ฉบับที่ 249 ทีวีดิจิทัล ทำเลทองของโฆษณาในยุคโควิด-19

        คุณเคยรู้สึกไหมว่าทุกวันนี้โฆษณาทางโทรทัศน์มีจำนวน “มาก” และกินเวลา “นาน” เสียเหลือเกิน ชนิดที่ว่าลองกดรีโมทไปกี่ช่องก็ต้องเจอโฆษณา         บางกรณีแทบจะแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าสิ่งที่กำลังรับชมอยู่นั้นคือ “โฆษณา” หรือ “รายการโทรทัศน์” เนื่องจากการปรับตัวของผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสินค้า/บริการ เจ้าของรายการโทรทัศน์หรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ ที่สร้างสรรค์โฆษณาให้มีความแตกต่างออกไปจากเดิม และหลีกเลี่ยงได้ยากกว่าเดิม         ถ้ามองในแง่การตลาดอาจเป็นผลเชิงบวก แต่หากมองในแง่ของผู้บริโภค ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า         เรากำลังเสียเวลาไปกับเนื้อหาที่ไม่ต้องการรับชมอยู่หรือไม่ ?ทีวีดิจิทัลในช่วงโควิด-19         แม้ว่าสื่อออนไลน์จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคสมัยนี้ มีการเปิดรับข่าวสาร สาระความรู้ และความบันเทิงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีอย่างแพร่หลาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโทรทัศน์ระบบดิจิทัล หรือทีวีดิจิทัล ยังคงเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการรับชมเนื้อหาต่างๆ ของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมาตรการของภาครัฐส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง เช่น การรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” การทำงานที่บ้าน (work from home) การปิดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านค้า โรงภาพยนตร์ เป็นต้น ทำให้ผู้คนมีการใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านและเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และโฮมชอปปิ้งมากขึ้น         ฐานเศรษฐกิจรายงานตัวเลขการเติบโตของธุรกิจโฮมชอปปิ้งในปี 2563 สูงขึ้นกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร บำรุงสุขภาพ บำรุงสมอง ปอด เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย         ขณะที่ณิชาปวีณ์ กกกำแหง และเบญญาทิพย์ ลออโรจน์วงศ์ สำรวจสถานการณ์ภาพรวมของสื่อโทรทัศน์ในเดือนมกราคม-ธันวาคม 2563 พบว่า สื่อโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อหลักที่มีการใช้งานต่อวันสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อวิทยุและสื่อดิจิทัล ผู้ชมนิยมรับชมโทรทัศน์ในช่วงไพรม์ไทม์ เวลา 18.00-22.30 น. โดยเฉพาะผู้ชมที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งรายการที่มีค่าความนิยมโดยเฉลี่ยหรือเรตติ้งรายการสูงขึ้น ได้แก่ รายการประเภทภาพยนตร์เรื่องยาว (Feature Film) รายการประเภทบันเทิงแบบเบ็ดเตล็ด (Light Entertainment) และรายการข่าว         แรกเริ่มนั้นทีวีดิจิทัลมีจำนวน 28 ช่อง แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 19 ช่อง เมื่อสถานีโทรทัศน์ที่เป็นพื้นที่สำหรับลงโฆษณาสินค้า/บริการมีจำนวนน้อยลง นั่นย่อมหมายความว่าโฆษณาสินค้า/บริการมีโอกาสกระจายตัวไปตามสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่ช่อง และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้เราพบโฆษณาทีวีในปริมาณที่มากขึ้น         กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เมื่อเดือนกันยายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งสารแสดงความห่วงใยผ่านรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีของรายการขายสินค้าที่เผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะทางทีวีดิจิทัล ทั้งเครื่องใช้ในบ้าน เครื่องสำอาง อาหารเสริม แม้จะเป็นทางเลือกในการซื้อสินค้าของประชาชน ในช่วงที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่การนำเสนอสินค้าบางรายการมีลักษณะแจ้งสรรพคุณที่อาจเกินความจริง จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) องค์การอาหารและยา (อย.) ฯลฯ ทำงานในเชิงรุก เพื่อตรวจสอบว่าสินค้าที่นำเสนอผ่านรายการส่งเสริมการขายต่างๆ นั้นได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองตรวจสอบแล้วหรือไม่ เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ แนวทางการกำกับโฆษณาในไทย        พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 23 ระบุว่า การประกอบกิจการทางธุรกิจ ให้ดำเนินการหารายได้โดยการโฆษณา การบริการธุรกิจ การจัดเก็บค่าสมาชิก หรือโดยวิธีอื่นใดได้ แต่ทั้งนี้จะกำหนดการโฆษณาและการบริการธุรกิจได้ไม่เกินชั่วโมงละสิบสองนาทีครึ่ง โดยเมื่อรวมเวลาโฆษณาตลอดทั้งวัน เฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละสิบนาที         ในส่วนของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ข้อ 2 และข้อ 5 ระบุลักษณะของการเอาเปรียบผู้บริโภค ได้แก่ การออกอากาศรายการหรือการโฆษณาที่มีเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้า โดยหลอกลวงหรือกระทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสําคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง รวมทั้งการออกอากาศรายการโดยมีการโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือบ่อยครั้งที่เป็นผลให้ผู้บริโภครับชมรายการอย่างไม่ต่อเนื่อง สำรวจโฆษณาทีวี         เมื่อทำการศึกษาโฆษณาที่ปรากฏทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่ออกอากาศตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม – 30 เมษายน 2564 โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านประเภทสถานีโทรทัศน์ ได้แก่ ช่องบริการทางสาธารณะและช่องบริการทางธุรกิจ ปัจจัยด้านประเภทรายการโทรทัศน์ ได้แก่ รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) และรายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) และปัจจัยด้านช่วงเวลาในการออกอากาศ         จากเกณฑ์ข้างต้น สามารถคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจำนวน 34 กลุ่มตัวอย่าง โดยการนับเวลารายการ 1 ชั่วโมง หรือ 60 นาที จะเริ่มนับตั้งแต่ต้นชั่วโมง เช่น 00.01-01.00 น. ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอาจมี 1 รายการหรือมากกว่า 1 รายการก็ได้ แต่จะนับเป็น 1 กลุ่มตัวอย่างเท่านั้น รายละเอียดของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ประกอบด้วย        1. รายการประเภทข้อเท็จจริง (Non-Fiction) 20 กลุ่มตัวอย่าง        2. รายการประเภทเรื่องแต่ง (Fiction) 8 กลุ่มตัวอย่าง        3. รายการประเภทความบันเทิง (Light Entertainment) 6 กลุ่มตัวอย่าง          โฆษณาเกินเวลาที่กำหนด ?         ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา 52 นาที 36 วินาที ซึ่งไม่เกินเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด แต่เมื่อพิจารณารายกลุ่มตัวอย่างพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีเนื้อหารายการน้อยกว่า 47 นาที 30 วินาที มีจำนวน 4 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างที่ 22 (วันทอง) 38 นาที 35 วินาที รองลงมาคือ กลุ่มตัวอย่างที่ 28 (ทุบโต๊ะข่าว + ซุปตาร์พาตะลุย) 44 นาที 14 วินาที, กลุ่มตัวอย่างที่ 31 (ฟ้าหินดินทราย + ข่าวภาคค่ำ) 46 นาที 45 วินาที และกลุ่มตัวอย่างที่ 15 (แฉ) 47 นาที ตามลำดับ         ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณาและโฆษณาแฝง 50 นาที 16 วินาที ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า 46 นาที 27 วินาที ค่าเฉลี่ยโดยรวมของเนื้อหารายการในกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ 43 นาที 55 วินาที ซึ่ง 2 กรณีหลังถือว่ามีเนื้อหารายการน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด         เมื่อหาค่าเฉลี่ยของเนื้อรายการโดยจำแนกตามประเภทรายการโทรทัศน์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) รายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) และรายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) พบว่า รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) เช่น รายการข่าว รายการกีฬา รายการสารคดี ฯลฯ มีค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการ 44 นาที 58 วินาที (กรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า) และค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการ 42 นาที 33 วินาที (กรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ)         เมื่อหาค่าเฉลี่ยของเนื้อรายการโดยจำแนกตามประเภทสถานีโทรทัศน์ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่        1) ช่องบริการทางสาธารณะ        2) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ        3) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) และ        4) ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD)          พบว่า กรณีที่หักลบโฆษณา โฆษณาแฝง และรายการแนะนำสินค้า ค่าเฉลี่ยของช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 46 นาที 57 วินาที ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) 44 นาที 6 วินาที และช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) 46 นาที 15 วินาที ส่วนกรณีหักลบโฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ ค่าเฉลี่ยของช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 43 นาที 36 วินาที ช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) 42 นาที 4 วินาที และช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) 43 นาที 37 วินาที มุมมองผู้บริโภค         ขณะที่การสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคด้วยแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 350 ชุด เก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม – 15 กรกฎาคม 2564 กับผู้ที่เปิดรับรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการมี “โฆษณา” ทางโทรทัศน์ ในแง่ของการเป็นช่องทางหารายได้ที่เหมาะสมสำหรับผู้ผลิตรายการหรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ (2.55) และเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ (2.53)         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วยต่อการมี “โฆษณาแฝง” และ “รายการแนะนำสินค้า” ในรายการโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นการรบกวนการรับชมรายการโทรทัศน์ (3.13, 3.19 ตามลำดับ) โดยมองว่ารายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง เช่น รายการข่าว สาระความรู้ สารคดี ไม่ควรมีโฆษณาแฝงหรือรายการแนะนำสินค้า (3.25)         และมีความเห็นด้วยน้อยกับการที่นักแสดงหรือคนดังบอกเล่าและเชิญชวนให้ผู้ชมซื้อสินค้าหรือบริการ ในรายการสัมภาษณ์ต่างๆ (1.94)        หากพบว่า “โฆษณา” และ “โฆษณาแฝง” ของสินค้าหรือบริการใดที่รบกวนการรับชม ผู้บริโภคจะไม่ซื้อหรือสนับสนุนสินค้าเหล่านั้นโดยเด็ดขาด (3.03, 3.07 ตามลำดับ) ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ         จากผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่า สถานีโทรทัศน์มีการหารายได้จากโฆษณาและโฆษณาแฝงอย่างมากจนทำให้เวลาของเนื้อหารายการในกลุ่มตัวอย่างบางส่วนน้อยกว่าเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนดไว้ เนื่องมาจากสถานการณ์การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่สูงขึ้นและช่องว่างทางกฎระเบียบของ กสทช. ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลเฉพาะโฆษณา (TV Commercial - TVC) เป็นหลัก ทำให้เกิดช่องว่างที่ผู้ประกอบการสามารถหารายได้เพิ่มเติมโดยหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎได้ ซึ่งล้วนแต่เป็นการเบียดบังเวลาในการรับชมรายการโทรทัศน์ของผู้บริโภค         อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีทัศนคติที่ยอมรับได้กับ “โฆษณา” แต่รับไม่ได้กับ “โฆษณาแฝง” และหากรู้สึกว่าถูกรบกวนก็จะนำไปสู่พฤติกรรมการเปลี่ยนช่อง การไม่สนับสนุนสินค้าหรือบริการนั้นๆ ตลอดจนการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบทันที         ข้อเสนอแนะจากการวิจัยในครั้งนี้คือ ควรมีแนวทางการกำกับโฆษณาที่ชัดเจนและครอบคลุม เช่น กำหนดขอบเขตของโฆษณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หากจะอนุโลมให้มีโฆษณาแฝงอาจต้องจำกัดช่วงเวลาในการเผยแพร่ หรือจำกัดประเภทสถานีโทรทัศน์และประเภทรายการ โดยพิจารณาจากกลุ่มเป้าหมายที่รับชม ซึ่งอาจเป็นเยาวชนหรือคนสูงอายุที่ถูกโน้มน้าวใจได้ง่ายกว่าคนวัยอื่นๆ         รวมทั้งควรมีหน่วยงานสอดส่องเฝ้าระวังโฆษณาในเชิงรุก โดยมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีระบบการจัดการข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ที่สำคัญคือสามารถเข้าถึงภาคประชาชนและภาครัฐ สร้างการรับรู้ในฐานะของศูนย์กลางการเฝ้าระวังโฆษณา         ขณะเดียวกันอาจสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคด้วยการให้ค่าตอบแทนหรือค่าเสียเวลา สำหรับผู้บริโภคที่ช่วยสอดส่องโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือเอาเปรียบผู้บริโภค แล้วร้องเรียนไปยัง กสทช.        หากสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ย่อมส่งผลดีทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต รวมทั้งสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญของการโฆษณาในทีวีดิจิทัลอีกด้วย        (เนื้อหาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “งานศึกษาโฆษณาแฝงและการโฆษณาเกินเวลาทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล” (2564) โดย น.ส.บุณยาพร กิตติสุนทโรภาศ นักวิจัยอิสระ)อ้างอิงhttp://bcp.nbtc.go.th/th/detail/2020-06-16-11-48-20 www.nbtc.go.th/law/พระราชบัญญัติ/พระราชบัญญัติ/พรบ-การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์-พ.aspxwww.nbtc.go.th/Business/กจการวทย/เอกสารที่เกี่ยวข้อง-(1)/กฎหมาย-(1)/ประกาศ-กสทช-เรื่อง-การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บ.aspxhttp://www.supinya.com/2016/06/7578https://www.thansettakij.com/content/428726https://broadcast.nbtc.go.th/data/bcj/2564/doc/2564_02_2.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 บทเรียน ‘เพย์ทีวี’ กสทช. ต้องปรับ ผู้บริโภคต้องรู้

ในอดีตกาล ทางเลือกในการชมรายการโทรทัศน์ของผู้บริโภคไทยจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ช่อง การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีไม่ได้เกิดการพลิกโฉมเช่นในปัจจุบัน คนรุ่นอายุ 30 ขึ้นไปคงนึกออกเมื่อเปิดทีวีตอนกลางวันของวันธรรมดาจะเจอแต่จอเปล่ากับแท่งสีหลากสี ดีขึ้นหน่อยก็มีเพลงประกอบ สำหรับคนยุค 2017 ไม่อาจจินตนาการถึงทางเลือกที่น้อยนิดเป็นโอกาสให้ธุรกิจเพย์ทีวีหรือช่องโทรทัศน์ที่ต้องจ่ายเงินถึงจะมีสิทธิ์ชมเกิดขึ้นในสังคมไทย แต่ในยุคเริ่มต้น ราคาของทางเลือกชนิดนี้ค่อนข้างสูงสำหรับประชาชนทั่วไปกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น คอนเท้นต์ที่มีหลากหลาย ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้การซื้อหาเพย์ทีวีของผู้บริโภคง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งก็มาพร้อมกับโจทย์ใหม่ๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยเช่นกันยกตัวอย่างในปี 2559 เมื่อบริษัท จีเอ็มเอ็มบี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของซีทีเอช แจ้งผู้ใช้บริการว่า 17 มกราคม ไม่สามารถเติมเงินเพื่อซื้อแพ็คเกจช่องรายการต่างๆ ของ Z Pay TV ในกล่อง GMMz ได้ ทำให้ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับชมช่องรายการของ CTH ทางกล่อง GMMz  ได้ตั้งแต่ วันที่ 6 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป ทางบริษัทเสนอมาตรการเยียวยาในลักษณะของการให้กล่องรับสัญญาณดาวเทียม CTH  พร้อมรับชมแพ็กเกจ Beyond CTH Package ฟรี นาน 4 เดือน 8  เดือน และ 12 เดือน และหากลูกค้าไม่ยอมรับการชดเชยต้องคืนเงินให้กับลูกค้าโดยหลักการคืนในจำนวนเงินตามวันที่ไม่ได้รับ ทว่า ในทางปฏิบัติกลับไม่ง่ายดายเช่นที่ว่า โสภณ หนูรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนนโยบายและพัฒนาองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า“เนื่องจากกล่องแกรมมี่เดิมดูช่องพิเศษของซีทีเอชไม่ได้ เขาก็เสนอว่าให้มีการยืนยันตนเพื่อรับกล่องซีทีเอชไปดู แล้วก็มีแพ็กเกจบียอนด์ ซีทีเอช ให้ดูฟรี 4 เดือน 8 เดือน 12 เดือน ตามระยะเวลาที่ลูกค้าเหลืออยู่ คือถ้าผมสมัครไป 6 เดือน เหลืออีก 3 เดือน แสดงว่าผมต้องดูฟรีอีก 3 เดือน แต่ผมต้องเปลี่ยนกล่องเป็นกล่องซีทีเอช มันก็จะมีปัญหาว่าไม่ใช่ทุกคนจะดูได้ คือบางบ้านใช้ระบบเคยูแบนด์ เป็นจานเล็ก สีดำๆ จานพวกนี้เวลาฝนตกจะดูไม่ค่อยได้ อีกระบบคือซีแบนด์ เป็นจานใหญ่ๆ แต่กล่องนี้รองรับแค่ระบบเคยูแบนด์ เนื่องจากกล่องจีเอ็มเอ็มแซดแต่เดิมใช้ได้ทั้งสองระบบ ลูกค้าที่ใช้เคยูแบนด์เขาก็เกิดคำถามว่าเขาต้องเสียเงินติดตั้งจานใหม่หรือเปล่า ได้กล่องมาจริง แต่ต้องเสียค่าติดตั้งจานอีกเป็นพัน ทำไมเขาต้องมีภาระตรงนี้ ทำไมบริษัทไม่กำหนดเรื่องนี้ในมาตรการเยียวยาด้วยว่าต้องชดเชยค่าใช้จ่ายตรงนี้ให้ผู้บริโภค”ต่อมาซีทีเอชยกเลิกกิจการทั้งหมดในวันที่ 1 กันยายน จนทุกวันนี้ก็ยังมีผู้บริโภคที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาหลงเหลืออยู่อีกไม่น้อยคราวนี้ลองมาดูกรณีตัวอย่างคลาสสิกและร้อนแรงอย่างทรูวิชั่นส์กันช่วงคาบเกี่ยวปีเก่าปีใหม่ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ เกิดกรณีใหญ่โตเมื่อทรูวิชั่นส์ยกเลิกช่อง HBO ทั้งหมดออกจากผังรายการ ได้แก่ HBO, Cinemax, HBO Signature, HBO Family, HBO Hits และ RED by HBO ทรูวิชั่นส์ไม่ใช่กรณีแรกที่ผู้ให้บริการเพย์ทีวียกเลิกช่องรายการจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่จ่ายเงินซื้อบริการ บางกรณีก็เยียวยาผู้บริโภคตามเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดไว้ แต่บางกรณีก็ไม่เสียงจากผู้บริโภคกรณีทรูวิชั่นส์ศิวาณัติ ไชยภัฎ หนึ่งในผู้ใช้บริการรายหนึ่งของทรูวิชั่นส์ที่ต้องเสียค่าสมาชิกประมาณ 2,000 บาทต่อเดือน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการยกเลิกรายการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า กล่าวกับฉลาดซื้อว่า“นอกจากยกเลิกรายการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าแล้ว ยังลดระดับเนื้อหาลงมาเป็นระดับที่หาดูได้ทั่วไป เดิมผมเป็นแบบเอ็กคลูซีฟ ต่อมาผมสามารถหาดูได้ในราคาที่ต่ำลง หรือบางคอนเทนต์ที่เป็นของบีบีซีก็ถูกตัดทิ้งไปเลย ทั้งที่ตอนแรกก็มีโฆษณาให้ใช้ พอเราตื่นมาตอนเช้า รายการนี้ก็หายไป โดยไม่ได้บอกอะไรเลย ทั้งที่เขามีช่องทางแม็กกาซีนที่ใช้สื่อสารกับสมาชิกอย่างเป็นทางการทุกเดือน ก็ไม่มีการแจ้งข่าว อ้างแต่ว่ามีตัววิ่งผ่านหน้าจอให้ดูแล้ว“ผมเป็นสมาชิกแบบเอ็กคลูซีฟ เป็นแพลตตินัม ได้ดูช่องพิเศษ ถ้าเป็นบีบีซีจะเป็นช่องพิเศษที่ต้องซื้อเพิ่ม แต่ก็ถอดออกแล้วลดค่าบริการผมลง แต่ผมยินดีจ่ายๆ มาลดผมได้ยังไง ผมมีสิทธิดูช่องเอชบีโอ เขาก็ถอด แล้วเอาช่องทั่วไปที่มีในเคเบิ้ลท้องถิ่นมาให้ดู ถ้าเป็นช่องพวกนี้ ผมไม่ต้องจ่ายเงินแพงขนาดนี้ให้ทรูวิชั่นก็ได้“พอเกิดเหตุขึ้น ผมโทรไปที่คอลล์เซ็นเตอร์ แจ้งว่ามันเป็นมายังไง ผมไม่พอใจอะไร เขาก็จะตอบเป็นสูตรว่าให้ลองชมรายการนี้ จัดหารายการใหม่ที่คุณภาพดีกว่ามาให้ดู ผมบอกว่ารายการพวกนี้ผมหาดูได้ทั่วไปอยู่แล้ว”ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ.2556 หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ข้อ 15 ระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีที่ผู้ให้บริการประสงค์จะเปลี่ยนแปลงลักษณะ ประเภท เงื่อนไข มาตรฐาน และคุณภาพในการให้บริการที่ตกลงในสัญญา หรือที่ได้โฆษณาหรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ หรือการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการอื่นๆ อันมีลักษณะเป็นสาระสำคัญของการให้บริการ ผู้ให้บริการมีหน้าที่แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนมีการเปลี่ยนแปลงในกรณีของทรูวิชั่นส์ถือว่าแจ้งน้อยกว่า 30 วัน อีกทั้งการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรที่ว่าของทรูวิชั่นส์คือการทำตัววิ่งขึ้นบนหน้าจอดังที่ศิวาณัติเล่า ซึ่งผู้บริโภคไม่ได้รับข่าวสารนี้อย่างชัดเจนการเยียวยาที่ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมาตรการเยียวยาที่ทางทรูวิชั่นส์เสนอ มี 6 ข้อ คือมีช่องใหม่  7 ช่อง, อัพเกรดแพคเกจ 1 ระดับ ระยะเวลา 30 วัน, สิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าแพลตตินั่ม เพิ่มแต้ม, สิทธิขอลดแพคเกจ, สิทธิลูกค้ารายปีหรือราย 6เดือนที่จะยกเลิกบริการ และสิทธิลูกค้าสมาชิกไม่ครบ 6 เดือนกับลูกค้าที่ควบบริการเป็นสมาชิกไม่ถึง 12 เดือน ได้รับยกเว้นค่าติดตั้งและค่าสมาชิกประเด็นก็คือมาตรการเยียวยาของทรูวิชั่นส์ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เช่น ช่องรายการที่นำมาชดเชยไม่สามารถทดแทนช่องรายการเดิมได้ ผู้บริโภคควรมีสิทธิยกเลิกได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ได้รับเงินคืน และบริษัทไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะเป็นกรณีที่บริษัทผิดสัญญาและไม่ควรมีการกำหนดระยะเวลาเพื่อทำให้ผู้บริโภคเสียสิทธิ เป็นต้น“ทรูวิชั่นส์เสนอแต้มให้ผม 1,000 แต้ม เขาบอกว่ามันสิทธิประโยชน์ต่างๆ เยอะมาก แต้มนี้ไปแลกเป็นเงินได้ 100 บาท พอ กสทช. รุกหนักขึ้น เขาก็ให้แต้มอีก 1,000 แต้ม ผมบอกว่าแพ็กเกจที่ต่ำกว่าผม ได้อัพเกรดฟรีขึ้นมาร่วม 400 บาท ผมเป็นระดับเอ็กคลูซีฟ ได้เท่ากัน แต่ทำไมจ่ายแพงกว่า” ศิวาณัติ เล่าถึงมาตรการเยียวยาที่ไม่ตอบโจทย์และทำให้เขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งท้ายสุดแล้วเขาก็ตัดสินใจบอกเลิกสัญญากับทรูวิชั่นส์ พร้อมกับติติงการทำงานของ กสทช. ว่าไม่สามารถดูแลผู้บริโภคและกำกับดูแลผู้ประกอบการให้อยู่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ได้เปิดข้อสงวนความเห็นสุภิญญา จากการประชุม กสท. ครั้งที่ 6/2560 วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ในการพิจารณาวาระ 4.26 แผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณี บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ จำนวน 6 ช่องรายการ สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งใน กสทช. (ซึ่งปัจจุบันได้ขอยุติการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวเพื่อรอการตีความทางกฎหมาย เพราะถูกพิพากษาว่ามีความผิดจากกรณีปีนสภา) ได้ขอสงวนความเห็น สรุปความได้ว่า1.ไม่เห็นชอบแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติม เพราะเห็นว่ามาตรการข้างต้นยังไม่ครอบคลุมหลักการชดเชยเยียวยาผู้บริโภคที่ครอบคลุมและเป็นธรรมเพียงพอกับสมาชิกทุกกลุ่ม2.การออกคำสั่งเตือนทางปกครองแก่บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด ในกรณีที่มีพฤติกรรมการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงฯ นั้น เป็นบทลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของผู้รับใบอนุญาต3.หากพิจารณาการกำกับดูแลของ กสท. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์) ต่อกรณีการยกเลิกกลุ่มช่องรายการ HBO 6 ช่องรายการ นับตั้งแต่การพิจารณากรณีดังกล่าวครั้งแรกในที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 43/2559 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 ซึ่งถือเป็นครั้งแรก จนกระทั่งถึงการประชุม กสท.ครั้งที่ 6/2560 วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ตลอดระยะเวลาดังกล่าวมีหลายขั้นตอนที่สุภิญญาเห็นว่า กสท. มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ประกาศ กสทช. กำหนด และมีความล่าช้าในการพิจารณาดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคสับสนและไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างทันท่วงที รวมทั้งอาจมีแนวทางการพิจารณาที่ข่ายเลือกปฏิบัติต่อผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายแตกต่างกัน การดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ของ กสท.ข้างต้น แสดงถึงการกำกับดูแลที่ล่าช้า ขาดประสิทธิภาพ และอาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับใบอนุญาตบางรายรวมทั้งละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม(สามารถอ่านข้อสงวนความเห็นของสุภิญญา กลางณรงค์ โดยละเอียดได้ที่ http://www.supinya.com/2017/01/5656/)กสทช. ต้องปรับนโยบาย-ผู้บริโภคต้องถี่ถ้วนจากปัญหาที่เกิดขึ้น โสภณสรุปบทเรียนจากฝั่ง กสทช. และฝั่งผู้บริโภคได้ว่า“ในระดับนโยบาย กสทช. มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการยกเลิกรายการ ดังนั้น ผมเห็นว่า กสทช. ควรพิจารณาอนุมัติแผนเยียวยาที่คุ้มครองผู้บริโภคจริงหรืออาจจะสนับสนุนในการทำมาตรการเยียวยาผู้บริโภค เพราะที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าถ้าปล่อยให้ผู้ประกอบการออกมาตรการเองไม่เป็นธรรม อย่างการบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วันเพียงพอหรือไม่ การแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรควรกำหนดให้ชัดเลยว่าต้องทำเป็นหนังสือแจ้งผู้บริโภคหรือทางเอสเอ็มเอส ไม่ใช่แค่ตัววิ่งบนจอ เรื่องพวกนี้ต้องชัดเจน“เรื่องแผนมาตรการเยียวยา เมื่อ กสทช. มีอำนาจ ก็ควรกำหนดเกณฑ์ว่าการทำแผนเยียวยาต้องมีเรื่องอะไรบ้าง เช่น การคืนเงิน ผู้บริโภคมีช่องทางอะไรบ้าง ระยะเวลาการใช้สิทธิ กำหนดแค่ 30 วัน ซึ่งผู้บริโภครู้สึกว่ามันสั้นไป แล้วคุณก็ไม่ได้แจ้งเป็นทางการด้วย หรือการให้ดูฟรี 30 วันจะให้ทำไม ถ้าผู้บริโภคเป็นสมาชิก 6 เดือนก็ต้องให้เขาดู 6 เดือน ถึงจะเรียกว่าตั้งใจเยียวยาจริงๆ เมื่อ กสทช. ไม่มีเกณฑ์ ผู้ประกอบการกำหนดเองก็กำหนดแบบไม่สนใจผู้บริโภค แล้วผู้บริโภคก็ต่อรองกับผู้ประกอบการไม่ได้ คนที่ต้องออกหน้าแทนคือ กสทช. จึงควรต้องมีหลักประกันให้แผนเยียวยาที่ผู้ประกอบการทำมาไม่ผ่านความเห็นชอบเพราะไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ”ในส่วนของผู้บริโภค โสภณมีคำแนะนำว่า ก่อนจะบอกรับเป็นสมาชิกเพย์ทีวีช่องต้องศึกษาและอ่านข้อสัญญาอย่างถี่ถ้วนก่อนจะลงนาม หากพบว่าข้อสัญญาใดเป็นการเอาเปรียบ สามารถร้องเรียนกับ กสทช. เพื่อให้ตรวจสอบว่าใช้สัญญาตามที่ขออนุญาตจาก กสทช. หรือไม่ เพราะสัญญาเหล่านี้ต้องผ่าน กสทช. ก่อนจึงจะใช้ทำสัญญากับผู้บริโภคได้“กรณีเปลี่ยนแพ็กเกจ ผู้บริโภคคุณต้องดูตัวเองว่านิยมดูช่องไหน เหมาะสมกับความต้องการของตนเองหรือไม่เมื่อเทียบกับราคา บางคนซื้อกล่องไม่ได้คิดอะไร ดูแต่ราคา ดูแต่ว่ามีช่องเยอะ โดยไม่สนว่าตัวเองจะดูอะไรบ้าง แล้วเวลาทำสัญญา เอกสาร ใบเสร็จ ใบประกัน ถ้ามีก็ต้องเก็บไว้ทั้งหมด โบรชัวร์ก็สำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่คุณอ่านแล้วตัดสินใจซื้อ ควรเก็บไว้ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา เขาโฆษณาแบบนี้ ถ้าไม่เป็นตามโฆษณาก็ร้องเรียนได้”ที่สำคัญ โสภณบอกว่า เวลาเกิดปัญหา อย่านิ่งนอนใจ ต้องร้องเรียนเพื่อรักษาสิทธิ..........แม้ธุรกิจเพย์ทีวีจะขยายตัวกว่าอดีตขึ้นมาก บริษัทใหญ่ๆ จำนวนหนึ่งเข้ามาเป็นผู้เล่นเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด แต่ก็ยังถือว่ามีผู้เล่นน้อยรายในตลาด ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม  เพย์ทีวีก็กำลังเผชิญความท้าทายขั้นชี้เป็นชี้ตายจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าในอดีต ที่กำลังเข้ามา Disrupt ธุรกิจดั้งเดิมหลายประเภท (แอร์บีเอ็นบีกำลังเขย่าธุรกิจโรงแรมหรืออูเบอร์และแกร็บกำลังสั่นสะเทือนวงการรถแท็กซี่)เพย์ทีวีถูก Disrupt จากอินเตอร์เน็ต จากเฟสบุ๊คไลฟ์ จากยูทูบ ยังไม่นับเว็บไซต์ภาพยนตร์และซีรีส์ละเมิดลิขสิทธิ์อีกมาก ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงคอนเท้นต์ที่ตนเองต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงิน มองในแง่นี้ก็น่าสนใจว่าธุรกิจเพย์ทีวีในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะมีที่อยู่ที่ยืนในตลาดอย่างไร และรูปแบบปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคจะเป็นอย่างไร------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ขั้นตอนยกเลิกการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกของผู้ให้บริการหลักการ 1.ห้ามมิให้ผู้ให้บริการยกเลิกการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกตามสัญญาเว้นแต่กรณี ดังต่อไปนี้   (4) ผู้ให้บริการ ไม่สามารถให้บริการได้ด้วยเหตุสุดวิสัย  ( ตาม ข้อ 34 (4) แห่งประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 )2.ผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ กสท. ( ตามข้อ 14 แห่งประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 )3.ผู้รับใบอนุญาตสามารถให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ได้ตามระยะเวลาที่คณะกรรมการอนุญาต หากประสงค์จะเลิกการให้บริการดังกล่าวก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ จะต้องแจ้งเหตุแห่งการยกเลิกประกอบกิจการพร้อมทั้งมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการให้คณะกรรมการเห็นชอบล่วงหน้าก่อนเลิกกิจการ โดยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก่อนเลิกกิจการนอกจากนี้ผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ กสทช. ( ตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ )4.กรณีที่ผู้ให้บริการประสงค์จะเปลี่ยนแปลงลักษณะ ประเภท เงื่อนไข มาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการที่ตกลงในสัญญา หรือที่ได้โฆษณาหรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ หรือการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการอื่น ๆ อันมีลักษณะเป็นสาระสำคัญของการให้บริการ ผู้ให้บริการมีหน้าที่แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนมีการเปลี่ยนแปลงกรณีการเปลี่ยนแปลงตามวรรคหนึ่งมีลักษณะ ประเภท เงื่อนไข มาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาเดิม ผู้ให้บริการต้องดำเนินการเยียวยา หรือลดค่าบริการหรือยกเว้นค่าบริการแก่ผู้ใช้บริการอย่างเป็นธรรม หรือให้โอกาสผู้ใช้บริการบอกเลิกสัญญานั้นก็ได้ ( ตามข้อ 15 แห่งประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 )สรุป หากผู้ให้บริการประสงค์จะเลิกกิจการ ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ต้องปฏิบัติ ดังนี้ 1. แจ้งเหตุแห่งการยกเลิก ไปยัง สำนักงาน กสทช. ล่วงหน้าก่อนเลิกกิจการ 2. แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนมีการเปลี่ยนแปลง 3. ในการแจ้งยกเลิก ต้องส่งแผนมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการมาประกอบด้วย เพื่อให้ คณะกรรมการ กสท.พิจารณาและเห็นชอบแผน 4. เมื่อคณะกรรมการ กสท.มีมติเห็นชอบแผนมาตรการเยียวยา และเห็นชอบการยกเลิกกิจการว่าเป็นไปตามกฎหมาย ผู้ให้บริการจึงสามารถเลิกกิจการได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 ทีวีกำลังจะเปลี่ยนไป!!!

  คุณดูโฆษณาขายทีวีแล้วรู้สึกไหมว่ามันเปลี่ยนไป หลายคนคงจำกันได้ทีวีจากจอสี่เหลี่ยมหน้าตาธรรมด๊าธรรมดา จากจอภาพสีขาวดำมาเป็นจอสี จากจอหนามาเป็นจอแบน  และในอนาคตอันใกล้นี้ทุกบ้านอาจมี ทีวีที่เปลี่ยนไป!!! นั่นก็คือ “สมาร์ททีวี” “สมาร์ททีวี” เป็นทีวีที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อมาใช้ควบคู่กับอินเตอร์เน็ต เพิ่มความสะดวกสบาย ทั้งดูหนัง  ฟังเพลง เล่นเกม ท่องอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์  โดยมีโปรแกรมตามที่ต้องการใช้งาน ที่เรียกว่า Apps(แอป) ตัวอย่างง่ายๆเช่น ขณะที่คุณกำลังดูละครตอนเย็น คุณก็อยากที่จะเล่น facebook ไปด้วย เพียงโหลด App ของ facebook ลงในสมาร์ททีวี เมื่อมีข้อความอัพเดทคุณจะรู้และโต้ตอบได้ทันที ถ้าคุณยังนึกไม่ออกว่าสมาร์ททีวีทำอะไรได้บ้าง ลองเทียบกับสมาร์ทโฟน ที่คุณรู้จักดู แล้วเพิ่มฟังก์ชั่นการดูละคร ข่าว รายการเกมส์โชว์ และขนาดหน้าจอของทีวีเข้าไปนั่นล่ะ “สมาร์ททีวี” มีคำถามว่าแล้วเราจะมีปรับเปลี่ยนทีวีบ้านคุณเป็นสมาร์ททีวีได้หรือไม่ ตอบว่าได้ แต่คุณต้องมี HDTV (High-Definition TV – ทีวีที่มีความละเอียดสูง ให้ภาพคมชัดมากมากกว่าปกติ) อยู่ที่บ้านแค่เพียงซื้ออุปกรณ์เสริมที่จะเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตที่ใช้โดยเฉพาะกับทีวี คุณก็จะเปลี่ยนทีวีบ้านคุณเป็นสมาร์ททีวีได้  อีกหนึ่งวิธีคือ จ่ายเงินเพื่อสมาร์ททีวีเครื่องใหม่ไปเลย แล้วจำเป็นแค่ไหนที่บ้านคุณต้องมี “สมาร์ททีวี” คำตอบนี้คงอยู่ที่ผู้อ่านทุกท่าน ถ้าผู้อ่านต้องการใช้คงต้องซื้อหากันสักเครื่อง .... แต่ถ้าเป็นผู้เขียน “สมาร์ททีวี” จะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยสักแค่ไหน  สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงนั่นคือ ประโยชน์ที่จะได้ใช้เทคโนโลยีที่ติดมากับ “สมาร์ททีวี” ว่าสำคัญกับการใช้ชีวิตในปัจจุบันของเราจริงหรือ?  สำหรับผู้เขียนถ้าไม่มีผลกระทบกับการดูละครภาคค่ำสักเท่าไร ....ก็คงไม่จำเป็น...และที่น่าเป็นห่วงก็คือ ถ้าทีวีเหล่านี้ไปอยู่ในห้องของลูกๆหลานๆ ผู้เขียนไม่อยากจะคิด ว่าชีวิตเด็กเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร....   -------------------------------------------------------------------------------------------- Apps = Application คือซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อการทำงานเฉพาะอย่างที่เราต้อง การ เช่น งานส่วนตัว งานทางด้านธุรกิจ งานทางด้านวิทยาศาสตร์ โปรแกรมทางธุรกิจ เกมส์ต่างๆ ระบบฐานข้อมูล ตลอดจนตัวแปลภาษา เราอาจเรียกโปรแกรมประเภทนี้ว่า User's Program เช่น Facebook,Msn,Twitter,IBooks เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2558 พบกล่องทีวีดิจิตอลตกมาตรฐาน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.ได้แจ้งมายังบอร์ด กสท.ว่าจากการสุ่มตรวจมาตรฐานทางเทคนิคของกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลในตลาดจำนวน 20 รุ่น พบว่ามีกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลจำนวน 6 รุ่น จาก 4 ยี่ห้อ มีการใช้ระบบเสียงไม่ถูกต้องตามตามที่แจ้งไว้ต่อ กสทช. ซึ่งจากนี้จะมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการทั้ง 4 ยี่ห้อที่มีการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานเดินทางมาชี้แจงยัง กสทช.โดยด่วน กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลที่ไม่ผ่านมาตรฐานทางเทคนิค ได้แก่ ยี่ห้อเอเจ รุ่น SVB-93 และ รุ่น DVB-92, ยี่ห้อครีเอเทค รุ่น CT-1 และ CT4, ยี่ห้อฟินิกซ์ รุ่น T2color และ ยี่ห้อโซเคน รุ่น DB233 สำหรับผู้บริโภคที่ได้นำคูปองไปแลกซื้อกล่องที่การตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐานไปแล้ว หากเกิดปัญหาจากการใช้สินค้า ทาง กสทช.จะหารือกับผู้ประกอบการเพื่อทางแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ ----------------------------------------------------------------------------------------   ห้ามใช้แล้ว!!! สาร “บีพีเอ” ในขวดนม จากนี้ไปคุณแม่ที่จะซื้อขวดนมให้ลูกน้อยต้องดูให้ดีว่าขวดนมพลาสติกที่ซื้อทำมาจากพลาสติกชนิดที่ชื่อว่า “พอลิคาร์บอเนต” หรือเปล่า เพราะอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสาร “บีพีเอ” หรือ สารบิสฟีนอลเอ ซึ่งเป็นสารที่ อย.ยืนยันแล้วว่าอาจเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 369) พ.ศ. 2558 เรื่อง ขวดนม และภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพื่อควบคุมการใช้สารพีบีเอในขวดนมและภาชนะสำหรับทารกอีกหลายประเภท กฎหมายฉบับนี้ควบคุบผลิตภัณฑ์สำหรับทารก ทั้งผลิตภัณฑ์ประเภทขวดนมและภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็กแบบใช้ซ้ำ เช่น ถ้วยหัดดื่ม ห้ามใช้พอลิคาร์บอเนตโดยเด็ดขาด โดยวัสดุอื่นทดแทน ได้แก่ แก้วชนิดบอโรซิลิเคต และพลาสติกชนิดพอลิพรอพิลีน พอลิอีเทอร์ซัลโฟน ส่วนภาชนะบรรจุนมสำหรับทารกและเด็กเล็กแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ถุงพลาสติกที่ใช้เก็บน้ำนมมารดา ถุงพลาสติกบรรจุนมแบบใช้ครั้งเดียวที่ต้องใช้ร่วมกับขวดนม ให้ใช้วัสดุที่อนุญาต ได้แก่ พอลิพรอพิลีน และ พอลิเอทิลีน สำหรับหัวนมยาง ให้ใช้วัสดุที่อนุญาตได้แก่ ยางธรรมชาติ ยางสังเคราะห์ ปัจจุบันแม้องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้จัดสารบีพีเอเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ก็มีข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง ว่าสารพีบีเออาจมีผลไปขัดขวาง การทำงานของฮอร์โมนเอสโทรเจนในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อระบบการสืบพันธุ์และระบบการผลิตฮอร์โมน นอกจากนี้หลายๆ ประเทศมีการห้ามผลิตหรือจำหน่ายขวดนมพอลิคาร์บอเนตแล้ว เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา เป็นต้น -------------------------------------------------------------------------------- “คะน้า - ถั่วฝักยาว” เจอสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ได้แถลงผลการสุ่มทดสอบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่ามีผักที่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขสูงถึง 22.5% โดยพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานในกะเพรามากที่สุด 62.5% ถั่วฝักยาวและคะน้าพบ 32.5% ผักบุ้งจีน กวางตุ้ง และมะเขือเปราะพบตกค้าง 25% แตงกวาและพริก12.5% ส่วนผักกาดขาวปลีและกะหล่ำปลีไม่พบการตกค้าง จากผลที่ออกมาทำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องออกสุ่มทดสอบผักในท้องตลาดด้วยเช่นกัน เพราะถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง ซึ่งผลที่ได้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ยอมรับว่ามีผักที่พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานอยู่ในท้องตลาดจริง แม้จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วไม่เท่ากับผลของทาง Thai-PAN แต่นั้นก็เป็นการยืนยันชัดเจนว่าคนไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพจากกินผัก โดยผัก 2 ชนิดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่าที่การตกต้างของสารเคมีค่อนข้างสูงคือ คะน้าและถั่วฝักยาว โดยหลังจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะส่งเจ้าหน้าที่ไปสุ่มตรวจผักตามตลาดต่างๆ เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ผู้บริโภคก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการซื้อผัก เลือกซื้อผักตามฤดูกาล และล้างผักให้สะอาดก่อนรับประทาน ------------------------------------------------------------------------------------ “ผักเม็ด-ส้มเม็ด” หลอกลวงสรรพคุณ คนป่วยกินอาการยิ่งทรุด คนไทยยังคงตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลอกลวงสรรพคุณ ล่าสุดพบอาหารเสริม “ผักเม็ด” และ “ส้มเม็ด” โฆษณาอวดอ้างว่าสามารถรักษาโรคเบาหวานได้ เมื่อมีผู้ป่วยหลงเชื่อคำโฆษณาหาซื้อมารับประทานกลับพบว่าอาการทรุดลง อาการแผลที่เท้าซ้ายบวมแดงและปวดมากกว่าปกติ อีกทั้งยังพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงถึง 552 mg (ซึ่งค่าปกติควรอยู่ที่ 82 - 110 mg) ผักเม็ดมีลักษณะภายในเป็นของเหลวคล้ายน้ำมันตับปลา ส่วนส้มเม็ดมีลักษณะเป็นผงบรรจุในแคปซูล โดยผู้ขายแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวชนิดละ 4 เม็ด เช้า - เย็น และให้ใช้ทาแผลด้วย อย.ฝากเตือนถึงที่คิดจะกินอาหารเสริมเพื่อหวังผลในการรักษาโรคนั้น ขอให้คิดไว้เสมอว่าเป็นเรื่องที่โอ้อวดหลอกลวง เพราะอาหารไม่ใช่ยา ไม่มีผลในการรักษาโรค ยิ่งผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องรับประทานอาหารเสริมอย่างระมัดระวังเพราะอาจส่งผลต่อการเจ็บป่วยหนักได้ -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   เคลือบฟันเทียม “วีเนียร์” ระวังได้ไม่คุ้มเสีย การเคลือบสีฟันเทียม หรือ วีเนียร์ (veneers) ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยทำให้สีฟันขาวขึ้นและปรับรูปฟันให้สวยงาม กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะกับกลุ่มสาวๆ ที่อยากมีฟันขาวสว่างใส พร้อมกับการที่มีสถานเสริมความงามด้านทันตกรรมเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่การทำเคลือบสีฟันมีผลโดยตรงต่อสุขภาพของฟันและเหงือกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การทำเคลือบผิวฟันเทียม คือการแปะวัสดุลงบนผิวฟันเพื่อเปลี่ยนสีผิวฟัน ซึ่งเดิมทีมีไว้ใช้แก้ปัญหาผู้ที่มีผิวฟันสีผิดปกติ เช่น ฟันตกกระ ฟันเป็นแถบสีน้ำตาลหรือดำ จากการกินยาแก้อักเสบกลุ่มเตตราไซคลิน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีการฟอกสีฟันได้ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะต้องกรอผิวฟันออกไปเล็กน้อยเพื่อแปะวัสดุใหม่ลงไปให้เท่ากับผิวฟันเดิมไม่ให้นูนขึ้นมามากเกินไป ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าการกรอฟันเป็นการทำลายผิวเคลือบฟันที่ดีออกไปและจะไม่มีวันขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้การปิดวัสดุนั้นต้องทำด้วยเทคนิคที่ดี วัสดุที่ปิดฟันต้องพอดีกับตัวเนื้อฟันไม่มีส่วนเกินเข้าไปในเหงือก หรือ มีรูรั่ว เพราะอาจทำให้เกิดเหงือกอักเสบ เกิดหินปูน เหงือกร่น ทำให้เกิดพื้นที่ให้เชื้อโรคไปเกาะและเกิดปัญหากลิ่นปากได้ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะทำเคลือบฟันเทียมต้องศึกษาให้ดี เคลือบฟันเทียบย่อมไม่มีแข็งแรงเท่าเคลือบฟันแท้ และการทำให้สีฟันขาวขึ้นยังมีวิธีอย่างการฟอกสีฟันซึ่งไม่ส่งผลเสียต่อเคลือบฟัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ดีเอสไอ เชือด!!! อาหารเสริม “เมโซ” (Mezo) อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ถูกเช็คบิลไปอีกหนึ่งยี่ห้อ สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงอย่าง อาหารเสริมยี่ห้อ “เมโซ” (Mezo) ที่ถูกทาง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำการตรวจยึดของกลางได้กว่า 1 ล้านแคปซูล มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท จาก 2 แหล่ง คือที่ บริษัท เมโซ เอนเทอร์ไพรซ์ จำกัด ซึ่งเป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตราเมโซ (Mezo) และที่โรงงานผลิตอาหารเสริม บริษัท สุกฤษ 55 จำกัด ซึ่งพบผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายความผิดหลายรายการ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักตราเมโซ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ตรา FOMO V Shape Body ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ตราดับเบิลยูพีพลัส และผลิตภัณฑ์เอฟบีแอลพลัส มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท โดยโรงงาน-บริษัท ข้างต้นจดทะเบียนถูกต้อง มีรูปแบบการทำธุรกิจโดยเป็นเจ้าของสูตรยา แล้วโฆษณาให้คนที่มีต้นทุน และสนใจที่จะเข้ามาลงทุน โดยระบุข้อความขอเพียงมีเงินลงทุนเท่านั้น บริษัทจะเป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ ทำการตลาด กำหนดยี่ห้อสินค้าให้ แต่ใช้สูตรตัวยาเดียวกัน สำหรับความผิดที่นำไปสู่การตรวจยึดสินค้าครั้งนี้มาจากการที่ผลิตภัณฑ์แสดงชื่อไม่ตรงกับที่จดแจ้งไว้ และแสดงฉลากข้อความอวดอ้างสรรพคุณฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยอาหารและยา มาตรา 6 (10) และมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 อาหารเสริมดังกล่าวมียอดการจำหน่ายต่อปีกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งต้องตรวจสอบการยื่นเสียภาษีด้วย ส่วนการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดนั้น ดีเอสไออยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน โดยในส่วนของโรงงานยังไม่สั่งปิด เนื่องจากผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์ให้กับหลายบริษัท แต่หากพบว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผลิตจากโรงงานมีความผิด ก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป อย.เตรียมปรับฉลากอาหารใช้สัญลักษณ์แสดงโภชนาการ บ้านเรามีความพยายามอย่างมากในการปรับปรุงฉลากอาหารให้มีความเป็นมิตรกับผู้บริโภคมากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของฉลากโภชนาการที่เป็นข้อมูลสำคัญที่แจ้งให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงส่วนประกอบต่างๆ ในอาหารที่เรารับประทาน ซึ่งล่าสุดผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ออกมายืนยันว่าทาง อย. มีแผนที่จะปรับปรุงฉลากอาหารโดยจะมีการกำหนดเกณฑ์ของสารอาหารที่เหมาะสมต่อการบริโภคที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยใช้วิธีการมอบตราสัญลักษณ์ให้แก่ผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารได้ตามเกณฑ์ที่ อย. กำหนดไว้ ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากภาคประชาชนที่เสนอให้ใช้ฉลากอาหารแบบสัญญาณไฟจราจร ที่เป็นแบบแจ้งปริมาณสารอาหารว่าอยู่ในเกณฑ์หรือไม่แบบตรงไปตรงมา ซึ่งผู้อำนวยการสำนักอาหารก็ยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นรูปแบบฉลากที่ผู้ประกอบการไม่ยอมรับ ส่วนฉลาก GDA ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นการให้ข้อมูลที่อ่านง่ายแต่ไม่ได้ตัดสินว่าผลิตภัณพ์อาหารนั้นดีหรือไม่ดี โดยภายในปีนี้ เครื่องหมายตราสัญลักษณ์แบบใหม่จะเริ่มนำมาใช้ได้ในกลุ่มอาหารแช่แข็งเป็นกลุ่มแรกและค่อยๆ ทยอยออกเพิ่มเติมต่อไป สปสช. เพิ่มยา 6 รายการในสิทธิบัตรทอง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ด้านยาเพิ่มเติม 6 รายการ เพื่อให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง เข้าถึงการรักษาพยาบาลและได้รับยาที่จำเป็นเพิ่มขึ้น โดยยา 6 รายการที่มีการอนุมัติเพิ่มเติมได้แก่ 1. ยาลอราซีแพม อินเจกชัน ใช้ฟื้นฟูลดภาวะที่สมองจะถูกทำลายและเสียชีวิตจากการชัก มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยา 3,000 - 5,000 คนต่อปี 2. ยาทริแพน บูล ใช้ย้อมสีถุงหุ้มเลนส์ตาระหว่างผ่าตัดต้อกระจก และย้อม Internal Limiting membrane กรณีผ่าจอตา มีผู้ป่วยต้องการใช้ประมาณ 10,000 รายต่อปี 3. ยาอินดอคยาไนน์ กรีน ใช้วินิจฉัยโรคจุดภาพเสื่อม (PCV ) มีผู้ป่วยที่ต้องการใช้ประมาณ 20,000 ราย 4. ยาดาคาบาซีน ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดกินส์ ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับยานี้มีโอกาสหาย มีผู้ที่ต้องรับยานี้ประมาณ 100 คนต่อปี 5. ยารักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว APL ใช้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา All-trans-retinoic acid มีผู้ป่วยที่ต้องได้รับยานี้ประมาณ 1,000 คน และ 6. Factor Vlll และ Factor IX สำหรับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย A และ B มีผู้ป่วยที่ต้องใช้รับยานี้ประมาณ 1,483 ราย การส่งเสริมเรื่องการเข้าถึงยาเพิ่มมากขึ้นในครั้งนี้ นอกจากช่วยให้ผู้ป่วยบัตรทองได้สิทธิในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยกองทุนบัตรทองถึงปีละเกือบหมื่นล้านบาท ช่วยลดภาระค่ายาที่มีราคาแพงให้กับโรงพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาเหล่านี้ สั่ง “วิตามิน-อาหารเสริม” จากต่างประเทศ ระวังเสียเงินฟรี!!! อย.เตือนใครที่คิดจะสั่งซื้อ “วิตามิน” และ “อาหารเสริม” จากต่างประเทศผ่านทางเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ต ระวังจะสูญเงินเปล่า เพราะวิตามินและอาหารเสริมที่สั่งซื้ออาจเข้าข่ายเป็นยาตามกฎหมาย อย. หากไม่มีการขึ้นทะเบียนนำเข้าก็จะถูกสกัดที่ด่านอาหารและยาตั้งแต่ต้นทาง ปัจจุบันพบว่ามีคนที่สั่งซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากต่างประเทศ เช่น วิตามิน เกลือแร่ โสมสมุนไพร หรือสารสกัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งนำมาใช้เองและนำมาเพื่อจำหน่ายต่อ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาขายตามเว็บไซต์ต่างๆ นั้น แม้ในประเทศต้นทางแม้จะบอกว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่เมื่อพิจารณาจากขนาดของวิตามิน เกลือแร่ หรือสารสกัดต่างๆ ที่เป็นส่วนผสมแล้ว หากพบว่าเกินกว่าเกณฑ์ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ถือว่าเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งวิตามิน หรือสารสกัดแต่ละตัวจะมีขนาดกำหนดไว้ไม่เท่ากัน และหากมีการโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคได้ก็ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งหากไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนนำเข้ามาในราชอาณาจักรกับ อย. ก็ถือเป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย หากใครมีข้อสงสัยเรื่องการสั่งซื้อนำเข้ายาจากต่างประเทศ ควรสอบถามให้แน่ใจกับทาง อย. เสียก่อน เพื่อป้องกันการสูญเงินไปแบบฟรีๆ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายเกลื่อนจอทีวี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้ทำการจับตาเฝ้าระวังสถาการณ์ของบรรดาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงทั้งหลาย ที่ยังคงโฆษณาออกอากาศอยู่ตามช่องเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม ระหว่างเดือน ตุลาคม ถึง ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่าโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ออกอากาศอยู่ ณ ปัจจุบัน เกือบ 100% เป็นการโฆษณาอย่างผิดกฎหมาย เนื้อหาส่วนใหญ่โอ้อวดเรื่องสรรพคุณด้านความสวยความงาม การลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ขาว-สวย-ใส และเรื่องการรักษาโรคแบบครอบจักรวาล ข้อมูลที่ได้จากการเฝ้าระวังพบว่า โทรทัศน์ดาวเทียม-เคเบิ้ลจำนวน 18 ช่อง พบแล้ว 17 ช่อง ที่โฆษณาผิดกฎหมายและเป็นช่องที่กสทช. เคยสั่งปรับไปแล้ว 5 ช่อง ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ไทยมุสลิม (TMTV) , ทีวีมุสลิมไทยแลนด์ , มีคุณทีวี , เอชพลัส (H+) และช่อง 8 (8 Channel : ดิจิตอลทีวี) โดยมีผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่โฆษณาอยู่จำนวน 95 ผลิตภัณฑ์ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันและมีข้อมูลก่อนเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเทคนิคง่ายๆ สำหรับใช้เป็นคนสังเกตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย มีดังนี้ 1.สังเกตเลขอนุญาต เช่น ด้านอาหาร คือ ฆอ. .../... , กรณีด้านยา คือ ฆท. .../... , เครื่องมือแพทย์ คือ ฆท. ..../... ,ส่วนเครื่องสำอางไม่ต้องมีเลขอนุญาตโฆษณา แต่ต้องไม่โฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ ซึ่งจะมีความผิดตา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2.พิจารณาเนื้อหา ว่าโฆษณาตรงกับผลิตภัณฑ์หรือไม่ 3.เนื้อหาโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ สำหรับข้อเสนอที่ภาคประชาชนอยากให้หน่วยงานภาครัฐจัดการกับปัญหานี้ คือให้มีการปรับปรุงบทลงโทษผู้ที่ทำผิดให้มีความรุนแรงมากขึ้น และต้องเร่งรัดการจัดทำระบบฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณาอาหาร และเปิดให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเรื่องการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ ที่สำคัญหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลปัญหานี้โดยตรงอย่าง อย. กสทช. ต้องจริงจังเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 2556 ระวัง “กลลวงทดสอบคุณภาพน้ำ” การประปานครหลวง (กปน.) ฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับการทดสอบความสะอาดและคุณภาพของน้ำดื่ม เพราะทั้งสร้างความเข้าใจผิดเรื่องความสะอาดของน้ำดื่ม แถมยังหวังหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงซื้อผลิตภัณฑ์ปรับคุณภาพน้ำ   มีการโฆษณาชวนเชื่อโดยการนำเครื่องมือทดสอบ ชนิดเครื่องแยกสารละลายด้วยไฟฟ้า หรือ เครื่องอิเล็กโทรไลซิส (Electrolysis) ซึ่งประกอบด้วยขั้วไฟฟ้า 2 ขั้ว คือเหล็ก และอะลูมิเนียม โดยเมื่อนำเครื่องมือทดสอบดังกล่าวจุ่มลงไปในน้ำดื่มทั่วไปที่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุ และทำให้ไฟฟ้าไหลผ่านน้ำที่ทดสอบ ขั้วไฟฟ้าที่ทำด้วยเหล็กจะละลายและทำปฏิกิริยากับน้ำ ทำให้เกิดตะกอนที่มีสีน้ำตาลแดงคล้ายสนิมเหล็ก เรียกว่า เหล็กไฮดรอกไซด์ ซึ่งตะกอนที่ละลายออกมาจากเครื่องมือนี้เอง ที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนว่าน้ำที่มีตะกอนละลายคือน้ำที่ไม่สะอาด มีสิ่งเจือปน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งความจริงแล้ว น้ำดื่มที่เหมาะแก่การบริโภค ต้องมีส่วนประกอบของแร่ธาตุอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม จึงไม่แปลกที่เมื่อนำเครื่องมือดังกล่าวมาทดสอบแล้วเกิดสีหรือตะกอน ในขณะที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวนำน้ำบริสุทธิ์หรือน้ำที่ผ่านกระบวนการ Reverse Osmosis หรือการขจัดแร่ธาตุทุกชนิดออกไปจากน้ำ จนไม่มีสิ่งใดๆ เจือปนอยู่เลยเทียบเท่าได้กับน้ำกลั่นมาทดสอบ จึงไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ ขึ้นทั้งสิ้น และทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าน้ำดังกล่าวคือน้ำที่สะอาดที่สุด   กปน.ยืนยันว่าน้ำประปาที่ผลิตได้นั้น ได้มาตรฐานน้ำดื่มตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก     ขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาล นโยบายปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลเริ่มส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วนของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการรักษาพยาบาล เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเตรียมปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาล โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปรับตามสภาวะเศรษฐกิจ หลังจากที่ไม่ได้ปรับราคามาตั้งแต่ปี 2547 โดยทางกระทรวงฯ เชื่อว่าจะไม่กระทบกับคนไทยส่วนใหญ่ซึ่งมีระบบหลักประสุขภาพรองรับ ทั้งระบบบัตรทอง ระบบประกันสังคม และระบบราชการ แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ที่จะต้องรับผลกระทบโดยตรงแน่นอน เพราะเมื่อมีประกาศเรื่องการขึ้นราคารักษาพยาบาลจากกระทรวงฯ โรงพยาบาลเอกชนเองก็จะต้องปรับขึ้นราคาตามประกาศ หรือแม้แต่กลุ่มผู้ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ก็อาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในกลุ่มประกันสังคมอาจมีการเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มจากทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ใช้สิทธิประกันสังคม   ค่าบริการใหม่ครั้งนี้มีรายการที่จะออกประกาศใหม่ทั้งหมด 2,713 รายการ หมวดที่เพิ่มขึ้นสูงสุด คือ ค่าตรวจรักษาโรคโดยวิธีพิเศษซึ่งเพิ่มขึ้น 53% เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีใหม่ รองลงมา คือค่าบริการรังสีวินิจฉัย เวชศาสตร์นิวเคลียร์และรังสีรักษา เพิ่ม 23%รายการที่เพิ่มต่ำสุด คือ ค่าบริการเทคนิคการแพทย์ 8%     กสทช. แจกคูปองส่วนลดกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า การรับชมโทรทัศน์ในบ้านเราจะมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาณเป็นระบบดิจิตอลที่มีความคมชัดของทั้งภาพและเสียงดีกว่าสัญญาณระบบอนาล็อกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการส่งสัญญาณในครั้งนี้จะมีผลทำให้แต่ละบ้านต้องมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในการรับชม แต่ผู้บริโภคว่าไม่ต้องกังวลว่าถึงขนาดต้องเปลี่ยนโทรทัศน์ใหม่ เพราะสามารถใช้กล่องรับสัญญาณหรือ set top box รับสัญญาณชมรายการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้ตามปกติ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมแจกจ่ายคูปองส่วนลดให้กับประชาชนทุกครัวเรือนเพื่อนำไปซื้อ Set-top-box เพื่อเตรียมพร้อมสู่การรับชมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล   ข้อดีของทีวีดิจิตอล คือ ในหนึ่งช่องสัญญาณจะสามารถนำมาส่งได้หลายรายการโทรทัศน์ สำหรับรายการดิจิตอลทีวีของประเทศไทยจะมีจำนวน 48 ช่อง ได้แก่ ช่องบริการชุมชน 12 ช่อง ช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง ช่องบริการธุรกิจ (เชิงพาณิชย์) 24 ช่อง ซึ่งยังแบ่งออกเป็นในหมวดรายการเด็กและเยาวชน 5 ช่อง หมวดข่าวสารและสาระ 5 ช่อง หมวดช่องทั่วไป 10 ช่อง หมวดช่องรายการที่มีคุณภาพความคมชัดสูง (HD) 4 ช่อง     โทรนาทีละ 99 สตางค์ จากนี้ไปผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายต้องคิดค่าโทรในอัตรานาทีละไม่เกิน 99 สตางค์ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีประกาศเรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ.2555 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2555   จากการตรวจสอบของ กสทช. พบว่าต้นทุนการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ไม่เกินนาทีละ 1 บาท ประกาศฉบับนี้จึงทำให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการในราคาที่เป็นธรรม   โดยตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นบริการในระบบเติมเงินหรือเหมาจ่ายรายเดือน ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือห้ามคิดค่าโทรเกิน 99 สตางค์ หากใครพบว่ามีการฝ่าฝืนสามารถแจ้งข้อมูลหรือร้องเรียนเข้ามาได้ทางสายด่วนรับเรื่องร้อนของ กสทช. หมายเลข 1200     ปั่นจักรยานดันกฎหมายผู้บริโภค กลุ่มผู้บริโภคจากทั่วประเทศรวมกันขี่จักรยานและเดินเท้า ถือป้ายรณรงค์กฎหมายองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค และนำรายชื่อประชาชน 107,905 รายชื่อ สนับสนุนการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ให้ช่วยเร่งจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556   โดยกิจกรรมการ “ปั่นจักรยานทวงสิทธิของคุณคืนมาด้วยมาตรา 61” ถือเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่เริ่มต้นตั้งแต่การรวมตัวปั่นจักรยานของกลุ่มเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่บริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 และกิจกรรมครั้งที่ 2 คือการปั่นจักรยานที่สวนรถไฟในวันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ ก่อนจะปิดท้ายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ด้วยกิจกรรมขบวนจักรยานและเดินเท้าของกลุ่มพี่น้องเครือข่ายผู้บริโภคจากทั่วประเทศกว่า 500 คน จากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า มายังหน้ารัฐสภา เพื่อเป็นการแสดงพลังและส่งเสียงทวงถามถึงความคืบหน้าในการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับสำคัญที่มาจากประชาชน พร้อมกันนี้มีการยื่นหนังสือต่อ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายวัฒนา เซ่งไพเราะ และ ส.ส. ส.ว. อีกหลายท่าน เช่น นายบุญยอด สุขถิ่นไทย  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  นางสาวรสนา  โตสิตระกูล  สว.สรรหากรุงเทพมหานคร  นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย   สมาชิกวุฒิสภา สรรหา และนายวิทยา บูรณะศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ตำแหน่งประธานวิปรัฐบาล เพื่อให้ช่วยกันผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้   แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 61 กำหนดให้รัฐมีหน้าที่จัดตั้งองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคขึ้น ซึ่งประชาชนได้ทำการเข้าชื่อกันกว่า 10,000 ชื่อเพื่อเสนอกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 แต่ปัจจุบันการพิจารณาก็ยังค้างคาอยู่ในกระบวนการจัดตั้งกรรมาธิการร่วม ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งกลุ่มองค์กรผู้บริโภคเห็นว่ากระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้ล่าช้าเกินไป ทั้งที่เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ และเกรงว่าร่างกฎหมายจะตกไปหากหมดสมัยประชุมสภา กลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคจึงต้องออกมารวมพลังเรียกร้องในครั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายฉบับนี้ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 กระแสในประเทศ

ฉบับที่ 99 กระแสในประเทศประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 25521 เมษายน 2552ผู้บริโภคโล่งใจ ถั่วพิสตาซิโออันตรายไม่มีขายในไทยจากการที่สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ ประกาศเตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารทุกชนิดที่มี ถั่วพิสตาซิโอ เป็นส่วนผสม หลังจากมีการตรวจสอบพบเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลลาในถั่วชนิดนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคทางเดินอาหาร งานนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ของไทยจึงได้เร่งมือตรวจสอบ พร้อมประกาศให้คนไทยเราเบาใจได้ว่าไม่มีการตรวจพบถั่วพิสตาซิโอชนิดที่เป็นอันตรายแบบที่พบในสหรัฐฯ ในประเทศไทย ซึ่งจากตรวจสอบต้นต่อของถั่วพิสตาซิโอเจ้าปัญหา พบว่ามีผลิตมาจากบริษัท เซตตัน ฟาร์ม ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งประเทศไทยไม่มีการนำเข้าถั่วชนิดนี้จากบริษัทดังกล่าว แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค อย. จึงทำการติดตามเฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างถั่วชนิดดังกล่าว ไม่ว่าจะนำเข้าจากบริษัทใด หากพบว่ามีการปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลา จะรีบแจ้งให้ผู้บริโภคทราบทันที รวมทั้งเก็บผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกจากท้องตลาดและระงับการนำเข้าโดยด่วน 2 เมษายน 2552เพนต์ “เฮนนา” ระวัง!หายนะถามหาผิวภญ. วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ออกโรงเตือนวัยรุ่นที่ชื่นชอบการตกแต่งลวดลายลงบนร่างกายด้วย “เฮนนา” อาจได้รับอาการแพ้ทางผิวหนังแถมมาพร้อมกับความสวยงาม สาเหตุจากการตรวจสอบพบว่ามีการลักลอบเติมสาร p-phenylenediamine (PPD) หรือพีพีดี ลงในเฮนนา เพื่อทำให้สีที่วาดมีความเข้มขึ้นและติดทนนานกว่าปกติ โดยจะเรียกกันว่า แบล็กเฮนนา (Black Henna) หรือบลูเฮนนา (Blue Henna) ซึ่งเฮนนาเป็นสารจากพืชชนิดหนึ่ง ให้สีน้ำตาลอมส้ม นิยมมาใช้ตกแต่งผิวหนังและนำมาย้อมผม สำหรับสารพีดีพีเป็นสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ ซึ่ง อย. กำหนดให้ใช้สารพีพีดีได้เฉพาะในผลิตภัณฑ์ย้อมผมเท่านั้น โดยกำหนดอัตราส่วนสูงสุดไว้ไม่เกิน 6% และต้องระบุคำเตือนไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด โดยเน้นย้ำให้ทราบว่าสารชนิดนี้มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนัง และก่อให้เกิดอาการแพ้ ที่สำคัญคือห้ามนำไปย้อมขนคิ้วหรือขนตาเด็ดขาด เพราะหากเข้าตาอาจเป็นอันตรายถึงขั้นตาบอดได้ 29 เมษายน 2552สคบ. เตรียมติดดาบยุบกิจการขายตรงนอกระบบเพราะผลจากการที่มีผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงมาร่วมประชุมสัมมนาผู้ประกอบการขายตรง ในจำนวนไม่ถึงครึ่งจากจำนวนที่คาดการว่ามีธุรกิจขายตรงในระบบกว่า 500 บริษัท ซึ่งมีสาเหตุมาจากธุรกิจขายตรงบางบริษัทได้ปิดกิจการไปแล้ว แต่การปิดกิจการไม่ได้แจ้งนายทะเบียน ทำให้ยังคงความเป็นบริษัทขายตรงอยู่ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีมากกว่า 200 บริษัท ที่ไม่ได้ดำเนินกิจการ แต่ไม่มีการแจ้งปิดกิจการของธุรกิจขายตรงเหล่านั้น การประชุมสัมมนาครั้งนี้จัดโดยการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อชี้แจงนโยบายและทำความเข้าใจในตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงไปแล้ว เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งผลจากการที่พบความคลุมเครือของสถานภาพทางบริษัทขายตรงกว่า 200 บริษัทดังที่กล่าวมา ทำให้สคบ.เตรียมศึกษาแก้ไขกฎหมายขายตรงและตลาดแบบตรง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้กำกับและส่งเสริมธุรกิจขายตรง โดยการเสนอให้มีการเพิ่มอำนาจของนายทะเบียน ในการยุบ หรือเลิกธุรกิจขายตรงที่ไม่มีการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากเกรงธุรกิจที่อยู่นอกระบบเหล่านี้จะอาศัยช่องทางกลายพันธุ์กลายเป็นแชร์ลูกโซ่ เด็กไทยจมน้ำตาย1,500คน/ปี สธ.จับเด็กเข้าคอร์สเอาชีวิตรอดกระทรวงสาธารณสุข นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในงาน "เปิดโครงการทดลองหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด" ภายใต้การสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยใช้เวลาเรียน 15 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง ว่า ขณะนี้การจมน้ำเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทั่วโลกเสียชีวิตปีละ 230,000 คน มีจำนวนมากกว่าเด็กที่ตายจากโรคไอกรน โรคหัด โรคคอตีบ โรคอหิวาตกโรค โรคไข้เลือดออก และโรคไทฟอยด์รวมกัน ซึ่งมีไม่ถึงปีละ 200,000 คน และเป็นสาเหตุอันดับแรกของการเสียชีวิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำมากที่สุดเป็นอันดับ 1 เสียชีวิตปีละประมาณ 1,500 คน เฉลี่ยวันละ 4 คน โดยพบเด็กอายุ 5-9 ปี เสียชีวิตมากที่สุด โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กปิดภาคเรียน มีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำมากถึง 112 คนจากเด็กไทย 13 ล้านคน พบว่ามีเด็กว่ายน้ำเป็นเพียง 2 ล้านคนเท่านั้น จึงเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อเป็นการป้องกันและลดจำนวนเด็กเสียชีวิตนายมานิตกล่าวว่า โดยในช่วงปิดภาคเรียนนี้ สธ.ได้ทำโครงการนำร่องจัดหลักสูตรฝึกสอนการว่ายน้ำให้กับเด็กอายุระหว่าง 4-7 ปี ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี สุรินทร์ เพชรบูรณ์ และนครศรีธรรมราช เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุดในแต่ละภาค คือ สุรินทร์ 45 ราย ราชบุรี 33 ราย เพชรบูรณ์ 29 ราย และนครศรีธรรมราช 19 ราย โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ประสานกับเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อคัดเลือกโรงเรียนว่ายน้ำ และครูผู้ฝึกสอนที่ผ่านการอบรมแล้ว โดยจะสอนเรื่องการเอาชีวิตรอด พื้นฐานการว่ายน้ำ และความปลอดภัยทางน้ำ โดยตั้งเป้าภายใน 10 ปี เด็กอายุครบ 7 ปีจะมีทักษะในการว่ายน้ำเป็นครบทุกคน ซึ่งจะสามารถลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำได้อย่างน้อยปีละ 100 คน ผลโหวตผลิตภัณฑ์ บริการ โฆษณายอดเยี่ยม ยอดแย่วารสารฉลาดซื้อเปิดผลโหวต “ผลิตภัณฑ์-บริการ-โฆษณา” ยอดเยี่ยมและยอดแย่ในความรู้สึกประชาชนทั่วประเทศ พบ “ปตท.-รถโดยสารสาธารณะ-โฆษณาขายตรงผ่านทีวี” ติดอันดับยอดแย่ โดยเฉพาะรถโดยสารเกิดอุบัติเหตุปีละ 3-4 พันครั้ง 26 เมษายน ในงานเปิดบ้าน “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ที่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานเปิดบ้านใหม่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงสิทธิการคุ้มครองผู้บริโภคในปัจจุบันว่า ในโลกที่เป็นอยู่เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีคนเอาเปรียบ ซึ่งคนที่มีความแข็งแรงในวิชาชีพ มีรายได้ ก็มักจะต่อสู้ได้ แต่สังคมไทยในปัจจุบันมีคนอยู่ในสภาพที่เรียกว่าหากไม่มีคนช่วยคงไม่สามารถรักษาสิทธิได้ จึงเกิดแนวคิดสร้างกระบวนการประชาสังคมเพื่อช่วยเหลือ “ผมรู้สึกดีใจที่ขณะนี้มีความตื่นตัวในการรักษาสิทธิผู้บริโภค แต่เรื่องสิทธิผู้บริโภคยังอีกไกล และต้องทำให้ประชาชนส่วนใหญ่รู้ในสิทธิของตนเอง เพราะตอนนี้เรายังไปไม่ถึงก้าวที่สองที่ทำให้ประชาชนรู้ตระหนักและรู้สิทธิของตนเอง” นายอานันท์ กล่าวต่อว่า อยากเห็นกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นปึกแผ่นโดยไม่ต้องอาศัยองค์กรนี้ และให้องค์กรนี้ทำหน้าที่เคียงข้างกับสภา เพราะปัญหาการเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้นได้เนื่องจากอาศัยช่องว่างของกฎหมาย หากนักการเมืองไม่ดูแลประชาชน ก็เป็นหน้าที่เรากันเองที่ต้องทำงานกับฝ่ายกฎหมายเพื่อแก้ไขความอยุติธรรมในสังคมไทยที่มีอยู่ หรือผลักดันกฎหมายใหม่ๆ เพื่อดูแลให้เรื่องสิทธิผู้บริโภคมีความมั่นคงและยังยืนยิ่งขึ้น ในงานดังกล่าว ยังมีการแถลงข่าว ผลโหวต “ผลิตภัณฑ์-บริการ-โฆษณา ยอดเยี่ยมและยอดแย่ประจำปี 2551” ด้วย โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ทำการสำรวจผลิตภัณฑ์ บริการ และโฆษณายอดเยี่ยมและยอดแย่ในรอบปีที่ผ่านมา โดยสอบถามความเห็นประชาชนจำนวน 2,993 คน พร้อมเปิดให้มีการโหวตผ่านหน้าเว็บไซต์ของกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว สถาบันวิจัยโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล และเว็บไซต์ www.consumerthai.org วารสารฉลาดซื้อ รายการกระต่ายตื่นตัว สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 ไปนั้นทางคณะกรรมการพิจารณารางวัล ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณา คือ ต้องเป็นสินค้าที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยในส่วนของการโหวตยอดเยี่ยม ต้องไม่มีชื่อโหวตอยู่ในอันดับยอดแย่ ไม่ทำร้ายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ไม่มีการร้องเรียนการละเมิดสิทธิ และไม่เป็นที่ถกเถียงในสังคม ดังนั้นผลการโหวตที่เข้าหลักเกณฑ์ข้างต้น ได้แก่   ผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม แป้งเด็กเบบี้มายด์ บริการยอดเยี่ยม บริการของธนาคารไทยพาณิชย์ โฆษณายอดเยี่ยม โฆษณาของบริษัทไทยประกันชีวิต ชุดแม่ต้อย ผลิตภัณฑ์ยอดแย่ แก๊สและน้ำมันของบริษัท ปตท บริการยอดแย่ บริการรถโดยสารสาธารณะ โฆษณายอดแย่ การโฆษณาขายตรงผ่านทีวี น.ส.สารี ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า บริการรถโดยสารสาธารณะถือเป็นบริการยอดแย่ที่ได้รับการโหวตในอันดับต้นๆ และที่ผ่านมาจากงานวิจัยของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) พบว่า ในแต่ละปีมีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะเฉลี่ยปีละ 3,000-4,000 ครั้ง ซึ่งทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเข้าไปดูในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท โดยเป็นแผนงานในปี 2553 นี้ เนื่องจากเป็นบริการที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก และมีปัญหาการร้องเรียนบ่อยครั้ง ซึ่งมูลนิธิฯ ไม่เพียงแต่จะเข้าไปดูในเรื่องมาตรฐานรถและบริการเท่านั้น แต่จะดูถึงผู้ให้บริการ คือ ผู้ขับรถโดยสารสาธารณะด้วย เนื่องจากพบว่ามักมีอารมณ์รุนแรง ฉุนเฉียว โดยเฉพาะรถสาธารณะที่เป็นบริการร่วมกับเอกชน เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องรายได้ ต้องแข่งขัน ซึ่งรัฐบาลอาจต้องเข้ามาสนับสนุนในเรื่อง “รายการสุขภาพในทีวี” ให้ประโยชน์หรือหวังโฆษณา?โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แถลงผลการศึกษาในหัวข้อ "รายการสุขภาพในฟรีทีวี" โดยนายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อฯ ได้ทำการศึกษาพบว่า รายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพส่วนใหญ่ เลือกนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์กับผู้ชมเท่าที่ควร คือนำเสนออาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยแต่นำไปสู่โรคร้ายแรง ทำให้ผู้ชมเกิดความกลัว วิตกกังวล ส่วนเนื้อหาที่เป็นการแนะนำให้ผู้ชมดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพาแพทย์กลับมีให้ชมในสัดส่วนที่น้อยมาก ขณะที่เนื้อหาเกี่ยวกับแพทย์ทางเลือกและเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยแทบไม่มีให้เห็นนอกจากนี้ ผลการตรวจสอบการเฝ้าระวังทางสื่อ พบว่ามีโฆษณาอยู่ในรายการเป็นจำนวนมาก ทั้งการโฆษณาตรงและโฆษณาแฝงในรายการ ซึ่งสินค้าที่โฆษณาส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์จำพวกอาหารเสริม ยา ผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกาย สถานพยาบาลเอกชน ซึ่งแฝงอยู่ในรายการทั้งในรูปแบบ กราฟิกรายการ โลโก้บริการและสินค้า รองลงมาคือ สปอตโฆษณาสั้นๆ แฝงเนื้อหา แฝงวัตถุผลิตภัณฑ์ และแฝงบุคคลที่มีการสวมเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์ผู้สนับสนุนรายการ ซึ่งรายการที่มีโฆษณาแฝงมากที่สุดคือ รายการตะลุยโรงหมอ (ปัจจุบันเป็นรายการ ชิดหมอ) และสโมสรสุขภาพ รองลงมาเป็น รายการชูรักชูรส รายการชีวิตชีวา Daily และ อโรคาปาร์ตี้ รศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า การมีรายการเพื่อสุขภาพมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าคนในสังคมปัจจุบันใส่ใจสุขภาพเพิ่มมากขึ้น แต่การโฆษณาในรายการยังถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะรายการประเภทนี้เป็นรายการที่มีลักษณะผ่อนคลายสมอง ทำให้เกิดการโน้มน้าวจิตใจคล้อยตามได้ง่าย ซึ่งการสอดแทรกการโฆษณาสินค้าและบริการเกี่ยวกับสุขภาพ อาจเป็นการสร้างพฤติกรรมการบริโภคสินค้าด้านสุขภาพที่ฟุ่มเฟือย และสินค้าหลายๆ ตัวยังเป็นในลักษณะชวนเชื่อ คือยังไม่มีการตรวจสอบรับรองถึงเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย น.พ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ย้ำถึงปัญหาการโฆษณาแฝงในรายการสุขภาพว่า เป็นเรื่องที่ทางแพทยสภากำลังจับตาดูอยู่ ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่ทางแพทยสภามีอำนาจเพียงขอบเขตดูแลเฉพาะตัวแพทย์เท่านั้น ไม่รวมถึงสถานประกอบการที่เป็นหน้าที่ของกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีคณะกรรมการจริยธรรมควบคุมดูแลว่าการนำเสนอเนื้อหาเป็นไปในระดับใด ทั้งนี้การร้องเรียนที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของโฆษณาเรื่องจริยธรรมแพทย์ แต่มักเป็นการฟ้องร้องจากคู่แข่งทางการตลาดด้วยกันเองด้าน พ.ญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้จัดการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อฯ เสนอแนวคิดว่าควรมีการออกกฎหมายควบคุมการโฆษณาแฝง พร้อมทั้งจัดตั้งองค์กรเพื่อดูแลสิทธิผู้บริโภคด้านสื่อโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันมีการโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์เป็นจำนวนมาก แม้แต่ในละครก็มักถ่ายภาพให้เห็นด้านหน้าหรือป้ายโรงพยาบาลอยู่ตรงหัวเตียงผู้ป่วยในเนื้อหาละคร ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เป็นการยัดเยียดในสิ่งที่ผู้บริโภคไม่ต้องการ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 ทำไมเครือข่ายผู้บริโภคจึงคัดค้านการแจกคูปอง 1,000 บาท กรณีกล่องดิจิตอลทีวี

วันนี้ ถ้าไม่พูดถึงเรื่องการแจกคูปองเพื่อให้ประชาชนไปแลกซื้อกล่องทีวีดิจิตอล ของ กสทช.  คงเชยแย่....   แต่เอ๊ะ! เรื่องดีๆ อย่างนี้ ทำไมมีทั้งคนสนับสนุน และคัดค้านมากมายจัง    ผู้บริโภคค้านการแจกคูปองราคา 1,000  บาท  เสนอให้กำหนดราคาคูปองเพียง 690 บาท   แต่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล  กลับค้านการแจกคูปองราคา 690 บาท และสนับสนุนการแจกคูปองราคา 1,000 บาท  โอ้ย...มันกลับหัวกลับหางยังไงกันผู้บริโภคน่าจะดีใจที่ได้คูปอง 1,000 บาท  กลับไม่เอา   ได้มากก็ดีแล้วไง  ทำไมถึงมาค้าน เพราะอะไร?   โดยเฉพาะมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค  เป็น 2 องค์กรที่ออกมาคัดค้านเต็มเหนี่ยว  และโดนสังคมตั้งคำถามมากมายถึงการออกมาคัดค้านเรื่องนี้   ถามจริงๆ ก็ต้องบอกกันตรงๆ ว่า สาเหตุที่คัดค้าน คือ 1. ราคา และ  2. ขั้นตอนการแจกค้านทำไม?  ชัดๆ นะเพราะเงินที่จะนำมาใช้ในการแจกคูปอง  22  ล้าน ครัวเรือน ต้องใช้งบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท     แม้จะเถียงว่าเงินนี้ไม่ใช่เงินงบประมาณแผ่นดิน  แต่เป็นเงินที่ได้มาจากการประมูลคลื่นความถี่ ทีวีดิจิตอล(รัฐธรรมนูญกำหนดว่าคลื่นความถี่ “ถือว่าเป็นสมบัติชาติ”) เงินที่นำมาแจกคือเงินของประเทศ    ดังนั้นการใช้เงินนี้ต้องสุจริต โปร่งใส   และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ    การแจก “คูปอง” ไม่ใช่ปัญหา  แต่ปัญหาคือ “การกำหนดราคาคูปอง”แล้วทำไม? เครือข่ายที่ทำงานด้านผู้บริโภค จึงสนับสนุนการแจกคูปอง 690 บาท  คำตอบคือ  เพราะราคากล่องดิจิตอล  500  บาท ผู้ผลิตผู้ขายก็มีกำไรแล้ว(มีบริษัทผู้ผลิตและนักวิชาการออกมายืนยันชัดเจน) การกำหนดราคาคูปอง 1,000 บาท เป็นการกำหนดราคาเกินจริง  คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่ประชาชน !  เพราะกำหนดราคาที่ 1,000 บาท ผู้ขายกล่องก็จะอัพราคาให้สูงกว่าราคาคูปองอยู่ดี  จะเห็นได้ว่า ตอนแรกที่ กสทช. มีแนวจะกำหนดราคาคูปองที่ 690 บาท ราคากล่องในท้องตลาดเรายังหาซื้อได้ในราคา 600-700 บาท ตอนมีข่าวว่า กสทช.จะกำหนดราคาคูปองใหม่เป็น 1,000 บาท  ราคากล่องก็ขึ้นราคาไปที่ 1,200  บาท   แต่ถึงเวลาเคาะราคาจริงที่ 690 บาท  ราคากล่องก็เริ่มลงราคามาแล้วในหลายยี่ฮ้อ  คงเป็นคำตอบได้อย่างดีว่า  ไม่ว่าจะแจกคูปองราคาเท่าไร   เราก็ต้องจ่ายเพิ่มส่วนต่างอยู่ดี  คนที่ได้ประโยชน์พุงปลิ้น ไม่ใช่ผู้บริโภคประเทศไทยกำลังเข้าสู่โหมดแห่งการปฏิรูป   การปฏิรูป ก่อนอื่น เราต้องมองข้ามผลประโยชน์ส่วนตน   และต้องร่วมแรงร่วมใจรักษาผลประโยชน์ชาติ   ไม่ปล่อยให้เกิดการโกงด้านนโยบายซ้ำซากอีก   มหากาพย์คูปองดิจิตอลยังไม่จบ   ยังมีเรื่องวิธีการแจก  วิธีการจำหน่ายกล่องฯ  ใครจะมีสิทธิขายได้บ้าง จะเอื้อเพียงรายใหญ่  หรือรายเล็กรายน้อยก็มีสิทธิขายได้  ต้องติดตามตอนต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 กรณีทีวี “จอดำ” (ตอนที่ 5 “ นาตะ ดนตรีที่ศาล?)

9  โมงเช้า ของวันที่  26  มิถุนายน 2555  กลุ่มผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้อง มาพร้อมหน้ากันที่ศาล  ตามเวลาที่นัดหมาย  เหตุการณ์ก็เป็นเหมือนเดิมคือ กว่าศาลจะลงนั่งบัลลังก์ ก็ปาเข้าไปเกือบเที่ยง   จากนั้นศาลได้เริ่มกระบวนการไต่สวนข้อมูลที่ได้จากกระบวนการไต่สวน ซึ่งเป็นที่ตื่นตะลึงมาก   เพราะเรารู้แต่ว่ารายการโทรทัศน์(ฟรีทีวี) บ้านเรามาจากระบบสัมปทานทั้งสิ้น  ช่อง 9 อสมท.  แตกคลื่นไปให้ช่อง 3 เช่า ช่อง 5 กองทัพบก แตกคลื่นไปให้ ช่อง 7 เช่า  ภายใต้สัญญาร่วมการงาน(ซึ่งเป็นสัญญาเช่าช่วงต่อจากผู้รับสัมปทาน)  ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์  และช่องสื่อสาธารณะ THAI PBSที่ว่าตื่นตะลึงคือ กฎข้อบังคับของการให้สัมปทานคือ  ผู้รับสัมปทานฟรีทีวีต้องทำให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงฟรีทีวีได้โดยสะดวก  นั่นคือต้องลงทุนเพื่อกระจายคลื่น  เพราะฟรีทีวี  แม้ประชาชนจะได้ดูฟรี  แต่ฟรีทีวีเหล่านั้นก็สามารถหาผลประโยชน์ได้จากขายโฆษณาได้ชั่วโมงละ 12 นาที (ทำให้ช่อง 3 ช่อง 7 (รวยติดอันดับต้นๆของประเทศไทย)  แต่ข้อมูลที่เปิดออกมาคือ ผู้รับสัมปทานฟรีทีวีทั้งหมด หยุดการพัฒนาระบบกระจายคลื่นเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงมากว่า 15 ปี  โดยหน่วยงานที่ให้สัมปทาน ไม่มีการติดตามให้ผู้รับสัมปทานทำตามข้อบังคับที่กำหนดไว้ในสัญญารับสัมปทาน    และการที่ผู้บริโภคจะหวังพึ่ง กสทช. ก็คงพึ่งไม่ได้ เพราะ กสทช.เพิ่งออกประกาศ ระยะเวลาที่ผู้ได้รับสัมปทานรายเดิม(ฟรีทีวีทุกช่อง) ยังอยู่ไปอย่างนี้ได้อีก 10 กว่าปี  (มีกสทช.อีก 2 ชุดก็ยังหาน้ำยาไม่เจอ)เมื่อระบบส่งคลื่นสัญญาณไม่มีการพัฒนาก็ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องดิ้นรนกันเอง เพื่อให้เข้าถึงฟรีทีวีอย่างชัดเจน  นั่นคือ หันไปเสียเงินซื้อจานรับสัญญาณกันเองตามกำลังทรัพย์ที่มี    ศาลทั้งตั้งคำถามดีมาก    เช่น ถาม อสมท. ว่า คุณเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการคลื่นแทนรัฐ   ไปร่วมมือกับเอกชนละเมิดสิทธิการเข้าถึงฟรีทีวีของผู้บริโภคได้อย่างไร ถามว่าเรื่องการส่งคลื่นฟรีทีวี  ปัจจุบันส่งระบบใด  โดยสรุปทุกช่องส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมแล้ว   แม้ว่าจะพยายามบอกว่าคลื่นที่ส่งๆ ไปที่ฐานเครือข่ายของตนเอง  และการที่ประชาชนดูฟรีทีวีผ่านจานรับสัญญาณดาวเทียมได้นั้น  เป็นการลักลอบ  หรือขโมยสัญญาณของเขาโดยไม่ได้รับอนุญาต   เราก็เลยถามว่าเขาลักลอบใช้สัญญาณนานหรือยัง  คำตอบคือ  “มากกว่า 25 ปี”  เราเลยถาม ต่อว่า ทำไมไม่แจ้งจับปล่อยให้ลักลอบใช้สัญญาณนานขนาดนั้นได้อย่างไร คำตอบคือ  “เงียบ” ในส่วนฝั่งแกรมมี่ศาลได้เรียกสัญญาระหว่างแกรมมี่และยูฟ่า มาเปิดเผย(แต่ศาลห้ามนำออกมาภายนอก) ก็เห็นชัดเจนว่า ยูฟ่า ไม่ได้จำกัดการถ่ายทอดผ่านดาวเทียมแต่เขียนห้าม ไม่ให้สัญญาณออกนอกประเทศ ซึ่งประเทศไทยทำได้ที่จะไม่ให้สัญญาณทะลักออกไป นั่นคือการใส่รหัสผ่านเข้าไปดู  การที่ห้ามส่งสัญญาณผ่านผู้ที่ดูฟรีทีวีผ่านจานรับสัญญาณ แกรมมี่เป็นผู้กำหนดเอง  ด้วยเหตุผลทางธุรกิจ  เพราะผู้ที่ดูฟรีทีวีผ่านจานดาวรับสัญญาณคือ กลุ่มที่แกรมมี่จะขายกล่องรับสัญญาณของตนเองได้ (ส่วนกลุ่มที่ชมผ่านก้างปลาหนวดกุ้งไม่ใช่ฐานลูกค้า)  เพราะแกรมมี่มีแผนธุรกิจที่จะทำทีวีดาวเทียม     การที่แกรมมี่ประมูลสัญญาณการถ่ายทอดครั้งนี้แกรมมี่ได้หลายเด้ง  ทั้งขายโฆษณา ขายกล่อง ขยายฐานลูกค้าทีวีดาวเทียมของตนเองในอนาคต (โอ้โห.....พูดไม่ออก...)   ข้อมูลที่พรั่งพรูออกมาจากกระบวนการไต่สวนทั้งการตั้งคำถามของศาล และการตั้งคำถามของผู้ฟ้อง ชัดเจนยิ่ง(ในมุมของเรา) แต่มุมของศาลไม่ใช่ศาลยังอยากได้ข้อมูลประกอบอื่นทั้งเทคนิคเฉพาะเพื่อเป็นส่วนประกอบการตัดสินใจคุ้มครองหรือไม่   โดยขอไต่สวนเพิ่มฝ่ายเทคนิคของช่องต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับคดี และไม่เกี่ยวกับ  กระบวนการไต่สวนดำเนินไปเวลาถ่ายทอดอีกแค่ 2 นัดไม่ทราบว่าเป็นเทคนิคของศาลที่ต้องการลดการกดดันทางกระแสสังคม กับเรื่องนี้อ่อนลงหรือไม่   เพราะดูศาลจริงจังมาก  ลงไต่สวนเต็มองค์คณะ 6-8 คนทุกนัด  เวลาไต่สวนศาลมองมาทางเราบ่อยมาก และพูดประมาณว่าเราต้องมองอนาคต    และวันที่รอคอยก็มาถึงนั่นคือศาลนัดฟังคำตัดสินว่าจะคุ้มครองหรือไม่(คุ้มครองคือต้องถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีทุกช่อง ไม่คุ้มครองคือถ่ายทอดผ่านหนวดกุ้งก้างปลาเหมือนเดิม)  คำตัดสินอย่างที่ทุกคนรู้กันว่า  “เรื่องนี้มีเรื่องลิขสิทธิ์ต่างประเทศมาเกี่ยวข้องจึงไม่คุ้มครอง  แต่รับคดีไว้พิจารณาต่อไป”สรุปว่าที่เขียนเล่ามาหลายตอน  อารมณ์ของผู้เขียนเหมือนนั่งดู “ลิเก”โรงใหญ่ที่มีผู้แสดงมากมาย  แต่ตอนจบหักมุม “นางเอกโดนน็อคหมดสติ” ลิเกโรงใหญ่ หรือ “นาตะดนตรีที่ศาล” จะจบอย่างไรคงต้องรอคำตัดสินในคดีนี้ต่อไปอย่างใจระทึก....

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 กรณีทีวี “จอดำ” ตอนที่ 4 มีสิทธิแต่การเข้าถึงสิทธิต้องรอก่อน..

มาตามที่นัดกันไว้เมื่อตอนที่แล้ว...  เริ่มด้วยเช้าวันที่ 25 มิถุนายน  2555   กลุ่มผู้ฟ้องคดีนัดรวมพลไปฟ้องคดี พร้อมกันทั้ง 5 คน รวมพยานและกองเชียร์ก็ประมาณ 40-50 คน    ประเด็นที่ฟ้องคือ 1.ขอให้ช่องฟรีทีวีแพร่ภาพออกอากาศการถ่ายทอดทันที่โดยไม่ยกข้ออ้างการอุปกรณ์มาปฏิบัติการเข้าถึงฟรีทีวี 2.ขอให้ฟรีทีวีหยุดเอาเปรียบผู้บริโภคและหยุดการกระทำการอันเป็นการไม่รับผิดชอบธุรกิจของตนเอง  พร้อมให้ศาลสั่งลงโทษ ผู้ประกอบการ โดยให้คำนึงถึงผู้เสียหาย 11 ล้านครอบครัว  3. ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4  ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,590 บาท หรือ ในราคาเท่ากับกล่องรับสัญญาณของ GMMZ 4.  ขอให้ศาลมีคำแนะนำไปถึงรัฐบาลให้เร่งดำเนินการผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 61เมื่อไปถึงศาลแพ่งรัชดา(โอ้โฮ....ดังจริงๆ เรื่องนี้) กลุ่มสื่อมวลชนจำนวนมากรอเรากันคึกคักมาก  ทำให้กลุ่มผู้ฟ้องอุ่นใจมากขึ้น(บนความหวังจอต้องหายดำคนไทยควรได้ดูบอลที่ถ่ายทอดในฟรีทีวีให้ได้)  ศาลเตรียมการต้อนรับอย่างดียิ่ง  พวกเราได้รับการอำนวยความสะดวกจากศาลที่แสนประทับใจ  ศาลรับคำฟ้องและให้พวกเรานั่งรอ   สักครู่ก็มีเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่า  ฝ่ายที่ถูกฟ้องยื่นเอกสารคัดค้าน ว่าประเด็นนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลผู้บริโภค  เพราะฝ่ายที่ถูกฟ้อง เป็นหน่วยงานของรัฐ  ช่อง 5  เป็นของกองทัพบก   ช่อง 9 ช่อง 3 เป็นขององค์การแพร่ภาพกระจายเสียงแห่งประเทศไทย(อสมท.) ซึ่งควรอยู่ในอำนาจศาลปกครอง  ศาลกำลังพิจารณาขอให้ผู้ฟ้องรอก่อน ซึ่งพวกเราคิดไว้แล้วแต่ต้นว่าต้องเจอเรื่องนี้แน่  เพราะคดีผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเจอวิธีนี้ตลอด เรียกได้ว่าเป็นเทคนิค หรือเครื่องมือของผู้ประกอบการ ที่จะนำมาใช้เพื่อยืดคดีออกไปให้นานที่สุด พวกเราก็นั่งลุ้นว่าศาลจะคุ้มครองฉุกเฉินหรือเห็นคล้อยตามเสียงคัดค้าน    จนเกือบ 5 โมงเย็นศาลได้ออกนั่งบัลลังก์ครบองค์ทั้ง 8 คน  แล้วแจ้งว่า ศาลได้พิจารณาแล้ว  เห็นว่าเรื่องที่ฟ้องนี้อยู่ในอำนาจที่ศาลจะพิจารณาได้ ส่วนข้อมูลที่คัดค้านศาลจะส่งเรื่องไปยังศาลอื่นต่อไป   และศาลรับคำฟ้องไต่สวนฉุกเฉิน  แต่ขอนัดไต่สวนในวันถัดไป เวลา 9.00 น.  พวกเราไปรอตามเวลานัด  สิ่งที่เจอคือ  รอ...ก่อน ศาลกำลังพิจารณา  จนเกือบบ่าย 3 (รอ 6 ชม.) ศาลออกนั่งบัลลังก์ ครบ 8 คน ทั้งผู้ฟ้องและผู้ทุกฟ้องอยู่กันครบครัน  โดยเบื้องต้นขอไต่สวน กลุ่มผู้ฟ้องและพยานผู้ทรงคุณวุฒิก่อน  โดยฝ่ายผู้ถูกฟ้องเตรียมทนายมืออาชีพ ที่มีประสบการณ์ด้านเทคนิคการถ่ายทอดทีวีสูงมากมาซักค้าน ผู้ฟ้องถึง 2 คน  ในขณะผู้ฟ้องมิได้เตรียมทนายมาซักแก้     แต่ฝ่ายผู้ฟ้องไม่ได้เตรียมทนายมาเพราะตาม พรบ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค  ระบุไว้ชัดเจนว่าการฟ้องคดีผู้บริโภคไม่ต้องใช้ทนาย   แต่เมื่ออีกฝ่ายเตรียมมา หากฝ่ายผู้ฟ้อง ไม่มีก็จะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบทันที  กลุ่มผู้ฟ้องจึงขอเวลา  ทำหนังสือแต่งทนายกันหน้าบัลลังก์กันเลย   เมื่อมีทนายแล้ว ขบวนการไต่ส่วนก็เริ่มดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น  ใช้เวลาไต่สวน จนเกือบ 5 โมงเย็น    ศาลสั่งให้ไต่สวนใหม่วันรุ่งขึ้นเวลา 9.30 น.(ผ่านไปอีกวันยังไม่เห็นอะไร)โดยศาลมีคำสั่งเพิ่มว่านอกจากวันรุ่งขึ้นจะเป็นคิวไต่สวนผู้ถูกฟ้องแล้ว ศาลยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมด้านเทคนิคการถ่ายทอดทีวีด้วย   ขอให้ทั้งฝ่ายผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องไปช่วยประสาน  โดยศาลจะออกหนังสือเรียกตัวไปยังหน่วยงานต้นสังกัด   ที่สำคัญคือเวลาการถ่ายทอดลดลงเรื่อยๆ  เพราะนัดสุดท้าย คือวันที่ 2  กรกฎาคม 2555 ซึ่งเหลืออีกไม่กี่วัน  การไต่สวนว่าจะคุ้มครองหรือไม่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง  เพราะหากใช้เวลาไต่สวนนาน จนหมดเวลา ถึงศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองก็จะไม่เกิดประโยชน์  และกลุ่มผู้ฟ้องไม่สามารถคาดเดาได้ว่าศาลจะใช้เวลาไต่สวนอีกกี่วัน  การรอคอยให้ถึงวันรุ่งขึ้น  จึงเป็นที่ระทึกยิ่งนักในกลุ่มของผู้ฟ้อง แต่ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้  คงทำได้แค่ รอ กับรอ..... เท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 กรณีทีวี “จอดำ”(ตอนที่ 3 “ฟ้องทั้งที ต้องทำให้ดัง”)

เจอกันอีกครั้ง กับกรณีทีวี “จอดำ” จากเดิม ที่มาถึงตอนที่ ผู้บริโภคตัดสินใจ ปฏิบัติการ “สิบล้อชนตึก” นั่นคือต้องฟ้อง แต่ใครล่ะ! ที่จะฟ้อง   และจะฟ้องศาลไหน?   ที่สำคัญคือเรื่องนี้ช้าไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเด่นประเด็นร้อน  และมีเวลากระชั้นชิด  เพราะนัดการถ่ายทอดก็ลดลงทุกวัน  จากการตั้งวงคุยก็ได้ข้อสรุปว่ากรณีจอดำเป็นการละเมิดสิทธิ การเข้าถึงฟรีทีวีของผู้บริโภคอย่างชัดเจน  เป้า.....การฟ้องก็หนีไม่พ้นการฟ้องให้เป็นคดีผู้บริโภค ภายใต้กฎหมาย วิธีพิจารณาความผู้บริโภค  แต่การฟ้องด้วยกฎหมายนี้ฟ้องแทนไม่ได้  ต้องให้ผู้เสียหายมาเป็นผู้ฟ้องด้วยตนเอง   และด้วยระยะเวลาที่จำกัด เราหาผู้ร่วมฟ้องได้ 5 คน  คือ(ภายในไม่กี่ชั่วโมง) 1. นางสาวสารี   อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  2. นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค 3. นางสาวเรณู  ภู่อาวรณ์   ประธานศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม  4. นายขวัญมนัส  ภูมินทร์   ตัวแทนศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดราชบุรี  5. นายเฉลิมพงศ์  กลับดี  หัวหน้าศูนย์ทนายอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค     ซึ่งต้องบอกว่าการตัดสินใจครั้งนี้   มีทั้งเสียงชื่นชม   และเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ อื้ออึง... ทั้งว่าคนฟ้องเป็นพวกอยากดูฟุตบอลจนขึ้นสมอง   ไม่ยอมลงทุน(ซื้อกล่อง) ดูไม่ได้แล้วออกมาตีโพย  ตีพาย ...(ว่าไปนั่น..)  บ้างก็ว่า ประเด็นนี้เป็นแค่เรื่องเล็กๆ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มาทำเรื่องเล็กๆ อย่างนี้ทำไม  มีเรื่องใหญ่ๆ กว่านี้มากมาย  ทำไมไม่ไปทำ   แต่หลายเสียงก็ชื่นชมบอกขอบคุณที่ช่วยออกมาส่งเสียงต่อสังคมว่าคนส่วนใหญ่กำลังถูกเอาเปรียบ  มีทั้งโทรมาเชียร์  จดหมายมาร้องทุกข์ เมื่อคนทำงานอย่างเรา เจอทั้งกองเชียร์ และคนที่ตั้งคำถาม ก็ทำให้มึนๆ ดีเหมือนกัน   แต่ที่แน่ๆ คือต้องเดินหน้าฟ้องสถานเดียว   เพราะเรื่องนี้กระทบกับผู้บริโภคมากกว่า 11 ล้านครัวเรือน   ที่สำคัญการฟ้องครั้งนี้ ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ลุกขึ้นมาทำหน้าที่(ที่ต้องทำ)  โดยกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคประเด็นนี้ให้ชัดเจน   ให้เป็นบรรทัดฐานการให้บริการฟรีทีวีในประเทศไทย     เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจ  ที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคมากขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเริ่มตั้งแต่กลุ่มผู้ฟ้องร่วมกันเขียนคำฟ้อง  และเตรียมพยานส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ   ต้องทำเองทุกขั้นตอนเพื่อความรอบคอบของคดี   เมื่อคดีนี้กระทบผู้บริโภคจำนวนมาก    การฟ้องคดีก็ต้องฟ้องให้ดังๆ ดังนั้นก่อนฟ้องจริง  กลุ่มผู้ฟ้องได้จัดเวทีแถลงข่าว  เพื่อให้ฝ่ายธุรกิจรู้ว่าผู้บริโภค “สู้โว้ย...แล้วนะ...” ที่มากไปกว่านั้นคือพวกเรานัดหมายศาลออกอากาศกันเลย......ว่าเราจะไปฟ้องกันวันไหน เพื่อให้ศาลเตรียมการ  หลักจากการแถลงข่าวของพวกเรา (ได้ผลมากกก........)  เพราะสามารถทำให้นักการเมืองที่กำกับดูแลการคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง   แสดงตัวออกมาเป็นเจ้าภาพเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารแกรมมี่มาหารือเพื่อแก้ปัญหา “จอดำ” อย่างเร่งด่วน...(ทั้งที่เดิมหลับอยู่) กำลังเข้มข้น  เจอกันเล่มหน้านะจ๊ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 กรณีทีวี “จอดำ” (ตอนที่ 2 “ปฏิบัติการ สิบล้อชนตึก”)

เจอกันอีกครั้ง กับเรื่อง “จอดำ” จากเดิม ที่มาถึงตอนที่ กสทช.ออกมาประกาศว่าไม่สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคที่ดูทีวีผ่านอุปกรณ์รับสัญญาณด้วยจานดาวเทียมได้  เพราะแกรมมี่เป็นผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต ประกอบกิจการจากกสทช. และที่สำคัญคือ  การที่แกรมมี่ ได้ไปทำสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดฟุตบอล ยูโร กับ ยูฟ่า    ซึ่งแกรมมี่ เป็นฝ่ายยื่นข้อเสนอในสัญญาไปว่า “ฟรีทีวี” ในประเทศไทย ให้มีแต่  ผู้ที่รับสัญญาณทางภาคพื้น ที่ใช้อุปกรณ์รับสัญญาณ โดย หนวดกุ้ง,ก้างปลา เท่านั้น  ที่น่าตกใจคือ  กลุ่มคนที่ถูกกีดกัน (คนมีจาน)เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ  ประมาณราวๆ 75% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ (อุแม่เจ้า..ทำไปได้....)   และที่สำคัญมากไปกว่านั้น ที่กสทช.  ออกมาประกาศชัดเจนว่า ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ในกรณีนี้ได้เพราะ “กสทช.ยังไม่มีระเบียบปฏิบัติในเรื่องนี้” จึงต้องปล่อยไปก่อน  เพราะมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ลิขสิทธิ์ “ เอา.....ละซิ   เจอลูกนี้เข้าไป  ผู้บริโภคอย่างเราถึงกับมึน..... ในเมื่อหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล อย่างกสทช.ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบด้วยเหตุผล “ยังไม่ได้ออกระเบียบ หรือยังออกระเบียบไม่ทัน” เราจะทำอะไรกันดี    ในขณะเดียวกันที่ กสทช.บอกว่าช่วยอะไรผู้บริโภคไม่ได้  ตรงกันข้ามกับการที่มีนำเข้ากล่องรับสัญญาณต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น  กล่อง GMM-Z ทีมีการนำเข้าโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเช่นกัน(เป็นผู้ประกอบการเถื่อน)  แต่กสทช. กลับบอกว่าเมื่อ กสทช.ยังไม่มีระเบียบเรื่องนี้ต้องยกประโยชน์ให้ผู้ประกอบการโดยต้องปล่อยให้เขานำเข้ามาก่อน จนกว่าจะมีระเบียบ   เป็นไงจ๊ะ....  อ่านถึงตรงนี้แล้วผู้บริโภคอย่างเราๆ รู้สึกตื้นตันใจมากไหม! กับการใช้ดุลพินิจของ กสทช.ในครั้งนี้     ซึ่งเห็นชัดว่า ในส่วนของผู้บริโภค ถูกตีความว่าช่วยอะไรไม่ได้  ต้องปล่อยให้ถูกละเมิดไปก่อน   และในส่วนของผู้ประกอบการ กับใช้ดุลพินิจเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการอย่างชัดเจน..... ดูซิ! การใช้ดุลพินิจเรื่องนี้ช่าง เป็นธรรมเสียเหลือ..เกิ้นนนนนน....   ซึ่งชี้ชัดแล้วว่า  ผู้บริโภคอย่างเราๆ  พึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ไม่ได้จริง  ..  ช่องทางที่เหลือคือ “ต้องช่วยเหลือตัวเอง” วงคุยเรื่องนี้จึงเกิดขึ้น(หลายรอบ)   ในที่สุดที่พึ่งสุดท้ายก็หนีไม่พ้น การนำเรื่องนี้เข้าไปสู่กระบวนการพิจารณาของศาล  เพื่อให้เกิดบรรทัดฐาน ในกรณี จอดำ เพื่อมิให้เกิดปรากฏการ จอดำในอีกหลายกรณี  ทั้ง โอลิมปิก และรายการสำคัญๆที่มาผ่าน ฟรีทีวี  คนไทยทุกคนต้องได้ดู    เมื่อตัดสินใจฟ้อง...  ก็ต้องมาดู  ว่า จะฟ้องศาลไหน!  และจะฟ้องใครบ้าง!    เมื่อมาดูว่าศาลไหน  ที่ง่ายและตรงประเด็นที่สุดคงหนีไม่พ้น  ศาลผู้บริโภค (ศาลแพ่ง)ภายใต้กฎหมายวิธีพิจารณาความผู้บริโภค  ที่เป็นกฎหมายที่ตรงประเด็นที่สุด    เมื่อหันมามองคู่กรณีที่เราจะฟ้อง  ก็หนีไม่พ้น  ฟรีทีวี  ช่อง 3,5,9  และ บ.แกรมมี่ เช่นกัน เขียนเท่านี้ เหมือนไม่มีอะไรมากมาย  แต่พอแตกออกมา การฟ้องช่อง 5 หมายถึง การที่ผู้บริโภคตัวเล็กๆอย่างเรา  ต้องฟ้อง กองทัพบก ฟ้องช่อง 3 ช่อง 9 คือการฟ้อง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) แกรมมี่ก็เป็นบริษัทธุรกิจบันเทิงขนาดใหญ่ ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับการเมืองไทย       เอาละซิ...งานใหญ่แล้วละทีนี้    แต่เมื่อคิดจะสู้ ใหญ่ยังไงก็ต้องสู้  เสมือนว่า เล็กก็ล้มใหญ่ได้ถ้าใจมันถึง   สิ่งที่ต้องหาต่อไปคือใครจะเป็นหน่วยกล้าตายที่จะอาสามาเป็นผู้ฟ้อง (ปฏิบัติการสิบล้อชนตึก) ใครบ้าง?จะฟ้องมุมไหน?  ในกระบวนการฟ้องต้องเจอกับอะไรบ้าง ? โปรดติดตามตอนต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 กรณีทีวี “จอดำ”(ตอนที่ 1 สัญญาณทีวีของฉัน..หาย...ไปไหน)

หลายท่านคงได้ทราบข้อมูลของขบวนการต่อสู้  เรื่อง “จอดำ”กันมาบ้างพอสมควร  หลังจากที่เครือข่ายผู้บริโภคอออกมาเรียกร้องสิทธิเรื่องนี้กันกระหึ่มเมือง   การที่เครือข่ายฯ ต้องออกมาสื่อสารเรื่องนี้กับสังคม   เพราะเห็นว่าปัญหา “จอดำ” เป็นการดำเนินการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคอย่างชัดเจน    เริ่มจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนว่า  ทีวีที่รับสัญญาณฟรีทีวีด้วยจานดาวเทียม ดูฟุตบอล “ยูโร”ไม่ได้เพราะจอมีเพียงสีฟ้า และตัวหนังสือขออภัยไว้ยืดยาว  สรุปคือ ดูไม่ได้หรือไม่ได้ดู นั่นเองเรื่องขยายไปสู่ข้อร้องเรียนของปัญหาที่ผู้เขียนและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ต้องมาหารือกันว่าจะทำอะไรได้บ้างในเรื่องนี้   และสิ่งที่พวกเราเห็นว่า “แปลก”คือเราเคยดูฟรีทีวีได้อย่างปกติไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์ไหน.. รับจากจานฯ รับจากก้างปลา รับจากหนวดกุ้ง และอื่นๆวันดีคืนดี สัญญาณที่เคยรับฟรีทีวีได้ก็หาย...ไป ผู้บริโภคที่รับสัญญาณจากดาวเทียมเป็นกลุ่มที่ถูกกำหนดโทษโดยภาคธุรกิจ  ว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีสิทธิดูฟรีทีวี ที่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอล ยูโร ในครั้งนี้  “ถูกต้องไหม” ซึ่งในความเห็นของพวกเราที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค  เห็นพ้องต้องกันว่า เรื่องนี้เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคอย่างชัดเจน  ครั้งยิ่งใหญ่ เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้มากกว่า 11 ล้านครอบครัว  หากคูณ ครอบครัวละ 3 คน คนที่ถูกละเมิดก็ปาเข้าไป  33 ล้านคน   เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคไม่อาจนิ่งเฉยได้    และการกระทำครั้งนี้น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ  พ.ศ. 2550 มาตรา 47  วรรค 1  ที่กำหนดไว้ว่า  “คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ” ซึ่งเป็นข้อความที่ชัดเจนว่าประชาชนทุกคน เป็นเจ้าของและมีสิทธิเข้าถึงคลื่นความถี่ดังกล่าวได้อย่างเท่าเทียม      ก็ยิ่งชัดเจนว่า หากปล่อยไปไม่ทำอะไรเลย..ประเด็นเช่นนี้ก็จะเกิดขึ้นอีกมากมาย     และอาจนำไปสู่การแข่งขันของภาคธุรกิจที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ ผลักดันให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพื่อให้เข้าถึงสิทธิมากขึ้นโดยไม่มีขีดจำกัด เมื่อหันไปดูที่หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในเรื่องนี้   ก็หนีไม่พ้น  คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ซึ่งยังนิ่งเฉยไม่หือไม่อือ  ทั้งๆ ที่มีหน้าที่โดยตรงอย่างชัดเจน (ยังทำหน้ามึนๆ เหมือนไม่เกิดอะไรขึ้น) เมื่อมีข้อมูลค่อนข้างชัดเจนปฏิบัติการทวงสิทธิก็อุบัติขึ้น   เริ่มจากเครือข่ายผู้บริโภค ร่วมกันออกแถลงการณ์  เพื่อเรียกร้องสิทธิทันที   จนส่งผลให้ กสทช. สั่งปรับ ทรู วันละ 20,000 บาท  ฐานที่โฆษณาเกิน  “บอกว่าจะดูฟรีทีวีได้  แต่กรณี ยูโร  ลูกค้าที่จ่ายค่าสมาชิกรายเดือนของทรู ที่ดูไม่ได้      ส่วนผู้บริโภคที่ใช้จานแบบอื่น กสทช. ออกมาบอกว่า  ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะยังไม่ได้เขียนระเบียบเรื่องนี้      กสทช.จัดการได้เพียงบริษัททรู   เพราะเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต  ส่วนแกรมมี  เป็นธุรกิจที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต   กสทช.ยังไม่สามารถจัดการได้  เอาละ......เรื่องราวกำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ  โปรดติดตามตอนต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 สื่อวันนี้อิสระจริงหรือ?

วันนี้เราคงต้องยอมรับกันว่า สื่อมีอิทธิพลสูงสุดในภาวะสงครามสีของประเทศไทย ทั้งสื่อทีวี สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อไอที ซึ่งการส่งข่าวสารในปัจจุบันว่องไวปานสายฟ้าแลบก็ไม่ปาน ดังนั้นข่าวสารจึงหลั่งไหลไปทุกทิศทุกทางอย่างยากจะหยุดยั้ง คนไทยส่วนใหญ่หันมาสนใจข่าวสารบ้านเมืองมากขึ้น และที่สนใจมากขึ้นเพราะอยากรู้ว่าเรื่องราวจะเป็นไปอย่างไร จะรุนแรงมั้ยและจะจบอย่างไร นี่เป็นคำถามที่คนไทยทุกคนอยากรู้แต่ไม่มีใครตอบได้(แฮะๆ ผู้เขียนก็ตอบไม่ได้จ้ะ) และที่สำคัญคือสื่อยังสามารถโน้มน้าวให้เกิดความเชื่อไปทางใดทางหนึ่งได้โดยง่าย ยิ่งเป็นรายงงานข่าวที่มีการวิเคราะห์แง่มุมของเนื้อข่าวอย่างละเอียดด้วยแล้วจะได้รับความสนใจจากคอข่าวชาวไทยอย่างมาก ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมีอิทธิพลมหาศาลในสังคมไทยจริงๆวันนี้คนไทยทุกคนรับรู้ว่าสื่อมีความเป็นอิสระเป็นอย่างมาก ขนาดบัญญัติความอิสระของสื่ออยู่ในรัฐธรรมนูญปี 50 เลยทีเดียวเชียว โดยคนไทยก็ชูจั๊กกะแร้เชียร์ ขอให้สื่อมีความอิสระจริงๆ เพราะคนไทยอยากเห็นข่าวสารที่ตรงไปตรงมาบนข้อเท็จจริง โดยไม่ต้องผ่านการปรุงแต่ง แต่เอาเข้าจริงก็อยากตั้งคำถามเหมือนกันว่าวันนี้สื่อเป็นอิสระจริงหรือ? อาจจะมีคำตอบว่าขนาดบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วจะมาถามทำไม? ที่ต้องถามเพราะผู้เขียนมีข้อสงสัยในความอิสระของสื่อจริง ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อทีวี ที่สงสัยเพราะสื่อทั้งสองชนิดนี้ก็ยังผูกติดอยู่กับโฆษณา เพราะการมีโฆษณาคือการอยู่รอดของสื่อ หรือที่เรียกกันว่าผู้มีอุปการะคุณนั่นเอง และเมื่อสื่อยังต้องพึ่งโฆษณา โดยเฉพาะสื่อทีวีอาจจะมีบางรายการที่ได้รับความนิยมมากๆ บริษัทที่ซื้อโฆษณาก็มีบทบาทน้อยหน่อย แต่รายการกลางๆ ที่ต้องพึ่งโฆษณาเพื่อความอยู่รอดของรายการบริษัทที่ซื้อโฆษณา สามารถสั่งได้ว่าต้องการให้รายการนั้นๆ ออกมาในรูปแบบใด และที่สำคัญคือสื่อสิ่งพิมพ์(หนังสือพิมพ์)ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการปิโตรเลียมทุ่มซื้อโฆษณาในหลายฉบับ เรียกว่าคุมได้หมดก็ว่าได้ที่พูดได้อย่างนี้เพราะเคยมีประสบการณ์มาหลายครั้ง เพราะบางครั้งเราแถลงข่าวเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในวงการปิโตรเลียมของไทยเพื่อให้คนไทยได้ร่วมรับรู้ ข่าวเหล่านั้นไม่เคยได้ปรากฎในสื่อทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์เลย ถามนักข่าวไปก็ได้คำตอบมาว่าลงให้ไม่ได้เพราะจะกระทบบริษัทที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของสื่อแต่ละสำนัก (ไหนว่าสื่ออิสระไงทำไมไม่กล้าลงข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงล่ะ ?) ยกตัวอย่างกรณีศาลตัดสินให้ปตท.คืนส่วนต่าง(ค่าวางท่อก๊าซ)คืนคลัง โดยให้สตง.ร่วมประเมินราคาท่อที่ปตท.ต้องคืน แต่ปตท.รีบร้อนคืนมาประมาณหมื่นหกพันล้านบาท ทั้งที่จริงสตง.ตรวจสอบแล้วพบว่าปตท.ต้องคืนส่วนต่างให้คลังเกือบแสนล้านบาท แต่ปตท.คืนหมื่นกว่าล้านแล้วบอกจบ เราในฐานะคนไทยก็ควรได้รับรู้เรื่องนี้บ้าง แต่สื่อไม่กล้าลงเพราะกลัวกระทบกับโฆษณา สิ่งที่เราทำได้คือเรารวมตัวกันไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เร่งตรวจสอบและเรียกร้องให้ปตท.คืนเงินให้ครบตามจำนวนที่สตง.ตรวจพบไม่อย่างนั้นพวกจะฟ้องว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่เหมือนเดิมคือมีข่าวลงน้อยมาก ทีวีที่เราได้ออกมีช่องเดียวคือ ทีวีไทย ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์แทบหาไม่เจอเลย ที่เขียนมานี้ไม่ได้มีอคติกับสื่อ เพียงอยากจะแค่ถามว่า วันนี้สื่อมีอิสระแล้วจริงๆ หรือ?  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 ชอบทีวีซัมซุง ถึงเสียก็ไม่อยากเปลี่ยนใจ

เรียน ผู้จัดการ บริษัท ซัมซุงประเทศไทย จำกัดดิฉันนางสาวดวงพร ได้ซื้อทีวี LCD 32 นิ้ว Model code LA32 ………Serial No…….Version…….(อยู่ในช่วงประกัน) เมื่อต้นปี (มกราคม 2552) และจอภาพได้เสียเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2552 ดิฉันจึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทซัมซุงทราบ และจากนั้น 3 วัน เจ้าหน้าที่ได้ให้ช่างมาตรวจที่บ้าน และได้บอกว่าจอภาพเสียต้องเปลี่ยนและต้องรออะไหล่ ดิฉันถามว่านานเท่าไร ช่างตอบว่านานเพราะต้องรอบริษัทแม่ส่งมาดิฉันรอจนสิ้นเดือนมกราคม 2553 และได้ติดต่อกลับไปสอบถามได้ความว่าอะไหล่ไม่มี ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานใหญ่ (เจ้าหน้าที่เรียกว่า VOC) และรออีก 1 อาทิตย์ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ติดต่อกลับมา ดิฉันจึงติดต่อกลับไป แต่ทุกครั้งที่ติดต่อเจ้าหน้าที่จะบอกแบบถ่วงเวลาว่าจะติดต่อกลับไปแต่ไม่เคยเห็นจะติดต่อกลับมาสักครั้งเลย และครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้พูดจาไม่สุภาพเลย ใช้คำพูดว่า “อ๋อเรื่องของคุณ....... คุณพัช(นามสมมติ)รับเรื่องไว้เดี๋ยวจะติดต่อกลับมาดิฉันก็กลัวว่าจะไม่มีการติดต่อกลับเหมือนทุกครั้ง ดิฉันจึงขอทราบนามสกุลของคุณพัช แต่เจ้าหน้าที่ไม่บอกได้แต่รับปากว่าจะโทรติดต่อกลับแน่นอน และตอนบ่ายของวันนั้นคุณพัชก็โทรกลับมา (ดิฉันดีใจมาก) และคุณพัชได้บอกว่า ทางบริษัทจะรับซื้อคืน เพราะทางบริษัทไม่มีอะไหล่แต่ดิฉันคิดว่าถึงเงินมาก็ต้องไปซื้อทีวีอยู่ดี และชอบทีวีของซัมซุง จึงขอให้เขาเปลี่ยนเครื่องแทนไม่รับเงินแต่คุณพัชได้บอกว่าเปลี่ยนให้ไม่ได้ เพราะเครื่องไม่เสถียรจะขอเป็นซื้อคืนและขอใบเสร็จรับเงิน และถ่ายสำเนาบัตรประชาชนเขียนชื่อภาษาอังกฤษ เดี๋ยวจะส่งเงินมาโดยจะติดต่อกลับมาอีกครั้งว่าจะโอนเงินทางใด ดิฉันไม่ได้เก็บใบเสร็จไว้ คุณพัชก็ไม่ได้ว่าอะไรก็ใช้วิธีเขียนจำนวนเงินแทนว่าซื้อมาเท่าใด ดิฉันเขียนราคา 19,000 บาท และส่งแฟกซ์ไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 และขอเบอร์ติดต่อกับคุณพัชโดยตรง และรอตามที่คุณพัชบอกจะติดต่อกลับจนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 ดิฉันโทรกลับไปที่เบอร์ที่ได้รับไว้ แต่ไม่มีใครรับสายทั้งวันพออีกวันดิฉันจึงโทรเข้าศูนย์ซัมซุงและเล่าเรื่องทั้งหมดให้เจ้าหน้าที่ฟังและขอสายคุณพัช จากนั้นคุณพัชโทรกลับมาและบอกว่าเรื่องต้องรอผู้ใหญ่อนุมัติต้องรออีกประมาณต้นเดือนมีนาคม 2553 จึงจะได้คำตอบ ดิฉันจึงอยากทราบว่าทางบริษัทจะดำเนินการอย่างไร เพราะดิฉันรอมาหลายเดือนแล้ว โปรดติดต่อกลับทางดิฉันด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาเอาจดหมายฉบับนี้มาให้อ่าน เป็นแนวทางกัน สำหรับคนที่มีปัญหาซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้ามาแล้วเสียใช้ไม่ได้ในระยะเวลารับประกัน เรียกช่างมาซ่อมแล้วโยกโย้ ติ๊ดชึ่งดึงเวลา ให้ขาดระยะประกันหรือขาดอายุความในการฟ้องร้อง(อายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย)คุณดวงพรได้ร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิฯ ว่า หลังจากที่โทรทัศน์ซัมซุง จอแอลซีดี 32 นิ้ว มูลค่า 19,000 บาทเสียดูไม่ได้มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 ติดตามเรื่องผ่านทางโทรศัพท์ให้บริษัทแก้ไขปัญหาจนถึงเดือนมีนาคม 2553 รวมเวลากว่า 3 เดือนแล้วก็ยังไม่มีทีวีให้ดูรายการโปรดซักที โทรตามเรื่องจนขี้เกียจโทรแล้ว อยากให้มูลนิธิฯช่วยเหลือหน่อยมูลนิธิฯ จึงได้แนะนำว่าเรื่องนี้ไม่ยาก ให้ผู้บริโภคใช้คาถา “จดหมายดีกว่าโทรศัพท์” จดหมายร้องเรียนที่เราได้อ่านข้างบนจึงเป็นฝีมือของคุณดวงพรล้วนๆ ซึ่งผู้บริโภคท่านอื่นที่ประสบปัญหาในทำนองเดียวกันเอาไปปรับใช้ได้ครับผลที่ได้รับ เพียง 5 วันหลังจากที่ออกจดหมายไปถึงผู้บริหารของบริษัทซัมซุง คุณดวงพรก็ได้รับเช็คจำนวน 19,000 บาท และส่งคืนทีวีจอดับไปให้บริษัทซัมซุงทำลายเป็นที่เรียบร้อย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 “เคเบิลทีวีแบบบอกรับสมาชิก” เจ้าไหนน่าสนใจกว่ากัน

เมื่อช่องรายการที่สามารถรับชมได้ฟรีทั้ง 36 ช่องใหม่ที่ดูได้จากกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลและอีกกว่า 100 ช่องดูฟรีจากกล่องรับสัญญาณจานดาวเทียมทั้งแบบ จานดำหรือจานตะแกรง (ระบบ C Brand) และแบบ จานทึบ (KU Brand) ยังไม่โดนใจคนชอบดูทีวี “ช่องรายการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก” หรือเคเบิลทีวีจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ สำหรับคนที่อยากชมรายการทีวีที่แตกต่างออกไป ด้วยคุณภาพของรายการที่ดีกว่ารายการจากช่องฟรีทีวี รายการส่วนใหญ่เป็นรายการยอดนิยมจากต่างประเทศ รวมทั้งมีการแข่งขันกีฬาดังระดับโลกที่ถ่ายทอดให้ชมแบบสดๆ อย่าง ฟุตบอล หรือ เทนนิส ที่เดี๋ยวนี้ถูกเคเบิลทีวีซื้อลิขสิทธิ์ไปหมดแล้ว เพียงแต่มีเงื่อนไขสำคัญว่าต้องพร้อมที่จะจ่ายค่าบริการเพื่อสิทธิ์ในการรับชม“จุดเด่น” และ “จุดด้อย” ของช่องรายการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกจุดเด่น1.ช่องรายการส่วนใหญ่เป็นช่องรายการยอดนิยมจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ พวกรายการกีฬา ภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี ซึ่งหลายรายการออกอากาศใกล้เคียงหรือพร้อมกันกับที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาจากต่างประเทศ เช่น ฟุตบอล เทนนิส กอล์ฟ ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งที่สุดที่หลายๆ คนยกให้เป็นเหตุผลแรกในการเลือกติดตั้งกล่องรับสัญญาณดาวเทียมแบบบอกรับสมาชิก 2.ช่องรายการจากต่างประเทศส่วนใหญ่ออกอากาศด้วยระบบความคมชัดสูง หรือระบบ HD (High-Definition) 3.ช่องรายการจากต่างประเทศส่วนใหญ่มีระบบเสียงภาษาอังกฤษและมีคำบรรยายไทยประกอบ บางช่องรายการก็เป็นระบบ 2 ภาษา 4.มีโฆษณาน้อยกว่าช่องฟรีทีวี ช่องรายการทีวีดาวเทียมแบบบอกรับสมาชิกจะมีโฆษณาคั่นรายการน้อยกว่าช่องรายการฟรีทีวีตามที่ พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ได้กำหนดไว้ว่า ทีวีดาวเทียมแบบบอกรับสมาชิกสามารถมีโฆษณาได้ไม่เกินชั่วโมงละ 6 นาที หรือรวมเฉลี่ยตลอดทั้งวันไม่เกินชั่วโมงละ 5 นาที แต่หากเป็นช่องฟรีทีวีสามารถมีโฆษณาได้ชั่วโมงละไม่เกิน 12 นาทีครึ่ง หรือรวมตลอดทั้งวันแล้วเฉลี่ยไม่เกินชั่วโมงละ 10 นาที 5.ปัจจุบันนี้ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีแบบบอกรับสมาชิกหลายเจ้า เช่น GMMZ, PSI+CTH ใช้วิธีการขายแพ็คเก็จชมช่องรายการแบบเติมเงิน คือผู้ชมสามารถเลือกช่วงเวลาที่อยากซื้อแพ็คเก็จได้ ซึ่งแพ็คเก็จส่วนใหญ่จะรับชมได้อย่างน้อย 30 วันต่อการซื้อแพ็คเก็จ 1 ครั้ง เมื่อครบกำหนดเราจะเลือกซื้อแพ็คเก็จต่อหรือไม่ซื้อเติมก็ได้ หรือจะเลือกเปลี่ยนเป็นแพ็คเก็จอื่นก็ได้เช่นกัน จุดด้อย 1.ช่องรายการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยตั้งแต่ 300 – 2,000 กว่าบาทต่อเดือน 2.มีสัญญาผูกมัด บางเจ้าผู้ให้บริการอย่าง ทรู วิชั่น มีเงื่อนไขในการรับชมว่าแม้จะฟรีค่าอุปกรณ์และค่าติดตั้ง แต่ยังมีค่ารักษาอุปกรณ์ 1,000 – 2,000 บาท รวมทั้งต้องอยู่ในสัญญาตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น 6 เดือน หรือ 12 เดือน หากผู้ใช้ขอยกเลิกบริการก่อนครบสัญญา จะถูกคิดค่าอุปกรณ์ แต่การกำหนดข้อสัญญาในลักษณะนี้ ขัดกับประกาศของ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 ที่ระบุไว้ว่า กรณีที่ผู้ให้บริการได้มีการมอบอุปกรณ์หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับชมช่องรายการทีวีดาวเทียมแบบบอกรับสมาชิกให้แก่ผู้ใช้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นประโยชน์ในการรับชมของสมาชิก ผู้ให้บริการจะนำการให้อุปกรณ์ดังกล่าวมาเป็นเงื่อนไขในการเรียกเก็บเป็นค่าปรับหรือค่าเสียหายกับผู้ใช้บริการในกรณีที่ผู้ใช้บริการขอยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดไม่ได้ ยกเว้นกรณีเกิดความเสียหายจากตัวผู้ใช้งานเองรู้ก่อนสมัครเป็นสมาชิกเคเบิลทีวี1.ผู้ให้บริการต้องแจ้งรายละเอียดเงื่อนไขการบริการที่ชัดเจน ครบถ้วน อัตราค่าบริการทั้งหมด ระยะเวลาในการรับชม ช่องรายการที่จะได้รับชม รายละเอียดรายการ อุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นต่อการรับชม ข้อจำกัดต่อการให้บริการ เช่น ขอบเขตพื้นที่ในการให้บริการ ระยะเวลาในการให้บริการ และเงื่อนไขในการปฏิเสธการให้บริการและการขอยกเลิกการเป็นสมาชิก 2.หากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้บริการที่ผิดไปจากสัญญาณที่ได้ทำไว้กับสมาชิก ผู้ให้บริการต้องมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรกับสมาชิกไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนทำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากการเปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลให้สิทธิในการรับชมของสมาชิกลดน้อยลงกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ ผู้ให้บริการจะต้องมีการชดเชย ด้วยการลดหรือยกเว้นค่าบริการให้กับผู้ใช้บริการ 3.หากเกิดเหตุขัดข้องจนผู้ใช้บริการไม่สามารถรับชมช่องรายการทีวีดาวเทียมแบบบอกรับสมาชิกได้ตามปกติ ผู้ให้บริการต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด และต้องมีการชดเชยเยียวยาให้กับผู้ใช้บริการตามความเหมาะสม 4.การจัดเก็บค่าบริการ ผู้ให้บริการต้องจัดส่งใบแจ้งรายการให้ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 50 วันก่อนวันครบกำหนดชำระ โดยใบแจ้งรายการดังกล่าวจะต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราค่าบริการ ค่าเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องในการใช้บริการ และการคํานวณค่าบริการที่ชัดเจนเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าใจถึงที่มาของค่าใช้จ่ายที่ปรากฏอยู่ในใบแจ้งรายการนั้นได้ พร้อมทั้งกําหนดวิธีการในการรับชําระเงินให้ชัดเจน 5.ห้ามผู้ให้บริการเรียกเก็บค่าบริการอื่นนอกเหนือจากที่กําหนดไว้ในสัญญา 6.เมื่อผู้ใช้บริการได้ชําระค่าบริการแล้ว ผู้ให้บริการต้องออกหลักฐานการชำระเงินให้กับผู้ใช้บริการ 7.ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วันทำการ ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าบริการจนถึงวันที่การยกเลิกสัญญามีผลบังคับ 8.ในกรณีที่มีเหตุดังต่อไปนี้ ผู้ใช้บริการอาจใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ทันที8.1 ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับบริการจากผู้ให้บริการได้ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ใช้บริการ8.2 ผู้ให้บริการได้ละเมิดข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา8.3 ผู้ให้บริการตกเป็นบุคคลล้มละลาย8.4 ผู้ให้บริการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสัญญาหรือเงื่อนไขในการให้บริการ เป็นผลทำให้สิทธิประโยชน์ของผู้ใช้บริการลดน้อยลงกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญา (ที่มา : ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556)   ตารางเปรียบเทียบราคาแพ็คเก็จต่างๆ ของเคเบิลทีวีแบบบอกรับสมาชิก               *จำนวนช่องรายการที่แจ้งไม่รวมช่องรายการจากกล่องดิจิตอลทีวีและช่องรับชมฟรีจากกล่องดาวเทียม**สำรวจล่าสุดเดือนตุลาคม 2558ทรู วิชั่นมีจุดเด่นคือมีช่องรายการให้รับชมมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกแพ็คเก็จและทุกผู้ให้บริการ รวมทั้งมีรายการความคมชัดสูง หรือ HD ให้ชมมากที่สุด ช่องรายการเด่นๆ ส่วนใหญ่เป็นพวกรายการบันเทิงลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ เช่น HBO, Discovery Channel, History Channel และช่องการแข่งขันกีฬาต่างประเทศ เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล อเมริกันฟุตบอล กอล์ฟ ฯลฯ และช่องถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลลีกในประเทศไทย ซึ่งทรู วิชั่นได้ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอด รวมทั้งยังมีช่องรายการที่ทรูผลิตเอง เน้นรายบันเทิงและละคร แต่จุดด้อยของทรู วิชั่น ก็คือการต้องสมัครสมาชิกทำสัญญาและจ่ายค่าบริการต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน นอกจากนี้ค่าสมาชิกที่ต้องจ่ายต่อเดือนถือว่าค่อนข้างสูงหากต้องการดูแพ็คเก็จที่ดีที่สุดจีเอ็มเอ็มแซดจีเอ็มเอ็มแซด เน้นช่องรายการภาพยนตร์และบันเทิงจากต่างประเทศ และมีช่องถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลต่างประเทศซึ่งถือเป็นจุดขายหลัก เพราะมีช่องถ่ายทอดสดฟุตบอลเมื่อรวมกับช่องลิขสิทธิ์ของ ซีทีเอช ที่ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นที่นิยมของคนไทย รวมๆ แล้วมีช่องที่ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลต่างประเทศเกือบ 10 ช่อง จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ จีเอ็มเอ็มแซด ก็คือสามารถเลือกซื้อแพ็คเก็จได้อิสระ มีระยะเวลาขั้นต่ำสุดที่ 30 วัน ไม่มีสัญญาผูกมัด อยากดูเมื่อไหร่ก็ซื้อ แต่ต้องมีกล่องของจีเอ็มเอ็มแซดเป็นอุปกรณ์รองรับในการรับชมพีเอสไอ+ซีทีเอชแพ็คเก็จช่องรายการเหมือนกันกับของ จีเอ็มเอ็มแซด ทั้งหมด จุดเด่นของช่องรายการก็คือการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลต่างประเทศเหมือนกัน สามารถเลือกซื้อแพ็คเก็จได้อิสระไม่ผูกมัดสัญญาเหมือนกัน แต่มีตัวเลือกเรื่องราคามากกว่า ราคาแพ็คเก็จเริ่มต้นถูกกว่าของ จีเอ็มเอ็มแซด เจ้าอื่นๆ อาร์เอส ซันบ็อกซ์ก่อนหน้านี้กล่องอาร์เอส ซันบ็อกซ์ ถือว่าได้รับความนิยมไม่น้อยในช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 เพราะเป็นกล่องที่ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอด แต่สุดท้ายก็ถูกท้วงติงจาก กสทช. ว่าต้องนำการแข่งขันฟุตบอลโลกออกฉายทางช่องฟรีทีวีด้วย พอจบการแข่งขันฟุตบอลโลกและหมดสิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลต่างประเทศ ทำให้กล่องอาร์เอส ซันบ็อกซ์ก็ไม่มีจุดขายอะไรดึงดูดคนดูทีวีอีกเลย ปัจจุบันนอกจากช่องรายการดิจิตอลทีวีและช่องดูฟรีจากจานดาวเทียม ก็มีช่องที่ทางอาร์เอส ซันบ็อกซ์ผลิตเองอีก 3-4 ช่อง แต่กล่องอาร์เอส ซันบ็อกซ์ก็สามารถรับชมแพ็คเก็จพรีเมียร์ลีก พลัส SD ของ ซีทีเอช โดยซื้อได้ในราคา 599 บาทต่อเดือนไอพีเอ็มมีแพ็คเก็จที่ขายกล่องรับสัญญาณพร้อมแพ็คเก็จในการรับชมช่องรายการที่ทางกล่องเป็นผู้ผลิตเอง และช่องฟรีทีวีอื่นๆ จากจานดาวเทียม มีทั้งช่องความคมชัดปกติและช่องความคมชัดสูง จุดเด่นของช่องรายการ ไอพีเอ็ม คือมีช่องรายการท้องถิ่นมีการถ่ายทอดกีฬาและงานประเพณีท้องถิ่นในประเทศ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 181 กระแสต่างแดน

โทรทัศน์จีนแฉธุรกิจยอดแย่ทุกๆ ปีในวันสิทธิผู้บริโภคสากล 15 มีนาคม สถานีโทรทัศน์แห่งชาติของจีน Central China Television หรือ CCTV จะถ่ายทอดรายการ “315 Gala” ซึ่งเป็นที่รอคอยของผู้ประกอบการทั้งหลายที่ ลุ้นตัวโก่งว่าจะติดบัญชีดำของรัฐบาลจีนหรือไม่315 Gala นำเสนอผลสำรวจปัญหายอดฮิตจากผู้บริโภค รวมถึงคลิป “ซ่อนกล้อง” เข้าไปแอบถ่ายการทำธุรกิจของผู้ประกอบการหลายๆ เจ้าด้วย ร้อยละ 25 ของปัญหาที่ผู้บริโภคพบในปีที่ผ่านมาได้แก่ การได้รับ “ของปลอม” ทั้งๆ ที่สั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ (แต่ไม่ได้บอกว่าเจ้าไหนบ้าง)ปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเข้ามามากเป็นอันดับสองคือปัญหาการซื้อขายรถ ที่ผู้ขายบังคับให้ผู้ซื้อจ่ายค่าประกันและค่าป้ายทะเบียน หรือนำรถรุ่นที่ถูกประกาศเรียกคืนแล้วมาขาย เป็นต้น  อันดับสามได้แก่ โทรศัพท์มือถือที่ชำรุดบกพร่อง หรือไม่มีบริการหลังการขายที่ดี ที่ผ่านมารายการนี้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับบริษัทใหญ่ๆ ของจีนเอง อย่าง ไชน่าโมไบล์ เจเอซีมอเตอร์ส หรือแม้แต่ ไป่ตู้อิงค์ และบริษัทต่างชาติอย่าง แลนด์โรเวอร์ และแอปเปิ้ล มาแล้วเจมส์ เฟลด์แคมป์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์จัดอันดับสินค้าและบริการ www.Mingjian.com ให้ความเห็นว่าผู้ประกอบการในจีนเริ่มตระหนักแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าตัวเองตกเป็นดาราจำเป็นในรายการนี้ จึงหันมาเพิ่มความโปร่งใสเป็นธรรมในการทำธุรกิจ เพื่อจะได้ไม่ถูกประจานออกทีวีเบน คาเวนเดอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยการตลาดในเซี่ยงไฮ้บอกว่ารายการนี้ช่วยยกระดับการรับรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภคของผู้บริโภค และเมื่อพวกเขารู้สึกว่าตนเองได้รับการดูแลคุ้มครอง พวกเขาก็จะเกิดความมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น  เคเบิลทีวี ... บริการนี้ต้องเลือกได้กสทช.ไต้หวันเสนอให้บริษัทเคเบิลทีวีเพิ่มทางเลือกให้สมาชิกสามารถจ่ายเงินเฉพาะช่องที่อยากดู ปัจจุบันสมาชิกเคเบิลทีวีจ่ายค่าบริการรายเดือนในอัตราเดียว (ระหว่าง 500 ถึง 600 เหรียญไต้หวัน) แลกกับช่องรายการกว่า 100 ช่อง (รวมช่อง must-carry ที่ผู้ประกอบการต้องจัดให้เป็นพื้นฐานแล้ว)ปีหน้าผู้ประกอบการถึงคิวต้องมีระบบคิดค่าบริการที่หลากหลายขึ้น กสทช. เขาเสนอให้มีแพ็คเกจที่สมาชิกสามารถเลือกเฉพาะช่องที่ต้องการดู แล้วจ่ายเงินตามนั้น เขาไม่ได้กำหนดเพดานของค่าบริการรายเดือน เนื่องจากไต้หวันมีผู้ประกอบการหลายเจ้า แล้วยังมีบริการทีวีอินเตอร์เน็ทโดยผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดอีก กลไกตลาดจะทำงานของมันเอง ที่สำคัญคือผู้บริโภคจะมีเวลา 1 สัปดาห์ในการ “ทดลองดู” ถ้าไม่พอใจก็สามารถยกเลิกได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินทางสิงคโปร์ก็ไม่น้อยหน้า ตามข้อกำหนดใหม่ ถ้าผู้ประกอบการขึ้นค่าบริการหรือยกเลิกรายการหลักๆ ผู้บริโภคสามารถยกเลิกบริการก่อนกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญาได้เลยโดยไม่เสียค่าปรับ แต่ต้องไปรับดำเนินการภายใน 30 วันนับจากรับทราบความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  รถไฟเยอรมันเตรียมยกเครื่องปีที่ผ่านมา ดอยทช์บาห์น หรือการรถไฟเยอรมนี มีรายรับมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 40,000 ล้านยูโร (1.5 ล้านล้านบาท) แต่ในขณะเดียวกันก็ประสบการขาดทุนสูงที่สุดในรอบ 12 ปี สาเหตุมาจากการลดมูลค่าของสินทรัพย์ในธุรกิจรับส่งสินค้า การรวมตัวนัดหยุดงานของเจ้าหน้าที่ และการที่ผู้โดยสารหันไปใช้บริการรถบัสกันมากขึ้นแผนเพิ่มผลกำไรของดอยทช์บาห์น ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ ณ จุดนี้ได้แก่การวางมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย และขายกิจการบางอย่างให้กับเอกชน ที่ฮือฮามากที่สุดคือแผนเลิกธุรกิจรับส่งสินค้า ที่อาจทำให้พนักงานกว่า 3,500 คนทั่วประเทศถูกเลิกจ้าง  บริษัทประกาศว่าจะปรับปรุงคุณภาพบริการ โครงสร้างพื้นฐาน ตัวรถ ระบบราง ฯลฯ ให้ทันสมัย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้เงินถึง 55 ล้านยูโร (ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท) งบประมาณที่ใช้บางส่วนจะมาจากบริษัทเอง แต่อีกส่วนที่ใหญ่กว่าจะมาจากงบประมาณกลาง สื่อเยอรมันบอกว่ารัฐบาลเลยไม่ปลื้มกับแผนนี้สักเท่าไร  กิน เที่ยว ต้องเรื่องเดียวกันผู้ว่าฯ เมืองฟลอเรนซ์บอกว่าเมืองเก่าระดับ “มรดกโลก” ของอิตาลีนี้กำลังจะสูญเสียภาพลักษณ์เพราะบรรดาร้านที่ขายแต่อาหารต่างถิ่นและร้านขายของคุณภาพต่ำที่นำเข้ามาจากต่างประเทศสมาชิกสภาเมืองเชื่อว่านักท่องเที่ยวที่มาเยือนควรได้ลองลิ้มชิมรสอาหารที่มีชื่อเสียงประจำเมืองนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ จึงออกข้อบังคับให้ร้านอาหารที่กำลังจะเปิดใหม่ขายเฉพาะอาหารท้องถิ่นดั้งเดิมที่ใช้วัตถุดิบจากแคว้นทัสกานีเท่านั้น ส่วนร้านที่เปิดมาก่อนแล้ว ก็ยังมีเวลา 3 ปีในการปรับเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นให้ได้ถึงร้อยละ 70 เรื่องนี้ ออสกา ฟาริเน็ตติ เจ้าของ Eataly เครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตระดับโลกเห็นต่าง เขาบอกว่าตัวเลข ร้อยละ 70 นั้นสูงเกินไปและจะสร้างภาระให้กับร้านอาหารมากเกินไปอย่างไรก็ตาม มีข่าวออกมาแล้วว่าเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ก็อาจนำเอาข้อบังคับนี้ไปใช้เช่นเดียวกัน   เรื่องนี้เข้าทางนักท่องเที่ยว แต่ถ้ามีการควบคุมราคาด้วยจะดียิ่งขึ้นไปอีกนะนี่  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 กระแสต่างแดน

ไก่สด คนไม่สดบรรดาเนื้อไก่ที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Woolworths Aldi และ Coles และที่นำมาประกอบเป็นอาหารในร้านอย่าง KFC Pizza Hut หรือ Subway ในออสเตรเลียนั้น มาจาก “โรงงานนรก” ที่ พนักงานจากไต้หวันและฮ่องกงหลายพันคนทำงานวันละ 18 ชั่วโมง โดยไม่ได้ค่าจ้างล่วงเวลา คนหนุ่มสาวเหล่านี้เข้ามาทำงานด้วยวีซ่าแบบ working holiday ด้วยค่าแรงชั่วโมงละ 11.50 เหรียญ (ประมาณ 300 บาท)พวกเขาอาศัยอยู่ในที่พักที่บริษัท “จัดหา” ให้ โดยหักค่าเช่าสัปดาห์ละ100 (ประมาณ 2,500 บาท) เหรียญต่อคนออกจากรายได้ ข่าวบอกว่าบางที “ที่พัก” ของคนเหล่านี้ ก็มีคนร่วมพักถึงหลังละ 21 คน บริษัท Baiada Group ดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้จัดส่งไก่สดให้กับร้านค้าปลีกและร้านอาหารต่างๆ ใช้วิธีจ้างผู้รับเหมาช่วงแบบห่างๆ โดยไม่สนใจรับรู้ความเป็นไปที่เกิดขึ้นในโรงงานเหล่านั้นทั้งเรื่องของสิทธิแรงงานและสวัสดิการที่อยู่อาศัย เมื่อทางการขอข้อมูลอะไรไป ก็ได้กลับมาน้อยมาก หรือไม่ก็เป็นข้อมูลเก่า เช่น ที่อยู่เก่า หมายเลขโทรศัพท์เก่าเพราะบางทีบริษัทที่รับเหมาช่วงเหล่านี้ก็ไม่ได้อัพเดทข้อมูลของตนเอง สิ่งที่ยืนยันได้ ณ จุดนี้คือผู้รับเหมาส่วนใหญ่ (23 จาก 39 ราย) ขาดเสถียรภาพทางการเงิน และมี 4 รายจาก 6 รายใหญ่ที่เลิกกิจการไปแล้ว นอกจากนี้ยังไม่สามารถหาที่มาที่ไปของเงินจำนวนหลายแสนเหรียญได้ ขณะนี้ผู้ดูแลความเป็นธรรมด้านแรงงานกำลังสืบหาตัวทนายความและเจ้าหน้าที่บัญชีที่ช่วยบริษัทนี้ทำเอกสารขึ้นมาตบตาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ หม้อไฟกับน้ำมันการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วถึงขีดสุดของจีนทำให้นิสัยการกินของผู้คนเปลี่ยนไป ส่วนผสมเดิมๆ อย่างเป็ดหรือไก่ มันออกจะธรรมดาไป ต้องเป็นล็อบสเตอร์ สเต็กนำเข้า หรืออาหารเสริมสร้างภาพลักษณ์อย่าง ตับห่าน มันถึงจะใช่ เมื่อผู้คนไม่นิยมทำอาหารรับประทานเองอีกต่อไป ร้านอาหารแนว “หม้อไฟ” จึงมาแรงไม่แพ้กัน ... ก็มันทั้งสะดวก ทั้งคุ้มค่า เหมาะกับลีลาชีวิตของคนรุ่นใหม่เสียขนาดนั้น  รายงานบอกว่าการรับประทานอาหารแนว “หม้อไฟ” หรือ “ปิ้งย่าง” นี่แหละ ที่เป็นตัวการสำคัญของโรคอ้วนในคนจีน เพราะมันจะอร่อยก็ต่อเมื่อ “เกลือถึง น้ำมันถึง”  เจ้าของร้านหม้อไฟชื่อดังแห่งหนึ่งบอกว่า หม้อไฟหนึ่งชุดอาจใช้น้ำมันถึง 2.5 กิโลกรัม แถมต้องใส่เกลือเพื่อดึงรสชาติอาหารอีกด้วย  การบริโภคเกลือของคนจีนอยู่ในระดับน่าตกใจ คนกวางตุ้งที่ว่ากินจืดแล้วยังบริโภคเกลือเฉลี่ยคนละ 9.1 กรัม/วัน ซึ่งนั่นก็สูงกว่าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกไปถึงร้อยละ 82 (ส่วนคนทางเหนือบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละ 15 -18 กรัมเลยทีเดียว!)ผลที่ได้คืออัตราการเกิดโรคอ้วนที่เพิ่มสูงขึ้น ตัวเลขล่าสุดระบุว่า 1 ใน 3 ของประชากรในมณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ มีน้ำหนักเกิน  คนสวิสเห็นชอบลดภาษีทีวีเช่นเดียวกับในอีกหลายๆ ประเทศ กฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์ว่าด้วยโทรทัศน์และวิทยุ กำหนดให้ทุกครัวเรือนจ่ายค่าธรรมเนียมการถือครองเครื่องเล่นวิทยุหรือโทรทัศน์ ปีละ 451 ฟรังก์ (ประมาณ 16,500 บาท)ถึงจะไม่มีเครื่องรับวิทยุหรือโทรทัศน์ ก็ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมนั้นอยู่ดี เพราะเขาถือว่ามีการรับชม หรือรับฟังผ่านช่องทางอื่นอย่างแทบเล็ตหรือสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว นอกจากครัวเรือนแล้ว บริษัทที่มียอดขายเกินกว่า 500,000 ฟรังก์ก็จะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมนี้ด้วย ที่เป็นข่าวขึ้นมาเพราะเขาจัดทำประชามติขอความเห็นว่าควรลดค่าธรรมเนียมนี้ให้เหลือ 400 ฟรังก์ (ประมาณ 14,600 บาท) หรือไม่ ประมาณร้อยละ 50 กว่าๆ เห็นด้วยกับการลดค่าธรรมเนียม (นี่เป็นเสียงจากประชากรในเขตที่พูดภาษาฝรั่งเศส) ส่วนที่เหลือ ซึ่งเป็นประชากรจากเขตที่พูดภาษาเยอรมันและอิตาลี ไม่เห็นด้วย  หมายความว่าต่อไปนี้ผู้คน 3 ล้านครัวเรือนจะประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปได้ ในขณะที่งบดำเนินงานของสถานีโทรทัศน์ Swiss Broadcasting Corporation และทีวีสาธารณะเจ้าอื่นๆ ซึ่งไม่รับโฆษณาแต่พึ่งพารายได้จากค่าธรรมเนียมดังกล่าวปีละ 1,300 ล้านฟรังก์ ก็คงจะต้องลดลงเช่นกัน แท็กซี่ราคาเดียวปารีสก็เป็นอีกเมืองที่ผู้โดยสารแท็กซี่มักได้รับประสบการณ์แย่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อขึ้นแท็กซี่จากสนามบิน การเปิดเลนด่วนสำหรับแท็กซี่ในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น คนขับก็ถูกร้องเรียนอยู่เป็นประจำเรื่องมีพฤติกรรมไม่สุภาพ ขับวนเพื่อเพิ่มค่าโดยสาร ไปจนถึงไม่ยอมรับการจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต   การเดินทางจากสนามบินเข้าเมืองนั้นมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 80 ยูโร (ประมาณ 3,000 บาท) ขึ้นอยู่กับสถานที่และเวลาเดินทาง รัฐบาลฝรั่งเศสจึงมีแผนจะใช้ค่าแท็กซี่ “อัตราเดียว” จากสนามบินชาร์ล เดอ โกล เข้าตัวเมือง (55 ยูโร ถ้าปลายทางอยู่ทางฝั่งซ้ายของเมือง และ 50 ยูโรสำหรับฝั่งขวาของเมือง) เรื่องนี้ถูกใจผู้บริโภคอย่างยิ่ง แต่ไม่ถูกใจสมาคมแท็กซี่เอาเสียเลย เขาให้เหตุผลว่าอัตรานี้ไม่ยุติธรรม บางคนต้องจ่ายแพงไป ในขณะที่บางคนก็จ่ายถูกเกินจริง เขาเสนอว่าการตั้ง “เพดานค่าโดยสารสูงสุด” น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า เรื่องจะจบอย่างไรต้องติดตามกันต่อ ระหว่างนี้ถ้าคุณไปเที่ยวปารีส ลองใช้รถโดยสาร easyBus ไปก่อน ค่าโดยสารแค่ 2 ยูโร (ประมาณ 80 บาท) เท่านั้น     ราวด์อั้พไม่ได้ไปต่อกระทรวงนิเวศน์ของฝรั่งเศสประกาศห้ามขายยาฆ่าหญ้ายี่ห้อ “ราวด์อั้พ” ในร้านอุปกรณ์ทำสวนแล้ว เพื่อเป็นการประกาศจุดยืนการห้ามใช้สารเคมีของประเทศทั้งนี้เพราะไกลโฟเสท ยาฆ่าหญ้าที่เข้าสู่ตลาดในช่วงปี 70 และปัจจุบันมียอดขายสูงที่สุดในโลกภายใต้ชื่อการค้าว่าราวด์อั้พ ถูกศูนย์วิจัยโรคมะเร็งของสหประชาชาติฟันธงว่า “อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์” ในรายงานเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา   เพื่อความปลอดภัย เขาแนะนำให้บรรดานักทำสวนหันมาออกแรงถอนหญ้าด้วยตนเอง แน่นอนว่าบริษัทมอนซานโต้ ซึ่งทำเงินได้มหาศาลจากสินค้าตัวนี้ ออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับผลการศึกษาดังกล่าว เนื่องจากเป็นข้อสรุปที่ได้จากข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนรอบด้านเมื่อ 2 ปีที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐออกมาให้การรับรองว่ายาฆ่าหญ้าดังกล่าวปลอดภัยสำหรับผู้ใช้  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 115 กระแสต่างแดน

เบื้องหลังของถูก สถานีโทรทัศน์ NDR ของเยอรมนี เปิดโปงเบื้องหลังที่มาของเสื้อผ้าราคาประหยัดยี่ห้อ KIK ซึ่งมีจำหน่ายทั่วไปในยุโรป ว่าเอาเปรียบพนักงานอย่างไม่น่าให้อภัยผู้ชมกว่า 4 ล้านคนในเยอรมนีได้รู้พร้อมๆ กันว่าหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พวกเขาสามารถซื้อเสื้อยืดได้ในราคา 3 ยูโร(120 บาท) หรือกางเกงขาสั้นในราคา 4 ยูโร(160 บาท) ก็คือการที่บริษัทกดค่าแรงพนักงานให้ต่ำสุดๆ ข่าวบอกว่าพนักงานในเยอรมนีได้ค่าจ้างน้อยกว่า 3 ยูโร ต่อชั่วโมง (เบอร์เกอร์บิ๊กแมคที่นั่นราคาชิ้นละ 4.6 ยูโร)  นี่ยังไม่พูดถึงคนงานในประเทศกำลังพัฒนาที่ทำงานในโรงงานที่ KIK จ้างเป็นผู้ผลิต ที่มีรายได้คิดเป็น 0.5% ของราคาสินค้าเท่านั้น เมื่อเรื่องแดงเสียขนาดนั้น KIK จึงออกมายอมรับผิดและขอโทษต่อสังคม รวมถึงตั้งตำแหน่งผอ.ฝ่ายการสื่อสารคนใหม่ขึ้นมารับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ   แต่ถึงกระนั้นการขุดคุ้ยก็ยังดำเนินต่อไป เพื่อพิสูจน์ “ข่าวลือ” ต่างๆ ของ KIK ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเยอรมนีและมีร้านทั่วยุโรปกว่า 3,000 สาขา เขาลือกันว่า KIK ไม่จ้างพนักงานประจำ ไม่มีสัญญาจ้างงาน ไม่มีการตั้งสหภาพแรงงาน อีกทั้งยังมีมาตรการการรับคนเข้าทำงานที่ค่อนข้างอุกอาจ ตั้งแต่การให้ผู้สมัครเปิดเผยข้อมูลเรื่องความเจ็บป่วย ความพิการโดยละเอียด รวมถึงคอยตามเช็คเครดิตพนักงานและถ้าสืบรู้ว่าว่าใครเป็นหนี้ก็จะไล่ออก.. โหดซะ Clean Clothes Campaign องค์กรที่ส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลในการผลิตเสื้อผ้า บอกว่าถ้าดูจากราคาแล้ว มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีการเอาเปรียบแรงงาน เขายืนยันว่า “ราคาต่ำสุดๆ” นั้นไม่ใช่ทางออก และเสนอให้บริษัทหันมาสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริโภคด้วยคุณภาพสินค้าและบริการที่ดีขึ้นดูบ้าง รับรองว่างานนี้วินวินกันทุกฝ่าย ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------  คนเยอรมันเมินเปย์ทีวี ธุรกิจโทรทัศน์แบบเสียเงินดู ดูเหมือนจะไม่รุ่งในประเทศเยอรมนี เพราะจนป่านนี้บริษัทสกายดอยท์ชแลนด์ ยังคงมียอดสมาชิกไม่ถึงร้อยละ 10 ของครัวเรือนที่มีเครื่องรับโทรทัศน์ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส  มีสัดส่วนของครัวเรือนที่เป็นสมาชิกบริการทีวีดังกล่าวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 นักวิเคราะห์เขาบอกว่าน่าจะเป็นเพราะคนเยอรมันรู้สึกว่ามันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของพวกเขาที่จะได้ดูทีวีดีๆ ที่รัฐจะต้องจัดหามาให้ เพราะเก็บค่าธรรมเนียมปีละประมาณ 8,000 บาทไปแล้ว(ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปมีการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจากผู้มีเครื่องรับโทรทัศน์ เพื่อที่สถานีจะได้ดำเนินการได้โดยไม่ต้องพึ่งพาโฆษณามากเกินไป) คนเยอรมันได้ดูฟรีทีวีถึง 20 ช่อง ในขณะที่อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งมีการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวปีละ 7,000 บาท และ 4,600 บาท ตามลำดับ มีทีวีฟรีให้ดูอยู่ไม่เกิน 5 ช่อง ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้สองประเทศนี้มีการตอบรับต่อเปย์ทีวีมากกว่า   สกายดอยท์ชแลนด์ ซึ่งอุตสาห์เปลี่ยนชื่อจาก “พรีเมียร์” มาครั้งหนึ่งแล้ว จึงรู้สึกปวดใจอย่างมากที่ขณะนี้มียอดสมาชิกอยู่เพียง 2.4 ล้านคน และจากการคาดการณ์ที่เข้าข้างตัวเองสุดๆ ก็พบว่าจะยังต้องขาดทุนต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี ทั้งๆ ที่สถิติเมื่อปลายปี 2008 ระบุว่าเยอรมนีเป็นตลาดเปย์ทีวีที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ด้วยฐานลูกค้ากว่า 37 ล้านครัวเรือนที่มีเครื่องรับโทรทัศน์ อย่างว่า ถ้ามีของดีให้ดูอยู่แล้วเป็นเราก็คงไม่อยากเสียเงินเพิ่ม เพราะบางทีอุตส่าห์ควักกระเป๋าทุ่มทุนแล้วเราก็ยังอาจต้องมาดูโฆษณาอีกอยู่ดี ... ชิมิ ชิมิ--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เราไม่ยอมให้ใครเล็กกว่า เพิ่งจะรู้ว่าธุรกิจหมูกระเป๋า หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนามไมโครพิก “Micro Pig” นี่เขาก็มีการแข่งขันดุเดือดเหมือนกัน เจ้าหมูน้อยที่มีสนนราคาอยู่ที่ตัวละประมาณ 700 ปอนด์ หรือ 34,000 บาทนี้ เป็นของเล่นสุดฮิพของเหล่าเซเลบทั้งหลาย (ข่าวว่าครอบครัวเบคแฮมนักฟุตบอลคนดังก็เลี้ยง) โฆษณาของบริษัทลิ้ตเติ้ลพิกฟาร์มในนิตยสาร บรรยายสรรพคุณของหมูน้อยจากฟาร์มของตนเองว่าพวกมันเลี้ยงแสนง่าย ตัวเล็กสะดวกพกพาสุดๆ ขนาดไม่เกินแก้วเบียร์ปริมาตรหนึ่งไพนท์ พร้อมกับมีรูปเจ้าหมูกับแก้วเบียร์เปรียบเทียบกันด้วย สมาคมผู้เลี้ยงหมูพันธ์คูนคูนเห็นแล้วรับไม่ได้  ออกมาร้องเรียนต่อองค์การมาตรฐานโฆษณาของอังกฤษว่าโฆษณาดังกล่าวนั้นมันไม่จริ๊งไม่จริง ไม่มีหมูที่ไหนตัวเล็กขนาดนั้น นอกเสียจากมันจะเป็นพันธุ์คูนคูน และหมูของลิ้ตเติ้ลพิกก็ไม่ใช่พันธุ์ที่ว่าเสียด้วย องค์การดังกล่าวตรวจสอบแล้วฟันธงให้แบนโฆษณาที่ว่านั้นทันทีฐานหลอกลวงผู้บริโภค ... ดีนะเนี่ยที่มีตัวจริงเขาออกมายืนยัน ไม่งั้นคงได้เห็นไฮโซอังกฤษพกหมูกระสอบแทนหมูกระเป๋ากันบ้าง  --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เปิดให้หมด ลดเรื่องฟ้อง งานวิจัยของสหรัฐฯ พบว่าการเปิดเผยข้อมูลความผิดพลาดทางการแพทย์นั้น ไม่ได้ทำให้คนไข้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการมีการฟ้องร้องเพิ่มขึ้นอย่างที่ผู้ให้บริการทางการแพทย์กังวล ตรงกันข้าม มันช่วยลดเรื่องร้องเรียนและลดค่าชดเชยลงด้วย นี่คือผลจากการสำรวจระบบสุขภาพของรัฐมิชิแกน ก่อนหน้านี้มิชิแกนก็ใช้ระบบเหมือนที่อื่นทั่วไป คือเมื่อเกิดความเสียหายจากการรับบริการทางแพทย์ขึ้นผู้เสียหายก็จะเรียกร้องเงินช่วยเหลือหรือชดเชย ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ไปฟ้องร้องต่อศาล จนกระทั่งเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว ระบบสุขภาพของมิชิแกนหันมาใช้รูปแบบการจัดการเรื่องนี้ใหม่ โดยเน้นที่การยอมรับความผิดทั้งหมดของแพทย์และโรงพยาบาล มีการขอโทษ และจ่ายค่าชดเชยให้ แนวๆเดียวกับขอนแก่นบ้านเรา งานวิจัยครั้งนี้พบว่าตั้งแต่มีระบบ “เปิดหมด” นั้น จำนวนเรื่องร้องเรียนลดลงไปกว่าครึ่ง การจ่ายค่าชดเชยก็ลดลง และจำนวนเงินชดเชยโดยเฉลี่ยต่อกรณีก็ลดลงจาก 400,000 เหรียญ เหลือ 225,000 เหรียญ ที่สำคัญกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาน้อยกว่าเดิมถึง 5 เดือนเลยทีเดียว ข่าวบอกว่ารัฐอื่นๆ เห็นแล้วเตรียมตัวจะนำไปใช้บ้าง อีกไม่นานมิชิแกนโมเดลคงจะเป็นที่แพร่หลายในอเมริกา--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- อดวันนี้เพื่อวันหน้านักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าในปี ค.ศ. 2050 นั้นประชากรบนโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคน และมีงานวิจัย 21 ชิ้น ที่ยืนยันว่าเราไม่มีที่ดินเพียงพอสำหรับการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงคนจำนวนนั้นอย่างแน่นอน อย่าว่าแต่ในอนาคตเลย ทุกวันนี้ 1 ใน 7 ของประชากรโลกก็ได้รับโปรตีนและพลังงานไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอยู่แล้ว แล้วต้องทำอย่างไร เราถึงจะได้ไปต่อ ... นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าต่อไปคงจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเนื้อสัตว์สังเคราะห์ หรือแม้แต่ “เนื้อสัตว์นาโน” ขึ้นมา เทคโนโลยีใหม่ที่ว่านั้นจะต้องไม่เป็นพิษภัยต่อโลก และการผลิตอาหารจะต้องไม่ถูกผูกขาดโดยบรรษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่เจ้าแบบที่เป็นอยู่ขณะนี้ นั่นเป็นเรื่องของอนาคต แต่สิ่งที่เขาอยากให้ช่วยกันลงมือทำเดี๋ยวนี้คือการลดขยะอาหารลงให้ได้ร้อยละ 30 เอ้าพี่น้องครับ บ้านใครบ้านมันลงมือได้เลย---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 106 กระแสต่างแดน

ยิ่งสุข ยิ่งหวาดระแวงมีข้อค้นพบจากงานวิจัยว่า คนเราซื้อระยะประกันเพิ่มสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายด้วยสองสาเหตุ หนึ่ง คือเราไม่สามารถประเมินความเสี่ยงได้อย่างถูกต้อง สองสภาวะจิตใจของเราในขณะที่ซื้อนั้นมันสุขเกินไปยิ่งเรามีความสุขมากเท่าไร เราก็จะยิ่งอยากหลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากเท่านั้นปกติแล้วก่อนที่เราจะลงมือซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ราคาแพงสักชิ้นเรามักจะต้องทำการศึกษามาดีพอใช้ น้อยคนนักที่จะหาข้อมูลเรื่องการซื้อเวลารับประกันเพิ่ม แต่การประกันแบบนี้กลับมีคนตัดสินใจซื้อมากมายคนขายก็มักให้เหตุผลกับเราว่า เราอาจพลั้งเผลอทำอุปกรณ์เหล่านี้ตกหล่นเมื่อไรก็ได้ และซื้อการประกันนั้นก็ง่ายมาก ประหยัดเวลา คิดแล้วถูกกว่าออกไปกินข้าวนอกบ้านหนึ่งมื้อเสียอีก ทำนองนี้เป็นต้นเหตุที่ทางร้านพยายามอย่างยิ่งที่จะขายการรับประกันเพิ่มให้กับลูกค้าก็เพราะ บริการดังกล่าวสามารถทำเงินมหาศาลให้กับทางร้านนั่นเอง ลองคิดดูว่าประกันเพิ่มสำหรับเน็ตบุ๊คราคา 400 เหรียญนั้นเท่ากับ 130 เหรียญ (เกือบ 1ใน 3) เลยทีเดียวSquareTrade เป็นบริษัทที่ขายการรับประกันให้กับสินค้าที่ซื้อขายทางอินเตอร์เน็ตเป็นต้น เชื่อหรือไม่บริษัทนี้สามารถขายการรับประกันให้กับเน็ทบุ๊คตัวเดียวกันในราคา 60 เหรียญเท่านั้น ซีอีโอ ของ SquareTrade บอกว่าบริการประกันแบบนี้มันไม่ใช่บริการที่ไม่ดีนะ เพียงแต่ร้านต่างๆ มักขายในราคาที่แพงเกินกว่าเหตุเท่านั้นเองในทางกลับกัน หน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคจะแนะนำว่าเราไม่ควรเสียเงินกับการเพิ่มระยะรับประกันเหล่านั้นเลยจะดีกว่า เพราะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องซ่อมหรือถ้าจะซ่อม มันก็อยู่ในงบประมาณเดียวกับค่าซื้อการรับประกันเพิ่มนั่นแหละเรามักคิดว่าอย่างไรเสียค่าซื้อประกันเพิ่มมันก็ยังน้อยกว่าค่าซื้อสินค้าใหม่ แต่ยังไม่มีใครรู้เลยว่าอัตราการเสียของสินค้าเหล่านี้เป็นเท่าไร แต่ขอบอกว่ามันต่ำกว่าที่คุณคิดแน่นอนคอนซูเมอร์รีพอร์ต นิตยสารเพื่อผู้บริโภคของอเมริกา ได้ทำการสำรวจกับผู้อ่าน แล้วทำการคำนวณอัตราการเสียของอุปกรณ์เหล่านี้ในระยะ 3 ถึง 4 ปี และพบว่าอัตราการเสียของเครื่องเล่นโทรทัศน์ มีเพียงร้อยละ 3 (จากเครื่องเล่นโทรทัศน์ทั้งหมด 10 ยี่ห้อ) ในขณะที่อัตราการเสียของกล้องถ่ายรูปมีร้อยละ 10อัตราสูงที่สุดได้แก่ โน๊ตบุ้ค (ร้อยละ 43) แต่นั่นเป็นการเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุและการมีของเหลวหกใส่คีย์บอร์ด ซึ่งโดยทั่วไปก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขรับประกันอยู่แล้ว ... นั่นสิ แล้วคนเราซื้อประกันเพิ่มเพราะอะไรนักวิชาการให้ทัศนะว่า เราซื้อประกันพวกนี้เพราะเราอยู่ในอารมณ์ที่ดีเกินไปขณะที่กำลังจะได้มาซึ่งสินค้าที่เราเฝ้าฝันถึงมานาน สถิติบอกว่าคนเรานิยมซื้อระยะเวลารับประกันเพิ่มให้กับสินค้าประเภทที่ให้ความสุข มากกว่าสินค้าที่ซื้อเพราะต้องใช้ประโยชน์จากมัน (อย่างเครื่องซักผ้าหรือตู้เย็น)ฟังดูคล้ายเราควรหาเรื่องให้ตัวเองอารมณ์เสียสักเล็กน้อยก่อนออกไปซื้อของ จะได้ตัดสินใจอย่างมีสติขึ้นนะนี่จัดระเบียบเนื้อสดเชื่อหรือไม่ว่าประเทศที่ส่งออกเนื้อวัวมากเป็นอันดับสองของโลกอย่างออสเตรเลีย ไม่มีระบบการติดฉลากระบุคุณภาพสำหรับเนื้อวัวที่ขายในประเทศของตนเอง ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงไม่สามารถรู้ได้ว่า เนื้อที่ตนเองกำลังจะซื้อไปทำอาหารรับประทานนั้นเป็นเนื้อที่มีคุณภาพในระดับใดว่ากันว่าปัจจุบัน ร้อยละ 3 ของเนื้อวัวที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตในออสเตรเลีย เป็นเนื้อโคแก่ ที่แพ็คขายโดยติดฉลากว่าเป็นเนื้อ “คุณภาพเยี่ยม” หรือที่เรียกติดปากในภาษาฝรั่งว่า “พรีเมี่ยม” นั้นแลทุกวันนี้ออสเตรเลียไม่มีระบบการคัดแยกแบบบังคับสำหรับเนื้อวัวที่ขายในประเทศ มีเพียงโครงการแบบสมัครใจ ซึ่งก็มีเพียงเจ้าของไร่ปศุสัตว์เพียง 12,500 ไร่ จากทั้งหมด 160,000 ไร่ เท่านั้นที่สมัครเข้าร่วมโครงการให้การรับรองขององค์กร Meat and Livestock Australiaภายใต้ระบบรับรองที่ว่านี้ เนื้อจากโคเนื้อที่มีอายุสามปีครึ่งขึ้นไป หรือเนื้อโคนมที่พ้นวัยให้นมแล้วจะถูกจัดเข้าประเภทที่เหมาะกับการบริโภคในรูปแบบของเนื้อบดเท่านั้น แต่มีอีกข้อตกลงดั้งเดิมที่ระบุว่า เนื้อโคอายุมากเหล่านั้นสามารถนำมาขายในรูปแบบของสก็อตช์ฟิลเล่ท์ หรือ ทีโบนได้ ถ้ามีการระบุที่ฉลากว่าเป็นเนื้อโค “ราคาประหยัด”ทำไปทำมาบางห้างก็เลยทำมึนๆ ติดฉลากบรรดาเนื้อโคแก่เหล่านั้นว่า “พิเศษ” ไปด้วย ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าได้ของดีราคาถูก (ซึ่งความจริงแล้ว มันคือของไม่ดี ราคาถึงได้ถูก)รัฐบาลนิวเซาท์เวลส์ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการเสนอให้มีระบบการรับรองแบบเดียวกับ AUS-Meat ที่ใช้ในการรับรองและคัดแยกประเภทของเนื้อวัวที่ส่งออกจากออสเตรเลียไปขายทั่วโลกนั้นแลPenFriend เพื่อนใหม่ใช้อ่านฉลากหลายคนรู้จักสิ่งที่เรียกว่า PenFriend ที่คุณครูภาษาอังกฤษสมัยประถมเคยให้เราฝึกเขียนจดหมายภาษาอังกฤษถึงเพื่อนต่างชาติ (นี่ถือเป็นการเช็คอายุคนอ่านไปในตัว เด็กเดี๋ยวนี้คงใช้ MSN Hi5 หรือ Facebook กันแล้ว)แต่ PenFriend นาทีนี้ คือ อุปกรณ์หน้าตาคล้ายปากกาชนิดใหม่ที่ทำให้ผู้พิการทางสายตา สามารถอ่านฉลากบนสินค้าต่างๆ ได้ อุปกรณ์ดังกล่าวใช้ระบบบาร์โค้ด ซึ่งเมื่อสแกนด้วยปากกาดิจิตัลแล้วจะไปเปิดไฟล์ เอ็มพี3 ที่บันทึกเสียงเอาไว้นั่นเองอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นมาในโครงการร่วมระหว่างสถาบันผู้พิการทางสายตาแห่งชาติของอังกฤษและบริษัทลิงกัว มันตรา มีราคาประมาณ 60 ปอนด์ (ประมาณ 3,200 บาท) และสามารถใช้ในการทำฉลากตั้งแต่ อาหาร เสื้อผ้า ดีวีดี หรือ อัลบั้มเพลงต่างๆ ได้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Optical Identification (OID) นี้จะพิมพ์จุดเล็กๆ ลงไปบนแผ่นสติกเกอร์ ซึ่งสามารถอ่านได้ด้วยสแกนเนอร์ที่อยู่ตรงปลายของปากกา และขณะที่มันสแกน ก็จะเปิดไฟล์เสียงที่บันทึกไว้เพื่อบอกว่า ของที่อยู่ในขวดนั้นเป็นอะไร ซึ่งหมายความว่าจะบันทึกวันหมดอายุหรือคำแนะนำในการประกอบอาหารไว้ด้วยได้ ประกาศ! ห้ามใช้ทีวีกินไฟคณะกรรมาธิการด้านพลังงานของรัฐแคลิฟอร์เนียลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า ต่อไปนี้โทรทัศน์ขนาดไม่เกิน 58 นิ้ว ที่ขายในรัฐดังกล่าว จะต้องลดอัตราการกินไฟลงอย่างน้อยร้อยละ 33 ภายในปี พ.ศ. 2554 และจะต้องลดลงร้อยละ 49 ภายในปีพ.ศ. 2556ร้อยละ 10 ของการบริโภคพลังงานไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนียเกิดจากการเปิดเครื่องรับโทรทัศน์ (ยิ่งเป็นโทรทัศน์จอพลาสมานั้น ก็จะยิ่งกินไฟมากกว่าโทรทัศน์ธรรมดาถึง 3 เท่า)ถ้าทุกคนในรัฐเปลี่ยนมาใช้โทรทัศน์ที่สามารถใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ก็จะประหยัดค่าไฟได้ 30 เหรียญต่อเครื่อง ต่อปีเลยทีเดียวอุตสาหกรรมผู้ผลิตโทรทัศน์ว่าอย่างไรน่ะหรือ บ้างก็โวยวายว่านี่มันเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเป็นการแทรกแซงกลไกตลาด ซึ่งกำลังทำให้เกิดการผลิตสินค้าที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว (ขณะนี้มีโทรทัศน์ประหยัดไฟขายอยู่ในท้องตลาดประมาณ 1,000 รุ่นแล้ว)ในแต่ละปี คนแคลิฟอร์เนียซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ 4 ล้านเครื่องหนี้ศัลยกรรมขณะนี้ประเทศเวเนซูเอล่ากำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ หลังจากที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปีแม้เศรษฐกิจจะไม่เป็นใจแต่คนเวเนซูเอล่าก็ยังมุ่งมั่นที่จะทำหน้าเด้ง ดูดไขมัน และเสริมหน้าอกกันต่อไป สถิติการทำศัลยกรรมที่นี่ไม่เคยลดลงเลย ไม่เค้ย ไม่เคย ที่เขาจะคิดหยุดทำ เพียงแต่คิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะได้ทำเท่านั้นทางออกคือการรูดปรึ๊ด หรือไม่ก็หาเงินกู้นั่นเองแพทย์ศัลยกรรมคนหนึ่งบอกว่า ยิ่งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนก็ยิ่งอยากจะใช้จ่ายเพื่อการปลอบประโลมตัวเองมากขึ้น บ้างก็งัดเอาเงินเก็บออกมาทำสวย ที่ไม่มีก็กู้ยืมกันมาทีเดียว แพทย์คนเดิมบอกว่าลูกค้าบางรายยอมย้ายออกมาอยู่ในห้องเช่าที่เล็กลงเพื่อจะได้มีเงินเหลือไปทำการแปลงโฉม ส่วนอีกรายเอารถไปขายเพื่อหาเงินมาดึงหน้านักจิตวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเวเนซูเอล่าบอกว่าเรื่องนี้มันเกิดกับคนส่วนน้อย เพราะผู้หญิงกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำนั้น มักไม่มีเงินเก็บให้ถอนออกมาใช้ หรือมีทรัพย์สินอะไรที่จะเอาไปขายได้อย่างนั้นหรอกแต่ถ้าดูจากโฆษณาของคลินิกศัลยกรรมตามสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจะเห็นว่า คลินิกเหล่านี้นั่นแหละที่เสนอปล่อยเงินกู้ให้เพื่อการศัลยกรรม หรืออีกนัยหนึ่งอุตสาหกรรมนี้กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องในทุกสภาพเศรษฐกิจคนที่นี่จำนวนไม่น้อยมองว่าการทำศัลยกรรมไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย พวกเขาเชื่อว่าคนเราจำเป็นจะต้องสวย ถึงคุณไม่อยากจะสวยแต่แรงกดดันจากสังคมก็ทำให้คุณอยากจะไปพึ่งมีดหมออยู่นั่นเอง ร้อยละ 60 ของผู้หญิงที่นั่นทำการผ่าตัดเพิ่มขนาดหน้าอก และหลายคนก็ทำมากกว่าหนึ่งครั้งด้วย

อ่านเพิ่มเติม >