ฉบับที่ 245 ฤดูฝนและน้ำกัดเท้า

        ช่วงเวลาฤดูฝนปัญหาสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกคน อากาศที่อับชื้น ความเฉอะแฉะของสภาพแวดล้อม และสภาพน้ำท่วมขังหลังฝนตก ซึ่งหากอยู่ในเส้นทางที่ต้องสัญจรเป็นประจำ จนไม่อาจหลีกเลี่ยงการเดินผ่านเส้นทางนั้นได้ การต้องเดินลุยน้ำที่มีขยะ สิ่งปฏิกูลหรือน้ำจากท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมเชื้อโรคมากมาย เท้าของเราก็มีโอกาสหรือความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรคต่างๆ และอาจมีบางส่วนที่ซึมเข้าสู่ผิวหนัง (กรณีมีบาดแผล) หรืออาจเกิดการระคายเคืองต่อผิว และอาจเป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง “น้ำกัดเท้า” อีกด้วย         ปกติโรคน้ำกัดเท้า ก็ไม่ได้ร้ายแรงมาก และสามารถรักษาให้หายได้ แต่มันเป็นโรคที่น่ากังวลใจในเรื่องที่เราต้องออกไปไหนมาไหนด้วยการใส่รองเท้า ยิ่งเป็นรองเท้าหุ้มส้นหรือรองเท้าผ้าใบที่คับแน่น อากาศไม่ค่อยระบาย อาการของโรคก็จะหายได้ช้าลง ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากวนใจจากโรคเรามารู้จักและเรียนรู้วิธีป้องกันไว้ก่อนรู้ทันอาการน้ำกัดเท้า         สาเหตุ ภาวะนี้เกิดจากการระคายเคืองของผิวหนัง เนื่องจากความเปียกชื้นหรือเท้าแช่น้ำเป็นเวลานานซ้ำๆ ทำให้เท้าเปียกชื้นจนผิวหนังชั้นนอก เปื่อยและหลุดออกมา และทำให้แบคทีเรียหรือเชื้อราในน้ำเข้าไปอาศัยจนเกิดการระคายเคือง อาจตามมาด้วยผื่นผิวหนังอักเสบและมีผิวหนังลักษณะเปื่อยลอกเป็นขุย โดยเฉพาะที่บริเวณซอกนิ้วเท้า  อาจมีอาการผื่นแดง  แสบคันและอาจมีกลิ่นเหม็นไม่พึงประสงค์ตามมา           โรคน้ำกัดเท้าใน ระยะแรก อาจจะมีอาการเท้าเปื่อย ผิวเท้าลอก และเกิดอาการคันจนนำไปสู่การแกะและเกา ซึ่งอาการในระยะแรกยังไม่ได้รับการติดเชื้อ แต่มีอาการลักษณะเท้าเปื่อย แดง แสบ เกิดอาการคันนั้นเกิดจากการระคายเคือง นอกจากนี้พฤติกรรมการแกะและเกา อาจทำให้เกิดแผลถลอกจนนำไปสู่การติดเชื้อจากแผลเล็กๆ จนนำไปสู่ ระยะที่สอง  เป็นระยะที่เกิดการติดเชื้อแล้ว ซึ่งสาเหตุมาจากแผลถลอกจากอาการคันหรือการลอกของผิวหนังเปื่อยในระยะแรก ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา โดยการติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดอาการอักเสบ บวมแดง ร้อน เป็นหนอง ปวดแผล ส่วนอาการติดเชื้อรามีลักษณะแดง คัน มีขุยขาว เปียกและเหม็น ผิวหนังจะเปื่อยเป็นสีขาว หากพบว่าเข้าข่ายอาการในระยะที่สองควรเข้าพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธี สู้กับน้ำกัดเท้าอย่างไรดี        1.หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน หากลุยน้ำมาให้รีบทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่และเช็ดให้แห้ง เพื่อลดการอับชื้น โดยเฉพาะบริเวณซอกเท้าหรือสามารถใช้ขี้ผึ้งหรือวาสลีนทาตามง่ามเท้า         2.ไม่ใส่ถุงเท้าที่อับชื้นและเปลี่ยนถุงเท้าทุกวันเพื่อลดการสะสมสิ่งสกปรก ควรใส่ถุงเท้าที่ผลิตมาจากเส้นใยธรรมชาติ และควรสวมรองเท้าที่เบาสบายเพื่อไม่ให้เกิดการอับชื้นบริเวณเท้า         3.บางครั้งการใช้ของร่วมกับผู้อื่นอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคได้ เพราะสาเหตุหลักโรคนี้อาจเกิดจากเชื้อราและที่สามารถนำไปสู่การติดต่อจากการใช้ของร่วมกันได้ เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดตัว รองเท้าแตะ ถุงเท้าและอื่นๆ ที่เป็นการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม         4.หากมีอาการติดเชื้อระยะแรกควรงดการแกะและเกาในบริเวณผิวหนังที่มีอาการ เพราะอาจแพร่เชื้อได้         5.หากมีอาการมากหรืออาการในระยะที่สอง ควรปรึกษาและพบแพทย์เพื่อเข้าการรักษามากกว่าการรักษาด้วยตนเองเพื่อป้องกันรักษาผิดวิธีและเกิดการลุกลามที่มากกว่าเดิม         ทั้งนี้ การรักษาในระยะแรกสามารถที่จะซื้อยาทาและรักษาเองได้ตามอาการแต่ต้องปรึกษาเภสัชเพื่อการใช้ยาที่ถูกต้อง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 น้ำกัดเท้าและยารักษา

  โรคที่มากับมหาอุทกภัยน้ำท่วม 2554 คือโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเกิดจากการเดินลุยน้ำบ่อยๆ นานๆ หรือเป็นประจำ จึงเรียกโรคนี้ว่า “โรคน้ำกัดเท้า” ในประเทศที่เจริญแล้ว มักพบบ่อยในนักกีฬาที่สวมใส่รองเท้าที่เปียกชื้นจากเหงื่อระหว่างเล่นกีฬา จึงได้ชื่อว่า “โรคเท้านักกีฬา” (Athlete’s foot) โรคน้ำกัดเท้าเกิดจากผิวหนังบริเวณเท้าที่ชื้นแฉะมีเชื้อราสะสม เป็นเชื้อราในกลุ่มเดียวกับโรคขี้กลาก ซึ่งมักเจริญเติบโตได้ดีในที่อับชื้น เปียกน้ำ เปียกเหงื่อ เช่น จากการลุยน้ำท่วมขัง รองเท้าเปียก พื้นห้องอาบน้ำที่ใช้ร่วมกันหลายๆ คน และพื้นบริเวณสระว่ายน้ำ เมื่อเดินหรือย่ำบนพื้นดังกล่าว หรือใส่รองเท้าที่มีเชื้อราอยู่ เชื้อราจึงรุกรานเข้าสู่ผิวหนัง และก่อโรคน้ำกัดเท้าได้ นอกจากนี้ยังอาจติดต่อได้ง่ายจากการใช้รองเท้าร่วมกัน ใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกันและใช้ถุงเท้าไม่สะอาด นอกจากเท้าแล้วยังเชื้อราชนิดนี้ยังทำให้เกิดโรคได้กับผิวหนังส่วนอื่นๆ เช่น เล็บ และขาหนีบ อาการเด่นชัดที่พบ เช่น ง่ามเท้าแห้งตกสะเก็ด เป็นขุย ผิวหนังแตกเป็นร่องแผลสด บวม เจ็บและคัน อาจมีตุ่มน้ำใสๆ ร่วมด้วย แนวทางการรักษา การใช้ยาต้านเชื้อราทาเฉพาะที่บริเวณแผล ขี้ผึ้งแก้น้ำกัดเท้า ซึ่งเป็นตำรับในบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ ขี้ผิ้งวิทฟิวด์ (Whitfield ointment) มีตัวยาหลักคือ ยาต้านเชื้อราเบนโซอิคแอซิด 6% และซาลิไซลิคแอซิด 3% จะพบว่าขี้ผึ้งชนิดนี้มีความเป็นกรดค่อนข้างสูง จึงควรระวังไม่ทาผิวหนังส่วนอื่นที่บอบบาง ตำรับยาต้านเชื้อราอื่นๆ เช่น คลอไตรมาโซลหรือคีโตโคนาโซลครีมที่มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปก็มีประสิทธิภาพเช่นกัน แต่ราคาจะแพงกว่ามาก  ควรทำความสะอาดเท้าให้สะอาด ใช้สบู่ขัดถูตามซอกและง่ามนิ้วเท้าซึ่งมักมีเชื้อราสะสมและหมักหมมจนก่อให้เกิดโรค ต้องซับผิวหนังให้แห้งสนิทก่อนทาขี้ผึ้งบางๆลงบริเวณผิวหนังที่มีปัญหา วันละ 1-2 ครั้ง แนะนำให้ทาก่อนนอนและไม่ควรย่ำไปไหนเมื่อทายาเสร็จ ตัวยาจะได้ไม่หายหรือเลอะเลือนไปกับรองเท้าหรือพื้น   ข้อควรระวังการใช้ยา อาการคันที่เท้าจากโรคน้ำกัดเท้า ไม่ควรซื้อยาแก้คันที่มีส่วนผสมของยาสเตียรอยด์ ซึ่งอาจส่งผลให้แผลอักเสบที่เท้ามีอาการอักเสบมากขึ้น และเกิดหนองได้ ซึ่งจำเป็นต้องพบแพทย์ เพื่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ การป้องกันโรคน้ำกัดเท้า - ผู้ที่ยังไม่ทันเป็นโรคน้ำกัดเท้า ไม่ควรทายาต้านเชื้อรา แต่ควรป้องกันโดยการล้างเท้าให้สะอาด ซับให้แห้งสนิททันทีภายหลังจากการย่ำน้ำ และใช้แป้งฝุ่นโรยง่ามเท้าให้ทั่วเป็นการป้องกันผิวหนังไม่ให้ชื้นแฉะ และควรพยายามหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำหรือการสวมใส่รองเท้าบู้ทหรือสวมถุงพลาสติกหุ้มเท้าก่อนย่ำน้ำ - รองเท้าที่สวมใส่ทุกวัน ควรดูแลให้สะอาดอยู่เสมอ คือต้องให้ภายในรองเท้าแห้ง ไม่อับชื้น ควรมีรองเท้าอย่างน้อย 2 คู่ เพื่อสวมสลับกัน ซักด้านในรองเท้าให้สะอาด ปัจจุบันนี้มีสเปรย์สำหรับรองเท้าเพื่อฆ่าเชื้อโรค - ไม่ใช้รองเท้าร่วมกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าสาธารณะโดยไม่จำเป็น - ต้องรักษาความสะอาดถุงเท้า เมื่อเปียกต้องเปลี่ยนเสมอ -ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น นอกจากนั้น ผ้าเช็ดเท้า และผ้าเช็ดตัว ควรเป็นคนละผืนกัน   เอกสารอ้างอิง1, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์: http://haamor.com/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 น้ำกัดเท้า

น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง ...... โอมเพี้ยง....ขออย่าให้คณะผู้บริหารจัดการน้ำไม่เป็นแบบคำพังเพยโบราณเลย....... ถ้าน้ำมาก็ขอให้น้อยกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบปี 55 นะๆๆ แต่ถ้าน้ำนองในบางพื้นที่ ขอแนะนำสูตรยาแก้น้ำกัดเท้าที่ตกทอดมารุ่นต่อรุ่น ตั้งแต่สมัยสังคมไทยยังเป็นเมืองทำนาปลูกข้าวกว่า 80% จนตอนนี้หดหายไปเกือบครึ่ง หลบไปทำอย่างอื่นกันหมด แม้ยังทำเกษตรแต่ก็แห่ไปทำสวนยางสวนปาล์มกันมากมาย โบราณกาล ชาวนาเขาต้องยืนแช่น้ำในนาข้าวอยู่นานสองนาน ต้องเจอกับน้ำกัดเท้าเป็นประจำ ตำรับยานี้จึงทำง่ายสุดๆ และเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมขนานแท้ เพียงแค่นำสารส้มสะตุ และดินสอพองสะตุมาผสมกัน คำว่าสะตุ เป็นคำโบราณเกี่ยวกับการปรุงยาไทย หมายถึงไปทำให้สะอาดหรือดับพิษลดพิษจากตัวยาเสียก่อน วิธีทำ ให้นำสารส้มมาบดเป็นผงละเอียด นำไปใส่ในหม้อดิน แล้วนำไปตั้งไฟ สารส้มจะฟูขึ้น ปล่อยไว้จนฟูขาวสะอาดดี จึงนำลงจากเตาไฟ เรียกว่าสารส้มสะตุ สรรพคุณตามตำรายาไทยกล่าวว่า สารส้มช่วยสมานทั้งภายในภายนอก เฉพาะยาภายนอกช่วยแก้อาการคัน สมานแผล ห้ามเลือด ดินสอพองสะตุ ให้นำดินสอพองใส่กระทะ ตั้งไฟให้ร้อน คั่วดินสอพองให้สุกหรือผ่านความร้อนเพื่อทำให้สะอาดเช่นกัน ดินสอพองมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้อโรคอ่อนๆ และเป็นเหมือนแป้ง เมื่อทาผิวจะลดความชื้น แก้อาการคัน และไม่ให้เชื้อราลุกลามได้ง่ายนั่นเอง   ตำรับยาให้ใช้สารส้มสะตุและดินสอพองสะตุ อย่างละเท่าๆ กัน นำผสมกันใช้ทาที่แผล(หยดน้ำสะอาดเล็กน้อยเพื่อให้ผงยาเป็นยาเหลวทาง่ายขึ้น) ใช้วันละ 3-4 ครั้ง แต่ถ้าหาดินสอพองทำยาได้ยาก ก็ไม่ต้องใช้ ให้ใช้เฉพาะผงสารส้มสะตุละลายน้ำทาเลย ถ้าน้ำท่วมใหญ่มาอีกรอบ ขอให้บริจาคก้อนสารส้มกันบ้าง แล้วบรรดาอาสาสมัครแบ่งกลุ่มมาช่วยกันนั่งตำให้เป็นผง ตั้งเตาไฟใส่หม้อดินตามวิธีข้างต้น ปล่อยให้แห้งหาขวดใบเล็กๆ กรอกไว้แจกจ่าย แล้วแบ่งงานอาสาอีกกลุ่มช่วยกันทำฉลากและวิธีใช้ติดข้างขวด ใครๆ ก็ใช้ได้ถูกต้อง แต่ถ้าจวนเจียนไม่มีใครทำสะตุให้ ทำแบบสดๆ ก็สามารถใช้ได้ทันที ให้เอาก้อนสารส้มก้อนเล็กๆ ใส่ในช้อน แล้วเอาช้อนไปลนไฟเทียนไข สารส้มจะค่อยๆ ละลายเป็นน้ำ ใช้ก้านไม้พันสำลีจุ่มลงไปในน้ำสารส้ม แล้วเอามาทาที่น้ำกัดเท้า ทาบางๆ วันละ 3-4 ครั้ง ก็ช่วยบรรเทาอาการได้ดีไม่แพ้กัน อีกสูตรหนึ่งถ้าพื้นที่แห้งมีการปลูกต้นพลูไว้ ให้อาสาสมัครนอกแนวน้ำท่วมช่วยกันเอาใบพลูมาล้างให้สะอาด หั่นซอยเป็นชิ้นเล็ก แล้วใส่ครกตำให้ละเอียด ใส่ภาชนะหรือโหลแก้วแล้วเทเหล้าขาวหรือแอลกอฮอล์ให้ท่วมยา ปิดฝาแช่ทิ้งไว้ 1 คืน (อย่างน้อย 12 ชั่วโมง) กรอกเอาแต่น้ำยาบรรจุขวดเล็กๆ เวลาใช้ให้เอาสำลีชุบน้ำยาในพลูทาที่แผล วันละ 3-4 ครั้ง ใบพลู ซึ่งมีน้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้หลายชนิด ช่วยแก้อาการคัน และแก้กลาก เกลื้อน และโรคน้ำกัดเท้าที่มาจากเชื้อราได้ ขณะนี้มีการผลิตเป็น เจลพลู หรือเรียกโก้ๆ ว่าพลูจีนอล สรรพคุณไม่ด้อยกว่ายาแผนปัจจุบันเลย ใบพลูแน่กว่ายาต้านเชื้อราเฉยๆ เพราะใบพลูมีสรรพคุณลดอาการคันด้วย เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยจากพลูมีฤทธิ์คล้ายยาชาเฉพาะที่ (ฤทธิ์อ่อนๆ) จึงช่วยแก้อาการคัน ถ้าต้องเดินลุยน้ำแช่น้ำ ควรล้างเท้าให้สะอาด และเช็ดเท้าให้แห้ง ช่วยลดการเกิดน้ำกัดเท้า แต่ถ้าเสียทีน้องน้ำแล้ว ให้ลองใช้ตำรายาโบราณสู้กับน้ำกัดเท้าดูนะ

อ่านเพิ่มเติม >