ฉบับที่ 251 ผลทดสอบสารทาเลตและบีพีเอในผลิตภัณฑ์พลาสติกบรรจุอาหาร

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภคสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลและโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ          ทาเลท (Phthalates) เป็นสารเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกลซึ่งเมื่อเติมลงในพลาสติกแล้วจะทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น (ATSDR, 2002) phthalates ส่วนใหญ่โดยเฉพาะ DEHP และ DINP (ชนิดของทาเลท) ผลิตและใช้สำหรับการเคลือบของโพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ซึ่งเป็นสารพลาสติกทั่วไปที่ใช้มากที่สุดในโลก ผลที่ตามมาต่อสุขภาพของมนุษย์ที่เกิดจากการสัมผัสกับสารเหล่านี้เป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน ความเป็นพิษของทาเลทมุ่งเป้าไปที่การรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysruptor) มีผลต่อฮอร์โมนทัยรอยด์ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Boas et al.)  ฮอร์โมนอินซูลิน ฮอร์โมนเพศ และส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์         นอกจากนี้ยังมีสารที่อยู่ในภาชนะบรรจุอาหาร น้ำดื่ม อีกชนิดหนึ่งที่มีผลรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysrupter)  ได้แก่ สารบีพีเอ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือบีพีเอเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง และเป็นสารทำให้พลาสติกแข็งขึ้น พบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นขวดน้ำดื่มโพลีคาร์บอเนต ขวดนมพลาสติกแข็ง ถ้วยน้ำสำหรับเด็ก ภาชนะบรรจุอาหารภาชนะใส่น้ำและยังใช้เคลือบในกระป๋องอาหาร ทั้งนี้มนุษย์อาจจะได้รับสารบีพีเอจากอาหารน้ำดื่มที่สัมผัสอยู่บนพื้นผิวภาชนะพลาสติกที่มีสารบีพีเอ โดยสารบีพีเอสามารถหลุดออกจากภาชนะเข้าสู่อาหารน้ำดื่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีของเหลวที่ถูกทำให้ร้อนหรือภาชนะที่มีรอยขีดข่วน         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยในสินค้าแก่ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค, สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกที่นำมาบรรจุอาหาร จำนวนทั้งหมด 30 ตัวอย่าง ประกอบด้วยภาชนะพลาสติกที่มีแบรนด์ ไม่มีแบรนด์ ซื้อจากห้าง ซื้อจากตลาด ซื้อจากร้าน 20 บาท ภาชนะที่บรรจุอาหารปรุงเสร็จในร้านสะดวกซื้อ และภาชนะที่จัดมาให้ในอาหารสำเร็จรูป เพื่อดำเนินการตรวจวิเคราะห์หาสารทาเลตอันตรายทั้ง 7 ชนิด และ สารบีพีเอ โดยวิธีการทดสอบทาเลตอ้างอิงตาม EN 14372: 2004, Extraction with organic solvent, determination by GC-MS. ส่วนการทดสอบ บีพีเอ (Bisphenol A); CAS No. 80-05-7 ทดสอบโดยสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์และวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือ Liquid Chromatography-Mass Spectrometry (LC-MS) โดยบริษัท TUV เป็นผู้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ ผลการทดสอบ         ผลไม่พบสารทาเลททั้ง 7 ชนิด ที่ระดับ 60 มก./กก. (.006%) หรือสูงกว่าเลย (ดูตารางที่ 1) และการทดสอบหาการปนเปื้อนของสารบิสฟีนอล (เอ) ผล ไม่พบสารดังกล่าวที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมหรือมากกว่า สรุป         ภาชนะบรรจุอาหารที่อยู่ในตลาดและได้รับการสุ่มตรวจ 30 ตัวอย่างทั้งแบบราคาสูงและราคาต่ำ ไม่พบสารทาเลทหรือ บีพีเอเกินกว่าค่ามาตรฐาน         อย่างไรก็ตามสารทาเลทในพลาสติกยังอาจก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับตัวพลาสติกเอง เนื่องจากกระบวนการผลิตมีการปล่อยสารพิษเข้าไปในอากาศและน้ำทำให้เกิดภาวะมลพิษ และต้องอาศัยพลังงานสูง นอกจากนี้พลาสติกยังเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก การรีไซเคิลจะมีคุณภาพด้อยลงจากผลิตภัณฑ์ก่อนการรีไซเคิล ดังนั้นจึงไม่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมได้ ซึ่งในกระบวนการรีไซเคิลนี้ต้องมีการเพิ่มวัตถุดิบหรือต้นทุนด้านอื่นๆ อีกด้วย ส่วนการเผาขยะพลาสติกชนิดพีวีซีจะเป็นตัวก่อให้เกิดสารไดออกซิน ผู้บริโภคจึงควรลดการใช้ภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ผลิตควรมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ในการดำเนินการเรื่องการจัดการขยะพลาสติก รวมทั้งการลงทุนในงานวิจัยด้านภาชนะบรรจุอาหารที่ปลอดภัยทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อคนโดยเฉพาะสำหรับเด็ก   ตารางที่ 1          ทาเลทเป็นสารเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกลซึ่งเมื่อเติมลงในพลาสติกแล้วจะทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น (ATSDR, 2002) phthalates ส่วนใหญ่โดยเฉพาะDEHP และ DINP ผลิตและใช้สำหรับการเคลือบของโพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ซึ่งเป็นสารพลาสติกทั่วไปที่ใช้มากที่สุดในโลก มีการใช้งานตั้งแต่อุตสาหกรรมยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ของเล่นและผลิตภัณฑ์ในการดูแลเด็ก สหภาพยุโรปได้รับกำหนดทาเลท 5 ชนิดที่มีความสำคัญและต้องควบคุม ได้แก่ ทาเลทที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง: di-isononyl phthalate (DINP), di-isodecyl phthalate (DIDP) เป็น 80% ของทาเลทที่ใช้ในยุโรป ทาเลทที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ: dibutyl phthalate (DBP), benzyl-butyl phthalate (BBP), di-2-ethyl-hexyl phthalate (DEHP) ซึ่งมีอันตรายมากกว่าและเป็นพิษ         ผลที่ตามมาต่อสุขภาพของมนุษย์ที่เกิดจากการสัมผัสกับสารเหล่านี้เป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน ความเป็นพิษของทาเลทมุ่งเป้าไปที่การรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysruptor) มีผลต่อฮอร์โมนทัยรอยด์ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Boas et al.)  ฮอร์โมนอินซูลิน ฮอร์โมนเพศ และส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ ตัวอ่อนในครรภ์มารดาที่ได้รับทาเลทพบว่าระยะห่างระหว่างรูทวารกับอวัยวะเพศมีลักษณะแคบกว่าเด็กปกติ (anogenital distance) (Swan et al.,Environ Health Perspect. 2005)  ทารกที่ได้รับสารทาเลทจากนมแม่ มีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของฮอร์โมนเพศโดยลดฮอร์โมนเพศชาย และเกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง (Main et al., Environ Health Perspect. 2006) และยังมีความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับสารทาเลท(ทั้งในครรภ์และระหว่างผู้ใหญ่) กับน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น (Tang-Peronard et al., Obesity Reviews, 2011) และโรคเบาหวาน (Swensson et al., Envir. Res.) ในเพศชายที่ได้รับสารทาเลทสูงพบเชื้ออสุจิมีรูปร่างผิดปกติและมี DNA เสียหาย รวมทั้งพบการหลั่งฮอร์โมนของการสร้างน้ำนม (โปรแลคติน) (Duty et al., Hauser et al) พบว่าความเข้มข้นของสารเมตาโบไลต์ของทาเลทที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยาก (Trafno G. et al. tox. lett., 2011) อย่างมีนัยสำคัญ        แต่ก็อาจเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ กระบวนการก่อมะเร็งและแม้กระทั่งในความผิดปกติของออทิสติกสเปกตรัม พบว่า การได้รับทาเลทในวัยเด็กมีความเกี่ยวข้องกับโรคเยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรัง และโรคหอบหืด (Bornehag et al., 2004) (Jaakkola et al., 1999) การให้ DEHP ทำให้เกิดมะเร็งตับ (Ito et al., 2007) และตับอ่อนในหนู (Selenskas et al.,1995) พบเนื้องอกของระบบสืบพันธ์เช่น endometriosis และ uterine leiomyomata มีความสัมพันธ์กับระดับของสารทาเลท (Weuve et al., Environ Health Perspect. 2010) นอกจากนั้นยังมีการศึกษาในเด็กออทิสติก 48 คน พบว่าปัสสาวะของเด็กเหล่านี้มีสาร DEHP สูงกว่าเด็กปกติอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นในมาตรฐานสากลและในหลายประเทศได้มีการควบคุมสารทาเลท        นับวันประชากรทั่วโลกจะได้รับสารทาเลทมากขึ้น การศึกษาการได้รับสาร DEHP ซึ่งเป็นทาเลทชนิดหนึ่ง ในประชากรผู้ใหญ่ชาวเยอรมันที่ไม่ได้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง 85 ราย (Koch et al., 2003) และเด็กๆ 254 ราย (Becker et al., 2004) พบว่าเด็กได้รับสาร DEHP เข้าสู่ร่างกายสูงกว่าปริมาณอ้างอิง (RfD, 20 ไมโครกรัม/กก/วัน) ถึง 26 คน (ร้อยละ 10.23) ขณะที่ผู้ใหญ่พบสารสูงกว่าค่าอ้างอิง 7 คน (ร้อยละ 5.95) จึงสันนิษฐานได้ว่าเด็กมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการได้รับ DEHP มากว่าผู้ใหญ่ และอาจเป็นเพราะการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้นในเงื่อนไขต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว ในสหภาพยุโรปได้จำกัดการใช้ทาเลทในภาชนะอาหารหรืออุปกรณ์การกินทั้งหลายที่สัมผัสกับอาหารที่นำเข้าปากมาเป็นเวลาหลายปี  เนื่องจากอาจเกิดการเคลื่อนย้ายสารทาเลทจากภาชนะพลาสติกไปยังอาหาร พบว่ากระบวนการนี้จะถูกเร่งให้เร็วขึ้นโดยให้ความร้อน (Directive 2002/72/EC) และอาหารที่มีไขมัน         สารที่อยู่ในภาชนะบรรจุอาหาร น้ำดื่ม อีกชนิดหนึ่งที่มีผลรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysrupter)  ได้แก่ สารบีพีเอ บีพีเอเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง และเป็นสารทำให้พลาสติกแข็งขึ้น พบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นขวดน้ำดื่มโพลีคาร์บอเนต ขวดนมพลาสติกแข็ง ถ้วยน้ำสำหรับเด็ก ภาชนะบรรจุอาหารภาชนะใส่น้ำและยังใช้เคลือบในกระป๋องอาหาร มนุษย์ได้รับสารบีพีเอจากอาหารน้ำดื่มที่สัมผัสอยู่บนพื้นผิวภาชนะพลาสติกที่มีสารบีพีเอ สารบีพีเอสามารถหลุดออกจากภาชนะเข้าสู่อาหารน้ำดื่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีของเหลวที่ถูกทำให้ร้อนหรือภาชนะที่มีรอยขีดข่วน บีพีเอถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย         การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า คนส่วนใหญ่จะมีปริมาณสารบีพีเอวัดได้ในปัสสาวะ ในสัตว์ทดลองพบว่าสารบีพีเอเป็นสารก่อกวนต่อมไร้ท่อที่เลียนแบบผลของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งจะรบกวนการทำงานของฮอร์โมนหลายอย่างของร่างกายเช่น ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน ฮอร์โมนทัยรอยด์ นอกจากนั้นยังพบว่า มีผลรบกวนระบบเผาผลาญอาหารได้แก่การทำงานของอินซูลิน และมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ การแท้งบุตรซ้ำ ความผิดปกติของโครโมโซมในทารกในครรภ์         ส่วนสารทาเลทยังถูกพบว่า ได้ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั้งในดินและน้ำ. อาจส่งผลรบกวนระบบฮอร์โมนต่อมไร้ท่อของมนุษย์ได้ในห่วงโซ่อาหารและน้ำ (Rzybylinska P A and WyszkowskI M, ECOL CHEM ENG S. 2016)         มาตรฐานความปลอดภัยชองสารทั้งสองชนิดในผลิตภัณฑ์เด็กรวมทั้งภาชนะบรรจุอาหารและน้ำดื่ม ที่เด็กเป็นผู้ใช้ ได้กำหนดค่าปริมาณสารทาเลตต่อน้ำหนักวัสดุ และปริมาณสารทาเลทหรือบีพีเอที่สามารถเคลื่อนตัวออกมาจากพลาสติกมาปนเปื้อนกับอาหารหรือสามารถสัมผัสได้ทางผิวหนัง สูดดมหรือทางปาก หากเป็นภาชนะอาหารเพื่อดูว่าจะมีสารนี้รั่วไหลออกมาสัมผัสกับอาหารได้มากน้อยเพียงใด         ตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2020 สหภาพยุโรปได้เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสารทาเลทในของเล่นและผลิตภัณฑ์ของใช้กับเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาชนะและอุปกรณ์ที่สัมผัสอาหารและนำเข้าปาก โดยให้รวม สารทาเลท 4 ชนิด (จากเดิม 3 ชนิด) ได้แก่ DBP/ BBP/ DEHP + DIBP แล้วต้องน้อยกว่า 0.1% ของน้ำหนักวัสดุ และกำหนดค่าสารทาเลทที่เคลื่อนตัวออกมาจากพลาสติก (SML: specific migration limit) กำหนดไว้ที่ 60 มก./กก. (.006%)         สำหรับสารบีพีเอ ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นโมโนเมอร์ในการผลิตวัสดุสัมผัสอาหารพลาสติก และยังใช้เพื่อผลิตวัสดุและสิ่งของอื่นๆ ที่สัมผัสกับอาหาร รวมทั้งอีพอกซีเรซินที่ใช้ในเคลือบเงา เมื่อเร็วๆ นี้ ค่า SML ใหม่ถูกกำหนดไว้ที่ 0.05 มก. (หรือ 50ไมโครกรัม) /กก. โดยระเบียบคณะกรรมาธิการ (EU) และไม่อนุญาติให้มีส่วนประกอบของสารนี้ในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอายุน้อยกว่าสามปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2563

สมอ.ปรับแก้มาตรฐานคุมสารทาเลตในของเล่นเด็ก        สมอ. แก้ไขมาตรฐานของเล่น เพิ่มการตรวจหาสารทาเลตและคุมเข้มปริมาณสารโลหะหนัก พร้อมเตรียมกำหนดมาตรฐานเพิ่มอีก เครื่องเล่นสนามสาธารณะ ชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก         นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. ได้ดำเนินการปรับแก้ไขมาตรฐานของเล่นให้มีความทันสมัย ทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน  เพื่อป้องกันอันตราย หรือผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการเล่น รวมทั้งยกระดับอุตสาหกรรมของเล่นของไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เนื่องจากปัจจุบันของเล่นเด็กมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งรูปแบบและวัสดุที่ใช้ทำ ทั้งนี้ มาตรฐานของเล่น มอก. 685-2540 ได้ปรับแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ใช้งาน เช่น เพิ่มการตรวจสอบหาสารทาเลตซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ใช้ในกระบวนการผลิตพลาสติกในกลุ่มพีวีซีเพื่อให้เนื้อพลาสติกมีความอ่อนตัว สมอ.ต้องควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายตามมาตรฐานสากล ซึ่งเดิมไม่ได้มีการกำหนดไว้ โดยมีเกณฑ์ควบคุมปริมาณของสารทาเลตสำหรับของเล่นเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบและของเล่นที่สามารถนำเข้าปากได้ ต้องไม่เกิน 0.1% โดยมวล และแก้ไขการตรวจหาสารโลหะหนัก ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของเล่นที่มีการสัมผัสโดยตรงให้เข้มข้นขึ้น เช่น ฟิงเกอร์เพนต์ ซึ่งเป็นสีน้ำที่เด็กใช้มือสัมผัสโดยตรง ปริมาณสารตะกั่วต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากเดิมต้องไม่เกิน 90 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือสารหนูต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากเดิมกำหนดเกณฑ์สูงสุดมีได้ไม่เกิน 25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้เห็นชอบมาตรฐานดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ประมาณต้นปี 2563          นักวิจัย มช. พบการใช้ยาปฏิชีวนะในสวนส้ม         รศ.ดร.ภญ.บุษบัน ศิริธัญญาลักษณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการผลของยาปฏิชีวนะต่อการตกค้างในผลิตภัณฑ์จากส้มเขียวหวานสำหรับการผลิตอย่างแม่นยำ ลุ่มน้ำฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งติดตามปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะแอมพิซิลลินของเกษตรกรสวนส้มเขียวหวาน โดยเกษตรกรใช้เพื่อแก้ปัญหาโรครากโคนเน่า ทั้งนี้แอมพิซิลลินเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ในคน แต่เกษตรกรจะหาซื้อตามร้านขายยาในรูปแบบแคปซูล และนำมาผสมน้ำฉีดพ่นเพื่อป้องกันแบคทีเรียในต้นส้ม          โดยผลการศึกษาในสวนส้ม 3 แห่งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พบว่า ยังคงตรวจพบปริมาณสารปฏิชีวนะในลำต้นส้มในช่วง 90 วัน หลังฉีดสารปฏิชีวนะ ซึ่งแม้ว่ามีการตกค้างของยาปฏิชีวนะในผลส้มในปริมาณที่ถือว่าน้อยมาก แต่แสดงให้เห็นว่ามีการตกค้างอยู่ในผลส้มจริง นอกจากนี้ยังพบว่า สวนส้มที่ใช้ยาปฏิชีวนะมาเป็นเวลานานมีความหลากหลายของเชื้อแบคทีเรียในดินน้อยมาก และยังพบเชื้อดื้อสารปฏิชีวนะในปริมาณสูงอีกด้วย         ข่าวปลอม ซึมเศร้า NCD เรื่องน่าห่วงสุขภาพคนไทย         สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวที Thaihealth Watch จับตาประเด็นพฤติกรรมสุขภาพคนไทย ปี 2563 ในกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งประเด็นที่น่าจับตาในกลุ่มเด็กและเยาวชน คือ ปัญหาความเครียด ภาวะซึมเศร้า ภัยคุกคามทางออนไลน์ อุบัติเหตุทางคมนาคม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์        โดยพบว่าสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นเครียดเป็นอันดับ 1 มาจากปัญหาครอบครัว ตามด้วยเรื่องหน้าที่การงาน การถูกกลั่นแกล้ง และความรุนแรง ส่วนปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์ ซึ่งผลวิจัยพบว่า เด็กที่ใช้เวลากับโลกออนไลน์มาก ยิ่งเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งและเป็นผู้กลั่นแกล้งทางออนไลน์ถึง 3 เท่า ส่วนปัญหาอุบัติเหตุทางคมนาคม พบว่ากลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มใส่หมวกกันน็อกลดลง และพบการบาดเจ็บและเสียชีวิตในกลุ่มเยาวชนจากมอเตอร์ไซค์ และแม้อัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นลดลง แต่อัตราการติดโรคทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสและหนองใน         สำหรับประเด็นพฤติกรรมสุขภาพที่น่าเป็นห่วงในกลุ่มวัยทำงาน คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน หรือ โรคในกลุ่ม NCDs เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน หัวใจขาดเลือด จากผลการสำรวจพบว่ากลุ่มคนวัยทำงานเน้นการบริโภคอาหารรสจัด และเน้นที่รูปลักษณ์ ขณะที่เด็ก คนโสด คนทำงานบริษัทกินผักน้อยที่สุด         นอกจากนี้ยังพบ ปัญหาข่าวปลอม หรือ fake news เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพที่มีการแชร์กันมาก เช่น อังกาบหนูรักษามะเร็ง, น้ำมันกัญชารักษามะเร็ง, หนานเฉาเว่ยสารพัดโรค, บัตรพลังงานรักษาสารพัดโรค และปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมไปถึงปัญหาขยะอาหาร หรือ อาหารส่วนเกินอีกด้วย          ธปท. ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ด้วยมาตรการปรับ “ดอกเบี้ย - ค่าธรรมเนียม”                ธนาคารแห่งประเทศไทยมอบนโยบายให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 3 เรื่อง ได้แก่          1) ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด สำหรับสินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด โดยให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ จากเดิมที่คิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน และให้กำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอน          2) ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด โดยกำหนดให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวดที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น โดยให้สถาบันการเงินกำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด รวมถึงให้ชี้แจงแสดงรายละเอียดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ หรือ ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ให้ชัดเจน          3) ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรให้ผู้ใช้บริการ และการให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมในการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน หรือให้พิจารณาจัดเก็บตามความเหมาะสม        นอกจากนี้ ธปท.ยังขอให้ผู้ให้บริการนำหลักการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 4 เรื่องไปปรับใช้ ได้แก่ 1) สะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ 2) คำนึงถึงความสามารถในการชำระและไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควร 3) ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และ 4) เปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน              มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นเรื่อง กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค ตรวสอบการต่อสัมปทานทางด่วนให้ BEM         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และภาคประชาชน เข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการต่ออายุสัญญาสัมปทานระยะที่ 2 ของคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)  ให้กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)         โดยมูลนิธิฯ และเครือข่ายฯ ได้ให้เหตุผลว่า การต่ออายุสัมปทานดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า 2 แสนล้านบาท และอาจส่งผลให้ผู้บริโภคต้องเสียประโยชน์โดยการจ่ายค่าผ่านทางแพงขึ้นจนถึงปี 2578 อีกทั้งยังพบว่า กระบวนการต่ออายุสัมปทานมีการอ้างอิงมูลค่าความเสียหายจากคดีที่ยังไม่มีการฟ้องร้องขึ้นจริงมาคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประกอบการตัดสินใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ของเด็กเล่นต้องปลอดภัย

ของ “เด็ก” เล่น        ของเล่น ในความเข้าใจของคนทั่วไปคือ สิ่งของที่มีไว้สำหรับ “เล่น” ของเด็ก เพื่อให้สนุกและเพลิดเพลิน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงนัก เพราะ ”ของเล่น” นั้น คนทุกวัยสามารถสนุกและเพลิดเพลินได้ ซึ่งมนุษย์รู้จักนำสิ่งของทั่วไปจากธรรมชาติหรือประดิษฐสิ่งของขึ้นเพื่อเล่นมาตั้งแต่อดีตกาล มีหลักฐานสืบค้นได้จากวัฒนธรรมเก่าแก่โบราณคือ ว่าว ลูกดิ่ง(โยโย่) ลูกบอล เป็นต้น         อย่างไรก็ตามการเล่นสิ่งของของเด็กมีความพิเศษต่างไปจากวัยอื่น เพราะของเล่นถือเป็นสื่อการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความสุขและพัฒนาการในด้านต่างๆ สำหรับเด็กด้วย  โดยพื้นฐานแล้วของเล่นทุกประเภทนั้นมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกายที่ดี ของเล่นที่ต้องใช้กำลังและการเคลื่อนไหวของร่างกาย สามารถช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้แข็งแรงเพื่อช่วยควบคุมการทรงตัวและรองรับการเติบโตของร่างกายในแต่ละช่วงวัย ขณะที่การเล่นของเล่นที่ใช้การสัมผัสหยิบจับและอาศัยนิ้วมือในการควบคุม เช่น การปั้นดินน้ำมัน การเล่นตัวต่อประเภทต่างๆ สามารถช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กที่ช่วยควบคุมนิ้วมือให้ทำงานที่มีความละเอียดอย่างการวาดรูป เขียนหนังสือ ได้เป็นอย่างดี ส่วนในด้านของพัฒนาการทางสติปัญญา ของเล่นช่วยให้เด็กเพิ่มความสามารถในการคิด การวางแผน การวางลำดับขั้นตอน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อีกทั้งยังเสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ด้วย         ของเล่นนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งประดิษฐเสมอไป แค่กิ่งไม้ ดิน ทราย กระดาษ ก็เป็นของที่เด็กนำมาเล่นได้ แต่สำหรับโลกปัจจุบันของเล่นในรูปแบบสิ่งประดิษฐนั้นมีจำนวนมากมายมหาศาล ซึ่งผลิตและจำหน่ายในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีทั้งสินค้าของเล่นที่ผลิตในประเทศและสินค้าของเล่นที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครองจำเป็นต้องมีความรู้และความใส่ใจในการเลือกซื้อของเล่นให้ลูกได้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัย เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความอ่อนไหวเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากของเล่นได้ง่ายและรุนแรงถึงขนาดก่อผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวหรือถึงแก่ชีวิตได้  ในเกือบทุกประเทศของเล่นจึงเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมด้วย กฎ ระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าในระดับสูง ในส่วนของประเทศไทย “ของเล่น” สำหรับเด็ก ถือเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมมาตรฐานโดยกระทรวงอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้เด็กๆ ได้รับความปลอดภัยและรอดพ้นจากอันตรายเมื่อเล่นของเล่นทำไมไทยจึงยังมีปัญหาจากของเล่นไม่ได้มาตรฐาน        แม้มีการกำหนดให้ของเล่นเป็นสินค้าที่ต้องมีตรา มอก.หรือมาตรฐานบังคับ แต่เมื่อพิจารณาจากข่าวสารและงานวิจัยหลายฉบับพบว่า ยังคงมีสินค้าของเล่นที่ไม่ได้มาตรฐานวางจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ได้แก่        1.ผู้บริโภคนิยมซื้อของเล่นที่วางจำหน่ายในตลาดที่เน้นราคาถูก และนิยมของเล่นที่เป็นสินค้าเลียนแบบสินค้าลิขสิทธิ์(ของปลอม) ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไม่มีสัญลักษณ์มาตรฐาน มอก. หรือมีตราสัญลักษณ์ที่ปลอมขึ้นมา สินค้าประเภทนี้มักพบในร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าราคาประหยัดทุกชิ้นราคาเดียว ซึ่งร้านค้าประเภทนี้มีการกระจายตัวไปทั่วประเทศในเกือบทุกชุมชน ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยากที่จะเข้าไปตรวจสอบและดำเนินคดีได้ทั่วถึง และยังรวมไปถึงร้านค้าที่ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายแต่ยากแก่การกำกับดูแล        2.ช่องโหว่ของกฎหมายในการตรวจสอบโรงงานผู้ผลิต เพราะ “ของเล่น” จำนวนมากในตลาดไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นของเล่นตามกฎหมาย ทำให้หน่วยงานที่กำกับดูแลไม่อาจเข้าไปดำเนินการตรวจสอบได้นิยาม “ของเล่น” ตาม มอก.685-2540 คือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อให้เด็กอายุไม่เกิน 14 ปีบริบูรณ์ใช้เล่น        ของเล่นโดยนิยามนี้คือ “ผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบให้เด็กเล่น” และ “เด็กหมายถึงผู้มีอายุไม่เกิน 14 ปี” ดังนั้นหากเป็นสินค้าที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าไม่แสดงเจตนาว่าเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภควัยใด สินค้านั้นจะไม่จัดเป็นของเล่นตามนิยามนี้ แต่ในส่วนของการวางจำหน่าย ส่วนใหญ่ผู้ขายจะจงใจนำสินค้าที่ไม่เข้านิยามของเล่นไปจำหน่ายให้แก่เด็ก เช่น การวางขายปะปนในชั้นวางของเล่น หรือจำหน่ายในร้านที่ขายเฉพาะของเล่นที่มีเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมาย        3.การขาดระบบการตรวจสอบหลังการวางจำหน่าย การกำหนดให้ของเล่นได้มาตรฐาน มอก. ทำให้ผู้ผลิตของเล่นสำหรับเด็กตามนิยามกฎหมายต้องผลิตให้ได้มาตรฐาน โดยจะมีการตรวจสอบโรงงานและนำสินค้าไปทดสอบก่อนได้รับมาตรฐานและวางจำหน่าย เช่นเดียวกันกับการนำเข้าเจ้าหน้าที่จะตรวจดูเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและเก็บตัวอย่างไปทดสอบกับหน่วยตรวจ จึงจะได้รับใบอนุญาต แต่เมื่อได้รับการอนุญาตแล้ว กฎหมายมิได้กำหนดอายุของใบอนุญาต ทำให้ภายหลังจากการได้รับอนุญาตของเล่นเด็กหรือการนำเข้าของเล่นเด็กแล้ว ของเล่นที่ได้รับการอนุญาตจะไม่ได้รับการติดตามตรวจสอบควบคุมคุณภาพอย่างเหมาะสม         แม้กฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้กำหนดหน้าที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องมีการติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับตรามาตรฐานบังคับ แต่ในทางปฏิบัติกฎหมายฉบับนี้มีผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจำนวนมากที่อยู่ในการกำกับดูแลความปลอดภัย  ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่จะติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก็ต่อเมื่อได้รับการร้องเรียนหรือเมื่อพบว่าความเป็นอันตรายของสินค้าได้เกิดขึ้นแล้ว นอกจากนี้ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจเอง กฎหมายมิได้กำหนดหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบของเล่นเด็กที่วางจำหน่ายในท้องตลาดแต่อย่างใด        4.ข้อกำหนดสำหรับการกำกับดูแลความปลอดภัยในของเล่นในระดับสากลมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น ในขณะที่มาตรการกำกับดูแลของไทยยังมีข้อจำกัดอยู่มากและไม่ทันสถานการณ์ โดยเฉพาะข้อกำหนดด้านความปลอดภัย เช่น ยังมิได้กำหนดห้ามสารในกลุ่มทาเลต(Phthalates) นำมาเป็นส่วนประกอบในของเล่นเด็ก ซึ่งในมาตรฐานสากลที่เกี่ยวกับของเล่นเด็กอย่าง EN 71 (มาตรฐานสหภาพยุโรป) และ ASTM F 963 (มาตรฐานสหรัฐอเมริกา) ได้กำหนดห้ามไว้นานแล้วข้อมูลนลินี ศรีพวงและคณะ. การศึกษาวิจัยพิษและอันตรายในของเล่นเด็กและมาตรการความปลอดภัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, 2551. “มาตรการทางกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในของเล่นเด็ก” ศรารัตน์ อิศราภรณ์.วารสารบัณฑิตศึกษานิติศาสตร์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม - ธันวาคม 2561)“มหาภัยของเด็กเล่น” http://www.csip.org/csip/autopage/show_page.php?h=119&s_id=30&d_id=24&page=1&start=1“วันเด็กกับสถานการณ์อันตรายของเล่นในประเทศไทย” http://www.csip.org/csip/autopage/print.php?h=119&s_id=153&d_id=153&page=1

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ผลทดสอบสารทาเลตในของเล่น/ ของใช้พลาสติก

ทาเลต (Phthalates) เป็นกลุ่มของสารที่ใช้ผสมในพลาสติกชนิดโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) เพื่อเพิ่มภาวะการคืนรูป ลดความหนืด โดยทำให้เกิดความอ่อนนิ่มมากขึ้น ทาเลตไม่มีพันธะเคมีที่เชื่อมต่อกับพีวีซี จึงสามารถเคลื่อนย้ายออกจากผลิตภัณฑ์พีวีซีไปเกาะติดกับส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ โดยเฉพาะของเล่นเด็กและของใช้พลาสติกที่อาจมีส่วนประกอบของทาเลต เมื่อเด็กใช้มือหยิบจับสัมผัสของเล่นของใช้ ก็อาจได้รับสารทาเลตได้        ทาเลตบางชนิดจัดว่าเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย โดยกลไกการออกฤทธิ์ต้านแอนโดรเจน ซึ่งขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนเพศชาย ทาเลตบางชนิดจึงมีข้อจำกัดในของเล่นและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก เช่นในสหรัฐอเมริกาได้ประกาศระเบียบภายใต้กฎหมาย PUBLIC LAW 110-314 มาตรา 108 เพื่อควบคุมปริมาณทาเลตในของเล่นเด็กและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ให้มีทาเลตได้ไม่เกินร้อยละ 0.1 โดยน้ำหนัก ซึ่งในสหภาพยุโรปและแคนาดาก็มีการออกกฎหมายควบคุมเช่นกัน         เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการควบคุมปริมาณทาเลตในสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็กอย่างชัดเจน ด้วยเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ ได้ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สุ่มเก็บตัวอย่างของเล่นเด็ก ของคล้ายของเล่นที่เด็กอาจนำมาเป็นของเล่น และของใช้ประเภทพลาสติกชนิดโพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) จากร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ท้องตลาด และบริเวณหน้าโรงเรียน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และในเว็บไซต์ห้างออนไลน์ ซึ่งมีคุณลักษณะผิวสัมผัสนิ่ม สามารถกด ยืด หรืองอได้ จำนวน 51 ตัวอย่าง ในเดือนพฤษภาคม 2562 ส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์อนุพันธ์ทาเลตทั้งหมด 6 ชนิด (ที่สกัดได้จากพลาสติก ยาง และสารเคลือบ ในบริเวณหรือส่วนที่สัมผัสถึง) ได้แก่         1) บิส-2-เอทิลเฮกซิลทาเลต  bis-(2-ethylhexyl) phthalate (DEHP)         2) ไดนอร์มอลบิลทิลทาเลต  di-n-butyl phthalate (DBP)           3) เบนซิลบิวทิลทาเลต  Benzyl butyl phthalate (BBP)          4) ไดไอโซโนนิลทาเลต  di-iso-nonyl phthalate (DINP)          5) ไดไอโซเดซิลทาเลต  di-iso-decyl phthalate (DIDP)         และ 6) ไดนอร์มอลออกทิลทาเลต  di-n-octyl phthalate (DNOP)          เพื่อเปรียบเทียบกับข้อกำหนดในกฎหมายเกี่ยวกับทาเลตในของเล่นของสหภาพยุโรป และมาตรฐานอุตสาหกรรม (ฉบับร่าง)โดยเกณฑ์กำหนดสูงสุดของปริมาณรวมของอนุพันธ์ทาเลตในตัวอย่างของเล่น แสดงดังตารางต่อไปนี้ซึ่งผลทดสอบปริมาณอนุพันธ์ทาเลตทั้ง 7 ชนิด จากตัวอย่างของเล่น/ของใช้  แสดงดังตารางต่อไปนี้ตารางแสดงผลทดสอบปริมาณอนุพันธ์ทาเลต จากตัวอย่างของเล่น/ของใช้ ทั้งหมด 51 ตัวอย่างสรุปผลการสำรวจ        ผลการตรวจของเล่น/ของใช้ จำนวนทั้งหมด 51 ตัวอย่าง พบสารทาเลต (phthalates) เกินกว่าค่ามาตรฐานสากล จำนวน 18 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 35.29 โดยชนิดของอนุพันธ์ทาเลตที่ตรวจพบมากที่สุด คือ บิส-2-เอทิลเฮกซิลทาเลต  bis-(2-ethylhexyl) phthalate (DEHP)แผนภูมิผลการทดสอบปริมาณทาเลตในตัวอย่างของเล่น/ ของใช้ 51 ตัวอย่าง        และยังพบว่า ของเล่นที่ตรวจพบค่าทาเลตรวมสูงสุด 3 อันดับแรก เป็นของเล่นประเภทตุ๊กตาบีบได้ รูปสัตว์ชนิดต่างๆ ได้แก่        1)  ยางบีบหมู จาก ตลาดบางพลัด (หน้าเมเจอร์ปิ่นเกล้า) ตรวจพบปริมาณทาเลตรวมกันเท่ากับ  37.86 (หน่วยเป็นร้อยละเศษส่วนโดยมวล) ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ (ต้องไม่เกิน 0.1) ประมาณ 378 เท่า         2)  แรคคูณสีเหลือง จาก ร้านค้าเช่น ชั้น 2 ห้างเซ็นจูรี่ฯ อนุสาวรีย์ชัยฯตรวจพบปริมาณทาเลตรวมกันเท่ากับ  36.42 (หน่วยเป็นร้อยละเศษส่วนโดยมวล)                 และ 3)  พะยูนสีเขียว จาก ร้านค้าเช่าขายของเล่น แฟลตคลองจั่น ตรวจพบปริมาณทาเลตรวมกันเท่ากับ  35.739 (หน่วยเป็นร้อยละเศษส่วนโดยมวล)         โดยผลทดสอบจากตัวอย่างของเล่น/ของใช้ที่สุ่มซื้อจากห้างสรรพสินค้า จำนวน 20 ตัวอย่าง พบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล 9 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 45         ส่วนตัวอย่างของเล่น/ของใช้ที่สุ่มซื้อนอกห้างสรรพสินค้า จำนวน 25 ตัวอย่าง พบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล จำนวน 9 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 36        ทั้งนี้ จากการสังเกตสัญลักษณ์เครื่องหมาย มอก. พบว่า        ตัวอย่างของเล่น/ของใช้ ที่สุ่มเก็บทั้งหมด 45 ตัวอย่าง (ไม่รวมของเล่นที่สั่งซื้อออนไลน์ 6 ตัวอย่าง) มีสัญลักษณ์เครื่องหมาย มอก. 19 ตัวอย่าง และ ไม่มีเครื่องหมาย 32 ตัวอย่าง        ซึ่งของเล่น/ของใช้ที่มี มอก. 19 ตัวอย่างข้างต้น ตรวจพบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล จำนวน 7 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 36.84        ส่วนที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. 26 ตัวอย่าง ตรวจพบสารทาเลตสูงกว่ามาตรฐานสากล จำนวน 11 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 42         และตัวอย่างของเล่นที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ ทั้งหมด 6 ตัวอย่าง จากร้านค้าในเว็บไซต์ Shopee และ Lazada เป็นของเล่นที่นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่มีคำอธิบายภาษาไทย ไม่มีสัญลักษณ์เครื่องหมาย มอก. ซึ่งไม่พบสารทาเลตสูงเกินค่ามาตรฐานสากล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 สถานการณ์สารพทาเลต DEHP- อันตรายที่สามารถหลีกเลี่ยงได้

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการบทความนี้ ได้ข้อมูลมาจากผลการศึกษาปริมาณของสาร DEHP ที่ปนเปื้อนอยู่ในประชากรชาวเยอรมนีที่ทำการศึกษาโดยสถาบันประเมินความเสี่ยงแห่งสหพันธ์ (Federal Institute for Risk Assessment) กับสำนักงานกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม (Federal Environment Agency) ซึ่งทางยุโรปได้ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลสารเคมีในกลุ่มพทาเลต ที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ยังไม่ได้ทบทวน และประกาศใช้มาตรฐานกำกับผลิตภัณฑ์ที่มีสารพทาเลตเป็นส่วนประกอบ ซึ่งในมิติของการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ใส่ใจต่อสุขภาพของและความปลอดภัยของผู้บริโภค ตลอดจนเป็นการจะช่วยสกัดกั้นป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายหลุดเข้ามาสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภคครับ   สาร DEHP คืออะไร สาร DEHP ย่อมาจาก di (2-ethyl hexyl) phthalate เป็นสารเคมีที่นิยมใช้ในการผลิตพลาสติก เพื่อให้พลาสติกมีความอ่อนตัว เหมือนกับสารพทาเลตตัวอื่นๆ อีกหลายตัว และสหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศให้สาร DEHP เป็นสารพิษที่มีผลกระทบต่อระบบการสืบพันธุ์ของมนุษย์ เนื่องจากมีการอ้างถึง การที่สาร DEHP มีผลต่อระบบสืบพันธ์ และส่งผลทางด้านลบต่อทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาฅ สำหรับผู้ใหญ่การได้รับสาร DEHP ส่วนใหญ่ได้รับผ่านทางการกินอาหาร เข้าสู่ร่างกายซึ่งมีปริมาณน้อย และยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจากปริมาณที่ผู้ใหญ่ได้รับสารเคมีนี้ยังน้อยกว่าปริมาณสูงสุดที่ยอมรับได้โดยไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจากในร่างกายของผู้ใหญ่สามารถที่จะกำจัดสาร DEHP นี้ออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว สำนักงานที่กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยของอาหารแห่งยุโรป (EFSA) ได้กำหนดปริมาณสาร DEHP สูงสุดที่  50 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักมนุษย์ 1 กิโลกรัมต่อวัน ที่ร่างกายมนุษย์สามารถขับออกจากร่างกายได้ โดยที่ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ (TDI: Tolerable Daily Intake) สำหรับข้อมูลจากรายงานการสำรวจในประเทศเยอรมนี พบปริมาณสาร DEHP ที่คนเยอรมนีได้ขับถ่ายออกมาเฉลี่ยที่ปริมาณ 13-21 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม   อาหารประเภทไหนที่อาจมีสาร DEHP ปนเปื้อนอยู่ ? อาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปเช่น เนื้อสัตว์ ไขมัน น้ำมัน ธัญพืช ผลไม้ ผักสด นมและผลิตภัณฑ์จากนม ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ เปรียบเทียบกับอาหารที่ไม่ได้อยู่ในบรรจุภัณฑ์ และอาหารที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการแปรรูป จะมีการปนเปื้อนของ DEHP ในปริมาณสูง เพราะอาหารสามารถที่จะละลายสาร DEHP และพทาเลตตัวอื่นๆ ในระหว่างกระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการบรรจุ ด้วยเหตุผลดังกล่าวมีการสั่งห้ามใช้สาร DEHP ในบรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหารที่มีไขมันในปี 2007 (พ.ศ. 2550) และในปี 2015 อียูก็ได้สั่งห้ามใช้สาร DEHP ในผลิตภัณฑ์อีกหลายตัว (consumer product) หากไม่ได้มีการพิสูจน์ตามมาตรฐานของ REACH ที่เป็นมาตรฐานในการควบคุมและกำกับการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย ในกรณีของเด็ก สาร DEHP ครึ่งหนึ่งของปริมาณสารเคมีที่ได้รับ ผ่านทางอาหาร ส่วนที่เหลือจะได้รับผ่านทางผลิตภัณฑ์อื่นๆ และของเล่น เนื่องจากเด็กจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเล่นบนพิ้นห้อง ซึ่งอาจได้รับสาร DEHP เข้าสู่ร่างกายมากกว่าผู้ใหญ่ ในการศึกษาครั้งนี้ ประมาณกาณ์ว่า เด็กได้รับสาร DEHP ระหว่าง 15-44 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว1 กิโลกรัม แต่ก็ยังต่ำกว่าปริมาณค่าสูงสุดที่ยอมรับได้ (TDI-Value)   วิธีการป้องกันสาร DEHP เข้าสู่ร่างกายได้ดีคือ การรับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ ลดการรับประทานอาหารสำเร็จรูป และกึ่งสำเร็จรูป ลดการบริโภคอาหารสำเร็จรูป ยี่ห้อเดียวกันเป็นประจำ หากจำเป็นต้องเปลี่ยนไปบริโภคยี่ห้ออื่นบ้าง เพราะแต่ละยี่ห้อก็จะมีปริมาณสาร DEHP ไม่เท่ากัน นอกจากนี้ควรหมั่นทำความสะอาดพิ้นสม่ำเสมอในกรณีที่มีเด็กเล็ก และปล่อยให้เด็กเล่นบนพื้นห้อง เลือกของเล่นสำหรับเด็กที่ไม่มีสารพทาเลตเป็นส่วนผสม ซึ่งในยุโรปมีกฎหมายห้ามใช้สาร DEHP ในผลิตภัณฑ์และของเล่นสำหรับเด็กตั้งแต่ปี 1999 (พ.ศ. 2542) ซึ่งยุโรปจะมีเวบไซต์แจ้งเตือนทุกๆสัปดาห์  (RAPEX: http://ec.europa.eu/consumers/dyna/rapex/rapex_archives_en.cfm ) เมื่อมีการตรวจพบผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่มีสาร DEHP ผสมอยู่   ข้อมูลอ้างอิง Phthalate Contamination of the Population in Germany: Exposure-relevant sources, exposure paths and toxicokinetics using the example of DEHP and DINP, Federal Institute for Risk Assessment, Federal Environment Agency, ISSN 1862-4340, 2012

อ่านเพิ่มเติม >