ฉบับที่ 274 สำรวจฉลากโภชนาการ “ขนมในกระเช้าปีใหม่”

        ช่วงเทศกาลส่งความสุขในปีใหม่นี้ ผู้บริโภคคนไหนกำลังคิดจะเลือกซื้อขนมอบกรอบหวานหอม และขนมขบเคี้ยวเค็มๆ มันๆ ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์สีสันสดใส มาจัดกระเช้าปีใหม่ ด้วยหวังว่าผู้รับจะชอบใจ อยากให้แตะเบรกไว้ก่อน เพราะแม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ยอดฮิตที่มักมอบให้กันในโอกาสพิเศษต่างๆ แต่อย่าลืมว่าขนมเหล่านี้มีส่วนผสมหลักเป็นแป้ง น้ำตาล เนย นม เกลือ ผงฟู และสารกันเสีย ซึ่งหากกินเข้าไปเยอะๆ บ่อยๆ อาจเกิดการสะสมของน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดได้         นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างขนมในกระเช้าปีใหม่ (คุกกี้ บิสกิต แครกเกอร์ และพาย) จำนวน 11 ตัวอย่าง ในช่วง 1 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2566 มาเปรียบเทียบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ (ปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม) และราคาต่อปริมาณ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคว่าจะเลือกขนมเหล่านี้จัดใส่กระเช้าปีใหม่ดีไหมหนอ  ผลการสำรวจ        ·     ทุกตัวอย่างระบุเลขที่ใบอนุญาตจาก อย. ไว้ถูกต้อง ตรวจสอบข้อมูลได้         ·     เมื่อพิจารณาฉลากโภชนาการของขนม 11 ตัวอย่าง พบว่า ยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค มีปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำมากที่สุดคือ 34 กรัม ส่วนยี่ห้อไฮไท แครกเกอร์ รสดั้งเดิม และ ยี่ห้อเดนม่า คุกกี้สอดไส้รสผลไม้ มีน้อยที่สุดคือ 25 กรัม         ·     เมื่อเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 หน่วยบริโภค พบว่า            -        ปริมาณพลังงานมากที่สุด = 180 กิโลแคลอรี คือยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค ส่วนยี่ห้อล็อตเต้ ช็อกโกพาย บานาน่า มีน้อยที่สุด  = 120 กิโลแคลอรี            -        ปริมาณน้ำตาลมากที่สุด = 11 กรัม  คือยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม ส่วนยี่ห้อไฮไท แครกเกอร์ รสดั้งเดิม มีน้อยที่สุด = 2 กรัม             -        ปริมาณไขมันมากที่สุด = 9 กรัม ได้แก่ ยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค และยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ส่วนยี่ห้อล็อตเต้ ช็อกโกพาย บานาน่า และยี่ห้อแซง มิเชล กาเลต โอ เบอร์ ทิน บัตเตอร์ คุกกี้ มีน้อยที่สุด = 5 กรัม             -        ปริมาณโซเดียมมากที่สุด = 135 มิลลิกรัม คือ ยี่ห้อแมคไวตี้ส์ ไดเจสทีฟ ออริจินอล(บิสกิตข้าวสาลี) ส่วนยี่ห้อเดนม่า คุกกี้สอดไส้รสผลไม้  มีน้อยที่สุด = 40 มิลลิกรัม         ·     เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อบาวเซ่น เดโลบา บลูเบอร์รี่ แพงสุดคือ 0.95 บาท ส่วนยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม ถูกสุดคือ  0.22 บาท  ข้อสังเกต        - เมื่อคำนวณในปริมาณ 1 หน่วยบริโภคที่เท่ากัน คือ 30 กรัม (ปริมาณเฉลี่ย ได้จากผลรวมของปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ÷ 11) พบว่า ยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ มีปริมาณพลังงานมากที่สุด = 160 กรัม ส่วนยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม มีทั้งน้ำตาล (11.96 กรัม) และโซเดียม (141.30 มิลลิกรัม) ในปริมาณมากที่สุด         - หากเรากินโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม 1 ห่อ (3 ชิ้น) จะได้รับน้ำตาลเกือบครึ่งหนึ่งของที่แนะนำให้กินได้ต่อวัน(ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 24 กรัมต่อวัน) ถ้าเผลอกินเพลินเกิน 2 ห่อต่อวัน ร่างกายจะได้น้ำตาลเกินจำเป็น         - วัยผู้ใหญ่ไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน ดังนั้น หากกินขนมแมคไวตี้ส์ ไดเจสทีฟ ออริจินอล (บิสกิตข้าวสาลี) 2 ชิ้น หรือโอรีโอ ช็อกโกแลตครีม 3 ชิ้น ก็จะได้รับโซเดียมเกินครึ่งหนึ่งของที่แนะนำไว้แล้ว        - เมื่อลองนำเกณฑ์สัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกสุขภาพ” มาพิจารณา ในปริมาณขนม 100 กรัม         ขนมบิสกิตและแครกเกอร์   กำหนดให้มีน้ำตาล ≤ 7 กรัม  และโซเดียม ≤ 500 มิลลิกรัม พบว่าทุกตัวอย่างมีน้ำตาลเกิน และมีโซเดียมอยู่ในเกณฑ์        ขนมคุกกี้  กำหนดให้มีน้ำตาล ≤ 20 กรัม และ โซเดียม ≤ 300 มิลลิกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างมีน้ำตาลเกิน และมีโซเดียมเกินเกณฑ์นี้ 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อโอรีโอ ช็อกโกแลต ครีม (471.01 มก.)  ยี่ห้อบาวเซ่น เดโลบา บลูเบอร์รี่ (348.48 มก.) และยี่ห้ออิมพีเรียล บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ค (323.53 มก.)         - ทุกตัวอย่างบอกวันผลิตและวันหมดอายุไว้ มีอายุตั้งแต่ 10 – 21 เดือน โดยมี 8 ตัวอย่างที่อายุ 1 ปี         - ยี่ห้อดานิสา ช็อกโกแลต บัตเตอร์คุกกี้ผสมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ระบุวันหมดอายุ 01.12.23 และมีอายุนับจากวันผลิตนานถึง 21 เดือน         - มี 3 ตัวอย่างที่ผลิตในประเทศไทย ส่วนใหญ่ผลิตจากต่างประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เยอรมันฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร         - ทุกตัวอย่างแสดงข้อความเตือนว่า “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ”     ฉลาดซื้อแนะสำหรับผู้ให้        - หากจะซื้อขนมมาจัดกระเช้าปีใหม่ ต้องดูวันหมดอายุให้ดีๆ เพราะอาจมีสินค้าใกล้หมดอายุมาวางขายปะปนบนชั้นได้ ยิ่งถ้าใครซื้อแบบกระเช้าสำเร็จรูปก็ต้องตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ         - เลือกซื้อขนมที่ผลิตในประเทศไทย สนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ         - เปลี่ยนเป็นขนมที่ดีต่อสุขภาพแทน เช่น กระเจี๊ยบมอญอบกรอบ บร็อคโคลี่อบแห้ง งาดำอัดแท่งหวานน้อย ลูกเดือยกล้อง ถั่วเปลือกแข็ง (อัลมอนด์ วอลนัท) อบไม่ปรุงรส ดาร์คช็อคโกแล็ต (มี %cocoa มากกว่า 70%) เป็นต้น         - อย. แนะนำให้มอบกระเช้าของขวัญปีใหม่ในแบบ “สุขใจผู้ให้ ห่วงใยผู้รับ” โดยเลือกที่มีสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice) เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองแล้วว่ามีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมต่อสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สำหรับผู้รับ        - เมื่อได้รับขนมเหล่านี้เป็นของขวัญ มักได้เป็นกล่องหรือกระป๋องใหญ่ แกะแบ่งห่อเล็กปันคนอื่นๆ ด้วยก็ดีไม่ต้องเก็บไว้เยอะ และอย่าเผลอกินเกินจำนวนหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลากโภชนาการ เดี๋ยวจะอ้วน         - ถ้าวันไหนรู้ตัวว่ากินคุกกี้ แครกเกอร์ เยอะเกินแล้ว ก็ควรจะออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไป จะได้กินขนมให้อร่อยต่อไปได้โดยไม่ต้องกลัวอ้วนหรือรู้สึกผิดต่อตัวเอง         - กินขนมคู่กับน้ำเปล่าดีที่สุด หากไม่อยากได้รับน้ำตาล ไขมันและโซเดียมเพิ่มอีก         - อย่าชะล่าใจ กินขนมอบกรอบรสหวานๆ เสี่ยงเป็นเบาหวานแล้วยังเสี่ยงเป็นโรคไตด้วย เพราะโซเดียมไม่ได้มีแต่ในเกลือที่ให้รสเค็ม แต่ยังแฝงอยู่ในผงฝูและสารกันบูดที่เป็นส่วนผสมของขนมเหล่านี้ด้วย  ข้อมูลอ้างอิงwww.thaihealth.or.thwww.oryor.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 โซเดียม และพลังงาน น้ำตาล จากบิสกิต-แซนวิช-แครกเกอร์

ขนมห่อเล็กๆ ที่เด็กมักจะเลือกหยิบฉวยเมื่อมีโอกาสได้เดินเข้าร้านสะดวกซื้อกับผู้ปกครอง โดยเฉพาะขนมอบกรอบ ตลอดจนขนมประเภทบิสกิต แซนวิช และแครกเกอร์ ที่มีบรรจุภัณฑ์สีสันสวยงาม รสชาติอร่อย และราคาไม่แพง ขนมเหล่านี้ล้วนสร้างความพึงพอใจและรอยยิ้มให้กับเด็กๆ ไม่น้อย ไม่เพียงแต่เด็ก ผู้ใหญ่อย่างเราบางครั้งเวลาเดินช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า แล้วยังไม่รู้ว่าจะเลือกซื้ออะไรติดไม้ติดมือกลับบ้าน ขนมประเภทนี้ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ หรือแม้แต่จะซื้อไปทำบุญใส่บาตร ก็รู้สึกเข้าท่าดีเหมือนกัน อย่างไรก็ตามขนมประเภทนี้แม้เห็นว่าห่อเล็กๆ หน่วยบริโภคไม่ถึง 30 กรัม แต่ก็ให้พลังงานที่สูง และที่สำคัญมีปริมาณโซเดียมสูงด้วย การรับประทานจึงต้องเพิ่มความระวัง ซึ่งวิธีหนึ่งที่เราจะเลือกรับประทานให้ได้อย่างเหมาะสม ก็คือการพิจารณาฉลาก โดยเฉพาะฉลากโภชนาการ ซึ่งฉลาดซื้อฉบับนี้อาสานำข้อมูลบนฉลากโภชนาการของขนมประเภทนี้ มานำเสนอไว้เป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ  ข้อสรุปจากการเปรียบเทียบฉลากโภชนาการ เมื่อพิจารณาที่ฉลากของผลิตภัณฑ์ทั้ง 35 ตัวอย่าง พบว่า หน่วยบริโภคที่น้อยที่สุดคือ ยี่ห้อ แซนวิชเค้กสอดไส้ครีมคัสตาร์ด ตราฟันโอ คือ 1 ชิ้น 13 กรัม ให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี ปริมาณโซเดียม 40 มก. ขณะที่หน่วยบริโภคซึ่งมากสุด คือ ยี่ห้อ  เลมอน ครีมแซนวิซ ตราเบลลี่ คือ 1 ชิ้น 100 กรัม ให้พลังงาน 498 กิโลแคลอรี ปริมาณโซเดียม 390.2 มก.   ส่วนผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออื่นๆ ส่วนใหญ่น้ำหนัก 1 หน่วยบริโภคจะอยู่ที่ประมาณ 30-35 กรัม  และหากลองนำผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มาคำนวณในหน่วยบริโภคที่เท่ากันหรือใกล้เคียง(30 กรัม) จะพบว่า ขนมอบที่นำมาดูฉลาก จะมีค่าพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 150-160 กิโลแคลอรี สำหรับปริมาณโซเดียมนั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของขนม โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคสูง(หน่วยบริโภคไม่เกิน 42 กรัม) คือ 1.แครกเกอร์สอดไส้ช็อคโกแลต ตรา มอลคิสท์  โซเดียม 200 มก. ต่อหน่วยบริโภค 42 กรัม 2.แครกเกอร์ไส้ครีม กลิ่นวานิลลา ตรา ไวโอเลต โซเดียม 160 มก. ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม3.คุกกี้แซนวิชรสช็อกโกแลต ตรา เพรสโต้ ครีมโอ โซเดียม  150 มก. ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม4.โอรีโอ คุกกี้แซนวิชรสช็อกโกแลตสอดไส้ครีมกลิ่นวานิลลา โซเดียม 150 มก. ต่อหน่วยบริโภค 29 กรัม5.คุกกี้สตัฟ รสคุกกี้และครีม ตราวอยซ์ โซเดียม 130 มก. ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม อย่างไรก็ตาม หากดูจากฉลากที่นำมาเปรียบเทียบทั้งหมด ยี่ห้อ เลมอน ครีมแซนวิซ (ตราเบลลี่) ซึ่งมีหน่วยบริโภคที่ 100 กรัม(ชิ้นใหญ่) จะให้ปริมาณโซเดียมมากถึง 390.2 มก/100 กรัม ดังนั้นจึงควรแบ่งรับประทานในสัดส่วนที่เล็กลงมา ความสำคัญของฉลากโภชนาการนอกจากฉลากสินค้าจะบ่งบอกปริมาณหรือน้ำหนัก ให้เราได้เทียบความคุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่ายจริงแล้ว ฉลากบนสินค้ายังมีประโยชน์มากกว่านั้นอีก โดยเฉพาะฉลากข้อมูลโภชนาการ ที่สามารถบอกเราได้ว่า หนึ่งหน่วยของอาหารที่เราบริโภคนั้น ได้มอบคุณค่าทางโภชนาการอะไรแก่ร่างกายเราบ้าง ยกตัวอย่างเช่น หนึ่งหน่วยบริโภคของขนมแครกเกอร์ 1 ห่อ (คำแนะนำว่า เราควรบริโภคเพียงครั้งละกี่ชิ้น คิดเป็นน้ำหนักกี่กรัม), จำนวนหน่วยบริโภคต่อบรรจุภัณฑ์ (แครกเกอร์ 1 ห่อ ควรแบ่งกินกี่มื้อ) หรือบอกว่าในหนึ่งหน่วยบริโภค (ปริมาณที่เราบริโภค 1 มื้อ) นั้นให้พลังงานต่อร่างกายเราทั้งหมดเท่าใดหากผู้บริโภคสังเกตบริเวณด้านหน้าของห่อขนม จะเห็นฉลากพื้นสีขาวที่มีลักษณะคล้ายปล้องไม้ไผ่ ถูกแบ่งเป็น 4 ช่อง ได้แก่ พลังงาน, น้ำตาล, ไขมัน และโซเดียม ซึ่งเรียกว่า ฉลากหวานมันเค็ม หรือ ฉลากจีดีเอ (Guideline Daily Amount; GDA) ซึ่งเป็นฉลากที่บอกให้ทราบว่าเมื่อกินขนมเข้าไปทั้งถุงหรือซอง จะได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมปริมาณทั้งหมดเท่าไหร่ ถ้าเราดูเฉพาะตัวเลขในช่องพลังงาน จะเป็นตัวเลขค่าพลังงานของขนมทั้งซอง ถ้าสมมติว่าเป็นขนมห่อใหญ่ที่สามารถแบ่งกินได้ 4 ครั้ง ก็จะต้องนำค่าพลังงานจากฉลากจีดีเอ ไปหาร 4 จึงจะได้ค่าพลังงานที่ได้ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่ฉลากแนะนำ ในความเป็นจริง ผู้บริโภคสามารถพลิกดูบนฉลากข้อมูลโภชนาการได้เลย ว่าขนมแต่ละซองได้แนะนำให้แบ่งกินกี่ครั้ง ครั้งละกี่ชิ้น และในการกินแต่ละครั้งตามคำแนะนำบนฉลาก จะได้รับพลังงานทั้งหมดเท่าใด ซึ่งง่ายต่อการสอนให้เด็กๆ รู้จักการแบ่งขนมห่อใหญ่รับประทานแต่พอดี ตามความเหมาะสมที่ฉลากแนะนำไว้ โดยร้อยละของปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai RDI)* โดยคิดจากความต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี (kcal), ไขมันทั้งหมดไม่เกิน 65 กรัม, โซเดียมไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม และร่างกายของคนเรามีความต้องการน้ำตาลต่อวันประมาณ 6 ช้อนชา (ประมาณ 23-25 กรัม) หรือ สูงสุดไม่เกิน 10 ช้อนชา (40 กรัม) ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุเอาไว้การใช้ข้อมูลฉลากโภชนาการทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกกินอาหารได้อย่างเหมาะสม ปัจจุบันขนมหลายยี่ห้อมีการบรรจุในหีบห่อขนาดใหญ่วางจำหน่ายในร้านค้า ซึ่งขนมห่อใหญ่เหล่านี้ สามารถแบ่งกินได้มากกว่า 1 ครั้ง การบริโภคในปริมาณมากเกินพอดี หรือกินหมดทั้งห่อ อาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงาน ไขมัน น้ำตาล หรือโซเดียมเกินความจำเป็นของร่างกายในหนึ่งวัน อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน มีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน ความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคไต และโรคอื่นๆ อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >