ฉบับที่ 203 บอกเลิกสัญญาฟิตเนสไม่ได้

เพราะสุขภาพดีไม่มีขาย ใครอยากได้ต้องทำเอง ส่งผลให้ผู้บริโภคปัจจุบันเริ่มหันมาออกกำลังกายกันเป็นประจำมากขึ้น ซึ่งหลายคนก็นิยมออกกำลังกายในฟิตเนส เพราะสะดวก มีอุปกรณ์หลากหลาย แต่หากวันหนึ่งเกิดปัญหาและต้องการยกเลิกสัญญาใช้บริการ เราสามารถทำได้ง่ายๆ จริงหรือคุณณรงค์สมัครใช้บริการฟิตเนสเจ้าหนึ่ง มาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี แต่วันหนึ่งเขากลับประสบอุบัติเหตุขณะกำลังออกกำลังกาย ทำให้ต้องพักรักษาตัวและงดออกกำลังกาย 1 เดือน เขาจึงไปแจ้งกับพนักงานของฟิตเนสดังกล่าวว่า ขอระงับการใช้บริการชั่วคราว โดยยินดีเสียค่าธรรมเนียมการระงับตามระเบียบของบริษัท อย่างไรก็ตามพนักงานกลับแจ้งว่าไม่สามารถระงับชั่วคราวในทันทีได้ เพราะตอนที่คุณณรงค์มาแจ้งนั้น เริ่มเข้าเดือนใหม่แล้ว ซึ่งกฎของบริษัทกำหนดให้สามารถระงับได้ในเดือนถัดไป เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณณรงค์จึงเห็นว่าในเดือนถัดไป เขาน่าจะอาการดีขึ้นและสามารถกลับมาออกกำลังกายได้ตามปกติแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องขอระงับชั่วคราว ดังนั้นเมื่อถึงวันสุดท้ายของเดือนดังกล่าว คุณณรงค์จึงไปขอยกเลิกสัญญา และแจ้งระงับการชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต ซึ่งปกติจะตัดยอดอัตโนมัติ พร้อมนำกุญแจล็อกเกอร์ไปคืน แต่พนักงานของฟิตเนสกลับแจ้งว่า ไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้อีกเช่นกัน เพราะตามกฎการบอกยกเลิกสัญญานั้น จะต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน แสดงว่าจะในเดือนที่กำลังจะถึงนี้ คุณณรงค์ยังคงต้องชำระค่าบริการก่อนและบอกยกเลิกได้ในเดือนถัดๆ ไป ส่งผลให้เขารู้สึกว่าโดนเอาเปรียบและส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยผู้ร้องร่างหนังสือแจ้งขอยกเลิกสัญญาและปฏิเสธการชำระค่าบริการ เนื่องจากการที่ผู้ร้องประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถออกกำลังกายได้นั้น เป็นเหตุในบอกระงับการใช้บริการได้ ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผุ้บริโภค เรื่องสิทธิในการบอกเลิกสัญญาฟิตเนสที่กำหนดว่า หากมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์(ใบรับรองแพทย์) ยืนยันว่าการใช้บริการออกกำลังกายต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกายหรือจิตใจปกติ ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ นอกจากนี้ทางบริษัทยังไม่มีการดูแลหรือแจ้งข้อเสนออื่นๆ ให้ผู้ร้องทราบก่อนเลย เช่น กฎของบริษัทในการบอกเลิกสัญญา ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวของบริษัท อาจเข้าข่ายข้อสัญญาไม่เป็นธรรมได้เช่นกัน ขณะนี้ยังอยูระหว่างเจรจา ได้ผลเช่นไรเราจะติดตามกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 บอกเลิกสัญญาจองรถได้หรือไม่

เชื่อว่ามีหลายคนที่เคยตัดสินใจวางเงินมัดจำจองรถ แต่มาเปลี่ยนใจภายหลัง เพราะไม่อยากได้รถคันดังกล่าวแล้วด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งมักเกิดคำถามตามมาว่า เงินจองที่เสียไป จะสามารถขอคืนได้หรือไม่ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมใจตัดสินจองรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด ภายในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา โดยชำระเงินจองเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังเธอพบว่า ตนเองประสบปัญหาด้านการเงิน และเกรงว่าจะไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดรถในอนาคตได้ จึงต้องการยกเลิกการซื้อรถดังกล่าว เธอแจ้งความจำนงกลับไปที่บริษัทพร้อมขอเงินจองคืน ซึ่งพนักงานตอบกลับมาว่า สามารถคืนเงินให้ได้เมื่อจบงานมอเตอร์โชว์ อย่างไรก็ตามเมื่อจบงานดังกล่าวแล้ว ทางบริษัทก็บ่ายเบี่ยงการคืนเงินมาตลอด คุณสมใจจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า การบอกเลิกสัญญาสามารถทำได้ หากมีเหตุแห่งการบอกเลิก ซึ่งตามมาตรา 378 (2) ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ดังนี้ข้อ 3 ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้ประกอบธุรกิจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้3.1 ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น3.2 ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด3.3 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มี ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญา3.4 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญาข้อ 4 ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์และผู้บริโภคไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์ดังนั้นหากไม่มีเหตุให้บอกเลิกสัญญาตามข้อกำหนดเบื้องต้น ผู้ร้องจะไม่สามารถเรียกร้องเงินจองหรือเงินมัดจำคืนได้ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ศูนย์ฯ เสนอว่าสามารถช่วยให้เกิดการเจรจาระหว่างผู้ร้องกับบริษัทรถยนต์ เพื่อขอให้มีการคืนเงินบางส่วนได้ ซึ่งจะมีการหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงไป แต่ผู้ร้องได้ขอกลับไปตัดสินใจก่อน และจะแจ้งความจำนงมายังมูลนิธิฯ ในภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 จองแล้ว ทำสัญญาแล้ว ไม่สร้างซะที บอกเลิกสัญญาได้ไหม

ฉบับนี้เป็นเรื่องผู้บริโภคไปทำสัญญาจะซื้ออาคารพาณิชย์ 6 ชั้น ชื่อสวนมะลิเซ็นเตอร์ ตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ 146  และ 1705 แขวงสำเพ็ง  เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร จากบริษัทจำเลย โดยเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2548  ผู้บริโภคทำนิติกรรมจองซื้ออาคารพาณิชย์โครงการดังกล่าว เนื้อที่ 17 ตารางวา 1 คูหา จากจำเลยในราคา 16,000,000 บาท ชำระเงินในวันจอง 300,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 15  พฤษภาคม 2548 ผู้บริโภคทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยและ ชำระเงินอีก รวมเป็นเงิน 800,000 บาท ตกลงชำระเงินดาวน์ 12 งวด งวดละ 334,000 บาท งวดแรกชำระวันที่ 15 กันยายน  2548งวดสุดท้ายวันที่ 15 สิงหาคม  2548 รวมเป็นเงิน 4,008,000 บาท ส่วนที่เหลือ 11,192,000 บาท จะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ  โดยสัญญาจะซื้อจะขายมิได้กำหนดเวลาการเริ่มลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาก่อสร้างอาคารพาณิชย์ให้แล้วเสร็จไว้ แต่เมื่อจะครบกำหนดจะชำระเงินดาวน์งวดแรก จำเลยยังไม่ลงมือก่อสร้าง ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจในโครงการของจำเลย เพราะเงินค่างวดที่จะจ่ายแต่ละงวดเป็นจำนวนมากถึงงวดละ 334,000 บาท ผู้บริโภคจึงไม่ยอมจ่ายเงินค่างวดและไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แล้วต่อมาได้บอกเลิกสัญญา แล้วฟ้องเรียกเงินคืน แต่จำเลยก็สู้ยิบตาโดย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ผิดสัญญาทำให้จำเลยเสียหายไม่ได้รับชำระเงิน 2,004,000 บาท แต่จำเลยขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เพียง 1,000,000 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าชำระเสร็จแก่จำเลย   โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ เอาละซิ โจทก์(ผู้บริโภค) แพ้มาสองศาลแล้ว แต่ก็ไม่ถอดใจ กัดฟันฎีกา ให้มันรู้ไปว่าจะแพ้ทั้งสามศาล ศาลฎีกาจะว่าอย่างไรมาดูกัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2556 วินิจฉัยว่า แม้สัญญาจะซื้อจะขายมิได้กำหนดเวลาการเริ่มลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาก่อสร้างอาคารพาณิชย์ให้แล้วเสร็จ  แต่เป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องรีบลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาก่อสร้างที่แล้วเสร็จไว้เพื่อความเป็นธรรมแก่ประชาชนในฐานะผู้บริโภค เมื่อสัญญาไม่ได้กำหนดเวลาไว้แต่เป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องรีบลงมือก่อสร้าง และก่อสร้างให้แล้วเสร็จในเวลาอันสมควรอันเป็นไปตามหลักความสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 หาใช่การจะเริ่มลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาแล้วเสร็จนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว เพราะจำเลยเป็นผู้รับผลประโยชน์จากเงินที่โจทก์ชำระไปแล้ว จึงมีหน้าที่ต้องรีบก่อสร้างโดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ดังนั้นการที่โจทก์ชำระเงิน 800,000 บาท แก่จำเลยในการทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว ย่อมมีความคาดหวังจะได้เห็นจำเลยปฏิบัติชำระหนี้ตอบแทน คือการเริ่มลงมือก่อสร้าง แต่เมื่อจะครบกำหนดเวลาชำระเงินดาวน์งวดแรกได้ความว่าจำเลยยังไม่เริ่มลงมือก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ทำให้โจทก์เกิดความไม่มั่นใจในโครงการของจำเลยเพราะเงินค่างวดที่จะจ่ายแต่ละงวดเป็นจำนวนมากถึงงวดละ 334,000 บาท โจทก์จึงไม่ยอมจ่ายเงินค่างวดและไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จำเลยเองก็ไม่ได้แสดงความสุจริตโดยการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโครงการให้โจทก์ทราบเป็นหนังสือหรือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินค่างวดอีก จึงถือได้ว่าการชำระหนี้ของโจทก์มิได้กระทำลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ได้ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยจะถือว่าโจทก์ผิดสัญญาและก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยในการริบมัดจำไม่ได้ เมื่อจำเลยไม่ก่อสร้างอาคารพาณิชย์และโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา จึงมีผลให้สัญญาจะซื้อจะขายเลิกกันคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่โจทก์ชำระแก่จำเลยไปแล้ว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่ได้รับเงินไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระเงินตามฟ้อง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์

อ่านเพิ่มเติม >