ฉบับที่ 230 ติดตาม COVID-19 กับ COVID Tracker

        ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นช่วงที่ทุกคนต้องการรับทราบข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์มาใช้ในการเฝ้าระวังตนเองและครอบครัวให้มากที่สุด โดยแต่ละคนอาจใช้วิธีการติดตามข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่น ติดตามจากโทรทัศน์ จากเฟสบุ๊ค จากทวิตเตอร์ จากจังหวัด จากชุมชน ฯลฯ ซึ่งข่าวสารที่ได้รับมาอาจมีข้อมูลที่มีความผิดพลาด บิดเบือน หรือไม่ถูกต้อง จนทำให้เกิดสภาวะตื่นตระหนกกับข้อมูลข่าวสารนั้นๆ แม้ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม        ฉบับนี้จึงมาแนะนำเว็บไซต์ที่เป็นเหมือนศูนย์เช็คข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีการอัพเดทข้อมูลข่าวสารการระบาดของเชื้อในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยแบบเรียลไทม์ เว็บไซต์นี้มีชื่อว่า COVID Tracker หรือลิ้ง https://covidtracker.5lab.co/ ผู้ที่คิดค้นเป็นกลุ่มทีม 5lab ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น ได้เห็นว่ามีข่าวปลอมและข้อมูลที่แพร่สะพัดเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะเชื่อถือข้อมูลข่าวสารอันไหนดี ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้มีความคิดที่จะสร้างเว็บไซต์นี้ขึ้นมา เพื่อกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารโดยการดึงข้อมูลจากสื่อหลักและหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือมาประกอบ         ปัจจุบันเว็บไซต์ COVID Tracker มีผู้ติดตามอยู่จำนวนมาก โดยหน้าหลักในเว็บไซต์ COVID Tracker จะแสดงภาพแผนที่ประเทศไทย และสัญลักษณ์เพื่อแสดงพิกัดของผู้ติดเชื้อทั่วประเทศไทย ซึ่งสัญลักษณ์ที่ใช้จะเป็นภาพไอคอนต่างๆ และสีที่แตกต่างกันเพื่อแสดงความหมายของสถานะผู้ป่วยและสถานะข่าวทีเกิดขึ้น ทั้งนี้ผู้ติดตามสามารถคลิกดูความหมายของไอคอนได้จากมุมด้านล่างซ้าย         สัญลักษณ์ไอคอนเหล่านี้จะแสดงบนแผนที่ประเทศไทย ตามพิกัดที่เกิดข่าวหรือมีผู้ป่วยเกิดขึ้น เมื่อคลิกบริเวณสัญลักษณ์ไอคอน ระบบจะแสดงข้อความที่มีรายละเอียดของผู้ป่วย รายละเอียดสถานที่ แจ้งวันที่เกิดข่าว รายงานสถานะของผู้ป่วย รวมทั้งแจ้งว่าเป็นข้อมูลที่ได้รับการยืนยันแล้วหรือไม่         ด้านบนสุดของหน้าเว็บไซต์จะเป็นตัวอักษรวิ่ง เพื่อแจ้งตัวเลขล่าสุดของจำนวนยอดสะสม จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่ม จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้ที่รักษาหาย ในแต่ละวัน และทางด้านบนขวาจะมีเมนูที่เขียนว่า ดูข่าวล่าสุด ซึ่งเป็นเมนูที่แจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเรียงเหตุการณ์ก่อนหลังจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในทุกข้อมูลที่ปรากฎอยู่บนหน้าเว็บไซต์จะลิ้งไปยังแหล่งข้อมูลที่แจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น โดยสามารถเข้าไปคลิกเพื่ออ่านข้อมูลจากแหล่งข้อมูลได้โดยตรง         เว็บไซต์ COVID Tracker ยังมีการรวบรวมข้อมูลพิกัด รายละเอียดและเบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาลต่างๆ ไว้บนหน้าเว็บไซต์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ติดตามและผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับการตรวจในโรงพยาบาล นอกจากนี้เว็บไซต์นี้ยังมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และภาษาจีน เพื่อรองรับชาวต่างชาติอีกด้วย         สำหรับผู้ติดตามเว็บไซต์ COVID Tracker ยังสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านทางทวิตเตอร์ (Twitter) ได้ที่ @covidtrackerth ได้อีกช่องทางหนึ่ง         เว็บไซต์ COVID Tracker จึงเป็นเว็บไซต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการในการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ดีจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 ข่าวสารผู้บริโภคบนทวิตเตอร์ (Twitter)

ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบติดตามข่าวสารบ้านเมืองผ่านโซเชียลมีเดียหลากหลายรูปแบบ ตื่นเช้ามาสิ่งแรกที่คุณเปิดรับคือการคลิกลงบนจอโทรศัพท์มือถือ แท็ปเล็ต หรืออุปกรณ์ไอทีชนิดอื่นๆ เพื่ออ่านข้อความของใครต่อใครว่ามุมโลกแต่ละมุมเป็นอย่างไรบ้าง ก็คงไม่แปลกอะไรที่คุณจะรู้จัก Twitter แต่เนื่องจากบางท่านอาจไม่รู้จัก twitter จึงขออธิบายความหมายกันสักหน่อย Twitter (ทวิตเตอร์) เป็นบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์จำพวกไมโครบล็อก โดยผู้ใช้สามารถส่งข้อความยาวไม่เกิน 140 ตัวอักษร ซึ่งเป็นข้อความสั้นๆ ข้อความอัปเดตที่ส่งเข้าไปยังทวิตเตอร์จะแสดงอยู่บนเว็บเพจของผู้ใช้คนนั้นบนเว็บไซต์ ทวิตเตอร์ถูกสร้างขึ้นโดย Jack Dorsey หรือผู้อ่านสามารถตามทวิตได้ที่ @jack   สำหรับผู้อ่านที่ใส่ใจเรื่องเกี่ยวกับผู้บริโภค ที่ชอบติดตามข่าวสารสิทธิผู้บริโภค ความเป็นไปในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งชื่นชอบการใช้อินเตอร์เน็ตในการท่องโลกออนไลน์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงขอแนะนำทวิตเตอร์ในแวดวงผู้บริโภคที่ต้องการทราบด้านโทรคมนาคมให้ทุกคน following ตามข่าวสารอย่างทันถ่วงที ในส่วนบุคคล คนแรกขอแนะนำ “สุภิญญา กลางณรงค์” หรือทวิตเตอร์ “@supinya” ผู้หญิงคนเดียวจากจำนวน 11 คน ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยจะอัพเดททุกความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. ซึ่งจะดูแลทางด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในส่วนของวิทยุและโทรทัศน์ คนที่สอง พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ “@DrNateeDigital” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  และคุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ “@TakornNBTC” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส่วนหน่วยงานที่น่าสนใจแนะนำเป็น “@NBTCrights” และ “@Teleconsumer” สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เป็นอีกช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภค ทั้งปัญหา เรื่องราวอัพเดต ของนโยบายด้านกิจการวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม  อีกหนึ่งช่องทาง ลองตามข่าวสารทาง twiiter กันดูนะคะ รวดเร็วทันใจจริงๆ **มือถือทุกรุ่นสามารถโหลดแอพพลิเคชั่น twitter ได้ฟรีค๊า

อ่านเพิ่มเติม >