ฉบับที่ 260 โฆษณาลวงจนเข้าใจผิด หลงเชื่อซื้อบัตรเข้าชมละครเวที

        การโฆษณาชวนเชื่อจนเกินจริง ย่อมทำให้เกิดเรื่องร้องเรียนมากมายตามมาเมื่อผู้บริโภคไม่ยินยอมที่จะโดนหลอกลวง  เหตุล่าสุดที่ร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคือ  การโฆษณาขายบัตรเข้าชมการแสดงอัน“เกินจริง” จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดและตัดสินใจซื้อบัตรเข้าชมการแสดงดังกล่าว          คุณณัฐ ได้เข้ามาร้องเรียนและขอให้มูลนิธิช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจากับบริษัทผู้จัดการแสดง เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่มีนาคม ปี 2565 (บริษัทเริ่มขายบัตรในเดือนมีนาคม) จนกระทั่งจัดการแสดงขึ้นในวันที่ 3-19  มิถุนายน ทั้งสิ้นกว่า 46 รอบ         เหตุของความเข้าใจผิดจากการโฆษณาชวนเชื่อจนเกินจริง เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่บริษัทดังกล่าวได้อ้างอิงผลงานของอีกบริษัทหนึ่งที่เคยจัดการแสดงอันเป็นที่น่าจดจำ ประทับใจจนมีผู้รอชมการแสดงอยู่เป็นจำนวนมาก โดยบริษัทผู้จัดอ้างว่า เป็น 1ในผู้ก่อตั้งบริษัทที่เคยจัดการแสดงอันเลื่องชื่อดังกล่าว แต่ได้แยกออกมาเป็นอีกบริษัทหนึ่ง ที่สำคัญบริษัทผู้จัดยังสามารถใช้พื้นที่ facebook ของอีกบริษัทในการประชาสัมพันธ์ได้  ประการต่อมา การโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อขายบัตรเข้าชมผู้ซื้อบัตรยังรู้สึกว่า เข้าข่ายเป็นการโฆษณาเกินจริง   เพราะใช้คำบรรยายที่สร้างความคาดหวังสูง เช่น ‘จัดโดยทีมงานชั้นนำของประเทศ’  พรรณาเทคนิคการแสดงที่ดีเลิศ เช่น ‘เทคนิค Immersive Musical Theater + Deep Experience & Learning  + Spatial Entertainment Design สุดพิเศษที่แรกของโลก’ ทั้งหลายเหล่านี้เมื่อเข้าชมการแสดงแล้วไม่ได้เห็นการแสดงเป็นไปตามคำที่โฆษณา และต่างจากตัวอย่าง Treasure  3D ที่โฆษณาในเฟซบุ๊ก         คุณณัฐจึงชักชวนและรวมกลุ่มผู้เสียหายที่ถูกทำให้เข้าใจผิด เข้าข่ายหลอกลวง ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2565 และขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยเป็นผู้ร่วมเจรจา ซึ่งจนถึงวันที่เข้ามาไกล่เกลี่ยที่มูลนิธิมีรายชื่อผู้เสียหายมีมากกว่า 41 ราย รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 2 แสนบาท          นอกจากคุณภาพการแสดงจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังจนรู้สึกว่าถูกหลอกลวงแล้ว มีรายละเอียดอื่นๆ ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอีกหลายอย่าง เช่น ความหละหลวมในการตรวจ ATK ระหว่างจัดการแสดงทั้งที่ประกาศไว้ว่าจะดำเนินการ  รวมถึงการที่ทางทีมผู้จัดการแสดงไม่สื่อสารและหลีกเลี่ยงที่จะตอบข้อสงสัย คำถามต่างๆ ที่ผู้ซื้อบัตรได้ถามเข้ามา ปล่อยปละล่วงเลยจนถึงวันจัดการแสดง และเมื่อมีการรวมตัวของผู้ไม่พอใจจำนวนมากก็ยังไม่สื่อสารโดยตรง แต่ได้แต่งตั้งผู้แทนมารับฟังและเปลี่ยนตัวแทนหลายครั้งจนเรื่องราวไม่คืบ นำสู่การไกล่เกลี่ยที่มูลนิธิฯ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ก่อนการเจรจามูลนิธิฯ แนะนำให้กลุ่มผู้เสียหาย รวมรวมข้อเสนอที่ต้องการให้บริษัทผู้จัดการแสดงดำเนินการให้ชัดเจน ซึ่งหลังจากวันที่ได้ไกล่เกลี่ยกัน คุณณัฐและกลุ่มผู้เสียหายได้ส่งหนังสือเรียกร้องและรวบรวมข้อเสนอออกมาได้อย่างชัดเจนหลายประการ มูลนิธิจึงได้ทำหนังสือถึงบริษัทผู้จัดการแสดง ขอให้แก้ไขปัญหาแก่กลุ่มผู้เสียหาย 3 ข้อ ดังนี้           1. ให้บริษัททำหนังสือขอโทษและชี้แจงข้อคำถามของกลุ่มผู้เสียหาย          2. ให้คืนเงินค่าบัตรชมการแสดงคืนแก่ผู้ร้องที่มีหลักฐานยืนยันเต็มจำนวน         3. ให้ชดใช้ค่าเสียหายอื่นๆ ที่เกิดจากการชมการแสดง เช่น ค่าเดินทาง เป็นต้น           โดยระบุให้บริษัทแจ้งผลการดำเนินการให้มูลนิธิได้รับรู้ภายใน 15 วันหลังจากที่ได้รับหนังสือ หากบริษัทไม่อาจชี้แจง หลีกเลี่ยงหรือไม่ดำเนินการใดๆ กลุ่มผู้เสียหายก็จะยกระดับการดำเนินการในขั้นต่อไป           กรณีนี้ มูลนิธิเห็นว่า กลุ่มผู้เสียหายได้รวบรวมข้อเท็จจริง หลักฐานต่างๆ ไว้ได้อย่างละเอียด ทำให้คำว่า ‘ไม่พอใจคุณภาพของการแสดง’ ที่เป็นนามธรรม ออกมาเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน ในส่วนของบริษัทผู้จัด ขอฝากไว้ว่าเมื่อเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น ความตั้งใจที่จะสื่อสาร อธิบายข้อเท็จจริงกับผู้เสียหายย่อมช่วยลดปัญหาไม่ให้บานปลายได้แน่นอน  จึงนำมาเล่าต่อกันเพราะการร้องเรียนกรณีการจัดแสดงทางศิลปะเกิดขึ้นไม่บ่อยและเมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้บริโภคย่อมสามารถใช้สิทธิเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของตนเองได้เช่นกัน   

อ่านเพิ่มเติม >