ฉบับที่ 238 มัดรวมผลทดสอบอาหาร 2 ปีรวด คน "ฉลาดซื้อ" ต้องอ่าน

        “อาหาร” ก็เหมือน “ยา” การได้กินอาหารที่ดีมีคุณประโยชน์ร่างกายก็แข็งแรง ซึ่งแน่นอนว่าหาก “กายดี จิตก็ดี” ในทางกลับกันหากกินอาหารคุณภาพไม่ดี คุณประโยชน์ขาดๆ เกินๆ นอกจากจะไม่แฮปปี้ในการกินแล้วยังส่งผลให้สุขภาพแย่ลงด้วย โดยเฉพาะอาหารที่มีการผสมสารเคมีหรือวัตถุเจือปนอาหารต้องห้ามหรือมากเกินมาตรฐานอย่างสารกันบูด การปนเปื้อนโลหะหนักอย่างสารตะกั่ว หรือการปนเปื้อนสารพิษอันตราย อาทิ สารเคมีทางการเกษตร ทั้งยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงต่างๆ แทนที่จะกินอาหารเป็นยา กลับกลายเป็น “ยาพิษ” ไปได้         ดังนั้นนอกจากการออกเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่พยายามปรับปรุงอย่างเต็มกำลัง ซึ่งจะมีข้อห้ามและบทลงโทษเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว ก็อาจต้องยอมรับว่า อย.ยังด้อยเรื่องการทำงานเชิงรุก เรียกว่ายังไม่มากเพียงพอที่จะตามทันเล่ห์เหลี่ยมคนที่จ้องจะหาผลประโยชน์จากการผลิต “ผลิตภัณฑ์อาหาร” ที่ไม่ได้คุณภาพออกมา         “นิตยสารฉลาดซื้อ” โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในการทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามผลิตภัณฑ์อาหารที่วางจำหน่ายในท้องตลาดเมืองไทย เพื่อคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมให้คนไทยได้กินอาหารที่ดี มีประโยชน์จริงๆ ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องนี้ “ฉลาดซื้อ” ติดตาม เกาะติดมานานหลายปี ช่วยจัดทำชุดข้อมูลข้อเท็จจริงส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำกับติดตามให้เกิดการแก้ไข และเพื่อการมีอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย         ในโอกาสสิ้นปี 2563 นี้ นิตยสารได้ทำการสรุปผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2563 อะไรเด่น “ฉลาดซื้อ” มัดรวมเอาไว้ผ่านบทความชิ้นนี้ โดยแยกเป็นกลุ่ม 1. สารกันบูด 2. สารเคมีทางการเกษตร 3. เชื้อดื้อยา และ 4. ไขมันทรานส์         เริ่มกันที่ กลุ่มวัตถุกันเสีย หรือ สารกันบูด ทั้ง กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) มีผลต่อการทำงานของตับ และไต ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา นิตยสารฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างมาทดสอบจำนวนมาก ดังนี้...         “โรตีสายไหม” สุดยอดของฝากจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งการตรวจสอบต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1.แผ่นแป้ง ซึ่งบูดง่าย อาจมีการใช้สารกันบูดเพื่อยืดอายุการใช้งาน 2.น้ำตาลสายไหม ทำจากน้ำตาล น้ำมันมะพร้าว แป้งสาลี และสีผสมอาหารสังเคราะห์ที่มากเกินไปก็ไม่ดีต่อสุขภาพ หลังจากที่เคยเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนมี.ค. 2561 จำนวน 10 ตัวอย่าง พบ 4 ตัวอย่างผสมสารกันบูด ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เข้ามาจัดการแล้ว แต่จากการเก็บตัวอย่างมาตรวจอีกครั้งในเดือนเม.ย.2562 จากตลาด 13 แห่งในพื้นที่ โดยเป็นโรตีสายไหมจากเจ้าเดิม 10 ตัวอย่าง และเจ้าใหม่อีก 3 ตัวอย่าง ผลทดสอบในแป้งโรตี มีการใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์ตาร์ตราซีน (Tartrazine) เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด (สูงสุดไม่เกิน 50 มก./กก.) 2 ตัวอย่าง คือ 1.ร้านวรรณพร ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 59.76 มก./กก. และ 2.ร้านประวีร์วัณณ์  ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 57.41 มก./กก.         ขณะที่การทดสอบวัตถุกันเสียนั้น ในทุกตัวอย่างไม่พบกรดซอร์บิก แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน (ไม่เกิน 1,000 มก./กก.) 7 ตัวอย่าง แต่มีอีก 6 ตัวอย่างที่พบกรดเบนโซอิกเกินค่ามาตรฐาน คือ 1. โรตีสายไหม ร้านเรือนไทย 2. ร้านไคโร น้องชายบังอิมรอน 3. ร้านบังหมัด 4.ร้านวริศรา โรตีสายไหม 5.ร้านบังเปีย อามีนะห์ แสงอรุณ และ 6.ร้านแม่ชูศรี (รายละเอียดในฉบับที่ 218) โดยมีอยู่ 2 ร้านที่ผลการทดสอบครั้งแรกเดือนมี.ค. 2561 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 205) และครั้งนี้พบเกินค่ามาตรฐานทั้ง 2 ครั้ง ร้านเอกชัย (B.AEK) และ ร้านศิลัคข บังอารีย์ แสงอรุณ เจ้าเก่า อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 218)            “เส้นขนมจีน” ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยม เป็นอาหารจำพวกแป้งสด จึงบูดเสียง่าย จึงพบการลักลอบในสารกันบูดเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการทดสอบมาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือน ก.พ. 2559 (ฉบับที่ 180) และในเดือนมิ.ย. 2560 (ฉบับที่ 196) พบว่ามีการการผสมสารกันบูดเกินมาตรฐานเกินครึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มเก็บมา         ล่าสุดเดือนพ.ค.2562 สุ่มเก็บมาอีก 31 ตัวอย่าง จากตลาดสดและห้างสรรพสินค้า ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการแล้วไม่พบกรดซอร์บิกเลย แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง และมี 2 ตัวอย่างที่พบเกินค่ามาตรฐาน 1.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ หมื่นบูรพา จากตลาดคลองเตย พบในปริมาณ 1066.79 มก./กก.และ  2.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ M&A บ้านขนมจีนปทุม จากตลาดสี่มุมเมือง พบในปริมาณ 1361.12 มก./กก.         อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตรวจพบว่าเส้นขนมจีนทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนกรดเบนโซอิก จึงสังเกตที่ฉลากบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติมพบว่ามีเพียง 4 ตัวอย่างที่แสดงข้อมูลการใช้สารกันบูดหรือวัตถุกันเสีย ที่เหลือบางตัวอย่างมีเลขสารระบบของอย. บางตัวอย่างระบุไว้บนฉลากว่าปราศจากวัตถุกันเสีย ปราศจากสิ่งเจือปน  (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 219)         “น้ำพริกหนุ่ม” สำหรับการตรวจหาสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่มนั้น โดยสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มที่จำหน่ายในภาคเหนือ 17 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมิ.ย. 2562 ผลการตรวจพบว่า 2 ตัวอย่างไม่มีสารกันบูดเลย ส่วนที่พบสารกันบูดแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน 8 ตัวอย่าง         และพบกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน 7 ตัวอย่าง คือ 1.น้ำพริกหนุ่ม ร้านดำรงค์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 890.32 มก./กก. 2.น้ำพริกหนุ่ม ล้านนา จาก ตลาดของฝากเด่นชัย จ.แพร่ พบ 1026.91 มก./กก. 3.น้ำพริกหนุ่ม นิชา (เจ๊หงษ์ น้ำพริกหนุ่ม) จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ 1634.20 มก./กก. 4.น้ำพริกหนุ่ม เจ๊หงษ์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 1968.85 มก./กก. 5.น้ำพริกหนุ่ม แม่ชไมพร จาก ตลาดสดอัศวิน ร้านสิริกรของฝาก จ.ลำปาง พบ 2231.82 มก./กก. 6.น้ำพริกหนุ่ม ยาใจ (รสเผ็ด) จาก ร้านขายของฝากสามแยกเด่นชัย จ.แพร่ พบ 3549.75 มก./กก. และ 7. น้ำพริกหนุ่ม อุมา จาก ตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบ 5649.43 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 221)         “กุนเชียง” ว่าด้วยเรื่องของกุนเชียงนั้น เมื่อเดือน ธ.ค.2562 “นิตยสารฉลาดซื้อ” ได้รับการสนับสนุนทีมอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ในการเก็บตัวอย่าง กุนเชียง 19 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกุนเชียงหมู 9 ตัวอย่าง  กุนเชียงไก่ 5 ตัวอย่าง และกุนเชียงปลา 5 ตัวอย่าง มาตรวจสอบ ก็พบว่าทุกตัวอย่างมีความปลอดภัย ไม่มีวัตถุเจือปนอาหาร ไนไตรท์ ไนเตรท กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เกินค่ามาตรฐาน หรือถ้าพบก็พบในปริมาณน้อยไม่เกินค่า ...(อ่านต่อได้ที่ฉลาดซื้อฉบับ 227)         มาต่อกันที่ “สลัดครีม” เมนูอาหารมื้อเบาๆ ที่มักพบสารกันบูดละไขมันนั้น จากการ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม 17 ตัวอย่าง จากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ มาตรวจวิเคราะห์ พบ 1 ตัวอย่างมีสารกันบูด ทั้งกรดซอร์บิก และ กรดเบนโซอิก รวมกันเกินค่ามาตรฐาน คือ “American Classic Ranch” โดยพบกรดเบนโซอิก664.14 มก./กก. และพบกรดซอร์บิก 569.47 มก./กก. รวมแล้วทั้ง 2 ชนิดพบ 1,233.61 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 232)         กลุ่มสารเคมีทางการเกษตร และโลหะหนัก ทั้งนี้ สิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย มีโลหะหนัก หรือการใช้สารเคมีในภาคเกษตรที่มีอยู่หลายร้อยชนิด เป็นความเสี่ยงอย่างสูงที่จะทำให้วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารนั้นมีการปนเปื้อนสารเหล่านี้ไปด้วย ดังนั้น ตลอดปี 2562-2563  “ฉลาดซื้อ” มีการเก็บตัวอย่างอาหารมาทดสอบหาการปนเปื้อน           โฟกัสไปที่ “น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ” เมื่อเดือน ก.พ.-มี.ค.2561 ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 12 ตัวอย่าง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อตรวจหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ผลการตรวจตะกั่ว พบว่าในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มก./ อาหาร 1 กก. ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มก./กก.ก็พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช.ทุกตัวอย่าง           ต่อมาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 15 ตัวอย่าง โดยเป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ตรวจแล้วทุกอย่างอย่างผ่านเกณฑ์การทดสอบตะกั่ว และแคดเมียมทั้งหมด  แต่กลับตรวจพบสารกันบูดแต่ยังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งกรณีที่พบในปริมาณน้อย อาจจะเป็นไปได้ว่า กรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ  (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 220)         ขณะที่ “ปลาสลิดตากแห้ง” ซึ่งเป็นอาหารที่แมลงวันชอบมาตอมและไข่ทิ้งไว้ ทำให้ดูไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งบางร้านใช้การขับไล่ตามปกติ แต่บางร้าน  อาจจะมีการใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่น ดังที่เป็นข่าวเมื่อต้นปี 2560 ที่พบการใช้ ไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน (Dichloro-diphenyl-trichloroethane หรือ ดีทีที) ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อเดือน ก.ค. 2562 “ฉลาดซื้อ” จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาสลิดตากแห้ง 19 ตัวอย่าง จากร้านค้าในตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าทั่วไป และร้านค้าออนไลน์ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ผลตรวจไม่พบว่ามีตัวอย่างใดปนเปื้อนยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และในกลุ่มไพรีทรอยด์ แต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235)         มาต่อกันที่ “น้ำปู” หรือ “น้ำปู๋” เป็นเครื่องปรุงรสของทางภาคเหนือ กลุ่มเดียวกับกะปิ ซึ่งจากการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์น้ำปูจำนวน 24 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ระหว่างวันที่ 7-15 ก.ย. 2563 มาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต พบสารพาราควอตในน้ำปู 33 % หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ ค่าเฉลี่ยของการตกค้าง 0.04275 มก./กก.         โดยตัวอย่างที่พบปริมาณพาราควอตตกค้างมากที่สุด ได้แก่1.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.บ้านลา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง พบ 0.090 มก./กก. 2.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พบ 0.074 มก./กก. 3.น้ำปู ยี่ห้อน้ำปู๋แม่แจ่ม จาก ตลาดสดข่วงเปา ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พบ 0.046 มก./กก.  4.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้าน น.ส.นิตยา ต.แม่ยางฮ่อ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ พบ 0.042 มก./กก. 5.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก บ้านป่าสัก ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา พบ 0.040 มก./กก. 6.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ตลาดบ้านปางลาว ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พบ 0.031 มก./กก. 7.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จากบ้านหนุน อ.ปง จ.พะเยา พบ 0.011 มก./กก. และ 8. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้านป้าหวิน บ้านร่องกาศใต้ ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ พบ 0.006 มก./กก. (อ่านรายละเอียดได้ที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235)         ส่วน “หมึกแห้ง” นั้น เมื่อเดือน ม.ค.2563 ฉลาดซื้อได้เก็บหมึกแห้ง 8 ตัวอย่าง  (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง) จากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งร้านค้าในต่างจังหวัด และห้างออนไลน์ รวม 13 ตัวอย่าง  ตรวจพบว่าทั้ง 13 ตัวอย่างมีการปนเปื้อนปรอทแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยตัวอย่างที่พบสูงสุดอยู่ที่ 0.042 มก./กก. เช่นเดียวกับผลการตรวจหาตะกั่วที่พบทั้ง 13 ตัวอย่างแต่ไม่เกินเกณฑ์ สูงสุด คือ 0.059 มก./กก. สำหรับการตรวจหาสารพิษจากเชื้อรา ( Aflatoxin B1, B2, G1, G2 และ Total Aflatoxin) ไม่พบในทุกตัวอย่าง  เช่นเดียวกับการตรวจหาการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ ก็ไม่พบในทุกตัวอย่างเช่นกัน         อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการตรวจหาแคดเมียม ก็พบทุกตัวอย่าง แต่มีอยู่ 7 ตัวอย่างที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน คือ 1.หมึกแห้ง จาก ตลาดคลองเตย ไม่ระบุ ซ.1 ต้นโพธิ์ พบ 2.003  มก./กก. 2. หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า พบ 2.393 มก./กก. 3. หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ SHOPEE พบ 2.537  มก./กก. 4. หมึกแห้ง จาก ตลาดเยาวราช ร้าน ต.วัฒนาพาณิชย์ ตลาดเก่าเยาวราช พบ  3.006  มก./กก. 5. หมึกแห้ง จาก ตลาดมหาชัย ร้านศรีจันทร์ พบ  3.303  มก./กก. 6. หมึกแห้ง จาก จังหวัดตราด ร้านเจ๊อำนวย (ตรงข้าม รพ. จังหวัดตราด) พบ 3.432  มก./กก. และ 7. หมึกแห้ง จาก ตลาดปากน้ำสมุทรปราการ ร้านพี่น้อง (เจ๊เล็ก) พบ 3.872  มก./กก. ...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 230)         อีกหนึ่งตัวอย่างที่ฉลาดซื้อให้ความสำคัญคือ “ถั่วเหลือง” เป็นพืชที่พบการใช้สารเคมีอันตราย อย่างพาราควอต และไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส แต่ถูกผลักดันให้ยกเลิกการนำเข้า และใช้สารเคมีเหล่านี้ในประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อฉลาดซื้อ เก็บตัวอย่างถั่วเหลืองทั้งแบบเต็มเม็ดและแบบผ่าซีก  3 ครั้ง ในวันที่ 29 พ.ย., 2 ธ.ค. และ 6 ธ.ค. 62  รวม 8 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มาทำการตรวจหาการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตร         ทั้งนี้ผลตรวจสอบพบการตกค้างของไกลโฟเซต 5 ตัวอย่างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน  ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ พบ 0.53 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ พบ 0.07 มก./กก., ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน พบ 0.50 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท พบ 0.20 มก./กก., และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต พบ 0.24 มก./กก. ส่วนอีก 3 ตัวอย่างไม่พบการตกค้างได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, และถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์        “แม้จะพบไกลโฟเซตไม่เกินค่ามาตรฐานอาหารสากล แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการบริโภคในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านความร้อนสูงไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ฟองเต้าหู้”...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 231)         สำหรับกลุ่ม “ไขมันทรานส์” ที่มักพบในขนม นมแนย นั้น และส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน ซึ่งล่าสุดทายอย.ประกาศห้ามมีในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ แล้วนั้น อย่างไรก็ตาม “ฉลาดซื้อ” ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาตรวจสอบ และเผยแพร่ต่อประชาชนคือ         “เค้กเนย และชิฟฟ่อน” โดยมีการเก็บตัวอย่าง 16 ตัวอย่าง พบไขมันทรานส์ในปริมาณน้อยไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค ยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) ถือว่าสูงกว่ายี่ห้ออื่นๆ แต่เมื่อตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์ พบว่า ยี่ห้อนี้เขาจัดหนักจัดเต็มในสูตรเค้กเพราะใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ จึงไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพ ส่วนผลตรวจหาสารกันเสีย ก็พบเค้กเนยนั้นไม่พบกรดเบนโซอิก แต่กรดเบนโซอิกเล็กน้อยไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ..(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 216)           การตรวจหาการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ และเชื้อดื้อยา        “ปลาทับทิมและเนื้อไก่ชำแหละ” ...เมื่อเดือนต.ค. 2563 “ฉลาดซื้อ” ลุยเก็บตัว “ปลาทับทิม” จากตลาดในเขตกรุงเทพฯ 11 แห่ง ตลาดและกระชังปลาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง 4 แห่ง รวม 15 ตัวอย่าง ส่งตรวจพบว่ามี 14 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ มีเพียง 1 ตัวอย่าง จากตลาดคลองเตย พบ ยา Oxytetracycline ในปริมาณน้อยกว่า 5.00 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (ไม่เกินมาตรฐาน)         ส่วน “เนื้อไก่ชำแหละ” ซึ่งได้เก็บมา 10 ตัวอย่าง ผลตรวจพบว่ามี 9 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ  มี 1 ตัวอย่าง จากเนื้อไก่ที่ซื้อจากตลาดเจ้าพรหม  พบยา Enrofloxacin (Endrofloxacin) ในปริมาณ 0.66 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ทั้งนี้ ยาดังกล่าวไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ แม้ อย. อนุญาตให้ใช้ได้แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย อาจถือเป็นความผิดตามมาตรา 60 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522           มัดรวมไว้ตรงนี้ เผื่อว่าใครยังไม่ทราบว่าฉลาดซื้อได้เคยทำทดสอบด้านอาหารอะไรไว้บ้าง ก็น่าจะได้เป็นแนวทางในการค้นหารายละเอียดต่อไป และเราสัญญาว่า เราจะตามติดและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เครื่องสำอาง ฯลฯ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ “ซื้อ” หรือ “ไม่ซื้อ” ในปี 2564 อย่างเข้มข้น แน่นอน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 น้ำสลัดทางเลือกเพื่อคนรักผักสุขภาพ

ก่อนขึ้นปีใหม่ ฉันและเพื่อนได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนผู้ผลิตผักอินทรีย์ ที่บ้านป่าคู้ล่าง  หมู่บ้านเล็กๆ ของชาวโปว หรือที่คนอื่นมักเรียกเขาว่ากะเหรี่ยง ซึ่งอยู่เขตพื้นที่ติดต่อระหว่างเมืองกาญจน์กับสุพรรณบุรี  ทัวร์ครั้งนี้จัดโดยพี่เจน ระวิวรรณ และพี่พยงค์  ศรีทอง  ซึ่งทำงานด้านการเก็บรวบรวมองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และพันธุกรรมพืชท้องถิ่น ในโครงการ การพัฒนาระบบนิเวศน์และอนุรักษ์พืชพันธุ์ กับกลุ่มชาวบ้านในแถบนั้นมาตั้งแต่ปี 35เกือบ 10 ปีแล้วที่พี่เจนและพี่พยงค์ส่งเสริมอาชีพชาวบ้านในแถบนี้โดยหันมาปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืชเศรษฐกิจที่ใช้สารเคมีหลังจากมีปัญหาเรื่องการจำกัดพื้นที่ในการทำไร่หมุนเวียนแบบดั้งเดิมมาสู่การปลูกผักอินทรีย์ หลังจากมีผลผลิตส่งขายทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งตามห้างสรรพสินค้าอยู่พักใหญ่  พี่เจนกับชาวบ้านก็หันมาสรุปบทเรียนแล้วปรับเปลี่ยนรูปแบบการตลาดใหม่  โดยอาศัยหลักความคิดของ CSA :  community supported agriculture ที่ชาวแคนนาดา-อเมริกา พัฒนามาจากระบบสหกรณ์ของชาวญี่ปุ่นอีกที โครงการพี่เจนกับพี่พยงค์ ซึ่งปัจจุบันได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่ทำโครงการผักประสานใจ มา 8 ปี โดยการเปิดรับสมาชิกที่ต้องการรับซื้อผักล่วงหน้าและจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับเกษตรกร  เป็นการร่วมลงทุนของคนกินเพื่อสนับสนุนผู้ผลิตซึ่งเป็นเกษตรกร โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเข้ามาร่วมประกันความเสี่ยงในการผลิตที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร  รวมทั้งยินยอมที่จะกินผักชนิดต่างๆ ที่เกษตรกรพยายามปลูกขึ้นตามรอบฤดูกาลปลูกในระบบการทำเกษตรแบบอินทรีย์ วันที่เราไปเยี่ยมบ้านป่าคู้  นอกจากมีการต้อนรับด้วยอาหารธรรมชาติปรุงรสแบบชาวโปว การหลามข้าวรอบกองไฟเคล้าเสียงเพลงตงโดยเครื่องดนตรีของชนเผ่าที่เรียกว่านาเดย  การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างสมาชิกผู้รับผักกับชาวบ้านที่ปลูกผัก  และลงแปลงผักและตัดผักกลับบ้านแล้ว  เช้าวันที่เราเดินสำรวจแปลงและตัดผักนั้น พี่เจนกับกลุ่มแม่บ้านได้เตรียมอาหารเช้าแบบสดใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพ และเกษตรอินทรีย์สุดๆ ข้าวต้มเห็ด 3 อย่าง กับถั่ว 5 สี  ร้อนๆ  วางเรียงเคียงคู่กับผักเมืองหนาวอินทรีย์ ที่มีให้กินอย่างหลากหลายและชวนกินเฉพาะในช่วงฤดูหนาวนี้ถูกนำมาจัดวางเรียงอย่างสวยงาม  ซึ่งหากถ้าเรามาในช่วงหน้าฝนหรือหน้าแล้งเมนูสลัดบาร์แบบนี้คงต้องเปลี่ยนไปเป็นผักอื่นๆ ไปตามความเหมาะสมของดินฟ้าอากาศที่จะเอื้อให้ผักต่างๆ เติบโต ที่น่าสนใจไม่แพ้กันกับสลัดบาร์คือน้ำสลัด  ซึ่งมี 2 สูตร  ขอนำมาฝากผู้อ่านฉลาดซื้อค่ะ สูตรแรกเป็นน้ำสลัดที่ทำจากไข่แดงของพี่โหน่ง สูตรสองเป็นน้ำสลัดฟักทองของพี่เจน ถามสูตรพี่เจนซึ่งเป็นคนที่ชอบทำกับข้าวและทำกับข้าวได้อร่อยเกือบทุกประเภท  พี่เจนว่าใช้ฟักทองนึ่งแล้วเอามาบดให้ละเอียดแล้วผสมนม น้ำมะนาว เกลือ พริกไทย โรยด้วยงาคั่ว  โดยรสชาติและเนื้อใช้วิธีชิมให้มีรสเข้มเล็กน้อยตามที่เราชอบ เผื่อว่าเมื่อผสมกับผักสดๆ แล้วจะได้รสชาติที่อร่อยกลมกล่อมพอดิบพอดี เห็นน้ำสลัดฟักทองของพี่เจน  ครั้งหนึ่งฉันเคยทดลองทำน้ำสลัดฟักทองเช่นกัน  ส่วนผสมคล้ายๆ  แต่เปลี่ยนจากนมเป็นน้ำมันรำ น้ำมันงา  โดยเอาฟักทองนึ่งแล้วผสมกับน้ำเล็กน้อยแล้วเอาไปปั่น  ได้เนื้อสลัดข้นๆ จึงเอามาผสมกับน้ำมะนาวหรือน้ำส้มหมักผลไม้เท่าที่มีอยู่ในตู้เย็นให้ออกรสเปรี้ยว แล้วเติมน้ำมันรำและน้ำมันงาลงไป แต่ด้วยความที่น้ำสลัดฟักทองที่ฉันทำมันค่อนข้างข้น  บางทีฉันก็ใช้มันกินเป็นครีมหรือแยมแทน โดยใช้วิธีการเอางาตัด ถั่วกระจก หรือขนมปังมาทาหรือจิ้ม  อีกสูตรหนึ่งที่เพิ่งทดลองทำหลังจากไปเจอน้ำสลัดฟักทองอร่อยๆ ของพี่เจน คือน้ำสลัดถั่วเขียว วิธีทำใช้ถั่วเขียวอินทรีย์ ประมาณ ¼ ถ้วยแช่น้ำ ตอนเช้า  ตกค่ำก็เอามาปั่นกับหางกะทิให้ละเอียด  แล้วน้ำถั่วเขียวปั่นไปตุ๋นกับหางกะทิ  1 ถ้วย และหัวกะทิ  1 ถ้วย  ฉันเพิ่มสีให้เขียวสวยขึ้นโดยใส่น้ำย่านางคั้นลงไปด้วยอีก 1 ถ้วย  เมื่อถั่วสุกดีแล้วใส่เกลือและน้ำตาลทราย และพริกไทยป่นลงไป  จากนั้นยกลงจากเตาปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น  ถั่วที่กวนไว้จะพองตัวขึ้นมาและน้ำจะแห้งงวดลงเล็กน้อย ก่อนจะกินกับผักสลัดจึงค่อยเอามาปรุงรสเพิ่มโดยใส่น้ำมะนาวลงไป จะได้รสชาติ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เคล็ดไม่ลับ ตอนตุ๋นนี่ ใช้วิธีใส่น้ำลงในกระทะใหญ่ แล้วเอาหม้อใบเล็กที่เราจะเคี่ยวถั่วกับกะทิตั้งในกระทะ แล้วค่อยๆ คน เพื่อป้องกันถั่วเขียวจับตัวเป็นก้อน  ซึ่งวิธีนี้จะป้องกันการไหม้ก้นหม้อได้เป็นอย่างดี สลัดน้ำถั่วเขียวสูตรนี้ ตอนทำฉันนึกไปถึงน้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ น้ำสลัดแขก และไพล่ไปถึงข้าวตังหน้าตั้ง  และยังคิดทำน้ำสลัดจากพืชผักพื้นบ้านไทยๆ โดยไม่ใช้ ไข่นมเนยแทนอีกหลายสูตร  ส่วนคนกินอย่างคุณสารี บก.ฉลาดซื้อบอกว่า “อร่อยดี”

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 135 น้ำสลัด...วัดกันไปเลย ใครมันกว่า

คุณสาวๆ ที่อยากลดน้ำหนัก มักจะหลงรักเมนูสลัดผักมากเป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าการรับประทานสลัดผักจะไม่ทำให้อ้วน เพราะผักดีต่อสุขภาพช่วยเรื่องระบบขับถ่าย ให้พลังงานน้อย แถมวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ก็มีสูง แต่เดี๋ยวก่อน... รู้ไหมว่า “น้ำสลัด” ตัวช่วยสำคัญที่ช่วยเพิ่มรสชาติ หวานๆ มันๆ เปรี้ยวนิดๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของน้ำสลัดนี้แหละ คือตัวการเพิ่มน้ำหนักโดยแท้   อร่อยมากไป..ระวังไขมันล้น หลายคนเวลารับประทานสลัดผัก มักชอบเติมน้ำสลัดแบบไม่บันยะบันยัง กลัวว่าถ้าใส่น้อยเกินไปแล้วจะไม่อร่อย หารู้ไม่ ว่าการทำแบบนั้นแทนที่กินสลัดผักแล้วจะช่วยลดน้ำหนักกลับจะทำให้น้ำหนักเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เพราะส่วนประกอบหลักๆ ในน้ำสลัดประกอบด้วย น้ำมันพืช น้ำตาล และไข่ไก่ เป็นสำคัญ ยิ่งคนนิยมรับประทานสลัดผักเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น น้ำสลัดแบบบรรจุถุง บรรจุขวดพร้อมรับประทานก็มีผลิตออกมาวางขายกันหลากหลายยี่ห้อ ส่วนประกอบหลักของบรรดาน้ำสลัดยี่ห้อต่างๆ ที่วางขายกันอยู่ในปัจจุบัน คือน้ำมันพืช กับ น้ำตาล เฉพาะ 2 อย่างนี้รวมกันปริมาณก็เกือบ 50% ของส่วนประกอบทั้งหมด ถ้าเป็นแบบนี้คนที่ชอบเติมน้ำสลัดเยอะๆ ก็อาจไม่ผอมหรือสุขภาพดีสมใจ แต่จะเสี่ยงกับการมีน้ำหนักเพิ่มและเจ็บป่วยจากการที่ร่างกายได้รับไขมันมากเกินไป ทดสอบปริมาณไขมันในน้ำสลัด ฉลาดซื้อส่งเสริมให้ทุกคนรับประทานผักและเห็นว่าเมนูสลัดผักเป็นเมนูที่ดีต่อสุขภาพ แต่ก็ต้องเลือกเติมน้ำสลัดแต่พอดี แล้วน้ำสลัดสำเร็จรูปยี่ห้อไหนที่น่าจะนำมาปรุงเมนูสลัดบ้าง ฉลาดซื้อจึงได้ทำการทดสอบเปรียบเทียบปริมาณไขมัน (Total Fat) ที่อยู่ในน้ำสลัดจำนวน 10 ยี่ห้อที่วางตามท้องตลาดทั่วไป เอาใจคนรักสุขภาพ คนที่ชอบสลัด   ตารางแสดงผลการทดสอบปริมาณไขมันในตัวอย่างน้ำสลัดสำเร็จรูปผลทดสอบโดย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งทดสอบเท่านั้นเก็บตัวอย่างทดสอบเมื่อเดือน มีนาคม 2555   ผลทดสอบ - สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ได้กำหนดปริมาณไขมันที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายเป็นปริมาณต่อ 1 มื้อ อยู่ที่ไม่เกิน 15 กรัม ไม่นับรวมกับปริมาณไขมันที่อาจได้เพิ่มอีกจากการรับประทานอาหารระหว่างมื้อหรืออาหารว่างซึ่งเกณฑ์ได้กำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 6 กรัม -น้ำสลัดชนิดครีมข้นทั้ง 10 ตัวอย่างที่ทดสอบ มีไข่แดงของไข่ไก่เป็นตัวทำให้น้ำสลัดมีความข้น (น้ำสลัดแบบใสจะไม่มีไข่เป็นส่วนประกอบ) - คิวพี สลัดครีม มีปริมาณไขมันมากที่สุด คือ 54 กรัม ต่อ น้ำสลัด 100 กรัม หากคิดเป็นปริมาณต่อการรับประทานสลัด 1 จาน โดยเติมน้ำสลัด 1 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 15 กรัม ปริมาณของไขมันที่ได้รับอยู่ประมาณ 8.05 กรัม แต่ถ้าเพิ่มน้ำสลัดเป็น 2 ช้อนโต๊ะ ปริมาณไขมันที่ได้จากผักสลัด 1 จานก็จะเพิ่มเป็น 16.1 กรัม ก็ถือว่าเลยเกณฑ์ปริมาณของไขมันที่เหมาะสมในอาหาร 1 มื้อ ที่ 15 กรัมไปเล็กน้อย -ตัวอย่างน้ำสลัดที่ทดสอบพบปริมาณไขมันในระดับสูงรองๆ ลงมา ได้แก่ มอลลี่ สลัดครีม พบปริมาณไขมัน 49.2 กรัมต่อน้ำสลัด 100 กรัม หรือประมาณ 7.34 กรัมต่อน้ำสลัด 1 ช้อนโต๊ะ, สุขุม สลัดครีม พบปริมาณไขมัน 45.1 กรัมต่อน้ำสลัด 100 กรัม หรือประมาณ 6.73 กรัมต่อน้ำสลัด 1 ช้อนโต๊ะ และ เบสท์ ฟู้ดส์ สลัดครีม พบปริมาณไขมัน 43.8 กรัมต่อน้ำสลัด 100 กรัม หรือประมาณ 6.53 กรัมต่อน้ำสลัด 1 ช้อนโต๊ะ -จากการสังเกต พบว่ามี 2 ตัวอย่างที่ระบุไว้บนฉลากชัดเจนว่าเป็นสูตรไขมันต่ำ คือ บิ๊กซี น้ำสลัดครีม สูตรไขมันต่ำ และเฟียว ฟู้ดส์ น้ำสลัดครีม สูตรไขมันต่ำ พบปริมาณไขมันในระดับที่น้อยมากตรงกับที่โฆษณาว่าเป็นสูตรไขมันต่ำจริง -ตัวอย่างน้ำสลัดหรือสลัดครีม ที่นำมาทดสอบมีความหลากหลายในเรื่องของการใช้วัตถุกันเสีย การใช้สี และการแต่งกลิ่น ตามข้อมูลที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ เพราะฉะนั้นถ้าใครอยากรับประทานน้ำสลัดที่ไม่ใช้วัตถุกันเสีย ไม่แต่งสี ไม่แต่งกลิ่น ก็ต้องอ่านข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์ให้ดี   สรุป... ถ้าดูจากผลการทดสอบปริมาณไขมันในน้ำสลัด ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าเป็นห่วง ถ้าหากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม คือไปเกิน 2 ช้อนโต๊ะ แต่ที่สำคัญและต้องพิจารณาให้ดี คือต้องรับประทานสลัดเป็นอาหารจานหลักจริงๆ ไม่ใช่เป็นจานเสริมคู่กับอาหารเมนูอื่นๆ หลายคนเลือกรับประทานสลัดเพราะว่าห่วงใยสุขภาพ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่หลายคนก็ยังกลัวว่าการรับประทานแค่สลัดผักจะไม่ทำให้อิ่มท้อง ก็เลยมักจะรับประทานสลัดคู่ไปกับเมนูอื่นๆ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ ไขมันในน้ำสลัดรวมเข้ากับไขมันในอาหารอื่น โอกาสเสี่ยงที่เราจะได้รับไขมันเกินความต้องการก็มีสูง ถ้าไม่อยากให้ไขมันที่เกินพอดีมาทำร้ายสุขภาพของเราก็ต้องรู้จักควบคุมดูแลเรื่องอาหารการกิน สมมติว่าเรารับประทานอาหารที่มีไขมันสูงไปแล้วแต่เรายังอยากรับประทานสลัดผัก ก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงน้ำสลัดเลือกรับประทานเป็นผักสดๆ แทน หรือไม่ก็ควรรับประทานสลัดให้เป็นอาหารหลักจานเดียวให้ได้ ถ้ากลัวไม่อิ่มก็ควรเติมเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ กุ้ง ทูน่า ไข่ต้ม หรือเลือกพวกธัญพืชที่ให้โปรตีน พวกถั่วต่างๆ หรือจะใส่ผักที่ให้พลังงานสูงๆ อย่าง เผือกหรือมัน ก็เป็นวิธีที่น่าจะช่วยให้เราอิ่มได้ด้วยสลัดจานเดียว   ----------------------------------------------------------------------------------------------------- กินสลัดให้อร่อยและดีต่อสุขภาพ 1.ควรเติมน้ำสลัดแต่พอดี แค่ให้พอช่วยเพิ่มรสชาติให้เรารับประทานผักได้มากขึ้น 2.ทำน้ำสลัดไว้กินเอง น้ำสลัดทำได้ไม่ยาก มีน้ำสลัดหลายสูตรที่ไม่ต้องใช้น้ำมันเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำสลัดผลไม้ ใช้นมข้น ใช้เนื้อเต้าหู้หรือน้ำเต้าหู้ หรือสูตรง่ายๆ อย่างการใช้โยเกิร์ตแทนน้ำสลัด หรือสูตรไทยๆ อย่างน้ำจิ้มซีฟู้ดก็เข้ากันดีกับผักสดๆ 3.ไม่ต้องเติมน้ำสลัดก็ได้ เราสามารถทำสลัดผักจานโปรดของเราให้มีรสชาติดีได้โดยไม่ต้องเติมน้ำสลัด แค่เพียงเลือกเติมผลไม้ที่เราชอบหรือเลือกชนิดที่มีรสเปรี้ยวและมีความฉ่ำ เช่น ส้ม ส้มโอ สับปะรด ฯลฯ รสหวานนิดๆ เปรี้ยวพอดีๆ ของผลไม้จะช่วยตัดรสจืดๆ เฝื่อนๆ ของผักใบเขียวได้เป็นอย่างดี 4.ถ้าต้องซื้อน้ำสลัด อ่านฉลากให้ละเอียด สังเกตที่ส่วนประกอบ เลือกที่มีสัดส่วนของน้ำมันน้อย ปริมาณไขมันก็น้อยลงตาม แต่อย่าลืมดูปริมาณของส่วนประกอบอื่นๆ ด้วย ทั้ง น้ำตาล เกลือ และเครื่องปรุงรสต่างๆ ถ้ามีฉลากโภชนาการก็ควรอ่านฉลากโภชนาการก่อนตัดสินใจซื้อ ดูว่าปริมาณต่อ 1 เสิร์ฟ ซึ่งเขาจะบอกไว้เป็นปริมาณต่อ 1 ช้อนโต๊ะหรือ 2 ช้อนโต๊ะ เราได้รับปริมาณสารอาหารต่างๆ มากน้อยแค่ไหน 5.ก่อนทำสลัดรับประทาน อย่าลืมล้างทำความสะอาดผักให้สะอาดเรียบร้อย เลือกผักที่สดสะอาดและต้องเลือกผักให้หลากหลาย หลากสี หลากชนิด เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินแร่ธาตุที่หลากหลายแตกต่างกันไป -----------------------------------------------------------------------------------------------------   ปริมาณของไขมันที่เหมาะสมสำหรับคนไทยใน 1 วัน (Thai RDI) อยู่ที่ไม่เกิน 65 กรัม ซึ่งถือเป็นเกณฑ์มาตรฐานตั้งต้น แต่หากจะดูถึงความเหมาะสมจริงๆ จำเป็นต้องพิจารณาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของแต่ละคนประกอบด้วย เช่น ถ้าเป็นคนที่ต้องใช้แรงใช้กำลังค่อนข้างมากในการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ เช่น นักกีฬา ปริมาณของไขมันที่ควรได้รับในแต่ละวันก็อาจใกล้เคียงกับเกณฑ์ของ Thai RDI ที่ไม่เกิน 65 กรัม แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่ได้มีภาระงานหรือกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากนักในแต่ละวัน เช่น คนที่ทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ก็ไม่มีความจำเป็นที่ร่างกายจะต้องได้รับปริมาณไขมันในระดับสูงตามที่เกณฑ์กำหนดไว้ ไขมันถือเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เพราะไขมันเป็นทั้งแหล่งพลังงาน ช่วยในการดูดซึมวิตามินหลายชนิด เช่น เอ ดี อี เค ทั้งยังช่วยรักษาสมดุลให้ผิวหนัง ควบคุมการเผาผลาญ ฯลฯ แต่การได้รับไขมันเกินกว่าความต้องการของร่างกาย ไขมันส่วนเกินจะไปรบกวนการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น หัวใจ หลอดเลือด ตับ ไต ฯลฯ การควบคุมให้ปริมาณไขมันพอดีกับร่างกายจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน ซึ่งไม่เพียงแต่การควบคุมการรับประทานอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแบ่งเวลาให้กับการออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายได้เผาผลาญไขมันส่วนเกิน

อ่านเพิ่มเติม >