ฉบับที่ 179 Documentary Club เรานำหนังสารคดีทั่วโลกมาฉายเพื่อทุกคนที่รักหนังสารคดี

ถ้าถามคอหนังทางเลือก หนึ่งคนที่คอหนังนึกถึง ต้องเป็น “ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Bioscope และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Documentary Club” หลังจาก ภาพยนตร์สารคดี เรื่อง  "Finding Vivian Maier : คลี่ปริศนาภาพถ่ายวิเวียน ไมเออร์" ออกฉายเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อเกือบปลายปี 2557  Documentary Club ได้รับการตอบรับจากคนดูจำนวนมาก ซึ่งคุณธิดาเล่าให้ฉลาดซื้อฟังว่า หลังจากที่เริ่มโปรเจ็คท์เดือนสิงหาคม 2557 และฉายหนังตอนเดือนพฤศจิกายน  มาถึงตอนนี้ก็ปีกว่า ในแง่ของผลตอบรับมันก็ไปไกลกว่าคิดไว้ เพราะตอนแรกคิดว่าคนดูแค่ 10 คน 500 คน คือพยายามบริหารให้ก้อนคนดูมันอยู่แค่นั้นแต่ว่าตอนนี้คนดูเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ถ้ามองในเชิงความมั่นคงนี่เล็กมากๆ แต่ถ้าเป็นสเกลของหนังที่เข้าโรงเดียวรวมทั้งหมดแค่สิบกว่ารอบถือว่าตอบโจทย์ ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นนั้นมันค่อนข้างจะต่างกัน เห็นได้ชัดคือพอเราเอาหนังใหม่มาเมื่อประชาสัมพันธ์ออกไป ก็จะมีฐานคนดูจำนวนมากประมาณหนึ่งที่พร้อมจะเข้ามาดู โดยที่เราไม่ต้องบิ้วท์คนดูใหม่จากศูนย์แล้วก็เหมือนเป็นฐานที่ช่วยให้หนังมันมีตลาดประมาณหนึ่ง แต่หน้าที่ของเราก็คือทำอย่างไรให้เรื่องมันขยายตลาดกว้างออกไปมากกว่านั้นและค่อยๆ สร้างกลุ่มขึ้นเรื่อยๆ  ฉะนั้นหลังจากทำมาปีกว่าสิ่งที่พูดได้เลยว่า เป็นความสำเร็จ คือมันมีกลุ่มคนดูที่ยอมรับการเข้าฉายของหนังสารคดี อย่างน้อยที่สุดคือคนเหล่านี้ไม่ได้ตั้งคำถามว่า ทำไมเขาจะต้องมาเสียเงินเท่ากับที่เขาดูสตาร์วอร์ส ทำไมเขาต้องมาดูสารคดี เขาสามารถรู้สึกได้ว่าถ้ามันเป็นเรื่องที่เขาชอบเขาก็พร้อมจะดู ไม่ได้รู้สึกว่าสารคดีต้องดูฟรี เราคิดว่าเราพาคนดูไปด้วยกัน พาข้ามความรู้สึกเหล่านี้ไปได้ การเริ่มต้นของการตั้ง Documentary Club เนื่องจากก่อนที่จะมาทำ Documentary Club นั้นเคยทำงานอยู่ที่หนังสือ Bioscope ซึ่งเป็นหนังสือที่พูดถึงหนังทางเลือก แล้วเราก็ติดตามความเคลื่อนไหวของหนังต่างประเทศแล้วก็รู้สึกว่าทำไมแม้แต่ในตลาดอเมริกา ซึ่งมีโมเดลคล้ายๆ กับตลาดเมืองไทยมาก แล้วคนไทยก็รับเอาวิธีคิดการผลิตภาพยนตร์แบบอเมริกา คือการทำร่วมกับสตูดิโอ แล้วก็นึกถึงเมนสตรีม แต่อเมริกาเองก็ยังมีทางเลือกในเชิงความหลากหลายของหนัง เครือข่ายโรงหนังก็ยังมีหลายแบบเพื่อที่จะตอบสนองพฤติกรรมคนดูหลายๆ แบบและโดยธุรกิจของฮอลลีวูดเองก็พยายามหล่อเลี้ยงหนังทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กเพราะทุกอย่างขับเคลื่อนเป็นฟันเฟือง ไม่ว่าจะตัวเล็กตัวน้อยก็ต้องมีที่ยืนเพราะว่าต้องหมุนไปด้วยกันในเชิงธุรกิจ แต่บ้านเราไม่มีแบบนี้ นับวันความหลากหลายของหนังมันยิ่งน้อยลง หนังเล็กเข้ามาก็ขาดทุนเป็นส่วนใหญ่ คนทำหนังอิสระไทยนั้นโอกาสคืนทุนน้อยมากเพราะมันไม่มีเอาท์เล็ทที่หล่อเลี้ยงให้เขาอยู่กับคนดูเพื่อสร้างวัฒนธรรมการดู เพราะฉะนั้นไม่มีใครช่วยเรื่องพวกนี้ และอีกแง่หนึ่งโดยส่วนตัวชอบดูหนังสารคดีก็รู้สึกว่า หนังประเภทนี้ไม่เคยมีพื้นที่ในบ้านเราเลยจะถูกจัดเป็นอินดี้ของอินดี้อีกที ดังนั้นจึงรู้สึกว่ามันน่าลอง อยากจะลองสร้างตลาดอันนี้ขึ้นมาก็นึกถึงทางเลือกอีกทางหนึ่งของคนกรุงขึ้นมา  ขั้นตอนการหาหนัง การซื้อเข้ามาเป็นอย่างไรบ้างDocumentary Club นั้นเกิดจากการระดมทุนขึ้นมาเพราะหนึ่งคือเราไม่มีทุนและสองเรามีความรู้สึกลึกๆ ว่าเรื่องแบบนี้เราคนเดียวผลักดันมันคงไม่สำเร็จ ถ้าจะผลักดันมันต้องอาศัยแรงสนับสนุนของคนที่คิดคล้ายๆ กันแต่เราก็เหมือนเราชูธงว่าเราออกหน้า ดังนั้นพอเราโยนไอเดียลงไปนั้นก็พบว่ามันก็มีคนจำนวนหนึ่งเห็นด้วยกับการทดลองทำอะไรแบบนี้ เขาก็ช่วยเหลือในการระดมทุนทำให้มีทุนในการทำแต่ว่าสิ่งที่ต้องทำต่อมาคือการหาพื้นที่ให้กับมัน จริงๆ แล้วเราไม่ได้มีความเชื่อในการเอาหนังเข้าโรงเพียงอย่างเดียว แต่ว่าถ้ามันมีช่องทางอื่นที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่ได้และคนดูได้ดูโดยไม่ต้องเข้าหาโรงนั้นเป็นทางเลือกที่ดี  แต่ว่าในระบบตลาดมันก็ยังต้องใช้โรงเพื่อผลทางรายได้หรือว่าผลทางประชาสัมพันธ์อะไรก็ตาม และสองคือรู้สึกว่าหนังสารคดีมันไม่มีพื้นที่ในทางธุรกิจเลยเราจึงจำเป็นต้องพิสูจน์ว่า มันมีตลาดด้วยการเข้าสู่ตลาดเพื่อให้มีที่ยืนในเชิงการตลาดที่เขาทำกันอยู่จริงๆ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำเมื่อเริ่มต้นโปรเจ็คท์ก็คือการคุยกับโรงว่าให้เปิดพื้นที่ซึ่งตอนที่ไปฉายครั้งแรกก็คุยทั้ง 2 เครือแต่ว่าเครือหนึ่งไม่เอาเพราะว่าไม่มีความเชื่อในหนังอะไรแบบนี้เลย ในขณะที่เครือ SF นั้นเขายังอยากที่จะทดลองสร้างตลาดเฉพาะเพราะเขาคงมองว่ามันก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้แบรนด์ของเขาแตกต่างจากคู่แข่ง ก็โชคดีที่พอไปคุยแล้วเขาให้ลองดูแต่แน่นอนสิ่งที่เราต้องทำคือการพิสูจน์ให้เห็นว่าทำแล้วมันอยู่ได้จริงๆ มันมีคนดู มีรายได้กลับมา เขาพอใจ เราพอใจ คนดูแฮปปี้ นั่นคือสิ่งที่ต้องพิสูจน์มาเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาปีกว่าที่ผ่านมาการเลือกหนังเลือกอย่างไร ต้องทำรีเสิร์ทก่อนไหมคงไม่ขนาดนั้นแต่ว่าเบื้องต้นคือเลือกจากความชอบเพราะว่าจริงๆ เราก็ไม่ได้เป็นแบบข้างใดข้างหนึ่งมาก เราไม่ได้ตลาดสุดขั้วและเราก็ไม่ได้ฮาร์ดคอร์มากเลยรู้สึกว่าถ้าเรื่องนี้มันมาทำงานกับเราก็เชื่อว่ามันมีคนดูที่รู้สึกแบบเดียวกับเป้าหมายช่วงต้นนั้นก็เน้นเลือกหนังที่มันมีความสนุกอยู่ ไม่ถึงขนาดดูแล้วต้องเครียดมากหรือว่าหลับเพราะมันน่าเบื่อสุดๆ ก็เลือกหนังที่คนดูแล้วน่าจะมีความบันเทิงอยู่ในความเป็นหนังสารคดีของมันอะไรแบบนี้ ส่วนที่สองคือเลือกประเด็นที่มันค่อนข้างหลากหลาย เบื้องต้นก็เลือกประเด็นทีคิดว่าคนต้องสนใจเรื่องแบบนี้อยู่ จริงๆ สิ่งนี้ตอนเริ่มต้นเราก็ไม่รู้ เริ่มต้นเรื่องแรกที่ฉายคือเรื่อง Finding Vivian Maier ซึ่งเป็นหนังเกี่ยวการถ่ายภาพสตรีท ตอนนั้นก็นึกแค่ว่าหนังมันดัง ใจเราดูแล้วรู้สึกสนุกก็คิดแค่นั้น แต่พอตอนเริ่มเอาเข้ามาโปรโมท เริ่มฉายก็พบว่ามันมีประเด็นอื่นที่มากกว่านั้น เช่นคนที่มีความคลั่งไคล้เรื่องการถ่ายภาพ คนที่มีความคลั่งไคล้ของวิถีชีวิตของตัวละครแบบนี้ เรารู้สึกเลยว่าที่จริงหนังสารคดีแต่ละเรื่องนั้นมีประเด็นที่มันสัมผัสกับคนในหลายๆ แบบหรือสัมผัสกับไลฟ์สไตล์หลายๆ แบบเพราะฉะนั้นสิ่งที่สังเกตได้จากตอนที่เอา Finding Vivian Maier มาฉายก็เลยสังเกตเรื่องแบบนี้มากขึ้น หนังเรื่องนี้มีไลฟ์สไตล์ตรงกับคนกลุ่มไหน หาหนังที่มันตอบสนองคนหลายๆ กลุ่มประมาณนี้โรงฉายสนับสนุนอย่างไรบ้าง เขาจัดโรงฉายให้เราอย่างไรมีทั้ง 2 แบบคือจากที่คุยแล้วมันเป็นหนังแบบ Exclusive SF ในแง่ของสาขานั้นเขาจะล็อกไว้เลยว่า Positioning ของหนัง Exclusive นั้นเขาต้องการให้ปักหลักอยู่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ เพราะเขาอาจต้องการสร้างแบรนด์ให้สาขานั้นเป็นแบบนั้นและเขาก็อาจจะมองว่าโดยตำแหน่งอยู่ใจกลางเมือง บางทีก็มาจากเราด้วยที่คิดว่าบางทีหนังเรื่องหนึ่งอาจจะไม่กว้างมาก กลุ่มอาจจะแคบหน่อยก็อาจจะไม่ต้องเปิดโรงกว้างให้เรานะเพราะว่าทั้งเราและเขาความต้องการอย่างหนึ่งของโรงหนัง คือถึงแม้ว่าหนังเราจะเป็นหนังเล็ก ยอดรายได้ต่ำเมื่อเทียบกับหนังปกติแต่ว่าสิ่งที่เป็นความสุขของโรง คือการเห็นว่าทุกรอบมันไม่ได้เสียเปล่า ดังนั้นเมื่อเราเห็นว่าหนังเรื่องนี้กว้างได้ เรื่องนี้ไม่ต้องกว้าง บางครั้งก็คือมาจากเราที่อยากเอาโรงขนาดเล็กๆ พอเพราะภาพที่อยากเห็นคือมีคนเยอะทุกรอบ โรงก็จะให้ความสำคัญกับสิ่งนี้เพราะการฉายทีหนึ่งมีคนดู 5 คน 10 คนมันสิ้นเปลืองผลของการฉายที่ผ่านมานี่คือเป็นที่น่าพอใจไหมค่อนข้างดี ในเชิงธุรกิจก็บริหารจัดการให้เป้าง่ายๆ คือทุกเรื่องอย่าขาดทุน ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ตอนฉายโรงเลยเพื่อที่แง่หนึ่งคือเราก็ไม่ใช่นักธุรกิจที่ทำอันนี้เต็มตัว แต่เราก็ทำหล่อเลี้ยงจิตใจด้วยดังนั้นถ้าทำให้มันไม่แบกรับความเครียดต้องเป็นหนี้สะสมอะไรแบบนั้น ดังนั้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งหมดโดยเฉพาะครึ่งปีหลังนั้นค่อนข้างจะเข้าที่ อย่างที่บอกว่าคนดูก็สนับสนุนเพราะฉะนั้นแต่ละเรื่องก็ค่อนข้างจะโอเค ก็มีเรื่องที่ได้มากบ้างน้อยบ้างแต่ในเรื่องที่น้อยก็ยังรอดตัว เรามองในเชิงที่ว่าในเรื่องที่มันน้อยนั้นเพราะคอนเทนต์มันยากขึ้น มันเฉพาะกลุ่มแต่เราก็มองในเชิงที่ว่ามันก็คือการสร้างกลุ่มคนที่หลากหลายขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราหวังแค่นั้น ที่ปกติคนที่ไม่ดูหนังสารคดีเลยหรือบางคนเลิกดูหนังโรงไปแล้วเราก็หวังว่าจะสร้างคนกลุ่มนี้มาเป็นคนดูเรื่อยๆ ตอนนี้มีเทรนด์ที่น่าสนใจ คือเริ่มมีกลุ่มคนดูที่รวมตัวกันเอง ตอนนี้มีขึ้นมา 3 เพจคือเพจคนขอนแก่น เพจชาวเชียงใหม่และเพจชาวหาดใหญ่ ซึ่งก็มาจากพวกเรายุกันให้เปิดตัวขึ้นมา ซึ่งคนพวกนี้สำคัญซึ่งเขาก็จะรวมตัวกันเรียกร้องโรงหนัง และบางเพจก็จัดฉายเองตามหอประชุมมหาวิทยาลัยบ้าง ถือว่าเทรนด์แบบนี้ต้องกระพือขึ้นมาไม่อย่างนั้นในวงการก็จะถูกรายใหญ่แช่แข็งอยู่แบบนี้(อุปสรรคคือรอบน้อย วันน้อย โรงน้อย)ใช่ น้อยทุกอย่างเลย (หัวเราะ) ตอนนี้จะเพิ่มไปที่เซ็นทรัลพระราม 9 หรือไม่ก็เซ็นทรัลลาดพร้าว อนาคตของ Documentary Club ต่อไปจะเป็นอย่างไรตอนนี้สิ่งที่อยากทำคือพยายามหาช่องทางให้มันได้ออกไปกว้างขึ้น ไม่ว่าจะในแง่ภายใต้ระบบเดิมหรือการพยายามให้มันได้ไปฉายในโรงต่างจังหวัดด้วยวิธีใดก็ตามแต่ กับการพยายามทำงานกับกลุ่มคนดู เราก็พยายามกระตุ้นคนดู รวมทั้งมองหาช่องทางอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะ TV VOD (Video on demand) จึงคิดว่าเราต้องมองหาช่องทางที่จะทำให้หนังเราไปถึงคนดูแบบนี้ได้แล้วเพราะว่าจริงๆ ตอนนี้ฉายอยู่ในโรงเดียวคือทำไมมันถึงแคบขนาดนี้  ในส่วนของการเลือกหนังมาฉายตอนนี้กำลังพยายามหาเพิ่มเข้ามา ในปีนี้ช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะเริ่มมีสารคดีจากอินโดนีเซียและกลางปีจะมีญี่ปุ่น เพิ่งคุยกับหอศิลป์ว่าอยากจัดสารคดีอาเซียนด้วยกัน ต้องเริ่มขยายมาทางนี้บ้าง ปัจจุบันมีช่องทางให้ผู้บริโภคดูฟรีเยอะ พฤติกรรมของคนไทยแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อวงการหนังหรือการเอาหนังเข้ามาฉายอย่างไรบ้าง หรือผู้บริโภคจะมีทางเลือกอย่างไรคือพี่ไม่มีปัญหาในการดูบิทอะไรเลยหรือแม้แต่ดู Netflix(บริการดูหนังออนไลน์) เองคือในแง่คนทำหนังเราเองก็กระทบนะอย่างเรื่อง Iris (Iris เปรี้ยวที่ใจ วัยไม่เกี่ยว) นั้นยังฉายในโรงอยู่แต่เปิด Netflix มาก็มี ซึ่งเราก็ได้ผลกระทบแต่ถ้ามองในภาพรวมจริงเราค่อนข้างรู้สึกยินดีกับสิ่งเหล่านี้เพราะธรรมชาติของคนเสพทุกอย่างต้องการทางเลือก ต้องการความสะดวก ต้องการสิ่งที่มันคำนึงถึงพฤติกรรมของเราและตอนนี้เราอยู่บ้านดูได้เราไม่ต้องการถูกโรงบังคับว่าต้องดูแต่หนังที่เขาเอามาฉาย คือรู้สึกว่าพวกนี้มันคือการสร้างวัฒนธรรมการดูเพราะว่าในที่สุดเราต้องการให้ทุกคนดูสิ่งที่หลากหลาย และอยากให้ทุกคนเลือกเสพและมีโอกาสที่จะเข้าถึง แต่ถามว่าพฤติกรรมการดูของคนจะเปลี่ยนไหม หมายถึงว่าคนจะเลิกดูหนังโรงเหรอ จะดูแต่หนังอยู่บ้านเหรอ จะโหลดบิทอย่างเดียวเหรอ พี่คิดว่าไม่ใช่ คนเราไม่มีพฤติกรรมที่มันสุดขั้วเพราะว่าในที่สุดแล้วเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดูหนังโรงมันก็เป็นความสนุกอยู่ดีหรือการที่มีสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ได้เจอเพื่อน กินข้าว ดูหนัง มันมีสิ่งอื่นที่ห่อหุ้มพฤติกรรมเหล่านั้นมันจะยังอยู่ต่อไป แล้วค่ายหนังก็มีหน้าที่ปรับตัวเองต้องทำหนังให้มันน่าสนใจขึ้น ให้คนรู้สึกว่าเขาต้องออกจากบ้านเพื่อมาดูก็เป็นหน้าที่ ที่คุณต้องปรับตัว  แต่คิดว่าสิ่งที่ปรับตัวช้าที่สุดในบรรดาเหล่านี้ก็คือโรงหนัง คิดว่าโรงหนังไม่ได้ไหวตัวกับความต้องการที่เปลี่ยนไปของคน เพราะทุกวันนี้คนมาดูหนังโรงนั้นไม่ได้ต้องการแค่มาดูในโรง มี 3 มิติ มีควันแค่นี้จบ แต่ที่คนมาดูเพราะว่าเขาโหยหาการอยู่ในสังคม ไม่อย่างนั้นคนก็นั่งดูหนังอยู่บ้านหมดสิ ที่ยังออกมาดูหนังโรงเพราะมันมีสิ่งอื่นตอบสนองอยู่ ซึ่งโรงปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนไป โรงยังคิดว่าคำตอบคือการที่คุณขายป็อบคอร์น ขายโค้ก แต่เรารู้สึกว่าจิตวิญญาณของคนดูหนังมันแห้งลงเรื่อยๆ คิดว่าสิ่งที่จะกระทบมากที่สุดในระยะยาวคือโรงหนัง เพราะคนจะหมดอารมณ์ที่จะไปดูแล้วคุณก็จะบีบให้คนต้องไปดูอย่างอื่นซึ่งจริงๆ เขาก็ไม่ได้อยากดูสถานการณ์ของการดูหนังปัจจุบันที่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคสำหรับคนดูทั่วๆ ไปที่คิดว่าเป็นปัญหาและได้ยินบ่อยก็คือเรื่องราคาเพราะค่าตั๋วโดยเฉลี่ยนั้นถ้าเป็นโรงใจกลางเมืองมันคือ 160 – 180 บาทขึ้นไป ซึ่งโรงก็พยายามเพิ่มฟังก์ชั่นตามค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเป็นโรงหนัง 4 มิติ เป็นแพ็กเกจโซฟาคู่ ซึ่งอาจจะมีคนพูดว่า ไม่อยากเลือกแบบนี้ก็ดูโรงธรรมดาแต่ฟังก์ชั่นของแบบธรรมดาราคามันก็ขึ้นเรื่อยๆ ตามโลเคชั่น และยังไม่รวมพวกสิ่งต่อพ่วงทั้งหลาย ค่าเครื่องดื่ม ป็อบคอร์น มีคนบอกว่าเวลาไปดูหนังทีหมดเงินเป็นพัน เนื่องจากโรงหนังมันอยู่ในห้าง จึงไม่มีทางเลือกที่จะบริโภคอย่างอื่น ซึ่งราคามันก็แพง โดยทั่วไปโรงหนังมักจะมีข้ออ้างว่าลงทุนสูง เป็นความบันเทิงราคาถูกที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับคอนเสิร์ตหรืออะไรก็ตาม แต่ในความจริงแม้จะเป็นความบันเทิงราคาถูกก็ตามมันก็ยังแพงสำหรับผู้บริโภคอยู่ดี โดยเฉพาะในปัจจุบันมีทางเลือกมากขึ้น เช่นล่าสุดการเข้ามาของ Netflix ซึ่งสามารถจ่ายเงินเดือนละ 100 – 200 กว่าบาทเดือนหนึ่งดูหนังได้ไม่เลือก แม้การดูหนังที่ในโรงภาพยนตร์ เราก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นความบันเทิงที่สำคัญในชีวิตอยู่ แต่เราก็มีความรู้สึกว่าเราเลือกมากขึ้น อันนี้คือในแง่ของค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันในแง่ของคนดูในเชิงวัฒนธรรมจะเป็นปัญหาที่เจอเยอะที่สุดเลยคือ โรงหนังนั้นเป็นทางเลือกที่ไม่ดีพอสำหรับคนดูหนังในเชิงวัฒนธรรม หมายความว่าตอนนี้เวลาที่มีหนังใหญ่เปิดตัวทีหนึ่งนั้นหนังใหญ่กินพื้นที่โรง 80 - 90 %  ของจำนวนโรง พื้นที่ส่วนใหญ่หมดไปกับการให้หนังกระแสหลัก หนังทางเลือกในเชิงวัฒนธรรมนั้นก็ไม่มีพื้นที่รองรับ ปัญหาที่เจอกันตอนนี้คือว่า หนังเล็กนั้นโรงไม่เหลียวแล โรงให้รอบแบบพอเป็นพิธี แล้วพอมันไม่มีคนดูตอบสนองด้วยตัวเลขที่มากพอในความคิดของเขาก็โดนตัดรอบ มันจึงเป็นวงจรทางธุรกิจที่แก้ไขไม่ได้ โรงก็ผูกขาดขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ก็เหลือ 2 ค่ายใหญ่ที่แข่งกันแล้วเบียดบี้จนรายเล็กรายน้อยตายหมด คือไม่ว่าจะในเชิงเศรษฐกิจหรือเชิงวัฒนธรรมนั้นการดูหนังเป็นทางเลือกที่หดแคบลงทุกทีสำหรับคนดู

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point