ฉบับที่ 151 นมจีนไม่จืดอีกรอบแล้ว

ผู้เขียนมักแนะนำนักศึกษาในการเลือกซื้อนมผงว่า น่าจะเป็นนมจากทวีปออสเตรเลียซึ่งรวมนิวซีแลนด์เข้าไปด้วย ทั้งนี้เพราะถ้าเป็นนมจากทางยุโรป ผู้เขียนยังมีความกังวลใจถึงการตกค้างของสารกัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนในอาหารวัว ตั้งแต่ครั้งที่โรงไฟฟ้าพลังปรมาณูเชอร์โนบิลของสหภาพโซเวียตแตกเมื่อปี ค.ศ. 1986 ส่วนนมจากสหรัฐอเมริกานั้น ผู้เขียนกังวลในราคาที่แพงกว่าคนอื่นเนื่องจากการเติมอะไรต่อมิอะไรลงไปจนอาจเกินจำเป็นต่อคนไทย แต่พอมาถึงวันนี้ วันซึ่งนมจากนิวซีแลนด์ก่อปัญหาดังที่หลายท่านได้ทราบข่าวแล้ว คำแนะนำเรื่องการเลือกซื้อนมผงที่เคยมั่นใจกลายเป็นความลังเลใจไปเสียแล้ว คงต้องแนะนำให้กินนมผงของไทยเสียกระมัง แต่ก็ยังมีคำถามว่า ในบ้านเรามีการอุตสาหกรรมผลิตนมผงที่ทันสมัยหรือไม่ ในปี 2008 คนจีนเคยเจอปัญหานมผงที่ใช้เลี้ยงทารกปนเปื้อนสารเมลามีน ซึ่งใส่ลงไปเพื่อหลอกผู้บริโภคว่า นมนั้นมีปริมาณโปรตีนสูงกว่าที่เป็นจริง พอมาถึงปี 2013 นี้ คนจีนก็พบปัญหาอีกว่า ผลิตภัณฑ์นมที่ผลิตจำหน่ายโดยใช้วัตถุดิบจากนิวซีแลนด์นั้น ปนเปื้อนแบคทีเรียชื่อ คลอสตริเดียม บอททูลินัม ซึ่งสามารถสร้างสารพิษซึ่งจัดว่าเป็นสารพิษที่มีฤทธิ์ร้ายแรงที่สุดที่สิ่งมีชีวิตผลิตได้คือ สารบอททูลิน (botulin) หรือ บอททูลินัมทอกซิน (botulinum toxin) สารพิษบอททูลินนั้นมีผลต่อระบบประสาทสัตว์ชั้นสูง ทำให้ทุกอวัยวะของมนุษย์เป็นอัมพาต จนสุดท้ายปอดทำงานไม่ได้ ผู้เคราะห์ร้ายจะตายในเวลาอันสั้น มีผู้ประเมินว่า สารพิษชนิดนี้ปริมาณเท่ากับ 1 หัวเข็มหมุด สามารถฆ่าหนูถีบจักรได้ราว 1 ล้านตัว ดังนั้นเวลาทำการตรวจวัดปริมาณสารพิษนี้ จึงมักทำโดยการสกัดสารพิษออกมาแล้วทำให้เจือจางในความเข้มข้นที่พอเหมาะก่อนฉีดหนูถีบจักร จากนั้นก็คำนวณจำนวนหนูที่ตายและรายงานผลความร้ายแรงของสารพิษเป็น mouse unit การประกาศว่านมจีนมีปัญหานั้น เป็นผลเนื่องมาจากความรับผิดชอบเองของ Fonterra ซึ่งเป็นบริษัทผลิตนมเพื่อการส่งออกใหญ่ที่สุดในโลกของนิวซีแลนด์ ไม่ได้เป็นการพบเองของบริษัทนมจีน (หรือบริษัทนมในไทยบริษัทหนึ่ง ซึ่งได้เรียกคืนสินค้าบางชนิดของตนเองเช่นกัน) โดยเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวนั้นถูกตรวจพบเริ่มแรกในสินค้าที่เรียกว่า เวย์โปรตีน (whey protein) เวย์ (whey) คือ ส่วนของเหลวที่เป็นของเหลือของนมสดหลังจากการทำเนย (cheese) แล้ว ครั้งหนึ่งเคยถูกนำเอาไปเลี้ยงสัตว์ และพบว่าสัตว์เหล่านั้นมีการเจริญเติบโตดีมาก จึงมีการวิเคราะห์พบว่า ของเหลือนั้นมีโปรตีนที่มีคุณภาพสูงมากจนเชื่อกันว่า ร่างกายสามารถนำใช้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อซ่อมแซมและเสริมสร้างเนื้อเยื่อในร่างกาย อีกทั้งน่าจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันแก่ร่างกายเพื่อต่อต้านการติดเชื้อ เป็นต้น (จริงไม่จริงต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนนะครับ) จึงได้มีการแยกโปรตีนออกมาขาย การที่บริษัท Fonterra ประกาศเองว่า เวย์โปรตีนราว 40 ตัน ที่ผลิตในช่วงเวลาหนึ่งนั้นมีการปนเปื้อนแบคทีเรียดังกล่าว และขอให้ลูกค้าที่ซื้อนำไปผลิตสินค้าอื่นคือ บริษัทผลิตอาหาร 3 แห่ง บริษัทผลิตเครื่องดื่ม 2 แห่ง และบริษัทผลิตอาหารสัตว์ 3 แห่ง เรียกสินค้ากลับคืนมาทำลาย นับว่าเป็นการล้อมคอกก่อนวัวหาย เพราะยอมทิ้งเงินค่าสินค้าไป ดีกว่าจะต้องถูกฟ้องร้องจากผู้บริโภคในอนาคต โดยทั่วไปแล้วการวิเคราะห์จุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในอาหารนมนั้น ส่วนใหญ่เป็นการวิเคราะห์การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่ต้องการออกซิเจนโดยรวม (total plate count) และจุลินทรีย์ที่ต้องการออกซินเจนและก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น Salmonella spp., Staphylococcus aureus, Bacillus cereus เป็นต้น ในบ้านเราการวิเคราะห์จะเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตาม พ.ร.บ. อาหาร (2522) ฉบับที่ 156 พ.ศ. 2537 เรื่อง นมดัดแปลงสำหรับทารกและนมดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก และประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง มาตรฐานอาหารด้านจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค พ.ศ. 2552 (ประกาศนี้ออกตาม พ.ร.บ. อาหาร 2522 เช่นกัน แต่ไม่มีการระบุว่าเป็นฉบับที่เท่าไร เข้าใจว่าเพราะเป็นประกาศกลางเพื่อแก้ไขข้อกำหนดในฉบับที่ต่าง ๆ จำนวน 33 ฉบับ ในประเด็นการปนเปื้อนของจุลินทรีย์) อย่างไรก็ดีไม่ได้มีการกำหนดให้วิเคราะห์จุลินทรีย์ประเภทไม่ต้องการออกซิเจนในการเจริญเติบโตซึ่งมี คลอสตริเดียม บอททูลินัม เป็นสมาชิกอยู่เลย สาเหตุที่ต้องมีการวิเคราะห์แบคทีเรียชนิดก่อปัญหาร้ายแรงคือ คลอสตริเดียม บอททูลินัม นั้นทางบริษัทแจ้งแก่สื่อมวลชนว่า มีการปนเปื้อนของแบคทีเรียระหว่างการผลิตเนื่องจากปัญหาความสะอาดของระบบท่อในการผลิตนมที่เมือง Waikato นิวซีแลนด์ ในเดือนมีนาคม แต่ปัญหายังไม่ได้เปิดเผยจนมีการตรวจพบแบคทีเรียดังกล่าวในเดือนกรกฏาคม การที่แบคทีเรียที่ต้องอยู่ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจนจึงมีชีวิตได้ปนเปื้อนในท่อส่งนมนั้น น่าจะเกิดจากการที่แบคทีเรียนั้นเป็นชนิดที่สร้างสปอร์ได้และสปอร์นั้นคงลอยเข้าไปในท่อซึ่งมีนมค้างอยู่ ซึ่งเมื่อนมบางส่วนแห้งติดผิวท่อ โดยมีสปอร์อยู่ภายใต้คราบนม สภาวะขาดออกซิเจนจึงเกิดขึ้นส่งผลให้เชื้อเจริญขึ้นและสร้างสปอร์ได้อีก สารบอททูลินนี้เป็นสารพิษที่ทนความร้อน เชื้อคลอสตริเดียม บอททูลินัม สร้างสารพิษนี้ในตอนที่เจริญจากเป็นสปอร์ (ซึ่งเป็นสถานะภาพของเซลล์แบคทีเรียที่ทนต่อสภาวะแวดล้อมที่เลวร้ายได้ดี ถึงขนาดการใช้ความร้อนระดับอุตสาหกรรมอาหารก็ยังไม่สามารถทำลายได้หมด) แต่ในกรณีของเวย์โปรตีนของ Fonterra นี้อาจเป็นการวิเคราะห์พบสปอร์ของ คลอสตริเดียม บอททูลินัม ด้วย ซึ่งผลในลักษณะนี้ทำให้บริษัทนมที่ใช้วัตถุดิบจาก Fonterra ที่มีตัวแทนจำหน่ายในไทยต้องเรียกสินค้าคืน เพราะอาจกังวลว่า สปอร์ที่อาจปนเปื้อนในนมผงนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับ บอททูลิซึมในทารก (Infant botulism) ซึ่งต่างจาก บอททูลิซึมธรรมดา บอททูลิซึมธรรมดานั้นเกิดจากสารพิษบอททูลินที่แบคทีเรียขับออกมาอยู่ในอาหาร แล้วออกฤทธิ์เมื่อผู้เคราะห์ร้ายกินอาหารนั้นเข้าไป แต่บอททูลิซึมในทารกนั้น มักเกิดกับทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน กินนมที่มีสปอร์ของเชื้อเข้าไป จากนั้นด้วยเหตุใดที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ (เข้าใจกันว่าเชื้อแบคทีเรียธรรมชาติในลำไส้ใหญ่ทารกมีไม่พอจะยับยั้งการเจริญของสปอร์หรือความเข้มข้นของน้ำดี (ซึ่งปรกติฆ่าเชื้อได้) น้อยเกินไป) สปอร์ของเชื้อจึงเจริญเป็นเซลล์ในทางเดินอาหารซึ่งไม่มีออกซิเจน เกิดการสร้างสารพิษซึ่งถูกดูดซึมจากลำไส้ใหญ่เข้าสู่ระบบโลหิต ทำให้ทารกตาย ดังนั้นการเรียกเก็บสินค้าคืนของบริษัทนมในไทยนั้นจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แม้จะต้องทำลายสินค้าทิ้งทั้งหมด แต่ก็เป็นการป้องกันการเกิดปัญหาที่ร้ายแรงต่อทารกซึ่งถ้าเกิดขึ้น บริษัทจะเสียหายทั้งทางแพ่งและอาญา แบบว่าอาจต้องปิดบริษัทไปเลย  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point