ฉบับที่ 209 การตกค้างของยาปฏิชีวนะในอกไก่และตับไก่สด

ปัญหาเชื้อดื้อยาในระบบอาหารของโลก โยงไปถึงปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความห่วงใย มีงานศึกษาวิจัย ลักษณะต่างๆ  เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งการประกาศนโยบาย ยุทธศาสตร์ ในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับนานาชาติและระดับประเทศ ในเรื่องอาหาร และการตกค้างยาปฏิชีวนะ เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคในอย่างน้อยสามประเด็น เรื่องข้อมูลในการเลือกหา  เรื่องความปลอดภัย และเรื่องบริโภคศึกษา ดังนั้นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการประกันความปลอดภัย ด้วยการเฝ้าระวัง ตรวจตรา และกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพื่อการตัดสินใจเลือกหาและใช้สินค้า จึงเป็นเรื่องสำคัญมากฉลาดซื้อ และโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างอกไก่และตับไก่สด เพื่อตรวจสอบสถานการณ์การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์อีกครั้ง (ปี 2559ตรวจในฟาสต์ฟู้ด 2560 ตรวจในเนื้อหมูดิบ) โดยความร่วมมือจากเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ออกสุ่มเก็บตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และห้างออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9 - 15 มิถุนายน 2561 จำนวนทั้งสิ้น 62 ตัวอย่าง แบ่งเป็นอกไก่สด จำนวน 32 ตัวอย่าง และตับไก่สด จำนวน 30 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด จาก 3 กลุ่ม ดังนี้ผลการตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจวิเคราะห์การตกค้างของยาปฏิชีวนะทั้ง 3 ชนิด (ใน 3 กลุ่ม) จากตัวอย่างทั้งหมด 62 ตัวอย่าง พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 26 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 41.93) แบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 คือ Enrofloxacin หรือ Endrofloxacin (เอนโรฟลอคซาซิน) 5 ตัวอย่าง และ Doxycycline (ด็อกซีไซคลิน) 21 ตัวอย่าง โดยตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะกลุ่มที่ 3 ชนิด Amoxicillin (อะม็อกซีซิลลิน) ส่วนอีก 36 ตัวอย่าง นั้น ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะทั้งสามกลุ่ม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้างตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง เพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้พบปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) ของยาในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) ในสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ ไก่งวง เป็ด ห่าน ไก่ต๊อก ในส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และ ในส่วนของตับไม่เกิน 600 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมจากผลตรวจวิเคราะห์พบ ยาเอนโรฟลอคซาซิน (Enrolfloxacin) จำนวน  5 ตัวอย่าง ซึ่งไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ ซึ่ง อย. อนุญาตให้ใช้ยานี้ได้ แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย โดยมีความผิดตามมาตรา 60 ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท  และพบว่า ไม่มีตัวอย่างใดที่พบปริมาณยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่ประกาศกำหนด ข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 5 ข้อ 1. ผู้บริโภคไม่ต้องการอาหารที่มีการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ เพราะการเกิดเชื้อดื้อยาเกิดได้ทั้งปริมาณการตกค้างทั้งน้อยและมาก 2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องปรับปรุงมาตรฐานการตกค้างให้ยอมรับได้น้อยที่สุด 3. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องบังคับใช้แผนปฏิบัติการในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์ม 4. สำนักงานงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมปศุสัตว์ จะต้องเข้มงวด และติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ให้ตกค้างเกินมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ สม่ำเสมอ @page { margin: 0.79in } p { margin-bottom: 0.1in; line-height: 120% } 5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการจัดการเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ และร้านค้าต่างๆ ควรตรวจสอบที่มาของอาหารก่อนนำเข้ามาจำหน่าย อีกทั้งในส่วนของร้านค้าในตลาด ทาง มพบ. จะทำหนังสือไปถึงสมาคมตลาดสดไทยเพื่อให้ตรวจสอบและเฝ้าระวังด้วย--------------------------------------------------------------------------------------------------------------ยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อไก่ ผู้บริโภคมีสิทธิรู้ ผู้บังคับใช้กฎหมายต้อง จริงจังและจริงใจโดย นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกไก่ทั่วโลก เป็นลำดับสี่ ในห้าประเทศ นอกจากนี้มี บราซิล สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศ ก็น่าสนใจว่า สิทธิผู้บริโภคมีการปกป้องเพียงใดผลการสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำหรับปี พ.ศ. 2561 นี้ พบยาปฏิชีวนะตกค้างในไก่สดและตับ (โดยตรวจยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด คือ Enrolfloxacin, Doxycycline, Amoxycillin ) พบยาปฏิชีวนะ 2 ชนิดแรก  แม้ปริมาณที่ตรวจพบจะไม่เกินปริมาณที่กำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550   เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง มีการระบุขนาดต่าง ๆ ของยาปฏิชีวนะที่ยอมรับให้มีในไก่ หรือสัตว์ปีกจำนวน 16 รายการ เช่น Oxytetracycline มีได้ในเนื้อไก่ไม่เกิน200 ug/kg ในตับไม่เกิน 600 ug/kg แต่จากผลการศึกษาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับพบมีการใช้ยานอกเหนือจากรายการที่ระบุประกาศ เช่น Enrolfloxacin มีข้อน่าสังเกต จากผลการสำรวจดังกล่าว ที่ควรได้วิเคราะห์ และทบทวนไปสู่ข้อเสนอต่อไป1. การสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ของการตกค้างยาปฏิชีวนะ เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรผู้บริโภคในเรื่องการตรวจสอบ และสะท้อนการจัดการ  รวมครั้งนี้มี 3 ครั้ง  (1) ตัวอย่างอาหารฟาสต์ฟู้ดสำเร็จรูป จากร้านอาหารชนิดมีสาขามาก (ฉลาดซื้อ ตุลาคม 2559) (2) ตัวอย่างเนื้อหมูสด (ฉลาดซื้อ มีนาคม 2560) และ ในครั้งนี้ สำรวจในตัวอย่างเนื้อไก่สดและตับ (รวม 62 ตัวอย่าง)  ผลคือพบการตกค้างยาปฏิชีวนะจำนวน 26 ตัวอย่าง (41.98%) แม้จะไม่เกินปริมาณที่กำหนด แต่แสดงว่ามีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในวงจรอาหาร เป็นไปได้ว่ามีการใช้ในฟาร์ม ในการเลี้ยงไก่ (ผสมอาหาร ผสมน้ำ เป็นยาฉีด) และอาจรวมถึงการปนเปื้อนในวงจรอาหารส่วนที่เหลือ เช่น โรงเชือด การชำแหละ หรือตลาด   2. รายการยาที่ทำการตรวจครั้งนี้มี จำนวน 3 รายการ ยังพบว่ามียาที่อยู่นอกเหนือจากรายการยาที่ประกาศขนาดที่ยินยอมให้มีตกค้าง อาจเป็นไปได้ว่ามีการลักลอบใช้โดยไม่อนุญาต หรือกระทรวงได้มีการประกาศรายการเพิ่มเติมอีก แต่ยังไม่เห็น และพบว่ามีการอ้างอิงประกาศฉบับนี้ในการแถลงข่าวของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี พ.ศ. 2560 3. การสำรวจครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่ได้ตรวจหา colistin เป็นที่น่าเสียดาย เพราะมีงานวิจัย พบว่ามีการใช้ ยาตัวนี้ในการเลี้ยงไก่ในประเทศไทยด้วย (อ้างอิง1)  โดยรายการยาปฏิชีวนะที่พบใช้ในฟาร์มไก่ คือ  amoxicillin, colistin, oxytetracycline, doxycycline และ  tilmicosin.  การศึกษาที่เชียงใหม่(อ้างอิง2)   พบใช้ Enrolfloxacin และ Sulfadimethoxin ในฟาร์มไก่ไข่ ส่วนในต่างประเทศ มีงานวิจัยระบุการตกค้างยาปฏิชีวนะหลายชนิดในเนื้อไก่ในบังคลาเทศ(อ้างอิง3)   ส่วนในเวียดนาม(อ้างอิง4)   ได้ศึกษาทั้งชนิดยา และยีนการดื้อยาด้วย4. งานศึกษานี้ยังไม่มีการสำรวจ เรื่องการตกค้างของเชื้อดื้อยา ซึ่งมีงานวิจัยในไทย เมื่อ พ.ศ. 2555(อ้างอิง5)   สำรวจเนื้อไก่ในซูเปอร์มาร์เก็ต พบมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน มียีนเชื้อดื้อยาจากเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด และต่อมามีงานวิจัยมากมายที่ศึกษายีนดื้อยาชนิดต่าง ๆ รวมทั้งชนิดรุนแรง (เช่น MCR-1) จากเนื้อไก่ ในประเทศจีน(อ้างอิง6-7)  -   เนเธอร์แลนด์(อ้างอิง8)    สิงคโปร์(อ้างอิง9)    เป็นต้น5. ภาครัฐควรได้ทำการเฝ้าระวังตรวจการตกค้างของยาปฏิชีวนะในฟาร์ม โรงเชือด ไก่สด หรือในอาหารสำเร็จรูปและแจ้งผลการสำรวจให้ประชาชนทราบอย่างกว้างขวาง และกระทำอย่างสม่ำเสมอ แต่ผลการค้นหาทางอินเตอร์เน็ต พบว่ารายงานจากภาครัฐถึงการ ให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลให้ค้นคว้าได้ง่าย ๆ มีไม่มากนัก ล่าสุดที่ค้นหาได้จาก ทางอินเตอร์เน็ต คือ ผลการรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีพ.ศ. 2560 (อ้างอิง10)    ไม่มีรายละเอียดมากนัก มีเพียงระบุว่าจากการสุ่ม 105 ตัวอย่าง ใน 12 จังหวัด ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบการตกค้างของยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อไก่และเนื้อวัวทุกตัวอย่าง แต่ตรวจพบการตกค้างของยาต้านจุลชีพเกินมาตรฐานเพียง 1 ตัวอย่าง ในเนื้อหมู ซึ่งผลการสำรวจในไก่นั้น ไม่สอดคล้องกับผลที่ทางมูลนิธิ ตรวจพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในตัวอย่างถึงเกือบครึ่ง6. เป็นประเด็นคำถาม ว่าควรอนุญาตให้มียาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์ที่นำมาทำเป็นอาหารหรือไม่ ในมุมมองผู้บริโภค ย่อมไม่ต้องการให้มีการตกค้าง แต่ระบบควบคุมจะจัดการได้อย่างไร แม้จะมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (อ้างอิง11)   ห้ามใช้ยาต้านจุลชีพทุกชนิดผสมลงในอาหารสัตว์ในวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารสัตว์. โดยยังอนุญาตให้ใช้เพื่อป้องกัน และรักษาอาการป่วย (ใช่หรือไม่) แต่ผลการติดตามการบังคับใช้ให้เป็นไปตามกติกานั้นคงต้องมีความเข้มงวด ต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับการนำเข้าสารเคมีจนถึงการใช้ในฟาร์ม และติดตามการตกค้างในอาหารสดที่ตลาด พร้อมการดำเนินการจัดการตามหน้าที่ เพื่อนำมาเปิดเผยให้ผู้บริโภคได้ทราบ อย่างสม่ำเสมอ7. ควรอนุญาตให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการผสมในอาหารสัตว์หรือไม่  ห้ามทั้งหมด หรือห้ามบางรายการ เป็นอะไรบ้าง เพียงใด และอย่างไร มีงานวิจัยที่รองรับมาตรฐานอย่างไรบ้างในการประกาศ ทั้งนี้คำศัพท์ ที่ผู้บริโภคควรรู้จัก  Chicken with antibiotic free (ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะในตัวอย่าง) หรือ raise without antibiotics  (เลี้ยงสัตว์โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นเมื่อป่วย ต้องแยกคอก) คำแถลงจาก อธิบดี กรมปศุสัตว์(อ้างอิง12)  “กรมปศุสัตว์มุ่งพัฒนาการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังยาหรือสารตกค้างในเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวดที่สอดคล้องกับมาตรฐานโลก และมีมาตรการลงโทษตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องหากมีการตรวจพบ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายกลาง และเกษตรกรรายย่อย ได้ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ว่าได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัยจากยาและสารตกค้าง สามารถสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต”8. ผลกระทบของยาปฏิชีวนะนั้นรุนแรงมาก เกิดผลเสียต่อสุขภาพ แม้จะใช้ปริมาณไม่มาก  การดื้อยา การแพ้ยา เป็นความห่วงใยแรก นอกจากนี้เด็กเล็กถ้าได้รับยาปฏิชีวนะในขณะช่วงอายุแรก ๆ ยิ่งถ้าได้รับบ่อย จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอ้วน(อ้างอิง13)  ปัญหาคือ ผู้บริโภคจะทราบได้อย่างไรว่าอาหารที่เรารับประทานนั้นมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะหรือยีนเชื้อดื้อยาหรือไม่    Sir Alexander Fleming ได้บรรยายเมื่อรับรางวัลโนเบล(อ้างอิง14)   ถึงความห่วงใยการดื้อยา ว่า “ I would like to sound one note of warning. Penicillin is to all intents and purposes non-poisonous so there is no need to worry about giving an overdose and poisoning the patient. There may be a danger, though, in underdosage. It is not difficult to make microbes resistant to penicillin in the laboratory by exposing them to concentrations not sufficient to kill them, and the same thing has occasionally happened in the body ”  9. แนวทางการดำเนินงานโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข  นั้นเป็นเรื่องที่ดี จะติดตามเรื่องการตกค้างยาปฏิชีวนะ หรือยีนเชื้อดื้อยาในวัตถุดิบได้อย่างไร  หากประกันคุณภาพได้ รัฐบาลควรจะได้ขยายแนวคิดอาหารปลอดภัยให้ครอบคลุมทุกท้องที่ และให้ประชาชนในประเทศไทยทุกคนได้รับประโยชน์ต่อเนื่องจากนโยบายนี้10. ไทยมียุทธศาสตร์การจัดการดื้อยาต้านจุลชีพ ประเทศไทย พ.ศ.2560-2564.  โดยทำแผนปฏิบัติการแล้ว ทั้งนี้ยุทธศาสตร์มีพัฒนาการมาจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8  คงต้องมีการติดตามผลงานที่เกี่ยวข้องที่ใกล้ตัวผู้บริโภค ทั้งเรื่องอาหาร สิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากโรงพยาบาล ในลักษณะสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) อย่างจริงจัง----------------------------------------------------------------------------------------(อ้างอิง1)  Wongsuwan G, et al (2017) Antibiotic use in poultry: a survey of eight farms in Thailand.  Bull World Health Organ  96(2): 94–100.(อ้างอิง2)  ณัฐธิดา สุขสาย และคณะ (2559) การใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ : กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ . วารสารเภสัชกรรมไทย 8(2): 282-294.(อ้างอิง3) Sarker YA, et al (2018) Screening of antibiotic residues in chicken meat in Bangladesh by Thin Layer Chromatography.   J Adv Vet & Animal Res 5(2): 140-145.(อ้างอิง4)  Nguyen TH, et al (2018) Antimicrobial residue and resistance against critically important antimicrobials in non-typhoidal Salmonella from meat sold at wet-markets and supermarkets in Vietnam. Int J Food Microbiol 266:301-309.(อ้างอิง5) Chaisatit C, et al (2012) Molecular Characterization of Antibiotic-Resistant Bacteria in Contaminated Chicken Meat Sold at Supermarkets in Bangkok, Thailand.  Jpn. J. Infect. Dis., 65, 527-534. (อ้างอิง6)Hang J, et al (2018) Molecular detection of colistin resistance genes (mcr-1, mcr-2 and mcr-3) in nasal/oropharyngeal and anal/cloacal swabs from pigs and poultry.  Sci Rep. 8: 3705.(อ้างอิง7)Liu J, et al (2018)  Isolation of an IncP-1 plasmid harbouring mcr-1 from a chicken isolate of Citrobacter braakii in China. Int J Antimicrob Agents. 51(6):936-940.  (อ้างอิง8) Schrauwen EJA, et al (2017) High prevalence of the mcr-1 gene in retail chicken meat in the Netherlands in 2015. Antimicrob Resist Infect Control. 6: 83.(อ้างอิง9) Zwi YH, et al (2018) Prevalence, sequence types, antibiotic resistance and, gyrA mutations of Salmonella isolated from retail fresh chicken meat in Singapore.  Food Control 90: 233-240.(อ้างอิง10)  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อสัตว์ 27  ก.ค. 2560   (accessed July 2018)http://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/136 (อ้างอิง11) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เรื่องกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะ หรือคุณสมบัติของวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์  พ.ศ. 2558  (อ้างอิง12) กรมปศุสัตว์ระวังยาปฎิชีวนะตกค้าง ในเนื้อสัตว์ตามมาตรฐานสากล (accessed July 2018) http://certify.dld.go.th/certify/index.php/th/2016-04-30-03-59-03/2016-05-01-02-55-53/476-2016-11-21-03-29-40 (อ้างอิง13) Rasmussen SH, et al (2018) Antibiotic exposure in early life and childhood overweight and obesity: A systematic review and meta-analysis. Diabetes, Obesity, and Metabolism  20: 1508-1514.(อ้างอิง14) AL E X A N D E R F L E M I N G (1945) Penicillin Nobel Lecture, December 11, 1945https://www.nobelprize.org/nobel_prizes/medicine/laureates/1945/fleming-lecture.pdf  @page { margin: 0.79in } p { margin-bottom: 0.1in; direction: ltr; line-height: 120%; text-align: left; orphans: 2; widows: 2 } a:link { color: #0563c1 }

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี “เอายาปฏิชีวนะออกจากอาหารของเรา ; Antibiotics off the menu”

เพื่อให้รับกับสถานการณ์ปัญหาเรื่อง เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ  ฉลาดซื้อจึงไปสัมภาษณ์ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานฯ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) อีกครั้ง โดยในวันผู้บริโภคสากล ปีนี้ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มีนาคม สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ที่มีองค์กรสมาชิกถึง 240 องค์กรใน 120 ประเทศ ได้กำหนดประเด็นในการรณรงค์ร่วมกันในเรื่อง “การเอายาปฏิชีวนะออกจากอาหารของเรา; Antibiotics off the menu” “คืออยากให้ได้ในมิติที่ผู้บริโภคจริงๆ ว่าประสบปัญหาอะไร แล้วไม่รู้อะไร ตอนนี้เราแยกเป็นสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งมีทั้งหมด 8 ข้อ เรื่อง Information เป็นเรื่องสำคัญมากในการตัดสินใจ เรื่องที่ 2 ที่เชื่อมร้อยกันก็คือเรื่อง Consumer education การให้การศึกษา และอันที่ 3 ที่เกี่ยวข้องแล้วมาหลุดไปนั้น คืออยากจะโยงถึง เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย หน่วยงานรัฐก็จะต้องรับรองให้มีผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยเพียงพอ แต่พอเราได้เข้ามาดูตรงนี้แล้ว พบว่าปัญหายิ่งใหญ่อันหนึ่งของผู้บริโภคไทยก็คือ ข้อมูลพวกนี้มันไม่ถึงมือประชาชนและระบบไปเฝ้าระวังเรื่องนี้ไม่เพียงพอ พอเราบ่นไปก็จะได้รับคำตอบกลับมาว่า “มีกำลังไม่เพียงพอ เงินไม่มีเลยทำได้แค่นี้”  ผู้บริโภคเราจึงไม่มีข้อมูลที่จะทำให้สามารถตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อได้ ประกอบกับความรู้ผู้บริโภคก็น้อยด้วย ดังนั้นทำให้ดูเหมือนผู้บริโภคไทยเองอ่อนแอและได้รับแต่สิ่งที่มีปัญหา ขอกล่าวถึงคำศัพท์หลายคำศัพท์อยู่ที่เราอาจจะคุ้นเคยกัน 1. ยาปฏิชีวนะ ที่เราคุ้นกันอยู่ แต่มีผู้รู้หลายคนที่บอกว่ายาปฏิชีวนะ 100 % ถ้าเราจำได้ ยาต้านไวรัสก็คือไปทำอะไรกับไวรัส ยาต้านเชื้อราก็คือไปทำอะไรกับเชื้อรา ดังนั้นก็ควรจะเป็น ยาต้านแบคทีเรียว่าไปทำอะไรกับแบคทีเรีย อาจจะตรงกว่าคำว่ายาปฏิชีวนะ ที่เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ค้นพบเมื่อไม่นานนี้ ไม่ถึง 100 ปี (เฟลมมิงค้นพบจากเชื้อราเพนนิซิลเลียม (Penicilliam) เขาเลยตั้งชื่อว่า  Antibiotics) แล้วต่อมายาหลายตัวที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียมันไม่ได้สร้างจากเชื้อมีชีวิตแล้ว มันสร้างจากเคมีก็ได้ บางทีเราก็ใช้ศัพท์ ยาต้านแบคทีเรียหรือเท่ากับ  Antibiotic เพื่อให้คนคุ้นเคย 2 คำนี้เอาไว้     ทำไมเราจึงสนใจเรื่อง  Antibiotics เพราะว่าอันที่ 1. โดยรวมเราเรียกมันว่ายาฆ่าเชื้อหรือยาต้านจุลชีพ ยาต้านจุลชีพทั้งหมดนั้นเป็น  Antibiotics(ต้านแบคทีเรีย) อยู่ประมาณ 50 % ดังนั้นจึงมีผลกระทบเยอะและเรามีแบคทีเรียเยอะ ซึ่งอาจจะเกิดปัญหา คือเกิดการดื้อยา คือเชื้อไวรัสก็ดื้อ การดื้อนั้นเชื้อทั้งหลายมันดื้ออยู่แล้วแต่การกินที่ไม่ถูกต้องจะทำให้ดื้อเร็วขึ้น มากขึ้น คนที่จะใช้ยาต้านไวรัสได้ต้องตรวจให้ชัวร์ว่าเป็นไวรัสก็จะได้ยาต้านไวรัส คนที่เป็นเชื้อราก็ต้องตรวจให้ชัวร์ว่าเป็นเชื้อราจึงได้ยาต้านเชื้อรา แต่ปัญหาคือว่า พอไม่ใช่การติดเชื้อแบคทีเรียแล้วไปจ่ายยาต้านแบคทีเรียให้กิน เรื่องแบบนี้มันเยอะไง เชื้อมันเลยดื้อยา การดื้อยามีขนาดใหญ่และเป็นปัญหา เนื่องจากการกินผิดเยอะ ก็ทำให้เมื่อติดเชื้อจำนวนมากก็ดื้อยามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อัตราการอยู่เตียงนานขึ้น ตายมากขึ้น กลุ่มคนที่เฝ้าระวังเรื่องนี้จึงกลัวว่าต่อไปจะไม่มียาใช้เพราะว่าทุกวันนี้มันเริ่มวิจัยยาใหม่ๆ น้อยลง ดังนั้นต่อไปเวลาป่วยเราก็จะกลับไปเป็นโรคระบาดที่เป็นโรคติดเชื้อเหมือนสมัยก่อน ไม่มียาที่สามารถปราบเชื้อได้ นี่คือสิ่งที่กลัวกัน ซึ่งถ้าได้ดูข่าวจะเห็นว่าคนดังๆ ติดเชื้อในกระแสเลือดจนถึงขั้นเสียชีวิตเพราะเมื่อเชื้อเข้าไปอยู่ในกระแสเลือดแล้วเชื้อมันดื้อ ให้ยาไปแล้วไม่หาย เกิดการเรื้อรัง ปัญหาคือถ้าคนไข้อาการทรุดอยู่แล้วก็จะเสียชีวิตเร็วขึ้น เราจึงกลัวว่าต่อไปจะไม่มียาใช้ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลกระทบต่อสุขภาพในวงกว้าง     สาเหตุที่ดื้อยาหลักๆ เกิดจากการกินเกินจำเป็น การที่เราได้รับ Antibiotics เข้าร่างกายมันก็มีอยู่ 3 รูปแบบ 1. หมอสั่งให้กิน หมอสั่งก็อาจจะวินิจฉัยผิดหรือหมอมั่วก็เยอะสั่งโดยไม่มีความจำเป็น ส่วนใหญ่ก็ 3 โรคที่เรารณรงค์ไม่ให้ใช้ (3 โรคที่สามารถหายได้เองด้วยภูมิต้านทานของร่างกายโดยไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะคือ 1.หวัดเจ็บคอ 2.ท้องเสีย 3.แผลเลือดออก และยาปฏิชีวนะที่เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียนั้น ประกอบด้วย เพนนิซิลินอะม็อกซิลลิน เตตร้าซัยคลิน ซึ่งไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบแต่อย่างใด) หรืออีกอย่างคือหมอสั่งถูกแล้ว แต่คนไข้กินผิด หมอให้กินต่อเนื่อง 5 วันแต่กิน 2 วันก็เลิกกิน อย่างนี้เป็นต้น   2. ไปซื้อกินเอง ซึ่งบางครั้งไม่ได้เป็นอะไรมาก ปวดฟันก็ไปซื้อมา 2 เม็ดเพราะไปเรียกกันว่ายาแก้อักเสบก็เลยซื้อมากิน อันนี้เป็นเรื่องเข้าใจผิดมากๆ และปัญหาข้อ 1 กับข้อ 2 นั้นบางทีเกิดเพราะหมอก็ไม่เขียนชื่อยามาให้อีก ทำให้ขาดความรู้ตรงนี้ไป และ 3. กินโดยไม่รู้ตัว ข้อสุดท้ายนี่แย่มากเพราะมันอยู่ในอาหารที่เรากินเข้าไปโดยไม่รู้ตัว หรืออยู่ในยาชุดที่ยังมีคนนิยมซื้อกิน     ถ้าถามว่า เราจะมีข้อเรียกร้องอะไรบ้างเรื่องสิทธิผู้บริโภคในประเด็นนี้ ข้อที่ 1. คือเราจะกินยาอะไรต้องได้รู้จักชื่อยาที่เราใช้ เพราะ Antibiotics มันแพ้กันเยอะ แพ้ตั้งแต่กลุ่มเพนนิซิลิน เกิดการช็อก หมดสติ เสียชีวิต หายใจหอบ และพวกกลุ่มซัลฟา(Sulfonamides) ที่จะมีอาการไหม้ทั้งตัว ถ้าเราไม่รู้ชื่อยา บางคนบอกว่าตัวเองแพ้ซัลฟากล่องสีเขียวๆ แต่พอไปซื้ออีกครั้งก็กล่องสีเขียวเหมือนกันแต่ไม่ใช่ซัลฟา จึงทำให้ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วที่แพ้นั้นแพ้อะไรกันแน่เพราะมันไม่ชัดเจน เพราฉะนั้นนอกจากเราจะเรียกร้องเรื่องสิทธิคือต้องรู้จักชื่อยาแล้วเราต้องได้รับการคุ้มครองด้วยว่ารัฐต้องจัดหายา ขึ้นทะเบียนยาที่เหมาะสม เพราะยากล่องสีเขียวในท้องตลาดมีกล่องสีเขียวตั้ง 4 กล่องตัวยาก็คนละตัวกันเลย การแพ้ก็คนละแบบ รัฐต้องให้ความคุ้มครองเรื่องการที่ต้องมียาให้ถูกต้อง กลุ่ม Antibiotics รัฐต้องคุ้มครองในเรื่องของโฆษณา เราได้ยินโฆษณาของเสียงตามสายทีซี-มัยซินมาตลอด ซึ่งยากินนั้นเขาไม่ให้โฆษณา Antibiotics ที่เข้าร่างกายไม่อนุญาตให้โฆษณายกเว้นยาสามัญประจำบ้านหรือยาบรรจุเสร็จ ทีซี-มัยซิน ออยนท์เมนท์ (T.C. Mycin Ointment) อยู่ในกลุ่มยาบรรจุเสร็จ สามารถโฆษณาได้แต่เวลาโฆษณาในทีวีบนกล่องจะมีรูปแคปซูลด้วย คนก็สับสน และโฆษณาก็เป็นอีกเรื่องที่เราเรียกร้องให้งดโฆษณา Antibiotics ทั้งหมด ข้อที่ 2. รัฐจะต้องทำการถอนทะเบียนที่ไม่เหมาะสมออกให้หมด ข้อที่ 3. รัฐจะต้องควบคุมการกระจายยาที่มี Antibiotics ให้ถูกต้อง และข้อที่ 4. รัฐจะต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชนด้วย   อีกจุดหนึ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครองแต่มันไม่ได้อยู่ในสิทธิผู้บริโภคไทย คือ สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ปัญหาที่อาจารย์เดือดร้อนมากและกำลังค้นคว้า คือการที่สิ่งแวดล้อมมีเชื้อโรคที่ดื้อยาและสายพันธุกรรมที่ดื้อยาอยู่ในสิ่งแวดล้อม Antibiotics ตกค้างในสิ่งแวดล้อมนี่เป็นเรื่องใหญ่มากที่ต้องลุกขึ้นมาจัดการเป็นเรื่องเป็นราว ในร่างกายเรามีจุลชีพที่ดีอยู่เยอะ จุลชีพใช้ย่อยอาหาร ช่วยในการสร้างวิตามินเค ช่วยหลายๆ อย่างในร่างกายเพราะฉะนั้นจุลชีพที่ดีเราต้องสงวนเอาไว้ การกิน Antibiotics บ่อยๆ ทำให้จุลชีพเสียไปได้และทำงานผิดปกติทำให้เกิดเป็นโรคได้เยอะแยะ แล้วเมื่อจุลชีพข้างนอก Bio diversity ถ้ามันเจอ Antibiotics หรือสารพิษมันก็เสีย เพราะฉะนั้นรัฐต้องมีการควบคุมไม่ให้ Antibiotics ไปตกค้างในสิ่งแวดล้อมนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก ตอนนี้ก็เริ่มมีการวิจัยทั่วโลกแล้วเรื่องนี้และการมีสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อดื้อยาหรือสายพันธุกรรมเยอะๆ นั้นมันก็จะส่งผลกระทบต่อจุลชีพในท้องที่ด้วย เช่น เราควรจะมีจุลชีพที่ดีในทุ่งนามันก็จะเสียไปหรือเกิดการเพี้ยนมากขึ้น เราพบว่ามีการใช้ Antibiotics ในการเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งใช้ในพืชด้วย ในในการเลี้ยงสัตว์ไม่ว่าจะสัตว์บกหรือสัตว์น้ำมีหมด มีน้องที่รู้จักอยู่อยุธยาบอกว่า มีการโรยลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาเลยในการเลี้ยงปลากระชัง หลายคนถามว่ามันละลายไปหมดจะได้ผลหรือ ลองคิดดูเมื่อหย่อนไปตรงที่เลี้ยงอย่างน้อยตรงนั้นมันก็ได้แล้วที่เหลือก็ลอยไป หรือการเลี้ยงไก่เลี้ยงหมูมันก็ตกไปอยู่ที่ดินแล้วดินตรงนั้น เราก็เอาขี้หมูขี้ไก่ไปทำปุ๋ยใส่ผักต่อ ผักออแกนิกเกิดมามีเชื้อดื้อยาเต็มเลย อธิบายเพิ่มเติมนิดหนึ่งคือ สิ่งที่เราพบเห็นของการตกค้างนั้น 1. ตกค้าง Antibiotics ในอาหารเช่นเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ กุ้ง ปลา 2. เมื่อมันตกค้างแล้วอาจจะมีเชื้อดื้อยาตกค้างด้วยและมีสายพันธุกรรมของเชื้อดื้อยาตกค้างอันนี้คือน่ากลัวที่สุด เพราะว่าสายพันธุกรรมก็คือ DNA ซึ่งบางชนิดมันทนต่อความร้อน เราเชื่อกันว่าเชื้อโรคโดนต้มก็ตายแต่ Antibiotics ต้มไม่ตาย บางทีตายหรือไม่ตาย ไม่รู้ เมื่อเรากินเข้าไปก็ทำให้ดื้อได้ การที่มีขนาด Antibiotics น้อยๆ ในร่างกายนั้นมีผลอยู่ 2 – 3 อย่างคือเด็กที่กิน Antibiotics ตั้งแต่เล็กๆ จะเกิดภูมิแพ้และโรคอ้วน เด็กอ้วนพอไม่สบายหมอก็ให้ Antibiotics เรื่อยๆ แล้วการที่อ้วนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า โกรทโปรโมเตอร์ (Growth Promoter) ให้น้อยๆ สัตว์จะอ้วน โตเร็ว มันจะทำให้การดื้อยาเป็นไปได้เร็วขึ้นและถ้าสายพันธุกรรมดื้อยาไปปะปนกับอาหาร คนกินก็จะรับสายพันธุกรรมและสายพันธุกรรมบ้าเนี่ยนะ มันเข้าไปอยู่ในจุลินทรีย์ได้ทุกอย่างทั้งคนและสัตว์ อาจารย์เคยตั้งคำถามในการประชุมวิชาการครั้งหนึ่งว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาหารที่เรากินนั้นไม่มีสายพันธุกรรม มีข้อกำหนดหรือยังว่าต้องให้ตรวจ คำตอบก็คือไม่มี ข้อกำหนดที่มีอยู่อย่างเดียวตอนนี้คือ 1. ปริมาณ Antibiotics ไม่เกินลิมิต  2. เชื้อไม่เกินลิมิต แต่มันไม่ได้พูดว่าดื้อยาหรือเปล่า และการที่พูดว่าไม่มี Antibiotics ในผลิตภัณฑ์ ในอาหารเกินลิมิตหมายความว่ามันมีการใช้ แต่อยู่ในระยะพัก แต่เมื่อมีการใช้นั่นหมายความว่ามันมีโอกาสเกิดการดื้อยาเกิดขึ้นได้ เพราะอาจจะมีสายพันธุกรรมดื้อหรือที่มันตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เลี้ยงมันก็ต้องดื้อและคนที่เลี้ยงก็มีสายพันธุกรรมดื้อยา คือค่อนข้างพบเยอะแล้วว่าคนที่เลี้ยงโดยใช้ Antibiotics นั้นตัวคนเลี้ยงจะมีเชื้อดื้อยาเยอะ จะติดเชื้อไม่สบายอยู่เรื่อยๆ พอไปตรวจก็พบว่ามันมีจริงและถ้ามันอยู่ในอาหารที่เรากินแล้วต้มไม่ตายทุกคนก็มีความเสี่ยงต่อการรับทั้งนั้น การต้มนั้นแบคทีเรียตายแต่สายพันธุกรรมนั้นมีงานวิจัยว่าไม่ตาย ความร้อนไม่ช่วยเลยนั่นคือสิ่งที่เป็นห่วง ดังนั้นนี่คือข้อเรียกร้องว่า เราต้องได้รับข้อมูลสถานการณ์จริงและเราต้องได้รับการปกป้องให้ได้รับผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย และเมื่อผู้บริโภคไปเรียกร้องสิทธิ ผู้บริโภคเองก็ต้องมีหน้าที่เมื่อคุณได้รับสั่งกินยาคุณต้องมีสิทธิถาม มีตัวอย่างหนึ่งเขาเป็นสื่อมวลชนอยู่ที่เชียงใหม่ พวกเราเป็นคนให้ความรู้เขาแล้วให้เขาทำละครชุมชน พอเขาทำแล้วเขาอินกับเรื่องนี้ ตอนที่ลูกเขาไม่สบายมีน้ำมูกใสๆ จึงพาไปหาหมอ หมอจะจ่ายยา Antibiotics เขาก็ถามเลยว่า ตกลงลูกเขาติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียครับ หมอก็อึ้งแล้วบอกว่า ต้องตรวจดู เขาจึงบอกว่ารอได้ให้ตรวจเลย พอผลตรวจออกมาหมอพูดอ้อมแอ้มบอกว่า ไม่ใช่แบคทีเรียมันเป็นไวรัสเพราฉะนั้นไม่ต้องสั่งยาต้านหรือ Antibiotics ดังนั้นต้องกล้าที่จะถามว่าเป็นแบคทีเรียหรือไวรัส ถามว่ายานี้เป็นอันตรายไหม กินแล้วจะเกิดอาการอะไรขึ้นไหม นี่คือสิทธิที่เราต้องรู้ และขณะเดียวกันเรามีหน้าที่ที่ต้อง 1.อย่าไปเรียกร้องหมอขอยาแก้อักเสบนี่ไม่ควรทำ 2.ถ้าต้องกินก็กินให้ครบ 3. ต้องดูแลภายในบ้าน เพราะบางคนหมาไม่สบายก็เอายาตัวเองให้หมากินอย่างนี้เป็นต้น คือมันถ่ายทอดทั้งเขาและเราอยู่ตลอดเวลารวมทั้งการดื้อยาด้วย และถ้าต้องเลี้ยงสัตว์เป็นเกษตรกรด้วยคุณต้องมีความห่วงใยโลก ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ห่วงใยผู้ที่จะกินอาหารจากเรา มีเกษตรกรที่เลิกใช้  Antibiotics มาพูดคุยกับเราในงานวันสิทธิผู้บริโภคสากล 15 มีนาคม 2559 นี้ด้วยหลายกลุ่มเลย ---------ข้อสรุปของการประชุมเนื่องในวันสิทธิผู้บริโภคสากล “World Consumer Rights Day 2016” วันที่ 15 มีนาคม 2559 มีดังนี้     ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาฯ มีสาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินจำเป็น จากข้อมูลของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของยาปฏิชีวนะที่ผลิตขึ้นในโลกนี้ นำไปใช้ในการเกษตร โดยนำไปเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ (Growth Promoter) ใช้ป้องกันการติดเชื้อมากกว่าจะใช้เป็นยารักษาโรค คาดการณ์กันว่า ภายในปี ค.ศ.2030 จะมีการเพิ่มขึ้นของการใช้ยาปฏิชีวนะ จาก 63,200 ตัน ในปี ค.ศ.2010 เป็น 105,600 ตันในปี ค.ศ.2030       การรณรงค์เรียกร้องที่ดำเนินการทั่วโลกในปีนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ บริษัทอาหารฟาสต์ฟู้ดทั่วโลกให้สัญญาต่อผู้บริโภคว่าจะหยุดการขายเนื้อสัตว์ที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม  โดยถือเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคทุกคนที่จะมีส่วนช่วยในการเรียกร้องให้เกิดความปลอดภัยในอาหารที่เราบริโภค ดังนั้นในการจัดประชุมเนื่องในวันสิทธิผู้บริโภคสากล เครือข่ายภาคประชาชนภายใต้สภาผู้บริโภคแห่งชาติ มีความตระหนักและให้ความสำคัญในปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็น จึงมีข้อเรียกร้องต่อทุกภาคส่วน ดังนี้ 1.เรียกร้องให้ทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ และเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในประเด็น “วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ” โดยมีกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพหลัก ในการดำเนินการจัดการปัญหาวิกฤติแบคทีเรียดื้อยาอย่างบูรณาการ ผ่านโครงสร้างและกลไกต่างๆ ที่ต้องจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบจัดการปัญหาในระดับประเทศ ระดับพื้นที่ ตลอดจนระดับสถานพยาบาลและในชุมชน โดยครอบคลุมทั้งการนำยาปฏิชีวนะไปใช้ในมนุษย์ และในการเกษตร 2.เรียกร้องให้รัฐ กำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการที่มีการนำยาปฏิชีวนะไปใช้ในการเกษตร ต้องเปิดเผยข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะทั้งหมด และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ต้องมีมาตรการในการควบคุมไม่ให้มีการตกค้างในอาหารและสิ่งแวดล้อม 3.เรียกร้องให้ผู้ประกอบการด้านเกษตรและปศุสัตว์ ดำเนินการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็น ทั้งในเกษตรกรรายย่อย และการเกษตรพันธะสัญญา รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจบริโภคได้อย่างปลอดภัย  และลดผลกระทบไม่ให้เกิดปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาตามมา 4.เรียกร้องให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการนำเนื้อสัตว์มาจำหน่ายแก่ผู้บริโภค4.1ขอให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์ที่นำมาประกอบอาหารเพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภค       4.2 ขอให้บริษัทมีแผนปฏิบัติการลดและยุติการใช้เนื้อสัตว์ที่มีกระบวนการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ4.3 ขอให้มีตัวแทนจากนักวิชาการภายนอกตรวจสอบแผนปฏิบัติการลดและยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์และรายงานต่อสาธารณะทุก 3 เดือน 5.เรียกร้องให้บุคลากรสุขภาพทุกคน มีส่วนในการรณรงค์เพื่อให้เกิดการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล ทั้งในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน 6.เรียกร้องให้ผู้บริโภคทุกคน พึงตั้งคำถามทั้งต่อตนเองและต่อบุคลากรสุขภาพว่า มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะจริงหรือไม่ ก่อนการตัดสินใจบริโภค 7.เรียกร้องให้สื่อดำเนินการให้ข้อมูลต่อผู้บริโภคให้ตระหนักในปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยา และ ความจำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงการบริโภคยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็น    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point