ฉบับที่ 269 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2566

ย้ายสิทธิบัตรทอง! โดยไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้านได้แล้ว        ตามที่ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวนมากที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกทม. เพื่อทำงาน-เรียนหนังสือ และไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านมาด้วย เดิมนั้นต้องกลับไปรักษายังจังหวัดที่มีทะเบียนบ้าน ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้ผู้มีสิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการได้สะดวกขึ้นก็คือ การย้ายสิทธิรักษาเข้ามาอยู่ในกทม. โดยทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้ชวนผู้ที่อาศัยในกทม. แต่สิทธิบัตรทองอยู่ที่ต่างจังหวัด ทำการย้ายสิทธิเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ โดยให้ลงทะเบียนกับหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการประจำ ใกล้ที่พักอาศัย โดยไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้านมาซึ่งสำหรับการย้ายสิทธิสามารถทำได้ผ่านช่องทาง ดังนี้        1. แอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการ        2. Line OA สปสช. (ID@nhso) เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง        3. ติดต่อด้วยตนเอง ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ (อาคารบี) ถนนแจ้งวัฒนะ ในวันเวลาราชการ        4. สายด่วน 1330  ตรวจยึดไส้กรอกแดงสุดฮิตจากจีน        วันที่ 20 ก.ค. 2566 ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับกรมปศุสัตว์(กปศ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ขยายผลตรวจสอบแหล่งขายผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าจากประเทศจีน โดยได้เข้าตรวจค้นที่อาคารแห่งหนึ่ง ย่านประชาชื่น กรุงเทพฯ พบผลิตภัณฑ์ไส้กรอก ยี่ห้อ “Shuanghui” จำนวน 1,440 แท่ง และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ที่ผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 รวมกว่า 20 รายการ และทั้งหมดคือ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากประเทศจีนทั้งหมด ทางเจ้าหน้าที่จึงได้มีการยึดสินค้าทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดี นอกจากนี้ ของกลางที่ตรวจยึดได้มีการส่งตรวจวิเคราะห์ หาจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกันเสีย และสี ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถ้าพบสารปนเปื้อนที่ทำให้เกิดโรคเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จะถือว่าเป็น “อาหารไม่บริสุทธิ์” โดยผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับห้ามซื้อสมุนไพร ที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.         จากกรณีที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยี่ห้อผู้เฒ่าวิ่งปู๊ดแคปซูล ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาขายทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ทางอย. จึงได้ตรวจสอบว่ามีการจำหน่ายในพื้นที่ จ.พิษณุโลก  และได้ประสาน สสจ.พิษณุโลก ตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว ซึ่งก็พบผลิตภัณฑ์สมุนไพรผู้เฒ่าวิ่งปู๊ดแคปซูล สูตรกระจายเส้น เอ็นยึด ดังกล่าวจริง เป็นจำนวน 26 ซอง พร้อมกับยาผงจินดามณี จำนวน 55 ซอง และสมุนไพรไทยมีรูปรากไม้ จำนวน 39 ซอง นอกจากนี้ ทางอย.ได้มีการตรวจสอบเพิ่มเติม โดยทั้ง 3 รายการ ไม่พบข้อมูลอนุญาตจาก อย. และฉลากผลิตภัณฑ์ไม่มีการแสดงทะเบียน พร้อมกับยังพบสารสเตียรอยด์ปนเปื้อนในยาผงจินดามณี อีกด้วย ทางอย.จึงได้เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อสมุนไพรทั้ง 3 รายการ มาใช้ เพราะอาจเกิดผลเสียต่อร่างกาย อันตรายต่อสุขภาพ บางกอกแอร์เวย์ส เตือน! ระวังมิจฉาชีพแอบอ้างชวนลงทุน         30 ก.ค. 2566 ทางสายการบางกอกแอร์เวย์ส ได้โพสต์ข้อความเตือนภัยหน้าเพจเฟซบุ๊ก Bangkok Airways โดยระบุข้อความว่า "แจ้งเตือนกรณีมีการแอบอ้างลงโฆษณาในช่องทางเฟซบุ๊ก (Facebook) โดยใช้ชื่อ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ภาพเครื่องบิน และโลโก้ของสายการบินฯ ในการเชิญชวนและเปิดโอกาสให้ลงทุนหุ้นกับสายการบินฯ"  ซึ่งทางสายการบิน ได้แจ้งว่า ทางสายการบินไม่มีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง และบุคคลที่แอบอ้างดังกล่าวไม่ใช่สายการบิน อย่างไรก็ตาม ทางสายการบิน แนะนำว่าอย่าหลงเชื่อและระวังกลอุบายจากมิจฉาชีพที่หลอกล่อให้เผยแพร่ข้อมูลส่วนส่วนตัวและเอกสารสำคัญอีกด้วย  มพบ. พาผู้เสียหาย “ออลล์ อินสไปร์ คอนโดสร้างไม่เสร็จ” ยื่นฟ้องศาล         20 ก.ค. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) นำโดยนายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์สิทธิบริโภคและนางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมตัวแทนผู้เสียหายที่ซื้อคอนโดมิเนียมจากโครงการ ออลล์ อินสไปร์ เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งและศาลแขวงพระนครเหนือ เพื่อเรียกเงินคืนตามสัญญาจะซื้อจะขาย เนื่องจากผิดสัญญาก่อสร้างไม่เสร็จตามกำหนด         โดยนางสาวณัฐวดี กล่าวว่า การยื่นฟ้องครั้งนี้ ได้ดำเนินการในนามของผู้เสียหายแต่ละราย มีจำเลย คือ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ฯ ที่เป็นคู่สัญญา ซึ่งการยื่นฟ้องแยกตามศาลเนื่องจากเป็นไปตามทุนทรัพย์ของผู้เสียหาย โดยยื่นฟ้องที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี  ยื่นฟ้องศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี ซึ่งการที่ผู้เสียหายตัดสินใจยื่นฟ้อง บริษัท ออลล์ อินสไปร์ เนื่องจากผู้บริหารเข้าข่ายเจตนาฉ้อโกงเจ้าหนี้ เห็นได้ชัดเจนจากที่มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือไปถึงประธานกรรมการ เมื่อ 7 ก.ค. 2565 ขอเชิญประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่กับพบว่ามีแต่ความเพิกเฉย ไม่มาพบกับผู้เสียหาย เมื่อไปพบถึงสำนักงานใหญ่ พบแค่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการและเสนอแผนชดเชยค่าเสียหายผ่อนชำระเป็นรายงวด เมื่อมีบางคนยอมทำตามข้อเสนอของบริษัท แต่ปรากฏว่าบริษัทก็ยังเบี้ยวหนี้ เพราะจ่ายแค่ 1 งวด แล้วหายไปเลย ไร้ช่องทางการติดต่อ         ดังนั้นผู้เสียหายที่จ่ายเงินจอง เงินดาวน์  เงินทำสัญญา เงินผ่อนแต่ละงวดไปแล้ว ต้องการเรียกเงินคืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย ทั้งนี้ ทางมูลนิธิฯ อาจยื่นฟ้องคดีอาญาอีกด้วย เพื่อให้เกิดการลงโทษผู้ประกอบการเนื่องจาก บริษัทฯ มีเจตนาไม่ชำระหนี้คืนให้ผู้เสียหาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองไม่ต้องจ่ายเพิ่ม หากจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชีฯ ตามหมอสั่ง

        จากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เปิดเผยว่าในปี 2565 มีการร้องเรียนจากผู้ใช้สิทธิบัตรทอง กรณีถูกเรียกเก็บค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จำนวน 32 เรื่อง เป็นจำนวนเงิน 1,724,703 บาท         คุณบัวก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องจ่ายค่ายานอกบัญชีฯ เองมากว่า 10 ปีแล้ว แต่เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ เธอได้ส่งข้อความมาในไลน์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษาว่า เมื่อเธอใช้สิทธิบัตรทองไปรับยารักษาโรค Anxiety Disorder ที่โรงพยาบาลรัฐชื่อดังแห่งหนึ่ง จำนวน 2 รายการ ยาที่เบิกได้ คือ SENOLAX TABLET 7.5 MG แต่ยา OLAPIN TABLET 5 MG ซึ่งหมอบอกว่าเป็นยาที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีฯ เธอจึงต้องจ่ายค่ายาเองในจำนวนเงินหลายพันบาท โดยแต่ละครั้งที่ทำการรักษาก็มีการขอใบส่งตัวจากต้นสังกัดทุกครั้ง ซึ่งคุณบัวจำเป็นต้องได้กินยาตัวนี้เพื่อรักษาอาการอย่างต่อเนื่อง เธอเริ่มกังวลว่าอาจจะแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ต่อไปไม่ไหว เธอจึงขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยสอบถามไปยังสปสช.ว่า ถ้าหากการรักษายังคงมีต่อเนื่องในระยะยาว จะของดเว้นการชำระค่ายาตัวนี้ได้หรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ขอย้ำว่าแม้จะเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าให้ใช้ยานี้ ผู้ประกันตนในหลักประกันสุขภาพ(บัตรทอง) ไม่ต้องจ่ายเพิ่มแต่อย่างใด         ในการณีนี้ ทางมูลนิธิฯ โทร.ไปยัง 1330 และได้ความว่า คุณบัวไม่ต้องชำระเงินค่ายา เพราะมีความจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยยาชนิดนี้ และแจ้งว่าถ้าคุณบัวมีนัดครั้งต่อไป ถ้าทางโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินค่ายาให้โทร.มาแจ้งที่ 1330 ทางสปสช.จะประสานกับทางโรงพยาบาลให้งดเว้นการจ่ายเงิน         ทางมูลนิธิฯ ยังส่งหนังสือไปยังโรงพยาบาลแห่งนี้และได้รับคำชี้งแจงในกรณีนี้กลับมาว่า         "เบื้องต้นทางโรงพยาบาลขอชี้แจงเกี่ยวกับระเบียบการเบิกจ่ายยาของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดยสิทธิประโยชน์จะครอบคลุมการจ่ายยาตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่คุ้มครองการจ่ายยานอกบัญชี ยกเว้นหากแพทย์มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชี โดยพิจารณาแล้วว่าไม่มียาในบัญชียาหลักแห่งชาติทดแทนได้ จึงจะสามารถใช้สิทธิเบิกได้  ซึ่งในกรณีของผู้ร้องนั้น ทางแพทย์ผู้รักษาได้ชี้แจงว่าสามารถปรับเปลี่ยนชนิดยาเป็น  Antipsychotic drug ตัวอื่นตามบัญชียาหลักแห่งชาติได้ เพื่อที่จะได้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย อนึ่งที่ผ่านมาผู้ป่วยไม่เคยแจ้งแพทย์ผู้รักษาเกี่ยวกับปัญหาค่าใช้จ่าย แพทย์จึงไม่ได้ปรับเปลี่ยนยาให้ซึ่งหลังจากนี้หากปรับเปลี่ยนยาแล้ว แพทย์จะมีการติดตามอาการและผลการรักษาอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย "

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 เมื่อเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนต้องมาใช้สิทธิ์

ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาไปพบกับการใช้สิทธิ์ของคุณสมฤทัย​ วาทิน เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี  สมฤทัยหรือน้องหยก จากเดิมที่ทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์จากพี่น้องผู้บริโภคภายในจังหวัด กลับต้องมาพิทักษ์สิทธิ์ของตนเอง เธอจึงมีประสบการณ์ดีๆ มาถ่ายทอดให้เราได้ใช้ประโยชน์กัน ทำไมจึงมาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค        สนใจงานด้านนี้เพราะสนใจเรื่องสิทธิค่ะ ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องสิทธิมาก่อน​ มองเป็นเรื่องยุ่งยาก​ เวลาคนพูดถึงเรื่องเหล่านี้จะใช่คำทางกฎหมายบ้าง​ คำศัพท์​แปลกๆ บ้าง​ เลยมองว่ามันไกลตัว​ และดูยุ่งยาก​ หลังจากที่ได้เข้ามาทำงานจึงรู้สึกชอบเพราะว่าเรื่องสิทธิเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน​ เป็นเรื่องที่เราต้องรู้​ และมองว่าถ้าเราต้องการให้เรื่องเหล่านี้ง่ายสำหรับคนทั่วไป เราต้องทำให้เข้าถึงง่าย​ ทุกครั้งที่ทำงานเวลาต้องอธิบายเราจะใช้คำง่ายๆ​ ยกกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้น​เพื่อทำความเข้าใจกับคนทั่วไป มีกรณีอะไรที่เราทำแล้วรู้สึกประทับใจบ้างคะ         กรณีบัตรทอง​ เนื่องจากลูกของเจ้าของเรื่องเป็นมะเร็งกระดูก​ เขาต้องใช้ยานอกบัญชียาหลัก​ ซึ่งคนแม่เขาเป็นแม่บ้านบริษัทธรรมดา เขาก็ไม่มีเงินจ่ายตรงนี้​ พนักงานในบริษัทเลยช่วยติดต่อมาทางสมาคมผู้บริโภคฯ ​ หยกได้ช่วยประสานงานดำเนินการเรื่องยื่นขอเงินคืนให้​ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการระดมทุนเพื่อช่วยค่ารักษาคือจ่ายให้ทาง รพ.ไปก่อน ถึงสุดท้ายน้องคนนั้นจะเสียชีวิตแต่ก็ได้ช่วยคุณแม่ไว้   แล้วเรื่องที่ต้องมาพิทักษ์สิทธิ์ของตัวเองเป็นเรื่องอะไร         เป็นเรื่องของพ่อหยกเอง พ่อเจอโพสพวกขายอุปกรณ์ตกปลาในเฟซบุ๊ก​ จึงทักไปถามรายละเอียด​ ตกลงกันว่า ซื้อรอกตกปลาในราคาสามพันกว่าบาท​ พ่อโอนเงินให้​ พร้อมส่งที่อยู่​ หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับมาเลย​ ไม่รับโทรศัพท์ด้วย​         พ่อมาเล่าให้ฟัง ​เลยมาคุยกับพี่ๆ ที่สำนักงานสมาคมฯ คำแนะนำที่ได้คือ ต้องไปแจ้งความค่ะ​ เมื่อไปถึงโรงพัก ตำรวจบอกเราว่ามีเรื่องแบบนี้เยอะมากเลย​ แต่โดยมากจะไม่ได้เงินคืนกัน ส่วนใหญ่ลงบันทึกประจำวันไว้​ แต่สำหรับเราเลือกแจ้งความแบบร้องทุกข์​กล่าวโทษเลย ไม่อย่างนั้นจะไม่มีผลอะไรกับพวกหลอกลวง         เนื่องจากหยกได้แคปหน้าจอเฟซบุ๊ก​และแชททั้งหมดรวมถึงสลิปทุกอย่างในการซื้อขายกัน ไว้เป็นหลักฐาน ทางตำรวจเลยสามารถโทรติดต่อเจ้าของบัญชีที่พ่อโอนเงินไป​ แต่ไม่มีคนรับสาย​ จึงได้โทรติดต่อญาติ​เจ้าของบัญชีนั้น จนได้คำตอบกลับมาว่าจะติดต่อกลับมา          หลังจากนั้นได้คุยกัน​ เจ้าของบัญชีไม่ยอมรับและยืนยันที่จะไม่โอนคืน เนื่องจากบอกว่าไม่มีเงินเข้า เราจึงดำเนินการต่อเพื่อขอหนังสือในการอายัด​บัญชี ทางเจ้าของบัญชีจึงติดต่อกลับมาขอให้ถอนแจ้งความแล้วก็โอนเงินกลับมาค่ะ         เรื่องทุกอย่างเสร็จภายใน 2 วันหลังจากแจ้งความ​ ไม่ได้อายัดบัญชี สรุปก็คือได้เงินคืน  ตอนคุยกันเรายืนยันจะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด​ ถ้าบอกไม่ได้รับเงินเราก็จะตรวจสอบกับทางธนาคารจะตามให้ถึงที่สุดจริงๆ แล้วมีผู้เสียหายคนอื่นแบบเดียวกับคุณพ่อไหม         มีค่ะ​ มีคนติดต่อพ่อมา​ แต่เขาไม่อยากแจ้งความเพราะบอกว่าไม่อยากยุ่งยากและเสียเวลา​ ซึ่งก็ไม่น่าจะได้เงินคืน​ กับทางเพจ ตำรวจดำเนินการอย่างไรต่อ        ไม่ได้ทำอะไรค่ะ​ และบอกให้เราถอนแจ้งความเพราะเขาก็โอนเงินคืนตามสัญญา ทางเพจนี้เขาปลอมเฟซบุ๊กขึ้นมาค่ะ​ แล้วไปโพสขายของตกปลาในเพจขายอุปกรณ์ตกปลา (เพจจริงๆ)  ตอนนั้นเขาปิดเฟซหนีไปแล้วด้วย ตำรวจเลยไม่ดำเนินการต่อ  ได้ประสบการณ์อะไรบ้างจากกรณีนี้         มองว่าอันดับแรก เราต้องเริ่มจากการป้องกันการเกิดเหตุการณ์แบบนี้ค่ะ​ ควรเลือกเพจหรือผู้ขายที่มีรีวิวที่น่าเชื่อถือ​ มีการขายมาอย่างยาวนานหรือมีหน้าร้าน​ ส่วนหลังจากนั้นหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น​ เราต้องมีสติ​ เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลไม่ว่าจะเป็นสลิปการโอนเงิน​ แคปรูปการแชทการพูดคุยตกลงซื้อขาย​ หน้าเพจ​ของผู้ขายเพื่อเป็นหลักฐานไว้แจ้งความดำเนินคดี         แต่อย่างหนึ่งทีพบคือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักมองว่าเงินไม่เท่าไหร่ เราไม่เอาเรื่องดีกว่า เพราะเสียเวลา​ กระบวนก็การยุ่งยากและอายด้วยที่จะไปแจ้งความกับเงินจำนวนไม่มาก น้องหยกเปลี่ยนใจผู้บริโภคอย่างไรให้เขาหันมาสนใจใช้สิทธิ         เริ่มจากการปรับทัศนคติ​ก่อนเลยค่ะ​ เราทุกคนที่ซื้อสินค้าและบริการต้องมีสิทธิเลือกและรับข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง​ สินค้าต้องตรงตามที่ตกลงกันไว้​ หากเกิดปัญหาผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอายที่เราจะเรียกร้องสิทธิ​ เงินจะมากหรือน้อยเราก็สามารถเรียกร้องได้​ หากพบเจอกรณีการโกงก็ควรแจ้งความ​ ต่อให้จำนวนเงินไม่มากแต่เพื่อไม่ให้เขาไปทำกับคนอื่นได้อีก ถ้าไม่ทำอะไรคนก็จะโดนหลอกอีกมาก         การแจ้งความไม่ใช่เรื่องยุ่งยากหรือเสียเวลาเลย หยกทำมาแล้ว​ เพียงแต่การแจ้งความต้องระบุว่า​ แจ้งความร้องทุกข์​กล่าวโทษ​ ไม่ใช่แค่ลงบันทึกประจำวันค่ะ บางเรื่องเราสามารถทำได้เองโดยที่ไม่ต้องแจ้งความด้วยใช่ไหมคะ         ได้ค่ะ​ ในกรณีที่เราสามารถตกลงต่อรองได้ อาจจะเริ่มจากการที่ทุกคนต้องรู้สิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองก่อน จะได้เจรจากับคู่กรณีได้อย่างเท่าทันให้เขาจัดการแก้ไขปัญหาให้เรา สำคัญคือไม่ปล่อยเลยตามเลย จากที่ทำงานกับพี่น้องชาวสุราษฎร์ ปัญหาหลักๆ ของที่นี่คือเรื่องอะไรบ้าง         ปัญหามาแรงตอนนี้ก็จะเป็นเรื่องของการซื้อของออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้คนนิยมหันมาซื้อของทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งของใช้ทั่วไปและรวมไปถึงของกิน ซึ่งพบปัญหาเป็นอย่างมากทั้งสินค้าที่ได้ไม่ตรงกับรูปที่โพสขาย เวลาที่ตกลงว่าจะได้รับสินค้าต้องถูกเลื่อนไปอย่างไม่แน่นอนและผู้บริโภคไม่สามารถยกเลิกหรือทำอะไรได้เลย         อีกประเด็นคือ การที่ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิจากการใช้รถโดยสารโดยเฉพาะในสถานการณ์ช่วงโควิด เช่น การใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เนื่องจากตอนนี้ผู้โดยสารน้อย ทำให้รถออกไม่ตรงเวลา  หรือเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสารจากสภาพรถที่ดูไม่ค่อยได้รับการดูแล ตลอดจนเรื่องราคาค่าโดยสารที่แพงขึ้น ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทางสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ให้ความสนใจมากๆ และอยากให้ผู้บริโภคได้รู้จักคุ้มครองสิทธิของตนเอง โดยไม่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและตกอยู่ในสภาวะจำยอม โดยผู้บริโภคเองคือคนที่ต้องคุ้มครองสิทธิของตนเองก่อนเลยนะ หากถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ควรเพิกเฉยต่อการเรียกร้องสิทธิเมื่อได้รับความไม่เป็นธรรม  ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะเป็นแผนงานในการทำงานระยะต่อไปของสมาคมฯ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 สิทธิบัตรทองต้องใช้ที่ไหน

        ย้อนไปเมื่อกันยายน พ.ศ. 2563 หลายคนคงได้ยินข่าว สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยกเลิกสัญญาสิทธิบัตรทองของคลินิกและโรงพยาบาลหลายแห่ง “สปสช.ยกเลิกสัญญาคลินิกบัตรทองเพิ่ม 108 แห่ง รวมแล้ว 190 แห่งทุจริตงบ เสียหาย 198 ล้าน” ทำให้คนที่ใช้สิทธิบัตรทองต่างตกใจเป็นอย่างมาก ไม่รู้ว่าตัวเองต้องไปรักษาที่ไหน โดยเฉพาะคนที่ต้องรักษาตัวต่อเนื่อง เรื่องนี้มีคำแนะนำอย่างไร        คุณสกุลมีภาวะเครียดต้องรับการรักษาอยู่ที่คลินิกแห่งหนึ่งด้วยสิทธิบัตรทอง โดยต้องเข้ารับยาต่อเนื่องทุกเดือน แต่วันหนึ่งเจ้าหน้าที่คลินิกแจ้งเขาว่า คลินิกเปิดให้บริการถึงสิ้นเดือน ดังนั้นวันนี้ต้องขอเก็บค่าบริการและค่ายาสำหรับรับประทาน 1 เดือน เป็นจำนวน 700 บาท เนื่องจากทางคลินิกไม่สามารถเบิกเงินสิทธิบัตรทองจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แล้ว เพราะคลินิกถูกยกเลิกสัญญา         คุณสกุลจ่ายไป 700 บาท ได้ยากลับบ้านพร้อมกับประวัติการรักษา หลังจากกลับมาถึงบ้านเขาก็รู้สึกกังวลใจเป็นอย่างมาก เพราะว่าต้องกินยาต่อเนื่องทุกเดือน จะต้องจ่ายเงินค่ายาทุกเดือนเองแบบนี้ไปเรื่อยๆ หรืออย่างไร แล้วไม่รู้ว่าต้องไปรักษาต่อที่ไหน แล้วจะใช้สิทธิบัตรทองได้อีกหรือเปล่า จึงมาขอคำปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นได้อธิบายคุณสกุลว่า ขณะ สปสช. ยกเลิกสัญญาการให้บริการกับคลินิกหลายแห่งเนื่องจากเหตุทุจริต ดังนั้นทำให้คุณสกุลต้องชำระค่าบริการและค่ายาเองไปก่อน อย่างไรก็ตามสิทธิบัตรทองของคุณสกุลยังคงอยู่ เรียกว่า สิทธิว่าง ทำให้คุณสกุลสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน หรือศูนย์บริการสาธารณสุขทุกที่ หรือโรงพยาบาลเอกชนที่ทำสัญญาไว้กับ สปสช. โดยไม่ต้องชำระเงิน             โดยทาง สปสช. จะรีบดำเนินการย้ายสิทธิการรักษาให้กับผู้มีสิทธิว่างทุกคนโดยเร็วที่สุด คุณสกุลไม่ต้องกังวลใจ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนใกล้บ้านได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาภายใน 72 ชั่วโมง สำหรับการรักษาแบบต่อเนื่องเข้าใช้บริการได้ตามที่แจ้งข้างต้น หรือหากมีข้อสงสัย ติดต่อ สายด่วน 1330

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2563

กทม.ใช้สิทธิบัตรทองได้ทุกแห่งเริ่ม 1 พ.ย. 63           นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบให้สิทธิบัตรทอง เมื่อเจ็บป่วยไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในระบบบัตรทองที่ใดก็ได้ในเครือข่ายบริการนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เริ่มวันที่ 1 พ.ย.นี้         การให้บริการจะแบ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายบริการที่มีศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.จำนวน 69 แห่ง ในแต่ละเขต ทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการแม่ข่ายเชื่อมต่อหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น คลินิกเอกชน ร่วมดูแลในเครือข่ายบริการนั้นๆ ซึ่ง 1 เขตอาจจะมี 2 เครือข่ายบริการได้ และหนึ่งเครือข่ายบริการอาจมีโรงพยาบาลรองรับการส่งต่อ 2-3 แห่ง นอกจากหน่วยบริการประจำหน่วยบริการรับส่งต่อแล้วยังมีรายชื่อหน่วยบริการที่อยู่ในเครือข่ายบริการซึ่งอาจจะมี 10-20 แห่งต่อเครือข่ายบริการที่ประชาชนสามารถไปรับบริการที่ใดก็ได้ ทั้งรักษาพยาบาลเบื้องต้น รักษาต่อเนื่องโรคเรื้อรังและบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค พร้อมกันนี้ สปสช.ยังได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทยพัฒนาระบบนัดหมายล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" เพื่ออำนวยความสะดวกในการนัดหมายรับบริการล่วงหน้า พร้อมตรวจสอบรายชื่อด้วย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยมีแนวโน้มล้นประเทศ          จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าปัจจุบันในไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศเป็นจำนวนมาก ประมาณ 400,000 ตันต่อปี และยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อมีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศ เรื่อง ‘กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563’ โดยห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 428 รายการ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 2563         ในงานศึกษา 'การขับเคลื่อนและอุปสรรคของการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย' โดยพีรนาฏ คิดดี และสุทธิพร บุญมาก คาดการณ์ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างปี 2559-2564 จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษและสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เมื่อปี 2558 แล้วพบว่าในช่วงปี 2559-2564 ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นจาก 947,881 พันชิ้น ในปี 2559 เป็น 1,067,767 พันชิ้น ในปี 2564 (อัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี) การคาดการณ์ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2564 เมื่อจำแนกเป็นชนิด พบว่า (คาดการณ์ว่า) อันดับหนึ่งคือ แบตเตอรี่มีจำนวนสูงถึง 718,000 พันชิ้น รองลงมาคือ หลอดฟลูออเรสเซนต์จำนวน 317,012 พันชิ้น และโทรศัพท์มือถือ/บ้าน จำนวน 13,419 พันชิ้น ตามลำดับ เหตุจากคนใช้งานสั้นลงและเปลี่ยนใหม่บ่อย         เผยผลตรวจ "ลูกอม-หมากฝรั่ง" พบใช้สีไม่ได้มาตรฐานเกือบ 10%          27 ตุลาคม นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ได้รวบรวมผลการตรวจวิเคราะห์สีอินทรีย์สังเคราะห์ในลูกอมทั้งชนิดแข็ง ชนิดนุ่ม และหมากฝรั่ง โดยเป็นตัวอย่างที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และผู้ประกอบการส่งตรวจระหว่างปี 2560-2562 จำนวน 387 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า มีการใช้สีอินทรีย์สังเคราะห์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 30 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 9.8         ลูกอมและหมากฝรั่งเป็นอาหารที่อนุญาตให้ใช้สีอินทรีย์สังเคราะห์ เพื่อเติมแต่งผลิตภัณฑ์แต่ปริมาณและชนิดของสีที่ใช้ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยสีอินทรีย์สังเคราะห์เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งใช้แต่งสีอาหารให้มีสีสันที่น่ารับประทานมากขึ้น ทั้งนี้หากร่างกายได้รับในปริมาณมากหรือบ่อยครั้งย่อมก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น สีจะไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ทำให้น้ำย่อยอาหารออกมาไม่สะดวก อาหารย่อยยาก เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขัดขวางการดูดซึมอาหาร ก่อให้เกิดภูมิแพ้หรืออาจมีอาการของตับ ไตอักเสบ และสีอินทรีย์สังเคราะห์บางชนิดอาจก่อให้เกิดมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่นๆ  เตือนระวังโรคอ้วน ไทยอยู่อันดับสองของอาเซียน          ภาพรวมสุขภาพคนไทยพบว่า 'โรคอ้วน' หรือสภาวะอ้วน BMI (Body Mass Index) สูงมากกว่า 25% เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48.28 ของประชากรวัยทำงาน ส่งสัญญาณอันตรายหลายด้าน ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตัน ซึ่งปีที่ผ่านมาพบว่า โรคอ้วนคร่าชีวิตประชากรทั่วโลกไปกว่า 4 ล้านคน         จากการสำรวจข้อมูลในระดับนานาชาติพบว่า ประเทศไทยมีความชุกของภาวะโรคอ้วนโดยมีดัชนีมวลกาย หรือ BMI สูงมากกว่า 25% โดยสูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากมาเลเซีย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.28 จากภาวะคนไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลทำให้คนไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานถึง 4.8 ล้านคน และเสียชีวิตจากการโรคดังกล่าวไปมากกว่า 200 คน/วัน  ศาลชั้นต้น รับ คดี ‘กระทะโคเรียคิง’ เป็นคดีกลุ่ม          จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นฟ้อง ‘กระทะโคเรียคิง’ เป็นคดีแบบกลุ่มและมีการนัดไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มตั้ง 25 กันยายน 2560 จนถึงวันที่ 7 กันยายน 2563 นั้น         ล่าสุด 19 ตุลาคม 2563 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร มีคำสั่งอนุญาตให้รับคดี ‘กระทะโคเรียคิง’ รุ่นไดมอนด์ ซีรีส์ (Diamond Series) และ รุ่นโกลด์ ซีรีส์ (Gold Series) ที่ผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติของกระทะดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามคำโฆษณาเป็นคดีแบบกลุ่ม        นายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและทนายความผู้รับผิดชอบคดีกล่าวว่า วันนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตรับเป็นคดีแบบกลุ่ม โดยให้เหตุผลว่ามีผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อกระทะรุ่นดังกล่าวเป็นจำนวนที่มาก ดังนั้นการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะทำให้ผู้เสียหายได้รับความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพในการดำเนินคดีมากกว่าการดำเนินคดีแบบทั่วไป นอกจากนี้ศาลยังได้กำหนดขอบเขตของผู้เสียหายที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาหากคดีสิ้นสุดลง คือ ผู้เสียหายที่ซื้อกระทะยี่ห้อโคเรียคิง จำนวน 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นไดมอนด์ ซีรีส์ (Diamond Series) และ รุ่นโกลด์ ซีรีส์ (Gold Series) ทุกคน และจำเป็นต้องซื้อภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 หากซื้อหลังจากนี้จะถือว่าไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มและจะไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา        “ขอฝากให้ผู้เสียหายที่ซื้อกระทะรุ่นไดมอนท์ซีรีส์และรุ่นโกลด์ซีรีส์ทุกคน เก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องเอาไว้ด้วย เช่น หลักฐานการสั่งซื้อ ใบเสร็จ หลักฐานการโอนเงิน กระทะรุ่นไดมอนท์ซีรีส์หรือรุ่นโกลด์ซีรีส์ เป็นต้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีในขั้นตอนต่อไป” ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคกล่าว         ทั้งนี้จำเลยสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ภายในกำหนด 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง หากครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้วไม่มีการอุทธรณ์ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งผู้บริโภคสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีดังกล่าวได้ทางเว็บไซต์ consumerthai.org และทางเฟซบุ๊กเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 กระแสในประเทศ

ระวัง เมนูเจยอดฮิต โซเดียมสูงผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เครือข่ายลดบริโภคเค็มทำการสุ่มตรวจตัวอย่างอาหารเจ 13 เมนูยอดนิยมบนถนน เยาวราช อตก. และตลาดยิ่งเจริญ โดยใช้เครื่องวัดความเค็มตรวจสอบปริมาณโซเดียมในอาหาร ประกอบด้วย แกงเขียวหวาน แกงกะทิ จับฉ่าย พะโล้ ผักกระเพรา แกงส้ม ต้มจืด ต้มกะหล่ำปลี ขนมจีนน้ำยากะทิ ลาบเห็ด กระเพาะปลา และผัดขิง พบทุกเมนูมีปริมาณโซเดียมสูงเกินค่าที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน    นอกจากนี้อาหารเจจำพวก ผักดอง เกี้ยมไฉ่ กานาฉ่าย จับฉ่ายเป็นอาหารที่ใช้เกลือมาก ซึ่งผักที่เคี่ยวหรือดองเป็นเวลานานจะได้คุณค่าทางอาหารที่น้อยลง รวมถึงอาหารแปรรูป เช่น โปรตีนเกษตร เนื้อสัตว์เจจะมีการเติมรสเค็มเพื่อทำให้รสชาติใกล้เคียงของจริงมากที่สุด แพทย์เตือน ควรทำความสะอาดเสื้อกันหนาวมือสองก่อนนำไปใช้นพ.สมิต ประสันนาการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ช่วงย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ประชาชนส่วนใหญ่นิยมซื้อเสื้อและผ้าห่มกันหนาวมือสองสภาพ เนื่องจากราคาถูกและประหยัดกว่าเสื้อผ้าใหม่ตามห้างร้านทั่วไป ซึ่งเสื้อผ้ามือสองที่กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า นำมาจำหน่ายนั้นส่วนใหญ่มักรับซื้อมาจากชายแดน โดยไม่คำนึงถึงสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจติดมากับผ้า เช่น ปัญหาโรคผิวหนัง โรคติดเชื้อ ความชื้น เชื้อราและโรคอันตรายต่างๆ ดังนั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อควรนำเสื้อผ้ามือสองไปทำความสะอาด โดยต้มในน้ำเดือด แล้วซักด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้า แล้วนำไปตากแดดจัดให้แห้งสนิทก่อนนำมาสวมใส่กสทช. คาดปี 62 เรียกคืนคลื่น-จัดสรรใหม่ได้ ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จะให้อำนาจ กสทช. พิจารณา “เหตุผลแห่งความจำเป็น” ในการใช้งานคลื่นและ “เรียกคืนคลื่นโดยกำหนดวิธีการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน” แต่ 7 ปีผ่านไปก็แทบจะเรียกคืนคลื่นไม่ได้ เพราะทุกมติที่มีคำสั่งจะยืดเยื้อถึงชั้นศาล อาทิ มติเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จากกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งการที่ กสทช.ไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนว่าคลื่นไหนจะถูกนำออกมาประมูลเมื่อไหร่ จึงเป็นคำถามสำคัญที่สังคมรอคำตอบ จนกระทั่ง มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 27 (12/1) ที่ให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่เรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า จากผู้ได้รับใบอนุญาตเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ได้ โดย กสทช. ต้องทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายตอบแทนให้กับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในแต่ละกรณีด้วย ทำให้ กสทช. เร่งเดินหน้าในการปฏิรูปคลื่นได้อย่างเต็มที่ ล่าสุด นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2561 สำนักงาน กสทช.ได้เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยมีคลื่นความถี่เพียงพอสำหรับการเป็นพื้นฐานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทาง โดย กสทช.จะตั้งคณะทำงาน ซึ่งมีผู้แทนจากหลายหน่วยงานเพื่อพิจารณาว่าคลื่นใดไม่ได้ใช้ประโยชน์ คลื่นใดใช้ไม่คุ้มค่า หรือจะสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่า และมีมหาวิทยาลัยของรัฐเข้ามาศึกษาว่าควรเป็นคลื่นใด และเมื่อการดำเนินออกประกาศเป็นไปตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม คาดว่าต้นปี 2562 จะเริ่มเรียกคืนคลื่นได้ภาคประชาชน ค้านร่าง พ.ร.บ.สุขภาพปฐมภูมิ ชี้ซ้ำซ้อนกฎหมายบัตรทอง1 ต.ค. 61 นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน และกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขฯ พร้อมตัวแทนภาคประชาชนรวม 8 ราย เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. ... เนื่องจากไม่มีความจำเป็นจะต้องมีกฎหมายเฉพาะมารองรับเรื่องดังกล่าว เพราะมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ครอบคลุมบริการสุขภาพปฐมภูมิของคนไทยทุกคนอยู่แล้ว โดยความซ้ำซ้อนของกฎหมาย 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ความซ้ำซ้อนในการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ 2) ความซ้ำซ้อนในเรื่องอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ 3) ความซ้ำซ้อนในเรื่องการใช้อำนาจการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดโทษหน่วยบริการปฐมภูมิในกรณีที่ผิดมาตรฐาน โดยอาจต้องถูกลงโทษจากกฎหมายทั้งสองฉบับ และ4) ความซ้ำซ้อนในการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ รวมถึงบทบาทหน้าที่และการจัดทำฐานข้อมูลหน่วยบริการศาลสั่ง บขส. - ทายาทคนขับคดี ‘รถตู้จันทบุรี 25 ศพ’ จ่ายค่าสินไหมกว่า 20 ล้านบาทศาลจังหวัดจันทบุรี พิพากษาคดีรถตู้โดยสารจันทบุรี - กรุงเทพฯ ทะเบียน 15-1352 กทม. ที่พุ่งข้ามเลนไปชนรถกระบะที่แล่นสวนทางมา จนเกิดเพลิงลุกไหม้เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 25 ราย เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 60 ให้บริษัท ขนส่ง จำกัด และทายาทของคนขับรถตู้ จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ญาติของผู้เสียชีวิต รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,780,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันทำละเมิด    นายโสภณ หนูรัตน์ ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้ดูแลคดีให้ความเห็นว่า คำตัดสินใจวันนี้ถือเป็นบรรทัดฐานในเรื่องคำพิพากษา เรื่องเกี่ยวกับรถตู้โดยสารสาธารณะ ซึ่งเป็นบทบาทของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันออกในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่เสียหายจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถโดยสาร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2560ทรูฟิตเนส-ทรูสปา ปิดบริการทำผู้บริโภคเดือดร้อน“ทรูฟิตเนส” ปิดให้บริการทุกสาขาในประเทศ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยที่ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าให้สมาชิกทราบ ซึ่งยังรวมถึงกิจการอื่นๆ ในเครือเดียวกัน ทั้ง ทรูสปา และ ทรูอีสต์ โดยในเว็บไซต์ของบริษัทได้แจ้งเหตุผลในการปิดให้บริการเอาไว้ว่า ทางบริษัทประสบปัญหาเรื่องผลประกอบการอยู่ในภาวะขาดทุนจนไปสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้การปิดบริการโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าของทรูฟิตเนสนั้น ถือว่ามีความผิดตามประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(คคบ.) เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา และขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เปิดให้ผู้เสียหายนำหลักฐานการทำสัญญาหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาลงชื่อร้องเรียน ซึ่งในขั้นแรก สคบ. จะเชิญทางทรูฟิตเนสเข้ามาเจรจาเรื่องแนวทางการชดเชยเยียวยาให้กับผู้เสียหาย แต่หากหาข้อตกลงกันไม่ได้ สคบ. จะดำเนินการยื่นฟ้องแทนผู้เสียหายต่อไป ซึ่งมีผู้เสียหายทยอยกันเข้ามายื่นเรื่องฟ้องร้องแล้ว เป็นจำนวนมากกว่าร้อยราย โดยผู้เสียหายบางรายสมัครบริการแบบตลอดชีพเอาไว้ซึ่งมูลค่าความเสียหายมากกว่า 3 แสนบาททุเรียนเผา กินได้ไม่อันตราย แค่วิตามินน้อยลงกรมอนามัย ออกมายืนยันแล้วว่า “ทุเรียนเผา” ไม่ทำให้เกิดกำมะถันเพิ่มจนเป็นอันตราย หรือกินแล้วถึงตาย หลังมีกระแสข่าวว่า มีคนกินทุเรียนเผาแล้วเสียชีวิตเนื่องจากสารซัลเฟอร์หรือกำมะถัน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันว่า การเผาทุเรียนจะทำให้กำมะถันในทุเรียนเพิ่มปริมาณมากขึ้น จนเป็นเหตุให้ผู้บริโภคเสียชีวิต แต่การเผาทุเรียนจะทำให้วิตามิน เช่น โฟเลต วิตามินบี วิตามินซี ลดลง รวมทั้งทำให้น้ำในทุเรียนระเหยออกไป ทุเรียนเผาจึงมีรสชาติหวานขึ้น แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรเผาทุเรียนจนไหม้ เพราะหากกินสะสมไปนานๆ ไม่ต่างจากกินอาหารปิ้งย่างจนไหม้เกรียม ซึ่งเสี่ยงมะเร็งพร้อมกันนี้ได้ฝากเตือนที่ผู้ที่ชอบรับประทานทุเรียน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหลอดเลือดหัวใจตีบควรระวังเป็นพิเศษ หากกินทุเรียนในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้อาการป่วยทรุดได้ เพราะในทุเรียนมีแป้งและไขมันสูง นอกจากนี้ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ผู้ป่วยโรคไตไม่สามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินได้เท่าคนปกติจึงควรเลี่ยง  “ดีท็อกซ์เท้า” อย. ยันไม่เคยรับขึ้นทะเบียนอย. เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างว่า สามารถดีท็อกซ์เท้าเพียงแค่ใช้การปิดผลิตภัณฑ์ที่ฝ่าเท้า หลังพบการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทางเว็บไซต์และสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยมีการอวดอ้างสรรพคุณว่า “ช่วยซับเหงื่อออกจากเท้า ช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต ช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในให้เป็นปกติ ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้น ช่วยลดอาการเจ็บปวด เมื่อยล้า ลดอาการบวม ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น และช่วยให้หลับสนิทมากขึ้นช่วงกลางคืน เพียงปิดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่บริเวณฝ่าเท้าก่อนนอน” โดยทาง อย. ยืนยันว่าไม่เคยอนุญาตให้มีการจำหน่ายและโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย. กำลังเร่งเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ว่า มีการใส่สารต้องห้ามที่เป็นอันตรายหรือไม่ พร้อมทำการระงับการโฆษณา และดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และเจ้าของสื่อตามกฎหมายต่อไป หากเป็นการโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการแสดงคุณประโยชน์หรือคุณภาพอันเป็นเท็จหรือเกินความจริง หรือเป็นการแสดงข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ ผู้กระทำผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอย่าซื้อ “ยุงจุดกันยุง-ธูปหอมไล่ยุง” ไม่ผ่านการรับรอง หลังมีข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) พบผลิตภัณฑ์ ยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุงผิดกฎหมาย วางจำหน่ายในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน โดย อย. ตรวจสอบแล้วพบว่า มีสารอันตราย เมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) เป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ ซึ่งสารชนิดนี้ อย. ไม่เคยรับขึ้นทะเบียนมาก่อน เพราะไม่ผ่านการประเมินด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพ รวมถึงความเหมาะสมของอัตราการใช้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ ยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุง ที่พบว่าผิดกฎหมาย มีจำนวนทั้งสิ้น 5 ตัวอย่าง ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์ธูป หอมไล่ยุงฉลากภาษาจีน บรรจุกล่องกระดาษสีเหลือง-สีฟ้า 2. ผลิตภัณฑ์ธูปหอมไล่ยุงฉลากเป็นภาษาเขมร บรรจุ กล่องกระดาษสีเขียว-สีเหลือง 3. ผลิตภัณฑ์ธูปหอมไล่ยุง Ranger Scout บรรจุกล่องกระดาษสีน้ำเงิน-สีเขียว 4. ผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงชนิดขดตราหัวเสือฉลากเป็นภาษาจีน บรรจุกล่องกระดาษสีแดง-สีขาว ห่อด้วยพลาสติก ใสไม่มีสี และ 5. ยาจุดกันยุงชนิดขดตรา Laojun ปิดด้วยแผ่นกระดาษ สีฟ้า-สีเหลือง-สีดำ มีรูปเด็กบนฉลาก โดยมีข้อความบนฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ การเลือกซื้อยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุงทุกครั้ง จึงควรเลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนกับทาง อย. แล้วเท่านั้น เหตุขาดการมีส่วนร่วม-แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ภาคประชาชนยืนหยัดค้านแก้กฎหมายบัตรทองตัวแทนภาคประชาชน นำโดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ แสดงความห่วงใยต่อการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายบัตรทอง เพราะมีหลายประเด็นที่ขัดต่อหลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน หากปรับปรุงแก้ไขแล้วประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ ซ้ำยังอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลดลง โดยประเด็นที่ฝั่งภาคประชาชนมีความกังวลได้แก่  ประเด็นเรื่องการเปิดให้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ซึ่งการแก้ไขกฎหมายมีแนวโน้มในการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ให้บริการ เช่น การเพิ่มสัดส่วนของกรรมการหลักประกันสุขภาพในสัดส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพ รวมทั้งในขั้นตอนการแก้กฎหมาย ก็จำกัดจำนวนกรรมการตัวแทนภาคประชาชนเพียง 2 คน จากสัดส่วนคณะอนุกรรมการ 27 คน ขณะที่ตัวแทนจากฝั่งผู้ให้บริการมีถึง 7 คน ที่เหลือเป็นตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องส่วนในประเด็นปัญหาสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปัจจุบัน ที่ควรแก้ไข กลับไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา  เช่น ปัญหาการจัดซื้อยา ที่ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นหรือมีราคาแพงได้ค่อนข้างดี ซึ่งช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงยาของประชาชนที่ป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง หรือกลุ่มโรคเฉพาะเช่น ไตวาย หรือผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ เป็นต้น นั้นกฎหมายที่ควรแก้ไข คือการเพิ่มอำนาจในการจัดซื้อยาให้กับ สปสช. แต่กลายเป็นว่า มีการแก้ไขให้โอนอำนาจการจัดซื้อยากลับไปอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขแทน ซึ่งข้อมูลในอดีตพบว่า การจัดหายาของกระทรวงสาธารณสุขนั้น เน้นนำเข้ารายการยา Top 10 ที่แต่ละรพ. ใช้ ซึ่งราคายาที่ซื้อมีราคาสูงกว่าการบริหารจัดการของ สปสช. มากนอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมีความกังวลในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ครั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่ เฟซบุ๊ค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ https://www.facebook.com/PeopleHealthSystemsMovement/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ดีเอสไอ เชือด!!! อาหารเสริม “เมโซ” (Mezo) อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ถูกเช็คบิลไปอีกหนึ่งยี่ห้อ สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงอย่าง อาหารเสริมยี่ห้อ “เมโซ” (Mezo) ที่ถูกทาง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำการตรวจยึดของกลางได้กว่า 1 ล้านแคปซูล มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท จาก 2 แหล่ง คือที่ บริษัท เมโซ เอนเทอร์ไพรซ์ จำกัด ซึ่งเป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตราเมโซ (Mezo) และที่โรงงานผลิตอาหารเสริม บริษัท สุกฤษ 55 จำกัด ซึ่งพบผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายความผิดหลายรายการ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักตราเมโซ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ตรา FOMO V Shape Body ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ตราดับเบิลยูพีพลัส และผลิตภัณฑ์เอฟบีแอลพลัส มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท โดยโรงงาน-บริษัท ข้างต้นจดทะเบียนถูกต้อง มีรูปแบบการทำธุรกิจโดยเป็นเจ้าของสูตรยา แล้วโฆษณาให้คนที่มีต้นทุน และสนใจที่จะเข้ามาลงทุน โดยระบุข้อความขอเพียงมีเงินลงทุนเท่านั้น บริษัทจะเป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ ทำการตลาด กำหนดยี่ห้อสินค้าให้ แต่ใช้สูตรตัวยาเดียวกัน สำหรับความผิดที่นำไปสู่การตรวจยึดสินค้าครั้งนี้มาจากการที่ผลิตภัณฑ์แสดงชื่อไม่ตรงกับที่จดแจ้งไว้ และแสดงฉลากข้อความอวดอ้างสรรพคุณฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยอาหารและยา มาตรา 6 (10) และมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 อาหารเสริมดังกล่าวมียอดการจำหน่ายต่อปีกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งต้องตรวจสอบการยื่นเสียภาษีด้วย ส่วนการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดนั้น ดีเอสไออยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน โดยในส่วนของโรงงานยังไม่สั่งปิด เนื่องจากผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์ให้กับหลายบริษัท แต่หากพบว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผลิตจากโรงงานมีความผิด ก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป อย.เตรียมปรับฉลากอาหารใช้สัญลักษณ์แสดงโภชนาการ บ้านเรามีความพยายามอย่างมากในการปรับปรุงฉลากอาหารให้มีความเป็นมิตรกับผู้บริโภคมากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของฉลากโภชนาการที่เป็นข้อมูลสำคัญที่แจ้งให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงส่วนประกอบต่างๆ ในอาหารที่เรารับประทาน ซึ่งล่าสุดผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ออกมายืนยันว่าทาง อย. มีแผนที่จะปรับปรุงฉลากอาหารโดยจะมีการกำหนดเกณฑ์ของสารอาหารที่เหมาะสมต่อการบริโภคที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยใช้วิธีการมอบตราสัญลักษณ์ให้แก่ผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารได้ตามเกณฑ์ที่ อย. กำหนดไว้ ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากภาคประชาชนที่เสนอให้ใช้ฉลากอาหารแบบสัญญาณไฟจราจร ที่เป็นแบบแจ้งปริมาณสารอาหารว่าอยู่ในเกณฑ์หรือไม่แบบตรงไปตรงมา ซึ่งผู้อำนวยการสำนักอาหารก็ยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นรูปแบบฉลากที่ผู้ประกอบการไม่ยอมรับ ส่วนฉลาก GDA ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นการให้ข้อมูลที่อ่านง่ายแต่ไม่ได้ตัดสินว่าผลิตภัณพ์อาหารนั้นดีหรือไม่ดี โดยภายในปีนี้ เครื่องหมายตราสัญลักษณ์แบบใหม่จะเริ่มนำมาใช้ได้ในกลุ่มอาหารแช่แข็งเป็นกลุ่มแรกและค่อยๆ ทยอยออกเพิ่มเติมต่อไป สปสช. เพิ่มยา 6 รายการในสิทธิบัตรทอง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ด้านยาเพิ่มเติม 6 รายการ เพื่อให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง เข้าถึงการรักษาพยาบาลและได้รับยาที่จำเป็นเพิ่มขึ้น โดยยา 6 รายการที่มีการอนุมัติเพิ่มเติมได้แก่ 1. ยาลอราซีแพม อินเจกชัน ใช้ฟื้นฟูลดภาวะที่สมองจะถูกทำลายและเสียชีวิตจากการชัก มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยา 3,000 - 5,000 คนต่อปี 2. ยาทริแพน บูล ใช้ย้อมสีถุงหุ้มเลนส์ตาระหว่างผ่าตัดต้อกระจก และย้อม Internal Limiting membrane กรณีผ่าจอตา มีผู้ป่วยต้องการใช้ประมาณ 10,000 รายต่อปี 3. ยาอินดอคยาไนน์ กรีน ใช้วินิจฉัยโรคจุดภาพเสื่อม (PCV ) มีผู้ป่วยที่ต้องการใช้ประมาณ 20,000 ราย 4. ยาดาคาบาซีน ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดกินส์ ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับยานี้มีโอกาสหาย มีผู้ที่ต้องรับยานี้ประมาณ 100 คนต่อปี 5. ยารักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว APL ใช้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา All-trans-retinoic acid มีผู้ป่วยที่ต้องได้รับยานี้ประมาณ 1,000 คน และ 6. Factor Vlll และ Factor IX สำหรับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย A และ B มีผู้ป่วยที่ต้องใช้รับยานี้ประมาณ 1,483 ราย การส่งเสริมเรื่องการเข้าถึงยาเพิ่มมากขึ้นในครั้งนี้ นอกจากช่วยให้ผู้ป่วยบัตรทองได้สิทธิในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยกองทุนบัตรทองถึงปีละเกือบหมื่นล้านบาท ช่วยลดภาระค่ายาที่มีราคาแพงให้กับโรงพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาเหล่านี้ สั่ง “วิตามิน-อาหารเสริม” จากต่างประเทศ ระวังเสียเงินฟรี!!! อย.เตือนใครที่คิดจะสั่งซื้อ “วิตามิน” และ “อาหารเสริม” จากต่างประเทศผ่านทางเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ต ระวังจะสูญเงินเปล่า เพราะวิตามินและอาหารเสริมที่สั่งซื้ออาจเข้าข่ายเป็นยาตามกฎหมาย อย. หากไม่มีการขึ้นทะเบียนนำเข้าก็จะถูกสกัดที่ด่านอาหารและยาตั้งแต่ต้นทาง ปัจจุบันพบว่ามีคนที่สั่งซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากต่างประเทศ เช่น วิตามิน เกลือแร่ โสมสมุนไพร หรือสารสกัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งนำมาใช้เองและนำมาเพื่อจำหน่ายต่อ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาขายตามเว็บไซต์ต่างๆ นั้น แม้ในประเทศต้นทางแม้จะบอกว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่เมื่อพิจารณาจากขนาดของวิตามิน เกลือแร่ หรือสารสกัดต่างๆ ที่เป็นส่วนผสมแล้ว หากพบว่าเกินกว่าเกณฑ์ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ถือว่าเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งวิตามิน หรือสารสกัดแต่ละตัวจะมีขนาดกำหนดไว้ไม่เท่ากัน และหากมีการโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคได้ก็ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งหากไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนนำเข้ามาในราชอาณาจักรกับ อย. ก็ถือเป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย หากใครมีข้อสงสัยเรื่องการสั่งซื้อนำเข้ายาจากต่างประเทศ ควรสอบถามให้แน่ใจกับทาง อย. เสียก่อน เพื่อป้องกันการสูญเงินไปแบบฟรีๆ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายเกลื่อนจอทีวี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้ทำการจับตาเฝ้าระวังสถาการณ์ของบรรดาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงทั้งหลาย ที่ยังคงโฆษณาออกอากาศอยู่ตามช่องเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม ระหว่างเดือน ตุลาคม ถึง ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่าโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ออกอากาศอยู่ ณ ปัจจุบัน เกือบ 100% เป็นการโฆษณาอย่างผิดกฎหมาย เนื้อหาส่วนใหญ่โอ้อวดเรื่องสรรพคุณด้านความสวยความงาม การลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ขาว-สวย-ใส และเรื่องการรักษาโรคแบบครอบจักรวาล ข้อมูลที่ได้จากการเฝ้าระวังพบว่า โทรทัศน์ดาวเทียม-เคเบิ้ลจำนวน 18 ช่อง พบแล้ว 17 ช่อง ที่โฆษณาผิดกฎหมายและเป็นช่องที่กสทช. เคยสั่งปรับไปแล้ว 5 ช่อง ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ไทยมุสลิม (TMTV) , ทีวีมุสลิมไทยแลนด์ , มีคุณทีวี , เอชพลัส (H+) และช่อง 8 (8 Channel : ดิจิตอลทีวี) โดยมีผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่โฆษณาอยู่จำนวน 95 ผลิตภัณฑ์ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันและมีข้อมูลก่อนเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเทคนิคง่ายๆ สำหรับใช้เป็นคนสังเกตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย มีดังนี้ 1.สังเกตเลขอนุญาต เช่น ด้านอาหาร คือ ฆอ. .../... , กรณีด้านยา คือ ฆท. .../... , เครื่องมือแพทย์ คือ ฆท. ..../... ,ส่วนเครื่องสำอางไม่ต้องมีเลขอนุญาตโฆษณา แต่ต้องไม่โฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ ซึ่งจะมีความผิดตา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2.พิจารณาเนื้อหา ว่าโฆษณาตรงกับผลิตภัณฑ์หรือไม่ 3.เนื้อหาโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ สำหรับข้อเสนอที่ภาคประชาชนอยากให้หน่วยงานภาครัฐจัดการกับปัญหานี้ คือให้มีการปรับปรุงบทลงโทษผู้ที่ทำผิดให้มีความรุนแรงมากขึ้น และต้องเร่งรัดการจัดทำระบบฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณาอาหาร และเปิดให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเรื่องการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ ที่สำคัญหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลปัญหานี้โดยตรงอย่าง อย. กสทช. ต้องจริงจังเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2555 แท็กซี่ไม่รับ...ร้องเรียนได้ ใครที่ใช้บริการแท็กซี่โดยสารคงเคยเจอเหตุการณ์ ที่ทั้งชวนให้สงสัยและหงุดหงิดใจ อย่างการถูกปฏิเสธที่จะให้บริการ ยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนหรือในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น ซึ่งคนขับรถมักจะอ้างว่ารถติด กลัวไปส่งรถไม่ทัน หรือไม่ก็แก๊สหมด ซึ่งหากเป็นจริงตามเหตุผลที่คนขับรถแท็กซี่อ้างก็ไม่น่าที่จะจอดรับผู้โดยสารตั้งแต่แรก ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ฝากคำแนะนำในกรณีที่เจอปัญหาแบบนี้ ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะร้องเรียน โดยแจ้งไปยังศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ สายด่วน 1584 หรือกองบังคับการตำรวจจราจร สายด่วน 1197 โดยพยายามจดจำรายละเอียดทะเบียนและชื่อผู้ขับรถซึ่งติดอยู่ในใบอนุญาตหน้ารถ ซึ่งตาม พ.ร.บ.การจราจรทางบก กำหนดไว้ว่าผู้ขับรถแท็กซี่ไม่มีสิทธิปฏิเสธผู้โดยสาร หากจุดหมายอยู่ในเขตที่กำหนด คือพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยไม่มีเหตุอันควร การปฏิเสธผู้โดยสารถือเป็นความผิด มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และเป็นข้อหาที่ต้องถูกบันทึกคะแนน 20 คะแนน อีกทั้งยังถูกยึดใบอนุญาตขับขี่อีกด้วย   มีข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก ที่สรุปยอดร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดของรถแท็กซี่ซึ่งพบว่ามีทั้งหมดกว่า 12,000 ราย แบ่งเป็นกระทำผิดโดยไม่แสดงใบอนุญาตสาธารณะ 2,556 ราย ไม่มีบัตรประจำตัวผู้ขับขี่ 1,950 ราย แต่งกายไม่สุภาพ 4,618 ราย ไม่นำรถเข้าตรวจสภาพตามที่กำหนด 6 เดือนต่อครั้ง 1,012 ราย ไม่ต่ออายุภาษีรถยนต์ 736 ราย และปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร 1,585 ราย ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกได้สุ่มตรวจแท็กซี่ โดยให้เจ้าหน้าที่ปลอมเป็นผู้โดยสารทดลองเรียกใช้บริการแท็กซี่ 300 คัน พบว่ามีแท็กซี่รับผู้โดยสารประมาณ 80 คันเท่านั้น   บัตรทองกลับมาเก็บ 30 บาท แบบจ่ายก็ได้ไม่จ่ายก็ได้!? ผู้ใช้สิทธิหลักประสุขภาพถ้วนหน้า จะต้องกลับมาจ่าย 30 บาท อีกครั้ง นับตั้งวันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป หลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกระเบียบให้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทองเดิม) ร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาท แต่การร่วมจ่ายครั้งนี้เป็นแบบไม่บังคับ คงมีหลายคนที่สงสัยว่า ตกลงแล้วต้องจ่ายหรือไม่ต้องจ่ายกันแน่ ซึ่ง นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า “สำหรับการเรียกเก็บ 30 บาทนั้น จะเป็นการคิดค่าบริการในกรณีที่ผู้ใช้สิทธิใช้บริการตั้งแต่โรงพยาบาลระดับอำเภอหรือโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป แต่สำหรับผู้ที่ได้รับการยกเว้นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง บุคคลที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ฉบับที่ 1 และ 2 จำนวน 23 กลุ่ม อาทิ ยากจน ทุพพลภาพ ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ส่วนคนทั่วไปให้ขึ้นอยู่กับความพอใจและสมัครใจของผู้ใช้บริการ ไม่ได้เป็นการบังคับ ซึ่งจะมีแบบฟอร์มให้ผู้ใช้บริการเลือกว่าจะร่วมจ่ายหรือไม่ร่วมจ่าย” ใครที่ถือสิทธิหลักประสุขภาพถ้วนหน้าคงต้องคอยติดตามข่าวกันให้ดี ว่าเมื่อมีการเรียกเก็บค่าบริการแบบจ่ายไม่จ่ายก็ได้แบบนี้ จะส่งผลกระทบอะไรบ้างต่อมาตรฐานการรักษาพยาบาล ห้าม! โฆษณาขายนมผงสำหรับทารกในสถานพยาบาล สำนักงานอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาตรการเด็ดขาดห้ามสถานพยาบาลทุกแห่งโฆษณาขายผลิตภัณฑ์นมสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพื่อส่งเสริมให้คุณแม่เลี้ยงดูบุตรด้วยน้ำนมของตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้ยังออกข้อบังคับให้ผลิตภัณฑ์นมสำหรับทารกและเด็กเล็ก ไม่ว่าจะเป็นนมดัดแปลงสูตรต่อเนื่อง นมโค นมปรุงแต่ง นมผง และอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ต้องมีการแสดงข้อความบนฉลากว่า “นมแม่ดีที่สุดสำหรับทารก” เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้คุณแม่ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ สำหรับข้อห้ามเรื่องการโฆษณาผลิตภัณฑ์นมสำหรับทารกและเด็กเล็กในสถานพยาบาลยังครอบคลุมถึงเรื่องการจัดกิจกรรมต่างๆ ด้านการขายและการตลาด การสาธิตส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนนมแม่ และยังรวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ขวดนม จุกนม  ที่สำคัญคือบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และห้ามเป็นตัวแทนผู้ผลิต ผู้จำหน่ายอาหารทดแทนนมแม่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง   จับตาร้านขายยา ร้ายขายยานั้นเป็นที่พึ่งพิงแห่งแรกของหลายๆ คนในยามที่รู้สึกเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งแม้จะเป็นแค่ร้านขายยาแต่ก็ต้องมีการควบคุมดูแล โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายยาต้องถูกต้องตรงตามอาการป่วยของผู้ที่มาซื้อยา เพราะถ้ากินยาไม่ถูกโรค นอกจากจะไม่หายอาจจะกลายเป็นป่วยเพิ่ม เพราะฉะนั้นร้านขายยาที่ดีจะต้องมีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา ซึ่งคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่ดูแลตรวจสอบ ที่สำคัญคือใน พ.ร.บ. ยาได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้ร้านขายยาทุกแห่งต้องมีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา ที่ผ่านมา อย. ตรวจเฝ้าระวังร้านขายยาเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการสุ่มตรวจร้านขายยาในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 498 แห่ง โดยพบว่าเภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 16 ราย จำหน่ายยาอันตรายในขณะที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 8 ราย และไม่จัดทำบัญชีการซื้อขายให้เป็นไปตามกฎหมาย จำนวน 48 ราย ส่วนร้านขายยาในต่างจังหวัดนั้น อย. ได้ประสานให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการดำเนินการตรวจสอบ นอกจากนี้ อย. ยังได้เตรียมจัดทำฐานข้อมูลเภสัชกรที่ปฏิบัติงานในร้านขายยาทั่วประเทศ ไว้เป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคได้สืบค้นตรวจสอบ เราในฐานะผู้บริโภค หากจำเป็นต้องซื้อยาจากร้านขายยา ก็ควรเลือกที่มีเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยา ซึ่งในร้านจะต้องมีใบอนุญาตแสดงไว้ให้เห็นชัดเจน นอกจากนี้หากเราพบเห็นร้านขายยาไม่มีเภสัชกรประจำร้าน หรือขายยาอันตราย หรือขายยาที่คาดว่าจะผิดกฎหมาย สามารถแจ้งไปได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556   แปรงสีฟันต้องแจ้งอายุ สุขภาพฟันของเด็กๆ เป็นเรื่องที่พ่อ-แม่ควรห่วงใย ปัญหาเด็กแปรงฟันไม่ถูกวิธีอาจไม่ใช่เรื่องเดียวที่ต้องกังวล เพราะยังมีเรื่องการใช้แปรงสีฟันไม่เหมาะสมกับวัยเป็นเรื่องหนักใจเช่นกัน ซึ่งเมื่อลองสำรวจดูแปรงสีฟันที่วางขายอยู่ในท้องตลาดก็จะพบว่า ไม่มีการระบุช่วงอายุที่เหมาะสมในการใช้แปรงสีฟันของเด็กไว้บนฉลาก เพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพฟันของเด็กๆ ให้ได้รับความปลอดภัย และเลือกใช้แปรงสีฟันให้เหมาะสมกับวัย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงได้ออกประกาศให้แปรงสีฟันเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยต้องเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับช่วงอายุของเด็กในฉลากสินค้าแปรงสีฟัน ว่าเหมาะสมสำหรับช่วงอายุใด  เช่นเริ่มมีฟันถึง 3 ปี หรือ 6 ปี ถึง 12 ปี เป็นต้น ซึ่งประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 กระแสในประเทศ

กระแสในประเทศ ฉบับที่ 1012 มิถุนายน 2552 เรดบูลโคล่าพบโคเคน ขายต่างประเทศไทยคนละสูตร นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงข่าวสำนักงานความปลอดภัยด้านอาหาร กระทรวงอาหาร การเกษตร และคุ้มครองผู้บริโภค ประเทศเยอรมนี ตรวจพบร่องรอยของสารโคเคนในเครื่องดื่มเรดบูลโคล่าและไต้หวันอายัดเครื่องดื่ม Red Bull Energy Drink เพราะตรวจพบร่องรอยของสารโคเคนเจือปนอยู่เล็กน้อยหลังจากให้กองควบคุมอาหารเก็บตัวอย่างสินค้าเครื่องดื่มกระทิงแดงโคล่าที่ผลิตในประเทศไทยไปตรวจสอบอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม เรดบูลโคล่าในเยอรมนีถูกพัฒนาสูตรโดยบริษัท Red Bull GmbH ประเทศออสเตรีย และผลิตในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สำหรับเครื่องดื่ม Red Bull Energy Drink ที่จำหน่ายในประเทศไต้หวัน ผลิตและส่งออกจากบริษัทในออสเตรีย ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ผลการตรวจวิเคราะห์ในรุ่นการผลิตเดียวกันของประเทศออสเตรียไม่พบโคเคน ซึ่งจะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป "กระทิงแดงโคล่าที่จำหน่ายในประเทศไทย เป็นคนละสูตรกับผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในต่างประเทศ ไม่ได้ใช้แหล่งการผลิตเดียวกัน ขอให้ประชาชนผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนก อย.ได้เฝ้าระวังเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ให้มีการตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียดที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกด้วย ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจการดำเนินงานของ อย. เมื่อพบผลิตภัณฑ์ใดมีปัญหาจะเร่งตรวจเฝ้าระวังดำเนินการและชี้แจงให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลโดยเร็ว”   15 มิ.ย. 52ห้ามขาย-ห้ามทาน น้ำหวาน “แคนดี้ ไซรับ” นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับข้อมูลว่าพบร้านค้าบริเวณหน้าโรงเรียนใน จ.ราชบุรี มีการนำขนมที่มีชื่อว่า “แคนดี้ ไซรับ” ซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำหวานบรรจุในขวดสเปรย์ เวลารับประทานจะใช้วิธีการฉีดพ่นเข้าปาก มาจำหน่ายให้กับเด็กนักเรียน ทาง อย. จึงรีบออกมาแจ้งให้ทราบว่า ผลิตภัณฑ์ประเภท “น้ำหวานในขวดสเปรย์” ไม่มีการอนุญาตให้ผลิตหรือนำเข้า และเตือนให้เด็กๆ อย่าซื้อมารับประทานเป็นอันขาด อย. ได้ประสานต่อไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี พบว่า เลขเอกสารบนฉลากอาหารดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม ไม่ใช้ของหวานในขวดสเปรย์ นอกจากนี้ยังไม่พบข้อมูลผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อย. ฝากให้สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดช่วยตรวจตาและเฝ้าระวังการผลิต นำเข้า ทั้งผลิตภัณฑ์แคนดี้ ไซรับ และผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยและอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค 29 มิ.ย. 52เลิกบุหรี่อาจถึงตาย! อย่าใช้ “นิโคตินเจล”กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกโรงเตือนผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ ว่าอย่าซื้อ “นิโคตินเจล” มาใช้เด็ดขาด เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้รับการรับรองจาก อย. ผู้ที่ใช้อาจได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต การพิสูจน์ทางการแพทย์ระบุว่า การใช้นิโคตินทดแทนมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงในการเลิกบุหรี่ ซึ่งในต่างประเทศมีอยู่ด้วยกัน 6 วิธี คือ หมากฝรั่งเคี้ยวนิโคติน, แผ่นปิดผิวหนังนิโคติน, นิโคตินชนิดสูบพ่นทางปาก, นิโคตินชนิดสเปรย์พ่นจมูก, ยาอมนิโคติน และนิโคตินชนิดเม็ดอมใต้ลิ้น แต่สำหรับในเมืองไทยได้มีการขึ้นทะเบียนไว้เพียง 3 รูปแบบ คือ หมากฝรั่งเคี้ยวนิโคติน, แผ่นปิดผิวหนังนิโคติน และยาอมนิโคติน โดยผลิตภัณฑ์เพื่อการเลิกบุหรี่เหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเสียก่อน สำหรับ “นิโคตินเจล” ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน เนื่องจากยังต้องตรวจสอบเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยจาก อย. เพราะการใช้ยานิโคตินทดแทนที่ไม่ได้มาตรฐานอาจส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น หัวใจเต้นแรง และทำให้แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้หายช้า ผู้ที่มีประวัติการป่วยเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และผู้เป็นโรคแผลในทางเดินอาหาร ต้องพิจารณาให้ดีในการใช้ยานิโคตินเพื่อเลิกบุหรี่ ใครที่ต้องการเลิกบุหรี่และอยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติม โทร.ไปได้ที่ “สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600” 29 มิ.ย. 52ห้ามหักเงินในบัญชีใช้หนี้บัตรเครดิตนายนิโรธ เจริญประกอบ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยว่า สคบ.เตรียมออกประกาศห้ามไม่ให้ธนาคารพาณิชย์หักบัญชีเงินฝากของผู้บริโภคเพื่อนำมาชำระหนี้บัตรเครดิต หากยังเป็นกรณีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือยังไม่มี ข้อยุติใดๆ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย สคบ.เนื่องจากธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ทั้งนี้ สคบ.ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมากว่า ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่ธนาคารพาณิชย์หักเงินในบัญชีของผู้ฝากเงินเพื่อชำระหนี้ตามสัญญาบัตรเครดิตโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม “การที่สถาบันการเงินกำหนดข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตไว้ในสัญญาและกำหนดให้ผู้ถือบัตรทำหนังสือยินยอมให้ธนาคารมีอำนาจหักเงินจากบัญชีเงินฝากที่ผู้ถือบัตรมีอยู่กับธนาคารมาชำระหนี้บัตรเครดิตในทันที ถือเป็นข้อสัญญาที่มีผลให้คู่สัญญาต้องรับภาระเกินกว่าที่บุคคลธรรมดาจะสามารถคาดหมายได้ตามปกติ เพราะการไม่ชำระหนี้บัตรเครดิตอาจเกิดได้หลายกรณี โดยที่เจ้าของบัตรไม่มีเจตนาหรือจงใจ เช่น กรณีบัตรสูญหาย บัตรถูกลักขโมย ซึ่งยังไม่ได้พิสูจน์ความรับผิด นอกจากนี้ สคบ.ยังเห็นว่าเป็นการใช้ข้อสัญญาที่เลี่ยงกระบวนการยุติธรรมโดยไม่ไปใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อพิสูจน์ความผิดให้เสร็จสิ้นเสียก่อน” เทสโก้ แพ้คดีเรียก 1000 ล้าน ศาลอาญาสั่งยกฟ้องคดีที่ เทสโก้ โลตัส ฟ้อง ว่าที่ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในกรณีหมิ่นประมาททำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและรายได้ โดยทาง เทสโก้ โลตัส ได้เรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินถึงหนึ่งพันล้านบาท ซึ่งศาลสั่งยกฟ้องด้วยเหตุผลว่าการติชมเป็นการทำหน้าที่โดยสุจริตที่มาของการฟ้องร้องเกิดขึ้นเมื่อ ว่าที่ร.อ.จิตร์ ให้สัมภาษณ์ในหัวข้อข่าว “ค้ากำไรบนซากโชวห่วย เทสโก้สูบไทย 37% จากยอดขายทั่วโลก” ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ “ผู้จัดการรายวัน” ฉบับวันที่ 1 ต.ค.50 โดยเนื้อข่าวระบุว่า เทสโก้ โลตัส ดูดเงินจากผู้บริโภคชาวไทยส่งกลับไปยังบริษัทแม่ที่อังกฤษหลายหมื่นล้าน ทำให้เทสโก้ฯไต่ทะยานขึ้นเป็นบริษัทร่ำรวยที่สุดอันดับ 4 ของโลก มียอดขายรวมทั่วโลก 79,978 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมาจากไทยมากถึง 37% สวนทางกับผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยของไทย ที่ล้มตายอย่างรวดเร็วเหลือรอดไม่ถึงครึ่ง โดยที่ต่อมา ทาง “ผู้จัดการรายวัน” ได้แก้ไขตัวเลขยอดรายได้ของเทสโก้ฯในไทย จาก 37% เป็น 3.7% ตามที่ผู้บริหารของเทสโก้ฯแจ้งมาในภายหลัง ซึ่งทาง เทสโก้ฯ ไม่ได้ฟ้องหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เป็นจำเลยในคดี แต่ได้ฟ้อง ว่าที่ร.อ.จิตร์ โดยเรียกค่าเสียหายพันล้านบาท และฟ้องคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คือนายกมล กมลตระกูล นักสิทธิมนุษยชน และนางนงนาถ ห่านวิไล บรรณาธิการน.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ เรียกค่าเสียหายรายละ100 ล้าน ซึ่งเผยแพร่เนื้อหาว่า เทสโก้ฯ ขยายกิจการจนส่งผลกระทบต่อร้านค้าปลีกรายย่อยในชุมชนล่มสลาย สำหรับคำพิพากษาของศาลอาญา สรุปได้ว่า วันที่ 16 มิ.ย. 52 ความอาญาระหว่างบริษัทเอก–ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด เป็นโจทก์ฟ้อง ว่าที่ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ เป็นจำเลยฐานความผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ละเมิด เรียกค่าเสียหาย 1,000 ล้านบาท ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำบรรยายของว่าที่ร.อ.จิตร์ ที่พูดถึงปัญหาค้าปลีกในประเทศไทย มีฐานข้อมูล ในฐานะหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับจำเลยมาก่อน ส่วนเรื่องที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์เลี่ยงภาษี เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งประชาชนสามารถทำได้ ส่วนคำพูดที่ว่า โจทก์ใช้เล่ห์เหลี่ยมในการขายสินค้าโดยวิธีต่ำกว่าทุน จึงมิใช่จำเลยกล่าวอย่างเลื่อนลอย ไม่มีมูลความจริง จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ ส่วนที่โจทก์กล่าวว่า “โลตัสเปรต” เป็นเพียงการเรียกความสนใจของผู้ฟัง เป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สมควรตามวิสัยสันดานของแต่ละคน เป็นเพียงการใช้ถ้อยคำเกินเลยไป เมื่อฟังว่า คำบรรยายของจำเลยในงานสัมมนาไม่เป็นความผิด ในส่วนข้อความติชมนั้น ไม่ว่าจะให้สัมภาษณ์ในฐานะกรรมาธิการพาณิชย์ หรือไม่ก็ตาม จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยอ้างข้อมูลเท็จ อันจะทำให้ผู้อื่นเข้าใจโจทก์ผิด คดีของโจทก์จึงไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง ส่วนในคดีแพ่ง เมื่อจำเลยมิได้ทำผิดตามฟ้อง โจทก์จึงไม่เสียหาย การที่โจทก์ขอคิดค่าเสียหายโดยอ้างว่าทำให้ยอดขายสินค้าลดลงมา 1,000 ล้านบาทนั้น เป็นว่าส่อแสดงเจตนาเป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต พิพากษายกฟ้อง ยกเลิกบัตรทอง ใช้แค่บัตรประชาชน!นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศเตรียมยกเลิก “บัตรทอง” ทั่วประเทศปลายเดือน ก.ย. นี้ โดยจะเปลี่ยนมาใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียวเพื่อความสะดวก โดยจะเริ่มจากการใช้รักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิ พร้อมเตรียมให้ 8 จังหวัดนำร่องใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาลในจังหวัด เพื่อศึกษาข้อดี-ข้อเสียก่อนปรับใช้ทั่วประเทศ “กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินโครงการในการใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทนบัตรทองมาแล้ว 37 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ใน 13 จังหวัด และ 1 มิ.ย. อีก 24 จังหวัด และในเดือน ต.ค.นี้ จะนำร่องใน 8 จังหวัด ให้ใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ภายในจังหวัดนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิประกันตนที่ระบุในแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้ได้ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูความพร้อมของแต่ละโรงพยาบาลและพิจารณางบประมาณ ก่อนดำเนินการใช้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 มะเร็ง บัตรทองและการส่งต่อผู้ป่วย

มะเร็งเป็นโรคร้ายที่มีคนไทยป่วยเป็นจำนวนมากและคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คุณวิภาก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ต้องเผชิญหน้ากับโรคร้ายแรงนี้และคาดหวังถึงการรักษาที่จะช่วยให้เธอผ่านพ้นความเจ็บป่วยนี้ไปได้คุณวิภามีสิทธิในบัตรทองหรือสิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยามเจ็บไข้เธอมักจะไปใช้บริการการแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเสมอ โดยจ่ายเงินเองไม่พึ่งระบบหลักประกัน แต่ในการตรวจรักษาครั้งล่าสุดจากอาการเลือดออกทางช่องคลอด แพทย์วินิจฉัยว่าเธอเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3 ซึ่งการรักษาพยาบาลต้องทำอย่างต่อเนื่องและมีค่าใช้จ่ายสูง แพทย์จึงแนะนำให้เธอติดต่อกับสถานพยาบาลต้นสังกัดที่เธอมีสิทธิในระบบหลักประกันเพื่อลดภาระในเรื่องค่ารักษาพยาบาลปัญหาแรกคือ เธอไม่แน่ใจว่าเธอมีสิทธิบัตรทองที่สถานพยาบาลไหน ปัญหานี้แก้ไม่ยากเพราะเพียงตรวจสอบจากฐานข้อมูล ก็พบว่าเป็นสถานพยาบาลใดปัญหาที่สองคือ เมื่อสามีพาเธอไปติดต่อเพื่อขอรับการรักษาสถานพยาบาลดังกล่าว ทั้งสองพบว่าสถานพยาบาลแห่งนี้ไม่มีศักยภาพพอในการรักษาโรคร้ายของเธอ จึงร้องขอให้ทางสถานพยาบาลทำเรื่องส่งต่อ โดยประสงค์ให้ส่งต่อไปรักษาตัวที่ รพ.รามาธิบดี ซึ่งคุณวิภาคุ้นเคยและมีประวัติการตรวจวินิจฉัยโรคพร้อมอยู่แล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยบอกเพียงว่าจะทำเรื่องส่งตัวผู้ป่วยให้ไปรักษาที่สถาบันมะเร็งเท่านั้น ถ้าจะรักษาที่รามาธิบดีผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง สามีของคุณวิภาจึงโทรศัพท์มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และขอให้ช่วยเหลือให้ทางสถานพยาบาลต้นสังกัดทำเรื่องให้ภรรยาได้เข้ารับการรักษาที่ รพ.รามาธิบดี การแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้ประสานไปยังสถานพยาบาลที่คุณวิภามีสิทธิบัตรทองอยู่ ทราบข้อมูลตรงกับที่สามีคุณวิภาร้องเรียนมา แต่ทางสถานพยาบาลแห่งนี้แจ้งว่า ไม่สามารถทำตามประสงค์ของผู้ร้องได้เนื่องจาก รพ.รามาธิบดีไม่ได้เป็นโรงพยาบาลในเครือข่าย หากเกินกว่าความสามารถในการรักษาทั้งระดับสถานพยาบาลปฐมภูมิและทุติยภูมิ จะส่งต่อไปที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลในเครือข่ายเท่านั้น   หากผู้ป่วยยังยืนยันจะรักษาพยาบาลที่ รพ.รามาธิบดี ก็ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง โดยไปทำเรื่องตามขั้นตอนการย้ายสิทธิกับทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)เรื่องการส่งตัวนี้เป็นหนึ่งในปัญหาที่ทาง สปสช.ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดปัญหาหนึ่ง ซึ่งยังคงต้องมีการสื่อสารให้ผู้มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าใจในระบบของบัตรทองหรือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะมีลำดับขั้นของการดูแลรักษา คือถ้าสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิหรือคลินิกใกล้บ้านใกล้ใจ ไม่สามารถรักษาได้ จะส่งต่อการรักษาไปที่โรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ ซึ่งมีอุปกรณ์ที่รักษาผู้ป่วยได้ หากยังรักษาไม่ได้อีกจึงจะส่งต่อไปรักษาในสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงสุด ซึ่งอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน โดย สปสช.จะติดตามดูแลค่ารักษาของผู้ป่วยไปตามสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยถูกส่งตัวไปรักษาเมื่ออธิบายให้ทั้งคุณวิภาและสามีเข้าใจ ทั้งสองก็ยินดีให้ทางสถานพยาบาลทำเรื่องส่งตัวคุณวิภาไปรักษาที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ แต่สามีคุณวิภาก็แอบกังวลว่า ภรรยาอาจต้องรอคิวการรักษานานแล้วจะทำให้อาการของภรรยาทรุดหนักลง ซึ่งปัญหานี้ทางสถานพยาบาลตามสิทธิของคุณวิภาได้ช่วยประสานกับทางสถาบันมะเร็งฯ เป็นที่เรียบร้อย และเร่งทำใบส่งตัวให้อย่างเร็วที่สุด ปัจจุบันคุณวิภาได้เข้ารับการรักษา ณ สถาบันมะเร็งแห่งชาติแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ตรวจสุขภาพฝากครรภ์ ใครๆ ก็ใช้บัตรทองได้

เราอาจเคยได้ยินว่าสิทธิด้านสุขภาพต่างๆ ที่รัฐจัดให้ ทั้งสิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ หรือสิทธิตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) หากใครมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะไปใช้สิทธิอีกอย่างหนึ่งไม่ได้ ด้วยความรู้แบบนี้และความอ่อนแอในการสื่อสารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้ประชาชนพลาดสิทธิที่มีอยู่ได้เช่นกันสุพัตรา เป็นพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่งมีสิทธิประกันสังคม เธอตั้งครรภ์อยากจะฝากครรภ์พอเปิดไปดูรายละเอียดความคุ้มครองเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในประกันสังคม ก็พบแต่เงินช่วยเหลือเหมาจ่าย 13,000 บาทให้ค่าคลอดบุตรเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าต้องควักเงินสำรองจ่ายไปก่อนจนคลอดบุตรแล้วถึงจะไปขอเบิกคืนได้ ก็อยากจะประหยัดเงินมากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เธอจึงขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมจนทราบว่า ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ได้ให้สิทธิแก่ผู้ถือบัตรประกันสังคมและคนไทยทุกคนให้มาใช้สิทธิบัตรทองได้ในการรับบริการสาธารณสุขเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ซึ่งรวมถึงการฝากครรภ์ด้วย โป๊ะเช่ะ...ไม่ต้องควักเงิน ลุย !สุพัตรา เดินเข้าไปที่โรงพยาบาลราชวิถีเพื่อขอฝากครรภ์และขอใช้สิทธิบัตรทอง เรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเป็นงง  บอกใช้ไม่ได้มีสิทธิประกันสังคมอยู่แล้วก็ให้ไปเบิกเงินกับทางนั้นซะ คนถือบัตรประกันสังคมจะใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้เพียงเรื่องการคุมกำเนิดเท่านั้น รอคลอดก่อนแล้วค่อยใช้สิทธิทำตอนทำหมันนะจ๊ะซึมเล็กๆ เมื่อได้รับคำตอบแบบนั้น สุพัตราหยิบมือถือโทรไปที่ call center สปสช. 1330 ถามความชัดเจนว่ามันเป็นยังไงกันแน่ เห็นใบประชาสัมพันธ์บอกว่าใช้ได้ไง call center สปสช. ยืนยันว่า ผู้ถือบัตรประกันสังคมสามารถใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเรื่องการฝากครรภ์ได้ และแนะนำให้สุพัตราไปคุยกับทางศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลราชวิถีอีกครั้ง สุพัตราอุ้มท้องอ่อนๆ แล้วค่อยๆ เดินไปที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อขอยืนยันการใช้สิทธิอีกคำรบ“ไม่ได้ค่ะ เราเคยมีผู้ถือบัตรประกันสังคมมาขอใช้สิทธิแบบน้องนี่แหละค่ะ ก็ต้องแจ้งว่าผู้ที่ใช้สิทธิได้จะเป็นผู้ที่ส่งประกันสังคมไม่ครบ 7 เดือนเท่านั้นค่ะ” เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลอธิบาย สุพัตราจึงกดโทรศัพท์และขอให้เจ้าหน้าที่ สปสช. ได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ คุยกันอยู่พักใหญ่สุดท้ายศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพของโรงพยาบาลก็ยังยืนยันไม่ให้เธอใช้สิทธิ แถมยังบอกว่า ไม่มีนโยบาย หากต้องการใช้สิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้ไปขอใช้สิทธิที่สถานพยาบาลอื่นแทน  จะเรียกว่าเป็น “ไล่” อย่างสุภาพก็ว่าได้เมื่อการใช้สิทธิล้มเหลว สุพัตราจึงโทรคุยกับเจ้าหน้าที่ สปสช. อีกครั้ง เจ้าหน้าที่แจ้งว่าแม้ สปสช.จะมีนโยบายดังกล่าว แต่ สปสช. ไม่มีอำนาจบังคับให้โรงพยาบาลทำตามนโยบายดังกล่าวได้“เอ้า...แล้วมันจะเรียกว่านโยบายได้ไงน่ะ เที่ยงนี้ขนมจีนอย่ากินดีกว่า มันคงไม่มีน้ำยาเหมือนกัน” สุพัตราบ่นกับตัวเองพร้อมควักเงิน 760 บาทเป็นค่าดำเนินการฝากครรภ์ให้กับโรงพยาบาล ก่อนนำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาหลังรับเรื่องร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ตรวจสอบที่มาที่ไปในสิทธิการรับบริการสาธารณสุข การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้พบความเป็นมาว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ดำเนินงานภายใต้นโยบายสาธารณสุขที่ต้องการให้ประชาชนได้รับบริการทางสุขภาพทั้งด้านการรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพ การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคอย่างมีมาตรฐาน เสมอภาค และเท่าเทียมกัน รวมถึงการพัฒนาสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องการลดอัตราตายของเด็กและทารก อัตรามารดาตาย การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญ เป็นต้น จึงได้ดำเนินการแปลงนโยบายที่ว่าสู่การปฏิบัติเพื่อให้มีการดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง มีระบบบริการเน้นการดูแลในระดับ Primary care และในชุมชน โดยจัดให้มีบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์จนถึงวัยสูงอายุโดยการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว/ตามกิจกรรมหรือตามผลงานบริการ ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ที่กำหนด นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ผู้มีสิทธิอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในอนาคต  โดยเปิดให้ผู้ที่ใช้สิทธิประกันสังคมและสิทธิราชการ สามารถใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้จากเอกสารเผยแพร่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพยังยืนยันว่า ผู้มีสิทธิประกันสังคมสามารถเข้าขอใช้สิทธิการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ไม่ใช่แค่การฝากครรภ์ แต่ยังรวมไปถึงการวางแผนครอบครัวแบบชั่วคราว ทั้งการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ห่วงอนามัย แม้กระทั่งการจะขอรับการตรวจหามะเร็งปกมดลูก ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้เมื่อได้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว มูลนิธิฯจึงได้ทำหนังสือเรียนถึง ประธานคณะกรรมการคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขเพื่อให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้ในเวลาต่อมาได้มีการประสานงานระหว่าง สปสช. กับโรงพยาบาลราชวิถีอีกครั้ง และมีการยินยอมให้สุพัตราสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้ เนื่องจากการฝากครรภ์อยู่ในบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ให้ความคุ้มครองแก่คนไทยทุกคน โดยต้องเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพประเด็นนี้ทำให้เห็นจุดอ่อนใหญ่ๆ 2 จุด คือ ความคุ้มครองด้านสุขภาพของประกันสังคมใครอยากใช้สิทธิต้องควักเงินก่อนและมีข้อจำกัดของวงเงินซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และเน้นให้ความคุ้มครองด้านการรักษาแต่ไม่เน้นด้านการป้องกัน ขณะที่นโยบายในความคุ้มครองของหลักประกันสุขภาพแม้จะมีนโยบายที่ดีมุ่งหวังดูแลประชาชนถ้วนหน้าแต่ยังมีการปฏิบัติที่ไม่ถ้วนหน้าจากสถานพยาบาลบางแห่งหรือบางครั้งอยู่ จำเป็นที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะต้องวางกรอบระเบียบแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิได้อย่างแท้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >