ฉบับที่ 194 บัลลังก์ดอกไม้ : ในวัตถุมีมนุษย์และความสัมพันธ์

ในสังคมดั้งเดิมนั้น มนุษย์ในอดีตรับรู้กันว่า “วัตถุ” มิใช่แค่เพียง “วัตถุ” แต่มนุษย์เราสร้างสรรค์วัตถุต่างๆ ขึ้นมา ก็เพื่อให้วัตถุนั้นถูกใช้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน เช่น เวลาที่คนๆ หนึ่งมอบของขวัญ ดอกไม้ หรือวัตถุใดๆ ให้กับคนอีกคนหนึ่ง คนสองคนนั้นก็กำลังใช้วัตถุมาผูกโยงใยสายสัมพันธ์ระหว่างกันเอาไว้ และที่สำคัญ วัตถุที่เราบริโภคก็ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะโผล่ขึ้นมาจากสุญญากาศ หากทว่า กว่าที่วัตถุชิ้นหนึ่งจะถูกผลิตออกมาได้นั้น เบื้องหลังการถ่ายทำจะมีชีวิตของมนุษย์ที่ออกแรงกายแรงใจใส่คุณค่าและความหมายมากมายลงไปในวัตถุดังกล่าว ด้วยเหตุฉะนี้ ปุถุชนในยุคก่อนจึงยอมรับกันว่า ในวัตถุนั้นมีมนุษย์และความสัมพันธ์ เพราะฉะนั้น เมื่อคนเราเสพวัตถุใดๆ เราจึงควรมองเห็นคุณค่าที่แนบอยู่ในวัตถุนั้นเป็นพื้นฐานเสมอ แต่มาในปัจจุบัน เมื่อมนุษย์เราสร้างวัตถุอย่าง “เงิน” ขึ้นมาเป็นตัวแทนของการซื้อขายเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุอื่น การบริโภควัตถุของคนเราก็เริ่มลดทอนมูลค่าเชิงสัญลักษณ์หรือความหมายแบบดั้งเดิมลงไป แต่ได้แทนที่ชีวิตมนุษย์และความสัมพันธ์เอาไว้ด้วยมูลค่าแลกเปลี่ยนของเม็ดเงินที่อยู่ในกระเป๋ามากกว่า การเปลี่ยนผ่านมาตัดสินคุณค่าของวัตถุด้วยมูลค่าแลกเปลี่ยนแบบนี้ สะท้อนให้เห็นผ่าน “การเดินทางของฉันและเธอคือการเรียนรู้” ของชีวิตตัวละครอย่าง “อนาวินทร์” และ “พุดชมพู” พระเอกนางเอกในละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้เรื่อง “บัลลังก์ดอกไม้” พล็อตละครเปิดฉากเมื่ออนาวินทร์ชายหนุ่มนักเรียนนอกทายาทคนเดียวของ “ปู่เล็ก” มหาเศรษฐีประธานบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เดินทางกลับมาเมืองไทย และเพื่อช่วยเหลือคุณปู่ที่กำลังป่วยดูแลบริหารธุรกิจของตระกูลสัตยารักษ์ แต่เพราะความเย่อหยิ่งของพระเอกหนุ่ม ประกอบกับการมีสถานะเป็นผู้รับมรดกโดยที่มิได้ร่วมลงทุนลงแรงสร้างบริษัทเคียงข้างกับปู่มาตั้งแต่ต้น อนาวินทร์จึงไม่เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์และความสัมพันธ์ใดๆ และใช้อำนาจของรองประธานบริษัทขับไล่คนเก่าคนแก่ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับปู่เล็กมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งกิจการที่เริ่มต้นจากศูนย์ เพราะไม่เห็นคุณค่าในคนและสายสัมพันธ์ที่มีมาแต่ดั้งเดิม ปู่เล็กจึงจัดการไล่อนาวินทร์ออกจากบริษัทแทน และในขณะเดียวกัน เพื่อดัดนิสัยเย่อหยิ่งจองหองของเขา ปู่เล็กจึงได้เขียนพินัยกรรมขึ้นมาใหม่ ให้อนาวินทร์ไปทำงานปลูกดอกไม้ในไร่อุ่นรักของพุดชมพูเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนจะมีสิทธิ์ได้รับมรดกและสืบทอดตำแหน่งประธานบริษัทของตระกูล ดังนั้น เมื่อปู่เล็กเสียชีวิตลง อนาวินทร์จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องเดินทางมาที่ไร่อุ่นรักของพุดชมพู เพื่อเรียนรู้ถึงเบื้องหลังการปลูกดอกไม้ ที่ลึกๆ แล้วเขาเองก็ดูถูกว่า ดอกไม้ก็เป็นเพียงแค่ดอกไม้ หรือเป็นเพียงวัตถุอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีคุณค่าสารัตถะสำคัญแต่อย่างใด และเพราะ “คาบช้อนเงินช้อนทองมาแต่กำเนิด” อนาวินทร์ผู้รู้จักแต่การใช้เงินซื้อวัตถุ...วัตถุ...และวัตถุ ก็เอาแต่คิดว่าปู่เล็กไม่รักตน เขาจึงดั้นด้นเดินทางไปหาพุดชมพู เพื่อเสนอเงินก้อนโตให้เธอยินยอมล้มเลิกเงื่อนไขที่ปู่เล็กเขียนไว้ในพินัยกรรมเสียเอง แต่ด้วยความรู้สึกหมั่นไส้อนาวินทร์ที่หยิ่งยโสและเชื่อมั่นในอำนาจเงินประหนึ่งพระเจ้าที่เสกสรรทุกอย่างได้ พุดชมพูผู้เข้าใจใน “mission” ของปู่เล็กซึ่งต้องทำให้ “possible” ให้จงได้ จึงเลือกลงมือดัดพฤตินิสัยของชายหนุ่มและให้เขาต้องมาเรียนรู้ว่า ชีวิตบ้านสวนและการปลูกดอกไม้ในไร่อุ่นรักนั้นเป็นเยี่ยงไร เพราะเห็นว่าอนาวินทร์ยังเป็น “ไม้อ่อนซึ่งยังดัดได้ไม่ยากนัก” พุดชมพูจึงเลือกใช้ทั้ง “ไม้แข็ง” และ “ไม้นวม” มาจัดการ โดยเริ่มต้นจาก “ไม้แข็ง” ด้วยการจับอนาวินทร์มัดไว้กับเสาเรือนเพาะชำแล้วเอาน้ำฉีดจนเปียกมะล่อกมะแล่ก ไปจนถึงการเข้าไปบัญชาการรบเป็นประมุขชั่วคราวของตระกูลสัตยารักษ์ และบริหารจัดการการไหลเวียนของเงินในธุรกิจตระกูลแทนเขา จาก “ไม้แข็ง” ก็มาสู่ “ไม้นวม” พุดชมพูก็จับตัวละครพระเอกทายาทมหาเศรษฐีหมื่นล้านมาแปลงโฉมเป็นหนุ่มบ้านไร่ เพื่อให้เรียนรู้ที่จะปลูกดอกไม้ เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบคนงานในไร่ และเรียนรู้ที่จะผูกสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีฐานะทุนทางเศรษฐกิจทัดเทียมกับตน ในขณะที่ฉากแรกๆ ของการเป็นคุณหนูบ้านไร่นั้น อนาวินทร์ผู้ยังดื้อแพ่งจะเลือกเอาชนะพุดชมพูด้วยการหว่านเงินในกระเป๋าของเขากว้านซื้อดอกเบญจมาศจากไร่อื่นมาปลูกในแปลงดอกไม้ของตน เพื่อจะพิสูจน์ให้พุดชมพูเห็นถึงพลังศักดานุภาพของเทพเจ้าเงินตราที่สามารถเนรมิตวัตถุอย่างดอกไม้ในแปลงปลูกได้  แต่เพราะศิลปะแห่งการปลูกดอกไม้นั้น ไม่ใช่จะอาศัย “กลศาสตร์” ที่จะโยกวัตถุหรือดอกไม้จากแปลงหนึ่งมาเพาะปลูกในอีกแปลงหนึ่งได้โดยง่าย เนื่องจากดิน น้ำ ศัตรูพืช และเงื่อนไขของการเติบโตในแต่ละบริบทพื้นที่ก็อาจไม่เหมือนกัน อหังการของอนาวินทร์ที่มีต่อเม็ดเงินในกระเป๋าจึงได้ผลลัพธ์ที่กลายเป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ในด้านหนึ่ง เรื่องราวของ “บัลลังก์ดอกไม้” ก็อาจดำเนินไปบนสูตรสำเร็จของเรื่องเล่า ที่ต้องมีตัวละครคนใกล้ชิดพระเอกหนุ่มอย่าง “การันต์” หรือ “ชวกร” ที่ถูกเปิดโปงว่าเป็นตัวร้ายแบบไม่เปิดเผยตนจนกว่าจบเรื่อง หรือสูตรสำเร็จที่ว่า ชะตากรรมของตัวละครพระนางต้องมีผู้ช่วยเคียงข้างอย่าง “ทรงรบ” และ “ช่อม่วง” คอยผลักดันให้ภารกิจต่างๆ ลุล่วงได้ในที่สุด แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อมาถึงฉากจบที่ตัวละครได้เปิดใจกันจนกลายเป็นความรักท่ามกลางทุ่งดอกไม้ พระเอกหนุ่มก็ได้เรียนรู้ด้วยว่า เราอาจจะใช้เงินซื้อดอกไม้มาครอบครองได้ก็จริง แต่กว่าที่ดอกไม้ดอกหนึ่งจะเติบโตและผลิบานออกมาได้นั้น เบื้องหลังต้องผ่านมนุษย์หลายชีวิตที่ใส่แรงกายแรงใจประคบประหงมดูแล แบบที่อนาวินทร์ได้เข้าใจและสารภาพกับพุดชมพูว่า มรดกที่มีค่าที่สุดที่ปู่เล็กทิ้งไว้ให้ ไม่ใช่บริษัทหรือเงินทองแต่อย่างใด หากแต่ความสุขที่แท้จริงนั้น อยู่ที่การได้เห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์และความสัมพันธ์ระหว่างคนเรากับคนอื่นนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >