ฉบับที่ 274 ค่าปรับจอดรถหลังเวลากำหนดแพงเกินไปไหม

        ปัญหาเรื่องที่จอดรถนั้นช่างคลาสสิกเหลือเกิน โดยเฉพาะเมื่อต้องไปติดต่อทำธุรกรรมหรือดำเนินการเรื่องอะไรก็ตามในสถานที่ที่ไม่มีที่จอดรถรองรับ ที่พึ่งหนึ่งซึ่งไม่ต้องทำให้เกิดการละเมิดกฎจราจรโดยการจอดในที่ห้ามจอด คือ เข้าจอดในสถานที่หรืออาคารที่เปิดให้นำรถเข้ามาจอดได้แต่จะเรียกเก็บเงินตามระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ถ้าใช้เวลาทำธุรกรรมไม่นานราคาก็ไม่แพงมาก แต่ถ้าเกิดเผลอลืมหรือใช้เวลานานจนล่วงเลยเวลาที่กำหนดให้จอด เช่น ไม่อนุญาตให้จอดเกินเวลา 24.00 น. ราคาค่าปรับจะสูงโด่งจนน่าตกใจ                คุณพูนทรัพย์ นำเรื่องมาปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเองนำรถเข้าจอดในอาคารแห่งหนึ่งใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า เพื่อให้ตนเองเดินทางสะดวกขึ้นไม่ต้องเสี่ยงรถติดในบริเวณที่การจราจรหนาแน่น ปกติแล้วก็เข้าใช้อาคารจอดรถแห่งนี้บ่อยจนตัดสินใจจ่ายในลักษณะรายเดือนเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง         แต่วันหนึ่งมีเหตุให้เกิดความล่าช้า ตนเองกลับมาเอารถที่จอดไว้หลังเวลา 24.00 น. ทำให้ถูกเรียกเก็บค่าปรับสูงถึง 400 บาท คุณพูนทรัพย์เองก็เพิ่งทราบว่า ค่าปรับหลังเวลานี้โหดมาก จึงพยายามต่อรองกับทาง รปภ.แต่ไม่ได้รับความยินยอม จึงต้องจ่ายค่าปรับเพื่อนำรถออกมา ที่มาขอคำปรึกษาคือ ตนเองสามารถต่อรองให้ค่าปรับลดลงมาได้ไหม ทางอาคารจะยินยอมหรือไม่และทำไมค่าปรับจึงสูงเกิดจากอะไร  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นได้แจ้งต่อคุณพูนทรัพย์ว่า ทางมูลนิธิฯ จะนำเรื่องของคุณพูนทรัพย์ไปต่อรองกับทางอาคารดังกล่าวให้ เพราะคุณพูนทรัพย์เองก็เป็นลูกค้าประจำ ทางอาคารอาจพิจารณาลดราคาค่าปรับให้ อย่างไรก็ตาม เรื่องการคิดราคาที่จอดรถ ค่าปรับ ฯลฯ  เป็นไปตามวิธีการให้บริการสำหรับอาคารดังกล่าวซึ่งไม่มีการบังคับจากกฎหมายเพราะเป็นการทำธุรกิจของอาคารดังกล่าว ถือเป็นการเสนอขายบริการ หากคุณพูนทรัพย์ไม่พอใจราคา ก็ปฏิเสธไม่เข้าใช้บริการได้ ส่วนของค่าปรับที่แพงหลังเวลา 24.00 น. น่าจะเป็นเพราะทางอาคารไม่ต้องการให้มีการจอดรถในลักษณะค้างคืน จึงเรียกค่าปรับสูง เมื่อนำสัญญาที่คุณพูนทรัพย์ได้ทำกับทางอาคารไว้มาพิจารณา ก็พบว่ามีการระบุเงื่อนไข ราคาและค่าปรับต่างๆ ไว้ชัดเจน จึงขอให้ผู้บริโภคทุกท่านอ่านรายละเอียดของสัญญาต่างๆ ให้รอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจใช้บริการ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดจากความไม่รู้ (แต่จริงๆ ควรต้องรู้)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 จอดรถในที่สาธารณะต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น

        กล่าวถึงปัญหาโลกแตกของคนมีรถแล้ว เรื่องที่จอดรถคือที่สุด ซึ่งหลายคนคงจะเคยประสบพบเจอ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่รถมีจำนวนมาก แต่พื้นที่จอดรถมีน้อย ผลที่ตามมาคือที่จอดรถมีไม่เพียงพอ ต้องไปจอดตามข้างทางข้างถนน บนที่สาธารณะ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อขึ้นชื่อว่าที่สาธารณะ หลายคนมักคิดว่าที่สาธารณะใครๆ ก็มีสิทธิใช้ได้ อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะจอดได้ตามอำเภอใจนะครับ หากจอดไม่ดี ก็มีปัญหากันได้         ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเรื่องปัญหาที่จอดรถในทางสาธารณะเคยเกิดปัญหากันถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาล สู้กันจนถึงศาลฏีกามาแล้ว เนื่องจากผู้ฟ้องเห็นว่าการที่ผู้ถูกฟ้องเอากระถางต้นไม้มาวางตรงแนวร่นอาคารของตนเอง แล้วเอารถมาจอดบนทางสาธารณะทำให้คนอื่น ไม่สามารถใช้พื้นที่จอดรถได้ เป็นการกระทำที่เกินสิทธิของตนและคำนึงถึงประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการใช้ทางสาธารณประโยชน์ของผู้อื่นที่มีอยู่ร่วมกัน จึงถือเป็นการละเมิดทำให้เกิดความเสียหาย มีสิทธิบังคับให้ผู้ที่ถูกฟ้องจอดรถในแนวร่นอาคารอันเป็นเขตพื้นที่ของผู้ถูกฟ้องได้ ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8253/2559         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8253/2559         การใช้ถนนสาธารณะเป็นที่จอดรถ หากไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายเป็นอย่างอื่น เจ้าของที่ดินที่มีอาคารติดกับถนนสาธารณะ ก็อาจใช้ทางสาธารณะเป็นที่จอดรถของตนได้ แต่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลักก่อน โดยต้องเว้นทางสำหรับรถยนต์ให้เข้าออกได้เป็นลำดับแรก แล้วเจ้าของอาคารทั้งสองฝั่งถนนรวมถึงบุคคลทั่วไปจึงจะมีสิทธิใช้ทางส่วนที่เหลือเป็นที่จอดรถบนหลักของความเสมอภาค โดยไม่จำต้องคำนึงว่าใครจะเป็นผู้มาใช้สิทธิจอดรถก่อนหลังกัน ประกอบกับกฎกระทรวงที่กำหนดให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรด้วย การที่จำเลยทั้งสี่ใช้พื้นที่ถนนสาธารณะซึ่งมีความกว้างเพียง 4 เมตร จอดรถของตนทั้งคันในลักษณะหวงกันการใช้ประโยชน์ของผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ควรจะใช้แนวร่นอาคาร 1 เมตร ที่อยู่ติดกับถนนสาธารณะดังกล่าวของตนประกอบการจอดรถด้วย แต่กลับใช้เป็นที่วางกระถางต้นไม้ ซึ่งมิใช่เหตุจำเป็นที่จะใช้แนวร่นอาคารเพื่อการนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่เกินสิทธิของตนและคำนึงถึงประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการใช้ทางสาธารณประโยชน์ของผู้อื่นที่มีอยู่ร่วมกัน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควร ไม่สามารถใช้พื้นที่ถนนส่วนที่เหลือในการจอดรถของตนได้ จึงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอันมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 421 และถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่จอดรถในแนวร่นอาคารอันเป็นแดนกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสี่ได้         นอกจากนี้ หากการจอดรถบนทางสาธารณะแม้จะเป็นหน้าบ้านของตนเอง แต่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่น เนื่องจากไม่สามารถสัญจร หรือถอยรถเข้า-ออกได้อย่างสะดวกนั้น ยังมีความผิดฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397 ว่าด้วยการกระทำการต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ห่มเหง คุกคาม หรือกระทำการให้เดือดร้อนรำคาญต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2518         จำเลยจอดรถขวางกั้นไม่ให้โจทก์ถอยรถออกไปจากซอยที่เกิดเหตุ เป็นเพียงขัดขวางไม่ให้โจทก์นำรถออกไปได้เท่านั้น ส่วนตัวโจทก์มีอิสระที่จะออกไปจากซอยได้ การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 แต่เป็นการรังแกข่มเหงทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ แม้ซอยนั้นจะอยู่ในที่ดินของผู้มีชื่อซึ่งแบ่งให้ผู้อื่นเช่าปลูกบ้าน แต่ประชาชนก็ชอบที่จะเข้าออกไปติดต่อกับผู้ที่อยู่ในซอยนั้นได้ ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำในที่สาธารณสถาน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 เมื่อที่จอดรถคนพิการของคอนโดกลายเป็นของคนอื่น

        ชีวิตในคอนโดมิเนียม ก็ใช่ว่าจะสวยงามเหมือนในใบโฆษณาเสมอไป เพราะมันคือสังคมหมู่บ้านแบบหนึ่ง ถ้าได้เพื่อนบ้านดี นิติบุคคลที่บริหารจัดการได้ดี เรื่องจุกจิกกวนใจก็น้อย แต่ถ้าเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นระหว่างผู้พักอาศัย แล้วคนกลางหรือนิติบุคคลเกิดมีแนวโน้มเข้าข้างคู่กรณี แบบนี้ชีวิตก็ลำบาก เช่นเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้         คุณครูปรีชา หลังเกษียณก็ใช้ชีวิตอยู่ที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านบางนา คุณครูพักอาศัยคอนโดแห่งนี้มากว่า 14 ปี ไม่มีปัญหาอะไร ปกติคุณครูจะสามารถจอดรถในที่จอดรถสำหรับคนพิการตามสิทธิที่ตนเองพึงได้ จนเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงคณะนิติบุคคลชุดใหม่ที่มีอาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยใกล้เคียงกับคอนโดได้ขึ้นเป็นประธานกรรมการของคอนโดดังกล่าว (คุณครูปรีชาระบุว่า เหตุที่อาจารย์ท่านนี้ได้รับเลือกก็เพราะมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่อาศัยอยู่ในคอนโดเป็นจำนวนมากเป็นผู้เลือกอาจารย์ท่านนี้เข้ามา) เรื่องวุ่นวายก็เกิดขึ้น         ตัวคุณครูนั้นมิได้มีปัญหาอะไรกับอาจารย์ท่านดังกล่าว แต่เมื่อมีการทำสัญญาว่าจ้างหรือเปลี่ยนบริษัทจัดการบริหารงานคอนโดเป็นบริษัทใหม่ ปรากฏว่ามีคนแปลกหน้าซึ่งอ้างตัวว่า เป็นผู้จัดการบริษัทดังกล่าวปล่อยให้เกิดกรณีคนนอกซึ่งไม่ใช่คนพิการเข้ามาใช้ที่จอดรถคนพิการหลายครั้ง ทำให้คุณครูไม่สามารถจอดรถในที่เดิมได้ คุณครูจึงทำเรื่องร้องเรียนต่อประธานกรรมการหรืออาจารย์ สมมติว่าชื่อ อาจารย์โอ ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ถูกกีดกันแม้กระทั่งการขอพบหรือเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อ        การกระทำที่เหมือนละเลยสิทธิของคุณครูปรีชาทำให้เกิดปัญหาวิวาทบ่อยครั้งระหว่างผู้จัดการนิติบุคคล ผู้จัดการอาคาร กับคุณครู ต่อมาในเดือนกันยายน 2561 นิติบุคคลได้ปล่อยให้เกิดเหตุ คือ คู่กรณีของคุณครูที่มีเรื่องฟ้องร้องกันอยู่ขึ้นไปจนถึงห้องพักของคุณครู โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ซึ่งคุณครูพยายามร้องเรียนเรื่องดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขซ้ำยังถูกกระทำในลักษณะข่มขู่คุกคามจากฝ่ายนิติบุคคลในขณะที่คุณครูเข้าไปร้องเรียนที่ห้องทำงานของนิติฯ และยังพบก้นบุหรี่บนหลังคารถของตนเองที่จอดไว้ในที่จอดรถอีกหลายครั้ง จึงปรึกษามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าพอจะมีแนวทางจัดการปัญหาเรื่องนี้อย่างไรบ้าง   แนวทางการแก้ไขปัญหา        เรื่องของคุณครูต้องแบ่งเป็นสองกรณี คือกรณีที่อาจเข้าลักษณะข่มขู่หรือทำร้ายร่างกาย ควรแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย สำหรับกรณีเรื่องปัญหาที่จอดรถ ซึ่งตามที่คุณครูร้องเรียนคือ นิติบุคคลไม่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ทางศูนย์ฯ ได้ทำหนังสือเพื่อขอให้ทางนิติบุคคลและผู้ร้องได้เจรจากันในเบื้องต้นเพื่อไกล่เกลี่ยหาข้อยุติ ต่อมาก็ได้รับการบอกกล่าวจากคุณครูปรีชาว่า “ตอนนี้สามารถเข้าไปจอดรถในที่ของคนพิการได้แล้ว และไม่พบว่ามีคนที่ไม่ใช่คนพิการเข้ามาจอดอีก” คุณครูจึงของยุติเรื่องการร้องเรียนไว้ก่อน และขอบคุณทางมูลนิธิฯ ที่ช่วยให้คำแนะนำและประสานงานเรื่องการเจรจากับทางนิติบุคคลให้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 จอดที่ไหน? จ่ายเยอะสุด

  หลังจากการมาของนโยบายรถคันแรก รถราบนท้องถนนก็ดูเหมือนจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อรถเยอะขึ้นปัญหาที่ตามมาไม่ได้มีแค่รถติด แต่ยังมีอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เป็นความทุกข์ของคนมีรถนั้นก็คือ การหาที่จอด เพราะเดี๋ยวนี้ที่จอดรถไม่ได้หาง่ายๆ แถมที่สำคัญที่จอดรถส่วนใหญ่ไม่ได้มีไว้ให้จอดฟรีๆ ต้องมีการจ่ายค่าบริการ แต่ละที่ก็คิดราคาถูกแพงไม่เท่ากัน ฉลาดซื้อ จึงอยากช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าของคนมีรถที่ต้องเดินทางไปทำธุระตามที่ต่างๆ อยู่เป็นประจำ ด้วยการสำรวจข้อมูลค่าบริการที่จอดรถของอาคารพาณิชย์ชื่อดังที่ตั้งอยู่ในย่านธุรกิจสำคัญๆ  ในกทม. ว่าแต่ละที่เขาคิดค่าบริการกันยังไง ราคาเท่าไหร่ จะได้เตรียมตังค์ เตรียมใจ ก่อนจะเอารถไปจอด   จอดฟรี แต่แค่ 15 นาทีนะ แม้ว่าในการสำรวจครั้งนี้ฉลาดซื้อได้พบว่า “ของฟรียังมีในโลก” แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าดีใจแต่อย่างใด เพราะแม้ที่จอดรถหลายๆ ที่จะมีเวลาให้จอดฟรี แต่ส่วนใหญ่ก็อนุโลมให้เฉพาะแค่ 10 – 15 นาทีแรกเท่านั้น เต็มที่ก็คือให้จอดฟรีได้ครึ่งชั่วโมง อาคารที่ให้จอดฟรีได้ครึ่งชั่วโมงก็มีอย่างเช่น อาคารบีบี Bangkok Business Building ถ.อโศก, อาคารสาทรสแควร์ ถ.สาทร, อาคารอิตัลไทย ทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรี, อาคารเพลิตจิต ทาวเวอร์ และ อาคารเมืองไทย-ภัทร ถ.รัชดาภิเษก   ซึ่งการมีช่วงเวลาที่รถเข้าไปจอดในอาคารโดยไม่เสียค่าบริการ แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ยังถือเป็นประโยชน์กับคนที่ใช้รถ โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้จอดที่อาคารนั้นๆ เป็นประจำ คนที่ไม่เคยทราบราคาค่าที่จอดมาก่อน อย่างน้อยๆ ก็จะได้มีโอกาสตัดสินใจเมื่อเห็นราคา ว่าจะเลือกจอดที่นี่หรือย้ายไปจอดที่อื่น เพราะเป็นข้อกำหนดโดยกรมการค้าภายในอยู่แล้วว่า อาคารสถานที่ที่ให้บริการที่จอดรถต้องมีการแจ้งราคากับผู้ใช้บริการ โดยต้องแจงรายละเอียดการคิดราคาค่าบริการทั้งจัดทำเป็นป้ายให้อ่านชัดเจนและทำเป็นข้อมูลลงในบัตรจอดรถที่ต้องได้รับทุกครั้งเมื่อมาใช้บริการ จ่าย 100 ได้จอด 1 ชั่วโมง ใครที่ดีใจที่ได้มีรถไว้ใช้จากนโยบายรถคันแรก ก็อย่าลืมเตรียมใจว่าจากนี้ไปค่าใช้จ่ายต่างๆ กำลังเดินทางมาดูดเงินจากกระเป๋าคุณ ทั้งค่าผ่อนรถ ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน และที่หลายคนอาจลืมคิดไปแต่ถือเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ไม่น้อยก็คือ รายจ่ายค่าที่จอดรถ อาจจะดูน่าตกใจแต่ว่าเป็นเรื่องจริง ที่เดี๋ยวนี้ค่าบริการที่จอดรถมีราคาสูงถึงชั่วโมงละ 100 บาท ซึ่งจากการสำรวจเราพบหลายอาคารที่คิดค่าบริการจอดรถชั่วโมงละ 100 บาท ไม่ว่าจะเป็น อาคาร Interchange ถ.อโศก-สุขุมวิท, อาคาร Exchange Tower ถ.สุขุมวิท-รัชดาภิเษก, อาคาร Q House ถ.พระราม 4 และ อาคารสาทรสแควร์ ถ.สาทร ที่สำคัญคือเศษของชั่วโมงที่เกินมาก็ถือว่าเป็นหนึ่งชั่วโมง บัตรจอดรถเป็นของมีค่า...ต้องรักษาเท่าชีวิต ค่าจอดรถที่ว่าสูงแล้ว ยังไม่เท่าราคาบัตรจอดรถ ทั้งๆ ที่เป็นแค่กระดาษแผ่นเล็กๆ ใบหนึ่งแต่อาจมีค่าสูงถึง 500 บาท ในกรณีถ้าเราทำบัตรจอดรถที่ได้รับมาหายไป ซึ่งการที่บัตรจอดรถมีค่าสูงขนาดนี้เป็นเพราะนี่คือหลักฐานชิ้นสำคัญที่ไว้แสดงว่าได้มีการทำสัญญาร่วมกันระหว่างเจ้าของรถและอาคารที่ให้บริการที่จอดรถ เผื่อหากเกิดกรณีที่รถหายหรือทรัพย์สินที่อยู่ในรถถูกขโมย บัตรจอดรถจะช่วยยืนยันว่าเราในฐานะเจ้าของรถได้มาใช้บริการจริง นำไปใช้เป็นหลักฐานในการเรียกร้องความรับผิดชอบกับเจ้าของอาคารที่เราไปจอดรถ   ไม่ได้ประทับตรา ไม่ได้สิทธิ อาคารต่างๆ ที่ให้บริการที่จอดรถส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์ ที่เป็นที่ตั้งของร้านค้าและสำนักงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งใครที่มาจอดรถแล้วใช้บริการหรือติดต่อธุระต่างๆ ต้องอย่าลืมใช้สิทธิประทับตราลงบนบัตรจอดรถ เพราะมันจะช่วยให้เราสามารถจ่ายค่าที่จอดรถได้ถูกลง บางที่ก็ให้สิทธิจอดฟรีได้นานขึ้นเป็น 1 ชั่วโมง – 2 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นเวลาไปจอดรถไม่ว่าที่ไหนอย่าลืมมองหาจุดประทับตราเพื่อจะได้ช่วยประหยัดค่าจอดรถ สคบ. ขอความร่วมมือ ให้จอดฟรี 1 ชั่วโมง 15 นาที เรื่องของการคิดราคาค่าบริการที่จอดรถนั้น ในบ้านเราไม่ได้มีกฎหมายใดๆ กำหนดเกณฑ์มาตรฐานเอาไว้ จึงทำให้แต่ละที่มีการคิดราคาแตกต่างกันไป แต่เมื่อปลายปีที่แล้วมีข่าวว่าทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกับ กรมการค้าภายใน และ กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการขอความร่วมมือไปยังห้างสรรพสินค้าและผู้ให้บริการที่จอดรถของเอกชนทั่วประเทศ ว่าต้องอนุญาตให้ผู้ใช้รถสามารถจอดรถได้ฟรีเป็นเวลา 1 ชั่วโมงกับอีก 15 นาที หลังจากนั้นจึงค่อยมีการคิดค่าบริการ แต่จากผลสำรวจจะเห็นว่าที่จอดรถทุกแห่งที่เราทำการสำรวจ ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ สคบ.เรียกร้องเลยแม้แต่แห่งเดียว (นอกเสียจากจะเป็นการคิดค่าบริการจอดรถที่มีการประทับตรา) เนื่องจากหลักเกณฑ์ที่ออกมานั้นไม่ได้เป็นข้อกฎหมายหรือข้อบังคับ แต่เป็นเพียงแต่ขอกำหนดแบบสมัครใจเท่านั้น   มาตรฐานสถานที่จอดรถ -อาคารจอดรถยนต์ต้องสร้างด้วยวัตถุทนไฟทั้งหมด -อาคารจอดรถยนต์ให้สร้างได้สูงไม่เกินสิบชั้นจากระดับพื้นดิน -อาคารจอดรถยนต์ที่สูงเกินหนึ่งชั้น ต้องมีการเปิดโล่งอย่างน้อยสองด้าน ส่วนเปิดโล่งต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ผนังด้านนั้น -อาคารจอดรถยนต์ที่อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดิน ต้องจัดให้มีเครื่องระบายอากาศภายในชั้นนั้นๆ -ทุกส่วนของอาคารจอดรถยนต์ต้องให้มีแสงสว่างแลเห็นได้ชัดทั้งกลางวันและกลางคืน -ต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิงที่เพียงพอ หนึ่งเครื่องต่อจำนวนที่จอดรถยนต์ทุกๆ ห้าสิบคัน -พื้นที่สำหรับจอดรถ 1 คัน ถ้าเป็นแบบที่จอดขนานกับแนวเดินรถ ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร และยาวไม่น้อยกว่า 6 เมตร ส่วนถ้าเป็นแบบพื้นที่จอดที่ขนานกับแนวเดินรถ ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร และยาวไม่น้อยกว่า 5 เมตร -ที่จอดรถแต่ละคัน ต้องมีเครื่องหมายแสดงลักษณะและขอบเขตของที่จอดรถไว้ให้ปรากฏบนพื้น ที่มา : ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง อาคารจอดรถยนต์ พ.ศ. 2521 และ กฎกระทรวง พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เมื่อ “รถหาย” สถานที่ที่รับจอดรถต้องรับผิดชอบหรือไม่? ถ้าลองสังเกตในบัตรจอดรถ จะเห็นข้อความประมาณว่า “บัตรนี้ไม่ถือเป็นการรับฝากรถ อาคารไม่รับผิดชอบใดๆ กรณีเกิดการสูญหายหรือเสียของรถและทรัพย์สินใดๆ” ทำให้หลายคนมีข้อกังวลว่าถ้าหากนำรถไปจอดแล้วรถหายหรือทรัพย์สินในรถถูกขโมยจะสามารถเรียกร้องความรับผิดชอบจากเจ้าของอาคารได้หรือไม่ ซึ่งแม้เจ้าของอาคารจะมีการระบุข้อความที่ไม่ขอแสดงความรับผิดชอบใดๆ เอาไว้ แต่ในทางกฎหมายเราสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ เพียงแต่ต้องมีหลักฐานที่ใช้ยืนยันว่าเราได้นำรถไปจอดที่สถานที่ดังกล่าวจริง เช่น บัตรจอดรถ หรือใบเสร็จจากการซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในอาคารนั้นๆ ซึ่งเราสามารถแจ้งเรื่องไปยัง สคบ. ให้ช่วยดำเนินการเรียกร้องตามกฎหมายได้   ข้อมูลสำรวจอัตราค่าบริการที่จอดรถยนต์ของอาคารพาณิชย์ชื่อดังใน กทม. 1. อาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน ชั่วโมงละ 20 บาท ฟรี 2 ชั่วโมงแรก   2. อาคารเมืองไทย-ภัทร ถ.รัชดาภิเษก 1 ชั่วโมง 10 บาท 2 ชั่วโมง 30 บาท 3 ชั่วโมง 70 บาท ชั่วโมงที่ 4 เป็นต้นไป คิดเพิ่มชั่วโมงละ 50 บาท ฟรี 30 นาทีแรก 3. อาคารเพลินจิต ทาวเวอร์ ชั่วโมงละ 20 บาท ฟรี 30 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ได้รับส่วนลด (ไม่มีการแจ้งรายละเอียด) 4. อาคารบางกอกทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรี เวลา 07.01 – 19.00 น. ชั่วโมงละ 20 บาท เวลา 19.01 – 24.00 น. ชั่วโมงละ 60 บาท เวลา 24.01 – 07.00 น. ชั่วโมงละ 120 บาท   5. อาคารอิตัลไทย ทาวเวอร์ ถ.เพชรบุรี ชั่วโมงละ 30 บาท ฟรี 30 นาทีแรก ถ้ามีตราประทับ  ชั่วโมงละ 20 บาท ฟรี 2 ชั่วโมงแรก   6. อาคารยูไนเต็ด เซ็นเตอร์ ถ.สีลม ชั่วโมงละ 30 บาท ฟรี 15 นาทีแรก ถ้ามีตราประทับ ชั่วโมงละ 30 บาท ฟรี 1 ชั่วโมงแรก   7. อาคารสีบุญเรือง ถ.สีลม ชั่วโมงละ 35 บาท ฟรี 10 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ได้รับส่วนลด (ไม่มีการแจ้งรายละเอียด)   8. อาคารเสริมมิตร ทาวเวอร์ ถ.อโศก ชั่วโมงละ 40 บาท ฟรี 10 นาทีแรก จอดเกิน 8 ชั่วโมง คิดชั่วโมงละ 50 บาท ถ้ามีประทับตรา จอดฟรี   9. อาคารบีบี (Bangkok Business Building) ถ.อโศก ชั่วโมงละ 40 บาท ฟรี 30 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ลดราคา 50%   10. อาคารลุมพินี ถ.พระราม 4 ชั่วโมงละ 40 บาท ฟรี 15 นาทีแรก ถ้ามีตราประทับ 1 ครั้ง ชั่วโมงแรกฟรี ชั่วโมงต่อไป 20 บาท ถ้ามีตราประทับ 2 ครั้ง จอดฟรี (บริษัทเจ้าของตราประทับนั้นเป็นผู้จ่าย) *หมายเหตุ ตราประทับ 2 ครั้ง ต้องมาจากบริษัทเดียวกัน 11. ที่จอดรถเท็กซัส เยาวราช ชั่วโมงแรก 40 บาท ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง ถัดไป 20 บาท   12. อาคารกาญจนทัต ทาวเวอร์ เยาวราช ชั่วโมงละ 50 บาท ถ้ามีประทับตรา ได้รับส่วนลด (ไม่มีการแจ้งรายละเอียด)   13. อาคาร Park Ventures ถ.วิทยุ ชั่วโมงละ 50 บาท ฟรี 15 นาทีแรก   14. อาคารสาทรสแควร์ ถ.สาทร ชั่วโมงละ 100 บาท ฟรี 30 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ฟรี 1 ชั่วโมงแรก ชั่วโมงต่อไปขึ้นอยู่กับประเภทของตราประทับ   15. อาคาร Exchange Tower ถ.สุขุวิท-รัชดาภิเษก ชั่วโมงแรก 100 บาท ทุกๆ ครึ่งชั่วโมงถัดไป 50 บาท ฟรี 15 นาทีแรก   16. อาคาร Interchange ถ.อโศก-สุขุมวิท ชั่วโมงละ 100 บาท ฟรี 10 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ชั่วโมงละ 50 บาท ฟรี 1 – 2 ชั่วโมงแรก (ขึ้นอยู่กับประเภทของตราประทับ)   17. อาคารQ House ถ.พระราม 4 ชั่วโมงละ 100 บาท ฟรี 15 นาทีแรก ถ้ามีประทับตรา ได้รับส่วนลด (ขึ้นอยู่กับประเภทของตราประทับ)  

อ่านเพิ่มเติม >