ฉบับที่ 217 นางสาวไม่จำกัดนามสกุล : ตัวตนที่ย้อนแย้งและยังสร้างไม่เสร็จ

                ทุกวันนี้ คนชั้นกลางคือกลุ่มคนที่เล่นบทบาทสำคัญในการกุมบังเหียนขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจการเมืองและสังคมไทย แต่หากจะถามว่า แล้วคนชั้นกลางเป็นใครกัน หรือตัวตนหน้าตาแบบใดที่จัดว่าเป็นกลุ่มคนชั้นกลาง         เมื่อเทียบกับคนกลุ่มอื่นที่ดำรงอยู่มานานแล้วในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนชั้นสูง หรือกลุ่มชนชั้นชาวไร่ชาวนา คนชั้นกลางเป็นกลุ่มสังคมที่ถือกำเนิดขึ้นในภายหลัง แม้ว่าพวกเขาจะมีศักยภาพสั่งสมทุนทางเศรษฐกิจอย่างมั่งคั่ง แต่ดูเหมือนว่าอัตลักษณ์ตัวตนของคนกลุ่มนี้ช่างคลุมเครือและย้อนแย้งยิ่งนัก ไม่ต่างไปจากชีวิตของตัวละครอย่าง “เรียม” ผู้ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนของ “นางสาวที่ไม่จำกัดนามสกุล”        เรียมเป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่ชีวิตของเธอเป็นเหมือนในเนื้อเพลงว่า “ตื่นขึ้นมาทุกวันฉันยังเหมือนเดิมเริ่มชีวิตด้วยแสงสว่าง” และด้วยชีวิตที่ซ้ำซากเหมือนเดิมๆ แบบนี้ อีกด้านหนึ่งของเรียม เธอจึงบอกตนเองว่า “แต่พอมองเข้าไปที่ใจฉันเอง กลับได้พบแค่ความเดียวดาย เก็บความเงียบเหงาไว้ในใจมานาน...”        พื้นเพภูมิหลังของเรียมก็คือ ผู้หญิงที่พลัดถิ่นฐานภูมิลำเนามาจากต่างจังหวัด แม้ที่บ้านของเธอจะเปิดร้านขายหมูยอจนมีชื่อเสียงโด่งดังในจังหวัดภาคอีสาน แต่เรียมก็ตระหนักว่า นั่นหาใช่ “คำตอบสุดท้าย” ในชีวิตของเธอไม่ เรียมจึงเลือกเข้ามาเสาะแสวงหาโชคและทำงานเป็นเซลส์ขายอาหารสุนัขในเมืองหลวง ดุจเดียวกับกลุ่มคนชั้นกลางรุ่นใหม่ของไทยอีกหลายๆ คน ที่ก็มีพื้นฐานเป็นคนพลัดถิ่นเฉกเช่นนี้        และในสังคมเมืองใหญ่ที่แตกต่างไปจากพื้นถิ่นพื้นฐานบ้านเกิดนี่เอง ตัวตนของเรียมก็ดำเนินไปท่ามกลางสภาวะที่แปลกแยกกับโลกภายนอก คอนโดที่เธอพักอาศัยก็ไม่เพียงจะจับผู้คนมาแยกอยู่ในกล่องหรือห้องใครห้องมัน ความเปลี่ยวเหงาในสังคมเมืองกรุงก็ทำให้ชีวิตมนุษย์เวียนวนจนเป็นสายพาน และขาดสายสัมพันธ์กับคนที่อยู่รอบข้างรอบตัว        จากอาการแปลกแยกกับสายสัมพันธ์ทางสังคม ในที่สุดก็ก่อกลายมาเป็นสภาวะที่ปัจเจกบุคคลอย่างเรียมก็เริ่มแปลกแยกกับตัวของเธอเอง เมื่อหมอตรวจพบว่าเรียมมี “ช็อกโกแลตซีสต์ในมดลูก” แม้ว่าซีสต์จะเป็นภาวะทางร่างกายที่ท็อปฮิตกันในหมู่คนยุคใหม่ แต่ขณะเดียวกัน ก้อนซีสต์ก็บ่งนัยว่า มนุษย์เรานับวันจะแปลกแยกกับตนเองมากขึ้น จนสามารถสร้างก้อนเนื้อใดๆ ขึ้นมาเป็นซีสต์ให้คับข้องใจกันได้ตลอดเวลา        เพื่อจัดการกับสภาวะแปลกแยกดังกล่าว หมอจึงแนะนำว่า ทางเดียวเท่านั้นที่จะหายขาดก็คือ ต้องหาผู้ชายสักคนมาแต่งงานและมีลูก ซีสต์หรือความแปลกแยกต่อร่างกายของเรียมก็จะค่อยๆ มลายหายไป ด้วยเหตุฉะนี้ ปฏิบัติการสลายชอกโกแล็ตซีสต์และปฏิบัติการค้นหาตัวตนของผู้หญิงคนชั้นกลางอย่างนางสาวเรียมจึงเริ่มต้นขึ้น เฉกเดียวกับท่วงทำนองที่ว่า “อยากมีใครสักคนที่เดินเข้ามาให้ความรักและความอบอุ่น...”        ชายหนุ่มคนแรกที่เข้ามาในปฏิบัติการสลายซีสต์ก็คือ “ปกรณ์” CEO หนุ่มรูปหล่อทายาทเจ้าของธุรกิจนับพันล้าน ในการคบหากับปกรณ์นั้น เรียมก็ต้องตัดแต่งตัวตนของเธอให้กลายเป็นสาวสังคมชั้นสูง ไปรับประทานดินเนอร์สุดหรู เปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ให้เข้ากับชีวิตมหาเศรษฐี แม้ในความเป็นแล้ว เธอเองก็ยังคงเป็นแค่ลูกสาวเจ้าของร้านขายหมูยอ ฐานะอันแตกต่างกันนี้เองจึงเป็นชนวนเหตุให้รักของทั้งคู่ต้องสิ้นสุดลง        เมื่อเลิกราไปจากปกรณ์ เรียมก็มาคบหาดูใจกับศิลปินนักร้องหนุ่มสไตล์โอปป้าแสนอบอุ่นอย่าง “พีท” ชีวิตรักที่ได้ผูกพันกับเซเลบริตี้ขวัญใจแฟนคลับมากมาย ทำให้ตัวตนของเรียมแปลกแตกต่างและตื่นเต้นกระชุ่มกระชวยมากขึ้น แม้ในภายหลัง เธอเองก็พบว่า ความรักกับบุคคลสาธารณะแบบนี้หาใช่คำตอบเสมอไปสำหรับเรียมผู้ที่อีกด้านก็รักชีวิตสันโดษแบบเราสอง        จากศิลปินนักร้องชื่อดัง ผู้ชายคนถัดมาที่เรียมเลือกไว้ก็คือ หนุ่มโสดหล่อล่ำกล้ามโตอย่าง “อาร์ม” ที่ด้านหนึ่งก็เป็นเทรนเนอร์ฟิตเนส แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นอดีตเพื่อนเที่ยวของผู้หญิงมากหน้าหลายตา แม้การคบหากับอาร์มจะทำให้เรียมได้ย้อนกลับมาใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกาย รวมถึงพร้อมจะอยู่กับปัจจุบันโดยไม่สนใจความทรงจำจากอดีต แต่ในที่สุด ไลฟ์สไตล์แบบใหม่นี้ก็เป็นโจทย์ที่ความรักของทั้งคู่ไม่อาจดำเนินต่อไปได้        ถัดจากเทรนเนอร์ฟิตเนส เรียมก็เริ่มผูกจิตปฏิพัทธ์กับ “ทวีป” สัตวแพทย์หนุ่มนักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม ทวีปทำให้เรียมเข้าใจชีวิตว่า ตัวตนของคนชั้นกลางก็น่าจะทำประโยชน์หรือขับเคลื่อนสังคมไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น แต่นั่นก็เป็นอีกครั้งที่เธอพบว่า ทางสองแพร่งที่อยู่ระหว่างจิตสาธารณะและความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนรัก ก็ดูจะยากยิ่งที่ไหลมาบรรจบกันได้        กับ “นางสาวไม่จำกัดนามสกุล” อย่างเรียมที่ประกอบร่างสร้างตัวตนแบบนี้ สะท้อนนัยให้เห็นว่า อัตลักษณ์คนชั้นกลางไทยไม่เพียงแต่ “ยังสร้างไม่เสร็จ” และ “รื้อสร้างใหม่ไปได้เรื่อยๆ” หากแต่ยังมี “ความย้อนแย้ง” แทรกซึมอยู่ในตัวตนคนชั้นกลางยิ่งนัก        แม้การสั่งสมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญแห่งคนชั้นกลาง แต่ภูมิหลังการเป็นลูกแม่ค้าหมูยอก็ทำให้ฝันไม่อาจบรรลุถึงฝั่งได้ หรือแม้ต้องการจะใช้ชีวิตสาธารณะโลดแล่นมีชื่อเสียง แต่หากชีวิตสาธารณะเข้ามาคุกคามชีวิตส่วนตัวเกินไป คนชั้นกลางก็พร้อมจะสละความปรารถนาดังกล่าวไปได้        หรือแม้คนชั้นกลางเลือกพร้อมที่จะลบลืมอดีตของปัจเจกและมองทุกอย่างไปที่อนาคต แต่พวกเขาก็ยังไม่พร้อมจะให้อดีตมาคอยหลอกหลอนชีวิตปัจจุบันอยู่เช่นกัน และท้ายสุด แม้คนกลุ่มนี้จะพยายามก่อรูปจิตสำนึกสาธารณะ แต่พวกเขาก็ไม่อาจยอมรับได้ถ้าประโยชน์สาธารณะจะบั่นทอนประโยชน์สุขส่วนบุคคล        เมื่อตัวตนคนชั้นกลางช่างย้อนแย้งเป็นทางสองแพร่งที่ไม่อาจลงรอยกันได้เยี่ยงนี้ เรียมก็ค่อยๆ ย้อนคิดตริตรองใหม่จนได้คำตอบว่า การวิ่งตามหาใครสักคนมาอยู่ข้างๆ หรือผูกติดตัวตนของเรากับสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ มันก็อาจไม่ใช่อัตลักษณ์หรือเป็นความใฝ่ฝันของคนชั้นกลางได้เลย        เพราะฉะนั้น ในตอนท้ายของเรื่อง หลังจากผ่านตัวเลือกชายหนุ่มมากมายในชีวิต เรียมก็ตระหนักว่า ความสุขไม่ได้อยู่ไกลแต่อย่างใด เพราะเป็นพระเอกหนุ่มอย่าง “องศา” ที่อยู่ข้างห้องนี่เอง ที่เป็นสายสัมพันธ์ซึ่งยึดโยงรู้จักกันมาตั้งแต่วัยเรียน เป็นคนที่อยู่เคียงข้างในทุกปัญหาที่เธอเผชิญ และเป็นผู้ชายที่พูดกับเรียมด้วยประโยคว่า “ฉันชอบตัวเองเวลาอยู่กับแก”        ไม่ว่า “นางสาวไม่จำกัดนามสกุล” อย่างเรียม หรือจะเป็นคนชั้นกลางอย่างเราๆ ที่ดำรงอยู่ท่ามกลาง “ซีสต์แห่งความแปลกแยก” หรือ “ตัวตนที่ย้อนแย้งและยังสร้างไม่เสร็จ” แต่ท้ายที่สุดแล้ว ประโยคที่เรียมพูดกับองศาในฉากจบก็ช่างถูกต้องยิ่งนักว่า “แค่คนที่พอดี มันก็ดีพอแล้ว...บางทีคนที่ใช่มันก็อยู่ใกล้แค่นี้เอง”

อ่านเพิ่มเติม >