ฉบับที่ 248 คุณหมอเตือนภัย กล่องสวยซ่อนคม ชวนสังคมเรียกร้องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ปลอดภัย

...เช้าวันหนึ่งในห้องทำงาน คุณหมอแคนหยิบกล่องเหล็กลายน่ารักออกมาจากกระเช้าของขวัญ นึกชมว่ากล่องหนาดี ลายน่ารักน่าเก็บ ก่อนจะตัดสินใจเปิดออกดูว่าข้างในมีอะไร โดยไม่คาดคิดว่าจะโดนฝากล่องด้านในที่คมราวมีดคัตเตอร์นั้นบาดจนนิ้วโป้งขวาต้องพิการชั่วคราว...         ฉลาดซื้อฉบับนี้พาไปพบกับหมอแคนหรือผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงสายพิณ หัตถีรัตน์ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของเรื่องชวนหวาดเสียวนี้ ในฐานะผู้เสียหายที่พร้อมเปิดใจเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นเพื่อเตือนภัยผู้บริโภค และเรียกร้องให้ผู้ประกอบการเข้มงวดในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ปลอดภัยมากขึ้นด้วย   ตอนโดนบาดยังงงว่าบาดได้ยังไง         เช้าวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน หมอหยิบกล่องเหล็กใส่เครื่องดื่มซองที่เป็นสี่เหลี่ยมลายการ์ตูนน่ารักๆ มาเปิด เห็นฝาหนาๆ เหมือนจะปลอดภัย แต่ฝาที่ทำหนาๆ นี่คือเป็นสองชั้นที่งับกันอยู่ แล้วคงจะประกอบมาไม่ดี ฝาที่ดูหนาๆ นี้ไปติดกับตัวกล่องเอง จึงเปิดไม่ออก พอพยายามจะเปิด ฝามันเลยแยกออกจากกัน ฝาท่อนล่างก็สะบัดมาบาดนิ้วโป้งขวาเป็นแผล ตอนนั้นยังงงๆ อยู่ว่าบาดได้ยังไง แล้วก็เพิ่งมาเห็นว่าฝาชั้นล่างนี้คมบางเหมือนมีดเลย        ตอนแรกก็คิดว่าโดนบาดธรรมดา แผลประมาณ 1 เซนติเมตร ก็ไปล้างน้ำแล้วกดไว้ พอดีอยู่โรงพยาบาลก็เลยลงไปห้องพยาบาลทำแผล แล้วรีบไปตรวจคนไข้ครึ่งวันเช้าก่อน เสร็จแล้วก็ไปเปิดแผลดูว่าหายหรือยัง ปรากฏว่าเลือดก็ยังออกอยู่ เอ๊ะ ชักยังไง คราวนี้ไปห้องฉุกเฉินเลย คุณหมอมาตรวจ เลือดยังออกอยู่ แล้วพอกระดกปลายนิ้วไม่ได้ ก็เลยรู้ว่าเอ็นขาด ขาดเกือบ 90% เหลือติ่งอยู่นิดเดียว คุณหมอศัลกรรมพลาสติกก็มาเย็บเอ็นให้ หลังจากเย็บแล้วต้องให้เอ็นกระดกขึ้น ไม่ให้ขยับจนกว่าเอ็นจะติด จึงต้องใส่เฝือกนิ้วโป้งอยู่ 2 เดือน        จริงๆ อยากแนะนำว่าต่อไปถ้าใครโดนบาดในลักษณะแบบนี้ ให้สังเกตว่าหากเลือดไม่หยุด หรือกระดกนิ้วไม่ได้ ควรหาหมอเพื่อประเมินว่าแผลนั้นลึกขนาดไหน อย่าชะล่าใจ เพราะเห็นแค่แผลเล็กๆ แล้วปิดไว้เฉยๆ อาจช้าเกินไป ถ้าเกิดบาดลึกจนเอ็นขาด เอ็นจะหดแล้วเย็บไม่ได้         หลังจากถอดเฝือกออกแล้ว หมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูกับทางกายภาพบำบัด เขาก็มีวิธีรักษาหลายอย่าง มีอัลตราซาวด์เพื่อให้แผลไม่ตึงมากไป ทำเลเซอร์ที่ใต้ชั้นผิวหนังเพื่อไม่ให้พังผืดมาเกาะจนนิ้วขยับไม่ได้ ต้องมีแช่น้ำร้อน มีดัด ขยับข้อ หมอให้ทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ  2-3 ครั้งต่ออาทิตย์ ครั้งละราว 2 ชั่วโมง เจ็บนิ้วเดียว สะเทือนถึงงานและชีวิตหลายอย่าง         แคนเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัวค่ะ ตรวจคนไข้ทั่วไป แล้วช่วงนั้นโควิดกำลังระบาดพอดี ใครๆ ก็แบบว่ามะรุมมะตุ้ม แต่มือขวาเราใส่เฝือกอยู่ เขียนหนังสือไม่ได้เลย ไปโรงพยาบาลบ้างแต่ว่าตรวจคนไข้ไม่ได้ ทำให้ช่วยทีมงานได้ไม่ค่อยเต็มที่ ทำได้แต่งานเอกสารหรืองานอะไรที่ใช้คอมพิวเตอร์แทน ช่วงนั้นแคนใช้เป็นวันลาป่วย แล้วต้องยกให้อาจารย์คนอื่นทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าภาคแทนด้วย เพราะลงลายเซ็นไม่ได้ เซ็นสั่งการอะไรไม่ได้เลย         การใช้ชีวิตประจำวันยากมาก เวลาจะทำอะไรก็ต้องใช้มือซ้ายที่ไม่ถนัดเป็นหลัก หัวไหล่ทั้งสอง ข้างก็เจ็บอยู่ก่อนแล้วด้วย ยิ่งจำเป็นต้องใช้หัวไหล่ซ้ายมากขึ้น ก็ยิ่งเจ็บเพิ่มอีก ทีนี้พอใส่เฝือกแล้วข้อมือมันต้องแอ่นๆ เพื่อให้เอ็นที่เย็บไว้ไม่ตึง เฝือกก็จะอยู่ในท่าที่ไม่ปกติ ก็ทำให้มือเราเจ็บเป็นทีๆ นอนไม่ค่อยได้ขับรถก็ไม่ได้ เวลาไปไหนมาไหนต้องรบกวนคนอื่นเขา อย่างถ้าเจ้าหน้าที่เขาจะไปโรงพยาบาลแล้วทางเดียวกัน ก็ให้เขาช่วยมารับเราไปด้วยกัน         แม้ตอนนี้จะถอดเฝือกออกมาสักระยะแล้ว แต่นิ้วโป้งก็ยังงอได้ไม่เต็มที่ หยิบของชิ้นใหญ่ๆ พอได้ จับปากกาได้แต่ยังเขียนหนังสือไม่ค่อยคล่อง อยากเตือนภัยเรื่องนี้ เรื่องที่เหมือนจะไม่มีอะไร         วันหนึ่งได้คุยกับเจ้าหน้าที่ที่มาทำกายภาพให้ เขาก็บอกว่าเคยโดนกล่องแบบนี้บาดเหมือนกัน แต่เขาโดนอีกด้านหนึ่งของนิ้วโป้ง เป็นแค่แผลเฉยๆ ไม่โดนเอ็น อ้าวแสดงว่าเรื่องนี้ไม่ธรรมดาแล้วก็เลยฉุกคิดว่านี่ไม่ใช่แค่เราโดนคนเดียวนะ คนอื่นก็โดนมาแล้วด้วย น่าจะต้องเตือนกันแล้วล่ะ โดยเฉพาะที่เป็นห่วงคือเด็กๆ เพราะกล่องดีไซน์น่ารัก เด็กๆ น่าจะไปหยิบจับได้บ่อย แล้วขนาดมือเรายังเจ็บขนาดนี้ ถ้ามือเด็กนี่ขาดแน่นอน จึงรู้สึกว่ากล่องแบบนี้ไม่ปลอดภัย การออกแบบการผลิตน่าจะมีปัญหา         ทีแรกนั้นแคนจะทิ้งกล่องใบนี้ไปแล้วนะ แต่นึกได้ว่าน่าจะต้องเก็บเอาไว้เตือน ใครมาถามก็เอาให้ดูว่ากล่องหน้าตาแบบนี้ระวังด้วยนะ เพราะหลังจากโดนบาด ทุกคนในภาควิชาก็ตกใจว่าโดนบาดได้ไงเนี่ย แต่พอมาดูกล่อง ทุกคนก็บอกว่ามันคมยังกับมีดโกน การประกอบแบบนี้ไม่ค่อยดีเลย น่าจะต้องแก้ไข        แคนคิดว่าถ้าเราเจอผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย ก็ควรจะมีช่องทางแจ้งกลับไปที่บริษัทผู้ผลิต เพื่อให้เขาแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่อย่างนั้นถ้าเกิดผลิตมาในจำนวนมหาศาล ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดอันตรายกับผู้บริโภคคนอื่นๆ มากขึ้นไปอีก           ในเคสนี้ แคนเป็นหมอจึงเข้าถึงการตรวจรักษาได้เร็ว แล้วก็ใช้สิทธิ์ข้าราชการเบิกค่ารักษาได้ แต่ก็ยังคิดว่าจริงๆ แล้วผู้ประกอบการควรชดเชยความเสียหายให้ด้วยไหม เพราะแคนก็ถามกับตัวแทนประกันที่ทำไว้ เขาก็บอกว่าอาจารย์ไม่ได้แอดมิด ก็เบิกไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนที่คิดว่าประกันจะจ่าย ก็อาจไม่จ่าย ซึ่งแคนไม่ได้ติดใจเรื่องเงินนะ แต่หมายความว่าถ้าเป็นคนอื่นที่เขาไม่มีเงินเดือน ไม่มีอะไรอื่น แล้วเขาไม่สามารถทำงานได้ตั้ง 2 เดือนอย่างนี้ มันก็จะยาก ของแคนไม่เป็นไรก็อยู่บ้านไป รู้ว่าตัวเองใช้สิทธิผู้บริโภคได้ แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง         แคนคิดว่าน่าจะมีผู้บริโภคอีกหลายคนที่บาดเจ็บจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย บางคนเจ็บน้อยก็ปล่อยผ่านไป แม้บางคนเจ็บมากก็ยังเงียบ ไม่ใช่ว่าเขากลัวอะไรหรอก แต่เพราะว่าไม่อยากยุ่งยากมากกว่า แคนเองก็ต้องการเรียกร้องตามสิทธิ์ แต่ไม่รู้ขั้นตอนว่าต้องทำยังไงบ้าง ก็เลยรู้สึกว่าขนาดเรายังไม่รู้ แล้วคนอื่นเขาจะรู้ไหม ถ้าเป็นคนอื่นก็คงจะรู้สึกว่า ช่างมันเถอะ เย็บแล้วก็เย็บไป เบิกค่ารักษาก็เบิกได้ แต่ว่ามันไม่ถูกไหม ไม่ควรจะต้องให้เป็นภาระของเราอยู่คนเดียว                  จริงๆ แล้วควรมีการส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้เรื่องการใช้สิทธิ์ของตนมากขึ้นว่า ถ้าเขาใช้ผลิตภัณฑ์แล้วไม่ปลอดภัย เขาควรจะต้องทำยังไง หนึ่ง-เก็บวัตถุที่เป็นอันตรายไว้ก่อน สอง-ใบรับรองแพทย์ หรือว่าอะไรที่จะมารับรองเหตุการณ์ว่ามีความเสียหายที่เกิดขึ้น การรักษาต่อเนื่องต้องยาวนานแค่ไหน อะไรอย่างนี้ ซึ่งแคนก็เก็บไว้หมดนะ ทีนี้พอเก็บแล้วจะให้ร้องเรียนไปที่ไหนยังไงล่ะ         ตอนนี้แคนก็กำลังปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าจะมีช่องทางดำเนินการอย่างไรต่อไป ผู้ประกอบการน่าจะเข้มงวดในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยมากขึ้น        หากลองไปเทียบกับกล่องเหล็กอื่นๆ คือความจริงถ้าเป็นฝาชั้นเดียว เปิดแล้วก็จบกันไป แต่ว่าอันนี้ตอนแรกยังชมเลยว่าอุตส่าห์ทำฝาหนาน่าจะดี ดูปลอดภัย แล้วก็น่าเก็บด้วย         ถ้าจะถามว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากความประมาทของเราหรือเปล่า ตอบเลยว่าไม่ใช่แน่นอน        เพราะดูจากภายนอกกล่องไม่เห็นเลยว่าจะมีส่วนไหนที่คมหรืออันตรายจนต้องระวัง เราก็เปิดเหมือนเปิดฝากล่องธรรมดา ไม่ได้เปิดพิสดารตรงไหน ไม่ได้ไปงัดมุมอะไร เมื่อเราเปิดปกติ มันก็ควรจะเปิดออกได้ปกติ แต่ทีนี้พอผลิตภัณฑ์มันประกอบมาไม่แน่นหนา หรือไม่รู้อะไรที่มันทำให้เปิดแล้วฝามันแยกออกจากกัน แล้วมางับมือเราได้อย่างนี้ แถมข้างล่างมันคมมากไง ถ้าเขาจะทำฝาหนาขนาดนี้ ตัวชั้นล่างเขาอาจจะไม่ทำขอบคมก็ได้         เราจะต้องเตือนผู้ประกอบการ ไม่งั้นผู้ประกอบการจะไม่แก้ไขผลิตภัณฑ์ รอให้มีคนบาดเจ็บรายถัดๆ ไปนี่มันก็อาจไม่ได้เป็นแค่แบบแคนไง ถ้าเขาสูญเสียนิ้วโป้ง จะเสียหายมาก ยิ่งถ้าเป็นนิ้วโป้งข้างที่ถนัดด้วย         ตอนที่แคนใส่เฝือกอยู่ก็คิดว่าจะบอกบริษัทยังไง บางทีเขาอาจไม่รู้ว่าของๆ เขาไม่ปลอดภัย เราก็อยากจะบอกพร้อมแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ที่คุณคิดว่าปลอดภัย แต่จริงๆ แล้วมันไม่ปลอดภัยนะ คุณควรจะปรับปรุงแก้ไขผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยมากขึ้น จริงๆ ถ้าผลิตออกมาให้ปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางได้ก็จะดีที่สุด ผู้บริโภคทุกคนควรได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์         เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้แคนคิดว่า        หนึ่ง ทุกคนควรจะช่วยกันดูผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพื่อให้สังคมปลอดภัยขึ้น อะไรที่เราประสบเหตุ เราต้องสามารถเรียกร้องได้ว่ามันไม่ควรจะเกิดไหม สังคมควรปลอดภัยกว่านี้        สอง ทางบริษัทต่างๆ ควรจะมีช่องทางที่เป็นสาธารณะ ให้ผู้บริโภคบอกได้ว่า ถ้าคุณเจออะไรแบบนี้ให้คุณบอกมาที่ตรงไหน พร้อมพยานหลักฐานอะไรบ้าง หรือว่าพร้อมรูปถ่าย หรือว่าพร้อมรายละเอียดอะไรบ้างที่ต้องการ เพื่อให้เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น แล้วก็ทำให้สังคมดีขึ้น         แคนเชื่อว่าทุกเสียงสะท้อนของผู้บริโภคมีพลังพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ และผู้บริโภคทุกคนควรได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้นด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ความเครียดกับการบำบัดด้วยกลิ่น

        รู้ไหมว่า ความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผิวหมอง ผิวอักเสบหรือแม้แต่ผิวหยาบกร้าน ดังนั้นนอกจากการบำรุงผิวพรรณด้วยครีมบำรุงต่างๆ แล้ว การขจัดความเครียดก็ส่งผลให้สุขภาพผิวดีขึ้นได้ด้วย ตั้งแต่โบราณกาลมาการใช้กลิ่นหรือการดมกลิ่น เป็นวิธีการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยบำบัดภาวะเครียดหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยบางอย่าง สวยอย่างฉลาดรวบรวมวิธีลดความเครียดด้วยศาสตร์สุคนธบำบัดมาฝาก         กลิ่นช่วยกระตุ้นความทรงจำขึ้นมาได้ ทำให้ระลึกถึงเหตุการณ์ ประสบการณ์ และสภาวะต่างๆ ที่เคยมีได้ดี บางคนอาจจำกลิ่นอาหารที่พ่อแม่เคยทำให้รับประทานสมัยเด็กได้ หรือกลิ่นของดินหลังฝนตกใหม่ๆ ทำให้หลายคนจดจำหรือระลึกถึงครั้งที่ยังอยู่อาศัยใกล้ชิดกับธรรมชาติป่าเขา ท้องนาท้องไร่ การนำธรรมชาติกลับมาสู่ชีวิตด้วย “กลิ่นจากธรรมชาติ” จึงทำให้เกิดภาวะผ่อนคลายหรือ “ความสุข” ขึ้นมาได้พืชพรรณต่างๆ นั้นสามารถสกัดเอาแก่นหรือ essence ออกมาได้ผ่านการทำเป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่า สามารถช่วยบรรเทาภาวะเครียด ลดความวิตกกังวล เพิ่มระดับความจำ หรือแม้แต่การบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ เมื่อนำมาใช้อย่างถูกต้อง         วิธีการเลือกใช้น้ำมันหอมระเหย         1.เลือกผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ น้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติจะใช้คำว่า Pure Essential Oil ในขณะที่น้ำมันหอมระเหยสังเคราะห์จะใช้คำว่า Aromatic Oil FragranceOil หรือ Perfume Oil        2.หลีกเลี่ยงการกินหรือทาบริเวณปาก เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอก จึงไม่ควรกินหรือทาบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนเด็ดขาด         3.ห้ามใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจส่งผลกับยาที่กิน (เสริมฤทธิ์หรือลดฤทธิ์ยา) และอาจเกิดการเสพติดซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลดี        4.ไม่ควรใช้กับเด็กโดยเฉพาะทารกและเด็กวัยหัดเดิน และผู้ที่มีความเสี่ยงแพ้หรือไวต่อน้ำมันหอมระเหย         วิธีใช้น้ำมันหอมระเหย         มีหลายวิธีแต่ที่ได้รับความนิยม คือการใช้เครื่อง aroma diffuser หรือเครื่องพ่นไอน้ำ โดยผสมน้ำมันหอมระเหยลงไปในน้ำเพื่อให้ไอน้ำที่ออกมาเป็นตัวนำน้ำมันหอมระเหยออกมา ทำให้กลิ่นสามารถอยู่ในอากาศรอบตัวได้หลายชั่วโมงเหมาะกับการใช้ในห้องปิด         หรือการนำขวดใส่น้ำมันที่เสียบก้านไม้ โดยก้านไม้ด้านหนึ่งจุ่มอยู่ในน้ำมันที่ผสมแล้ว กลิ่นจะกระจายออกมาผ่านกิ่งไม้นี้ ซึ่งมีแบบสำเร็จรูปขายหรือทำเองง่ายๆ ด้วยการหา ขวดแก้วหรือเซรามิกที่มีขนาดพอเหมาะปากขวดแคบ กิ่งไม้แห้งที่ยาวสองเท่าของขวด  จากนั้นให้ผสมน้ำมันหอมระเหยกลิ่นที่ชอบร่วมกับน้ำมันที่จะใช้เป็นตัวนำ (น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก) ในสัดส่วนน้ำมันหอมระเหย 30% และน้ำมันตัวนำ 70% แล้วเทส่วนผสมลงในขวด ใส่ก้านไม้ลงไปรอประมาณ 2-3 ชั่วโมง ให้ก้านซึมซับน้ำมันไว้เต็มที่ จากนั้นกลับด้านก้านไม้ ให้ด้านที่ชุ่มน้ำมันอยู่ด้านบน กลับก้านไม้เมื่อกลิ่นจางลงหรืออาทิตย์ละครั้ง และอีกวิธีหนึ่งคือ การจุดเทียนหอม ทั้งนี้วิธีการขึ้นอยู่กับความสะดวกและไลฟ์สไตล์ส่วนบุคคล ซึ่งทั้งสามวิธีสามารถนำพากลิ่นให้ช่วยนำอารมณ์ ความรู้สึก และประสบการณ์แห่งป่าและธรรมชาติกลับมาสู่เรา รวมถึงทำให้เราได้รับประโยชน์จากสารสกัดต่าง ๆ จากพืชพรรณนานาชนิดได้อีกด้วย  แหล่งข้อมูล วิธีใช้น้ำมันหอมระเหยจาก “หนังสือเปิดใจให้ธรรมชาติ” หน้า 91-95

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ‘สวนบำบัด’ เพื่อเด็กพิการและผู้สูงอายุ เมื่อดอกไม้หนึ่งดอกคือสวนทั้งสวน

        ‘สวนบำบัด’ ฟังครั้งแรกเลี่ยงไม่พ้นต้องนึกถึงสวนที่มีต้นไม้ร่มรื่น มีเนื้อที่กว้างขวางพอประมาณ ชวนให้คิดต่อไปว่าชุมชนเมืองน่าจะยากเย็นที่จะนำกิจกรรมนี้มาใช้บำบัดผู้พิการหรือผู้สูงอายุ        ทว่า มันอาจไม่ได้ยากอย่างที่คิด นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ บอกว่าแน่นอน ถ้ามีพื้นที่สวนย่อมเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่มี เพียงต้นไม้กระถางเล็กๆ สักกระถาง ดอกไม้หนึ่งดอก ใบไม้หนึ่งใบ หรือแม้กระทั่งดินเหนียวสักก้อน เป็นสามารถใช้ทำกิจกรรมสวนบำบัดได้         สิ่งสำคัญคือตัวองค์ความรู้ด้านสวนบำบัดของผู้ทำกิจกรรม         และส่วนนี้เป็นงานที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการทำมานานแล้ว เพราะคงรอให้เกิดนักวิชาชีพสวนบำบัดไม่ได้ พ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงเด็กก็สามารถเป็นนักสวนบำบัดได้ ขอเพียงเติมความรู้เข้าไป         ในฐานะผู้บริโภค บริการสาธารธสุขจัดเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดหาให้ นพ.ประพจน์และเครือข่ายกำลังผลักดันให้กิจกรรมสวนบำบัดเข้าไปอยู่ในประกาศ ‘การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสําหรับคนพิการ พ.ศ.2552’ ของกระทรวงสาธารณสุข และหวังว่าสักวันหนึ่งในอนาคต ‘สวนบำบัด’ จะเป็นกิจกรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คุณหมอช่วยอธิบายหน่อยว่า ‘สวนบำบัด’ คืออะไร?         สวนบำบัดคือตัวความรู้และกิจกรรมที่เราจะใช้บำบัดผู้ป่วยโดยใช้สวน อันนี้เป็นความหมายพื้นฐาน แต่เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องใช้บำบัดผู้ป่วยเพียงอย่างเดียวอาจจะไปใช้ในเรื่องการพัฒนาเด็ก การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค หรือฟื้นฟูสมรรถภาพ และเพื่อนันทนาการก็ได้ อันนี้ก็มีความหมายที่กว้างขึ้น         แต่ถ้าในความหมายแคบ เริ่มแรกมันใช้ในการรักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะในอเมริกาเขาใช้ในการรักษาทหารผ่านศึกผู้ป่วยทางด้านจิตเวชเพราะเมื่อมาทำธรรมชาติบำบัดเกี่ยวกับพืชและสวน เขาจะรู้สึกผ่อนคลายและช่วยรักษาได้ แทนที่จะใช้ยาเพียงอย่างเดียว สำหรับประเทศไทยหน่วยงานแรกที่นำมาใช้ก็คือโรงพยาบาลศรีธัญญา เมื่อประมาณ 30-40 ปีที่แล้วก็นำผู้ป่วยจิตเวชมาทำแปลงปลูกผักเพื่อให้มีกิจกรรมทำและผ่อนคลายไม่เครียด         ในส่วนมูลนิธิเพื่อเด็กพิการสมัยที่เราทำกิจกรรมบำบัดกับเด็กที่เป็นซีพี (Cerebral Palsy: CP) หรือสมองพิการ พอเด็กๆ ได้ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปชายทะเล พบว่าเด็กมีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด มีความกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรมและเคลื่อนไหวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราจึงพัฒนาเรื่องสวนบำบัดขึ้น เพราะถ้าเราใช้สวนบำบัด เราสามารถทำได้ทุกวัน เพียงแต่เราเติมความรู้เข้าไป เพราะเด็กพิการเคลื่อนไหวยากการจะออกไปข้างนอกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเราสามารถทำสวนบำบัดเล็กๆ อยู่ที่บ้าน อยู่ในชุมชน เด็กก็จะเข้าถึงธรรมชาติได้ง่ายกว่าและเป็นประโยชน์กับเด็กด้วย  ธรรมชาติบำบัดกับสวนบำบัดต่างกันอย่างไร?         ธรรมชาติบำบัดอาจจะเป็นร่มที่ใหญ่มากและมีความหมายกว้าง เช่น การรักษาด้วยแสง ด้วยสี ก็เป็นธรรมชาติบำบัด ดนตรีบำบัดก็ถือเป็นธรรมชาติบำบัดเหมือนกัน ดังนั้น สวนบำบัดอาจถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติบำบัด แต่ถ้าเป็นสวนบำบัดก็อาจจะเฉพาะเจาะจงว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพืช ต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ ที่อยู่ในสวนหรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของสวนที่นำมาใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยได้ ถ้าอย่างนั้นการทำกิจกรรมสวนบำบัดก็จำเป็นต้องมีสวน?         เวลาเราพูดถึงสวนเราจะเกิดความรู้สึกว่ามันมีความเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าเราพูดถึงต้นไม้กระถาง มันคงไม่ใช่สวน คือถ้าเรายิ่งมีสถานที่ที่เป็นพื้นที่สีเขียว มีต้นไม้เยอะๆ ตรงนี้จะมีประโยชน์ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยได้มาก แต่เวลาที่เราทำกิจกรรมเรื่องสวนบำบัด บางครั้งเราก็อาจนำส่วนหนึ่งของสวนมาใช้ เช่น การปลูกผัก เพาะถั่วงอกในขวด ในกระถางเล็กๆ เราก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสวนไม่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในสวนทั้งหมด อาจจะเป็นแค่ไม้ประดับ ไม้ดอก ผักหรือแม้กระทั่งใบไม้หนึ่งใบ กิ่งไม้หนึ่งกิ่งก็ได้        ดังนั้น คำว่าสวนบำบัดเราคิดว่าน่าจะมีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนใหญ่ๆ องค์ประกอบที่หนึ่งต้องมีต้นไม้แต่ถ้ามีลักษณะของความเป็นสวน มันจะให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างดีกว่า แต่ถ้าไม่มีก็ขอให้เป็นต้นไม้สัก 1 กระถาง 2 กระถางกล่าวคือต้องมีองค์ประกอบเป็นต้นไม้ใบหญ้า         องค์ประกอบที่ 2 จะต้องมีผู้ที่ทำกิจกรรมได้ ไม่ใช่ว่าเอาต้นไม้ตั้งแล้วก็ถือเป็นสวนบำบัด เพราะมันถือเป็นกิจกรรมในการพัฒนาและบำบัดผู้ที่มีปัญหาจึงต้องมีผู้รู้ที่จะทำกิจกรรมได้ ซึ่งอาจจะเป็นนักสวนบำบัดหรือครูหรือครอบครัวของเด็ก         องค์ประกอบสุดท้ายคือตัวความรู้ในการทำกิจกรรม เช่น ต้องประเมินเด็กได้ ประเมินความพิการหรือความบกพร่องของเด็กได้ เมื่อประเมินเสร็จก็รู้ว่ากิจกรรมสวนบำบัดจะสนองตอบความต้องการของเด็กคนนี้ได้อย่างไร และเมื่อทำกิจกรรมไปแล้วก็สามารถประเมินผลของการทำได้  การเป็นนักสวนบำบัดยากหรือเปล่า?         จริงๆ ไม่ยากครับเพราะความรู้ที่เราต้องการนำมาใช้กับเด็กพิการ เด็กทั่วไป หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไป เราอยากจะให้เป็นชาวบ้านธรรมดาก็ทำกิจกรรมได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาชีพ สิ่งที่เราทำ เรามองว่าประเทศไทยมีภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการทำสวนบำบัดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันอยู่ในวิถีชีวิต ยกตัวอย่างเช่นการถักปลาตะเพียนด้วยทางมะพร้าวแล้วก็ห้อยบนเปลเด็ก อันนี้เป็นสวนบำบัดอย่างหนึ่งได้เพราะมันไปกระตุ้นให้เด็กมองสิ่งที่เคลื่อนไหว มองสีเขียวๆ ของทางมะพร้าว แล้วเราอาจจะเล่นกับเด็กด้วยสิ่งนี้ งานจักสาน เช่น ตะกร้าที่สานด้วยทางมะพร้าว หวาย ไม้ไผ่ อันนี้ก็สามารถนำมาใช้เป็นกิจกรรมสวนบำบัดได้ หรือแม้แต่งานปั้นอย่างการปั้นตุ๊กตา ปั้นวัว ปั้นควาย เราก็ถือว่าเป็นส่วนบำบัดเพราะดินก็มาจากสวน ก็เป็นการบริหารกล้ามเนื้อ        เราจะเห็นว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นมีกิจกรรมเหล่านี้อยู่แล้ว แต่มันอยู่ในวิถีชีวิตปกติของคนไทยสมัยก่อน เมื่อเราเพิ่มตัวความรู้เข้าไป แล้วนำกิจกรรมเหล่านี้มาใช้กับเด็กพิการหรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางด้านร่างกายหรือจิตใจก็ถือเป็นสวนบำบัด เราจึงมองว่าคนที่จะทำกิจกรรมสวนบำบัดก็เป็นชาวบ้านธรรมดาได้         ถึงปัจจุบัน เราอบรมพ่อแม่ประมาณเกือบ 40 ครอบครัว แล้วก็นำไปทำกิจกรรมกับลูกๆ ของตัวเอง อย่างเช่นการเพาะผักต้นอ่อนร่วมกับเด็ก เขาก็มองว่านี่เป็นสวนบำบัดเพราะรู้ว่าถ้าทำกิจกรรมนี้แล้วช่วยเด็กอย่างไร การเพาะ การปลูก การเฝ้าสังเกตจะทำให้เด็กพัฒนาทางด้านสายตา การใช้มือ พัฒนาด้านอารมณ์ เพราะเด็กจะเริ่มจดจ่อสนใจการเพาะปลูกผัก เมื่อใส่ความรู้เข้าไป พ่อแม่ พี่เลี้ยงเด็ก ครู หรือบุคลากรทางด้านสาธารณสุขก็สามารถทำได้  แต่ในประเทศไทยตอนนี้ยังไม่มีนักวิชาชีพสวนบำบัดโดยตรง?         นักวิชาชีพสวนบำบัดในเมืองไทยยังไม่มี เราจึงมองว่าถ้าจะหวังพึ่งนักวิชาชีพอาจจะยาก เด็กและผู้สูงอายุจะเข้าไม่ถึงเราจึงต้องทำความรู้ให้ง่าย เรามีหลักสูตรพื้นฐาน 54 ชั่วโมงที่จะอบรมพ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงให้ทำสวนบำบัดกับเด็กพิการได้ และอาจจะมีหลักสูตรต่อยอดสำหรับผู้ที่สนใจเพิ่มเติมให้เป็นครูที่จะไปสอนผู้อื่นได้ แล้วเราค่อยๆ ยกระดับความรู้ขึ้นไปทีละน้อย         ในบ้านเรา เรามองว่าการจะพึ่งตนเองได้ต้องใช้ครอบครัวของเด็กพิการ ใช้พี่เลี้ยง ครู บุคลากรที่มีอยู่ในชุมชน เราเพียงเพิ่มความรู้เรื่องเด็ก เรื่องพัฒนาการ เรื่องความพิการก็สามารถทำกิจกรรมสวนบำบัดได้เพราะมันไม่ได้ซับซ้อนมาก ไม่มีอันตรายต่อเด็ก ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุ อย่างน้อยการทำกิจกรรมส่วนบำบัดก็ช่วยให้คนกลุ่มนี้เกิดความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ได้ทำกิจกรรมรวมกลุ่ม         ส่วนนักวิชาชีพ เราคิดว่าน่าจะใช้นักวิชาชีพที่มีอยู่ เช่น นักกิจกรรมบำบัด เป็นการเพิ่มความรู้เพิ่มเติมหรือคอร์สพิเศษ อีกอันหนึ่งเรามองว่าผู้ที่จบทางด้านการเกษตร ถ้ามีวิชาเพิ่มเติมให้เขาสามารถใช้เรื่องการเกษตรเพื่อการบำบัดรักษาผู้คนได้ อันนี้ก็จะเกิดประโยชน์ เป็นการเพิ่มความรู้ให้กับวิชาชีพที่มีอยู่แล้ว ผมคิดว่าถ้าทำแบบนี้ฐานเราจะกว้างและทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ เข้าถึงเพราะไม่อย่างนั้นจะติดเป็นคอขวดว่าจะต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาลเท่านั้น  ในการอบรม ผู้เข้าร่วมอบรมต้องเรียนรู้อะไรบ้าง?         ในคอร์สอบรม ความรู้แรกคือให้รู้ว่าสวนบำบัดคืออะไร ไม่ใช่การทำสวนธรรมดา แต่เป็นการทำสวนเพื่อใช้ในด้านสุขภาพ ตั้งแต่การส่งเสริมป้องกันการบำบัดและฟื้นฟู อันที่ 2 ต้องมีความรู้เรื่องการทำสวนกับเรื่องการบำบัดทั้งสองอย่างนี้ต้องมาผสมผสานเชื่อมโยงกันให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องรู้เรื่องการประเมินความพิการได้ แต่ไม่ใช่การประเมินแบบแพทย์ เป็นการประเมินความพิการประเภทต่างๆ ว่าจะทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง แล้วจะเลือกกิจกรรมสวนบำบัดอะไรที่ไปช่วยเหลือฟื้นฟูความบกพร่องของผู้พิการแต่ละคน         ขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญที่สุดที่หลักสูตรนี้เน้นก็คือผู้เข้าอบรมจะต้องเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติและเกิดความเปลี่ยนแปลงความรู้สึก จากที่มองต้นไม้เป็นแค่ต้นไม้ มองผักเป็นแค่ผัก หรือมองคนพิการเป็นแค่คนพิการ ไปสู่ความรู้สึกที่ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ใช่นำธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาอบรมส่วนใหญ่จะรู้สึกจริงๆ ว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงเมื่อได้สังเกตธรรมชาติ เห็นคุณค่าของธรรมชาติ และเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำธรรมชาติไปใช้ฟื้นฟูผู้พิการต่อไป อันนี้เป็นเป้าหมายของตัวหลักสูตร         แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้เปิดอบรมให้แก่บุคคลทั่วไป เพราะเราอยากจะเคลื่อนกิจกรรมสวนบำบัดนี้ให้เข้าไปอยู่ในศูนย์บริการผู้พิการที่มีอยู่ประมาณ 3,000 แห่งทั่วประเทศ ถ้าศูนย์เหล่านี้มีบริการสวนบำบัดก็จะทำให้ผู้พิการในชุมชนสามารถรับบริการด้านนี้ได้ ในระยะแรก เราจึงเน้นอบรมให้กับครอบครัวที่มีเด็กพิการและศูนย์บริการผู้พิการเป็นหลัก  ที่บอกว่าต้องสามารถประเมินเด็กได้หมายความว่าอย่างไร?         การประเมินมี 2 ระดับ ระดับที่ 1 คือการประเมินประเภทความพิการซึ่งจะได้รับการประเมินจากบุคลากรด้านวิชาชีพในโรงพยาบาลที่ต้องมีการประเมินอยู่แล้ว และเมื่อต้องการจะแก้ไขหรือพัฒนาด้านใดเมื่อเข้าไปที่ศูนย์พัฒนาเด็กพิการทั่วไปหรือที่โรงพยาบาล ผู้ที่จะทำกิจกรรมสวนบำบัดก็จะประเมินความพร้อมหรือปัญหาของเด็กอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้จัดกิจกรรมสวนบำบัดที่เหมาะสมให้กับเด็กคนนี้ เช่น เด็กคนนี้ยืนได้หรือเปล่า เด็กคนนี้นั่งได้หรือไม่ ใช้มือหยิบจับได้ไหม สายตามองเห็นได้ สัมผัสได้ รับคำสั่งได้ เข้าใจคำสั่งง่ายๆ ได้หรือไม่ อันนี้เป็นการประเมินเพื่อทำกิจกรรม         แล้วจึงเลือกกิจกรรมสวนบำบัดมาทำกับเด็ก เช่น เด็กคนนี้ต้องการฝึกการเคลื่อนไหว การนั่ง การยืน ก็จะหากิจกรรมที่ทำให้เด็กได้ยืน ซึ่งอาจจะต้องทำสวนผักแนวตั้งเพื่อให้เกิดการยืนทำกิจกรรม แต่ถ้าเด็กนั่งได้ยืนได้ แต่มือไม่ค่อยมีแรงหรือหยิบจับไม่ค่อยดีก็อาจทำกิจกรรมศิลปะจากใบไม้เพื่อให้เกิดการหยิบจับ เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กที่มือ หรือถ้ามีปัญหาเรื่องการนับเลขก็อาจทำกิจกรรมการนับเมล็ดพืช ครูสวนบำบัดจะรู้ว่าเด็กคนนี้ต้องการอะไร ทำกิจกรรมให้ และประเมินว่าเด็กทำได้หรือไม่ได้ ทำได้ดีหรือไม่ ถ้าทำได้เพราะอะไร ทำไม่ได้เพราะอะไร แล้วกิจกรรมต่อไปที่สามารถฝึกเพิ่มขึ้นจะเป็นอะไร  เวลานี้มีการใช้กิจกรรมสวนบำบัดแพร่หลายมากแค่ไหนในประเทศไทย          ตอนนี้สวนบำบัดในเมืองไทยผมเข้าใจว่ามีการกระจายไปประมาณ 30-40 แห่ง โดยเฉพาะในศูนย์บริการผู้พิการบางแห่ง โรงพยาบาลบางแห่งก็เริ่มทำสวนบำบัด เช่นที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์หรือสถานสงเคราะห์ผู้พิการในจังหวัดนนทบุรี มูลนิธิบางแห่งก็เริ่มใช้ ที่สำคัญน่าจะมีครอบครัวมากกว่า 30 ครอบครัวที่มีการทำสวนบำบัด โดยเฉพาะที่สกลนครมีเครือข่ายของบุคคลออทิสติกก็มีการใช้สวนบำบัดกับเด็กพิการ         บางครอบครัว แม่รู้สึกว่าเวลาที่ทำสวนบำบัดให้ลูก ตัวแม่เองนั่นแหละที่เป็นผู้รับการบำบัด เพราะการดูแลผู้พิการจะมีความเครียดโดยที่ไม่รู้ตัว แต่พอมาทำสวนบำบัดแล้ว เขารู้สึกผ่อนคลาย ขณะที่ตัวลูกซึ่งเดิมก็ไม่ได้สนใจทำกิจกรรมอะไรมาก แต่เมื่อมาทำสวนบำบัดเด็กพิการส่วนใหญ่ชอบและเข้าร่วมกิจกรรม เมื่อเทียบกับกิจกรรมด้านกายภาพบำบัดหรืออื่นๆ ทางมูลนิธิจึงพยายามผลักดันให้สวนบำบัดเข้าไปเป็นหนึ่งในบริการของกระทรวงสาธารณสุข ในประกาศ ‘การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสําหรับคนพิการ พ.ศ.2552?          เราอยากจะให้ทางกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้สวนบำบัดเป็นบริการที่ 27 เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและจัดบริการขึ้นในสถานบริการสาธารณสุขที่มีความพร้อม การประกาศนี้จะมีความสำคัญอยู่ 2 ระดับ ระดับที่ 1 คือกระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญว่ากิจกรรมสวนบำบัดเป็นกิจกรรมที่สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการได้ ระดับที่ 2 ตอนนี้ศูนย์บริการผู้พิการทั่วไปซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ตกลงร่วมกันและยอมรับว่า ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปถือเป็นสถานบริการสาธารณสุขประเภทหนึ่งของ สปสช. ด้วย ดังนั้น ถ้ากระทรวงสาธารณสุขยอมรับกิจกรรมสวนบำบัดก็จะเป็นร่มนโยบายใหญ่ว่า ต่อไปศูนย์บริการผู้พิการต้องจัดกิจกรรมสวนบำบัดเพราะเป็นนโยบายของกระทรวง ก็จะเกิดความร่วมมือของทั้ง 3 ส่วน         สำหรับโรงพยาบาล ถ้าจัดบริการสวนบำบัดและประชาชนเข้ามารับบริการ ถ้ากิจกรรมสวนบำบัดอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. เมื่อไหร่ก็สามารถรับบริการฟรีได้ แต่ตอนนี้ยังไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ การที่จะเข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก เช่น มีงานวิจัยในประเทศไทยหรือยังที่พูดถึงประสิทธิผลของมัน หรือถ้าจะจัดให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์จะมีภาระค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน มีบุคลากรที่จะให้บริการที่มีคุณภาพหรือยัง และประชาชนสามารถเข้าถึงได้แค่ไหน สิ่งเหล่านี้ต้องการศึกษาก่อนที่จะประกาศอยู่ในชุดที่ประโยชน์ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 รู้เท่าทันการบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง

        วิทยาการทางการแพทย์ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดวิธีการรักษาใหม่ๆ ตลอดเวลา วิธีการใหม่ในระยะแรกก็จะอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย เมื่อได้ผลและมีความปลอดภัยก็จะรับเข้าเป็นวิธีการที่ยอมรับทางการแพทย์ แต่หลายวิธีเมื่อพบว่าไม่ได้ผล หรือมีอันตราย วิธีการนั้นก็จะถูกปฏิเสธหรือไม่ได้รับความนิยม ปัจจุบัน มีการบำบัดด้วยการใช้ออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนหลายแห่ง วิธีการนี้ดีจริงหรือไม่ บำบัดโรคหรืออาการอะไร เรามารู้เท่าทันกันเถอะ การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงคืออะไร         ปกติแล้ว การบำบัดด้วยออกซิเจนเป็นการรักษาทั่วไปสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องออกซิเจนด้วยการให้ออกซิเจนที่มีความเข้มข้นสูงกว่าความเข้มข้นปกติในบรรยากาศ ซึ่งเราเห็นได้ในโรงพยาบาลทั่วๆ ไป หรือผู้ป่วยติดเตียงที่รักษาอยู่กับบ้าน ก็สามารถใช้ออกซิเจนที่บ้านได้เช่นเดียวกัน        ส่วนการบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy) นั้น เป็นการรักษาโดยให้ผู้ป่วยหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ใน “ห้องปรับบรรยากาศ” (Hyperbaric Chamber) ที่มีความดันภายในสูงกว่า 1 บรรยากาศ เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนในประมาณสูงกว่าการหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ที่บรรยากาศปกติ เป็นการรักษาเสริมหรือเพิ่มเติมอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ร่วมกับการรักษาทางอายุรกรรมและศัลยกรรม การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงบำบัดอะไรได้บ้าง        ภาวะบ่งชี้ในการรักษาด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง ตามสมาคมเวชศาสตร์ใต้น้ำและเวชศาสตร์ความกดบรรยากาศสูงของสหรัฐอเมริกา (Undersea and Hyperbaric Medicine Society, UHMS) มีได้ถึง 13 โรค  ได้แก่ โรคฟองแก๊สอุดตันในหลอดเลือดแดง (Air or Gas Embolism )  โรคคาร์บอนมอนนอคไซด์เป็นพิษ / การสำลักควันไฟ การติดเชื้อของเนื้อเยื่อจากแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจน เป็นต้น โดยพื้นฐานแล้ว การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงเป็นวิธีการรักษามาตรฐานสำหรับโรคฟองแก๊สอุดตันในหลอดเลือดแดงซึ่งเกิดในนักดำน้ำลึก แต่ก็มีการนำมาใช้รักษาโรคต่างๆ ที่ต้องการให้ออกซิเจนเข้าไปในบริเวณที่ขาดเลือดหรือขาดออกซิเจน การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงได้ผลจริงหรือไม่         การทบทวนงานวิจัยต่างๆ ของ PubMed, Medline และ Cochrane พบว่า มีงานวิจัยการใช้ออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงจำนวนมาก มีการใช้บำบัดโรคต่างๆ ตั้งแต่ แผลเรื้อรัง แผลเฉียบพลัน ผิวหนังที่รับรังสีบำบัด โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง จนถึงเด็กสมองพิการ เด็กสมาธิสั้น         การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงในผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นแผลเรื้อรังที่เท้า สามารถรักษาแผลให้หายในระยะสั้น แต่ไม่ได้ผลในระยะยาว และต้องการงานวิจัยมากกว่าที่มีอยู่และต้องมีคุณภาพ         มีงานวิจัยจำนวนน้อยเกี่ยวกับเนื้อเยื่อที่ขาดเลือดเลี้ยงที่เกิดจากรังสีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งประเภทต่างๆ พบว่าเนื้อเยื่อดีขึ้น แต่ยังต้องการวิจัยเกี่ยวกับประเภทผู้ป่วยและเนื้อเยื่อ ระยะเวลาในการรักษา และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ         แต่การใช้ในการบำบัดโรคหัวใจขาดเลือด อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง เด็กสมองพิการ พบว่าไม่ได้ผลดี         สรุป  การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงนั้นยังต้องการการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพเพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงประสิทธิผลของการรักษาโรคต่างๆ ตามที่อ้าง และเนื่องจากมีราคาสูง จึงต้องประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจกับประสิทธิผลที่ได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 รู้เท่าทันการอยู่กับธรรมชาติ

ฉบับนี้ขอนำเรื่องเบาๆ แต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมากมาเล่าสู่กันฟัง คนส่วนใหญ่เชื่อว่า การกินสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และยาบำรุงต่างๆ จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ดังนั้นตลาดธุรกิจด้านนี้จึงเติบโตอย่างรวดเร็วและมีมูลค่ามหาศาล ความจริงแล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้สุขภาพดีขึ้นอย่างมากมายโดยที่ไม่ต้องเสียเงินทองไปซื้อหา นั่นคือ การอยู่กับธรรมชาติวันละ 20 นาที เรามารู้เท่าทันกันเถอะ จะใช้เวลาเท่าไหร่ในการอยู่กับธรรมชาติจึงจะเกิดผลดีต่อสุขภาพ        จริงๆ แล้วทุกคนรู้ว่าธรรมชาติดีต่อร่างกาย แต่ที่สำคัญคือ จะใช้เวลามากน้อยแค่ไหนที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพ งานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสารแนวหน้าทางจิตวิทยา นักวิจัยพยายามศึกษาว่า เวลาที่ใช้อยู่กับธรรมชาติที่เกิดประโยชน์สูงสุดในชีวิตประจำวันนั้นควรเป็นเท่าไหร่         แพทย์แผนปัจจุบันจำนวนมากหันมาสั่งให้ผู้ป่วยใช้ธรรมชาติบำบัดอาการเครียดและเสริมสร้างสุขภาพ และเรียกชื่อว่า “ธรรมชาติโอสถ” ศาสตราจารย์แมรี่แครอล ฮันเตอร์ จากคณะสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่า “การศึกษาพบว่า เราควรใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ ไม่ว่าจะนั่งหรือเดินในสถานที่ที่ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ประมาณ 20-30 นาที จะเกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่ก่อให้เกิดความเครียด”         ธรรมชาติโอสถมีราคาถูก และมีความเสี่ยงต่อสุขภาพน้อย ศาสตราจารย์ฮันเตอร์และทีมงานทำการศึกษาผู้อยู่อาศัยใน 36 เมือง โดยให้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างน้อยวันละ 10 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ทำการเก็บน้ำลายผู้เข้าร่วมการวิจัยทุก 2 สัปดาห์ เพื่อวัดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล ก่อนและหลังสัมผัสธรรมชาติโอสถ พบว่า เพียงแค่ 20 นาทีที่สัมผัสกับธรรมชาติจะลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล ช่วงระยะเวลาที่เหมาะที่สุด จะอยู่ระหว่าง 20-30 นาที การอยู่กับธรรมชาติสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงในสวนและป่าจะเสริมสร้างสุขภาพเป็นอย่างดี         งานวิจัยในวารสารนานาชาติ  International Journal of Environmental Health Research พบว่า การอยู่กับธรรมชาติ 20 นาทีในสวนสาธารณะทำให้เกิดความสุข โดยไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายร่วมด้วย ในญี่ปุ่นมีการอาบป่าเพื่อสุขภาพ         ในญี่ปุ่นนั้นมีกิจกรรมการอาบป่าหรือป่าบำบัด  โดยเริ่มตั้งแต่ทศวรรษ ค.ศ.1980  เรียกว่า ชินริน โยขุ (Shinrin yoku) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก  ป่าบำบัดหรือการอาบป่า(Forest Bathing) เป็นวิถีทางที่ทรงพลังในการเสริมสร้างสุขภาวะทั้งทางร่างกายและจิตใจ ความเรียบง่ายของป่าบำบัดคือ การใช้ช่วงเวลาและห้วงคำนึงในป่า จมดิ่งอยู่กับผัสสะต่างๆ ที่เกิดขึ้น        ป่าบำบัดมีประโยชน์ต่อสุขภาพ การได้สัมผัสธรรมชาติ การเจริญสติ ในการอาบป่าหลอมรวมให้เกิดคุณค่าและประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจ การเดินในป่าทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย  ฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยเร็วขึ้น และลดความดันเลือด  ลดความเครียด เพิ่มสมาธิ และปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ ช่วยลดอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล         การอาบป่าถูกนำไปใช้ในประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริกา เพื่อลดความเครียดจากวิถีชีวิตสมัยใหม่ กิจกรรมที่เป็นที่นิยมคือ การเดินป่าในวันหยุดสุดสัปดาห์           สรุป  ธรรมชาติโอสถวันละ 20-30 นาทีจะเป็นยาที่ดีที่สุด ถูกที่สุดในการลดความเครียดและเสริมสร้างสุขภาวะของทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 กระแสต่างแดน

มูลค่าความเขียว        บริษัทด้านไอทีอย่าง facebook  Apple และ Google ต้องใช้พลังงานมหาศาลเพื่อการทำงานของศูนย์ข้อมูล พวกเขาจึงเลือกที่จะตั้งศูนย์ดังกล่าวในประเทศเดนมาร์ก ซึ่งผลิตพลังงานทางเลือกได้เหลือเฟือ        รัฐบาลเดนมาร์กเรียกเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านี้ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 400 ล้านโครน (1,900 ล้านบาท) แต่เงินจำนวนนี้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินที่ใช้ลงทุนเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากฟาร์มกังหันลมในทะเล         และในอนาคตเดนมาร์กอาจมีพลังงานทางเลือกไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศและต้องกลับไปพึ่งพาพลังงานฟอสซิล มีการคาดการณ์ว่าศูนย์ฯ เหล่านี้จะบริโภคร้อยละ 17 ของพลังงานไฟฟ้าในประเทศในปี 2030        พรรคฝ่ายค้านออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล “แบน” ศูนย์ข้อมูลเหล่านี้จนกว่าจะมีกฎหมายที่สร้างความมั่นใจได้ว่า จะไม่มีผู้ประกอบการต่างชาติมาอาศัยชุบตัวด้วยภาพลักษณ์ “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ไปฟรีๆ ด้วยภาษีคนเดนมาร์ก ระวังถูกเท        ธุรกิจที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุดในสิงคโปร์ในปี 2018 ได้แก่ธุรกิจความงามและสุขภาพ สมาคมผู้บริโภคของสิงคโปร์(CASE) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริการนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 30         กว่าครึ่งของเรื่องร้องเรียน 1,829 เรื่อง เป็นกรณีที่ผู้ร้องถูกลอยแพโดยธุรกิจที่ปิดตัวกะทันหัน และผู้ที่ถูก “หลอกขาย” หรือทำให้เข้าใจผิดเรื่องค่าบริการ        ตัวอย่างเช่น มูลค่าความเสียหายจากการปิดกิจการของแฟรนไชส์ร้านนวด Traditional Javanese Massage Hut อยู่ที่ 200,000 เหรียญ(4.7 ล้านบาท)        อีกกรณีหนึ่ง ผู้บริโภคถูกหลอกให้เซ็นใบเรียกเก็บค่าบริการ 2,800 เหรียญ(66,000 บาท) ขณะสาละวนสวมเสื้อผ้าหลังรับบริการที่เข้าใจว่ามูลค่าเพียง 28 เหรียญ        สมาคมสปาและสุขภาพของสิงคโปร์บอกว่า ธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูงและมีต้นทุนการดำเนินการค่อนข้างมาก แต่ก็มีผู้เล่นหน้าใหม่ ซึ่งเป็นกิจการขนาดเล็กเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ประหยัดผิดจุด         ทางการเยอรมนีตรวจสอบพบว่าผู้ประกอบการรถบรรทุกหลายร้อยคันแอบใช้ตัวช่วย “ปิด” ระบบบำบัดไอเสียเพื่อลดต้นทุน         จากรถบรรทุก 13,000 คันที่ตรวจสอบ เขาพบ “ความผิดปกติ” 300 คัน และจากเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว  เขาพบ “รถผิดปกติ” ถึง 132 คัน ที่น่าตกใจคือมีถึง 84 คันที่ผิดพลาดโดยจงใจ           การติดตั้งอุปกรณ์ขนาดเล็กจิ๋วและการใช้ซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อนยากแก่การตรวจจับ ทำให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึงหนึ่งในสามของต้นทุนการวิ่งรถตามมาตรฐานยูโร 5 หรือ 6         อุปกรณ์ที่ว่านี้บ้างก็หลอกซอฟท์แวร์ควบคุมเครื่องยนต์ให้เข้าใจว่าคาตาแลคติกคอนเวอร์เตอร์ยังทำงานอยู่ บ้างก็ขึ้นผลอุณหภูมิหลอกๆ เพื่อปิดระบบการบำบัดไอเสียที่อุนหภูมิต่ำกว่า -11 เซลเซียส         เมื่อระบบถูกปิด รถเหล่านี้จึงสามารถปล่อยมลพิษออกมาได้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไนโตรเจนไดออกไซต์ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือดระวังติดไฟ        หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 ที่เมืองฟุกุชิมะ คนญี่ปุ่นเริ่มหันมานิยมใช้หลอดไฟ LED กันมากขึ้นเพราะประหยัดไฟและใช้ได้นานกว่า        แต่สถิติอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับหลอดดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน  สิบปีที่ผ่านมามีอุบัติเหตุดังกล่าวถึง 328 ครั้ง และมักเกิดขึ้นขณะที่ทำการเปลี่ยนหลอดไฟ ไม่ว่าจะเปลี่ยนจากหลอดแบบฟลูโอเรสเซนท์มาเป็นหลอด LED หรือเปลี่ยนหลอดไฟ LED หลอดใหม่        โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเต้าเดิมเป็นแบบที่ปรับความสว่างได้ หลอด LED จะร้อนจัดจนเกิดควันหรือเกิดไฟลุกขึ้นได้ จาก 328 ครั้ง มีถึง 23 ครั้งที่ทำให้เกิดไฟไหม         สำนักงานกิจการผู้บริโภคของญี่ปุ่นจึงออกประกาศเตือนและเรียกร้องให้ผู้บริโภคอ่านฉลากให้ดีว่าควรใช้กับขั้วแบบไหนและย้ำว่าหากมีข้อสงสัยให้สอบถามกับทางร้านก่อนลงมือเปลี่ยน ขอใบเสร็จด้วย        สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีนเรียกร้องให้บริการไฟแนนซ์รถมีความโปร่งใสมากขึ้นและบรรดาตัวแทนขายรถควรมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีขึ้น        ที่ผ่านมาพบการอุปโลกน์ค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มยอดหนี้ บางเจ้าบังคับให้ผู้บริโภคซื้อประกันรถยนต์โดยไม่ออกใบเสร็จ และบางเจ้าก็เรียกเก็บ “ค่าบริการ” ซึ่งผู้บริโภคไม่ทราบว่าเป็นค่าบริการอะไร เพราะไม่ได้รับใบเสร็จ           สมาคมฯ ย้ำว่าตัวแทนจำหน่ายมีหน้าที่จัดหาสินค้ามีคุณภาพ และหากไม่ปฏิบัติตามและไม่แสดงความรับผิดชอบก็ควรได้รับโทษตามกฎหมาย        ก่อนหน้านี้มีสาวจีนโพสต์บอกชาวเน็ตว่ารถเบนซ์ CLS300 ที่เธอเพิ่งจะซื้อเมื่อปลายเดือนมีนาคมมีปัญหาเครื่องยนต์แต่ตัวแทนขายไม่สามารถขอเงินคืนหรือขอเปลี่ยนรถได้        เธอคนนี้ก็โดนเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียม” ลึกลับ ไป 15,000 หยวน(71,000 บาท) เหมือนกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 รู้เท่าทันผึ้งบำบัด

นอกจากการใช้ปลิง หอยทาก ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ แล้ว  การแพทย์ทางเลือกและการแพทย์เสริมยังนิยมใช้ผึ้งต่อยหรือฝังเหล็กในที่ร่างกายผู้ป่วยเพื่อเป็นการบำบัดโรคปวดข้อ ข้อเสื่อมอีกด้วย  การบำบัดด้วยพิษจากเหล็กในของผึ้งได้ผลจริงหรือไม่  เรามารู้เท่าทันกันเถอะ พิษของผึ้งมีผลอย่างไรต่อร่างกาย การบำบัดด้วยเหล็กในผึ้งเป็นการรักษาแบบพื้นบ้าน ซึ่งนิยมใช้ในหลายประเทศมานานหลายศตวรรษ  ในการแพทย์ดั้งเดิมใช้ในการบำบัด ข้ออักเสบ ภูมิต้านทานร่างกายผิดปกติ  พิษจากเหล็กในผึ้งประกอบด้วยสารประกอบต่างๆ ประมาณ 40 ชนิดที่ช่วยในการเยียวยา โดยเฉพาะสารเมลิตติน (melittin)  ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดการอักเสบและข้ออักเสบผู้คนเชื่อว่า พิษของผึ้งมีผลในการลดความเจ็บปวด ช่วยบรรเทาอาการของโรคต่างๆ ตั้งแต่ ข้ออักเสบ เอ็นอักเสบ กล้ามเนื้อพังผืดอักเสบ  รูมาตอยด์ ปลอกประสาทอักเสบ เป็นต้น  บางเว็บไซต์อ้างว่าบำบัดอาการต่างๆ ได้มากกว่า 30 โรค สมมติฐานทางการแพทย์เชื่อว่า พิษของเหล็กในผึ้งจะไปกระตุ้นต่อมหมวกไตเพื่อหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งมีคุณสมบัติในการลดอาการอักเสบ  นอกจากนี้ พิษของเหล็กในผึ้งยังไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเพื่อไปเยียวยาส่วนต่างๆ และยังไปสร้างสารเอ็นโดรฟิน ซึ่งลดความเครียดและลดอาการปวดของร่างกาย  นอกจากนี้พิษเหล็กในผึ้งยังมีคุณสมบัติในการต่อสู้กับแบคทีเรีย ไวรัส ในระบบประสาทส่วนกลางและที่อื่นๆมีอาการแพ้พิษจากเหล็กในผึ้งได้หรือไม่ ในสหรัฐอเมริกา มีผู้มีประสบการณ์การบำบัดด้วยผึ้งประมาณ 65,000 คน ซึ่งมีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่มีอาการแพ้  แม้ว่าพิษของเหล็กในผึ้งจะไม่สามารถบำบัดได้ทุกอาการ แต่ก็สามารถทำให้อาการต่างๆ สงบลงได้โดยไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายเมื่อเทียบเท่ากับยา ในสหราชอาณาจักร พบว่า ในแต่ละปี มีผู้เสียชีวิตจากการแพ้พิษจากเหล็กในผึ้ง 2- 9 ราย  ดังนั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการแพ้ จึงมีการฉีดพิษเหล็กในผึ้งที่บริสุทธิ์เข้าใต้ผิวหนังทีละน้อย และค่อยๆ เพิ่มขึ้น แทนที่จะใช้ผึ้งเป็นๆ มาต่อยที่ผิวหนัง จาการทบทวนเอกสาร พบงานวิจัย 145 รายงาน   พิษเหล็กในผึ้งก่อให้เกิดความเสี่ยงในการแพ้ถึง ร้อยละ 261 เมื่อเทียบกับการฉีดด้วยน้ำเกลือ  อาการแพ้พิษเกิดได้บ่อย จึงสมควรที่นักบำบัดจะต้องระวังเมื่อใช้ผึ้งบำบัด และต้องได้รับการอบรมตามมาตรฐานพิษจากเหล็กในผึ้งบำบัดโรคได้จริงหรือไม่ จากการทบทวนวรรณกรรมใน PUBMED, EMBASE และ Cochrane Library เกี่ยวกับการบำบัด       ข้ออักเสบ ด้วยพิษเหล็กในผึ้ง  มีงานวิจัย 15 รายงาน พบว่า พิษจากเหล็กในผึ้งมีผลในการลดการอักเสบและอาการปวด  มี 5 รายงานที่แสดงว่า พิษจากเหล็กในผึ้งมีประสิทธิผลในการบำบัดข้ออักเสบ มีการทบทวนการวรรณกรรมการใช้พิษเหล็กในผึ้งในการบำบัดมะเร็งเช่น  มะเร็งที่ไต ปอด ตับ ต่อมลูกหมาก กระเพาะปัสสาวะ เต้านม และมะเร็งเม็ดเลือดขาว  พบว่า สารเมลิตตินและฟอสฟอไลเปส A2 สามารถจับเซลล์มะเร็ง และมีผลทำให้เซลล์มะเร็งตายได้  ซึ่งจะเป็นแนวทางในการศึกษาต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการทบทวนวรรณกรรมในการใช้พิษเหล็กในผึ้งในการรักษารูมาตอยด์ อาหารปวดหลังส่วนล่าง ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก และอื่นๆ อีกจำนวนมากสรุป การบำบัดด้วยพิษเหล็กในผึ้งนั้น มีหลักฐานการวิจัยมากพอควรว่ามีประสิทธิผลในการรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะ ข้ออักเสบ รูมาตอยด์ อาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ทั้งนี้เพราะ พิษจากเหล็กในผึ้งมีผลในการลดการอักเสบและอาการปวด  รวมทั้งมีผลต่อภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งมีผลดีในผู้ที่มีปัญหาภูมิต้านทานของร่างกายผิดปกติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 รู้เท่าทันหอยทากบำบัด

ฉบับนี้ขอนำเรื่องหอยทากบำบัดมาเล่าสู่กันฟัง เพราะหลายคนคงจะได้เห็นโฆษณากันตามท้องถนน และสื่อออนไลน์มากพอสมควร  หอยทากบำบัดที่ใช้เพื่อความงามของใบหน้าได้ผลจริงหรือไม่ มารู้เท่าทันกันเถอะมีการใช้หอยทากบำบัดมานานแค่ไหน มีการใช้หอยทากเพื่อการบำบัดมา ตั้งแต่สมัยของฮิปโปรเครตีส (460-370 ก่อนคริสตกาล)  เพื่อใช้ในการรักษาโรคถุงน้ำของไขสันหลัง นอกจากนี้ ยังใช้รักษาอาการปวดที่เกี่ยวกับแผลไหม้ ฝี และบาดแผล  ในคริสตศตวรรษที่ 18 มีการใช้สารจากหอยทากมาทำเป็นยาทาภายนอกเพื่อรักษาโรคผิวหนัง และยารักษาอาการของวัณโรคและไตอักเสบ  เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ให้ความสนใจหอยทากบำบัด  ปีค.ศ. 1999 มีการทบทวนยา  Ziconotide (SNXIII) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์จากพิษของหอยทากและใช้ลดอาการปวด  พบว่า การศึกษาในระดับพรีคลินิกและระดับคลินิกมีความน่าสนใจเมือกของหอยทากมีสรรพคุณอะไรบ้าง เมือกของหอยทากมีสารที่นำมาสกัดมากมาย เช่น  helicidine, pertussidine, pomaticine   โดยจะนำหอยทากมาแช่ในน้ำเกลือ 1%  หอยทากจะคายเมือกออกมา  ในน้ำเมือกย่อยอาหารของหอยทากจะมีเอนไซม์มากกว่า 30 ชนิด และยังมีเอนไซม์จากเมือกจากส่วนอื่นๆ อีกหลายชนิด  เมือกเหล่านี้ บางชนิดมีสรรพคุณต่างๆ เช่น การละลายเสมหะในทางเดินหายใจในห้องปฏิบัติการ เป็นต้นปัจจุบันยังนิยมใช้หอยทากบำบัดหรือไม่ ปัจจุบันมีความสนใจจากทางการแพทย์มากขึ้นในการนำประโยชน์จากหอยทากมาใช้ในการรักษาคน  นอกจากใช้เป็นยาที่ช่วยขับเสมหะแล้ว ยังพบว่า หอยทาก Helix pomatia ซึ่งเป็นหอยทากชนิดหนึ่งที่ใช้กินเป็นอาหาร  อาจนำมาใช้ในการบ่งชี้การทำนายโรคของมะเร็งเต้านม กระเพาะอาหาร และลำไส้ใหญ่ นักวิจัยยังพบว่า ประชากรในเกาะครีต ประเทศกรีซ มีการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่าประชากรในอเมริกา เนื่องจากประชากรในครีตบริโภคหอยทากเป็นปริมาณมาก  หอยทากมีปริมาณของ α-linolenic acid จำนวนมาก  ซึ่งป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดกระแสการใช้หอยทากเพื่อความงาม ในแวดวงความงาม สปา มีการใช้หอยทากในการบำบัดรอยเหี่ยวย่นของใบหน้า ช่วยทำให้ใบหน้ากลับมาเป็นหนุ่มสาวมากขึ้น เพราะเชื่อว่าเมือกเหนียวๆ ของหอยทากจะช่วยให้ผิวหน้ากลับมาเต่งตึงเหมือนผิวคนหนุ่มสาว  มีการประชาสัมพันธ์ผ่านดารา ผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มาใช้บริการและอ้างว่าได้ผลดี  ทำให้ผู้คนแห่ไปใช้บริการจากหอยทากเพื่อความงามจำนวนมาก ตั้งแต่ญี่ปุ่น อังกฤษ อินเดีย จนถึงไมอามี สหรัฐอเมริกา เป็นต้น  ประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า มีการบำบัดด้วยหอยทากที่สปาเชียงใหม่ และกรุงเทพมหานครประโยชน์ของหอยทากในการบำบัด เมื่อทบทวนจากเอกสารทางวิชาการ มีการศึกษาประโยชน์ของหอยทากจำนวนมาก  แต่แทบทั้งหมดจะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการบำบัดรักษาโรค โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับมะเร็ง โดยศึกษาในการทำนายโรคของมะเร็งและการใช้เพื่อชะลอการแพร่กระจายและลุกลามของมะเร็ง สรุป  การใช้หอยทากบำบัดมีมานานหลายพันปีจวบจนปัจจุบัน  มนุษย์มีความเชื่อว่า หอยทากเป็นสัตว์ที่มีสรรพคุณในการรักษาและเยียวยาโรคต่างๆ  ในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน มีการนำเมือกจากหอยทากมาผลิตเป็นยาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ  มีการศึกษาเพื่อใช้ในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด  ลดอาการปวดรุนแรง และโรคมะเร็ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 รู้เท่าทันเซลล์บำบัดหรือสเต็มเซลล์บำบัด ตอนที่ 3

อย่างที่กล่าวแล้วในฉบับก่อนว่า ทางการแพทย์แผนปัจจุบันยอมรับการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด  เป็นการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดหรือเซลล์บำบัดที่เป็นการรักษามาตรฐานในโรคไขกระดูกฝ่อ มะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้งชนิดเฉียบพลันและและเรื้อรัง  โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย  โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ตลอดจนโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง  นอกเหนือจากนี้ยังอยู่ในขั้นการศึกษาวิจัยเท่านั้นแนวทางการศึกษาวิจัยการนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้ในการรักษาโรคต่างๆ    แนวทางในการศึกษาวิจัยเพื่อนำเซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรคนั้นมี 2 ลักษณะ ได้แก่ การรักษาด้วยเซลล์บำบัด (cell therapy)  และด้วย การสร้างเนื้อเยื่อ (tissue engineering)    เซลล์บำบัดใช้คุณสมบัติที่เซลล์ต้นกำเนิดสามารถเพิ่มจำนวน และพัฒนาไปเป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่อของอวัยวะอื่นที่ไม่ใช่เซลล์ของอวัยวะดั้งเดิม เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมและสิ่งกระตุ้นที่เหมาะสม    การสร้างเนื้อเยื่อนั้นอาศัยการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดบนโครงร่างที่ต้องการ เพื่อให้เซลล์เกาะยึดและเจริญเติบโตตามรูปร่างของโครงร่าง จากนั้นจึงนำเนื้อเยื่อไปใช้ในการรักษาผู้ป่วย    ปัจจุบัน มีการศึกษาวิจัยการใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรคที่มีแนวโน้มว่าได้ผลดี ได้แก่โรคหัวใจ    เริ่มมีการศึกษาผู้ป่วยโรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน โดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูกของผู้ป่วย ในปี ค.ศ. 2002  หลังจากนั้นมีรายงานการศึกษาจำนวนมากตามมาจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่ามีความปลอดภัย  ผลการศึกษาในผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ที่สุดในโครงการ REPAIR-AMI โดย Schachinger V, Erbs S, Elsasser A et al. ซึ่งตีพิมพ์ใน New England Journal of  Medicine 355, 1210-1221 (2006) ว่ามีแนวโน้มที่ดีในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย  แต่ยังไม่ทราบกลไกที่ชัดเจน     โรคกระจกตา    การศึกษาวิจัยที่ได้ผล ได้แก่ การเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดผิวกระจกตาเพื่อปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระจกตา เช่น กระจกตาได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ สารเคมี การแพ้ยาอย่างรุนแรง และการติดเชื้อ เป็นต้น  ในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีกระจกตาอีกข้างหนึ่งเป็นปกติ  สามารถนำเซลล์ต้นกำเนิดจากผิวกระจกตาข้างที่ดีมาเพาะเลี้ยงบนเยื่อหุ้มรก แล้วนำไปปลูกถ่ายให้กับตาข้างที่เสียหายได้  เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรคกระจกตาสามารถเป็นการรักษามาตรฐานในอนาคตอันใกล้นี้    กระดูกอ่อน    การสร้างเนื้อเยื่อของกระดูกอ่อนสามารถรักษาโรคได้คือ การนำเซลล์กระดูกอ่อนของผู้ป่วยมาเพาะเลี้ยงในห้องทดลองให้มีจำนวนมากพอ โดยใส่รวมกับโครงร่างคอลลาเจน  แล้วนำไปรักษาบริเวณกระดูกอ่อนของผิวข้อที่เสื่อมของผู้ป่วย  คาดว่าจะพัฒนาเป็นการรักษามาตรฐานได้ในอนาคตอันใกล้นี้    ทั้ง 3 โรคนี้ มีแนวโน้มที่ดีในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษา แต่อย่างไรก็ตามยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย  ยังไม่เป็นการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์  สิ่งที่น่าเป็นห่วง    สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ มีการโฆษณาโดยธุรกิจสุขภาพทั้งในและต่างประเทศว่า สามารถรักษาโรคและอาการต่างๆ เช่น มะเร็ง สมองเสื่อม โรคหัวใจ โรคชรา เป็นต้น ด้วยการใช้เซลล์บำบัด  มีการเจาะเลือดผู้ป่วยส่งไปต่างประเทศเพื่อไปทำเป็นสเต็มเซลล์ในการบำบัดโรคต่างๆ และส่งกลับมาเมืองไทยเพื่อฉีดเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย  บางรายมีโปรแกรมพาผู้ป่วยไปรักษาตัวด้วยสเต็มเซลล์ที่ต่างประเทศเลยก็มี     ความเห็นและประกาศของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมวิชาชีพด้านอายุรศาสตร์เฉพาะทางของประเทศไทย(ระบบประสาทวิทยา โรคผิวหนัง โรคหัวใจ โรคไต และโรคระบบโลหิตวิทยา) พ.ศ. 2556 ว่า “จากองค์ความรู้ที่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้น ยังคงจำกัดการรักษาเฉพาะการนำสเต็มเซลล์ ที่ได้จากเซลล์ของไขกระดูกของผู้ป่วยเองหรือพี่น้องของผู้ป่วยที่เป็นโรคทางระบบโลหิตวิทยาบางโรคมาใช้เท่านั้น โดยโรคทางระบบโลหิตวิทยาที่แพทย์สามารถใช้สเต็มเซลล์รักษาและเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิการรักษาได้มีเพียง 5 โรคเท่านั้น ได้แก่ มะเร็งเม็ดโลหิตขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ไขกระดูกฝ่อ มะเร็งมัยติเพิลมัยอิโลมา (มะเร็งเม็ดเลือดขาว) และโลหิตจางธาลัสซีเมีย           ยังไม่มีผลการศึกษาที่ยืนยันได้ชัดเจนว่า สามารถนำสเต็มเซลล์มารักษาโรคอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือสามารถยืดชีวิต ชะลอความเสื่อมสมรรถภาพของอวัยวะ หรือช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตแก่ผู้ป่วยอย่างได้ผลในระยะยาว”

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 171 รู้เท่าทันเซลล์บำบัดหรือสเต็มเซลล์บำบัด ตอนที่ 2

ทางการแพทย์แผนปัจจุบันยอมรับการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดหรือเซลล์บำบัดที่เป็นการรักษามาตรฐานทางการแพทย์ในปัจจุบันคือ การปลูกถ่ายไขกระดูก หรือการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด  ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษาโรคไขกระดูกฝ่อ มะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้งชนิดเฉียบพลันและและเรื้อรัง  โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย  โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ตลอดจนโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น                  การใช้เซลล์บำบัดในโรคเลือดนั้นต้องหาไขกระดูกที่เข้ากันได้ เช่น การปลูกถ่ายเซลล์บำบัดรักษาธาลัสซีเมียในเด็กจะได้ผลดีกว่าผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเนื่องจากการรักษาไขกระดูกจะต้องมีการให้ยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งธาลัสซีเมียในปัจจุบันนี้รักษาด้วยยาจะได้ผลดีกว่าการใช้เซลล์บำบัด             สำหรับมะเร็งในเลือด  การรักษาด้วยเซลล์บำบัดไม่ใช่ว่าใช้เซลล์ต้นกำเนิดไปฆ่ามะเร็ง แต่ต้องใช้ยาไปทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดในร่างกายก่อน แล้วจึงปลูกระบบเลือดขึ้นมาใหม่ทั้งหมด  ทางการแพทย์จะใช้เซลล์ผู้อื่นมากกว่าเซลล์ของผู้ป่วยเพราะอาจมีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายอยู่ทำให้หวนกลับมาเป็นมะเร็งใหม่ได้อีก  อย่างไรก็ตามต้องเป็นเซลล์ของผู้อื่นที่เข้ากันกับผู้ป่วยได้   ความเชื่อที่ผิดๆ                      ประชาชนมักจะมีความเข้าใจที่ผิดว่า เมื่อเซลล์ต้นกำเนิดสามารถไปรักษาหรือแบ่งตัวแทนที่เซลล์ที่ชำรุดเสียหายได้ ก็เพียงแค่ฉีดเซลล์ต้นกำเนิดไปตามเส้นเลือด เซลล์ต้นกำเนิดนั้นๆ ก็จะไปสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาแทนที่เซลล์หรืออวัยวะที่เสียหายไป             ประชาชนมักจะถูกการโฆษณาชวนเชื่อจากธุรกิจสุขภาพให้หลงเข้าใจผิดว่า การฉีดเซลล์ต้นกำเนิดเข้าไปในเส้นเลือด เซลล์จะวิ่งไปหาอวัยวะที่บาดเจ็บเอง  เซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูกบางชนิดมีการวิ่งไปอวัยวะที่บาดเจ็บจริง แต่เมื่อไปถึงแล้วเซลล์ต้นกำเนิดจะทำการซ่อมแซมหรือแบ่งตัวแทนที่นั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่  แต่ที่แน่ๆ เซลล์จากเลือดและไขกระดูกหรือไขมันไม่กลายไปเป็นเซลล์สมอง เซลล์หัวใจ หรือเซลล์อื่นๆ แน่นอน จากข้อมูลในโดยทั่วไปในสัตว์ทดลอง เซลล์ต้นกำเนิดที่ฉีดเข้าไปมักหายจากร่างกายภายใน 24-48 ชั่วโมง            ปัจจุบันเริ่มพบเซลล์ต้นกำเนิดในหลายอวัยวะ เซลล์ต้นกำเนิดของอวัยวะนั้นสามารถนำมาสร้างเซลล์ของอวัยวะนั้นได้ในหลอดทดลอง  แต่การนำไปใช้รักษาอวัยวะนั้นๆ ยังต้องทำการศึกษาวิจัยต่อไปจนกว่าจะเห็นผลที่ชัดเจน เช่น เซลล์ต้นกำเนิดของสมอง แม้ฉีดเข้าไปในสมองก็ยากที่จะกลายเป็นเซลล์ประสาทชนิดที่ต้องการ ในบริเวณที่เหมาะสม และสามารถส่งรากประสาทไปเชื่อมกับเซลล์ประสาทที่อยู่ในสมองและไขสันหลังอย่างถูกต้อง    การทำธุรกิจเก็บรักษาเซลล์เลือดจากรกหรือสายสะดือทารก             ทั่วโลกมีธุรกิจเอกชนที่เสนอบริการการเก็บรักษาเลือดจากรกและสายสะดือทารกไว้ตลอดชีวิตเพื่อใช้เป็นเซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรคทางเลือดและโรคอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  ในประเทศไทยก็มีการขายบริการเช่นนี้ตามโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง  คำถามก็คือ เลือดเหล่านี้ใช้ในการรักษาโรคของเด็กหรือคนในครอบครัวในอนาคตได้จริงหรือไม่?             ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2006 สมาคมผู้บริจาคไขกระดูกโลก (The World Marrow Donor Association) ได้ประกาศนโยบายการใช้เลือดจากรกและสายสะดือว่า “ห้ามใช้เลือดจากรกและสายสะดือตนเองในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก ทั้งนี้เพราะภาวะก่อนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเกิดขึ้นก่อนการคลอด เลือดดังกล่าวจึงมีความบกพร่องทางพันธุกรรมเหมือนผู้บริจาคเลือดและไม่ควรใช้รักษาโรคทางพันธุกรรม”           คงต้องติดตามต่อในฉบับหน้าครับ                                

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 170 รู้เท่าทันเซลล์บำบัดหรือสเต็มเซลล์ ตอนที่ 1

ความเชื่อเรื่องสเต็มเซลล์นั้นมีมาเกือบร้อยปี แต่ยังไม่มีรูปธรรมจริงรองรับ  จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1968 เกิดความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยรายแรกของโลกโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูก  จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักวิจัยและแพทย์จำนวนมากศึกษาวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์  โดยหวังว่า จะนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้ประโยชน์ในการรักษาและซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่เกิดความเสื่อม โรค และสาเหตุอื่นๆ ปัจจุบัน มีการโฆษณาทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย ทั้งจากแพทย์และผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ เกี่ยวกับการใช้สเต็มเซลล์หรือเซลล์บำบัดในการรักษาโรคเรื้อรังและไม่มีทางรักษา เช่น มะเร็ง อัมพาตอัมพฤกษ์ สมองเสื่อม ไตวาย จนกระทั่งการต้านความแก่ เสริมความงาม จนแทบจะกล่าวได้ว่า เซลล์บำบัดนั้นรักษาได้ทุกโรค และสามารถทำให้กลับมาเป็นหนุ่มสาวได้อีกครั้ง  บางคนเมื่อไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลเอกชน ทางโรงพยาบาลก็จะชักชวนให้เก็บรกหรือเลือดในรกไว้ โดยจะมีบริษัทเอกชนที่จะเก็บและแช่แข็งสเต็มเซลล์ไว้เป็นเวลานานตลอดอายุขัยของลูกเลย เรามารู้เท่าทันสเต็มเซลล์หรือเซลล์บำบัดกัน แต่เนื่องจากมีรายละเอียดและความซับซ้อน จึงขอทำความเข้าใจเป็นตอนๆ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ง่าย ที่มาของการใช้สเต็มเซลล์ในการบำบัดโรค ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่พบว่า ไข่ของผู้หญิงที่ได้รับการผสมกับอสุจิของผู้ชาย เรียกว่า ตัวอ่อน หรือ embryo จะทำการแบ่งตัวเป็น 16 เซลล์ เรียกว่า morula เซลล์เหล่านี้มีคุณสมบัติเหมือนกันทุกเซลล์  สามารถเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์ได้ทุกชนิดในร่างกาย และสามารถแบ่งเซลล์ได้ไม่จำกัด  หลังจากนั้นประมาณวันที่ห้าถึงเจ็ด ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตและกลายเป็นเซลล์ที่เรียกว่า blastoma ซึ่งจะแบ่งเป็นชั้นต่างๆ 3 ชั้น คือชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน ซึ่งจะเติบโตเป็นส่วนต่างๆ หรืออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย   การที่เซลล์ตัวอ่อนในระยะแรกที่มีคุณสมบัติเหมือนกัน แต่สามารถเติบโตไปเป็นเซลล์ต่างๆ หรืออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย จึงเป็นที่มาความเชื่อในการนำเอาเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) ในระยะที่เป็นตัวอ่อน หรือ เซลล์ต้นกำเนิดของผู้ใหญ่มาสร้างทดแทนเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่เสื่อมหรือเป็นโรคต่างๆ ความเชื่อเรื่องสเต็มเซลล์นั้นมีมาเกือบร้อยปี แต่ยังไม่มีรูปธรรมจริงรองรับ  จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1968 เกิดความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยรายแรกของโลกโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูก  จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักวิจัยและแพทย์จำนวนมากศึกษาวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์  โดยหวังว่า จะนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้ประโยชน์ในการรักษาและซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่เกิดความเสื่อม โรค และสาเหตุอื่นๆ ประเภทของสเต็มเซลล์ สเต็มเซลล์แบ่งได้หลายประเภทตามระยะเวลาของพัฒนาการ  เราอาจแบ่งหลักๆ ได้ 4 ประเภท ได้แก่  มาจากตัวอ่อน  มาจากทารกในครรภ์มารดา  มาจากทารกแรกคลอด  และมาจากผู้ใหญ่ สเต็มเซลล์จากตัวอ่อนมีศักยภาพที่สูงกว่าสเต็มเซลล์จากผู้ใหญ่   แต่มีข้อจำกัดเรื่องความปลอดภัยของตัวอ่อนและปัญหาด้านจริยธรรมในกรณีที่ต้องมีการทำลายตัวอ่อน  ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง การเกิดภูมิต้านทานเนื้อเยื่อ  เนื่องจากกระบวนการเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิด อาจต้องใช้เซลล์ของสัตว์เป็นเซลล์พี่เลี้ยง  ซึ่งนอกจากมีผลต่อปฏิกิริยาของภูมิต้านทานแล้ว ยังอาจมีการติดเชื้อโรคจากสัตว์ได้อีกด้วย ส่วนสเต็มเซลล์ที่ได้จากผู้ใหญ่นั้นเป็นเซลล์ที่ได้จากระบบเลือด ผิวหนัง ไขมัน ไขกระดูก และเนื้อเยื่ออื่นๆ ที่เจริญเติบโตเต็มที่ของสัตว์หรือมนุษย์  เซลล์เหล่านี้สามารถแบ่งตัวทดแทนเซลล์ที่ตายหรือถูกทำลาย  สามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ตั้งต้นที่จะพัฒนาไปเป็นเซลล์จำเพาะต่างๆ ได้  อย่างไรก็ตาม สเต็มเซลล์ประเภทนี้ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ได้แก่ ปริมาณของเซลล์ต้นกำเนิดอาจไม่มากพอ อาจเกิดอันตราย เกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันต่อเซลล์แปลกปลอมเมื่อปลูกถ่ายให้ผู้อื่น  ดังนั้นสเต็มเซลล์ชนิดนี้ที่มีการใช้กันแพร่หลาย จะเป็นการใช้การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากไขกระดูกเพื่อรักษาโรคทางระบบเลือดเป็นหลัก ฉบับหน้า ติดตามการใช้สเต็มเซลล์ทางการแพทย์ว่าใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point