ฉบับที่ 263 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2566

5 อันดับ “Fake News”  ปี 2565         กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยสถานการณ์ข่าวปลอมปีที่ผ่านมา จากข้อมูลที่ได้รับการแจ้งเบาะแสและติดตามบทสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม พบว่า มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองถึง  517,965,417 ข้อความ โดยข่าวปลอม 10 อันดับที่มีการแชร์ซ้ำบ่อยมากที่สุด มีดังนี้ 1. เรื่องเคี้ยวเม็ดมะละกอสุกแล้วกลืนโดยไม่ต้องกินน้ำตาม วันละ 3 เม็ด รักษามะเร็งระยะสุดท้าย 2. ปรากฏการณ์ APHELION โลกจะอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ ระยะทาง 5 นาทีแสง หรือ 90,000,000 กิโลเมตร 3. อย. แพ้คดี หลังไฟเซอร์ถูกบังคับให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีน 4. กสทช. โทรแจ้งประชาชนขอระงับสัญญาณเบอร์โทรศัพท์ และจะติดแบล็คลิสต์ไม่สามารถเปิดเบอร์ใหม่ได้ 5. หากสแกน QR Code จากใบนัดนำจ่ายสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ สามารถถูกดูดเงินในบัญชีได้ ดังนั้นหากพบข่าวที่เข้าลักษณะข่าวปลอมควรตรวจสอบก่อนส่งแชร์ข้อความต่อ          เปิดเกณฑ์การตัดแต้ม “ใบขับขี่”          สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เริ่มใช้มาตรการตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ (ตัดแต้มใบขับขี่) เป้าหมายเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยมีกำหนดให้มี 12 คะแนน ทุกคนที่มีใบอนุญาตใบขับขี่ไม่ว่าจะชนิดใดก็ตาม ถ้าทำผิดกฎจราจรจะมีการตัดคะแนนตามเกณฑ์ที่ระบุไว้ ทั้งนี้ เกณฑ์การตัดคะแนนแบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้  แบบที่ 1 การ “ตัดคะแนนทันทีที่ทำผิด”         ตัด 1 คะแนน = ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่รัดเข็มขัด ขับรถเร็วเกินกำหนด ขับรถบนทางเท้า  ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย ไม่หลบรถฉุกเฉิน ขับรถโดยประมาท น่าหวาดเสียว ขับรถไม่ติดป้ายทะเบียน หรือเปลี่ยนแปลง ปิดบัง และไม่ติดป้ายภาษี          ตัด 2 คะแนน = การขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ขับรถย้อนศร ขับรถระหว่างโดนพักใช้ หรือเพิกถอยใบขับขี่         ตัด 3 คะแนน = ขับรถในขณะหย่อนความสามารถ ขับรถผิดวิสัยคนขับรถธรรมดา ขับรถชนแล้วหนี         ตัด 4 คะแนน = เมาแล้วขับ ขับรถในขณะเสพยาเสพติด แข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น         ทั้งนี้ แบบที่ 2 คือ “ตัดคะแนนเมื่อไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง” ค้างชำระ 1 ใบสั่ง ตัด 1 คะแนน นอกจากนี้ หากถูกตัดจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใบอนุญาตขับขี่ ห้ามขับรถทุกประเภท ในระยะเวลา 90 วัน ฝ่าฝืนขับรถในขณะยังถูกพักใบขับขี่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รัฐปิดเบอร์ซิมลวงกว่า 1 แสนเบอร์ อายัดบัญชีม้า 5.8 หมื่นบัญชี         รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาของอาชญากรรมทางออนไลน์ว่าสามารถดำเนินคดีผู้กระทำผิดได้จำนวนมาก ในปี 2565 สามารถปิดกั้นเบอร์โทรหลอกลวง/ข้อความ SMS หลอกลวง ได้ถึง 118,530 หมายเลข และอายัดบัญชีม้าได้ถึง 58,463 บัญชี รวมถึงการปิดกลุ่มโซเชียลซื้อขายบัญชีม้าได้ถึง 8 กลุ่ม และปิดกั้นเว็บพนัน จำนวน 1,830 เว็บ           การแก้ไขปัญหาสำหรับบัญชีม้าหรือบัญชีต้องสงสัย ทางสำนักงาน ปปง. ได้มีการจัดทำประกาศหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดหรือทบทวนรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง ในขณะที่สำนักงาน กสทช.ได้มีการแก้ไขปัญหาซิมผิดกฎหมายให้คนที่มี 100 ซิมขึ้นไป ซึ่งมีอยู่ประมาณ 8,000 รายนั้น ยืนยันตัวตนให้ถูกต้องภายในเดือน มกราคม 2566 เพื่อจะได้เป็นการตัดวงจรมิจฉาชีพที่จะนำซิม ไปเติมเงินเพื่อโทรไปหลอกลวงประชาชน และทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ระวังโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ         ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุ ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งปล่อยให้อยู่เพียงลำพังหรือกรณีสูญเสียคู่สมรสจะเกิดความเครียดกังวล ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า อาการที่พบคือ ผู้ป่วยจะเริ่มอยู่นิ่ง หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ชอบนอนเฉยๆ ไม่อยากทำอะไร กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เข้านอนเร็ว ตื่นบ่อย ตื่นนอนเช้ากว่าปกติ บางรายอาจมีอาการรับประทานอาหารจุและไม่ค่อยมีสมาธิหลงลืม  ไม่ทำกิจกรรมที่เคยทำประจำ เช่น ไม่ขับรถ ไม่ชอบเข้าวัดทำบุญ ไม่ทำงานอาสาต่างๆ เหมือนอย่างที่เคยทำ บางรายก็จะบ่นปวดหัว ชอบพูดประชด เสียดสี ในรายที่มีอาการซึมเศร้าหนัก ๆ จะชอบคิดว่าอวัยวะภายในร่างกายบางส่วนหายไป ซึ่งเป็นผลจากความจำหรือความรู้สึกนึกคิด และเป็นความบกพร่องที่อาจมีผลมาจากโรคซึมเศร้า หากพบว่าพ่อแม่รวมถึงญาติผู้ใหญ่ในบ้านมีอาการข้างต้นเกิน 2 สัปดาห์ อาจมีความเสี่ยงเข้าข่ายควรพาไปพบแพทย์ทันที มพบ.เรียกร้องสำนักงานอัยการสูงสุดยกเลิก MOU กับแพทยสภา         จากข่าวการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์โดยมีอัยการสูงสุด นายกแพทยสภาและประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมลงนามเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 นั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเกิดความกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนที่เป็นผู้ป่วยหรือผู้รับบริการสาธารณสุขหรือไม่ เพราะหากศัลยแพทย์ถูกร้องเรียนหรือถูกฟ้องร้องจะได้รับการปรึกษาหารือทางกฎหมายจากอัยการ ความร่วมมือนี้จะส่งผลทำให้อัยการมีความเห็นทางกฎหมายที่เอนเอียงไปกับฝ่ายศัลยแพทย์หรือไม่ และทำไมแพทยสภาจึงต้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายให้แก่หมอศัลยกรรมจากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นกรณีพิเศษ         ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แสดงความเห็นว่าองค์กรอัยการจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ปราศจากอคติ เพราะอัยการมีบทบาทหน้าที่พิจารณาสั่งฟ้องคดีอาญาที่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายร้องทุกข์ในคดีทางการแพทย์ อีกประเด็นที่น่ากังวลคือ หากพนักงานอัยการที่เป็นผู้บริหารให้คำปรึกษาแก่ศัลยแพทย์ แพทยสภาหรือราชวิทยาลัยศัลยแพทย์อาจทำให้มีผลผูกพันต่อการสั่งคดีทางอาญาหรือไม่ และอาจส่งผลต่อความเป็นอิสระเที่ยงธรรมของพนักงานอัยการผู้สั่งคดี กล่าวคืออัยการอาจสั่งไม่ฟ้องหมอศัลยกรรมในคดีต่างๆ เพราะเชื่อในข้อเท็จจริงของฝ่ายแพทย์ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ไม่ได้รับโอกาสพิสูจน์ความจริงในชั้นศาล         กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีความกังวลว่าการร้องเรียนหรือคดีทางการแพทย์ที่ประชาชนได้รับความเสียหาย เช่นจากการทำศัลยกรรมเสริมความงาม ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามกระแสนิยม โอกาสที่จะได้รับความเสียหายก็อาจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หากผู้บริโภคใช้สิทธิฟ้องร้องย่อมเกิดความกังวลเรื่องความเป็นกลาง องค์กรอัยการเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความน่าเชื่อถือและมีความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรม เป็นที่พึ่งสุดท้ายในการที่ผู้บริโภคจะได้รับความเป็นธรรม จึงควรทบทวนความจำเป็นและเหมาะสมในการทำความร่วมมือฉบับนี้ มิฉะนั้นจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในอัยการและกระบวนการยุติธรรม แล้วประชาชนจะหันหน้าไปพึ่งใคร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม

10 อันดับรูปแบบการหลอกลวงทางออนไลน์ ปี 2564 เฟซบุ๊กถูกร้องสูงสุด        10 ตุลาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินการสืบสวนเอาผิดมิจฉาชีพออนไลน์ ในคดีฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชน พบว่า ในรอบ 10 เดือนมีร้องเรียนผ่านสายด่วนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวตั้งแต่เดือน มกราคม – ตุลาคม 2564 โดยส่วนมากเจอกลลวงหลอก ดังนี้ 1.หลอกโอนเงิน ไม่มีสินค้าส่งจริง 2. สินค้าไม่ตรงตามโฆษณา  3.จ่ายซื้อแบรนด์เนมแท้ แต่ได้ของปลอม 4.รับหิ้วของ 5.หลอกให้เซ็นรับพัสดุผิดกฎหมาย 6.ได้รับของชำรุดเสียหาย 7.หลอกซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์ 8.หลอกเช่าพระบูชา 9.ตุ๋นขายแบบผ่อนชำระ 10.หลอกขายไม่ตรงรูป โดยสัดส่วนจากการถูกหลอกขายออนไลน์จากทางเฟซบุ๊ก มีสูงสุดคิดเป็น 82.4% ตามด้วยเว็บไซต์ 4.6% อินสตาแกรม 4.3% และพบว่าข้อมูลการถูกหลอกขายออนไลน์เพิ่มจากปีที่แล้วเป็นเฉลี่ย 2,221 ครั้ง ต่อเดือน         การกระทำดังกล่าวข้างต้นเข้าข่ายความผิดฉ้อโกงต่อประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และทั้งเป็นความผิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 11 อีกด้วย กรมปศุสัตว์แจ้งนมโรงเรียนห้ามซื้อขาย        จากกรณีที่มีกระแสดราม่าในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการโพสต์ขายนมโรงเรียน น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้เปิดเผยว่า ห้ามจำหน่ายนมโรงเรียนนอกโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ทุกกรณี ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2564 หมวด 2 ข้อ 9 ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ โดยระบุว่า ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ ต้องผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และต้องจำหน่ายเฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น หากนำมาจำหน่ายนอกเหนือถือว่าเป็นการกระผิด มีโทษถูกตัดสิทธิการจำหน่ายในส่วนที่เหลือในปีการศึกษานั้น หากพบเป็นการทุจริตของหน่วยงานราชการเอง จะต้องรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยจะมีโทษทั้งทางวินัยและอาญาขั้นร้ายแรงเด็ดขาด สั่งปิด “บริษัท เอเชียประกันภัย 1950”        15  ตุลาคม 2564  คปภ.ได้มีคำสั่งนายทะเบียนเพิกถอนประกอบกิจการ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า มีคำสั่งนายทะเบียนปิดบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) จากการตรวจสอบของทาง คปภ.ได้ตรวจสอบสถานะทางการเงินของบริษัทและได้มีคำสั่งหยุดรับประกันภัยชั่วคราว เนื่องจากพบว่า บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน โดยระบุ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีหนี้สินติดลบ 1,543 ล้านบาท จากปัญหามีผู้ติดเชื้อสูงโควิด-19 ขึ้นต่อเนื่อง จนกระทบต่อสภาพคล่องและมีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายจำนวนมาก ทำให้บริษัทไม่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจวินาศภัยและยังฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ จึงเพิกถอนใบอนุญาต ให้มีผลวันที่ 15 ตุลาคม 2564 โดยผู้เอาประกันจะได้รับความช่วยเหลือและคุ้มครอง จากกองทุนประกันวินาศภัยทันที โดยมีสมาชิก 13 บริษัทประกัน จะรับโอนกรมธรรม์ที่ยังไม่หมดอายุทุกกรมธรรม์ และหากผู้เอาประกันภัยต้องการยกเลิกกรมธรรม์ ทางกองทุนประกันวินาศภัย จะเข้ามาช่วยเหลือและคุ้มครองในการรับค่าสินไหมและค่าเบี้ยคืน แพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยค้านดีอีเอสดึงบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย        จากกรณีภาคเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทยและกลุ่ม ECST ที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าและแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “มนุษย์ควัน”  เข้าพบนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหารือแนวทางผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าให้จำหน่ายได้ตามกฎหมายนั้น ทางนายชัยวุฒิ บอกว่า ได้กำลังศึกษาข้อกฎหมายเพื่อดึงบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้องตามกฎหมายและมีประเด็นติดขัดเรื่องอะไรบ้าง ต่อมาทางแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยจึงได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่าคณะแพทย์จากราชวิทยาลัย 14 แห่ง ขอชี้แจงข้อมูลดังกล่าวพร้อมขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาเรื่องที่ รมว.ดีอีเอส เสนอ และกรณีที่อ้างว่ามี 67 ประเทศ อนุญาตนั้น ขอให้กลับไปทบทวนคำอนุญาตของแต่ละประเทศ ว่ามีข้อแม้และข้อบ่งชี้ในการใช้ทั้งสิ้น ไม่ใช่ขายได้อย่างอิสระ ด้วยคำนึงเหตุผลที่ว่าประเทศเหล่านั้นต้องการปกป้องสุขภาพของประชาชนของเขาด้วยกระบวนการ “ป้องกัน ดีกว่าแก้” มพบ. เร่งกระทรวงดิจิทัลออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศ         จากกรณีที่มีผู้บริโภคกว่า 10,700 ราย ได้รับความเสียหายจากการที่เงินหายจากบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเร่งรัดให้กระทรวงดิจิทัล ออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ ซึ่งมีสาเหตุจากที่แบงก์ชาติได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลข้อมูลของระบบธนาคาร แต่เกิดจากมิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตร และนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศที่ไม่มีการใช้ One Time Password (OTP) และออกมาตรการแก้ไข 4 ข้อในวันที่ 19 ตุลาคม 2564 นั้น         ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า เครื่องรูดบัตร EDC หรือเครื่องแสกนจ่ายโดยแอปพลิเคชันที่ผูกกับบัญชีธนาคาร จะมีการยืนยันตัวตนด้วยการเซ็นสลิป หรือใส่รหัสผ่าน แต่การทำระบบธุรกรรมออนไลน์ที่ใช้การผูกบัญชี ใช้แค่เลขบัตรและเลขหลังบัตรเท่านั้น ซึ่งธนาคารอาจจะต้องไปตรวจสอบว่าข้อมูลรั่วไหลได้อย่างไร  เนื่องจากผู้เสียหายบางรายไม่ได้ผูกบัญชีกับร้านค้าออนไลน์ และรัฐต้องตอบคำถามว่าจะออกมาตรการจัดการปัญหาเรื่องนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไร หากปัญหาเกิดจากแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศตามที่หน่วยงานรัฐชี้แจง แสดงว่ารัฐยังไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและควบคุมแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ทำธุรกิจออนไลน์ในพื้นที่ประเทศไทย อาจทำให้เกิดปัญหาแบบเดิมในอนาคต หากไม่มีกฎหมายมาควบคุมธุรกิจและคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเร่งออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศและคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อสินค้าออนไลน์ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องระบบข้อมูลของผู้บริโภคที่รั่วไหลออกไปต่างประเทศและสามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ที่ทำธุรกิจออนไลน์ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 ทำธุรกรรมธนาคาร อะไรๆ ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม

พูดถึงธนาคารก็ต้องคิดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ ซึ่งแน่นอนว่าหน้าที่หลักๆ ของธนาคาร ก็คือการให้บริการด้านเงินฝาก นอกจากนี้ยังมีบริการอื่นๆ ที่หลายคนก็คงเคยหอบเงินไปใช้บริการที่ธนาคารแถวบ้านกันมาบ้าง ตั้งแต่…การบริการด้านสินเชื่อ การบริการด้านผลิตภัณฑ์การเงิน เช่น การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล การซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การบริการด้านการโอนเงิน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การโอนเงินและเช็คยอดเงินผ่านตู้ ATM อินเตอร์เน็ต หรือทางโทรศัพท์ รวมทั้ง การให้บริการรับชำระค่าบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ สุดท้ายคือบริการการให้คำปรึกษาทางการเงินอีกด้วยอะไรๆ ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหลายคนอาจจะยังไม่ทราบ หรือทราบแล้วแต่ว่าไม่ได้สนใจ ว่าเงินในกระเป๋าที่เราเอาไปฝากไว้กับธนาคาร รวมถึงการทำธุรกรรมต่างๆ นานา อาจหายไปในพริบตากับเจ้าสิ่งที่เรียกว่า “ค่าธรรมเนียม” ค่าธรรมเนียม ก็คือเงินที่เราต้องเสียให้ธนาคารเพื่อเป็นค่าบริการเมื่อเราไปขอรับบริการต่างๆ จากธนาคารอย่างที่เราได้เกริ่นไว้แล้ว โดยบริการหลักอย่างการฝากเงิน เป็นบริการที่ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารมากที่สุด จากข้อมูลผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าปี 2551 ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทยมีรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการจำนวน 74,978 ล้านบาท โดยคิดเป็นค่าธรรมเนียมจากการบริการ เช่น ค่ารักษาบัญชีเงินฝาก 27% ตามมาด้วยค่าธรรมเนียมการโอนและเรียกเก็บเงิน 19.1% ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต 17.3% และค่าธรรมเนียม ATM และธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 16.6% ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมที่เราต้องเสียให้ธนาคารอยู่ในอัตราที่สูงพอสมควร ตัวอย่างเช่น การไปเปิดบัญชีใหม่ เราอาจต้องเสียเงินอย่างน้อยๆ เกือบ 500 บาท เริ่มจากการฝากเงินเปิดบัญชีขั้นต่ำ 200 บาท บวกกับเงื่อนไขให้ทำบัตร ATM ซึ่งทางธนาคารมักแนะนำให้เราทำควบคู่กัน เพราะช่วยอำนวยความสะดวกเวลาถอนเงิน โดยจะต้องเสียอีกอย่างน้อยๆ 300 บาท ประกอบด้วยค่าทำบัตรใหม่ 100 บาท และค่าธรรมเนียมปีแรกอีก 200 บาท หรืออย่างการกดเงินจากตู้ ATM ต่างธนาคารก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมถึง 25 บาท ซึ่งคิดดูแล้วก็เป็นเงินจำนวนไม่น้อยที่เราต้องเสียให้การถอนเงินจากตู้ ATM เพียงครั้งเดียว ฉลาดซื้อ จึงอยากช่วยผู้บริโภคที่มีธนาคารและตู้ ATM เป็นที่พึ่งทางการเงิน ได้รู้เท่าทันเรื่องค่าธรรมเนียม ด้วยตารางเปรียบเทียบค่าธรรมบริการของเหล่าธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย โดยเราเลือกเอาบริการหลักๆ อย่างการบริการเงินฝากและการบริการผ่านบัตร ATM เพื่ออย่างน้อยๆ เราจะได้เลือกใช้บริการธนาคารได้อย่างถูกใจ รู้วิธีจัดการบริหารเงินฝากของตัวเอง ไม่ให้หายวับไปเพราะค่าธรรมเนียม และจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจเพราะเสียเงินไปแบบไม่รู้ตัว Download ตารางเปรียเทียบค่าธรรมค่าบริการด้านเงินฝาก ATM ของธนาคารพาณิชย์ และตารางเปรียเทียบค่าธรรมค่าบริการผ่านบัตร ATM ของธนาคารพาณิชย์ อัตราค่าธรรมเนียมเขาคิดจากอะไรธนาคารแห่งประเทศไทยให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ศึกษาและสำรวจต้นทุนการให้บริการทางการเงินประเภทต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ แล้วนำมาปรับฐานราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง โดยมีหลักการคิดหลักๆ คือ จูงใจผู้บริโภค ให้หันมาใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่าการใช้บริการผ่านเคาน์เตอร์ ซึ่งมีต้นทุนสูง เพราะต้องทำธุรกรรมผ่านกระดาษ อย่างเช่น เช็ค ลดช่องว่างของผู้บริโภคระหว่างผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยจะทำให้ค่าบริการเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ ผู้บริโภคจะมีทางเลือกที่หลากหลายในการทำธุรกรรมกับธนาคาร ด้วยรูปแบบและอัตราค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม เป็นอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์คิดต่อลูกค้า ซึ่งแต่ละธนาคารสามารถทำการเสนอค่าธรรมเนียมต่อลูกค้าในอัตราที่แตกต่างกัน ตามกลไกทางด้านตลาดได้ ซึ่งเมื่อเกิดการแข่งขัน เราก็อาจจะได้เห็นการปรับลดค่าธรรมเนียม ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างหนึ่งที่ใช้จูงใจผู้บริโภคได้ ธนาคารมีรายได้จากไหนธนาคารพาณิชย์มีรายได้หลักๆ อยู่ 2 ทาง คือส่วนที่หนึ่ง รายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผล มาจากเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุน 80%ส่วนที่สอง รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย มาจากการขายสินทรัพย์และค่าธรรมเนียมและบริการ 20% 5 อันดับธนาคารพาณิชย์ไทยที่มี สินทรัพย์ เงินฝาก และเงินให้เชื่อสุทธิสูงสุด ธนาคาร   สินทรัพย์ เงินฝาก   เงินให้เชื่อสุทธิ จำนวน (ล้านบาท) สัดส่วน (ร้อยละ) จำนวน (ล้านบาท) สัดส่วน (ร้อยละ) จำนวน (ล้านบาท) สัดส่วน (ร้อยละ) ธนาคารกรุงเทพ 1,659,844 18.9 1,311,477 20.0 1,111,948 18.9 ธนาคารกรุงไทย 1,327,184 15.1 1,063,532 16.2 1,010,687 17.2 ธนาคารกสิกรไทย 1,303,552 14.9 968,788 14.8 872,085 14.8 ธนาคารไทยพาณิชย์ 1,228,494 14.0 913,534 14.0 854,142 14.5 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 742,576 8.5 540,747 8.3 516,717 8.8 ***ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย (ข้อมูล ณ สิ้นธันวาคม 2551) ไขข้อข้องใจการใช้ ATM-บัตร ATM ใช้ได้กับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ และบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน -เครื่อง ATM จะยึดบัตรด้วยสาเหตุใหญ่ ๆ คือ 1. เจ้าของบัตรโทรแจ้งให้ธนาคารอายัดบัตร และในเวลาต่อมามีการนำบัตรดังกล่าวไปใช้บัตรใบนั้นจะถูกยึดทันที 2. ในการนำบัตรไปใช้ถอนเงิน หากมีการกดรหัสผิดเกินกว่าจำนวนครั้งที่ธนาคารกำหนด เช่น 3 ครั้ง เครื่องก็จะยึดบัตร -บัตร ATM สามารถใช้บริการได้หลายอย่าง เช่น สอบถามยอดเงินคงเหลือในบัญชี ฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงินระหว่างบัญชี ชำระค่าสินค้าและบริการ ชำระค่าสาธารณูปโภค ทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล โอนเงินให้บุคคลที่ 3 ภายในธนาคารเดียวกันหรือต่างธนาคาร นอกจากบัตร ATM จะใช้บริการที่ตู้ ATM แล้ว บัตร ATM ของธนาคารบางแห่งยังสามารถนำมาซื้อสินค้าและบริการได้ทันที เรียกว่า ใช้เป็นบัตรเดบิต โดยไม่ต้องเสียเวลาถอนเงินจากตู้ ATM -ถ้าเครื่อง ATM ไม่ยอมจ่ายเงิน ควรติดต่อธนาคารเจ้าของบัญชีที่ออกบัตรทันที หรือโทรศัพท์ติดต่อศูนย์แก้ปัญหาที่สำนักงานใหญ่ โดยแจ้งข้อมูลแก่ธนาคาร วัน เวลาที่ทำรายการ สถานที่ตั้งเครื่อง ATM เลขที่บัญชี เลขที่บัตร และจำนวนเงิน -ถ้าเจ้าของบัตรลืมรหัสตัวเอง แล้วบัตรถูกยึด สามารถติดต่อขอรับบัตรคืนจากธนาคารได้1.กรณีเป็นเครื่องต่างธนาคาร ให้ติดต่อขอคืนบัตรที่ธนาคารเจ้าของบัตร ซึ่งอาจต้องรอหลายวัน 2.กรณีเป็นเครื่องของธนาคารผู้ออกบัตร ให้ขอรับได้จากธนาคารภายในวันรุ่งขึ้น ทั้ง 2 กรณี เจ้าของบัตรต้องเตรียมหลักฐานยืนยันว่า เป็นเจ้าของบัตรที่แท้จริง -ผู้ถือบัตร ATM ที่ออกโดยธนาคารในต่างจังหวัดสามารถใช้ตู้ ATM ของธนาคารผู้ออกบัตรในจังหวัดนั้นได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่ถ้าหากไปใช้ตู้ ATM ของธนาคารอื่น จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 10-20 บาทต่อรายการ เนื่องจากธนาคารมีค่าใช้จ่ายในการติดต่อสื่อสาร (ค่าคู่สาย) เข้ามาที่ศูนย์ประมวลผลในกรุงเทพ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ธนาคารจึงต้องนำค่าคู่สายรวมเข้าไปด้วย 423,720 บาท คือราคาของเครื่อง ATM 1 เครื่อง200,090 บาท คือราคาของเครื่องปรับสมุด 1 เครื่อง1,200,000 บาท คือราคาของเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ 1 เครื่อง***ที่มา : การศึกษาปัญหาและการกำหนดกลยุทธ์ในการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมของบมจ.ธนาคารกรุงไทย โดย จงกรมแก้ว พหลพลพยุหเสนา ข้อแนะนำสำหรับคนที่ไม่อยากเสียเงินฟรีๆ ไปกับค่าธรรมเนียม1.ควบคุมบัญชีเงินฝากของตัวเองให้ดี อย่าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำอะไร และปล่อยให้เงินในบัญชีเหลือน้อยกว่าที่ธนาคารเขากำหนด เพราะถ้าทำแบบนี้เสียเงินแน่2.เป็นไปได้ก็อย่าไปกด ATM ของธนาคารอื่น ถ้าไม่อยากเสียเงินฟรี3.ไปกดเงินที่ ATM ในต่างจังหวัดก็ต้องทำใจเพราะยังไงก็เสียค่าธรรมเนียม4.โอนเงินผ่านตู้ ATM ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียม ทั้งแบบข้ามเขตและต่างธนาคาร ยิ่งโอนมากก็ยิ่งเสียมาก5.แต่ถ้าใครอยากฝากเงินเพื่ออนาคต ไม่คิดว่าจะถอนมาใช้จนกว่าจะถึงเวลาจำเป็น ไม่ต้องสมัครบัตร ATM ก็ได้ เพราะช่วยประหยัดได้หลายร้อยบาท6.จะฝาก จะถอน ก็ต้องดูให้ดี ว่าธนาคารที่เราเปิดบัญชีอยู่ในเขตเดียวกับธนาคารที่เราจะใช้บริการหรือเปล่า ถ้าไม่ใช้ก็ทำใจว่าต้องเสียค่าธรรมเนียม7.หมั่นเช็คสมุดบัญชีเงินฝากอยู่เสมอ เพราะหากข้อมูลหาย แล้วอยากขอสำเนารายงานแสดงบัญชีย้อนหลังกับทางธนาคาร แบบนี้เขาคิดเงิน8.ดูแลรักษาสมุดบัญชีและบัตร ATM ให้ดี เพราะถ้าชำรุดหรือทำหาย ขอใหม่ก็ต้องเสียเงิน9.หากเปิดบัญชีแล้วเกิดเปลี่ยนใจ อยากปิดบัญชีแต่ว่าเปิดมาไม่ถึงตามเวลาที่ธนาคารกำหนด แบบนี้บางที่เขาคิดเงินนะ ข้อมูลประกอบการเขียน : ธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th, สมาคมธนาคารไทย www.tba.or.th, โครงการวิจัยเรื่อง ‘แนวทางปรับปรุงแก้ไขกฎเกณฑ์ควบคุมธนาคารพาณิชย์ประเทศไทย’ ผู้แต่ง ปกรณ์ วิชยานนท์, มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.2532, การศึกษาปัญหาและการกำหนดกลยุทธ์ในการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมของบมจ.ธนาคารกรุงไทย โดย จงกรมแก้ว พหลพลพยุหเสนา.2548, แบบแสดงรายงานข้อมูลประจำปี 2551 ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 147 ธุรกิจ ธุรกรรมผ่านสมาร์ตโฟน และ Tablet PC : ประเด็นสำคัญที่องค์กรผู้บริโภคให้ความสำคัญ

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการธุรกิจ ธุรกรรมผ่าน สมาร์ตโฟน และ Tablet PC : ประเด็นสำคัญ ที่องค์กรผู้บริโภคให้ความสำคัญ (Mobile Commerce via Smartphone and Co.- Analysis and and outlook of the future market from the user’s point of view สำหรับบทความในวันนี้ จะขอแปลและเรียบเรียง ผลการศึกษาขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนี ที่ได้เผยแพร่งานวิจัย ในเรื่องการทำธุรกรรม ผ่านโทรศัพท์มือถือ สมาร์ตโฟน และ แทบเลต ที่จะมีบทบาทสำคัญทางการค้าขาย ในยุค 3G และ 4G ของการสื่อสาร และการเสนอกรอบสำหรับการกำกับดูแลในประเด็นดังกล่าว สมาร์ตโฟนและแทบเลต เป็นเครื่องมือที่นอกจากจะใช้การติดต่อสื่อสาร รับส่งข้อมูล แล้วยังสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้ด้วย ทำให้เป็นที่นิยมในสังคมเยอรมนีเป็นอย่างมาก ความนิยมดังกล่าวส่งผลให้ การให้บริการรับส่งข้อมูล (Data mobile service) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การสื่อสารประเภทเสียง (Voice mobile service) ก้าวเข้าสู่ยุคการอิ่มตัวของตลาด การสื่อสารประเภทข้อมูล (Data mobile service) มีการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ช้อปปิงออนไลน์ ซื้อตั๋วรถไฟ ตั๋วเครื่องบิน ฯลฯ   ความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมเป็นผลมาจาก เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 (3G) และ ยุคที่ 4 (4G) ที่ผู้ให้บริการโครงข่ายการสื่อสารได้เพิ่มความสามารถในการรับส่งข้อมูล ในโครงข่ายของตัวเองเพิ่มมากขึ้น และในขณะเดียวกัน การติดตั้งไว ไฟ (Wi-Fi) ภายในบ้านและสถานที่สาธารณะ ก็ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างสมาร์ตโฟนและแทบเลต สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น ในราคาผู้บริโภคเข้าถึงได้ ประสิทธิภาพของสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ทุกๆ 2 ปี และในอนาคตสมาร์ตโฟนจะเป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า โทรศัพท์มือถือ เพราะสมาต์โฟนก็คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดพกพา ที่มี processor ประสิทธิภาพสูง มีหน่วยบันทึกความจำปริมาณมาก ประกอบไปด้วยทัชสกรีน ที่มีความไวสูง มีกล้องถ่ายรูปที่มีจำนวน pixel มากๆ และมีเซนเซอร์หลายตัว และการพัฒนาสมาร์ตโฟนใอนาคตก็จะทำให้การใช้งานเป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ   สมาร์ตโฟน: อุปกรณ์ส่วนตัวที่ดึงดูดให้เกิดการทำธุรกรรมแบบเคลื่อนที่ (mobile- commerce) ระบบปฏิบัติการของสมาร์ตโฟนและแทบเลต ไม่ว่าจะเป็น Android, Apple iOS, Blackberry OS, Windows Mobile จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน การติดตั้ง Apps จะง่ายขึ้น Apps หรือโปรแกรมทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างสมาร์ตโฟน เป็นประตูที่จะรับส่ง ข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของ sensor (sensor data) ตำแหน่งของสมาร์ตโฟน (location data) ตลอดจนข้อมูลอื่นๆ การดาวน์โลด app มักจะทำการดาวโลดน์ผ่าน app store เช่น Apple App store (ระบบปฏิบัติการ iOS), BlackBerry App world (ระบบปฏิบัติการ BlackBerry OS), Google Play Store (Android), Samsung App (ระบบปฏิบัติการ Android และ Bada) หรือ Microsoft Market Place (ระบบปฏิบัติการ Windows) โดยที่ Apps เหล่านี้ เกิดจากการสร้างสรรค์และพัฒนาโดยนักเขียนโปรแกรมอิสระ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างมูลค่าให้กับระบบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม การสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นแหล่งของการงานสร้างสรรค์อย่างมหาศาล เป็นแหล่งที่นักพัฒนาซอฟท์แวร์อิสระสามารถเข้าสู่ตลาดที่กว้างใหญ่ได้โดยง่าย ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคมี Apps ให้เลือกมากกว่า ครึ่งล้าน Apps สมาร์ตโฟนเป็นเครื่องมือสื่อสารส่วนบุคคล ที่เก็บข้อมูลส่วนบุคคลไว้มากมายด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Address book ปฏิทินกิจกรรม รูปภาพ และ ลิงค์เชื่อมต่อ Social Network เนื่องจากสมาร์ตโฟนได้ออกแบบมาสำหรับการใช้งานส่วนบุคคลมากที่สุด ทำให้สามารถใช้สมาร์ตโฟนได้ทุกที่ ทุกเวลา ทำให้สมาร์ตโฟนเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งในการประกอบธุรกรรม ไม่ว่าผู้บริโภคต้องการตรวจสอบโปรโมชันของสินค้าหรือบริการ เปรียบเทียบราคา เสาะหาร้านค้า สั่งสินค้า ชำระค่าสินค้าและบริการ ด้วยเทคโนโลยี Geo-Localization (เทคโนโลยีการระบุตำแหน่งบนโลก) ทำให้สามารถตรวจจับ ตำแหน่งของผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนได้ และ App บางตัว ทำให้ผู้บริโภคสามารถได้รับข้อมูลที่จำเป็น ว่าจะเดินทางไปที่ไหน และจะเดินทางไปอย่างไร ในเรื่องการระบุตำแหน่งของผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนนั้น ถือว่าเป็นหลักการพื้นฐานเบื้องต้น สำหรับการทำธุรกรรมแบบเคลื่อนที่ (m-commerce services) อย่างไรก็ตามข้อมูลระบุตำแหน่ง เป็นข้อมูลส่วนบุคคลจำเป็นต้องมีความระมัดระวังระมัดระวัง เพราะข้อมูลเหล่านี้สามารถเป็นเครื่องมือในการบอกพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ และเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการค้าขายนำมาใช้ในทางที่ผิด ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้โดยง่าย จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมผู้บริโภคจึงได้ App บางตัวมาฟรีๆ โดยไม่ต้องเสียสตางค์ เพราะสิ่งที่ผู้ประกอบการบางรายต้องการคือข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค เพื่อนำมาใช้ในเชิงธุรกิจ   กระเป๋าสตางค์ในอนาคต (M-Payment) ในอนาคตสมาร์ตโฟนจะเป็นกระเป๋าสตางค์ของผู้บริโภคด้วย ที่ผ่านมาเราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอินเตอร์เนตได้แล้ว และกำลังจะเคลื่อนไปสู่การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบ สมาร์ตโฟน (m-payments of mobile online purchase) การทำธุรกรรมทางการเงิน ใช้การรับส่งสัญญาณและข้อมูลผ่านระบบการติดต่อไร้สายระยะใกล้ (Near Field Communication (NFC) wireless technology) การจ่ายเงินหรือการชำระค่าบริการผ่านสมาร์ตโฟนสามารถทำได้ทุกที่ ขณะนี้ในประเทศเยอรมนีก็เริ่มมีการแข่งขันกันในการ ทำระบบ m- payment system ไม่ว่าจะเป็นบัตรสมาชิก คูปองแลกซื้อสินค้า ก็สามารถใช้สมาร์ตโฟนเป็นเครื่องมือในการใช้งานได้ผ่าน NFC ชิป (NFC-Chips) เงื่อนไขความสำเร็จของระบบตลาดภายใต้การทำธุรกรรม m-payment ผ่านระบบ NFC คือ การยอมรับเทคโนโลยีของผู้บริโภคและผู้ค้าปลีก รายย่อย ซึ่งจะต้องดูว่าในอนาคตนั้น m-payment จะประสบความสำเร็จเพียงใด จะสามารถไปถึงจุดคุ้มทุน (critical mass) ของจำนวนผู้ใช้สมาร์ตโฟนได้หรือไม่ ปัจจุบันรูปแบบการทำธุรกรรมแบบนี้ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เนื่องจากการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้สมาร์ตโฟน ในปี 2011 ชาวเยอรมันจำนวน 2.9 ล้านคน ใช้สมาร์ตโฟนในการทำธุรกรรมทางการเงิน ในขณะที่คนมากกว่า 5 ล้านคน ใช้ประโยชน์จากการการรวบรวมข้อมูล จากสมาร์ตโฟนมากกว่าการซื้อสินค้า M-shopping ได้เพิ่ม ความโปร่งใสของระบบตลาดทั้งในด้านผู้บริโภคและผู้ให้บริการ ผู้บริโภคได้รับข้อมูลด้านราคา ความหลากหลายของสินค้า โปรโมชัน ส่วนผสมของสินค้า และแหล่งที่มาของสินค้า ดีขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ให้บริการ Apps ก็ได้ใช้ประโยชน์ข้อมูลของผู้บริโภคที่มีค่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมในการซื้ออย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร มาเป็นประโยชน์ในทางธุรกิจได้ ภายใต้บริบท การทำธุรกรรมเป็นแบบส่วนตัว นี้ ผู้บริโภคก็มีความกังวลในประเด็น เรื่องความเสี่ยง (Risk) การบิดเบือนข้อเท็จจริง (Manipulation) หลอกลวง ปลอมแปลง ต้มตุ๋น ทำให้เข้าใจผิด (Deception) และ การเลือกปฏิบัติ (Discrimination)   เนื่องจากการทำธุรกรรมผ่านสมาร์ตโฟน และแทบเลต เป็นช่องทางที่รวดเร็วมาก หน้าจอของอุปกรณ์เหล่านี้ เป็นแบบสัมผัส ที่มีความไวต่อการสัมผัสสูง ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดในการทำธุรกรรม เพราะฉะนั้นสมควรที่จะพัฒนากฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกเลิกการทำธุรกรรม การคืนสินค้า ข้อมูลของการทำธุรกรรมที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค   แนวทางการกำกับดูแล การทำธุรกรรมในระบบ m-commerce การยอมรับ ความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสเป็นหัวใจสำคัญ ในการทำธุรกิจภายใต้ m-commerce ที่เกิดขึ้นตามกระแสโลกาภิวัฒน์ การกำกับดูแลจากภาครัฐมีความจำเป็นในการกำหนดกรอบกฎหมายที่จะใช้เป็นเครื่องมือ ในการดูแล ปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวขั้นสูงสุดของผู้บริโภค สมาร์ตโฟนเป็นอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลสำคัญต่างๆ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านสถานที่ที่ผู้บริโภคกำลังสถิตอยู่ หรือแม้แต่พฤติกรรมการจ่ายเงิน ข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้สมควรจะได้รับการคุ้มครอง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จำเป็นที่จะต้องมีแนวคิด ที่ว่า ความเป็นส่วนตัวสามารถกำหนดได้ (privacy by design) คือ อุปกรณ์สมาร์ตโฟนและซอฟท์แวร์ที่ผลิตออกมาจากโรงงาน สมควรจะติดตั้ง ระดับการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลอย่างสูงสุด (default settings offer the highest degree of privacy)   การออกกฎเพื่อลดช่องว่างของกฎหมาย เนื่องจากการทำธุรกรรมผ่านสมาร์ตโฟน และแทบเลต เป็นช่องทางที่รวดเร็วมาก เนื่องจาก หน้าจอของอุปกรณ์เหล่านี้ เป็นแบบสัมผัส ที่มีความไวต่อการสัมผัสสูง ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดในการทำธุรกรรม เพราะฉะนั้นสมควรที่จะพัฒนากฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกเลิกการทำธุรกรรม การคืนสินค้า ข้อมูลของการทำธุรกรรมที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค จากงานวิจัยขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนีพบว่า Apps ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมส่วนมาก มีเงื่อนไขของสัญญาที่ยังไม่เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด (German Telemedia legislation) เนื้อหาในสัญญามีความยาวมากเกินไป และบางครั้งเนื้อหาในสัญญาเองก็เข้าข่าย ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (German’s Federal Privacy Act) กลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค การสร้างหลักประกันความมั่นใจให้กับผู้บริโภค (Reputation Mechanism) คือ การออกมาตรฐานและการรับรองจากหน่วยงานที่เป็นอิสระในทางวิชาการ สำหรับสมาร์ตโฟน Apps และบริการ m-commerce ต่างๆ ที่นำเสนอในอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจสำหรับการทำธุรกรรมเพิ่มมากขึ้น พัฒนาการสำหรับการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลในอนาคตคือ การที่ผู้บริโภคสามารถจัดแบ่งลำดับความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคล สามารถที่จะเลือกระดับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคลได้มากกว่าปัจจุบัน ที่ยังอยู่ในระดับแค่การยอมรับ หรือไม่ยอมรับมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เป็นสัญญาสำเร็จรูปจากผู้ประกอบการ (ในกรณีที่ผู้บริโภคไม่ยอมรับเงื่อนไข การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ผู้ประกอบการเสนอมาในรูปแบบของสัญญาสำเร็จรูป ก็ไม่สามารถดำเนินการทางธุรกรรมต่อไปได้ เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ) และการประกอบธุรกรรมภายใต้ระบบ m-commerce ควรที่เพิ่มช่องทางให้ผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของข้อมูล สามารถลด และลบร่องรอยของข้อมูล ที่มักจะทิ้งไว้ให้สะกดรอยตามได้โดยง่าย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point