ฉบับที่ 260 พบพลาสติกในถุงบ๊วยสามรส

        อาหาร ขนม หรือผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพต่างๆ ที่มีขายในร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าทั่วไป คนส่วนมากจะมั่นใจว่าขั้นตอนในการผลิตนั้นจะต้องปลอดภัยแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะว่ามีมาตรฐานการผลิตหรือ อย. รับรองอยู่ แต่บางครั้งก็อาจจะมีผิดพลาดกันได้ เมื่อเกิดเหตุขึ้นจะมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไร มาดูกัน         คุณน้ำตาลได้เข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเองซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์สินค้า “บ๊วยสามรส” ชื่อให้อารมณ์ประมาณกินแล้วตื่นแน่นอน โดยเรื่องมีอยู่ว่า วันนั้นเธอไปซื้อบ๊วยยี่ห้อโปรดที่เธอกินเป็นประจำจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เมื่อได้บ๊วยของโปรดมาก็นำกลับบ้าน ตอนที่เธอแกะบ๊วยและส่งเข้าปาก ในขณะที่กำลังเคี้ยวๆ บ๊วยสุดโปรดนั้น ก็พบว่า ทำไมมีสัมผัสแปลกๆ แข็งๆ อยู่ในปาก ตอนนั้น “ตกใจมาก”         เมื่อคายสิ่งแปลกปลอมนั้นออกมาดูก็ต้องเจอกับพลาสติกขนาด 1 เซนติเมตร (ซึ่งไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่มาจากห่อบ๊วย) คุณน้ำตาลคิดในใจ “ดีนะ ที่ไม่กลืนไปเสียก่อน” เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบคุณน้ำตาลจึงได้โทรศัพท์ไปร้องเรียนกับทางผู้ผลิตสินค้า เพื่อตามหาความรับผิดชอบ        ทางบริษัทไม่ได้ปฏิเสธแต่แสดงความรับผิดชอบต่อกรณีนี้ว่า บริษัทฯ จะติดต่อกลับพร้อมมอบกระเช้าและทำหนังสือขอโทษให้คุณน้ำตาลเพื่อเป็นการเยียวยา ซึ่งคุณน้ำตาลคิดว่าน่าจะไม่ใช่แบบนี้ แค่นี้ก็พอหรือ คุณน้ำตาลต้องการให้ทางบริษัทแสดงความรับผิดชอบโดยจ่ายเป็นเงินเยียวยาพร้อมทั้งคำขอโทษเป็นลายลักษณ์อักษรของบริษัท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อคุณน้ำตาลเจรจากับทางบริษัทก็ยังหาขอสรุปไม่ได้สักที เนื่องจากทางบริษัทยืนยันที่จะชดเชยโดยการมอบกระเช้าและทำหนังสือขอโทษเพียงเท่านั้น จึงได้เข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา                ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ติดต่อไปทางบริษัทเพื่อสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งทางบริษัทได้ตอบกลับมาว่า ได้มีผู้คนมาร้องเรียนกรณีดังกล่าวและได้เรียกเงินชดเชย 5,000 บาทจริง อย่างไรก็ตามทางบริษัทมองว่ามากเกินไป ยืนยันจะให้กระเช้าพร้อมกับคำขอโทษเหมือนเดิมหรือถ้าหากไม่เอากระเช้าก็จะขอชดเชยเยียวยาเงินคืนให้เท่ากับราคาสินค้ามากกว่าเดิมประมาณ 5 เท่า ถุงละ 120x5 = 600 บาท         เมื่อทางมูลนิธิฯ ได้รับข้อมูลดังนั้น จึงโทรไปสอบถามทางผู้ร้องอีกรอบ ซึ่งผู้ร้องก็ยังคงยืนยันที่ต้องการให้บริษัทชดเชยเงินเยียวยาจำนวน 2,000 - 5,000 บาท พร้อมทำหนังสือขอโทษส่งมาทางอีเมลหรือเฟซบุ๊ก หลังจากแจ้งเจตนาของผู้ร้องและประสานงานเพื่อไกล่เกลี่ยกันแล้ว ทางบริษัทผู้ผลิตยอมรับข้อเสนอโดยตกลงว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ทางผู้เสียเป็นเงิน 2,000 บาท พร้อมทั้งผู้ผลิตฝากขอโทษไปถึงผู้ร้องอีกรอบถึงเรื่องที่เกิดขึ้น อันเป็นว่าจบไปได้โดยดี         อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคเจอเรื่องดังกล่าวถึงขั้นได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์หรือสินค้า เมื่อต้องเข้ารับการรักษาควรที่จะต้องขอใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลและเก็บไว้ด้วยเพื่อเป็นหลักฐาน นอกจากนี้ ถ้าผู้บริโภคเจอเรื่องดังกล่าวก็ควรที่จะเรียกร้องสิทธิและค่าชดเชยเยียวยา เพราะหากผู้ผลิตรับทราบก็จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >