ฉบับที่ 152 นางร้ายสายลับ : มนุษย์เรามี “หน้าฉาก” กับ “หลังฉาก”

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อนักแสดงหญิงที่เล่นบทบาทนางร้ายจอมกรี๊ดในหน้าจอโทรทัศน์ ต้องจับพลัดจับผลูมาสวมบทบาทเป็นสายลับให้กับตำรวจหน่วยปราบปรามยาเสพติด? เรื่องราวที่ดูไม่น่าจะเป็นไปได้เช่นนี้ กลับเป็นไปแล้วสำหรับนางร้ายอย่าง “โซ่” หรือ “สุรีกานต์” ที่หน้าจออาจจะร้ายอาละวาดจนผู้คนเกลียดกันทั่วบ้านทั่วเมือง แต่เนื้อแท้แล้ว เธอมีนิสัยเมตตาอารีและชอบช่วยเหลือสังคมอยู่สม่ำเสมอ เพราะความเป็นคนดีและรักเพื่อนร่วมอาชีพอย่าง “พลอยนิล” ทำให้สุรีกานต์รับปากไปขโมยภาพลับเฉพาะในบ้านของ “อุษณะ” ดาราพระเอกหนุ่มชื่อดัง จนไปพบกับ “สารวัตรนฤเบศ” ที่กำลังปฏิบัติภารกิจติดตามผู้ร้าย และสารวัตรก็เข้าใจผิดว่าสุรีกานต์มียาเสพติดเอาไว้ในครอบครอง เธอจึงต้องจำยอมตกปากรับคำมาทำงานเป็นสายลับให้กับกรมตำรวจ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ไม่ต้องถูกจับเข้าคุก และด้วยโครงเรื่องที่ผูกไว้เช่นนี้ หลังจากนั้นผู้ชมก็ได้เห็นภาพชวนหัวกับการปลอมตัวในรูปแบบต่างๆ ของนางร้ายสาว ที่จะเข้าไปสืบราชการลับกับแก๊งก์ค้ายาเสพติดของ “ริชาร์ด” ไม่ว่าจะแปลงโฉมเป็นทอมบอย เป็นผู้ชาย เป็นสาวเสิร์ฟ เป็นคนญี่ปุ่น และเป็นอีกสารพัดการปลอมตัว พ่อแง่แม่งอนกับสารวัตรหนุ่มไปจนแฮปปี้เอนดิ้งในตอนจบเรื่อง จะว่าไปแล้ว โครงเรื่องแบบการปลอมตัวเข้าไปสืบสวนเรื่องราว และให้มีการพลิกผันเหลี่ยมมุมระหว่างตำรวจกับผู้ร้ายนั้น ก็อาจไม่ใช่พล็อตเรื่องที่แปลกใหม่แต่อย่างใด หากแต่แก็กหรือมุขตลกที่ละครวาดภาพให้ดารานางร้ายหน้าจอมารับจ็อบพิเศษปลอมตัวเป็นสายลับนั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจและชวนขบคิดยิ่งนัก   เริ่มต้นตั้งแต่ข้อชวนสงสัยที่ว่า ทำไมละครจึงสร้างให้กลุ่มคนในสามแวดวงได้โคจรมาพบกัน ระหว่างแวดวงดารานักแสดง แวดวงตำรวจ และแวดวงขบวนการค้ายาเสพติด กรณีของตำรวจกับผู้ร้ายที่มาเจอกันอาจจะไม่แปลก แต่เหตุใดละครต้องสร้างเรื่องราวให้ดารามาร่วมอยู่ในปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย อันที่จริงนั้น ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ผู้ร้าย หรือดารานักแสดง ต่างก็ล้วนมีจุดร่วมกันที่สำคัญข้อหนึ่งก็คือ ต่างเป็นวิชาชีพและมิจฉาชีพที่ล้วนแล้วแต่มีโลกที่เป็น “หน้าฉาก” กับ “หลังฉาก” ด้วยกันทั้งสิ้น คล้ายๆ กับที่นักสังคมวิทยาเชื้อสายแคนาดาที่ชื่อ เออร์วิ่ง กอฟฟ์แมน เคยอธิบายไว้ว่า สังคมของมนุษย์เป็นอะไรบางอย่างที่ไม่แตกต่างไปจากโรงละครโรงใหญ่ และตัวตนของมนุษย์แต่ละผู้แต่ละนามที่โลดแล่นและปฏิสัมพันธ์กันอยู่ในโรงละครนั้น ก็ล้วนแล้วแต่มีด้านที่ปรากฏให้เห็นเป็น “หน้าฉาก” กับส่วนที่เราซ่อนๆ ปิดๆ เป็น “หลังฉาก” ของม่านที่กั้นอยู่บนเวทีเสมอ ก็ไม่แตกต่างไปจากคนในวงการนักแสดงอย่างสุรีกานต์ ที่หากเห็นเพียงหน้าฉาก หลายคนก็อาจจะรับไม่ได้กับความร้ายกาจของเธอ จนต้องรอเอาหนามทุเรียนไปไล่ตบด้วยความหมั่นไส้ และพาลคิดไปว่าตัวจริงของเธอก็คงไม่ต่างไปจากหน้าจอ แต่แท้จริงแล้ว เบื้องหลังเธอกลับใช้ความสามารถทางการแสดงมาช่วยเหลือสังคมด้วยการปลอมตัวเป็นสายลับ จนสามารถทะลายแก๊งค์ค้ายาเสพติดได้สำเร็จ และในทางกลับกัน เราก็จะเห็นภาพของเพื่อนในวงการนักแสดงคนอื่น ที่หน้าฉากอาจจะดูดี เป็นพระเอกหนุ่มรูปหล่ออย่าง “เนธาน” เป็นนางเอกสาวเจ้าบทบาทอย่าง “พลอยนิล” หรือเป็นนางเอกดาวรุ่งหน้าหวานอย่าง “แก้วดารา” แต่หลังฉากนั้น กลับเป็นเพลย์บอยเสือผู้หญิงบ้าง เป็นนักแสดงจอมเหวี่ยงวีนบ้าง หรือเป็นสาวน้อยหน้าซื่อแต่เจ้าเล่ห์กลิ้งกลอกก็มี สำหรับคนในวงการตำรวจ ก็เป็นอาชีพที่อยู่กับการปลอมตัวแบบมีหน้าฉากกับหลังฉากเช่นเดียวกัน อย่างหลังฉากของสารวัตรนฤเบศที่เป็นหัวหน้าตำรวจหน่วยพิเศษนอกเครื่องแบบ แต่หน้าฉากก็ต้องปลอมตัวแทรกซึมเข้าไปสืบความลับของกลุ่มขบวนการค้ายาเสพติด สลับกับการปลอมตัวไปเป็น “พี่เบตตี้” ผู้จัดการดาราเพศที่สามประจำตัวของนางร้ายสุรีกานต์ และเมื่อมีตำรวจที่ดี ก็ต้องมีการสร้างตัวละครแบบ “สารวัตรมังกร” และบรรดาลูกน้อง ให้มีหน้าฉากอาจจะดูเป็นนายตำรวจเอางานเอาการ แต่หลังฉากก็เป็นโจรในเครื่องแบบที่ทำงานรับจ็อบให้กับแก๊งค์อาชญากรรมค้ายาเสพติดด้วย สุดท้าย ในกรณีของกลุ่มมิจฉาชีพ ที่นำโดยริชาร์ดและสมัครพรรคพวกนั้น ละครก็ได้สร้างภาพให้หน้าม่านของริชาร์ดเป็นเศรษฐีใจบุญสุนทาน และชอบช่วยเหลืองานสาธารณกุศลอยู่เป็นประจำ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว เบื้องหลังกลับอำมหิตและเป็นเจ้าพ่อมาเฟียผู้ค้ายาเสพติดข้ามชาติรายใหญ่ การโคจรมาพบกันของคนสามกลุ่มจากต่างที่มา จึงไม่ต่างไปจากการบอกเป็นนัยว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกันของมนุษย์ทุกวันนี้นั้น ล้วนแล้วแต่มีการสื่อสาร “หน้าฉาก” กับ “หลังฉาก” ให้แก่กันและกันอยู่เสมอ และเพราะ “หลังฉาก” คืออาณาบริเวณที่ตัวตนจริงๆ ของมนุษย์เราถูกปิดบังอำพรางและฉาบเคลือบไว้ด้วยความเป็น “หน้าฉาก” ที่ประดิษฐ์ขึ้นมา ดังนั้น ปมปัญหาจึงเกิดขึ้นเมื่อสุรีกานต์ต้องเข้าไปพัวพันกับการค้นพบ “หลังฉาก” ของตัวละครทั้งหลาย เริ่มจากการได้ไปเห็นภาพหลุดคลิปหลุดของเพื่อนร่วมวงการบันเทิง ได้ไปเห็นเบื้องหลังปฏิบัติการของแวดวงสีกากี ไปจนถึงการพยายามเปิดโปงฉากหลังของหัวหน้าเครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติ จะว่าไปแล้ว หากเราจะลองย้อนอดีตกลับไป วิธีคิดที่ว่ามนุษย์เราล้วนมี “หน้าฉาก” และ “หลังฉาก” ระหว่างกัน ก็ดูจะเป็นสิ่งที่คนโบร่ำโบราณได้เคยให้อุทาหรณ์สอนใจมาตั้งแต่ปางบรรพ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าแบบนางแก้วหน้าม้าเอย หรือนิทานพื้นบ้านแบบเจ้าเงาะเอย ภายนอกของคนอาจจะรูปชั่วตัวดำอัปลักษณ์ก็จริง หากแต่เนื้อแท้ของแก้วมณีและพระสังข์กลับผุดผ่องเป็นทองอยู่เนื้อใน ก็เหมือนกับคนทั่วไปที่อาจจะมองเห็นภายนอกของสุรีกานต์เป็นนางร้ายเจ้าบทบาท แต่ทว่าเนื้อทองภายในกลับเป็นอะไรที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง หากตัวตนของมนุษย์มักมีหลายโฉมหน้าด้วยแล้ว คำถามข้อแรกของ “นางร้ายสายลับ” ก็คือ เราควรจะเชื่อและหลงอยู่กับรูปลักษณ์ภายนอก หรือจะเชื่อในแก่นแท้ที่ซ่อนซุกอยู่เนื้อในมากกว่า เพราะแม้แต่ “นางร้าย” ที่คุณเห็นๆ ก็อาจจะมีเนื้อแท้เป็น “สายลับ” ที่ซุกซ่อนอยู่หลังฉากได้เช่นกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point