ฉบับที่ 198 กฎหมายคุ้มครองแม่และเด็กแรกเกิดจากอิทธิพลของบริษัทนมผง

การตลาดที่ได้ผลดีที่สุดของบริษัทนมผง คือการเปลี่ยนให้บุคลากรทางด้านสาธารณสุขกลายมาเป็นตัวแทนขายของบริษัทนม มีรายงานในประเทศไทยระบุว่า แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมผสม ร้อยละ 81.8 จะเลือกยี่ห้อนมตามที่ได้รับแจก(ตัวอย่าง)และคำแนะนำจากบุคลากรสาธารณสุข ภาพจำในหลายๆ ปีที่ผ่านมา รูปแบบกิจกรรมการตลาดของบริษัทนมผงมีการบันทึกไว้หลากหลาย กล่าวคือ เป็นการตลาดแบบจู่โจมเข้าถึงเนื้อตัวคุณแม่ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อกับหญิงที่ตั้งครรภ์โดยตรงของตัวแทนขายสินค้า(ส่วนหนึ่งก็เป็นบุคลากรทางสาธารณสุข) หรือการแจกนมผงฟรีที่โรงพยาบาลให้แม่นำกลับไปเลี้ยงลูกที่บ้าน หรือการให้ข้อมูลที่เกินความเป็นจริงต่างๆ เพื่อโน้มน้าวให้คุณแม่เชื่อว่า นมผงเทียบเท่านมแม่ หรือดีกว่าเพราะเพิ่มเติมสารอาหารที่จะทำให้พัฒนาการของเด็กดียิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังเกี่ยวโยงไปถึงการที่บริษัทนมบริจาคสิ่งต่างๆ ให้กับสถานพยาบาล ทั้งในรูปแบบ การจัดกิจกรรมให้ความรู้กับแม่ การให้ค่าตอบแทนพิเศษแก่บุคลากรที่ช่วยแนะนำสินค้า การนำผลิตภัณฑ์แจกให้กับแม่ถึงเตียงนอนพักฟื้น ฯลฯ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ได้ถูกถกเถียงกันมาอย่างยาวนานในประเทศไทย เหตุเพราะการกระทำดังกล่าวนั้น ผิดจริยธรรม อีกทั้งเข้าข่ายละเมิดสิทธิของแม่และเด็กทารกในการเข้าถึงสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดสำหรับเด็กแรกเกิด ซึ่งก็คือ การได้รับน้ำนมแม่อันทรงคุณค่า เช่นเดียวกันกับภาคธุรกิจ ผู้ที่เห็นคุณค่าของการส่งเสริมให้คุณแม่ทั้งหลายใช้น้ำนมของตัวเองเลี้ยงดูทารกก็ได้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะผลักดันให้เกิดกติกา ที่จะสามารถลดทอนอิทธิพลทางการตลาดของบริษัทนมผงลง โดยเฉพาะการทำตลาดแบบถึงเนื้อตัวและการห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบผ่านสื่อทุกชนิด ซึ่งลำพังกติกาเดิมที่เรียกว่า โค้ดนมแม่ หรือ  หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ ปี 2551นั้น ไม่อาจต้านทานพลังจากภาคธุรกิจได้ จึงมีแนวคิดที่จะนำกลไกที่เป็นกฎหมายหรือพระราชบัญญัติมาใช้จัดการปัญหา และในวันที่ 9 กันยายน 2560 นี้ จะเป็นวันแรกที่ พระราชบัญญัติการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560  จะมีผลบังคับใช้ ขอเล่าถึงความยากของการผลักดัน พ.ร.บ.นี้สักเล็กน้อย เนื่องเพราะมีผลประโยชน์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องมหาศาล ทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย แน่นอนว่าส่วนหนึ่งย่อมมาจากภาคธุรกิจผู้ผลิตนมผง แต่ที่น่าตั้งคำถามที่สุดว่ามาคัดค้านเพื่ออะไร กลับเป็นบรรดาองค์กรวิชาชีพบางแห่ง ที่ให้ข้อมูลและคัดค้านจน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวนไปหลายรอบ อย่างไรก็ตามแม้จะใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ในที่สุด พ.ร.บ.นี้ก็ผ่านออกมาจนได้ ทำให้ต่อไปนี้การทำตลาดที่ละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงดังที่ผ่านมา จะต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมายและมีบทลงโทษเป็นการเฉพาะ  กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ห้ามการขายนมผง ผู้บริโภคจะยังสามารถหาซื้อนมผงได้จากร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา ฯลฯ แต่สิ่งที่กฎหมายห้ามคือ ห้ามบริษัททำการส่งเสริมการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์นมสำหรับเด็กอายุ 0-3 ปี ซึ่งหมายความว่า • ห้ามโฆษณาตามสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ ป้ายโฆษณา นิตยสาร อินเตอร์เน็ต• ห้ามแจกตัวอย่างนมผง เช่น การแจกตัวอย่างนมผงให้แม่หลังคลอด หรือเมื่อไปแจ้งเกิด • ห้ามการส่งเสริมการขาย เช่น แจกของขวัญ หรือสิ่งจูงใจต่างๆ ให้แก่หญิงตั้งครรภ์ แม่และครอบครัวของทารกและเด็กเล็ก การลดราคา การขายพ่วง• ห้ามติดต่อกับแม่ เพื่อสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่น การให้ Call center โทรศัพท์ไปหาแม่หลังคลอด การจัดอีเวนท์ต่างๆนอกจากนี้ กฎหมายจะมีผลในการห้ามให้ของขวัญหรือสิ่งจูงใจอื่นๆ แก่บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด้วย  ในส่วนของตัวผลิตภัณฑ์ กฎหมายจะให้ความสำคัญกับการโฆษณาเพื่อคุมการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์ถึง 3 ปี ไม่ใช่เพียงเพราะเหตุผลว่า นมแม่มีประโยชน์ต่างๆ ต่อเด็กมากว่าแค่ในช่วง 6 เดือนแรกหรือปีแรก และเด็กควรได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัยจนอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้นเท่านั้น แต่ยังมีเหตุผลสำคัญด้านตลาดด้วย คือการป้องกันการส่งเสริมการขายแบบข้ามชนิด(Cross promotion) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่บริษัทใช้ในการหลบเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เดิม ที่ผ่านมา แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะได้ห้ามการโฆษณานมผงสำหรับทารก แต่ยังไม่มีการห้ามโฆษณานมสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไป หรือที่เราเห็นในท้องตลาดว่าคือ “นมสูตร 3” ซึ่งกลายเป็นช่องโหว่สำคัญ ให้บริษัทต่างๆ ทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์นี้ โดยทำให้รูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ของทุกๆ สูตรให้คล้ายกัน และใช้ชื่อยี่ห้อที่คล้ายกันมาก มีการใช้สโลแกน สัญลักษณ์ และแมสคอตเดียวกัน และใช้เลข 1-2-3 บนกล่องเพื่อแสดงให้ว่ามีความเกี่ยวข้องกัน เพราะตั้งใจเพื่อให้การส่งเสริมการตลาดของนมสูตร 3 ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจว่าโฆษณานมสูตร 1 และ 2 ไปด้วย  แต่เมื่อกฎหมายฉบับใหม่นี้มีผลบังคับใช้ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเด็กต่ำกว่า 3 ขวบ จะถูกห้ามโฆษณาผ่านสื่อทุกชนิด  ผลิตภัณฑ์ที่จะถูกควบคุมการส่งเสริมการตลาดตามกฎหมายนี้ ประกอบด้วย 1.อาหารสำหรับทารก (อาหารสำหรับเด็กอายุ 0-12 เดือน) 2.อาหารสำหรับเด็กเล็ก(อาหารที่ใช้สำหรับเด็กอายุ 1-3 แต่จะต้องมีประกาศรองรับก่อน ส่วนนี้กรมอนามัยจะเป็นผู้จัดทำประกาศดังกล่าว) และ 3. อาหารเสริมสำหรับทารก ดังนั้นจึงขอฝากถึงบรรดาคุณแม่หรือผู้ที่ใกล้ชิด ให้ตระหนักและช่วยกันเฝ้าระวัง สอดส่องกิจกรรมการทำตลาดนมผง ที่อาจเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อดูแลลูกหลานของเราให้ได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่ ซึ่งเป็นอาหารอันแสนวิเศษสุดบนโลกใบนี้สำหรับเด็กแรกเกิดทุกคน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 กระแสต่างแดน

มาถูกทางแล้วค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงเป็นประวัติการณ์ในอินเดีย… อีกแล้วผู้ประกอบการโซล่าฟาร์มในรัฐราชสถานของอินเดียบอกว่าปีนี้เขาผลิตขายได้ที่อัตราขายส่ง  2.62 รูปี/kwh (ต่ำกว่าราคา “ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์” ของปีก่อนที่ 4.34 รูปี) พูดง่ายๆ ตอนนี้ถูกกว่าอัตราของค่าไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 3.20 รูปี/kwh เหตุที่ขายได้ถูกลงถึงร้อยละ 40 นั้นเป็นเพราะผู้ที่จะเข้ามาทำธุรกิจนี้สามารถกู้เงินได้ง่ายขึ้น แถมดอกเบี้ยก็ถูกลงเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากความจริงจังและชัดเจนของรัฐบาลในการสนับสนุนธุรกิจด้านนี้ ถามว่าจริงจังแค่ไหน? เอาเป็นว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานพูดออกสื่อแทบทุกวัน  และธุรกิจพลังงานทางเลือกก็ได้รับการยกเว้นภาษีด้วยนอกจากนี้ เพื่อลบภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศที่สร้างมลพิษมากเป็นอันดับสามของโลก อินเดียยังร่วมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ปารีสเมื่อสองปีก่อน และให้คำมั่นว่าจะผลิตพลังงานทางเลือกให้ได้ถึง 175 กิกะวัตต์ภายในปี 2022 และเมื่อถึงปี 2027 เขาจะทำได้ถึง 275 กิกะวัตต์แม้จะมีความท้าทายที่ต้องผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อผู้คนเป็นพันล้าน แต่การเติบโตของธุรกิจพลังงานทางเลือก (ลม น้ำ ขยะ แสงอาทิตย์) ทั้งจากผู้ประกอบการท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติก็ทำให้อินเดียไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ไปอีกอย่างน้อย 10 ปีเหตุที่ของขึ้นการสำรวจความเห็นคุณแม่ชาวสิงคโปร์โดยหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ พบว่าคุณแม่ส่วนใหญ่เชื่อว่าสาเหตุที่นมผงราคาแพงขึ้นเกือบเท่าตัวในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น แต่คณะกรรมการด้านการแข่งขันทางการค้าพบว่า ระหว่างปี 2010 และ 2014 งบการตลาดของผู้ผลิตนมผงสำหรับเด็กนั้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42.4คุณแม่คนหนึ่งเล่าว่าเธอถูกตัวแทนขายนมผงเด็กมาถามซ้ำๆ เรื่องนมผงที่ใช้และถูกตื้อให้ทดลองยี่ห้อใหม่ สถานที่เกิดเหตุก็คือคลินิกเด็กในโรงพยาบาลนั่นเอง คุณแม่ที่มาคลอดบางรายพบว่าลูกตัวเองได้รับการป้อนนมยี่ห้อหนึ่งไปโดยที่เธอไม่ได้เลือกซึ่งหมายความว่าลูกของเธอจะไม่คุ้นชินกับนมแม่ด้วย รัฐบาลสิงคโปร์กำลังเตรียมแบนการอวดอ้างสรรพคุณใดๆ ก็ตามไม่ว่าจะด้วยคำหรือภาพบนฉลากนมผงสำหรับทารก และสื่อสารให้พ่อแม่เด็กเข้าใจว่าราคาของนมผงเหล่านี้ไม่ได้ยืนยันคุณภาพแต่อย่างใด ไม่ใช่แค่กิ้งก่าในที่สุดบริษัทดอยช์บาห์น ผู้รับผิดชอบโปรเจค Stutgart 21 หรือโครงการทางรถไฟมูลค่าหลายพันล้านยูโรทางตอนใต้ของเยอรมนี ยอมจ่ายค่าขนย้ายกิ้งก่าใกล้สูญพันธุ์ออกจากพื้นที่ก่อสร้างรางรถไฟช่วงระหว่างชตุทท์การ์ทและเมืองอุลม์ เป็นมูลค่า 15 ล้านยูโร (ประมาณ 575 ล้านบาท) ตัวเลขนี้มาจากไหน? ดอยช์บาห์นเขาคำนวณจากค่าจ้างทีมมาจับกิ้งก่าหลายพันตัว ค่าใช้จ่ายในการขนส่งเป็นระยะทาง 6 ไมล์ และการจัดหาที่อยู่ใหม่ในเมือง Unterturkheim และค่าดูแลความเป็นอยู่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน เฉลี่ยแล้วตกหัวละ 2,000 – 4,000 ยูโร กลุ่มพิทักษ์สัตว์บอกว่าที่แพงขนาดนี้ก็เป็นเพราะการเตะถ่วงของบริษัทเอง ถ้ารีบจัดการตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2015 ที่รู้ปัญหาก็จะประหยัดเงินได้มากโขโครงการรถไฟสายทรานส์ยูโรเปียนนี้เริ่มก่อสร้างในปี 2010 และมีกำหนดเปิดใช้งานในปี 2021 งบประมาณขณะนี้อยู่ที่ 6,300 ล้านยูโร (204,000 ล้านบาท) ++  ไม่มีต่อเวลากรมสุขภาพของไต้หวันยืนยันว่า วิกเกอร์ โคโบ ผู้ผลิตพายสับปะรดยี่ห้อดัง มีความผิดฐานเปลี่ยนวันหมดอายุบนแพ็คเกจสินค้าจริงแม้การไปสุ่มตรวจในร้านโดยกรมฯ จะไม่พบหลักฐานการกระทำผิด แต่เขาก็ได้รวบรวมหลักฐานจากผู้แจ้งเบาะแสแล้วชงเรื่องต่อให้กับสำนักงานอัยการเมืองชิหลินทำการสืบสวนต่อไปเขาพบว่ามีขนมหลายชนิด เช่น พายสับปะรด พายไข่แดง ถูกเรียกคืนเพื่อเปลี่ยนวันหมดอายุเพื่อยืดเวลาออกไปอีก 10 วันจริง ความผิดนี้มีโทษปรับ 40,000 ถึง 4,000,000 เหรียญ  วิกเกอร์ โคโบ เป็นที่รู้จักกันดีในไต้หวันและในหมู่นักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อขนมดังจากไต้หวันไปเป็นของฝาก แต่พฤติกรรมนี้ทำให้สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวประกาศงดพาลูกทัวร์เข้าร้านชั่วคราวเพราะไม่ต้องการเสียชื่อไปด้วยโฆษกสมาคมฯ บอกว่าเข้าใจดีว่าช่วงนี้ธุรกิจไม่ดีเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวจากจีน แต่การขยายวันหมดอายุนี่มันแก้ปัญหาอะไรได้หนอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 2556 ตรวจสุขภาพ...อาจทำร้ายสุขภาพ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) รายงานว่าคนไทยให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นการตรวจที่ไม่เหมาะสม เป็นการตรวจสุขภาพโดยการสุ่มตรวจหรือการตรวจแบบ “เหวี่ยงแห” นอกจากจะสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะอื่น นำไปสู่การรักษาที่ไม่จำเป็น นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า การตรวจสุขภาพหรือการคัดกรองสุขภาพ(ไม่รวมการตรวจสุขภาพที่เกี่ยวกับการยืนยันโรค หรือเพื่อรักษาโรคนั้น) ควรหลีกเลี่ยงการคัดกรองแบบเหวี่ยงแห ที่เป็นการตรวจแบบไร้จุดเป้าหมาย เพราะมีโทษมากกว่าประโยชน์ และสามารถก่ออันตรายต่ออวัยวะอื่น เช่น การเอกซเรย์ การตรวจการทำงานของตับ ไต หรือการใช้เครื่องซีทีสแกน ซึ่งมีรังสีมากกว่าการเอกซเรย์ 100 เท่า เป็นต้น โดยทาง HITAP ได้ทำวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและราชวิทยาลัยต่างๆ จัดเป็นโปรแกรมการตรวจคัดกรอง 12 เรื่อง เตรียมเสนอให้กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง 12 เรื่องที่อยู่ในโปรแกรมการตรวจมีอย่างเช่น การตรวจโลหิตจาง ภาวะทุพโภชนาการ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง ตรวจสายตา ฯลฯ พร้อมกับกำหนดช่วงวัยที่เหมาะสมและจำนวนการตรวจ ซึ่งประชาชนควรได้รับทราบข้อดี ข้อเสียของการตรวจสุขภาพ ก่อนเข้ารับการตรวจ     ตู้น้ำดื่มตกมาตรฐาน ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่เลือกบริโภคน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ แต่หลายๆ คนอาจยังไม่รู้ว่าบรรดาตู้น้ำดื่มทั้งหลายที่ตั้งให้บริการอยู่นั้น ยังไม่มีหน่วยงานใดที่รับหน้าที่ดูตรวจสอบความปลอดภัยที่ชัดเจน แถมล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สุมตรวจความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พบว่าเกินครึ่งตกมาตรฐาน อย. ได้เปิดเผยข้อมูลการสุ่มตรวจตัวอย่างคุณภาพน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในเขต กทม.จำนวน 300 ตัวอย่าง พบผ่านมาตรฐาน 129 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 43 ตกมาตรฐาน 171 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 57 โดยรายการที่ไม่ผ่านมาตรฐานมากที่สุด คือ ค่าความเป็นกรดด่าง ซึ่งอาจมาจากระบบการกรองของตู้ (Reverse Osmosis) ซึ่งไม่ผ่านมาตรฐานที่กำหนด ซึ่ง อย. ออกมาเปิดเผยว่าไม่ได้นิ่งเฉยกับปัญหานี้ โดยขณะนี้ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง น้ำบริโภคจากตู้น้ำหยอดเหรียญอัตโนมัติ เพื่อกำหนดคุณภาพของน้ำบริโภคที่ผลิตจากเครื่องอัตโนมัติโดยตรง ขณะนี้เหลือเพียงรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมบังคับใช้ในปี 2557 ซึ่งเมื่อมีผลตามกฎหมายหากพบตู้น้ำหยอดเหรียญอัตโนมัติของผู้ประกอบการรายใดไม่ได้มาตรฐานจะมีโทษทันที   อย.มั่นใจนมผงไทยไม่มีเชื้อแบคทีเรีย หลังจากมีข่าวที่ชวนให้ตกใจ เรื่องการพบเชื้อแบคทีเรียในเวย์โปรตีนชนิดเข้มข้นที่ผลิตจากบริษัท ฟอนเทียร่า ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเวย์โปรตีนชนิดเข้มข้นนี้ถือเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผลิตภัณฑ์นมต่างๆ โดยเฉพาะนมผง โดยเชื้อแบคทีเรียที่พบการปนเปื้อนมีอันตรายหากมีการบริโภคเข้าสู่ร่างกาย ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาตรวจสอบปัญหาดังกล่าวเพื่อคลายความกังวลของผู้บริโภคในประเทศไทย ทั้งการตรวจเข้มการนำเข้า เก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ เชิญผู้ประกอบการมาชี้แจงหามาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัย สำหรับกรณีที่ บริษัท ดูเม็กซ์ ประเทศไทย ที่มีบางผลิตภัณฑ์ใช้วัตถุดิบจากบริษัท ฟอนเทียร่า บริษัท ดูเม็กซ์ ประเทศไทย จึงได้มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์บางตัว ประกอบด้วย 1.ดูโปร สูตร 2 ผลิตขึ้นระหว่างวันที่ 29 เมษายน 2556 ถึง 28 มิถุนายน 2556 หมดอายุในระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ถึง 28 ธันวาคม 2557, 2. ไฮคิว สูตร 1 ผลิตขึ้นระหว่างวันที่ 09 พฤษภาคม 2556 ถึง 15 กรกฎาคม 2556 หมดอายุระหว่างวันที่ 09 พฤศจิกายน 2557 ถึง 15 มกราคม 2558, 3. ไฮคิว สูตร 2 ผลิตขึ้นระหว่างวันที่ 29 เมษายน 2556 ถึง 25 มิถุนายน 2556 หมดอายุระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ถึง 25 ธันวาคม 2558, 4. ไฮคิว ซูเปอร์โกลด์ สูตร 1 ผลิตขึ้นระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม 2556 ถึง 14 มิถุนายน 2556 หมดอายุระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ถึง 14 ธันวาคม 2557 และ 5. ไฮคิว ซูเปอร์โกลด์ สูตร 2 ผลิตขึ้นระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม 2556 ถึง 28 มิถุนายน 2556 หมดอายุระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ถึง 28 ธันวาคม 2557 ส่วนผลิตภัณฑ์นมดัดแปลงและอาหารทารกสำหรับเด็กเล็กจากบริษัทผู้ผลิตและนำเข้าอื่นๆ รวม 73 รายการ ที่แจ้งกับทาง อย. ทาง อย. ยืนยันว่าไม่มีบริษัทใดนำเข้าหรือใช้เวย์โปรตีนล็อตที่เป็นปัญหาเป็นวัตถุดิบแต่อย่างใด   เตรียมปรับฉลากอาหาร ปริมาณ “น้ำตาล – เกลือ” ต้องอ่านง่าย นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการจัดทำฉลากอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและเกลือใหม่ จากเดิมที่ระบุปริมาณเป็นมิลลิกรัม ซึ่งอ่านเข้าใจยาก โดยเฉพาะในฉลากขนมที่มีน้ำตาลและเกลือสูง หวังช่วยให้เด็กๆ มี่ซื้อรับประทานอ่านฉลากมากขึ้น โดยฉลากแบบใหม่ต้องปรับให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย อาจใช้รูปสัญลักษณ์ในการบอกค่า เช่น รูปช้อน แทนปริมาณน้ำตาล 1ช้อน หรือ 2 ช้อน พร้อมกับระบุวิธีการเผาผลาญออกจากร่างกาย และผลกระทบ ผลเสีย หรืออันตรายที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายด้วย เช่น น้ำตาล 2 ช้อน การเผาผลาญต้องวิ่งเป็นเวลา 20 นาที หรือ เกลือ หากได้รับปริมาณมากเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยอาจจะทำเป็นสติกเกอร์ติดที่ซองอาหารเพิ่มเติมจากฉลากเดิมที่มีอยู่แล้ว ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คนไทยเราเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ มากขึ้น โดยในปี 2554 ข้อมูลจากการตรวจคัดกรองประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป จำนวน 22.2 ล้านคน พบผู้ป่วยเบาหวาน 1,581,857 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อน 277,020 ราย โดยมีภาวะแทรกซ้อนทางไตมากที่สุด เช่น ไตวาย ร้อยละ 25 รองลงมาคือแทรกซ้อนทางตา เช่น ตาต้อกระจก ต้อหินร้อยละ 23 คาดการณ์ว่าในอีก 8 ปีข้างหน้า ไทยจะพบผู้ป่วยถึง 4.7 ล้านราย เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 52,800 ราย แนวโน้มพบในเด็กมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้เด็กไทยเผชิญความอ้วนมากขึ้น   พลังคนไทยทวงคืนพลังงานชาติ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา ภาคประชาชนได้รวมตัวกันเพื่อร่วมแสดงพลังเรียกร้องความเป็นธรรม หน้าสำนักงานใหญ่ ปตท. ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อชุมนุมคัดค้านการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม หรือ แอลพีจี พร้อมทั้งล่ารายชื่อ 5 หมื่นชื่อ ยื่นถอดถอนรัฐมนตรีว่าการและข้าราชการกระทรวงพลังงานทั้งสิ้น 5 คน เนื่องจากนโยบายการปรับขึ้นราคาแอลพีจีที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ประชาชนทั่วประเทศเดือดร้อน ซึ่งการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อรวมคัดค้านนั้น จะกระจายไปทุกจังหวัด โดยตั้งเป้าให้ได้จังหวัดละ 1 พันรายชื่อ เพื่อแสดงพลังของประชาชนที่คัดค้านการปรับขึ้นราคาแอลพีจีและจะนำรายชื่อไป ยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และผู้ตรวจการแผ่นดินต่อไป ก๊าซแอลพีจี หรือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลวสำหรับภาคครัวเรือน เริ่มปรับขึ้นราคาเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยปรับราคาขึ้นกิโลกรัมละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม ต่อเดือนต่อเนื่องเป็นเวลา 12 เดือน รวมแล้วขึ้นราคาเป็น 6 บาท จากเดิมที่ราคา 18.13 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 24.82 บาทต่อกิโลกรัมใครที่อยากร่วมลงชื่อถอดถอนรัฐมนตรีว่าการและข้าราชการกระทรวงพลังงาน สามารถเข้าไปโหลดเอกสารลงรายชื่อได้ที่ลิงค์ http://www.gasthai.com/pengout.pdf และติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมและข้อมูลต่างๆ เรื่องความไม่เป็นธรรมของธุรกิจพลังงานในไทยได้ที่เฟซบุ๊ค Goosoogong   //

อ่านเพิ่มเติม >