ฉบับที่ 242 ใส่น้ำมันในข้าวสวยทำไมไม่บอก

        อาหารแช่เย็น แช่แข็งในร้านสะดวกซื้อนั้นเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะสะดวก ตอบโจทย์ชีวิตสำหรับคนที่ไม่ต้องการเสียเวลาไปกับการเตรียมอาหาร แต่กระนั้นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ดีขึ้น ก็คือฉลากสินค้าที่ต้องครบถ้วนเพียงพอสำหรับการซื้อ ส่วนประกอบสำคัญต้องมีอะไรบ้างก็ต้องบอกให้หมดไม่ปิดบัง เพราะจะทำให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์         คุณภูผาเป็นหนุ่มโสดรักสุขภาพ แต่ก็ไม่อยากหุงข้าวรับประทานเองสักเท่าไรเพราะไม่ค่อยสะดวก จึงเลือกซื้อข้าวสวยอีซี่โก ในร้านสะดวกซื้อชื่อดังมารับประทานเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิหุงสุก ข้าวกล้องหอมมะลิ และข้าวไรซเบอรี่ผสมข้าวหอมมะลิ เพราะสะดวกเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเขา และเชื่อมั่นในตราสินค้าด้วยว่าคงไม่เอาเปรียบผู้บริโภค  อย่างไรก็ตามเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ภูผาได้เห็นข่าวบนสื่อออนไลน์ว่า ข้าวที่เขาซื้อประจำนั้นมีน้ำมันผสมอยู่ ซึ่งในฉลากอาหารก็ไม่ได้ระบุว่ามีน้ำมันเป็นส่วนผสม เขารู้สึกเหมือนถูกหลอก เพราะเขาไม่ต้องการร้บประทานข้าวที่ผสมน้ำมันเนื่องจากกลัวว่าจะกระทบกับสุขภาพ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีนี้มูลนิธิฯ ไม่เพียงได้รับเรื่องจากคุณภูผา ยังได้ร้บการร้องเรียนจากสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้ออีกหลายท่านด้วย  จึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยังบริษัท ซีพีแรม จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของตราผลิตภัณฑ์อีซี่โก เพื่อขอคำชี้แจ้งว่ามีการใช้น้ำมันเป็นส่วนผสมในการหุงข้าวจริงหรือไม่ และหากมีจริงดังปรากฎเป็นข่าวบริษัทควรดำเนินการเปลี่ยนแปลงฉลากให้เป็นฉลากสินค้าที่บอกข้อมูลที่ครบถ้วนต่อผู้บริโภคต่อมาทางบริษัท ซีพีแรมฯ ได้ชี้แจงต่อมูลนิธิฯ ว่า บริษัทฯ มีการเติมน้ำมัน ซึ่งเป็นน้ำมันรำข้าวจริงในผลิตภัณฑ์ โดยเป็นการเติมน้ำมันรำข้าวไปในปริมาณที่ใกล้เคียงกับน้ำมันตามธรรมชาติที่มีอยู่ในข้าว และเป็นสูตรเฉพาะของบริษัทที่ได้วิจัยมา ทั้งนี้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้น โดยข้าวเมื่อทำให้เป็นอาหารแช่เย็น/แช่แข็ง การใช้น้ำมันรำข้าวจึงช่วยรักษาคุณภาพข้าวหลังแช่เย็น/แช่เยือกแข็ง ให้มีคุณภาพ เหนียว นุ่ม หนึบ และอร่อย ตลอดอายุการจัดเก็บจนถึงการบริโภค         ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ทางบริษัทฯ จะดำเนินการเพิ่มข้อมูลว่าใส่น้ำมันรำข้าวไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์ข้าวแช่เย็น แช่แข็ง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564         ดังนั้นผู้บริโภคทุกท่านโปรดอ่านฉลากสินค้าให้ถี่ถ้วนทุกครั้ง และหากพบข้อสังเกตใดที่สร้างความไม่มั่นใจ ควรสอบถามต่อบริษัทผู้ผลิตสินค้าโดยตรงหรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันเฝ้าระวังไปด้วยกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 กระแสในประเทศ

5 ตุลาคม 2553อย่าใช้เครื่องสำอาง “สเต็มเซลล์ พืช” ไม่สวยแถมเสี่ยง!!! อย.เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อเครื่องสำอางอวดอ้างสรรพคุณใช้เซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) จากพืชเป็นส่วนผสม เพราะไม่ให้ผลตามสรรพคุณที่กล่าวอ้าง แถมยังอาจก่อให้เกิดอันตรายได้อีกต่างหาก  ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า มีเครื่องสำอางอวดอ้างให้เข้าใจผิดว่า มีการผสมเซลล์ต้นกำเนิดจากพืชในเครื่องสำอาง และนำเสนอสรรพคุณเกินจริง เช่น สามารถทำให้เซลล์มนุษย์มีการแบ่งตัว และเจริญเติบโตได้ 80%, ทำให้เซลล์ทนทานต่อรังสี UV อายุของเซลล์ยาวขึ้น, มีประสิทธิภาพเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งข้อมูลงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากพืชยังมีอยู่ค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นการสกัดสารสำคัญจากพืชมากกว่าการนำเซลล์พืชมาใช้เป็นส่วนผสม เพราะเซลล์จากพืชยังมีข้อจำกัดที่จะนำมาใช้ จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อการโฆษณาอวดอ้างดังกล่าว เพราะนอกจากไม่เกิดผลตามสรรพคุณที่กล่าวอ้างและเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจเกิดอันตรายอีกด้วย..................................................................... 15 ตุลาคม 2553“เต้าหู้ยี้” ดูให้ดีก่อนทาน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหารได้สำรวจคุณภาพของ “เต้าหู้ยี้” ในภาชนะปิดสนิทตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 - 2552 โดยตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเต้าหู้ยี้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 47 ตัวอย่าง พบเชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟรินเจนส์ (Clostridium perfringens) จำนวน 6 ตัวอย่าง บาซิลัสซีเรียส (Bacillus cereus) เกินเกณฑ์ จำนวน 31 ตัวอย่าง โคลิฟอร์ม (Coliforms) เกินเกณฑ์ จำนวน 7 ตัวอย่าง เชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟรินเจนส์ และบาซิลัสซีเรียส หากมีการปนเปื้อนในอาหารและเข้าสู่ร่างกาย ในปริมาณมากที่จะทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย  ใครที่จะซื้อเต้าหู้ยี้มารับประทาน ควรเลือกที่ภาชนะบรรจุปิดสนิท ไม่มีรอยแตกร้าว ไม่มีคราบเปียกชื้น ฉลากมีเลขทะเบียน อย. แจ้งชื่อผู้ผลิต วันที่ผลิต วันหมดอายุ หากเปิดภาชนะแล้วแต่ทานไม่หมด ควรปิดฝาให้สนิทแล้วเก็บไว้ในตู้เย็น และหากพบว่าเต้าหู้ยี้มีลักษณะเนื้อ สีกลิ่นผิดปกติ แปลว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเสื่อมสภาพไม่ควรนำมารับประทานเด็ดขาด........................................................................   18 ตุลาคม 2553“น้ำมันรำข้าว” ไม่ช่วยรักษาโรค ปัญหาอาหารเสริมโฆษณาเกินจริงมีมาให้ผู้บริโภคได้ปวดหัวกันอีกแล้ว คราวนี้เป็นผลิตภัณฑ์ “น้ำมันรำข้าวและจมูกข้าว” ที่อวดอ้างว่ารักษาโรคได้สารพัด ทั้ง โรคมะเร็ง หัวใจ รูมาตอยด์ ภูมิแพ้ อัมพฤกษ์ เบาหวาน ความดัน อย.จึงต้องออกโรงเตือนผู้บริโภคอย่างหลงเชื่อโฆษณา พร้อมย้ำชัดเป็นแค่ผลิตภัณฑ์อาหารไม่ใช่ยารักษาโรค  อย.ฝากเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อนำมาทานรักษาโรค เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานเสริมนอกเหนือจากการรับประทานอาหารหลักตามปกติเท่านั้น ที่สำคัญอาจทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษาโรคที่ถูกต้อง ยิ่งผู้ป่วยที่ต้องเข้มงวดเรื่องการรับประทาน อย่าง เบาหวาน และมะเร็ง อาจส่งผลข้างเคียงหากทานอาหารเสริมโดยไม่ได้รับคำแนะนำหรือการดูแลจากแพทย์....................................................................   ไม่พอใจบริการโทรศัพท์ ผู้บริโภคบอกยกเลิกสัญญาได้สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หรือ สบท. ได้ฝากเตือนมายังผู้ใช้และผู้ที่กำลังให้ความสนใจจะใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนรุ่นต่างๆ ควรศึกษาดูรายละเอียดข้อมูลสัญญาการให้บริการก่อนตัดสินใจซื้อ และหากใช้แล้วไม่พอใจในบริการสามารถบอกยกเลิกสัญญาได้ โดยการยกเลิกสัญญากับเครือข่ายผู้ให้บริการต่างๆ สามารถทำได้ โดยสามารถแยกวิธีการและเงื่อนไขหลักๆ ได้ 3 กรณี กรณีแรก หากผู้ใช้บริการได้รับบริการที่ไม่มีคุณภาพ ผู้ใช้บริการมีสิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานแล้วโทร. ไม่ติดหรือถูกโอเปอเรเตอร์เปลี่ยนโปรโมชั่นโดยผู้ใช้บริการไม่ยินยอม กรณีที่สอง หากผู้ใช้บริการต้องการยกเลิกสัญญาเพราะไม่อยากใช้งานต่อ จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้บริษัททราบล่วงหน้า อย่างน้อย 5 วัน โดยยกเลิกได้ทั้งแบบคืนเครื่องโทรศัพท์และไม่คืนเครื่อง หากต้องการคืนเครื่องโทรศัพท์ ผู้ใช้บริการจ่ายเฉพาะค่าบุบสลายของเครื่อง แต่ไม่เกินราคาเครื่อง แต่ถ้าผู้ใช้บริการต้องการ เก็บเครื่องโทรศัพท์ไว้ก็ต้องซื้อเครื่องจากผู้ใช้บริการตามราคาตลาด  แต่ในกรณีที่ 3 หากบริษัทใช้วิธีให้ผู้ใช้บริการทำสัญญาโดยการหักบัญชีผ่านบัตรเครดิตนั้น ถือเป็นการทำสัญญาด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับบัตรเครดิตโดยเฉพาะ ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ.2542 ผู้บริโภคมีเวลา 30 วันในการยกเลิกสัญญา ซึ่งหากพ้นจากระยะเวลาที่กำหนดแล้วจะถือว่าสัญญานั้นผูกมัดผู้บริโภค และเป็นไปตามสัญญาบัตรเครดิต ไม่ใช่สัญญาโทรคมนาคม .......................................................................   เมื่อคนไทยถูกคุกคาม ด้วยโรค “ข้อเข่าเสื่อม”จากการสัมนาวิชาการเรื่อง “ทศวรรษใหม่ในการรักษาโรคกระดูกและข้อ” เนื่องในวันโรคข้อสากลประจำปี 2553 มีการเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ขณะนี้คาดว่ามีคนไทยมีปัญหาโรคข้อเสื่อม กระดูกพรุนประมาณ 7 ล้านคน กลุ่มที่พบมากที่สุดคือ ผู้สูงอายุมีประมาณ 6 ล้านคน และยังมีผู้มีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ รวมทั้งโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคเก๊าท์อีกประมาณ 1 ล้านคน แม้ว่าการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่ทำให้ผู้ป่วยทนทุกข์ทรมานจากการเจ็บปวด ยิ่งอาการข้อเข่าเสื่อมหากปล่อยทิ้งไว้นาน อาการอาจรุนแรงถึงขั้นลุกขึ้นยืนหรือเดินเองไม่ได้ ซึ่งนิสัยของคนไทยเสี่ยงอย่างมากต่อการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม ทั้งการนั่งพับเพียง นั่งขัดสามาธิ นั่งยองๆ โดยข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันแล้วว่าการนั่งในลักษณะดังกล่าวทำให้กระดูกอ่อนข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น รวมทั้งการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ ก็เสี่ยงต่อการทำให้ข้อเข่าเสื่อมเช่นกัน นอกจากนี้โรคข้อเสื่อมยังเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม น้ำหนักตัว การใช้งานข้อที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งอาชีพที่มีการใช้งานของข้อมากเช่น ช่างเสริมสวย ครู และเกษตรกรเพราะต้องยืนทำงาน เข่าจะต้องรับน้ำหนักประมาณ 3-4 เท่าของน้ำหนักตัว วิธีการป้องกันโรคเข้าเสื่อมด้วยตัวเอง คือต้องพยามยามหลีกเลี่ยงการใช้เข่ามากๆ เช่นการยืนหรือการนั่งงอเข่านานๆ รวมทั้งควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป และหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งวิธีการสร้างกล้ามเนื้อรอบเข่าสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการนั่งเหยียดขาตึงแนบพื้น พร้อมกับกระดกปลายเท้าเข้าหาตัว สลับกับการจิกเท้าไปข้างหน้า ทำเป็นประจำจะช่วยให้กล้ามเนื้อรอบเข่าแข็งแรงขึ้น หรือหากเริ่มรู้สึกตัวว่ามีปัญหาเรื่องเข่าให้รีบไปพบแพทย์แต่เนินๆ เพื่อจะได้รักษาได้ง่ายและลดอาการป่วยที่อาจเรื้อรัง  

อ่านเพิ่มเติม >