ฉบับที่ 264 กระแสต่างแดน

ทำงานช่วยชาติ         รัฐบาลเดนมาร์กมีมติยกเลิกการหยุดงานในวัน Great Prayer Day ซึ่งเป็นวันสำคัญทางคริสต์ศาสนามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 โดยให้เหตุผลว่าต้องการเงินทุนเพิ่มสำหรับการใช้จ่ายภาครัฐรวมถึงการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มให้กับกระทรวงกลาโหมในยุคที่ประเทศอาจต้องเผชิญสงคราม         ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป จะไม่มี “ลองวีคเอนด์” ที่เริ่มจากวันศุกร์ที่สี่หลังอีสเตอร์ ในฤดูใบไม้ผลิ หรือวัน Great Prayer Day นั่นเอง         เมื่อไม่ใช้วันหยุด ห้างร้าน สถานประกอบการ และธุรกิจอื่นๆ ก็ต้องเปิดทำการ เมื่อผู้คนมีชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยคนละ 7.4 ชั่วโมง ก็ย่อมมีรายได้เพิ่มและเสียภาษีมากขึ้นตามไปด้วย         กระทรวงการคลังประเมินว่ารัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 3,000 ล้านแดนิชโครน (ประมาณ 15,000 ล้านบาท) และจะบรรลุเป้าหมายที่นาโตกำหนดไว้ว่าประเทศสมาชิกจะต้องมีงบป้องกันประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ เล็กๆ ห้ามแจก         อีกสองปีโรงแรมที่มีห้องพักมากกว่า 50 ห้องในเกาหลีจะยกเลิกการแจกสบู่ แชมพู โลชัน ยาสีฟัน ฯลฯ ในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้กับแขกที่เข้าพัก เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. การรีไซเคิลทรัพยากร (Resource Recycle Act)         หลายคนไม่ถูกใจสิ่งนี้ เพราะของใช้ส่วนตัวดังกล่าวเป็นปัจจัยที่คนเกาหลีจำนวนไม่น้อยใช้เลือกโรงแรมที่เข้าพัก เพราะมันหมายถึงโอกาสที่จะได้ใช้ “ของไฮเอนด์” เช่นเดียวกับบรรดาแบรนด์ต่างๆ ที่มักใช้วิธีการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ผ่านทางลูกค้าของโรงแรม         ผลตอบรับจากโรงแรมที่เริ่มใช้นโยบายนี้แล้วออกมาไม่ค่อยดีนัก พนักงานบอกว่าลูกค้าส่วนหนึ่งที่ไม่อยาก “ใช้ของร่วมกับคนอื่น”​ จะโทรลงมาขอสบู่ แชมพู ขวดใหม่ บางคนที่อยากได้แชมพูหรือครีมอาบน้ำไว้ใช้ต่อก็พกพาขวดใหญ่กลับบ้านไปด้วย        บางโรงแรมจึงแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติให้ลูกค้าได้กดซื้อเองไปเลย น้องไก่กู้โลก         หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมือง Colmar ทางตะวันออกของฝรั่งเศส มีวิธีกำจัดขยะอาหารแบบ “ออกานิก” ด้วยการแจกไก่ให้ลูกบ้านนำไปเลี้ยงครัวเรือนละสองตัว         โครงการไก่กู้โลกนี้ทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่แปดแล้ว โดยผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการได้ต้องมีสภาพบ้านที่เหมาะสมในการเลี้ยง และเพื่อให้มั่นใจว่าน้องๆ จะอยู่ดีมีสุขตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะแวะไปเยี่ยมเยียนโดยสม่ำเสมอด้วย        ไก่หนึ่งตัวมีศักยภาพในการเก็บกินอาหารเหลือได้วันละประมาณ 300 กรัม เขาคำนวณแล้วว่าวิธีการนี้สามารถกำจัดขยะอาหารของครัวเรือนที่มีสมาชิกสองคนได้ถึงปีละ 100 กิโลกรัม         อีกแผนแก้ปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากอาหารการกินของฝรั่งเศสคือการเตรียมประกาศ “มาตรฐานการทำปุ๋ยหมัก” ให้ทุกครัวเรือนสามารถใช้อ้างอิงได้ ในเดือนมกราคมปี 2567 และขณะนี้บางโรงเรียนเริ่มลดปริมาณเนื้อสัตว์ในอาหารกลางวันแล้วน้อยก็ต้องทอน         ชายอินเดียวัย 27 ปียื่นฟ้องบริษัทขนส่งมวลชนบังกาลอร์ (BMTC) เรียกร้องค่าเสียหายทางจิตใจที่ถูกกระเป๋ารถเยาะเย้ยเมื่อเขาทวงเงินทอน 1  รูปี         เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนกันยายนปี 2562 เมื่อเขาโดยสารรถเมล์ของ BMTC แล้วให้เงินกระเป๋ารถไป 30 รูปี เพื่อจ่ายค่าโดยสารในอัตรา 29 รูปี แต่กระเป๋าไม่ยอมทอนเงินให้ แถมเธอยังพูดจาไม่ดี เมื่อเขาไปร้องเรียนกับพนักงานอาวุโสของบริษัท คนเหล่านั้นก็หัวเราะเยาะเขาอีกเช่นกัน         เขาจึงใช้สิทธิตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ยื่นฟ้องบริษัทและผู้บริหาร ข้อหาบกพร่องในการให้บริการ  และเรียกร้องค่าเสียหาย 15,000 รูปี จากการถูกทำให้เสียความรู้สึก            หลังจากต่อสู้คดีกันเป็นเวลา 3 ปี ศาลตัดสินว่าพฤติกรรมการให้บริการของกระเป๋ารถคนดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และตัดสินให้เขาได้รับเงินทอน 1 รูปี พร้อมค่าชดเชยอีก 3,000 รูปี (ประมาณ 1,250 บาท) เพื่อเป็นการเยียวยาสภาพจิตใจรับมือตัวฤทธิ์         ซัมเมอร์นี้อิตาลีคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับไปเหมือนก่อนช่วงโควิดระบาด และคราวนี้บรรดาเมืองเล็กที่อยู่ในเส้นทางระหว่างสถานที่ยอดนิยมก็เตรียมมาตรการรับมือไว้แล้ว        ชุมชนเหล่านี้มีจุดยืนว่าจะไม่ “รับทุกคน” ถนนบางสายถูกกำหนดให้ใช้ได้เฉพาะผู้มีใบขับขี่อิตาลี บางสายที่คนท้องถิ่นใช้สัญจรไปมาหนาแน่นก็ไม่อนุญาติให้รถยนต์หรือจักรยานยนต์ของนักท่องเที่ยว (ทะเบียนต่างชาติ) เข้ามาวิ่ง             หลายที่บังคับใช้การจองผ่านแอปฯ เพื่อจำกัดจำนวนคน บางเมืองห้ามนำรถยนต์เข้าถ้าเข้าพักไม่ถึงสี่วัน ทั้งนี้รถต่างถิ่นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมล่วงหน้า และชาวต่างชาติจะต้องจ่ายค่าเหยียบแผ่นดินในฤดูร้อน 3 ยูโร ด้วย         นอกจากนี้ยังมีนโยบายจำกัดจำนวนห้องที่นำมาให้บริการที่พักกับนักท่องเที่ยว เพื่อให้มั่นใจว่านักศึกษาหรือคนทำงานที่ต้องการที่อยู่ จะไม่ขาดแคลนห้องเช่านั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 226 นมข้นหวานและบรรจุภัณฑ์ที่ชวนข้องใจ

เคยทานนมข้นหวานกันหรือไม่ ? แล้วนมข้นหวานที่ท่านรู้จักบรรจุอยู่ในภาชนะแบบไหน ? เมื่อก่อนนมข้นหวานจะบรรจุในกระป๋องโลหะเคลือบดีบุก เวลาใช้งานต้องเจาะรูสองข้าง หรือเจาะฝาทั้งหมด แต่เดี๋ยวนี้นมข้นหวานมีชนิดที่บรรจุในหลอดพลาสติกแบบบีบ เพื่อสะดวกต่อการใช้งาน แต่ว่าผู้บริโภคหลายคนก็กังวลเมื่อเจอปัญหานมข้นหวานในบรรจุภัณฑ์แบบใหม่นี้           คุณภูผาซื้อนมข้นหวานชนิดบีบยี่ห้อหนึ่งมารับประทาน ทั้งรู้สึกชอบใจที่บรรจุภัณฑ์แบบใหม่นี้วิธีการใช้ง่ายดี บีบรับประทานได้สะดวก เมื่อใช้ไม่หมดในครั้งแรกเขาก็เก็บส่วนที่เหลือเข้าตู้เย็นและนำออกมารับประทานอีกหลายครั้ง จนนมใกล้จะหมดหลอด คราวนี้เมื่อบีบออกมาก็พบว่า นมมีกลิ่นแปลกๆ และมีจุดดำๆ ออกมาด้วย         เมื่อสงสัยก็ต้องพิสูจน์ คุณภูผาจึงผ่าหลอดออกดู เขาพบว่าในหลอดมีสิ่งปนเปื้อนจุดดำๆ หลายจุดลักษณะคล้ายเชื้อรา ตกใจในสิ่งที่เห็นมากมายเขาจึงแจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อขอให้บริษัทฯ นำสินค้าไปตรวจสอบว่า สิ่งปนเปื้อนที่พบเป็นอะไรกันแน่ เมื่อมอบสินค้ากับเจ้าหน้าที่แล้ว เขาก็รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อให้คลายกังวล  แต่แพทย์ไม่ได้ทำอะไร เนื่องจากเขาไม่มีอาการผิดปกติ ซึ่งคุณภูผาก็ยังกังวลเพราะไม่ทราบว่า กินสิ่งที่คล้ายเชื้อราไปตั้งแต่เมื่อไหร่ และในอนาคตไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีอาการผิดปกติหรือไม่         ต่อมาพนักงานของบริษัทฯ แจ้งกลับมาว่า สิ่งที่คุณภูผาพบนั้นเป็นเชื้อราจริง แต่ไม่สามารถให้ผลการตรวจได้ โดยก่อนมารับตัวอย่างพนักงานของบริษัทเคยรับปากว่า จะนำผลการตรวจสอบส่งให้เขา ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ตกลงก่อนมอบสินค้า คุณภูผาจึงขอคุยกับคนที่มีอำนาจตัดสินใจ แต่พนักงานคนดังกล่าวบ่ายเบี่ยง พร้อมส่งเอกสารแจ้งมาว่า “ไม่สามารถสรุปสาเหตุได้แน่ชัด” เขาจึงกังวลว่าสิ่งที่รับประทานเข้าไปจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย และสงสัยว่ากรณีแบบนี้ บริษัทผู้ผลิตต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่ อย่างไร จึงสอบถามมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มีหนังสือถึงบริษัทผู้ผลิตขอเชิญประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างคุณภูผาและบริษัทฯ โดยตัวแทนบริษัทฯ ได้ชี้แจงว่า ปกติเชื้อราที่พบในนมไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายของเรา เพราะร่างกายจะสามารถกำจัดออกได้เอง ไม่เหมือนเชื้อราอะฟลาทอกซินในถั่วที่อาจทำให้เป็นมะเร็งได้ ตัวแทนบริษัทได้แสดงการขอโทษด้วยการมอบผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้ผู้ร้องหนึ่งกระเช้าและเงินค่าเสียเวลาจำนวนหนึ่ง คุณภูผาเองเมื่อได้ทราบข้อมูลเรื่องความปลอดภัย ก็ไม่ติดใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เพียงแค่ขอให้บริษัทปรับปรุงการให้ข้อมูลของฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์         อย่างไรก็ตามศูนย์ฯ ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้ตรวจสอบสถานที่ผลิตของบริษัทนมข้นหวานนี้เพิ่มเติมด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว สิงหาคม 2558 กสทช. สั่งปรับดีแทคให้ลูกค้าใช้เน็ตฟรี 1 กิกะไบต์เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหากับผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ “ดีแทค” บางส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่สามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตได้ เนื่องจากมีสัญญาณต่ำมาก ทำให้มีผู้ใช้บริการจำนวนมากแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งทาง กสทช. ได้เรียกผู้แทนของบริษัท ดีแทค เข้ามาชี้แจงถึงเหตุของปัญหาดังกล่าวพบว่า เกิดจากอุปกรณ์โครงข่ายบางส่วนของดีแทค ได้เกิดความขัดข้อง ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคราว 50,000 ราย     ทาง กสทช. ได้สั่งให้ดีแทคเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งทางดีแทคได้แจ้งว่าจะชดเชยผู้ใช้บริการ 50,000 รายที่ได้รับผลกระทบ โดยจะให้บริการอินเทอร์เน็ตเพิ่มฟรี จำนวน 1 กิกะไบต์ ในรอบบิลถัดไป    ใครที่เป็นผู้ใช้เครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือระบบดีแทคแล้วได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว หากไม่ได้รับจากชดเชยเยียวยาตามที่แจ้ง สามารถติดต่อสอบถามไปที่ ดีแทค คอล เซนเตอร์ โทร. 02-2027267 (โทรฟรี) หรือสายด่วน กสทช. 1200 ห้ามบรรจุภัณฑ์ทำไซต์ใหญ่ตบตาผู้บริโภคเดี๋ยวนี้มีผลิตภัณฑ์หลายชนิดหลายยี่ห้อที่ใช้บรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่เกินความจำเป็น ด้วยเหตุผลที่ตั้งใจจะตบตาผู้บริโภค ให้สินค้าตัวเองดูมีขนาดใหญ่น่าจะให้ปริมาณเยอะ แต่แท้จริงมีของอยู่ไม่ถึงครึ่งบรรจุภัณฑ์ แถมยังเป็นเพิ่มปริมาณขยะอีกต่างหาก ซึ่งปัญหานี้กำลังจะได้รับการแก้ไข หลังจากพบว่ามีร้องเรียนปัญหาด้งกล่าวเป็นจำนวนมากเข้ามายัง สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. โดยมีการสำรวจสินค้าต่างๆ พบว่าสินค้ากลุ่มที่พบการใช้บรรจุภัณฑ์ใช้พื้นที่มากเกินความจำเป็น ได้แก่ ขนมขบเคี้ยว ยาสระผม น้ำยาล้างจาน ฯลฯ ซึ่งพบว่ามีพื้นที่ว่างเฉลี่ยถึง 15 - 35% แม้ว่าสินค้าที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์จะมีน้ำหนักหรือปริมาณที่ตรงกับที่ระบุไว้ด้านข้างบรรจุภัณฑ์ แต่การที่บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าความเป็นจริงอาจทำให้ผู้บริโภคสับสน เพราะผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจซื้อสินค้าเหล่านั้น เพราะเห็นบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่ และคิดว่าปริมาณสินค้าด้านในจะมากใกล้เคียงกับขนาดบรรจุภัณฑ์โดยหลังจากนี้ สคบ. ตั้งใจที่จะออกเป็นข้อกำหนดหรือ พ.ร.บ. ควบคุมเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพื่อจะได้เป็นช่วยผู้บริโภคไม่ให้เกิดความสับสน กระตุ้นให้ผู้ผลิตลดการใช้ทรัพยากรส่วนเกินและลดการเพิ่มปริมาณขยะ “ยากำจัดฝุ่นไร” เป็นยาอันตรายใช้ต้องระวังปัญหาเรื่องฝุ่นไรภายในบ้านถือเป็นเรื่องที่หลายๆ ครอบครัวกังวลและให้ความสำคัญ เพราะฝุ่นไรที่มักอยู่ตามที่นอน ผ้าม่าน อาจเป็นต้นเหตุของโรคภูมิแพ้ได้ ซึ่ง อย. ก็ออกมาให้คำแนะนำก่อนที่ผู้บริโภคจะหาซื้อผลินภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ โดยเฉพาะต้องไม่ลืมคำนึงถึงเรื่องของความปลอดภัย เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้กำจัดไรฝุ่นบ้านจัดเป็นวัตถุอันตรายในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 อาจจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หรือชนิดที่ 3  ขึ้นอยู่กับชนิดของสาระสำคัญที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ ซึ่งสารสำคัญในผลิตภัณฑ์กำจัดไรฝุ่นบ้านที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. คือ น้ำมันกานพลู (Clove Oil) และน้ำมันอบเชย (Cinnamon Oil)สำหรับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กำจัดไรฝุ่นบ้านนั้น ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. และมีการแสดงเลขทะเบียน วอส. (วัตถุอันตราย ) ในกรอบเครื่องหมาย อย. ควรอ่านฉลากก่อนใช้และปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลากอย่างเคร่งครัด ส่วนวิธีการใช้สําหรับที่นอน ฉีดผลิตภัณฑ์กําจัดไรฝุ่นให้ทั่วที่นอนแล้วใช้ผ้าห่มหรือพลาสติกคลุมทิ้งไว้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง แล้วจึงเปิดผ้าคลุมออก ทิ้งไว้จนกลิ่นจางลงจึงใช้ได้ สําหรับผ้าห่ม หมอน ตุ๊กตา โซฟา ฉีดสเปรย์ให้สัมผัสโดยตรง ทิ้งไว้จนกลิ่นจางลงจึงใช้ได้ ระวังอย่าให้ละออง เข้าตา ปาก หรือจมูกเมื่อเสร็จจากการใช้แล้วต้องรีบล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยว่าผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายใดที่มีการขึ้นทะเบียนไว้กับ อย.หรือไม่ สามารถสืบค้นได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หัวข้อสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ เลือกผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย และทะเบียนวัตถุอันตราย โดยสามารถค้นหาได้จากชื่อผลิตภัณฑ์ชื่อ สารสําคัญ และเลขทะเบียนวัตถุอันตราย “ประกันสังคม” สิทธิทันตกรรมแย่สุดเมื่อเทียบ 3 สิทธิทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เปิดเผยข้อมูลเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมของ 3 กองทุน คือ สวัสดิการข้าราชการ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และประกันสังคม พบว่าแต่ละกองทุนมีการกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมไว้ครอบคลุมไม่เท่ากัน โดยสิทธิประกันสังคมจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่ำที่สุด และกลุ่มที่เหมือนจะถูกเอารัดเอาเปรียบมากที่สุดด้วย เพราะเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องร่วมจ่าย แต่สิทธิที่ได้รับการทำฟันน้อยมาก จำกัดเพียงแค่การถอนฟัน อุดฟัน การขูดหินน้ำลาย และใส่ฟันเทียมถอดได้ โดยมีเบิกจ่ายสูงสุดได้เพียงแค่ 600 บาทต่อปี และกำหนดให้เป็นการเบิกจ่ายจากการทำหัตถการ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 300 บาท ถือว่าน้อยมากและยุ่งยากขณะที่ระบบบัตรทองให้สิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมการทำหัตถกรรมเกือบทั้งหมด ตั้งแต่การขูดหินน้ำลาย อุดฟัน ถอนฟัน ผ่าฟันคุด ยกเว้นการรักษาคลองรากฟัน ไปจนถึงการใส่ฟันเทียม ซึ่งถือว่าดีกว่าประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการถือว่าให้การดูแลผู้ป่วยทันตกรรมดีที่สุด เพราะสิทธิประโยชน์ครอบคลุมหัตถการทันตกรรมทั้งหมด เพียงแต่จำกัดต้องทำเฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น ซึ่งบางแห่งมีคิวหนาแน่น เพราะต้องดูแลทั้งผู้ป่วยบัตรทองและข้าราชการทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายก (สำรอง) ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ฝากข้อเสนอถึง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ว่าควรปรับเพิ่มเพดานเบิกจ่ายในส่วนของทันตกรรมให้มากกว่าแค่ 600 บาท เพราะเป็นวงเงินที่น้อยเกินไป ทั้งนี้ในส่วนของผู้ประกันตนถือเป็นระบบประกันภาคบังคับ จึงควรได้รับการดูที่ดีและครอบคลุมมากกว่าที่จะผลักภาระให้ผู้ประกันตนยังต้องจ่ายเงินค่ารักษาดูแลตัวเองเพิ่มขึ้นอีกสายการบินโลว์คอสห้ามคิดค่าโดยสารเกิน 13 บาทต่อ กม.ปัจจุบันมีสายการบินต้นทุนต่ำ (low cost airline) เปิดให้บริการหลายสายการบิน  ซึ่งที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนจากการใช้บริการผ่านมายังกรมการบินผลเรือนและทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องโปรโมชั่นที่ไม่ตรงตามที่แจ้งไว้ในโฆษณา เช่นการจองที่นั่งแล้วพบว่าไม่มีที่นั่งตามที่จอง หรือการจำกัดจำนวนแต่ไม่ได้มีการแจ้งรายละเอียดไว้ว่าปัจจุบันเหลือที่นั่งเท่าไหร่ สามารถจองได้ถึงเมื่อไหร่ รวมทั้งเรื่องราคาที่ไม่ได้แจ้งราคาสุทธิจริงๆ ไว้ในโฆษณา ซึ่งจากนี้สายการบินต้นทุนต่ำจะต้องมีการแจ้งรายละเอียดต่างๆ ในการใช้บริการ เงื่อนไขต่างๆ ที่ต้องครบถ้วนชัดเจน ในทุกช่องทางการโฆษณาสำหรับการแข่งขันเรื่องราคา กรมการบินพลเรือนแจ้งว่ายังไม่พบปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันได้กำหนดราคาขั้นสูงไว้ไม่ให้เกิน 13 บาทต่อกิโลเมตร (กม.) ส่วนราคาขั้นต่ำไม่ได้กำหนด  ซึ่งแต่ละสายการบินสามารถจัดโปรโมชั่นแข่งขันลดราคาได้ แต่ต้องไม่เป็นการดัมพ์ราคา หรือตัดราคาสายการบินอื่นจนแข่งขันไม่ได้ ปัจจุบันคาดว่าต้นทุนของสายการบินต้นทุนต่ำ กม.ละ 2-5 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 “ถุงพลาสติกชีวภาพ” บรรจุภัณฑ์เพื่อผู้บริโภค

ยุคนี้...ตามร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้ามักมีสินค้าพืชผักและผลไม้ห่อหุ้มด้วยพลาสติกวางจัดจำหน่ายให้เห็นละลานตา มีทั้งแบบสุกกำลังพอดีแกะถุงพลาสติกก็สามารถกินได้ทันที และแบบที่สุกๆ ดิบๆ เพื่อให้ผู้บริโภคที่ยังไม่รีบกินได้เลือกซื้อเลือกหาไว้ไปบ่มกินที่บ้าน หรือเก็บไว้เป็นอาทิตย์ๆ ได้โดยที่ยังมีสีสันน่ารับประทาน อย่างไรก็ตาม การห่อหุ้มยืดอายุผลไม้ด้วยพลาสติกมีทั้งคุณประโยชน์ ที่ช่วยเก็บรักษาคงสภาพของพืชผักผลไม้ให้น่ารับประทาน แต่หากห่อหุ้มในสภาพที่ผลไม้ยังคงมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือยาฆ่าแมลง ก็อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหาร กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลว่าผัก ผลไม้ ส่วนใหญ่มีสารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อาทิ จุลินทรีย์ก่อโรคและยาฆ่าแมลง เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาฆ่าแมลงหากมีการใช้ในขั้นตอนการปลูกในปริมาณมากเกินไป หรือเก็บเกี่ยวพืชผลออกจำหน่ายก่อนสารเคมีสลายตัว ก็จะทำให้เกิดสารตกค้างจนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยอาการที่พบ มีตั้งแต่คลื่นไส้ , อาเจียน , ท้องเสีย , กล้ามเนื้อสั่น , ชักกระตุกจนหมดสติ บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นหยุดหายใจไปเลยก็ได้ และหากสะสมในร่างกายต่อเนื่องจำนวนมากก็จะทำให้เป็นโรคมะเร็ง ด้วยความห่วงใยผู้บริโภคทุกท่าน ก่อนเลือกซื้อผักผลไม้จะดูที่สีสันอย่างเดียวคงไม่ได้ บรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มน่าจะสร้างความปลอดภัยต่อผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง วันนี้จึงมีนวัตกรรมดีๆ จากนวัตกรไทยมาเล่าสู่กันฟัง โดยรองศาสตราจารย์ ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะผู้วิจัย ที่ได้พัฒนาศักยภาพ “ถุงพลาสติกชีวภาพ” บรรจุภัณฑ์ที่น่าจะช่วยหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารเคมี สามารถเก็บรักษาผักผลไม้ได้และคงสภาพยืดอายุผักผลไม้ไว้ได้นาน และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้ผลงานวิจัยเรื่อง “บรรจุภัณฑ์ถุงพลาสติกชีวภาพเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาพืชผลสดและผลไม้แห้ง” จนได้รับรางวัล ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2558 ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากงานวิจัย“ถุงพลาสติกชีวภาพ” ระบุว่าได้ต่อยอดมาจากเม็ดพลาสติก ด้วยการเติมสารชีวภาพ ให้มีรูขนาดเล็กที่ทำให้ ออกซิเจน  คาร์บอนไดออกไซด์  ไอน้ำ สามารถผ่านได้ กระบวนการทำให้สามารถเก็บรักษาความสดใหม่ได้ดีกว่าเดิม 2-7 เท่า ในขณะที่เชื้อโรคไม่สามารถผ่านได้ เห็นข้อดีแบบนี้ผู้บริโภคก็น่าจะเบาใจได้เปาะหนึ่งว่าตั้งแต่กระบวนการห่อหุ้มผักผลไม้ลงในถุงพลาสติก ไปจนส่งถึงมือผู้บริโภค “จุลินทรีย์และเชื้อโรค” คงผ่านเข้าไปในถุงพลาสติกได้ยาก! นอกจากศักยภาพในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ “ถุงพลาสติกชีวภาพ” นี้สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกร รวมถึงผู้ทำการค้าส่งออก และสร้างความปลอดภัยให้ผู้บริโภคแล้ว  บรรจุภัณฑ์นี้ยังย่อยสลายได้เร็วกว่าถุงพลาสติกทั่วไป โดยใช้ระยะเวลาย่อยสลายได้ภายในหนึ่งปีเท่านั้น นับว่าเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์เพื่อสิ่งแวดล้อม ที่สามารถช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกอีกด้วย แต่ถ้าท่านผู้อ่านสนใจเลือกซื้อเลือกหาผักผลไม้ที่ห่อหุ้มถุงพลาสติกชีวภาพ อาจต้องรอหน่อยเพราะนวัตกรรมนี้ยังมีต้นทุนที่สูง เมื่อเทียบกับพลาสติกห่อหุ้มผลไม้ทั่วไป จำหน่ายราคาประมาณกิโลกรัมละ 50 บาท ขณะที่ถุงพลาสติกชีวภาพมีต้นทุนสูงกว่าถึง 3 เท่า โดยราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท เห็นตัวเลขถ้าเทียบเฉพาะราคาอาจมองว่าแพง!กว่ามาก...แต่ถ้าวัดกันที่คุณค่าคุณประโยชน์แล้วก็คงต้องยกนิ้วให้กับถุงพลาสติกชีวภาพอย่างแน่นอน คงต้องฝากความหวังไว้ให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาสนับสนุนงานวิจัยดีๆ แบบนี้ให้เป็นรูปธรรม เพราะประเทศไทยมีผลผลิต ทางด้านเกษตรจำนวนมากที่พร้อมส่งถึงมือผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ถ้าผลผลิตเหล่านี้สามารถยืดอายุได้นานโดยสินค้ายังมีคุณภาพดี ก็จะเป็นที่ยอมรับในนานาประเทศและน่าจะทำให้อัตราการส่งออกของสินค้าเกษตรไทยดีขึ้น แต่สำหรับตอนนี้ วิธีหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารเคมีและเชื้อโรคที่ง่ายสุด ก็คงต้องทำตามอย่างง่าย ๆ แบบที่โบราณสอนไว้ คือให้เลือกผักที่มีรูพรุน จากการเจาะของแมลง  เลือกกินผักผลไม้ตามฤดูกาล  ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคไปก่อนก็แล้วกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 164 บรรจุภัณฑ์ใหญ่ไปไหม??

สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง ยาสระผม สบู่เหลว แป้งฝุ่น โลชั่น ทุกวันนี้เริ่มมีแต่เสียงสะท้อนว่า “กระป๋องใหญ่ไปไหม ข้างในมีอยู่นิดเดียว” หรือ “เพิ่งซื้อมาใช้ ทำไมหมดเร็วจัง” ซึ่งจริงๆ แล้วสินค้าประเภทนี้ น้ำหนัก ประมาณ 200 – 250 กรัม(มิลลิลิตรในกรณีของเหลว) คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้หรอกว่าจริงๆ แล้วมันคือแค่ไหน ทุกคนก็อาศัยมองดูลักษณะเอาจากตัวแพ็กเก็จหรือบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นธรรมดาที่เราจะมองว่าแพ็กเก็จใหญ่ของข้างในก็น่าจะเยอะสิ ยิ่งถ้าดูยี่ห้อหนึ่งที่กระป๋องใหญ่แล้วราคาถูกกว่าอีกยี่ห้อ บางทีก็ไม่ได้ดูฉลากว่าน้ำหนักบรรจุเท่าไหร่รีบคว้าไปจ่ายเงินทันที ทั้งที่อีกยี่ห้อที่มองข้ามอาจบรรจุน้ำหนักสินค้ามากกว่าก็ได้ เพียงแต่กระป๋องดูเล็กกว่า ด้วยจิตวิทยาแบบนี้ ผู้ผลิตจึงมักเลือกออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ใหญ่สักหน่อย หรือทำให้ดูเหมือนใหญ่เพื่อดึงความสนใจของคนซื้อ แต่ของข้างในอาจใส่ลงไปแค่ 60 % หรือ 70 % เหลือที่ว่างอีกเยอะ ทางหน่วยงานรัฐเองก็ไม่ได้กำหนดขนาดมาตรฐาน เช่น ยาสระผมขนาดกลางทุกยี่ห้อ ต้องบรรจุน้ำหนักที่ 200 มล. เท่ากันหมด เพราะถือว่าเป็นการค้าเสรีผู้ผลิตมีสิทธิบรรจุน้ำหนักเท่าไรก็ได้ เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อต้องพิจารณาฉลากกันเอาเอง แต่รัฐจะไปเน้นควบคุมที่เรื่องราคาขายปลีกแทนและดูแลไม่ให้โกงน้ำหนักที่ผิดไปจากฉลาก กรณีทำแพ็กเก็จให้ใหญ่ยังอาจใช้เพื่อให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดว่ามีการเพิ่มน้ำหนักสินค้าเพื่อการปรับขึ้นราคา ทั้งที่บรรจุน้ำหนักเท่าเดิม และในทางกลับกันแพ็กเก็จก็อาจเท่าเดิม(คือใหญ่มาแต่แรก) เพื่อเผื่อไว้สำหรับลดน้ำหนักที่บรรจุให้น้อยลงแต่ขายในราคาเดิม โดยผู้ซื้อไม่ทันรู้ตัวว่าน้ำหนักได้ลดลงไปแล้ว แต่เรื่องแบบนี้ถ้าพูดอย่างเดียวอาจถูกมองว่ารู้สึกไปเองหรือเปล่า ฉลาดซื้อเลยนำตัวอย่างสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง แป้งฝุ่น โลชั่น ยาสระผม สบู่เหลว มาทดลองหาน้ำหนักที่กระป๋องหรือขวดที่ผู้ผลิตใช้ในการบรรจุสินค้าแต่ละชนิดนั้น ว่าสามารถบรรจุน้ำหนักเต็มที่ได้เท่าไหร่ เพื่อเทียบกับปริมาณที่บรรจุจริงตามฉลาก แล้วหาสัดส่วนของพื้นที่ว่างในบรรจุภัณฑ์ว่าเหลืออยู่กี่เปอร์เซ็นต์ สำหรับฉบับนี้ขอลงแค่ “แป้ง” กับ ”โลชั่น” ก่อน ฉบับหน้าจึงเป็นคิวของยาสระผมและสบู่เหลว   แป้งฝุ่น เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก เพราะพบว่าส่วนใหญ่บรรจุน้ำหนักลงไปแค่ครึ่งหนึ่งของกระป๋องเท่านั้น เหลือพื้นที่ว่างอยู่ ราวๆ  50% คาดว่าน่าจะช่วยให้สามารถเขย่าแป้งได้สะดวกขึ้น **สำรวจเดือนตุลาคม 2557                                                                                                                                                   สคบ.วอนเอกชนลดขนาดบรรจุภัณฑ์ โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ 24 ก.ค. 2557 นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ สคบ.จะเชิญตัวแทนผู้ประกอบการด้านสินค้าอุปโภค และบริโภค รายใหญ่ เข้ามาหารือเพื่อขอให้ช่วยลดขนาดบรรจุภัณฑ์สินค้า ทั้ง แชมพู สบู่เหลว ครีมบำรุงผิว ผงซักฟอก อาหาร และขนมขบเคี้ยว ลงจากเดิม หลังจากได้ส่งทีมออกสุ่มตรวจสินค้าแล้วเห็นว่า ขนาดบรรจุภัณฑ์สินค้าหลายชนิดมีขนาดใหญ่เกินจริง แต่ปริมาณสินค้าที่บรรจุมีขนาดเท่าเดิม จึงอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เลือกซื้อสินค้าโดยที่ไม่ได้ทันสังเกต ขณะเดียวกันการปรับลดปริมาณของบรรจุภัณฑ์ลง ยังส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตลดลงด้วย “จากการสุ่มตรวจสินค้าหลากชนิด เช่น ครีมบำรุงผิวหลายยี่ห้อ ขนาดขวดที่ใช้บรรจุครีมมีพื้นที่ว่างอยู่ถึง 17-31% ส่วนแชมพูก็มีพื้นที่ว่าง 23-41% แม้จะเข้าใจว่า การทำขนาดขวดที่บรรจุให้ใหญ่ จะเป็นการแข่งขันทางการตลาดของผู้ประกอบการ เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคมาเลือกซื้อสินค้า ซึ่งบางรายอาจจะเข้าใจผิดได้ว่า สินค้านี้ขวดใหญ่ขึ้น อาจมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่พอมาใช้แล้ว กลับมีอยู่นิดเดียวไม่แตกต่างจากขวดธรรมดา ขณะเดียวกันการเพิ่มขนาดยังทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มโดยไม่จำเป็น อีกอย่างยังเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุอีกด้วย” ทั้งนี้ในระยะแรก สคบ.จะขอความร่วมมือตามความสมัครใจก่อน หรือถ้าเป็นไปได้ก็ขอให้ลดลงเท่าที่จำเป็น เบื้องต้นอาจกำหนดให้พื้นที่ว่างภายในบรรจุภัณฑ์ต้องไม่เกิน 15% หรือมีสินค้าที่บรรจุภายในอยู่เกิน 3 ใน 4 ของบรรจุภัณฑ์ ส่วนในระยะยาว ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษ เพื่อออกมาตรการควบคุมให้ชัดเจน เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน. ที่มา http://www.thairath.co.th/content/438498

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 ตามไปดู ยุทธการ Down size “การลดขนาดบรรจุภัณฑ์”

  ฉลาดซื้อฉบับนี้เราไปเดินช้อปปิ้งในห้างค้าปลีกยักษ์และร้านค้าปลีกย่อยกันอย่างขะมักเขม้นตามแรงผลักแรงเชียร์จากคุณผู้อ่านที่น่ารักของเรา แล้วก็พบว่า ผู้บริโภคเรากำลังถูกเล่นกลด้วยยุทธการที่เรียกว่า  Down size หรือ “การลดขนาดบรรจุภัณฑ์” ในสินค้าหลายประเภทตามที่ผู้อ่านของเราประสานเสียงกันมา ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งผู้ผลิตเองก็กำลังประสบปัญหาต้นทุนราคาสินค้าพุ่ง แต่ตัวเองกลับขายแบบขึ้นราคาตรงๆ ไม่ได้ เลยต้องหันมาเล่นวิธีนี้กันเกลื่อนเมือง   ตัวอย่างที่ 1 ณ ซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้า เห็นป้ายที่ชั้นวางเขียนว่า ลักส์ครีมอาบน้ำโกล์ว...220 ml. ราคา 66.50 บาท พิจารณาดูจากสูตรอื่นๆ ในยี่ห้อเดียวกันที่วางเรียงเป็นตับก็พบว่า ราคาเดียวกัน แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือ ลักส์ครีมอาบน้ำโกล์วอิ้ง ทัช นั้นที่ขวดเขียนว่า 200 ml. ไม่ใช่ 220 ตามที่ป้ายบอก พอเหลือบมองที่วันผลิตจึงเห็นว่า เป็นเดือน 11 ปี 2011 แต่ที่ป้ายตรงชั้นวางเป็นวันเวลาที่ระบุไว้ตั้งแต่ วันที่ 24 เดือน 8 ปี 2010   คราวนี้มือก็อยู่ไม่สุขจับขวดอื่นๆ มาส่องวันผลิตและน้ำหนัก สิ่งที่พบคือ ส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นขนาด 200 ml. หมดแล้ว มีเหลืออยู่สูตรเดียวที่มีน้ำหนัก 220 ml. คือ ลักส์ เวลเวท ทัช ซึ่งระบุวันผลิต เดือน 9 ปี 2011 ลักส์ เวลเวท ทัชจึงเป็นสูตรเดียวที่ราคาและน้ำหนักตรงกับป้ายแสดงราคาผลิตภัณฑ์ของห้างสรรพสินค้า   ตัวอย่างที่ 2 ณ ร้านสะดวกซื้อ ป้ายแสดงราคาสินค้าระบุ น้ำยาล้างจานไลปอนเอฟ ขนาด 170 ml. ราคา 11 บาท แต่เมื่อหยิบขวดน้ำยาล้างจานมาพิจารณาจริงๆ น้ำหนักที่ขวดระบุไว้ 160 ml. (เมื่อจ่ายเงิน ราคา 11 บาทซะงั้น) แล้วอีก 10 ml. ของฉันหายไปไหน   จริงๆ ปรากฏการณ์สินค้าน้ำหนักหายไปจากเดิมราว 5-10 % ในผลิตภัณฑ์ประเภทใช้แล้วหมดไปอย่างสบู่เหลว น้ำยาล้างจาน แชมพูสระผม เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่ปี 2554 แล้ว   “สมชาย พรรัตนเจริญ” นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ได้เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” ว่า ขณะนี้ผู้ผลิตแชมพูสระผม ได้แจ้งลดขนาดบรรจุภัณฑ์สินค้าลง จากขวดขนาด 80-85 มิลลิลิตร ลดเหลือ 70 มิลลิลิตร กาแฟซองเดิมห่อละ 30 ซอง ลดลงเหลือ 27-28 ซอง ส่วนปลากระป๋องแจ้งราคาขายส่งเพิ่มขึ้นลังละ 50 บาท เป็นต้น ทำให้ตลาดขายปลีกเวลานี้ปลากระป๋องปรับขึ้นกระป๋องละ 3 บาท นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตบางรายใช้วิธีปรับลดขนาดบรรจุและเปลี่ยนหีบห่อสินค้าให้เล็กลงแต่คงราคาขายเดิมเช่น กาแฟซอง เดิม 1 แพ็กจะมี 30 ซอง ก็จะเหลือ 27-28 ซอง เป็นต้น หรืออย่างสินค้าชำระล้าง สินค้าใช้แล้วหมดไป เช่น แชมพูสระผม ครีมนวดผม ยาสีฟัน ที่ลดปริมาณบรรจุ 5-10% แต่ขนาดกล่องเท่าเดิม ที่มา  http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrView.asp?NewsID=9540000048921เวลา 14 ธันวาคม 2554 16:42 น.   นวัตกรรม หรือ ปรับราคา การลดขนาดของผลิตภัณฑ์ลงสามารถช่วยได้มากในแง่จิตวิทยาคือ ผู้ซื้อจะไม่รู้สึกว่าสินค้าราคาแพงขึ้น เพราะยังสามารถซื้อหาได้ในราคาเท่าเดิม รูปทรงผลิตภัณฑ์ก็เหมือนเดิม แต่หากวิธีนี้เกิดไม่เวิร์ก ผู้บริโภคเริ่มจับได้ อีกวิธีที่ผู้ผลิตนิยมนำมาใช้คือ การปรับสูตร  เปลี่ยนชื่อรุ่น เพื่อตั้งราคาขายใหม่ที่ดีกว่าเดิม หรือราคาเดิมแต่ปริมาณลดลง ไปจนถึงการถอดโปรโมชั่น เพื่อลดรายจ่ายด้านการตลาดลง อันที่จริงภาครัฐก็ควบคุมกำกับในเรื่องราคาสินค้าขายปลีก โดยบอกว่า ห้ามปรับราคา แต่ไม่ได้ห้ามลดขนาดสินค้าผลก็คือ ผู้ผลิตต้องหาทางออกด้วยการปรับลดขนาดกันยกใหญ่ ต่อไปเราก็คงได้เห็นรูปทรงและสินค้าสูตรใหม่ๆ ทยอยกันออกมาเรื่อยๆ ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจไม่ได้มีอะไรใหม่เลย   ตัวอย่างขนาดที่หลากหลายของแชมพูสระผม จากเดิมที่ขนาด 200-220 ml. ผลิตภัณฑ์แชมพู วันผลิต น้ำหนัก(ml.) ราคาต่อหน่วยบรรจุ(บาท) ราคาต่อ 1 ml.(บาท) ซันซิล ดรีม ซอฟท์แอนด์สมูท 13/12/2011 180 60.75 0.33 ซันซิล เพอร์เฟค สเตรท 02/11/2011 160     โดฟ แดเมจ เธอราพี อินเทนซ์ รีแพร์ 01/12/2011 175 69 0.39 แพนทีน โปรวี ลอง แบลค 20/01/2012 170 63.75 0.37 เอเชียนช์ ชายน์ เธอราพี 17/08/2011 220 118 0.53 เฮดแอนด์โชว์เดอร์ คลูเมนทอล 29/10/2011 180 75 0.41 รีจอยส์ ริช 11/09/2011 180 53.75 0.29 ราคาสำรวจ ณ วันที่ 8 ก.พ.2555 จับตาสินค้าสองมาตรฐาน นอกจากยุทธการ ดาวน์ไซส์ แบบหนีตายแล้ว ยังมีรายการ ดาวน์ไซส์ แบบน่าเกลียดด้วย กล่าวคือ ผู้ผลิตสินค้าได้ผลิตสินค้า 2 มาตรฐาน โดยการผลิตสินค้าในบรรจุภัณฑ์ขนาดเท่าเดิม เรียกว่ามองเผินๆ จะไม่เห็นความแตกต่าง แต่สิ่งที่ต่างคือ ปริมาณในบรรจุภัณฑ์กลับน้อยลง  สำหรับขายในร้านค้าปลีกขนาดยักษ์หรือโมเดิร์นเทรด ส่วนน้ำหนักขนาดเดิมจะส่งไปขายในร้านค้าแบบดั้งเดิม(โชห่วย) ทำให้เกิดความแตกต่างในด้านกำไรและความคุ้มค่าในการซื้อ เพราะผู้บริโภคจะเข้าใจว่า สินค้าหน้าตาเดียวกัน แต่ราคาในห้างค้าปลีกถูกกว่ามาก ดูที่ภาพประกอบ ภาพแพนทีนโปรวี(สีม่วง) ขนาด 180 ml.   วันผลิต 28/07/2011 ภาพแพนทีโปรวี(สีม่วง) ขนาด 160 ml.   วันผลิต 20/07/2011 ภาพข้าวตัง เจ้าสัว ขนาด 125 กรัม   วันผลิต 16/09/2011 ภาพข้าวตัง เจ้าสัว ขนาด 105 กรัม เชื่อถือได้นานกว่า 50 ปี   วันผลิต 07/09/2011 ภาพครีมเทียม สีม่วง ขนาด 200 กรัม ภาพครีมเทียม ขนาด 150 กรัม ภาพข้าวมาบุญครอง ถุงแดง   วันผลิต 16/09/54 ราคาข้างถุง 240 บาท ภาพข้าวมาบุญครอง ถุงเขียว   วันผลิต 11/09/54 ราคาข้างถุง 185 บาท     ด้านซ้ายเป็นตัวอย่างสินค้าในร้านค้าแบบดั้งเดิม   ส่วนด้านขวาเป็นสินค้าที่วางในห้างค้าปลีกยักษ์   การผลิตสินค้าสองมาตรฐานลักษณะนี้ แน่นอนว่าผู้ที่เสียเปรียบเห็นๆ ก็คือ ผู้บริโภค รวมทั้งร้านค้ารายย่อยที่อาจถูกมองว่าขายของในราคาแพง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่ได้ขายแพง สินค้าที่วางในห้างค้าปลีกยักษ์ต่างหาก ที่น้ำหนักสินค้าหดหายไป อย่างไรก็ตาม มีการมองว่า ดำเนินการดังกล่าวของผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตสินค้าต่างๆ อาจเป็นเพราะได้รับการกดดันจากทางโมเดิร์นเทรด ซึ่งต้องมีการต่อรองค่าใช้จ่ายต่างๆ กรณีที่จะนำสินค้าเข้าไปวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด ก็จะเป็นรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นหรือต้นทุนแอบแฝงของผู้ประกอบการ โดยอาจจะส่งผลให้มีการผลิตสินค้าสองแบบ ต่างจากร้านโชห่วยที่ไม่มีรายจ่ายหรือต้นทุนที่แอบแฝงในลักษณะเช่นนี้ ดังนั้นการผลิตสินค้าป้อนให้กับร้านโชห่วยก็จะเป็นไปตามปกติ     ฉลาดซื้อแนะ 1.แน่นอนว่าเราต้องสนับสนุนร้านค้ารายย่อย เพื่อเป็นการถ่วงดุลการเอาเปรียบจากห้างค้าปลีกขนาดยักษ์ 2.ถ้าพบสินค้าไม่ตรงราคาป้าย โดยเฉพาะเรื่องน้ำหนักที่หดหายไป รีบแจ้งผู้ประกอบการให้ปรับเปลี่ยนรายการสินค้าให้ถูกตรง และถ้าคุณรู้สึกอยากทดลองใช้สิทธิดูบ้าง ก็ขอให้ห้างค้าปลีกชดเชยค่าเสียหายจากน้ำหนักของสินค้าที่หายไปด้วย 3.ในสินค้าประเภทแชมพูสระผม น้ำยาล้างจาน สบู่เหลว ส่วนผสมหลักๆ นั้นไม่ต่างกัน สิ่งที่ต่างคือ การโฆษณา ยิ่งโฆษณาเยอะต้นทุนยิ่งสูง ราคาก็ยิ่งแพง ดังนั้นเลือกที่คุณใช้แล้วรู้สึกว่าดี และราคาไม่แพง ย่อมจะดีกว่าในภาวะที่ทุกคนต้องประหยัดรายจ่ายมากขึ้น 4.ผลิตภัณฑ์หลายชนิด การซื้อในขนาดบรรจุที่ใหญ่จะช่วยให้ประหยัดได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่แนะนำสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานสั้น เพราะยิ่งซื้อมาสะสมมากยิ่งมีปัญหา เช่น น้ำมันพืช เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 กระแสต่างแดน

เมาได้... แต่จ่ายด้วยทุกปีในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่เมืองออลีนส์ ประเทศฝรั่งเศส จะมีคนถูกตำรวจจับ 250 ถึง 300 คนเพราะเมาแล้วสร้างความไม่สงบหรือสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพื่อจับตาดูพฤติกรรมของพวกที่เมาข้ามปี เทศบาลเขาต้องจ้างตำรวจพร้อมรถลาดตระเวนเพิ่มเป็นพิเศษ ปัญหาคือ ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว รวมถึงค่าจ้างหน่วยกู้ภัย หรือรถพยาบาลด้วยคิดสะระตะแล้ว เทศบาลเมืองนี้จึงออกประกาศให้นักดื่มได้ทราบโดยทั่วกันว่า พวกเขาอาจโดนเรียกเก็บค่าปรับ 120 ยูโร(เกือบ 5,000 บาท) ถ้าถูกพบเห็นว่าออกมาเดินเปะปะตามถนนค่าปรับนี้รวมเฉพาะค่ารถพยาบาลและรถตำรวจ ถ้าต้องเรียกหมอมาดูอาการด้วย เขาก็จะคิดเพิ่มเป็น 150 ยูโร (ประมาณ 6,000 บาท) แต่ไม่ใช่แค่เสียค่าปรับแล้วจบนะ บางรายยังได้แถมโทษจำคุกอีกสาธารณสุขของฝรั่งเศสยอมรับว่าปัจจุบันเยาวชนหันมาเป็นนักดื่มมากขึ้น และไม่ใช่ดื่มแบบค่อยเป็นค่อยไป พวกนี้รีบดื่มรีบเมาตามกระแสยอดฮิตจากเกมออนไลน์ เน็คนอมิเนชั่น (Neknomination)ร่างกฎหมายใหม่จึงเสนอให้ผู้ที่ชักชวนบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะให้ดื่มแอลกอฮอล์ มีโทษจำคุก 1 ปี และโทษ 15,000 ยูโร(ประมาณ 609,000 บาท)  เขียวได้อีก การมีโรงผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ในยุโรปนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่กรุงเวียนนานี่เขาล้ำไปอีกขั้นด้วยการยกระดับตัวเองขึ้นเป็นแหล่งอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตหายาก เช่น ตั๊กแตน จิ้งหรีด หอยทาก จิ้งเหลน แมงมุม แมงเม่า แมลงเต่าทอง (ยุโรปเขาหายากจริงนะ)นอกจากจะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อรองรับบ้าน 400 หลังคาเรือนแล้ว พื้นที่ประมาณ 2 สนามฟุตบอลของโซล่าฟาร์มแห่งนี้ยังเป็นที่อยู่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่ใกล้สูญพันธุ์อีกด้วยการทำให้ฟาร์มนี้น่าอยู่ก็ไม่มีอะไรมาก เพราะร่มเงาและช่องว่างระหว่างแผงมีเหลือเฟือ ที่ต้องเพิ่มคือเทคนิคการตัดหญ้าแบบไม่ธรรมดาที่คงความน่าอยู่สำหรับสัตว์หรือแมลงเล็กๆ เหล่านั้นเวียนนามุ่งมั่นจะเป็นมหานครสีเขียว ซีอีโอของโซล่าฟาร์มแห่งนี้บอกว่า 5 ปีจากนี้ไป บริษัทจะลงทุนเพิ่มอีก 800 ล้านยูโร (ประมาณ 32,600 ล้านบาท) และเกินครึ่งของเงินดังกล่าวจะใช้เพื่อการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน สมาคมสิ่งแวดล้อมออสเตรียกล่าวว่า ร้อยละ 55 ของพื้นที่หลังคาในเวียนนาสามารถรองรับการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ได้ ชาวเวียนนาสามารถซื้อแผงโซล่าเซลล์จากบริษัทได้คนละ 10 แผง ในราคาแผงละ 950 ยูโร (ประมาณ 40,000 บาท) จากนั้นให้บริษัทเช่าแผงดังกล่าวในราคา 29.45 ยูโร (1,200 บาท) ต่อแผงต่อปี เป็นเวลาอย่างต่ำ 5 ปี และเมื่อครบ 25 ปี บริษัทจะซื้อแผงคืนทั้งหมด ถอนทุนลดโลกร้อน โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกแอบบ็อต พอยนท์ ในรัฐควีนส์แลนด์ เพื่อรองรับการขนส่งถ่านหิน เป็นที่ถกเถียงกันมากเพราะมันอาจเป็นผลเสียต่อแนวปะการัง “เกรท แบเรีย รีฟ” ที่คนทั้งโลกรู้จัก เนื่องจากเป็นโครงการ “ร้อน” บรรดาธนาคารข้ามชาติ (เช่น ซิตี้กรุ๊ป เจพีมอร์แกนเชส ดอยท์ชแบงค์ โกลด์แมนแซคส์ และเอชเอสบีซี) ต่างก็พากันถอนตัวจากการให้กู้ แต่ธนาคารสัญชาติออสเตรเลีย 4 แห่ง ได้แก่ เนชั่นแนลออสเตรเลีย คอมมอนเวลท์ เอเอ็นเซด และเวสแพค กลับตัดสินใจปล่อยกู้ให้กับโครงการนี้ รวมๆ แล้ว ธนาคารเหล่านี้ให้เงินกู้กับธุรกิจพลังงานฟอสซิลไปกว่า 19,000 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท) แล้ว ลูกค้าที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการลงทุนของธนาคารจึงพากันไปปิดบัญชี แล้วย้ายไปอยู่กับธนาคารที่มีพฤติกรรมการให้กู้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า ถึงวันนี้มีคนมาปิดบัญชีไปแล้วเป็นมูลค่า 450 ล้านเหรียญ (12,000 ล้านบาท) นักวิเคราะห์บอกว่า คนกลุ่มนี้น่าจะคิดถูกแล้ว เพราะแม้ว่าออสเตรเลียจะเป็นผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่อันดับสองของโลกและกำลังเปิดเหมืองเพิ่มอีก 120 แห่ง แต่ทั้งราคาถ่านหินกำลังและความต้องการใช้ถ่านหินกลับน้อยลง จีนซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียก็มีแผนจะปิดโรงงานถลุงเหล็กเพื่อลดมลภาวะในประเทศ ภาคการเงินการธนาคารเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจขนาด 15,000 ล้านเหรียญ (405,000 ล้านบาท) ของออสเตรเลีย และยักษ์ใหญ่ทั้งสี่ก็อยู่ในกลุ่มธนาคารที่ทำกำไรได้มากที่สุดในโลก เพราะสามารถดึงดูดลูกค้าได้มากจากผลตอบแทนที่สูง เงินอย่างเดียวไม่พอ เวเนซูเอล่ามีรายได้จากการขายน้ำมันถึง 114,000 ล้านเหรียญ (3,700,000 ล้านบาท) ต่อปี แต่ประชากรในประเทศกลับขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค สถานการณ์นี้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐบาลต้องจำกัดการซื้อเหมือนที่คิวบาและเกาหลีเหนือ ก่อนเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต ลูกค้าจะต้องถูกสแกนนิ้วมือ (บางร้านใช้บัตรประจำตัวประชาชน) เพราะรัฐต้องการควบคุมไม่ให้เกิดการซื้อเกินหนึ่งรอบต่อวัน ใครต้องการซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูปก็ต้องนำสูติบัตรของลูกมาแสดงด้วย หรือสินค้าที่มีค่าดั่งทอง อย่างนมผง รัฐก็กำหนดให้ซื้อได้สัปดาห์ละ 1 กิโลกรัมเท่านั้น รัฐบาลบอกว่ามาตรการสแกนนิ้วมือนี้ออกมาเพื่อดัดหลังพวกที่ซื้อสินค้าควบคุมราคาเหล่านี้แล้วนำข้ามชายแดนไปขายทำกำไรที่ประเทศโคลัมเบีย ประธานาธิบดีของเขาให้ข้อมูลว่าร้อยละ 40 ของสินค้าจากเวเนซูเอลาไปปรากฏตัวอยู่ในตลาดโคลัมเบีย (... แต่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าร้อยละ 10 นะ) เรื่องของเรื่อง เวเนซูเอลาประกาศให้สินค้าจำเป็นหลายชนิดเป็นสินค้าควบคุมราคา เช่น นม น้ำมัน ข้าว เนื้อไก่ กาแฟ ยาสีฟัน และผงซักฟอก แต่ปัจจุบันร้านค้าต่างๆ กลับมีของเหล่านี้เพียงร้อยละ 30 ของสต็อคปกติเท่านั้น และด้วยเหตุผลเดียวกัน รัฐบาลอนุญาตให้เติมน้ำมันได้ไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยควบคุมผ่านบาร์โค้ดที่กระจกหน้ารถ เพราะกลัวน้ำมันจะไหลไปที่โคลัมเบียหมด น้ำมันที่เวเนซูเอล่าราคาไม่ถึง 1 เซนต์ต่อแกลลอน แต่ถ้าในโคลัมเบียที่ชายแดนติดกันนั้น น้ำมันราคาเกือบ 4.5 เหรียญต่อแกลลอน) ยังไม่หมดนะ รัฐบาลเขาควบคุมการ “ใช้” น้ำด้วยการหยุดปล่อยน้ำสัปดาห์ละ 108 ชั่วโมงด้วย ทั้งนี้ชาวบ้านบอกว่า การควบคุมพวกนี้ไม่เห็นจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนได้ตรงไหน จริงๆ แล้วควรยกเครื่องเศรษฐกิจทั้งประเทศต่างหาก ลดเปลือก ปีหนึ่งๆ สินค้าต่างๆ ถูกบรรจุอยู่ในหีบห่อซึ่งมีน้ำหนักรวมกันกว่า 207 ล้านตัน และถ้ายังไม่มีความพยายามใดๆ เพิ่มเติม บวกกับกำลังซื้อของคนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและพฤติกรรมใช้ของอย่างไม่ค่อยคุ้มค่าของผู้บริโภค การใช้บรรจุภัณฑ์จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 47 เมื่อถึงปี 2025 ตัวเลขนั้นอาจคิดตามยาก เอาเป็นว่า 1 ใน 3 ของขยะในเมืองหลวงก็คือบรรจุภัณฑ์นั่นเอง บรรดาบริษัทผู้ผลิตก็กำลังหาทางลดเจ้าหีบห่อพวกนี้ด้วยการออกแบบให้ใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น เพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ด้วยการจัดซื้อวัตถุดิบน้อยลงและเสียค่าขนส่งน้อยลง เช่น ซิสโก้สามารถลดบรรจุภัณฑ์ลงได้ 855,000 กิโลกรัม เดลล์ก็หันมาใช้ฟางและวัสดุที่ทำจากเห็ดเป็นตัวกันกระแทกในกล่องชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ แม้แต่ยูนิลิเวอร์ก็ให้คำมั่นว่าจะลดบรรจุภัณฑ์ลงให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2020 หรือแม้แต่ขวดแก้วบรรจุเครื่องดื่มก็กำลังจะเปลี่ยนโฉมไป เราจะได้เห็นขวดรูปร่างผอมสูงกันมากขึ้น เพราะมันใช้วัตถุดิบในการผลิตน้อยกว่าขวดเตี้ยสั้น แถมมีน้ำหนักเบากว่าด้วย การออกแบบบรรจุภัณฑ์ในอนาคตจะเน้นการมีมากกว่าหนึ่ง “ชีวิต” เพื่อส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ แต่เป้าหมายสูงสุดคือการไม่ต้องผลิตมันออกมาแต่แรกนั่นเอง เพราะมันดีกว่าการตามไปเก็บตอนหลังเห็นๆ

อ่านเพิ่มเติม >