ฉบับที่ 160 การเพิกถอนนิติกรรมที่ผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์

ฉบับนี้เป็นเรื่องที่ผู้อ่านควรทราบไว้เพราะเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองได้ ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 นางสาว อ. เด็กชาย ช.เป็นบุตร นาย บ. กับ นาง ห. นาย บ.เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 1012 ต.ตะเคียน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 2  ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และนายกฤตธรรมปลูกสร้างบ้านรวม 7 หลัง อยู่อาศัยในที่ดินพิพาท บ้านเลขที่ 324 เป็นของจำเลยที่ 1 บ้านเลขที่ 324/1  ถึง 324/5  เป็นของโจทก์ที่ 2 บ้านเลขที่ 324/6  เป็นของโจทก์ที่ 1 และบ้านไม่มีเลขที่เป็นของนายกฤตธรรม โดยไม่ได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินเป็นสัดส่วน นางสาว อ. เด็กชาย ช. ถึงแก่ความตายไปก่อน นาย บ.  เมื่อวันที่ 8 เมษายน  2530 นาย บ.ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทที่ยังมีชีวิตอยู่ นาย บ.ไม่ได้ทำพินัยกรรมและแต่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้  จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกโดยไม่ระบุว่าโจทก์ที่ 1 เป็นทายาทนาย บ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 กันยายน. 2538 ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนาย บ. ครั้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม  2539  จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย บ จดทะเบียนโอนที่ดินเป็นของตนเอง  โดยที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทมิได้รู้เห็นยินยอม  แล้วจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในวันเดียวกัน มีกำหนดเวลาไถ่ถอนภายใน 3 เดือน กำหนดสินไถ่ 2,000,000 บาท เมื่อครบกำหนดจำเลยที่ 1 ไม่ไถ่ถอน. ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม  2539  จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยที่ 3 วงเงิน 3,000,000 บาท โจทก์ทั้งสองฟ้อง ขอให้เพิกถอนนิติการมขายฝากและนิติกรรมจำนองทรัพย์มรดกที่ดิน สู้คดีกันมา 4 ศาล เนื่องจากศาลฎีกาย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ผลคดีพลิกไปพลิกมา  มาดูกันว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่าอย่างไร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2174/2555  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกมาเป็นของตนแต่ผู้เดียวในฐานะส่วนตัวโดยพลการ  แล้วจดทะเบียนขายฝากแก่จำเลยที่ 2 ในวันเดียวกันเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อการจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก  แต่เป็นการกระทำผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกและถือว่าเป็นการกระทำนอกขอบอำนาจในฐานะผู้จัดการมรดก เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ไม่มีสิทธิจดทะเบียนขายฝากกับจำเลยที่ 2 และการจัดการทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบนั้นย่อมทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลง ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของ  บ.และยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดก จำเลยที่ 2 รู้ว่ามีบ้านปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาทหลายหลัง สภาพมั่นคงถาวรมีทางเข้าออกเป็นสัดส่วน มีเลขที่บ้านแยกต่างหากจากกัน  จำเลยที่ 2 ก็ไม่สนใจที่จะสอบถามบุคคลที่อยู่ในที่ดินที่ดินพิพาทให้ได้ความว่าเป็นบริวารของจำเลยที่ 1 หรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท  พฤติการณ์แห่งคดีเชื่อก่อนรับซื้อฝากจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโอยไม่สุจริต มีเหตุให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากตามฟ้องได้ทั้งแปลง เมื่อนิติกรรมขายฝากไม่ผูกพันทายาทคือโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 แล้ว ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นทรัพย์สินในกองมรดกของ บ. จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ย่อมไม่มีสิทธินำไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้แก่จำเลยที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ผู้จำนองเป็นตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ทั้งสองหรือทายาทอื่นใด และโจทก์ทั้งสองไม่รู้เห็นยินยอมหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อ  แม้จำเลยที่ 3 รับจำนองจากจำเลยที่ 2 ไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ก็ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน “ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนขายฝากและรายการจดทะเบียนจำนอง ฯลฯ   //

อ่านเพิ่มเติม >