ฉบับที่ 265 ส่วนต่าง 0.75 สตางค์

        ชายคนหนึ่งรู้สึกมาโดยตลอดว่า มือถือแบบเติมเงินที่เขาใช้ มักถูกตัดเงินไม่ค่อยตรงตามการใช้งาน ในความเข้าใจของเขา โปรฯ หรือแพ็กเกจ หรือรายการส่งเสริมการขายที่เขาใช้ คิคค่าโทรนาทีละ 70 สตางค์ แต่เงินในระบบที่เขาเติมไว้มักถูกตัดออกไปเกินปริมาณการใช้งานทำให้เงินหมดลงเร็วเกินควรอย่างไม่สัมพันธ์กับการใช้งาน แต่เขาก็ไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขารู้สึกว่าเกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพียงใด         จนกระทั่งวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2565 เขาโทรออก 1 ครั้งโดยใช้เวลาคุยประมาณ 50 วินาที ก่อนการโทรครั้งนั้นเขาได้ตรวจสอบเงินคงเหลือในระบบ และพบว่ามีจำนวน 197.45 บาท แต่หลังการโทร เงินคงเหลืออยู่ที่ 196.64 บาท ซึ่งเขาได้เก็บภาพหน้าจอยอดเงินคงเหลือทั้งสองช่วงนั้นไว้เป็นหลักฐาน รวมถึงบันทึกประวัติการโทรรายการดังกล่าว ด้วยหลักฐานเหล่านี้ เขาจึงร้องเรียนเข้ามายัง กสทช.         ข้อเรียกร้องของเขาคือ ต้องการให้บริษัทผู้ให้บริการคืนเงินที่เก็บไปเกิน และมีหนังสือชี้แจงรายละเอียด พร้อมทั้งขอให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย คือตรวจสอบว่ามีการทำผิดหรือไม่ หากผิดก็ขอให้ลงโทษด้วย         น้ำเสียงของการร้องเรียนกรณีนี้จึงผสมผสานทั้งการพิทักษ์สิทธิประโยชน์ส่วนตนกับการธำรงความเป็นธรรมและความถูกต้อง        สำหรับข้อมูลที่ทางบริษัทชี้แจงมา บ่งบอกให้รู้ว่า โปรฯ ที่ผู้ร้องใช้คือนาทีละ 75 สตางค์ โดยยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นจำนวนที่เรียกเก็บจึงเป็นอัตราที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย         ข้อชี้แจงของบริษัทถือว่าฟังขึ้นและมีความกระจ่างในทางหลักการเหตุผล ดูเผิน ๆ แล้ว เรื่องร้องเรียนนี้จึงสมควรที่จะยุติลงได้ ถ้าหากว่าจะไม่มีปีศาจอยู่ในรายละเอียด กล่าวคือ เมื่อนำยอด 197.45 เป็นตัวตั้ง ลบด้วย 196.64 เท่ากับว่าราคาที่บริษัทเก็บในการโทร 1 นาทีนั้นคือ 81 สตางค์ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ vat ที่เก็บไปจึงอยู่ที่ 6 สตางค์ แต่ด้วยอัตรา vat ของไทย 7% เมื่อคิดเทียบกับต้นเงิน 75 สตางค์แล้ว vat ต้องอยู่ที่ 5.25 สตางค์         ราคาของการโทรรายการนี้รวม vat จึงอยู่ที่ 80.25 สตางค์ หรือถ้าไม่ต้องการให้มีเศษ ก็ควรเก็บที่ 80 สตางค์เท่านั้น เนื่องจากหลักการปัดเศษทางภาษีใช้หลักเดียวกับคณิตศาสตร์ทั่วไป นั่นคือถ้าน้อยกว่า 5 ต้องปัดลง         เนื่องจากผู้ร้องเรียนสำคัญผิดว่า ตนเองใช้โปรฯ นาทีละ 70 สตางค์ อีกทั้งยังคิดเลขผิด จึงนิยามปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเป็นการเรียกเก็บค่าบริการเกินกว่าแพ็กเกจหรือสัญญา แต่ผลการตรวจสอบทำให้พบว่า ปัญหาของกรณีนี้เป็นเรื่องการปัดเศษภาษีโดยไม่ถูกต้อง         แม้ความไม่ถูกต้องที่ว่าจะทำให้ผลลัพธ์ในเชิงตัวเงินก่อให้เกิดส่วนต่างเพียงไม่ถึง 1 สตางค์ แต่กรณีนี้กลับสะท้อนประเด็นปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การปัดเศษเช่นนี้ดูจะเป็นแนวปฏิบัติปกติของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มิติที่เป็นที่รู้กันมาก่อนหน้าแล้วก็คือ การปัดเศษเรื่องเวลาการโทร และที่จริงแล้วก็มีการปัดเศษในเรื่องปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตด้วย โดยอุตสาหกรรมนี้เลือกปัดเศษในทิศทางปัดขึ้นเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นยังไม่ใช่การปัดในระดับยอดรวม แต่ปัดเศษในทุก ๆ ครั้งของการโทรเลยทีเดียว         ในเรื่องของการปัดเศษเวลาการโทร ทั้งๆ ที่เมื่อหลายปีก่อน มีกระแสการรณรงค์เรื่องการคิดค่าโทรหรือค่าใช้บริการโทรคมนาคมโดยรวม “ตามจริง” ในความหมายที่ว่า ใช้เท่าไรก็คิดเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมและ กสทช. กลับอธิบายเรื่องนี้ไปในแนวทางที่ว่า เป็นเรื่องของการจัดโปรฯ หรือแพ็กเกจ ซึ่งโปรฯ แบบนาทีทำให้คิดอัตราค่าบริการต่ำได้ และการมีโปรฯ ทั้งแบบนาทีและวินาที ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น         จนปัจจุบันการคิดค่าบริการแบบปัดเศษจึงยังคงเป็นแนวปฏิบัติปกติเพียงแต่ในตลาดเพิ่มการมีโปรฯ หรือแพ็กเกจแบบคิดค่าบริการเป็นวินาทีให้เลือกใช้ด้วย        กลับมาในกรณีการปัดเศษ vat เป็นที่ชัดเจนว่า กรณีที่เกิดขึ้นก็เป็นการปัดเศษลักษณะรายครั้งเช่นเดียวกัน  ส่วนต่างระดับเศษเสี้ยวของสตางค์ที่แสนเล็กน้อยนี้ แท้แล้วจึงไม่เล็กน้อยเลยเมื่อคิดเป็นยอดในเชิงสะสมที่ผู้บริโภคแต่ละคนต้องจ่ายและยิ่งเป็นจำนวนมากมายมหาศาลอย่างยิ่งสำหรับในมุมของผู้รับ ในเมื่อจำนวนผู้ใช้บริการมือถือในประเทศนี้มีมากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศเสียด้วยซ้ำ         0.75 สตางค์ต่อการโทร 1 ครั้ง สมมติโทรเพียงวันละสองครั้ง ส่วนต่างก็จะกลายเป็น 1.5 สตางค์ต่อวัน และกลายเป็นปีละกว่า 5 บาท  หากคูณด้วยจำนวนคนเพียง 10 ล้านคน เงินส่วนต่างที่เริ่มจากเสี้ยวสตางค์ก็จะเป็นจำนวนมากถึงปีละ 50 ล้านบาท         กรณีนี้คืออีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลังของเรื่องร้องเรียน โดยที่การลงแรงของผู้บริโภคที่ละเอียดละออคนหนึ่ง ทำให้ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นได้ถูกสะท้อนออกมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2565

นำกัญชา-กัญชงออกนอกประเทศระวังบทลงโทษหนัก        หลังไทยปลดล็อก “กัญชา-กัญชง” จากยาเสพติดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์นั้น นางสาวรัชดา ธนาดิเนก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำต่อประชาชนว่า ห้ามนำ “กัญชา-กัญชง” ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบพืชชนิดดังกล่าวไปยังต่างประเทศ เนื่องจากการปลดล็อกนี้มีผลบังคับใช้ในประเทศไทยเท่านั้น หากจะเดินทางไปต่างประเทศโดยมีส่วนต่างๆ ของกัญญาไว้ครองครองอาจต้องโทษตามกฎหมายประเทศต่างๆ ดังนั้นหากคิดนำออกไปควรตรวจสอบกฎหมายประเทศปลายทางนั้นด้วย         ตัวอย่างประเทศที่มีบทลงโทษรุนแรงในคดีการครอบครองกัญชา กัญชง 1) อินโดนีเซีย ปรับขั้นต่ำ 1 พันล้านรูเปียห์ จำคุก 5 ปี – ตลอดชีวิต โทษสูงสุดประหารชีวิต 2) ญี่ปุ่น จำคุกไม่เกิน 7 ปี (กรณีนำเข้า/ส่งออก) จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 3 ล้านเยน (กรณีจำหน่าย)  3) เวียดนาม ปรับ 5,000,000 - 500,000,000 เวียดนามด่ง จำคุกตลอดชีวิต หรือโทษสูงสุดประหารชีวิต 4) เกาหลีใต้ จำคุก 5 ปีขึ้นไป หรือตลอดชีวิต (กรณีลักลอบนำเข้า) โทษจำคุกอย่างน้อย 1 ปี (กรณีปลูก/จำหน่าย) โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และถูกเนรเทศห้ามเข้าเกาหลีใต้ (กรณีครอบครองหรือเสพ) 5) สิงคโปร์ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือทั้งจำทั้งปรับ (กรณีครอบครองหรือเสพ) โทษประหารชีวิต (กรณีลักลอบค้า/นำเข้า/ส่งออก) โทษจำคุก 5-14 ปี หรือปรับ หรือทั้งจำและปรับ หรือ 6) ออสเตรเลีย โทษจำคุกและปรับ (กรณีนำเข้ากัญชา)  17 รูปแบบ อาชญากรรมทางออนไลน์         พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เตือนภัยต่อประชาชนถึงวิธีการต่างๆ ที่ทางมิจฉาชีพใช้ในการหลอกบนโลกออนไลน์ว่า มี 17 รูปแบบ ดังนี้ 1.ชื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า 2.หลอกให้ทำงานออนไลน์ 3.หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ   4.หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 5.ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว 6.ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้สินค้า 7.ชื้อสินค้าแต่ได้ไม่ตรงตามโฆษณา8.หลอกให้รักแล้วลงทุน 9.หลอกให้รักแล้วโอนเงิน 10.ปลอมโปรไฟล์เพื่อหลอกยืมเงิน 11.หลอกลวงเกี่ยวกับเงินดิจิทัล  12.แฮกระบบคอมพิวเตอร์ 13.ล่วงละเมิดทางเพศ 14.ข่าวปลอม 15.แชร์ลูกโซ่ 16.การเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ 17.ค้ามนุษย์ในรูปแบบขบวนการ ดังนั้นพึงระมัดระวังอย่าตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้ กทม.เปิดช่องทาง ขอภาพกล้องวงจรปิดได้ 24 ชั่วโมง         นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เผยว่า ขณะนี้ทางกรุงเทพมหานครได้เปิดให้มีการขอภาพกล้องวงจรปิดทางออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง หากประสงค์จะชี้ชัดในกรณีเกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตามหากต้องการขอไฟล์ภาพกล้องวรจรปิดต้องทำการแจ้งความที่สถานีตำรวจ ณ ที่เกิดเหตุก่อน ถึงจะสามารถแจ้งความประสงค์เพื่อขอภาพจากกล้องวงจรปิดได้ โดยช่องทางที่ติดต่อขอภาพได้ คือ เว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th และไลน์ @CCTVBANGKOK         เอกสารประกอบการขอรับไฟล์ภาพ 1.บันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจ 2.สำเนาบัตรประชาชน 3.หมายเลขกล้องวงจรปิด  4.รายละเอียดวันเวลาของไฟล์ภาพที่ต้องการ เมื่อได้รับเรื่องแล้วทางเจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการดำเนินการผ่านทางไลน์ และทางอีเมล์ที่ได้แจ้งไว้กับทางหน่วยงาน  มพบ.เผยศาลปกครองเพิกถอนมติที่ประชุม กทค.ให้กลับไปคิดค่าบริการตามจริง แบบไม่ปัดเศษ         19 กรกฎาคม ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษา คดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. ได้ฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องขอให้เพิกถอนมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทางศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ครั้งที่ 1/2560 วันที่ 11 มกราคม 2560 ระเบียบวาระที่ 4.1 เรื่อง การพิจารณาทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 ให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่มีมติ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่กำหนดให้บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาทีตามมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 และพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นต่างๆ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด         ทั้งนี้ นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีนี้ ถือว่าผลคำพิพากษาเป็นแนวทางที่ดีต่อผู้บริโภค ศาลปกครองกลางเห็นถึงปัญหาการคิดค่าบริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยว่า การคิดค่าบริการต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง ไม่ว่าจะมีหน่วยวัดเป็นนาทีหรือวินาทีก็ตาม ซึ่งการคิดค่าบริการเป็นหน่วยนาทีได้จะต้องครบจำนวน 60 วินาทีเท่านั้น จะใช้วิธีการคิดค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีไม่ได้ และคำพิพากษาในวันนี้เป็นคำพิพากษาในศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดียังสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก นิตยสารฉลาดซื้อ รับรางวัล “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”         20 กรกฎาคม นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้าร่วมงานรับรางวัล “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ประเภทสื่อออนไลน์ จากกองกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Thai Media Fund) ที่ได้ร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย 24 แห่ง จัดงานมอบประกาศนียบัตรเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติให้กำลังใจแก่ผู้ผลิตสื่อคุณภาพ ที่มีเนื้อหาปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีคุณกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขึ้นรับมอบประกาศนียบัตรโครงการเวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จากนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้มอบประกาศนียบัตร ในส่วนของสื่อออนไลน์ที่ได้รับรางวัล ได้แก่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ไม่ปัดเศษเป็นนาทีมีแต่ได้

ตัวแทนผู้บริโภคของบริษัทมีความพยายามทำให้เกิดความเข้าใจผิดมากว่า หากทำวินาทีจะทำให้คนใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตจ่ายแพงขึ้น บริษัทมือถือจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอย่างน้อย 26 จะทำให้ตัดทางเลือกของผู้บริโภค เพราะจะเหลือเพียงโปรโมชั่นเดียว หรือแม้แต่บอกว่า การออกโปรโมชั่นเดิมแบบวินาทีของบริษัททำให้ผู้บริโภค จ่ายแพงกว่า เช่น เดิม 99 สตางค์ต่อนาที หากเป็นวินาทีจะตกอยู่ที่ 1.6 สตางค์ แต่โปรแบบนาทีก็ยังถูกกว่า หรือยกตัวอย่างเบอร์เติมเงิน นาทีแรก 99 สตางค์ นาทีต่อไปนาทีละ 25 สตางค์ ถ้าถามประชาชนว่าจะเลือกแบบไหน ประชาชนก็ต้องเลือกแบบนาทีเพราะถูกกว่าเรื่องผู้บริโภคจ่ายแพงขึ้น ไม่เป็นจริงแน่นอน เพราะเรื่องนี้เป็นการนับเวลาการใช้โทรศัพท์ หากเราได้ใช้เต็มจำนวนไม่ปัดเศษวินาทีเป็นนาที เราสามารถลดแพ็คเกจให้ราคาถูกลง ประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งระบบรายเดือนและระบบเติมเงินในการใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตส่วนเรื่องโปรวินาทีทำให้ราคาที่เราจ่ายแพงขึ้น เป็นเพราะผู้ประกอบการได้นำ “โปรวินาที” มาเสนอเป็น “ทางเลือก” แก่ผู้บริโภคเพียงแค่ 1 โปร เท่านั้น ในที่สุดโปรวินาทีที่ออกมาก็กลายเป็น “โปรสับขาหลอก” ที่ออกแบบมาให้ไม่มีใครเลือกใช้อีก ขณะที่โปรทั่วไปก็ยังมีลูกค้าหนาแน่นเหมือนเดิม บริษัทมือถือจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ไม่เป็นจริง เพราะเรื่องนี้บริษัทคัดค้านเต็มที่ ถึงขนาดลงขันกันมากกว่าร้อยล้าน หากบริษัทได้ประโยชน์ย่อมเห็นด้วยหรือสนับสนุนอย่างแน่นอน ที่สำคัญบริษัทคงไม่ยินดีลดกำไรของตนเองหาก กสทช.ไม่มีการกำกับดูแลใดๆเรื่องตัดทางเลือก ก็ขออธิบายว่า ไม่เกี่ยวกันเลย เพราะสิ่งที่เสนอเป็นเพียงการนับจำนวนที่ใช้โดยไม่ปัดเศษ ไม่ได้จำกัดการทำโปรโมชั่นของบริษัท เหมือนเราได้รับส้มเต็มกิโล แต่เป็นนาทีโทรศัพท์เต็มตามจำนวนของโปรโมชั่น และบริษัทยังสามารถมีโปรโมชั่นได้ตามเดิม เพียงแต่การคิดค่าโทรศัพท์ หรืออินเทอร์เน็ตให้คิดตามจริงไม่ปัดเศษ เพื่อให้ได้สิทธิเต็มจำนวนตามแพ็คเกจ จึงเป็นที่มาของมติ กสทช. 17 พฤษภาคม 2559 ว่า “ให้คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย” แต่ไม่มีการบังคับให้บริษัททำจริงใน 8 เดือนที่ผ่านมา แถมยังได้แก้ไขให้บริษัททำเพียง 50% ของการส่งเสริมการขายเมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา ส่วนข้ออ้างของนักวิชาการ ว่า กสทช. ไม่ควรกำกับเรื่องนี้ แต่ควรทำให้การใช้โทรศัพท์(เสียง)ฟรี เพราะปัจจุบันเราสามารถโทรศัพท์โดยผ่านระบบไลน์โดยไม่ต้องเสียเงิน ก็ต้องบอกว่า “ไม่คัดค้าน” ผู้บริโภคก็ยินดีหาก กสทช.จะสามารถกำกับให้โทรศัพท์โดยไม่ต้องเสียเงิน แต่ขณะที่บริษัทยังคิดเงินอยู่ทุกเดือนเช่นปัจจุบัน ก็ต้องกำกับให้คิดเงินอย่างเป็นธรรม และต้องเป็นธรรมกับทุกคน ไม่ใช่ให้เลือกความเป็นธรรมเพียง 50%เรื่องนี้ คงไม่ง่าย เพราะถ้าง่าย คงสำเร็จไปเมื่อสองปีที่แล้ว แต่เพราะความยากนี่แหละ ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราได้มีโอกาสร่วมมือกัน ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 รวมพลังผู้บริโภค ยกเลิกปัดเศษค่าโทรมือถือ คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที

ถ้า “ซื้อส้ม 1 กิโลกรัม กับ 4 ขีด แล้วแม่ค้าบอกว่าจะขอปัดเศษ 4 ขีด เป็น 2 กิโลกรัม” หรือ “เติมน้ำมัน 30.2 ลิตร แต่ต้องจ่ายเงินเต็ม 31 ลิตร” ผมคิดว่า คนส่วนใหญ่คงไม่มีใครยอมแน่ ๆ แต่กับค่าโทรศัพท์ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในวิถีชีวิตปัจจุบัน เรากลับต้องยอมจ่ายค่าโทรหรือค่าเน็ตในส่วนที่เราไม่ได้ใช้งานจริง เพราะถูกปัดเศษการใช้งาน แพคเก็จการใช้งานโทรศัพท์มือถือทุกวันนี้ มักจะกำหนดสิทธิโทรฟรีไว้จำนวนหนึ่ง ถ้าโทรเกินจากนั้นก็จะต้องจ่ายค่าโทรเพิ่มจากแพคเก็จ ดังนั้น การปัดเศษการใช้งานจากวินาที เป็นหนึ่งนาที ในทุก ๆ ครั้งที่มีการใช้งาน จะทำให้ผู้บริโภคใช้สิทธิได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น ตัวอย่างเช่น โทรครั้งที่ นับระยะเวลาตามการใช้งานจริง ปัดเศษวินาทีเป็นนาที1.    2 นาที 30 วินาที 3 นาที2.    1 นาที 10 วินาที 2 นาที3.    4 นาที 5 วินาที 5 นาที4.   20 วินาที 1 นาที5.    1 นาที 15 วินาที 2 นาทีรวม 9 นาที 20 วินาที 13 นาทีจากข้างต้น ถ้ากำหนดให้สิทธิโทรฟรี ได้ 10 นาที ส่วนเกินคิดนาทีละ 1.50 บาท ถ้านับระยะเวลาตามที่ใช้งานจริง ผู้บริโภคใช้ไม่ถึง 10 นาที จึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ถ้านับแบบปัดเศษวินาทีเป็น 1 นาทีทุกครั้งที่ใช้งาน จะถือว่าใช้ครบ 10 นาทีตั้งแต่การโทรครั้งที่ 3 ดังนั้น โทรเกินไป 3 นาที ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 4.50 บาท คำถามคือ ผู้บริโภคใช้งานจริงแค่ 9 นาที 20 วินาที แต่ต้องจ่ายเงินส่วนเกินจากแพ็คเกจ การนับระยะเวลาแบบนี้เป็นธรรมกับผู้บริโภค หรือไม่ ในขณะที่ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมคิดค่าบริการจากผู้บริโภคในแต่ละครั้งเป็นนาทีโดยปัดเศษวินาทีเป็นหนึ่งนาที แต่ในสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ผู้ประกอบการทำขึ้นระหว่างกัน กลับกำหนดการเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายประเภทเสียง โดยให้เรียกเก็บเป็นนาที การนับจำนวนนาทีให้คิดจากจำนวนวินาทีของทราฟฟิคที่สมบูรณ์ทั้งหมดที่ต้องเรียกเก็บเงินระหว่างกันตามที่เกิดขึ้นในเดือนนั้น ๆ โดยเศษของนาทีให้คิดตามจริงโดยไม่มีการปัดเศษ หมายความว่า “ต้นทุนการให้บริการประเภทเสียงที่บริษัทผู้ให้บริการต้องจ่ายนั้น คิดตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีโดยไม่ปัดเศษวินาทีขึ้นเป็นหนึ่งนาที แต่ผู้ประกอบการกลับคิดค่าบริการกับผู้บริโภค โดยปัดเศษของวินาทีขึ้นเป็นหนึ่งนาที ในทุก ๆ ครั้งที่มีการใช้โทรศัพท์”การปัดเศษการใช้งานโทรศัพท์จากวินาทีเป็นนาที อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย ที่มีมูลค่าไม่กี่บาทกี่สตางค์สำหรับผู้ใช้บริการ แต่ในมุมของผู้ให้บริการโทรศัพท์ การนับเวลาแบบปัดเศษแบบนี้ สร้างรายได้จำนวนมหาศาล ลองคิดคำนวณแบบคร่าว ๆ ว่า ใน 1 วัน ปัดเศษวินาที เป็นนาที แค่ 1 ครั้ง ค่าโทรนาทีละ 1 บาท บริษัท ก็ได้ส่วนเกินนี้ไป อย่างน้อยเดือนละ 30 บาท ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ประมาณ 90 ล้านราย คิดแล้วก็ประมาณ 2,700 ล้านบาท/เดือน หรือปีละ 32,400 ล้านบาท เรื่องการปัดเศษ ค่าโทรศัพท์จากวินาที เป็นหนึ่งนาที จึงเป็นเรื่องเล็กที่มีมูลค่ามหาศาล และมีผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง ดังนั้น เมื่อ ต้นปี 2558 คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จึงได้ผลักดันเรื่องดังกล่าวเป็นวาระปฏิรูป เสนอให้ กสทช. ใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม คิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงตามระยะเวลาการใช้งานที่เป็นจริง โดยคิดเป็นวินาที ในตอนนั้นหลายคนหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพราะหน่วยงานต่าง ๆ พากันออกมารับลูกอย่างคึกคัก เห็นด้วยว่าสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงให้เกิดความเป็นธรรม แต่ดูเหมือนระยะเวลา เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ยังคงไปไม่ถึงไหน ค่ายมือถือ ยังคงคิดค่าบริการโดยปัดเศษการใช้งาน มีเพียงโปรโมชั่นไม่กี่แพคเก็จที่มีการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที ทั้งที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ในเงื่อนไขการประมูล 4G (คลื่น 1800 MHz. และ 900 MHz.) ว่า ผู้ที่ให้บริการ 4G จะต้องคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีงานนี้กลายเป็นเรื่องยืดเยื้อเรื้อรัง ไม่จบง่าย ๆ ดังนั้น มาต่อกันฉบับหน้าว่า พลังผู้บริโภคจะมีส่วนร่วมช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 ค่าบริการมือถือด้วยเสียงต้องไม่เกินนาทีละ 99 ส.ต.

จากสถานการณ์ของผู้บริโภคที่ถูกรุมเร้าในหลายเรื่อง ทั้งการขึ้นราคาค่าโดยสาร รถ-เรือ ค่า Ft น้ำมัน ก๊าซ ฯลฯ ซึ่งหลายเรื่องเป็นข่าวร้ายของผู้บริโภคทั้งสิ้น แต่ในวิกฤติก็จะมีโอกาส ภายใต้ข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดี(อยู่บ้าง) ข่าวดีนั้นเกิดขึ้นในกิจการโทรคมนาคม เมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ได้ออกประกาศเรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ขั้นสูง ซึ่งมีผลเมื่อ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคค่อนข้างมากดังนี้1.กสทช. กำหนดให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาด(smp) 2 รายคือ AIS และ Dtac คิดอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือด้วยเสียงได้ไม่เกินนาทีละ 99 ส.ต. และทุกนาทีที่ใช้งานต้องไม่เกิน 99 ส.ต.2.โปรโมชั่นที่ผู้บริโภคใช้อยู่หากหมดลง ภายในปี 55 โปรโมชั่นใหม่ต้องคิดค่าบริการเสียงไม่เกิน 99 ส.ต.3.โปรโมชั่นที่ผู้บริโภคใช้อยู่หากมีระยะเวลาเกิน 31 ธ.ค. 55 แต่เมื่อสิ้นปีแล้วโปรโมชั่นทั้งหมดต้องไม่เกินนาที 99 ส.ต.อ่านแล้วก็เห็นได้ค่อนข้างชัดว่าประกาศเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะอัตราค่าบริการขั้นสูง “หมายความว่าห้ามคิดค่าบริการเกิน 99 สต” แต่ต่ำกว่าไม่เป็นไร ปัญหาคือประกาศเหล่านี้ จะไปถึงผู้บริโภคอย่างทั่วถึงได้อย่างไร(ไม่รู้ก็ไม่ได้ใช้) ควรจะผ่านสื่อไหนถึงจะเข้าถึงผู้บริโภคได้(หากสื่อยังอยู่ในลักษณะ ข่าวร้ายลงฟรีข่าวดีเสียเงิน) ต้องยอมรับกันว่า การที่จะให้บริษัทที่ให้บริการโทรคมนาคม ทำตามประกาศ กสทช. คงเป็นไปค่อนข้างยาก อย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ การจะบังคับให้บริษัทเหล่านี้ทำตามประกาศ พึ่ง กสทช.ฝ่ายเดียวไม่ได้ ดังนั้นภาระหนักยังคงตกอยู่ที่คนทำงานด้านผู้บริโภค ที่ต้องให้ความรู้กับผู้บริโภค ให้ร่วมกันกดดันให้ กสทช.บังคับใช้ประกาศของตนเอง เพราะที่ผ่านมาเป็นประเภทประกาศอย่างเดียว แต่ไม่ค่อยบังคับใช้ดังนั้นผู้เขียนจึงได้เขียนเรื่องนี้มาเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบและประชาสัมพันธ์กันต่อๆ ไป และขอให้ช่วยกันรักษาสิทธิ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค มิให้ฝ่ายผู้ให้บริการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเช่นปัจจุบันดังนั้นการจะให้ประกาศนั้นเป็นไปได้จริง ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมในการรักษาสิทธิคือ 1) ให้ตรวจสอบโปรโมชั่นที่ใช้อยู่ว่า เกิน 99 ส.ต. หรือไม่ หากเกิน ขอให้ช่วยกันใช้สิทธิร้องขอโปรโมชั่นใหม่ที่ราคาเป็นไปตามประกาศ 2) ถ้า โปรโมชั่นเดิมใช้แล้ว ราคายังถูกกว่าประกาศฯ ก็ยังสามารถใช้ต่อไปได้จนถึงสิ้นปี 55นอกจากการใช้บริการของบริษัทผู้ให้บริการรายเดิม ถ้ามีรายอื่นที่ราคาถูกกว่าผู้บริโภคก็มีสิทธิย้ายเลขหมายของเราไปใช้บริการรายอื่นได้เช่นกัน หากผู้ให้บริการรายใดปฏิเสธหรือขัดขวางการใช้สิทธิตามประกาศ กสทช. หรือเห็นว่า กสทช. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประกาศ ผู้บริโภคก็มีสิทธิร้องเรียน ได้ในหลายทาง เช่น ร้องเรียนโดยตรงกับผู้ให้บริการ ร้องผ่าน กสทช. สายด่วน 1200 หรือร้องเรียนผ่านศูนย์คุ้มครองสิทธิฯ ภาคประชาชนสุดท้ายหากยังไม่ได้รับการแก้ไข ผู้บริโภคสามารถไปที่ศาลจังหวัด เพื่อขอฟ้องคดีผู้บริโภคโดยไม่ต้องจ้างทนายและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากผู้บริโภคอยากเห็นความเป็นธรรม และองค์กรกำกับฯได้ทำงานอย่างจริงจังอย่างที่ควรจะเป็น คงต้องช่วยกันส่งเสียงผ่านการใช้สิทธิที่เป็นจุดแข็งของผู้บริโภคร่วมกัน  

อ่านเพิ่มเติม >