ฉบับที่ 268 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2566

ทิ้งขยะในพื้นที่เขตทางหลวงบทลงโทษถึงติดคุก         เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 66 ที่ผ่านมา กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ได้เตือนประชาชนถึงกรณี ห้ามทิ้งขยะในพื้นที่เขตทางหลวง ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อนต่อคนที่ต้องสัญจร ไป-มา เช่น การทิ้งขยะออกจากรถที่แล่นอยู่ เทน้ำเสียบนถนน ทิ้งเศษวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ การบรรทุก หิน ดิน  ทราย  หรืออื่นๆ โดยไม่ใช้อุปกรณ์ผูกมัดให้ดีทำให้มีสิ่งของร่วงหล่นบนทางจราจร ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ใช้เส้นทางจราจรได้นั้น เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 45 “ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งขยะมูลฝอย  สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย น้ำโสโครก เศษหิน ดิน ทราย หรือสิ่งอื่นใดในเขตทางหลวงหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ เป็นเหตุให้ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล เศษหิน ดิน ทราย ตกหล่นบนทางจราจรหรือไหล่ทาง” หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 72 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมโรงงานจับมือสคบ. ห้ามโฆษณาขาย “ไซยาไนด์” ทางออนไลน์         หลังมีข่าวเกี่ยวกับการใช้ “ไซยาไนด์” ในทางที่ผิดเพื่อก่ออาชญากรรมนั้น 1 มิ.ย.66 อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เผยว่า โพแทสเซียมไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบดูแล ขณะนี้ทางกรมฯ ออกมาตรฐานเร่งด่วนเพื่อยกระดับการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด โดยเชิญผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตฯ เกี่ยวกับสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ มารับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลและรับทราบมาตรการพิเศษที่ออกแนบท้ายใบอนุญาตแล้ว และจะใช้ไปจนกว่าคดี "แอม สรารัตน์" จะมีคำพิพากษาถึงที่สุด         ในเรื่องการโฆษณา ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ขอความร่วมมือจากทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศเพื่อห้ามมิให้มีการโฆษณาและจำหน่ายโพแทสเซียมไซยาไนด์ทางช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ซื้อ-ขาย สินค้าทุกประเภท พร้อมกับเร่งยกร่างประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขการโฆษณาและนำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เนื่องจากตามกฎหมายกรมโรงงานกำกับดูแลเฉพาะเรื่องการนำไปใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ อนึ่งสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ คือ วัตถุตรายชนิดที่ 3 หากผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ผู้ใช้ นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์มีโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ระวังมิจฉาชีพมาในรูปแบบ “งานเสริม”         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลของศูนย์บริหารรับแจ้งความออนไลน์ของเดือนมีนาคม 66 ที่ผ่านมาว่า มีประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานเสริมเป็นจำนวนมากกว่า 37,900 ราย เสียหายกว่า 4,590 ล้านบาท โดยใช้วิธีการส่งข้อความทาง SMS หรือโทรหาเหยื่อโดยตรง และโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ในออนไลน์  ซึ่งลักษณะงานช่วงแรกจะเป็นงานง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และเหยื่อได้รับเงินจริง หลังจากนั้นจะมีการดึงเข้ากลุ่มไลน์และอ้างว่าให้ทำภารกิจพิเศษพร้อมได้ค่าคอมมิชชัน แต่ต้องโอนเงินเข้าระบบเป็นการวางมัดจำก่อนนั้น         ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ามี 10 งานเสริมที่มิจฉาชีพนำมาใช้หลอกลวง ดังนี้ 1.พนักงานกดรับออเดอร์สินค้า แอบอ้างแพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ เช่น Shopee Lazada Amazon 2.กดไลก์ ถูกใจ ตาม Facebook TikTok Instagram หรือกดแชร์ กดโหวตภาพยนตร์  3.รับชมคลิปวิดีโอเพิ่มยอดวิวใน YouTube TikTok 4.งานรีวิว ทดลองใช้สินค้าหรือบริการ เช่น รีวิวสถานที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร 5.รับจ้างนอนโรงแรม อ้างแค่นอนหลับก็มีรายได้ 6.งานแพ็กของต่างๆ เช่น สบู่ ยางมัดผม พวงกุญแจ 7.งานฝีมือทำได้ที่บ้าน เช่น ร้อยลูกปัด ทำริบบิ้น ฉีกเชือกฟาง พับนกกระดาษ พับดาว พับเหรียญโปรยทาน 8.ลงทุนส่งเสริมการโปรโมทสื่อสังคมออนไลน์ในสังกัด ตามเรทราคาต่างๆ 9.ถ่ายรูปเซลฟี่ไม่ต้องเห็นใบหน้า หลังจากส่งเสื้อผ้าให้ ไม่จำกัดส่วนสูงน้ำหนัก 10.ตัดต่อวิดีโอสั้น ไม่ต้องมีประสบการณ์ สอนให้ฟรี มพบ. ชี้ ร้านค้าตั้งเงื่อนไขไม่รับเคลมสินค้า เข้าข่ายสัญญาไม่เป็นธรรม         จากกรณีที่มีร้านค้าบางรายที่จำหน่ายสินค้าในช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ มีการตั้งเงื่อนไข กำหนดการรีวิวสินค้า เช่น การรีวิวต่ำกว่า 5 ดาว สินค้าที่ซื้อจะหมดประกันทันที ในกรณีเกิดปัญหาจะไม่รับเคลม และไม่รับคืนสินค้า พร้อมทั้งอีกกรณีคือการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยต้องรีวิว 5 ดาว ร้านค้าถึงจะขยายเวลารับประกันให้ หรือการระบุข้อความว่า #กรุณาถ่ายวิดีโอขณะเปิดกล่องพัสดุ #ไม่มีหลักฐานงดเคลมทุกกรณีไว้ที่หน้ากล่องนั้น        นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า วิธีการกำหนดเงื่อนไขไม่รับเคลมข้างต้น เข้าข่าย “ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม” เพราะเป็นสัญญาที่ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินสมควร ประกอบกับคู่สัญญาไม่ได้รับความยินยอมในสัญญาตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม โดยระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ดังนั้นการที่ผู้ขายใช้เงื่อนไขบีบบังคับผู้ซื้อด้วยข้อความ “ไม่ถ่ายคลิปตอนเปิดพัสดุเคลมไม่ได้” จึงถือเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม         ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 กำหนดเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคว่า ให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาโดยส่งหนังสือแสดงเจตนาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการ ไปยังผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง (มาตรา 33) เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคจ่ายไปคืนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 รวมพลังกินให้เรียบ

        รายงาน Food Waste Index Report 2021 ของ UNEP ประเมินว่าในปี 2019 ทั่วโลกมีขยะอาหารประมาณ 931 ล้านตัน (ร้อยละ 61 มาจากครัวเรือน ร้อยละ 26 มาจากกิจการร้านอาหาร อีกร้อยละ 13 มาจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าปลีก) นั่นหมายความว่าร้อยละ 17 ของ “อาหาร” ที่ผลิตได้ ต้องถูกทิ้งไปเฉยๆ  ตัวเลขจากสหรัฐอเมริการะบุว่าผักผลไม้ที่ “เสีย” ไปในช่วงระหว่างการเก็บเกี่ยวมาจนถึงร้านค้านั้นมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านเหรียญ  นักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังระบุอีกว่า ร้อยละ 10 ของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็มีที่มาจากขยะอาหารเหล่านี้         นอกจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม “อาหารเหลือทิ้ง” ยังเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของครัวเรือนด้วย เช่น สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (U.S. Bureau of Economic Analysis) พบว่ามลรัฐที่ผู้คน “เสียเงินซื้อของกินมาทิ้ง” มากที่สุดในอเมริกาคือรัฐเวอร์มอนต์ ที่อัตราคนละ 1,374.24 เหรียญ (ประมาณ 45,800 บาท) ต่อปี ขณะที่ประชากรในรัฐโอคลาโฮมา ซึ่ง “ทิ้งของกิน” น้อยที่สุดในประเทศ ก็ยังทิ้งเงินไปถึง 743.58 เหรียญ (ประมาณ 24,800 บาท) ต่อคนต่อปี         ยังไม่นับเรื่องความย้อนแย้งที่เรามี “อาหารถูกทิ้ง” ปริมาณมหาศาล ในขณะที่ประชากรไม่ต่ำกว่า 690 ล้านคนทั่วโลก (อ้างอิงสถิติล่าสุดของสหประชาชาติ) อยู่อย่างอดอยาก         ปัญหาเรื่องการกินทิ้งกินขว้างนี้เกิดขึ้นทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา  ในอเมริกา ร้อยละ 30 – 40 ของสิ่งที่ควรจะเป็นอาหารกลับกลายไปเป็นขยะ ด้านสหภาพยุโรปก็มีขยะอาหารถึงร้อยละ 20 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด แต่นั่นยังไม่เท่าเมืองไทยใหญ่อุดมของเราที่มีขยะจากอาหารเหลือทิ้งถึงร้อยละ 64 ของขยะทั้งหมด ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี พ.ศ. 2560 ระบุว่า คนไทยหนึ่งคนสร้างขยะอาหารถึงปีละ 254 กิโลกรัมเลยทีเดียว         สิ่งที่หลายประเทศลงมือทำ หรือกำลังจะทำเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน คือการใช้กฎหมายเพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทั้งจากครัวเรือน ร้านอาหาร และร้านค้าปลีก ลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี 2025 (สหภาพยุโรป) หรือภายในปี 2030 (อเมริกาและไทย เป็นต้น)           ระหว่างที่บ้านเรากำลังศึกษาจัดทำมาตรการและแนวทางในการลดขยะอาหาร เราขอชวนคุณมาส่องกฎหมายหรือข้อบังคับของประเทศอื่นไปพลางๆ ก่อน ไอร์แลนด์         ประเทศนี้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะอาหารมาตั้งแต่ปี 2009 เขากำหนดข้อห้ามหรือข้อปฏิบัติสำหรับกิจการโรงแรม ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงพยาบาล สถานรับเลี้ยงดูเด็กหรือคนชรา รวมถึงโรงอาหารของสถานประกอบการประเภทโรงงานไว้อย่างชัดเจน เช่น ห้ามนำขยะอาหารไปฝังกลบ ต้องใช้บริการ “รถเก็บขยะ” จากหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น หากต้องการทำปุ๋ยหมักก็ต้องทำเรื่องขอใบอนุญาตก่อน แม้แต่การนำอาหารเหลือไปเลี้ยงสัตว์ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เกาหลีใต้         เกาหลีใต้มีกฎหมาย “จ่ายตามปริมาณที่ทิ้ง” มาตั้งแต่ปี 2013  เขากำหนดให้ครัวเรือนเก็บขยะอาหารลงในถุงที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แล้วนำไปทิ้งในถังอลูมิเนียมซึ่งสามารถชั่งน้ำหนัก คำนวณค่าธรรมเนียม แล้วส่งบิลไปเรียกเก็บถึงบ้านทุกเดือน ด้วยเทคโนโลยี RFID         วิธีนี้ได้ผลดีมาก นอกจากชาวบ้านจะ “รีดน้ำ” ออกจากขยะเพื่อประหยัดค่าธรรมเนียม (ร้อยละ 80 ของน้ำหนักขยะมาจาก “ความชื้น”) ทำให้โรงงานจัดการขยะไม่ต้องนำ “น้ำขยะ” ไปเทลงชายฝั่งถึงวันละ 3,800 ตันอย่างที่เคย ปัจจุบันเกาหลียังสามารถเปลี่ยนขยะอาหารให้เป็นปุ๋ยได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 จากที่เคยทำได้เพียงร้อยละ 2 เมื่อปี 1995         เกาหลีเคยเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ที่มีขยะอาหารเหลือทิ้งมากที่สุด เมื่อปี 2005 เขามีขยะอาหารถึงวันละ 17,100 ตัน สาเหตุหนึ่งคือวัฒนธรรมการกินแบบที่ต้องมี “บันชัน” หรือเครื่องเคียงถ้วยเล็กๆ ในทุกมื้อ บ้านไหนมีฐานะ เครื่องเคียงก็ยิ่งต้องหลากหลายมากขึ้น ของเหลือจึงเพิ่มตามไปด้วย ฝรั่งเศส         ในปี 2016 ฝรั่งเศสออกกฎหมายให้ซูเปอร์มาร์เก็ตนำอาหารที่ขายไม่หมดไป “บริจาค” เท่านั้น หากยังดื้อดึงจะ “ทำลาย” อาหารที่ยังอยู่ในสภาพที่รับประทานได้ ห้างเหล่านี้จะถูกปรับในอัตราร้อยละ 0.1 ของยอดขายในปีนั้น (นโยบายทำนองนี้มีใช้ในนอร์เวย์ เดนมาร์ก ญี่ปุ่น และเกาหลี เช่นกัน)         นอกจากนี้ยังกำหนดให้บริการจัดเลี้ยง จัดเตรียมถุงให้กับแขกที่มาในงานได้นำอาหารเหลือกลับไปรับประทานด้วย         ในขณะเดียวกันก็กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารทบทวน “วันที่ควรบริโภค” ที่แจ้งต่อลูกค้า โดยคำนึงถึงเรื่องการลดขยะอาหารด้วย    สิงคโปร์         สิงคโปร์สามารถจัดการกับขยะได้ดีอย่างที่เรารู้กัน แม้ขยะอาหารในประเทศเขาจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 11 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด แต่สิงคโปร์ตั้งเป้าไว้สูงกว่านั้น เขามีสิ่งที่เรียกว่า Zero Waste Masterplan ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายว่าด้วยความยั่งยืนของทรัพยากร ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2019         ภายใต้แผนดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการ เช่น ห้าง โรงแรม หรือโรงอาหาร จะต้องจัดให้มี “พื้นที่สำหรับจัดการขยะอาหาร” และเมื่อถึงปี 2024 ผู้ประกอบการจะต้องมีการคัดแยกขยะเพื่อนำไปจัดการ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่าย  ขณะเดียวกันก็มีการฝึกอบรมอาสาสมัครเพื่อให้เป็นตัวแทนออกไปให้ความรู้กับชุมชนด้วย จีน         จีนผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการห้ามทิ้งอาหารออกมาหมาดๆ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากจะสั่งแบนคลิปวิดีโอประเภท “โชว์กินแหลก” แล้ว (ฝ่าฝืนมีค่าปรับ 100,000 หยวน หรือประมาณ 520,000 บาท)  เขายังมีบทลงโทษร้านอาหารที่ให้พนักงานมาคอย “เชียร์” ให้ลูกค้าสั่งอาหารเยอะๆ (ค่าปรับ 10,000 หยวน หรือประมาณ 52,000 บาท) หรือร้านที่มีอาหารเหลือทิ้งมากเกินไป (ปรับ 5,000 หยวน หรือประมาณ 26,000 บาท)         ทั้งนี้เขาอนุญาตให้ร้านอาหารคิดเงินเพิ่มเพื่อเป็นค่าจัดการกับอาหารที่เหลือได้ โดยต้องมีการติดป้ายบอกลูกค้าให้ชัดเจน         ในปี 2020 มีการรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกัน “กินให้เกลี้ยงจาน” เพื่อลดขยะจากอาหาร และให้ร้านอาหารยอมให้ลูกค้าสั่งอาหารไม่ครบคนได้ (เช่น มากัน 5 คน แต่สั่งเพียง 4 จาน)  สเปน         กฎหมายของสเปนที่ออกมาในปีนี้ (2021) เจาะจงไปที่ร้านค้าปลีก ด้วยการกำหนดให้ทางร้านนำผักผลไม้หน้าตาไม่ดีออกมาจำหน่าย แทนที่จะคัดทิ้งไป และสำหรับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (พื้นที่เกิน 400 ตารางเมตร) ห้างต้องจัดโปรแกรม “ส่งเสริมการขาย” เพื่อจูงใจให้ลูกค้าอยากซื้อผักผลไม้ดังกล่าวด้วย          ในกรณีที่ขายไม่ได้จริงๆ เขากำหนดให้นำไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศลหรือธนาคารอาหาร หากฝ่าฝืนมีค่าปรับระหว่าง 6,000 – 150,000 ยูโร (ประมาณ 230,000 – 5,800,000 บาท)         ฟิลิปปินส์เพื่อนบ้านเราก็กำลังลุ้นร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ลดขยะอาหาร ที่มีสาระสำคัญคล้ายกับกรณีของสเปน เช่นกัน     เวียดนาม         กฎหมายที่จะเริ่มใช้ในปี 2022 ตามแผนการลดขยะครัวเรือนของเวียดนาม กำหนดให้แต่ละบ้านแยกขยะออกเป็น 3 ประเภท (ขยะรีไซเคิล ขยะอาหาร และขยะอื่นๆ )  จัดเก็บในถุงบรรจุชนิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดการขยะตามจำนวนถุงที่ใช้ โดยผู้ให้บริการเก็บขยะมีสิทธิที่จะปฏิเสธการเก็บได้ หากผู้ทิ้งไม่ทำตามเงื่อนไข    รายละเอียดเรื่องค่าธรรมเนียมอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ปัจจุบันครัวเรือนในเขตเมืองของเวียดนามจ่ายค่าธรรมเนียมการเก็บขยะเดือนละ 25,000 – 30,000 ดอง (ประมาณ 35 - 45 บาท)https://www.un.org/en/global-issues/foodhttps://www.bloomberg.com/news/articles/2021-07-21/food-waste-problem-is-even-bigger-than-we-thought#:~:text=An%20estimated%202.5%20billion%20tons,and%20U.K.%20retailer%20Tesco%20Plc.https://uspackagingandwrapping.com/blog/which-states-waste-the-most-food.html?fbclid=IwAR21gG1TcjzjEbZn6ysS4NcCRouWLqKsjWfrWoJ3-zLaWoX9brFmSeYObGchttps://www.unep.org/resources/report/unep-food-waste-index-report-2021https://www.bworldonline.com/food-waste-not-want-not/?fbclid=IwAR193Pe4ZQF1VYMdb0tjZ5nEKwuQmbwq97KpvaF78imj3fl7iEZ3Uh-rMfohttps://www.nycfoodpolicy.org/food-policy-snapshot-south-korea-food-waste/https://www.globaltimes.cn/page/202104/1222490.shtmlhttps://stopfoodwaste.ie/resource/food-waste-the-lawhttps://ec.europa.eu/food/safety/food-waste/eu-actions-against-food-waste_enhttps://www.pewtrusts.org/en/research-and-analysis/blogs/stateline/2021/07/08/waste-not-some-states-are-sending-less-food-to-landfillshttps://www.fda.gov/food/consumers/food-loss-and-wastehttps://www.thaihealth.or.th/Content/50924   https://e.vnexpress.net/news/news/vietnam-to-apply-pay-as-you-throw-model-by-2025-4193441.html

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 “ทิ้ง” เพื่อโลก

        หลายปีที่ผ่านมาเราได้ยินเรื่องของเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนกันมาพอสมควร เราได้รับข้อมูลเรื่องผลกระทบของการบริโภคที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และตระหนักว่า “การคัดแยกขยะ” นั้นมีส่วนอย่างยิ่งในการลดโลกร้อน แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ลงมือทำ บ้างก็ทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่ถูกต้อง แม้จะมีการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะแล้วก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะในทางปฏิบัติมีรายละเอียดที่ซับซ้อน เช่น ขวด กล่อง ถุง หรือแพ็คเกจต่างๆ ประกอบด้วยวัสดุหลายประเภท ผู้ผลิตแต่ละเจ้าให้ความสนใจในเรื่องนี้ต่างกัน ในขณะที่ภาครัฐของหลายๆ ประเทศก็ยังไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ             เรามาดูกรณีตัวอย่างจากออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ และเดนมาร์ก ที่รัฐบาลร่วมกับภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม กำหนดแนวปฏิบัติในการจัดทำฉลากที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถคัดแยกขยะได้อย่างถูกต้อง รองรับการนำกลับไปแปรรูปมาใช้ใหม่ และกรณีของสิงคโปร์ที่ใช้วิธีส่งเสริมให้แบรนด์ต่างๆ “ลดขนาด” ของบรรจุภัณฑ์ ด้วยการให้ “โลโก้” ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสนับสนุนแบรนด์เหล่านี้ได้  ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์          ก่อนหน้านี้คนออสเตรเลียมีความสับสนอยู่ไม่น้อยกับ “ฉลากรีไซเคิล” ที่มีถึง 200 รูปแบบ ผู้ผลิตที่นั่นให้ความสนใจเรื่องนี้มาก ต่างคนต่างก็คิดรูปแบบเฉพาะออกมาใช้กับสินค้าตัวเอง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ “ตามไม่ทัน” จึงยังคง “ทิ้งผิด” อยู่นั่นเอง ความพยายามนั้นจึงเท่ากับสูญเปล่า          ต่อมาออสเตรเลียและนิวซีแลนด์แก้เกมด้วยการใช้ระบบฉลากรีไซเคิลที่เรียกกันว่า ARL (Australasian Recycling Label) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย APCO หรือ Australian Packaging Covenant Organization ร่วมกับ Planet Ark และ PREP (Packaging Recyclability Evaluation Postal) Design         คณะกรรมการที่ดูแลโครงการนี้แบ่งออกเป็นสองชุด ได้แก่ คณะที่ดูแลเรื่องข้อมูล (ซึ่งต้องมีความแม่นยำสูงมาก) และคณะที่ดูแลเรื่องการสื่อสารกับผู้บริโภค สมาชิกของทั้งสองคณะประกอบด้วยตัวแทนจากแบรนด์/ร้านค้าปลีก อุตสาหกรรมรีไซเคิล/จัดการขยะ ตัวแทนจากรัฐบาล และองค์กรไม่แสวงหากำไร           ผลิตภัณฑ์ภายใต้ระบบ ARL (สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกต และร้านค้าประเภทอื่นๆ ที่ร่วมโครงการ) จะมีสัญลักษณ์ 3 รูปแบบได้แก่         -        ลูกศรทึบวิ่งวน หมายถึง รีไซเคิลได้ (เจอถังรีไซเคิลที่ไหน ทิ้งได้เลย)         -        ลูกศรโปร่งวิ่งวน หมายถึง รีไซเคิลได้แบบมีเงื่อนไขตามที่แจ้งไว้ใต้สัญลักษณ์         -        ถังขยะ หมายถึง ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ทางเดียวที่ไปคือบ่อขยะ           ทั้งหมดนี้จะระบุชัดเจนว่าชิ้นส่วนไหน ต้องทิ้งอย่างไร          เช่น ตัวอย่างนี้ ส่วนที่เป็นกล่อง สามารถใส่ลงในถังรับขยะรีไซเคิลได้เลย ในขณะที่พลาสติกที่ห่อหุ้มมาจะต้องนำไป “ส่งคืนร้าน” ส่วนฝานั้นให้ทิ้งเป็นขยะทั่วไป          หัวใจของความสำเร็จของโครงการนี้คือข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ แบรนด์ที่เข้าร่วมโครงการ (ปัจจุบันเป็นแบบสมัครใจ) จะต้องประเมิน “ความสามารถในการรีไซเคิล” ของแพ็คเกจสินค้าตัวเอง โดยอ้างอิงกับฐานข้อมูลของ PREP ซึ่งมีการอัปเดตทุกปี โครงการนี้ยังส่งเสริมเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนด้วยการช่วยผู้ประกอบการออกแบบแพ็คเกจที่ตอบโจทย์เรื่องรักษ์โลกด้วย          ออสเตรเลียตั้งเป้าว่าภายในปี ค.ศ. 2025 แพ็คเกจผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะต้องเข้าเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ ใช้ซ้ำได้ รีไซเคิลได้ หรือ ย่อยสลายได้   เดนมาร์ก          ระบบ Pant A, B, C ของเดนมาร์กเป็นอีกตัวอย่างที่ยืนยันว่า จะมีการส่งต่อ “ขยะ” ไปสู่กระบวนการรีไซเคิลมากขึ้น หากผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ชัดเจนและได้ผลตอบแทนเป็นเงิน            Pant ในภาษาแดนิช แปลว่า “มัดจำ” เมื่อซื้อเครื่องดื่มในเดนมาร์ก ผู้บริโภคจะต้องจ่ายค่ามัดจำขวดหรือกระป๋องให้กับทางร้าน โดยร้านจะคำนวณค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้ที่หน้าเคาน์เตอร์ตามอัตราต่อไปนี้           เมื่อผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์เหล่านี้มาคืนกับ “ตู้รับคืนอัตโนมัติ” ที่ตั้งอยู่ตามร้านค้าหรือปั๊มน้ำมันที่ร่วม โครงการ ซึ่งมีอยู่ 3,000 แห่งทั่วประเทศ ตู้ดังกล่าวก็จะออก “ใบเสร็จ” ให้ผู้บริโภคนำไปใช้ซื้อของในร้าน หรือจะรับเป็นเงินสดก็ได้เช่นกัน           หรือใครจะเก็บรวบรวมไว้ที่บ้านให้ได้เยอะๆ ก่อนก็ไม่ว่ากัน กรณีนี้ผู้บริโภคสามารถนำขวดหรือกระป๋องไปคืนที่ “Pantstation” ซึ่งสามารถรับได้ครั้งละ 90 ชิ้น ปัจจุบันมีสถานีรับคืนอยู่ใน 12 เมืองทั่วประเทศ          ขวดหรือกระป๋องจากตู้เหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยัง Dansk Retursystem องค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลระบบการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของเดนมาร์ก ตั้งแต่การจัดเก็บ คัดแยก ไปจนถึงการหลอมเพื่อผลิตขวดหรือกระป๋องขึ้นมาใหม่          จากข้อมูลของ DR การหลอมกระป๋องใช้แล้วขึ้นมาใหม่ ใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตกระป๋องขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ต้นถึงร้อยละ 95         โครงการที่ริเริ่มขึ้นในปี 2002 โดยผู้ผลิตเบียร์ร่วมกับหน่วยงานรัฐ ภายใต้การดูแลของกระทรวงสิ่งแวดล้อมนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง          ข้อมูลในปี 2019 ระบุว่าอัตราการส่งคืนขวด/กระป๋องเครื่องดื่ม โดยผู้บริโภคสูงถึงร้อยละ 92         นอกจากเดนมาร์กแล้ว โมเดลการมัดจำขวดก็มีใช้ในเยอรมนี สวีเดน และนอร์เวย์เช่นกัน  สิงคโปร์         กรณีของสิงคโปร์นั้นแม้จะไม่ใช่เรื่องการรีไซเคิล แต่ก็เป็นโครงการที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะเป็นการ “ตัดตอน” การใช้ทรัพยากรและพลังงาน รวมถึงลดการสร้างขยะโดยไม่จำเป็น          ตั้งแต่ปี 2017 รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มโครงการติด “โลโก้” ให้กับสินค้าที่มีการปรับลดขนาดบรรจุภัณฑ์ ภายใต้ข้อตกลง SPA (Singapore Packaging Agreement) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ไม่ใส่บรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่เกินปริมาณสิ่งของด้านใน และเลือกสนับสนุนแบรนด์ที่ใส่ใจกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น           สินค้าที่จะติดโลโก้ “Reduced packaging” ภายใต้โครงการ LPRP (The Logo for Products with Reduced Packaging) จะต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการโครงการ โดยผู้ผลิตจะต้องส่งหลักฐานข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการลดปริมาณการใช้วัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์ เพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาในการใช้โลโก้ดังกล่าว   ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 ระบุว่าโครงการนี้สามารถลดขยะบรรจุภัณฑ์ได้ถึง 54,000 ตัน และประหยัดเงินค่าวัตถุดิบได้ 130 ล้านเหรียญ   เอกสารอ้างอิง รายงานกรณีศึกษาโดยสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International)  โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และเครือข่าย One Planet    https://www.consumersinternational.org/media/361469/unep_ci_2021_arl_case_study.pdf https://www.consumersinternational.org/media/361467/unep_ci_2021_pantabc_case_study.pdf https://www.consumersinternational.org/media/361470/unep_ci_2021_lprp_case_study.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ทนายความทิ้งคดี

ผู้บริโภคหลายคนที่ประสบปัญหาด้านคดีความ มักว่าจ้างทนายความให้มาช่วยแก้ต่างให้ ซึ่งต่อให้ไม่ชนะคดี แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้บริโภคต้องการคือ ความเอาใจใส่ด้านคดีความหรือการทุ่มเทให้กับคดีอย่างเต็มที่ และหากเราพบภายหลังว่าทนายความมีการทิ้งคดี หรือหนีหายจากการทำคดีไปดื้อๆ จะสามารถจัดการปัญหาได้อย่างไรบ้าง ลองไปดูเหตุการณ์นี้กันคุณชูชาติพบว่า มีหลายคนเข้ามาบุกรุกที่ดินของตัวเอง จึงไปว่าจ้างทนายความมาช่วยฟ้องร้องให้ ซึ่งภายหลังส่งเรื่องไปที่ศาล ทนายความก็นัดให้เขาเตรียมตัวขึ้นศาลเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ย อย่างไรก็ตามหลังจากนัดแนะวันเวลากันเรียบร้อย ทนายความก็กลับมาบอกว่าศาลเลื่อนนัดและเป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้งคุณชูชาติจึงลองเดินทางไปที่ศาลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยตนเองและพบว่า ศาลได้พิพากษายกฟ้องคดีของเขาไปนานแล้ว เนื่องจากโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองคนที่เข้ามาบุกรุกให้เป็นคดีเดียวกัน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะแยกฟ้องจำเลยเข้ามาใหม่ แต่ทนายกลับไม่ได้ยื่นฟ้องเข้ามาใหม่แต่อย่างใด ส่งผลให้คดีขาดอายุความในที่สุดเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณชูชาติจึงรู้สึกว่าถูกทิ้งคดี และส่งเรื่องร้องเรียนปัญหาไปยังสภาทนายความ ซึ่งได้รับการตอบกลับมาว่า ทนายความคนดังกล่าวไม่ได้มีสถานภาพเป็นทนายความแล้ว เนื่องจากใบอนุญาตการประกอบอาชีพของเขาได้หมดอายุไปแล้ว และยังไม่มีการยื่นคำขอต่อใบอนุญาตแต่ประการใด อย่างไรก็ตามคุณชูชาติกลับพบชื่อของทนายดังกล่าว ในเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือเฟซบุ๊ก (Facebook) ของสภาทนายความประจำจังหวัด ซึ่งเป็นการโพสต์เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งในสภา ส่งผลให้คุณชูชาติส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบปัญหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 กำหนดให้ทนายความต้องมีมรรยาทต่อตัวความ ซึ่งไม่ควรกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้  เพราะอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ คือ 1.จงใจขาดนัด หรือทอดทิ้งคดี 2. จงใจละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตน  หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ ซึ่งผู้ร้องสามารถร้องเรียนปัญหาไปที่สภาทนายความเพื่อให้มีการตรวจสอบได้ นอกจากนี้หากพบว่าทอดทิ้งคดีจริงและทำให้ผู้ร้องเสียหาย อาจเข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ที่กำหนดว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ผู้นั้นจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอีกด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับในกรณีนี้ศูนย์ฯ ช่วยผู้ร้องทำหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงไปยังสภาทนายความอีกครั้ง ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >