ฉบับที่ 147 บ่วงบาป ก็เพราะนารี ไม่ได้มีแค่รูปที่เป็นทรัพย์”

คำโบราณของไทยกล่าวเอาไว้ว่า “นารีนั้นมีรูปที่เป็นทรัพย์” อันหมายความว่า เมื่อเทียบกับทุนทั้งหมดที่สตรีไทยในอดีตได้สั่งสมมา เรือนร่างและหน้าตาคือต้นทุนที่สำคัญที่สุดของผู้หญิง ที่จะใช้ผลิดอกออกผลและพิชิตชัยเหนือบุรุษเพศทั้งปวงได้   อย่างไรก็ดี จะเกิดอะไรขึ้นหากว่านารีที่มีรูปเป็นทรัพย์นั้น มีจำนวนที่มากกว่าหนึ่งคน สถานการณ์เยี่ยงนี้คงไม่แตกต่างไปจากฉากการเผชิญหน้ากันระหว่าง “รำพึง” บุตรสาวเจ้ายศเจ้าอย่างของพระยาเทวราช เธอผู้ซึ่งอยากได้อะไรก็ต้องได้และไม่เคยรู้จักกับคำว่าแพ้ กับ “ชุ่ม” นางทาสผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมความดีและมีหัวใจรักที่มอบให้เพียง “ขุนพิทักษ์” นั่นเอง และเพราะในละครเรื่อง “บ่วงบาป” นี้ เลือกสร้างให้ตัวละครผู้หญิงที่ต่างศักดิ์ชั้นวรรณะต้องมาเผชิญหน้ากัน ควบคู่ท่ามกลางไปกับความขัดแย้งของบุรุษเพศที่มีชั้นศักดิ์ซึ่งแตกต่างกันไปด้วย อย่าง “ขุนพิทักษ์” บุตรชายพระยาสุรเดชไมตรีผู้มียศถาบรรดาศักดิ์สูงส่ง กับ “ขุนไว” ผู้ที่มีพื้นเพด้อยกว่าเพราะเป็นเพียงเด็กวัดที่ได้ดีเติบโตมาในวงราชการ อันที่จริงแล้ว ละครอย่าง “บ่วงบาป” คือเรื่องที่พูดถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างมูลนายกับทาสในอดีต ซึ่งมีตั้งแต่รูปแบบความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกันอย่างชัดเจนระหว่างขุนพิทักษ์กับขุนไว หรือระหว่างรำพึงกับชุ่ม   มาถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่ปรองดองกันอย่างความรักระหว่างชนชั้นของขุนพิทักษ์กับชุ่ม รูปแบบความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ค้ำชูพึ่งพิงกันและกันแบบรำพึงกับนางทาสผู้ซื่อสัตย์อย่าง “จวง” เจ้าของวลีเด็ดที่ว่า “ทูนหัวของบ่าว...” ไปจนถึงรูปแบบที่ขัดแย้งแต่ก็ยังประสานจับมือกันอยู่ในเนื้อในอย่างตัวละครแบบรำพึงเอง ที่แม้จะเป็นบุตรีของพระยาเทวราช แต่ก็มีมารดาเป็นเพียงทาสที่ต่ำศักดิ์เช่นกัน การปะทะประสานและย้อนแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างมูลนายกับทาสแบบนี้ ไม่เพียงแต่มีความซับซ้อนเป็นพื้นฐาน แต่ทว่า ทั้งหมดก็ยังถูกร้อยรัดไว้ด้วย “บ่วงบาป” ของพระพุทธศาสนา ที่เมื่อปลดบ่วงและให้อภัยกันได้ ตัวละครทั้งหมดก็จะได้พบกับความสุขอย่างแท้จริง เหมือนกับตอนจบของเรื่องที่ขุนพิทักษ์เลือกเส้นทางการบวชเพื่อดับบาปในบ่วงทั้งหมดนั่นเอง   อย่างไรก็ตาม หากเราซูมภาพเข้ามาเฉพาะที่ความสัมพันธ์ระหว่างนารีที่มีรูปเป็นทรัพย์ทั้งสองคนอย่างรำพึงกับชุ่มนั้น แม้ด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะส่อให้เห็นความแตกต่างขัดแย้งระหว่างชนชั้นกันอยู่เบื้องหลัง แต่อีกด้านหนึ่ง เส้นทางที่ตัวละครทั้งสองคนเลือกใช้ ก็สะท้อนให้เห็นการปะทะกันในระบบความคิดของสังคมไทยอย่างน้อยสองชุดด้วยกัน   ในขณะที่ชุ่มเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ยืนหยัดอยู่ข้างระบบคิดที่เชื่อว่า ศีลธรรมความดีเท่านั้นที่จะเอาชนะทุกอย่าง แต่รำพึงกลับเป็นอีกภาพของผู้หญิงที่เชื่อว่าความดีนั้นไม่สำคัญ แต่ความมุ่งมั่นเพื่อบรรลุความปรารถนาต่างหาก คือเส้นทางที่เธอเลือกเดิน   และเพราะรำพึงมีความมุ่งมั่นปรารถนาสูงสุดในตัวและหัวใจของขุนพิทักษ์ และเพราะความสวยของเธอเองก็สูสีตีคู่มากับนางทาสอย่างชุ่ม รำพึงจึงต้องพัฒนากลยุทธ์การบริหารจัดการข่าวสารและความรู้ ที่ภาษาเท่ ๆ แห่งยุคสมัยปัจจุบันอาจเรียกว่า “information management” หรือ “knowledge management”   เริ่มต้นตั้งแต่คุณรำพึงได้ลงมือทำการวิเคราะห์ “SWOT analysis” ว่า ใครเป็นใคร จุดอ่อนจุดแข็งของใครแต่ละคนเป็นอย่างไร และสถานการณ์แบบใดบ้างที่จะเป็นปัจจัยเอื้อหรืออุปสรรคทำให้ความปรารถนาของเธอจะได้บรรลุหรือไม่เพียงไร กับขุนไว ผู้ที่มี “ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน” นั้น รำพึงก็บริหารจัดการเป่าหูใส่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพื่อยืมมือของขุนไวไปกำจัดใครต่อใครที่เป็นอุปสรรคความรักของเธอ กับตัวละครอื่น ๆ รำพึงก็ใช้การวิเคราะห์สถานการณ์หรือ “situation analysis” ว่า พอถึงจังหวะไหน เธอจะเข้าไปเดินหมากจัดการกับใครอย่างไร เช่น กับ “คุณหญิงมณี” ผู้เป็นมารดาของขุนพิทักษ์ หากยังมีประโยชน์อยู่ รำพึงก็ใช้วาจาคารมออกแบบการสื่อสารเพื่อไปผูกไมตรี แต่เมื่อหมดคุณค่าและอาจเป็นอุปสรรคปัญหาในภายหลัง รำพึงก็จัดการได้อย่างไม่ปรานี   และที่น่าสนใจ รำพึงยังเลือกใช้การระดมพลังมวลชนสาธารณะ แบบที่รู้จักกันทุกวันนี้ว่า “mass mobilization” ด้วยการส่งนางทาสอย่างจวงไปปล่อยข่าวลือต่าง ๆ นานาในตลาดสดอยู่เป็นระยะ ๆ เพื่อให้บรรดาแม่ค้าทั้งหลายร่วมเป็นปากเสียงลือข่าวกันออกไป อันเป็นเทคนิคหนึ่งที่ไม่ต่างไปจากการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันนี้   แต่สำหรับขุนพิทักษ์นั้น เมื่อความงามของเธอไม่สามารถมัดหัวใจชายหนุ่มเอาไว้ได้ รำพึงก็เลือกใช้วิธีการบริหารจัดการความรู้มาเป็นหลักแทน เพราะฉะนั้น ผู้ชมจึงมีโอกาสได้เห็นชุดความรู้ไสยดำในการทำเสน่ห์ที่รำพึงเลือกมาใช้มากมาย นับแต่การใช้ผงม้าเสพนาง น้ำมันจันทน์มหาเสน่ห์ รูปรอยหุ่นนารีกำหนัด ไปจนถึงมนต์คาถารักแท้ ที่ท่องกันจนติดปากว่า “ใจเป็นของกู ตัวเป็นของกู เสพสมกายกู เสน่หาเพียงกู...”   สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างบุรุษเพศอย่างขุนพิทักษ์กับขุนไวนั้น บทลงเอยอาจเป็นการใช้กำลังตัดสินด้วยเชิงดาบและเชิงมวย แต่สำหรับสตรีเพศอย่างรำพึงแล้วไซร้ ต้องอาศัยการบริหารข่าวสารและความรู้เท่านั้น เธอจึงมีโอกาสที่จะถึงฝั่งฝันในชีวิตได้   และเมื่อมาถึงบทสรุปแห่งความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงทั้งสองศักดิ์ชั้นอย่างรำพึงและชุ่มแล้ว ละครก็ได้ย้อนกลับไปสู่คำอธิบายตามหลักพระพุทธศาสนาอีกครั้งว่า ความรู้อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ที่มีความมุ่งมั่นปรารถนาก็จริง แต่ความรู้นั้นก็ต้องมีศีลธรรมคุณธรรมเป็นกลไกกำกับเพื่อไม่ให้เป็นไปในทางมิจฉาทิฐิ   บนความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของผู้หญิงที่ผ่านยุคสังคมทาสมาแล้ว อาจไม่ใช่ความซับซ้อนระหว่างศักดิ์ชั้นเท่านั้น แต่น่าจะเป็นการปรับประสานกันของความรู้กับคุณธรรมว่าพวกเธอหรือแม้แต่พวกเราทุกคน จะนำมาขับเคลื่อนสังคมต่อไปอย่างไร

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point