ฉบับที่ 250 กระแสต่างแดน

ทำบุญวิถีใหม่           ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้คนจากประเทศพัฒนาแล้วจำนวนไม่น้อยนิยม “ทำบุญ” ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสด้วยการบริจาคแพะให้กับผู้คนในประเทศยากจน โดยหวังว่าพวกเขาจะได้ใช้ประโยชน์จากมันในการสร้างรายได้ให้ครอบครัวด้วยสนนราคาเพียงตัวละ 12.50 ปอนด์ (ประมาณ 600 บาท) ที่ผ่านมาจึงมีแพะจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่กันดาร แถมแพะยังให้ลูกได้ถึงปีละหกตัว เรียกว่าลงทุนน้อยแต่ได้ผลมากแต่ล่าสุด เจน กูดดอลล์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังออกมาเปิดเผยว่า การเลี้ยงแพะนั้นต้องใช้น้ำมาก ทำให้พื้นที่ๆ แห้งแล้งอยู่แล้วเสี่ยงที่จะแล้งกว่าเดิม ยังไม่นับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ประกอบกับไม่มีสัตว์แพทย์ที่จะดูแลรักษาแพะที่ป่วย โอกาสที่พวกมันจะอยู่รอดจนโตเต็มวัยจึงมีน้อยเธอแนะนำว่า หากต้องการช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้อย่างยั่งยืน ให้นำเงินไปสมทบทุนโครงการศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืช โครงการปรับปรุงคุณภาพดิน หรือโครงการทำระบบชลประทาน จะดีกว่า ผลกระทบมาไกล         งานสำรวจโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมศึกษาแห่งญี่ปุ่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกียวโต และมหาวิทยาลัยคิวชู พบว่า การบริโภคโดยคนญี่ปุ่นส่งผลให้มีผู้คนในประเทศต้นทางที่ผลิตสินค้า เช่น จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย เสียชิวิตก่อนวัยอันควรถึง 42,000 คนต่อปีในจำนวนนี้มีทั้งผู้ใหญ่ที่อายุเฉลี่ย 70 ปี และยังมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบถึง 1,000 คนทีมวิจัยใช้วิธีคำนวณจากข้อมูลประชากร ข้อมูลการปล่อย PM 2.5 จากโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงงานที่ผลิตสินค้า และจำนวนผู้เสียชีวิตจากห้าโรคร้ายที่มีความเกี่ยวข้องกับมลภาวะดังกล่าว เช่น โรคหลอดเลือดสมอง และโรคติดเชื้อบางชนิดนักวิจัยเสนอให้ผู้ประกอบการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษที่ตนเองสร้างขึ้น ทั้งในประเทศตัวเองและที่อื่นๆ ตลอดช่วงอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ รวมถึงแผนการบริหารจัดการมลพิษดังกล่าว เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสนับสนุนผู้ผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคมได้ การขายเชิงรุก           วิธีการขายแบบ “ตีหัวเข้าร้าน” ดูจะไม่จำกัดอยู่ในแวดวงฟิตเนสหรือศัลยกรรมความงามเท่านั้นล่าสุดองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงเปิดเผยว่ามีเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ “ได้รับบริการทางการแพทย์โดยไม่จำเป็น” เพราะถูกชักชวนแกมกดดันถึง 71 เรื่อง ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้เทคนิคการขายแบบนี้เริ่มจากการสร้างความวิตกด้วยการบอกความรุนแรงของอาการเกินจริง จากนั้นก็เสนอบริการที่ “ค่อนข้างแพง” แต่ “จำเป็น” ว่าแล้วก็กดดันให้ลูกค้ารู้สึกว่าต้องซื้อบริการผู้ร้องรายหนึ่งซึ่งเป็นชายวัย 30 กว่า เสียเงินไป 150,000 เหรียญ (ประมาณ 650,000 บาท) เริ่มจากการเดินเข้าไปถามราคาบริการตรวจสุขภาพ เขาถูก “ต้อน” อยู่ 2 ชั่วโมง ในที่สุดก็เสียค่าถอนฟันไป 10,000 เหรียญ ตามด้วยค่าบริการนวดจัดกระดูกอีก 29,080 เหรียญ และอื่นๆ อีก เช่น ค่าตรวจลำไส้ ค่าอาหารเสริม เป็นต้นข่าวระบุว่าเขาได้เงินคืนเต็มจำนวน แต่ยังไม่ได้บอกว่าอุตสาหกรรมการแพทย์จะจัดการกับพฤติกรรมนี้อย่างไร ไข่ต้องมีข้อมูล           ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2022 เป็นต้นไป ไต้หวันกำหนดให้ไข่สดแต่ละฟองที่ผ่านการล้างและบรรจุลงกล่องต้องมีข้อมูลฟาร์มที่เลี้ยง โรงงานล้างบรรจุ วันที่บรรจุ รวมถึงรูปแบบการเลี้ยง บนเปลือกด้วยสภาเกษตรของไต้หวันระบุว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางอาหาร ที่จะทำให้การตรวจสอบย้อนกลับและการแจ้งเตือนเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว กรณีที่เกิดปัญหาขึ้นในส่วนของผู้บริโภค ข้อกำหนดดังกล่าวจะทำให้ไข่ไก่ขนาดแพ็ค 10 ฟอง มีราคาเพิ่มขึ้น 1 เหรียญไต้หวัน ส่วนทางด้านผู้ผลิต หากฝ่าฝืน จะต้องจ่ายค่าปรับระหว่าง 6,000 ถึง 30,000 เหรียญไต้หวันผลิตไข่ไก่ได้เฉลี่ยวันละ 22 ล้านฟอง ร้อยละ 65 เป็นแบบล้างและบรรจุกล่องการพิมพ์รหัสลงบนเปลือกไข่เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว สหภาพยุโรปกำหนดให้พิมพ์ “รหัสผู้ผลิต” มาตั้งแต่ปี 2004 เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าจะรับประทานไข่จากฟาร์มที่เลี้ยงด้วยวิธีใด เช่น ปล่อยอิสระ เลี้ยงในกรง หรือเลี้ยงแบบออกานิก  จุดขายใหม่           สหภาพยุโรปเคาะแล้ว ในปี 2022 เขาจะทุ่มงบประมาณ 185.9 ล้านยูโร ในการส่งเสริมสินค้าเกษตรของประเทศสมาชิก ให้กับผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากพืช พูดง่ายๆ คือเขาต้องการจูงใจผู้ผลิตให้หันมาเลือกแนวทางสายเขียวกันมากขึ้นด้วยการสร้างความต้องการในตลาดให้กับอาหารที่ทำจากพืชนั่นเองนอกจากนี้ยัง “ตีตรา” เนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปที่เคยเป็นดาวเด่นมานานว่าเป็น “อาหารที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง” ด้วยเรื่องนี้ถูกใจสายสิ่งแวดล้อมที่ต้องการเห็นการลดการใช้น้ำและพลังงานมหาศาลในการเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า รวมถึงสายวีแกนที่อยากเห็นความเป็นมิตรต่อสัตว์โลกแต่แผนนี้ก็ขัดใจอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่ออกมาโต้ว่า การจะทำอาหารที่ผลิตจากพืชล้วนๆ ให้ถูกปากผู้บริโภค ก็ต้องผ่าน “การสร้าง” หรือการ “การแปรรูป” อย่างเข้มข้นเช่นกันผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าสิ่งที่โลกต้องการอย่างเร่งด่วนคือ นวัตกรรมอาหาร และการหาสมดุลระหว่างการผลิตพืชและสัตว์ให้ได้นั่นเอง    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 ตักบาตรให้ได้บุญ

ชาวพุทธส่วนใหญ่มักได้รับการปลูกฝังให้ทำบุญใส่บาตรเพื่อจะได้มีชาติหน้าที่ดี ทั้งที่ไม่เคยรู้เลยว่า ชาติหน้าจะได้เกิดเป็นคนหรือไม่ แต่ต่างก็แอบหวังว่าชาติหน้าน่าจะได้เป็นคน โดยมีบุญที่เกิดจากการทำในชาตินี้ไปรอตอบสนอง ขนาดบางวัดมีการนำเอาเรื่องบุญมาคำนวณว่า ทำเท่าไรได้ขึ้นสวรรค์ชั้นใด ดังนั้นการทำบุญหวังผลจึงเกิดกันทั่วไป สำหรับเรื่องการใส่บาตรนั้น ผู้เขียนก็ทำบ้างไม่ทำบ้างแล้วแต่จังหวะเหมาะ วันหนึ่งในเดือนกันยายน 2556 (ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของการรับราชการของผู้เขียนแล้ว) ก็มีนักข่าวจากโทรทัศน์ช่องหนึ่ง สนใจสัมภาษณ์ผู้เขียนในเรื่องเกี่ยวกับอาหารสำหรับการใส่บาตร จึงทำให้ผู้เขียนต้องมานั่งสำรวจตัวเองว่า เวลาใส่บาตรผู้เขียนทำอย่างไร เท่าที่จำความมา ผู้เขียนมักใส่บาตรพร้อมกับภรรยาเป็นประจำ เพราะผู้หญิงมักเป็นคนคิดถึงบุญกรรม ชาติหน้า ชาติก่อน มากกว่าผู้ชาย ของใส่บาตรนั้นส่วนใหญ่แล้วมักใส่ข้าวสารอาหารแห้งเป็นประจำ โดยหวังว่าพระจะได้มีของไว้ฉันในวันที่มีคนใส่บาตรน้อยเช่น วันฝนพรำ แต่เมื่อถามว่าอาหารที่ใส่นั้นครบถ้วนทางโภชนาการหรือไม่ คำตอบก็เป็นอย่างที่เดากันได้ว่า ไม่น่าครบ ส่วนที่ขาดมักเป็นผักและผลไม้ ซึ่งผู้เขียนได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า จะพยายามแก้ในสิ่งนี้ให้ได้   ก่อนให้สัมภาษณ์นักข่าวนั้นผู้เขียนได้เข้าไปตรวจดูข้อมูลในอินเตอร์เน็ตว่า ประเด็นเกี่ยวกับ พระ โภชนาการ และการใส่บาตร นั้นมีเว็บใดกล่าวถึงกันบ้าง ผลปรากฏว่ามีน้อยมาก ไม่กี่สิบเว็บ แต่ก็ได้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า มีการกล่าวถึงชนิดของอาหารที่ควรใส่บาตรให้พระสงฆ์ เพื่อให้พระนั้นมีสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะบางเว็บได้กล่าวถึงการที่พระสงฆ์มีสุขภาพไม่ค่อยดี มีโรคที่เกิดเนื่องจากความเสื่อมเช่น ความดันสูง โรคอ้วน โรคหัวใจ เบาหวาน ฯ เร็วกว่าคนธรรมดา ซึ่งสาเหตุนั้นหลายท่านคงเดาได้ว่า คนไทยใส่บาตรนั้นต่างพยายามใส่อาหารที่ตนคิดว่าอร่อยที่สุด (เผื่อชาติหน้า) โดยไม่ค่อยใส่ใจกับคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร จากการค้นหาข้อมูลทางโภชนาการว่า อาหารอะไรที่ควรใส่ในบาตรพระนั้น พบว่ามีหนังสืออิเล็คทรอนิค 2 เล่มมีข้อมูลดังกล่าว โดยเล่มแรกนั้นเป็นหนังสือที่เขียนโดย ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล และคณะ(ในช่วงที่อาจารย์ยังไม่เกษียณจากสถาบันโภชนาการ) ชื่อ“คู่มือการเลือกอาหารตักบาตรเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีแด่พระภิกษุสงฆ์” ทุกท่านสามารถเข้าไปอ่านได้ฟรีที่ http://www.inmu.mahidol. ac.th/th/ebook/Book/magazine5/index.html#/0  หนังสือเล่มนี้หนา 166 หน้า ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำบุญทำทานที่มีโภชนาการเข้าไปเกี่ยวข้อง รวมทั้งโรคที่เกิดแก่พระสงฆ์เป็นประจำ ข้อมูลต่างๆ ในหนังสือของอาจารย์ประไพศรีและคณะนั้น ความจริงแล้วเป็นข้อมูลด้านโภชนาการที่คนไทยควรทราบ แต่ก็น่าประหลาดใจว่า เมื่อถามเด็กนักเรียนที่จบหลักสูตร(ที่ปรับแล้วปรับอีก) ของกระทรวงศึกษาเกือบทุกคนเกี่ยวกับความรู้ทางโภชนาการของอาหารที่กินทุกวัน คำตอบมักไม่เป็นเรื่องเป็นราว จนดูเหมือนไม่เคยเรียนมา นอกจากนี้ถ้าท่านผู้อ่านลองถามตนเองเกี่ยวกับความรู้ด้านโภชนาการของท่านแล้วรู้สึกว่า ไม่แน่ใจมันยังอยู่หรือไม่ ขอแนะนำให้ท่านเข้าไปอ่านหนังสือเล่มดังกล่าว แล้วสิ่งที่ตกหล่นหายไปอาจถูกกู้คืนมาได้ ยังมีหนังสืออีกเล่มชื่อ “แนวทางการตักบาตรให้ได้บุญ” ของ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดทำเพื่อให้ประชาชนได้อ่านบนจอคอมพิวเตอร์ หรือจะ download จาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/temp/main/public01.php มาเก็บไว้อ่านยามว่าง หนังสือเล่มนี้น่าอ่านมากเช่นกัน เพราะมีข้อมูลเกี่ยวกับพิธีกรรมในการตักบาตรทำบุญ แถมบอกด้วยว่าทำบุญอย่างไรจึงจะได้บุญมาก และมีเมนูอาหารที่ประสกสีกาควรเลือกมาประกอบเพื่อถวายให้พระสงฆ์มีสุขภาพดี อย่างไรก็ตาม หนังสือก็คือหนังสือ มักมีอะไรบางอย่างที่ทำให้ต้องอ่านหลายรอบกว่าจะจบ ดังนั้นสิ่งที่ควรกำหนดไว้ในใจเมื่อต้องการทำบุญตักบาตรนั้น ผู้เขียนได้บอกแก่นักข่าวที่มาสัมภาษณ์ว่า ถ้าคิดว่าทำบุญอะไรแล้วจะได้อย่างนั้นในโลกหน้า ก็คงต้องเตรียมบุญให้ถูกหลักโภชนาการหน่อย หลักการคือ เวลาใส่บาตร ถ้าใส่ข้าวกล้องได้จะดีเลิศประเสริฐศรี เพราะนอกจากมีแป้งแล้ว ยังมีใยอาหาร วิตามินบีรวม วิตามินอี เบต้า-แคโรทีน และสารต้านอนุมูลอิสระอีกมากมาย รวมทั้งกรดไขมันไม่อิ่มตัวด้วย และบุญจะมากขึ้นถ้าใส่ข้าวกล้องข้าวหอมนิล ข้าวไรซ์เบอร์รี หรือข้าวเหนียวดำ (ซึ่งผู้เขียนเคยทำวิจัยพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าข้าวหลายชนิด) ในส่วนของอาหารโปรตีนซึ่งมักมาในรูปแกงของไทยนั้น พยายามเลี่ยงแกงกะทิ เพราะกะทินั้นเป็นไขมันที่อร่อยมาก กินแล้วหยุดยาก แต่ถ้าต้องการใส่แกงกะทิจริงแนะนำให้ท่านแบ่งใส่ถุงให้พระฉันเพียง 2-3 คำ หรือถ้าเปลี่ยนเป็นแกงป่าซึ่งมีสมุนไพรและเครื่องเทศมาก ใส่เท่าไรก็ไม่มีปัญหา โปรตีนในรูปเนื้อสัตว์ชุบแป้งทอดหรือทอดโดยไม่ชุบแป้งนั้น ควรใส่บาตรแต่น้อย เพราะเป็นอาหารที่อมน้ำมัน และทราบกันมานานแล้วว่า เนื้อสัตว์ที่ถูกทอดให้กรอบนั้นมักมีสารก่อมะเร็ง สารก่อมะเร็งในอาหารทอด(รวมถึงปิ้งย่างรมควัน) นั้นถ้ากินไม่มากนัก อวัยวะภายในของเราคือ ตับและไตก็คงสามารถทำลายทิ้งได้ โดยมีข้อแม้ว่าเซลล์ของอวัยวะที่ทำลายสารพิษนั้นต้องแข็งแรง ไม่ถูกทำลายด้วยเหล้าหรือบุหรี่เสียก่อน(ควันบุหรี่นั้นนอกจากไปปอดแล้วยังลงไปตับได้ด้วยการกลืนน้ำลายขณะสูบ) ประการสำคัญเราควรคำนึงว่า อาหารครบห้าหมู่หรือไม่ สำหรับคำแนะนำของผู้เขียนคือ ให้มื้ออาหารที่จะใส่บาตรนั้น มีหมู่ผักและผลไม้ดูแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง จากนั้นอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือมีอาหารแป้ง (ไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือเผือกมัน) อยู่ครึ่งหนึ่ง(1 ใน 4 ของอาหารทั้งหมด) ส่วนที่เหลือก็เป็นเนื้อสัตว์ที่มีน้ำมันเป็นองค์ประกอบจากการผัดหรือทอด ขณะที่มองภาพรวมของอาหารที่ใส่บาตร(หรือแม้ใส่ปากเราเองก็ตาม) ควรเห็นภาพว่า อาหารนั้นมีสีหลากหลาย คือ มีสีรุ้ง (ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง) เพื่อประกันว่า ได้องค์ประกอบของอาหารครบตามที่ร่างกายต้องการ ทั้งสารอาหารหลักคือ แป้ง โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่และใยอาหาร และองค์ประกอบรองคือ สารที่มีประโยชน์จากผัก ผลไม้และเครื่องเทศต่างๆ ซึ่งไม่ช่วยในการซ่อมแซมร่างกาย แต่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายต่างๆ ประการสำคัญในการใส่บาตรอีกประการคือ พระควรได้เดินออกจากวัดมาบิณฑบาต เพื่อเป็นการออกกำลังกายของพระในทางอ้อม ยิ่งถ้าได้เดินสักวันละเป็นกิโลเมตรขึ้นไป สุขภาพพระก็น่าจะดี การนำภัตตาหารไปใส่บาตรที่วัดนั้น ควรกระทำเฉพาะกับพระที่อาพาธ มีอายุมาก หรือน้ำท่วมวัดแล้วเท่านั้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 151 “สังฆทาน บาป”

“สังฆทาน บาป” รู้หรือไม่ว่าของในถังสังฆทานที่ซื้อมาหมดอายุก่อนวันซื้อ คุณทำได้มากกว่าการนำไปเปลี่ยนคืนธ.ก.ส. ลดหนี้มโหฬาร ล้างบาป “กลุ่มเกษตรกรพันธุ์ใหม่” เมื่อกลุ่มเกษตรกร “คนรุ่นใหม่” ต้องตกเป็นเหยื่อจากการดำเนินโครงการด้านการเกษตรที่ล้มเหลวของรัฐสังฆทาน เป็นชื่อเรียกการถวายทานแก่พระสงฆ์อย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามีอานิสงส์มาก โดยเฉพาะการถวายสังฆทานแก่คณะพระสงฆ์จะมีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานเฉพาะเจาะจงแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง หรือแม้แต่การถวายทานแก่พระพุทธเจ้าแม้ยังทรงพระชนม์อยู่ ก็ยังได้บุญสู้การถวายทานแก่พระสงฆ์ที่เป็นหมู่คณะไม่ได้...ผู้รู้ทางพุทธศาสนาท่านว่าไว้อย่างนั้นแต่เดี๋ยวนี้...ในยุคสังคมแบบ “เร็วเข้าว่า ช้าไม่เป็น” สังฆทานถูกแปรรูป แปรเจตนาไปเยอะ มีการจัดชุดสังฆทานขายอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ต้องการบุญแบบแดกด่วน หวังกำไรมาก ไม่คิดถึงบาปบุญ จนกลายเป็นปัญหาขึ้นมาทั้งคนทำบุญและสงฆ์ที่รับทานคุณบารมี ไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตตราดอกบัว ย่านรังสิต เดี๋ยวนี้แทบทุกห้างมีแผนกนี้ล่ะ “แผนกเครื่องสังฆภัณฑ์” บารมีเตรียมหาของไปทำบุญวันเข้าพรรษา เห็นป้ายโฆษณาขายชุดถังสังฆทานใส่ในถังพลาสติกใบเหลืองเล็ก ขนาดพอหิ้วดูเก๋ไก๋ แกว่งไปมาได้ไม่เจ็บข้อมือ “ซื้อ 1 แถม 1” ราคา 155 บาท“โอว พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ...ได้บุญมาก ราคาไม่แพง แถมยังแบ่งกับเพื่อนได้อีกถัง” บารมีเห็นหนทางนิพพานของตัวเองทันที หิ้วถังสังฆทาน 2 ใบ ไปที่ทำงาน เห็นพลาสติกใสหุ้มสิ่งของจนล้นปากถังเลยอยากรู้ว่ามีอะไรอยู่บ้างดูซะล้นถังอย่างนั้น ชวนเพื่อนที่จะเป็นคู่บุญกันมาแกะดูสิ่งของที่อยู่ในถัง ขาดเหลืออะไรจะได้ซื้อเพิ่มเติมได้รายการของที่มีอยู่ในทั้งสองถังเหมือนกันเด๊ะ คือ ยาหอม 1 ถุง คงเข้าใจว่าพระเป็นลมบ่อยเลยใส่เข้ามา ชาจีน 1 กล่อง ถือเป็นมาตรฐานสังฆทานต้องมีชาจีน ชาเก๊กฮวย 1 กล่อง เผื่อพระไม่ชอบชาจีน น้ำส้มผสม 1 ขวด เผื่อให้พระเวลาสวดเวลาเทศน์เสียงจะได้สดได้ใส เกลือ 1 ถุง อาจจะเอาไว้ให้พระใส่เติมเพิ่มรสชาติน้ำชา น้ำส้ม ขันน้ำพลาสติกสีเหลือง 1 ใบ มีความบางจนน่าจะเขียนคำเตือนว่า “อย่าตักน้ำแรงเดี๋ยวขันแตก” และของที่ใหญ่ที่สุด สูงที่สุดซึ่งอยู่ก้นถัง และเป็นตัวการสำคัญที่ทำของดูพอกพูนจนล้นถัง มันคือ กระดาษชำระเนื้ออย่างเลว 1 ห่อ พิจารณาดูเนื้อกระดาษแล้ว หากนำไปเช็ดก้นเป็นประจำก็อาจทำให้เป็นริดสีดวงทวารได้ ว่างั้นเหอะ รวมกับถังพลาสติกใบเล็ก 1 ใบที่ใช้ใส่สิ่งของรวมเป็นชุดสังฆทาน 1 ชุดทั้งหมด ราคา 155 บาทแถมอีก 1 ถัง“ถึงว่าทำไมขายลดราคาได้” บารมีเริ่มตรัสรู้แต่เอ๊ะ...น้ำส้ม ทำไมวันหมดอายุไม่เหมือนกัน บารมีกับเพื่อนช่วยกันดู แล้วก็นะจังงัง เพราะน้ำส้มที่อยู่ในถังสังฆทานใบหนึ่ง มันหมดอายุไปเป็นเดือนแล้ว“ยังดีนะที่ไม่ได้เอาไปถวายพระ ไม่งั้นคงบาปแย่ เพราะนำของหมดอายุไปถวาย” บารมีรำพึงกับเพื่อนสรุปว่า วันเข้าพรรษาครานั้นบารมีและเพื่อนต้องไปหาซื้อของจัดชุดสังฆทานเพื่อถวายพระกันใหม่ ส่วนชุดสังฆทานที่ซื้อมาแล้วก็ต้องหิ้วมาร้องเรียนกันที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาสังฆทานจัดชุดแล้วนำมาขายให้ชาวพุทธเกิดปัญหาบ่อยมาก เพราะเป็นการนำสินค้าหลายชนิดมาบรรจุหุ้มห่อรวมกัน สินค้าบางชนิดที่นำมารวมนั้นโดยเฉพาะจำพวกอาหารการกิน มีกำหนดอายุหรือเวลาที่ควรใช้ แต่คนที่ซื้อก็ไม่รู้ว่ามันหมดอายุหรือเปล่าเพราะถูกหุ้มห่อไว้ด้วยพลาสติกใสใส่ในถัง ผู้ผลิตที่แย่ๆ บางรายก็ชอบเอามาซุกมาห่อรวมกันขาย อีกปัญหาคือความไม่ลงรอยของสินค้าที่ถูกยัดใส่ในถังรวมกัน ชอบทำปฏิกิริยาหาเรื่องใส่กัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนสี กลิ่น หรือรส จนมาสร้างความซวยให้กับพระสงฆ์องค์เจ้าให้ท้องไส้ปั่นป่วนได้ ที่สำคัญตัวสินค้าในชุดสังฆทานน่ะต้นทุนไม่เท่าไหร่แต่ค่าจัดชุดสังฆทานนี่สิแพงที่สุดร่วม 30-40%ของราคาสินค้าทั้งหมด แถมของที่จัดมาพระสงฆ์ไม่ได้ใช้เลย เพราะเป็นของไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณภาพคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงออกประกาศให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ประกาศเมื่อปี 2550 ใครจะขายต้องมีการแสดงฉลากแสดงรายละเอียดของรายการสินค้า ที่ระบุขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก จำนวน และราคาของสินค้าแต่ละรายการ ต้องแสดงชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ต้องแสดงวันเดือนปีที่หมดอายุ หรือวันเดือนปีที่ควรใช้ก่อน ของสินค้าใดสินค้าหนึ่งที่นำมารวมนั้นระบุว่าเร็วที่สุด ต้องระบุวันเดือนปีที่บรรจุ และราคารวมชุดจัดบรรจุระบุหน่วยเป็นบาทประกาศฉบับนี้ยังควบคุมไปถึงปัญหาสินค้าที่อยู่ในชุดสังฆทานจะทำปฏิกิริยากันจนทำให้มีสี กลิ่น หรือรสเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่พระสงฆ์ หรือผู้บริโภคได้ จึงให้มีการระบุคำเตือนในฉลาก ด้วย เช่น ใบชา ข้าวสาร สบู่ และผงซักฟอก อาจทำปฏิกิริยากัน จนทำให้มีสี กลิ่น หรือรสเปลี่ยนแปลงไปซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคเนื่องในการใช้หรือโดยสภาพของสินค้านั้นได้ ดังนั้น ผู้ใช้ควรแยกสินค้าที่อาจทำปฏิกิริยากันได้นั้นออกจากกันโดยเร็ว แม้จะเป็นคำเตือนที่ดูแปลกๆ เพราะหากสินค้ามันจะเกิดปฏิกิริยากันมันก็สามารถเกิดได้ตั้งแต่ตอนวางขายอยู่ในห้างแล้ว แม้จะแยกกันออกมาภายหลัง สี กลิ่น หรือรส ที่เปลี่ยนแปลงไปก็คงไม่สามารถเรียกกลับคืนได้ง่าย สุดท้ายก็ต้องทิ้งของนั้นไป แต่ก็ถือว่าเป็นความพยายามของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้ามาควบคุมดูแลการขายชุดสังฆทานจากที่ไม่เคยมีมาก่อนตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 52 ได้กำหนดโทษไว้ว่า ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายสินค้าที่มีฉลากที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก(ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) สั่งเลิกใช้ โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าการกระทำข้างต้นเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในประเทศเพื่อขาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วยโทษที่สูงเอาการ เราจึงแนะนำให้ผู้ร้องเรียนไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เพื่อเป็นหลักฐานก่อน ยังไม่ต้องแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ และมีจดหมายเชิญตัวแทนห้างดอกบัวในฐานะผู้ขายสินค้ามาเจรจาเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภค ผลการเจรจาทางห้างยินยอมเยียวยาความเสียหายให้เป็นจำนวนเงิน 15,000 บาท  ซึ่งผู้ร้องยินดีรับค่าเยียวยาความเสียหายและไม่ติดใจเอาความใดๆ ส่วนห้างเมื่อต้องจ่ายค่าเสียหายไปแล้ว ก็เดินหน้าเช็คบิลเอาผิดกับผู้ผลิตชุดสังฆทานต่อไป โดยจะทำการตรวจสอบสินค้าและหากพบว่าสินค้าที่อยู่ในชุดสังฆทานหมดอายุจริง ก็จะให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการฟ้องร้องกับบริษัทผู้ผลิตชุดสังฆทาน ขณะที่ผู้ร้องเรียนก็ยินยอมที่จะเป็นพยานในชั้นศาลอีกด้วย   กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 52 ได้กำหนดโทษไว้ว่า ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายสินค้าที่มีฉลากที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก(ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) สั่งเลิกใช้ โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำข้างต้นเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในประเทศเพื่อขาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 55 สังฆทานถังเหลือง

 เวลา 24 ชั่วโมงของคนในยุคนี้ กับเวลา 24 ชั่วโมงของคนสมัยอยุธยาดูมันจะหดแคบกว่ากันเยอะ เดี๋ยวนี้อะไร ๆ ก็ต้องด่วนไปหมด ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการทำบุญ เรา มักจะอ้างว่าไม่ค่อยมีเวลาไปเข้าวัดฟังธรรม การทำสังฆทานเลยกลายเป็นทางเลือกหนึ่ง และกลายเป็นวิธีการทำบุญแบบเร่งด่วนไปโดยที่เราไม่รู้ตัว เดี๋ยวนี้ตามหน้าวัดหรือในวัดต่าง ๆ เราจะเห็นการจัดสังฆทานสำเร็จรูปในถังพลาสติกสีเหลืองไว้คอยบริการญาติโยม แต่เราเคยสำรวจกันไหมว่าในสังฆทานถังเหลืองเหล่านั้นจะมีของสักกี่ชิ้นที่จะ ก่อให้เกิดบุญก่อให้เกิดผลทั้งต่อผู้ให้และผู้รับที่เป็นพระสงฆ์องค์เจ้า จริง ๆ ฉลาดซื้อ ฉบับนี้ได้ไปเก็บรวบรวมสังฆทานถังเหลืองตามที่ต่าง ๆ เพื่อจะดูว่า มีของอะไรบ้างที่ถูกใส่เข้าไป และในของเหล่านั้นมีของอะไรบ้างที่เราใส่เข้าไปแล้วจะก่อให้เกิดบุญเกิดผล และของอะไรบ้างที่เราควรจะลดละเลิกไม่ควรใส่เข้าไปในสังฆทานเพราะจะเกิดโทษ ภัยกับพระสงฆ์หรือกับคนอื่น ๆ ที่พระท่านมอบต่อให้ไป   สิ่งของที่สำรวจพบในสังฆทานสำเร็จรูป(แสดงรูปประกอบเป็นกลุ่ม ๆ ) ก.      ภาชนะที่ใช้บรรจุสังฆทาน  ถังพลาสติกสีเหลือง กล่องพลาสติกใสแบบมีฝาปิด กระติกน้ำแข็ง ขันเงินใบใหญ่ ถังน้ำพลาสติกขนาดใหญ่ ข. ผลิตภัณฑ์ในสังฆทาน กลุ่มอาหาร น้ำปลาขวดเล็ก น้ำผลไม้บรรจุขวด ใบชา เครื่องดื่มขิง บะหมี่สำเร็จรูป ผลไม้กระป๋อง น้ำพริกเผาบรรจุขวด ขนมคุ๊กกี้บรรจุกล่อง เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม นมสดกระป๋อง ปลากระป๋อง น้ำดื่มบรรจุขวด ข้าวสารแบ่งบรรจุ ค. ผลิตภัณฑ์ในสังฆทาน กลุ่มสิ่งของเครื่องใช้ ผ้าขนหนูผืนเล็ก ผ้าอาบน้ำฝน อังสะ ผงซักฟอก สบู่ กล่องสบู่ ไฟฉายและถ่านไฟฉาย ธูปเทียน ไม้ขีดไฟ แก้วน้ำพลาสติก แปรงสีฟัน ทิชชู่ น้ำยาล้างจาน ร่ม รองเท้าฟองน้ำ ไม้จิ้มฟัน ยาสีฟัน ขันน้ำพลาสติก ด้าย และเข็มเย็บผ้า ง. ผลิตภัณฑ์ในสังฆทาน กลุ่มยา ยาหอม ยาสามัญประจำบ้าน ทำไมเราควรจัดถังสังฆทานเองเหตุผลสำคัญที่เราควรจะจัดหาสิ่งของมาจัดเป็นสังฆทานด้วยตนเอง คือ1.    สิ่งของที่อยู่ในสังฆทานสำเร็จรูปที่จำหน่ายโดยทั่วไปเกินกว่าครึ่ง เป็นของที่พระนำไปใช้ประโยชน์ได้น้อย2.    การจัดสังฆทานเองนอกจากจะได้ของที่เกิดประโยชน์แน่นอนแล้ว เรายังสามารถคุมค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย3.    สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งของที่คนชอบถวายจนพระใช้ประโยชน์ไม่ทันจนเหลือล้นวัดได้ การจัดสังฆทานที่ไม่ได้บุญ สังฆทานที่แท้คืออะไร คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการทำสังฆทานจะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะส่งผลบุญไปถึงญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วใน002อีก ภพอีกชาติหนึ่งได้ แต่ความหมายที่แท้จริงของการทำสังฆทานก็คือ การถวายสิ่งของแก่หมู่พระภิกษุสงฆ์ โดยไม่จำเพาะเจาะจงภิกษุรูปหนึ่งรูปใด เมื่อเราถวายให้แล้วก็ถือว่า พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปมีสิทธิ์ใช้สอยสิ่งของเหล่านั้นตามสะดวก ซึ่งอาจจะมีเพียงตัวแทนสงฆ์เพียงรูปเดียวมารับประเคน ก็ถือว่าเป็นสังฆทานเหมือนกัน ดังนั้นบุญที่เราเข้าใจว่าจะได้จากการ ทำสังฆทานก็คือ การที่หมู่ภิกษุสงฆ์ได้ประโยชน์จากสิ่งของที่เราทำทานให้ท่าน ยิ่งของที่เราให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มาก บุญก็จะเกิดมากตามไปด้วย แต่ถ้าของที่อยู่ในสังฆทานหาประโยชน์ไม่ได้ สังฆทานก็จะกลายเป็นขยะล้นวัดไป การใส่ใจในสิ่งของที่จะทำสังฆทานจึง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากเราให้ของไม่ดีไม่เกิดประโยชน์กับพระไป บุญที่จะได้ก็อาจจะกลายเป็นบาปก็ได้    ทานที่ใหญ่กว่าสังฆทาน  มีทานอีกรูปแบบหนึ่งที่คล้าย ๆ สังฆทาน เป็นทานที่มีอาณาเขตกว้างขวางกว่า คือ ทานที่ให้แก่หมู่พวกที่ไม่เฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เรียก สาธารณทาน เป็นทานที่ไม่จำกัดเฉพาะในรั้ววัด เป็นการให้ที่ไม่มีขอบเขต สังฆทานเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณทานเช่นกัน   ทานที่น้อยกว่าสังฆทาน การถวายทานที่ให้เฉพาะพระภิกษุสงฆ์รูป นั้นรูปนี้ เรียก ปาฏิปุคคลิกทาน มีอานิสงส์น้อยกว่าทานสองประเภทข้างต้น เพราะเป็นการจำกัดเฉพาะบุคคลว่าต้องเป็นคนนั้นคนนี้ การให้ทานแก่ส่วนรวมย่อมได้อานิสงส์มากกว่า   คำถวายสังฆทานการ ทำพิธีถวายสังฆทาน ไม่มีอะไรยุ่งยาก เมื่อนำสิ่งของไปและพระสงฆ์รู้ความประสงค์ ท่านก็จะให้จุด ธูป เทียน แล้วก็ว่า นโม 3 จบ แล้วกล่าวถวาย สังฆทาน ดังนี้ อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะโอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆอิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ ข้า แต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ภัตตาหารกับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญฯ  บุญไม่ใช่แค่เรื่องการบริจาคทรัพย์ทำทาน บุญ แปลว่า เครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด หรือ คุณสมบัติที่ทำให้บริสุทธิ์ ส่วนคำว่า "ทาน" แปลว่า การให้ การสละ การเผื่อแผ่แบ่งปัน จะมอบของให้ใคร หรือจะถวายของให้ใครก็เป็นบุญทั้งนั้น จะต่างกันก็เพียงว่าได้บุญมากบุญน้อยเท่านั้นเอง   ฉะนั้น เวลาพูดว่า ไปทำบุญทำทาน จึงหมายความว่าไปชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยการแบ่งปันสิ่งของซึ่งเป็นการแบ่งปันให้ใครก็ได้ และการทำบุญก็ไม่ได้มีความหมายแคบ ๆ แต่เพียงแค่การให้ทานบริจาคสิ่งของแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น    ตามหลักพุทธศาสนา มีการทำบุญด้วยกัน ๑๐ วิธี เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๑๐ ประการ) คือ1. ให้ทาน แบ่งปันผู้อื่นด้วยสิ่งของ ไม่ว่าจะให้ใครก็เป็นบุญ (ทานมัย) การให้ทาน เป็นการช่วยขัดเกลา ความเห็นแก่ตัว ความคับแคบ ความตระหนี่ถี่เหนียว และความติดยึดในวัตถุ นอกจากนี้สิ่งของที่เราแบ่งปันออกไป ก็จะเป็นประโยชน์กับบุคคล หรือชุมชนโดยส่วนรวม สังฆทานก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำบุญในข้อนี้ 2. รักษาศีล ก็เป็นบุญ (ศีลมัย) เป็นการฝึกฝนที่จะ ลด ละ เลิก ความชั่ว ไม่ไปเบียดเบียนใคร มุ่งที่จะทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น เป็นการหล่อเลี้ยงบ่มเพาะให้เกิดความดีงาม และพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ให้ตกต่ำ 3. เจริญภาวนา ก็เป็นบุญ (ภาวนามัย) การภาวนา เป็นการพัฒนาจิตใจ และปัญญา ทำให้จิตสงบ ไม่มีกิเลส ไม่มีเรื่องเศร้าหมอง เห็นคุณค่าสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ภาวนาอยู่เสมอย่อมเป็นหลักประกันว่า จิตจะมีความสงบ ชีวิตมีความสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้น สูงขึ้น 4. อ่อนน้อมถ่อมตน ผู้น้อยอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แสดงออกในความมีเมตตาต่อผู้น้อย และต่างก็อ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม รวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน ทั้งในความคิดความเชื่อ และวิถีปฏิบัติ ของบุคคลและสังคมอื่น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นตัวตน ก็เป็นบุญ (อปจายนมัย) 5. ช่วยเหลือสังคมรอบข้าง ช่วยเหลือสละแรงกายเพื่องานส่วนรวม หรือช่วยงานเพื่อนบ้าน ที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็เป็นบุญ (ไวยาวัจจมัย) 6. เปิดโอกาสให้คนอื่น มาร่วมทำบุญกับเรา หรือในการทำงาน ก็เปิดโอกาสให้คนอื่น มีส่วนร่วมทำ - ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการอุทิศส่วนบุญ ให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย ก็เป็นบุญ (ปัตติทานมัย) 7. ยอมรับและยินดีในการทำความดี (หรือทำบุญ) ของผู้อื่น เป็นการเปิดโอกาสร่วมใจอนุโมทนา ในการกระทำความดีของผู้อื่น ก็เป็นบุญ (ปัตตานุโมทนามัย) 8. ฟังธรรม บ่มเพาะสติปัญญาให้สว่างไสว ฟังธรรมะ ฟังเรื่องที่ดี มีประโยชน์ต่อสติปัญญา หรือมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ (ธรรมสวนมัย) 9. แสดงธรรม ให้ธรรมะ และข้อคิดที่ดี กับผู้อื่น แสดงธรรม นำธรรมะไปบอกกล่าว เผื่อแผ่ให้คนอื่นได้รับฟัง ให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นเรื่องของความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ (ธรรมเทศนามัย)  10. ทำความเห็นให้ถูกต้อง และเหมาะสม มีการปรับทิฏฐิ แก้ไขปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น - ความเข้าใจให้ถูกต้องตามธรรม ให้เป็นสัมมาทัศนะอยู่เสมอ เป็นการพัฒนาปัญญาอย่างสำคัญก็เป็นบุญ (ทิฏฐุชุกรรม)  ทิฏฐุชุกรรม หรือ สัมมาทัศนะ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำบุญทุกชนิด และทุกโอกาส จะต้องประกบและประกอบเข้ากับบุญกิริยาวัตถุข้ออื่นทุกข้อ เพื่อให้งานบุญข้อนั้น ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมาย พร้อมทั้งได้ผลถูกทาง    อย่างไรที่เรียกว่า "ฉลาดทำบุญ" พระพยอม กัลยาโณ "การทำบุญตามหลักพุทธศาสนานั้น เราสรรเสริญคนที่ใคร่ครวญ คิดวินิจฉัยดีแล้วจึงทำบุญ ใครที่ทำบุญเก่งอย่างเดียว แต่คิดสังเกต ใคร่ครวญ ถึงประโยชน์ของบุญน้อยไป ก็จะเป็นพวกที่เรียกว่า หลงบุญ เมาบุญ บ้าบุญ คือ ทำดีไม่ถึงดี ทำดีไม่ถูกดี ทำดีไม่พอดี บางทีก็เป็นดีซ่านไป   ฉะนั้น จึงต้องวินิจฉัยว่า ประโยชน์ของการทำบุญในเวลานี้นั้น มันเกื้อกูลกับสังคมมนุษย์แค่ไหน เพราะบุญนั้นทำเพื่อให้มนุษย์สมบูรณ์ขึ้น พูดง่าย ๆ ว่าบุญนั้นต้องทำให้เกิดความสมบูรณ์ในความขาดแคลน เราจึงต้องมองว่าในเวลานี้อะไรขาดแคลนมากที่สุด เช่น มีเด็ก ๆ เป็นจำนวนมากที่ขาดสารอาหาร เราก็ควรทำบุญอาหารกลางวันเลี้ยงเด็กบ้าง ส่วนอาหารพระ เณร สังฆทานนั้น บางทีก็มากเกินไปแล้ว และของในสังฆทานบางครั้งก็ไม่จำเป็น เช่น เกลือ น้ำมันพืช บางครั้งก็มีมากเกินไป พระไม่ได้มีเวลาไปผัด ไปจิ้ม ไปทอดอะไรมากมาย หรืออย่างทำบุญปล่อยสัตว์ ปล่อยวัว ปล่อยควายเวลานี้ก็มากเกิน และบางวัดก็ทำไปในลักษณะหารายได้เข้าวัด ตัวเดียววนเวียนปล่อยอยู่ตั้งเป็นร้อยเจ้า หลายคนช่วยแต่ช่วยได้ชีวิตเดียว มันก็ไม่ฉลาด วัดรวยแต่สังคมก็ยังขาดแคลน  ดีที่สุด ก็คือ การทำบุญเพื่อให้ศีลธรรมกลับมา เช่น เอาวัวควายไปให้ชาวนาที่ยากจน ไม่ติดอบายมุข ไม่ติดการพนัน พวกที่ติดเหล้า เที่ยวเตร่ เล่นการพนันก็ต้องเลิกถึงจะให้ยืมวัว ยืมควายไปใช้ เพราะถ้าทำบุญแล้วศีลธรรมไม่กลับมา บุญก็จะมิได้ช่วยโลก ช่วยชาติ ช่วยบ้าน ช่วยเมืองเท่าไรเลย อาตมาจึงอยากจะให้เปลี่ยนจากการทำบุญด้วยสังฆทานต่าง ๆ มาเป็นการทำบุญเพื่อให้ศีลธรรมกลับมา ให้เกิดความสมบูรณ์ ให้ความขาดแคลนของสังคมหายไป"    แหล่งข้อมูลจากหนังสือฉลาดทำบุญ เรียบเรียงโดย พระชาย  วรธมโม และพระไพศาล  วิสาโล

อ่านเพิ่มเติม >