ฉบับที่ 260 ผลสำรวจฉลากเยลลี่พร้อมดื่ม

        เยลลี่เหลวที่บรรจุในถุงพร้อมดื่ม มีทั้งที่ระบุว่าเป็น “ขนมเยลลี่คาราจีแนน” “ขนมเยลลี่คาราจีแนนและบุก” “วุ้นสำเร็จรูปคาราจีแนน” หรือ“วุ้นสำเร็จรูปคาราจีแนนแบบผสมบุกผง” ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้อิ่มท้อง จนหลายคนเลือกดื่มเยลลี่เหลวแบบนี้เพื่อควบคุมน้ำหนัก เพราะอร่อย หาซื้อง่ายและราคาถูก         ข้อมูลจากเอซี นีลเส็น (AC Nielsen) เผยว่า “ตลาดเยลลี่พร้อมดื่ม” มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยอยู่ที่ 9% ซึ่งสอดคล้องกับภาพที่เรามักเห็นเยลลี่พร้อมดื่มหลายสูตรและหลายรสชาติ วางเรียงอยู่ในตู้แช่ของร้านสะดวกซื้ออย่างละลานตา ชนิดที่ว่าเลือกไม่ถูกกันเลยทีเดียว ในปัจจุบันผู้ผลิตยังแข่งกันชูจุดขายด้านสุขภาพและความงาม โดยเน้นเป็นสูตรน้ำตาลน้อย แคลอรีต่ำและยังพ่วงผสมวิตามินต่าง ๆ คอลลาเจน ไฟเบอร์และสารอาหารอื่นๆ เพิ่มเข้าไปด้วย        นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์เยลลี่พร้อมดื่มจำนวน 22 ตัวอย่าง 6 ยี่ห้อ ที่มีวางขายในร้านสะดวกซื้อ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 มาสำรวจฉลากแสดงส่วนประกอบและฉลากโภชนาการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ผู้บริโภคเลือกชื้อได้ถูกปาก ปลอดภัยและคุ้มค่า         ผลการสำรวจฉลากในส่วนประกอบ พบว่า        1.สัดส่วนของปริมาณน้ำผลไม้ มากที่สุดคือ 30 % มี 3 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ คอลลาเจน , วิตามิน A ,C, E และแบล็คเคอร์แร้นท์ น้อยที่สุดคือ 8% มี 3 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A, วิตามินรวมและวิตามิน C+B        2.วัตถุกันเสีย 18 ตัวอย่าง ระบุว่าใช้  ( คิดเป็น 81.82 % ของตัวอย่างทั้งหมด )  และมี 3 ตัวอย่างที่ไม่ระบุว่าใช้ ได้แก่ เจเล่ เนสที กลิ่นทับทิม, กลิ่นแอปเปิ้ล ฮันนี่ และบลู วิตามิน เยลลี่    ส่วนเจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามินซี ระบุไว้ชัดเจนว่า”ไม่ใช้วัตถุกันเสีย”         3.วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล  19 ตัวอย่าง ระบุว่าใช้ (คิดเป็น 86.36% ของตัวอย่างทั้งหมด) และมี 3 ตัวอย่างที่ไม่ระบุว่าใช้ ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามิน A ,C, E และนูริช เมท แอลคาร์นิทีนและคอลลาเจน         ในส่วนฉลากโภชนาการ (ปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภค) พบว่า        1.พลังงาน มากที่สุดคือ 60 กิโลแคลอรี มี 5 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามินซี ,เซ็ปเป้บิวติเจลลี่  คอลลาเจน , กุมิ กุมิ เยลลี่ รสลิ้นจี่ , นูริช เมท ฝรั่งชมพูและแอลคาร์นิทีน ส่วนเจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A มีค่าพลังงานน้อยที่สุดคือ 20 กิโลแคลอรี        2.น้ำตาล มากที่สุด 14 กรัม คือ กุมิ กุมิ เยลลี่ รสลิ้นจี่ มีน้อยที่สุด 3 กรัม คือ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามิน A ,C, E        3.โซเดียม มากที่สุดคือ 75 มิลลิกรัม ได้แก่ ซี-วิต เยลลี่ รสส้มและรสเลมอน น้อยที่สุดคือ 10 มิลลิกรัม ได้แก่ เจเล่ ไลท์ เฟรช์ชี่ กลิ่นสตรอเบอรี่และกลิ่นบลูเบอร์รี่ ส่วนเจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A และเซ็ปเป้บิวติเจลลี่ ไฟเบอร์ ระบุว่าไม่มี           เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า แพงที่สุดคือ 0.12 บาท (8 ตัวอย่าง) ถูกที่สุดคือ 0.06 บาท (2 ตัวอย่าง)   ข้อสังเกต        - น้ำองุ่นขาว (จากองุ่นขาวเข้มข้น) เป็นน้ำผลไม้ที่นิยมใช้ในส่วนประกอบมากที่สุด (17 ตัวอย่าง)          - เจเล่ เนสที กลิ่นทับทิมและกลิ่นแอปเปิ้ลฮันนี่ ระบุคำเตือนถึงผู้ที่มีสภาวะฟินิลคีโตนูเรียไว้ว่า  ผลิตภัณฑ์มี “ฟินิลอลานีน”         - เจเล่ เยลลี่ บิวตี้  วิตามินซี ระบุว่าไม่ใช่อาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก        - 9 ตัวอย่าง มีปริมาณน้ำตาลต่อ 1 หน่วยบริโภค ตั้งแต่ 10 -14 กรัม ใน 1 วัน เราไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 24 กรัม ดังนั้นถ้าเราดื่มเยลลี่ที่มีน้ำตาล 14 กรัมต่อถุง ไป 2 ถุง เราก็จะได้รับน้ำตาลมากเกินไป ยังไม่นับว่ารวมถึงอาหารอื่นๆ ที่รับประทานในหนึ่งวันด้วย  ฉลาดซื้อแนะ        - หากต้องการลดน้ำหนัก ควรพิจารณาฉลากก่อนซื้อทุกครั้ง เพราะเยลลี่แต่ละยี่ห้อดื่มแล้วอิ่มท้องพอกัน แต่หากเผลอเลือกดื่มเยลลี่ที่มีน้ำตาลสูง อาจยิ่งเพิ่มความอ้วนได้        - ไม่ควรดื่มเยลลี่แทนมื้ออาหารหลักเพื่อลดน้ำหนัก เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นได้        - จากตัวอย่างเยลลี่พร้อมดื่มส่วนใหญ่ใส่วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล จึงไม่ควรดื่มปริมาณมากๆ บ่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดการสะสมของสารสังเคราะห์เหล่านี้ จนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้        -ในแต่ละวัน ถ้าเราได้รับวัตถุกันเสียในปริมาณน้อย ร่างกายจะสามารถกำจัดออกทางปัสสาวะได้ตามปกติ แต่หากได้รับในปริมาณมากทุกวัน ตับและไตจะต้องทำงานหนักขึ้น และหากกำจัดออกไปไม่หมด ก็จะเกิดการสะสมในร่างกาย ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของตับและไตในการกำจัดสารเคมีเหล่านี้ลดลง และอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่อตับและไตได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย การหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่สุ่มเสี่ยงต่อการใส่วัตถุกันเสียหรือบริโภคแต่น้อย น่าจะดีต่อสุขภาพที่สุด        -ผู้บริโภคที่แพ้ปลา ควรหลีกเลี่ยงเยลลี่พร้อมดื่มที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนจากปลา        -หากเคยดื่มเยลลี่แล้วมีอาการปวดท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน ให้สันนิษฐานว่ากระเพาะอาหารของคุณอาจไวต่อคาราจีแนน ทั้งนี้จากผลศึกษาเปรียบเทียบ 45 รายการโดยศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพสหรัฐ (National Center for Biotechnology Information: NCBI) เมื่อปี 2001 สรุปว่าการกินคาราจีแนนติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงต่อมะเร็งระบบทางเดินอาหารและลำไส้อักเสบ ข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อฉบับที่ 158 เยลลี่ กับสารกันบูดhttps://consumerthai.org (เรื่อง ปลอดภัยไหม..เมื่อต้องกินอาหารที่แถมสารกันบูด)https://www.thansettakij.com/business/marketing/539834https://brandinside.asia/jelly-for-beauty-and-healthy/https://waymagazine.org (เรื่อง คาร์ราจีแนน ภัยเงียบในกระเพาะอาหาร)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 อย่ามาทำเนียน

  ยุคนี้ข้อมูลข่าวสารมันไปเร็วยิ่งกว่าจรวด หากไม่กลั่นกรองดีๆ ผู้บริโภคก็จะถูกหลอกได้ ยิ่งระยะหลังๆ นี่การหลอกมันยิ่งแนบเนียนมาก จนบางทีเราก็ตามแทบไม่ทันเหมือนกัน   ยุคหนึ่งที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) บุกไปดำเนินคดีผลิตภัณฑ์ขายตรง น้ำผลไม้ยี่ห้ออินทราธิราช(นามสมมุติ) ลงข่าวใหญ่โตในหน้าหนังสือพิมพ์ เนื่องจากโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ปรากฎว่าน้องเภสัชกรท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ผู้แทนขายตรงกลับฉวยโอกาสแจ้งลูกค้าว่าให้รีบซื้อน้ำผลไม้อินทราธิราชที่ตนขายไปตุนเยอะๆ เพราะของปลอมกำลังระบาด ส่วนผลิตภัณฑ์ที่เป็นข่าวถูกดำเนินคดีเป็นของปลอมไม่ใช่ของจริง (สุดยอดนักขายรางวัลฉวยโอกาสยอดเยี่ยม)   กลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว มีข่าวปรากฏทางสื่อมวลชนว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น พบการขายยา แคปซูลผงบุกกวางแดง ที่โฆษณาสรรพคุณช่วยในการลดน้ำหนัก แต่เมื่อนำตัวยาไปตรวจสอบพบว่า เลขทะเบียนยาเป็นของปลอม และยาชนิดนี้มีส่วนผสมของ ไซบูทรามีน ซึ่งมีฤทธิ์กดสมอง ที่ประเทศไทยยกเลิกไม่ให้ใช้มานานกว่า 10 ปีแล้ว (เนื่องจากอาจมีอาการข้างเคียงกับกลุ่มคนที่เป็นโรคหัวใจ เช่น ส่งผลให้หัวใจวายเฉียบพลัน และอาจเสียชีวิตได้) นอกจากนี้ยังพบการแอบอ้างจากผู้ขายผ่านทางเฟซบุ๊คว่า แคปซูลดังกล่าวมีเลขทะเบียนยาอย่างถูกต้อง เพราะผลิตและจำหน่ายโดยแพทย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีสรรพคุณช่วยในการลดน้ำหนัก แต่เมื่อได้สอบถามไปที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ได้รับคำตอบว่าทาง มหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่ได้เป็นผู้ผลิตยาดังกล่าว ซึ่งต่อมาทางผู้บริหารได้มีการแถลงข่าวชี้แจงไปแล้ว   หลังจากนั้น ผมกลับพบข้อมูลในเฟซบุ๊ค ที่ใช้ชื่อว่า “ผงบุกกวางแดง มข. ของแท้ 100% ตัวช่วยลดน้ำหนัก” โดยในเฟซบุ๊คนี้ ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นงานวิจัยส่วนตัวของอาจารย์ ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ของ มข. เป็นสมุนไพรล้วนๆ ไม่ใช่ยาลดความอ้วน คิดค้นสูตรโดยอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มข. ซ้ำยังบอกสำทับอีกว่าตนรับตรงมาจากเพื่อนที่เรียนปริญญาเอก คณะเทคนิคการแพทย์ ม.ขอนแก่น มั่นใจได้แน่ค่ะว่าเป็นของแท้ 100 % และรับรองโดยองค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ปลอดภัย 100% มีเลขทะเบียนใบกำกับยา อย.58-1-05242-1-0001 ทะเบียนยา Reg. No. G 228/47 ปลอดภัย เห็นผลแน่นอน สุดยอดนักขายมือทองรุ่นใหม่ เพราะแค่ชื่อเฟซบุ๊คก็โฆษณาโต้งๆ แต่มาพลาดเอาง่ายๆ ตรงที่อ้างแบบงูๆปลาๆไม่รู้จริง เพราะผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งจะขึ้นทะเบียนทั้งเป็นอาหารและเป็นยาไม่ได้ครับ นี่เล่นโฆษณาว่ามีทั้ง เลข อย. (อาหาร) และทะเบียนยา...พลาดจุดที่หนึ่ง , และคนที่รับรองการขึ้นทะเบียนว่าปลอดภัยคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ไม่ใช่องค์การเภสัชกรรมครับ..พลาดจุดที่สอง และที่สำคัญ อย.ไม่อนุญาตให้โฆษณาโต้งๆ หลอกครับว่าลดน้ำหนัก..พลาดอีกแล้ว   ล่าสุด มีพนักงานมาขายเครื่องนวดกระชับสัดส่วนตามหน่วยงานราชการ แถมบอกว่าเครื่องมือนี้คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช เป็นคนอนุญาตให้ขาย ผมเช็คไปแล้ว ก็ไม่ใช่ความจริงอีก เห็นมั้ยครับว่าการโฆษณาขายของมันแอบเนียนอ้างหน่วยงานทางสุขภาพกันไปใหญ่แล้ว   ยุคนี้เจอข่าวอะไรที่อ้างอิงหน่วยงานราชการ อย่าเพิ่งรีบเชื่อนะครับ หากไม่ชอบมาพากล รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนดีกว่าครับ จะได้ไม่ถูกหลอกให้เจ็บกระดองใจภายหลัง

อ่านเพิ่มเติม >