ฉบับที่ 109 หมอนิล หมอติดดินของชาวเกาะยาว

“ป่ะ เดี๋ยวไปกินข้าวกลางวันด้วยกัน” หมอนิลเอ่ยชวนทีมฉลาดซื้อ หมอนิลว่าพลางสตาร์ทรถมอร์เตอร์ไซค์ ขับพาทีมฉลาดซื้อเข้าหมู่บ้าน ไปหยุดที่บ้านหลังหนึ่งในสวนยาง  ซึ่งเป็นบ้านที่เชิญหมอให้มากินข้าวกลางวันที่บ้าน ครั้นพอมาถึงหมอก็เข้าครัว  ยกสำรับอาหาร พลางเรียกม๊ะกับป๊ะให้มาทานข้าวด้วยกัน รวมกับเป็นลูกหลานของคนบ้านนี้ “หมอนิลเหรอ โอ้ยเหมือนลูกเหมือนหลานของคนที่นี่ละ” บังโกบบอกกับทีมฉลาดซื้อ ฉลาดซื้อจะพาคุณมารู้จัก นพ.มารุต เหล็กเพชร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์ สาขาสถานีอนามัยพรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา หมอติดดินของชาวบ้านเกาะยาวกันค่ะ เป็นหมออย่างหมอนิล“อยากทำงานที่นี่ตั้งแต่ได้เดินทางมาเที่ยวในช่วงเป็นนักศึกษาแพทย์ ได้สัมผัสชีวิตชาวบ้านที่ไม่มีหมอดูแล เมื่อเรียนจบก็เลยอยากจะมาดูแลชาวบ้านที่เกาะนี้” นั่นเป็นความตั้งใจของหมอนิล เมื่อตอนเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร หมอนิลเป็นคนปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ด้วยความที่เป็นคนใต้ ภาษาจึงไม่เป็นอุปสรรคในการสื่อสาร แต่จะมีบ้างเพราะชาวบ้านที่นี่เกือบทั้งหมดเป็นมุสลิม ก็จะมีบ้างบางคราวที่ไม่เข้าใจกันในช่วงแรกๆ  แต่ถึงที่สุดชาวบ้านก็เห็นความจริงใจของหมอนิล จนเอ็นดูเหมือนลูกหลานในที่สุด ก่อนที่จะมาเรียนหมอนั้นหมอนิลอ่านหนังสือของหมอ ประเวศ วะสี ซึ่งพูดถึงปัญหาในระบบสาธารณสุขว่าเป็นสาธารณสุขหรือสาธารณทุกข์ และนั่นเองเป็นตัวจุดประกายให้หมอนิลเห็นว่าในวงการแพทย์มีเรื่องต้องแก้อีกเยอะและท้าทายทำให้เขาตัดสินใจเรียนหมอในที่สุด หมอนิลบอกว่าทำงานอยู่ที่นี่ไม่กลัวถูกฟ้อง เมื่อเราลองถามว่า เป็นหมอกลัวถูกฟ้องไหมหมอบอกว่า เขามีความสัมพันธ์กับคนไข้ดี แล้วคนไข้ก็ไม่มากราวๆ 60-70 คน ต่อวัน มีเวลาจะคุยหรืออธิบายเรื่องต่างๆ ได้พอสมควร หมอมองว่า ปัญหาการฟ้องร้องมันเกิดจากที่ว่าไม่ใช่เพราะหมอรักษาพลาดอย่างเดียว แต่มันเกิดจากการสื่อสารที่ไม่ดี ไม่อธิบาย “บางโรงพยาบาลที่ใหญ่ๆ คนเยอะๆ ก็เจอหมอแค่แป๊บเดียว มีข้อสงสัยอะไรก็ไม่ได้ถามให้หายสงสัย พอผิดพลาดขึ้นมามันก็มีเรื่องแบบนี้ แต่ถ้าเรามีการคุยกันบ่อยๆ หรือแม้กระทั่งมันผิดพลาดไปแล้ว ถ้ามีการคุยกัน อธิบายว่าเป็นยังไง บางทีเขาก็ไม่เอาเรื่อง ถ้าเขาเข้าใจในระบบ แต่มันเกิดจากการที่ไม่คุยกัน ไม่สื่อสารกัน หรือว่ามีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกันมาก่อน ซึ่งผมว่ามันน้อยมากที่ปัญหาการฟ้องร้องจะเกิดจากข้อผิดพลาดทางการแพทย์จริงๆ  ไม่มีหมอคนไหนอยากให้เกิดความผิดพลาด คือถ้าเขารู้ว่ามันจะเกิดเขาก็ไม่ทำแน่นอน คือมันมีโรคบางโรค บางอย่างที่เปอร์เซ็นต์ความผิดพลาดมันมี”  หมอนิลกล่าว หมอนิลมองกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ ว่ามันเป็นสิทธิของมนุษย์ขั้นพื้นฐาน แล้วการเรียกร้องค่าเสียหายก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เขาจะได้รับ “มันก็ทำให้เกิด มาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้มีการจ่ายค่าชดเชย ซึ่งมาตรานี้ก็โอเค มันก็เป็นสิทธิที่เขาควรทำได้ มันก็เป็นพื้นฐานของสิทธิทั่วไปเลย เช่นถ้าหากราชการทำอะไรไม่ถูกต้อง ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เราก็มีสิทธิที่จะถามได้ว่ามันคืออะไร ยังไง แล้วถ้าเราไม่ได้รับความชอบธรรมเราก็ควรจะได้รับความชอบธรรมนั้นกลับคืนมา ซึ่งมันเป็นพื้นฐานทั่วไปที่ทำกับหน่วยงานราชการ ไม่ใช่เฉพาะหมอ อาจจะเป็นตำรวจ ทหาร หรือทางฝ่ายปกครองก็ได้” โรงพยาบาลต้องเป็นของชุมชน “ผมอยากให้เขารู้สึกว่าโรงพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่อยากให้คิดว่าโรงพยาบาลเป็นที่ของคนเจ็บป่วย แต่โรงพยาบาลเป็นของชุมชนที่เขาจะมาใช้ประโยชน์ได้ตามที่เขาต้องการ และอยากให้โรงพยาบาลเป็นที่ส่งเสริมสุขภาพ อย่างเขาอยากจะจัดตลาดนัดสุขภาพ เขาก็มาใช้โรงพยาบาลได้ หรือว่าอยากจะมาออกกำลังกาย มาอบสมุนไพร อบซาวน่า มานวด มาปลูกผักปลอดสารพิษ มาทำกับข้าวให้คนไข้กิน ให้หมอพยาบาลกิน คือถ้ามันเป็นของชุมชนจริงๆ ชุมชนก็ต้องมีบทบาทในการคิดว่าใครอยากทำอะไร มาทำที่โรงพยาบาลทำได้ไหม แล้วมาช่วยกันทำ อยากเห็นการพัฒนาโรงพยาบาลอื่นๆ ไปแบบนั้น ไม่ใช่เป็นที่สำหรับหมอพยาบาล คนไข้ คนเยี่ยมไข้ เท่านั้น อยากให้มันขยายความออกไป คือเราต้องเปิดพื้นที่ให้คนอื่นมาร่วมกันคิดว่าเราจะใช้โรงพยาบาลในฐานะที่เป็นโรงพยาบาลของชาวบ้านเอง เขาจะทำอะไร เพราะฉะนั้นมันก็จะเกิดกิจกรรมอีกมากมายที่จะเกิดขึ้นได้ในโรงพยาบาล อย่างที่ผมยกตัวอย่าง แล้วพอโรงพยาบาลมันเป็นของชุมชน มีอะไรชาวบ้านก็จะช่วยเรา ช่วยเฝ้าระวังโรคต่างๆ ช่วยเป็นอาสาสมัคร  พวกนี้ก็จะมาช่วย คือเราไม่สามารถจะทำได้อยู่แล้ว อย่างไข้เลือดออก มาลาเรีย ก็ต้องใช้ชาวบ้านช่วยกัน คือถ้าเขารู้สึกว่าโรงพยาบาลเป็นของเขา แล้วก็มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพตัวเอง คือแทนที่เราจะมีพยาบาล 5-6 คนอยู่ที่โรงพยาบาล แต่กลายเป็นว่าเหมือน เรามีพยาบาล 5,000-6,000 คน ที่เป็นคนอยู่ที่นี่ ดูแลเพื่อนบ้าน ดูแลตัวเอง ดูแลญาติเขาอยู่ในชุมชน ที่สำคัญต้องไม่เอาตัวหมอเป็นศูนย์รวม เราต้องคุยกับคนไข้ และญาติคนไข้ให้เยอะๆ การรักษานอกจากรักษาอาการทางกายแล้ว การดูแลเยียวยาเรื่องจิตใจก็เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้เช่นเดียวกัน” พูดถึงอาสาสมัครหมู่บ้านหมอนิลบอกว่าจะแบ่งเป็นหมู่บ้าน อาสาสมัคร 1 คนจะช่วยดูแลประมาณ 10 ครัวเรือน มีอะไรเขาจะรู้หมดว่าใครเกิด ใครตาย ใครป่วยอะไร ใครจะต้องมาตรวจบ้าง ใครมารับยาหรือไม่มารับ เขาจะรู้ แล้วอาสาสมัครก็จะช่วยมาบอกโรงพยาบาล ครั้นเมื่อเกิดระบาดอาสาสมัครก็จะช่วยติดตามข่าวบอกทั้งชาวบ้านและหมอ การสร้างเครือข่ายสุขภาพจึงทำให้ชุมชนช่วยตัวเอง พึ่งตัวเองได้ทางด้านสุขภาพ ถือเป็นแนวคิดการส่งเสริมสุขภาพที่ดีเลยทีเดียว ที่นี่มี แพทย์ประจำ 1 คนนั่นคือก็คือหมอนิล พยาบาล 6 คน และเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขอีก 2 คน รวม 9 คน มีขนาด 5 เตียง มีการทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพโดยให้การดูแลทั้งผู้ป่วยทั่วไปและฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งการออกไปเยี่ยมคนไข้ตามบ้าน สัปดาห์ละ 3 วัน คือวันพุธ วันพฤหัสบดี และวันศุกร์ จากแนวคิดโรงพยาบาลต้องเป็นของชุมชนนี้เอง หมอนิลกับชาวบ้านจึงคิดที่จะสร้างโรงพยาบาลขึ้นมาโดยจะขยายเรือนพักผู้ป่วย ชื่อว่า “โครงการสร้างเรือนพักผู้ป่วยหลังใหม่ โดยมีชุมชนเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมทุกประการ”  ขณะนี้เขียนแผนและแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว  อยู่ระหว่างการระดมทุนสร้าง หมอนนิลบอกว่าค่อยๆ สร้าง มีเท่าไรก็ค่อยๆ ทำไป “ตอนนี้ออกแบบเสร็จแล้ว แต่ว่าต้องหาเงินมาทำ รมต.เขาก็บอกว่าน่าจะได้ แต่ก็ดูความแน่นอนอีกที เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองต้องขึ้นอยู่กับการเมืองหรือเปล่าไม่รู้ ไม่แน่นอน อย่างผมก็ไม่กล้าบอกชาวบ้านหรอก ว่าได้หรือไม่ได้ แต่มีแนวโน้มว่าเขาอนุมัติในหลักการแล้วว่าให้เราทำแบบนี้ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลหรือเปลี่ยน รมต.มันก็ยกเลิกไปได้” คลินิคหนัง(สือ) สำหรับวิชาชีพแพทย์ หลายคนมองว่าการอุทิศตนทำงานในชนบทเป็นการเสียโอกาส แต่สำหรับหมอนิลแล้วเขากลับคิดว่านี่เป็นความสุข และยังถือโอกาสใช้บรรยากาศบนเกาะบ่มเพาะความฝันของตนเองด้วย "ข้อด้อยของการมาทำงานในที่แบบนี้คือเราอาจจะไม่ได้เรียนรู้โลกภายนอก หากออกไปพบกับคนในวงการเขาก็อาจจะคิดว่าเราเป็นหมอบ้านนอก ซึ่งตอนแรกก็มีความรู้สึกแบบนั้นบ้าง แต่พอตอนหลังรู้ว่าความสุขที่แท้จริงในชีวิตของเราคืออะไร ก็เลยไม่รู้สึกแบบนั้นอีก ส่วนข้อดีของการทำงานในที่แบบนี้ก็คือการทำงานไม่ได้เป็นแค่เพื่องาน แต่เป็นส่วนหนึ่งของการได้เรียนรู้ชีวิต เหมือนเราได้มารู้อะไรใหม่ๆ ได้มีเวลาคิดว่าความสุข ความทุกข์ของคนคืออะไร และต่อไปเราอยากจะทำอะไร ซึ่งเป็นเหมือนบันไดในการเรียนรู้ถึงสิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปในอนาคต ไม่เคยคิดว่าการมาทำงานที่นี่เป็นการเสียโอกาส เพราะมีเวลามากขึ้น มีความสุขมากขึ้น และได้ทำอะไรหลายๆ อย่างที่อยากจะทำ ทั้งการเขียนหนังสือ การทำหนังสั้นและการเปิดร้านหนังสือ" ในวงการวรรณกรรมหลายคนรู้จักเขาในนาม “นฆ ปักษนาวิน” ที่มีผลงานทั้งงานเขียนเรื่องสั้นตีพิมพ์ ร่วมกับเพื่อนๆ ในหนังสือชื่อ 'ธรรมชาติของการตาย' จากประสบการณ์และมุมมองในเหตุการณ์สึนามิ  นอกจากนั้นยังเปิดร้านหนังสือชื่อ 'ร้านหนัง(สือ)๒๕๒๑' ซึ่งอยู่ถนนถลาง ในย่านเมืองเก่าของจังหวัดภูเก็ต โดยจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งของร้านเอาไว้ให้นักเขียนมานั่งเสวนาแลกเปลี่ยนความ คิดเห็นกัน รวมถึงมีห้องฉายหนังเล็กๆ ด้วย ส่วนผลงานหนังสั้นขณะนี้ได้ทำออกมาแล้ว 5 เรื่อง เรื่องแรกคือ Burmese Man Dancing ซึ่งเป็นสารคดีสั้น 6 นาที เกี่ยวกับแรงงานพม่า ซึ่งผลงานชิ้นนี้ได้โอกาสไปฉายในเทศกาลหนังสั้นที่ประเทศเยอรมนีในปี ค.ศ. 2008 ด้วย ส่วนหนังสั้นเรื่องล่าสุดคือ แมวสามสี เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคน โดยได้มีโอกาสนำไปฉายที่เมืองรอสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ด้วยเช่นกัน “คลินิก(แพทย์) ก็อยากเปิดนะครับ แต่ผมไม่มีเวลา วันเสาร์-อาทิตย์ก็อยากพักผ่อน อยากทำอย่างอื่น  อย่างผมเปิดร้านหนังสือก็จะจัดกิจกรรมมีวงคุย เสวนา จัดอีเว้นต์ แล้วก็ต้องคุยกับคนเยอะแยะ สนุกกันคนละแบบกับที่โรงพยาบาล” หมอนิลอธิบายง่ายๆ ว่าทำไมหมอไม่เปิดคลินิกเหมือนกับหมอทั่วๆ ไป เปิดกัน ไม่ว่าบทบาทไหน ล้วนเป็นอย่างเดียวกันเมื่อฉลาดซื้อถามถึงบทบาทระหว่างเป็นหมอกับเป็นคนในวงการวรรณกรรม ว่าชอบอย่างไหนมากกว่ากัน หมอนิลให้คำตอบที่น่าทึ่งมากๆ ว่า “ผมว่าผมทำคละๆ กันนะ อยู่ที่โรงพยาบาลผมก็เหมือนนักกิจกรรมนะ อยู่ที่ร้านผมก็เหมือนเป็นนักกิจกรรมเหมือนเดิม แต่ว่าทำอีกด้านหนึ่ง ที่โรงพยาบาลอาจจะเป็นนักกิจกรรมด้านสุขภาพ แต่ที่ร้านหนังสืออาจจะเป็นเรื่องวรรณกรรม ศิลปะ ทำชุมชนอีกแบบหนึ่ง แต่ผมว่ามันคืออันเดียวกัน คือเราไม่สามารถแบ่งแยกได้ว่าอันนี้คือการส่งเสริมสุขภาพ อันนี้คือหนังสือ มันไม่ได้แล้ว เพราะว่าคนเราไม่ควรโดนแบ่งแยกแบบนั้น เพราะเราสร้างสุขภาวะได้หลายแบบ ไม่ใช่แค่ทางกายเท่านั้น โดยการทำกิจกรรมอย่างนี้มันก็เป็นการสร้างสุขภาวะอีกแบบหนึ่ง การทำให้คนรู้จักศิลปะ วรรณกรรม มันก็เป็นการสร้างสุขภาวะอีกแบบหนึ่งครับ” หมอนิลยกตัวอย่างหนังสือ “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว” ที่ไม่มองอะไรแบบแยกส่วน หมอบอกว่า อ่านแล้วเปลี่ยนโลกทัศน์ในมุมมองต่อวิทยาศาสตร์ ที่เคยชินกับการมองแบบแยกส่วน เป็นมามองแบบองค์รวม มองความสัมพันธ์ มองทุกอย่างเป็นองค์รวม “สมมติคนนี้มีปัญหาเรื่องการแยกส่วน เพราะว่าสังคมมันเปลี่ยนไป การปฏิวัติอุตสาหกรรมมันเกิดจากกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ยุคหนึ่ง มันมาประสบความสำเร็จในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม คนต้องแบ่งงานกันทำ ว่าคนนี้มีบทบาทหน้าที่นี้ แต่ว่าในชีวิตจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้น อย่างคนสมัยก่อนก็มีความรู้หลากหลายด้าน เช่น ลีโอนาโด ดาวินชี่ เป็นหมอ วิศวะ จิตรกร เขาไม่มีการมาแยกว่าคนนี้เป็นอะไร คนที่รักในความรู้ แล้วแสวงหาความรู้ทั้งทางโลกทางธรรม เป็นแบบใช้ด้วยกันหมด แต่พอมายุคโลกสมัยใหม่ตอนนี้มันก็ใช้ความรู้อย่างเดียวไปแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว เหมือนกันอย่างผมเคยเขียนว่าผมจะรักษาคนไม่ได้ ถ้าคนไม่หายจน เพราะฉะนั้นถ้าจะถามว่าทำยังไงให้คนไม่จน มันไม่ใช่ความรู้ด้านการแพทย์ ผมยังรักษาให้คนมีสุขภาพดีไม่ได้ ถ้าเขายังจนอยู่ ถ้าเราไปถามวิธีแก้ปัญหาความจนกับนักเศรษฐศาสตร์ เขาก็อาจจะบอกว่าเขาทำให้คนหายจนไม่ได้หรอกถ้าไม่มีรัฐศาสตร์ที่ดี ไม่มีการเมืองที่เหมาะสม  ครั้นไปถามนักรัฐศาสตร์ก็จะบอกว่าเขาทำให้คนหายจนไม่ได้หรอกถ้านั่นนี่อีกจิปาถะ คือทุกอย่างมันแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ถ้าหากไม่มีการร่วมมือกันระหว่างสาขา คือความรู้มันต้องประสานกัน แล้วมาถกเถียงพูดคุยกัน มาต่อรองกัน ถ้าเรามองแต่แบ่งแยกว่าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขานี้คุณก็คิดไป มันแก้อะไรไม่ได้ ในสังคมที่มันซับซ้อน เพราะโลกทัศน์แบบแบ่งแยกมันทำให้โลกเรายิ่งมีปัญหามากกว่าช่วยแก้ปัญหา” หมอนิลกล่าวทิ้งท้ายกับฉลาดซื้ออย่างหนักแน่น ทำให้ฉลาดซื้อคิดต่อไปว่า ถ้าระบบสาธารณะสุขของไทย ไม่แยกการรักษาตามบัตรนั่น บัตรนี่ ระบบสาธารณะสุขคงพัฒนาไปอีกเยอะเพราะไม่ต้องมองอะไรแบบแยกส่วนนั้นแล… สำหรับใครที่อยากร่วมสร้างเรือนพักผู้ป่วย โรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์ สาขาสถานีอนามัยพรุใน ต.พรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ติดต่อกับ นพ.มารุต เหล็กเพชร หมายเลขโทรศัพท์ 089-6524223 ค่ะ หรือติดตามกระบวนการออกแบบของโครงการได้ที่ kohyaoproject.com และ ร่วมบริจาคสร้างเรือนพักผู้ป่วยฯดังกล่าว ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาเกาะยาว บัญชีเลขที่ 060-2-37342-3 ชื่อบัญชี กองทุนก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน รพ.เกาะยาว สาขา สอต.พรุใน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point