำระหนี้ เพื่อเก็บเงินและหวังจะเจรจาต่อรองกับทางธนาคารในภายหลัง ซึ่งหลังจากหยุดชำระหนี้ไปสามเดือน ทราบต่อมาว่าธนาคารได้มอบให้บริษัทบริหารทรัพย์สินแห่งหนึ่งทำหน้าที่ติดตามทวงหนี้กับตน ซึ่งพฤติกรรมของบริษัทฯ ดังกล่าว เข้าข่ายละเมิดสิทธิลูกหนี้ชัดเจน ด้วยการประจานเรื่องการเป็นหนี้ของตนเองต่อเพื่อนร่วมงานว่า ไม่มีปัญญาชำระหนี้ อีกทั้งยังข่มขู่ว่า ถ้าหากตนเองยังไม่ชำระหนี้อีกจะโทรศัพท์ถึงหัวหน้างาน ซึ่งคุณมานพร้อนใจมาก จึงปรึกษาว่าตนเองสามารถทำอะไรได้บ้างกับวิธีการทวงหนี้ลักษณะเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 นั้น มีหลักเกณฑ์ที่ควรทราบโดยสรุปดังนี้         การทวงหนี้ หมายถึงการทวงหนี้ตาม พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เท่านั้น ไม่รวมถึงการทวงหนี้ทั่วไป ผู้ทวงถามหนี้ตามกฎหมายนี้ หมายถึงเจ้าหนี้ผู้ให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ หรือคนที่ซื้อหรือรับโอนหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน ที่สำคัญ คือ หนี้นั้นจะเป็นหนี้โดยชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เข้าข่ายทั้งสิ้น ตัวอย่างเจ้าหนี้ตามกฎหมายนี้ เช่น ธนาคาร บริษัทบัตรเครดิต บริษัทเช่าซื้อ เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ เป็นต้น         กฎหมายระบุจำนวนครั้งในการทวงถามหนี้ 1 ครั้งต่อวัน ส่วนช่วงเวลาในการทวงถามหนี้ ได้แก่ วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ส่วนการทวงหนี้ที่อาจถูกปรับได้ ได้แก่ การประจาน พูดจาดูหมิ่น ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง และทวงถามหนี้เกิน 1 ครั้งต่อวัน         ถ้าเจ้าหนี้ทวงเกินวันละหนึ่งครั้ง มีความผิดทางปกครอง คณะกรรมการทวงหนี้สามารถสั่งให้หยุดได้ ถ้าไม่หยุดก็อาจโดนโทษปรับทางปกครองสูงสุด 100,000 บาท         การติดต่อเพื่อให้ชำระหนี้ ห้ามพูดจาดูหมิ่นลูกหนี้ ห้ามข่มขู่ใช้ความรุนแรง ห้ามประจาน หากละเมิดมีโทษทั้งจำคุกและปรับเงินสูงสุดคือ จำคุก 1 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ         หากผู้บริโภคพบพฤติการณ์เข้าลักษณะที่ผิดกฎหมาย สามารถแจ้งความที่สถานีตำรวจในเขตท้องที่ได้ทันที และเพื่อให้มีหลักฐานการกระทำผิด ควรบันทึกเสียงหรือมีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเช่น หลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร พยานบุคคล หรือถ้าไม่มีก็ไม่ต้องกังวลสามารถร้องเรียนได้เช่นกัน        อย่างไรก็ตามกฎหมายกำหนดเรื่องวิธีการทวงหนี้เพื่อไม่ให้ลูกหนี้โดนรุกล้ำสิทธิมากเกินไป แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นหนี้แล้วไม่ต้องใช้ ดังนั้นเมื่อเป็นหนี้แล้วควรบริหารจัดการชำระหนี้ให้หมดแต่โดยไว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ทวงหนี้โหดร้องเรียนได้แล้วนะ

หลายท่านคงหงุดหงิดรำคาญใจจากการถูกโทรศัพท์ทวงหนี้ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีกฎหมายทวงหนี้ (พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558) ออกมาแล้วก็ตาม ก็ยังมีเจ้าหนี้ทวงถามหนี้แบบข่มขู่คุกคาม และมีพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายอยู่ ถ้าเราเป็นหนี้แล้วถูกทวงถามแบบสุภาพชนถือว่าปกติ แต่ผู้ร้องรายนี้ไม่ได้เป็นหนี้และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกหนี้ที่บริษัททวงหนี้โทรมาตามเลย จะทำอย่างไรดี        คุณภูผาร้องเรียนศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ถูกเจ้าหน้าที่บริษัททวงหนี้แห่งหนึ่งโทรศัพท์มาทวงถามหนี้ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ลูกหนี้ชื่อคุณดวงรัตน์(นามสมมติ) เป็นคนที่คุณภูผาไม่รู้จัก ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ของตัวเอง ซึ่งคุณภูผาก็งงว่าทำไมโทรศัพท์มาทวงที่ตนเอง ดวงรัตน์เป็นใครตนเองไม่ได้รู้จักแม้สักนิด การทวงถามนี้คุณเจ้าหน้าที่ของบริษัทไม่แสดงตนว่าชื่อ-นามสกุลอะไร มาจากบริษัทอะไร เมื่อคุณภูผาขอให้แจ้งข้อมูล ชื่อ-นามสกุล ของพนักงานคนดังกล่าว เขาก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมตอบ ทั้งนี้ยังแสดงวาจาไม่สุภาพ ใช้ถ้อยคำหยาบคาบ และข่มขู่คุกคามอีกด้วย คุณภูผาปฏิเสธว่าไม่รู้จักลูกหนี้คนดังกล่าวและตนเองก็ไม่เคยเป็นหนี้บัตรเครดิตใคร จึงวางสายไป  แต่เจ้าหน้าที่ของบริษัทยังโทรศัพท์มาทวงถามซ้ำๆ อีกหลายครั้ง จนเหนื่อยใจ คุณภูผาจึงตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรมาทวงหนี้คือ 02-7912800 จากเว็ปไซด์ www.google.com พบว่าคือเบอร์โทรศัพท์ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ไอคอน แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนในการทวงถามหนี้ของธนาคาร แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นคุณภูผาได้ทำหนังสือไปยังกรรมการผู้จัดการธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ขอให้แก้ไขพฤติกรรมการทวงหนี้ และแสดงความรับผิดชอบโดยมีหนังสือขอโทษเป็นลายลักษณ์อักษรให้ นอกจากนี้ยังทำหนังสือไปถึงผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ขอให้ดำเนินการกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดตามกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้ เวลาผ่านมาหลายเดือนคุณภูผาไม่ได้รับการติดต่อจากธนาคาร หรือผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเลย จึงปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ว่าควรดำเนินการต่ออย่างไรดีประเด็นนี้การกระทำของบริษัททวงหนี้เข้าข่ายการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มาตรา 11 (1) ห้ามข่มขู่คุกคาม บทลงโทษอยู่ในมาตรา 41 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ (2) ห้ามใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้ บทลงโทษอยู่ในมาตรา 39 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   กรุงเทพมหานคร ผู้ร้องสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่ สำนักการสอบสวนและนิติกร กรมการปกครอง กองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสถานีตำรวจนครบาล สำหรับในส่วนภูมิภาค ได้แก่ ที่ทำการปกครองจังหวัดทุกจังหวัด ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอและสถานีตำรวจภูธรทุกท้องที่        ผู้ร้องอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงมีหนังสือไปยังประธานคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานคร (ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล) ขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัท เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และมีหนังสือถึงธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อติดตามผลการดำเนินการกรณีคุณภูผา         สถานการณ์ปัจจุบัน จากการที่ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ระดับประเทศ พบว่าในแต่ละจังหวัดมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมการทวงถามหนี้ค่อนข้างน้อย หรือบางจังหวัดไม่มีเรื่องร้องเรียนเลย ทำให้คณะกรรมการฯ ระดับประเทศเข้าใจว่าลูกหนี้ไม่ถูกละเมิดสิทธิ และบริษัททวงหนี้มีพฤติกรรมการทวงถามหนี้ที่ปฏิบัติตามที่พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558  ทั้งที่จริงๆ แล้วยังมีลูกหนี้อีกเป็นจำนวนมาก ที่ถูกบริษัททวงถามหนี้ข่มขู่ คุกคาม และมีพฤติกรรมการทวงถามหนี้ที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงขอให้ผู้บริโภคทุกท่านที่พบเห็นหรือถูกทวงหนี้ผิดกฎหมาย ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่แนะนำไว้ข้างต้น เพื่อให้บริษัทที่กระทำผิดกฎหมายถูกลงโทษ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 10 ปีของมหากาพย์ทวงคืนท่อก๊าซ สมบัติชาติ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกได้ฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนการแปรรูปปตท.เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีนี้ ในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 เป็นคดีหมายเลขแดง ที่ ฟ35/2550 คำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ประกอบด้วย 1) คณะรัฐมนตรี 2) นายกรัฐมนตรี 3) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน 4) บมจ. ปตท. ดำเนินการโดยสรุปดังนี้ 1) แบ่งแยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินคืนให้รัฐ2) ที่ดินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนคืนให้รัฐ3) แยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บมจ. ปตท.)ภาค 1 มหากาพย์แปรรูปฮุบสมบัติชาติการแปรรูป "ปตท." ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2544 เกิดขึ้นหลังจากพรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลเพียง 9 เดือนเศษ ทั้งที่เคยหาเสียงว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิก "กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ" ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายที่ถูกเรียกขานว่า 'กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ' คือ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ออกตามเงื่อนไขการกู้เงิน IMF เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เป็นผลจากความไร้วินัยทางการเงินของภาคเอกชนเมื่อปี 2540 แต่เป็นมรดกบาปที่ประชาชนทั้งประเทศต้องมาจ่ายหนี้แทนเอกชนที่ล้มบนฟูกทั้งหลายเมื่อพรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล ทักษิณมองเห็นสำรับผลประโยชน์ที่จัดเตรียมขึ้นโดยกลุ่มสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามแนวทางของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่มีนางมาร์กาเรต แทตเชอร์เอาไปปฏิบัติจนประเทศอังกฤษย่อยยับจากนโยบายแปรรูปของรัฐบาลของเธอ หากใครติดตามข่าวตอนมรณกรรมของอดีตนายกฯหญิงอังกฤษคนนี้เมื่อปี 2556 จะเห็นหนังสือพิมพ์ในอังกฤษหลายฉบับได้พาดหัวข่าวคำสัมภาษณ์ของคนอังกฤษที่พูดว่านางแม่มดชั่วร้ายได้ตายแล้ว (The wicked witch is dead) ประชาชนออกมาจัดปาร์ตี้แสดงความยินดีกับการตายของเธอตามท้องถนนสวนกระแสการไว้ทุกข์ของรัฐบาล(แต่ในประเทศไทยยังมีกลุ่มธุรกิจผูกขาดหลงยุคที่ชื่นชมการแปรรูปสาธารณูปโภคพื้นฐานของนางแทตเชอร์)ทักษิณมองเห็นธุรกิจพลังงานเป็นผลประโยชน์มหาศาล และปตท. คือเครื่องมือสำคัญ จึงละทิ้งสัญญาประชาคมตอนหาเสียงเลือกตั้งแบบกลับหลังหัน และเข้ามาชุบมือเปิบผลประโยชน์ต่อจากกลุ่มนิยมขายสมบัติชาติที่ตั้งสำรับไว้แล้ว และแปรรูปปตท. เป็นภารกิจลำดับแรกๆ หลังเข้ามาเป็นรัฐบาล ในมุมมองตรงกันข้ามการแปรรูปกิจการรัฐในสายตานักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมกระแสหลักที่เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2544 อย่างโจเซฟ สติกลิสต์ที่กล่าวอมตวาจาว่า "การแปรรูปคือการคอรัปชั่น (Privatization is Barbarization ) เพียงการบอกขายสมบัติชาติในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ก็จะสามารถฉกฉวยเอาทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลเป็นของตนแทนที่จะปล่อยมันไว้ให้คนอื่นเข้ามาถลุง"การแปรรูป "ปตท." เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนอมตวาจาของสติกลิสต์ นอกจากนี้เขายังเคยพูดถึงวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551 ว่ารัฐบาลอเมริกันไม่ควรไปอุ้มกลุ่มทุนการเงินที่เป็นผู้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงให้กับสหรัฐอเมริกา และประชาคมเศรษฐกิจโลก เขาถามหาสิ่งที่เรียกว่าความรับผิดชอบ และการตรวจสอบได้ (Accountability) ของกลุ่มทุนการเงินเหล่านั้น และเรียกร้องให้คนพวกนั้นเป็นผู้ที่ต้องจ่ายให้กับความเสียหายที่เขาก่อขึ้น ไม่ใช่ให้รัฐบาลเอาภาษีของประชาชนมาจ่าย และปล่อยคนเหล่านี้ลอยนวลไปพร้อมกับเงินก้อนใหญ่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และ 11 ปีก่อนหน้าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์นั้น ก็ไม่ต่างจากกลุ่มทุนการเงินชาวอเมริกัน คือนอกจากล้มบนฟูกแล้ว ยังตบตูดจากไปอย่างไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ปล่อยให้ประชาชนรับกรรมใช้หนี้แทน แล้วยังต้องการนำปตท.ที่เป็นสาธารณสมบัติของชาติมาพยุงตลาดหลักทรัพย์ที่ซบเซาจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้น ทั้งที่มาจากความโลภและความไร้วินัยทางการเงินของสถาบันการเงินภาคเอกชนเอง โดยคนเหล่านั้นหาได้มีจิตสำนึกความรับผิดชอบใดๆ ไม่เมื่อรัฐบาลต้องการแปรรูปปตท. ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 ให้ปตท.ซึ่งขณะนั้นคือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ไปดำเนินการแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ ออกจากกิจการจัดหาและจำหน่ายก่อนการแปรรูปและนำเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยให้ ปตท.คงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 มติดังกล่าวจึงมิได้ให้มีการนำกิจการท่อก๊าซธรรมชาติเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย แต่ทักษิณอ้างว่าหากต้องรอการแยกกิจการท่อส่งก๊าซก่อน ก็จะไม่สามารถนำปตท. เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันในปลายปี 2544 รัฐบาลจึงมีมติให้แปรรูปทั้งองค์กรไปก่อน และนำปตท. ไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทันที โดยมีมติครม. ว่าจะแยกท่อก๊าซหลังระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว 1 ปี แต่หลังจากนั้น รัฐมนตรีพลังงานในสมัยนั้น ก็กลับมติ โดยให้ยกเลิกมติเดิมที่จะแยกท่อก๊าซภายใน 1 ปี เพราะอ้างว่ามีการเปลี่ยนนโยบายจากระบบ Power pool คือระบบที่ให้บุคคลที่ 3 เข้าร่วมใช้ระบบท่อส่งก๊าซ กลับไปเป็นระบบ Single buyer คือผูกขาดเจ้าเดียวโดยให้ปตท. เป็นผู้ผูกขาดการซื้อก๊าซและใช้ระบบท่อเพียงรายเดียว อันเป็นการโอนย้ายอำนาจผูกขาดจากรัฐไปให้เอกชน  สาเหตุที่ไม่ยอมแยกท่อก๊าซออกก่อนการนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะท่อส่งก๊าซมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติทำให้กิจการก๊าซเป็นกิจการไม่มีคู่แข่ง ย่อมทำให้ผู้ครอบครองท่อก๊าซได้รับผลประโยชน์สูงจากกิจการก๊าซไปด้วย การมีมติครม. ว่าจะแยกท่อก๊าซหลังจากนั้นก็เป็นเพียงมติแบบขอไปที และในที่สุดก็ยกเลิกการแยกท่อก๊าซ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการยักยอกทรัพย์ของแผ่นดิน ใช่หรือไม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกร่วมกันฟ้องเพิกถอนการแปรรูปปตท. ต่อศาลปกครองสูงสุดในเดือนสิงหาคม ปี 2549 ในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายอย่างชัดเจนว่าการแปรรูปโดยไม่ได้ทำตามเงื่อนไขในกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจที่กำหนดเงื่อนเวลาในการแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและการไม่แบ่งแยกอำนาจรัฐออกจากปตท.ที่เป็นบริษัทเอกชนมหาชน โดยยังมีอำนาจเหมือนปตท. สมัยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบอำนาจมหาชนตามกฎหมายจากสภานิติบัญญัตินั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายในคำพิพากษาว่าเมื่อปตท.ได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นองค์กรมหาชนของรัฐไปเป็นองค์กรเอกชนมหาชนแล้ว จึงไม่ถือเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป แม้ว่ากระทรวงการคลังจะถือหุ้นใหญ่เกิน 51% แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปตท. มีสถานะกลับมาเป็นองค์กรมหาชนของรัฐอีกแต่อย่างใด ปตท. จึงไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาด้วยอำนาจมหาชน ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อการใช้ร่วมกันของคนในชาติ และปตท.ซึ่งแปรสภาพไปเป็นบริษัทเอกชนแล้ว ก็ไม่สามารถใช้อำนาจมหาชนของรัฐได้อีกต่อไปด้วย อันที่จริงศาลมีความเห็นว่า การแปรรูปปตท.เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การฟ้องเพิกถอนการแปรรูปนั้นเกิดขึ้นหลังจากการแปรรูปปตท. ผ่านไปกว่า 5 ปีแล้ว ปตท. ได้ก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมาก และมูลค่าปตท. ในตลาดหลักทรัพย์ขณะนั้นสูงถึง 8.4 แสนล้านบาท หากเพิกถอนการแปรรูปเกรงจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจศาลปกครองสูงสุดได้อ้างพ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงานที่ออกในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่าเป็นการเยียวยาความเสียหายแล้ว จึงให้ยกคำร้องการเพิกถอนการแปรรูปปตท. แต่สั่งให้แบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและทรัพย์สินที่มาจากการรอนสิทธิคืนให้กับรัฐ และให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนมีการตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อีกทั้งไม่ให้ปตท. ใช้อำนาจรัฐอีกต่อไป ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้น รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในสมัยนั้นกำหนดให้คืนเฉพาะท่อก๊าซบนบกที่มีการรอนสิทธิ ส่วนท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ได้คืน ทั้งที่ในคำพิพากษาระบุว่าท่อส่งก๊าซและท่อส่งน้ำมันเป็นระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ซึ่งมีลักษณะเชื่อมต่อกันเป็นระบบจึงต้องคืนทั้งระบบ ไม่ใช่คืนเป็นท่อนหรือเป็นส่วน ๆ แต่กระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินก็ไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ที่ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลังไปแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา และให้สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สิน หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเรื่องทรัพย์สินตามคำพิพากษา มติครม.ก็ได้ระบุให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยให้มีข้อยุติต่อไป แม้สตง.จะยืนยันตลอดมาว่าปตท.ยังไม่ได้คืนท่อส่งก๊าซในทะเลและอุปกรณ์ที่รวมกันเป็นระบบตามคำพิพากษาของศาลอย่างครบถ้วน แต่รัฐบาลในสมัยต่อมาก็ไม่ได้ตรวจสอบและกำกับให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการตามมติครม.ที่เมื่อมีข้อโต้แย้งว่าท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เมื่อตกลงกันไม่ได้ต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้มีข้อยุติว่าท่อส่งก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือสมบัติของเอกชน เมื่อยังไม่มีข้อยุติเรื่องท่อก๊าซในทะเล แต่หน่วยงานรัฐกลับให้บมจ.ปตท. ซึ่งมีสภาพเป็นลูกหนี้ได้ไปรายงานต่อศาลว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ และผู้เกี่ยวข้องได้เห็นชอบการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อสตง. ทักท้วงว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน คณะรัฐมนตรีก็เพิกเฉยทั้งที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษา และมติครม. ก็มอบหมายให้สตง. เป็นฝ่ายตรวจสอบและรับรองความถูกต้องเสียก่อน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกจึงได้ร้องต่อศาลปกครองสูงสุดหลายครั้ง ซึ่งศาลปกครองได้ยกคำร้องด้วยเหตุผลว่าผู้ร้องไม่ใช่ผู้ชนะคดี และไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ จึงไม่สามารถร้องให้มีการบังคับคดีใหม่ได้ ซึ่งในคำพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ศาลได้สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ประกอบด้วย 1) คณะรัฐมนตรี 2) นายกรัฐมนตรี 3) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และ 4) บมจ. ปตท. ไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา ดังนั้นผู้ที่มีสิทธิทักท้วงให้มีการบังคับคดีใหม่ให้ถูกต้องคือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ส่วนปตท. เป็นลูกหนี้ และอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงพลังงาน ปรากฏในการแบ่งแยกทรัพย์สินเจ้าหนี้ปล่อยให้ลูกหนี้ไปรายงานต่อศาลว่าคืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว ทั้งที่สตง. ทักท้วงว่าไม่ครบ แต่เจ้าหนี้ไม่ทักท้วงว่าลูกหนี้ยังไม่คืนท่อในทะเล และไม่ได้ให้กฤษฎีกาวินิจฉัยข้อโต้แย้งว่าท่อในทะเลเป็นสาธารณสมบัติที่ต้องคืนหรือไม่ตามที่ฝ่ายตรวจสอบคือสตง. บอกว่าต้องคืนด้วย ปรากฏว่าเจ้าหนี้พอใจตามที่ลูกหนี้คืนให้โดยไม่ทักท้วง และไม่ฟังฝ่ายตรวจสอบของตัวเองอีกด้วย จากการนำคดีไปฟ้องร่วมกับประชาชน 1,455 คน เรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ไม่ได้ทำตามมติคณะรัฐมนตรี ของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ที่ให้การแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้นต้องให้สตง.เป็นผู้ตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องเสียก่อน การฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 800/2557 วินิจฉัยว่าข้ออ้างของผู้ร้องว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมติครม.นั้นเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีต้องไปว่ากล่าวกันเอง ความหมายคือมีแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่เป็นเจ้าหนี้ตามกฎหมายเท่านั้นที่จะสามารถโต้แย้งว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วนตามการตรวจสอบของสตง. เมื่อปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีไม่ว่ากล่าวให้มีการดำเนินการให้ถูกต้อง ประชาชนจึงต้องตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารว่ามีการปฏิบัติถูกต้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนประชาชนหรือไม่ มูลนิธิฯ และพวกจึงนำเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 คตง. มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบว่าหน่วยรับตรวจได้ทำตามกฎหมายระเบียบ คำสั่ง รวมทั้งมติครม.หรือไม่ คตง. อาศัยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ตรวจสอบแล้วมีคำวินิจฉัยเมื่อ 10 พฤษภาคม 2559 ว่ายังมีการคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน ยังมีท่อก๊าซในทะเลและบนบกมูลค่าประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทที่ต้องคืน และคตง. มีหนังสือเมื่อ 24 สิงหาคม 2559 แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ให้ดำเนินการคืนให้ครบถ้วนภายใน 60 วัน แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลคสช. ก็ยังไม่ปฏิบัติตามมติของคตง. ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษได้วินิจฉัยเรื่องท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติหรือไม่ ตามการร้องของสตง. คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 นั้นมีความชัดเจนว่าท่อส่งก๊าซเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และศาลมองท่อก๊าซเป็นระบบไม่ว่าท่อก๊าซนั้นจะผ่านบนที่ดินใคร เพราะไม่ได้มองท่อก๊าซเป็นท่อนเป็นส่วน ดังนั้นคำพิพากษาจึงมีความชัดเจนขึ้นอยู่กับว่ามีการปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างครบถ้วนหรือไม่ ท่อก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรรูป และไม่มีการแยกออกมาก่อนการนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทำให้หุ้นของปตท. มีมูลค่าแบบก้าวกระโดดโดยที่ท่อก๊าซมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติที่ตามกฎหมายไม่อาจยกให้เอกชนครอบครองได้นั้น แม้มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 แล้วก็ไม่ได้มีการแบ่งแยกท่อก๊าซคืนทั้งระบบ การไม่แยกกิจการท่อก๊าซออกมา จึงทำให้ปตท. ได้กำไรจากกิจการท่อก๊าซรองมาจากกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยที่กิจการทั้ง 2 ส่วนนี้เกื้อหนุนกัน เพราะปิโตรเลียมที่พบในประเทศเป็นก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องอาศัยท่อส่งก๊าซในการขนส่งก๊าซจากแหล่งผลิตมาถึงโรงแยกก๊าซ ปตท. ผูกขาดกิจการก๊าซทั้งระบบเพราะได้ครอบครองและใช้ท่อก๊าซในระบบผูกขาดเจ้าเดียว และยังได้สิทธิผูกขาดการซื้อก๊าซเจ้าเดียวอีกด้วย ซึ่งสิทธินี้เคยเป็นสิทธิผูกขาดของกระทรวงอุตสาหกรรมและต่อมามอบให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หลังการแปรรูป สิทธินี้ยังไม่ได้คืนตามคำพิพากษาที่ระบุให้แยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 คือปตท.จึงทำให้รายได้ของปตท. จากท่อก๊าซธรรมชาติสูงถึงประมาณ 356,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 14 ปี (2544-2558) โดยปตท.จ่ายค่าเช่าท่อที่คืนให้รัฐบางส่วนตามคำพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นเม็ดเงินประมาณ 6,000 ล้านบาทในระยะเวลา 14 ปีภาค 2 มหากาพย์แยกท่อก๊าซเป็นสมบัติเอกชนแผนการฮุบท่อส่งก๊าซไปเป็นของเอกชนยังคงเป็นโรดแมปสำคัญ หลังการรัฐประหารของคสช. ในปี 2557 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้อนุมัติให้มีการแยกกิจการท่อส่งก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทลูกของปตท.ประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ บมจ. ปตท. เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ว่า ได้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน และลดอำนาจการผูกขาดของปตท. โดยให้ปตท. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรียุครัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2544 คือให้ดำเนินการแยกท่อก๊าซ ปตท. ให้เป็นบริษัทลูกเพื่อเปิดให้บุคคลที่ 3 มาใช้ท่อก๊าซฯ ด้วยประธานกรรมการปตท. ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเผชิญหน้า ทีวีสปริงนิวส์ว่า จะแยกท่อก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่โดยให้เป็นของบริษัทปตท.หลังจากนั้นก็แล้วแต่ "คสช." จะตัดสินใจให้คนอื่นมาถือหุ้นแทนปตท. และเรื่องแยกท่อก๊าซก็ต้องทำให้เสร็จก่อนมีการเลือกตั้ง (ที่เคยคาดว่าจะเกิด) ในปี 2558 อีกด้วย เมื่อย้อนไปดูมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2544 ได้มอบหมายให้ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจไปดำเนินการแยกท่อส่งก๊าซก่อนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และมอบหมายให้ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ในขณะนั้นคงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 ตามมติดังกล่าวแสดงว่าระบบท่อส่งก๊าซต้องเป็นของรัฐ 100% แต่กระบวนการแปรรูปโดยไม่แยกท่อก๊าซ จึงเป็นข้อต่อที่สำคัญที่จะถ่ายโอนท่อส่งก๊าซทั้งระบบไปเป็นสมบัติเอกชน ซึ่งศาลมีคำสั่งให้คืนแต่ก็ไม่ยอมคืนท่อทั้งระบบที่แปรรูปไป ข้อเสนอให้ดำเนินการแยกระบบท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ครั้งใหม่นี้ ย่อมมีความแตกต่างจากมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพราะปตท.ในขณะนี้เป็นบมจ.ปตท. ที่รัฐถือหุ้นเพียง 51% และมีเอกชนมาถือหุ้นร่วมด้วยอีก 49% ปตท. ในขณะนี้จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ 100% เหมือนเมื่อก่อนแปรรูป ดังนั้นการแยกท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ตามข้อเสนอนี้ จะทำให้รัฐและประชาชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ระบบท่อส่งก๊าซเพียง 51% เท่านั้นไม่ใช่เป็นเจ้าของ 100% ตามมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อปี 2544 หากการแยกท่อก๊าซไปตั้งบริษัทใหม่สำเร็จ ย่อมทำให้ท่อก๊าซตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนโดยสมบูรณ์ ซึ่งคือการย้อนกลับไปสู่สภาพก่อนที่มีคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุด และท่อก๊าซก็จะไม่ได้คืนกลับมาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีก คำวินิจฉัยของคตง. และคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ทำให้มติกพช.ที่อนุมัติให้มีการแยกท่อก๊าซมาตั้งบริษัทใหม่ต้องหยุดชะงักไป แต่คณะรัฐมนตรีก็ยังไม่ยอมปฏิบัติตามมติคตง. ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ที่มีหน้าที่ต้องแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติคืนแผ่นดินให้ครบถ้วนตามคำพิพากษา สิ่งที่รัฐบาลคสช. ควรทำคือปฏิบัติตามการตรวจสอบของคตง. โดยใช้อำนาจบังคับบัญชาตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 และมติคตง. 10 พฤษภาคม 2559 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา 20 กันยายน 2559 ให้ปตท. คืนท่อก๊าซทั้งระบบตามคำพิพากษา และควรตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติมารับมอบระบบท่อส่งก๊าซและเปิดให้เอกชนและปตท. ใช้โดยจ่ายค่าบริการให้กับรัฐผ่านองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่ การแก้ไขพ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) ที่ประกาศใช้เมื่อ 22 มิถุนายน 2560 หากรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านกฎหมายและให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่แทนการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ถูกแปรรูปไปเป็นเอกชนแล้วจะเป็นการปฏิรูปนโยบายพลังงานอย่างแท้จริง รัฐบาลจะมีองค์กรใหม่เป็นผู้รับมอบทรัพย์สินหลังจากเอกชนหมดสัมปทาน รวมทั้งรับมอบท่อส่งก๊าซและที่ดินตามคำพิพากษา รวมทั้งถือกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมจากระบบแบ่งปันผลผลิตกับบริษัทเอกชน ซึ่งบริษัทปตท. ที่มีเอกชนถือหุ้นไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ และให้องค์กรใหม่กำกับดูแลให้มีการประมูลขายปิโตรเลียมทั้งส่วนที่เป็นน้ำมันและส่วนที่เป็นก๊าซที่เป็นของรัฐ และเปิดให้เอกชนทุกรายสามารถใช้ท่อส่งก๊าซโดยจ่ายค่าบริการให้รัฐผ่านบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เชื่อว่าระบบก๊าซธรรมชาติในประเทศจะเกิดการแข่งขันกัน และได้ราคาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ แต่น่าเสียดายที่การครอบงำของกลุ่มทุนพลังงานมีพลังมากจนการปฏิรูปไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ตามโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงาน ขั้นตอนแรกคือแปรรูปกิจการสาธารณูปโภคของรัฐให้เป็นรัฐครึ่งเอกชนครึ่ง และขั้นตอนต่อมาคือแปรรูปกิจการให้เป็นของเอกชน 100% ตามแนวคิดของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่เชื่อว่าทรัพย์สินของรัฐไม่มีใครเป็นเจ้าของ เลยไม่มีใครสนใจดูแล ดังนั้นจึงควรแปรรูปให้เป็นของเอกชน (State owns is nobody owns, Nobody owns is nobody cares) กลุ่มทุนใช้ข้ออ้างเพื่อไม่ให้นักการเมืองเข้ามาล้วงลูกกิจการรัฐวิสาหกิจ จึงควรแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน ดังที่ปตท. ต้องการแยกทั้งบริษัทท่อก๊าซ และบริษัทน้ำมันและค้าปลีกออกไปเป็นบริษัทลูก ที่รัฐถือหุ้นต่ำกว่า 51% เพื่อให้บริษัทใหม่เป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว หากทุนเอกชนสามารถยึดโครงข่ายกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซได้ ก็เหมือนยึดเส้นเลือดในกายเศรษฐกิจของชาติด้านพลังงานได้ทั้งหมด แล้วเลือดหรือทรัพยากรพลังงานที่ผ่านท่อจะไปไหนเสีย? การที่กลุ่มทุนพยายามผลักดันให้คสช.คงระบบสัมปทานในการให้สิทธิสำรวจผลิตปิโตรเลียมแก่เอกชนต่อไปก็ยิ่งทำให้ทรัพยากรพลังงานที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชนตกอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนผูกขาดการคงระบบสัมปทานปิโตรเลียมก็คือการยกกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งหมดให้กับกลุ่มทุนพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อทุนพลังงานครอบครองกลไกเครื่องมือคือระบบท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมันและได้กรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมไปด้วย ชะตากรรมของคนไทยก็จะอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนพลังงานเอกชนโดยสมบูรณ์ การผูกขาดธุรกิจพลังงาน ราคาพลังงานจะแพงขึ้นเท่าไหร่ ประชาชนต้องก้มหน้ารับกรรมกันไป จะไปเรียกร้องตรวจสอบอะไรอีกไม่ได้ เพราะเขาเป็นเอกชนเต็มตัว เมื่อตอนกลุ่มธุรกิจเอกชนใหญ่ก่อวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ประชาชนต้องเข้าไปรับเคราะห์ใช้หนี้แทน แต่พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เขาก็มาฮุบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาขน เอาไปเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่ ๆ ไม่กี่ราย มหากาพย์ฮุบสมบัติชาติด้านพลังงานจะเสร็จสมบูรณ์ตามโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความตื่นรู้ของประชาชนคนไทยทั้งปวง และความสุจริตและธรรมาภิบาลของผู้บริหารบ้านเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ปฏิบัติการทวงเงินคืน เมื่อคอนโดสร้างผิดแบบ

คุณทัศนีย์ ศิริการ ทำงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เธอวางแผนซื้อคอนโด เพื่อเก็บเป็นสินทรัพย์ และเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตัวเธอเองและหลานๆ จุดเริ่มต้นเรื่องดูเหมือนจะราบเรียบ อะไรคือจุดหักเหที่ทำให้เธอได้ลุกขึ้นมาใช้สิทธิ เรื่องราวเป็นมาอย่างไร ถูกละเมิดสิทธิอะไรบ้างดิฉันไปซื้อคอนโดแห่งหนึ่ง ย่านอโศก ช่วงที่ไปซื้อตอนนั้นไม่ได้มีห้องตัวอย่างให้ดู แต่เราเป็นลูกค้าของบริษัทผู้สร้างคอนโดแห่งนี้มาก่อน แล้วเซลส์ก็โทรมาแจ้งว่ามีโครงการนี้นะ สนใจไหม ซึ่งตอนเราไปซื้อเป็นช่วงพรีเซลส์ ห้องตัวอย่างก็ยังไม่เสร็จ แต่สนใจเลยตกลงทำสัญญาไป ส่งค่างวดไป 29 งวด เป็นเงินประมาณ 9 แสนกว่าบาท ระยะเวลา 2 ปีกว่า พอส่งครบ 29 งวด คอนโดฯ ก็เสร็จเขาถึงนัดไปตรวจห้อง เดี๋ยวนี้คอนโดบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์เขาจะขายแบบนี้กันทั้งนั้น คือตึกยังสร้างไม่เสร็จแต่ก็ขายก่อน ผ่อนดาวน์ไปเรื่อยๆ โครงการก็สร้างไปเรื่อยๆ พอวันไปตรวจห้องก็พบว่า ตรงที่เขาเขียนว่าเป็นระเบียง มันกลายเป็นหน้าต่าง ไม่มีประตูออกไประเบียง เหมือนทำไว้วางคอมเพรสเซอร์แอร์ฯ แค่นั้น แล้วก็วางตรงกลางเลยไม่ได้ชิดมุมใดมุมหนึ่งเพื่อที่เราจะได้ออกไปตากผ้าหรือทำอะไรได้เลย คือ เข้าใจใช่ไหม คนไทยเรามันมีความรู้สึกว่าต้องออกไปตากผ้าที่ระเบียงให้ลมโกรก คือบ้านเราไม่มีเครื่องอบผ้า แล้วในห้องก็ไม่มีเครื่องซักผ้า มันเป็นจุดที่ส่งซักก็ไม่สะดวก เพราะมันมีหลายอย่างที่เราส่งไม่ได้ ทั้งรองเท้า ชุดชั้นใน พรมเช็ดเท้า ซึ่งมันก็ตากในห้องไม่ได้อีก ก็กลายเป็นว่าระเบียงของเขาเป็นแค่ช่องหน้าต่างที่เป็นบานกระทุ้งแต่ออกไปข้างนอกไม่ได้ ตอนนั้นคิดว่าตอนซื้อเราดูไม่ละเอียดหรือเปล่า ก็กลับมาดูแปลนในสัญญาซื้อขาย ซึ่งในแปลนจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วก็มีส่วนที่ยื่นเป็นแง่งออกมา ซึ่งคอนโดที่อยู่ในปัจจุบันก็ออกแบบเป็นแง่งแบบนี้แต่มีประตูและก็ออกไประเบียงได้ เมื่อคิดจะหาที่ปรึกษา ตอนที่ยังไม่ได้เงินคืน พี่ก็โทรไปที่ สคบ. แล้วนะ แต่มันเป็นระบบฝากข้อความอัตโนมัติ พี่โทรไปก่อนหน้านี้ประมาณ 2 เดือนแล้ว ระบบอัตโนมัติก็ให้บอกชื่อ เบอร์โทร และเรื่องที่จะร้องเรียน โทรไป 2 ครั้ง เป็นฝากข้อความอัตโนมัติทั้ง 2 ครั้ง มันเหมือนช่วงนั้นเราไม่รู้จะทำอย่างไร ก็แค่อยากได้เงินคืน ระหว่างรอก็ลองโทรไปดูก็เจอแต่ระบบอัตโนมัติจึงทิ้งชื่อ เบอร์โทรไว้จนป่านนี้ยังไม่มีคนโทรกลับมาเลยพอเราเห็นแบบนี้ตอนแรกก็เลยโทรไปที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ซึ่งหาเบอร์โทรจากอินเตอร์เน็ตเจอเบอร์ที่ไม่ใช่ 1166 แต่เป็นเบอร์ขึ้นว่าทนายเดชา แล้วก็มีหลายๆ เบอร์ขึ้นมาก็โทรไปแล้วถามว่าใช่ สคบ. ไหม เขาก็บอกว่าจะโอนสายไปที่ทนายให้ พอคุยเขาก็บอกว่าให้ไปหาเขาแล้วจะทำจดหมายแจ้งโนติสโครงการให้แต่จ่ายเงินเขามา 5,000 บาท ก่อน ก็ไปจ่ายนะตอนนั้น เขาก็ทำจดหมายแจ้งโนติสมาให้เราทางไลน์ว่าข้อความตามนี้โอเคไหม ซึ่งตอนนั้นที่ไปคุยกับเขา เราก็รู้สึกแปลกๆ อยู่อย่างคือเขาไม่ค่อยให้คำแนะนำอะไรที่ละเอียดเลย เราก็คิดว่าเราควรจะถามใครอื่นดีที่เป็นผู้รู้ ก็พอดีมีเพื่อนที่เรียนนิติศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ เป็นเพื่อนสมัยอยู่ที่จันทบุรีด้วยกัน เพื่อนก็บอกให้มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะเพื่อนก็ไม่ได้รู้รายละเอียดเรื่องพวกนี้มากเท่าไรเลยอยากให้มาคุยกับคนที่รู้ดีกว่า พอมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ ของมูลนิธิฯ ก็เลยได้มาคุย ได้เอารูปที่เคยโฆษณามาให้ดูว่าตรงนี้มันเป็นระเบียงจริงหรือเปล่า เพราะถ้าดูจากในรูปมันอาจจะเป็นระเบียงหรือกันสาดก็ได้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ แนะนำว่า ถ้าอยากทราบว่าเป็นอะไรกันแน่ให้ไปขอคัดพิมพ์เขียวที่เขตโยธาฯ เราก็ไป ซึ่งตอนแรกเจ้าหน้าที่เขาก็ไม่ให้ เขาบอกว่าอยู่ๆ จะมาขอคัดไม่ได้ต้องมีจดหมายคำร้องจากศาลมาขอ เพราะเขากลัวเราจะไปก็อปปี้แล้วสร้างโครงการอื่น กลัวเราจะเป็นหน้าม้าเอาพิมพ์เขียวเขาไปใช้ต่อ ก็ต้องอธิบายให้เขาฟังว่าเราเป็นผู้บริโภคจริงๆ มีเรื่องแบบนี้ๆ แล้วไม่ได้จะเอาพิมพ์เขียวไปทำอะไร แค่อยากได้เงินดาวน์คืนแค่นั้น เขาเลยยอมแต่ให้เราเขียนเป็นคำร้องไว้แล้วให้ไปรับวันหลัง เขาจะหาให้ พอถึงวันที่ไปรับพี่เจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่า เขาโทรไปแจ้งกับทางโครงการคอนโดแล้วนะว่า ทำไมทำแบบนี้ คือ ในพิมพ์เขียวเขียนว่า เป็นระเบียงแล้วทำไมให้ออกไปข้างนอกไม่ได้ ทำแบบนี้มันเสียชื่อเสียงหมดอะไรประมาณนี้ แล้วก็ให้พิมพ์เขียวเรามา พอได้มาแล้วก็รู้ว่ามันเป็นระเบียงจริงๆ แต่เราก็ดูไม่เป็น เลยไปให้พี่ที่โยธาฯ ที่ห้วยขวางช่วยดูให้ เขาก็บอกว่า เอาจริงๆ เขาก็ไม่อยากจะว่าคนอาชีพเดียวกัน แต่ว่าคนที่เป็นคนอนุมัติพิมพ์เขียวนี้ดูไม่ละเอียดเพราะถ้าเขียนว่า เป็นระเบียงมันจะต้องออกไปใช้พื้นที่ตรงระเบียงได้ แต่กลายเป็นเขียนว่าระเบียงแต่ตรงนั้นเป็นหน้าต่าง คือมันขัดแย้งกันในตัว เขาบอกว่าคนอนุมัติดูไม่ละเอียด ตรงนั้นถ้าไม่เป็นระเบียงต้องเขียนเป็นกันสาดหรือไม่ก็ต้องทำเป็นประตูให้ออกไปได้ เพราะระเบียงจะต้องเป็นพื้นที่ที่เราออกไปใช้สอยได้ เขาพูดไว้แบบนี้เลยและพี่เขาก็โทรไปที่โครงการฯ เหมือนกัน แต่ทางโครงการฯ แจ้งว่าพื้นที่ตรงระเบียงเขาไม่ได้คิดเงินนะ พอดีเราเอาโฉนดติดไปด้วย เพราะก่อนหน้านี้ให้น้องที่เป็นเซลส์แฟกซ์โฉนดมาให้ก่อนแล้ว เพราะเราอยากรู้เหมือนกันว่า ตรงนี้คิดเงินเราไหม ปรากฏว่าก็คิด เลยเอาโฉนดมายืนยันกับพี่ที่เป็นโยธา  พี่เขาก็บอกว่าให้เราไปฟ้อง สคบ. เลย แต่เรื่องยังไม่ถึง สคบ. เพราะว่ามาที่มูลนิธิฯ ก่อน แล้วพอดีกับมีจดหมายจากบริษัทฯ ส่งมาแจ้งให้ไปโอนห้องวันที่ 31 มีนาคม เราก็เลยมาปรึกษาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าจะทำอย่างไรต่อไป ทางศูนย์จึงแนะนำให้ตอบจดหมายกลับไปว่า ทางเราไม่สามารถรับโอนได้ เนื่องจากคุณไม่ได้แก้ไขเรื่องระเบียงให้เรา คือก่อนหน้านั้นพอรู้ว่ามันไม่เป็นระเบียงก็ได้เขียนจดหมายไปแล้วว่าให้แก้ไขให้ภายใน 7 วันในส่วนที่ไม่เป็นระเบียง ถ้าไม่แก้ไขเราจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไปแสดงว่าตอนแรกได้แจ้งทางโครงการไปแล้วว่าให้แก้ไขเป็นระเบียงให้ก่อน ยังไม่ได้เรียกร้องเงินคืน ใช่ คือให้แก้ไขภายใน 7 วัน ก็เขียนไปวันที่ 7 กุมภาพันธ์ แล้วประมาณต้นเดือนมีนาคม ทางบริษัทฯ ก็ส่งจดหมายมาให้เราไปโอนห้องวันที่ 31 มีนาคม เราก็เขียนไปว่า เราโอนไม่ได้เนื่องจากคุณไม่ได้แก้ไขในส่วนที่เราแจ้ง และเราก็ขอเงินคืนเนื่องจากคุณไม่ได้แก้ไข ถ้าไม่คืนเงินภายในกี่วัน เราจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมานี้ เราก็ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อแสดงตัวตามที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำ ว่าให้เราไปแสดงตัวว่าเราเป็นเจ้าของห้องและไม่ได้ผิดนัด ก็ถามน้องคนที่เป็นคนของโครงการว่า พี่มาโอนห้องมีชื่อของพี่อยู่ในคิวไหม น้องบอกว่าไม่มี ก็เลยโทรปรึกษาศูนย์ฯ ว่าจะทำอย่างไรต่อ ทางศูนย์แนะให้เราไปขอบัตรคิวแล้วไปเข้าคิวเหมือนปกติ เสร็จแล้วน้องที่ให้คิวของสำนักงานเขต ก็บอกว่าถ้าเป็นแบบนี้ให้เราแจ้งเป็นผิดนัดไปเลยได้นะ น้องเขาก็เลยทำเป็นข้อร้องเรียนตามกฎหมายว่าผิดนัด บริษัทฯ ไม่ได้มาตามสัญญา เหมือนทางคอนโดฯ นัดเราเองแต่ไม่ได้มา  มีคนของโครงการคอนโดมิเนียมแห่งนี้ มานัดรับโอนกรรมสิทธิ์กับเจ้าของห้องอื่นๆ อีกหลายคน เพียงแต่ของเราไม่ได้อยู่ในระบบของเขา เข้าใจว่า เขาคงคิดว่าเราไม่มาแน่ๆ เพราะเราส่งจดหมายไปแล้วว่าไม่โอน แต่น้องที่รับทำบัตรคิวก็ทำเป็นผิดนัดให้ไว้ ก็ดี จะได้มีหลักฐานว่าเรามาจริง ซึ่งทางสำนักงานที่ดินก็ช่วยเหลือดีมาก เพราะจริงๆ เราไม่ได้ต้องการอะไรแค่อยากได้เงินคืน เพราะค่างวดที่จ่ายไปมันเป็นเงินเก็บจากเงินเดือนเรา เราก็ไม่ใช่คนรวยอะไร เป็นเงินจากน้ำพักน้ำแรง ก็อยากได้คืนแค่นั้น ซึ่งเราซื้อไว้ 2 ห้อง พอช่วงเดือนเมษายน ทางบริษัทฯ ก็ทำจดหมายมาให้โอนอีกห้องวันที่ 20 เมษายน เราก็ไปอีกก็เหมือนเดิมเลย คือไม่มีชื่อของเราอยู่ในคิว เราก็ทำเหมือนเดิม คือให้เจ้าหน้าที่ทำหนังสือว่าทางบริษัทฯ ผิดนัด ขณะที่รอทางที่ดินทำหนังสือผิดนัดอยู่ น้องที่เป็นพนักงานขายโครงการก็โทรมาว่า เรื่องของพี่ได้คุยกับเจ้านายแล้วและทางโครงการจะคืนเงินให้ทั้งหมด เลยถามว่าจะได้คืนภายในเมื่อไร เขาก็บอกว่าปกติระบบของเราจะจ่ายเช็คเดือนละ 2 ครั้ง คือ 15 วันจ่ายครั้งหนึ่ง ซึ่งเราก็ได้คืนเมื่อ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา เขาโอนเงินคืนเข้าบัญชีเลยทั้ง 2 ห้อง เราก็มาวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่เขายอมคืนอาจจะเป็นเพราะว่าทางโยธาฯ โทรไปต่อว่ากับทางโครงการฯ แล้วมันเป็นจุดที่เขาผิดจริงๆ เพราะว่าโครงการฯ นี้เป็นโครงการแรกที่เขาร่วมทุนกับญี่ปุ่น และเป็นโครงการแรกที่ระเบียงออกไปข้างนอกไม่ได้ ก่อนหน้านั้นก็มีระเบียงที่ออกไปได้ปกติ โดยเขาพูดทำนองว่า เขาร่วมทุนกับญี่ปุ่นและที่ญี่ปุ่นมีการฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดตึกเยอะมาก เขาเลยไม่ทำที่ให้ออกไปตรงระเบียงได้  ข้อมูลนี้ทราบมาตอนไปตรวจห้องแล้วน้องที่พาไปตรวจห้องเขาบอกไว้ ซึ่งจริงๆ เราก็มานึกๆ มันก็คนละประเทศกันไหม มันจะใช้หลักการเดียวกันแบบนี้ไม่ได้ ญี่ปุ่นเขาอาจจะไม่ค่อยมีแดด เขาก็ต้องมีเครื่องอบผ้าหรือเปล่า แต่แดดบ้านเราแรงขนาดนี้ ก็ควรเอาผ้าไปตากแดดดีกว่า พี่ยังต้องตากผ้าอยู่ลักษณะห้องทุกห้องเป็นแบบนี้เหมือนกันหมดใช่ค่ะ แปลนเดียวกันเป็นแบบนี้หมด แต่ก็ไม่แน่ใจว่าห้องอื่นเขาคิดกันอย่างไร พี่ไม่ได้คุยกับคนอื่นเลย แต่ประเด็นของพี่ พี่ว่ามาถูกทางตรงเราไปขอพิมพ์เขียวแล้วพิมพ์เขียวมันขัดแย้งกันเอง ก็เลยเป็นข้อที่ถ้าเขาต่อสู้ คนที่อนุมัติพิมพ์เขียวก็จะมีปัญหาหลังจากโอนเงินคืนมาแล้ว มีคนโทรติดต่อเข้ามาอีกไหมไม่มีเลย โอนเงินมาก็จบไม่ได้คุยอะไรกันอีกเลยอยากให้ฝากอะไรถึงคนที่กำลังจะซื้อคอนโดมีข้อควรระวังอะไรบ้างต้องถามเซลส์ให้ละเอียดว่า ห้องเป็นลักษณะอย่างไรแต่ถ้าเอาให้ชัวร์ๆ ก็คือไปดูห้องตัวอย่างก่อน รอห้องตัวอย่างเสร็จก่อน เพราะว่าตอนที่พี่ซื้อโครงการฯ นี้มันเป็นทำเลที่ดีมาก อยู่แถวถนนพระราม 9 ไปเส้นอโศก แล้วเราก็มีคอนโดฯ ที่ซื้อกับบริษัทฯ นี้มาก่อน แล้วไม่มีปัญหาอะไร คือเราก็มีความเชื่อมั่นระดับหนึ่ง แต่พอมาเจอแบบนี้ก็รู้สึกว่า ตัวเองไม่ละเอียดรอบคอบพอด้วยเหมือนกัน และสำคัญควรเก็บหลักฐานให้ดี เอกสารโบรชัวร์ ใบเสร็จต่างๆ พวกค่ามัดจำ รายละเอียดสัญญาจะซื้อจะขายก็เก็บไว้ทั้งหมดนะ เพราะว่าเวลามีปัญหาเรามีข้อมูลครบหมด ว่าเราซื้อเมื่อไร อย่างไร คือข้อมูลต้องพร้อม บทเรียนที่ได้จากการพยายามใช้สิทธิร้องเรียน เมื่อคิดจะหาที่ปรึกษา ตอนที่ยังไม่ได้เงินคืน พี่ก็โทรไปที่ สคบ. แล้วนะ แต่มันเป็นระบบฝากข้อความอัตโนมัติ พี่โทรไปก่อนหน้านี้ประมาณ 2 เดือนแล้ว ระบบอัตโนมัติก็ให้บอกชื่อ เบอร์โทร และเรื่องที่จะร้องเรียน โทรไป 2 ครั้ง เป็นฝากข้อความอัตโนมัติทั้ง 2 ครั้ง มันเหมือนช่วงนั้นเราไม่รู้จะทำอย่างไร ก็แค่อยากได้เงินคืน ระหว่างรอก็ลองโทรไปดูก็เจอแต่ระบบอัตโนมัติจึงทิ้งชื่อ เบอร์โทรไว้จนป่านนี้ยังไม่มีคนโทรกลับมาเลย โดยปกติคนเราก็จะนึกถึง สคบ. แต่พี่รู้สึกว่า สคบ. อาจจะดูแลไม่ทั่วถึงเพราะคนร้องเรียนเยอะ ทำให้มันล่าช้าและเราก็ไม่รู้ว่าพนักงานตรงนั้นอาจจะงานโหลด ทำให้มูลนิธิฯ เป็นทางเลือกที่ดีและช่วยเหลือพี่อย่างดี แต่เท่าที่คุยกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ คนที่มาร้องเรียนบางคนอาจจะคาดหวังให้มูลนิธิฯ ทำให้ทุกอย่าง ซึ่งมันก็คงไม่ได้เพราะคนก็มาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ เยอะเหมือนกัน อย่างของพี่เวลาทำจดหมายก็ส่งให้ทางศูนย์ช่วยดูว่า การใช้คำตรงไหนต้องแก้ไขอะไรบ้าง ซึ่งทางศูนย์ฯ ก็ช่วยดูให้ตลอด แต่เป็นเรื่องของเรื่องตัวผู้บริโภคเองที่จะต้องลงมือปฏิบัติเอง ว่าร้องเรียนแล้วต้องทำตามคำแนะนำว่าควรไปที่ไหน อย่างไร ไม่ใช่ว่าโยนให้คนอื่นช่วยทำ แบบนั้นมันก็ไม่ใช่ เราเองต้องทำให้ถึงที่สุดก่อน ต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน อย่างตอนที่ดูพิมพ์เขียวก็พยายามหาข้อมูลว่าเขียนว่า AW นี่หมายถึงอะไร ก็ได้ความรู้มาว่าถ้าเป็นประตูมันต้องเขียนว่า AD คือ Door แต่ในพิมพ์เขียวเขียนว่า AW น่าจะหมายถึงหน้าต่างก็คือ พยายามหาข้อมูลให้พร้อมที่สุดเพื่อมาสนับสนุนคำร้องของเราให้ได้เยอะที่สุด พอมาถูกทางแล้วเรื่องมันก็ไว อย่างพี่ตอนแรกก็คิดว่าเงินคงไม่ได้คืน ถ้าได้คงต้องรอเป็นปีแน่ๆ แต่กรณีของพี่ประมาณ 5 เดือนก็ได้เงินคืนแล้วซึ่งพี่ดีใจมากๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 ถูกทวงหนี้ผิดกฎหมาย

แม้ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้การทวงหนี้มีความเป็นธรรมต่อลูกหนี้มากขึ้น โดยมีการกำหนดข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติต่างๆ แต่เราก็ยังพบว่าการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรมยังคงมีอยู่ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณยุพาเป็นหนี้บัตรเครดิต อิออน เนื่องจากการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ โดยมียอดค้างชำระจำนวน 5,000 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำเรื่องตกลงกับทางบริษัทว่าจะแบ่งผ่อนชำระ 2 งวด อย่างไรก็ตามภายหลังเธอไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามวันและเวลาที่ตกลงกันไว้ได้ จึงโทรศัพท์ไปยังบริษัทเพื่อขอยืดระยะเวลาการชำระหนี้ ซึ่งทางบริษัทรับทราบและขยายเวลาให้เรียบร้อย แต่ไม่นานพนักงานของบริษัทก็มาทวงหนี้ถึงสถานที่ทำงาน ในขณะที่เธอกำลังทำงาน รวมทั้งโทรศัพท์เข้ามาทวงหนี้ในเวลางานอีกด้วย ทำให้เธอรู้สึกอับอายและส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำปรึกษาว่าการทวงหนี้ด้วยวิธีดังกล่าว ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์ทวงหนี้ที่เกิดขึ้น อาจเข้าข่ายว่าไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของ พระราชบัญญัติการทวงหนี้ พ.ศ.2558 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา โดยผู้ร้องสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดได้ ทั้งนี้ตาม พรบ. ดังกล่าวได้มีการกำหนดข้อห้ามหรือข้อควรปฏิบัติสำหรับเจ้าหนี้ไว้ ดังนี้1.ข้อห้ามปฏิบัติของผู้ทวงหนี้- ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายหรือทรัพย์สิน ผู้ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ- พูดจาไม่สุภาพ ดูหมิ่น ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท- เปิดเผยความเป็นลูกหนี้ของลูกหนี้ให้คนอื่นได้รู้ ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท - ห้ามระบุข้อความ เครื่องหมาย หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท2. ห้ามทวงหนี้แบบหลอกให้เข้าใจผิด- ส่งเอกสารทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของศาล เช่น ส่งเอกสารที่มีตราครุฑมาให้ลูกหนี้ ผู้ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท- ทำให้เชื่อว่ามีการส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถาม (Notice) จากทนายความ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท- ใช้เอกสารที่ทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าจะถูกดำเนินคดี หรือถูกยึดทรัพย์ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ- แอบอ้างว่าเป็นการทวงถามหนี้จากบริษัทข้อมูลเครดิตใดๆ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ3. การทวงถามหนี้ไม่เป็นธรรม ห้ามปฏิบัติดังนี้- เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ในอัตราเกินกว่าที่กำหนด- เสนอให้ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ทั้งๆ ที่รู้ว่าลูกหนี้ไม่มีเงินชำระหนี้ตามเช็ค ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท 4. คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการทวงนี้ของผู้ทวงถามหนี้ โดยหากลูกหนี้หรือคนอื่นๆ ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่เป็นไปตามกฎหมายจากผู้ทวงถามหนี้ สามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด5. ให้ที่ทำการปกครอง หรือกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีอำนาจรับเรื่องร้องเรียนการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ติดตามพฤติกรรมของผู้ทวงถามหนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนมีนาคม 2558 ฟ้องไทยพาณิชย์-ธปท. ทวงค่าปรับโดยมิชอบ-ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ อดีตอัยการอาวุโสยื่นฟ้องแพ่งผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ เหตุเรียกค่าปรับทวงถามโดยมิชอบ แถมฟ้องอาญาผู้บริหาร ธปท.ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ชี้แม้เป็นเรื่องเล็กๆ แต่ต้องการให้เป็นคดีตัวอย่างป้องกันประชาชนถูกเอาเปรียบ นายประวิทย์ สิทธิถาวร อดีตอัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ "มติชน" ว่าได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องธนาคารไทยพาณิชย์ต่อศาลแพ่ง และฟ้องผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อศาลอาญา สำหรับสาเหตุที่ยื่นฟ้องว่า สืบเนื่องจากธนาคารได้เปลี่ยนแปลงวงเงินเครดิตและการเบิกถอนเงินสดจากบัตรเครดิตโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า และยังเรียกค่าปรับหรือค่าทวงถามโดยมิชอบไม่เป็นไปตามระเบียบของธปท. จึงฟ้องต่อศาลแพ่งดำเนินคดี บริษัท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด เพื่อให้เพิกถอนประกาศค่าปรับ, ละเมิด, ผิดสัญญา เรียกค่าเสียหาย พร้อมทั้งได้เรียกค่าชดเชยเป็นเงิน 100,000 บาท ส่วนที่ฟ้อง ธปท. เพราะ ธปท.มีอำนาจหน้าที่กำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ แต่กลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะหลังโดนธนาคารไทยพาณิชย์กระทำอย่างไม่ชอบ ได้เข้าร้องเรียนต่อ ธปท.ในฐานะองค์กรกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ขอให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามประกาศ ของ ธปท. ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 กระทั่งล่วงเลยมาจนครบ 60 วัน แต่ไม่มีความคืบหน้า จึงได้ทวงถามถึงเรื่องดังกล่าวอีกครั้งต่อ ธปท. ซึ่งได้รับชี้แจงว่าได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้วและได้กำชับไปถึงสถาบันการ เงินให้ปฏิบัติต่อลูกค้าตามแนวนโยบายและประกาศที่เกี่ยวข้องส่วนการเรียกค่า ธรรมเนียมติดตามทวงถามหนี้ของธนาคารไทยพาณิชย์ธปท.จะตรวจสอบต่อไปและจะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป ซึ่งตนเห็นว่าการดำเนินการของ ธปท.ไม่ได้เป็นไปตามหน้าที่ที่ควรกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ให้ดำเนินการ ถูกต้องตามประกาศของ ธปท. เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย "ผมถูกเรียกเก็บค่าทวงถามเพียงหลักร้อยบาทเท่านั้น หลายคนอาจยอมจ่ายให้เรื่องจบเพราะเงินเล็กน้อยมาก ถ้าจะดำเนินการฟ้องร้องต้องเสียค่าดำเนินการเป็นหลักหมื่นบาท ต้องเสียเวลา แต่ที่ตัดสินใจฟ้องเพราะอยากให้เป็นคดีตัวอย่าง ไม่อยากให้ธนาคารเอาเปรียบผู้บริโภค คิดง่ายๆ ต่อรอบบัญชี หากมีลูกหนี้บัตรเครดิตถูกเรียกปรับอย่างผมสัก 10,000 คน ธนาคารจะได้รับเงินกินเปล่าถึง 2.5 ล้านบาททีเดียว ส่วนที่ฟ้องผู้บริหาร ธปท.ด้วยเพราะอยากให้ ธปท.คำนึงถึงหน้าที่กำกับดูแลธนาคารให้ดีอย่าให้มาเอาเปรียบประชาชน" นายประวิทย์กล่าว     คนไทยป่วย ไบโพลาร์ เพิ่ม ในงานเสวนาหัวข้อ ‘เปลี่ยนโรค “ทุกข์”เป็น “สุข สมหวัง”ด้วยใจเหนือคน’ นพ.จิตริน ใจดี จิตแพทย์แห่งศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงโรคไบโพลาร์ ว่า ไม่ใช่อาการโรคจิตหรือโรคจิตเภท แต่เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ สาเหตุหลักเกิดจากกรรมพันธุ์-สารเคมีในสมองไม่สมดุล ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ 1-2 % ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 700,000-1,500,000 คน ในทางจิตเวช สามารถแบ่งโรคต่างๆ ออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ได้แก่  กลุ่มที่ 1 มีความผิดปกติทางความคิดเช่น หลงผิด หวาดระแวง หูแว่ว ประสาทหลอน กลุ่มนี้จัดว่าเป็นโรคจิตเภท (Schizophre-nia) หรือที่เรียกว่า “โรคจิต” ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับไบโพลาร์ กลุ่มที่ 2 มีความผิดปกติทางอารมณ์ จะมี 2 โรค คือซึมเศร้า กับไบโพลาร์ กลุ่มที่ 3 โรคเกี่ยวกับความวิตกกังวล เช่น ตื่นตระหนก (โรคแพนิก,Panic) กลัวที่สูง กลัวที่แคบ ย้ำคิด ย้ำทำ กลุ่มที่ 4 โรคที่เกิดจากสารเสพติด ส่วนสาเหตุของโรค นพ.จิตริน กล่าวว่า ในปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยที่ระบุชัดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สาเหตุหลักๆ มี 2 ปัจจัยคือ 1.กรรมพันธุ์ หากพบว่าพ่อแม่ รวมถึงปู่ย่าตายายเป็นโรคนี้ ลูกหลานก็มีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย และ 2.สารเคมีในสมองไม่สมดุล คือสิ่งที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือ สมองของคนที่เป็นไบโพลาร์จะโปรแกรมไว้ตั้งแต่ต้นหรือตั้งแต่เกิด โดยปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ 1-2 % ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 700,000-1,500,000 คน ขณะที่ 5% ของประชากรทั่วโลกกำลังป่วยเป็นโรคดังกล่าว   เราอ่านและซื้อหนังสือกันน้อยลงทุกปี ระยะเวลาของคนไทย(ที่มีอายุ 15 -69 ปี) ใช้เวลาในการอ่านหนังสือเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 28 นาที  ลดลงจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2556 ที่พบผู้อ่านหนังสือเฉลี่ย 37 นาทีต่อวัน เหตุเวลาว่างของคนไทย ถูกใช้ไปกับอินเตอร์เน็ตมากกว่าการอ่านหนังสือมาก สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่าย หนังสือฯ จับมือคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยผลสำรวจพฤติกรรมการอ่าน และซื้อหนังสือของคนไทย(ที่มีอายุ 15 -69 ปี) พบมีกลุ่มที่อ่านหนังสือเป็นประจำเพียง 40%  ที่เหลือ 20% อ่านบ้าง อีก 39.7% ไม่อ่านหนังสือเลย วัยรุ่นหรือคนอายุต่ำกว่า 20 ปี  ใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตมากที่สุดเกือบ 4 ชั่วโมง    โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 2 ใน 5 ยอมรับการใช้อินเตอร์เน็ตมีผลให้อ่านหนังสือเล่มน้อยลง ระบุอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษน้อยเพราะส่วนใหญ่หันไปอ่านเว็บข่าวและเว็บรวบรวมข่าวแทน สำหรับการซื้อหนังสือ ดร.มิ่งมานัส ศิวรักษ์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ กล่าวว่า คนไทยจะซื้อหนังสือเฉลี่ยปีละ 4 เล่ม โดยคนกลุ่มที่ซื้อหนังสือมากที่สุด คือคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ซื้อเฉลี่ยปีละ 9 เล่ม รองลงมาคือ คนที่อายุ 21-30 ปี ซื้อเฉลี่ยปีละ6 เล่ม และค่อยๆลดจำนวนลงในคนที่มีอายุมากขึ้น  จนกระทั่งคนที่มีอายุมากกว่า 61 ปี ขึ้นไปจะกลับมาซื้อเพิ่มเป็นเฉลี่ย 4 เล่มต่อปี “หากหนังสือที่เกิดการซื้อได้รับการอ่านครบทุกเล่มก็ยังถือได้ว่า การอ่านของคนไทยเมื่อนับเป็นจำนวนเล่มอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และเป็นที่น่าสนใจว่าเด็กไทยอ่านหนังสือปีละ 9 เล่มนั้น จำนวน 4 เล่มเป็นการ์ตูน นิยายภาพ และอีก 3 เล่มเป็นคู่มือเตรียมสอบ”   โปรดเกล้าฯ แล้ว พ.ร.บ.ทวงหนี้ ฉบับใหม่ "ใช้ความรุนแรง- ข่มขู่- กระทำการให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายชื่อเสียงทรัพย์สิน ลูกหนี้หรือผู้อื่น" แอบอ้างคำสั่ง "ศาล" โทษหนัก จำคุกไม่เกิน5 ปี ปรับห้าแสน เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวประกอบธุรกิจโดนด้วย ในการทวงถามหนี้ กฎหมายระบุว่า บุคคลใดจะประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงบุคคลซึ่งจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถาม หนี้ตามวรรคหนึ่งแล้ว ต้องประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ มีดังต่อไปนี้ (1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น (2) การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น (3) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ (4) การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ซึ่งเจ้า หนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (5) การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้ เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบ ธุรกิจทวงถามหนี้ (6) การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดความใน (5) มิให้นำมาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อ ศาล และในกฎหมายยังห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังต่อไปนี้ (1) การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ (2) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความสำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย (3) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน (4) การติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต หรือกระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม คือ (1) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (2) การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทั้งนี้ ระวางโทษ จำคุกสูงถึงห้าปี หรือ ปรับสูงสุดห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2557 ใช้ “พ.ร.บ.ทวงหนี้” จัดการเจ้าหนี้โหด คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน นักกฎหมาย ตัวแทนลูกหนี้  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล  ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ...” เพื่อเสนอความเห็นและข้อเสนอต่อ คณะกรรมาธิการฯ ให้พิจารณาแก้ไขบทบัญญัติในกฎหมายเพื่อให้เกิดการคุ้มครองลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบให้ได้รับความเป็นธรรมจากการทวงถามหนี้  พร้อมเสนอให้เพิ่มเติมมาตรการเยียวยาความเสียหายแก่ลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากการทวงหนี้  และขอให้เร่งการออกกฎหมายฉบับนี้โดยเร็วเพื่อเป็นมาตรการคุ้มครองลูกหนี้และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ปัจจุบันปัญหาเรื่องการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม กลายเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งในสังคม โดยวิธีการที่เจ้าหนี้ใช้มีทั้ง การข่มขู่ การใช้วาจาหยาบคาย ยึดทรัพย์โดยพลการ หรือการทำร้ายร่างกาย ซึ่งผลจากการคุกคามของเจ้าหนี้ทำให้ลูกหนี้ต้องกู้เงินนอกระบบมาชำระหนี้ในระบบเพิ่มอีก บ้างก็ตัดสินใจออกจากงานเพราะทนแรงกดดันไม่ไหว, ครอบครัวมีปัญหา รวมไปถึงการฆ่าตัวตายดังที่เป็นข่าว ซึ่งการมายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา พ.ร.บ.ฯ ครั้งนี้ เพื่อต้องการให้มีการเร่งรัดการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้โดยเร็วที่สุด พร้อมกับมีข้อเสนอเพิ่มเติม ทั้งการควบคุมให้สถาบันการเงินที่ปล่อยบัตรสินเชื่อเงินสดหรือสินเชื่อให้กับลูกหนี้ ห้ามยึดเงินเดือนจากบัญชีธนาคารของลูกหนี้เนื่องจากขัดต่อกฎหมาย การยึดเงินเดือนของลูกหนี้ตามกฎหมายต้องฟ้องศาลก่อน เมื่อศาลมีคำสั่งจึงเข้าสู่กระบวนการอายัดเงินเดือนได้สูงสุด 30% ของเงินเดือนเท่านั้น หรือการคิดดอกเบี้ยเกินที่กฎหมายระบุ ซึ่งนายมนตรีรับปากว่า จะผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้ประกาศใช้ได้ก่อนสิ้นปี 2557 นี้   เครือข่ายผู้บริโภคขอ “พ.ร.บ. ยา” ที่เป็นธรรมกับประชาชน แนะตัดภาคธุรกิจออกจากคณะกรรมการฯ ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา  และตัวแทนคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนร่วมกับภาคประชาสังคม 15 องค์กร เข้าพบเลขาธิการอย. เพื่อยื่นหนังสือโดยขอให้นำความเห็นและข้อเสนอแนะที่มีต่อร่าง “พระราชบัญญัติยา พ.ศ.....” ฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.)  เพื่อให้แก้ไขและบรรจุในพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดตามมติดังนี้ 1. สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ...... ฉบับประชาชน  เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนาระบบยาของประเทศ 2. เสนอให้ตัดผู้แทนจากภาคธุรกิจออกจากคณะกรรมการยาทั้ง 4 ชุด เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่สมควรเข้ามากำกับดูแลนโยบาย 3. เสนอให้คงไว้และห้ามตัดออกสาระที่ดีมากใน พ.ร.บ. ยาฉบับกฤษฎีกา คือ ข้อมูลการขึ้นทะเบียนยา โดยเฉพาะ โครงสร้างราคายาและข้อมูลสิทธิบัตร เพราะมีส่วนในการกำหนดราคายาที่เหมาะสมและเป็นการเข้าถึงยาของประชาชนเมื่อยานั้นหมดสิทธิบัตรลง 4. เสนอให้เพิ่มหมวดการควบคุมราคายา เพื่อป้องกันการกำหนดราคายาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยให้นำสาระจากร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับประชาชน 5. การจัดการกับการโฆษณาและการส่งเสริมการขายยาจะต้องเข้มงวดมากขึ้น โดยยกระเบียบต่างๆ ขึ้นมาอยู่ในระดับกฎหมาย 6. ต้องไม่ขยายคำจำกัดความของ “ยาปลอม” ไปครอบคลุมเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นกลวิธีของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติที่ต้องการขัดขวางการเข้าถึงยาของประชาชนและทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญ   สปสช., สคบ., มพบ. จับมือทำงาน “ผู้บริโภค มาด้วยใจ ก้าวไกลด้วยกัน” เมื่อวันที่ 24-25 กันยายน 2557 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค “Consumer Convergence: ผู้บริโภค มาด้วยใจ ก้าวไกลด้วยกัน” ซึ่งการเสวนาและระดมความคิดเพื่อยกระดับการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย สร้างความร่วมมือกันในการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจทั้งการเสวนาวิชาการเกี่ยวกับผู้บริโภค การแลกเปลี่ยนเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศจากประสบการณ์ของคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคจากเวียดนามและอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการร้องเรียนปัญหา แนวทางการพัฒนาให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง การนำเสนองานวิจัยที่เกียวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย มีการจัดการประชุมกลุ่มย่อยในหัวข้อ “What’s next? ความร่วมมือในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัดและระดับประเทศในอนาคต” เพื่อช่วยกันระดมความคิดในการพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของการมีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนภาคประชาชน เรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการมีส่วนร่วมในการคุมครองผู้บริโภค และเรื่องของนวัตกรรมด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ภายในงานยังมีการมอบรางวัลศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการดีเด่นระดับประเทศปี 2556 โดยผู้ได้รับรางวัลประเภทโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปอันดับที่ 1 ได้แก่ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด อันดับที่ 2  โรงพยาบาลนครพนม จังหวัดนครพนม และอันดับที่ 3  โรงพยาบาลพะเยา จังหวัดพะเยา ส่วนรางวัลชมเชยได้แก่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ในส่วนของประเภทโรงพยาบาลชุมชน อันดับที่ 1 ได้แก่ โรงพยาบาลกันตัง จังหวัดตรัง อันดับที่ 2 โรงพยาบาลสนม จังหวัดสุรินทร์ และอันดับที่ 3 โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนรางวัลชมเชยได้แก่โรงพยาบาลมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น และโรงพยาบาลบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการดีเด่นระดับเขต ประจำปี 2556 ประเภทโรงพยาบาลชุมชนได้แก่ โรงพยาบาลบ้านค่าย จังหวัดระยอง และโรงพยาบาลเรณูนคร จังหวัดนครพนม   ยกเลิกสัญญาอินเตอร์เน็ตไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ปัญหาเรื่องการถูกเรียกเก็บเงินจากการขอยกเลิกบริการอินเตอร์เน็ตภายในบ้าน เป็นปัญหาที่มีการร้องเรียนมายัง กสทช. เป็นจำนวนมาก จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าถูกผู้ประกอบการโทรคมนาคมคิดค่าปรับ ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใด เมื่อผู้ใช้บริการต้องการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด โดยมีจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด  757 กรณี ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตมักอ้างเหตุผลว่า ฟรีค่าติดตั้งและค่าธรรมเนียมแรกเข้า แต่หากผู้ใช้บริการบอกเลิกการใช้บริการก่อนกำหนดจะต้องจ่ายค่าบริการที่เป็นโปรโมชั่นดังกล่าว เหมือนเป็นการผู้มัดผู้ใช้บริการว่าต้องใช้สินค้าของตนแม้จะใช้แล้วรู้สึกไม่พอใจในสินค้าแต่ก็ห้ามยกเลิก หากยกเลิกต้องเสียเงิน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อ 15 ของประกาศ กทช. เรื่อง “มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549” ซึ่งห้ามบริษัทผู้ให้บริการคิดค่าปรับ หรือค่าเสียหายจากการที่ผู้ใช้บริการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ผู้บริโภคจึงมีสิทธิยกเลิกสัญญาใช้บริการอินเตอร์เน็ตกับผู้ให้บริการได้ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ หากผู้บริโภคพบเจอปัญหาดังกล่าวสามารถร้องเรียนไปได้ที่ สายด่วน กสทช. 1200   นักวิชาการชี้ “ยาอมแก้เจ็บคอ” ไม่ช่วยรักษาอาการ นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยาอมแก้เจ็บคอที่วางขายในท้องตลาดเป็นจำนวนมากนั้น พบว่า มีการผสมยาปฏิชีวนะ 2 ประเภท คือ นีโอมัยซิน (Neomycin) และเบซิทราซิน (Bacitracin) ในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อการฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำคอให้ตาย แต่กลับเข้าไปรบกวนแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดการต่อต้านและกลายพันธุ์เป็นเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ซึ่งเป็นปัญหาทั่วโลก ส่วนที่กินแล้วรู้สึกอาการเจ็บคอดีขึ้น เป็นเพราะมียาชา จึงอยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งทบทวน และยกเลิกตำรับยาประเภทนี้ เพราะถือเป็นการใช้ยาที่ไม่จำเป็น การเจ็บคอเนื่องจากหวัดนั้นกว่า 70-90% ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นยาปฏิชีวนะสูตรเดี่ยว หรือยาที่มียาปฏิชีวนะเป็นส่วนผสมมาใช้ในการรักษา เพราะสามารถรักษาให้หายได้ด้วยตัวเอง เช่น 1. ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง 2. ยาอมสมุนไพรฟ้าทลายโจร 3. อมน้ำเกลือกลั้วคอ 4. พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสร้างเสริมภูมิต้านทานของร่างกาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 10 ข้อควรรู้ เอาไว้สู้กับพวกทวงหนี้โหด (ตอนที่ 2)

ฉลาดซื้อ ฉบับที่แล้ว ผมได้แนะนำสาระสำคัญของ พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันไปแล้วว่ากฎหมายนี้ จะช่วยคุ้มครองสิทธิของคุณในฐานะลูกหนี้ได้อย่างไรบ้าง ผ่านไปแล้ว 4 ข้อ ซึ่งฉบับนี้เราจะมาพูดถึงข้อดีอื่น ๆ ต่อไป ให้ครบ 10 ประการ   5. ห้ามทวงหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก แฟกซ์ หรือวิธีการอื่นใดที่สื่อให้เห็นว่าเป็นการทวงหนี้อย่างชัดเจน  แม้แต่ซองจดหมายที่ใช้ในการติดต่อกับลูกหนี้  กฎหมายก็ห้ามใช้ข้อความ สัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายใด ๆ      ที่สื่อไปในทางทวงหนี้ เพราะก่อนหน้านี้เอกสารทวงหนี้มัก        จะตีตรา “ชำระหนี้ด่วน”    ตัวแดงเด่นชัดเห็นมาแต่ไกล ราวกับจะประกาศให้คนทั้งหมู่บ้านรู้ว่าคุณเป็นหนี้ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างคุณกับเจ้าหนี้ การพยายามเปิดเผยเรื่องหนี้กับบุคคลภายนอกจึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย 6. ห้ามทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ หรือบุคคลที่ลูกหนี้แจ้งชื่อเอาไว้ ถ้าเกิดไม่เจอตัวลูกหนี้ ทำได้อย่างมากก็แค่ถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ลูกหนี้เท่านั้น จะไปฝากเรื่องทวงหนี้เอาไว้กับเพื่อนร่วมงาน หรือคนข้างบ้านหวังจะประจานให้ลูกหนี้ได้อายอย่างเมื่อก่อนนี้ไม่ได้แล้ว  ข้อนี้ มีโทษหนักถึงขั้นต้องปิดบริษัท ถูกเพิกถอนใบอนุญาตการทวงหนี้กันเลยทีเดียว7. ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ของส่วนราชการทุกแห่งประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ คนในเครื่องแบบ คนมีสี ไม่ว่าจะสีเขียว หรือสีกากี ต่อไปห้ามรับ job ทวงหนี้เด็ดขาด ถูกร้องเรียนขึ้นมามีโทษทั้งจำทั้งปรับ และอาจจะต้องออกจากราชการหมดอนาคตไปด้วย 8. การติดต่อลูกหนี้ถ้าเป็นวันธรรมดาให้ติดต่อได้ในช่วง 08.00-20.00 น. ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ให้ติดต่อเวลา08.00-18.00 น. แต่การเจรจาพูดคุยกับลูกหนี้ก็ต้องดูให้เหมาะสม ไม่ใช่โทรมาทุกสิบนาทีตลอดทั้งวัน แบบนั้นก็ไม่ใช่ละส่วนสถานที่ติดต่อต้องเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ แต่ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงานก็ตาม พนักงานทวงหนี้ห้ามเข้ามาถ้าคุณไม่อนุญาต ไม่อย่างนั้น เจอข้อหาบุกรุกแน่  9. เป็นหน้าที่ของพนักงานทวงหนี้ ที่จะต้องแจ้ง ชื่อ -สกุล ชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ กรณีรับมอบอำนาจมาก็ให้แสดงหนังสือมอบอำนาจด้วย และถ้ามีการชำระหนี้ก็ต้องออกหลักฐานการรับเงินให้ลูกหนี้ด้วย และตามกฎหมายจะถือว่าเป็นการรับชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยถูกต้องแล้ว10. ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิจากการทวงหนี้ ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้ หรือคนในครอบครัว สามารถร้องเรียนพฤติกรรมโฉดของแก๊งทวงหนี้ได้ ที่สถานีตำรวจและที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง โดยเจ้าหน้าที่จะรวบรวมข้อเท็จจริงและเอกสารการร้องเรียน เสนอให้ “คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด” เป็นผู้พิจารณาจัดการกับพวกทวงหนี้โดยผิดกฎหมาย ต่อไป      ถึงตอนนี้ คุณก็ไม่ต้องกลัวพวกทวงหนี้โหดอีกแล้ว เพราะการติดหนี้นั้นเป็นคดีแพ่ง ไม่ต้องกลัวติดคุก แต่การทวงหนี้นอกกติกา ป่าเถื่อนนี่สิ เป็นคดีอาญา มีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 10 ข้อควรรู้ เอาไว้สู้กับพวกทวงหนี้โหด (ตอนที่ 1)

นับตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นมา การทวงหนี้โดยการข่มขู่ ประจาน ทำให้เสียชื่อเสียง ใช้กำลังประทุษร้ายหรือการคุกคามลูกหนี้ด้วยวิธีการสกปรกต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องต้องห้าม ผิดกฎหมาย พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เจ้าหนี้คนไหนฝ่าฝืนมีโทษหนัก ทั้งจำทั้งปรับ  ดังนั้น ใครที่กำลังถูกพวกทวงหนี้โหดคุกคาม คุณควรจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกฎหมายฉบับนี้ให้ดี เพราะมันเป็นเสมือนยันต์เกราะเพชร ที่จะคอยปกป้องคุณจากบรรดาพวกทวงหนี้ขาโหดได้เป็นอย่างดีสาระสำคัญของ พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ที่อยากให้คุณรู้ 1. พวกรับจ้างทวงหนี้ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานกฎหมาย ทนายความ หรือบริษัทรับทวงหนี้ จะต้องจดทะเบียน “การประกอบธุรกิจการทวงถามหนี้” กับทางราชการ เพื่อที่จะกำกับดูแลให้การทวงหนี้อยู่ในกรอบของกฎหมาย หากใครทวงหนี้โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับข้อมูลสำคัญ...ที่ต้องจำ เมื่อถูกทวงหนี้เจอพนักงานทวงหนี้ครั้งต่อไป อย่าลืมจดข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อ – นามสกุล, ชื่อบริษัทต้นสังกัด, เลขที่ใบอนุญาตประกอบกิจการทวงถามหนี้, หนังสือมอบอำนาจจากเจ้าหนี้,    ที่อยู่ - เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ เพราะหากมีการพูดจาข่มขู่ คุกคาม คุณจะได้มีหลักฐานไว้เล่นงานพวกทวงหนี้นอกรีตเหล่านี้ 2. ห้ามทวงหนี้ในลักษณะที่เป็นการข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย ทำให้เสียชื่อเสียง หรือทำลายทรัพย์สินของลูกหนี้รวมทั้งคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้ด้วย ถ้าฝ่าฝืนมีโทษร้ายแรงมาก คือ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ...งานนี้นักเลงทวงหนี้ มีสิทธิติดคุกยาว 3. ห้ามทวงหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จหรือทำให้ลูกหนี้เกิดความเข้าใจผิด เช่น จดหมายทวงหนี้ที่ใช้ข้อความว่า อนุมัติฟ้องดำเนินคดี เตรียมรับหมายศาล เตรียมยึดทรัพย์ ถ้าไม่ใช้หนี้จะติด Black List เครดิตบูโร เพื่อจะขู่ให้ลูกหนี้กลัว และที่สำคัญห้ามแอบอ้างให้ลูกหนี้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นการกระทำของศาล หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ โดยใช้เครื่องหมาย ตราสัญลักษณ์ หรือแต่งกายเลียนแบบ ข้อนี้มีโทษหนักมาก จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ4. ห้ามทวงหนี้โดยใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น ข้อนี้น่าจะช่วยกำจัดพวกทวงหนี้ปากปลาร้าไปได้เยอะเลย เพราะถ้าคุมหมาในปากไม่อยู่ อาจจะต้องถูกปรับหนึ่งแสนบาท หรือต้องไปกินข้าวแดงในคุกฟรี นะจ๊ะอีก 6 ข้อควรรู้ที่เหลือ ติดตามต่อได้ในฉลาดซื้อ ฉบับหน้านะครับ ส่วนใครที่ร้อนใจ เพราะตอนนี้ปัญหาหนี้สินรุมเร้าเหลือเกิน ก็สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ facebook : รู้สู้หนี้ หรือ www. rusunee.blogspot.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 นับถอยหลัง 180 วัน พรบ.ทวงหนี้

จากปัญหาการร้องเรียนพฤติกรรมของเจ้าหนี้และคนที่ติดตามหนี้มีมากมาย  เช่น การข่มขู่  การประจาน  ทวงหนี้ไม่เป็นเวลา  ทวงหนี้กับญาติพี่น้อง  ฯลฯ  สร้างแรงกดดันให้ลูกหนี้  ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล ก็ยังไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการติดตามทวงถามหนี้ ได้    หลังจาก  คสช.ได้หยิบร่าง พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. ..   มาปัดฝุ่นใหม่  ส่งให้สภานิติบัญญัติไปแก้ไขร่างให้ครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบเมื่อเดือนสิงหาคม 57     หลังจากที่รอคอยกันมาหลายปี   คงต้องนับถอยหลังจากวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558   ไปอีก 180  วัน“พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558” จะมีผลบังคับใช้ควบคุมพฤติกรรมของเจ้าหนี้และคนติดตามทวงหนี้ ลูกหนี้ที่รอคอยกฎหมายฉบับนี้คงได้เฮ กันอย่างถ้วนหน้า  ที่จะเห็นคนติดตามทวงหนี้มีมารยาทดีขึ้น  วันนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  เนื้อหาเป็นอย่างไร คงต้องมาดูกัน ว่าฝันของลูกหนีจะเป็นจริงหรือไม่เนื้อหาสาระสำคัญ ของ พ.ร.บ. ทวงถามหนี้  พ.ศ. 25581. ขอบเขตการใช้บังคับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อ ทั้งนี้ ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้รวมถึง ผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ดังกล่าว ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ และ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้สินเชื่อในการทวงหนี้2. กำหนดให้มีการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย  หากเป็นทนายความให้ดำเนินการจดทะเบียนได้ที่สภาทนายความ 3. การติดตามทวงถามหนี้ ห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้เพื่อการทวงถามหนี้เว้นแต่บุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้ การติดต่อกับบุคคลอื่น ให้กระทำได้เพื่อสอบถามหรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้เท่านั้น โดยผู้ทวงถามหนี้ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้(1) แจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาว่าต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้(2) ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลอื่นนั้นเป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อ ให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็นและตามความเหมาะสม(3) ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ในหนังสือ หรือในสื่ออื่นใดที่ใช้ในการติดต่อสอบถาม ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ของลูกหนี้(4) ห้ามติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิดเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ การทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้ปฏิบัติดังต่อไปนี้(1) สถานที่ติดต่อ ในกรณีที่ติดต่อโดยบุคคลหรือทางไปรษณีย์ ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ได้แจ้งให้เป็นสถานที่ติดต่อ ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้าหรือสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ไม่สามารถติดต่อได้ โดยผู้ทวงถามหนี้ได้พยายามติดต่อตามสมควรแล้ว ให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของบุคคลดังกล่าว หรือสถานที่อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(2) เวลาในการติดต่อ การติดต่อโดยบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเภทอื่น ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ให้ติดต่อได้ตั้งแต่เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 20.00 นาฬิกาและในวันหยุดราชการ เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 18.00 นาฬิกา หากไม่สามารถติดต่อตามเวลาดังกล่าวได้หรือช่วงเวลาดังกล่าวไม่เหมาะสม ให้ติดต่อได้ในช่วงเวลาอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(3) จำนวนครั้งที่ติดต่อ ในช่วงเวลาตาม (2) ให้ติดต่อตามจำนวนครั้งที่เหมาะสมและคณะกรรมการอาจประกาศกำหนดจำนวนครั้งด้วยก็ได้(4) ในกรณีที่เป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้แจ้งให้ทราบถึงชื่อตัวและชื่อสกุล หรือชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ และจำนวนหนี้ และถ้าผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวทวงถามหนี้ต่อหน้า ให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้ด้วย ในกรณีที่ผู้ทวงถามหนี้ขอรับชำระหนี้ ผู้ทวงถามหนี้ต้องแสดงหลักฐาน การรับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ด้วยและเมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้แล้ว ให้ผู้ทวงถามหนี้ออกหลักฐานการชำระหนี้แก่ลูกหนี้ด้วยหากลูกหนี้ได้ชำระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้โดยสุจริต ให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยชอบ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ทวงถามหนี้จะได้รับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากเจ้าหนี้หรือไม่ก็ตาม ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้(1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น(2) การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น(3) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 8 วรรคสอง (2)(4) การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใด ที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(5) การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้(6) การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดความใน (5) มิให้นำมาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังต่อไปนี้(1) การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ(2) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความสำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย(3) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน(4) การติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิตมาตรา 13 ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมดังต่อไปนี้(1) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(2) การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการดังต่อไปนี้(1) ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้(2) ทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน เว้นแต่ในกรณีที่เป็นหนี้ของสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตน หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย 4. การกำกับดูแลและตรวจสอบ คณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้” ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการคนที่สองปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนายกสภาทนายความ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งจำนวนไม่เกินห้าคนเป็นกรรมการ ให้อธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการของกรมการปกครองสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งต้องมีความรูความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในด้านการเงินการธนาคาร ด้านกฎหมายหรือด้านการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ให้แต่งตั้งจากผู้แทนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปีและอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่ห้ามอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ (1) ออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ (2) ออกข้อบังคับกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนของคณะกรรมการตามมาตรา 27 และกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว (3) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งให้ชำระค่าปรับทางปกครองและคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามมาตรา 38 (4) กำหนดหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบและระยะเวลาการชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบ (5) เสนอแนะหรือให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ (6) เสนอแนะคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการในการคุ้มครองหรือช่วยเหลือลูกหนี้ในด้านอื่น (7) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย ให้มีคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบดังต่อไปนี้ (1) พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนตามพระราชบัญญัตินี้ (2) สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการ (4) รายงานการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการทุกสามเดือน (5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ให้ที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจ ให้ที่ทำการปกครองจังหวัดและกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีอำนาจในเขตพื้นที่รับผิดชอบดังต่อไปนี้ (1) เป็นสำนักงานทะเบียนรับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (2) รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี (3) ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ทวงถามหนี้หรือกำกับดูแลการปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (4) ประสานกับหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบผู้ทวงถามหนี้หรือบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ (5) รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และอบรมวิธีการทวงถามหนี้ที่ถูกต้องและเหมาะสม (6) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการ และคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี มอบหมาย   5. บทกำหนดโทษ 5.1 โทษทางปกครอง คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดมีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนดหากผู้ทวงถามหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คณะกรรมการฯมีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท   5.2 โทษอาญา บุคคลใดใช้วาจาดูหมิ่น  เปิดเผยหนี้  ติดต่อกับลูกหนี้ด้วยจดหมายเปิดผนึก ไปรษณียบัตร โทรสาร หรือใช้สัญลักษณ์หรือชื่อทางธุรกิจบนซองจดหมาย  ที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน    ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความ สำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมายหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน  หรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต หรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ บุคคลใดทำการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหาย แก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น  หรือ การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เจ้าหน้าที่ของรัฐประกอบธุรกิจทวงถามหนี้   ทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการ  มาให้ข้อเท็จจริง หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับ การทวงถามหนี้มาเพื่อประกอบการพิจารณา  หรือมาให้ถ้อยคำ   แสดงข้อมูลหรือส่งสมุดบัญชี  เอกสาร ดวงตราหรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สินของผู้ทวงถามหนี้     ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษอาญาตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการ หรือการกระทำการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการแทนนิติบุคคลนั้น บุคคลดังกล่าวต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกัน  กฎหมายฉบับนี้ออกมามีเจตนาเพื่อควบคุมพฤติกรรม  ของผู้ทวงถามหนี้ เท่านั้น     มิได้ครอบคลุมเรื่องการชำระหนี้    ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ไปกู้ยืมเงิน  ต้องมีหน้าที่ชำระหนี้ตามปกติ  หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้     เจ้าหนี้มิสิทธิที่จะดำเนินการฟ้องร้อง เรียกหนี้สินคืนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 “พรบ.ทวงหนี้” กฎหมายที่ลูกหนี้รอคอย

การกู้ยืมเงิน เพื่อการจัดซื้อสิ่งจำเป็นในชีวิต(บางสิ่งก็ไม่จำเป็น) เช่น ซื้อบ้าน เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ ฯลฯ   สมัยนี้เป็นไปได้ง่าย เพราะมีทั้งสถาบันการเงินและกลุ่มธุรกิจที่เสนอบริการเงินด่วน อันแสนง่ายดายให้กับผู้บริโภคเป็นจำนวนไม่น้อย ด้วยเงื่อนไขจูงใจ ทั้งจ่ายเงินคืนขั้นต่ำจากวงเงินที่ใช้จ่ายไปแล้ว ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ฐานเงินเดือนที่ไม่สูงมาก    จ่ายน้อย ผ่อนนาน ฯลฯ ทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดการใช้จ่ายเงินจาก บัตรเครดิต และบัตรสินเชื่อหมุนเวียน กันเป็นจำนวนเงินมหาศาล บางคนก็ได้รับความสะดวกสามารถจ่ายคืนได้ปกติ แต่หลายคนได้เริ่มเข้าสู่สภาวะมีหนี้สินเกินตัวกันไปแล้วปัญหาหนี้สินที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้นั้นมีมากมาย  จนก่อให้เกิดอาชีพใหม่ คือ “การติดตามทวงหนี้”   พฤติกรรมของคนที่รับทวงหนี้มีหลากหลาย  ตั้งแต่  ทวงหนี้ทั้งวัน  โทรมาหาเจ้านายประจานหนี้   ข่มขู่ ว่าไม่ชำระจะต้องเข้าคุกเพราะโกงเจ้าหนี้  อ้างว่าเป็นตำรวจจะมาจับหากไม่ใช้หนี้  ทวงหนี้กับญาติพี่น้อง หรือใช้จดหมายที่เลียนแบบหมายศาลหลอกลูกหนี้  ฯลฯ  กลวิธีมีหลากหลายมากมาย  โดยเฉพาะการด่า หรือพูดจาหยาบคายดูหมิ่นเหยียดหยาม  เสมือนลูกหนี้ เป็น “อาชญากรของสังคม”ปัญหาการร้องเรียนพฤติกรรมของเจ้าหนี้และคนที่ติดตามหนี้มีมากมาย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2550 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกแนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้กับลูกหนี้แก่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงินทุกแห่ง แต่ยังคงเป็นเพียงแนวปฏิบัติที่มิได้มีบทลงโทษแก่ผู้ที่ฝ่าฝืน และไม่ครอบคลุมถึงการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจติดตามทวงถามหนี้ หรือการรับจ้าง หรือรับมอบอำนาจจากนิติบุคคลผู้ให้สินเชื่อดังกล่าว  อีกทั้งข้อร้องเรียนเรื่องพฤติกรรมการทวงหนี้มิได้ลดลงแต่อย่างใดในปีเดียวกันสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. .... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้ลงมติรับหลักการเมื่อเดือนธันวาคม 2550 แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้สิ้นสุดสถานะลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มีผลให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณา และต่อมาในเดือนกันยายน 2553 กระทรวงการคลังเสนอ ร่าง ร่างพระราชบัญญัติฯ เข้าไปใหม่ และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ  และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่างระราชบัญญัติฯ  เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป และต่อมามีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 จึงมิได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัตินี้ ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. ได้พิจารณาและจะนำเสนอ คสช. ให้ความเห็นชอบและบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติในลำดับแรก  โดยมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ. ฉบับนี้แล้ว  โดยมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ (ร่าง) พระราชบัญบัติการทวงถามหนี้ พ.ศ”สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. ....1. ขอบเขตการใช้บังคับ- ผู้ให้สินเชื่อ ซึ่งได้แก่ นิติบุคคลที่ให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ นิติบุคคลที่รับซื้อ หรือรับโอนสินเชื่อต่อไปทุกทอด และบุคคลอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง- ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้สินเชื่อในการทวงหนี้- ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้2. กำหนดให้มีการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้โดยผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียนต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง3. การติดต่อกับบุคคลอื่นที่มิใช่ลูกหนี้ทำได้เพียงสอบถามสถานที่ติดต่อลูกหนี้เท่านั้นโดยกำหนดวิธีปฏิบัติในการติดต่อกับบุคคลอื่น เช่น ผู้ทวงถามหนี้ต้องแจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล ชื่อหน่วยงาน ไม่แจ้งความเป็นหนี้ของลูกหนี้ ไม่ใช้ภาษา สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจบนซองจดหมายหรือในหนังสือหรือในสื่ออื่นใดที่ทำให้เข้าใจว่าติดต่อมาเพื่อทวงถามหนี้ ไม่ติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิดเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อของลูกหนี้4. กำหนดหลักเกณฑ์ในการทวงถามหนี้ ดังนี้4.1  วิธีปฏิบัติในการติดต่อกับลูกหนี้ผู้ทวงถามหนี้ต้องติดต่อกับลูกหนี้ตามสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ ติดต่อในเวลา 9.00น. – 20.00น. แจ้งลูกหนี้ทราบถึงชื่อผู้ให้สินเชื่อและจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้ แสดงหลักฐานการรับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากผู้ให้สินเชื่อต่อลูกหนี้ด้วย และเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้แล้วให้ผู้ทวงถาม ออกหลักฐานการชำระหนี้แก่ลูกหนี้4.2 ข้อห้ามในการทวงถามหนี้ ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่น1) ไม่กระทำการในลักษณะข่มขู่ใช้ความรุนแรง ใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่น เสียดสีลูกหนี้หรือบุคคลอื่น เปิดเผยความเป็นหนี้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ติดต่อลูกหนี้เกี่ยวกับหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึกหรือโทรสาร หรือใช้ภาษา สัญลักษณ์ ชื่อทางธุรกิจบนซองจดหมายหรือในหนังสือที่ทำให้เข้าใจว่าติดต่อมาเพื่อทวงถามหนี้ และทวงถามหนี้ในลักษณะอื่นตามคณะกรรมการประกาศกำหนด2) ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการ ทวงถามหนี้โดยแสดงหรือใช้เครื่องหมาย เครื่องแบบหรือข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้ ทำโดยทนายความ สำนักงานกฎหมาย แสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี ถูกอายัดทรัพย์หรือเงินเดือน ติดต่อหรือแสดงให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน ติดต่อหรือแสดงให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต3) ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะไม่เป็นธรรม โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด หรือการเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็ค ทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้5. การกำกับดูแลผู้ทวงถามหนี้5.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง 8 ท่าน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  นายกสภาทนายความ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคาร กฎหมาย และการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างน้อยด้านละ 1 คน และเจ้าหน้าที่ สศค. เป็นฝ่ายเลขานุการกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระคราวละ 3 ปี ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกันสศค. รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ มีอำนาจหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ทวงถามหนี้ ประสานราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบผู้ให้สินเชื่อ ผู้ทวงถามหนี้หรือบุคคลอื่นใด รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย6. บทกำหนดโทษ6.1 กำหนดแยกระหว่างการใช้มาตรการบังคับทางปกครองสำหรับการกระทำผิด ที่ไม่ร้ายแรงให้แยกเป็นโทษทางปกครอง เช่น ติดต่อโดยไม่แจ้งชื่อ ที่มา ติดต่อนอกเวลา เรียกค่าธรรมเนียมเกินอัตรา และกรณีความผิดร้ายแรงให้แยกเป็นโทษอาญา โดยกำหนดความรับผิดสำหรับผู้ทวงถามหนี้ที่ดำเนินกิจการฝ่าฝืน ปรับทางปกครองไม่เกิน 1 แสน6.2 โทษอาญา1) จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประกอบธุรกิจโดย ไม่จดทะเบียน เปิดเผยความเป็นหนี้กับบุคคลอื่น ใช้วาจาดูหมื่น เสียดสี จูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็ค)2) จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ (ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำให้เชื่อว่าเป็นการกระทำของทนายความ)3) จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ (ใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ เครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ)7. บทเฉพาะกาลผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้อยู่ก่อนวันที่ พรบ. นี้มีผลใช้บังคับ ให้ยื่นขอจดทะเบียนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ พรบ. นี้มีผลใช้บังคับลูกหนี้คงต้องตั้งตาคอยกันว่า  กฎหมายฉบับนี้จะคลอดเมื่อไร และจะคลอบคลุมพฤติกรรมของคนทวงหนี้ได้จริงหรือไม่  หวังว่า การพิจารณาร่างกฎหมายคงออกมาให้ลูกหนี้ได้ชื่นใจ สมกับคำที่ว่า   คสช. คืนความสุขให้กับคนไทย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่่ 136 แม่ร้องแทนลูกชาย ไม่ได้เปิดเบอร์แต่ถูกทรูมูฟ เรียกเก็บค่าโทร

บริษัททรูมูฟ เรียกเก็บค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือ โดยที่ลูกค้าไม่ได้เปิดใช้เบอร์โทรศัพท์ ขอยกเลิกก็ไม่ยอมยกเลิกให้ ถูกทวงหนี้เป็นรายเดือนคุณปิยวรรณได้ส่งเรื่องร้องเรียนมาว่า ประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2554 ลูกชายคือคุณชนนภัทร  ได้ไปเข้าคิวซื้อโทรศัพท์ซัมซุง รุ่นกาแลคซี่เอส 2 ที่งานโมบายเอ็กซโป ซึ่งจัดที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ราคาเกือบสองหมื่นบาท โดยต้องจ่ายเงินมัดจำไว้ครึ่งหนึ่งของราคาเต็มสองเดือนต่อมาได้ไปรับเครื่องที่ดิจิตอลเกตเวย์ สยามสแควร์ คนเยอะมากถึงขนาดต้องเข้าคิวจ่ายเงินส่วนที่เหลือ“ในตอนรับเครื่องพนักงานถามว่า มีเบอร์โทรแล้วหรือยัง บุตรชายตอบว่ามีแล้วเป็นชื่อของคุณพ่อ พนักงานว่าใช้ไม่ได้ต้องรับซิมใหม่ด้วย ถ้าซื้อเฉพาะเครื่องจะไม่ใช่ราคานี้”ลูกชายของคุณปิยวรรณรู้สึกงงๆ แต่ก็ได้เซนต์ชื่อในเอกสารที่พนักงานส่งให้ พร้อมรับเครื่องโทรศัพท์และรับซิมใหม่มา ตั้งใจว่าจะใช้ซิมของคุณพ่ออยู่แล้วเพราะใช้มาตั้งแต่เรียนมัธยมไม่ต้องยุ่งยากในการแจ้งเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ไปให้กับเพื่อนๆ และเข้าใจว่าถ้าไม่เปิดใช้ซิมที่ได้มาก็ไม่ต้องเสียเงินพอมาถึงปลายเดือนมกราคม 2555 ที่บ้านของคุณปิยวรรณได้รับใบแจ้งค่าใช้บริการโทรศัพท์จากทรูมูฟ เป็นเงิน 694.50 บาท จึงสอบถามลูกชายว่าเป็นเบอร์อะไรของใคร จึงทราบว่าเป็นเบอร์ของซิมที่ได้รับมาจากดิจิตอลเกตเวย์เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา“ลูกบอกว่าไม่เคยเปิดกล่องซิมเอามาใช้เลย เลยบอกกับลูกว่าไปแจ้งยกเลิกการใช้เบอร์นี้ที่ทรูช็อป” ก็พากันไปทั้งครอบครัว แต่พนักงานบอกให้จ่ายเงินก่อนจึงจะทำเรื่องให้“ลูกชายชี้แจงว่าไม่เคยใช้เบอร์นี้เลย ทำไมต้องเสียเงิน และทำไมเพิ่งจะมาเรียกเก็บเงินทั้งๆ ที่ได้รับมาร่วม 6 เดือนแล้ว”“พนักงานแจ้งว่า เป็นแพ็กเกจที่ให้ใช้ฟรี 5 เดือน และเริ่มคิดเงินเดือนที่ 6 ถึงแม้ไม่ใช้ก็ต้องเสียเงิน”ลูกชายคุณปิยวรรณไม่ยอมจ่าย ส่วนคุณพ่อหยิบใบแจ้งหนี้ของทรูมูฟขึ้นมาเขียนข้อความสั้นบนด้านหลังของกระดาษถึงผู้จัดการว่า “ขอไม่ชำระเงิน เนื่องจากไม่เคยเปิดใช้เลย” แล้วส่งให้พนักงานช่วยแฟกซ์ไปถึงผู้จัดการ“หลังจากนั้น บริษัทได้โทรติดต่อกับมาถึงคุณพ่อ แต่ติดต่อไม่ได้เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการคุณพ่อไม่ได้เปิดมือถือ จึงได้ติดต่อไปทางลูกชาย ลูกชายบอกให้โทรคุยกับคุณพ่อเอง ทางบริษัทแจ้งว่าโทรติดต่อไม่ได้ และวันต่อมาก็ไม่ได้โทรติดต่อกับคุณพ่ออีกเลย ทำให้คิดว่าทางบริษัทคงดำเนินการให้เรียบร้อยแล้ว”แต่ผิดคาด เพราะมาถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 ครอบครัวคุณปิยวรรณก็ได้รับแจ้งค่าบริการรอบเดือนที่ 2 มาอีก เป็นจำนวนเงินเท่าเดิมไม่มีรายละเอียดการใช้บริการเมือนเดิม จึงตัดสินใจส่งรายละเอียดเรื่องราวทั้งหมดร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยแก้ปัญหา ซึ่งคุณปิยวรรณมีข้อข้องใจว่ามาเป็นข้อๆ คือ1. ไม่ได้เปิดใช้ซิมที่ได้รับมา บริษัทไม่น่าจะมีอำนาจเรียกเก็บเงิน2. ได้แจ้งยกเลิกใช้เบอร์โดยตรงกับพนักงาน แต่พนักงานไม่ยอมยกเลิกให้ ซ้ำยังให้ชำระเงินก่อนอีกถึงจะยกเลิกให้3. พฤติกรรมนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเลวร้าย และทำให้เด็กอาจต้องเสียประวัติในการไม่ชำระค่าโทรศัพท์ โดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แนวทางการแก้ไขปัญหาปัญหาลักษณะนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำสัญญาให้บริการโดยไม่สมัครใจ หรือไม่พึงประสงค์ ซึ่งมีอยู่หลายกรณี เช่น ได้รับซิมแจกฟรี ยังไม่เปิดใช้บริการ แต่มีการเรียกเก็บค่ารายเดือน ถูกเปลี่ยนโปรโมชั่นโดยไม่ได้สมัครใจ มีการคิดค่าบริการที่แพงขึ้นและบอกเลิกไม่ได้ ถูกหลอกเข้าเป็นสมาชิกบริการเสริม เช่น ดาวน์โหลดเพลง เพลงรอสาย การรับข้อมูลข่าวสาร โดยไม่สมัครใจ มีการคิดค่าบริการ และบอกเลิกไม่ได้ โหลดเพลงรอสายบอกว่าฟรี แต่ถูกหักเงินเดือนละ 30 บาท ส่วนกรณีนี้ถือว่าใหม่ขึ้นมาอีกหน่อยคือปล่อยฟรีถึง 5 เดือนปล่อยให้ผู้บริโภคตายใจแล้วค่อยมาเก็บเอาเดือนที่ 6 ซึ่งน่าจะมีผู้เสียหายทำนองนี้หลายรายเพราะจากที่เล่าถึงขั้นว่ามีลูกค้าต่อคิวไปจ่ายเงินเพื่อซื้อมือถือ เป็นการ(บังคับ)หลอกเพื่อเปิดใช้บริการโทรมือถือแบบจดทะเบียนจ่ายรายเดือนนั่นเอง ถึงแม้จะไม่ได้เปิดใช้เบอร์โทรก็ต้องจ่ายค่ารายเดือนต่อเนื่องต่อไปสำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 กำหนดไว้ในข้อที่ 6 ว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจน และครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายเพื่อให้ผู้บริโภคทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเข้าทำสัญญาและเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง...ส่วนข้อ 8 กำหนดว่า สัญญาย่อมเกิดขึ้นเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอและสนองถูกต้องตรงกัน โดยชัดแจ้งว่าผู้ให้บริการตกลงให้บริการโทรคมนาคม และผู้ใช้บริการตกลงใช้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการ ในกรณีที่ผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอเกี่ยวกับบริการใดของผู้ให้บริการจะถือว่าผู้ใช้บริการได้แสดงเจตนาตกลงใช้บริการนั้นของผู้ให้บริการมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ใช้บริการได้ใช้บริการนั้นอยู่แล้ว และประสงค์จะใช้บริการนั้นต่อไป...ดังนั้น เมื่อผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ว่ามา จึงถือว่าผู้ให้บริการเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่สามารถที่จะเรียกเก็บค่าบริการกับผู้บริโภคได้ หรือเมื่อเรียกเก็บไปแล้วก็ต้องคืนให้แก่ผู้บริโภคโดยทันทีผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าว สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง โดยให้มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทผู้ให้บริการมือถือ พร้อมแนบสำเนาใบเรียกเก็บเงิน แจ้งปฏิเสธการชำระหนี้ที่มีการทวงถามเนื่องจากไม่ได้ประสงค์เข้าใช้บริการตั้งแต่ต้นเพราะพนักงานขายให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนส่งไปทางแฟกซ์ก็ได้ แล้วไม่ต้องชำระเงินที่มีการติดตามทวงถามอีกต่อไปสำหรับกรณีที่ได้ร้องเรียนเข้ามานี้ มูลนิธิฯได้ช่วยประสานเรื่องไปที่ทรูมูฟ ซึ่งได้รับคำตอบจากบริษัทเรียลมูฟ(บริษัทลูกที่ทำหน้าที่ด้านการตลาดให้กับทรูมูฟ)แล้วว่า ได้ดำเนินการยกเลิกหมายเลขให้เรียบร้อยแล้ว “พร้อมปรับลดค่าบริการทั้งหมดให้ โดยปัจจุบันไม่มียอดค่าบริการค้างชำระแล้ว”“บริษัทฯ ขออภัยอย่างยิ่งสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ท่านไม่ได้รับความสะดวก”ใครที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันนี้กับทรูมูฟ สามารถส่งเรื่องร้องเรียนไปได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของทรูมูฟ โทรศัพท์ 02-900-9000 โทรสาร 02-699-4338  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 อพาร์ทเมนต์ ถูกคนเช่าทวงเงินมัดจำ

แจ้งย้ายออกจากห้องเช่า แต่เจ้าของหอไม่ยอมคืนเงินค่ามัดจำ หลายคนคงปล่อยทิ้งไม่อยากวอแว แต่สำหรับคุณเบญจมาภรณ์ยืนยัน ไม่มีวันเสียล่ะที่จะเสียเงินมัดจำไปง่ายๆ เจออย่างนี้ต้องเอาคืนคุณเบญจมาภรณ์ ได้เช่าอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งในย่านอนุสาวรีย์ชัย เป็นอพาร์ทเมนต์ไม่มีชื่อ ชั้นล่างทำเป็นร้านขายก๋วยจั๊บ ต้องจ่ายค่ามัดจำ 6,000 บาท และค่าเช่าห้องล่วงหน้า 1 เดือน อีก 3,000 บาท รวมเป็นเงินที่จ่ายควักไป 9,000 บาท สำหรับห้องเช่าธรรมดาๆ ไม่มีแอร์ ไม่มีพัดลม“สุดๆค่ะ ต้องเอาพัดลมมาเอง แรกเข้ามาอยู่ก็ไม่ได้ทำความสะอาดไว้ให้ เจ้าของห้องเขาตั้งน้ำยาทำความสะอาด แปรงถูกพื้น และกระป๋องไว้หน้าห้อง ไปกับเพื่อนก็ช่วยกันทำความสะอาดกันเอาเอง”“ห้องแคบมาก...ของที่ขนไปเข้าไม่หมด บานเกร็ดไม่มีเหล็กดัด ถ้าถามว่าทำไมต้องทนอยู่ ก็คงบอกได้ว่า มันใกล้กับที่ทำงาน มีรถไฟฟ้า และคิดว่าคงจะอยู่เพียงแค่ชั่วคราว” คุณเบญจมาภรณ์สาธยายให้เห็นภาพคงเพราะเป็นอพาร์ทเมนต์ที่ไม่มีชื่อเสียงหรือไม่ คุณเบญจมาภรณ์ก็ไม่แน่ใจ อยู่ได้ไม่กี่วันก็ต้องอึดอัดใจ เพราะอพาร์ทเมนต์ไม่มีชื่อแห่งนี้ หาความสงบแทบไม่ได้เลย มีคนเดินขึ้นลงตลอดเวลา เพราะร้านก๋วยจั๊บที่เปิดขายอยู่ชั้นล่าง เปิดยาวถึงตีสาม เวลาเข้าห้องน้ำ น้ำจะรั่วและมีสนิมปนมากับน้ำ แจ้งให้เจ้าของมาแก้ไขก็ไร้วี่แววมีครั้งหนึ่งที่คุณเบญจมาภรณ์เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด พอกลับเข้าห้องสังเกตเห็นว่าหวีไม้ที่วางไว้ในห้องมีราขึ้น ชั้นวางโทรทัศน์ก็มีราขึ้น พอเห็นราขึ้นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ คิดในใจว่าอยู่ไม่ได้แล้ว ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายด้วยหรือเปล่าแจ้งเจ้าของห้องเพื่อขอย้ายออก ได้รับคำตอบว่าให้ย้ายตอนสิ้นเดือน จะคืนเงินมัดจำให้ 3,000 บาท“เราก็ไม่มีปัญหานะ ขอให้ได้ย้ายออกจะได้ค่ามัดจำเท่าไหร่ก็ยอมทั้งนั้น” พอถึงสิ้นเดือนก็ยังไม่ได้ย้าย เจ้าของห้องบอกยังไม่มีเงินให้อยู่ไปก่อน ได้เงินมัดจำคืนแล้วค่อยย้ายออก จนถึงกลางเดือนถัดมาคุณเบญจมาภรณ์บอกไม่ไหวแล้ว ตัดสินใจย้ายออกทันที“โทรติดต่อเจ้าของห้อง แต่ไม่เจอตัวเจอแต่คนดูแล เอาเงินมัดจำคืนไม่ได้  เลยฝากบอกกับคนดูแลให้เจ้าของห้องช่วยโอนเงินค่ามัดจำคืนเข้าบัญชีด้วย”เมื่อออกจากห้องเช่าแล้ว คุณเบญจมาภรณ์ ได้พยายามโทรไปทวงเงินค่ามัดจำคืนอยู่หลายสิบครั้ง มีเสียงเรียกแต่ไม่มีคนรับสาย มีครั้งหนึ่งมาตามด้วยตัวเองก็ได้ผลเหมือนเดิมหันซ้ายหันขวาเห็นป้ายสำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่ใกล้ๆ จึงเดินเข้ามาร้องเรียนขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาข้อแนะนำของเรา เมื่อโทรเข้าไปแล้วไม่รับสาย ก็ให้ไปดักรอที่หน้าอพาร์ทเมนต์เลยจะดีที่สุด เพราะเจ้าของห้องต้องออกมาขายก๋วยจั๊บทุกวันอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องเจอเมื่อเจอแล้วก็ทวงถามได้เลย ถ้ายังบ่ายเบี่ยงปฏิเสธอีก ทีนี้ก็สามารถไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานได้ทันที แต่อยากให้พูดคุยกันดีๆ ก่อนเป็นดีที่สุดหลังได้รับคำแนะนำ คุณเบญจมาภรณ์จึงไปดักรอที่ร้านก๋วยจั๊บที่เจ้าของห้องเปิดขายทันที คิดในใจว่า ไม่ออกมาก็ไม่ต้องขายของกันละวันนี้ ปรากฏว่าเจอตัวเจ้าของเป็นๆ ซึ่งยอมคืนเงินค่ามัดจำให้ แต่ก็ยังทิ้งลายด้วยการขอหักค่าทำความสะอาดและค่าดูแลส่วนกลางรวม 300 บาท เหลือคืนให้ 2,700 บาท“ไม่เป็นไรค่ะ ไม่อยากให้มันยืดเยื้อ เพราะเสียเวลามามากแล้ว” คุณเบญจมาภรณ์บอกพร้อมขอบคุณมูลนิธิฯ ที่ช่วยให้คำแนะนำจนทวงคืนค่ามัดจำได้  

อ่านเพิ่มเติม >