ฉบับที่ 267 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2566

พบ “สเตียรอยด์” ในสินค้ายี่ห้อ “โสมผสมกระชายดำ ตราเทพี”         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพรโสมผสมกระชายดำ ตราเทพี เลขสารบบอาหาร 40-2-00658-2-0012 โดยในฉลากได้ระบุว่า คือ “ชา สมุนไพร ตราเทพี  มีสรรพคุณกล่าวอ้างว่า แก้ปวดตามข้อ ปวดหลัง ปวดเอว โรคเก๊าท์ รูมาตอยด์ ภูมิแพ้ กระดูกทับเส้นประสาท ... มีเลขวันผลิต 30/12/22 และหมดอายุ  30/12/24  เมื่อนำมาตรวจสอบด้วยชุดทดสอบสเตียรอยด์พบว่า มีการปนเปื้อนของสารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ เมื่อตรวจสอบสถานะผลิตภัณฑ์ได้มีการยกเลิกโดยผู้ประกอบการตั้งแต่ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564  โดยเลขสารบบอาหารดังกล่าวอยู่ที่ จ.ขอนแก่น อย.จึงได้ประสานไปยังสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นเพื่อตรวจสอบเฝ้าระวังหากมีการกระทำผิดจะดำเนินตามกฎหมาย พร้อมเตือนให้ผู้บริโภคอย่าซื้อมารับประทาน  การบินไทยห้ามนำ “กระเป๋า-ยานพาหนะ มีแบตเตอรี่ลิเธียม” ขึ้นเครื่อง         การบินไทยประกาศออกมาทางเพจเฟซบุ๊ก “Thai Airways” กรณีห้ามนำกระเป๋าเดินทางหรือยานพาหนะที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมขึ้นเครื่องบิน  โดยทางการบินไทยได้มีการระบุข้อความดังนี้ เรียนท่านผู้โดยสาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขอเรียนให้ท่านผู้โดยสารทุกท่านทราบว่าบริษัทฯ ไม่รับกระเป๋า Smart Baggage ที่ติดตั้งแบตเตอรี่ลิเธียม ในลักษณะดังนี้        1.สัมภาระถือขึ้นเครื่อง (Carry on) และสัมภาระลงทะเบียน (Checked Baggage) ที่ติดตั้งแบตเตอรี่แบบที่ถอดไม่ได้ และมีกำลังไฟเกิน 2.7 วัตต์ *ไม่รับในทุกกรณี           2.ยานพาหนะขนาดเล็กส่วนบุคคลที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมในการขับเคลื่อน , Segway         3.กระเป๋าที่มีมอเตอร์ขับเคลื่อน หรือมีลักษณะใกล้เคียงกัน กระเป๋าเดินทางที่ขี่ได้ Motorize Baggage, Rideable Carry-On Baggage         ทั้งนี้ ทางการบินไทยยังระบุว่าอีกว่า ทางการบินไทยไม่รับผิดชอบการจัดเก็บ/การรับฝากสิ่งของทุกประเภทที่ไม่อนุญาตให้นำไป  จับแหล่งขายซากเนื้อสัตว์ ฟอร์มาลีน-โซดาไฟ         26 พฤษภาคม 2566 ทางกรมปศุสัตว์ได้มีการสืบทราบถึงกรณีการลักลอบการนำเข้าซากสัตว์แบบผิดกฎหมายในพื้นที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี จึงได้มีการประสานนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสถานที่ผลิตอาหารผิดกฎหมายพบว่า มีการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ผลิตไส้ตัน หมึกกรอบ สะไบนาง และนำไปส่งขายที่ร้านหมูกระทะในพื้นที่ และในจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้ยังตรวจพบซากเนื้อสัตว์ เช่น  ไส้ตันแช่แข็ง ระบุว่านำเข้าจากเยอรมันนี จำนวน 39 กล่อง 500 กก. ไส้ตันแปรรูปแช่สารโซดาไฟ และฟอร์มาลิน จำนวน 1 ถัง น้ำหนัก 200 กก. สไบนางแช่สารโซดาไฟ และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และฟอร์มาลิน จำนวน 2 ถัง น้ำหนัก 400 กก. และหมึกกรอบแช่สารฟอร์มาลิน จำนวน 1 ถัง น้ำหนัก 100 กก.         นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ซากสัตว์ทั้งหมดไม่พบเอกสารรองรับและไม่มีเอกสารเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ตามกฎหมาย ทั้งยังตรวจพบสารฟอร์มาลินในน้ำแช่สไบนาง ไส้ตัน และหมึกกรอบ ในการทดสอบด้วยชุดทดสอบฟอร์มาลินเบื้องต้น         ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ยึดและอายัดสินค้าจำนวนกว่า 1,200 กก รวมทั้งให้ผู้ประกอบการนำเอกสารมาแสดงหากไม่นำมาทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป  เตือนนักเรียนแบกกระเป๋าหนัก เสี่ยงกระดูกสันหลังคด         นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้เปิดเผยว่า เด็กนักเรียนไม่ควรแบกกระเป๋าน้ำหนักเกิน 10-20% ของน้ำหนักตัว เนื่องจากการแบกกระเป๋าหนักมาก อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อระบบโครงสร้างกล้ามเนื้อของร่างกาย โดยจะมีอาการปวดที่บ่า ต้นคอ ซึ่งคือสาเหตุของการปวดหลังเรื้อรัง ส่งผลให้มีบุคลิกภาพที่ผิดปกติ เช่น หลังค่อม ไหล่และเชิงกรานไม่สมดุลกัน ทั้งนี้ อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก  และแนะนำให้ผู้ปกครองคอยสังเกตอาการโรคกระดูกคดเอียงอีกด้วย         ส่วนเด็กที่ถือกระเป๋ารูปแบบหิ้ว สะพายข้าง หากมีน้ำหนักเอียงไปทางใดทางหนึ่งเพื่อรับน้ำหนักตัวเราจะเอียงตามทำให้บุคลิกภาพเราจะเป็นไปตามนั้น  ส่วนกล้ามเนื้อก็จะพัฒนาไปในลักษณะนั้นๆ ซึ่งเมื่อคนเราปกติใช้ร่างกายด้านใดด้านหนึ่งก็จะทำงานหนักมากกว่าปกติและส่งผลต่อการเจริญเติบของเด็กได้ มพบ. เสนอ อย. ให้ควบคุมจดแจ้งเครื่องสำอางที่เคยถูกห้ามขาย ครีมผิวขาวเพิร์ลลี่         จากกรณีที่มีผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากครีมผิวขาว “เพิร์ลลี่” และให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือด้านคดีนั้น ล่าสุดทางศาลอุทธรณ์มีคำสั่งห้ามขายครีมผิวขาวเพิร์ลลี่แล้วแต่ปัจจุบันทางมูลนิธิฯ ยังคงพบว่ามีจำหน่ายอยู่ในทางออนไลน์         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษา “ห้ามมิให้จำเลยจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ชื่อ เพิร์ลลี่ อินเทนซีฟ ไวท์ โลชั่น เลขที่จดแจ้ง 10-1-5733777 และเพิร์ลลี่ อินเทนซีฟ ไวท์ ชั่น พลัส เลขที่จดแจ้ง 10-1-5749866” แต่ทางมูลนิธิฯ ยังพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางออนไลน์ และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการเปลี่ยนเลขจดแจ้งใหม่ เป็น “โลชั่นเพิร์ลลี่ (อินเซ็นทีฟไวท์ ครีม สูตร พลัส x 2) Pearly Lotion Intensive WCream PlusX2”  และ โลชั่นเพิร์ลลี่ (อินเทนซีฟครีม) Pearly Lotion Intensive Cream ข้อมูล ณ วันที่ 8 พ.ค. 66 )         จึงขอฝากให้ผู้บริโภคช่วยกันเป็นหูเป็นตา พบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้แจ้งรายละเอียดมายังช่องทางต่างๆ ของมูลนิธิฯ เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังให้ผู้บริโภคปลอดภัยและร่วมสร้างระบบคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อย. อยากให้ควบคุมเรื่องการจดแจ้งผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวด เพราะจากข้อมูลที่มูลนิธิฯ รวบรวมไว้ พบว่ามีเจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรืออาหารเสริมจำนวนไม่น้อยที่เมื่อได้รับการถอนทะเบียนจะนำผลิตภัณฑ์มาปะแป้งแต่งตัว เปลี่ยนชื่อใหม่แล้วจดแจ้งใหม่นำมาจำหน่าย ซึ่งอาจเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 กระแสต่างแดน

คนเกาก็ชอบของก็อป         การระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน หรืออุณหภูมิติดลบ ไม่สามารถลดความคึกคักของการค้าใน “ตลาดของก็อป” ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี (กลุ่มเต็นท์สีเหลืองประมาณ 80 หลัง ใกล้ “ตลาดดงแดมุน” ศูนย์กลางเสื้อผ้าและแฟชั่นในกรุงโซล) ลงไปได้เลย         ช่วงเวลาระหว่างสามทุ่มถึงตีสอง ที่นี่จะคลาคล่ำไปด้วยหนุ่มสาวสายแฟที่มาหาซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า หรือนาฬิกา “แบรนด์เนม”            อาจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล อธิบายว่าคนเกาหลีอ่อนไหวต่อเทรนด์เป็นพิเศษ พวกเขาอยากมีเหมือนคนอื่น จะได้รู้สึกเข้าพวก และต้องมีอะไรที่ดีกว่า เพื่อจะได้เป็นที่อิจฉา พวกเขาต้องการครอบครองของที่ดู “แพง” เรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจึงแทบไม่มีใครใส่ใจ         ตามกฎหมายเกาหลี คนซื้อไม่มีความผิด แต่คนขายที่ถูกจับได้อาจต้องจ่ายค่าปรับถึง 100 ล้านวอน และอาจถูกจำคุกสูงสุด 7 ปี         ข้อมูลจากศุลกากรเกาหลีระบุว่าตั้งแต่มกราคม 2017 จนถึงสิงหาคม 2021 มี “คดีกระเป๋าปลอม” 1,866 คดี   ลดอายุคนขับ         เดนมาร์กกำลังขาดแคลนพนักงานขับรถของเทศบาล (รถรับส่งผู้ป่วย รถรับส่งนักเรียน เป็นต้น) เนื่องจากพนักงานจำนวนมากลาออกไปในช่วงที่โควิด-19 ระบาด จึงมีที่ว่างกว่า 1,000 ตำแหน่ง ที่อาจว่างไปอีกนาน เพราะไม่ค่อยมีคนสนใจสมัคร         พรรคฝ่ายค้านมองว่านี่คือปัญหาเร่งด่วน ถ้ารัฐบาลไม่รีบแก้ ปัญหานี้จะกระทบไปถึงรถสาธารณะในเมืองและรถข้ามจังหวัดด้วย ว่าแล้วก็เสนอให้ลดเกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถมีใบอนุญาตขับรถโดยสารเป็น 19 ปี (โดยให้เริ่มฝึกงานตั้งแต่อายุ 18 ปี)         จากเกณฑ์เดิมคือ 24 ปีสำหรับรถที่มีผู้โดยสาร ที่วิ่งในระยะทางมากกว่า 50 กิโลเมตร และ 21 ปี สำหรับระยะทางน้อยกว่า 50 กิโลเมตร         ด้านรัฐมนตรีกระทรวงขนส่งไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ เขาให้เหตุผลว่าผู้โดยสารอาจรู้สึกไม่ปลอดภัย หากคนขับหน้าเด็กเกินไป เขาเสนอว่ากลุ่มสตรีผู้อพยพ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และจะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสงานให้กับพวกเธอด้วย  คิดก่อนกู้         หนุ่มสาวฟินแลนด์ยุคนี้เป็นหนี้กันมากขึ้น นอกจากจะนิยมกู้เงินไปลงทุนทำกำไร ซึ่งทำผ่านแอปพลิเคชันได้สะดวกทั้งการขอกู้และการลงทุน พวกเขายังนิยมกู้เพื่อซื้อบ้าน/อพาร์ตเมนต์ อีกด้วย         สถิติในปีที่ผ่านมาระบุว่ามีเพียงร้อยละ 15 ของคนหนุ่มสาวที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งลดลงฮวบฮาบจากร้อยละ 30 ในปีก่อนหน้า         โอกาสซื้อที่อยู่อาศัยในฟินแลนด์มีมากขึ้นเพราะการท่องเที่ยวที่ซบเซาหลังโรคระบาด ทำให้เจ้าของบ้านที่เคยเก็บอพาร์ตเมนต์ไว้ให้นักท่องเที่ยวเช่าผ่านแอปฯ อย่าง Airbnb ก็เริ่มปล่อยของ ในขณะที่จำนวนอพาร์ตเมนต์สร้างเสร็จใหม่ในโซนที่มีการเดินทางสะดวกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน            อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของฟินแลนด์เริ่มกังวลกับสถานการณ์ที่คนกลุ่มนี้สามารถกู้ได้โดยไม่มีขีดจำกัด จึงเสนอให้มีการกำหนดเพดานหนี้ ที่ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อปี และแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ/คิดให้รอบคอบก่อนจะเป็นหนี้ เพื่อป้องกันภาวะเศรษฐกิจล่มสลายหากลูกหนี้ขาดรายได้กะทันหันและไม่สามารถใช้หนี้ได้  ทั้งเพิ่มทั้งลด         วิถีชีวิตแบบดิจิทัลของเราทำให้เกิดความต้องการ “ดาต้าเซ็นเตอร์” เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีศูนย์เหล่านี้อยู่ถึง 7.2 ล้านศูนย์ทั่วโลก ประเทศที่มีมากที่สุดได้แก่อเมริกา (2,670 แห่ง) ตามด้วยอังกฤษ (452) เยอรมนี (443) อันดับต่อมาคือเนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น          เซิร์ฟเวอร์ในศูนย์เหล่านี้ทำงานทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าร้อยละ 1 ของการบริโภคพลังงานไฟฟ้าในโลกคือพลังงานที่ใช้ในศูนย์ข้อมูล         ที่น่าสนใจคือตัวเลขนี้ไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2010 ทั้งๆ ที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเท่าตัว ในขณะที่การจราจรบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 15 เท่า         ส่วนหนึ่งเพราะศูนย์พวกนี้มีขนาดใหญ่ขึ้น และใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพกว่าศูนย์ขนาดเล็ก ฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นอกจากนี้นวัตกรรมการก่อสร้างอาคาร ระบบระบายความร้อน และการลงทุนในพลังงานทางเลือกหรือเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของผู้ประกอบการนั่นเอง เอไอไม่แฟร์         การสำรวจความเห็นของ “แรงงานดิจิทัล” จำนวน 5,000 คน โดยสถาบันความเท่าเทียมทางเพศแห่งยุโรปพบว่า เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ที่นำมาใช้ในการจ้างงานในเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม ยังไม่ถูกพัฒนาให้เป็นธรรมกับแรงงานหญิงเท่าที่ควร         องค์กรนี้พบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่เลือกงานแบบนี้เพราะ “ความยืดหยุ่นเรื่องชั่วโมงทำงาน”  พวกเธอต้องการเวลาในการทำงานบ้านและดูแลครอบครัว แต่กลับถูก “หมางเมิน” หรือแม้แต่ “ลงโทษ” โดยเอไอของแพลตฟอร์ม เพราะพวกเธอมีชั่วโมง “รับงาน” น้อยกว่าผู้ชายซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ในเศรษฐกิจแบบนี้         ปัจจุบันร้อยละ 16 ของแรงงานดิจิทัลในอังกฤษและสหภาพยุโรปเป็นผู้หญิง และสัดส่วนนี้จะยิ่งน้อยลงในตำแหน่งที่สูงขึ้น         สถาบันฯ เสนอให้ผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบมากขึ้น และขอให้กำหนดความเท่าเทียมทางเพศเป็นหนึ่งในเกณฑ์การ “ตัดสินใจ” ของเอไอ ไม่เช่นนั้นเทคโนโลยีก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องมือการเลือกปฏิบัติและผลิตซ้ำอคตินั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ภัยโควิดกับรถรับส่งนักเรียน

        การเข้ามาของโควิด-19 เกือบสองปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกชีวิตบนโลกต้องเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ   ซึ่งอาจจะมีบางส่วนที่เตรียมตัวตั้งรับอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ตั้งตัวรับไม่ทัน หลายธุรกิจต้องล้มพับแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ขณะที่อีกหลายธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ต่างต้องกัดฟันสู้ต่อ ทั้งที่มองไม่เห็นอนาคตว่าสิ่งที่เคยรุ่งโรจน์จะกลับมาได้หรือเปล่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ ระบบขนส่งสาธารณะที่แทบจะล่มสลายลงในช่วงเวลาเพียงสองปีที่โควิด-19 คืบคลานเข้ามา         ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เพียงทำให้ระบบขนส่งสาธารณะในทุกมิติต้องรีเซ็ตจัดระบบตัวเองใหม่เท่านั้น ระบบการศึกษาของชาติที่มีนักเรียนนับล้านคนอยู่ในระบบก็ได้รับผลกระทบที่ไม่น้อยไปกว่ากันด้วย อีกทั้งการไม่มีมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 สำหรับนักเรียนทั่วประเทศของรัฐบาล ยิ่งส่งผลให้ระบบการศึกษาต้องหยุดชะงัก กระทรวงศึกษาธิการต้องสั่งการให้โรงเรียนทุกแห่งปรับการเรียนการสอนนักเรียนเป็นออนไลน์แทนการเรียนแบบออนไซต์หรือการไปโรงเรียนตามปกติ นัยนึงเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่อีกนัยนึงก็สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาลที่ไม่รู้จะจัดการป้องกันให้ปลอดภัยได้อย่างไร         แม้การเรียนออนไลน์จะลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและติดเชื้อโควิด 19 ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างการเรียนการสอนในโรงเรียนและการเดินทางระหว่างบ้านไปโรงเรียนของนักเรียน แต่ข้อจำกัดที่สำคัญของการเรียนออนไลน์ คือ การมุ่งสนองนโยบายรัฐเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมของนักเรียนส่วนใหญ่ เพราะนักเรียนจำนวนมากยังมีความไม่พร้อม และเข้าไม่ถึงหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการเรียนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นระบบอินเตอร์เน็ต หรืออุปกรณ์จำเป็น เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ ฯลฯ          แน่นอนว่าคงจะมีนักเรียนในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ตามภูมิภาคเท่านั้นที่มีศักยภาพพอจะเข้าถึงการเรียนสอนออนไลน์ แต่ยังมีนักเรียนอีกจำนวนมากในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศที่เข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นการสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ ซ้ำเติม และเพิ่มช่องว่างทางสังคมให้เด่นชัดมากขึ้น  โดยการตอกย้ำผ่านมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ไม่มีความชัดเจนหรือแนวทางแก้ไขปัญหา เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่รัฐบาลยังไม่กล้าให้ความมั่นใจในความปลอดภัยนักเรียนทั่วประเทศจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ ก่อนหน้านี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันสำหรับเด็กและนักเรียน แต่เมื่อรัฐบาลเริ่มจัดสรรวัคซีนสำหรับนักเรียนและกำหนดมาตรการให้วัคซีนกับนักเรียนอายุตั้งแต่ 12-18 ปีแล้ว ก็คาดหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่นให้นักเรียนสามารถกลับมาเรียนที่โรงเรียนได้เหมือนเดิม         เพราะอย่างไรก็ดีชีวิตการเรียนของนักเรียนก็คือ การได้พบปะเพื่อนฝูง ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนสนธนาระหว่างกัน นี่คือชีวิตวัยเรียนที่มีคุณค่าที่มีข้อบ่งชี้ถึงการพัฒนาการของเด็กนักเรียนวัยนี้ มากกว่าการนั่งเรียนกับคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือที่ไม่มีตัวตน        เมื่อรัฐบาลประกาศให้ทุกคนต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ ถึงเวลาต้องเปิดประเทศและเปิดเรียนสำหรับนักเรียนทุกคนแล้ว โดยยืนยันแล้วว่า 1 พ.ย. 2564 คือ วันเปิดภาคเรียนเทอมสองของโรงเรียนทั่วประเทศ ท่ามกลางความวิตกกังวลของผู้ปกครองที่ห่วงว่า ถ้านักเรียนไปโรงเรียนแล้วจะโชคร้ายติดโควิด-19 หรือไม่ แม้กระทรวงศึกษาธิการจะออกประกาศเพิ่มความเชื่อมั่นว่า โรงเรียนและสถาบันการศึกษาสามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามหลักเกณฑ์ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ความไว้วางใจดีขึ้นแม้แต่น้อย         เพราะการเปิดเทอมครั้งนี้ หมายถึง การเดินทางของนักเรียนทั่วประเทศ โดยที่ยังมีนักเรียนจำนวนมากที่มีทางเลือกจำกัด ไม่มีพ่อแม่ไปส่งหรือไม่มีรถจักรยานยนต์ขับขี่ไปเอง นักเรียนเหล่านี้ต้องเดินทางไปโรงเรียนด้วยรถรับส่งนักเรียนหรือรถโดยสารสาธารณะที่มีโอกาสต้องพบเจอเพื่อนนักเรียนจากโรงเรียนอื่นหรือบุคคลอื่นที่โดยสารมาในรถคันเดียวกัน โดยที่ไม่รู้ว่าคนเหล่านี้มีการติดเชื้อมาแล้วหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้เกิดเป็นจุดเสี่ยงหรือคลัสเตอร์ใหม่สำหรับการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ได้ทุกเวลา และก็เป็นอย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้ ภายหลังเปิดเทอมสองได้ไม่นาน หลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาคต่างก็พบว่ามีนักเรียนที่ติดเชื้อโควิด-19 กันแล้ว เช่น โรงเรียนที่นครราชสีมา หรืออุบลราชธานีที่เกิดคลัสเตอร์รถรับส่งนักเรียน ส่งผลให้ต้องปิดโรงเรียนแล้วอย่างน้อย 2 แห่ง และอยู่ระหว่างการควบคุมอีก 3 แห่ง ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มนี้ เกิดจากนักเรียนหลายพื้นที่มาใช้รถรับส่งนักเรียนคันเดียวกัน ทำให้การระบาดแพร่เชื้อเป็นไปอย่างรวดเร็ว นักเรียนจำนวนมากจึงกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงตามไปด้วย         สิ่งเหล่านี้คือข้อเรียกร้องที่อยากสะท้อนไปถึงกระทรวงศึกษาและกรมการขนส่งทางบก ในฐานะสองหน่วยงานหลักที่ต้องกำกับและจัดการความปลอดภัยของนักเรียนในทุกกลุ่ม และโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนที่ยังเป็นช่องว่างของปัญหาที่รอการแก้ไข เพราะการป้องกันที่ยากที่สุด คือ การป้องกันในที่สาธารณะที่อยู่นอกเขตโรงเรียนนั่นเอง         ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาและกรมการขนส่งทางบกที่ต้องเป็นเจ้าภาพร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงให้กับนักเรียนที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนหรือรถโดยสารสาธารณะอย่างเป็นขั้นตอนที่เข้าใจง่ายและปฏิบัติได้จริง โดยความยินยอมร่วมมือของทุกฝ่าย (ถ้าขอความร่วมมือแล้วไม่ยอมก็ต้องมีมาตรการบังคับ) ทั้งโรงเรียน สำนักงานขนส่งจังหวัด ตำรวจ ผู้ปกครอง และคนขับรถรับส่งนักเรียน  เพื่อให้มั่นใจว่าการเดินทางไปกลับบ้านและโรงเรียนของนักเรียนทุกคนจะต้องปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 และจากอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนที่ยังเป็นปัญหาใหญ่หลอกหลอนอยู่จนวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน

ขนส่งทางบกขยับใช้เทคโนโลยีแก้โกงแท็กซี่         15 มิถุนายน นายจักรกฤธ  ตั้งใจตรง  ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก  เปิดเผยผ่านแอปพลิเคชั่น Clubhouse ของสื่อมวลชน The Transport Talk ในหัวข้อเสวนา “แท็กซี่บุคคลผ่านแอปฯ vs แท็กซี่เดิม ความคาดหวังของผู้บริโภค”  ว่า ขนส่งฯ มีนโยบายแก้ไขปัญหาและยกระดับบริการของแท็กซี่ โดยหาแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาดูแลให้ผู้ขับแท๊กซี่ปฏิบัติตามกฏหมาย ป้องกันการโกงมิเตอร์ ปฏิเสธผู้โดยสาร หรือการขับรถเร็ว โดยจะเริ่มมีการนำจีพีเอสมาติดแท๊กซี่เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชั่น TAXI OK  พิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารให้สอดรับกับต้นทุนค่าจีพีเอส กสทช. เตือนระวัง SMS หลอกลวง ป้องสูญเงิน-ล้วงข้อมูลส่วนตัวไปใช้         นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า มีประชาชนได้รับข้อความสั้นหรือ  SMS  แอบอ้างว่าส่งมาจากธนาคาร หน่วยงานราชการหรือหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งผู้ส่งตัวจริงคือมิจฉาชีพที่แอบอ้างใช้วิธีการส่งลิงก์ประกอบข้อความ ในลักษณะคล้ายการแจ้งเตือนแบบระบบ อี-แบงกิ้ง หรือ SMS แจ้งสถานะทางการเงิน ทั้งนี้ประชาชนที่ได้รับข้อความอาจไม่เคยทำธุรกรรมใดกับธนาคารนั้นๆ มาก่อนหรือติดต่อกับหน่วยงานมาก่อน เป็นการหลอกให้ประชาชนกดลิงก์แนบเพื่อเข้าไปกรอกข้อมูลส่วนบุคคล หรือทำให้สูญเสียเงินหรือถูกนำข้อมูลไปใช้ในคดีทางอาชญากรรมจนเกิดการความเสียหาย         นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน กล่าวว่า กสทช. ขอให้ประชาชนระมัดระวัง เมื่อได้รับ SMS ที่มีลิงก์ลักษณะดังกล่าวขอให้ตั้งสติหรืออย่าเพิ่งเชื่อข้อความที่ได้รับ แต่ให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของ SMS  สังเกตลิงก์ก่อนกด หากเป็นมิจฉาชีพ Url จะมีลักษณะแปลก ไม่ตรงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อ้างใน SMS หากสงสัยอย่าไปกดลิงก์ ให้โทรสอบถาม Call Center ของหน่วยงานแทน ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. สั่งการให้ผู้ประกอบการโทรมานาคมทุกรายตรวจสอบดูแลการส่ง SMS ที่ผ่านระบบของผู้ใช้บริการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนหรือเกิดกรณีหลอกลวง ขายประกันจำไว้ ถ้าถูกปฏิเสธภายใน 6 เดือนห้ามตื้อขายอีก        นายจอม จีระแพทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายตรวจสอบคนกลางประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบการธุรกิจ เปิดเผยว่า ได้ยกร่างประกาศใหม่ สำหรับแนวทางปฏิบัติหลักเกณฑ์วิธีการออกและเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย และดำเนินการของตัวแทน นายหน้า และธนาคาร พ.ศ.2563  เพิ่มเติมจากประกาศเสนอขายฉบับใหญ่เดิม โดยประกาศเดิมอาจมีถ้อยคำที่มีความยืดหยุ่นให้ธุรกิจไปปฏิบัติแต่บางเรื่องภาคธุรกิจยังมีความเห็นไม่ตรงกัน เพื่อให้ประชาชนและผู้เอาประกันภัยได้รับความเป็นธรรม คปภ. จึงยกร่างแนวปฏิบัติใหม่ เปิดรับความคิดเห็นภาคธุรกิจ ซึ่งปิดรับฟังความคิดเห็นภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้         นายจอม กล่าวว่า  “ร่างใหม่จะเป็นไกด์ไลน์ข้อแนะนำในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ถ้าเกิดกรณีมีความผิดปกติ หรือมีลักษณะทุจริต เราก็อ้างอิงแนวปฏิบัติจากตรงนี้ได้ ซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่ คปภ.พยายามกำหนดเกณฑ์ปฏิบัติแก้ไขส่วนที่ยังคลุมเครืออยู่เพื่อลดข้อโต้แย้ง”สำหรับแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเสนอขายประกันภัยใหม่1.ปลดล็อกขายยูนิตลิงก์ผ่านช่องทาง2.เปิดกว้างใช้วิธีเห็นชอบด้วยกฎหมาย ยืนยันลูกค้าประสงค์ทำประกัน3.ห้ามเสนอขายประกันนอกเหนือวันและเวลา (วันจันทร์-วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-19.00 น.) เว้นแต่มีนัดหมายล่วงหน้าและลูกค้ายินยอม4.หากลูกค้าไม่ประสงค์ทำประกันภัยจะต้องล่วงพ้นไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 6 เดือนนับจากวันปฏิเสธถึงเสนอขายใหม่ได้ห้ามใช้ถ้อยคำดูหมิ่น ข่มขู่ หรือไม่สุภาพ5.ใช้คำว่า ชำระเบี้ยประกันทุกครั้ง ห้ามใช้คำว่า ฝาก หรือ ฝากเงิน หากมีการระบุว่าเป็นการออม ระบุชัดว่าเป็นการออมในรูปแบบการประกันชีวิต      จับฉลากออนไลน์ ขายหวยไม่มีใบรางวัลที่ 1 ให้ครูชัยภูมิ         จากกรณีครูชาวชัยภูมิ ซื้อลอตเตอรี่จากแพลตฟอร์มออนไลน์ถูกรางวัลที่ 1 ผู้ขายไม่ได้ให้ใบสลากและขอจ่ายเงินรางวัลเพียง 1 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะแบ่งจ่ายเป็นเช็คให้งวด 500,000 บาทจนครบ โดยอ้างว่าสลากที่ถูกรางวัลถูกพนักงานในบริษัทขโมยงัดตู้เซฟนั้น         พ.ต.อ. บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการซื้อขายหมายเลขโดยไม่มีสลากมอบให้กับผู้ซื้อ แต่อ้างอิงผลสลากกินแบ่งรัฐบาล เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ.2478 จึงมอบอำนาจให้นิติกรไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้กระทำความผิดทุกฐานความผิดจากพฤติกรรมดังกล่าว ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ทำการประชาสัมพันธ์เตือนผู้ซื้อสลากกินแบ่งผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หากไม่ได้รับสลากมาครอบครองอาจไม่สามารถนำสลากมารับเงินรางวัลได้ และเตือนตัวแทนจำหน่าย การนำสลากไปขายต่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และเว็บไซต์เป็นการกระทำผิดเงื่อนไขในสัญญา หลักเกณฑ์การรับสลากไปจำหน่าย   มพบ.เสนอรัฐจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียนป้องกันเหตุสลดซ้ำซาก         จากกรณีอุบัติเหตุรถสองแถวหกล้อรับส่งนักเรียนโรงเรียนดงบังพิสัยนวการนุสรณ์ เสียหลักพลิกคว่ำรับเปิดเทอมบริเวณสามแยกด้านหน้าทางเข้าโรงเรียน ตำบลดงบัง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ทำให้มีเด็กนักเรียนบาดเจ็บกว่า 37 คน อาการสาหัสอีก 4 คนนั้น นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สถานการณ์อุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนในปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์รถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัย โดยศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุว่า เพียง 6 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-มิถุนายน) เกิดอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนมากถึง 8 ครั้ง มีนักเรียนบาดเจ็บมากถึง 134 คน และเสียชีวิต 2 คน เกือบทั้งหมดมีสาเหตุจากความประมาทของผู้ขับรถรับส่งนักเรียน และสภาพรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ปลอดภัย         “เฉพาะกรณีล่าสุดที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งนอกจากจะมีสาเหตุจากการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสแล้ว ยังพบว่ารถคันดังกล่าววิ่งรับส่งนักเรียนโดยไม่ได้ขออนุญาตเป็นรถรับส่งนักเรียน รวมถึงสภาพรถยังไม่มั่นคงแข็งแรง กล่าวคือ โครงสร้างรถที่ส่วนควบกระเด็นออกจากตัวรถไม่สามารถป้องกันแรงกระแทกให้กับนักเรียนที่โดยสารมาได้ ส่วนนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักเรียนได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการปล่อยให้นักเรียนนั่งบนหลังคารถเป็นทั้งสิ่งที่ผิดกฎหมายและเป็นอันตรายร้ายแรงสูงสุดที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด”         จากปัญหาที่เกิดขึ้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอเรียกร้องกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานที่กำกับมาตรฐานความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น พร้อมทบทวนมาตรการกำกับความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนขั้นสูงสุด ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะมีการสูญเสียกันมามากพอแล้ว         ข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษา มีดังนี้        1. ต้องกำหนดยุทธศาสตร์และแผนความปลอดภัยเพื่อการเดินทางของนักเรียน เพื่อเป้าหมายความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียนที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียน        2. กำหนดบทบาทให้โรงเรียนเป็นจุดจัดการงานรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย โดยมีภารกิจสนับสนุนองค์ความรู้ และแนวทางการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยให้กับครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแนวทางติดตามประเมินผลการปฏิบัติการในทุกภาคเรียนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการทบทวนมาตรการให้เหมาะสมต่อไป        3. สนับสนุนนโยบายให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางของนักเรียน โดยถือว่าหนึ่งในสวัสดิการด้านการศึกษาที่รัฐต้องจัดให้ เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาที่เป็นบริการของรัฐได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม         สำหรับข้อเสนอต่อหน่วยงานอื่นๆ เพื่อการบูรณาการคือ ให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงคมนาคมบูรณาการความร่วมมือเพื่อปรับปรุงข้อกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติ และข้อมูลของสองหน่วยงานให้มีความสอดคล้องกันสามารถใช้ปฏิบัติได้จริง ต้องกำหนดการเดินทางที่ปลอดภัยของนักเรียนให้เป็นแผนงานหลักของหน่วยงานระดับจังหวัด เช่น สำนักงานขนส่งจังหวัดหรือโรงเรียน เป็นต้น และให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนมีมาตรการให้ทุกจังหวัดมีแผนยุทธศาสตร์หรือคณะทำงานด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน โดยให้กำหนดโครงสร้างการเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย อีกทั้งต้องกำหนดตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยการเดินทางของนักเรียน หากจังหวัดใดเกิดเหตุซ้ำซากต้องมีมาตรการลงโทษโดยทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ปัญหารถรับส่งนักเรียน ยังรอมาตรการที่จริงจังจากรัฐ

        รู้หรือไม่ ประเทศไทยมีนโยบายทางการศึกษาให้เด็กเรียนฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ถือเป็นสิทธิของเด็กและเป็นบริการของรัฐ ที่เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียนถึงการศึกษาภาคบังคับรวม 12 ปี  ซึ่งนโยบาย “เรียนฟรี” ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยถึงสามฉบับติดต่อกัน (รัฐธรรมนูญปี 40 , 50 และ 60)           แม้บทบัญญัติด้านการศึกษาในรัฐธรรมนูญทั้งสามจะถูกสลับจับย้ายประโยคไปมา แต่ความหมายโดยรวมคือการเรียนฟรี 12 ปี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ในความเป็นจริงการศึกษาของรัฐที่ไม่มีค่าใช้จ่ายนั้นใช้ไม่ได้จริง ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางไปโรงเรียนด้วย ดังนั้นค่าใช้จ่ายส่วนนี้จึงเป็นภาระและความรับผิดชอบของผู้ปกครองฝ่ายเดียว         สำหรับนักเรียนใน กทม. ด้วยการคมนาคมที่ดีกว่าจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะการขนส่งมวลชน เด็กนักเรียนดูจะมีทางเลือกมากกว่าเด็กนักเรียนในต่างจังหวัด         ระบบขนส่งสาธารณะที่ไร้ทิศทาง อีกทั้งบ้านเรือนที่อยู่ไกลจากโรงเรียนมาก หากผู้ปกครองไม่สามารถไปส่งถึงโรงเรียนได้ ทางออกจะมีเพียงสองทาง คือ หนึ่ง ออกรถจักรยานยนต์ให้ลูกขับขี่ไปโรงเรียน ซึ่งแม้จะสะดวกแต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยง และ สอง จัดหารถรับส่งนักเรียนให้ลูกโดยสารไปโรงเรียนแทน แต่ก็กลายเป็นความเสี่ยงใหม่ที่ผู้ปกครองไม่เคยรู้ว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับบุตรหลานไปนั้นส่วนใหญ่ “ไม่ปลอดภัย”         ทำไมรถรับส่งนักเรียนถึงไม่ปลอดภัย ?          จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์รถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัย โดยศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ชัดว่า เพียง 6 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-มิถุนายน) มีความรุนแรงจากอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้เกิดอุบัติเหตุมากถึง 8 ครั้ง มีนักเรียนบาดเจ็บมากถึง 134 คน และเสียชีวิต 2 คน  เกือบทั้งหมดมีสาเหตุจากความประมาทของผู้ขับรถรับส่งนักเรียน และสภาพรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ปลอดภัย         โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งนอกจากจะมีสาเหตุจากการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้นักเรียนได้รับอันตรายสาหัสแล้ว ยังพบว่ารถคันดังกล่าววิ่งรับส่งนักเรียนโดยไม่ได้ขออนุญาต รวมถึงสภาพรถยังไม่มั่นคงแข็งแรง กล่าวคือ โครงสร้างรถที่ส่วนควบนั้นกระเด็นออกจากตัวรถไม่สามารถป้องกันแรงกระแทกให้กับนักเรียนที่โดยสารมาได้ ส่วนนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักเรียนได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น  และยังพบว่ามีการปล่อยให้นักเรียนนั่งบนหลังคารถ ซึ่งผิดกฎหมายและเป็นอันตรายร้ายแรงสูงสุดที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด         ทั้งยังพบว่าในหลายพื้นที่ รถรับส่งนักเรียนถูกดัดแปลงสภาพรถต่อเติมที่นั่ง และเป็นรถที่ไม่ได้ขออนุญาต  ขาดอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ควรมีในรถ  รวมถึงความประมาทเลินเล่อและพฤติกรรมเสี่ยงของคนขับรถบางคน เช่น ล่วงละเมิดทางเพศ ขับรถเร็ว หรือ ลืมเด็กไว้ในรถ นอกจากนี้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น ครู ผู้ปกครอง นักเรียน หรือคนขับรถรับส่งนักเรียน จำนวนมากยังขาดความเข้าใจ และแรงสนับสนุนองค์ความรู้ที่ถูกตรงเกี่ยวกับการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย         ตอกย้ำความเสี่ยงที่เกิดกับการเดินทางของนักเรียนทุกวันนี้ คือ รัฐขาดความจริงใจในการแก้ไขปัญหา กลไกของรัฐเพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ที่ผ่านมาจึงมุ่งแต่ออกกฎระเบียบบังคับให้ทำตาม แต่ขาดการประเมินว่าปฏิบัติตามได้หรือไม่ หรือแม้แต่จำนวนรถรับส่งนักเรียนที่มีอยู่ในปัจจุบันรัฐก็ยังไม่รู้จำนวนที่แท้จริง เพราะผู้ประกอบการจำนวนมากที่ไม่ยินยอมนำรถมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานขนส่งแต่ละจังหวัด สะท้อนถึงความผิดผลาดของระบบจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ต้องการความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยสิ้นเชิง         อย่างไรก็ดีแม้การเดินทางมาโรงเรียนของนักเรียนในปัจจุบันจะเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัย และอาจทำให้เกิดความรุนแรงจากอุบัติเหตุทางถนนได้ แต่หลักการสำคัญของระบบการจัดการรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย คือ         การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้ง ครู นักเรียน ผู้ปกครอง เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยวิธีประสานงาน  ให้ความรู้  สื่อสารที่เป็นระบบ รวมถึงเป้าหมายการทำให้เรื่องการจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยเป็นมาตรการองค์กรหรือนโยบายของโรงเรียน เพื่อความต่อเนื่องที่ไม่ขาดตอนของการจัดการ รวมถึงผลักดันไปสู่การเป็นแผนจังหวัดในการจัดการรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย เพื่อเป้าหมายร่วมสร้างการเดินทางที่ปลอดภัยขั้นสูงสุดให้กับนักเรียน ซึ่งเรื่องแบบนี้อาจจะไม่ไกลเกินฝัน ถ้าทุกคนคิดช่วยกันจริง ๆ เพื่ออนาคตของลูกหลานเราทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถรับส่ง แก้ไม่ได้หรือไม่ได้แก้

        ความสูญเสียที่ป้องกันได้ เหตุการณ์ผู้ใหญ่ลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถรับส่งเมื่อ 14 สิงหาคม 2563 คือเหตุสลดอีกครั้งที่พรากชีวิตเด็กน้อยอายุเพียง 3 ปี จากนครศรีธรรมราช “น้องกองบิน” ไป         เชื่อหรือไม่ สถิติเด็กถูกลืมไว้ในรถตั้งแต่ปี 2557 ถึง 17 สิงหาคม 2563 ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่ามีเด็กถูกลืมและถูกทิ้งไว้ในรถทุกประเภทมากถึง 129 ครั้ง ที่สำคัญมีเด็กเสียชีวิตมากถึง 6 ราย ซึ่ง 5 ใน 6 ราย เป็นเด็กที่ถูกลืมในรถรับส่งนักเรียน และเด็กทุกคนที่เสียชีวิตล้วนเป็นเด็กเล็กอายุเพียง 2 - 6 ปี โดยมีสาเหตุจากการขาดอากาศหายใจเพราะอยู่ในรถที่มีสภาพอากาศร้อนจัดเป็นเวลานานหลายชั่วโมง         สอดรับกับข้อมูลสาเหตุการเสียชีวิตในเด็ก ที่ศูนย์วิจัยเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี (CSIP) ระบุ กล่าวคือ “การเสียชีวิตของเด็กที่ถูกลืมไว้ในรถส่วนใหญ่เกิดจากร่างกายของเด็กมีความร้อนสูงเกินขนาด คือมีความร้อนสูงถึง 42 องศา หากถูกลืมไว้ในรถนานเกิน 2 ชั่วโมงขึ้นไป จากนั้นเซลล์ในร่างกายจะเริ่มตาย เลือดในร่างกายจะเริ่มเป็นกรด ต่อมาสมองก็จะบวมจนไปทับก้านสมองในส่วนการควบคุมในระบบการหายใจ”         เรื่องนี้บอกอะไรกับสังคมบ้าง แน่นอนมันสะท้อนถึงปัญหาระบบการจัดการคุณภาพและมาตรฐานของรถรับส่งนักเรียนที่ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ใช่เพียงปัญหาการลืมเด็กไว้ในรถเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาด้านมาตรฐานรถและคุณภาพบริการความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจุบันรถรับส่งนักเรียนถูกแปรสภาพกลายเป็นหัวใจหลักในการเดินทางของเด็กนักเรียนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไปแล้ว และคาดว่ามีรถที่ถูกนำมาใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนทั่วประเทศ ทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคัน ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต ขาดการจัดการควบคุมให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ปลอดภัย        เมื่อปัญหาเกิดขึ้นสังคมก็ขยับเขยื้อนไปบ้าง เชื่อว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงอยากให้เหตุการณ์น้องกองบินเป็นความสูญเสียครั้งสุดท้าย สังคมไทยไม่ควรมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เราจึงเห็นข่าวหลายโรงเรียนที่มีเด็กเล็กใช้รถรับส่งนักเรียน ได้พยายามหาแนวทางและมาตรการป้องกันต่างๆ เช่น ให้ความรู้กับเด็กนักเรียนเมื่อติดอยู่ในรถว่าต้องทำอย่างไร (ทั้งที่เด็กที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยที่อ่อนด้อยศักยภาพเกินกว่าจะช่วยเหลือตัวเองได้)  หรือจัดทำบัญชีรายชื่อนักเรียนและเช็คนักเรียนทุกครั้งที่มาถึงโรงเรียน เป็นต้น        แต่หากวิเคราะห์ถึงแก่นแท้ของปัญหาที่เกิดขึ้น การให้ความรู้เด็กและจัดทำรายชื่อเด็กที่ใช้รถรับส่งนักเรียนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดนั้นคงเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้น มิใช่การแก้ปัญหาในเชิงระบบ ถ้าเช่นนั้นสิ่งที่ควรต้องเร่งดำเนินการคืออะไร        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอเสนอแนวทางป้องกันการลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถรับส่ง ดังนี้           1) มีระบบฐานข้อมูลนักเรียนที่ขึ้นรถรับส่งนักเรียน รายชื่อคนขับรถรับส่งนักเรียน และเส้นทางเดินรถแต่ละคันที่มีนักเรียนใช้บริการ         2) มีระบบการตรวจสอบรายชื่อนักเรียนก่อนขึ้นและหลังลงรถรับส่งนักเรียน โดยคนขับรถรับส่งนักเรียนหรือพี่เลี้ยงทุกครั้ง         3) ตรวจเช็คนักเรียนบนรถทุกครั้งหลังจากส่งถึงจุดหมายปลายทาง         4) มีช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างครู ผู้ปกครองและคนขับรถรับส่งนักเรียนตลอดการรับส่งนักเรียน เช่น กลุ่มไลน์ ว่ารับเด็กจากต้นทางและส่งเด็กถึงจุดหมายปลายทางแล้วทุกครั้ง         และ 5) มีการประเมินมาตรการความปลอดภัยบนรถรับส่งนักเรียนทุกเดือนเพื่อให้เกิดการป้องกันที่ต่อเนื่อง         อย่างไรก็ตามที่สุดแล้วแม้จะกำหนดกฎกติกาความปลอดภัยเพียงใด หากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง ครู ผู้ปกครอง คนขับรถรับส่งนักเรียน ยังไม่ใส่ใจและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาท ปัญหาที่ควรแก้ไขป้องกันได้แบบนี้ก็จะเกิดซ้ำย้ำรอยเดิม ขอภาวนาให้เหตุการณ์น้องกองบิน เป็นครั้งสุดท้ายของการลืมเด็กนักเรียนในรถรับส่ง “ให้มันจบที่รุ่นเรา” 

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 233 ปัญหารถรับส่งนักเรียนไม่น่าไว้ใจพอกับโควิด

        ปิดเทอมหน้าร้อนนี้ปีนี้เป็นการปิดเทอมที่ยาวนานที่สุดเนื่องจากพิษโควิดส่งผลกระทบโดยตรงต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่นักเรียน ผู้ปกครอง และครูผู้สอน แต่การให้มีวันหยุดเพิ่มก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาแค่ชั่วคราว เพราะสุดท้ายแล้วรัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการก็ต้องเปิดเทอมให้มาเรียนกันอยู่ดี แต่ครั้นจะปล่อยให้นักเรียนมารวมตัวกันโดยไม่มีมาตรการป้องกันทั้งที่ไวรัสโควิด 19 ยังไม่ไปไหนก็คงไม่ดีนัก แนวคิดการเรียนออนไลน์จึงกลายเป็นทางออกแบบเร่งด่วนในยุคนี้         แม้การเรียนออนไลน์จะมีข้อดีที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในโรงเรียน แต่ข้อเสียที่สำคัญกว่าคือยังมีเด็กจำนวนมากที่ขาดโอกาสและเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ออนไลน์ เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่ขาดคุณภาพชีวิตที่ดีในการเข้าถึงอาหารโรงเรียน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสหรือยากจน รวมถึงภาระความเดือดร้อนของผู้ปกครองที่ต้องออกไปทำงาน ทำให้ไม่มีเวลามาเฝ้าลูกเรียนออนไลน์ได้          จากข้อมูลกระทรวงศึกษาธิการ ภาพรวมสถิติในปี 2562 ระบุว่า มีนักเรียนในระบบ 10,938,698 คน แบ่งเป็น ก่อนประถมศึกษา 1,705,205 คน คิดเป็น 16%  ประถมศึกษา 4,730,416 คน คิดเป็น 43% มัธยมศึกษาตอนต้น 2,270,657 คน คิดเป็น 21% มัธยมศึกษาตอนปลาย 1,204,249 คน คิดเป็น 11% และอื่นๆ 1,028,101 คน คิดเป็น 9%         ขณะที่มีสถานศึกษาหรือโรงเรียนทั่วประเทศอยู่ 41,246 แห่ง  นั่นหมายความว่าจะมีนักเรียนเกือบ 11 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยจากมาตรการเรียนออนไลน์ในครั้งนี้ แม้แนวทางนี้เป็นเรื่องที่ดีเหมาะสมกับสถานการณ์ แต่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะให้นักเรียนทั่วทั้งประเทศเรียนในรูปแบบออนไลน์สักเท่าไรนัก         นอกจากมาตรการความปลอดภัยที่จะต้องเตรียมป้องกันขั้นสูงสุดสำหรับการเรียนในโรงเรียนแล้ว รูปแบบการเดินทางไปโรงเรียนของนักเรียนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุดเช่นกัน กรณีที่ผู้ปกครองมาส่งเองคงไม่มีอะไรมาก แต่หากเป็นนักเรียนที่ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะหรือรถรับส่งนักเรียนที่ในแต่ละครั้งต้องแออัดเบียดเสียดกันแน่นรถ อาจเข้าข่ายเสี่ยงต่อการติดเชื้อระหว่างการเดินทางได้หากมีการระบาดของไวรัสโควิด19         ทำให้กรมการขนส่งทางบกในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องรถรับส่งนักเรียนต้องกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 นอกเหนือจากการกำหนดมาตรการเว้นระยะห่างในรถโดยสารสาธารณะอยู่แล้ว โดยกำหนดให้คนขับรถรับส่งนักเรียนต้องมีการคัดกรองวัดอุณหภูมิ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง จัดให้มีแอลกอฮอล์ชนิดเจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคประจำรถ การทำความสะอาดก่อนและหลังการให้บริการแต่ละรอบ ลงทะเบียนบันทึกข้อมูลนักเรียนที่ใช้บริการ และปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19          ขณะที่โรงเรียนหลายแห่งเลือกที่จะเพิ่มมาตรการความปลอดภัยด้วยการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง และคนขับรถรับส่งนักเรียน โดยขอความร่วมมือให้แบ่งการเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนเป็นสองรอบ เพื่อลดปริมาณความหนาแน่นของนักเรียนบนรถ กำหนดจุดจอดรถรับส่งนักเรียนเพื่อให้เป็นระเบียบและสะดวกสอดคล้องกับมาตรการป้องกันของโรงเรียนเพิ่มเติม            จากความร่วมมือของทุกคนที่ช่วยกันตั้งการ์ดอย่างเต็มที่ ส่งผลให้สถานการณ์หลังเปิดเทอมสองอาทิตย์ สถิติด้านสุขภาพของนักเรียนดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก นอกจากจะหยุดโควิดไม่ให้มาแล้ว โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้ต่างๆ ก็ลดน้อยลงด้วย เรียกได้ว่างานนี้ต้องชื่นชมปรบมือให้กับทุกคนจริงๆ         ส่วนสิ่งที่น่ากังวลต่อจากนี้คือ ผลกระทบจากโควิด 19 อาจทำให้ผู้ปกครองบางส่วนกังวล ไม่อยากให้บุตรหลานใช้รถโดยสารสาธารณะหรือรถรับส่งนักเรียน แต่เลือกให้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเดินทางไปโรงเรียนแทน แม้จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อระหว่างเดินทางได้บ้าง กลับกันก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนนให้กับนักเรียนเช่นกัน เพราะอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตของเยาวชนไปจากครอบครัว และมีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 ความร่วมมือกับความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียน

วันที่ 6 – 7 ธันวาคมที่ผ่านมา มีงานใหญ่ที่รัฐบาลโดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจัดขึ้นทุกสองปี นั่นคือ งานสัมมนาระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 13 ที่ครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวความคิด “ลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน” ภายในงานมีหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจหลายอย่าง แต่ที่อยากจะมาบอกกล่าวกันในวันนี้ คือ ห้องย่อยที่ 3 ยานพาหนะปลอดภัย ในหัวข้อหลัก “ทิศทางและบทเรียนการจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียนในระดับพื้นที่” การเสวนาในวันนั้นเป็นการนำเสนอรูปแบบและวิธีการจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียนจากหลายภาคส่วน เพื่อหาข้อสรุปที่นำไปสู่การสนับสนุนให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องการจัดการความปลอดภัยและมาตรฐานรถที่จะนำมารับส่งนักเรียน เพราะที่ผ่านมาทุกคนต่างรับรู้และเห็นถึงปัญหารถรับส่งนักเรียนกันอย่างดีแล้วว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียว เหตุเพราะปัญหารถรับส่งนักเรียนนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าแค่เรื่องสภาพรถ ที่ส่วนใหญ่เป็นรถที่ไม่ปลอดภัย และไม่เหมาะในการนำมาวิ่งให้บริการรถรับส่งนักเรียน ซึ่งพอจะสรุปได้เป็นสี่ประเด็นหลัก ดังนี้ ประการที่หนึ่ง ระบบขนส่งสาธารณะที่ล้มเหลว ซึ่งรองรับได้แค่กรุงเทพมหานครและตัวเมืองชั้นในของจังหวัดใหญ่เท่านั้น ทำให้การเดินทางไปโรงเรียนของเด็กมีความยากลำบากเพิ่มขึ้น ประการที่สอง นโยบายการศึกษาที่ยุบโรงเรียนเล็กไปรวมกันหรือการให้โรงเรียนระดับท้องถิ่นเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนดังส่งผลเกิดค่านิยมในการเรียนโรงเรียนใหญ่ที่จะทำให้เด็กมีการศึกษาที่ดีขึ้น ทำให้เด็กต้องเดินทางไกลขึ้นจากเดิมเพื่อไปเรียนให้ได้ ประการที่สาม ทัศนคติของครูอาจารย์ที่ยังไม่เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีระบบจัดการรถรับส่งนักเรียนและคิดว่าเป็นภาระที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากงานที่มีอยู่ และประการที่สี่ ความไม่ใส่ใจในความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยของเด็กนักเรียน การไม่มีทางเลือกที่เพียงพอในการนำพาเด็กไปสู่โรงเรียนด้วยความปลอดภัย และความไม่พร้อมทางฐานะการเงินที่จะจัดหารถที่ปลอดภัยสำหรับบุตรหลานเพื่อไปโรงเรียนได้ ขณะที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกำลังพยายามช่วยเหลือและจัดการรถรับส่งนักเรียนให้ปลอดภัย ด้วยการทำข้อมูลในระดับพื้นที่และสร้างระบบการจัดการ โดยการขับเคลื่อนให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาเป็นจุดจัดการ ด้วยการมีส่วนร่วมของครู นักเรียน ผู้ปกครอง คนขับรถรับส่งนักเรียน องค์กรผู้บริโภค และหน่วยงานท้องถิ่นในการร่วมกันสนับสนุนและจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการในระยะแรกไปแล้วในพื้นที่ 32 จังหวัด จังหวัดละ 1 โรงเรียน แต่หน่วยงานหลักด้านนโยบายอย่างกรมการขนส่งทางบกและกระทรวงศึกษาธิการ กลับยังไม่มีบทบาทที่ชัดเจนในการแสดงออกว่าจะร่วมมือกันจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียนที่มีอยู่อย่างไร ที่ผ่านมามีเพียงกรมการขนส่งทางบกที่ได้ออกมาตรการกำกับดูแลรถรับส่งนักเรียน โดยกำหนดให้ประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง(รย.2) หรือรถที่มีป้ายทะเบียนพื้นสีขาวตัวหนังสือสีฟ้า นำมาจดทะเบียนเป็นรถรับส่งนักเรียนได้ แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า ยังมีรถรับส่งนักเรียนที่วิ่งรับส่งทั่วประเทศอีกจำนวนมากที่ไม่ใช่รถตามที่กฎหมายอนุญาตให้นำมาจดทะเบียนเป็นรถรับส่งนักเรียน ยังไม่รวมถึงมาตรการบังคับข้ออื่นๆ ที่ผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนไม่สนใจทำตาม ส่งผลให้กฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้ ซ้ำยังเป็นการสร้างความยากลำบากให้กับเจ้าหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะหากเจ้าหน้าที่เข้มงวดกวดขันบังคับตามกฎหมาย รถรับส่งนักเรียนที่ผิดกฎหมายหลายคันจะต้องหยุดวิ่ง ผลคือเด็กจำนวนมากจะไม่สามารถเดินทางไปโรงเรียนได้ มันก็จะคล้ายๆ จับเด็กเป็นตัวประกัน เจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าทำอะไร… ส่วนกระทรวงศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีหน้าที่ดูแลโรงเรียนและเด็กนักเรียนทั่วประเทศ ยังคงนิ่งสงบและไม่มีบทบาทที่ชัดเจนในการออกมาตรการดูแลในส่วนนี้ ทั้งที่บางโรงเรียนในสังกัดต้องการคำสั่งในการจัดการรถรับส่งนักเรียน เพราะเห็นว่าการจะทำภารกิจใดๆ ที่นอกเหนือจากงานที่มีอยู่ต้องมีคำสั่ง หากไม่มีคำสั่งก็จะไม่ทำ เพราะไม่มีการบังคับจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ แต่จากบทสรุปของ ห้องย่อยยานพาหนะประเด็นรถรับส่งนักเรียน ในเวทีงานสัมมนาระดับชาตินั้น แม้จะยังไม่ได้คำตอบที่ชัดว่า การจัดการที่ถูกต้องเหมาะสมจะต้องทำกันแบบไหน แต่อย่างน้อยประเด็นการให้โรงเรียนเป็นจุดจัดการที่ทุกฝ่ายร่วมสนับสนุนเพื่อให้เกิดระบบรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยก็เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เห็นชอบร่วมกัน รวมถึงประเด็นสำคัญที่ถือว่าเป็นก้าวแรกของการมีส่วนร่วมที่ดีและเป็นสัญญาประชาคมจาก คุณโรจนะ กฤตเจริญ ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการรับข้อเสนอแนวทางการมีส่วนร่วมไปเสนอผู้บริหาร เพื่อเป็นเจ้าภาพตั้งคณะทำงานจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ นักวิชาการและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรฐานการจัดการรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย ถึงแม้ว่าจะเหมือนเห็นแสงสว่างเล็กๆ ที่ปลายอุโมงค์ แต่เราต้องมีความหวัง และพร้อมที่จะติดตามผลการจัดตั้งคณะทำงานนี้ และร่วมกันผลักดันมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อให้รถรับส่งนักเรียนมีมาตรฐานความปลอดภัย ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อลูกหลานของเราทุกคน… 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 นักเรียนเขาคิดอย่างไรกับเรื่องรถโรงเรียน

ปี 2558 รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ 17 ครั้ง บาดเจ็บ 212 คน เสียชีวิต 24 รายปี 2559 รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ 27 ครั้ง บาดเจ็บ 231 คน เสียชีวิต 4 รายการเดินทางไปร่ำเรียนหนังสือของเด็กไทยในทุกวันนี้ มีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่ผู้ปกครองเลือกวิธีการให้ลูกโดยสารไปกับ “รถรับส่งนักเรียน” โดยเชื่อว่าจะช่วยทำให้เด็กทั้งเดินทางสะดวกสบายและประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนที่พ่อแม่จะต้องไปส่งเด็กที่โรงเรียนเอง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เชื่อมั่นด้วยว่า มีความปลอดภัยกว่าที่จะให้ลูกหลานไปกับรถโดยสารประจำทางหรือขับขี่รถไปเอง แต่จะมีพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนบ้าง ที่จะตระหนักว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับลูกของเรานั้น ก็มีความเสี่ยงอันตรายมากเช่นกัน   จากการติดตามสถานการณ์ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียนในหลายปีที่ผ่านมา ของโครงการ Safe Thai Bus ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค พอที่จะสรุปปัญหาได้ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายจนถึงแก่ชีวิตของลูกหลานเรา มาจากสาเหตุหลักคือการนำรถยนต์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเพื่อเป็นรถรับส่งนักเรียนโดยเฉพาะไปทำเป็นรถรับส่งนักเรียน หรือการใช้รถยนต์ผิดประเภทนั่นเอง  จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก มีรถจดทะเบียนรถรับส่งนักเรียน จนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 จำนวน 22,861 คัน แบ่งเป็น รถตู้ จำนวน 15,781 คัน, รถสองแถว จำนวน 3,175 คัน และรถกระบะปิคอัพ จำนวน 2,667 คัน และมีการนำรถมาใช้ผิดประเภทจำนวน 2,788 คัน (อ้างอิงจาก ข่าวไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560) ซึ่งจากการทำงานของโครงการฯ แล้วจำนวนรถที่มีการใช้ผิดประเภทน่าจะมีจำนวนมากกว่านี้อีกมาก อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ในปัจจุบันของเรื่องรถรับส่งนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น ทางโครงการฯ จึงได้ ทำการสำรวจจากผู้ใช้บริการโดยตรงคือ น้องๆ นักเรียน ว่าสภาพการใช้งานจริงๆ นั้น เป็นอย่างไร  โดยมีอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคทั้ง 6 ภาคทั่วประเทศเป็นผู้รวบรวมข้อมูล   การสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน  ในการสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยอาสาสมัครเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค พบว่า ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภท รถตู้ และรถกระบะดัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว มาใช้รับจ้างรับส่งนักเรียนทั้งในและนอกเขตจังหวัดเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเป็นรถที่มีขนาดเล็ก เมื่อนำไปรับส่งนักเรียน อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับนักเรียน นอกจากนี้ยังไม่มีกฎระเบียบควบคุมในเรื่องความปลอดภัย รถรับส่งนักเรียนลักษณะนี้เป็นรถไม่มีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีการปรับปรุงสภาพตัวรถให้มีความปลอดภัยสำหรับใช้รับส่งนักเรียน  และเพราะไม่ได้มีที่มาที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต  จึงมากมายไปด้วยปัญหา ทั้งพนักงานขับรถไม่มีคุณภาพ การขับรถเร็วไม่เคารพกฎจราจร บรรทุกเด็กนักเรียนเกินกว่าที่นั่งของรถที่กฎหมายกำหนด ไม่มีคาดเข็มขัดนิรภัย การปรับเบาะที่นั่งเป็นเบาะยาวในรถตู้ ดัดแปลงสภาพส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรง รถมีสภาพเก่าไม่เหมาะกับการให้บริการ รวมถึงการไม่จัดทำประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ของการรับส่งนักเรียนอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง   ลักษณะการเดินทางไป-กลับโรงเรียนและค่าใช้จ่ายต่อเดือน นักเรียนที่ตอบแบบสอบถามของโครงการฯ พบว่า กลุ่มใหญ่ที่สุด คือ 894 คน จากจำนวนผู้ตอบทั้งหมด 2,996 คน ต้องเดินทางไปโรงเรียนในระยะทางที่มากกว่า 20 กิโลเมตร รองลงมาคือ เดินทางในระยะ 16-20 กิโลเมตร 837 คน หรือ ร้อยละ 30 และ ร้อยละ 28 ตามลำดับ โดยมีนักเรียนที่ใช้ระยะเดินทางไม่เกิน 5 กิโลเมตรอยู่เพียงร้อยละ 7 หรือ 224 คน  โดยเวลาที่เสียไปกับการเดินทางปรากฏว่า น้องนักเรียนส่วนใหญ่ไปถึงโรงเรียนในเวลาไม่เกิน 30 นาที ถึง 1,401 คน จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 3,265 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 43 รองลงมาตอบว่า ราว 30 นาที – 1 ชั่วโมง จำนวน 1,200 คน หรือร้อยละ 37 (ถึงไวจริงๆ ) สำหรับค่ารถที่จ่ายให้กับบริการรถรับส่ง มีผู้ตอบว่า อยู่ในช่วงราคา 300-600 บาท มากที่สุด (1,252 คน) และอยู่ในช่วงราคา 600-900 บาทต่อเดือนรองลงมา (1,029 คน) หรือคิดเป็นร้อยละ 41 และร้อยละ 34 จากผู้ตอบแบบสอบถามในส่วนนี้ทั้งหมด 3,043 คน  รถตู้ คือรถยอดนิยมนำมาทำรถรับส่งนักเรียน จากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดภาพรวม พบว่า รถตู้ ถูกนำมาทำเป็นรถรับส่งนักเรียนมากสุด โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,869 คน รองลงมา คือ รถกระบะ รถสองแถว รถบัส และ รถสี่ล้อใหญ่ หรือ คิดเป็นรถตู้ ร้อยละ 46 รถกระบะ ร้อยละ 25 รถสองแถว ร้อยละ 11 รถบัส ร้อยละ 9 และรถสี่ล้อใหญ่ ร้อยละ 4จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดจำนวน 4,081 คน    แต่เมื่อแยกรายภาค พบว่า ภาคอีสานจะนิยมรถกระบะมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 42 รถสองแถว และรถบัสกลายเป็นอันดับรองๆ ลงมา มากกว่ารถตู้ ซึ่งตอบแบบสอบถามเพียง ร้อยละ 8 เท่านั้น เหตุผลที่ต้องใช้บริการรถรับส่งนักเรียน                เรื่องความสะดวกติดโผมาอันดับหนึ่ง ความปลอดภัยมาเป็นอันดับสอง และตอบว่า ไม่มีทางเลือกเป็นอันดับ สาม (ร้อยละ 44 ร้อยละ 19 และไม่มีทางเลือก ร้อยละ 13) สภาพขณะโดยสารตอกย้ำเรื่องความไม่ได้มาตรฐานของรถรับส่งนักเรียน              จากการรวบรวมข้อมูล เราพบว่า เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ในการใช้บริการครั้งล่าสุดยังพบว่า มีคนที่ไม่มีที่นั่ง หรือต้องยืนไปโรงเรียน อยู่ที่ร้อยละ 15 และอีกร้อยละ 86 ไม่มีการคาดเข็มขัดนิรภัยเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังพบว่า ภายในรถไม่มีอุปปกรณ์ความปลอดภัย เช่น ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ถึงร้อยละ 31 และร้อยละ 29 ตอบว่าไม่ได้สังเกตหรือไม่ทราบว่ามีไม่มี(อาจเพราะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่สังเกตได้ง่าย) จากข้อมูลที่ได้ออกไปรวบรวมมาในครั้งนี้ จึงไม่น่าแปลกใจหากจะพบว่า รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ที่ให้บริการในปัจจุบัน ยังไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดไว้ได้  ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง มีการปล่อยปละละเลยหรืออนุโลมมาอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตมาวิ่งรับส่งนักเรียนแบบผิดกฎหมายอย่างทั่วถึงเช่นในปัจจุบัน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย

เข้าเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นสัญญาณให้รู้กันว่าโรงเรียนทั่วประเทศกำลังจะเปิดเทอมกันแล้ว ความคึกคักยามเช้าและเย็นของเด็กนักเรียนจะกลับมาให้เห็นกันอีกครั้ง ทุกๆ วันจะมีเด็กหลายคนที่เลือกเดินทางไปโรงเรียนด้วยตัวเอง บางคนเลือกใช้บริการรถโดยสารประจำทาง ขณะที่มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกวิธีการให้ลูกโดยสารรถรับส่งนักเรียนไปโรงเรียนแทน มีทั้งวิ่งรับส่งในเขตอำเภอ บ้างก็วิ่งรับส่งจากนอกอำเภอเข้าจังหวัด ซึ่งการให้ลูกเดินทางไปกับรถรับส่งนักเรียนจะช่วยทำให้เด็กเดินทางสะดวกสบายขึ้น และทำให้พ่อแม่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการไปส่งเด็กที่โรงเรียนอีกด้วย แต่จะมีพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนรู้หรือไม่ว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับลูกของเราไปโรงเรียนนั้นมีความปลอดภัยแค่ไหน และเราจะเชื่อใจได้อย่างไร จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกผ่านสื่อออนไลน์ระบุว่าในปี 2558 มีรถรับส่งนักเรียนประเภทรถตู้ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกประมาณ 1,204 คัน และมีรถโรงเรียนสีเหลืองคาดดำที่จดทะเบียนอยู่ประมาณ 807 คัน รวมเป็นรถรับส่งนักเรียนและรถโรงเรียนจดทะเบียนถูกต้องทั่วประเทศประมาณ 2,000 คันเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมากกับปริมาณนักเรียนที่มีอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่ไม่มีข้อมูลเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบว่าแล้วรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ได้ขออนุญาตที่วิ่งให้บริการอยู่ทุกวันนี้มีจำนวนกี่คัน   อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยอาสาสมัครเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค พบว่า ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภท รถตู้ และรถกระบะดัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว มาใช้รับจ้างรับส่งนักเรียนทั้งในและนอกเขตจังหวัดเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเป็นรถที่มีขนาดเล็ก เมื่อนำไปรับส่งนักเรียนอาจเกิดความไม่ปลอดภัยกับนักเรียน และไม่มีกฎระเบียบควบคุมในเรื่องความปลอดภัย รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ลักษณะนี้เป็นรถไม่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้มีการปรับปรุงสภาพตัวรถให้มีความปลอดภัยสำหรับใช้รับส่งนักเรียน รวมถึงเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต  ส่งผลให้เกิดปัญหา อาทิ พนักงานขับรถไม่มีคุณภาพ การขับรถเร็ว ไม่เคารพกฎจราจร บรรทุกเด็กนักเรียนเกินกว่าที่นั่งของรถที่กฎหมายกำหนด ไม่มีคาดเข็มขัดนิรภัย การปรับเบาะที่นั่งเป็นเบาะยาวในรถตู้ ดัดแปลงสภาพส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรง รถมีสภาพเก่าไม่เหมาะกับการให้บริการ รวมถึงการไม่จัดทำประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ของการรับส่งนักเรียนอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง  เฉพาะปี 2559 พบว่า มีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียนที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียนที่ใช้บริการทั่วประเทศมากถึง 27 ครั้ง มีเด็กได้รับบาดเจ็บ 231 คน และเสียชีวิตถึง 4 คน  เมื่อเราหันมามองดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะพบว่ามีกฎหมายหรือระเบียบที่สำคัญในการกำกับดูแลรถรับส่งนักเรียนอยู่สองฉบับ คือ กฎกระทรวงกำหนดความปลอดภัยในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร พ.ศ. 2555 ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 และ กฎกระทรวง ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2526) ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก 2522 โดยกฎหมายทั้งสองฉบับมีเนื้อหาสาระไปในทางเดียวกัน โดยเป็นแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพวิถีชีวิตการใช้รถรับส่งนักเรียนของชุมชน ด้วยการอนุญาตให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน หรือ รย.2  (รถกระบะที่มีที่นั่งสองแถว หรือ รถตู้) มาจดทะเบียนใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนได้  แต่ต้องมีการรับรองการใช้รถดังกล่าวจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา ซึ่งต้องได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด  ห้ามติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกรอบคัน ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นมั่นคงแข็งแรง ไม่มีพื้นที่ให้นักเรียนยืนในห้องโดยสารเด็ดขาด กรณีเป็นรถสองแถวต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก ส่วนรถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น และต้องนำรถเข้าตรวจสอบ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ซึ่งจะได้รับอนุญาตเป็นครั้งคราว คือ ครั้งละ 1 ภาคการศึกษาเท่านั้น นอกจากนี้รถรับส่งนักเรียนทุกคันที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกต้องติดแผ่นป้ายพื้นสีส้ม มีข้อความตัวอักษรสีดำว่า “รถรับส่งนักเรียน” และไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันหรือสีแดงติดอยู่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถให้เห็นชัดเจน  พร้อมมีอุปกรณ์ส่วนควบเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่น เครื่องดับเพลิง ค้อนทุบกระจก วัสดุภายในรถส่วนของผู้โดยสารต้องไม่มีส่วนแหลมคม ทางประตูทางขึ้นลงหรือเป็นช่องเปิดต้องมีความปลอดภัย โครงสร้างหลังคามั่นคงแข็งแรง และที่สำคัญผู้ขับรถโรงเรียนต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ หรือเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ซึ่งต้องไม่เคยมีประวัติเสียหายอันเกิดจากการขับรถมาก่อน รวมถึงต้องมีผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้นักเรียนตลอดการรับส่ง หากพบการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้ใช้รถทันที และไม่สามารถขออนุญาตได้อีกจนกว่าจะพ้น 1 ปีไปแล้ว แต่ด้วยกฎหมายของประเทศไทยที่กำหนดระเบียบและมาตรฐานการให้บริการของรถรับส่งนักเรียนไว้ในระดับสูง เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัยในการรับส่งนักเรียน จึงไม่น่าแปลกใจหากจะพบว่า รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ที่ให้บริการในปัจจุบัน ยังไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดไว้ได้  ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง มีการปล่อยปละละเลยหรืออนุโลมมาอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตมาวิ่งรับส่งนักเรียนแบบผิดกฎหมายอย่างทั่วถึงเช่นในปัจจุบัน จนทุกฝ่ายเฉยชากับปัญหาและคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนยอมรับกันไปแล้ว แล้วความปลอดภัยของลูกหลานเราจะเป็นยังไง หากทุกคนเป็นแบบนี้….

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 เลือก “รองเท้านักเรียน” คู่ใหม่ ต้อนรับเปิดเทอม

  ถึงเวลาเปิดเทอม ก็ถึงเวลาที่เด็กๆ และพ่อแม่จะต้องมองหาอะไรใหม่ๆ ไว้ต้อนรับการศึกษาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเขียนใหม่ ชุดนักเรียนใหม่ เสื้อใหม่ กางเกงใหม่ และที่ลืมไม่ได้คือ “รองเท้าคู่ใหม่” ความสำคัญอันดับแรกของรองเท้าผ้าใบสำหรับนักเรียนในบ้านเรา คงหนีไม่พ้นเรื่องของความถูกต้องตามระเบียบของโรงเรียน และรวมไปถึงไว้สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ในชั่วโมงพละ ซึ่งแน่นอนว่ารองเท้านักเรียนแม้จะเป็นที่นิยมของเด็กๆ ในการเตะฟุตบอล เล่นตะกร้อ (เพราะราคาไม่แพงแถมถูกระเบียบ) แต่ประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้งานคงสู้ไม่ได้กับรองเท้าที่ผลิตขึ้นมาสำหรับใส่เล่นกีฬาโดยเฉพาะ  ฉลาดซื้อ ได้ส่งตัวอย่าง “รองเท้าผ้าใบสำหรับนักเรียนชาย” ไปทดสอบยังกรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อทดสอบโดยยึดตามเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ซึ่งตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรองเท้าผ้าใบมีการกำหนดคุณลักษณะที่รองเท้าผ้าใบควรมีเอาไว้หลายข้อ แต่ด้วยข้อจำกัดในการจัดเตรียมชิ้นทดสอบทำให้บางรายการทดสอบไม่สามารถทำได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทดสอบของกรมวิทยาศาสตร์บริการได้ให้ข้อมูลกับทางฉลาดซื้อ ว่าบางรายการทดสอบ เช่นการทดสอบความทนทานต่อการพับงอของส่วนพื้น ที่ต้องมีการเตรียมชิ้นทดสอบเป็นส่วนพื้นยางที่มีความหนาและความกว้าง เกินกว่าความหนาของพื้นรองเท้าผ้าใบที่ทางฉลาดซื้อส่งไปทดสอบ แถมยังต้องใช้ชิ้นทดสอบมากกว่า 1 ชิ้นต่อ 1 ตัวอย่าง  แต่ฉลาดซื้อก็ยังได้ผลทดสอบรองเท้าผ้าใบสำหรับนักเรียนชายมาฝากแฟนๆ ด้วยผลทดสอบ 3 เรื่องที่น่าสนใจ ประกอบด้วย  1.ความหนาของบัวส้น – ส่วนส้นเท้ามีความสำคัญ บริเวณบัวส้นของรองเท้าที่แข็งแรงจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อเท้า ความหนาของบัวส้นยังมีผลต่อการคงตัวของทรงรองเท้า บัวส้นที่มีความหนาก็จะช่วยทำให้รูปทรงของรองเท้าคงตัว ไม่บิดเบี้ยวหรือเสียรูปทรงขณะวิ่งหรือเดิน ช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บ 2.ความหนาของวัสดุเสริมพื้น –  วัสดุเสริมพื้นที่ดีจะช่วยรับและกระจายแรงกระแทกจาก หลัง ขา และเท้า ก่อนลงสู่พื้น แถมยังช่วยเพิ่มความมั่นคงในการเดินและวิ่ง ซึ่งในการทดสอบครั้งนี้จะดูแค่เรื่องความหนาตามเกณฑ์มาตรฐาน มอก. เท่านั้น ไม่ได้ทดสอบไปถึงเรื่องวัสดุที่ใช้ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องความหนาของวัสดุเสริมพื้น  3.การติดแน่นของยางขอบกับผ้า – การติดแน่นของขอบพื้นยางกับส่วนผ้าของรองเท้าผ้าใบ มีผลต่อความแข็งแรงคงทนของตัวรองเท้า รวมถึงการทนทานต่อการพับงอ   ดังนั้นผลทดสอบรองเท้าผ้าใบสำหรับนักเรียนทั้ง 3 เรื่องนี้ จะบอกได้เฉพาะในเรื่องของ ความคงทน และลักษณะความคงรูปทรงของรองเท้าเท่านั้น ไม่ได้บอกถึงประสิทธิภาพในการใช้  ฉลาดซื้อหวังว่าผลทดสอบครั้งนี้ น่าจะพอมีประโยชน์สำหรับคุณพ่อ-คุณแม่และผู้ปกครองได้บ้าง อย่างน้อยก็เรื่องความแข็งแรงคงทน   ตารางผลทดสอบรองเท้าผ้าใบสำหรับนักเรียนตามมาตรฐาน มอก. ชื่อยี่ห้อ ชื่อรุ่น ราคา ตามที่แจ้งไว้ในฉลาก (บาท) ความหนาของบัวส้น (มม.) ความหนาของวัสดุเสริมพื้น (มม.) การติดแน่นของยางขอบกับผ้า (กรัมต่อ ซม.)   มาตรฐาน มอก.   ไม่น้อยกว่า 1.3 มม. ไม่น้อยกว่า 1.5 มม. ไม่น้อยกว่า 1,000 กรัมต่อ ซม.   1.Gold City 205S 249 1.3 7.0 3,219.1   2.นันยาง 205-S 274 1.3 8.0 283.4   3.Pan PF4136-AA 345 ไม่มี 3.5 -   4.Breaker BK-55 389 1.5 8.0 -   5.บาจา b-first - 299 1.0 4.0 1,720.1   6.Breaker futsal BK-30 385 1.5 8.0 -   7.Feebus F-111 249 1.4 8.0 3,411.1   8.Feebus F-599 179 ไม่มี 5.0 1,054.4   9.kito SSAM610 258 1.3 6.0 1,154.4   10.บาจา b-first - 269 2.2 7.0 2,823.1   11.Clicks CL-555 229 ไม่มี 4.0 1,943.6   12. Breaker futsal BK4/M+ 309 1.3 7.0 3,632.2   13.Breaker 4X4 4X4/M 289 1.4 5.5 2,650.6   14.Gerry Gang F-499 249 ไม่มี 5.0 702.1   15.Dynamic DU-111 295 1.0 4.0 1,795.4   16.Nike Zoom Alpha TR ครอส เทรนนิ่ง 2900 2.0 4.0 2,329.9   17.Adidas G21413 running men liquid 3390 1.4 6.0 1,560.4   18.Reebok Hosscat aluminum   3250 2.7 5.0 3,333.3     ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------รองเท้าผ้าใบที่ดีต้องมีอะไรบ้าง-ต้องมีความแข็งแรง ส่วนบนที่เป็นผ้าใบและส่วนพื้นที่เป็นยางของรองเท้าต้องยึดแน่นเข้าด้วยกัน-ทุกส่วนของรองเท้าต้องติดกันแน่นสนิท-ขอบยางต้องติดแน่นรอบพื้นและส้นรองเท้า และไม่ยื่นออกมานอกระดับของพื้นรองเท้า-ส่วนหัวรองเท้าต้องอยู่ตัวไม่บิดเบี้ยว-ส่วนบนของรองเท้าต้องมีความแข็งแรงและทนทานเพื่อป้องกันรอยย่นและโค้งงอ-พื้นรองเท้าด้านในต้องรองด้วยเศษยาง หรือแผ่นวัสดุที่ทำจากเศษผ้าและเศษยางบดรีดผสมกัน และบุด้วยผ้าอีกชั้นหนึ่ง-พื้นรองเท้าต้องนุ่ม ไม่ลื่น -มีรูระบายอากาศช่วยระบายความร้อน---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เรื่องของ “เท้า” ที่เราควรรู้ 1.เมื่อรูปร่างของเรามีการเปลี่ยนแปลง เช่น น้ำหนักเพิ่มขึ้น อายุเพิ่มขึ้น ขนาดเท้าของเราก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน2.เท้าของเราอาจเปลี่ยนขนาดตามสภาพอากาศ เช่น อากาศร้อนทำให้เท้าขยายใหญ่ขึ้น3.ว่ากันว่าช่วงเวลาในแต่ละวันก็มีผลต่อขนาดของเท้าเช่นกัน 4.โรคภัยไข้เจ็บและอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับเท้า เช่น โรคข้ออักเสบ หรือมีบาดแผลที่เท้า ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้รูปเท้ามีการเปลี่ยนแปลง5.เวลาที่เท้าเรามีบาดแผล รองเท้าที่ใส่ประจำอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อลดอาการบาดเจ็บและป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น6.เท้าเป็นอวัยวะเล็กๆ ที่ถูกใช้งานหนัก แต่เรากลับให้ความสำคัญกับมันน้อยมาก เรียกว่าแทบไม่ได้ค่อยได้รับการดูแล ดังนั้นเราควรหันมาใส่ใจดูแลกับเท้าคู่น้อยๆ ของเรากันให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเรื่องความสะอาด การออกกำลังในส่วนของข้อเท้าและกล้ามเนื้อเท้าเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและกระตุ้นการไหลเวียนเลือดมาสู่ปลายเท้า--------------------------------------------- เลือกซื้อรองเท้า-ต้องลองสวมร้องเท้าทุกครั้งก่อนซื้อ เพราะขนาดของรองเท้าแม้จะมีมาตรฐานระบุไว้ แต่รองเท้าแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น ถึงจะเป็นเบอร์เดียวกัน ขนาดของรองเท้าก็อาจไม่เท่ากัน -เวลาลองรองเท้าต้องลองทั้ง 2 ข้าง เพราะเท้าของเราข้างซ้ายกับขวาอาจมีขนาดไม่เท่ากัน ต้องเลือกรองเท้าคู่ที่ลองใส่แล้วใส่ได้สบายทั้ง 2 ข้าง-เวลาลองรองเท้าอย่าลืมสวมถุงเท้า-พยายามลองรองเท้าหลายๆ แบบ หลายๆ รูปทรง เพื่อเลือกดูว่ารองเท้าแบบไหนเหมาะกับเท้าของเรามากที่สุด-เมื่อเลือกรองเท้าคู่ที่โดนใจได้แล้ว ให้ลองสวมแล้วลองเดินไปเดินมา เพราะรองเท้าที่ดีต้องใส่สบายทั้งตอนที่นั่ง ยืน และตอนเดิน ซึ่งถือเป็นตอนที่เราใช้งานเท้าของเรามากที่สุด-รองเท้าที่ดีที่สุด คือ รองเท้าที่สวมแล้วเข้ากับรูปเท้าของเรา ไม่คับหรือหลวมเกินไป ใส่สบาย -การเลือกรองเท้าควรเหลือพื้นที่ระหว่างปลายนิ้วเท้าและขอบในรองเท้าไว้บ้าง เพื่อไม่ให้เท้ารู้สึกอึดอัดเกินไป ป้องกันการเสียดสีของเท้ากับตัวรองเท้า และเผื่อไว้สำหรับการขยายของเท้า-เลือกรองเท้าที่สวมแล้ว ส้นเท้าพอดี ไม่หลวมและไม่หลุดในขณะเดินหรือวิ่ง-ควรเลือกซื้อรองเท้าให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่จะทำ เช่น รองเท้าสำหรับใส่ประจำวัน หรือรองเท้าสำหรับออกกำลังกาย ซึ่งกีฬาแต่ละประเภทก็มีการผลิตรองเท้าเฉพาะของแต่ละประเภทกีฬา  เพราะการเลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำนอกจากจะช่วยในเรื่องความปลอดภัย ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ-ควรเลือกรองเท้าที่สามารถปรับความกระชับได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 86 แอบดูร้านเน็ต รอบรั้วโรงเรียน

ปัจจุบันธุรกิจอีกหนึ่งชนิดที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็นในบริเวณรอบๆสถาบันการศึกษา ได้แก่ร้านอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตนั้นเพิ่มขึ้นแน่นอน ข้อมูลจากสถาบันรามจิตติก็ระบุว่าร้อยละ 25 ของเด็กไทย เข้าอินเทอร์เน็ตทุกวันหลายคนเห็นว่าการมีร้านดังกล่าวเป็นสิ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้เด็กสามารถค้นคว้าหาข้อมูล ทั้งมาทำการบ้านตามที่อาจารย์สั่ง ทั้งได้เปิดโลกทัศน์จากเว็บไซต์เผยแพร่ความรู้ต่างๆ แต่บางคนก็วิตกว่าจะเป็นแหล่งชุมนุมของเด็กๆที่นิยมเกมออนไลน์ เข้าไปดูภาพลามกอนาจาร หรือสนทนากับคนแปลกหน้าผ่านโปรแกรมแชทต่างๆ อย่างที่เคยได้ยินข่าวกันเสียมากกว่า จะนั่งสงสัยอยู่ก็ใช่ที่ ฉลาดซื้อร่วมกับเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ ภาคประชาชน ในจังหวัด ลำปาง เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ลพบุรี ตราด สมุทรสงคราม สตูล และยะลา จึงส่งสายสืบไปคุยกับเด็กๆที่เข้าใช้บริการในร้านอินเทอร์เน็ตบริเวณรอบๆ โรงเรียน ว่าพวกเขาใช้เงิน ใช้เวลาในนั้นอย่างไรสายสืบของเรา หลอก เอ้ย สอบถามข้อมูลจากเด็กนักเรียน 346 คน จากจังหวัดต่างๆ เป็นเด็กชายและเด็กหญิงอย่างละครึ่ง และในกลุ่มที่เราสำรวจนั้น มีถึงร้อยละ 20 เป็นเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ห้า รองลงมาได้แก่เด็กใน มัธยมสี่และสามเข้าร้านเน็ตกันบ่อยไหม ?เกือบร้อยละ 30 ของเด็กกลุ่มนี้ เข้าร้านเน็ตสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ประมาณร้อยละ 20 เข้าเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ที่เข้าทุกวันมีร้อยละ 13 ช่วงเวลาที่เด็กๆ เข้าใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดได้แก่ 4 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม (ร้อยละ 47) รองลงมาคือช่วงบ่ายโมง ถึง 4 โมงเย็น (ร้อยละ 19) ตามด้วยช่วง 8 โมงเช้า ถึงเที่ยง (ร้อยละ 15)ใช้อินเทอร์เน็ตทำอะไรกันบ้าง ?กิจกรรมที่ทำมากเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียน เช่นหาข้อมูลทำรายงาน  รองลงมาคือการเล่นเกมส์ออนไลน์และการสนทนาออนไลน์ หาข้อมูลทำรายงาน          ร้อยละ 68เล่นเกมส์ออนไลน์             ร้อยละ 54สนทนาออนไลน์*              ร้อยละ 48หาข้อมูลเพื่อความบันเทิง (เช่น หาข้อมูลดารา/นักร้องที่ชอบ)    ร้อยละ 30ดาวน์โหลดเพลง            ร้อยละ 26*ในกลุ่มที่เราสำรวจ โปรแกรม/เว็บสนทนาที่นิยมใช้มากที่สุดได้แก่ MSN (ร้อยละ 59) ตามด้วย Hi5 เว็บที่เป็นข่าวฮือฮากันอยู่ขณะนี้ (ร้อยละ 20)>> และเมื่อถามเด็กๆว่า สิ่งพวกเขาใช้ประโยชน์มากที่สุดจากอินเทอร์เน็ตได้แก่อะไร คำตอบคือ เพื่อการศึกษาและเพื่อเล่นเกมส์ในระดับที่พอๆกัน (ร้อยละ 41 และ 40 ตามลำดับ) กลุ่มที่ใช้เพื่อการศึกษานั้น 1 ใน 4 เป็นเด็กชั้นมัธยมปีที่ 5 กลุ่มที่ใช้เพื่อเล่นเกม ร้อยละ 18 เป็นเด็กชั้นมัธยมปีที่ 1 อยู่ในร้านกันนานแค่ไหนเด็กๆส่วนใหญ่ (ร้อยละ 47) ตอบว่าใช้เวลาในการเข้าอินเทอร์เน็ตแต่ละครั้ง ประมาณ 2 ชั่วโมงมีประมาณ ร้อยละ 18 ที่ใช้เวลามากกว่า 3 ชั่วโมงต่อครั้งกลุ่มที่ใช้เวลา 2 ชั่วโมง นั้น ร้อยละ 47 ใช้เพื่อการศึกษา ที่เหลือใช้เพื่อเล่นเกม แชท หรือ ดูข่าวบันเทิงกลุ่มที่ใช้เวลา 3 ชั่วโมง นั้น ร้อยละ 51 ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเล่นเกมกลุ่มที่อยู่นานกว่า 5 ชั่วโมงนั้น เกือบร้อยละ 70 ใช้เพื่อเล่นเกมเช่นกัน แล้วเล่นเกมอะไรกันบ้างเกมยอดนิยมในหมู่เด็กๆที่เราไปสำรวจ ได้แก่เกมแนวต่อสู้ (ร้อยละ 41) รองลงมาได้แก่เกมกีฬา (ร้อยละ 20) ตามด้วยเกมทำครัวและแฟชั่น (ร้อยละ 12)เอาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายที่ร้านเน็ตร้านอินเทอร์เน็ตเหล่านี้คิดค่าบริการ 10/15/20 บาท ต่อชั่วโมง เกือบร้อยละ 60 ของเด็กๆเหล่านี้ บอกว่าขอเงินจากพ่อแม่มาใช้บริการ อีกประมาณร้อยละ 39 บอกว่าใช้เงินที่เก็บสะสมไว้ ส่วนที่เหลืออีกไม่กี่คนนั้นได้เงินจากญาติหรือเพื่อนส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายนั้น เกือบครึ่งหนึ่งของเด็กๆ บอกว่าใช้ไม่เกิน  50 บาทต่อสัปดาห์ ร้อยละ 32 ใช้ไม่เกิน 100 บาทต่อสัปดาห์ ร้อยละ 17 ใช้ระหว่าง 100 – 300 บาท เด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชาย มีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตที่แตกต่างกัน หรือไม่กลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษานั้นเป็นเด็กหญิงร้อยละ 62 เด็กชายร้อยละ 38กลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเล่นเกมส์นั้นเป็นเด็กชายร้อยละ 67 เด็กหญิงร้อยละ 33กลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตไม่เกิน 2 ชั่วโมงนั้น จะเป็นเด็กหญิงมากกว่าเด็กชาย แต่ในกลุ่มที่อยู่ในร้าน 3 ชั่วโมงขึ้นไป จะเป็นเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง ======>>> ตามกฎหมายแล้ว ร้านจะต้องไม่ให้เด็กเข้าใช้บริการหลังเวลาสี่ทุ่ม แต่สายสืบของเราพบว่าร้อยละ 19 ของร้านอินเทอร์เน็ตในบริเวณรอบๆโรงเรียนในเขตที่เราไปสำรวจนั้นยังมีเด็กๆเข้าใช้บริการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดตราด มีร้านที่ยังให้บริการกับเด็กหลังสี่ทุ่มถึง 9 ร้าน จากทั้งหมด 20 ร้าน ที่เราไปสังเกตการณ์

อ่านเพิ่มเติม >