ฉบับที่ 277 มือถือหาย 4 ปี แต่โดนเรียกเก็บหนี้ย้อนหลัง

        ปัจจุบันอุปกรณ์ที่สำคัญในชีวิตประจำวันสำหรับใครหลายคนไปโดยปริยาย ก็คงไม่พ้นสมาร์ทโฟนเพราะนอกจากใช้โทร ส่งข้อความ ยังใช้ทำได้ทุกอย่างอีกด้วยไม่ว่าจะทำงาน ทำธุรกรรมทางการเงิน ฟังเพลงหรือเล่นโซเชียลต่างๆ  แต่ถ้ามือถือสุดที่รักที่เป็นแทบจะทุกอย่างเลยของเราดันหายไป และแถมยังโดนเรียกเก็บเงินเงินย้อนหลังอีกล่ะ ควรจะทำอย่างไรดี         เหมือนกับเคสของคุณโรส เธอได้มาปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า มีจดหมายแจ้งหนี้มาถึงที่ทำงานของเธอว่า ให้เธอไปชำระหนี้ค่าบริการซึ่งใช้กับมือถือเครื่องเก่า (ที่หายไป) จำนวน 7,400 บาท ซึ่งเบอร์ที่เคยใช้บริการพร้อมกับโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นระยะเวลามันผ่านไป 4 ปีแล้ว          ตอนที่มือถือหายก็ว่าเสียใจมากแล้ว แต่ก็พยายามทำดีสุดในความคิดของเธอคือ รีบแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจและไปที่สำนักงานใหญ่ค่ายมือถือ ตอนนั้นมันช่วงโควิดที่ห้ามการเดินทางโดยไม่จำเป็น  โดยขอให้ค่ายมือถือช่วยตามหาสัญญาณจากเบอร์ของเธอ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถตามหาสัญญาณได้ จึงต้องทำใจปล่อยไป กระทั่งปัจจุบันมีจดหมายส่งมาที่ทำงานของเธอ ทำให้ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ เพราะยอดดังกล่าวนั้นเธอไม่ได้ใช้สิ เพราะเธอได้เปลี่ยนเครื่องใหม่กับเบอร์ใหม่ไปแล้วด้วย อีกอย่างเครื่องเก่าที่หายเธอก็ผ่อนชำระหมดไปแล้วด้วยซ้ำ        อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเรื่องก็ต้องหาทางแก้ไข เธอเลยต้องไปที่ศูนย์บริการค่ายมือถือดังกล่าว (ดีหน่อยไม่ต้องไปถึงสำนักงานใหญ่) พร้อมกับแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้น ทางบริษัทมือถือจึงได้แนะนำว่าให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ โดยขอให้แจ้งความแบบดำเนินคดี (ขอเอกสารตราครุฑ) ไม่ใช่การลงบันทึกประจำวัน หลังจากนั้นนำหลักฐานมาแจ้งความกับทางบริษัทเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นคุณโรสบอกว่า เธอได้ไปแจ้งความตามที่บริษัทแนะนำและได้นำหลักฐานไปแจ้งต่อบริษัทเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางบริษัทได้แจ้งต่อเธอว่าจะส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบอีกครั้งผลเป็นอย่างไรจะติดต่อไปอีกครั้ง จนปัจจุบันทางบริษัทยังไม่มีการติดต่อกลับมาฉลาดซื้อ อยากแนะนำเพิ่มเติมว่า          1.ในกรณีมือถือหายแนะนำไปแจ้งความแบบต้องการดำเนินคดี (เอกสารที่ตำรวจออกให้จะต้องมีตราครุฑ         2.นำเอกสารไปแจ้งต่อศูนย์บริการค่ายมือถือทันที เพื่อให้พนักงานระงับการใช้งานเบอร์ดังกล่าวไว้ก่อน และป้องกันนำไปแอบอ้างใช้งานอีกด้วย         3.ในกรณีที่ยังไม่หายก็อยากแนะนำให้โหลดแอปพลิเคชันที่สามารถติดตามสัญญาณตัวเครื่องไว้หน่อย เพื่อไว้มีช่องทางในการตามหาได้ และควรตั้งรหัสมือถือไว้ตลอด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 277 ร้านไม่รับผิดชอบ เจาะหูลูกค้าพลาดจนใบหูฉีกขาด

        หากคุณกำลังคิดจะไปใช้บริการเจาะหูตามร้านเครื่องประดับต่างๆ ขอให้อ่านเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์         แม้เหตุการณ์จะผ่านมาปีกว่าแล้ว แต่ยังปรากฏร่องรอยความเสียหายไว้ชัดเจน...วันนั้นคุณโนริตัดสินใจไปใช้บริการเจาะหูที่ร้านเครื่องประดับเงินแห่งหนึ่ง ย่านกลางเมืองกรุงเทพฯ โดยเธอเลือกรูปแบบเป็นการเจาะหูเพื่อดามกระดูกอ่อนใบหูในแนวทแยง (Cartilage) ส่วนบนติดกับขมับ แต่...เกิดข้อผิดพลาด เมื่อใบหูบนส่วนที่เจาะกระดูกออกขาดเนื่องจากทางร้านเจาะหูผิดตำแหน่ง ทำให้ใบหูของเธอฉีกขาด เธอตกใจมากและถามหาความรับผิดชอบ แต่ทางร้านบอกปัดว่าไม่ใช่ความผิดของทางร้าน         วันนั้นเธอจึงไปลงบันทึกประจำวันเรื่องที่ได้รับความเสียหายจากกการใช้บริการเจาะหูจนใบหูขาดนี้ที่สถานีตำรวจไว้ก่อน หลังจากนั้นจึงไปโรงพยาบาลเพื่อรักษา แพทย์แจ้งว่าจะต้องทำการศัลยกรรมเพื่อให้ใบหูกลับมาเป็นปกติ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง เธอจึงได้กลับไปเจรจากับทางร้านอีกครั้ง โดยยืนยันว่าที่ใบหูเธอขาดก็เพราะทางร้านเจาะหูผิดตำแหน่ง แต่ทางร้านก็ยังปฏิเสธเสียงแข็งเหมือนเดิมว่าไม่ได้ทำอะไรผิด         จากวันที่เกิดเหตุการณ์ ขณะนี้ผ่านมาปีกว่าแล้วที่คุณโนริยังไม่ได้รักษาใบหูให้ติดกันเป็นปกติเนื่องจากต้องใช้เงินจำนวนมาก เธอรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือว่าทำอย่างไรจึงจะให้ทางร้านเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ มูลนิธิฯ ได้โทร.กลับไปเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แล้วให้ผู้ร้องส่งเอกสารมาทางอีเมลของมูลนิธิฯ ได้แก่ สำเนาใบลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ สำเนาใบรับรองแพทย์  ภาพหน้าจอข้อความที่สนทนากับทางร้าน และภาพความเสียหายที่ใบหู จากนั้นทางมูลนิธิฯ ได้ออกหนังสือนัดหมายให้คู่กรณีมาเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยุติข้อพิพาทกันอีกครั้ง (เพราะเคยผ่านการพูดคุยกันมาบ้างแล้ว)         สิ่งสำคัญของการเรียกร้องการเยียวยาเมื่อเกิดความเสียหายจากการใช้บริการต่างๆ  คือผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เสียหายจะต้องเก็บหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นไว้ให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้         กรณีการลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ แนะนำว่าควรเป็นการแจ้งความเพื่อดำเนินคดี เพราะเคสนี้เกิดความเสียหายที่ผู้ร้องเรียนได้รับบาดเจ็บค่อนข้างรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ว่าด้วย “รายการส่งเสริมการขาย” ในโลกของบริการมือถือ

        ในความหมายทั่วไป รายการส่งเสริมการขายหมายถึงข้อเสนอพิเศษที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวเพื่อการส่งเสริมการขาย หรือ Sale Promotion โดยเป็นวิธีการทางการตลาดที่ใช้เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าสนใจและตัดสินใจซื้อสินค้าในทันที ดังนั้นข้อเสนอพิเศษดังกล่าวจึงต้องมีลักษณะ “ว้าว” มากพอที่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและเป็นเรื่องเร่งด่วน นั่นคือเป็นโอกาสที่ต้องรีบคว้าไว้ หากชักช้าอาจพลาดได้         โดยทั่วไปแล้ว รายการส่งเสริมการขายจึงมีลักษณะชั่วคราว จัดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ และบางครั้งมีการตั้งวัตถุประสงค์หรือกลุ่มลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง รูปแบบหลักที่มีการใช้มากที่สุดก็คือ การลด แลก แจก แถม         แต่สำหรับรายการส่งเสริมการขายในโลกของบริการมือถือ จะมีลักษณะที่แตกต่างออกไปในทางตรงกันข้ามเลยทีเดียว กล่าวคือจะเป็นเรื่องของการเสนอขายบริการในลักษณะที่มีการรวมรายละเอียดของบริการต่างๆ เป็นชุด  และเสนอขายเป็นการปกติทั่วไป ไม่มีทั้งการลด แลก แจก แถม และไม่มีความพิเศษหรือเร่งด่วนจนต้องรีบคว้าเอาไว้ หรือต้องรีบตัดสินใจ         ความหมายของรายการส่งเสริมการขายในบริการมือถือแท้จริงแล้วจึงค่อนข้างจะตรงกับคำว่า แพ็กเกจ (Package) ที่แปลว่าการซื้อขายเหมาเป็นชุด ซึ่งในวงการก็มีการใช้สองคำดังกล่าวในลักษณะทดแทนกันอยู่แล้ว         และรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือก็จะมีอยู่มากมายหลายๆ แพ็กเกจ         เมื่อรายการส่งเสริมการขายบริการมือถือคือชุดของบริการที่บรรจุรายละเอียดบริการต่างๆ เอาไว้ จึงเท่ากับเป็นกรอบกำหนดปริมาณและคุณภาพของบริการ เช่นว่า ในแพ็กเกจ ก. อาจใช้บริการโทรได้ 100 นาทีและใช้อินเทอร์เน็ต 5G ความเร็วสูงสุดได้ 10 GB ดังนั้น ในโลกของการให้บริการมือถือ แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายจึงเป็นส่วนที่ใช้ในการโฆษณา ซึ่งจุดนี้เป็นจุดหนึ่งที่เป็นประเด็นปัญหาอย่างยิ่ง         ดังที่ผู้บริโภคทั่วไปคงรู้สึกได้ว่า ในวงการโทรคมนาคมด้านบริการมือถือ มีการโฆษณาที่เข้าข่ายเกินจริง มีการใช้คำหรือข้อความโฆษณาลักษณะ เร็วสุด, แรงสุด, ทั่วไทย ฯลฯ กันเป็นปกติ และยังมีปัญหาลักษณะการยัดเยียดโฆษณาจนเป็นการรบกวนผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาลักษณะของการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายไม่ชัดเจนเพียงพอด้วย ตัวอย่างเช่น รายการส่งเสริมการขายมีข้อกำหนดว่าโทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีเงื่อนไขในรายละเอียดพ่วงด้วยว่า ส่วนที่ฟรีนั้นจำกัดเฉพาะในส่วน 30 นาทีแรกของการโทรแต่ละครั้งเท่านั้น แต่ในการโฆษณาหรือแจ้งรายการส่งเสริมการขายดังกล่าวไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขรายละเอียดนี้         ปัญหาประการสำคัญในส่วนนี้คือ การไม่ได้รับบริการที่เป็นไปตามรายการส่งเสริมการขาย ทั้งๆ ที่ในทางกฎหมายแล้ว แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โดยคุณภาพบริการที่ใช้งานได้จริงต้องเป็นไปตามที่พรรณนาหรือบรรยายไว้ในการโฆษณารายการส่งเสริมการขาย เรื่องนี้มีปัญหามากในส่วนบริการอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้ความเร็วตามกำหนด หรือใช้ได้ไม่ครบตามปริมาณที่กำหนด         ปัญหาอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายที่ผู้บริโภคมักประสบเป็นเรื่องของการเปลี่ยนรายการส่งเสริมการขาย โดยมีปัญหาทั้งในลักษณะไม่สามารถเปลี่ยนได้ หรือถูกทางบริษัทผู้ให้บริการเปลี่ยนให้โดยพลการ ปัญหาทั้งสองลักษณะเท่ากับเป็นการจำกัดหรือละเมิดสิทธิการเลือกบริการของผู้บริโภค ทำให้ต้องผูกติดอยู่กับแพ็กเกจใดแพ็กเกจหนึ่ง หรือถูกบังคับใช้แพ็กเกจตามความพึงพอใจของบริษัทผู้ให้บริการ         ปัญหาประการหลังสุดนี้ขัดกับสิทธิผู้บริโภคประการที่ 2 ใน 5 ประการที่พระราชบัญญัติฃคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้ว่าเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องได้รับความคุ้มครอง นั่นคือ สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ แต่ในส่วนของกฎหมาย กสทช. ไม่มีข้อกำหนดโดยตรงในเรื่องนี้ มีเพียงข้อกำหนดที่ว่า กรณีผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอใด จะถือว่าตกลงใช้บริการไม่ได้         ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณา แม้กสทช. จะไม่ได้มีกฎหมายกำกับควบคุม แต่ในมิติของการให้ข้อมูลที่เพียงพอ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 6 กำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจนและครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย ซี่งตรงกับสิทธิของผู้บริโภคตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้เป็นสิทธิประการที่ 1 นั่นคือ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ         ส่วนประเด็นเรื่องการให้บริการที่ต้องเป็นไปตามสัญญา รวมถึงโฆษณา เป็นไปตามหลักที่ว่า โฆษณาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ดังนั้น เมื่อรายการส่งเสริมกำหนดไว้อย่างไร บริการที่ผู้บริโภคได้รับย่อมต้องเป็นไปตามนั้น         ในโลกของบริการมือถือ รายการส่งเสริมการขาย จึงไม่ใช่การส่งเสริมการขาย แต่คือสาระสำคัญของบริการที่ผูกโยงกับปัญหาที่ผู้บริโภคอาจประสบและเกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2567

ร้องเรียน 9,218 เรื่อง ปัญหามลพิษ ปี 2566        อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เผยมีประชาชนแจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหามลพิษในปี 2566 เข้ามากว่า 9,218 เรื่อง ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงสายด่วน 1650 โดยพบว่าจำนวน 8,043 เรื่อง เป็นกรณีเหตุรำคาญต่างๆ โดยทางกรมควบคุมมลพิษได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่ผู้ร้องเรียนและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหา อีก 1,175 เรื่อง ทางกรมควบคุมมลพิษดำเนินการเอง ส่วนใหญ่แหล่งกำเนิดมลพิษ คือ โรงงานอุตสาหกรรม อาคารประเภทต่างๆ การเลี้ยงสุกร โดยได้รับการแก้ไขแล้วกว่า 836 เรื่อง         ทั้งนี้ ประเด็นที่พบมากที่สุด ได้แก่ 1. ปัญหากลิ่นเหม็น  2. ปัญหาฝุ่นละออง-เขม่าควัน และ 3. เสียงดัง-เสียงรบกวน   ผลิต-เผยแพร่สื่อลามกด้วย AI ระวังโทษคุก 5 ปี                    สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยว่า ปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพนำเทคโนโลยี AI มาใช้สร้างเนื้อหาปลอมเพื่อใช้ในการฉ้อโกงสร้างความเสียหายให้กับประชาชน รวมถึงผลิตสื่อลามกอนาจาร โดยมักนำภาพของบุคคลมีชื่อเสียง เช่น ดารา นักแสดง นักร้อง มาใช้เป็นใบหน้าตัวอย่างและสร้างคลิปลามกแล้วนำไปเผยแพร่หรือจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ ทางออนไลน์ ประชาชนต้องระวังต่อภัยดังกล่าว ทั้งนี้ฝากเตือนถึงผู้ที่ผลิตและเผยแพร่สื่อลามกปลอมด้วย AI  ดังกล่าวนั้น จะถือว่าเข้าข่ายความผิดทางอาญาถึง 6 ฐานความผิด ระวางโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี ปรับสูงสุดถึง 200,000 บาท ระวัง! ไลน์ปลอม ก.ล.ต. อ้างเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน         จากกรณีพบบัญชีไลน์แอบอ้างเป็น “ที่ปรึกษาด้านการลงทุน ภายใต้สำนักงาน ก.ล.ต.” นั้น   ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ทำการตรวจสอบถึงกรณีดังกล่าวแล้ว และได้ทำการชี้แจ้งว่า บัญชีไลน์ที่ว่ามีการปลอมแปลงและแอบอ้างการใช้โลโก้ของหน่วยงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับข้อมูลอาจเข้าใจผิดและหลงเชื่อเข้าลงทุนจนเกิดความเสียหาย  ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่างหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว พร้อมทั้ง ไม่แชร์หรือส่งต่อข้อมูลดังกล่าวด้วย ลูกชิ้นเถื่อน         กองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าตรวจค้นพื้นที่ ม.4 ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หลังพบว่ามีการใช้สถานที่ดังกล่าวในการผลิตและจัดส่งจำหน่ายลูกชิ้นไม่ถูกสุขอนามัย ไปในพื้นที่ใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดลูกชิ้นกว่า 2,400 ถุง พร้อมอุปกรณ์เครื่องจักร บรรจุภัณฑ์ และส่วนผสมต่างๆ กว่า 31 รายการ พร้อมนำตัวอย่างส่งตรวจสอบ และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ ลูกชิ้นที่พบมีทั้งมียี่ห้อและไม่มียี่ห้อรวม 9 รายการ ดังนี้ 1.ลูกชิ้นหมูตราตี๋ใหญ่  2.ลูกชิ้นหมูเมืองทอง ตราโกดี KODEE  3. ลูกชิ้นหมูเมืองทองตราที.เค  4.ลูกชิ้นหมูตราตี๋เล็ก  5.ลูกชิ้นเนื้อตราตี๋ใหญ่  6.ลูกชิ้นเนื้อ ตรา เฮง 7.ลูกชิ้นเนื้อตราเมืองเอก 8.ลูกชิ้นหมู AR  9. ชาย 2 ลูกชิ้นหมู         ทั้งนี้  การกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  มพบ. จี้ ขสมก. ตอบคำถาม “ทำไมรถต่างสี ราคาต่างกัน” ย้ำ นโยบายปฎิรูปรถเมล์ ให้คำนึงถึงผู้ใช้บริการ         16 มกราคม 67 จากกรณีรถยูโรทู "สายปฏิรูป" เปลี่ยนเลขสายใหม่ พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้เดินรถที่ได้สัมปทานโครงการปฏิรูปเอาเลขสายใหม่ไปใช้และเก็บค่าโดยสารเพิ่มอีก 1 บาท (แพงกว่าเดิม) โดยเก็บจากราคา "อัตราขั้นสูง" ตามที่กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดไว้ในตารางค่าโดยสาร (ทำให้การลดอัตราค่าโดยสารทำได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของอัตราขั้นสูง) เปิดช่องให้ผู้เดินรถเลือกที่จะเก็บค่าโดยสารตามอัตราขั้นสูงหรือหากจะลดราคาก็ให้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับทาง ขสมก. ทั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ประกาศแจ้งให้ผู้โดยสารรับรู้ล่วงหน้าสำหรับการขึ้นราคาครั้งนี้ จึงทำให้เกิดกระแสสังคมจากผู้บริโภคในเชิงตำหนิต่างๆ นั้น         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “มูลนิธิฯ ขอเป็นตัวแทนผู้บริโภคตั้งคำถามไปถึง ขสมก. ที่ต้องตอบให้ชัดว่า รถต่างสี ทำไมต้องเก็บราคาค่าโดยสารต่างกัน และ การเปลี่ยนเลขหมายรถนั้นมีเหตุผลอย่างไร อะไรที่เป็นเหตุต้องปรับงขึ้นราคาค่ารถ โดยไม่แจ้งผู้โดยสารล่วงหน้า” มูลนิธิฯ ขอเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบก ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ตรวจสอบและแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร เพราะนโยบายการ “ปฎิรูปรถเมล์” ของกรมการขนส่ง ควรคำนึงถึงผู้ใช้บริการให้มีรถเมล์บริการอย่างทั่วถึงและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะ ขสมก. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องให้บริการรถที่มีคุณภาพและคิดค่าบริการที่ราคาเป็นธรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 เบอร์มือถือ...สูญได้...งอกได้ "...ภาพสะท้อนความหละหลวมของผู้ให้บริการ"

        ชายคนหนึ่งประสบเหตุการณ์ระดับ “แจ็กพ็อต” เกี่ยวกับเบอร์มือถือภายในระยะเวลาห่างกันเพียงเดือนเศษ เริ่มจากที่จู่ๆ ในช่วงเย็นวันหนึ่งปลายเดือนพฤษภาคม เขาได้รับ SMS หรือข้อความสั้นว่ามีการลงทะเบียนเบอร์ที่ใช้งานอยู่ตามปกติของเขาโดยบุคคลอื่น จากนั้นซิมการ์ดมือถือของเขาก็ใช้ไม่ได้ขึ้นมา เมื่อติดต่อบริษัทผู้ให้บริการจึงทราบว่าเบอร์ของเขากลายเป็นของคนอื่นแล้ว ดีที่เขาจัดการเรื่องอย่างค่อนข้างรวดเร็วจนเบอร์ดังกล่าวถูกโอนกลับมาเป็นชื่อของเขาอีกครั้งหนึ่งในวันถัดมา แต่ภายในเวลาเพียงคืนเดียวนั้น เบอร์ดังกล่าวก็ถูกนำไปทำธุรกรรมซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงการเปิดใช้บริการกระเป๋าเงินออนไลน์ รวมทั้งมีการแจ้งย้ายค่ายมือถือแล้วด้วย         ต่อมาในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ชายคนเดิมนี้ก็ประสบปัญหาอีกลักษณะหนึ่ง นั่นคือถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือในส่วนของเบอร์ที่เขาไม่ได้เปิด ซ้ำร้าย ปลายเดือนเดียวกันยังถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือเพิ่มเติมอีกเบอร์หนึ่งด้วย ซึ่งเป็นเบอร์ที่เขาทั้งไม่ได้เปิดและไม่ได้ใช้งานเช่นเดียวกัน         นั่นหมายความว่า ในเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียว ชายคนนี้ถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการมือถือถึง 3 เบอร์ ทั้งๆ ที่เขาใช้งานมือถือเพียงเบอร์เดียวและเครื่องเดียว แต่มีเบอร์งอกแฝงมาถึง 2 เบอร์         ทั้งกรณีเบอร์งอกและเบอร์สูญต่างนำมาสู่การเสียทรัพย์ และดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับการฉ้อฉลหรือมิจฉาชีพทั้งคู่ โดยในกรณีเบอร์งอกเป็นเรื่องของการถูกอ้างชื่อใช้บริการโทรคมนาคมแล้วโยนหนี้ให้ ส่วนใหญ่แล้ว กว่าผู้ถูกแอบอ้างใช้ชื่อเปิดเบอร์จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อถึงรอบชำระค่าบริการและถูกเรียกเก็บค่าบริการมาในนามของตน ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเช่นนี้จึงมีภาระต้องลุกขึ้นมาร้องเรียนปัญหา ซึ่งหากเป็นจริงเช่นนั้น คนกลางอย่างผู้ให้บริการมือถือก็มักยกเว้นหนี้ให้         อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาค่าบริการแล้ว การถูกแอบอ้างเปิดเบอร์ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายอื่นๆ ตามมาได้ไม่ต่างจากกรณีถูกฉกเบอร์ นั่นคืออาจมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือแล้วสร้างหนี้ไว้ให้ หรือซ้ำร้ายกว่านั้น อาจมีการทำธุรกรรมในลักษณะที่ผิดกฎหมายซึ่งทำให้ผู้ถูกแอบอ้างชื่อต้องพลอยติดร่างแหไปด้วย         นอกจากนี้ ทั้งเรื่องเบอร์สูญและเบอร์งอกต่างก็เป็นเรื่องที่ผู้ใช้บริการไม่อาจระมัดระวังได้เอง และไม่มีแนวทางที่จะดูแลตัวเองได้มากนัก หลักๆ แล้วเป็นเรื่องที่ขึ้นกับกระบวนการขั้นตอนการทำงานของบริษัทผู้ให้บริการ ที่จะต้องมีแนวปฏิบัติที่รัดกุมและมีมาตรการควบคุมให้ผู้ปฏิบัติและผู้เกี่ยวข้องทำตามโดยเคร่งครัด ในขั้นตอนการลงทะเบียนใช้บริการ         ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีการกำหนดเอาไว้ชัดเจนให้เป็นหน้าที่ของบริษัทผู้ให้บริการที่จะต้องบริหารจัดการการลงทะเบียนผู้ใช้บริการที่จุดบริการ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงศูนย์หรือสำนักงานให้บริการลูกค้าของผู้ให้บริการ และร้านค้าหรือจุดให้บริการต่างๆ ที่เป็นตัวแทนในการจัดจำหน่ายสินค้า ทำการตลาด หรือให้บริการใดๆ ในนามบริษัทผู้ให้บริการ         ประกาศฉบับนี้มีการกำหนดเงื่อนไขที่สำคัญๆ ในการลงทะเบียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเอกสารหลักฐานแสดงตัวตน เช่น ในกรณีของบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย อย่างน้อยต้องแสดงเอกสารหลักฐานเป็นบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง โดยที่ผู้ให้บริการต้องมีการออกแบบมาตรฐานและวิธีการในการลงทะเบียน ให้จุดบริการต่างๆ ต้องตรวจสอบหลักฐาน รวมทั้งพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการ ด้วยความรอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม         ในกรณีของชายผู้ประสบเหตุถูกลอบเปิดเบอร์ในชื่อของเขาถึง 2 เบอร์ภายในเดือนเดียว ตามที่เล่าข้างต้น ผลจากการร้องเรียนทำให้พบว่า ต้นเหตุเกิดจากร้านค้าที่เป็นตัวแทนของบริษัทผู้ให้บริการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ และหลักเกณฑ์ตามที่ กสทช. กำหนด ซึ่งในที่สุด บริษัทผู้ให้บริการก็ได้ยกเลิกสัญญากับร้านค้าดังกล่าว รวมถึงยกเว้นค่าบริการให้แก่ชายที่ร้องเรียน         อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็เป็นเรื่องของการตามแก้ไขคลี่คลายปัญหาในภายหลัง โดยที่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้ทำอะไรผิดต้องเผชิญปัญหาและได้รับผลกระทบบางประการไปแล้ว         ส่วนในกรณีเบอร์สูญนั้น นอกจากจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความรอบคอบ เคร่งครัด และรัดกุมในการลงทะเบียนแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องกระบวนการขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ์ในเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิกบริการของคนหนึ่งและเข้าสู่บริการของอีกคนหนึ่ง ดังนั้นจึงควรต้องมีความรอบคอบ เคร่งครัด และรัดกุม เช่นเดียวกัน แต่ในมิติด้านนี้ กสทช. ยังไม่ได้วางกติกาที่ชัดเจน         สำหรับในรายของชายคนดังกล่าว ปรากฏว่า บริษัทผู้ให้บริการมือถือได้ชี้แจงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียนผ่านช่องทางแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการ ซึ่งขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านช่องทางแอปพลิเคชันจะมีเพียงเฉพาะผู้จดทะเบียนเท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากจะต้องเข้าสู่ระบบด้วยวิธีการกรอกรหัส OTP ส่วนในขั้นตอนการแสดงตนใหม่ ทางบริษัทผู้ให้บริการก็ได้กำหนดให้ผู้ใช้บริการใหม่ต้องถ่ายรูปบัตรประชาชนและถ่ายภาพเซลฟี่ตนเองเพื่อเป็นการยืนยันตัวตนด้วย ทั้งนี้ ทางบริษัทผู้ให้บริการยืนยันว่า ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียน หรือขั้นตอนการลงทะเบียนแสดงตนใหม่ผ่านทางแอปพลิเคชันนั้นมีความปลอดภัย และถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาของเจ้าของเลขหมายที่ประสงค์จะโอนย้ายเลขหมายหรือเบอร์ให้แก่บุคคลอื่น         จากข้อชี้แจงดังกล่าวของบริษัทฯ สะท้อนถึงมุมคิดที่น่าจะมีความผิดพลาดและขาดความสมดุลระหว่างเรื่องการอำนวยความสะดวกกับความปลอดภัย           ความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ที่บริษัทฯ มีมุมมองว่านี่เป็นเพียงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้จดทะเบียน ทั้งที่ความหมายแท้จริงเป็นเรื่องของการโอนกรรมสิทธิ์ในเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเกิดจากความยินยอมของเจ้าของหรือคนครอบครองเดิมอย่างชัดเจน การยอมให้ใช้ช่องทางแอปพลิเคชันจึงนับว่าหละหลวมเกินไป เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสวมรอยโดยบุคคลอื่นเข้ามาแอบอ้างขอเปลี่ยนชื่อและลงทะเบียนใหม่         เช่นเดียวกับเรื่องการยกเลิกบริการที่จำเป็นต้องมีกระบวนการขั้นตอนพิสูจน์ตัวตนของผู้ที่ใช้บริการให้ชัดแจ้งว่ามีความประสงค์เลิกใช้เลขหมายดังกล่าวแล้วจริงๆ ดังนั้น กระบวนการและขั้นตอนในการยกเลิกบริการจึงควรต้องเข้มงวดไม่น้อยกว่าขั้นตอนจากการสมัครหรือลงทะเบียนเข้าสู่การใช้บริการ หรืออาจควรเข้มงวดกว่าด้วยซ้ำไป เนื่องจากในยุคสมัยปัจจุบัน เลขหมายมือถือกลายเป็นสิ่งที่ผูกกับตัวตนของผู้ใช้บริการอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง         การอำนวยความสะดวกเรื่องการเปลี่ยนชื่อคนครอบครองเลขหมายมือถือผ่านแอปพลิเคชันของทางค่ายมือถือจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและควรยกเลิก เพราะตราบเท่าที่เปิดช่องทางนี้ไว้ก็เท่ากับเปิดช่องโหว่ให้เกิดปัญหาการสูญเบอร์ขึ้นได้ โดยที่ฝั่งผู้ใช้บริการไม่มีทางที่จะป้องกันหรือปกป้องตัวเองได้เลย จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น         ทั้งนี้ จะว่าไปแล้ว เรื่องการเปลี่ยนชื่อแล้วลงทะเบียนใหม่ได้ทันทีเช่นนี้เท่ากับรวมเอาทั้งกระบวนการขั้นตอนการยกเลิกบริการและกระบวนการขั้นตอนการลงทะเบียนเข้าสู่บริการเข้ามาเป็นขั้นตอนเดียว จึงไม่ควรเป็นเรื่องปล่อยให้ทำได้อย่างง่ายๆ และขาดการตรวจสอบที่รอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม อย่างที่สุด เพราะมิเช่นนั้นก็จะเกิดการฉกหรือช่วงชิงเบอร์กันได้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการประกอบอาชญากรรมอื่นๆ ตามมาได้อีกมาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ปิดล็อก “3 ชั้น” ด้วยปลายนิ้ว

        ปัจจุบันสมาร์ทโฟนแทบจะกลายเป็นอวัยวะหนึ่งในร่างกายของเราแล้ว เนื่องจากข้อมูลต่างๆ มากมายที่ต้องการรับรู้นั้นสามารถค้นหาภายในอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียผ่านสมาร์ทโฟนที่ใช้กันอยู่อย่างง่ายดาย ข้อมูลข่าวสารต่างๆ มีทั้งข้อมูลที่มีสาระประโยชน์ ข้อมูลที่ให้ความบันเทิง เป็นต้น นอกจากนี้ประโยชน์ของการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายจากปลายนิ้วนั้น ทำให้เพิ่มความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างมาก จนทำให้เกิดรูปแบบการช้อปปิ้งออนไลน์ กิจกรรมออนไลน์ต่างๆ ฯลฯ         แค่เพียงหยิบสมาร์ทโฟนเข้าท่องโลกอินเทอร์เน็ต ข้อมูลต่างๆ ก็จะหลั่งไหลมาให้พวกเราได้อ่านและได้ติดตามกันตลอด เมื่อความนิยมของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นเทคโนโลยีถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดเว็บไซต์และแอปพลิเคชันขึ้นมาจำนวนมาก เพื่อตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้นมากนั่นเอง         เมื่อต้องใช้บริการ ผู้ให้บริการทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชันส่วนใหญ่ มักจะเลือกการเก็บข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตนในการเข้าใช้งาน โดยให้กรอกข้อมูลส่วนตัว หนึ่งในนั้นคือหมายเลขโทรศัพท์ โดยหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ในการลงทะเบียนเข้าเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างๆ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งเทียบเท่ากับเป็นข้อมูลส่วนบุคคลหนึ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครอง บางท่านอาจจะเคยได้ยินข่าวที่มีผู้ต้องหาแอบอ้างใช้หมายเลขโทรศัพท์ ที่ถูกเปิดใช้งานภายใต้ชื่อของผู้เสียหาย และนำหมายเลขโทรศัพท์นั้นไปใช้ในทางที่ผิด ส่งผลให้ผู้เสียหายถูกหมายจับดำเนินคดี         ด้วยเหตุนี้ ในฐานะประชาชนจึงควรมีสิทธิที่จะปกป้องตนเองและตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ที่ตนเองครอบครองอยู่ได้ เพื่อไม่เกิดเหตุการณ์จนเกิดคดีความ ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้น จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันหนึ่ง โดยวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสิทธิของประชาชน ไม่ให้ตกอยู่ในมือของมิจฉาชีพ เฝ้าระวังและรู้ทันท่วงทีเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ทั้งนี้สามารถดำเนินการปิดกั้นการใช้ข้อมูลได้ด้วยตนเองทันที         มารู้จักแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “3 ชั้น” หรือ “3 steps” มีสโลแกนว่า ตรวจ..แจ้ง..ล็อค เพื่อเป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่เสมือนผู้ช่วยมาคอยจัดการข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับการรักษาสิทธิการใช้เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของแต่ละบุคคล ภาพรวมของแอปพลิเคชันจะสามารถช่วยตรวจสอบว่ามีการลงทะเบียนการใช้หมายเลขโทรศัพท์ในชื่อและนามสกุลของผู้ใช้แอปฯ จำนวนกี่หมายเลข         ขั้นตอนแรกให้กดลงทะเบียน โดยเลือกรูปแบบออนไลน์ (หรือเลือกลงทะเบียนที่ศูนย์ให้บริการกรณีไม่สะดวกในรูปแบบออนไลน์) จากนั้นกรอกเลขบัตรประจำตัวประชน หมายเลขโทรศัพท์ และเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์ ระบบจะส่งเลข OTP มาให้กรอก และเริ่มต้นตรวจสอบเอกสาร ได้แก่ การสแกนบัตรประจำตัวประชาชน ถ่ายภาพใบหน้า โดยขั้นตอนสุดท้าย ระบบจะให้ตั้งรหัสผ่าน         หน้าแรกจะปรากฎเครือข่ายโทรศัพท์ พร้อมทั้งจำนวนหมายเลขที่เปิดใช้งาน ถัดไปจะเป็นหมวด ตรวจ/แจ้ง โดยสามารถกดดูสถานะหรือแจ้งหมายเลขที่ตกหล่นได้ผ่านสองหน้านี้ ต่อมาจะเป็นปุ่มที่โดดเด่นที่สุด คือ ปุ่มปลดล็อกหน้าที่ของปุ่มนี้ จะทำแค่ปิดล็อกและปลดล็อก เมื่อต้องการล็อกการเปิดหมายเลขโทรศัพท์ใหม่ ให้กดปิดล็อก โดยถ้ามีการกดปลดล็อกเมื่อใด ระบบจะทำการปิดล็อกให้ภายใน 5 นาที         เพื่อความแน่ใจและความปลอดภัยของการโดนแอบอ้างชื่อของตนไปเปิดหมายเลขโทรศัพท์ อีกทั้งการปิดกั้นและป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เข้าไปพัวพันสิ่งผิดกฎหมายได้ ดังนั้นการเปิดใช้แอปพลิเคชันนี้ ย่อมเป็นเครื่องมือที่ช่วยตรวจเช็คได้ในระดับหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 โทรศัพท์ที่บ้าน...เงียบเกินไปไหม!!!???

        โทรศัพท์บ้าน หรือที่เรียกเป็นทางการว่า “โทรศัพท์ประจำที่” หรือ “โทรศัพท์พื้นฐาน” ทุกวันนี้มีการใช้บริการลดน้อยลงเรื่อยๆ สวนทางกับการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ         สำหรับคนที่ยังเปิดใช้บริการโทรศัพท์บ้าน การใช้ก็น้อยลงเรื่อยๆ เช่นกัน โดยเฉพาะการโทรออก บางคนแทบไม่เคยใช้โทรศัพท์บ้านเพื่อการโทรไปหาผู้อื่นเลย ใช้ก็เพียงการรับสายที่โทรเข้ามาเท่านั้น ซึ่งนับวันเสียงเรียกเข้าก็น้อยลงและห่างหายไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน         ด้วยสภาพดังกล่าวที่เป็นแนวโน้มปกตินี้เอง ถึงแม้โทรศัพท์บ้านจะยังคงตั้งอยู่ตรงที่เดิมของมัน และทุกเดือนๆ ผู้ใช้บริการก็จ่ายสิ่งที่เรียกว่า “ค่ารักษาเลขหมาย” จำนวน 100 บาท รวม vat เป็น 107 บาท แต่ผู้ใช้จำนวนมากอาจแทบไม่เคยยกหูโทรศัพท์ขึ้นมาเป็นเดือนๆ หรือหลายๆ เดือน และอาจไม่ทันเอะใจกับความเงียบอันเป็นปกติของ “โทรศัพท์บ้าน” ของตนเอง โดยคิดไปว่าคงเพราะไม่มีใครติดต่อมาทางช่องทางดังกล่าวนั่นเอง         อย่างไรก็ตาม จากเรื่องร้องเรียนต่อไปนี้ อาจทำให้คนที่ยังมีโทรศัพท์บ้านอยู่ จำเป็นต้องคิดใหม่และทำใหม่         เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้โทรศัพท์บ้านคนหนึ่งได้ร้องเรียนเข้ามาที่สำนักงาน กสทช. ระบุปัญหาว่า โทรศัพท์บ้านที่บ้านแม่ของเธอใช้ไม่ได้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งในครั้งนั้นเคยแจ้งเหตุไปยังบริษัททีโอทีบริษัทตรวจสอบแล้วแจ้งว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากสายภายในบ้าน จากนั้นทั้งสองฝ่ายต่างก็เงียบหายกันไป         ผู้ร้องเรียนบอกเล่าว่า จนกระทั่งกลางปี 2565 แม่ของผู้ร้องเรียนได้บ่นว่าเมื่อไรจะจัดการเรื่องโทรศัพท์บ้าน มีปัญหาผ่านมานานหลายปีแล้ว เธอจึงทดสอบดูด้วยการโทรเข้าเบอร์บ้านแม่ ผลพบว่าสองครั้งแรกมีเสียงอัตโนมัติตอบกลับว่า เลขหมายนี้ยังไม่เปิดใช้บริการ แต่ครั้งหลังพบว่ามีเสียงสัญญาณเรียกดังในหูผู้โทร แต่ไม่ดังที่เครื่องโทรศัพท์แต่อย่างใด         นั่นทำให้เธอร้องเรียนไปยังบริษัทผู้ให้บริการอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ผู้ให้บริการเปลี่ยนเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเอ็นที (NT) แล้ว จากการควบรวมกิจการกันระหว่างบริษัททีโอที กับบริษัท กสท โทรคมนาคม หรือแคท (CAT) คราวนี้ได้รับการชี้แจงจากช่างของบริษัทฯ ว่า เนื่องจากมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า จึงทำให้สายโทรศัพท์ภายนอกชำรุดเสียหาย         ต่อมาผู้ร้องเรียนตัดสินใจพาแม่ไปดำเนินการขอยกเลิกการใช้บริการโทรศัพท์บ้านไปเลย พร้อมกับเรียกร้องขอเงินที่จ่ายไปเดือนละ 107 บาทคืนด้วย โดยระบุว่าขอคืนย้อนหลังไปจนถึงปี 2561 ที่เคยมีการร้องเรียนปัญหาครั้งแรก แต่บริษัทฯ ไม่ได้แก้ไขปัญหาให้         หลังจากนั้น ทางบริษัทฯ ได้ติดต่อกลับหาผู้ร้องเรียน แจ้งว่าได้พบสาเหตุของปัญหาคือ เคเบิลปลายทางขาดจากการถูกลักลอบตัดสายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565!!!         กลายเป็นว่า จากเรื่องที่เริ่มด้วยการแจ้งเหตุเสียของผู้บริโภค บทลงเอยกลายเป็นเรื่องบริษัทฯ ถูกลักทรัพย์                 อย่างไรก็ตาม ปัญหาการลักลอบตัดสายเคเบิลโทรศัพท์เพื่อนำทองแดงไปขาย หรือแม้แต่สายเคเบิลอื่นๆ เช่นสายไฟฟ้า สายรถไฟฟ้า เป็นปัญหาจริงที่เกิดขึ้นและทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างต้องปวดหัวและสูญเสียงบประมาณจำนวนมหาศาล         ยกตัวอย่าง บริษัททีโอทีเคยให้ข่าวว่า ผลจากการขโมยตัดสายเคเบิลในปี 2557 เพียงปีเดียว สร้างความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท โดยประมาณร้อยละ 20 นั้นเป็นความเสียหายที่เกิดในเขตกรุงเทพมหานคร อีกทั้งปัญหาดังกล่าวยังกระทบผู้ใช้บริการจำนวนมากและกระทบการสื่อสารในวงกว้าง โดยเฉพาะถ้าสายที่ถูกขโมยเป็นสายเคเบิลขนาดใหญ่         แม้แต่ในปี 2566 นี้ ข่าวอาชญากรรมเกี่ยวกับการจับกุมผู้ลักลอบตัดสายเคเบิลชนิดต่างๆ ก็ยังมีให้เห็นเป็นระยะ         แน่นอนว่า ปัญหาดังกล่าวนี้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายกับบริษัทฯ เป็นหลัก ส่วนผู้บริโภค แม้ว่าโดยทั่วไปอาจถือว่าไม่เดือดร้อน เนื่องจากดังที่กล่าวไปตอนต้นว่า ในระยะหลังโทรศัพท์บ้านก็ดูจะอยู่อย่างเงียบๆ มาจนเป็นปกติไปแล้ว แต่ผู้บริโภคก็มีความเสียหายจากการต้องจ่ายเงินให้แก่สิ่งที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้...อย่างไม่รู้ตัว         ทั้งนี้ สำหรับกรณีของผู้ร้องเรียน ในที่สุดบริษัทได้เสนอ “ปรับลดค่าบำรุงรักษาคู่สายโทรศัพท์” ของรอบปี 2565 ให้ ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ร้องเรียนมิได้พึงพอใจต่อข้อเสนอดังกล่าว และตั้งประเด็นที่น่ารับฟังไว้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า เหตุใดบริษัทจึงไม่แจ้งผู้ใช้บริการ แต่กลับ “ตีเนียน” เก็บค่าบริการเรื่อยมาเดือนแล้วเดือนเล่า         เนื่องจากสถานการณ์จริงเป็นเช่นนั้นแล ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคจึงต้องช่วยเหลือตัวเอง ถ้าโทรศัพท์บ้านของใครไม่ส่งเสียงบ้างเลย ก็อาจต้องลองยกหูขึ้นฟังว่ายังมีสัญญาณอยู่หรือไม่ เพราะโทรศัพท์บ้านของท่านอาจกลายเป็น “บริการไร้สาย” ไปเสียแล้ว โดยไร้สายมาตั้งแต่ต้นทาง...จากนอกบ้าน...นั่นทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 สายการบิน

ผลสำรวจความพึงพอใจสนามบินและสายการบิน         เพื่อความเข้าใจในสถานการณ์การเดินทางทางอากาศหลังการระบาดหนักของโรคโควิด 19 ในแต่ละประเทศ สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ในยุโรป แคนาดา และไทย จึงได้ร่วมกันสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่ใช้บริการสนามบินและสายการบินในช่วงหนึ่งปีก่อนช่วงเวลาตอบแบบสอบถาม (ระหว่างตุลาคมถึงพฤศจิกายนปี 2565) มีผู้ตอบแบบสอบถามจาก 11 ประเทศ รวมทั้งหมด 18,210 คน-----ผู้โดยสารของเราเป็นใครในภาพรวม มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสอบถาม เดินทางด้วยตั๋วโดยสารชั้นประหยัด มากกว่าร้อยละ 60 เดินทางด้วยเที่ยวบินที่ใช้เวลาบินไม่เกินสามชั่วโมง ส่วนจุดประสงค์ในการเดินทางนั้น ร้อยละ 78 ใช้บริการสายการบินเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว ที่เหลืออีกร้อยละ 22 เป็นการเดินทางเพื่อธุรกิจ  ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นหญิงประมาณร้อยละ 34 เป็นชายร้อยละ 66 หากแยกดูตามอายุ...ร้อยละ 44       อายุระหว่าง 50-64 ปีร้อยละ 31       อายุมากกว่า 65 ปีร้อยละ 19.7    อายุระหว่าง 35-49 ปีร้อยละ 5.4      อายุระหว่าง 18-34แต่มีข้อมูลน่าสนใจจากบางประเทศเช่น ร้อยละ 47.7 ของผู้ตอบแบบสอบถามในเบลเยียม เป็นคนอายุมากกว่า 65 ปี  ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามในสโลวาเกียร้อยละ 48.6 เป็นคนวัย 35-49 และในกรณีของไทยมี เกือบร้อยละ 50 มีอายุระหว่าง 18-34เรามาดูกันว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้พบปัญหาอะไร หรือมีความพึงพอใจกับบริการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกของสนามบินและสายการบินในแต่ละด้านแตกต่างกันอย่างไร สายการบิน        ความพึงพอใจที่มีต่อเว็บไซต์หรือแอปฯ ของสายการบิน        ในภาพรวม ร้อยละ 54 ซื้อตั๋วผ่านเว็บหรือแอปฯ ของสายการบิน ผู้ตอบแบบสอบถามเกินครึ่งตอบว่าซื้อตั๋วโดยไม่ได้ดูเว็บหรือแอปฯ เปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจ ซึ่งตรงข้ามกับผู้ตอบแบบสอบถามคนไทย ที่มีผู้ใช้บริการเว็บไซต์หรือแอปฯ เปรียบเทียบราคา เช่น Skyscanner  Kayak หรือ booking.com ถึงร้อยละ 88.6ในภาพรวม สิ่งที่ผู้ใช้งานเว็บไซต์หรือแอปในการจองตั๋วให้ความสำคัญอันดับหนึ่งคือ ความเป็นมิตรต่อผู้ใช้ ตามด้วยความโปร่งใสในการแสดงราคา (เช่น ภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆ) ตามด้วยความสะดวกในการซื้อตั๋วโดยสารแต่ในกรณีของไทย อันดับแรกเหมือนกับผู้คนจากอีกสิบประเทศที่ชอบความเป็นมิตรต่อผู้ใช้ แต่อันดับสองของเราคือการมีเที่ยวบินไปยังปลายทางที่ต้องการ ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น ความโปร่งใสในการแสดงราคา ความสะดวกในการซื้อตั๋ว ได้คะแนนเท่าๆ กันทั้งนี้เว็บไซต์ของสายการบินที่ได้รับคะแนนความพึงพอใจระดับต้นๆ คือ ลุกซ์แอร์ เอมิเรตส์ สวิสแอร์ แอร์ทรานแซท บินเทอร์คานาเรียส นอร์วีเจียนแอร์ และ แอร์ฟรานซ์          ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบจากการใช้บริการสายการบิน        ร้อยละ 19 เคยมีประสบการณ์เที่ยวบินถึงที่หมายล่าช้า ตามเกณฑ์การสำรวจครั้งนี้หมายถึง “เกินกำหนดมากกว่า 15 นาที” ในจำนวนนี้กว่าครึ่งพบความล่าช้าเกิน 1 ชั่วโมง หนึ่งในสี่ของไฟลท์ที่ดีเลย์ ผิดเวลาไปมากกว่า 2 ชั่วโมง และเมื่อเจาะลึกลงไปถึงสายการบินที่ใช้บริการจะพบว่า สายการบินที่มีปัญหาเรื่องไฟลท์ดีเลย์น้อยที่สุดคือ สายการบิน Etihad        ร้อยละ 6 ถูกยกเลิกเที่ยวบิน โดยร้อยละ 64 ของผู้ที่ถูกยกเลิกเที่ยวบิน ไม่ได้รับเงินคืน        ร้อยละ 5 พบปัญหาเกี่ยวกับสัมภาระชำรุดหรือสูญหาย และร้อยละ 71 ของคนกลุ่มนี้ไม่ได้เงินคืน จากข้อมูลการสำรวจ สายการบินที่ผู้โดยสารพบปัญหาเรื่องกระเป๋าน้อยที่สุดคือ บินเทอร์คานาเรียส และเอมิเรตส์หากดูเฉพาะกลุ่มตัวอย่างจากประเทศไทย จะพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ที่ผู้บริโภคพบคือเที่ยวบินล่าช้า (ร้อยละ 70.2) ตามด้วยปัญหาสัมภาระเสียหาย (ร้อยละ 18) การร้องเรียน        ในภาพรวม ร้อยละ 59 ของผู้ที่ประสบปัญหา ร้องเรียนต่อสายการบินผ่านการกรอกแบบฟอร์ม ในกรณีของผู้ที่ถูกยกเลิกไฟล์ มีเพียงร้อยละ 56 เท่านั้นที่ร้องเรียนมีข้อสังเกตว่ากรณีของไทยมีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนกับสายการบินเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ในบรรดากลุ่มคนที่ร้องเรียน มีถึงร้อยละ 80 ที่ไม่ได้รับเงินคืน ปัจจัยที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในสายการบิน        จากการให้ผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนสายการบินในหัวข้อต่อไปนี้        บริการเช็คอินที่สนามบิน        บริการเช็คอินออนไลน์        ขั้นตอนการขึ้นเครื่อง        พนักงานต้อนรับบนเครื่อง        ความสบายของที่นั่งโดยสาร        พื้นที่เก็บสัมภาระเหนือศีรษะ        ความสะอาดของห้องน้ำ        คุณภาพอาหารตามราคาตั๋ว        ทางเลือกสำหรับผู้มีข้อจำกัดด้านอาหาร        คุณภาพอาหารเมื่อเทียบกับราคา        ความตรงต่อเวลาของเที่ยวบิน        ราคาตั๋วโดยสาร        เราพบว่าสิ่งที่มีผลต่อความพึงพอใจโดยรวมของผู้โดยสารต่อสายการบินอันดับต้นๆ ได้แก่ ความตรงเวลาของเที่ยวบิน ราคาตั๋วโดยสาร บริการเช็คอินที่สนามบิน/เช็คอินออนไลน์ พนักงานต้อนรับ และความบันเทิงบนเที่ยวบิน ตามลำดับอย่างไรก็ตามหากแยกดูความพึงพอใจของผู้โดยสารแต่ละประเทศ จะเห็นว่ามีความต้องการที่ค่อนข้างแตกต่างกัน เช่น คนแคนาดาให้ความสำคัญกับความสะอาดของห้องน้ำเป็นอันดับต้นๆ คนสโลเวเนียถูกใจสายการบินเพราะชอบความบันเทิงในเที่ยวบิน คนบราซิลและคนออสเตรียพิถีพิถันกับเรื่องอาหารเป็นพิเศษ ในขณะที่คนไทยเราจริงจังกับพื้นที่เก็บสัมภาระเหนือศีรษะ เป็นต้น         ปัจจัยลำดับ 1 ถึง 3 ที่ส่งผลต่อความพึงพอใจของผู้บริโภคในแต่ละประเทศที่มีต่อสายการบินมีทั้งเหมือนและต่างกันดังนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในสนามบิน        เมื่อเราขอให้ผู้โดยสารให้คะแนนสนามบินในประเด็นต่อไปนี้ ...         การเดินทางเข้า/ออกจากสนามบิน (โดยรถส่วนตัวและรถสาธารณะ)        บริการที่จอดรถ        ป้ายบอกทางในสนามบิน        การออกแบบพื้นที่ในสนามบิน        จอภาพแสดงสถานะเที่ยวบิน        สิ่งอำนวยความสะดวกในการเช็คอิน        จำนวนห้องน้ำ/ความพร้อมใช้งาน        ร้านจำหน่ายสินค้า        บาร์และร้านอาหาร        ที่นั่งและสิ่งอำนวยความสะดวก        ห้องรับรอง (เลาจน์)        บริการ WIFI        บริการจุดชาร์จไฟ        เวลาในการตรวจเช็คความปลอดภัย        เวลาในการผ่านพิธีการทางศุลกากร          เราพบว่าในภาพรวมสามปัจจัยอันดับต้นที่ส่งผลต่อความพึงพอใจสนามบินได้แก่ การออกแบบพื้นที่ในสนามบิน ขั้นตอนการตรวจเช็คความปลอดภัย และจำนวนห้องน้ำสนามบินนานาชาติที่ได้รับคะแนนความพึงพอใจอันดับต้นๆ ได้แก่สนามบินของเมืองดูไบ ซูริค มิวนิค เฮลซิงกิ และโดฮา ตามลำดับในขณะที่ท่าอากาศยานของมอลต้า และควิเบก ได้คะแนนสูงสุดด้านความเร็วในการผ่านขั้นตอนการตรวจเช็คความปลอดภัยด้านห้องน้ำต้องยกให้สนามบินฮามัด เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์  ส่วนท่าอากาศยานออสเทนด์ ของเบลเยียม ได้คะแนนสูงสุดด้านการออกแบบพื้นที่ในสนามบิน         สิ่งที่ผู้โดยสารในแต่ละประเทศให้ความสนใจในอันดับต้นๆ ได้แก่  แผนการเดินทางในปี 2566         เพื่อตอบคำถามว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความแพร่หลายในการจัดประชุมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงการรับรู้เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการเดินทางโดยเครื่องบิน จะส่งผลให้ผู้คนเลือก “บิน” น้อยลงในปี 2566 หรือไม่? จากการตอบแบบสอบถามดังกล่าว เราพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังคงเดินทางโดยเครื่องบินไม่น้อยกว่าปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เดินทางเพื่อการท่องเที่ยวที่วางแผนว่าจะเดินทางไม่น้อยกว่าเดิม มีถึงร้อยละ 60   ผู้ที่เดินทางเพื่อธุรกิจ        ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 51.4) จะเดินทางโดยเครื่องบินไม่น้อยกว่าปีที่แล้ว ในขณะที่ร้อยละ 32.2 ตอบว่าปีนี้จะเดินทางน้อยลง และมีถึงร้อยละ 16.4 วางแผนจะเดินทางมากกว่าเดิมด้วย และถ้าดูเฉพาะกรณีของไทยจะพบว่ามีถึงร้อยละ 48 ที่จะโดยสารเครื่องบินบ่อยขึ้นกว่าปีก่อน         เหตุผลที่สายประชุม/สัมมนา จะเดินทางโดยเครื่องบินน้อยลง          ร้อยละ 28.8    ตั๋วแพงขึ้น           ร้อยละ 23.8    ประชุมออนไลน์        ร้อยละ 22.9    ต้องการเก็บเงิน        ร้อยละ 7.8      ห่วงใยสิ่งแวดล้อม        ร้อยละ 3.2      วิตกสถานการณ์ยูเครน        ร้อยละ 3.1      กลัวติดเชื้อโควิด        ร้อยละ 1.8      กังวลกับมาตรการโควิด        (ร้อยละ 8.6 อื่นๆ) ผู้เดินทางเพื่อท่องเที่ยว        “สายเที่ยว” ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 60.5) จะเดินทางมากพอๆ กับปีที่แล้ว ในขณะที่ร้อยละ 13.8 จะเดินทางน้อยลง และมีถึงร้อยละ 25.7 ที่จะเดินทางมากขึ้น ในกรณีของไทย มีคนวางแผนจะเดินทางด้วยเครื่องบินมากขึ้นถึงร้อยละ 83.4 เลยทีเดียว         เหตุผลที่สายเที่ยวจะเดินทางโดยเครื่องบินน้อยลง          ร้อยละ 32.3    ตั๋วแพงขึ้น           ร้อยละ 32       ต้องการเก็บเงิน        ร้อยละ 11.2    ห่วงใยสิ่งแวดล้อม        ร้อยละ 2.8      วิตกสถาณการณ์ยูเครน        ร้อยละ 2.5      กลังติดเชื้อโควิด        ร้อยละ 1.8      กังวลกับมาตรการโควิด        (ร้อยละ 17.3 อื่นๆ)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ว่าด้วยเรื่องยุ่งยากของการ “เลิก”

        ผลพวงหนึ่งของโควิด-19 ที่ก่อปัญหาให้กับผู้บริโภค ในเรื่องการใช้บริการมือถือ ก็คือการต้องถูกยกเลิกบริการและต้องสูญเสียเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือสูญเสียเบอร์ไปโดยไม่เต็มใจ ซึ่งผลกระทบของการสูญเสียเบอร์มือถือในยุคนี้ไม่ใช่แค่เรื่องพลาดการติดต่ออีกต่อไป แต่อาจกระทบทั้งเรื่องการรับ-จ่ายเงิน การยืนยันตัวตนเพื่อใช้บริการหรือซื้อ-ขายสินค้า หรือแม้แต่การเข้าถึงสิทธิประโยชน์บางอย่าง ฯลฯ         ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการแบบจ่ายรายเดือนหรือแบบเติมเงิน ต่างประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน อันเนื่องมาจากเกิดความไม่สะดวกหรือลืมที่จะเติมเงินเข้าระบบ/ไปชำระค่าบริการในแต่ละรอบเดือน และเมื่อ “วันหมด” หรือ “ค้างชำระเกิน 2 เดือน” ปัญหา “การถูกเลิก” ก็จะตามมา         เนื่องจากตามกติกาที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำหนด มีการอนุญาตให้ผู้ให้บริการเป็นฝ่ายยกเลิกการให้บริการโทรคมนาคมตามสัญญาได้ ในกรณีที่ “ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าธรรมเนียมและค่าบริการเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาสองคราวติดต่อกัน...” ดังนั้น สำหรับผู้ใช้บริการมือถือแบบจ่ายรายเดือน เมื่อมีการค้างชำระค่าบริการเกิน 2 รอบบิล ผู้ใช้บริการบางรายจึงอาจถูกตัดสัญญาณ ทำให้เกิดการสูญเสียเบอร์ตามมา         ส่วนกติกาทางด้านของการใช้บริการแบบเติมเงิน เนื่องจาก กสทช. อนุญาตให้ผู้ให้บริการกำหนดอายุหรือระยะเวลาของเงินที่เติมเข้าระบบในแต่ละครั้งไว้เพียงว่าจะต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน ดังนั้นทุกๆ จำนวนเงินที่เติมและสะสมในแต่ละเบอร์จึงมีวันหมดอายุ ซึ่งหากอายุหมด แม้จำนวนเงินที่สะสมไว้ยังคงเหลือ ผู้ให้บริการก็มีสิทธิที่จะระงับบริการหรือยกเลิกบริการได้ จากนั้นเลขหมายหรือเบอร์ของผู้บริโภคก็อาจหลุดมือไป         แท้จริงแล้ว ตามกติกาที่ กสทช. กำหนด ซึ่งอยู่ในรูปของประกาศเรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ได้กำหนดเรื่องการยกเลิกสัญญาให้บริการโทรคมนาคมไว้ในลักษณะให้สิทธิผู้ใช้บริการ โดยระบุไว้ในข้อ 32 ว่า         “ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ” ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าบริการครบถ้วนแล้วจนถึงวันที่การยกเลิกสัญญามีผลบังคับ” ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดเหตุที่ผู้ใช้บริการอาจใช้สิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันทีไว้ 4 ประการ เช่น ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับบริการจากผู้ให้บริการได้ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการได้ละเมิดข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา        ตามข้อกฎหมายดังกล่าว แม้ว่าข้อความขึ้นต้นจะระบุชัดเจนว่า “ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้...” แต่ภายในสำนักงาน กสทช. ก็ยังมีปัญหาการตีความในส่วนของข้อความที่ตามมา ในเรื่องการบอกกล่าวเป็นหนังสือ โดยเห็นว่า สิทธิดังกล่าวจะมีผลชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อมีการขอยกเลิกสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น หากเป็นเพียงการแจ้งด้วยวาจาก็เท่ากับไม่เกิดผลในทางกฎหมาย         เมื่อตีความเช่นนี้ ข้อ 32 ของประกาศมาตรฐานของสัญญาฯ จึงเปลี่ยนบทบาทจากการรับรองหรือให้สิทธิแก่ผู้ใช้บริการ มาเป็นการให้สิทธิแก่ผู้ให้บริการมากกว่า เนื่องจากในทางปฏิบัติจริง ผู้บริโภคทั่วไปย่อมไม่ลุกขึ้นมาร่างหนังสือเพื่อแจ้งขอยกเลิกสัญญา/บริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริการมือถือ ประกอบกับทางฝ่ายผู้ให้บริการเองก็มิได้มีแบบฟอร์มหรือแบบหนังสือขอเลิกบริการไว้ให้กรอกง่ายๆ ดังนั้น แม้แต่ในกรณีที่ผู้ใช้บริการไปหาถึงร้านหรือศูนย์บริการของผู้ให้บริการ ในความเป็นจริง ก็ยังแจ้งยกเลิกบริการเพียงด้วยวาจาเท่านั้น         เรื่องจึงกลายเป็นว่า หากสามารถเจรจาหรือสนทนากันเป็นที่เข้าใจและเห็นพ้องก็แล้วไป แต่ถ้าฝ่ายผู้ให้บริการไม่ยินดีหรือไม่ยินยอม ปัญหาการตามเรียกเก็บบริการก็จะเกิดขึ้น และเมื่อตีความตามแนวทางของเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. หากผู้บริโภคมิได้ทำหนังสือขอเลิกสัญญาก็เท่ากับสัญญายังมีผล และผู้บริโภคมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าบริการที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บต่อไป         อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาข้อกฎหมายดังกล่าวในอีกแนวทางหนึ่ง ว่า เรื่องการ “บอกกล่าวเป็นหนังสือ” เป็นเพียงวิธีการ มิใช่สาระสำคัญที่ถึงกับจะทำให้สิทธิต้องเสียไปหากวิธีการไม่ถูกหรือไม่สมบูรณ์ ในยามที่เกิดข้อโต้แย้งเรื่องการเรียกเก็บค่าบริการหลังจากผู้บริโภคขอยกเลิกสัญญาแล้ว ก็สามารถพิจารณาข้อเท็จจริงในแง่ของการใช้บริการ ว่าในช่วงเวลาเหล่านั้นได้มีการใช้งานหรือไม่ ซึ่งหากมีการใช้งานก็ย่อมต้องชำระค่าบริการ แต่หากไม่ได้ใช้งาน เจตนาการยกเลิกก็ย่อมชัดเจน และไม่ควรที่จะยอมให้มีการเรียกเก็บเงินเพียงเพราะขาดหนังสือขอเลิกสัญญา         เขียนมาถึงตรงนี้ ประเด็นสำหรับผู้บริโภคก็คือ ถ้าจะเลิกสัญญาโทรคมนาคมแบบไม่มีช่องโหว่ก็ควรต้องทำเป็นหนังสือ อาจเขียนเองง่ายๆ ก็ได้ ขอเพียงมีเนื้อหาชัดในเรื่องการแจ้งความจำนง ลงวันที่ และลงชื่อ ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องเถียงกับผู้ให้บริการในภายหลัง รวมถึงสำนักงาน กสทช. ด้วย เพราะแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันอย่างยิ่ง         ส่วนสำนักงาน กสทช. หากปักใจที่จะขีดเส้นในทางกฎหมายเช่นนี้ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการ ด้านหนึ่งก็ควรที่จะกำชับให้ผู้ให้บริการมีแบบฟอร์มเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ ขณะเดียวกันก็ควรที่จะประชาสัมพันธ์หรือรณรงค์ให้ความรู้และบอกสิ่งที่ควร/ไม่ควรทำแก่ผู้บริโภคด้วย เพื่อประโยชน์ในด้านการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค         กลับมาว่าด้วยการยกเลิกบริการ/สัญญาจากฝั่งผู้ให้บริการอีกครั้ง ทางด้านนี้ หากผู้บริโภคไม่อยากประสบปัญหา ก็ต้องระมัดระวังกับเรื่องการชำระค่าบริการ และในการเติมเงินต้องให้ความสำคัญกับจำนวนวันที่เหลือ ซึ่งอายุของเงินจะได้มาตามจำนวนครั้งการเติมเงิน แม้เติมจำนวนน้อยก็จะต้องได้ 30 วันเป็นขั้นต่ำ ดังนั้นความถี่จึงอาจสำคัญกว่ายอดเงินที่เติม         เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลค่อนข้างคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกับผู้ประกอบการ ผู้บริโภคก็จำเป็นต้องดูแลคุ้มครองตนเอง...เช่นนี้แล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 กระแสต่างแดน

ถูกใจสิ่งนี้        ชาวเน็ตจีนแห่สรรเสริญมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหูหนาน ที่ใช้วิธีการอันแยบยลในการช่วยเหลือนักศึกษาที่มีปัญหาทางการเงิน         จากการวิเคราะห์ข้อมูล “บิ้กดาต้า” เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินซื้ออาหารกลางวันของนักศึกษา 40,000 กว่าคน มหาวิทยาลัยพบว่ามีอย่างน้อย 2,000 คน ที่กินข้าวในโรงอาหารวันละ 3 มื้อ โดยใช้เงินไปไม่ถึง 11 หยวน (ประมาณ 55 บาท)         มหาวิทยาลัยจะพิจารณาว่านักศึกษาคนใดในกลุ่มนี้สมควรได้รับความช่วยเหลือ แล้วก็จะโอนมูลค่าเครดิต 200 หยวนเข้าไปใน “บัตรอาหาร” โดยอัตโนมัติ โดยจะโอนให้ปีละ 4 ครั้ง ในเดือนมีนาคม พฤษภาคม กันยายน และ พฤศจิกายน         ผู้บริหารบอกว่าเด็กที่ฐานะทางบ้านยากจนส่วนใหญ่จะไม่กล้าติดต่อขอความช่วยเหลือ จึงเลือกใช้วิธีนี้เพราะสามารถช่วยให้เด็กเหล่านั้นได้กินอาหารอิ่ม โดยไม่ต้องรู้สึกด้อยกว่าคนอื่นฉลากไม่เป็นมิตร         องค์กรผู้บริโภคยุโรป (BEUC) เรียกร้องให้แบนคำว่า “carbon neutral” “CO2 neutral” หรือ “climate positive” บนฉลากสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มในสหภาพยุโรป        การสำรวจพบว่าข้อความคลุมเครือเหล่านี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในสินค้าที่ขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตของกลุ่มประเทศสมาชิก         นอกจากฉลากหรือสัญลักษณ์ที่อ้างความ “เป็นมิตรต่อโลก” ในยุโรปที่มีมากถึง 230 แบบ จะสร้างความสับสนให้ผู้บริโภคแล้ว ยังทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่ากระบวนการผลิตสินค้าเหล่านั้นไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนในกระบวนการผลิต ทั้งที่จริงๆ แล้วบริษัทเพียงใช้วิธีปลูกป่าเพื่อนำมาหักล้าง โดยยังคงสร้างคาร์บอนต่อไป และไม่มีหลักประกันว่าจะไม่สร้างเพิ่มขึ้นในอนาคต เป็นต้น          ปัจจุบัน “ฉลากสิ่งแวดล้อม” ที่ใช้กันทั่วโลกมีถึง 450 แบบ จึงน่าจะมีผู้บริโภคอีกจำนวนมากที่เข้าใจผิดว่าตัวเองได้เลือกสินค้าที่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย อุปสรรคสำคัญ         สหประชาชาติระบุ การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวดเป็นปัจจัยบั่นทอนความพยายามของรัฐในการจัดหาแหล่งน้ำดื่มสะอาดให้กับประชากรอย่างทั่วถึงรายงานล่าสุดจาก UN University ที่สำรวจอุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวดใน 109 ประเทศ ยังพบความเหลื่อมล้ำอีกด้วย น้ำดื่มบรรจุขวดในซีกโลกเหนือจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ผู้คนซื้อดื่มเพราะต้องการน้ำที่รสชาติดีและดีต่อสุขภาพแต่ผู้คนในซีกโลกใต้ต้องพึ่งน้ำดื่มบรรจุขวดเพราะต้องการน้ำดื่มสะอาด และกำไรมหาศาลของบริษัทน้ำดื่มในเอเชียแปซิฟิกก็ตอกย้ำความเฉื่อยชาของภาครัฐในการลงทุนกับระบบน้ำดื่มสาธารณะ ที่น่าสนใจคือผู้คนยอมจ่ายเพื่อความปลอดภัย แต่แทบไม่มีการสุ่มตรวจคุณภาพโดยภาครัฐเลยธุรกิจที่ดึงน้ำมาใช้ด้วยต้นทุนต่ำและผลิตน้ำบรรจุขวดขายในราคาแพงกว่าน้ำประปาถึง 150 – 1,000 เท่านี้ยังเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน เพราะนอกจากจะสร้างขยะพลาสติกแล้ว ยังทำให้บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ด้วยไต้หวันจะไม่ทน         ไต้หวันเตรียมเสนอร่างกฎหมายพื้นฐานว่าด้วยความปลอดภัยบนท้องถนนในเดือนเมษายนนี้จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เครือข่ายถนนของไต้หวันถือเป็นปัญหาความมั่นคงระดับชาติ สถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรอยู่ที่ 12.67 คนต่อประชากร 100,000 คนการจราจรในไต้หวันได้รับการขนานนามจากสื่อว่าไม่ต่างอะไรกับสนามรบ และยังเป็นนรกสำหรับคนเดินถนนโดยแท้ ในปี 2565 มีผู้ฝ่าฝืนกฎจราจร ไม่หยุดรถที่ทางม้าลายให้คนข้ามถึง 50,000 รายรายงานข่าวระบุว่าปัญหาหลักของถนนไต้หวันคือการออกแบบและการก่อสร้างที่ล้าสมัย บวกกับการกำกับดูแลที่ไม่ทั่วถึงเพราะมีหน่วยงานเกี่ยวข้องมากเกินไป ถนนในไต้หวันทำมาเพื่อรองรับรถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก (แนวคิดเดียวกับถนนอเมริกาในยุค 60) ขนส่งมวลชนและคนเดินถนนจึงถูกละเลยการเพิ่มจำนวนไฟจราจรและกล้องวงจรปิดพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าสิ่งที่ไต้หวันต้องเปลี่ยนจริงๆ คือการออกแบบถนน และการปรับทัศนคติของผู้ขับขี่รถยนต์ ต้องมากกว่าหนึ่ง        นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศว่ารัฐบาลจะทบทวนการให้สิทธิผูกขาดกับผู้ประกอบกิจการ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีและเป็นธรรมโดยแต่ละกระทรวงได้รับคำสั่งให้ไปศึกษาเหตุผลและความเป็นมาที่รัฐบาลเคยให้สิทธิดังกล่าวกับเอกชนรายใดรายหนึ่ง และทำการประเมินอย่างรอบคอบและเป็นธรรมว่าจะให้สิทธินั้นต่อหรือไม่ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีมีมติไม่ต่ออายุสัมปทานแบบผูกขาดให้กับบริษัท Puspakom ที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการตรวจสภาพรถยนต์ตาม พรบ. ขนส่งทางบก ค.ศ. 1987 แต่เพียงผู้เดียวในมาเลเซียตั้งแต่ปี 1994 ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถที่ใช้ในการประกอบธุรกิจหมายความว่าเมื่ออายุสัมปทานดังกล่าวหมดลงในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 บริษัทอื่นที่ผ่านคุณสมบัติตามที่รัฐกำหนดก็สามารถประกอบกิจการดังกล่าวแข่งกับ Puspakom ที่ได้รับสัมปทานต่ออีก 15 ปีได้ เป็นที่ยินดีของผู้บริโภคที่จะไม่ต้องรอนาน และไม่ต้องทนกับภาวะไร้ทางเลือกอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ค่าแรงขั้นต่ำ คุณภาพชีวิตต่ำ กับข้อถกเถียงเรื่อง ‘เซอร์วิสชาร์จ’

        'การมีจิตใจบริการ' หรือ 'service mind' เป็นภาพลักษณ์หนึ่งที่เกื้อหนุนอุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตมาหลายทศวรรษ        'คนไทยเป็นคนมีน้ำใจ' เป็นภาพลักษณ์เชิดชูความเป็นไทยแบบเหมารวมและยากพิสูจน์ที่ถูกเชื่อว่าหนุนหลังให้เกิด service mind แง่มุมอันงดงามเรื่องน้ำใจที่มีแง่คมต่อการขูดรีดแรงงาน        ก่อนหน้านี้เกิดประเด็นเรื่อง 'เซอร์วิสชาร์จ' ว่าเก็บได้หรือไม่ได้ ถ้าจะเก็บต้องทำอย่างไร ผู้บริโภคไม่จ่ายได้หรือไม่ ฯลฯ เรื่องนี้มีตำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนในทางกฎหมาย ซึ่งเราจะรวบตึงมามัดไว้ด้วยกันให้ผู้บริโภคได้ทำความเข้าใจ         นอกเหนือจากนี้ จะชวนไปฟังความเห็นของเจ้าของร้านอาหารที่ผูกพ่วงตำแหน่งนายกสมาคมการท่องเที่ยว และจะชวนไปฟังเสียงบาริสต้าจากสหภาพแรงงานบาริสต้า คนทำงานบริการตัวเป็นๆ ผู้ไร้สุ้มเสียงจากข้อถกเถียงที่พวกเขาไม่ควรถูกทำให้เงียบ เก็บได้ แต่ต้องชัดเจน         ก่อนที่งานบริการจะค่อยๆ ถูกยกมาตรฐานวิชาชีพและองค์ความรู้ตามสายงานอันหลากหลายเช่นปัจจุบัน ในสังคมอเมริกันงานบริการอย่างงานเสิร์ฟอาหารเคยเป็นงานขั้นต่ำสุดที่คนหลีกเลี่ยง แต่มันก็เป็นงานที่จำเป็นต้องมีใครสักคนรับหน้าที่ เซอร์วิสชาร์จจึงเข้ามาเพิ่มแรงจูงใจเพื่อดึงดูดแรงงานและยังมีบทบาทถึงปัจจุบัน         แล้วเซอร์วิสชาร์จเก็บได้ไหม? เอาตรงนี้ก่อน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. ออกมาให้ข้อมูลว่า ผู้ประกอบการสามารถคิดค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าอาหารตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 69 พ.ศ.2565 ข้อ 9 ได้ เซอร์วิสชาร์จนับเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามประกาศ         กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดอีกว่า หากผู้ประกอบการจะคิดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็จำเป็นต้องแสดงค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ชัดเจนและครบถ้วนโดยแสดงควบคู่กับราคาอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคทราบประกอบการตัดสินใจว่าจะใช้บริการหรือไม่ อันเป็นสิทธิของผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 4 ที่ระบุถึงสิทธิของผู้บริโภคไว้ 5 ประการ ประกอบด้วย        1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ        2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ        3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ        4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ        5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณา และชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง และชดใช้ค่าเสียหายเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตาม ข้อ -4         และเพื่อให้เกิดความชัดเจนเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค ผู้ประกอบการควรแจ้งการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นไว้บริเวณหน้าร้านค้า มีกำหนดราคาที่เหมาะสมตามสมควร หากผู้ประกอบการไม่ดำเนินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศฉบับนี้ ผู้บริโภคอาจปฏิเสธไม่ชำระค่าใช้จ่ายอื่นและสามารถร้องทุกข์ต่อกรมการค้าภายในได้ ทางเลือกของผู้บริโภค         สรุปว่าร้านอาหารสามารถเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จได้ แต่ต้องทำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ถึงกระนั้นก็มีร้านอาหารบางแห่งเลือกที่จะไม่เก็บ             พันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่และเจ้าของร้านอาหารเป็นลาวซึ่งไม่มีการเก็บเซอร์วิสชาร์จให้เหตุผลว่า การเก็บเซอร์วิสชาร์จจะมาพร้อมกับความคาดหวังของลูกค้าต่อมาตรฐานการบริการ ขณะที่ร้านเป็นลาวมีนโยบายและรูปแบบการบริการที่เน้นความเป็นกันเอง         “เราอยากรู้สึกเป็นเพื่อนกับลูกค้ามากกว่า แต่ถ้าในอนาคตเราต้องอยู่ในห้าง ต้องเป็นระบบ อันนั้นก็ไม่แน่ ต้องพิจารณากันอีกที แต่โดยส่วนตัวพบว่าสำหรับร้านเราไม่มีนโยบายเพราะเรารู้ว่าเราอาจบริการไม่ดีและก็ไม่อยากให้ลูกค้าคาดหวัง รู้สึกว่าจ่ายแล้วไม่คุ้มค่า” พันชนะยังอธิบายต่ออีกว่า         ในเมืองไทยการเก็บเซอร์วิสชาร์จเกิดขึ้นและวิวัฒนาการมาพร้อมกับการเติบโตของอุตสาหกรรมโรงแรม มันเป็นแรงจูงใจให้แก่พนักงานที่แม้ว่าฐานเงินเดือนจะต่ำ แต่ได้รับค่าเซอร์วิสชาร์จจากการเข้ามาใช้บริการของแขกเป็นสิ่งชดเชย เมื่อมองในแง่การบริหารต้นทุน มันทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการไม่สูงจนเกินไป เซอร์วิสชาร์จจึงมีหน้าที่ของมันในระบบนิเวศของธุรกิจ         เมื่อถามเธอในฐานะนายกสมาคมท่องเที่ยวเขาใหญ่ เธอเห็นว่าควรปล่อยให้เป็นนโยบายของแต่ละร้านที่จะเลือกเก็บหรือไม่เก็บเซอร์วิสชาร์จ เพราะร้านอาหารในเขาใหญ่เองมีความหลากหลาย ตั้งแต่สตรีทฟู้ดถึงแบบ fine dining ที่มีมาตรฐานการบริการขั้นสูง การกำหนดว่าต้องเก็บหรือไม่เก็บอาจไม่สอดคล้องกับสภาพของแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งสถานการณ์ที่เป็นอยู่เวลานี้ พันชนะบอกว่ามีร้านอาหารไม่ถึงร้อยละ 30 ในเขาใหญ่ที่มีการเก็บเซอร์วิสชาร์จ และควรปล่อยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกว่าต้องการระดับการบริการแบบไหน เก็บได้ แต่ต้องเป็นของพนักงาน         ถามย้อนกลับมาฝั่งผู้บริโภคบ้างว่ายินดีจ่ายหรือไม่ ตามทัศนะของ พีรพัฒน์ ตุลยาเดชานนท์ เจ้าของเพจกินกับพีท และพุธิตา ปราบ เจ้าของเพจ Wander Girls ทั้งคู่เป็นเพจรีวิวร้านอาหาร คาเฟ่ สปา เห็นว่าทางร้านสามารถเก็บเซอร์วิสชาร์จได้         “ถ้าถามในมุมผู้ประกอบการคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรมี” พีรพัฒน์อธิบาย “เป็นกำลังใจให้พนักงาน แต่ประเด็นคือการจะมีสิทธิตรงนี้ ทางผู้ประกอบการเองก็น่าจะต้องคอยหมั่นเทรนพนักงานให้มีมาตรฐานที่ดีในการบริการลูกค้า ทั้งในส่วนหน้าร้านและในครัว เพราะเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน”         ส่วนพุธิตามีจุดยืนว่า service charge ควรต้องมี         “เซอร์วิสชาร์จควรจะเป็นการเอาไปหารระหว่างพนักงานด้วยกันเอง ด้วยค่าแรงขั้นต่ำประเทศไทยคนทำงานในสายงานพวกนี้ไม่ได้เงินเดือนสูงอยู่แล้ว บวกกับวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนอเมริกาที่ทิปหนัก เซอร์วิสชาร์จยังจำเป็นอยู่เพื่อให้คนที่ทำงานด้านนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น มันก็มีกฎหมายไม่ให้เซอร์วิสชาร์จเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่ได้แรงมาก คิดว่ามันเล็กน้อยมากกับสิ่งที่เขาต้องทำงานให้เรา”         แต่เมื่อเก็บเซอร์วิสชาร์จ การบริการก็ควรต้องมีมาตรฐานในระดับหนึ่ง พีรพัฒน์กล่าวว่าผู้ประกอบการต้องจัดอบรมพนักงานด้านมาตรฐานการให้บริการ ขณะที่พุธิตามองต่างเล็กน้อยว่า บริการดีหรือไม่ดี ค่อนข้างเป็นเรื่องอัตวิสัย แต่ละคนมีความคาดหวังต่างกัน การให้บริการตามที่เป็นอยู่จึงถือว่าเพียงพอ หากร้านไหนบริการแย่จริงๆ ก็มีการโซเชียล แซ็งชั่นอยู่แล้วในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กำกับร้านอาหารให้ต้องรักษาคุณภาพบริการ        ประเด็นที่ทั้งคู่เห็นพ้องต้องกันคือเซอร์วิสชาร์จควรเป็นของพนักงาน ไม่ใช่ผู้ประกอบการ        พีรพัฒน์ กล่าวว่า “ผมเข้าใจว่าเจอหลายที่ที่เอาสิบเปอร์เซ็นต์นี้เก็บเข้าตัวเอง พนักงานไม่ได้ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องดูอย่างชัดเจนว่าลูกน้องได้หรือเจ้าของเก็บ ผมมองว่าควรลงที่พนักงานเต็มๆ มากกว่า” ในมุมคนทำงานคุ้มครองสิทธิ         อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดว่าเซอร์วิสชาร์จที่อยู่ในหมวดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ต้องเก็บเท่าไหร่ ระบุเพียงว่าต้อง ‘เหมาะสม’ ซึ่งโดยปกติที่เก็บกันทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 10 ของค่าอาหารในแต่ละครั้ง         จุดนี้เอง นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย https://www.bbc.com/thai/articles/cx808jy8g3qo ว่า การเก็บเซอร์วิสชาร์จในไทยไม่มีมาตรฐานอ้างอิง ผู้บริโภคไม่รู้ว่าที่เก็บไปร้อยละ 10 ของราคาคิดจากอะไร ซึ่งทางมูลนิธิเคยหารือเรื่องนี้กับ สคบ. และกรมการค้าภายใน แต่ก็ไม่มีระเบียบหรือมาตรฐานกำหนดไว้ บอกเพียงว่าเก็บได้ แต่ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าก่อนเข้ารับบริการ ติดป้ายหน้าร้านเพื่อให้คนที่จะเข้ามากินเห็นได้ชัดเจน ซึ่งเธอกล่าวว่าไม่ค่อยพบเห็นร้านที่ติดป้ายบอกว่ามีการเก็บเซอร์วิสชาร์จ        นฤมลตั้งข้อสังเกตต่อไปด้วยว่า ในเมืองไทยยังไม่มีการศึกษาเรื่องค่าทิปและเซอร์วิสชาร์จอย่างจริงจัง เช่น เงินส่วนนี้คิดเป็นมูลค่าเท่าไรของรายได้ของธุรกิจค้าปลีกและบริการของไทย อ้างอิงจากมาตรฐานอะไร หรือเซอร์วิสชาร์จตกถึงมือพนักงานหรือไม่         ถึงตรงนี้เราจะเห็นร่องรอยสำคัญบางอย่างที่ขาดหายไปในการถกเถียงเรื่องเซอร์วิสชาร์จ นั่นก็คือเหล่าพนักงานบริการซึ่งสุ่มเสี่ยงจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง         จิตใจบริการหรือจิตวิญญาณของความเป็นทาส?        เชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยร้านอาหารและคาเฟ่ จากการเปิดเผยของ เริงฤทธิ์ ลออกิจ บาริสต้าและสมาชิกสหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่ ทำให้รู้ว่ายังมีพนักงานบริการที่ไม่ได้รับค่าแรงตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ         เขาให้ข้อมูลอีกว่าค่าแรงขั้นต่ำของเชียงใหม่ที่ประกาศใช้ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 คือ 340 บาทต่อวันหรือ 10,200 บาทต่อเดือน ที่ได้มากกว่านี้อาจอยู่ที่ประมาณ 11,000-12,000 บาท มันเป็นรายได้ที่ต่ำเกินกว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เป็นเหตุผลที่ทำให้เขาสนับสนุนให้มีการเก็บเซอร์วิสชาร์จ         “มุมมองต่อลูกค้าจากแรงงานอย่างเรา เมื่อก่อนหนักมาก ปัจจุบันก็ยังมีอยู่คือการเปรียบลูกค้าเป็นพระเจ้า ทำให้ทุกบริการของแรงงานเป็นบริการพิเศษ ไม่ใช่แค่ผมไปเสิร์ฟ แต่ผมต้องยิ้มแย้ม ที่จริงผมไม่ต้องยิ้มก็ได้ งานผมแค่เสิร์ฟ แต่ในไทยไม่ได้ เราต้องมีเซอร์วิสไมด์ วันนี้จะมีปัญหาอะไรก็ตาม ต้องยิ้ม พอนิยามว่าลูกค้าคือพระเจ้า เราแทบจะบริการลูกค้าเต็มที่อยู่แล้ว เพิ่มด้วย                 “เวลามีคนมารีวิวร้านผมว่าบริการดี เป็นมิตร ผมก็จะบอกกับเพื่อนคนทำงานด้วยกันว่า ใช่สิ เพราะใส่จิตวิญญาณของความเป็นทาสลงในบริการนั้นด้วย แบบนี้ควรจะได้มั้ย แต่มันก็เป็นงานประจำของคุณอยู่แล้ว นั่นไง แล้วมันต้องพิเศษขนาดไหน” เริงฤทธิ์ตั้งคำถามกฎหมายคลุมเครือเปิดช่องนายจ้างฮุบเงินเซอร์วิสชาร์จ        กฎหมายอนุญาตให้ผู้ประกอบเก็บเซอร์วิสชาร์จได้และนับเป็นรายได้ แต่กฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องจัดการอย่างไรกับเซอร์วิสชาร์จ ต้องให้พนักงานหรือไม่ ต้องให้ในสัดส่วนเท่าไหร่ ช่องว่างนี้กลายเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการเก็บเซอร์วิสชาร์จเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ของตนโดยไม่แบ่งให้พนักงานตามที่พีรพัฒน์เล่า               “กฎหมายให้ไปตกลงกันเอง คิดว่านายจ้างกับลูกจ้างใครมีอำนาจการตัดสินใจมากกว่ากัน ไม่มีหลักประกันว่านายจ้างให้เท่านี้สมเหตุสมผลแล้ว พอไม่มีหลักประกัน แรงงานไม่กล้ามีปากเสียงในเรื่องเซอร์วิสชาร์จที่จะได้แต่ละเดือน ก็ต้องรอความอนุเคราะห์ของนายจ้าง อะไรคือหลักประกันของคนทำงานภาคบริการว่านายจ้างจะให้ ไม่มี มีนายจ้างฮุบเซอร์วิสชาร์จ แล้วเราจะพิทักษ์สิทธิ์ของตนได้ยังไงในเมื่อกฎหมายยังคลุมเครือ” เริงฤทธิ์อธิบาย         แม้กฎหมายจะเปิดทางให้ผู้ประกอบการใช้ดุลพินิจเองว่าจะเก็บหรือไม่เก็บเซอร์วิสชาร์จ แต่ถ้าธุรกิจใดเลือกจะเก็บ เริงฤทธิ์ก็เรียกร้องให้ต้องมีกฎหมายระบุชัดเจนลงไปว่าเงินที่ได้จากเซอร์วิสชาร์จต้องถูกนำมาแบ่งให้พนักงานทุกคนเท่าๆ กัน         ฟังดูสมเหตุสมผลที่จะเป็นเช่นนั้น พุธิตา กล่าวกับ ‘ฉลาดซื้อ’ ว่า         “ส่วนตัวรับไม่ได้ เซอร์วิสชาร์จเราเต็มใจจ่ายให้พนักงานที่มาดูแลเรา ถ้าเขาเก็บเข้าร้าน อันนี้ไม่ถูกต้อง แสดงว่ามันไม่ใช่ค่าอาหารที่แท้จริง แอบเสียบในเซอร์วิสชาร์จ ถ้าคุณจะเก็บเข้ากำไร คุณต้องใส่ในค่าอาหาร ในฐานะผู้บริโภค เดี๋ยวนี้มีการรณรงค์ว่าเวลาบริจาคไปตรวจสอบได้มากแค่ไหน อันนี้ก็เหมือนกัน เราพร้อมจ่ายเซอร์วิสชาร์จ แต่มันไปถึงคนที่เราอยากจะจ่ายให้จริงๆ หรือเปล่า ถ้ามันไม่ถึง เราทิปให้ยังจะง่ายกว่าอีก แต่ประเทศไทยมันไม่มีอะไรให้ตรวจสอบได้เลย ตอนที่มีดราม่าก็เคยลองอ่านดู มันมีบางคนที่ไม่ได้จริงๆ” ค่าแรงขั้นต่ำที่ต่ำเกินกว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี         เหมือนเป็นประโยคแบบมีเงื่อนไข กล่าวคือเพราะค่าแรงต่ำ เซอร์วิสชาร์จจึงต้องมี ดังนั้น ถ้าค่าแรงสูง เซอร์วิสชาร์จก็ไม่จำเป็น จริงๆ แล้วไม่ใช่ประโยคแบบมีเงื่อนไข เซอร์วิสชาร์จควรเรียกเก็บเป็นปกติเพื่อให้แก่การบริการของพนักงาน เป็นสิ่งที่เริงฤทธิ์และพุธิตาเห็นสอดคล้องกัน         เมืองไทยค่าแรงขั้นต่ำถูกนิยามว่าเป็นค่าตอบแทนที่คนทำงานได้รับซึ่งเพียงพอต่อค่าครองชีพของแรงงานคนนั้นเพียงคนเดียว แต่ค่าแรงขั้นต่ำตามนิยามสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) หรือ ILO ค่าแรงขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการยังชีพตามอัตภาพของคนงาน รวมถึงภรรยาและบุตรอีก 2 คน เห็นได้ชัดว่าค่าแรงขั้นต่ำของไทยห่างไกลจากหลักการสากลไปมาก         ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ เป็นต้น ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ แต่ใช้หลักการเจรจาร่วมระหว่างสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งและนายจ้าง ซึ่งต่างจากไทยที่นายจ้างเข้มแข็งมาก ส่วนสหภาพแรงงานอ่อนแอ         เหตุนี้ เงื่อนไขเดียวที่เริงฤทธิ์ยอมรับได้ถ้าจะไม่มีเซอร์วิสชาร์จคือ         “ถ้าจะไม่มีเซอร์วิสชาร์จ คุณต้องทำให้แรงงานมีอำนาจที่จะรวมตัวและต่อรองขึ้นค่าแรงของตนเองได้โดยอิสระ”

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 257 ไม่ได้เปิดใช้ซิม แต่ถูกเรียกเก็บเงิน

        ค่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ กำลังแข่งกันทำโปรโมชันการขาย โดยโปรโมชันที่เป็นที่นิยมโปรโมชันหนึ่งคือ การขายซิมรายเดือนพร้อมพ่วงค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าเปิดใช้งานซิมเรา ก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเราไม่เปิดใช้ซิมแต่มีการเรียกเก็บเงินเราจะทำอย่างไร มาดูผู้บริโภครายนี้กันว่าเขาจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร         ภูผาซื้อซิมเบอร์โทรศัพท์มือถือ แบบโปรโมชันรายเดือนเดือนละ 299 บาท รวมทั้งค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตของค่ายทรูมูฟเอชจากร้านขายโทรศัพท์ ทางร้านขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเขาไว้เพื่อยืนยันการซื้อซิม หลังจากนั้นเขาเอาเบอร์ที่ซื้อมาไปตรวจดูว่าเบอร์ที่ซื้อมาเข้ากับเขาไหม เพราะมีคนแนะนำเรื่องพลังของตัวเลข เขาพบว่าเบอร์ที่เขาซื้อมาไม่เข้ากับเขาอย่างมาก เขาจึงไม่ได้เปิดใช้บริการซิมนี้ เรื่องก็ล่วงเลยมา จนประมาณ 1 ปี เขาได้รับหนังสือจากสำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่ง ขอให้ชำระเงินกว่า 3,000 บาท เนื่องจากค้างค่าบริการโทรศัพท์มือถือ อ้าว...ไปค้างเงินค่ามือถือได้อย่างไร เขางงมากว่าทำไมถึงถูกเรียกเก็บค่าบริการ เพราะว่าเขาไม่ได้เปิดใช้บริการ เขาเห็นว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่เป็นธรรม จึงมาขอคำปรึกษาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าจะสามารถแก้ไขอย่างไรได้บ้าง  แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิฯ แนะนำว่า ผู้ร้องสามารถไปแจ้งความบันทึกประจำวันไว้ว่า ตนไม่ได้เปิดใช้บริการซิมเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและเพื่อไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นก็ให้ทำหนังสือแจ้งผู้ให้บริการว่าไม่ได้เปิดใช้บริการเบอร์โทรศัพท์และปฏิเสธการจ่ายเงินไปยังบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ พร้อมแนบสำเนาใบบันทึกประจำวันและทำหนังสืออีกฉบับหนึ่งส่งไปที่สำนักงานกฎหมายที่ได้ส่งหนังสือมาให้ผู้ร้องชำระเงินด้วย         ต่อมาทางมูลนิธิฯ ได้ประสานงานไปยังบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้ดำเนินการยกเลิกการคิดค่าบริการจากผู้ร้อง ซึ่งทรูมูฟเอชได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและประสานกับผู้ร้องแจ้งว่า ได้ดำเนินการยกเลิกการเรียกเก็บค่าบริการทั้งหมดแก่ผู้ร้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้ไม่ครบตามจำนวน

        หลายๆ บ้าน น่าจะสนิทกับบริษัทขนส่งของ เพราะว่าช่วงนี้คงจะมีของมาส่งที่บ้านอยู่ไม่น้อย เพราะว่าช่วงโควิด 19 หลายบ้านน่าจะสั่งสินค้าออนไลน์กันบ่อยๆ มาดูกันว่าถ้ามีปัญหาจากกันสั่งสินค้าออนไลน์ เราจะสามารถจัดการปัญหาอย่างไรได้บ้าง         ช่วงสถานการณ์โควิดกำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก ATK (ชุดตรวจโควิดด้วยตัวเอง) เป็นที่ต้องการอย่างมาก คุณบุปผาได้สั่งซื้อ ATK จากเพจเฟสบุ๊กชื่อ แหล่งรวมความถูกที่สุด ชุดละ 37 บาท จำนวน 20 ชุด เป็นเงินจำนวน 790 บาท โดยเขาจ่ายเงินค่าสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง เมื่อสินค้ามาส่งเขาไม่ได้อยู่บ้าน คนที่บ้านรับไว้ให้ และได้จ่ายเงินค่าสินค้าให้กับบริษัทขนส่งไป แต่เมื่อเขากลับมาเปิดกล่องสินค้าพบว่า มี ATK แค่ 12 ชุด ขาดไป 8 ชุด เขารีบติดต่อไปที่เพจที่สั่งสินค้ามา แต่เพจไม่ยอมตอบกลับเขาและแสดงความรับผิดชอบ แนวทางการแก้ไขปัญหา         การสั่งสินค้าออนไลน์ โดยการชำระเงินแบบเก็บเงินปลายทาง (COD) เมื่อตรวจสอบสินค้าแล้วพบว่า สินค้าได้ไม่ครบตามจำนวนที่สั่งซื้อ สามารถแจ้งไปยังบริษัทขนส่งเพื่อให้ระงับเงินโอนไปยังผู้ขายได้ โดยทำผ่านแอปพลิเคชัน หรือโทรศัพท์ หรือสำนักงานสาขาก็ได้ หลังจากนั้นบริษัทจะติดต่อไปยังผู้ขายให้รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 “ทางรัฐ” ศูนย์รวมบริการหน่วยงานรัฐ

        ในฐานะประชาชนคนหนึ่งในประเทศไทยตั้งแต่เกิดจนเติบโต ทุกคนจำเป็นต้องติดต่อกับหน่วยงานของรัฐเป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเกิด การแจ้งเข้าทะเบียนบ้าน การทำบัตรประจำตัวประชาชน การทำใบขับขี่ การทำประกันสังคม การติดต่อกับการไฟฟ้า การประปา รวมถึงสิทธิรักษาพยาบาลต่างๆ ที่เป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน จึงทำให้สรุปได้ว่าทุกคนต้องได้เข้าใช้บริการจากหน่วยงานรัฐอย่างแน่นอน         ล่าสุดตามแผนแม่บทพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน ระยะ 3 ปี (Citizen Portal Roadmap) เพื่อวางรากฐานของประเทศในการยกระดับการให้บริการประชาชน ทำให้ภาครัฐได้จัดทำแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อ “ทางรัฐ” ขึ้น เพื่อมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการจากทางภาครัฐได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว         แอปพลิเคชั่นทางรัฐนี้ เป็นระบบกลางของประเทศที่รวบรวมบริการของหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญมาไว้ในที่เดียว โดยประโยชน์ที่ได้รับจาก แอปพลิเคชันทางรัฐ คือ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย มีความสะดวกและรวดเร็ว สามารถติดตามสถานะการขอใช้บริการภาครัฐได้สะดวก ค้นหาข้อมูลการติดต่อราชการได้ และได้รับบริการตามสิทธิ์ที่พึงได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม         ปัจจุบันมีการรวบรวมบริการไว้ให้กว่า 30 บริการ เช่น การตรวจสอบสิทธิประกันสังคม สถานะผู้ประกันตน สิทธิหลักประกันสุขภาพ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด การตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร หนังสือรับรองผลการทดสอบ O-Net ตรวจสอบข้อมูลใบสั่งจราจร ข้อมูลทะเบียนรถ การจองคิวอบรมใบขับขี่ เช็คโฉนดที่ดิน ข้อมูลติดต่อราชการ การแจ้งเอกสารหาย การยื่นคำร้องกรณีต่างๆ รวมถึงบริการค่าน้ำ ค่าไฟ ที่สามารถชำระค่าบริการผ่าน QR Code ฯลฯ ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมบริการภาครัฐให้บริการประชาชนได้แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว         ขั้นตอนแรกหลังดาวน์โหลดเสร็จ ต้องสมัครเข้าใช้งานโดยสแกนบัตรประจำตัวประชาชนและสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนในลำดับแรก เมื่อเข้าสู่แอปพลิเคชั่นจะปรากฎบริการต่างๆ ตามหมวดหมู่ ได้แก่ หมวดข้อมูลของฉัน หมวดการศึกษา หมวดสิทธิประโยชน์/สวัสดิการ หมวดสุขภาพ หมวดพาหนะ/การเดินทาง หมวดสาธารณูปโภค หมวดที่ดินที่อยู่อาศัย หมวดการงาน/อาชีพ หมวดข้อมูลภาครัฐและหมวดงานยุติธรรม/กฎหมาย         ต่อจากนั้นกดเลือกหัวข้อที่ต้องการ โดยการเริ่มต้นครั้งแรกนั้น ภายในแอปพลิเคชั่นจะให้กดอนุญาตการเช้าถึงข้อมูลนั้นๆ เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลใบขับขี่ แอปพลิเคชั่นจะปรากฎหน้าให้ความยินยอมในการเข้าถึงข้อมูล เมื่อกดยอมรับเรียบร้อยแล้ว จะมีข้อมูลใบอนุญาตปรากฎ ตั้งแต่เลขที่ใบอนุญาต ชนิดใบอนุญาต วันเริ่มและหมดอายุของใบอนุญาต หรือในหัวข้อแจ้งเอกสารหายออนไลน์ เมื่อกดยอมรับเรียบร้อยแล้ว จะเชื่อมต่อกับระบบที่สามารถแจ้งเอกสารหายออนไลน์และตรวจสอบสถานะการแจ้งความผ่านแอปพลิเคชั่นนี้ได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถแจ้งเตือนการหมดอายุ การเปลี่ยนสถานะของเอกสารได้อีกด้วย         เพียงมีแอปพลิเคชั่นทางรัฐก็สามารถเพิ่มความสะดวกสบายได้ดีจริงๆ ซึ่งช่วยลดขั้นตอนการเดินทาง ลดขั้นตอนการยื่นส่งเอกสาร และเพิ่มการเข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ไกลแค่ไหนคือใกล้ เมื่อติดต่อผ่าน Call Zen

        ยุคสมัยปัจจุบันองค์กรต่างๆ ที่ดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการให้บริการหลังการขายทั้งสิ้น เนื่องจากปัจจุบันบริการหลังการขายเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของผู้บริโภคที่จะเลือกซื้อสินค้าเหล่านั้นด้วย ถ้าสินค้าใดไม่มีบริการหลังการขายหรือยากแก่การเข้าถึง หรือแม้กระทั่งมีปัญหาจุกจิกกวนใจในการติดต่อประสานงาน ผู้บริโภคหลายคนเลือกที่จะไม่ซื้อสินค้านั้นเลยก็มี         เมื่อกล่าวถึงบริการหลังการขาย สิ่งหนึ่งที่ทำให้นึกถึงคือ call center ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งที่ช่วยทำให้ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าติดต่อสื่อสารกับเจ้าของสินค้าเหล่านั้นได้ แต่ call center กลับสร้างปัญหาในการเข้าถึงอย่างมาก ซึ่งควรจะเป็นช่องทางที่เข้าถึงได้รวดเร็วที่สุด กลับกลายเป็นช่องทางที่ให้รอสายนานที่สุดเช่นกัน บางครั้งกดเลือกอยู่นาน แต่ไปไม่ถึงจุดหมายที่ต้องการสักที ต้องวางสายและกดโทรออกเริ่มใหม่อีกครั้ง ทำให้ท้อใจไปตามๆ กันเลยทีเดียว เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านต้องเคยประสบกับปัญหาในลักษณะนี้อย่างแน่นอน           ดังนั้นถ้าต้องการให้ความท้อใจนี้หมดไป ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า Call Zen มาไว้ติดสมาร์ทโฟนกันดู ช่วยข้ามขั้นตอนการรอสายนานไปได้มากเลย         Call Zen เป็นแอปพลิเคชั่นที่รวบรวมหมายเลขโทรศัพท์ผ่านระบบ Call Center มาไว้ภายในที่เดียวกัน ปัจจุบันมีหมวดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 22 หมวด ได้แก่ หมวดเบอร์ติดต่อพิเศษสำหรับโควิด-19 หมวดแจ้งเหตุทุจริต หมวดโทรคมนาคม ซึ่งเกี่ยวกับเครือข่ายโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต หมวดธนาคาร หมวดบัตรสมาชิก หมวดบัตรเครดิต หมวดฉุกเฉินและบริการสาธารณะ เช่น สายด่วนกรมทางหลวง ร่วมด้วยช่วยกัน ศูนย์บริการข้อมูลจราจร แจ้งรถหาย มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง เป็นต้น         หมวดสายการบิน หมวดอี-คอมเมิร์ซ หมวดมือถือและอุปกรณ์ไอที หมวดขนส่ง หมวดประกันชีวิต หมวดประกันภัย หมวดโรงพยาบาล หมวดเช่าซื้อหรือลิสซิ่ง หมวดสาธารณูปโภค หมวดอุปกรณ์ตกตแงบ้าน หมวดหน่วยงานราชการและหน่วยงานรัฐ หมวดสื่อมวลชน หมวดแจ้งเหตุอัคคีภัย หมวดแจ้งเหตุอุทกภัย และหมวดบริการส่งอาหาร         หลังจากเลือกเข้าไปตามหมวดแล้ว แอปพลิเคชั่นจะปรากฎหมวดหมู่ย่อยให้เพิ่ม เพื่อให้เลือกเข้าถึงตามความต้องการที่แท้จริง เช่น ติดต่อเจ้าหน้าที่ อายัดบัญชี แจ้งปัญหาร้องเรียน สอบถามยอดค้าชำระ ยกเลิกข้อความโฆษณา เป็นต้น จากนั้นแอปพลิเคชั่นจะแจ้งรายละเอียด เวลาทำการ และหมายเหตุระยะเวลาก่อนกดข้ามขั้นตอน ทั้งนี้ถ้าต้องการติดต่อก็สามารถกดโทรออกภายในหน้านี้ได้ทันที         แอปพลิเคชั่นจะมีการแจ้งการอัปเดตข้อมูลภายในผ่านหัวข้อข่าวสาร บนหน้าหลักของแอปพลิเคชั่น ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ว่ามีการอัปเดตล่าสุดเมื่อวันที่เท่าไร และเป็นข้อมูลด้านใดบ้าง         หลังจากทดลองใช้แอปพลิเคชั่น Call Zen มาสักพักแล้วรู้สึกพึงพอใจมากกว่าในอดีตที่ต้องรอสายแล้วรอสายอีกจนเหนื่อยใจแถมเสียเวลากับการใช้บริการ Call Center เป็นอย่างมาก ช่วยลดความหงุดหงิดและรำคาญใจไปได้มากจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 “เปิดคะแนนซูเปอร์มาร์เก็ตไทย ปี 2021”

แคมเปญผู้บริโภคที่รักชี้คะแนนการสำรวจนโยบายสาธารณะฯ ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยขยับสูงขึ้น ใครคือตัวท็อป ?        ภาพรวมของการประเมินนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เปิดเผยต่อสาธารณะของผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ต 8 รายใหญ่ของไทย มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นในทุกหัวข้อตัวชี้วัด หลักเกณฑ์การประเมินในปี 2564         แบ่งออกเป็น 7 ตัวชี้วัดหลัก ได้แก่ นโยบายด้านความโปร่งใสและความรับผิด, นโยบายแรงงาน ,นโยบายด้านผู้ผลิตรายย่อย, นโยบายด้านความเท่าเทียมทางเพศ, นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม, นโยบายด้านความปลอดภัยทางอาหาร และ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค โดยมีผู้ประกอบการค้าปลีกชั้นนำของไทย 8 ราย ได้แก่ โลตัส, แม็คโคร, บิ๊กซี, ท็อปส์, ฟู้ดแลนด์, ซีพี เฟรชมาร์ท, กูร์เมต์ มาร์เก็ต และวิลล่า มาร์เก็ท        ผลจาก “รายงานการประเมินนโยบายและแนวทางปฏิบัติของห้างค้าปลีกที่เปิดเผยต่อสาธารณะ” พบว่าภาพรวมของคะแนนการประเมินเฉลี่ยในทุกตัวชี้วัดเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการห้างค้าปลีกหลายราย ได้ประกาศนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา เช่น มีการประกาศนโยบายการจรรยาบรรณคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) และนโยบายที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น         โดยเมื่อรวมคะแนนทั้ง 7 ตัวชี้วัด โลตัสได้อันดับหนึ่ง ด้วยคะแนน 35.83 คะแนน จาก 165 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 21.72 บิ๊กซีตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยคะแนน 24 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 14.54 และซีพี เฟรชมาร์ท ตามมาเป็นอันดับ 3 ด้วยคะแนน 20 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.12         สำหรับหมวดที่ห้างค้าปลีกได้คะแนนมากที่สุด คือ หมวดสิ่งแวดล้อม ได้คะแนนค่าเฉลี่ย 25.54% ขณะที่หมวดเพศเป็นหมวดที่ห้างค้าปลีกได้คะแนนน้อยที่สุด ได้คะแนนค่าเฉลี่ย 3.00% โดยมีเพียง โลตัส ท็อปส์ และแม็คโคร ที่ได้คะแนนบางส่วนในหมวดนี้         อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบคะแนนค่าเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการประเมินนโยบายสาธารณะของห้างค้าปลีกในปี 2561 (หมวดด้านสังคม) และ ปี 2562 (หมวดด้านสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค) จะพบว่า คะแนนเฉลี่ยโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยหมวดด้านสังคมคะแนนเฉลี่ยโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.58% ในปี 2561 เป็น 5.45% ในปี 2564 ส่วนหมวดด้านสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคเพิ่มจาก 5.79% ในปี 2562 เป็น 13.29% ในปี 2564  จาก “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” สู่แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก”           ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2561 องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย กินเปลี่ยนโลก และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผนึกกำลังสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าใหญ่ในประเทศไทยจำนวน 7 ราย ในชื่อแคมเปญว่า “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” ซึ่งในการสำรวจคะแนนปีแรกนั้น (การให้คะแนนวัดจาก 4 หัวข้อประกอบด้วย 1.สิทธิแรงงาน 2.สิทธิสตรี 3.เกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย 4.ความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสังคม) พบว่า  เรื่องสิทธิสตรีเป็นด้านที่ได้คะแนนน้อยที่สุด โดยมีเพียง Tesco Lotus เพียงรายเดียวที่ได้คะแนนให้หัวข้อดังกล่าว (1 คะแนน) ส่วนหัวข้อที่น่าจับตามองเพราะมีสัญญาณเชิงบวกคือ ด้านเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย (ดูผลการสำรวจได้ที่ นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 209 ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยกับนโยบายสาธารณะด้านสังคม)         ในปีต่อมา 2562 หลังจากผ่านการทำงานด้านความคิดกับสังคมและผู้ประกอบการ คะแนนของซูเปอร์มาร์เก็ตไทยเริ่มดีขึ้นมานิดๆ จากปีแรกที่ทำการสำรวจ 8 ราย แต่ขอสงวนสิทธิ 1 ราย เหลือเพียง 7 รายที่แถลงข่าวต่อสาธารณะ ซึ่ง 4 ใน 7 มีคะแนน ส่วนอีก 3 รายไม่มีคะแนนปรากฎ อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 นี้ ผู้ประกอบการที่เคยไม่ยินยอมเรื่องการสำรวจก็ยินดีให้ความร่วมมือ ดังนั้นการสำรวจในครั้งที่สองจึงเป็นการสำรวจด้วยหัวข้อเดิม (4 ด้าน) ในผู้ประกอบการ 8 ราย พบว่า แม้คะแนนยังต่ำอยู่ และวิธีการทำงานส่วนใหญ่จะเป็นแค่แนวทางด้านซีเอสอาร์มากกว่าการกำหนดไว้เป็นนโยบาย ซึ่งจะถือว่าเป็นข้อผูกมัดที่กำหนดให้บริษัทต้องปฏิบัติตาม  แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น (ดูผลการสำรวจได้ที่ นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 222 ผลประเมินซูเปอร์มาร์เก็ต)         ในปีที่สาม คณะทำงานเปลี่ยนชื่อแคมเปญจาก “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” สู่ “ผู้บริโภคที่รัก” เพราะตระหนักดีถึงบทบาทของผู้บริโภคว่าแท้จริงแล้วพลังของผู้บริโภคเองนั่นแหละที่จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งได้ โดยในการสำรวจครั้งที่สามนี้ คณะทำงานได้สำรวจในสองหัวข้อใหม่ ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กำหนดโดยคณะทำงานเอง (เดิม 4 หัวข้อเป็นเกณฑ์ที่คิดขึ้นโดยองค์การอ็อกแฟม) ได้แก่ หัวข้อเรื่องสวัสดิการผู้บริโภค และสวัสดิการด้านสิ่งแวดล้อม เป้าหมายหลักก็คือ เป็นข้อมูลที่จะช่วยให้ผู้บริโภค ได้เข้าถึงอาหารปลอดภัยและขณะเดียวกัน ก็รช่วยส่งเสริมความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เมื่อดูที่ตารางผลคะแนน  พบว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งมีการประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติในด้านผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ต่อสาธารณะ แต่ในภาพรวมถือว่า ยังต้องปรับปรุง(ดูรายละเอียดได้ที่นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 222) หมายเหตุ        วิธีการประเมิน ประเมินโดยพิจารณาจากนโยบายของซูเปอร์มาร์เก็ต ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะที่ตรวจสอบและเข้าถึงได้ เช่น เว็บไซต์ ,รายงานประจำปี หรือรายงานต่างๆท่านสามารถดูรายละเอียดต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์ Dear Consumers | ผู้บริโภคที่รัก หรือ (1) ผู้บริโภคที่รัก | Facebook

อ่านเพิ่มเติม >

ผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้บริโภคเรื่องสินค้าและบริการที่ต้องการให้ทดสอบ

โพลล์เผย 54.7% ถูกละเมิดสิทธิจากการซื้อสินค้าบริการ โฆษณาเกินจริงขึ้นแท่นปัญหาอันดับหนึ่ง ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเปิดสถิติปี 64 ร้องเรียนสินค้าบริการมากเป็นอันดับสองโพลล์เผยผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิจากการซื้อสินค้าและบริการ ถึงร้อยละ 54.7 การโฆษณาเกินจริงเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง โดยประชาชน ร้อยละ 77.2 อยากให้สภาองค์ของผู้บริโภคทดสอบสินค้า มากที่สุดคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดสถิติ ม.ค. - ก.ย. 64 พบผู้ร้องเรียนปัญหาหมวดสินค้าบริการทั่วไปเป็นอันดับสอง ร้อยละ 27.18 เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งคือ สินค้าชำรุดบกพร่อง/ไม่ได้มาตรฐาน ร้อยละ 20.06  เรื่องโฆษณาเกินจริงที่เป็นปัญหาอันดับหนึ่ง พบผู้ร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ อยู่ที่อันดับที่สี่ ร้อยละ 16.05         วันที่ 2 ธันวาคม 2564 สภาองค์กรของผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้บริโภคเรื่องสินค้าและบริการที่ต้องการให้ทดสอบ ในกรุงเทพมหานครโดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,143 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 22 - 26 กันยายน 2564         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องผู้บริโภคเรื่องสินค้าและบริการที่ต้องการให้ทดสอบ เนื่องจากสภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นส่วนหนึ่งที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 46 บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลัง ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค ในมาตรา 61 รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย หรือด้านอื่นๆ อีกทั้ง ตามพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นองค์กรอิสระที่ได้รับงบประมาณสามร้อยห้าสิบล้านบาทในการดำเนินการ และสามารถใช้สิทธิแทนผู้บริโภคในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นองค์กรอิสระที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือประชาชนเป็นอย่างมาก โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องผู้บริโภคเรื่องสินค้าและบริการที่ต้องการให้ทดสอบ โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่า “สภาองค์กรของผู้บริโภค” มีการจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้บริโภคในทุกด้าน ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ร้อยละ 61.7 และทราบว่า “สภาองค์กรของผู้บริโภค” เป็นตัวแทนผู้บริโภคและมีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน มีหน้าที่รวบรวม และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ร้อยละ 57.6         โดยใน 1 ปีที่ผ่านมาประชาชนเคยถูกละเมิดสิทธิจากการซื้อสินค้าและบริการ ร้อยละ 54.7 และเรื่องที่ประสบปัญหามากที่สุด อันดับที่หนึ่งคือ การโฆษณาเกินจริง ร้อยละ 26.4 อันดับที่สองคือ ขนาดของสินค้าไม่ตรง ร้อยละ 23.9 อันดับที่สามคือ สินค้าไม่ได้คุณภาพ ร้อยละ 22.2 อันดับที่สี่คือ สินค้าหมดอายุ ร้อยละ 12 อันดับที่ห้าคือ ซื้อแล้วไม่ได้สินค้า ร้อยละ 7.7 และอันดับสุดท้ายคือ สินค้าไม่มีฉลากกำกับ ร้อยละ 7.5         สินค้าหรือบริการพบว่าไม่ได้คุณภาพ อันดับที่หนึ่งคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 22.4 อันดับที่สองคือ เครื่องสำอาง ร้อยละ 20.4 อันดับที่สามคือ อาหาร ร้อยละ 18 อันดับที่สี่คือ เครื่องดื่ม ร้อยละ 9.4 อันดับที่ห้าคือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 7.8 อันดับที่หกคือ บริการขนส่งมวลชน ร้อยละ 7.4 อันดับที่เจ็ดคือ เครือข่ายโทรศัพท์ ร้อยละ 6.6 อันดับที่แปดคือ บริการจัดส่งสินค้า ร้อยละ 4.5 และอันดับสุดท้ายคือ บริการนำส่งอาหาร ร้อยละ 3.3         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ทดสอบสินค้าและบริการเพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ร้อยละ 77.2 และคิดว่าท่านจะสามารถใช้ผลการทดสอบสินค้าและบริการของ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” เพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ร้อยละ 67.2        โดยต้องการให้ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ทดสอบสินค้าและบริการ อันดับที่หนึ่งคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 45.6 อันดับที่สองคือ อาหาร ร้อยละ 42.8 อันดับที่สามคือ เครื่องสำอาง ร้อยละ 41.7 อันดับที่สี่คือ เครื่องดื่ม ร้อยละ 34.9 อันดับที่ห้าคือ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 32.8 อันดับที่หกคือ บริการจัดส่งสินค้า ร้อยละ 29 อันดับที่เจ็ดคือ บริการขนส่งมวลชน ร้อยละ 25 อันดับที่แปดคือ เครือข่ายโทรศัพท์ ร้อยละ 24.8 และอันดับสุดท้ายคือ บริการนำส่งอาหาร ร้อยละ 22.7         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบประเภทของสินค้าอาหาร อันดับที่หนึ่งคือ อาหารเสริม ร้อยละ 38.5 อันดับที่สองคือ อาหารกึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ 18.5 อันดับที่สามคือ อาหารปรุงสุก ร้อยละ 15.7 อันดับที่สี่คือ อาหารสด ร้อยละ 11.2 อันดับที่ห้าคือ ขนมอบกรอบ ร้อยละ 9.7 และอันดับสุดท้ายคือ ผัก ผลไม้ ร้อยละ 6.5         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบประเภทของเครื่องดื่ม อันดับที่หนึ่งคือ เครื่องดื่มผสมวิตามิน ร้อยละ 40.4 อันดับที่สองคือ เครื่องดื่มชูกำลัง ร้อยละ 15 อันดับที่สามคือ นม UHT ร้อยละ 12.2 อันดับที่สี่คือ ชา กาแฟ ร้อยละ 11.8 อันดับที่ห้าคือ น้ำผลไม้ ร้อยละ 10.8 และอันดับสุดท้ายคือ น้ำดื่ม ร้อยละ 9.6         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบประเภทของเครื่องสำอาง อันดับที่หนึ่งคือ ครีมบำรุงผิว ร้อยละ 23.6 อันดับที่สองคือ สบู่ / ครีมอาบน้ำ ร้อยละ 18.5 อันดับที่สามคือ โฟมล้างหน้า ร้อยละ 17.7 อันดับที่สี่คือ แชมพู ครีมนวดผม ร้อยละ 14.8 อันดับที่ห้าคือ ผงซักฟอก / น้ำยาซักผ้า ร้อยละ 13 และอันดับสุดท้ายคือ ลิปสติก ร้อยละ 11.9         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบประเภทของเครื่องใช้ไฟฟ้า อันดับที่หนึ่งคือ เครื่องปรับอากาศ ร้อยละ 27.9 อันดับที่สองคือ เครื่องฟอกอากาศ ร้อยละ 17.6 อันดับที่สามคือ เครื่องกรองน้ำ ร้อยละ 16.7 อันดับที่สี่คือ เตาอบ ร้อยละ 13.7 อันดับที่ห้าคือ ทีวี ร้อยละ 12.5 และอันดับสุดท้ายคือ ตู้เย็น ร้อยละ 10.9         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภคทดสอบ/สำรวจบริการเครือข่ายโทรศัพท์ อันดับที่หนึ่งคือ ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว ร้อยละ 30.4 อันดับที่สองคือ บริการ SMS ที่เก็บค่าบริการ ร้อยละ 20.6 อันดับที่สามคือ ค่าบริการ ร้อยละ 13.6 อันดับที่สี่คือ การชดเชยเมื่อเกิดความผิดพลาดของผู้ให้บริการ ร้อยละ 12.5 อันดับที่ห้าคือ บริการ Call center ร้อยละ 12.1 และอันดับสุดท้ายคือ พื้นที่ให้บริการ ร้อยละ 10.8         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบ/สำรวจบริการอินเทอร์เน็ต อันดับที่หนึ่งคือ ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว ร้อยละ 32 อันดับที่สองคือ ความเร็วอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 24.2 อันดับที่สามคือ พื้นที่ให้บริการ ร้อยละ 12.1 อันดับที่สี่คือ ค่าบริการ ร้อยละ 11.8 อันดับที่ห้าคือ บริการ Call center ร้อยละ 10.3 และอันดับสุดท้ายคือ การชดเชยเมื่อเกิดความผิดพลาดของผู้ให้บริการ ร้อยละ 9.5         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบ/สำรวจบริการขนส่งสินค้า อันดับที่หนึ่งคือ การดูแลพัสดุไม่ให้เกิดความเสียหาย ร้อยละ 24 อันดับที่สองคือ การชดเชยกรณีพัสดุเสียหาย ร้อยละ 22 อันดับที่สามคือ ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว ร้อยละ 17.6 อันดับที่สี่คือ การชดเชยกรณีพัสดุสูญหาย ร้อยละ 15.2 อันดับที่ห้าคือ ความเร็วในการจัดส่ง ร้อยละ 12.6 และอันดับสุดท้ายคือ ค่าบริการ ร้อยละ 8.7         อยากให้สภาองค์กรของผู้บริโภค ทดสอบ/สำรวจบริการขนส่งมวลชน อันดับที่หนึ่งคือ รถเมล์ ร้อยละ 26 อันดับที่สองคือ รถแท็กซี่ ร้อยละ 18.5 อันดับที่สามคือ จักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 16 อันดับที่สี่คือ รถรับจ้างสาธารณะ (สองแถว) ร้อยละ 15 อันดับที่ห้าคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 13.3 และอันดับสุดท้ายคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 11.2         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สถิติการร้องเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน ปี 2564 มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 1,192 เรื่อง มีผู้ร้องเรียนปัญหาหมวดสินค้าบริการทั่วไป เป็นอันดับสอง จำนวน 324 เรื่อง ร้อยละ 27.18 รองจากอันดับหนึ่ง หมวดการเงินการธนาคาร/ประกัน จำนวน 516 เรื่อง ร้อยละ 43.29 ในหมวดสินค้าบริการทั่วไป ประเภทสินค้าที่ร้องเรียนที่พบมากที่สุด คือ สินค้า 248 เรื่อง ร้อยละ 76.54 รองลงมา คือ บริการ 76 เรื่อง ร้อยละ 23.46         เมื่อแบ่งประเภทปัญหาที่ร้องเรียนในหมวดสินค้าบริการทั่วไป อันดับที่หนึ่งคือ สินค้าชำรุดบกพร่อง/ไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 65 เรื่อง ร้อยละ 20.06 อันดับที่สองคือ มีปัญหาการขอคืนเงิน จำนวน 56 เรื่อง ร้อยละ 17.28 อันดับที่สามคือ ไม่พอใจบริการ จำนวน 56 เรื่อง ร้อยละ 17.28 อันดับที่สี่คือ โฆษณาเป็น         เท็จ/หลอกลวง/เกินจริง จำนวน 52 เรื่อง ร้อยละ 16.05 อันดับที่ห้าคือ ไม่ได้รับสินค้า/สินค้าไม่ถูกต้อง จำนวน 33 เรื่อง ร้อยละ 10.19 อันดับที่หกคือ ฉ้อโกง/หลอกลวง จำนวน 21 เรื่อง ร้อยละ 6.48         ในปี 2564 พบว่าผู้บริโภคเคยถูกละเมิดสิทธิจากการซื้อสินค้าและบริการถึงร้อยละ 54.7 แต่มีผู้ที่มาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ ในหมวดสินค้าบริการทั่วไปเป็นอันดับสอง ร้อยละ 27.18 เป็นจำนวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่พบปัญหาถูกละเมิดสิทธิ เมื่อเทียบปัญหาที่พบกับการร้องเรียนปัญหาเรื่องสินค้าและบริการทั่วไปแล้วยังพบว่ามีผู้ที่พบปัญหาแต่ไม่ได้ร้องเรียนอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องของการโฆษณาเกินจริง ที่พบปัญหามากเป็นอันดับที่หนึ่งแต่ร้องเรียนกับมูลนิธิฯ เป็นอันดับที่สี่ อาจจะเพราะผู้บริโภคยังไม่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่สามารถร้องเรียนได้ ฉะนั้นเมื่อพบปัญหาแล้วเกิดความสงสัยหรือไม่แน่ใจ ควรสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอยากให้ผู้บริโภคร้องเรียนปัญหาเพื่อรักษาสิทธิของตนเอง         หากพบปัญหาเรื่องสินค้าและบริการต่างๆ สามารถสอบถามเพิ่มเติม หรือแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 02-2483734-7 Line id : @ConsumerThai หรือร้องทุกข์ออนไลน์ที่ https://www.consumerthai.com/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 “315 กาล่า” เมื่อไชน่าแฉผู้ประกอบการ

        ประเทศจีนถือฤกษ์วันที่ 15 มีนาคม ซึ่งตรงกับวันสิทธิผู้บริโภคสากล เป็นวันเปิดโปงพฤติกรรมที่ “ไม่น่ารัก” ของผู้ประกอบการ ผ่านรายการถ่ายทอดสดของสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ China Central Television (CCTV) ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ         สองชั่วโมงเต็มของรายการ “315 กาล่า” เป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการลุ้นกันตัวโก่ง หวั่นตัวเองจะโดนแฉออกสื่อ เพราะ CCTV เขาใช้วิธีส่งนักข่าวเข้าไปแฝงตัวเพื่อเก็บหลักฐานการละเมิดสิทธิผู้บริโภค บางรายถึงขั้นเตรียมออกแถลงข่าวขอโทษเอาไว้เลย         ในภาพรวมของการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียน 980,000 เรื่องในปี 2563 และได้ดำเนินการเรียกร้องเงินคืนให้กับผู้บริโภค คิดเป็นมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 7,400 ล้านบาท         สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีนระบุว่ามีเรื่องร้องเรียนจำนวนพอๆ กันระหว่างสินค้าและบริการ สิ่งที่น่าสังเกตคือมีจำนวนเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริการหลังการขายเพิ่มขึ้น ในขณะที่การร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าด้อยคุณภาพลดจำนวนลง ที่ยังมีร้องเรียนเข้ามามากคือ อุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่ทำยอดขายถล่มทลายตั้งแต่โควิดเริ่มระบาด         รายงานของ CCTV ระบุว่านมผงสำหรับทารกที่ผลิตในประเทศจีนกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง หลังจากผู้บริโภคขาดความมั่นใจและหันไปพึ่งพานมผงนำเข้าอยู่หลายปี         ในรายการ 315 กาล่า ครั้งที่ 39 นี้ อุตสาหกรรมที่โดนเล่นงานหนักที่สุดเห็นจะไม่พ้นบรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับ “บิ๊กเทค” ทั้งหลาย         ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายออนไลน์ยังมาแรง เช่น โฆษณาหลอกลวง การใช้ข้อมูลตั้งราคาต่างกันสำหรับลูกค้าต่างกลุ่ม รวมถึงการขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และสินค้าปลอม เป็นต้น         เว็บ UC Browser ของค่ายอาลีบาบา และเว็บ 360 ถูกประณามเพราะไม่รับผิดชอบต่อสุขภาพความปลอดภัยของผู้บริโภค ด้วยการรับโฆษณาจากสถาบันการแพทย์ที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีกรณีไลฟ์สดขายรังนกที่ทำยอดสั่งซื้อได้ถึง 15 ล้านหยวน แต่สิ่งที่ผู้ซื้อได้รับกลับกลายเป็นแค่น้ำเชื่อม!         ทางการจีนยังใช้พื้นที่ในรายการดังกล่าวเปิดตัว “แนวปฏิบัติใหม่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมออนไลน์” ที่กำหนดให้แพลตฟอร์มตลาดกลางออนไลน์ต้องมีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เช่น ต้องขออนุญาตจากผู้บริโภคก่อนเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหว ให้ผู้ขายมีสิทธิเปิดร้านได้หลายแพลตฟอร์ม และเก็บคลิปไลฟ์สดขายของเอาไว้เป็นหลักฐานอย่างน้อย 3 ปี         ที่ฮือฮาที่สุดคือ การละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูกค้าในโชว์รูมของค่ายสุขภัณฑ์ Kohler ค่ายรถยนต์ BMW รวมถึงร้านเสื้อผ้า MaxMara ด้วยการเก็บข้อมูลสแกนใบหน้าลูกค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต เรื่องนี้โป๊ะแตกเพราะผู้ให้บริการระบบกล้องวงจรปิด Suzhou Ovopark Network Technology ยอมรับว่าได้ดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดจำนวนมหาศาลในร้านเหล่านี้ และยอมรับอีกว่าบริษัทในฐานะผู้ดูแลระบบ มีข้อมูลของลูกค้าจำนวน “หลายร้อยล้าน” ใบหน้าเลยทีเดียว         ข้อมูลที่ว่านี้สามารถนำไปสร้างโปรไฟล์ลูกค้า เพิ่มข้อมูลส่วนตัว ระบุเพศ อายุ อารมณ์ แล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นเครื่องมือการตลาดแบบเจาะจงได้         หลังถูกเปิดโปง Suzhou Ovopark Network Technology บอกว่าได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบการทำงานของตนเองและจะแจ้งความคืบหน้าให้ประชาชนได้ทราบ ส่วน Kohler ก็ออกแถลงการณ์ว่าเขาใช้กล้องวงจรปิดเพื่อนับจำนวนลูกค้าเท่านั้น บริษัทไม่ได้เก็บ วิเคราะห์ หรือส่งต่อข้อมูลนั้นให้ใคร แต่เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ เราได้รื้อถอนกล้องดังกล่าวออกจากโชว์รูมทั้งหมดตั้งแต่คืนวันที่ 15 มีนาคมแล้ว บริษัทกล่าว         อีกธุรกิจที่ถูกแฉคือ ผู้ให้บริการแอปฯ จัดหางาน Zhaopin.com, Liepin.com, และ 51job.com ที่นำข้อมูลประวัติการศึกษาและประสบการณ์การทำงานของผู้สมัครงานไปขาย และยังปล่อยให้รั่วไหลไปยัง “ตลาดมืด” ที่สำคัญคือแต่ละแอปฯ อ้างว่าตัวเองมีบัญชีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน         หลังจบรายการ ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถืออย่าง Huawei, Xiaomi, OPPO และ VIVO ได้ถอนแอปฯ ของสามบริษัทนี้ออกจากร้านขายแอปฯ ของตัวเองทันที         ด้านเจ้าของแอปฯ ก็รับปากจะไปตรวจสอบจัดการระบบให้รัดกุมและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น ไม่ปล่อยให้ใครต่อใครเข้ามาดาวน์โหลดเรซูเม่ของผู้ใช้ได้ตามใจชอบ บางเจ้าตั้งทีมขึ้นมาควบคุมดูแลการปรับปรุงโดยเฉพาะด้วย         ค่ายรถยนต์ก็โดนเช่นกัน ผู้ใช้รถหรู Infiniti ของค่ายนิสสัน และผู้ใช้รถหลายรุ่นของ Ford เช่น focus หลายรายพบปัญหาเกี่ยวกับระบบเกียร์ นิสสันถูกแฉในรายการว่าพยายาม “ปิดกั้น” ลูกค้าไม่ให้ร้องเรียน ในขณะที่ฟอร์ดไม่แจ้งเตือนผู้ใช้รถและไม่จัดการซ่อมแซมให้โดยสมัครใจ         แน่นอนว่าบริษัทต้องรีบเสนอทางออกทันทีหลังรายการจบ นิสสันบอกว่าจะปรับปรุงการสื่อสารกับลูกค้า ในขณะที่ฟอร์ดเสนอให้ผู้ใช้นำรถที่มีปัญหาเกียร์เข้ามาซ่อมฟรีได้เลย         อีกเรื่องที่น่าสนใจของ 315 Gala ปีนี้ คือกรณีผู้สื่อข่าวที่แฝงตัวเข้าไปเป็นพนักงานขายเพื่อเก็บข้อมูลของบริษัทขายรถมือสองแห่งหนึ่งที่มีคนร้องเรียนว่าขายรถในราคาแพงเกินจริง กว่าบริษัทจะรู้ตัวว่ามี “สปาย” ผู้สื่อข่าวคนนี้ก็ได้รับการเลื่อนขั้นเป็นถึงรองผู้อำนวยการที่เข้าประชุมร่วมกับผู้บริหารคนอื่นๆ เป็นประจำ และมีลูกน้องในสังกัดไม่ต่ำกว่า 10 คน         เจ้าตัวบอกว่าตอนแรกที่เป็นพนักงานขาย เขาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล “อินไซด์” ที่เป็นประโยชน์ต่อการเปิดโปงได้ เขาจึงพยายามทำยอดขายให้ได้อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งได้เลื่อนตำแหน่ง ที่สำคัญคือเงินเดือนในตำแหน่งใหม่นี้สูงกว่าที่สถานีโทรทัศน์ CCTV จ่ายให้เขาเกือบสามเท่า หัวหน้างานที่สถานีฯ จึงหมั่นโทรหาเขาทุกวัน เพราะกลัวลูกน้องจะแปรพักต์ไปอยู่กับบริษัทขายรถมือสอง            สามารถดูคลิปวิดีโอรายการได้ที่ www.315.cctv.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 บริการขนส่งมวลชนที่พึงปรารถนา

        ปัญหาเร่งด่วนและสำคัญของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คงไม่พ้นปัญหาปากท้อง ภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น แน่นอนค่าใช้จ่ายที่สำคัญของผู้บริโภค คงหนีไม่พ้นค่าใช้จ่ายเรื่อง อาหาร ที่อยู่อาศัย และค่าบริการขนส่งในการเดินทางไปทำงาน         งานวิจัยล่าสุดของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) พบว่า ค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร สูงถึง 26-28 % หรือหากใช้รถปรับอากาศ ก็สูงถึง 15 % ของรายได้ขั้นต่ำ ขณะที่ในฝรั่งเศสมีค่าใช้จ่ายเพียง 3 % ลอนดอน 5 % โตเกียว 9 % และสิงคโปร์ 5 % ในการใช้รถไฟฟ้าเท่านั้น         โดยข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิตของแต่ละคนในขณะนี้แพงกว่านี้อีกมาก หากคิดตั้งแต่ต้องออกจากบ้าน ใช้มอเตอร์ไซค์ รถเมล์ รถตู้ กว่าจะถึงรถไฟฟ้า และหากใช้รถไฟฟ้าสองสาย ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่เรียกว่าค่าแรกเข้า 14-16 จากรถไฟฟ้าทุกสายที่ใช้บริการ         แน่นอนปัญหาความไม่เพียงพอของบริการขนส่งมวลชน ปัญหารถติด การใช้เวลาบนท้องถนน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความไม่แน่นอนของบริการจากปัญหารถติด ปัญหารถไฟฟ้าราคาแพง ทำให้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมากถึง 43 % เดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์ 26 % และรถขนส่งมวลชน 24 %  ขณะที่สิงคโปร์ใช้รถขนส่งสาธารณะถึง 62 % และ 89 % ในฮ่องกง (สถิติในปี 2015)         รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDG) โดยตั้งเป้าหมายไว้ในปี พ.ศ. 2030 จะทำให้ประชากรได้รับความปลอดภัยในการเดินทาง สามารถจ่ายค่าโดยสารและสามารถเข้าถึงระบบขนส่ง และระบบขนส่งที่ยั่งยืน การปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน ตัวอย่างที่ดีที่สุด เช่น โดยการขยายเส้นทางขนส่งสาธารณะให้ตรงกับความต้องการของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงอย่างผู้หญิง เด็ก คนพิการ และผู้สูงวัย โดยกำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญ คือต้องเพิ่มสัดส่วนของประชาชนที่สามารถเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดที่มีบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร          เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค ความปลอดภัยในการใช้บริการขนส่งมวลชน การบริโภคที่ยั่งยืน และแน่นอนการแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋วพิษ PM 2.5 ที่เป็นปัญหาสุขภาพ รัฐต้องสนับสนุนให้มีการใช้บริการขนส่งมวลชนที่เพิ่มขึ้น ข้อเสนอที่สำคัญของผู้บริโภคในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ มี 5 เรื่องทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่สำคัญ         1) ประชาชนทั่วประเทศ ต้องเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร หรือเดินไม่เกิน 15 นาที ต้องปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้เป็นระบบไฟฟ้าทั่วประเทศ         2) ระยะเวลาในการรอรถเมล์ หรือรถโดยสารสาธารณะไม่เกิน 15 นาที ในช่วงเร่งด่วนและไม่เกิน 30 นาทีในช่วงไม่เร่งด่วนในการเดินทางประจำวัน         3) มีระบบให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ว่า รถเมล์ หรือรถโดยสารสายอะไรที่กำลังจะมา (ViaBus) ในกรุงเทพฯยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถบอกได้ในปัจจุบัน รวมทั้งในต่างจังหวัดที่ยังแทบไม่มีระบบอะไรเลย         4) ค่าใช้จ่ายบริการขนส่งมวลชนทุกประเภทรวมแล้วต้องไม่เกิน 5 % ของรายได้ขั้นต่ำในแต่ละวัน ซึ่งทั้งรัฐบาลและท้องถิ่นต้องพัฒนาระบบสนับสนุนที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ สะอาด มีคุณภาพในการให้บริการ         5) สำหรับกรุงเทพ ฯ ต้องจัดการให้ผู้บริโภคเสียค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าเพียงครั้งเดียวในการใช้บริการถึงแม้จะใช้หลายเส้นทาง มีระบบที่เชื่อมโยงรถเมล์กับบริการรถไฟฟ้า และบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท

อ่านเพิ่มเติม >