ฉบับที่ 198 ทาหน้าผ่อนคลาย ทาขาหายปวด

“ทาแก้ปวดขา ทาตรงที่ปวดแล้วจะหาย เดินได้ ใช้ไปครึ่งกระปุกให้เติมน้ำลงไป คนๆ ให้ทั่ว แล้วก็ใช้ได้เหมือนปกติ” ข้อความบอกเล่าที่ผู้บริโภคมาร้องเรียนผ่านสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จังหวัดสมุทรสงคราม ฟังดูแล้วอาจจะทะแม่งๆ ชอบกล แต่เมื่อเห็นผลิตภัณฑ์และใบปลิวโฆษณาแล้วจะยิ่งประหลาดใจกว่า ว่าในยุคนี้คนขายมันกล้าโฆษณาบอกผู้บริโภคขนาดนี้เชียวหรือ?  เพราะในแผ่นใบปลิวนั้น พบว่า ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ได้รับอนุญาตเป็นเครื่องสำอางเท่านั้น แต่ในเอกสารโฆษณามีข้อความบรรยายว่า เป็นผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีเนื้อครีมบางเบาและมีโมเลกุลขนาดเล็ก ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้รวดเร็วด้วยส่วนผสมที่ลงตัวของสารสกัดต่างๆ โดยอ้างว่าได้รับการยอมรับจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศมาเลเซียว่า บำบัดแบบธรรมชาติได้จริง และจากผู้ใช้ทั่วโลกว่าช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ มีประสิทธิภาพในการลดริ้วรอย ลดความเมื่อยล้าของผิว ทำให้ผิวชุ่มชื้น เป็นความงามจากภายในสู่ภายนอก ช่วยลดอาการอักเสบและรอยช้ำของผิวได้ โดยการทาเพียงเช้าและก่อนนอน พลิกดูด้านในก็จะพบภาพและข้อความแสดงส่วนผสมหลักของผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ ระบุว่ามีสารสกัดจากพืช สมุนไพรและสารอาหาร มากมายหลายชนิด เช่น ไส้กรอกแอฟริกา (ช่วยให้ผิวพรรณกระชับ ช่วยในระบบย่อยอาหาร ระบบประสาท ใช้เป็นยารักษาโรค เช่น รูมาติก งูสวัด) มันจากานี (ช่วยซ่อมแซมเยื่อเมือกที่เสื่อมให้ดีขึ้น โรคริดสีดวงทวาร ปกป้องการติดเชื้อ อาการปวดตามข้อ เส้นเอ็นเสื่อมตามร่างกาย ฟื้นฟูฮอร์โมนเพศหญิง ยกกระชับมดลูกและช่องคลอด) ตงกัดอาลี (รากปลาไหลเผือก) (ช่วยเสริมฮอร์โมนเพศชายให้กลับมา กระชุ่มกระชวย ช่วยบำรุงการไหลเวียนของโลหิตและต่อมทอนซิลมีปัญหา แก้อาการเจ็บคอ)  สเต็มเซลล์ แอ๊ปเปิ้ลเขียว บัวบก ว่านหางจระเข้ คอลลาเจน มันเทศ ถั่วเหลือง วิตามินเอ วิตามีนบี3 และ บี5 วิตามินอี นอกจากนี้ยังมีภาพใบหน้าประกอบการโฆษณา ส่วนด้านหลังก็จะมีใบหน้าผู้ที่ใช้หลายคน ระบุ ก่อนใช้ และหลังใช้เห็นแบบนี้ใครๆ ก็คงเข้าใจว่าใช้กับใบหน้า แต่ปรากฏว่าผู้บริโภคที่เป็นเหยื่อให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์นี้มีการประชาสัมพันธ์ขายตามตลาดสด โดยมีบุคคลมาอ้างอิงระหว่างการขายด้วย  บอกว่าผลิตภัณฑ์นี้ผลิตในประเทศมาเลเซีย นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย สามารถรักษา อาการปวดขา ปวดกล้ามเนื้อ โดยขายราคากล่องละ 1,800 บาท แถมยังบอกอีกว่า ทาแก้ปวดขา ทาตรงที่ปวดแล้วจะหาย เดินได้ เมื่อใช้ไปครึ่งกระปุกให้เติมน้ำลงไป คนๆ ให้ทั่ว แล้วก็ใช้ได้เหมือนปกติ สุดท้ายเมื่อตนซื้อมาใช้แล้วอาการปวดก็ไม่หายสรุปแล้วก็เข้าอีหรอบเดิมๆ คือ “อ้างอิงไปทั่ว - มั่วคำโฆษณา - หาเหยื่อยรายใหม่ – สุดท้ายก็ใช้ไม่ได้ผล” ยังไงช่วยกันเตือนผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อ เจอที่ไหนแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ดำเนินการตรวจสอบทันทีเลยครับ จะได้ไม่ต้องเสียเงินพันกว่าบาทไปฟรีๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 ปรอทในครีมหน้าขาว

นาทีนี้การมีผิวหน้าสะอาด ชุ่มชื้น เพียงอย่างเดียวมันไม่เพียงพอเสียแล้ว เรายังรู้สึกเหมือนเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีผิวอ่อนเยาว์ ไร้ริ้วรอย และที่สำคัญต้องขาวใสไร้จุดด่างดำอีกด้วย ผลิตภัณฑ์ที่จะตอบสนองความต้องการดังกล่าวจึงมีออกมาให้เลือกกันมากมายหลายสูตร จนเลือกกันไม่ถูกเลยทีเดียว   มูลนิธิบูรณนิเวศ และนิตยสารฉลาดซื้อได้ร่วมกันเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ครีมที่อ้างสรรพคุณว่าทำให้ผิวหน้ามีสีจางลงหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าครีมหน้าขาว มาตรวจหาสารปรอท ซึ่งกฎหมายประกาศห้ามใช้ งานนี้เรายังได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจังหวัด พะเยา ขอนแก่น กาฬสินธุ์ สมุทรปราการ สงขลา สุราษฎร์ธานี ในการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากพื้นที่เข้ามาให้ด้วย   ครั้งนี้เราตรวจหาสารปรอทใน 47 ผลิตภัณฑ์ ที่เราเก็บตัวอย่างครีมจากซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีก ร้านสินค้าสุขภาพ รวมถึงแผงขายเครื่องสำอางในตลาดนัด ระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2555 มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากกรุงเทพมหานคร 15 ตัวอย่าง และตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากพื้นที่ต่างจังหวัด ได้แก่ นนทบุรี สุราษฎร์ธานี พะเยา สงขลา สมุทรปราการ กาฬสินธุ์ และขอนแก่น อีก 32 ตัวอย่าง   ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ครีมหน้าขาวทั้งหมดถูกส่งไปวิเคราะห์หาปริมาณสารปรอททั้งหมด ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของบริษัท อินเตอร์เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยวิธีตามมาตรฐานของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   เราบอกคุณไม่ได้ว่าทาครีมยี่ห้อไหนแล้วจะขาวกว่ากัน แต่เรารู้แน่ว่ามีถึง 10 ผลิตภัณฑ์ (จากทั้งหมด 47 ผลิตภัณฑ์) ที่มีสารปรอทปนเปื้อน โดย “ครีมน้ำนมข้าว” ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีคว้าแชมป์ผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรอทมากที่สุด มากถึง 99,070 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามด้วย “ครีมไวท์โรส” จากสงขลา ที่มีปริมาณปรอทปนเปื้อน 51,600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนที่เหลืออีก 8 ผลิตภัณฑ์นั้นดูได้จากรายละเอียดในหน้าถัดไป   ซื้อแพงไว้ก่อนดีหรือไม่? นี่เป็นอีกครั้งที่เราพบว่าราคาที่แพงกว่า ไม่ได้รับรองว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะปราศจากสารอันตรายเสมอไป เช่น ผลิตภัณฑ์ “ไบโอคอลลาเจน” ที่มีราคาถึง 28 บาท ต่อกรัม มีสารปรอทถึง 47,960 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือครีม “มาดาม” ที่ราคากรัมละ 30 บาท ก็มีสารปรอทถึง 3,435 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “เภสัช” ซึ่งเราตรวจพบปริมาณสารปรอทต่ำกว่า 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นั้นมีราคาต่อหน่วยเท่ากับ 0.4 บาทเท่านั้น                ที่มา : องค์การอนามัยโลก, 2011 ---   ยุทธศาสตร์ไซคัม ยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีระหว่างประเทศ หรือยุทธศาสตร์ไซคัม (Strategic Approach to International Organization on Chemicals Management หรือ SAICM) มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ส่งเสริมให้เกิดการจัดการสารเคมีอย่างเหมาะสมตลอดวงจรชีวิตของสารเคมีนั้น ๆ ภายในปี พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ. 2020 การผลิตและการใช้สารเคมีจะต้องให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่จะปกป้องสังคมโลกให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย   ความเคลื่อนไหวที่สำคัญภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ไซคัมที่กำลังจะเกิดขึ้น ได้แก่ การพัฒนาข้อตกลงสากลว่าด้วยเรื่องสารปรอท (Mercury Treaty) นั่นเอง   หลักการพื้นฐาน 5 ข้อของยุทธศาสตร์ไซคัม 1) ลดความเสี่ยงจากสารเคมีอันตราย 2) ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและการส่งเสริมองค์ความรู้ต่างๆ 3) สร้างธรรมาภิบาล 4) เสริมสร้างศักยภาพและความร่วมมือทางเทคโนโลยี และ 5) ห้ามการขนส่งของเสียอันตรายข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >