จะดีไหม.. ถ้าคนไทยจ่ายหนี้ได้ด้วยแดด ?

เปรียบเทียบนโยบายพลังงาน รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ กับ รัฐบาลอินเดียโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสาท มีแต้มถ้าเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอินเดียนับจากช่วงต้นปี 2562 เป็นต้นมา พบว่ามีทั้งสิ่งที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ที่คล้ายคลึงกันก็คือมีการเลือกตั้งทั่วไปในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แต่ที่แตกต่างกันก็คือ รัฐบาลอินเดียใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลที่รวดเร็ว ในขณะที่รัฐบาลไทยใช้เวลา 4 เดือนกว่าจึงจะได้แถลงนโยบายรัฐบาลแต่ที่แตกต่างกันในสาระสำคัญที่มากกว่านั้นก็คือ การมีนโยบายเพื่อลดปัญหาสำคัญของชาติ คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งประเทศไทยเรามีความรุนแรงกว่าของประเทศอินเดียมาก กล่าวคือ ครัวเรือนของไทยมีจำนวนหนี้ที่มากกว่าหลายเท่าและเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่ามากในปี 2560 ขณะที่ครอบครัวชาวอินเดียมีหนี้รวมกันประมาณเพียงร้อยละ 12 ของจีดีพี และมีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2553 เพียงร้อยละ 1.5  แต่ครอบครัวคนไทยในปี 2560 มีหนี้รวมกันถึงร้อยละ 70 ถึง 76 ของจีดีพี และมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 ถึง 18  นับจากช่วงเดียวกัน  (ดูภาพประกอบ)จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อสิ้นไตรมาสแรกของปี 2562  “จำนวนเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน” ของคนไทยมีจำนวน 12.967 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 78.7 ของจีดีพี สูงเป็นอันดับที่ 10 จากการสำรวจ 89 ประเทศทั่วโลก - ข่าวสด 6 มิ.ย.62) หรือเฉลี่ยคนละ 195,000 บาท  ในขณะที่เมื่อสิ้นปี 2561 คนไทยมีหนี้สินเฉลี่ยคนละ 193,000 บาทอันตรายของการมีหนี้จำนวนเยอะๆ และเป็นเวลานานๆ  จะเป็นอย่างไรนั้น ผมจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ แต่จะขอกล่าวถึงสาเหตุของการมีหนี้และแนวทางการลดจำนวนหนี้ โดยจะยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมด้วยนโยบายโซลาร์เซลล์ โดยเน้นไปที่ประเทศอินเดียและประเทศไทย ซึ่งผมได้เรียนมาตั้งแต่ต้นว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจากบทความเรื่อง “วินัยทางการเงินของครัวเรือนไทยและบทบาทของ ธปท. ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน”  ในรายงานนโยบายการเงิน มีนาคม 2562  ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งได้จากการสอบถามความคิดเห็นในประเด็น “สาเหตุที่ทำให้ครัวเรือนมีหนี้” พบว่ามีผู้เห็นด้วยกับสาเหตุ “รายรับไม่พอกับรายจ่าย” และ “ขาดวินัยทางการเงิน” สูงเป็นดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับแต่ในความเห็นของผมแล้ว ผมคิดว่านโยบายของรัฐบาลก็มีส่วนสำคัญมากที่ทำให้คนไทยเป็นหนี้ โดยผมจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบจากโครงการโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐคุชราต (Gujarat- มีประชากร 60 ล้านคน) ของประเทศอินเดียและของประเทศไทยรัฐบาลอินเดียและรัฐบาลแห่งรัฐคุชราต ได้ออกนโยบายสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาจำนวน 2 แสนครอบครัวในปีงบประมาณ 2019-2020 โดยได้รับการอุดหนุนถึง 40% ของต้นทุนการติดตั้งที่ขนาดไม่เกิน 3 กิโลวัตต์ และ 20% สำหรับขนาดระหว่าง 3 ถึง 10 กิโลวัตต์  โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลแห่งรัฐรับค่าใช้จ่ายไปรวม 50% ที่เหลืออีก 50% เป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้านที่ต้องลงทุนเอง (https://cleantechnica.com/2019/07/11/gujarat-to-subsidize-rooftop-solar-systems-in-200000-homes/)ไฟฟ้าที่ผลิตได้ หากเหลือใช้ก็สามารถขายให้กับระบบสายส่งได้ แต่ในรายงานข่าวดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าจะรับซื้อในราคาเท่าใดโครงการดังกล่าวรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้ประมาณ 4,500 ล้านบาท สำหรับนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะแถลงในวันที่ 25-26 กรกฎาคม นี้  ผมยังเปิดไฟล์ทั้งหมดไม่ได้ (โดยอ้างว่าไฟล์เสีย) แต่ที่พบแล้วใน หัวข้อที่ 5.2 พัฒนาภาคอุตสาหกรรม มีเฉพาะประโยคที่ว่า “ส่งเสริมพลังงานทดแทน” โดยไม่มีรายละเอียดอะไรเลยอย่างไรก็ตาม ที่เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์บนหลังคาซึ่งกระทรวงพลังงานได้ประกาศไปแล้วเมื่อช่วงก่อนการเลือกตั้งเล็กน้อย  สรุปว่า “จะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ เฉพาะที่เหลือจากการใช้เอง ในราคาหน่วยละ 1.68 บาท เป็นเวลา 10 ปี ในขณะที่ทางการไฟฟ้าขายให้กับครัวเรือนที่ใช้เดือนละ 500 หน่วย ในราคาที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หน่วยละ 3.80 บาท (ความจริงคือ 3.93 บาท)” จากการศึกษาของกระทรวงพลังงานเองได้ข้อสรุปว่า ถ้าผู้อยู่อาศัยขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จำนวนครึ่งหนึ่งให้ทางการไฟฟ้าในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย อีกครึ่งหนึ่งสำหรับการใช้เอง จะทำให้ถึงจุดคุ้มทุนภายในเวลา 7.8 ถึง 10.2 ปี  โดยไม่มีการคิดค่าดอกเบี้ยที่เกิดจากการลงทุน นอกจากนี้อายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์ปกติจะนาน 25 ปี แล้วที่เหลืออีก 15 ปี จะให้นำไฟฟ้าไปขายให้ใคร ?เป็นที่น่าสังเกตว่า กติกาการรับซื้อดังกล่าว แตกต่างจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่อย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ ทาง กฟผ. จะต้องจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ซึ่งหมายถึง ค่าลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าบำรุงรักษาและค่าดอกเบี้ยด้วย  แต่กับกรณีโซลาร์เซลล์บนหลังคาของคนธรรมดาซึ่งมีหนี้ท่วมหัว ทางกระทรวงพลังงาน (1) ไม่คิดดอกเบี้ยให้ (2) ซื้อในราคาที่ต่ำมาก ในขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงซื้อจาก กฟผ. ในราคา 2.72 บาทต่อหน่วย และ (3) รับซื้อเพียง 10 ปีเท่านั้น  โดยมีเป้าหมายในการรับซื้อ 100 เมกะวัตต์  หรือ 1 ถึง 3 หมื่นหลังโดยประมาณ ในขณะที่รัฐบาลอินเดียนอกจากจะจ่ายเงินอุดหนุนให้ถึง 20 ถึง 40% ถึง 2 แสนหลังแล้ว ยังรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือและยังไม่ต้องติดมิเตอร์ (ที่ไม่จำเป็นถ้ารับซื้อไฟฟ้าในราคาที่เท่ากับราคาขาย) เพิ่มอีก 7,500 บาทต่อหลังอีกด้วย นี่คือความไม่เป็นธรรมที่รัฐบาลไทยเลือกปฏิบัติระหว่างคนไทยธรรมดาๆ กับเจ้าของไฟฟ้าขนาดใหญ่ส่งผลให้เจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่คนหนึ่งซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.จำนวนประมาณ 11,910 เมกะวัตต์ กลายเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับที่ 267 ของโลก คือนาย Sarath Ratanavadi  (https://www.bloomberg.com/billionaires/)  และส่งผลให้คนไทยที่ถูกนโยบายพลังงานของรัฐบาลกดทับต้องมีหนี้ท่วมหัวดังที่กล่าวแล้วจริงอยู่ครับว่า สาเหตุของการเป็นหนี้มีหลายอย่าง แต่ตัวอย่างที่ผมยกมาเป็นแค่เรื่องไฟฟ้าที่มีมูลค่าทั้งประเทศปีละ 6.7 แสนล้านบาท ถ้าเราจัดสรรให้แต่ละหลังคาสามารถผลิตเองได้สัก 1 ล้านหลัง ขนาด 3 กิโลวัตต์ ในราคาหน่วยละ 3.90 บาท ก็จะสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ปีละ 17,400 ล้านบาท นอกจากจะเป็นการช่วยลดจำนวนหนี้แล้ว จะมีการจ้างงานจำนวนมากซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจอีกด้วยนะครับเนื่องจากว่า ผมยังเปิดไฟล์คำแถลงนโยบายของรัฐบาลฉบับเต็มยังไม่ได้ แต่เชื่อว่าจะเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี2018) ซึ่งเพิ่งประกาศใช้เมื่อไม่นานมานี้เองผมมีข้อสังเกตต่อแผน พีดีพี 2018 ว่าคงยังเป็นแผนที่เอื้อต่อกลุ่มทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติและกีดกันสิทธิของคนธรรมดาต่อไป เพราะว่าได้กำหนดให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG นำเข้าจากต่างประเทศ) ผลิตไฟฟ้าจากร้อยละ 59.7 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 64.7 ในปี 2561 และปี 2568 ตามลำดับ ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากร้อยละ 7.9 เป็น 10.6 ในช่วงเดียวกันในขณะที่ในปี 2561 ประเทศสหราชอาณาจักรซึ่งมีแดดน้อยกว่าประเทศไทย แต่ได้ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไปแล้วร้อยละ 11.6 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 19.6  ในปี 2568  นี่แค่จากแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว ถ้ารวมพลังงานลมและชีวมวลก็จะเป็นร้อยละ 57 ในปี 2568 (https://interactive.carbonbrief.org)ขอปิดท้ายด้วยคำพูดของทีมงานของ Narendra Modi นายกรัฐมนตรีของอินเดีย  ภายหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ว่า  “เรามองพลังงานแสงอาทิตย์ว่าเป็นแหล่งรายได้ของเกษตรกรและเราจะกระตุ้นให้มีโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้ผลิตอาหารได้เปลี่ยนเป็นผู้ผลิตพลังงาน”แม้ว่าผมไม่เห็นด้วยกับโซลาร์ฟาร์ม แต่ก็ยังดีกว่าต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อก๊าซธรรมชาติปีละกว่าหนึ่งแสนล้านบาทครับ ผมว่าโซลาร์รูฟนั่นแหละเหมาะที่สุดและราคาถูกกว่าด้วยครับเราสามารถลดหนี้คนไทยได้ด้วยแสงแดดครับ  ทำไมพลเอกประยุทธ์มองเรื่องนี้ไม่ออก ?  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยกับนโยบายสาธารณะด้านสังคม

ซูเปอร์มาร์เก็ต คือหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อชีวิตของผู้บริโภคไทยเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของการเป็นที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อเลี้ยงปากท้องของสมาชิกในครอบครัว การเป็นธุรกิจที่มีการจ้างงานโดยตรงและสร้างงานโดยอ้อมจำนวนมาก การเป็นปลายทางของสินค้าของซัพพลายเออร์  เกษตรกร ชาวประมงและผู้ประกอบการรายย่อยอีกนับล้านทั่วประเทศ หากจะกล่าวว่าซูเปอร์มาร์เก็ต คือคนกลางที่เชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคนับล้านเข้าด้วยกันคงจะไม่ผิดนักปัญหาในห่วงโซ่อุปทานอาหารของซูเปอร์มาร์เก็ตงานวิจัยจากองค์การอ็อกแฟม (2561) ชี้ให้เห็นว่า มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในห่วงโซ่อุปทานอาหารที่วางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ในหลายประเทศทั่วโลก เกษตรกรหรือผู้ผลิตอาหาร กลายเป็นผู้ที่ขาดความมั่นคงทางอาหาร (Food Insecurity) เนื่องมาจากรายได้ที่จากการขายสินค้าการเกษตรนั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ การขาดอำนาจการต่อรอง และพื้นที่ในการสะท้อนปัญหาไปถึงผู้ซื้อ ในขณะที่แรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปนั้น มีรายได้ที่เติบโตน้อยกว่าค่าครองชีพ ทำให้แรงงานจำนวนมากจำเป็นต้องทำงานล่วงเวลา ในบางรายต้องทำงานเกินกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน และพบแรงงานในบางอุตสาหกรรมที่ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ทั้งในเชิงสัญญาการจ้างงาน การต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการหางานและเข้าทำงาน จนก่อให้เกิดปัญหาความยากจนแม้ว่าจะมีงานทำ(In-work Poverty) ความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานสินค้าอาหารที่วางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต จึงชวนให้ตั้งคำถามถึงบทบาทในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ ที่สามารถใช้อำนาจต่อรองในฐานะผู้ซื้อผ่านนโยบายและแนวปฏิบัติต่างๆ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไปนั้น ว่ามีนโยบายครอบคลุมไปถึงประเด็นด้านสังคมเหล่านี้ไว้บ้างหรือไม่ อย่างไร เป็นที่มาของงานรณรงค์ ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก  โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี และองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย ที่จะเริ่มต้นด้วยการใช้ กรอบการประเมินนโยบายด้านความเท่าเทียมและความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัทค้าปลีก  เพื่อมองภาพสถานการณ์ของซูเปอร์มาร์เก็ตไทย  โดยหวังให้เกิดความร่วมมือหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกกับซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นผู้ซื้อและผู้ขายอาหารรายใหญ่ในระบบอาหารของไทย บริษัทค้าปลีกที่ได้รับการประเมินนโยบายในปี 2560-2561 ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้รับการประเมินนโยบายสาธารณะนั้น พิจารณาจากมูลค่าการตลาด สัดส่วนของกลุ่มสินค้าอาหาร และความสำคัญต่อกลุ่มผู้บริโภคในเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมาก เมื่อพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าวซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้รับการติดต่อและได้รับการประเมินมีทั้งสิ้น 8 แห่ง ได้แก่ เทสโก้ โลตัส, แม็คโคร, บิ๊กซี, ฟู้ดแลนด์, วิลล่า มาร์เก็ท, ซีพี เฟรชมาร์ท, และ Gourmet Market    ทั้งนี้นอกเหนือจากประเทศไทยซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ก็ได้รับการประเมินนโยบายสาธารณะด้านความเป็นธรรมและยั่งยืนเช่นเดียวกัน โดยมีองค์การอ็อกแฟมในระดับสากลเป็นองค์กรผู้ประเมิน โดยใช้กรอบการประเมินชุดเดียวกันกับที่ใช้ในประเทศไทยกรอบและแนวทางการประเมินนโยบายสาธารณะของบริษัทค้าปลีกไทยกรอบการประเมินนโยบายสาธารณะของบริษัทค้าปลีกไทย เพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารนั้นอ้างอิงมาจากกรอบ Food Retailers Accountability Tool ขององค์การอ็อกแฟมในระดับสากล โดยประกอบไปด้วยการประเมินใน 4 มิติ คือด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ด้านแรงงาน ด้านผู้ประกอบการรายย่อย และด้านสตรี ซึ่งทั้งสี่มิติถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของห่วงโซ่อุปทานอาหารที่โปร่งใสและเป็นธรรมมิติด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ พิจารณาจากการมีนโยบายและการกำกับดูแล ตลอดจนคณะกรรมการหรือผู้บริหารที่ดูแลประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะเพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัท(Human Rights Due Diligence) การพัฒนาและปรับใช้กลไกร้องทุกข์และการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ(Grievance Mechanism and Remedy) ตลอดจนการมีมาตรฐานจริยธรรมทางการค้าและการตลาด(Ethical Marketing Standards)มิติด้านแรงงาน ครอบคลุมถึงการมีนโยบายสิทธิแรงงานสำหรับห่วงโซ่อุปทานของบริษัทงยึดตามมาตรฐานแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ประกอบไปด้วยประเด็นสำคัญ เช่น แรงงานบังคับหรือแรงงานเด็ก เสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง สถานที่ทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ การจ่ายค่าจ้างที่เหมาะสมกับการดำรงชีพ การไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดจนชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม เป็นต้น โดยมุ่งเน้นไปที่การปรับใช้ในองค์กร ตลอดจนการสนับสนุนให้ซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่อุปทานมีนโยบายและแนวปฏิบัติแบบเดียวกัน นอกจากนี้มิติด้านแรงงานยังให้ความสำคัญกับการที่บริษัทเข้าร่วมหรือจัดตั้งการริเริ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่น่าเชื่อถือ(Credible Multi-stakeholder Initiatives) เพื่อร่วมกันจัดการกับปัญหาสิทธิแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพมิติด้านผู้ประกอบการรายย่อย การประเมินในมิติผู้ประกอบการรายย่อยนั้น องค์ประกอบสำคัญของการประเมินคือ การประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Impact Assessments: HRIAs) ของกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานที่มีต่อผู้ผลิตรายย่อย การสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อยเพื่อเพิ่มรายได้และความมั่นคงของผู้ผลิต การมีแนวทางการจัดซื้อและข้อตกลงการค้าที่เป็นธรรม การสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถรวมตัวเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองของผู้ผลิต ตลอดจนนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อเพิ่มรายได้ของผู้ผลิตรายย่อยในห่วงโซ่อุปทานมิติด้านสตรี เน้นไปที่การส่งเสริมความเท่าเทียมของสิทธิระหว่างชายและหญิง ตลอดจนบทบาทและความสำคัญของสตรีในห่วงโซ่อุปทาน โดยพิจารณาจากการลงนามพันธสัญญาส่งเสริมพลังสตรีของสหประชาชาติ(UN Women's Empowerment Principles), ความโปร่งใสในการติดตามและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสตรีในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัท การประเมินผลกระทบของกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานที่มีต่อสตรี การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อปรับปรุงบทบาทของสตรีในห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้นหลักการประเมินจะพิจารณาบนพื้นฐานของนโยบายของบริษัทที่เผยแพร่เป็นข้อมูลสาธารณะที่สามารถตรวจสอบและเข้าถึงได้เท่านั้น เช่น ทางเว็บไซต์ขององค์กร รายงานประจำปี รายงานด้านความยั่งยืนและธรรมภิบาลขององค์กร ตลอดจนหลักจริยธรรมพนักงานและนโยบายการจัดซื้อที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ เป็นต้น โดยพิจารณาจากนโยบาย การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โครงการ รวมถึงผลกระทบทางบวกที่เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน ผู้ผลิตรายย่อย และสตรีเหตุผลหลักในการพิจารณาจากข้อมูลสาธารณะ เนื่องจากสามารถแสดงให้ผู้บริโภค ซัพพลายเออร์ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนประชาชนทั่วไปในประเทศ สามารถเข้าถึงข้อมูลและรับทราบความมุ่งมั่นตั้งใจของบริษัทค้าปลีกในการเป็นองค์กรธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อความเป็นธรรมและยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารระยะเวลาการดำเนินการและการมีส่วนร่วมการประเมินครั้งนี้ทางภาคีทั้งสามองค์กรได้ประสานกับทางบริษัทค้าปลีกอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการประเมิน การนำเสนอผลการประเมินเบื้องต้น และเปิดโอกาสให้ทางบริษัทได้แสดงความคิดเห็นตลอดจนชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม ภายใต้กรอบเวลาที่เพียงพอ (4 เดือน) ให้ทางบริษัทสามารถปรับนโยบายเพิ่มเติมและสื่อสารออกสู่สาธารณะได้ ก่อนการประเมินครั้งสุดท้ายในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมาในกระบวนการทำงาน ทางภาคีทั้งสามให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูล และคำอธิบายเพิ่มเติมแก่ทางบริษัทค้าปลีกที่ถูกประเมิน ตลอดจนยินดีตอบคำถามและข้อสงสัยเพื่อให้ทางการจัดทำ Scorecard ในครั้งนี้เป็นไปอย่างโปร่งใส มีส่วนร่วม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด และยังได้เชิญทางซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด เข้าร่วมพบปะเพื่อร่วมรับฟังหลักการและเหตุผล กรอบและแนวทางการประเมินนโยบาย ตลอดจนเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากภาคเอกชนสามารถสอบถามข้อมูลและข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการประเมินในครั้งนี้นอกจากนี้ในระหว่างช่วงที่ทำการประเมิน บริษัทยังสามารถปรับนโยบายเพิ่มเติมและสื่อสารออกสู่สาธารณะได้ก่อนการประเมินครั้งสุดท้ายด้วย ผลการประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทย  ข้อสรุปจากการประเมินนโยบายสาธารณะของซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของไทยทั้ง 8 แห่ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560-เมษายน 2561 มีข้อค้นพบที่สำคัญดังนี้1. ซูเปอร์มาร์เก็ตของไทยในภาพรวมยังมีระดับของการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับที่มาของอาหาร นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน และการทำงานกับคู่ค้า ค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีเพียงบางบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มีความจำเป็นต้องจัดทำรายงานประจำปี และรายงานด้านความยั่งยืนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตอีกหลายรายนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและโปรโมชั่นเป็นหลัก ซึ่งส่งผลให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (หรือมีบริษัทแม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) มีผลการประเมินที่ดีกว่าบริษัทอื่นๆ 2. มิติที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยทำได้มากกว่ามิติอื่นๆในภาพรวม คือมิติด้านเกษตรกรรายย่อย (Small-Scale Producers) ซึ่งพบว่ามีซูเปอร์มาร์เก็ต 4 ราย ได้รับคะแนนในประเด็นการส่งเสริมให้เกษตรกรายย่อยมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการรับซื้อสินค้าโดยตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร ตลอดจนจัดการอบรมและเพิ่มพูนความรู้ทางเทคนิคให้แก่เกษตรกร อย่างไรก็ตามประเด็นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยสามารถพัฒนาได้อีกคือการพัฒนานโยบายและข้อตกลงการจัดซื้อที่เป็นธรรม (Sourcing practices and fair deals) เพื่อรับประกันว่าผู้ผลิตรายย่อยในห่วงโซ่อุปทานอาหารของบริษัทได้รับข้อตกลงที่โปร่งใส มั่นคง และยาวนานเพียงพอ ตลอดจนการสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายย่อยมีอานาจในการต่อรอง และรวมตัวกันเพื่อเพิ่มรายได้และให้ได้ข้อตกลงในการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากการส่งเสริมเกษตรรายย่อยในปัจจุบันมักเป็นการทำงานเชิงโครงการในแต่ละกลุ่มสินค้าหรือแต่ละพื้นที่มากกว่าเป็นนโยบายที่มีความผูกพันกับองค์กร3. มิติที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังสามารถทำให้ดีขึ้นคือมิติด้านความโปร่งใสและความรับผิดชอบ (Transparency and Accountability) และมิติด้านแรงงาน (Workers) ซึ่งมีซูเปอร์มาร์เก็ต 3 รายที่ได้รับคะแนนในหมวดดังกล่าว ทั้งนี้ช่องว่างที่สำคัญคือการขาดการศึกษาเพื่อวิเคราะห์หาห่วงโซ่อุปทานที่มีความเสี่ยงด้านแรงงานหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญอันจะนำไปสู่การทำการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ตลอดจนการตรวจสอบด้านมนุษยนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) ต่อไป นอกจากนี้มีบริษัทค้าปลีกเพียงส่วนน้อยที่แสดงคำมั่นอย่างเปิดเผยในการยอมรับหลักการแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) ซึ่งระบุถึงความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการแสดงความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ และเป็นหลักการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล4. มิติด้านสตรีเป็นมิติที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยได้รับคะแนนน้อยที่สุด ทั้งนี้ผลการประเมินดังกล่าวมิได้แสดงว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทยละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสตรีหรือความเท่าเทียมทางเพศ แต่แสดงให้เห็นว่าประเด็นด้านสตรียังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างชัดเจนและเปิดเผย ตลอดจนไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในนโยบายที่ทางบริษัทปรับใช้กับคู่ค้าและซัพพลายเออร์ต่างๆ อย่างไรก็ดีสัญญาณที่ดีที่เห็นได้บางประการคือมีซูเปอร์มาร์เก็ตไทยบางรายมีโครงการรับซื้อสินค้าจากกลุ่มสตรี หรือวิสาหกิจที่ส่งเสริมอาชีพสตรี ซึ่งเป็นการช่วยสร้างรายได้และลดความเปราะบางให้แก่ผู้ผลิตรายย่อยที่เป็นสตรีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะเห็นได้ว่ามีซูเปอร์มาร์เก็ต 4 รายจาก 7 รายที่มีผลการประเมิน ทั้งนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีผลการประเมินในแต่ละหมวดแสดงถึงการที่บริษัทค้าปลีกรายนั้น ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความเท่าเทียมของผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานของตน ตลอดจนเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนานโยบายด้านความโปร่งใสที่แตกต่างอย่างมีนัยยะจากองค์กรอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน อย่างไรก็ตามภาพรวมของการประเมินชี้ให้เห็นว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทยสามารถขยายมิติของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) มาครอบคลุมถึงประเด็นด้านแรงงาน ด้านเกษตรกรายย่อย ด้านสตรี และต้านความโปร่งใสของนโยบายในภาพรวมได้อีกมาก  ทั้งนี้หากผู้อ่านสนใจหรือต้องการอ่านข้อมูลเพิ่มเติม สามารถอ่านรายงาน “ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย กับนโยบายสาธารณะด้านสังคม” ฉบับเต็มได้ที่ www.dearsupermarkets.com------------------------------------------------บทบาทและความสำคัญของซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมค้าปลีกค้าส่งซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท (2559) โดยมีสัดส่วนสูงถึงราว 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มีมูลค่าเป็นอันดับสองรองจากอุตสาหกรรมการผลิตที่มีสัดส่วน 27.4% ภาพของธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบันได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากเดิมมาก ในปี 2544 สัดส่วนของธุรกิจค้าปลีกส่งสมัยใหม่อยู่ที่เพียง 25% ในปี 2557 พบว่าธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ได้เข้ามาทดแทนธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม คือมีสัดส่วนเกินกว่า 60% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดนอกเหนือจากมูลค่าตลาดขนาดใหญ่แล้ว ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตลาดแรงงาน โดยมีการจ้างงานราวร้อยละ 15 ของการจ้างงานในประเทศ คิดเป็นอันดับสามรองจากภาคการเกษตรและภาคบริการ ข้อมูลในในปี 2557 พบว่าธุรกิจค้าปลีกทั่วประเทศมีการจ้างงานประมาณ 6.6 ล้านคนหนึ่งในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่สำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนไทยในปัจจุบันอย่างมากคือซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารสดและอาหารแห้ง ซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตและการเปิดสาขาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับอำนาจการซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มคนเมือง จากข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะของปี 2559 พบว่าซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีสัดส่วนทางการตลาด (Market Share) สูงที่สุดในไทยคือ เทสโก้ โลตัส ซึ่งมีรายได้ในปี 2559 อยู่ที่ 218,163 ล้านบาท รองลงมาคือแม็คโคร (172,790 ล้านบาท) และบิ๊กซี (120,918 ล้านบาท) ตามลำดับ โดยซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งสามแห่งมีรายได้รวมกันมากกว่า 500,000 ล้านบาทนอกเหนือไปจากสัดส่วนทางการตลาดที่สูง ซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้ยังมีความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภค (Market Penetration) และมีฐานลูกค้าจำนวนมาก โดยซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ 7 อันดับแรกของไทยมีสาขารวมกันทั่วประเทศมากกว่า 3,000 สาขา ส่วนมากกระจุกตัวอยู่ที่พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตลอดจนกระจายตัวอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภูมิภาคปัจจุบันซูเปอร์มาร์เก็ตหลายรายได้พัฒนาช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ ซึ่งครอบคลุมทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ตลอดจนเป็นการลดต้นทุนการเปิดสาขา ทั้งยังช่วยให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น กล่าวได้ว่าจากนี้ต่อไปหน้าร้านของซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ใช่แค่เพียงสาขานับพันที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่อยู่บนอุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์ของผู้บริโภคกว่า 70 ล้านคนทั่วประเทศเช่นกันในบรรดาสินค้านับหมื่นชนิดที่วางขายอยู่บนชั้นวางสินค้า กลุ่มสินค้าที่มีความสำคัญต่อผู้บริโภคมากเป็นอันดับต้นๆ คือสินค้ากลุ่มอาหารโดยเฉพาะอาหารสดต่างๆ จากเดิมที่ผู้บริโภคต้องไปจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าในตลาดสด ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยหันมาซื้ออาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตแทน ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2558) สินค้าประเภทอาหารคิดเป็น 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือนโดยเฉลี่ย และเป็นสัดส่วนที่มากกว่าค่าใช้จ่ายในกลุ่มอื่นๆ ดังนั้นกลุ่มสินค้าเพื่อการบริโภคจึงเป็นกลุ่มสินค้าที่มีสำคัญกับซูเปอร์มาร์เก็ตเช่นเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 การประเมินนโยบายงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี ตอนที่ 4

สำหรับความเห็นขององค์กรผู้บริโภคต่อนโยบายของรัฐบาลต่อประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี ได้จัดทำเอกสาร เพื่อประเมินนโยบายของรับบาลผสมขนาดใหญ่ของทั้งสามพรรค โดยมีทั้งหมด 12 ประเด็น ซึ่งในตอนที่ 1-3 ได้นำเสนอไป ในส่วนของการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค การคุ้มครองผู้บริโภคในโลกยุคดิจิทัล ตลาดเงิน ตลาดทุน การประกันสุขภาพและการดูแลผู้ป่วย ไปแล้ว คราวนี้ขอนำเสนอในส่วนที่สำคัญคือประเด็นเรื่องอาหารนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อประเด็นอาหาร(Food market)ประเด็นสวัสดิภาพของปศุสัตว์ ทางคณะรัฐมนตรีมีนโยบายในการออกกฎหมายและตั้งหน่วยงานรัฐในการตรวจสอบ พัฒนานโยบาย โดยเฉพาะแหล่งเพาะเลี้ยง ตลอดจนการลดช่องว่างของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงปศุสัตว์ต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเห็นด้วยกับนโยบายนี้ แต่อยากให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ควรวางกรอบระยะเวลา การดำเนินการ และงบประมาณให้ชัดเจน ตลอดจนคำนึงถึงกฎระเบียบของอียูในมิติที่เกี่ยวข้องกับ การติดฉลาก ที่จะต้องเพิ่มเข้าไปในวาระการดำเนินการตามกรอบเวลานโยบายการควบคุมความปลอดภัยของอาหาร รัฐบาลมีนโยบายในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนอาหารที่ไม่ปลอดภัย และกำหนดค่าปรับจากการละเมิด พระราชบัญญัติอาหาร และอาหารสัตว์ (LFGB §40 Abs. 1a) อย่างชัดเจน ผู้ประกอบการสามารถเผยแพร่ผลการตรวจสอบได้โดยความสมัครใจ และให้อำนาจบางประการแก่มลรัฐโดยระบุไว้ ใน พ.ร.บ. อาหารและอาหารสัตว์ต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่าน่าผิดหวังสำหรับมาตรการของรัฐ แบบนี้ คณะรัฐมนตรี ควรรีบดำเนินการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.อาหารและอาหารสัตว์ อย่างเร่งด่วน  สำหรับการเปิดเผยข้อมูลของผู้ประกอบการภาคสมัครใจ และการให้อำนาจของรัฐบาลท้องถิ่นนั้น ทางสหพันธ์มองว่า ไม่เพียงพอในการคุ้มครองผู้บริโภค ในประเด็นเรื่องความโปร่งใสของข้อมูล เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลแบบสมัครใจ นำไปสู่การหมกเม็ดของปัญหา และเปิดช่องให้ผู้ประกอบการที่เป็นแกะดำของวงการธุรกิจเนื้อสัตว์หลบเลี่ยงการถูกตรวจสอบได้ นโยบายการเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหาร คณะรัฐมนตรีมีนโยบายให้หน่วยงานที่คุ้มครองสุขภาพผู้บริโภค ประเมินช่องว่าง และกำจัดจุดอ่อนของกลไกปัจจุบัน สนับสนุนระบบเชื่อมต่อการแจ้งเตือนระหว่างรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น ผ่านเวบไซต์ www.lebensmittelwarnung.de ซึ่งเป็นเวบไซต์ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน(user friendly plattform)ต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องกำหนดรายละเอียดในมาตรการดังกล่าว และสนับสนุนเวบไซต์การแจ้งเตือนอาหารอันตราย ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานภาวะโภชนาการ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับงานทางด้านภาวะโภชนาการของชาติ และการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ พลานามัยจะจัดทำแผนการดำเนินงานในปี 2018 โดยจะเน้นไปที่การพัฒนาระบบการให้ข้อมูล และฉลากโภชนาการ ภายใต้โครงการ IN FORM ต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเห็นด้วยกับนโยบายนี้ และทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ก็เสนอตัวในการเข้าร่วมดำเนินการในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อนโยบายนี้ โดยเฉพาะประเด็นการจัดทำฉลาก และข้อมูลทางโภชนาการที่จะต้องเน้นในด้านความชัดเจน เข้าใจง่าย และเปรียบเทียบกันได้ แต่ยังกังวลในรายละเอียด โดยเฉพาะประเด็นฉลากโภชนาการที่ใช้สีไฟจราจรอธิบาย และการใช้ทรัพยากรจากโครงการ IN FORM ควรมีการพัฒนานโยบายร่วมใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างองค์กรต่างๆโดยสรุปสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า ในขณะที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการกำกับดูแล และเฝ้าระวังเรื่องสวัสดิภาพของปศุสัตว์ แต่กลับเปิดช่องให้เกิดการปกปิดข้อมูล สำหรับการเผยแพร่ต่อสาธารณะ และกังวลว่ามาตรการการคุ้มครองสุขภาพผู้บริโภคที่รัฐบาลให้ความสำคัญ จำเป็นต้องมีรายละเอียดในการดำเนินการออกมาอย่างรวดเร็วนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อประเด็น พลังงาน (Energy market)ประเด็นการรักษาสภาพภูมิอากาศ(Climate Protection)รัฐบาลมีนโยบายในการป้องกันรักษาสภาพอากาศ ให้บรรลุเป้าหมายปี 2030 โดยจะออกมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในปี 2019 โดยมีผลในการกำกับ กลุ่มตลาดไฟฟ้า อาคารและการคมนาคมขนส่งต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากสอดคล้องกับแผนปฏิรูปพลังงานในเฟสการดำเนินการที่จะถึงนี้ แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังไม่มีรายละเอียดในการดำเนินการของแผน ซึ่งสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการป้องกันรักษาสภาพอากาศของผู้บริโภคที่เป็นปัจเจก และผู้บริโภคที่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และเป็นกลุ่มที่เช่าที่อยู่อาศัยการปฏิรูปพลังงาน การปฏิรูปพลังงาน เป็นการเพิ่มภาระด้านค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภครายเล็กอย่างไม่เป็นธรรม และแผนการขยายโครงข่ายไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่อภาระค่าใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น รัฐบาลรับประกันว่าจะมีการเฝ้าระวังภาระค่าใช้จ่ายเป็นระยะๆ โดยมีกฎหมายรองรับเพื่อให้ผู้บริโภครายเล็กรายน้อยสามารถจ่ายได้สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า การเฝ้าระวังค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ไม่เพียงพอ แต่รัฐบาลควรมีมาตรการเสริมตาม เช่น การลดภาระค่าไฟให้กับผู้บริโภครายเล็ก โดยไปลดเงินสนับสนุนที่ให้กับภาคอุตสาหกรรมภายใต้กฎหมายปฏิรูปและสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน(EEG: German Renewable Energy Source Act) โดยให้ลดภาษีของไฟฟ้า และลดเงินสนับสนุนจากภาษีที่ให้กับภาคอุตสาหกรรมลง และจำกัดงบประมาณการขยายโครงข่ายไฟฟ้าลง โดยให้ขยายเท่าที่จำเป็น และหามาตรการอื่นในการลดการขยายโครงข่าย เพื่อไม่ให้ผู้บริโภครายย่อยแบกรับภาระเกินความจำเป็นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลกลางมีแนวคิดพัฒนานโยบายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้นโยบาย “Efficiency First” ประสิทธิภาพต้องมาก่อนสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคยังตั้งข้อสงสัยต่อความสำเร็จของนโยบายนี้ หากร่างกฎหมายอนุรักษ์พลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพยังถูกแช่แข็งอยู่ ซึ่งนโยบายใหม่นี้จะไม่ประสบความสำเร็จหากร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ประกาศการบังคับใช้ออกมา จะส่งผลให้แผนในการลดการใช้พลังงานลง 50% ภายในปี 2050 ยังห่างไกลความสำเร็จอีกมากโดยสรุปสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า แม้จะมีการทำสัญญาจัดตั้งรัฐบาลร่วม และในข้อสัญญามีการพูดถึงแนวทางในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันสภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แต่ ท่าทีของรัฐบาลผสมยังไม่ชัดเจนมากนัก โดยเฉพาะระบบสนับสนุนงบประมาณแบบใหม่ ที่จะช่วยลดภาระของผู้บริโภครายย่อย และการเพิ่มสิทธิให้กับผู้บริโภคในกิจการพลังงานครั้งหน้าจะนำเสนอ ความเห็นต่อนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย(Real estate and accommodation) การเดินทาง การท่องเที่ยว(Mobility and tourism) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 การประเมินนโยบายงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐบาลเยอรมนี โดย สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (ตอนที่ 3)

ตามที่กล่าวไว้ สำหรับตอนที่สามนี้ จะเป็นความเห็นของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีต่อนโยบายของรัฐบาลต่อประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค โดยคราวนี้จะกล่าวถึง ระบบการให้บริการสุขภาพ (Health service and Health care market) ซึ่งสหพันธ์ฯ เป็นผู้จัดทำขึ้น นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อประเด็น ระบบการให้บริการสุขภาพ (Health service and Health care market)ทางคณะรัฐมนตรีเสนอให้กลับไปใช้ระบบประกันสุขภาพแบบเดิมที่ให้ อัตราการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสุขภาพภาคบังคับ (Gesetzlich Krankenversicherung) ของนายจ้างและลูกจ้างในอัตราส่วนที่เท่ากัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2019 แต่ก็เปิดโอกาสให้กับคนที่สนใจ สามารถจ่ายเงินเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความคุ้มครองได้ด้วยเช่นกัน (individual Zusatzversicherung)ต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า นโยบายนี้จะช่วยลดภาระของลูกจ้างหรือคนทำงาน ในการที่จะแบกรับอัตราการจ่ายเงินที่จะสูงมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้มาตรการอื่นๆ ที่สำคัญที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นความโปร่งใส (Transparency and Governance) การตรวจสอบการบริหารงานของบริษัทที่รับประกันสุขภาพ ซึ่งมีหลายบริษัทในตลาด ก็มีความจำเป็นเพื่อให้นโยบายนี้เป็นจริงในทางปฏิบัติในส่วนของนโยบาย Health care service market .ในสัญญาการจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาล นโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ บทบาทของผู้ประกอบวิชาชีพ Health care serviceต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า การให้ความสำคัญกับนโยบาย Health care service เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับมาตรการอื่นๆ ที่จะตามมา เพื่อยกระดับการให้บริการ ทางด้าน Health care service ให้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกังวลว่า หากไม่มีการบริหารจัดการทางการเงินที่ดี ก็มีความเสี่ยงที่ประชาชน ผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสุขภาพ อาจเผชิญภาระทางการเงินที่เพิ่มขึ้น โดยสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเสนอว่า ให้แก้กฎหมายประกันสังคม (Sozialen Pflegeversicherung) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบ Health care service นโยบาย การจัดทำแฟ้มบันทึกข้อมูลผู้ป่วยดิจิทัล (Electronic Patient Record) โดยจะเริ่มในปีงบประมาณนี้ เพื่อตอบโจทย์ การรักษาแบบทางไกล (Telemedicine) และแฟ้มบันทึกข้อมูลนี้จะช่วยในเรื่องการวางแผนในการเตรียมความพร้อมสำหรับการให้บริการ Health Care service โดยเฉพาะ ผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ Health Care Service สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็วต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ ในยุคดิจิทัล จะเป็นประโยชน์ต่อระบบการให้บริการทางด้านสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบริการทางด้าน Health care service“การซื้อขายยาออนไลน์ รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้ร้านขายยาในชุมชนมีความเข้มแข็ง ดังนั้นรัฐบาลมีนโยบายจะห้ามการซื้อขายยาที่ต้องการใบสั่งยาจากแพทย์” ต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า การห้ามซื้อขายยาออนไลน์ แบบเหมารวม ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว และไม่ได้เพิ่มความเข้มแข็งให้กับร้านขายยา ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และไม่ได้เพิ่มบทบาทให้กับเภสัชกรในร้านขายยา ที่มีหน้าที่ในการให้คำแนะนำในการใช้ยาสิทธิของผู้ป่วย เพื่อเพิ่มความสำคัญให้กับสิทธิของผู้ป่วย การตั้งกองทุนเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางด้าน Health care service เพื่อที่จะลดปัญหาการดำเนินคดีความ ที่อยู่ภายใต้กฎหมาย การรับผิดจากการละเมิด (Patientenrechtegesetz) ที่ไม่คุ้มครองสิทธิผู้ป่วยในเรื่องภาระการพิสูจน์บทสรุปของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคต่อนโยบายการให้บริการสุขภาพ คือ รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการอื่นๆ มาสนับสนุน และรัฐบาลควรที่จะให้ความสำคัญกับมุมมอง และความต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะกระบวนการออกแบบนโยบายทางด้านสุขภาพในอนาคต โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องระบบการเงินการคลัง ใน Health care service ทั้งหมดจะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศในยุคดิจิทัล และมองว่าการห้ามการซื้อขายยาออนไลน์ เป็นนโยบายที่ไม่ถูกต้องฉบับนี้ขอจบตรงนี้ก่อน  ครั้งหน้าจะนำเสนอ ความเห็นต่อนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านอาหาร (Food market policy) ครับ--------------------------------------เอกสารเพื่อประเมินนโยบายของรับบาลผสมขนาดใหญ่ของทั้งสามพรรค โดยมีทั้งหมด 12 ประเด็น ได้แก่• การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค (Right and Right receiving) ดู ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 205• การคุ้มครองผู้บริโภคในโลกยุคดิจิตัล (Digital  world) ดู ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 205• ตลาดเงิน ตลาดทุน (Financial market) ดู ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 206• การประกันสุขภาพและการดูแลผู้ป่วย (health and care insurance market)• อาหาร (food market)• พลังงาน (Energy market)• อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย (Real estate and accommodation)• การเดินทาง การท่องเที่ยว (Mobility and tourism)• การบริโภคที่ยั่งยืน และการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ (sustainability consume and resource protection)• การค้าข้ามชาติ (International commerce)• การรู้เท่าทัน (consumer education)• การเฝ้าระวังกลไกตลาด (market surveillance)(ที่มา เว็บไซต์สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี https://www.vzbv.de/.../ausfuehrliche_bewertung_koav_vzbv.pdf) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 การประเมินนโยบายงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (ตอนจบ)

หลังจากที่พรรค CDU ของนางแองเจล่าร์ แมร์เคลประสบความสำเร็จได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถได้รับคะแนนเสียงข้างมากได้ และคะแนนนิยมตกต่ำลงซึ่งเป็นผลพวงมาจาก นโยบายการรับผู้อพยพลี้ภัย โดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยภายใน ส่งผลให้การเจรจากับพรรคอื่น ไม่ว่าจะเป็น พรรค FDP หรือ พรรค The Green Party ประสบความล้มเหลว และในที่สุด ก็สามารถจัดตั้งพรรครัฐบาลผสมโดยพรรคขนาดใหญ่ 3 พรรค คือ พรรค CDU CSU ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยม และพรรค SPD ซึ่งเป็นพรรคสายสังคมนิยม การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสม ได้สั่นคลอนความเป็นปึกแผ่นของพรรค SPD มีการเปลี่ยนผู้นำพรรค และ ผู้บริหารพรรค นอกจากนี้ หลังการเจราจาจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้ว ก็ยังมีการทำสัตยาบรรณ(Koalitionsvertrag) ในการเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยสิ่งที่น่าสนใจสำหรับ พรรค SPD ซึ่งเป็นพรรคสายสังคมนิยม คือ การลงคะแนนเสียงของสมาชิกพรรคเพื่อยอมรับสัตยาบรรณ ดังกล่าว ซึ่งเสียงของสมาชิกส่วนใหญ่ (66.02%) จากสมาชิกพรรคทั้งหมด 463,723 คน เรียกได้ว่า การจัดตั้งรัฐบาลผสมขนาดใหญ่ผ่านอุปสรรคด่านแรกไปอย่างหืดขึ้นคอทีเดียวสำหรับความเห็นขององค์กรผู้บริโภคต่อนโยบายของรัฐบาลต่อประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี จัดทำเอกสาร เพื่อประเมินนโยบายของรับบาลผสมขนาดใหญ่ของทั้งสามพรรค โดยมีทั้งหมด 12 ประเด็นได้แก่• การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค (Right and Right receiving)• การคุ้มครองผู้บริโภคในโลกยุคดิจิตัล (Digital  world)• ตลาดเงิน ตลาดทุน (Financial market)• การประกันสุขภาพและการดูแลผู้ป่วย (health and care insurance market)• อาหาร (food market)• พลังงาน (Energy market)• อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย (Real estate and accommodation)• การเดินทาง การท่องเที่ยว (Mobility and tourism)• การบริโภคที่ยั่งยืน และการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ (sustainability consume and resource protection)• การค้าข้ามชาติ (International commerce)• การรู้เท่าทัน (consumer education)• การเฝ้าระวังกลไกตลาด (market surveillance)นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อประเด็น ตลาดเงิน ตลาดทุน (Financial market) ทางคณะรัฐมนตรีเสนอให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการจัดการการประกันเงินบำนาญ ชราภาพแห่งชาติ โดยทำหน้าที่ ศึกษาและจัดทำข้อเสนอ ในการพัฒนารูปแบบการจัดการระบบประกันเงินบำนาญ ชราภาพ ภาคบังคับ (Gesetzliche Renterversicherung) เนื่องจาก ระบบสวัสดิการของประเทศเยอรมันนั้น เมื่อคนทำงานมีรายได้ จะถูกหักเงินรายได้ส่วนหนึ่งเข้ากองทุนเงินบำนาญชราภาพ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับการหักเงินประกันสังคมในบ้านเรานั่นเอง วัตถุประสงค์การจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้คือ เพื่อทำให้กองทุนบำนาญชราภาพ ที่จัดเก็บจากรายได้ประชาชนและเงินสมทบของผู้ประกอบการ ให้เกิดความยั่งยืน ภายในปี 2025 องค์ประกอบของคณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจาก ภาคประชาสังคม ภาคการเมือง และภาคธุรกิจต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมองว่า การตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญในการที่จะต้องมีตัวแทนฝ่ายองค์กรผู้บริโภคเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย เพราะระบบการประกันบำนาญ ชราภาพ ไม่ได้มีเฉพาะการประกันภาคบังคับเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการประกันเงินบำนาญชราภาพ ภาคสมัครใจ ที่ มีผู้บริโภคอีกเป็นจำนวนมากที่ใช้บริการ การประกันภาคสมัครใจอยู่ และมีผลต่อนโยบายการประกันเงินบำนาญชราภาพในภาพรวมของประเทศ การจัดระบบการประกันเงินบำนาญชราภาพภาคสมัครใจ (Private Altersvorsorge) รัฐบาลมีนโยบายในการจัดการระบบ ประกันเงินบำนาญชราภาพใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้เอาประกัน โดยมีกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น(Dialog) ระหว่าง ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของทุกภาคส่วน และ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงระบบการประกันบำนาญชราภาพ ภาคสมัครใจที่เป็นมาตรฐาน( Riester Rente) ตอนนี้ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน(หมายเหตุ Riester Rente เป็นมาตรการ การปฏิรูประบบการประกันเงินบำนาญชราภาพ ที่ จัดเป็นการประกันภาคสมัครใจของผู้ทำงานมีรายได้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2000- 2001 ภายใต้การเป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของนาย Walter Riester สังกัดพรพรรค SPD ซึ่งเป็นพรรคสังคมนิยม โดยหักจากเงินรายได้ของผู้เอาประกันและ เงินสมทบที่รัฐบาลช่วยเหลือ) ต่อประเด็นนี้ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสนับสนุนแนวความคิดในการปฏิรูประบบการประกันเงินบำนาญชราภาพใหม่ เพื่อให้คุณภาพของระบบประกันเงินบำนาญชราภาพดียิ่งขึ้น โดยที่เงินที่จ่ายเข้ากองทุนนี้ต้องลดลง แต่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยใช้มาตรการ การลดค่าการตลาด ซึ่งในกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น(Dialog) นั้น การมีส่วนร่วมนอกจากภาคตัวแทนภาคธุรกิจแล้ว องค์กรภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดทำ dialog โดยเฉพาะองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค การคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน รัฐบาลจะจัดให้มีการประเมินกลไก การคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินต่อประเด็นนี้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมีความเห็นสนับสนุน การประเมินมาตรการที่ใช้ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ควรให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลในการทำรายงานผลการประเมินมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินต่อสาธารณะ และควรระบุด้วยว่ามาตรการในการกำกับใดของรัฐ ที่เกินความจำเป็น (Over regulation) ก็ควรจะต้องปรับปรุง หรือ กลไกใดของรัฐที่ การกำกับดูแลแล้ว ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ก็ต้องมีการปรับปรุงเช่นกัน  การปรับปรุงค่าธรรมเนียม Prepayment charge ในการ กู้ยืมเงินซื้ออสังหาริมทรัพย์นโยบายของรัฐบาลต่อประเด็นนี้ คือ ต้องการให้สัญญา การกู้ยืมเงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย ในกรณีที่ผู้บริโภคต้องการ Refinance ที่อยู่อาศัย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย ลดลง แต่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมที่เรียกว่า prepayment charge มีความเป็นธรรม และฐานในการคำนวณค่าธรรมเนียมเข้าใจ และเห็นภาพได้ง่ายความเห็นของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สนับสนุนนโยบายนี้ของรัฐบาล และได้เรียกร้องประเด็นนี้มาเป็นระยะเวลานานแล้ว การกำกับ ควบคุม และเฝ้าระวัง ระบบการเงินการลงทุน รัฐบาลมีนโยบายในการโอนหน้าที่การกำกับดูแล ผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนทางการเงิน ให้กับ หน่วยงานรัฐคือ Federal Financial Authority (BaFin: Bundesanstalt fÜr Finanzdienstleistungsaufsicht) อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีแผนที่จะให้หน่วยงานกำกับองค์กรนี้ มีอำนาจในการกำกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินการลงทุน ใน digital platform และทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานรัฐที่ดูแลทางด้าน IT-securityเพิ่มขึ้นด้วยความเห็นของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เห็นด้วยในหลักการแต่ควรจะมีรายละเอียดในการทำงานขององค์กรกำกับดูแลนี้ให้ชัดเจนขึ้นครั้งหน้าจะนำเสนอ ความเห็นต่อนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านสุขภาพ และบริการสุขภาพครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 นโยบายหาเสียงพรรคการเมืองเยอรมัน (ตอนจบ)

อีกนิดนะครับ ตอนนี้จะเริ่มด้วยนโยบายที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ การจัดเก็บภาษี พร้อมบทสรุปนโยบาย home care insurance (สำหรับการดูแลคนป่วย คนไร้สมรรถภาพ)พรรค SPD เสนอนโยบาย ให้เงินช่วยเหลือเป็นเงินชดเชยเงินเดือน 3 เดือนแก่ญาติและครอบครัว ที่ต้องดูแลคนป่วย หรือคนไร้สมรรถภาพ ในระยะเวลา  6 เดือน พรรค The Left ต้องการระบบประกัน Home care insurance ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด พรรค CDU เสนอนโยบาย ระบบประกัน ที่ คุ้มครองรายได้ของ พ่อ แม่ ในระหว่างที่ต้องดูแล เด็กพิเศษ (Pflegebedurftige Kinder)นโยบายเงินเกษียณ บำนาญชราภาพ• ประกันเงินบำนาญขั้นต่ำพรรค The Left เสนอนโยบาย เงินบำนาญขั้นต่ำ 1050 ยูโรต่อเดือน พรรค SPD เสนอนโยบายเงินเพิ่มจากเงินบำนาญอีก 10% จากเงินบำนาญพื้นฐานสำหรับคนที่ทำงานที่ทำงานมาเป็นเวลานาน (Solidarrente) พรรค The Greens เสนอแนวความคิด ที่คล้ายกับ การประกันเงินเกษียณ (Garantierrente) พรรค AfD เสนอนโยบาย การเลิกผูกประกันเงินเกษียณกับอายุบางส่วน เพื่อเพิ่มวงเงินเกษียณให้สูงขึ้น.• อายุสำหรับการเกษียณสำหรับคนที่เกิดหลังปี 1964 ตามกฎหมายปัจจุบัน จะเกษียณอายุการทำงานที่ 67 ปี พรรค CDU SPD และ The Greens ยังคงเสนอให้คงรูปแบบการเกษียณอายุการทำงานแบบนี้ไว้พรรค The Greens เสนอนโยบายที่ให้คนทำงานหลังอายุ 60 ปี สามารถเลือก รูปแบบการทำงาน แบบยืดหยุ่นเวลาการทำงานได้ พรรค FDP เสนอนโยบายที่ให้คนอายุ 60 ปีสามารถเลือกเวลาที่ตนเองต้องการเกษียณอายุการทำงานได้เอง ภายใต้เงินบำนาญที่จะได้น้อยลงตามสัดส่วน พรรค The Left เสนอนโยบายที่กลับไป เกษียณอายุการทำงานที่ 65 ปี แต่ถ้าใครเริ่มทำงานเป็นเวลานาน 40 ปี ก็สามารถเกษียณอายุการทำงานที่อายุ 60 ปีได้• เงินบำนาญรายเดือนเงินบำนาญรายเดือนสำหรับ คนทำงานมาแล้ว 45 ปี ที่มีรายได้ สูงเท่ากับค่าเฉลี่ยของคนเยอรมัน ได้เงินบำนาญอยู่ที่ 1200 ยูโรต่อเดือน คิดเป็น 48% ของรายได้เฉลี่ยที่เคยได้รับก่อนเกษียณ จากการวางแผนของระบบการประกันบำนาญชราภาพ ต้องการให้ เงินบำนาญต่อเดือนไม่น้อยกว่า 45 % เทียบกับรายได้เฉลี่ยก่อนเกษียณ ซึ่งคนเยอรมันจะต้องจ่าย เงินประกันบำนาญชราภาพเข้ากองทุนเพิ่มจาก เดิม 18.7% ของรายได้ เป็น 21.8 % ของรายได้ ซึ่งเป็นนโยบายที่พรรค CDU ต้องการให้คงไว้พรรค FDP ต้องการเสนอแนวความคิดรูปแบบใหม่ใน การคิดสูตรการจ่ายเงินบำนาญ เนื่องจาก คนรุ่นใหม่มีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น พรรค SPD ต้องการคงระดับเงินบำนาญไว้ที่ 48 % และกำหนดเพดานการจ่ายเงินเข้ากองทุนบำนาญชราภาพไม่ให้เกิน 22 % และสร้างระบบการสร้างแรงจูงใจในการจ่ายเงินเข้ากองทุน ด้วยระบบการคืนภาษี พรรค The Left ต้องการเพิ่มเงินบำนาญหลังเกษียณเป็น 53 % แต่ก็เพิ่มอัตราการจ่ายเงินประกันบำนาญชราภาพให้สูงขึ้นเช่นกันนโยบายการจัดเก็บภาษีมีหลากหลายประเด็นในนโยบายการจัดเก็บภาษี จึงขออนุญาต นำมาเล่าในบางประเด็นที่น่าสนใจ• นโยบายการจัดเก็บภาษี ที่เกิดจาก การถ่ายโอน เงินทุน (Finance Transaction Tax)พรรค FDP ค้านการจัดเก็บภาษีลักษณะนี้ ที่จะเกิดขึ้นในการ ซื้อขายหุ้นในตลาดทุน และตลาดหุ้น พรรค The Left ต้องการให้มีการจัดเก็บภาษีลักษณะนี้ ประมาณ 0.1% ของมูลค่าการถ่ายโอน พรรค CDU และ SPD เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีลักษณะนี้ แต่ยังไม่มีรายละเอียดและตัวเลขที่ชัดเจนในการหาเสียง• วงเงินในการลดหย่อนภาษีรายได้ส่วนบุคคลพรรค The Left ต้องการเพิ่มวงเงินในการขอลดหย่อนวงเงินการเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลให้เพิ่มขึ้น จากเดิม รายได้ส่วนบุคคลที่สามารถหักภาษีได้ไม่เกิน 8,820 ยูโรต่อปี เพิ่มเป็น 12,600 ยูโรต่อปี เพื่อลดภาระของประชาชนที่มีรายได้ เช่นเดียวพรรค The Greens และ พรรค AfD ที่ต้องการเพิ่มวงเงินการขอลดหย่อนภาษีรายได้ส่วนบุคคลให้เพิ่มขึ้น • ภาษีคนรวย (wealth tax)พรรค The Greens เสนอนโยบายการจัดเก็บภาษีคนรวยที่มีทรัพย์สินมากมายเกินความจำเป็น ให้มีประสิทธิภาพ แนวความคิดนี้ พรรค The Left ก็ใช้เป็นนโยบายหาเสียง ในขณะที่พรรค CDU/CSU AfD และพรรค FDP ไม่เห็นด้วย• ภาษีช่วยเหลือเยอรมันฝั่งตะวันออก (Solidarity tax)เป็นภาษีที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1991 หลังการรวมประเทศเยอรมนีตะวันตก และเยอรมนีตะวันออก และแรกเริ่มจะเก็บภาษีนี้เพียงปีเดียว เพื่อที่จะนำเงินภาษีที่ได้ไปบูรณะและพัฒนารัฐเยอรมนีฝั่งตะวันออกพรรค CDU/CSU ต้องการยกเลิกภาษีนี้แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะยกเลิกในปี 2020 พรรค SPD ต้องการคงภาษีนี้ไว้เพื่อนำไปช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง พรรค FDP ต้องการยกเลิกภายในปี 2019นโยบายด้านที่อยู่อาศัยพรรค FDP เสนอนโยบาย ลดหย่อนภาษี ให้กับ บริษัทรับสร้างบ้านและที่อยู่อาศัยขนาดกลาง โดยมูลค่าบ้าน หรือที่อยู่อาศัยไม่เกิน 500,000 ยูโร บริษัทไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเป็นบริษัทที่เป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ มีนโยบายต้องเสียภาษีไม่จำกัดวงเงินของมูลค่าบ้าน ที่อยู่อาศัยพรรค SPD เสนอนโยบายไม่ต้องจ่ายภาษีสำหรับครอบครัวที่ซื้อบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 200,000 ยูโร สำหรับพรรค CDU/CSU มีนโยบายช่วยเหลือด้วยมาตรการทางภาษีให้กับครอบครัวเช่นกัน แต่ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน พรรค AfD มีนโยบายช่วยเหลือเรื่องบ้านและที่อยู่อาศัย โดยยกเลิกการจัดเก็บภาษีการซื้อขายบ้านและที่อยู่อาศัยนโยบายสกัดกั้นค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้น(Mietpreisbremse)เป็นนโยบายที่ใช้ในการต่อสู้หาเสียงอย่างหนักหน่วงใน การหาเสียงครั้งนี้ หลักการของแนวทางสกัดกั้นค่าเช่าที่อยู่อาศัยเพื่อไม่ให้สูงเกินไป คือ การให้อำนาจแก่รัฐบาลท้องถิ่นในการประกาศ ภาวะฉุกเฉินในท้องที่ที่มีปัญหาเรื่องค่าเช่าที่อยู่อาศัยราคาแพง เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นประกาศภาวะฉุกเฉินเรื่องราคาค่าเช่าสูงเกินไป แล้ว ผู้ให้เช่าสามารถเพิ่มค่าเช่าจากผู้ขอเช่ารายใหม่ไม่เกิน 110 % ของราคาประเมินแนวคิดนี้ พรรค SPD และ พรรค The Greens ให้การสนับสนุน โดยพรรค SPD ต้องการให้ผู้ให้เช่าเปิดเผย ค่าเช่าก่อนหน้านี้ พรรค The Left ต้องการขยาย ผล ไปยังทุกพื้นที่ ไม่จำกัดเวลา และไม่มีข้อยกเว้นในการดำเนินนโยบายนี้ พรรค CDU AfD และ FDP ไม่ต้องการนโยบายนี้จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา (24 กันยายน 2017) ปรากฏว่า ไม่มีพรรคใดได้รับเสียงข้างมากเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคเดียวได้ จึงต้องมีการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมที่ประกอบไปด้วย 3 พรรค คือ พรรค CDU นำโดยนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แองเจลา แมร์เคิล ที่ได้รับคะแนนเสียง 32.9% (ได้ที่นั่งในสภาบุนเดสท้าก 246 ที่นั่ง) พรรค FDP ได้คะแนนเสียง 10.7 % (80 ที่นั่ง) พรรค The Green ได้รับคะแนนเสียง 8.9% (67 ที่นั่ง) ซึ่งยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ ในขณะนี้ (17 ตุลาคม 2017) (ที่มา เว็บไซต์มูลนิธิการทดสอบสินค้าเพื่อผู้บริโภคhttps://www.test.de/Bundestagswahl-Familie-Rente-Steuern-was-die-Parteien-vorhaben-5217841-0/)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 นโยบายหาเสียงพรรคการเมืองเยอรมัน (ตอนที่ 2)

ขอรายงานต่อเนื่องเกี่ยวกับนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของเยอรมัน ที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคหลายประเด็น สิทธิของประชาชนในฐานะผู้บริโภค ทั้งนโยบายด้านการคมนาคม การสนับสนุนสถาบันครอบครัว ด้านที่อยู่อาศัย การทำงาน ระบบประกันสุขภาพ ฯลฯ ต่อจากคราวที่แล้วนะครับนโยบายด้านคมนาคม โดยเฉพาะเรื่องการขนส่งทางบก: รถยนต์ส่วนบุคคลภายในปี 2030 เยอรมนีมีแผนที่จะอนุญาตให้ใช้เฉพาะรถที่ไม่ปล่อยควันจากท่อไอเสียรถยนต์เท่านั้น (emission free auto) ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเขียว (The Greens party) และพรรคฝ่ายซ้าย (The Left Party) ในขณะที่พรรค CDU เน้นในเรื่องการก่อสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า เพิ่มขึ้น เป็น 50,000 สถานีทั่วประเทศ การจำกัดความเร็วโดยกำหนดความเร็วบนถนน Autobahn ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดความเร็ว) เป็นนโยบายของพรรค The Greens และพรรค The Left Party เรียกร้องให้กำหนดความเร็วในเขตชุมชน ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในขณะที่ พรรค CDU/CSU FDP และ พรรค AfD ต่อต้านนโยบายจำกัดความเร็วบนท้องถนนนโยบายสนับสนุนสถาบันครอบครัว•ที่อยู่อาศัยพรรค CDU มีนโยบายให้เงินสนับสนุนครอบครัวที่จะซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ในวงเงิน 1200 ยูโรต่อลูก 1 คนต่อปี เป็นเวลานาน 10 ปีพรรค SPD ไม่ได้ระบุวงเงินให้ความช่วยเหลือ แต่หาเสียงว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อย และรายได้ปานกลางพรรค AfD มีนโยบาย ปลอดดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินในการซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย และมีเงินช่วยเหลือสำหรับค่าภาษี ค่าธรรมเนียมในการซื้อบ้าน•เวลาทำงาน และเงินสนับสนุนสถาบันครอบครัวพรรค SPD มีนโยบายลดเวลาการทำงานของครอบครัวที่มีลูกเล็กที่อายุยังไม่ถึง 8 ขวบ ให้ทำงานไม่เกิน 26-36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (เวลาทำงานของคนเยอรมัน ปัจจุบันคือ 43.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และมีเงินช่วยเหลือ เดือนละ 300 ยูโรต่อเดือน เป็นระยะเวลานาน 2 ปี พรรค CDU เสนอนโยบาย ลดหย่อนภาษี สำหรับครอบครัวที่มีลูก 7,356 ยูโรต่อปีพรรค FDP เสนอนโยบาย ให้ลดหย่อนภาษีขั้นสูงสุด (ไม่ได้ระบุจำนวน)พรรค The Greens The Left และ พรรค AfD เสนอการยกเลิก การแยกยื่นภาษีรายได้ส่วนบุคคลของสามีภรรยา เหมือนกับพรรค SPDในขณะที่พรรค FDP ยังคงยืนนโยบายการแยกการยื่นภาษีรายได้ของสามี ภรรยาไว้ พรรค The Left party เสนอนโยบายการจ่ายภาษีที่เป็นธรรมสำหรับครอบครัว แต่ไม่มีรายละเอียด พรรค AfD เสนอนโยบาย การแยกการยื่นภาษีของสามีภรรยา และเสนอรูปแบบการคำนวณการหักภาษีตามฐานรายได้ของครอบครัว โดยคำนึงถึงรายได้ของสมาชิกในครอบครัวทุกคน และพรรคเขียว เสนอนโยบายเงินช่วยเหลือครอบครัวพื้นฐาน (Family Budget) ในกรณีที่มีเด็กที่ต้องเลี้ยงดู•เงินสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กในครอบครัว (Kindergeld)เป็นเงินที่รัฐบาลให้กับครอบครัวที่มีลูก 2 คนแรกได้รับคนละ 192 ยูโรต่อเดือน ลูกคนที่สามได้รับเดือนละ 198 ยูโร และลูกคนที่สี่เป็นต้นไป ได้รับคนละ 223 ยูโรต่อเดือนพรรค CDU/ CSU ต้องการเพิ่มให้อีก คนละ 25 ยูโรต่อคนทุกอัตราพรรค The Left เสนอนโยบายให้เงินสนับสนุนเด็ก 328 ยูโรต่อคนต่อเดือนพรรค SPD เสนอนโยบาย ให้เงินสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็ก ตามฐานรายได้พรรค The Greens เสนอนโยบายให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติม แก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อย (Kindergeld-Bonus)พรรค FDP เสนอนโยบายเงินช่วยเหลือเด็ก 2.0 (Kindergeld 2.0) โดยที่แนวความคิดดังกล่าวจะรวมเงินที่ให้ความช่วยเหลือเด็กทุกด้าน มารวมเป็นก้อนเดียวกัน และจ่ายโดยองค์กรส่วนกลาง•ค่าเล่าเรียนใน Kindergartenพรรค SPD The Greens และพรรค The Left ต้องการยกเลิกค่าเล่าเรียนใน Kindergartenนโยบายการประกันสุขภาพพรรค SPD เสนอนโยบายระบบประกันสุขภาพสำหรับทุกสาขาอาชีพ ซึ่งรวมข้าราชการ และผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้าไว้ด้วย โดยมีการร่วมจ่ายของนายจ้าง และลูกจ้าง โดยที่ในส่วนของลูกจ้างไม่ต้องจ่ายเงินประกันส่วนเพิ่ม (Zusatzbeitrag der Arbeitsnehmer entfällt) ค่ารักษาพยาบาล ใช้อัตราเดียวกันไม่ว่าจะเป็นการประกันตนแบบภาคบังคับ (Gesetzliche Versicherung) หรือแบบภาคสมัครใจ (Private Versicherung) สำหรับผู้ประกันตนในอนาคตจะไม่มีการแบ่งระหว่าง ประกันภาคบังคับ หรือภาคสมัครใจ (แนวคิดระบบประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว)พรรค The Left และ พรรค The Greens ต้องการยกเลิกการประกันภาคสมัครใจพรรค CDU และ FDP ยังคงต้องการดำรงไว้ระบบประกันทั้งสองระบบยังมีต่ออีกนิด ขอเป็นตอนสุดท้ายฉบับหน้าครับ(ที่มา เว็บไซต์ มูลนิธิการทดสอบสินค้าเพื่อผู้บริโภค https://www.test.de/Bundestagswahl-Familie-Rente-Steuern-was-die-Parteien-vorhaben-5217841-0/)หมายเหตุ พรรค CDU (Christian Democratic Union Party),พรรค CSU (Christian Social Union Party in Bavaria),พรรค SPD (Social Democratic Party),พรรค FDP (Free Democratic Party),พรรค The Greens (Alliance 90/The Greens Party),พรรค The Left (Party of Democratic Socialism Party),พรรค AfD (Alternative for Germany)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 นโยบายหาเสียงพรรคการเมืองเยอรมัน

เดือนกันยายนของปีนี้มีการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศเยอรมนี มีพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ คือ พรรคคริสเตียนเดโมแครท(CDU) ที่มีนางแองเจลา แมร์เคิล ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และผู้ท้าชิงจากพรรคฝ่ายซ้าย พรรคโซเชียลเดโมแครท(SPD) คือนายมาร์ติน ชูลซ์ท ซึ่งขับเคี่ยวกันอย่างหนักในด้านนโยบาย สุดท้ายก็ผ่านพ้นไปด้วยชัยชนะของนางแมร์เคิลสิ่งที่น่าสนใจและควรกล่าวถึงคือ เรื่องการดีเบตนโยบายหาเสียงของผู้สมัครจากพรรคใหญ่ทั้งสองท่านนั้น ซึ่งมีประเด็นคำถามต่อนโยบายหาเสียงตามมาอย่างต่อเนื่องว่า ในรายละเอียดการทำนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรมจะเป็นอย่างไร นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองในเยอรมันนั้น ต้องแสดงออกมาในรูปของเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็ตามเพื่อเป็นหลักฐาน และแสดงถึงความโปร่งใส สามารถตรวจสอบจากประชาชนภายหลังได้ โดยมีความหนาถึง 820 หน้าสำหรับบทความครั้งนี้จะขอรายงานเกี่ยวกับนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของเยอรมัน ที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายการเงินการคลัง สิทธิของประชาชนในฐานะผู้บริโภค ระบบสุขภาพ และเรื่องที่อยู่อาศัยนโยบายทางด้าน แรงงาน และการศึกษาในส่วนของสัญญาจ้างการทำงาน หลายๆ พรรคของเยอรมัน โดยเฉพาะพรรคฝ่ายซ้าย (The Left party)พรรคโซเชียลเดโมแครต (SPD: Social Democratic Party) พรรคเขียว (The Green) เสนอว่าให้มีการ ห้ามมีการระบุ การกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างจ้างงาน ถ้าไม่มีเหตุอันจำเป็น ในขณะที่พรรคเสรีนิยม(FDP: the free democratic party) ไม่เห็นด้วยกับการห้ามสัญญาจ้างงานแบบนี้ ปัจจุบันสัญญาจ้างงานที่ระบุเวลาในสัญญาจ้างจะกำหนดที่ระยะเวลา 2 ปีนโยบายเรื่องเวลาการทำงานพรรค CDU ของนางแมร์เคิล เสนอนโยบาย ให้มีสัญญาจ้างแบบ part time working contract  กับบริษัทห้างร้านที่มีขนาดใหญ่ ที่เป็นสัญญาจ้างแบบจำกัดระยะเวลาจ้างงาน เพื่อปูทางนำไปสู่การจ้างงานแบบเต็มเวลา(full time working contract) เป็นการทั่วไป ปัจจุบันการต่อสัญญาว่าจ้างการทำงาน ที่เดิมเป็น part time working contract ขยายมาเป็น full time working contract ใช้ได้กับการต่อสัญญาให้กับพนักงานที่ลางานไปเลี้ยงลูกเท่านั้น(พนักงานเยอรมันมีสิทธิลางานเพื่อไปเลี้ยงลูกได้สามปี)กรณีเรื่องเวลาการทำงานพรรค FDP ต้องการยกเลิก จำนวนชั่วโมงการทำงานรายวันสูงสุดที่กำหนดไว้ว่าไม่เกินวันละ 10 ชั่วโมง เป็นการกำหนดเวลาทำงานเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งกำหนดว่าจำนวนชั่วโมงการทำงานรายสัปดาห์ไม่เกิน 48 ชั่วโมง ในขณะที่พรรคฝ่ายซ้าย(The Left) กำหนดการทำงานรายสัปดาห์อยู่ที่ 30-35 ชั่วโมง และสูงสุดไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สำหรับพรรคเขียวต้องการกำหนดเวลาการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และจำนวนชั่วโมงการทำงานอยู่ระหว่าง 30-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นโยบายการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษาพรรค SPD มีนโยบาย เพิ่มเงินช่วยเหลือแก่นักเรียนนักศึกษา และขยายเวลาอายุของผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังขยายโอกาสให้กับนักเรียนนักศึกษาที่เรียน part time study ตลอดจนขยายสิทธิให้กับ กลุ่มที่เรียนการศึกษาต่อเนื่องทางด้านอาชีวะ พรรค The Left Party เสนอนโยบายเพิ่มเงินช่วยเหลือ ระหว่าง 735 ยูโรถึง 1050 ยูโร และเป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่าสำหรับเรื่องทุนเพื่อการกู้ยืมสำหรับการศึกษา (Bafög: Bundesausbildungsförderungsgesetz) ซึ่งเป็นต้นแบบของหลายๆ ประเทศใน การช่วยเหลือทางการเงินสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาเล่าเรียนนั้น พรรคเขียว ต้องการให้มีการแยกเงินสนับสนุนสำหรับนักเรียนนักศึกษาเพื่อการทั่วไป สำหรับนักเรียนนักศึกษาทุกคน และให้มีเงินพิเศษสำหรับคนที่มีสถานะทางบ้านยากจน และไม่ต้องใช้ทุนคืนในขณะที่พรรค FDP เสนอนโยบายที่ให้ความช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษา โดยไม่ต้องคำนึงถึงสถานะของพ่อแม่ โดยสนับสนุนเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า 500 ยุโรต่อเดือนและหากใครต้องการกู้เงินเพิ่มเติมมากกว่านี้ก็สามารถแสดงความประสงค์ได้ แต่เป็นส่วนที่ต้องใช้ทุนคืนขออนุญาต เล่าต่อในวารสารฉบับหน้าครับ ซึ่งจะมาส่องดูนโยบายเกี่ยวกับด้าน คมนาคม ครอบครัว ประกันสุขภาพ ประกันบำนาญ การจัดเก็บภาษี ที่อยู่อาศัย กันครับ(ที่มา เวบไซต์ มูลนิธิการทดสอบสินค้าเพื่อผู้บริโภค https://www.test.de/Bundestagswahl-Familie-Rente-Steuern-was-die-Parteien-vorhaben-5217841-0/)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ผลิตน้ำดื่มสูตรไม่ผสมเชื้อโรค (ตอนที่ 1)

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายประชานิยม โดยสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านให้ดำเนินการต่างๆ เพื่อสร้างรายได้นั้น สิ่งที่สังเกตเห็นคือ มีหลายพื้นที่นำเงินมาลงทุนตั้งเป็นสถานที่ผลิตน้ำดื่มขึ้นมากมาย โดยมักจะมีบริษัทมารับจัดการสถานที่และติดตั้งระบบกรองโดยขายไอเดียว่าจะดำเนินงานต่างๆ ให้เสร็จเลย แต่การผลิตอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักเพียงอย่างเดียวนั้น แม้จะดูไม่ยุ่งยากแต่มันก็มีรายละเอียดที่เราต้อระมัดระวังและใส่ใจมากพอสมควรเช่นกัน มิฉะนั้น เราอาจเผลอไปผลิตน้ำดื่มสูตรผสมเชื้อโรคโดยไม่ตั้งใจก็ได้อย่างแรกที่เราต้องตั้งสติคือ อย่าเพิ่งตัดสินในเชื่ออะไรง่ายๆ (โดยเฉพาะบริษัทที่จะมาเอาเงินเรา) ต้องพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตน้ำให้เข้าใจก่อน อันที่จริงขั้นตอนการขออนุญาตผลิตน้ำไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย มีเพียงสองขั้นตอนเท่านั้นเอง ขั้นตอนแรกคือการขออนุญาตสถานที่ผลิตอาหารประเภทน้ำดื่ม เมื่อผ่านการตรวจสอบและขออนุญาตแล้ว ก็มาสู่ขั้นตอนที่สองคือ การขอ อย.ของน้ำดื่มแต่ละตรา ซึ่งเราจะทำกี่ตราก็ได้ในขั้นตอนแรกที่จะขอสถานที่ผลิตน้ำดื่มนั้น เราต้องทำให้ตรงตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด เรียกง่ายๆ ว่า เกณฑ์จีเอ็มพี (GMP) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิต หากเราทำได้ตามเกณฑ์นี้แล้วรับรองว่าคุณภาพอาหารเราจะสม่ำเสมออย่างมีมาตรฐาน หลักเกณฑ์ง่ายๆ คือสถานที่เราต้องเป็นสัดส่วนแยกให้ห่างไกลจากแหล่งสกปรก มีการปิดกั้นมิให้สิ่งโสโครกหรือผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาป้วนเปี้ยนในสถานที่ผลิต ห้องน้ำห้องส้วมก็ต้องแยกให้ชัดเจนอย่าเข้ามาอยู่ใกล้สถานที่ผลิต มีการติดตั้งอ่างล้างมือทั้งหน้าห้องส้วมและบริเวณผลิต มีการจัดแบ่งพื้นที่เป็นบริเวณต่างๆ โดยเฉพาะห้องบรรจุต้องแยกให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในห้องนี้ส่วนการตัดสินใจจ่ายเงินค่าเครื่องมือไม้เครื่องมือเกี่ยวกับระบบการกรองน้ำก็ต้องพิจารณาให้ดี อย่าเพิ่งไปเชื่อผู้ขายเครื่องกรองต่างๆ มิฉะนั้นจะเสียเงินไม่คุ้มค่าหรือไม่ได้ผลให้เจ็บใจที่เสียรู้เขา อันดับแรกคือ เราต้องรู้ว่าน้ำที่จะมาผลิตนั้นมีคุณภาพดีเลวขนาดไหน จะได้เลือกใช้เครื่องกรองให้เหมาะสม ซึ่งจะรู้ได้ก็โดยการตรวจวิเคราะห์ โดยสามารถส่งตรวจวิเคราะห์ได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในเขตพื้นที่ (หากส่งห้องปฏิบัติการของเอกชน ก็ต้องเลือกห้องที่ได้รับการรับรองคุณภาพในการตรวจจากทางราชการ) ถ้าไม่อยากเสียเงินเอง ก็ให้คนที่จะมาขายเครื่องกรองออกเงินให้เลย ไหนๆ ก็จะขายแล้วนี่ และจะเป็นประโยชน์ด้วย เพราะต้องใช้ผลวิเคราะห์แสดง เวลาเจ้าหน้าที่มาตรวจในลำดับต่อๆ ไปด้วย (แนะนำให้ตรวจก่อนผลิตเลยครับ)เมื่อทราบผลวิเคราะห์น้ำแล้ว เราก็เลือกวิธีการกรองน้ำให้เหมาะสม เช่น น้ำที่จะนำมาใช้ผลิตมีสารอะไรมาก ควรเลือกใช้เครื่องกรองแบบไหน หรือถ้าเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคมาก อาจต้องเปลี่ยนแหล่งน้ำ (ไม่แนะนำให้ใช้น้ำคลองเพราะคุณภาพน้ำไม่แน่นอน บางช่วงอาจดี บางช่วงอาจแย่) ส่วนมากชุดกรองแรกๆ ที่จะติดตั้งจะเป็นเป็นกระบอกใหญ่ๆ สามกระบอก แต่ละกระบอกก็จะมีตัวกรองแตกต่างกัน ตัวแรกมักจะเป็นตัวกรองแอนทราไซด์และแมงกานิส ซึ่งจะกรองพวกเหล็กและสารบางอย่างที่เจือปนอยู่ในน้ำ ส่วนอีกกระบอกจะเป็นตัวกรองเรซิน (ลักษณะข้างในจะเป็นเม็ดใสๆ คล้ายไข่ปลาดุก) จะเป็นตัวขจัดความกระด้างและสารเคมีบางตัวที่ละลายอยู่ในน้ำให้น้อยลง กระบอกต่อมาก็จะเป็นเครื่องกรองถ่าน ซึ่งข้างในจะมีผงถ่านละเอียดๆ บรรจุอยู่ เพื่อดูดกลิ่น และคลอรีนในน้ำ (มีต่อฉบับหน้าครับ)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 10 คำถามกับนโยบายปฏิรูปพลังงานในเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการแหล่งพลังงานจากฟอสซิลอย่างน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติมีข้อด้อยอยู่สองประการหลักๆ คือ เป็นพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด และการเผาไหม้ยังปล่อยก๊าซที่เป็นพิษต่อสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดผลเสียและค่าเสียหายอย่างมหาศาลอีกด้วย ยูเรเนียมเองก็มีอยู่อย่างจำกัดเช่นกัน ดังนั้นการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจึงไม่เพียงแต่สมเหตุสมผลแต่เป็นประโยชน์อย่างมากในแง่เศรษฐกิจโดยรวม ลม น้ำ แสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ และชีวมวล เป็นแหล่งพลังงานที่มีอยู่อย่างไม่สิ้นสุด นอกจากนี้การใช้พลังงานจากแหล่งเหล่านี้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ มีความแน่นอนและมั่นคงทางพลังงาน ต่างจากแหล่งพลังงานอย่าง น้ำมันดิบ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และยูเรเนียม การใช้พลังงานหมุนเวียนช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากนอกประเทศ เพิ่มความมั่นคงในการจ่ายกระแสไฟฟ้า และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการให้บริการไฟฟ้าอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดนวัตกรรมที่เข้มแข็ง และยังช่วยสร้างงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ อีกด้วย 10 คำถาม คำตอบ ต่อนโยบายปฏิรูปพลังงานในเยอรมนีจะช่วยทำให้เราเห็นภาพและทิศทางในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานของเยอรมนี ที่จะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนสำหรับนโยบายพลังงานของประเทศ  1. เยอรมนีเชื่อมั่นต่อนโยบายปฏิรูปพลังงาน (Energiewende) คำถามคือ อะไรคือการปฏิรูปพลังงาน ? การปฏิรูปพลังงาน หมายถึงการปฏิรูประบบสำรองพลังงานที่ ก้าวข้ามการใช้พลังงานจากน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานนิวเคลียร์ แต่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มสำรองพลังงานหมุนเวียนแทน ภายในปี 2050 เยอรมนีจะผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 80 % และใช้พลังงานจากพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 60 % ของพลังงานทั้งระบบ เป้าหมายสำคัญคือ จะเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 20222. เทคโนโลยีประเภทใดที่เป็นหัวใจสำคัญสำหรับ นโยบายการปฏิรูปพลังงาน ? พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญสำหรับเยอรมนี ภายใต้การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลา 20 ปี ส่งผลให้ราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ มีราคา 6- 9 ยูโรเซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (2.6 – 3.8 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง) ซึ่งจะมีราคาเทียบเคียงกับการผลิตไฟฟ้าจากก้าซและถ่านหิน และถูกกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากนิวเคลียร์3. ในฐานะประเทศอุตสาหกรรม เยอรมนีสามารถให้ความเชื่อมั่นกับพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ได้หรือไม่ และจะเกิดปัญการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าได้หรือไม่ ? “เยอรมนีเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดไฟฟ้าดับ น้อยที่สุดในยุโรป และคาดว่าจะคงรักษาอันดับนี้ต่อไป” การใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน จะมีเทคโนโลยีระบบสำรองพลังงาน(Backup Technology) ซึ่งสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในสถานการณ์ที่พลังงานจากลมและพลังงานแสงอาทิตย์ไม่เพียงพอ โดยในระยะแรกจะยังคงใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ในระยะยาวพลังานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น พลังงานจากน้ำ ไบโอแมส และพลังงานความร้อนใต้พื้นพิภพ จะเป็นพลังงานสำรองเพิ่มขึ้น4. พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ได้นำมาใช้ ในพื้นที่ที่ผลิต มีเทคโนโลยีใดที่จะมาแก้ปัญหานี้ได้ ? โครงข่ายที่จ่ายกระแสไฟฟ้าที่มีอยู่ในตอนนี้มีความทนทานและสามารถส่งกระแสไฟฟ้าเพิ่มได้อีก            มาก ในระยะต่อไป จะมีการสร้างโครงข่ายสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมบริเวณ            ชายฝั่งทะเลทางตอนเหนือของประเทศ ไปยังบริเวณที่มีกระแสลมไม่แรง หรือจะมีการสร้าง  โครงข่ายกระแสไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ที่มีการใช้พลังงานอย่างเข้มข้น5. เยอรมนีจะเป็นตัวอย่าง ที่แสดงถึงความสำคัญของนโยบายปฏิรูปพลังงาน ต่อประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร ? การใช้พลังงานหมุนเวียนจะเป็นคำตอบของความท้าทายการขาดแคลนพลังงานในอนาคต เนื่องจากพลังงานฟอสซิล ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจะลดน้อยลง และเป็นสาเหตุของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง การใช้พลังงานหมุนเวียนจะเป็นคำตอบของการแก้ปัญหาทั้งสองเรื่อง ในประเด็นนี้เยอรมนีจะเป็นมิตรต่อประเทศเพื่อนบ้านที่ให้คำปรึกษาในเรื่องการสร้างระบบโครงข่ายกระแสไฟฟ้าที่เหมาะสมกับการผลิตไฟฟ้าจากลมและแสงอาทิตย์6. มีแรงจูงใจอะไรสำหรับนโยบายปฏิรูปพลังงาน เพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดพลังงานภายใต้การกำกับดูแลของเรกูเลเตอร์ ? พระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียน(Das Erneubare- Energie Gesetz: EEG) ในปี 2000 ได้ทำให้เกิดการแข่งขันของเทคโนโนโลยีการผลิตพลังงาน โดยเฉพาะเทคโนโลยีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นฝ่ายได้รับประโยชน์จากกฏหมายฉบับนี้ โดยได้รับการสนับสนุนทั้งในเชิงเงินทุนสนับสนุนและ ในเชิงกฎหมาย7. ประเทศเยอรมนีจัดอยู่ในประเทศที่มีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และภายใต้การปฏิรูปพลังงานจะนำพาประเทศไปสู่ การสร้างนวัตกรรมได้หรือไม่? “นโยบายการปฏิรูปพลังงาน เป็น โครงการสำหรับอนาคตของประเทศเยอรมนี ในฐานะที่เป็นประเทศอุตสาหกรรม.พลังงานหมุนเวียนจะกลายเป็นสินค้าสำหรับตลาดทั่วโลก ถ้าราคาพลังงานหมุนเวียนใกล้เคียงกับราคาพลังงานจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ก็จะส่งผลให้ประเทศอื่นๆ สนใจพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะประเทศที่อุดมไปด้วยลมและแสงอาทิตย์ และประเทศเยอรมนีก็จะเป็นประเทศผู้นำการผลิตนวัตกรรมไม่เพียงเฉพาะทางด้านพลังงาน(Energy Technology) แต่จะขยายผลไปยังด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and communication technology) และเทคโนโลยีวัสดุ (Material Technology)8. นโยบายปฏิรูปพลังงานเป็นนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณสูง(ระดับพันล้านยูโร) จะทำอย่างไรให้การปฏิรูปพลังงานมีต้นทุนไม่สูงสำหรับผู้บริโภคจนเกินไป และมีความคุ้มค่าในการลงทุน ? ประเทศเยอรมนี ต้องจ่ายเงินสำหรับการนำเข้าถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ปีละกว่า 80,000 ล้านยูโร เงินที่ต้องจ่ายออกไปนอกประเทศแต่ละปีๆ นั้น ถ้าสะสมกันก็จะเป็นเงินจำนวนมหาศาล หากสามารถลดการนำเข้าพลังงานด้วยการผลิตพลังงานหมุนเวียน ก็จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหลักประกันในเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุน ถึงแม้นว่าในระยะแรกเริ่มซึ่งเป็นระยะการลงทุน ผู้บริโภคจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น แต่ค่าพลังงานที่จ่ายสำหรับครัวเรือนคิดเป็นมูลค่าเพียง 3% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในครัวเรือน9. การลดการใช้ไฟฟ้าเป็นเป็นความยั่งยืนสูงสุด การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพจะมีความหมายอย่างไรต่อ การปฏิรูปพลังงาน ? การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเสาหลักแท่งที่สองของการปฏิรูปพลังงาน รองจากการใช้พลังงานหมุนเวียน การประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธภาพ ทำให้ลดการสร้างโรงไฟฟ้าและโครงข่ายการจ่ายกระแสไฟฟ้าลง การใช้กระแสไฟฟ้าในเยอรมนีลดลงเล็กน้อยตั้งแต่ปี 2007 และเป้าหมายในการลดการใช้ไฟฟ้าลง 10 % ในปี 2020 ยังคงเป็นเป้าหมายที่ยังห่างไกลอยู่ อย่างไรก็ตาม ภาคการเมืองก็ต้องมีมาตรการออกมาสำหรับผลักดันให้เป้าหมายเป็นจริง10. การเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์มีผลต่อการปฏิรูปพลังงานอย่างไร ? หลายๆ คนเข้าใจว่า การประกาศเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ของเยอรมนี เกิดจากปฏิกริยาของ เหตุการณ์ ฟูกูชิมา ที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2011 แต่แผนการเลิกการใช้นิวเคลียร์ได้เริ่มมาก่อนนั้นแล้ว การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 1990 และออกมาเป็น พระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียน(EEG) ในปี 2000 โดยในปีนี้ รัฐบาลเยอรมนีได้ทำความตกลงกับผู้ประกอบการผลิตพลังงาน ว่าจะเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในปี 2020 มติของรัฐบาลนายกแองเจลา แมร์เคิล ในปี 2011 คือ ลดการใช้ ถ่านหิน น้ำมัน และ เลิกการใช้นิวเคลียร์ เพิ่มการใช้พลังงานจากลม แสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ ไบโอแมส และความร้อนจากใต้พื้นพิภพ หวังว่าการปฏิรูปพลังงานในไทย จะทำให้คนไทยสามารถมีพลังงานใช้อย่างยั่งยืน ในราคาที่เป็นธรรม และค่าใช้จ่ายสำหรับพลังงานในครัวเรือนจะลดลงสามารถอยู่ที่ระดับ 3 %  ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือน แหล่งข้อมูล DE Magazin Deutschland ฉบับที่ 1/2014 //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point