ฉบับที่ 152 เปิดขวด “น้ำจิ้มสุกี้”

สุกี้ ถือเป็นเมนูที่หลายๆ คนยกให้เป็นอาหารจานสุขภาพ เพราะความที่เป็นเมนูที่เน้นผักมากกว่าเนื้อสัตว์ สาวๆ หลายคนเลือกรับประทานสุกี้เพราะเชื่อว่ากินแล้วจะไม่อ้วน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ประสบความสำเร็จในการรับประทานสุกี้ให้เป็นเมนูสุขภาพ ไม่ใช่เพราะแค่ดันเข้าใจผิดไปจัดเต็มกับสุกี้บุฟเฟ่ต์ แต่ยังเป็นเพราะสุกี้จานโปรดของคุณเล่นเติมน้ำจิ้มแบบไม่บันยะบันยัง รู้มั้ยในน้ำจิ้มสุกี้รสเด็ด มีทั้งน้ำตาล เกลือ บางยี่ห้อก็มีผงชูรส ฉลาดซื้อเป็นห่วงสุขภาพของคนชอบทานสุกี้ เราจึงลองสำรวจดูว่า น้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อต่างๆ ที่วางขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปนั้น เสี่ยงต่อความหวานของน้ำตาล และความเค็มของโซเดียมมากน้อยแค่ไหน   ตารางสำรวจปริมาณโซเดียมและน้ำตาลในน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวด ปริมาณโซเดียมและน้ำตาลที่เหมาะสมต่อสุขภาพ ***ปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมในการบริโภคสำหรับคนไทยใน 1 วัน คือไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม ส่วนปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมในการบริโภคสำหรับคนไทยใน 1 วัน คือไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือประมาณ 24 กรัม   วิธีการสำรวจ ฉลาดซื้อได้ทำการสุ่มสำรวจตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดจำนวน 12 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจปริมาณของโซเดียมและน้ำตาล โดยการดูข้อมูลในฉลากโภชนาการที่แสดงไว้บนขวดน้ำจิ้มสุกี้แต่ละยี่ห้อ ซึ่งมีการแจ้งปริมาณของโซเดียมและน้ำตาลต่อหน่วยบริโภคเป็นช้อนโต๊ะ เช่น น้ำจิ้มสุกี้ตราสุรีย์ สูตรกวางตุ้ง ข้อมูลในฉลากโภชนาการแจ้งว่า ปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (25กรัม) มีปริมาณโซเดียม 460 มิลลิกรัม ปริมาณน้ำตาล 6 กรัม เป็นต้น โดยจากตัวอย่างทั้งหมด 12 ตัวอย่าง มี 2 ตัวอย่างที่ไม่มีการแสดงฉลากโภชนาการ คือ น้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อพันท้าย (สูตรดั้งเดิม) และ น้ำจิ้มสุกี้เด็กสมบูรณ์ (สูตรกวางตุ้ง) แต่ฉลาดซื้ออยากรู้ปริมาณโซเดียมและน้ำตาลของทั้ง 2 ตัวอย่าง เราจึงส่งตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์ที่สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เพื่อนำผลมาฝากแฟนฉลาดซื้อ   ผลการสำรวจ โซเดียม ตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ที่พบปริมาณโซเดียมสูงที่สุด คือ น้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อควิกเชฟ (สูตรกวางตุ้ง) ที่บอกไว้ในฉลากโภชนาการว่ามีปริมาณโซเดียม 740 มิลลิกรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม) หรือประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณโซเดียมที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (2,400 มิลลิกรัม) ตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้ออื่นๆ ที่พบปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง ได้แก่ ยี่ห้อเด็กสมบูรณ์ (สูตรกวางตุ้ง) พบปริมาณโซเดียมจากการส่งวิเคราะห์โดยสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ที่ปริมาณ 2,152 มิลลิกรับต่อ 100 กรัม หรือที่ประมาณ 646 มิลลิกรัม ต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม) นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ ยี่ห้อ แม่ประนอม (สูตรกวางตุ้ง) และ ยี่ห้อบิ๊กซี (รสจัดจ้าน) ที่แสดงปริมาณโซเดียมไว้ที่ 600 มิลลิกรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม) ส่วนตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ที่เหลือพบปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่ประมาณ 500 – 600 มิลลิกรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ ซึ่งต้องย้ำว่าเป็นการแสดงปริมาณโซเดียมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะเท่านั้น แต่เชื่อว่าหลายคนเวลาทานสุกี้หรือทานพวกอาหารบุฟเฟ่ต์ที่มีน้ำจิ้มสุกี้เป็นน้ำจิ้ม คงไม่เติมกันแค่ 2 ช้อนโต๊ะ หลายคนเติมแล้วเติมอีก บางคนก็กินน้ำจิ้มกันทีเป็นถ้วยๆ ฉลาดซื้อขอเตือนว่าใครที่มีพฤติกรรมกินน้ำจิ้มสุกี้แบบนั้น มีสิทธิได้รับโซเดียมเกินปริมาณที่เหมาะสมกับสุขภาพ (2,400 มิลลิกรัมต่อวัน)   น้ำตาล ปริมาณน้ำตาลในตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดที่พบในการสำรวจ เฉลี่ยอยู่ที่ 7 กรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ ที่พบมีปริมาณสูงสุดคือ ตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อเจ๊เล็ก (สูตรกวางตุ้ง เผ็ดกลาง) ซึ่งแสดงปริมาณน้ำตาลในฉลากโภชนาการไว้ที่ 4 กรัมต่อหนึ่งช้อนโต๊ะ (17 กรัม) หรือถ้าเทียบเป็น 2 ช้อนโต๊ะ (34 กรัม) แบบตัวอย่างอื่นๆ จะเท่ากับ 8 กรัม ซึ่งมากที่สุดในตัวอย่างทั้งหมด 12 ตัวอย่าง คิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำตาลที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (24 กรัม) สำหรับตัวอย่างที่พบปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุดในตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ที่ฉลาดซื้อสุ่มสำรวจครั้งนี้คือ ยี่ห้อบิ๊กซี (รสจัดจ้าน) ซึ่งพบปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ 3 กรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (33 กรัม) เช่นเดียวกับโซเดียม การทานน้ำจิ้มสุกี้ในปริมาณที่มากเกินไป ย่อมมีความเสี่ยงต่อการได้รับปริมาณน้ำตาลเกินความต้องการของร่างกาย ซึ่งแน่นอนว่าจะกลายเป็นผลเสียต่อสุขภาพของเรา ข่าวดี!!!ไม่พบอะฟลาท็อกซินในน้ำจิ้มสุกี้ นอกจากปริมาณของโซเดียมและน้ำตาลแล้ว ฉลาดซื้อยังได้ส่งตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของเชื้อรา “อะฟลาท็อกซิน” ในตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดทั้ง 12 ตัวอย่าง เนื่องจากส่วนประกอบในน้ำจิ้มสุกี้มีทั้ง พริก และ งา ซึ่งมีโอกาสเป็นแหล่งกำเนิดของสารอะฟลาท็อกซิน จากการวิเคราะห์โดยสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ฉลาดซื้อได้ผลวิเคราะห์ที่ถือว่าเป็นข่าวดี เพราะตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ทั้ง 12 ยี่ห้อ ไม่พบการปนเปื้อนของสารอะฟลาท็อกซิน ผู้บริโภคสบายใจได้ ฉลาดซื้อแนะนำ ถ้าไม่อยากเสี่ยงโซเดียมและน้ำตาลในน้ำจิ้มสุกี้ -  ชิมก่อนปรุง ด้วยความที่คนไทยเราชอบทานอาหารรสจัด ก็เลยอดไม่ได้ที่จะต้องเติมเครื่องปรุงเพิ่ม เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากได้รับโซเดียมและน้ำตาลมากเกินไป ก็ควรชิมก่อนตัดสินใจเติมเครื่องปรุงหรือน้ำจิ้มต่างๆ เพิ่ม - อ่านฉลากโภชนาการ การอ่านฉลากโภชนาการถือเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้รู้ได้ว่าอาหารที่เรากำลังทานอยู่นั้นมีปริมาณสารอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โซเดียม น้ำตาล หรือสารอาหารอื่นๆ เป็นปริมาณเท่าไหร่ น้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดที่เราสำรวจส่วนใหญ่ก็มีการแสดงฉลากโภชนาการ   ***มีข้อสังเกตเรื่องฉลากโภชนาการ แม้ว่าตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดที่ฉลาดซื้อสำรวจส่วนใหญ่ (10 จาก 12 ตัวอย่าง) จะแสดงฉลากโภชนาการซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค แต่การกำหนดหน่วยบริโภคเพื่อแสดงปริมาณของน้ำจิ้มสุกี้นั้น ยังมีความแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการนำไปเป็นข้อมูลการเปรียบเทียบของผู้บริโภค เช่นบางยี่ห้อ กำหนดให้หนึ่งหน่วยบริโภค = 2 ช้อนโต๊ะ หรือ 30 กรัม ขณะที่อีกยี่ห้อกลับกำหนดให้หนึ่งหน่วยบริโภค 2 ช้อนโต๊ะ = 33 กรัม บางยี่ห้อก็กำหนดให้หนึ่งหน่วยบริโภค 2 ช้อนโต๊ะ = 25 กรัม พูดง่ายๆ คือไม่มีมาตรฐานกลางที่แน่นอน ผู้บริโภคจึงต้องลำบากคำนวณเปรียบเทียบกันเอง เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดเรื่องหน่วยบริโภคให้เป็นหน่วยเดียวกัน   ปริมาณโซเดียมในซอสปรุงรสชนิดต่างๆ ที่มา: “กินดีสมดุล...การเสริมสร้างวิถีชีวิตสุขภาพ” รองศาสตราจารย์ ดร. ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จากการสัมมนาเครือข่ายวิชาการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ จัดโดยสำนักควบคุมโรค 23 กุภาพันธ์ 2554

อ่านเพิ่มเติม >