ฉบับที่ 155 ทองเนื้อเก้า : “แม่” ในหลายหลากมุมนิยาม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้กำหนดนิยามความหมายของคำว่า “แม่” เอาไว้ว่า หมายถึง “หญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูลูก” ภายใต้นิยามแบบนี้ บ่งบอกนัยกับเราหลายอย่าง ตั้งแต่การบ่งชี้ว่า บุคคลที่เป็น “แม่” ต้องเป็นเพศหญิงเท่านั้น และผู้หญิงที่เป็น “แม่” ก็มีบทบาทแรกในฐานะของ “ผู้ให้กำเนิด” แต่บทบาทที่เหนือยิ่งสิ่งใดของ “แม่” ที่ตามมานั้น ก็ต้อง “เลี้ยงดูลูก” อันถือเป็นหน้าที่ที่สังคมมอบหมายภาระให้กับเธอ อย่างไรก็ดี นิยามความหมายของแม่ตามพจนานุกรมอาจจะเป็นเรื่องหนึ่งก็จริง แต่ทว่า ในโลกความเป็นจริงของความเป็นแม่แล้ว ก็อาจมีความหลายหลากและมากไปกว่านิยามที่บัญญัติเอาไว้แค่ในเล่มพจนานุกรม และความหลากหลายในนิยามของแม่นี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับการสะท้อนออกมาให้เห็นผ่านละครโทรทัศน์ที่ถูกกล่าวขานถึงอย่างมากเมื่อช่วงราวหนึ่งหรือสองเดือนที่ผ่านมาอย่างเรื่อง “ทองเนื้อเก้า” เรื่องราวชีวิตของตัวละครสามคนที่ผูกโยงให้ต้องมาร่วมในชะตากรรมเดียวกันอย่าง “ลำยอง” หญิงสาวสวยขี้เมาที่ขาดซึ่งอุดมคติของความเป็นแม่และเมียที่ดีที่จารึกอยู่ในพจนานุกรม “สันต์” นายทหารเรือหนุ่มที่ชีวิตพลิกผันเมื่อเลือกลำยองมาเป็นภรรยาคนแรกของเขา และ “วันเฉลิม” อภิชาตบุตรผู้ที่ไม่ว่าแม่จะขี้เหล้าหรือร้ายกาจเพียงไร แต่เด็กน้อยวันเฉลิมก็ยังคงเป็น “ทองเนื้อเก้า” ที่เปล่งปลั่งความกตัญญูต่อมารดาไม่เสื่อมคลาย   แม้โดยโครงเรื่องของ “ทองเนื้อเก้า” จะเล่าถึงชีวิตของสาวขี้เมากับความล่มสลายครั้งแล้วครั้งเล่าในชีวิตครอบครัวของเธอ (ซึ่งคงไม่แตกต่างจากเนื้อเพลงนำของละครที่ร้องว่า “จุดจบเธอคงจะไปไม่สวย ถ้าหากเธอยังทำตัวเสียเสีย...”) แต่อีกด้านหนึ่ง ฉากหลังของละครก็ได้ฉายให้เราเห็นภาพของ “แม่” ที่หลายหลากแตกต่างกันไปอย่างน้อยสามคน เริ่มต้นจากตัวละครอย่าง “ปั้น” แม่ของสันต์ ซึ่งถูกสร้างให้เป็นแม่ตามแบบฉบับที่สังคมไทยปรารถนา เป็นแม่ที่ขยันทำมาหากิน เก็บหอมรอมริบ และอบรมสั่งสอนลูกชายจนได้ดี จะว่าไปแล้ว แม่ในแบบยายปั้นนี้ก็น่าจะสอดรับตามความหมายที่พจนานุกรมบัญญัติไว้มากที่สุด ส่วนคนที่สองก็คือ “แล” แม่ที่ทะเยอทะยานอยากให้ลูกสาวอย่างลำยองได้สามีที่ร่ำรวย และด้วยเหตุที่ยายแลทั้งขี้ขโมย ติดการพนัน แทงหวย ติดเหล้า จนเรียกได้ว่ารวมดาวแห่งความทะยานอยากเอาไว้ “แม่ปูที่เดินเบี้ยวๆ” แบบยายแล จึงเป็นต้นแบบให้ลำยองกลายเป็น “ลูกปูที่เดินเบี้ยวไปมา” ตามๆ กัน แน่นอนว่า บทบาทของแม่แบบยายปั้นกับยายแลที่แตกต่างกันนี้ ก็คงเป็นความจงใจของละครที่ต้องการสื่อความเปรียบเทียบให้ผู้ชมเห็นว่า “ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น” หรือเผลอๆ “ลูกไม้ก็จะอาจจะหล่นอยู่ใต้ต้น” เลยนั่นแหละ เพราะฉะนั้น ก็คงไม่ต่างจากคำโบราณที่ว่า “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” ลูกที่จะเติบโตเป็นเมล็ดพันธุ์ที่งอกงามได้ ก็ต้องมาจากการเลี้ยงดูบ่มเพาะจากพ่อแม่อย่างตาสินและยายปั้น แต่หากเป็น “พ่อแม่รังแกฉัน” แบบตาปอและยายแลแล้วไซร้ โศกนาฏกรรมชีวิตของลูกก็คงไม่แตกต่างไปจากตัวละครอย่างลำยองเท่าใดนัก จากแม่สองแบบแรก ก็มาสู่แบบในแบบที่สามที่สวิงกันมาสุดขั้วสุดโต่งไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็คือ แม่ในเจเนอเรชั่นถัดมาอย่างลำยองนั่นเอง ในขณะที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯระบุว่า แม่หมายถึง “หญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูลูก” แต่สำหรับลำยองแล้ว นิยามความเป็นแม่กลับมาเพียงครึ่งแรกครึ่งเดียวคือ “หญิงผู้ให้กำเนิด” แต่ทว่าครึ่งหลังในฐานะ “ผู้เลี้ยงดูลูก” นั้น กลับไม่เคยปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับของลำยองเอาเสียเลย ในแง่ของ “ผู้ให้กำเนิด” นั้น ละครได้วาดภาพให้ลำยองถือกำเนิดลูกแบบชนิดคนแล้วคนเล่า หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ นับแต่เลิกรากับสันต์ ลำยองก็มาคบกับเจ้าของโรงงานอย่าง “เฮียกวง” นักพนันในบ่อนอย่าง “เมืองเทพ” ไปจนถึงมีสัมพันธ์กับชายมากหน้าหลายตาไม่เว้นแม้แต่คนขับรถรับจ้าง และลำยองก็ให้กำเนิดลูกกับผู้ชายเหล่านั้นคนแล้วคนเล่าชนิดยายแลผู้เป็นมารดาเองถึงกับงุนงง แต่ในแง่ของ “ผู้เลี้ยงดูลูก” นั้น ลำยองกลับไม่เคยใยดีกับการเลี้ยงดูลูกคนใดของเธอเองเลย ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่า ลำยองได้ปฏิเสธทัศนะที่ว่า ลูกจะดีหรือไม่ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านการอบรมเลี้ยงดูจากมารดาผู้ให้กำเนิด และที่น่าสนใจยิ่งก็คือ แม้ว่าภาพของลำยองจะไม่เป็นไปตามความเป็นแม่ในอุดมคติก็ตาม แต่ทว่าชะตาชีวิตของวันเฉลิมผู้เป็นลูกของลำยองนั้นกลับแตกต่างกันไปอีกทางหนึ่ง ถึงแม้ลำยองจะไม่ได้ “เลี้ยงดู” หรือแม้แต่ใส่ใจกับวันเฉลิมและลูกๆ คนใดของเธอเลยก็ตาม แต่วันเฉลิมก็กลับเป็นเด็กที่ดีแสนดี เป็นยอดยิ่งของความกตัญญู ไม่เพียงแต่ดูแลมารดาที่ขี้เมาหรือเจ็บป่วยจนถึงช่วงสุดท้ายของลำยองจะสิ้นลมหายใจเท่านั้น เขายังดูแลน้องๆ และอบรมสั่งสอนจนน้องๆ เหล่านั้นสามารถเป็นคนดีได้ในที่สุด ในมุมนี้ก็เหมือนกับละคร “ทองเนื้อเก้า” จะบอกเราๆ ว่า แม้สังคมไทยจะยึดถือค่านิยมที่เชื่อว่าลูกที่ดีก็ต้องมาจากแบบพิมพ์ที่ดีของพ่อแม่เท่านั้น แต่ก็อาจมีข้อยกเว้นบางเงื่อนไขเหมือนกันที่เด็กคนหนึ่งอาจจะเป็นคนดีได้ แม้ว่าเขาจะไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อมสรรพก็ตาม แต่ถึงกระนั้น จุดยืนของละครก็ไม่ได้เชื่อในทัศนะที่ว่า เด็กจะดีหรือเป็น “ทองเนื้อเก้า” ได้ ก็ด้วย “ทองเนื้อแท้” ที่ติดตัวเองมาเสียทีเดียว ตรงกันข้าม ละครก็ยังยืนยันว่า ผ้าจะเป็นสีขาวบริสุทธิ์ได้ก็ต้องมาจากการขัดกับการเกลาจากสังคมเท่านั้น เพราะฉะนั้น หากสถาบันครอบครัวหรือแม่อย่างลำยองทำหน้าที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานที่เขียนไว้ในพจนานุกรม แต่สังคมยังมีสถาบันอื่น ๆ เช่นสถาบันวัดและศาสนา ที่ทำหน้าที่กล่อมเกลาเยาวชนเป็นการทดแทนได้แล้ว เด็กๆ ก็สามารถเปล่งประกายเป็น “ทองเนื้อเก้า” ได้เช่นกัน เหมือนกับที่วันเฉลิมได้รับการอบรมขัดเกลาจาก “หลวงตาปิ่น” มาตลอดทั้งเรื่องของละคร บทสรุปของ “ทองเนื้อเก้า” นอกจากจะทำให้เราเห็นความจริงในชีวิตว่า ความเป็นแม่ไม่ได้มีอยู่แบบเดียวเหมือนกับที่เรารับรู้กันโดยทั่วไป แต่ในเวลาเดียวกัน ถึงจะมีแม่ที่มีวัตรปฏิบัติที่เบนเบี่ยงไปจากค่านิยมที่ผู้คนยึดถือกันอยู่บ้าง สังคมเราก็มิได้สิ้นหวังเสียทีเดียว เผลอๆ คำตอบสุดท้ายที่จะมาช่วยจรรโลงเกื้อกูลสถาบันครอบครัวทุกวันนี้ ก็อาจต้องย้อนกลับไปพึ่งพิงคุณงามความดีของสถาบันศาสนาที่สร้าง “ทองบริสุทธิ์” ให้เป็น “ทองเนื้อเก้า” ได้เฉกเช่นเดียวกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point