ฉบับที่ 274 โดนแอบอ้างใช้บัตรเครดิต เสียหายเป็นแสน

        เสียงผู้บริโภคในวันนี้เป็นเรื่องราวที่หลายคน คงได้เห็นกันตามข่าวกันมาเยอะ กับกรณีที่ถูกพวกแก๊งมิจฉาชีพหลอก นำข้อมูลส่วนตัวของเราเพื่อไปทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องของคุณน้ำตาลที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็เกี่ยวกับการโดนภัยออนไลน์หลอกเช่นกัน แต่มาในรูปแบบอีเมล         คุณน้ำตาลได้เล่าให้ฟังว่า เธอได้รับอีเมลจากทางเว็บไซต์ที่ให้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น จองที่พัก จองเที่ยวบิน หรือจองรถเช่าต่างๆ  รายหนึ่ง (ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นเว็บไซต์ปลอมที่พี่มิจฉาชีพแอบอ้างขึ้นมา) โดยในอีเมลมีการระบุข้อความว่า “แจ้งให้รางวัลสำหรับการเข้าพัก” หลังได้รับอีเมลดังกล่าว ตัวเธอเองก็ไม่ได้คิดอะไรตอนนั้น จึงให้ข้อมูลบัตรเครดิต และ OTP สำหรับการยืนยันไป แต่พอผ่านไปไม่ถึง 10 นาที เธอก็เริ่มมีสติ! รู้สึกไม่สบายใจขึ้นมาได้ แต่...ก็ยังไม่ทันอยู่ดีเพราะเธอได้กรอกข้อมูลไปเรียบร้อยแล้วเลยคิดว่าคงโดนหลอกแล้วแน่ๆ เธอจึงรีบโทรติดต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อให้ยกเลิกการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นหลังจากเผลอให้ข้อมูลไปทางอีเมล ทางคอลเซนเตอร์ แจ้งรับทราบเรื่องพร้อมทั้งบอกว่าจะระงับธุรกรรมที่เกิดขึ้นและออกบัตรให้ใหม่คุณน้ำตาล         ทว่าในเดือนต่อมาดันมีสเตทเม้นท์แจ้งว่ามียอดการใช้จ่ายที่บริษัทแห่งหนึ่งในรายการชำระค่าบัตรเครดิตของเธอ ยอดค่าใช้จ่ายคือ 234,682.96 บาท คุณน้ำตาลก็ตกใจสิ! ฉันแจ้งระงับไปแล้วนะ เลยรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ทันที พร้อมกับปรึกษากับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเกิดเรื่องราวแบบนี้ขึ้น เธอไม่ควรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ใช่หรือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งกับทางคุณน้ำตาลว่า เมื่อแจ้งระงับการใช้บัตรแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายหลังการแจ้งระงับให้เธอสามารถใช้จ่ายได้ตามปกติเลย         แม้เธอได้รับข้อมูลว่าจบ แต่เอาจริงเรื่องก็ยังคงไม่จบ เพราะว่ายังคงมีอีเมลส่งมาจากธนาคารว่าเธอได้ซื้อของทางออนไลน์เพิ่มเติมอีก โดยมีชื่อผู้ซื้อเป็นชื่อชาวต่างชาติ ซึ่งไม่ใช่ชื่อเธอที่เป็นเจ้าของบัตร แถมการจัดส่งสินค้าก็ยังขึ้นที่อยู่จัดส่งอยู่ในประเทศโปแลนด์อีกด้วย     อีกทั้งต่อมาเธอได้รับจดหมายที่ส่งมาจากทางธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตอีกครั้งว่า หลังจากได้มีการตรวจสอบแล้วยอดค่าใช้จ่ายใหม่ที่เกิดขึ้นธนาคารได้ระงับการเรียกเก็บเงินทั้งหมด แต่ทางคุณน้ำตาลต้องเป็นคนรับผิดชอบยอดค่าใช้จ่ายครั้งแรกคือ 234,682.96 บาท         คุณน้ำตาลจึงมาปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไรดี?  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำวิธีการแก้ไขให้ผู้ร้องเบื้องต้นดังนี้         1. ทำหนังสือปฏิเสธการชำระทั้งหมด ไปยังธนาคารดังกล่าว เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้ใช้จ่ายเอง (มิจฉาชีพเป็นผู้ทำธุรกรรม) พร้อมทั้งแจ้งธนาคารเพื่ออายัด และให้ผู้ร้องมีการทำสำเนาถึงธนาคารแห่งประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีกด้วย โดยทางมูลนิธิฯ จะติดตามเรื่องและช่วยในการไกล่เกลี่ยให้กับผู้ร้องเพื่อไม่ต้องชำระยอดค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องไม่ได้กระทำ         2. หากเกิดกรณีธนาคารฟ้องร้องได้อธิบายต่อผู้ร้องว่า อาจใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ถึง 2 ปี ซึ่งแนะให้ผู้ร้องสู้คดี เพราะคำพิพากษาจะเป็นประโยชน์ต่อร้องเนื่องจากไม่ใช่ความผิดของทางผู้ร้องเอง         3. หากระหว่างนั้นผู้ร้องติดเครดิตบูโร แนะนำว่าถ้าสู้คดีในชั้นศาลเสร็จสิ้น ให้ไปแจ้งสาเหตุดังกล่าวต่อทางเครดิตบูโร          ดังนั้นจึงฝากเตือนใจ เตือนภัยผู้บริโภคให้ระมัดระวังให้มากเมื่อต้องทำข้อมูลทางออนไลน์ โดยเฉพาะไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวสำคัญหรือ OTP แก่ผู้ติดต่อที่ไม่มีตัวตนแน่ชัด ไม่น่าเชื่อถือ แนะนำว่า ให้ลองถามคำถามแรกกับตัวเองก่อนว่า บุคคลเหล่านี้เป็นมิจฉาชีพหรือไม่          นอกจากนี้ สิ่งที่ควรระวัง ก็คือพวกลิงก์ปลอม ก่อนกดลิงก์ถ้าไม่แน่ใจว่า จริง หรือ ปลอม แนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงที่จะไม่กดไปเลยเพื่อความปลอดภัย หรือถ้ามาในรูปแบบแจกของรางวัลต่างๆ ให้เช็กกับทางเว็บไซต์ทางการเพื่อความแน่ใจดีกว่าก่อนที่จะกดเข้าไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 บัตรเครดิตหายในต่างประเทศ

        จะทำอย่างไร เมื่อไปเที่ยวต่างประเทศแล้วถูกขโมยกระเป๋า โทรศัพท์มือถือ เงินสดและบัตรเครดิตหาย พอคิดถึงตรงนี้ก็เริ่มเวียนหัวกับปัญหาที่จะตามมาแล้ว หนักไปกว่านั้นเมื่อในกระเป๋าเงินมีบัตรเครดิตอยู่ถึง 3 ใบ!            เรื่องเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คุณแยมเดินทางไปเที่ยวกับครอบครัวที่นครอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์  ขณะคุณแยมและครอบครัว นั่งรับประทานอาหารกลางวันในร้าน KFC  โดยได้วางกระเป๋าไว้ข้างๆ ตัว   แต่...เพียงแค่ 10 นาที รู้ตัวอีกกระเป๋าก็หายไปแล้ว ในกระเป๋าใบนั้นมีทั้งเงินสด โทรศัพท์มือถือ พาสปอร์ต และบัตรเครดิตการ์ดอยู่ 3 ใบ         คุณแยมตกใจมากจึงรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด ส่วนการระงับบัตรเครดิต เนื่องจากโทรศัพท์มือถือได้ถูกขโมยไปด้วย จึงแจ้งระงับบัตรเครดิตได้สำเร็จเมื่อเดินทางกลับถึงโรงแรมที่เข้าพัก        เวลาระหว่างตั้งแต่บัตรหาย จนเมื่อคุณแยมได้โทรศัพท์แจ้งติดต่อธนาคารของทั้ง 3 บัตรเครดิต บัตรเครดิตทั้ง 3 ใบ มียอดการใช้จ่ายเกิดขึ้นทั้งหมด บัตรใบที่ 1 (บัตรสีเงิน) มียอดใช้จ่าย 4-5 รายการ แล้วบัตรก็ถูกตัดไปเองโดยอัตโนมัติ  บัตรใบที่ 2 ( สีน้ำเงิน) มียอดซื้อสินค้าราคา 15,000 บาท แต่เมื่อแจ้งปฏิเสธรายการไป ยอดก็ถูกยกเลิก แต่ปัญหาที่คุณแยมหนักใจ และอยากส่งเสียงบอกเล่าเรื่องนี้คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในบัตรที่ 3 (บัตรสีม่วง) เพราะเมื่อหายมียอดรูดบัตรราคาเท่า ๆ กัน  ติดต่อกันถึง 24 ยอดเมื่อถึงโรงแรมแล้วจึงค่อยระงับได้         เมื่อกลับมาประเทศไทย คุณแยมจึงได้อีเมล์ถึงธนาคารของบัตรสีม่วงทันทีแต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ คุณแยมจึงโทรไปทาง Call Center อีกครั้ง เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าจะมีการติดต่อกลับแต่ก็หายเงียบไป  คุณแยมจึงติดต่อแจ้งเรื่องนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศเพื่อขอให้เข้ามากำกับดูแลการทำงานของธนาคารสีม่วง และหลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ธนาคารของบัตรสีม่วงได้แจ้งว่าจะประนีประนอมการชำระหนี้ให้คุณแยม โดยให้ชำระ 50% (ประมาณ 18,000 บาท) และให้ตอบรับภายในวันที่ 20 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา         คุณแยมเห็นว่า ไม่ยุติธรรมกับผู้บริโภคอย่างมาก เพราะธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงไม่มีระบบป้องกันใดๆ ให้ผู้ถือบัตรเลย แม้จะเกิดการรูดบัตรเครดิต 24 ครั้งต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นความผิดปกติชัดเจน ก็ไม่มีระบบที่ช่วยระงับการใช้งานโดยอัตโนมัติ การใช้งานระบบจ่ายเงินแบบ Contactless โดยไร้สัมผัส ผ่านโทรศัพท์มือถือ บัตรเครดิต สมาร์ทวอทช์ ธนาคารต่างประเทศรวมถึงในประเทศด้วย ซึ่งหลายธนาคารได้มีระบบให้ใส่รหัสเพื่อตรวจพบการใช้บัตรผิดปกติแล้ว แต่ธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงก็ยังไม่มีระบบดังกล่าว  คุณแยมจึงมาร้องเรียนที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือเพราะการที่เธอต้องจ่ายเงิน ประมาณ 18,000 บาท จากการที่ธนาคารไม่มีระบบป้องกันและยังเป็นกรณีที่บัตรเครดิตถูกขโมยด้วย เธอมีหลักฐานการแจ้งความอย่างชัดเจน ไม่เป็นธรรมกับเธอสุดๆ  แนวทางการแก้ไขปัญหาหากเกิดกรณีเช่นเดียวกับคุณแยม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอแนะนำว่า          1.เมื่อบัตรเครดิตหาย ให้รีบโทรศัพท์อายัดบัตรกับสถาบันการเงิน หรือธนาคารเจ้าของบัตร หรือ อายัดบัตรฯ ผ่านแอปพลิเคชันในมือถือทันทีที่สามารถทำได้         2.รีบแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุดในพื้นที่เกิดเหตุ         3.ทำหนังสือขอปฏิเสธการชำระยอดเงิน พร้อมแนบใบแจ้งความ และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แล้วส่งไปที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต พร้อมกันนี้ให้ทำสำเนาอีกชุด ส่งไปที่ “ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย” เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา         4. เก็บหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานที่อยู่ขณะเกิดเหตุ, บันทึกการแจ้งอายัดบัตรฯ, ใบแจ้งความ, อีเมลที่โต้ตอบกับธนาคาร, หนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ทุกฉบับ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริง         สำหรับกรณีคุณแยม ขณะนี้ได้ทำหนังสือปฏิเสธการจ่ายเงินและรอคำตอบจากทางธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงอยู่ ซึ่งหากไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือเรื่องไม่อาจยุติลงได้ คงต้องใช้กระบวนการทางศาลต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 259 หนี้บัตรเครดิตหลายใบ จัดการอย่างไรดี

        ถ้าเรามีหนี้บัตรเครดิตหลายใบ หมุนแล้วหมุนอีกจนไม่สามารถหมุนได้อีกแล้ว เราควรจะมีวิธีจัดการหนี้เหล่านี้อย่างไรดี ลองมาดูลูกหนี้รายนี้กันว่าจะมีวิธีจัดการหนี้อย่างไร        คุณภูผา ใช้บัตรเครดิตเพลินไปหน่อยเลยทำให้มีหนี้บัตรเครดิตอยู่ 3 ใบจาก 3 ธนาคาร ใบแรกบัตรเครดิตของธนาคารกสิกรไทย จำนวน 120,000 บาท ใบที่สองบัตรเครดิตของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวน 100,000 บาท และใบที่สามบัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวน 100,000 บาท เขาชำระหนี้จะไปไม่ไหวแล้ว พยายามหมุนเงินแล้วหมุนเงินอีกก็ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ จนในที่สุดเขาก็หยุดจ่ายหนี้ ตอนนี้เขาหยุดจ่ายมาได้ 1 เดือนแล้ว         เป็นหนี้ต้องชำระภูผาเข้าใจจุดนี้ดี แต่เขามีความคิดว่าจะปิดบัญชีหนี้ด้วยเงินก้อนเดียว โดยจะไปขอหยิบยืมเงินจากเพื่อนเพื่อมาปิดบัญชีเสีย เพราะกลัวว่ายิ่งนานจะยิ่งเสียดอกเบี้ยมาก เขาไม่แน่ใจว่าเขาคิดถูกหรือเปล่า จึงมาปรึกษามูลนิธิฯ แนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นผู้ร้องควรจัดทำบัญชีหนี้ เพื่อให้เห็นภาพรวมก่อน ว่ามีหนี้อะไรบ้างและจำนวนเท่าใด โดยรวบรวมหนี้ทั้งหมดมาจัดลำดับเป็นหัวข้อเช่น ชื่อเจ้าหนี้ หนี้อะไร จำนวนเท่าไร ดอกเบี้ยเท่าไหร่ และลองเปรียบเทียบดูว่าแต่ละใบต้องจ่ายขั้นต่ำเท่าไร ถ้าต้องการหยุดจ่ายขั้นต่ำของทุกใบเพื่อเก็บเงินก้อนแล้วค่อยๆ ปิดทีละใบโดยต่อรองขอลดยอดหนี้ลงมาก็เป็นวิธีที่สามารถทำได้           ต่อมาถ้าตกลงกันได้แล้วว่าจะปิดที่ตัวเลขเท่าไร ผู้ร้องจะต้องขอใบลดหนี้จากเจ้าหนี้เพื่อยืนยันการลดหนี้ เมื่อได้ใบลดหนี้แล้วผู้ร้องจึงจะไปโอนเงินที่ธนาคาร เมื่อโอนเงินแล้วหนี้ของผู้ร้องจะต้องเป็นศูนย์เพราะฉะนั้นผู้ร้องจึงต้องขอเอกสารใบปิดบัญชีมาอีกครั้งหนึ่งการชำระหนี้จึงจะสมบูรณ์         หรืออีกวิธีหนึ่งหาเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยที่ถูกกว่าดอกเบี้ยหนี้บัตรเครดิต เพื่อนำจ่ายหนี้บัตรทุกหมดทุกใบ ซึ่งผู้ร้องอาจจะยืมเงินเพื่อนตามที่สอบถามมาก็ได้         สิ่งที่ผู้ร้องต้องเจอเมื่อหยุดชำระหนี้หรือค้างชำระหนี้คือ จะถูกโทรศัพท์ทวงถามหนี้บ่อยครั้งจนอาจจะรำคาญได้ แต่ยังมีกฎหมายเรื่องทวงถามหนี้กำกับดูแลอยู่ เช่น ห้ามเจ้าหนี้ข่มขู่จากการทวงหนี้ ห้ามแจ้งการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้คนอื่นทราบ เป็นต้น ถ้ามีการกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ผู้ร้องสามารถแจ้งความเพื่อให้ตำรวจดำเนินคดีกับผู้ทวงถามหนี้ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 จี้ธนาคารคืนเงินให้ผู้บริโภคทันที

จี้ธนาคารคืนเงินให้ผู้บริโภคทันทีเพิ่มมาตรการยืนยันตัวตน พร้อมรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมให้ผู้บริโภค หลังผู้บริโภคหลายรายถูกหักเงินจากบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุ- - - - -        จากกรณีที่มีผู้บริโภคจำนวนมากถูกหักเงินหรือถูกเรียกเก็บเงินจากบัญชีธนาคาร เนื่องจากบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตถูกลักลอบใช้โดยไม่ทราบสาเหตุในช่วงที่ผ่านมา หลังจากนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทยได้ออกมาชี้แจงและปฏิเสธ ว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากธนาคาร ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบร้านค้าที่มีธุรกรรมที่ผิดปกติและจะเร่งคืนเงินให้กับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายตามขั้นตอนของธนาคารนั้น        บริการบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ถือเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาโดยคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2542 ที่ระบุว่า ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ออกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตให้กับผู้บริโภคไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินจากบัญชีธนาคารของผู้บริโภค หรือกรณีที่ผู้บริโภคถูกหักเงินจากบัญชีธนาคาร จะต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคทันที รวมทั้งกรณีที่ผู้บริโภคทักท้วงว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าหรือแจ้งว่าบริการที่ถูกหักเงินไปเกิดจากการลักลอบใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ทั้งในออนไลน์หรือออฟไลน์อีกด้วย         “ธนาคารไม่ควรอ้างเหตุผลการตรวจสอบเพื่อประวิงเวลาในการคืนเงินให้กับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหักเงินจากบัญชี และต้องรับผิดชอบคืนเงินผู้บริโภคเต็มจำนวนทันที เนื่องจากเป็นหน้าที่ของธนาคารในการดูแลรักษาเงิน นอกจากธนาคารจะพิสูจน์ได้ว่าภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของผู้บริโภคเองและใช้สิทธิเรียกคืนจากผู้บริโภคในภายหลังได้”โดยปกติการทำธุรกรรมทางการเงินจะต้องมีการยืนยันตัวตนก่อนทุกครั้ง แต่ปัจจุบันธุรกรรมที่เกิดจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จำนวนมากไม่มีการแจ้งยืนยันตัวตนก่อนการสั่งจ่าย จึงอาจเป็นช่องว่างให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นได้ จึงต้องการให้ ธปท. และสมาคมธนาคารฯ เพิ่มมาตรการยืนยันตัวตนในการโอนเงินทุกครั้ง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ส่วนกรณีผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการที่เงินหายไปจากบัญชีจนหมดนั้นอาจจะกระทบกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภค จนสร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภค ธนาคารผู้รับฝากเงินของผู้เสียหายควรต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการแสดงความรับผิดชอบของธนาคารผู้รับฝากเงินเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 การปิดหนี้บัตรเครดิตที่เหมือนโดนเอาเปรียบ

        คุณสาวน้อยเป็นหนี้บัตรเครดิตของธนาคารแห่งหนึ่ง  จำนวนเงินประมาณ 75,000 บาท เพราะเธอมีปัญหาเรื่องการเงินจึงไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ในเวลาที่ตกลงกันไว้ อย่างไรก็ตามต่อมาเธอพอเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง จึงติดต่อไปยังธนาคารเพื่อขอตัดหนี้ปิดบัญชี โดยเธอได้ต่อรองขอลดยอดหนี้ลงมา ต่อรองไปต่อรองมาธนาคารตกลงให้เธอปิดหนี้กับธนาคารด้วยยอดเงินจำนวน 50,000 บาท หลังจากนั้นธนาคารได้ส่งใบแจ้งยอดหนี้ที่ลดหนี้ลงมาตามที่เธอต่อรองไว้มาให้เธอเรียบร้อย แต่...หลังจากนั้นไม่นานเรื่องกลับไม่เรียบร้อย เพราะเธอได้รับเอกสารคำฟ้องจากศาล คุณสาวน้อยจึงไม่รู้ว่าเธอควรดำเนินการอย่างไรดี จึงขอคำปรึกษา         แนวทางในการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า เมื่อผู้ร้องได้ใบแจ้งยอดหนี้ที่ลดหนี้ลงมาและตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ผู้ร้องสามารถไปโอนเงินให้กับธนาคารตามข้อตกลงได้ทันที โดยผู้ร้องจะต้องไปโอนเงินที่ธนาคาร ห้ามโอนเข้าไปในบัญชีของเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่ธนาคารหรือสำนักงานกฎหมาย เนื่องจากจะไม่มีหลักฐาน         การโอนที่ธนาคารจะมีใบเสร็จหรือสลิปการโอนเงินหรือเปย์อิน ซึ่งผู้ร้องจะต้องเก็บไว้เป็นหลักฐาน ย้ำต้องเก็บไว้เป็นหลักฐาน หลังจากนั้นผู้ร้องต้องโทรแจ้งเจ้าหนี้ หรือธนาคารให้ทราบว่า ผู้ร้องได้โอนเงินตามข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว เมื่อผู้ร้องโอนเงินแล้วหนี้ของผู้ร้องจะเป็นศูนย์หรือบรรลุตามข้อตกลงแล้ว         หลังจากนั้นผู้ร้องต้องร้องขอให้ธนาคารส่ง ใบปิดบัญชี ของผู้ร้องมาไว้เป็นหลังฐานยืนยันว่า ได้รับเงินและได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว (ส่วนเอกสารใบแจ้งยอดหนี้ที่ลดหนี้ลงมาแล้ว ซึ่งธนาคารส่งมาให้ในตอนแรกนั้น ยังไม่ใช่ใบปิดบัญชี ใบลดหนี้เป็นเพียงแต่หลักฐานที่แสดงว่าทางเจ้าหนี้ได้ลดหนี้ให้กับผู้ร้องเท่านั้น)         เมื่อชำระหนี้ตามสัญญากับเจ้าหนี้เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ผู้ร้องต้องให้เจ้าหนี้ถอนฟ้องจากศาล เพราะไม่เช่นนั้นเรื่องจะค้างอยู่ที่ศาล โดยนัดกันไปที่ศาลและทำคำร้องเพื่อขอถอนฟ้อง ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด แต่ต้องให้เจ้าหนี้ไปด้วยในฐานะผู้ฟ้อง (โจทก์)  ผู้ร้องจะไปขอถอนคนเดียวไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 วิธีรับมือกับการทวงหนี้

        เจษเป็นหนี้บัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวนเงินประมาณ 70,000 บาท ต่อมาเขาผิดนัดชำระ เพราะมีปัญหาทางด้านการเงินไม่สามารถหมุนเงินเพื่อมาชำระหนี้ได้ ตอนนี้เขาผิดนัดมาประมาณ 2-3 งวด แต่ว่าตอนนี้มีบริษัท บริหารทรัพย์สิน เจ จำกัด ซึ่งรับซื้อหนี้มาจากธนาคารไทยพาณิชย์ได้โทรมาหาเขา และเรียกให้เขาชำระหนี้ พอเขาบอกว่าไม่มีชำระก็เริ่มพูดจาไม่ดี บอกว่าถ้าไม่ชำระจะไปเข้าหาผู้อำนวยการหรือผู้จัดการของเขาที่บริษัท ให้ทราบว่าไม่ควรมีพนักงานที่คิดโกงเจ้าหนี้ ซึ่งเขาคิดว่ามันไม่ถูกต้องถ้าทวงหนี้ไม่ได้เจ้าหนี้ควรจะฟ้องศาลจะถูกต้องกว่า เขาจึงขอคำปรึกษาว่า จะมีทางไหนที่จะร้องเรียนหน่วยงานที่เอาเปรียบประชาชนเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ปัจจุบันมีกฎหมายทวงหนี้คือ พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ออกมาใช้บังคับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้มีการทวงหนี้โดยละเมิดสิทธิของลูกหนี้ เช่น พูดจาหยาบคาย ดุด่า หรือนำความลับของลูกหนี้ไปบอกกับบุคคลที่ 3  ซึ่งถือเป็นการผิดกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาท หรือประจาน มีโทษขั้นต่ำคือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         เพราะฉะนั้นถ้าผู้ร้องหรือลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้เข้ามาทวงถามหนี้แบบผิดกฎหมาย ผู้ร้องสามารถแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ ซึ่งผู้ร้องจะต้องรวบรวมหลักฐานการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคลิปเสียงที่เจ้าหนี้โทรศัพท์เข้ามาด่า หรือพูดจาหยาบคาย จดหมายที่เขียนมาข่มขู่ ตลอดจนหลักฐานอื่นๆ ที่เกิี่ยวข้อง นำไปแจ้งความในคดีอาญาเพื่อให้ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย นอกจากแจ้งความที่สถานีตำรวจแล้วผู้ร้องยังสามารถแจ้งได้ที่ กรมการปกครอง สำนักงานคณะกรรมการทวงหนี้ประจำจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ กองบัญชการตำรวจนครบาลอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 240 ด่วนค่ะ หนูจะถูกยึดบ้านไหม

        กริ้ง กริ้ง กริ้ง เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ณ สำนักงานมูลนิธิฯ “สวัสดีค่ะพี่ หนูมีเรื่องอยากปรึกษาค่ะ” ผู้ร้อง “พี่ค่ะ พอดีว่าหนูเป็นหนี้บัครเครดิต... ประมาณ พี่ขา บ้านหนูจะถูกยึดไหมค่ะ เป็นหนี้เขา120,000 บาท แล้วหนูผิดนัดชำระหนี้เพราะหนูตกงานและหมุนเงินไม่ทัน” เมื่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ สอบถามว่าอยู่ในขั้นตอนใด ถูกฟ้องหรือยัง ผู้ร้องตอบเสียงสั่นๆ ว่า “ถูกฟ้องแล้วค่ะ บริษัทบัตรเครดิตฟ้องหนูที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2561 โน้นค่ะ วันที่เขานัดหนูก็ไปศาลมาค่ะ หนูทำสัญญาประนอมหนี้กับบริษัทบัตรเครดิตที่เป็นเจ้าหนี้หนูว่า หนูจะชำระหนี้เดือนละ 3,000 บาท แต่ช่วงปีที่ผ่านมาหนูก็ไม่มีรายได้ค่ะ หนูเลยไม่สามารถผ่อนเขาได้ตามที่ตกลงไว้ ตอนนี้บริษัทเขาก็ตั้งเรื่องบังคับคดี เพื่อจะยึดทรัพย์หนูค่ะ หนูต้องทำยังไงดีค่ะพี่”          “ผู้ร้องมีทรัพย์สินอะไรบ้างไหม เช่น บ้าน รถ ที่ดิน เงินฝาก”         “หนูมีบ้านพร้อมที่ดินหนึ่งหลังค่ะ แต่เป็นชื่อร่วมหนูกับน้องชาย”         “ใจเย็นๆ ครับ ผู้ร้องสามารถเลือกจัดการปัญหาได้ 3 ทาง อย่างนี้นะครับ”   แนวทางการแก้ไขปัญหา         ช่องทางแรก ถ้าผู้ร้องไม่ต้องการให้บ้านของผู้ร้องถูกบังคับคดี ผู้ร้องจะต้องติดต่อกับเจ้าหนี้โดยด่วน เพื่อผ่อนชำระหนี้ โดยผู้ร้องต้องมีตัวเลขอยู่ในใจแล้วว่าจะตกลงกับเจ้าหนี้ที่ตัวเลขเท่าไร เพราะถ้าประนอมหนี้ได้ก็จะต้องชำระให้ครบทุกงวดผิดนัดแม้แต่งวดเดียวไม่ได้         ช่องทางที่สอง ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมตกลงด้วย ก่อนที่จะบังคับคดีผู้ร้องสามารถติดต่อที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยของกรมบังคับคดีเพื่อประนอมหนี้ได้อีกครั้งในขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะบังคับคดี โดยทางกรมบังคับคดีจะเรียกเจ้าหนี้และผู้ร้องเข้ามาคุยกันอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าสามารถตกลงกันได้และตราบใดที่ยังคงชำระหนี้อย่างต่อเนื่องก็จะไม่มีการบังคับคดีเกิดขึ้น แต่ถ้าเรียกแล้วเจ้าหนี้ไม่มา กรมบังคับคดีก็ไม่สามารถบังคับเจ้าหนี้ได้ เพราะฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้เป็นหลัก ว่าจะเห็นใจผู้ร้องหรือไม่         ช่องทางที่สาม ถ้าไม่สามารถประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้ หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมให้ผ่อนชำระอีก ซึ่งส่วนมากเจ้าหนี้จะให้ปิดด้วยเงินก้อนเดียวโดยอาจยอมลดยอดหนี้ลงมา ผู้ร้องก็ต้องดูว่าสามารถรวบรวมเงินจากพี่น้องหรือญาติคนไหนได้บ้างเพื่อนำมาปิดบัญชีนี้ไว้ก่อน  แล้วค่อยหาทางชำระหนี้กับผู้ที่หยิบยืมมาในภายหลัง         ถ้าทั้งสามช่องทางข้างต้นผู้ร้องไม่สามารถทำได้ และยังต้องการบ้านไว้ ผู้ร้องก็อาจจะต้องหาคนเข้ามาช้อนซื้อทรัพย์ที่จะขายทอดตลาดเอาไว้ก่อนเพื่อไม่ให้บ้านตกเป็นของผู้อื่นและบ้านที่จะขายจะได้มีราคาไม่ต่ำมากจนเกินไปและอาจเพียงพอที่จะชำระหนี้         ในส่วนบ้านของผู้ร้องที่จะถูกบังคับคดีเป็นชื่อของผู้ร้องและน้องชาย ซึ่งถือเป็นกรรมสิทธิร่วม เพราะฉะนั้นก่อนมีการขายทอดตลาดผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอกันส่วนเอาไว้ให้กับน้องชาย เพราะถ้าไม่กันส่วนไว้ เมื่อขายทอดตลาดแล้วน้องชายจะไม่ได้เงินในส่วนของเขา เจ้าหนี้ก็จะนำไปชำระหนี้หมด แต่ถ้ามีการกันส่วนไว้ เมื่อขายทอดตลาดได้เงินแล้วเงินจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ในส่วนของผู้ร้องก็จะนำมาชำระหนี้บัตรเครดิต (ถ้าเหลือก็ต้องคืนให้กับผู้ร้อง ถ้าไม่พอก็ต้องก็ต้องยึดทรัพย์สินอื่นอีก) อีกส่วนหนึ่งก็จะกันไว้ให้กับน้องชายของผู้ร้องไม่นำมาชำระหนี้เพราะไม่ได้เป็นหนี้บัตรเครดิตกับผู้ร้องด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 ธนาคารหักเงินในบัญชีเพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด

        หลายคนเคยเป็นหนี้บัตรเครดิต การชำระคืนอาจจะจ่ายขั้นต่ำบ้าง จ่ายมากกว่าขั้นต่ำบ้าง จ่ายเต็มจำนวนบ้างซึ่งแล้วแต่สถานการณ์การเงินช่วงนั้น แต่กรณีไม่จ่ายเต็มแน่นอนว่าต้องเสียดอกเบี้ยไปตามระยะเวลาและเงื่อนไขของบัตรเครดิต อย่างไรก็ตามบางครั้งเกิดกรณีรู้สึกว่า ทำไมธนาคารเอาเปรียบเราแบบไม่มีเหตุผล การขัดขืนและใช้สิทธิเพื่อต่อสู้ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ         ภูผา นำสมุดบัญชีธนาคารของตนเองไปปรับยอดบัญชีทุกเดือน แต่ล่าสุดเมื่อเขานำสมุดไปปรับยอดแล้วพบว่าเงินหายจากบัญชีไปประมาณ 4,000 บาท เขาจึงรีบไปสอบถามธนาคารว่า เงินเขาหายไปไหน 4,000 บาท ทั้งที่เขาไม่ได้เบิกเงิน ธนาคารบอกว่า เขาเป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่ประมาณ 40,000 บาท ธนาคารจึงหักเงินฝากของเขาชำระหนี้ของธนาคาร เขาไม่แน่ใจว่าธนาคารสามารถหักเงินในบัญชีของเขาได้จริงเหรอ จึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อขอคำแนะนำ แนวทางการแก้ไขปัญหา        กรณีของคุณภูผา เมื่อทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำให้เขาทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรสอบถามไปยังธนาคารว่าเงินในบัญชีหายไปไหน เมื่อธนาคารตอบกลับมาเป็นหนังสือจึงทำให้ทราบว่า ปัจจุบันหนี้ของคุณภูผาถึงกำหนดชำระแล้ว ธนาคารจึงอาศัยอำนาจตามกฎหมายและข้อตกลงเงื่อนไขการใช้บัตรเพื่อใช้หักกลบลบหนี้กับบัญชีเงินฝากของเขา จำนวนเงิน 4,000 บาท (สงสัยกันใช่ไหมว่า ข้อตกลงเงื่อนไขการใช้บัตรเพื่อใช้หักกลบลบหนี้กับบัญชีเงินฝาก เราไปตกลงกับเขาตั้งแต่เมื่อไหร่ เรื่องที่หลายคนอาจไม่รู้คือ เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเราได้เซ็นเอกสารการขอใช้บริการบัตรเครดิต ข้อตกลงพวกนี้จะแทรกอยู่ในเอกสารต่างๆ ที่ธนาคารส่งให้เราเซ็นลายมือชื่อ)         คุณภูผาให้ข้อมูลว่า เขาเป็นหนี้บัตรเครดิตประมาณ 40,000 บาทจริง แต่เป็นปัญหาที่ยังค้างคากันในชั้นศาล เนื่องจากตอนที่เขาใช้บัตรเครดิตนั้น เขาจ่ายเงินชำระหนี้แบบมากกว่าขั้นต่ำแต่ไม่เต็มจำนวน และในช่วงเวลาที่บัตรเครดิตของเขาใกล้หมดอายุ ธนาคารไม่ได้ส่งบัตรใหม่มาให้ แต่มีพนักงานธนาคารโทรศัพท์มาบอกให้ชำระหนี้ทั้งหมดแทน  เขารู้สึกเหมือนว่าธนาคารไม่ไว้ใจให้เขาใช้บัตรเครดิตของธนาคารอีกหรือไม่ จึงไม่ส่งบัตรใหม่ให้และเรียกให้คืนเงินทั้งหมด เมื่อลองเจรจาว่าขอผ่อนชำระอย่างเดิมได้ไหม พนักงานบอกเขาว่าไม่สามารถผ่อนได้ต้องชำระเต็มจำนวนเท่านั้น เขาจึงกลายเป็นลูกหนี้ของธนาคาร ทั้งที่เขาก็สามารถผ่อนจ่ายบัตรเครดิตตรงงวดมาโดยตลอดไม่ใช่ว่าไม่เคยจ่ายจนเสียเครดิต  ตรงนี้เขาก็ไม่เข้าใจธนาคารเหมือนกันว่า ทำไมถึงทำกับเขาแบบนี้        จากนั้นเมื่อเขาได้สอบถามถึงเรื่องคะแนนสะสมในบัตรเครดิต ซึ่งบัตรนี้มีคะแนนอยู่ในบัตร 10,000 กว่าคะแนน ธนาคารตัดบัตรเขาอย่างนี้แล้วคะแนนในบัตรที่เขาสะสมไว้จะทำอย่างไร ส่วนนี้ธนาคารไม่มีคำตอบให้กับเขา เขาจึงไม่ต้องการจ่ายเงินให้ธนาคารจนกว่าจะได้คำตอบ เมื่อธนาคารทวงถามหนี้อยู่เรื่อยๆ และยืนยันว่าต้องชำระเต็มจำนวนไม่เช่นนั้นธนาคารจะฟ้องร้องดำเนินคดี เขาก็ตัดสินใจว่าคงต้องใช้วิธีสู้กันในศาล สุดท้ายจึงเป็นคดีกันในท้ายที่สุด         ณ เวลานั้น คุณภูผาไปขึ้นศาลต่อสู้คดีตามกฎหมาย ในชั้นศาล ทนายของธนาคารซึ่งเป็นทั้งทนายและผู้รับมอบอำนาจช่วงของธนาคาร ได้เจรจาและทำข้อตกลงกับคุณภูผาว่า ให้เขาชำระหนี้จำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยภายในเดือนนี้(เดือนที่มีการเจรจากันในชั้นศาล) ถ้าชำระเรียบร้อยนัดหน้าทนายจะมาถอนฟ้อง ซึ่งศาลก็บันทึกในรายการกระบวนพิจารณาคดีพร้อมลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายและนัดหมายครั้งถัดไป หลังกลับจากศาลเขาก็นำเงินไปชำระกับธนาคารตามข้อตกลงแต่พนักงานธนาคารบอกว่า เขาไม่สามารถชำระได้ต้องชำระยอดเต็มเท่านั้น(ยอดเต็มคือ 40,000 บาท) เขาพยายามอธิบายว่าเขาได้ไปขึ้นศาลและตกลงกับผู้รับมอบอำนาจของธนาคารแล้ว แต่ธนาคารก็ยืนยันว่ารับชำระหนี้ยอด 20,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ตามที่ตกลงกับผู้รับมอบอำนาจไม่ได้ ต้องชำระตามยอดเต็มตามฟ้องเท่านั้น         คุณภูผาได้รับคำแนะนำจากนักกฎหมายว่า ให้นำเงินที่ต้องชำระ(ตามข้อตกลง) จำนวน 21,000 บาทไปทำเรื่องขอวางเงินไว้ที่ศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ต่อมาเมื่อถึงวันที่ศาลนัดหมาย คุณภูผาถามทนายซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากธนาคารว่า เขาไปชำระหนี้ตามที่ตกลงกันแล้ว แต่ไม่สามารถทำได้ ทนายความกลับบอกเขาว่า ผมไม่มีอำนาจตัดสินใจ จะขอนำเรื่องลดยอดหนี้ไปปรึกษากับธนาคารว่าจะลดให้เขาได้มากน้อยเพียงใด เขาก็สงสัยว่าในเมื่อทนายความเป็นผู้รับมอบอำนาจก็ต้องถือว่าเป็นตัวแทนของธนาคารแล้ว เมื่อผู้รับมอบอำนาจทำข้อตกลงก็ต้องผูกพันถึงธนาคารด้วยในฐานะตัวแทน ทำไมมาให้เหตุผลย้อนแย้งอีก หลังจากนั้นก็มีการนัดมาศาลอีกหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะทนายความยืนยันให้เขาชำระเงินตามยอดที่ฟ้องมาให้ได้ สุดท้ายศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ภูผาชำระหนี้จำนวน 40,000 กว่าบาท ตามที่ธนาคารฟ้องมา คุณภูผาก็งงไปว่า การตกลงของเขากับทนายความที่รับมอบอำนาจและศาลก็บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาคดี ซึ่งทั้งเขาและทนายก็เซ็นชื่อยอมรับข้อตกลงนี้ด้วยแล้ว ทำไมศาลถึงพิพากษาให้เขาต้องชำระหนี้จำนวนเต็มตามที่ฟ้องอีก         เมื่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นออกมาแบบนั้น คุณภูผาก็ขอสู้ต่อในชั้นอุทธรณ์เพื่อให้คลายสงสัยว่า ข้อตกลงในรายงานกระบวนพิจารณาที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับและลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานไม่สามารถใช้บังคับได้จริงหรือ        แต่ในขณะที่รอคำตัดสินในชั้นศาลอุทธรณ์ธนาคารกลับมาหักเงินจากบัญชีของเขาไปก่อน ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงทำหนังสือให้ธนาคารยุติการหักเงินและคืนเงินให้แก่คุณภูผาก่อน เพราะถือว่าคดีความยังไม่สิ้นสุด         ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คุณภูผาชำระหนี้เพียง 21,000 บาท ตามข้อตกลงในรายงานกระบวนพิจารณา เพราะถือว่าข้อตกลงในรายการกระบวนพิจารณาเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันตามกฎหมาย         ดังนั้นแล้ว ธนาคารจะใช้สิทธิในการหักเงินจากบัญชีธนาคารเพื่อนำเงินไปใช้หนี้จำนวน 40,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยไม่ได้ ธนาคารต้องรับยอดหนี้ที่คุณภูผาฝากไว้ที่ศาล 21,000 บาทไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ต่อมาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิทราบว่า ธนาคารได้จัดการคืนเงินที่หักจากบัญชีธนาคารคืนกลับให้แก่คุณภูผาแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ‘การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ’ ว่าแต่ต้องทำยังไงล่ะ? (1)

        ตอนที่แล้วเราคุยกันเรื่อง ‘หนี้’ พร้อมกับแยกหนี้ดีและหนี้เสียให้เห็น แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่คนมีหนี้สินส่วนใหญ่อยากรู้มากที่สุดน่าจะเป็นว่า         “แล้วฉันจะปลดหนี้ได้ยังไง?”         นี่เป็นคำถามคลาสสิกกันเลยทีเดียว ถึงกับมีหนังสือที่ว่าด้วยการปลดหนี้โดยเฉพาะ ลองมาดูกันก่อนว่าคนไทยแบกหนี้กันหนักแค่ไหน ผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อปีที่แล้ว พบว่าคนไทยมีหนี้ครัวเรือน 340,053 บาท ต่อ 1 ครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบประมาณร้อยละ 59.2 ต้องจ่ายหนี้ 16,960 บาทต่อเดือน กับหนี้นอกระบบอีกร้อยละ 40.8 ส่วนนี้ต้องจ่ายหนี้ต่อเดือน 5,222 บาท             ผลสำรวจนี้ยังแบ่งตามอาชีพด้วย ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานเอกชน เจ้าของกิจการ แรงงานรับจ้างรายวัน และเกษตรกร ใน 5 อาชีพนี้มี 2 อาชีพที่มีแหล่งหนี้เหมือนกันเป๊ะ แค่สลับตำแหน่งความมากน้อยของหนี้         เฉลย-ข้าราชการและพนักงานเอกชนเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ และหนี้บัตรเครดิต แต่สาเหตุการเกิดหนี้ของข้าราชการเรียงลำดับจากบ้าน รถ และบัตรเครดิต ส่วนพนักงานเอกชนจะเป็นรถ บัตรเครดิต และบ้าน ขณะที่ 3 อาชีพที่เหลือหนี้บัตรเครดิตไม่ติด 3 อันดับแรก ตรงนี้ก็น่าสนใจว่าเป็นเพราะอะไร         กลับมาสู่คำถามที่ว่า “แล้วฉันจะปลดหนี้ได้ยังไง?”         สิ่งแรกที่ต้องทำเลยคือการ ‘หยุดก่อหนี้เพิ่ม’ ทั้งหนี้ดี-หนี้ไม่ดี เอาล่ะๆ หนี้บ้าน หนี้รถ ซึ่งเป็นหนี้ผ่อนกันยาว ก่อแล้วใช่ว่าจะหยุดง่ายๆ ตรงนี้ละเอาไว้ อาจจะฟังดูยวนยีไปหน่อย แต่ลองคิดดูว่าคุณจะปลดหนี้สินได้ยังไง ถ้าจ่ายหนี้ทุกเดือนและยังก่อหนี้ใหม่ทุกเดือน สิ่งที่ต้องจำให้ขึ้นใจเลย ‘อย่าสร้างหนี้ใหม่เพื่อเอาไปโปะหนี้เก่า’ แบบนี้ยิ่งหนัก เพราะจะทำให้เงื่อนหนี้ที่รัดคอคุณอยู่ ยิ่งรัดหนักขึ้นและแก้ยากขึ้น         คงเคยได้ยิน คนที่มีบัตรเครดิตหลายใบ รูดปื๊ดๆ เพลินๆ ไป จนผ่อนไม่ไหว ต้องกดเงินสดจากบัตรใบหนึ่งมาจ่ายหนี้บัตรอีกใบ สุดท้ายก็พัง         มีคำแนะนำชนิดหักดิบว่า หักบัตรเครดิตทิ้ง เป็นวิธีการที่ดุดันอยู่ แต่ก็ไม่ค่อยอยากแนะนำ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่บัตรเครดิต ลองนึกดู ในสถานการณ์ที่ ‘จำเป็น’ ต้องใช้เงิน แล้วคุณมีเงินสดไม่พอหรือมีเงินออมฉุกเฉินอยู่ในรูปของกองทุนตราสารเงิน ซึ่งการจะได้เงินสดกลับคืนมาต้องใช้เวลา 1 วันหรือ 2 วัน ถ้าคุณสั่งขายหน่วยลงทุนหลัง 15.00 น. บัตรเครดิตจะเป็นตัวช่วยที่ดี         อย่าลืม! ต้องแยกให้ออกว่าอะไร ‘จำเป็น’ และ ‘ไม่จำเป็น’         ดังนั้น ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่บัตรเครดิต หากอยู่ที่วิธีและวินัยในการใช้บัตรเครดิตต่างหาก         ส่วนว่าจะแก้วิธีและวินัยอย่างไร ตอบยากมาก เพราะมันเป็นเรื่องของวิธีคิดและพฤติกรรมของแต่ละบุคคล         กลับมาเรื่องแก้หนี้ ซึ่งยังไม่จบ เพราะแค่ข้อแรกเอง มันยังมีขั้นตอนและรายละเอียดอื่นๆ อีกพอสมควร แต่พื้นที่จบแล้ว คงต้องไปต่อกันตอนหน้า และอย่างที่บอกเสมอ เรื่องการเงินส่วนบุคคลไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลไปเสียหมด เรื่องหนี้ก็ไม่ต่างกัน แนวทาง นโยบาย และการบริหารของรัฐเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออกเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 อยู่ๆ ก็มีคนเอาบัตรเครดิตไปใช้

        ภูผา หนุ่มผู้ชอบสะสมบัตรเครดิตเป็นชีวิตจิตใจ จนต้องมีกระเป๋าสำหรับใส่บัตรเครดิตโดยเฉพาะ ด้วยความที่รู้ตัวดีว่าตัวเองเป็นคนขี้กังวล เขาจึงใช้บัตรเครดิตด้วยความระมัดระวังตลอด แต่แล้ววันหนึ่งขณะเขานั่งทำงานอยู่ก็ได้รับข้อความว่า มีการใช้บัตรเครดิตของธนาคาร B ของเขา จ่ายค่าที่พักที่ประเทศเกาหลี เป็นเงินวอน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 19,000 บาท เขาตกใจเป็นอย่างมาก เพราะว่าเขาไม่เคยไปประเทศเกาหลีเลย และจะมีการใช้บัตรได้อย่างไร แล้วบัตรเครดิตใบนี้ก็ยังอยู่ที่เขาขณะได้รับข้อความ         หลังจากตั้งสติได้เขารีบโทรศัพท์ไปยังคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารเจ้าของบัตร ว่ามีการขโมยข้อมูลใช้บัตรเครดิต ขอให้ธนาคารอายัดบัตรเครดิตใบดังกล่าว เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะดำเนินการอายัดบัตรให้ หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์เขาได้รับใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตโดยมียอดที่เขาไม่ได้ใช้ คือยอดเงินที่เขาถูกขโมยใช้ข้อมูลบัตรเครดิตที่ได้โทรศัพท์ไปแจ้งคอลเซ็นเตอร์แล้วประมาณ 19,000 บาท         ด้วยความไม่สบายใจว่าตนเองไม่ได้ใช้เงินดังกล่าวและสงสัยว่าเขาได้โทรศัพท์ไปแจ้งธนาคารเจ้าของบัตรแล้ว ทำไมยังมีใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินดังกล่าวมาอีก เขาจึงโทรศัพท์ไปตามเรื่องที่คอลเซ็นเตอร์ธนาคารเจ้าของบัตรอีกครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่แนะนำให้เขาเข้าไปติดต่อธนาคารเพื่อกรอกแบบฟอร์มปฏิเสธการจ่ายเงินยอดดังกล่าว เขาไม่แน่ใจว่าการธนาคารจะดำเนินเรื่องให้เขาหรือไม่ เพราะว่าก่อนหน้านี้เขาโทรไปแจ้งเจ้าหน้าที่แล้ว แต่ก็ยังมีใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินมายังเขาอีก เขาจึงร้องเรียนมายังมูลนิธิ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า ผู้ร้องได้ทักท้วงไปยังธนาคารเจ้าของบัตรแล้วว่าไม่ได้เป็นผู้ใช้บัตรเครดิต เป็นการถูกขโมยข้อมูลบัตรเครดิต ธนาคารต้องระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้ร้อง เว้นแต่ธนาคารเจ้าของบัตรจะพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ใช้บัตร ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2542 ข้อ 3 (7) (ก)         เนื่องจากผู้ร้องมีการจัดการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยการโทรศัพท์อายัดบัตรเครดิตที่คอลเซ็นเตอร์ของธนาคารเจ้าของบัตรแล้ว ผู้ร้องสามารถดำเนินการเพิ่มเติมได้ดังนี้         1. ผู้ร้องแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจเพื่อเป็นหลักฐาน โดยแจ้งรายละเอียดว่าบัตรเครดิตถูกขโมยข้อมูลอย่างไร เหตุเกิดเมื่อไร ฯลฯ         2. ผู้ร้องทำหนังสือปฏิเสธรายการเรียกเก็บเงินที่ผู้ร้องไม่ได้ใช้ และแนบสำเนาใบลงบันทึกประจำวัน ส่งไปยังธนาคารเจ้าของบัตร ณ สำนักงานใหญ่ โดยส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ถึง ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ ตำแหน่งอื่นๆ ที่เทียบเท่า         3. ผู้ร้องชำระหนี้บัตรเครดิตตามรายการที่ได้ใช้จ่ายจริง ยกเว้นหนี้ที่เกิดจากถูกขโมยใช้ข้อมูลบัตรเครดิตจำนวน 19,000 บาท          4. ทุกครั้งที่ธนาคารแจ้งให้ชำระหนี้รายการที่ไม่ได้ใช้งานจริง ให้ทำผู้ร้องหนังสือแจ้งปฏิเสธรายการที่ไม่ได้ใช้ทุกครั้ง         หลังจากผู้ร้องทำหนังสือปฏิเสธรายการเรียกเก็บเงินที่ผู้ร้องไม่ได้ใช้ประมาณ 2 วัน ผู้ร้องได้รับ SMS จากธนาคารว่าจะดำเนินการให้ หลังจากนั้นผู้ร้องได้รับจดหมายแจ้งปลดยอดวงเงินในบัตร และได้รับบัตรเครดิตใบใหม่        “การติดต่อขอปฏิเสธการจ่ายเงิน ควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรทุกครั้ง เพื่อเป็นหลักฐาน การติดต่อด้วยวาจาอาจจะไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้”

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 227 คดีบัตรเครดิต คนใช้บัตรหลักก่อหนี้คนเดียว คนใช้บัตรเสริมต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่?

        สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านครับฉบับนี้ เรามาพูดถึงเรื่องที่หลายท่านเคยเจอหรืออาจเจอสักวัน คือการเป็นหนี้บัตรเครดิต บางคนมีบัตรหลายใบ บางคนทำบัตรเครดิตทั้งบัตรหลักและบัตรเสริม จึงมีคนสงสัยว่า กรณีเราเป็นคนใช้บัตรเสริม เกิดวันหนึ่งคนใช้บัตรหลักไปสร้างหนี้ไว้ เราจะถูกฟ้องให้รับผิดแบบลูกหนี้ร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อคลายข้อสงสัยนี้ จึงขอหยิบยกคดีตัวอย่างสักเรื่องซึ่งศาลฏีกาได้เคยตัดสินไว้ และเป็นสิ่งที่น่ายินดีกับลูกหนี้บัตรเสริมซึ่งไม่ต้องรับผิด เนื่องจากในคดีนี้ศาลฏีกาเห็นว่าผู้ใช้บัตรหลักเป็นคนไปก่อหนี้เพียงคนเดียวโดยตรง ดังนั้นผู้ใช้บัตรเสริมจึงไม่ต้องผูกพันร่วมรับผิดด้วย         คำพิพากษาฎีกาที่  2765/2560         การทำบัตรเครดิตหลักและบัตรเครดิตเสริมนั้น โจทก์มุ่งหมายให้ผู้ใช้บัตรเครดิตหลัก ซึ่งเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือกว่าผู้ใช้บัตรเครดิตเสริมเป็นลูกหนี้หลัก ทั้งตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ระบุชัดให้ผู้ถือบัตรหลักจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด ย่อมเห็นได้ถึงเจตนาในการทำสัญญาของโจทก์ว่า โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเครดิตหลักเป็นผู้รับผิดชอบต่อหนี้สินทั้งหมดของจำเลยที่ 1 เองและของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเสริม         แม้ในใบสมัครบัตรเสริมมีข้อความกำหนดให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม ก็ไม่ถือว่าผูกพันจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นข้อสัญญาไม่ธรรมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บริโภค ประกอบกับจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวเป็นผู้ใช้บัตรเครดิตหลักในการก่อหนี้โดยตรงกับโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องผูกพันร่วมกับกับหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระต่อโจทก์         จากคำพิพากษานี้ เราจะเห็นสิ่งที่น่าสนใจหลายเรื่องนะครับ ตั้งแต่ข้อสัญญาในใบสมัครบัตรเสริมที่ระบุให้ผู้ใช้บัตรเสริมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม อันนี้ศาลก็เห็นว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงใช้บังคับไม่ได้ อีกประเด็นคือคนก่อหนี้คือคนใช้บัตรหลักผู้เดียว และตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 ก็กำหนดไว้แล้วว่าผู้ใช้บัตรหลักต้องรับผิดในหนี้อันเกิดจากบัตรเสริมทั้งหมด  เช่นนี้ ใครเป็นคนใช้บัตรหลักก็ต้องระวัง และพิจารณาให้ดีว่าควรให้ใครใช้บัตรเสริม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 การจ่ายเงินออนไลน์ ด้วยบัตรเครดิตหรือการชำระเงินด้วยวิธีการอื่นๆ ต้องไม่มีค่าธรรมเนียม

หลายครั้งที่ เราทำธุรกรรมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการจองตั๋วเครื่องบิน จองรถเช่า จองห้อง หรือสั่งซื้อสินค้า มักจะพบเรื่องที่สร้างความหงุดหงิดใจให้กับผู้บริโภค คือการคิดค่าธรรมเนียมการจ่ายเงินเพิ่ม หากเราต้องจ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือจำกัดวิธีการในการจ่ายเงิน เช่น ต้องจ่ายผ่านระบบ Paypal เท่านั้นในกรณีใกล้เคียงกันนี้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี ได้ฟ้องบริษัท Opodo Ltd. ซึ่งมีการจดทะเบียนที่ตั้งในกรุงลอนดอนคดีดังกล่าวศาลพิพากษาให้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ชนะคดี โดยให้เหตุผลว่า“ผู้บริโภคในประเทศสมาชิกอียู ต้องไม่ถูกคิดค่าธรรมเนียมในการจ่ายเงิน ผ่านบัตรเครดิต ผ่านระบบ Giropay หรือการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร เนื่องจากการคิดค่าธรรมเนียมจะทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินมีราคาเพิ่มขึ้นมากถึง 40 ยูโร”         คดีนี้เกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภค จองตั๋วเครื่องบินไปกลับจาก เบอร์ลินถึงสนามบิน เมือง Olbia ประเทศอิตาลี จากการสืบค้นหาตั๋วเครื่องบินผ่านเวบไซต์ Opodo ราคาตั๋วเครื่องบินจะมีราคา 239.98 ยูโร ซึ่งถูกที่สุดตามที่เวบไซต์ได้แจ้งแก่ผู้บริโภค แต่ปรากฏว่าหลังจากดำเนินการจองตั๋วและจะจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต ปรากฏว่ามีค่าธรรมเนียมจากการจ่ายด้วยบัตรเครดิต เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 282.78 ยูโร เพิ่มขึ้นกว่าก่อนทำการจอง ถึง 40 ยูโร (ประมาณ 1600 บาท) ซึ่งเป็นการละเมิด บทบัญญัติ ของ European Payment Services Directive (PSD2) ฉบับปรับปรุง ซึ่งบทบัญญัตินี้ ใช้บังคับมาตั้งแต่ ปี 2018 ซึ่งใช้บังคับกับบริษัทที่ทำธุรกรรมในประเทศเยอรมนี บทบัญญัตินี้ระบุว่า ห้ามไม่ให้บริษัทคิดค่าธรรมเนียมในการชำระเงินผ่านระบบบัตรเครดิตและบัตรเดบิต(SEPA: Single Euro Payment Area) เนื่องจากการจ่ายเงินด้วยวิธีการ ดังกล่าวยังจัดอยู่ในกลุ่มของ SEPA (หมายเหตุ คดีนี้ยังไม่สิ้นสุดอาจมีการอุทธรณ์จากฝั่งผู้ประกอบธุรกิจ)         ผมคาดหวังว่า การจ่ายเงินทำธุรกรรมด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ก็ไม่ควรที่จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม ซึ่งอาจต้องมีการศึกษาเพื่อหาความเป็นไปได้ในการทำให้แนวความคิดที่เป็นมิตร และไม่เอาเปรียบผู้บริโภคลักษณะนี้เป็นจริงขึ้นมาในประเทศไทย ที่มา Landgerichts Berlin vom 21.03.2019, Az. 52 O 243/18 – nicht rechtskräftighttps://www.vzbv.de/urteil/zahlung-mit-kreditkarte-oder-sofortueberweisung-muss-kostenlos-sein

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 217 เลิกสัญญาอบรมคอร์สซื้อขายหุ้น

        การลงทุนในตลาดซื้อขายหุ้นหรือที่เรียกกันว่า เทรด เป็นสิ่งที่คนส่วนหนึ่งในสังคมปัจจุบันให้ความสนใจ เพราะถ้าลงทุนได้ดีก็ถือเป็นการสร้างรายได้ที่ให้ผลตอบแทนสูง ดังนั้นหลายคนจึงสนใจที่จะเรียนรู้ทั้งจากการทดลองด้วยตัวเอง หรือสมัครเข้าคอร์สอบรมต่างๆ ที่มีการนำเสนอในหลากหลายช่องทาง อย่างไรก็ตามการเข้าคอร์สอบรมเป็นวิธีหนึ่งในการเรียนรู้ แต่ไม่ได้รับประกันว่า ผู้เข้าอบรมจะสามารถเทรดได้เก่งอย่างที่หวัง และหลายครั้งการลงทุนเข้าคอร์สอบรมก็ถูกเรียกเก็บเงินในระดับที่สูงมากจนน่าตกใจ ดังนั้นก่อนตัดสินใจทำสัญญาอบรมควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน        คุณมนันยา พบโฆษณาบนเฟซบุ๊คว่า มีงานสัมมนาฟรีของบริษัทหนึ่ง ซึ่งขอเรียกว่า บริษัทเอ็ม โดยมีหัวข้อที่ทำให้คุณมนันยาสนใจเข้าร่วมในงานสัมมนาดังกล่าว คือ “หุ้นเด็ดกำไร 10 เด้ง ด้วย OPTIONS” ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองหาดใหญ่ จึงไปเข้าร่วมอบรมฟรีในวันที่ระบุบนโฆษณา หลังจบงานสัมมนา ทางผู้จัดงานคือ บริษัทเอ็มมีการนำเสนอขายคอร์สอบรม โดยหากสมัครเป็นสมาชิกในราคาปีละ 79,000 บาท จะสามารถอบรมในวันรุ่งขึ้นของการสัมมนาฟรีในวันนั้นได้ ในราคาเพียง 750 บาท และพิเศษไปอีกสำหรับ 10 คนแรก จะได้ส่วนลดถึง 10,000 บาท จากราคา 79,000 จะเหลือเพียง 96,000 บาทเท่านั้น        คุณมนันยา ซึ่งยังอยากจะอบรมต่อในวันถัดไป เพราะเหมือนที่อบรมฟรีไปนั้นยังไม่ค่อยโดนเท่าไร จึงสอบถามกับพนักงานที่ขายคอร์สอบรม ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ราคา 69,000 บาทนี้ สามารถผ่อนชำระได้ 0% ในเวลา 10 เดือน การเป็นสมาชิกแบบรายปีจะทำให้ประหยัดเงินเมื่อต้องการเข้าร่วมคอร์สอบรมต่างๆ จากราคาปกติที่ 3,000 บาทต่อครั้ง จะเหลือเพียงราคาแค่ 750 บาทเท่านั้น คุณมนันยาในขณะนั้นกำลังสนใจราคาที่ลดพิเศษถึง 10,000 บาท จึงรีบสมัครสมาชิกรายปีทันทีเพราะเกรงว่าจะไม่ได้อยู่ใน 10 คนแรก โดยชำระผ่านบัตรเครดิตธนาคารกรุงไทย        ต่อมาวันรุ่งขึ้นที่คุณมนันยาสามารถใช้สิทธิราคาพิเศษ 750 บาทได้นั้น คุณมนันยาได้มีเวลาคิดทบทวนจนรอบคอบแล้วพบว่า การลงทุนครั้งนี้อาจไม่คุ้มค่า จึงติดต่อธนาคารกรุงไทยเพื่อบอกยกเลิกสัญญาอบรมและไม่ให้เรียกเก็บเงินจำนวน 69,000 บาท พร้อมทั้งส่งหนังสือถึงบริษัทเอ็มเพื่อยกเลิกสัญญาพร้อมขอเงินคืน อย่างไรก็ตามคุณมนันยาไม่มั่นใจว่า การทำเรื่องยกเลิกดังกล่าวจะได้ผลหรือไม่ จึงปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนวทางการแก้ไขปัญหา                ทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการดังนี้                1.แนะนำให้คุณมนันนยาทำหนังสือถึงบริษัทบัตรเครดิตเพื่อแจ้งการเลิกสัญญาซื้อคอร์สอบรม โดยจะชำระเฉพาะในส่วนที่ได้ใช้จ่ายไปจริงคือ การอบรมในวันที่ได้สิทธิพิเศษ แต่ไม่ชำระในส่วนที่ยกเลิกสัญญา คือ 69,000 บาท                2.เนื่องจากในการโฆษณาเรื่องการอบรม ทางบริษัทเอ็มให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคว่า เป็นบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน ดังนั้นทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงทำจดหมายถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) เพื่อตรวจสอบใบอนุญาตของบริษัทเอ็ม ว่าเป็นจริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่                ต่อมาได้รับแจ้งจาก กลต.ว่า บริษัทเอ็มไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจใดที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กลต. หากบริษัทเอ็มมีการประกอบธุรกิจที่มีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับความเหมาะสมในการซื้อขายสัญญา ซื้อขายล่วงหน้า จะถือว่าผิดกฎหมาย และจะมีการนำชื่อของบริษัทลงในรายการ investor alert list ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบ                3.ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เรื่องการเรียกเก็บเงินของธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต ทั้งที่มีจดหมายแจ้งบอกเรื่องยกเลิกสัญญาแล้ว                4.ประสานงานเรื่องการยกเลิกสัญญาและการขอเงินคืน ระหว่างผู้ร้องและบริษัทเอ็ม ในที่สุดสามารถช่วยผู้ร้องเรียนในการขอเงินคืนได้                การซื้อคอร์สอบรมใดๆ เพื่อนำไปใช้ในการเพิ่มความรู้เรื่องการลงทุน ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการลงทุน ว่าอาจทั้งได้ผลดีและไม่ดี ดังนั้นควรพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 กระแสต่างแดน

คิดก่อนทิ้ง                 ผู้สื่อข่าวรายการ Capital ทางช่อง M6 ของโทรทัศน์ฝรั่งเศส ปลอมตัวไปทำงานอยู่ที่ศูนย์กระจายสินค้าแห่งหนึ่งของอเมซอนที่เมืองซารอง แล้วแอบถ่ายคลิปพนักงานขณะกำลังโยนเครื่องทำกาแฟ ชุดของเล่นเลโก้ และผ้าอ้อมสำเร็จรูปยี่ห้อดัง ลงถัง            ภาพถ่ายจากโดรนที่ติดตาม “ขยะ” หลายพันชิ้นเหล่านี้ไป แสดงให้เห็นว่าพวกมันถูกส่งเข้าเตาเผาหรือไม่ก็ถูกฝังกลบ            บริษัทอ้างว่านี่เป็นสิ่งที่ทำได้ตามสัญญาที่ทำไว้กับผู้ค้าปลีกที่นำสินค้ามาวางขายบนเว็บอเมซอน เพราะมันมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการส่งกลับ นำไปบริจาค หรือรีไซเคิล            แน่นอนต้องมีเสียงก่นด่าจากนักสิ่งแวดล้อม แต่เสียงที่ใหญ่ที่สุดคือรัฐบาลฝรั่งเศสที่เตรียมออกกฎหมายห้ามการทิ้งสินค้าสภาพดี เพื่อกดดันให้ธุรกิจร้านค้าออนไลน์แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น            อเมซอน ยักษ์ค้าปลีกออนไลน์ ตกเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อถูกเปิดโปงว่านำสินค้าค้างสต็อก ซึ่งไม่ได้ชำรุดเสียหายแต่อย่างใด ไปทิ้งเสียดื้อๆใครต้องจ่าย?                สโมสรฟุตบอลทอตนัมฮอตสเปอร์เพิ่งจะสร้างสนามกีฬายิ่งใหญ่อลังการมูลค่า 850 ล้านปอนด์ (เกือบ35,500 ล้านบาท) ไว้เอาใจมิตรรักแฟนบอล                เนื่องจากสนามนี้ตั้งอยู่ในย่านที่ค่อนข้างเสื่อมโทรม สโมสรจึงเรียกร้องให้เทศบาลท้องถิ่นจัดการกับข้าวของที่กองเกะกะริมทาง รวมถึงดูแลเรื่องความสะอาด นอกจากนี้ยังขอให้ซ่อมแซมถนนที่แฟนบอลจะใช้เดินทางมายังสนาม (ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 500,000 ปอนด์) ด้วย                ชาวบ้านแถบนั้นบอกว่าเมื่อจบการแข่งขัน ก็เป็นหน้าที่ของสโมสรที่จะต้องเก็บกวาดอยู่แล้ว ทำไมจะต้องใช้งบของเทศบาลด้วย  เงินแค่ 8,000 ปอนด์ (330,000 บาท) ต่อครั้ง ไม่น่าจะระคายเคืองสโมสรที่มีกำไรถึงปีละ 58 ล้านปอนด์ ( 2,300 ล้านบาท)                และสิบปีที่ผ่านมาเทศบาลนี้ก็ถูกตัดงบมาตลอด ชาวบ้านตัดพ้อ... ทำไมสโมสรที่รวยเป็นอันดับ 11 ของอังกฤษถึงไม่ยอมรับรู้ปัญหาพวกเราบ้าง “ทำไมสเปอร์ไม่เซนซิทิฟ?”เห็นแล้วไม่กล้า                อีกไม่นานเราอาจได้เห็นมิเตอร์แสดงปริมาณการใช้พลังงานในห้องพักตามโรงแรมทั่วไป เพราะเขาพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่จะทำให้คนเราประหยัดได้ คือการได้เห็นว่ากำลัง “บริโภค” ไปมากแค่ไหนนั่นเอง                จากการติดตั้งสมาร์ตมิเตอร์ไว้ในห้องพักของโรงแรมหกแห่งในสวิตเซอร์แลนด์ และบันทึกผลการใช้พลังงานจากการอาบน้ำทั้งหมด 20,000 ครั้ง ผู้วิจัยพบว่าแขกที่พักในห้องที่มีสมาร์ตมิเตอร์นั้นใช้พลังงานน้อยกว่าแขกที่เข้าพักในห้องทั่วไปถึงร้อยละ 11.4                ทีมวิจัยซึ่งเผยแพร่งานนี้ในนิตยสาร Nature Energy ตั้งข้อสังเกตว่า คนเราใช้พลังงานอย่างประหยัดได้แม้จะไม่มีแรงจูงใจเรื่องเงิน และการรณรงค์ก่อนหน้านี้อาจไม่ได้ผลเพราะหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องเงินก็เป็นได้                ทั้งนี้เมื่อนำค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมิเตอร์มาหักลบกับค่าน้ำที่ประหยัดได้ ก็จะพบจุดคุ้มทุนภายในสองปีแจ้งก่อนหัก                เมื่อเราต้องการ “ทดลองใช้” บริการข้อมูลหรือแอปพลิเคชันใดๆ สิ่งที่ต้องทำคือการให้หมายเลขบัตรเครดิตกับผู้ประกอบการไว้ล่วงหน้า                ปัญหาคือหลังจากใช้ฟรีไปเพลินๆ สถานภาพเราอาจเปลี่ยนเป็น “ผู้ใช้แบบจ่ายเงิน” ที่ถูกหักเงินจากบัตรไปโดยไม่รู้ตัว หากเราไม่ต้องการใช้ต่อ ก็ต้องวุ่นวายติดต่อธนาคารเพื่อยกเลิกเองอีก                ถือเป็นข่าวดีที่บริษัทบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ดลุกขึ้นมาประกาศกฎเหล็กว่าต่อไปนี้ผู้ประกอบการที่รับ บัตรเครดิตของเขาจะต้องส่งอีเมลหรือข้อความสั้นแจ้งลูกค้าก่อนจะทำการหักเงิน                โดยจะต้องแจ้งราคา  วันชำระเงิน ชื่อผู้ประกอบการ รวมถึงเว็บไซต์และเบอร์โทรศัพท์ ที่ขาดไม่ได้คือต้องแจ้งช่องทางและวิธีการยกเลิกบริการให้ชัดเจนด้วย                โชคดีเป็นของเรา เมื่อการทดลองใช้ฟรีไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไปสแกนกู้โลก                  วันนี้เราสามารถตรวจสอบที่มาของอาหารที่เราเลือกบริโภคได้แล้ว ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบบล็อกเชน                กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ร่วมมือกับบริษัท BGC Digital Ventures จากออสเตรเลียจัดทำเว็บไซต์ OpenSC เพื่อให้ผู้บริโภค ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารต่างๆ ได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของอาหาร เช่น ปลานี้จับได้จากที่ไหน  พื้นที่นั้นจัดอยู่ในเขตการทำประมงอย่างยั่งยืนไหม สภาพการผลิตเป็นไปตามเกณฑ์ด้านแรงงานและการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรมหรือไม่                สมาร์ตโฟนที่เราถือกันอยู่สามารถตอบข้อสงสัยเหล่านี้ได้ เพียงเราสแกนคิวอาร์โค้ดบนตัวสินค้า หรือเมนูในร้านอาหาร ข้อมูลต่างๆ ก็จะปรากฏ                นอกจากจะดีต่อผู้บริโภคแล้วยังเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ดีและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนที่เกี่ยวข้องในการผลิตอาหารของเราด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 ฟ้องหนี้บัตรเครดิต

หนี้บัตรเครดิตกลายเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นกรณีร้องเรียนอันดับต้นๆ ของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ครั้งนี้เราขอนำเสนอกรณีศึกษาเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการฟ้องคดีหนี้มาเป็นข้อมูลสำหรับลูกหนี้ที่รักทุกท่าน             เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน คุณประนอมเกิดภาวะธุรกิจขาดทุน ทำให้การผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตกับธนาคารแห่งหนึ่งต้องหยุดชะงักลง เป็นจำนวนเงินที่ค้างชำระหนี้ 50,000 บาท และแม้ว่าจะได้เคยมีการเจรจากันไปครั้งหนึ่ง โดยธนาคารเจ้าของบัตรเสนอคุณประนอมให้จ่ายขั้นต่ำทุกเดือนอย่างน้อยเดือนละ 2,000 บาท แต่คุณประนอมต่อรองเป็น 1,000 บาท ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ยินยอมบอกว่าจำนวน 2,000 บาทนี้ถือว่าต่ำสุดแล้ว เรื่องจึงเป็นอันไม่คืบหน้าไปไหน หนี้ก็ยังเป็นหนี้ต่อไป             ต่อมา ธนาคารได้ส่งข้อความแจ้งว่า ได้ส่งเรื่องของคุณประนอมให้สำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่งไปแล้ว คุณประนอมต้องเจรจาทุกอย่างกับสนง.กฎหมายแห่งนั้นเอง ซึ่ง สนง.กฎหมายแห่งนั้นก็ติดตามทวงหนี้กับคุณประนอม อย่างไม่ประนีประนอมเท่าไร เมื่อปฏิเสธการจ่ายไป  สุดท้ายทาง สน.แห่งนั้น แจ้งว่าจะดำเนินการฟ้องคดีกับคุณประนอม จึงกลายมาเป็นเรื่องปรึกษาที่ว่า “ควรทำอย่างไรดี ขณะนี้ตนเองก็มีภาระบ้านซึ่งติดจำนองอยู่” แนวทางการแก้ไขปัญหา            เมื่อนำข้อมูลของคุณประนอมมาพิจารณาพบว่า การชำระหนี้ล่าสุดของคุณประนอมคือ พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี ทำให้เกิดข้อต่อสู้คดีได้ว่า กฎหมายกำหนดไว้ให้เจ้าหนี้สามารถฟ้องคดีได้ไม่เกินระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ครั้งสุดท้าย หากเกินกว่า 2 ปี ถือว่าขาดอายุความ            ดังนั้นหาก สนง.กฎหมายซึ่งรับซื้อหนี้จากธนาคารมา จะฟ้องคุณประนอมจริง คุณประนอมจะต้องหาทนายความเพื่อเขียนคำให้การต่อสู้ในเรื่อง อายุความ หากผู้ร้องไม่ให้การเรื่องนี้ จะถือว่าคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้นสมบูรณ์และสามารถชนะคดีจนบังคับคดีได้                กรณีที่หนี้ขาดอายุความ  ลูกหนี้ต้องสู้คดี  ศาลจึงจะสามารถนำมาพิจารณายกฟ้องได้   และหากศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง    หมายความว่าเจ้าหนี้จะฟ้องร้องอีกไม่ได้ จึงจะไม่มีผลทางบังคับคดีอีก              อย่างไรก็ตามเป็นหนี้ก็ควรชำระ ทั้งนี้เพื่อรักษาเครดิตไว้ ต่อไปจะได้สามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างคล่องตัว เมื่อคุณประนอมมีสถานะทางการเงินดีขึ้น ควรขอเจรจาเพื่อปิดหนี้จำนวนนี้โดยต่อรองเพื่อลดหนี้ลงมาให้อยู่ในกำลังที่สามารถทำได้จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 ถูกอายัดเงินเดือน เพราะเป็นหนี้บัตรเครดิต

หลายคนที่นิยมการซื้อก่อนแล้วค่อยจ่าย อาจทำให้เป็นหนี้ก้อนใหญ่โดยไม่รู้ตัวได้ แล้วตามมาด้วยปัญหามากมาย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณอมรเคยเป็นเจ้าของร้านหมูย่างเกาหลีที่ขายดีมากๆ แต่หลังพบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ไม่ค่อยมีลูกค้าเข้าร้าน เขาก็เริ่มขาดทุนติดต่อกันหลายเดือน ส่งผลให้หมุนเงินไม่ทันและต้องนำเงินจากบัตรเครดิตมาใช้จ่ายไปก่อน โดยเมื่อคุณอมรใช้จนหมดวงเงินและไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ทันกำหนด เขาก็เป็นหนี้ก้อนโตรวมแล้วเป็นเงินกว่า 1 แสนบาท ทำให้โดนบริษัทฟ้องและถูกบังคับคดีด้วยการอายัดเงินเดือน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตมาก เขาจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำปรึกษาเรื่องดังกล่าว แนวทางการแก้ไขปัญหา              ในกรณีนี้ผู้ร้องสงสัยว่า ทำไมเขาจึงถูกอายัดเงินเดือน ทั้งที่ๆ เงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท เพราะตามมาตรา 302 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 กันยายน 60 เป็นต้นมานั้น เจ้าหนี้จะอายัดเงินเดือนลูกหนี้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทไม่ได้ เพื่อให้ลูกหนี้มีเงินไว้ดำรงชีพ และเพื่อให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน              อย่างไรก็ตามการที่ผู้ร้องถูกอายัดเงินเดือนนั้น อาจเป็นไปได้ 2 กรณีคือ               1. เงินเดือนของผู้ร้องเกินกว่า 20,000 บาทจริง ซึ่งควรสอบถามทางฝ่ายการเงิน หรือฝ่ายบุคคลของบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ว่า นำเงินอื่นไปบวกเข้ากับฐานเงินเดือนหรือไม่ เช่น ค่าโอทีหรือค่าคอมมิชชั่น เพราะหากทางบริษัทส่งรวมกันไปทั้งหมด ทางกรมบังคับคดีก็ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นค่าอะไรบ้าง แต่หากสามารถแจกแจงรายละเอียดของเงินเดือนได้ ก็สามารถบอกทางบริษัทให้แจ้งกับกรมบังคับคดีใหม่อีกครั้ง หรือ              2. กรณีที่ผู้ร้องถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องก่อนกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ หรือก่อนวันที่ 4 กันยายน 60 ซึ่งในกฎหมายฉบับเก่านั้น กำหนดให้อายัดเงินเดือนที่ไม่เกิน 10,000 บาทได้ อย่างไรก็ตามผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ยังคงต้องติดตาม

อ่านเพิ่มเติม >