ฉบับที่ 272 ส่องราคาเนื้อหมู เนื้อไก่ พรีเมียม

        ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา ประเทศไทยเผชิญปัญหาเนื้อหมูขึ้นราคาโดยทะยานไปสูงถึง กิโลกรัมละ 250 บาท เนื่องมาจากสาเหตุหลักคือ การระบาดของโรค อย่างไรก็ตามแม้มีการควบคุมราคาและดำเนินการเรื่องโรคระบาดแล้ว ราคาก็ค่อยๆ ปรับลดลงมาแต่ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ราคาเนื้อหมูยังคงสูง และเนื้อไก่ก็ขึ้นราคาตามมาด้วยเช่นกัน เนื่องจากผลกระทบหลากหลายจากสถานการณ์โลกโดยเฉพาะเรื่องค่าพลังงาน ค่าอาหารสัตว์         อย่างไรก็ตามจากการติดตามเรื่องปัญหาการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ที่อาจเหลือตกค้างในผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่ผ่านมาของนิตยสารฉลาดซื้อ ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นฉลาดซื้อพบว่า ยังพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์หลายตัวอย่างแม้จะไม่เกินค่ามาตรฐานก็ตาม แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าความเสี่ยงยังคงอยู่ จนเกิดความหวั่นไหวไม่เชื่อมั่นในกระบวนการเลี้ยง         ความไม่มั่นใจในกระบวนการเลี้ยงหมู ไก่ ของผู้บริโภคนี้ย่อมทำให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ผู้ผลิตสามารถควบคุมการเลี้ยงให้ปลอดภัยได้ตลอดกระบวนการ ดังนั้นในตลาดปัจจุบันจึงพบเห็นสินค้าเนื้อหมู เนื้อไก่ อนามัย ไร้สาร หรือเนื้อสัตว์แบบพรีเมียมที่ระบุว่า ตลอดกระบวนการเลี้ยงของตนนั้นปลอดจากการใช้สารต่างๆ ที่สร้างความกังวลให้แก่ผู้บริโภค เช่น สารเร่งเนื้อแดง ฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น         เมื่อกระบวนการผลิตบ่งบอกความพิเศษ สิ่งที่ผู้บริโภคต้องเข้าใจก็คือ ราคาจะสูงกว่าเนื้อสัตว์ที่มาจากกระบวนการเลี้ยงปกติที่จำหน่ายในตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ย่อมเกิดคำถามว่า แล้วเมื่อไหร่กันที่ผู้บริโภคจะมีความมั่นใจได้ว่า เนื้อสัตว์ที่ผลิตในกระบวนการปกตินั้นมีความปลอดภัย และมีราคาที่สามารถเข้าถึงได้         นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่ระบุว่าเป็นสินค้าพรีเมียม มีการกล่าวอ้างถึงกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยจากสารต่างๆ เพื่อดูว่า ราคาของผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มนั้น มีสัดส่วนที่แพงกว่าเนื้อสัตว์ในกระบวนการเลี้ยงปกติเท่าไร         วิธีการเก็บตัวอย่าง เก็บผลิตภัณฑ์เนื้อหมูส่วนสะโพก (สันนอก สันใน) และอกไก่ลอกหนังของผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างงว่าเลี้ยงด้วยกระบวนการพิเศษ ปลอดภัยจากสารต่างๆ จากซูเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเนื้อหมูจำนวน 7 ตัวอย่าง อกไก่ 5 ตัวอย่าง และเก็บตัวอย่างเนื้อหมูส่วนสะโพกและอกไก่ แบบปกติที่บรรจุในภาชนะบรรจุอย่างละ 1 ตัวอย่างในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อนำมาเปรียบเทียบราคาจำหน่ายในช่วงเวลาเดียวกัน รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง ผลการสำรวจฉลาก         1.เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 290 – 500 บาท ต่อกิโลกรัม ในขณะที่เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดธรรมดา สันนอกคัด จากฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาเก็ต ราคาอยู่ที่ 225 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 สันนอกจะมีราคาอยู่ที่ 130 บาทต่อกิโลกรัม (อ้างอิงจาก หมูสามชั้น 175 บาท/กิโลกรัม หมูสันนอก 130 บาท/กิโลกรัม (bangkokbiznews.com)  )         2.เนื้ออกไก่ลอกหนังชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 215 – 400 บาทต่อกิโลกรัม (ตัดตัวอย่างเบทาโกรเนื้อไก่อนามัยออกไป เพราะเป็นราคาโปรโมชั่น) ขณะที่เนื้ออกไก่ชนิดธรรมดา ท็อปส์ อกไก่ลอกหนัง ราคาอยู่ที่ 208 บาทต่อกิโลกรัม  แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 อกไก่จะมีราคาอยู่ที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม (อ้างอิงจาก อกไก่ 90 บาท/กิโลกรัม น่องติดสะโพก 85 บาท/กิโลกรัม (bangkokbiznews.com))

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 245 กระแสต่างแดน

แบรนด์ที่ไว้ใจ        ขยะอิเลคทรอนิกส์ที่กำลังจะล้นโลกส่วนหนึ่งมาจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จากเราไปก่อนเวลาอันควรและไม่คุ้มที่จะซ่อมกลับมาใช้ต่อ สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคพอจะทำได้คือ เลือกแบรนด์ที่ทำผลิตภัณฑ์ได้มีประสิทธิภาพและใช้งานได้นาน แล้วใครล่ะที่เราเชื่อถือได้         องค์กรผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา Consumer Reports (CR) ได้สำรวจและจัดอันดับ “ความน่าเชื่อถือ” ของแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน เตาไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า และเครื่องอบผ้า เป็นต้น โดยใช้คะแนนจากความเห็นของสมาชิก         ในการสำรวจครั้งที่สามนี้มีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกอ้างอิง 760,000 ชิ้น ที่ผู้บริโภคซื้อในระหว่างปี 2010 และ 2020 และแบรนด์ที่ถูกนำมาจัดอันดับนั้นคือแบรนด์ที่มีเครื่องไฟฟ้าออกมาจำหน่ายอย่างน้อยสองประเภท สิบอันดับแรกได้แก่ Speed Queen  LG  Café’  Ikea  Thermador  Bosch Miele  GE  Roper และ Signature Kitchen Suite ส่วนยี่ห้อที่เรารู้จักกันอย่าง Whirlpool  KitchenAid และ Samsung นั้นเข้ามาที่อันดับ 11, 17 และ 20 ตามลำดับ รู้แต่ไม่เข้าใจ?        การสำรวจความเข้าใจเรื่อง “ยาปฏิชีวนะ” ในหมู่ประชากรยุโรปในปี 2018 พบว่าคนส่วนใหญ่รู้ว่ายาปฏิชีวนะ (ที่หลายคนเรียกติดปากว่า ยาแก้อักเสบ) รักษาโรคหวัดไม่ได้ และรู้ด้วยว่าหากใช้พร่ำเพรื่อจะทำให้ยาใช้ไม่ได้ผล         นอกจากนี้ยังรู้ว่ามีผลข้างเคียง และควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น         แต่เมื่อถามถึงประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในการฆ่าไวรัส ร้อยละ 48 ตอบว่ายาปฏิชีวนะสามารถ “ฆ่าไวรัสได้” ในขณะที่ร้อยละ 43 ตอบว่า “ฆ่าไม่ได้” ที่เหลืออีกร้อยละ 9 ตอบว่า “ไม่รู้”แต่ละปียุโรปมีการติดเชื้อจากแบคทีเรียดื้อยาไม่ต่ำกว่า 670,000 เคส มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 33,000 คน ส่งผลให้เกิดภาระทางการเงินต่อระบบสุขภาพไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านยูโร         มีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 ผู้คนจะเสียชีวิตจากแบคทีเรียดื้อยามากกว่าโรคมะเร็ง            ขณะนี้ประเทศที่มีอัตราการตายจากแบคทีเรียดื้อยาสูงที่สุดในยุโรปคืออิตาลี ตามด้วยฝรั่งเศส ในขณะที่กรีซ ไซปรัส และสเปน เป็นประเทศที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะมากที่สุดตามลำดับ   โควิดช่วยเพิ่มยอด        การศึกษาตัวเลขยอดขายยาปฏิชีวนะในอินเดีย โดยคณะวิจัยจากอเมริกาและแคนาดาพบว่ายอดสั่งซื้อยาปฏิชีวนะจากโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงโควิด-19 ระบาด         ปี 2019 มีการใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.5 ในขณะที่ปี 2020 มีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 76.8         นักวิจัยคาดว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นไปประมาณ 216 ล้านโดส หรือพูดง่ายๆ ข้อมูลนี้ทำให้ตีความได้ว่าผู้ป่วยทุกคนที่ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิดจะได้รับยาปฏิชีวนะนั่นเอง         และเมื่อเจาะจงไปที่ยาอซิโตรมัยซิน (ที่ใช้รักษาไทยฟอยด์หรือท้องร่วง) ก็พบว่ามีการใช้ถึง 38 ล้านโดส ในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดหนัก         น่าสังเกตว่าขณะที่การใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มประเทศตะวันตกมีแนวโน้มลดลงเพราะคนไม่ค่อยเป็นหวัด ติดต่อพบปะกันน้อยลง ยกเลิกนัดทำฟันหรือการผ่าตัดเล็กอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น แต่แนวโน้มการใช้ในอินเดียกลับเพิ่มขึ้นทั้งๆ ที่โรคอย่างมาลาเรีย ไข้เลือดออก หรือโรคชิคุนกุนยาก็ลดลงแล้ว  ไหนเล่ามาซิ        สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของสิงคโปร์ ขอคำอธิบายด่วนหลังพบว่ามีอุปกรณ์ฟิตเนสแทรคเกอร์ 341,208 ชิ้น รวมมูลค่าห้าล้านเหรียญสิงคโปร์หรือประมาณ 120 ล้านบาท ยังไม่ถูกนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนตามโครงการส่งเสริมสุขภาพ National Steps Challenge ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2015         อุปกรณ์ที่ราคาระหว่าง 10 ถึง 25 เหรียญ เหล่านี้อยู่ในสภาพที่ใช้งานแทบไม่ได้ มีราขึ้นทั้งสายและหน้าปัด และการรับประกันจากผู้ผลิตบางรุ่นก็หมดแล้ว บางรุ่นก็จะหมดสิ้นปีนี้ ยังไม่นับว่าเทคโนโลยีที่ใช้ก็อาจจะเก่าเกินไปแล้ว         หนักไปอีกเมื่อไม่พบว่าใครเป็น “เจ้าภาพ” ทำหน้าที่จัดทำสต็อคหรือบันทึกการแจกจ่ายผ่านทางอีเวนท์ต่างๆ และสตง. ยังพบว่ามีอุปกรณ์ดังกล่าวหายไปจากสต็อคอย่างไร้ร่องรอยถึง 17,909 เครื่อง (คิดเป็นมูลค่า 720,000 เหรียญ)         ผู้เข้าร่วม “โครงการนับก้าว” สามารถเอาคะแนนที่สะสมจากการออกกำลังกายมาแลกเป็นสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการได้โดยรัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย โครงการเขาช่างจูงใจเหลือเกิน แม้แต่คนที่ตายไปแล้วก็ยังมาสมัครกันถึง 136 คน!!  อยากให้รีบสั่งเลย        ปีนี้คนออสซี่ต้องรีบคิดให้ตกว่าจะซื้อของขวัญอะไรให้เพื่อนหรือญาติในคริสต์มาสที่จะถึง... ในอีกห้าเดือนข้างหน้า คิดได้แล้วก็ต้องลงมือสั่งทันที ผู้ประกอบการเขาออกมาเตือนด้วยความหวังดี         อย่าลืมว่านักช้อปออนไลน์มีจำนวนมหาศาล ในขณะที่การขนส่งระหว่างประเทศมีข้อจำกัดมากขึ้นทำให้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน บริษัทขนส่งทางเรือที่เคยมีดำเนินการอยู่ 24 เจ้าก็ลดเหลือแค่ 13 เจ้าในช่วงที่มีโรคระบาด         ไหนจะปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ หรือการปิดโรงงานในประเทศต้นทางเพราะพนักงานติดโควิด-19 อีก         ยิ่งถ้าต้องการสินค้าแบบเจาะจงแบรนด์ก็ยิ่งต้องรีบ โดยปกติแล้วร้อยละ 80 ของสินค้าที่ส่งทางเครื่องบินมายังออสเตรเลียนั้นจะนั่งมาสวยๆ ใต้ท้องเครื่องบินโดยสาร (ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่ร้อยละ 50) แน่นอนว่ามีเที่ยวบินโดยสารน้อยลงเพราะปัจจุบันออสเตรเลียยอมให้มีการเดินทางเข้าประเทศได้แค่ 3,035 คนต่อสัปดาห์เท่านั้น (จากเดิม 6,070 คน) สรุปว่ารีบได้รีบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 ผลทดสอบยาปฏิชีวนะในปลาทับทิมและเนื้อไก่ชำแหละ

        “ในเรื่องอาหารและการตกค้างของยาปฏิชีวนะ เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคอย่างน้อยสามประเด็น คือ เรื่องข้อมูลในการเลือก เรื่องความปลอดภัย และเรื่องบริโภคศึกษา”          ทุกปีเพื่อเป็นการเฝ้าระวังอาหารที่คนไทยบริโภค ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตกค้างของยาปฏิชีวนะ ซึ่งถูกนำมาใช้ในภาคการผลิต นิตยสารฉลาดซื้อได้นำเสนอผลทดสอบย้อนหลังไปอย่างน้อยในสามครั้ง ได้แก่ การทดสอบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในอาหารฟาสต์ฟู้ด (ฉบับ 188  เดือนตุลาคม 2559 ) การตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อหมู (ฉบับ 193 เดือนมีนาคม 2560) การตกค้างของยาปฏิชีวนะในอกไก่และตับไก่สด (ฉบับ 209  เดือนกรกฎาคม 2561)         ในเดือนตุลาคม 2563 นี้ ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่าง ปลาทับทิม ซึ่งเป็นปลายอดนิยมของไทยและมีการเพาะเลี้ยงอย่างแพร่หลาย ซึ่งพบว่าส่วนหนึ่งของการดูแลปลาทับทิมจะมีการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย เราจึงสุ่มเก็บปลาทับทิมจากตลาดในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 11 แห่ง ตลาดและกระชังปลาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง จำนวน 4 แห่ง รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 15 ตัวอย่าง ส่งห้องปฏิบัติการเพื่อหาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ ตามตารางที่ 1         และเนื่องจากข้อเสนอของเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค โซนภาคกลาง ที่มีข้อสงสัยต่อเนื้อไก่ซอยหรือไก่ที่ชำแหละขายเป็นส่วนๆ (ปีก น่อง สะโพก ฯลฯ) ว่าอาจมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อไก่เหล่านี้ นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังฯ จึงสนับสนุนให้เกิดข้อพิสูจน์ดังกล่าว โดยร่วมมือกับอาสาสมัครของเครือข่ายผู้บริโภค โซนภาคกลางเก็บตัวอย่างไก่ซอย จำนวน  10 ตัวอย่างในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อตรวจหาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ ตามตารางที่ 2ผลทดสอบ        การตกค้างของยาปฏิชีวนะในปลาทับทิม         จากจำนวนตัวอย่าง 15 ตัวอย่าง 14 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ มีเพียง 1 ตัวอย่าง จากปลาทับทิมที่ซื้อจากตลาดคลองเตย พบ ยา Oxytetracycline ในปริมาณน้อยกว่า 5.00 ไมโครกรัม/กิโลกรัม        ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้างเพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้พบปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) ของยาในกลุ่มต่างๆ Tetracycline (เตตราไซคลีน) ในปลาส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม         หมายเหตุ เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนตุลาคม 2563 / ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น        การตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อไก่ชำแหละ        จากจำนวนตัวอย่าง 10 ตัวอย่าง 9 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ  มี 1 ตัวอย่าง จากเนื้อไก่ที่ซื้อจากตลาดเจ้าพรหม (รับจากโรงงานตลาดเจ้าพรหม) พบยา Enrofloxacin (Endrofloxacin) ในปริมาณ 0.66 ไมโครกรัม/กิโลกรัม        ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้างเพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้พบปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) ของยาในกลุ่มต่างๆ เช่น Tetracycline (เตตราไซคลีน) ในสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ ไก่งวง เป็ด ห่าน ไก่ต๊อก ในส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม เป็นต้น         อย่างไรก็ตามจากผลการตรวจวิเคราะห์พบยาเอนโรฟลอคซาซิน จำนวน 1 ตัวอย่าง ซึ่งไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ แม้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ใช้ยานี้ได้แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย อาจถือเป็นความผิดตามมาตรา 60 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522         หมายเหตุ เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนตุลาคม 2563 / ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2563

สมอ.ปรับแก้มาตรฐานคุมสารทาเลตในของเล่นเด็ก        สมอ. แก้ไขมาตรฐานของเล่น เพิ่มการตรวจหาสารทาเลตและคุมเข้มปริมาณสารโลหะหนัก พร้อมเตรียมกำหนดมาตรฐานเพิ่มอีก เครื่องเล่นสนามสาธารณะ ชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก         นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. ได้ดำเนินการปรับแก้ไขมาตรฐานของเล่นให้มีความทันสมัย ทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน  เพื่อป้องกันอันตราย หรือผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการเล่น รวมทั้งยกระดับอุตสาหกรรมของเล่นของไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เนื่องจากปัจจุบันของเล่นเด็กมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งรูปแบบและวัสดุที่ใช้ทำ ทั้งนี้ มาตรฐานของเล่น มอก. 685-2540 ได้ปรับแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ใช้งาน เช่น เพิ่มการตรวจสอบหาสารทาเลตซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ใช้ในกระบวนการผลิตพลาสติกในกลุ่มพีวีซีเพื่อให้เนื้อพลาสติกมีความอ่อนตัว สมอ.ต้องควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายตามมาตรฐานสากล ซึ่งเดิมไม่ได้มีการกำหนดไว้ โดยมีเกณฑ์ควบคุมปริมาณของสารทาเลตสำหรับของเล่นเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบและของเล่นที่สามารถนำเข้าปากได้ ต้องไม่เกิน 0.1% โดยมวล และแก้ไขการตรวจหาสารโลหะหนัก ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของเล่นที่มีการสัมผัสโดยตรงให้เข้มข้นขึ้น เช่น ฟิงเกอร์เพนต์ ซึ่งเป็นสีน้ำที่เด็กใช้มือสัมผัสโดยตรง ปริมาณสารตะกั่วต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากเดิมต้องไม่เกิน 90 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือสารหนูต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากเดิมกำหนดเกณฑ์สูงสุดมีได้ไม่เกิน 25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้เห็นชอบมาตรฐานดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ประมาณต้นปี 2563          นักวิจัย มช. พบการใช้ยาปฏิชีวนะในสวนส้ม         รศ.ดร.ภญ.บุษบัน ศิริธัญญาลักษณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการผลของยาปฏิชีวนะต่อการตกค้างในผลิตภัณฑ์จากส้มเขียวหวานสำหรับการผลิตอย่างแม่นยำ ลุ่มน้ำฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งติดตามปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะแอมพิซิลลินของเกษตรกรสวนส้มเขียวหวาน โดยเกษตรกรใช้เพื่อแก้ปัญหาโรครากโคนเน่า ทั้งนี้แอมพิซิลลินเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ในคน แต่เกษตรกรจะหาซื้อตามร้านขายยาในรูปแบบแคปซูล และนำมาผสมน้ำฉีดพ่นเพื่อป้องกันแบคทีเรียในต้นส้ม          โดยผลการศึกษาในสวนส้ม 3 แห่งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พบว่า ยังคงตรวจพบปริมาณสารปฏิชีวนะในลำต้นส้มในช่วง 90 วัน หลังฉีดสารปฏิชีวนะ ซึ่งแม้ว่ามีการตกค้างของยาปฏิชีวนะในผลส้มในปริมาณที่ถือว่าน้อยมาก แต่แสดงให้เห็นว่ามีการตกค้างอยู่ในผลส้มจริง นอกจากนี้ยังพบว่า สวนส้มที่ใช้ยาปฏิชีวนะมาเป็นเวลานานมีความหลากหลายของเชื้อแบคทีเรียในดินน้อยมาก และยังพบเชื้อดื้อสารปฏิชีวนะในปริมาณสูงอีกด้วย         ข่าวปลอม ซึมเศร้า NCD เรื่องน่าห่วงสุขภาพคนไทย         สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวที Thaihealth Watch จับตาประเด็นพฤติกรรมสุขภาพคนไทย ปี 2563 ในกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งประเด็นที่น่าจับตาในกลุ่มเด็กและเยาวชน คือ ปัญหาความเครียด ภาวะซึมเศร้า ภัยคุกคามทางออนไลน์ อุบัติเหตุทางคมนาคม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์        โดยพบว่าสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นเครียดเป็นอันดับ 1 มาจากปัญหาครอบครัว ตามด้วยเรื่องหน้าที่การงาน การถูกกลั่นแกล้ง และความรุนแรง ส่วนปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์ ซึ่งผลวิจัยพบว่า เด็กที่ใช้เวลากับโลกออนไลน์มาก ยิ่งเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งและเป็นผู้กลั่นแกล้งทางออนไลน์ถึง 3 เท่า ส่วนปัญหาอุบัติเหตุทางคมนาคม พบว่ากลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มใส่หมวกกันน็อกลดลง และพบการบาดเจ็บและเสียชีวิตในกลุ่มเยาวชนจากมอเตอร์ไซค์ และแม้อัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นลดลง แต่อัตราการติดโรคทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสและหนองใน         สำหรับประเด็นพฤติกรรมสุขภาพที่น่าเป็นห่วงในกลุ่มวัยทำงาน คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน หรือ โรคในกลุ่ม NCDs เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน หัวใจขาดเลือด จากผลการสำรวจพบว่ากลุ่มคนวัยทำงานเน้นการบริโภคอาหารรสจัด และเน้นที่รูปลักษณ์ ขณะที่เด็ก คนโสด คนทำงานบริษัทกินผักน้อยที่สุด         นอกจากนี้ยังพบ ปัญหาข่าวปลอม หรือ fake news เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพที่มีการแชร์กันมาก เช่น อังกาบหนูรักษามะเร็ง, น้ำมันกัญชารักษามะเร็ง, หนานเฉาเว่ยสารพัดโรค, บัตรพลังงานรักษาสารพัดโรค และปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมไปถึงปัญหาขยะอาหาร หรือ อาหารส่วนเกินอีกด้วย          ธปท. ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ด้วยมาตรการปรับ “ดอกเบี้ย - ค่าธรรมเนียม”                ธนาคารแห่งประเทศไทยมอบนโยบายให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 3 เรื่อง ได้แก่          1) ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด สำหรับสินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด โดยให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ จากเดิมที่คิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน และให้กำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอน          2) ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด โดยกำหนดให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวดที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น โดยให้สถาบันการเงินกำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด รวมถึงให้ชี้แจงแสดงรายละเอียดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ หรือ ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ให้ชัดเจน          3) ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรให้ผู้ใช้บริการ และการให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมในการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน หรือให้พิจารณาจัดเก็บตามความเหมาะสม        นอกจากนี้ ธปท.ยังขอให้ผู้ให้บริการนำหลักการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 4 เรื่องไปปรับใช้ ได้แก่ 1) สะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ 2) คำนึงถึงความสามารถในการชำระและไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควร 3) ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และ 4) เปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน              มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นเรื่อง กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค ตรวสอบการต่อสัมปทานทางด่วนให้ BEM         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และภาคประชาชน เข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการต่ออายุสัญญาสัมปทานระยะที่ 2 ของคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)  ให้กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)         โดยมูลนิธิฯ และเครือข่ายฯ ได้ให้เหตุผลว่า การต่ออายุสัมปทานดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า 2 แสนล้านบาท และอาจส่งผลให้ผู้บริโภคต้องเสียประโยชน์โดยการจ่ายค่าผ่านทางแพงขึ้นจนถึงปี 2578 อีกทั้งยังพบว่า กระบวนการต่ออายุสัมปทานมีการอ้างอิงมูลค่าความเสียหายจากคดีที่ยังไม่มีการฟ้องร้องขึ้นจริงมาคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประกอบการตัดสินใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 กระแสต่างแดน

เรื่องเที่ยวเฟี๊ยวกว่า        สินค้ายอดนิยมชนิดใหม่ที่ชาวจีนนิยมสั่งซื้อออนไลน์ใน “วันคนโสด” คือ “ประสบการณ์กิน/เที่ยว” ที่มียอดเติบโตถึงร้อยละ 60 ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา (ในขณะที่สินค้าหรูหราอย่างไวน์ หรือนมผงไฮเอนด์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่นตู้เย็น หรือเครื่องซักผ้า เติบโตร้อยละ 50)         ข่าวระบุว่าสินค้าด้านการท่องเที่ยวที่ขายดีที่สุดในวันนี้ สามอันดับแรกได้แก่ ตั๋วเครื่องบิน เวาเชอร์โรงแรมหรูพร้อมคูปองบุฟเฟต์ และบัตรเข้าสวนสนุก         เว็บฟลิกกี้ในเครือของอาลีบาบารายงานว่ามีผู้คลิกซื้อทัวร์ต่างประเทศถึง 5 ล้านราย (ปลายทางยอดนิยมสามอันดับแรกของชาวจีนได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย) ซื้อบริการรับทำวีซ่า 900,000 ราย และจองห้องพักไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านห้อง           ปีนี้มีผู้บริโภคหน้าใหม่ที่เข้ามาช้อปในวัน 11.11 มากกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 30 และขาช้อปออนไลน์จาก เซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง และปักกิ่ง (ตามลำดับ) คือกลุ่มที่มีสถิติช้อปสูงสุดเข้าขั้นวิกฤต        นอกจากปัญหา “โลกร้อน” แล้ว มนุษย์ยังกำลังเผชิญกับ “มลภาวะจากยาปฏิชีวนะ” ที่องค์การสหประชาชาติประเมินว่าจะเป็นสาเหตุการตายของผู้คนถึง 10 ล้านคนในปีค.ศ. 2050         นักวิจัยพบว่าสองในสามของตัวอย่างน้ำ 711 ตัวอย่างจากแม่น้ำใน 72 ประเทศจาก 6 ทวีป มีการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในระดับที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีประชากรมีฐานะยากจน         ทวีปที่มีการปนเปื้อนรุนแรงที่สุดคืออัฟริกา ตามด้วยเอเชีย (บังคลาเทศที่มีการปนเปื้อนของเมโทรนิดาโซลเกินระดับที่ปลอดภัยถึง 300 เท่า) อเมริกาใต้ อเมริกาเหนือ ยุโรป และโอเชียเนีย ตามลำดับ         โดยรวมแล้วไม่มีที่ไหนปลอดภัย แม้แต่แม่น้ำเทมส์ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่สะอาดที่สุดก็ยังปนเปื้อนด้วยยาปฏิชีวนะถึง 5 ชนิด ในขณะที่แม่น้ำดานูบได้ตำแหน่งแม่น้ำที่ปนเปื้อนมากที่สุดในยุโรปไปครอง          ยาเหล่านี้ปนเปื้อนในแหล่งน้ำผ่านทางขยะ ของเสียของมนุษย์และสัตว์ รวมถึงการรั่วไหลจากโรงบำบัดน้ำเสียหรือจากโรงงานผลิตยานั่นเองผู้หญิงจ่ายแพง        ในที่สุดอิตาลีซึ่งเป็นประเทศที่เก็บภาษีผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยสตรีสูงเป็นอันดับ 6 ของยุโรป ก็ประกาศลดภาษีผ้าอนามัยเหลือร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป         การรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลตีความว่าผ้าอนามัยไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือยนั้นมีมานานแล้ว แต่เพิ่งจะผลักดันได้สำเร็จ อิตาลีกำหนดอัตราภาษีสำหรับสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันไว้ที่ร้อยละ 10 ในขณะที่ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเช่น ไวน์ บุหรี่ อยู่ที่ร้อยละ 22         ปีที่แล้วรัฐบาลอิตาลีประกาศลดภาษีเห็ดทรัฟเฟิล แต่กลับคงภาษีผ้าอนามัยไว้ที่ร้อยละ 22 ทำเอาหลายฝ่ายงุนงงว่าการมีประจำเดือนมันฟุ่มเฟือยกว่าการซื้อเห็ดกิโลกรัมละเป็นแสนเป็นล้านได้อย่างไร         ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปเรียกเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราต่ำ อังกฤษเก็บที่ร้อยละ 5 ในขณะที่ไอร์แลนด์ไม่เรียกเก็บเลย เช่นเดียวกับใน 12 มลรัฐในอเมริกา    อย่าทิ้งหนู        ในช่วงที่ผ่านมามีเด็กหลายรายเสียชีวิตเพราะถูกผู้ปกครองลืมทิ้งไว้ในรถ อิตาลีจึงออกกฎหมายกำหนดให้พ่อแม่ที่มีลูกวัยต่ำกว่า 4 ขวบ จัดหาคาร์ซีทหรือที่นั่งสำหรับเด็ก ชนิดที่มีสัญญาณเตือนไปยังผู้ขับขี่หากยังมีเด็กนั่งอยู่ในรถ หรือซื้อสัญญาณเตือนมาติดคาร์ซีทที่มีอยู่แล้วก็ได้         ที่นั่งแบบ “ป้องกันการถูกทิ้ง” มีราคาตั้งแต่ 50 ถึง 100 ยูโร (ประมาณ 1,700 – 3,400 บาท) เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน รัฐบาลจึงประกาศให้เงินสนับสนุน 30 ยูโรต่อที่นั่ง         รายงานข่าวบอกว่างบประมาณที่เตรียมไว้สามารถช่วยได้แค่ 1 ใน 4 ของพ่อแม่ที่ต้องใช้คาร์ซีทเท่านั้นงานนี้เขาใช้ระบบใครมาก่อนได้ก่อน ไม่เกี่ยงเรื่องรวยหรือจน         อิตาลีเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้กฎหมายดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2019 ผู้ฝ่าฝืนต้องจ่ายค่าปรับ 326 ยูโร (ประมาณ 11,000 บาท) และเสียแต้มในใบขับขี่ 5 คะแนนนั่งแล้วหนาว        นอกจากจะต้องทนนั่งรถเมล์ที่ขับได้หวาดเสียวและฝ่าฝืนกฎจราจรตลอดเวลา ผู้โดยสารรถเมล์ในศรีลังกาต้องตื่นเต้นขึ้นอีกหลายระดับเมื่อมีคนออกมาเปิดโปงว่ากว่าครึ่งของพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารรถเมล์เอกชน “ติดยาไอซ์”         ผู้คร่ำหวอดในวงการบอกว่านี่คือความผิดพลาดของระบบขนส่ง การไม่มีป้ายรถเมล์ที่ชัดเจน หรือตารางออกรถที่แน่นอน รวมถึงการจราจรที่ติดขัด ล้วนทำให้คนทำงานเกิดความเครียด จนต้องพึ่งยาเมื่อ “ติด” แล้ว ก็เริ่มทอนเงินผู้โดยสารไม่ครบ หรือเก็บค่าโดยสารเกินจริง เพื่อนำเงินส่วนเกินไปซื้อยาอาจดูเป็นการกล่าวหารุนแรง แต่แหล่งข่าวคือบรรดาเจ้าของกิจการรถเอกชนที่ทนพฤติกรรมลูกจ้างของตัวเองไม่ไหวจนต้องบอกผ่านใครสักคน          กระทรวงคมนาคมรับปากว่าจะส่งทีมไปตรวจการใช้ยาเสพติดให้บ่อยขึ้น หากพบว่ามีการใช้ยาขณะปฏิบัติหน้าที่ ก็จะยึดใบอนุญาตทันที แต่ยังไม่ได้บอกว่าจะปรับปรุงระบบโดยรวมอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ‘ยาปฏิชีวนะในพืชและสัตว์’ เมื่อผู้บริโภคอาจกินเชื้อดื้อยาเข้าปาก

ในช่วง 5-6 ปีหลังๆ มานี้ บุคลากรด้านสาธารณสุขและนักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ทำการรณรงค์เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลบ่อยครั้งขึ้น ถึงกระนั้น การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผลจนก่อผลกระทบด้านสุขภาพก็ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง        ข้อมูลจาก ‘ภูมิทัศน์ของสถานการณ์และการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย’ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการประสานและบูรณาการงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ เมื่อปลายปี 2558 ให้ข้อมูลว่า ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 ราย และหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เมื่อถึงปี 2593 คาดว่าการเสียชีวิตจะสูงถึง 10 ล้านคน โดยทวีปเอเชียและแอฟริกาจะเสียชีวิตมากที่สุดคือ 4.7 และ 4.2 ล้านคน ตามลำดับ ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจสูงถึง 3,500 ล้านล้านบาท        องค์การอนามัยโลกยังระบุด้วยว่าแนวโน้มการดื้อยาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้โลกเข้าสู่ยุคหลังยาปฏิชีวนะ(Post-antibiotic era) ที่การติดเชื้อแบคทีเรียเพียงเล็กน้อยอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตและเข้าสู่การล่มสลายทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เนื่องจากไม่สามารถทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดทั่วไป การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนหรือปลูกถ่ายอวัยวะ รวมทั้งการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดได้อีกต่อไป เพราะหัตถการทางการแพทย์เหล่านี้ต้องพึ่งพิงประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อ         ส่วนในประเทศไทย ประมาณการเบื้องต้นคาดว่า มีการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 87,751 ครั้ง        เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 38,481 รายหรือร้อยละ 40 ของผู้ติดเชื้อดื้อยาต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น 3.24 ล้านวัน มูลค่ายาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาคิดเป็น 2,539-6,084 ล้านบาท เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ        จากข้อมูลดังกล่าว ผู้บริโภคที่ไม่เจ็บ ไม่ไข้ ไม่ต้องทานยา ไม่ต้องผ่าตัด อาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทว่า ในความเป็นจริงปัญหาดังกล่าวใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะเป็นไปได้ว่าเชื้อดื้อยาอาจมากับอาหารที่เรากิน โดยเฉพาะส้มและปลาทับทิม นี่ยังไม่รวมถึงการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมหรือน้ำที่เราใช้อุปโภคบริโภค  แม่น้ำที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ         ต้องกล่าวก่อนว่าการทำปศุสัตว์อย่างหมู ไก่ หรือโคนม และการเลี้ยงปลามีการใช้ยาปฏิชีวนะอยู่แล้วโดยทั่วไป เกษตรกรสามารถซื้อยาปฏิชีวนะสำหรับสัตว์ได้ตามร้านขายเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร ซึ่งเคยมีการสำรวจพอเชื้อดื้อยาทั้งในหมูและไก่มาแล้ว ส่วนในสัตว์น้ำพบเชื้อดื้อยาในปลามากกว่ากุ้ง โดยเฉพาะการดื้อต่อยา tetracycline, oxytetracycline และ sulfamethoxazole แน่นอนว่าเรื่องนี้ชวนวิตกกังวล เพราะในคนที่มีอาการแพ้ยา การได้รับเชื้อดื้อยาเพียงน้อยนิดอาจหมายถึงชีวิต         ภก. สันติ โฉมยงค์ เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอยุธยา เปิดเผยกับ ‘ฉลาดซื้อ’ ว่า         การติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะในกระชังปลาทับทิมในแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยุธยา อ่างทอง ไปจนถึงชัยนาท พบว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะหลายกลุ่มในการเลี้ยงปลา ตั้งแต่ที่ผสมมากับอาหารเลยก็คือ tetracycline กลุ่มที่ใช้รักษาโรคพื้นๆ อย่าง penicillin amoxicillin แล้วก็มีกลุ่มที่ใช้รักษาโรคพิเศษคือกลุ่ม quinolone ซึ่งเป็นกลุ่มยาสัตว์        ภก. สันติ ยังบอกอีกว่า ยากลุ่ม quinolone นี้ยังไม่แน่ใจว่าขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือเปล่าหรือว่ามาจากตลาดมืด แต่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายพอสมควร ตั้งแต่ต้นน้ำก็คือเขื่อนเจ้าพระยาที่ชัยนาทมาถึงอยุธยาซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำ พบว่ามีการใช้อย่างไม่มีการควบคุม ชาวบ้านสามารถหาซื้อมาใช้ตามคำบอกเล่าหรือแบบบอกต่อจากเพื่อนที่ทำกระชังปลาด้วยกัน         “ผู้ประกอบการจะประเมินจากจำนวนปลาที่อยู่ในกระชังมากน้อย เพราะถ้าความหนาแน่นของปลาในกระชังมีมาก ปลาก็มีโอกาสจะเป็นแผลหรือเกิดโรค เขาก็จะใช้ยาในสัดส่วนที่มากขึ้น ส่วนตัว amoxicillin เขาจะใช้ละลายน้ำแล้วก็หว่านลงในกระชัง ซึ่งเขาก็จะมีความถี่ในการให้ เช่น ให้เช้าเย็นหรือให้ติดต่อกัน 7 วันเหมือนมีคนแนะนำมาว่าควรจะทำแบบนี้ๆ และในส่วนที่เป็นโรคระบาดหรือโรคที่มาตามฤดู เขาก็จะใช้ตัว quinolone ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นยาสัตว์ แต่โดยแพ็คเกจแล้วดูเหมือนจะเป็นยาในตลาดมืดมากกว่า ไม่ใช่ยาที่ขายโดยทั่วไป         สิ่งที่เรากังวลก็คือการที่ทั้งผสมอาหารให้ปลากินทุกวันหรือผสมน้ำแล้วหว่านลงในกระชังติดต่อกัน 7 วัน 14 วัน มันเป็นการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคิดว่ามันเชื่อมโยงกับเรื่องเชื้อดื้อยาที่กำลังแพร่หลายมากขึ้น เพราะจะไม่ใช่แค่ตัวปลาในกระชังที่ได้รับยานี้ แต่มันหมายถึงสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำเจ้าพระยาอื่นๆ ก็จะได้รับยาปฏิชีวนะไปด้วย ซึ่งถ้ามันมียีนดื้อยา การที่เราไปบริโภคอาหารที่มีเชื้อดื้อยาอยู่มันจะส่งผลกระทบกับเราหรืออาจจะตกค้างในแม่น้ำ” ภก.สันติ กล่าว  เชื้อดื้อยาในสวนส้ม          อีกกรณีหนึ่งที่เริ่มมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้นคือการใช้รักษาโรคพืช โดยเฉพาะโรคกรีนนิ่งในพืชตระกลูส้ม เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และมะนาว โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Candidatus Liberibacterasiaticus ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากแก่เกษตรกร         ต่อมางานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พบว่า ยาปฏิชีวนะสามารถช่วยรักษาโรคกรีนนิ่งได้ผลดี โดยมีการทดลองเปรียบเทียบยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด คือ tetracycline, penicillin และ ampicillin พบว่า ampicillin ที่เป็นแคปซูลทั้งขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัมได้ผลดีที่สุด จึงมีการส่งเสริมการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าต้นส้มเพื่อรักษาโรคดังกล่าว ส่งผลให้การใช้ยาปฏิชีวนะในส้มเป็นไปอย่างแพร่หลาย         จากการลงสำรวจพื้นที่อำเภอเชียงของของ ภก.อิ่นแก้ว สิงห์แก้ว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย พบว่า มีเกษตรกรประมาณร้อยละ 80 ของสวนที่ใช้ยาปฏิชีวนะ แต่อัตราการใช้ยังไม่รุนแรง ส่วนใหญ่จะใช้ประมาณปีละครั้งหรือปีละ 2 ครั้งเท่านั้น         “การใช้ยาปฏิชีวนะที่เชียงของจะได้รูปแบบมาจากฝาง จะใช้แบบผสมน้ำ ใช้สว่านเจาะรูต้นส้ม แล้วก็ฉีดเข้าไป บางส่วนก็จะใช้ไซริงค์ใหญ่ๆ ประมาณ 20 ซีซีปักคาที่ต้นไว้ บางส่วนก็จะใช้อัดเข้าไปในขวดโค้กแล้วต่อสายน้ำเกลือห้อยไว้ ส่วนใหญ่ก็จะมี 2 รูปแบบนี้ ทางเรากำลังอยู่ในช่วงเก็บข้อมูลทำเป็นทะเบียนผู้ผลิตส้มและทะเบียนยาปฏิชีวนะที่ใช้ในสวนจึงยังไม่ทราบปริมาณการใช้ที่แน่นอน ส่วนยาที่ใช้จะเป็น ampicillin กับ amoxicillin ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในคนด้วยสำหรับโรคติดเชื้อทั้งหลาย”         ขณะนี้ในพื้นที่อำเภอเชียงของโดยมีนายอำเภอเป็นประธานได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งสาธารณสุข โรงพยาบาล เกษตรกรผู้ปลูกส้ม และสำนักงานเกษตร เพื่อทำการสำรวจ พูดคุย และแก้ปัญหา โดยจะมีการจัดทำทะเบียนผู้ปลูกส้มและทะเบียนสารเคมี ทั้งยาปฏิชีวนะและยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลงทั้งหลายว่ามีการใช้อย่างไรบ้าง         ภก.อิ่นแก้ว ให้ข้อมูลว่าเกษตรกรซื้อยาปฏิชีวนะจากร้านขายยาหรือร้านเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้สำหรับสัตว์เท่านั้น แต่เกษตรกรก็นำไปดัดแปลงใช้เพราะมีการวิจัยว่าใช้ได้ผล แต่ไม่ได้มีการศึกษาผลระยะยาวเรื่องการดื้อยา         เมื่อถามต่อว่ายาปฏิชีวนะสามารถซื้อได้เองตามร้านขายยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์หรือ?         เขาตอบว่าไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์และกฎหมายก็ไม่ได้บังคับ เพราะการจะมีใบสั่งยาแพทย์ต้องเป็นยาควบคุมพิเศษ แต่ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาควบคุมพิเศษเป็นแค่ยาอันตรายทั่วไป        อย่างไรก็ตาม การใช้ยาปฏิชีวนะในส้มในอำเภอเชียงของยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับอำเภอฝาง จากการลงพื้นที่สำรวจ หลายสวนเริ่มมีความถี่ในการฉีดยาต้นส้มเพิ่มขึ้นจากปีละครั้งเป็นปีละ 2 ครั้ง ล่าสุดที่พบคือ 2 เดือนครั้ง เกษตรกรบอกว่าถ้าไม่ทำแบบนี้จะเอาไม่อยู่ ซึ่งน่าสงสัยว่าเชื้อในต้นส้มจะดื้อยาหรือเปล่า                 “มันไม่มีกฎหมายห้ามไว้ว่าห้ามใช้ยาปฏิชีวนะในสวน แต่กฎหมายจะดูแหล่งแพร่กระจายคือ ร้านยาเวลาขายจะต้องมีใบอนุญาต แล้วเขาจะมีการควบคุมปริมาณและมีรายงาน แต่ปัจจุบันนี้ก็ไม่ค่อยมีที่ไหนรายงานเท่าไหร่ทำให้เกษตรกรไปซื้อตามร้านขายยาได้คราวละมากๆ และอีกปัญหาหนึ่งคือการลักลอบนำเข้าที่เรายังหาเส้นทางไม่เจอ แต่เรารู้ข้อมูลจากตัวผลิตภัณฑ์เพราะมันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนในประเทศไทย         “ของเชียงของตอนนี้ถ้าเราสำรวจผลิตภัณฑ์เสร็จเรียบร้อยว่ามีตัวไหนบ้าง ใช้ปริมาณเท่าไหร่ ก็มีแผนว่าจะทำเป็นสวนตัวอย่างควบคุม อาจมีการทำวิจัยดูปริมาณสารตกค้างในส้มเพราะเท่าที่เคยอ่านรายงานมาต้นส้มจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือนในการกำจัดยาออกจากต้นหมด นั่นหมายความว่าเกษตรกรน่าจะฉีดก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 4 เดือนถ้าจะฉีด ตอนนี้ทางเชียงของทั้งกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มต่างๆ ก็ตกลงกันว่าจะทำเป็นตารางการฉีด ถ้าคุณจะฉีดจะฉีดในปริมาณเท่าไหร่ ในระยะเวลาเท่าไหร่ เพื่อให้แน่ใจว่าผลส้มที่ออกมามันปลอดภัย แต่การห้ามฉีดเป็นไปไม่ได้เพราะชาวบ้านก็ลงทุนกับต้นส้มไปเยอะ ถ้ามันติดเชื้อต้องเผาทิ้งทั้งไร่ ก็เหมือนเผาเงินทิ้ง” ภก.อิ่นแก้ว กล่าวกลไกกำกับดูแลที่หละหลวม-การแก้ปัญหาต้องมองทุกมิติ         ไม่จำเป็นต้องถามว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในปลาและพืชจะเกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า แต่ต้องถามว่ามีการตกค้างมากแค่ไหน ซึ่งไม่มีใครรู้ตัวเลขที่แน่ชัดในปัจุบัน ภก.สันติ กล่าวว่า         “การตรวจสอบเป็นสิ่งที่เราเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาทำ เพราะการตรวจสอบมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและต้องตรวจในแล็บที่เชื่อถือได้ ซึ่งตัวชาวบ้านเองหรือเครือข่ายที่เฝ้าระวังไม่มีกำลังพอที่จะไปเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบ เราก็เรียกร้องมาหลายปีแล้ว เช่นกรมทรัพยากรธรรมชาติหรือเกษตรที่ตรวจคุณภาพน้ำ ซึ่งเขาตรวจคุณภาพน้ำอย่างเดียว แต่ไม่ได้ตรวจเรื่องเชื้อดื้อยา อันนี้เราเรียกร้องว่าควรจะตรวจโดยเฉพาะในช่วงที่มีการทำกระชังปลาน้ำจืดเยอะๆ”         ปัญหาไม่ใช่แค่นั้น แต่กลไกที่จะคอยกำกับดูแลก็ยังมีข้อติดขัด ภก.ศุภนัย ประเสริฐสุข หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู และผู้ประสานงานเครือข่ายยาชายแดนและผลิตภัณฑ์สุขภาพข้ามแดน กล่าวว่า ในปศุสัตว์มีการใช้ยาปฏิชีวนะมาก แต่ก็มีกลไกกำกับดูแล แต่ในภาคเกษตรแม้อาจจะใช้น้อยกว่า แต่ไม่มีกลไกในการกำกับดูแล         กลไกการกำกับดูแลหมายความว่า รู้ว่ามีการใช้และสามารถประเมินตรวจสอบได้ว่าใช้แล้วจะมีผลกระทบอย่างไร ใช้แล้วสามารถป้องกันไม่ให้เกิดยีนดื้อยามนุษย์ได้ ซึ่งถ้ามีกลไกแบบนี้ก็จะสามารถลดปริมาณการใช้หรือจำกัดการใช้ในปริมาณที่ถูกต้องหรือกลุ่มยาที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดยีนดื้อยา ภาคเศรษฐกิจก็สามารถเจริญเติบโตได้ ขณะที่ด้านสาธารณสุขก็ลดการดื้อยาจากเชื้อดื้อยาได้         กลไกในที่นี้หมายถึงกระบวนการตั้งแต่ต้นทาง เช่น ยาปฏิชีวนะจะถูกนำไปใช้อะไรบ้าง เกษตรกรรม ปศุสัตว์ ต้องผ่านหน่วยงานที่กำกับดูแลหลายๆ ส่วน แต่ปรากฏว่าเกษตรกรรายย่อยสามารถซื้อยาเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย ใครมาซื้อก็ได้ ซื้อจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ ทำได้เลย ถ้าเป็นรายใหญ่มีข้อมูลว่ามีการสั่งซื้อยากลุ่ม penicillin จากอินเดียที่ใช้ในสวนส้มจำนวนมาก ซึ่งปรากฏว่าเป็นยาที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่ได้ผ่านหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล เพราะถ้ามีการกำกับดูแลยาเหล่านี้จะไม่สามารถนำมาขายในประเทศไทยได้เพราะไม่ถูกขึ้นทะเบียน ไม่มีฉลาก         “การใช้ยาปฏิชีวนะในสวนส้มทางภาคเหนือก็มีการใช้พร่ำเพรื่อและไม่มีกลไกตรวจสอบเลย เพราะว่าประเด็นนี้เราไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้โดยตรง กฎหมายทางด้านสาธารณสุขก็ยังไม่มีอันไหนที่สามารถใช้ได้โดยตรงมากนัก จะใช้กฎหมายอาหารก็ไม่สามารถทำได้ ก็ต้องไปทำการตรวจวิเคราะห์และการตรวจวิเคราะห์ทุกวันนี้ก็ไม่ง่ายต้องส่งแล็บที่มีสเกลสูง ซึ่งตามต่างจังหวัดไม่สามารถทำได้”        จากชุดประสบการณ์ที่ทาง ภก.ศุภนัยและคณะทำเรื่องสเตียรอยด์ การนำเข้ายาปฏิชีวนะมีได้ 2-3 ทาง ทางหนึ่งคือ สำแดงเท็จแล้วก็นำเข้ามาโดยตรง ซึ่งต้องผ่านนายหน้า ผ่านบริษัท เพราะโดยกระบวนการที่ถูกต้องเวลาจะนำเข้ายาต้องขออนุญาตนำเข้าผ่านศุลกากร แล้วไปสำแดงกับสำนักด่านอาหารและยาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พอได้รับใบอนุญาตนำเข้าก็จะมีระบบ tracking ว่านำเข้าโดยบริษัทใดนำไปผลิตเป็นยาอะไร ปริมาณเท่าไหร่ ส่งให้ใคร แล้วก็มาบวกรวมกันว่าสารเคมีที่เหลือถูกต้องตรงกันกับที่ผลิตและกระจายใช้ในประเทศหรือไม่ ดังนั้น คนที่ตั้งใจจะทำผิดจึงไม่เข้าระบบนี้เพราะติดตามได้ว่ายากระจายไปที่ไหน เหลืออยู่เท่าไหร่ จึงมีการลักลอบนำเข้าแล้วกระจายขาย         เหล่านี้แสดงให้เห็นกลไกกำกับดูแลที่ยังหละหลวมและกฎหมายที่จะใช้บังคับก็ไม่มีความชัดเจน กลายเป็นช่องโหว่สำคัญให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในพืชเพิ่มขึ้น         อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ไม่สามารถมองในประเด็นด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียวแล้วจะสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะมันเชื่อมโยงถึงเรื่องปากท้องของชาวบ้านที่ทำสวนและเลี้ยงปลา การห้ามใช้ยาปฏิชีวนะอาจหมายถึงการล้มละลายเพราะผลผลิตเสียหาย หากมองในภาพรวม จำเป็นต้องมองให้ครอบคลุมเรื่องเศรษฐกิจ การสร้างทางเลือกในอาชีพ การถือครองที่ดินทำกินเพราะผู้เลี้ยงปลาในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนไม่น้อยไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง การเลี้ยงปลาในกระชังจึงเป็นทางออกไม่กี่ทางในการเลี้ยงชีพ        การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาจึงมองมิติด้านสาธารณสุขอย่างเดียวไม่ได้ ต้องครอบคลุมถึงด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และต้องมองเห็นมนุษย์ที่อยู่ในวงจรนี้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 มันใกล้ตัวเรา เข้ามาแล้ว

        เราคงได้ยินคำว่าเชื้อดื้อยามานานแล้ว นานจนหลายๆ คนเริ่มจะชิน แต่บางคนอาจไม่หวาดกลัวเพราะไม่เคยเจอกับตัวเอง ระยะหลังกระทรวงสาธารณสุขมีการรณรงค์เกี่ยวกับการป้องกันเชื้อดื้อยา โดยรณรงค์ไม่ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ(ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) อย่างพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะการใช้อย่างไม่จำเป็นในสามโรค ได้แก่ หวัดชนิดที่ไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย แผลสะอาด ท้องเสีย  อีกทั้งยังมีการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ทั้งของประเทศและระดับโลกมากขึ้น กระแสตื่นตัวเกี่ยวกับเชื้อดื้อยาจึงมากขึ้น จนกระทั่งรัฐบาลนำไปเป็นนโยบายของประเทศ     แม้ว่าการณรงค์การใช้ยาในคนจะเริ่มประสบผลสำเร็จมากขึ้น แต่กลับมีข้อมูลการใช้ยาในภาคเกษตรทั้งพืชและสัตว์ปรากฏขึ้นมาอีก จากการสำรวจข้อมูลในหลายๆ พื้นที่ พบว่ามีการนำยาปฏิชีวนะที่ใช้ในมนุษย์ เช่น แอมพิซิลิน(Ampicillin) อะม็อกซี่ซิลิน(Amoxycillin) มาใช้ในการเกษตร โดยพบการใช้มากในสวนส้ม ข้อมูลจาก Facebook เภสัชกรชายแดน รายงานว่าเกษตรกรได้ทำกันอย่างแพร่หลาย โดยจะไปซื้อยาปฏิชีวนะมาแกะเม็ดแคปซูลออก แล้วเอาแต่ผงยาออกมาละลายน้ำ ทิ้งไว้ 1 คืน หลังจากนั้นจึงนำมากรองเอาแต่น้ำ นำไปใส่ขวดแล้วฉีดที่ต้นส้ม  โดย 1 ปี จะฉีด 3 ครั้ง ไม่เช่นนั้นส้มจะเหลืองและตาย  Facebook เภสัชกรชายแดน ยังได้รายงานว่า จากการลงพื้นที่สำรวจ พบผงยาอะม็อกซี่ซิลินเกลื่อนตามพื้นดิน ซึ่งผงยานี้จะซึมสู่แหล่งน้ำใต้ดินต่อไปได้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากเกษตรกรจะสัมผัสผงยาโดยตรง ซึ่งยาอาจเข้าสู่ร่างกายได้ ผู้บริโภคเองก็มีความเสี่ยงอย่างสูงที่จะได้รับยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นที่ตกค้างในผลส้ม และมีโอกาสสูงที่จะนำไปสู่สภาวะที่เร่งเร้าให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ ซึ่งเคยมีข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่หนังสือพิพม์คมชัดลึก  ฉบับวันที่ 27 มกราคม 2560 นำเสนอว่า มีการตรวจพบเชื้อที่มียีนดื้อยาในมนุษย์แล้วเช่นกัน หรือผู้บริโภคบางคนอาจแพ้ยาที่ตกค้างในส้ม ซึ่งน่าห่วงตรงที่การแพ้ยาของบางคนอาจเป็นการแพ้แบบรุนแรงได้        ล่าสุดมีข้อมูลที่ได้จากการทำงานร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ซึ่งได้ตรวจผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ประเภท แหนม กุนเชียง ไส้กรอกอีสาน พบยีนเชื้อดื้อยาปะปนมาในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วย ซึ่งหมายความว่า        1. เนื้อสัตว์ที่นำมาผลิตนั้น บางชนิดมียีนเชื้อดื้อยาปะปนมาด้วย        2. หากผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีเชื้อโรคที่ดื้อยาและผู้บริโภคนำมารับประทาน โดยไม่ผ่านความร้อนให้เชื้อโรคตาย (เช่น แหนม ที่สามารถรับประทานดิบๆ ได้) เชื้อโรคที่ดื้อยานั้นก็จะเข้าสู่ร่างกายคนที่รับประทาน        3. เมื่อเชื้อโรคที่เข้าไปในร่างกายคนที่รับประทานมียีนเชื้อดื้อยาแล้ว หากคนนั้นเจ็บป่วยจากเชื้อโรคดังกล่าว การรักษาด้วยยาทั่วๆ ไปที่เชื้อโรคชนิดนี้เคยตาย  มันก็จะไม่ตาย และต้องไปใช้ยาที่แพงและสูงกว่าเดิมที่เคยใช้        ข้อมูลเหล่านี้จึงเสมือนการย้ำเตือนให้พวกเราอย่าลืมว่า เชื้อดื้อยาไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะ มันใกล้ตัวเรา เข้ามาแล้ว ทางออกที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะทำได้ คือช่วยกันยับยั้งปัญหาเหล่านี้ เช่น สอบถามหรือปรึกษาบุคลากรทางสาธารณสุขเกี่ยวกับการใช้ยาที่เหมาะสม ไม่นำยาปฏิชีวนะไปใช้ในทางที่ผิดๆ ดังที่เล่ามาข้างต้น ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 กระแสต่างแดน

อย่าทิ้งกันง่ายๆหนุ่มสวิสวัย 33 ปี ถูกตัดสินจำคุกสองวันเพราะไม่ยอมจ่ายค่าปรับจากการฝ่าฝืนเทศบัญญัติ เดือนพฤศจิกายนปี 2517 สายสืบของเทศบาลเมืองบีล/เบียนน์ พบถุงขยะในวันที่ไม่อนุญาตให้ทิ้ง และถุงดังกล่าวไม่มีสติกเกอร์แสดงการเสียภาษี เมื่อตามหาเจ้าของถุงพบจึงเรียกมาจ่ายค่าปรับ 150 ฟรังก์ (ประมาณ 5,000 บาท) แต่เจ้าตัวไม่ยอมจ่าย เรื่องจึงยืดเยื้อมาจนมีคำตัดสินดังกล่าวสวิตเซอร์แลนด์แลนด์มีอัตราการสร้างขยะ 714 กิโลกรัม/คน/ปี สูงกว่าหลายประเทศในยุโรป รัฐบาลจึงเข้มงวดมาก ครัวเรือนต้องจัดเก็บขยะลงถุงที่รัฐกำหนด(ราคาถุงรวมค่าธรรมเนียม) หรือหากเป็นถุงทั่วไปก็จะต้องซื้อสติกเกอร์ภาษีมาติดแน่นอนว่ามีคนพยายามลักไก่ ปีที่แล้วมีคนถูกปรับ 209 คน โดนตักเตือน 600 คน (และมีไม่น้อยที่ขับรถข้ามชายแดนไปทิ้งขยะในฝรั่งเศส!) แต่ในภาพรวมสวิตเซอร์แลนด์แลนด์สามารถจัดการขยะได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยอัตราการรีไซเคิลสูงกว่าร้อยละ 50 เมดอินเจแปน? กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามสั่งปรับผู้ประกอบการ “ร้านร้อยเยน” โทษฐานไม่  แสดงข้อมูลบนฉลากให้ชัดเจนเรื่องสถานที่ผลิต แต่กลับโฆษณาให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าทางร้านขายของ  นำเข้าจากเกาหลีและญี่ปุ่น กระทรวงฯ สำรวจพบว่า ร้อยละ 99.3 ของสินค้าในร้าน Mumuso ผลิตมาจากประเทศจีน ส่วนบางเครือ เช่น Miniso หรือ Daiso มีการแสดงฉลากเป็นภาษาญี่ปุ่น จีน หรืออังกฤษ แต่ไม่มีภาษาเวียดนามแปลกำกับว่า “ผลิตในประเทศจีน”  ร้านสัญชาติญี่ปุ่นและเกาหลีเหล่านี้กำลังได้รับความนิยมมาก (นอกจากที่กล่าวมา ยังมี Minigood Yoyoso และ Ilahui) เพราะโดนใจลูกค้าทั้งราคาและดีไซน์ เมื่อมีข่าวนี้ออกมา คนเวียดนามซึ่งเชื่อมั่นในคุณภาพแบบญี่ปุ่นและเกาหลีจึงรู้สึกผิดหวังไม่น้อย บ้างว่าจะไม่อุดหนุนอีกแล้วเพราะรู้สึกถูกหลอก บ้างก็ว่าจะช้อปต่อไป แต่จะเลือกเฉพาะสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเท่านั้นใครๆ ก็เช็ดได้  “คลีเน็กซ์ แมนไซส์” เป็นทิชชูขายดีในอังกฤษมากว่า 60 ปี แต่วันนี้ผู้ผลิตตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเพราะเสียงเรียกร้องจากผู้บริโภค ทิชชูที่มีผู้ซื้อไม่ต่ำกว่า 3.4 ล้านคนต่อปีจะเปลี่ยนชื่อเป็น “คลีเน็กซ์ขนาดใหญ่พิเศษ” ทั้งนี้ผู้ผลิตไม่เชื่อว่าชื่อเดิมเป็นการเหยียดหรือแบ่งแยกเพศตามที่โดนกล่าวหา แต่ก็ยินดีจัดให้ คนอังกฤษเอือมกับการแบ่งแยกสินค้าตามเพศโดยไม่จำเป็น ที่ลุกลามจากมีดโกน ไปถึงปากกา หรือแม้กระทั่งขนมหวานองค์การมาตรฐานโฆษณาก็ประกาศว่าจะแบนโฆษณาที่สื่อไปในทางเหยียดเพศ เช่น โฆษณาที่นำเสนอว่าผู้ชายไม่รู้จักหยิบจับงานบ้าน หรือผู้หญิงต้องเป็นคนเก็บกวาด เมื่อสมาชิกครอบครัวทำเลอะ เป็นต้น  ทั้งนี้การสำรวจอิทธิพลของโฆษณาต่อผู้ชมพบว่ามันสามารถสร้างภาพจำในแง่ลบให้ผู้บริโภคได้จริง องค์กรสิทธิสตรีให้ความเห็นว่า การตลาดยุคนี้ควรทำอะไรได้มากกว่าการเสนอภาพเดิมๆ ซ้ำซาก ถึงคราวต้องคลีนมาแล้ว! ผลการสำรวจประจำปีเรื่องนโยบายส่งเสริมการงดใช้ยาปฏิชีวนะของเครือร้านเบอร์เกอร์ในอเมริกา 25 แบรนด์ เคยมีผลตอบรับที่ดีเรื่องเนื้อไก่มาแล้ว มาดูเนื้อวัวบ้าง แบรนด์เหล่านี้จะได้แต้มถ้ามี 1) นโยบายส่งเสริมการเลิกใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น 2) แนวทางที่จะทำให้เป็นไปตามนโยบาย และ 3) การลงมือทำจริงจาก 25 แบรนด์ มีเพียง 2 แบรนด์เท่านั้นที่ได้เกรด A (Shake Shack และ BurgerFi)  ตามมาห่างๆ ด้วย Wendy’s ที่ได้เกรด D-  ที่เหลือทั้งหมดรวมกลุ่มกันติด F (ในกลุ่มนี้มี McDonald’s  Burger King และ A&W อยู่ด้วย)ทั้งนี้การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ (เช่น ใช้ “เร่งโต” หรือ “ป้องกันโรค”) เป็นอันตรายมาก  ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของอเมริการะบุว่า ในแต่ละปีสหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิต 23,000 คนและผู้ป่วย 2,000,000 คน จากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเต้าหู้ที่คุณคู่ควร สภาผู้บริโภคฮ่องกงแถลงผลการตรวจสอบปริมาณโปรตีน ไขมัน และแคลเซียมในเต้าหู้ 40  ตัวอย่าง (แบบแพ็กสำเร็จ 34 ตัวอย่าง และไม่แพ็ก 6 ตัวอย่าง)  ปริมาณโปรตีนเฉลี่ยในเต้าหู้ที่ฮ่องกงนำมาทดสอบอยู่ที่ร้อยละ 6.5 และมีเต้าหู้อย่างน้อยสามยี่ห้อมี ปริมาณโปรตีนต่างจากที่ระบุไว้เกินร้อยละ 20  ส่วนไขมันนั้น เต้าหู้เจ็ดยี่ห้อมีปริมาณไขมันต่างจากที่ระบุไว้ระหว่างร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 212  ในขณะที่พบแคลเซียมระหว่าง 16 - 420 มิลลิกรัมในเต้าหู้ที่นำมาทดสอบ สภาฯ ลงความเห็นว่าข้อมูลที่ไม่ตรงกับปริมาณจริง (ไม่ว่าจะมากหรือน้อยกว่าที่ตรวจพบ) อาจส่งผลให้ ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะกับความต้องการของตนเองได้ว่าแล้วก็สั่งเก็บบางยี่ห้อออกจากร้านและส่งต่อบางยี่ห้อให้หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางอาหารดำเนินการต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 การตกค้างของยาปฏิชีวนะในอกไก่และตับไก่สด

ปัญหาเชื้อดื้อยาในระบบอาหารของโลก โยงไปถึงปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความห่วงใย มีงานศึกษาวิจัย ลักษณะต่างๆ  เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งการประกาศนโยบาย ยุทธศาสตร์ ในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับนานาชาติและระดับประเทศ ในเรื่องอาหาร และการตกค้างยาปฏิชีวนะ เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคในอย่างน้อยสามประเด็น เรื่องข้อมูลในการเลือกหา  เรื่องความปลอดภัย และเรื่องบริโภคศึกษา ดังนั้นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการประกันความปลอดภัย ด้วยการเฝ้าระวัง ตรวจตรา และกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพื่อการตัดสินใจเลือกหาและใช้สินค้า จึงเป็นเรื่องสำคัญมากฉลาดซื้อ และโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างอกไก่และตับไก่สด เพื่อตรวจสอบสถานการณ์การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์อีกครั้ง (ปี 2559ตรวจในฟาสต์ฟู้ด 2560 ตรวจในเนื้อหมูดิบ) โดยความร่วมมือจากเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ออกสุ่มเก็บตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และห้างออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9 - 15 มิถุนายน 2561 จำนวนทั้งสิ้น 62 ตัวอย่าง แบ่งเป็นอกไก่สด จำนวน 32 ตัวอย่าง และตับไก่สด จำนวน 30 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด จาก 3 กลุ่ม ดังนี้ผลการตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจวิเคราะห์การตกค้างของยาปฏิชีวนะทั้ง 3 ชนิด (ใน 3 กลุ่ม) จากตัวอย่างทั้งหมด 62 ตัวอย่าง พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 26 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 41.93) แบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 คือ Enrofloxacin หรือ Endrofloxacin (เอนโรฟลอคซาซิน) 5 ตัวอย่าง และ Doxycycline (ด็อกซีไซคลิน) 21 ตัวอย่าง โดยตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะกลุ่มที่ 3 ชนิด Amoxicillin (อะม็อกซีซิลลิน) ส่วนอีก 36 ตัวอย่าง นั้น ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะทั้งสามกลุ่ม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้างตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง เพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้พบปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) ของยาในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) ในสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ ไก่งวง เป็ด ห่าน ไก่ต๊อก ในส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และ ในส่วนของตับไม่เกิน 600 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมจากผลตรวจวิเคราะห์พบ ยาเอนโรฟลอคซาซิน (Enrolfloxacin) จำนวน  5 ตัวอย่าง ซึ่งไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ ซึ่ง อย. อนุญาตให้ใช้ยานี้ได้ แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย โดยมีความผิดตามมาตรา 60 ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท  และพบว่า ไม่มีตัวอย่างใดที่พบปริมาณยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่ประกาศกำหนด ข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 5 ข้อ 1. ผู้บริโภคไม่ต้องการอาหารที่มีการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ เพราะการเกิดเชื้อดื้อยาเกิดได้ทั้งปริมาณการตกค้างทั้งน้อยและมาก 2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องปรับปรุงมาตรฐานการตกค้างให้ยอมรับได้น้อยที่สุด 3. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องบังคับใช้แผนปฏิบัติการในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์ม 4. สำนักงานงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมปศุสัตว์ จะต้องเข้มงวด และติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ให้ตกค้างเกินมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ สม่ำเสมอ @page { margin: 0.79in } p { margin-bottom: 0.1in; line-height: 120% } 5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการจัดการเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ และร้านค้าต่างๆ ควรตรวจสอบที่มาของอาหารก่อนนำเข้ามาจำหน่าย อีกทั้งในส่วนของร้านค้าในตลาด ทาง มพบ. จะทำหนังสือไปถึงสมาคมตลาดสดไทยเพื่อให้ตรวจสอบและเฝ้าระวังด้วย--------------------------------------------------------------------------------------------------------------ยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อไก่ ผู้บริโภคมีสิทธิรู้ ผู้บังคับใช้กฎหมายต้อง จริงจังและจริงใจโดย นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกไก่ทั่วโลก เป็นลำดับสี่ ในห้าประเทศ นอกจากนี้มี บราซิล สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศ ก็น่าสนใจว่า สิทธิผู้บริโภคมีการปกป้องเพียงใดผลการสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำหรับปี พ.ศ. 2561 นี้ พบยาปฏิชีวนะตกค้างในไก่สดและตับ (โดยตรวจยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด คือ Enrolfloxacin, Doxycycline, Amoxycillin ) พบยาปฏิชีวนะ 2 ชนิดแรก  แม้ปริมาณที่ตรวจพบจะไม่เกินปริมาณที่กำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550   เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง มีการระบุขนาดต่าง ๆ ของยาปฏิชีวนะที่ยอมรับให้มีในไก่ หรือสัตว์ปีกจำนวน 16 รายการ เช่น Oxytetracycline มีได้ในเนื้อไก่ไม่เกิน200 ug/kg ในตับไม่เกิน 600 ug/kg แต่จากผลการศึกษาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับพบมีการใช้ยานอกเหนือจากรายการที่ระบุประกาศ เช่น Enrolfloxacin มีข้อน่าสังเกต จากผลการสำรวจดังกล่าว ที่ควรได้วิเคราะห์ และทบทวนไปสู่ข้อเสนอต่อไป1. การสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ของการตกค้างยาปฏิชีวนะ เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรผู้บริโภคในเรื่องการตรวจสอบ และสะท้อนการจัดการ  รวมครั้งนี้มี 3 ครั้ง  (1) ตัวอย่างอาหารฟาสต์ฟู้ดสำเร็จรูป จากร้านอาหารชนิดมีสาขามาก (ฉลาดซื้อ ตุลาคม 2559) (2) ตัวอย่างเนื้อหมูสด (ฉลาดซื้อ มีนาคม 2560) และ ในครั้งนี้ สำรวจในตัวอย่างเนื้อไก่สดและตับ (รวม 62 ตัวอย่าง)  ผลคือพบการตกค้างยาปฏิชีวนะจำนวน 26 ตัวอย่าง (41.98%) แม้จะไม่เกินปริมาณที่กำหนด แต่แสดงว่ามีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในวงจรอาหาร เป็นไปได้ว่ามีการใช้ในฟาร์ม ในการเลี้ยงไก่ (ผสมอาหาร ผสมน้ำ เป็นยาฉีด) และอาจรวมถึงการปนเปื้อนในวงจรอาหารส่วนที่เหลือ เช่น โรงเชือด การชำแหละ หรือตลาด   2. รายการยาที่ทำการตรวจครั้งนี้มี จำนวน 3 รายการ ยังพบว่ามียาที่อยู่นอกเหนือจากรายการยาที่ประกาศขนาดที่ยินยอมให้มีตกค้าง อาจเป็นไปได้ว่ามีการลักลอบใช้โดยไม่อนุญาต หรือกระทรวงได้มีการประกาศรายการเพิ่มเติมอีก แต่ยังไม่เห็น และพบว่ามีการอ้างอิงประกาศฉบับนี้ในการแถลงข่าวของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี พ.ศ. 2560 3. การสำรวจครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่ได้ตรวจหา colistin เป็นที่น่าเสียดาย เพราะมีงานวิจัย พบว่ามีการใช้ ยาตัวนี้ในการเลี้ยงไก่ในประเทศไทยด้วย (อ้างอิง1)  โดยรายการยาปฏิชีวนะที่พบใช้ในฟาร์มไก่ คือ  amoxicillin, colistin, oxytetracycline, doxycycline และ  tilmicosin.  การศึกษาที่เชียงใหม่(อ้างอิง2)   พบใช้ Enrolfloxacin และ Sulfadimethoxin ในฟาร์มไก่ไข่ ส่วนในต่างประเทศ มีงานวิจัยระบุการตกค้างยาปฏิชีวนะหลายชนิดในเนื้อไก่ในบังคลาเทศ(อ้างอิง3)   ส่วนในเวียดนาม(อ้างอิง4)   ได้ศึกษาทั้งชนิดยา และยีนการดื้อยาด้วย4. งานศึกษานี้ยังไม่มีการสำรวจ เรื่องการตกค้างของเชื้อดื้อยา ซึ่งมีงานวิจัยในไทย เมื่อ พ.ศ. 2555(อ้างอิง5)   สำรวจเนื้อไก่ในซูเปอร์มาร์เก็ต พบมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน มียีนเชื้อดื้อยาจากเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด และต่อมามีงานวิจัยมากมายที่ศึกษายีนดื้อยาชนิดต่าง ๆ รวมทั้งชนิดรุนแรง (เช่น MCR-1) จากเนื้อไก่ ในประเทศจีน(อ้างอิง6-7)  -   เนเธอร์แลนด์(อ้างอิง8)    สิงคโปร์(อ้างอิง9)    เป็นต้น5. ภาครัฐควรได้ทำการเฝ้าระวังตรวจการตกค้างของยาปฏิชีวนะในฟาร์ม โรงเชือด ไก่สด หรือในอาหารสำเร็จรูปและแจ้งผลการสำรวจให้ประชาชนทราบอย่างกว้างขวาง และกระทำอย่างสม่ำเสมอ แต่ผลการค้นหาทางอินเตอร์เน็ต พบว่ารายงานจากภาครัฐถึงการ ให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลให้ค้นคว้าได้ง่าย ๆ มีไม่มากนัก ล่าสุดที่ค้นหาได้จาก ทางอินเตอร์เน็ต คือ ผลการรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีพ.ศ. 2560 (อ้างอิง10)    ไม่มีรายละเอียดมากนัก มีเพียงระบุว่าจากการสุ่ม 105 ตัวอย่าง ใน 12 จังหวัด ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบการตกค้างของยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อไก่และเนื้อวัวทุกตัวอย่าง แต่ตรวจพบการตกค้างของยาต้านจุลชีพเกินมาตรฐานเพียง 1 ตัวอย่าง ในเนื้อหมู ซึ่งผลการสำรวจในไก่นั้น ไม่สอดคล้องกับผลที่ทางมูลนิธิ ตรวจพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในตัวอย่างถึงเกือบครึ่ง6. เป็นประเด็นคำถาม ว่าควรอนุญาตให้มียาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์ที่นำมาทำเป็นอาหารหรือไม่ ในมุมมองผู้บริโภค ย่อมไม่ต้องการให้มีการตกค้าง แต่ระบบควบคุมจะจัดการได้อย่างไร แม้จะมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (อ้างอิง11)   ห้ามใช้ยาต้านจุลชีพทุกชนิดผสมลงในอาหารสัตว์ในวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารสัตว์. โดยยังอนุญาตให้ใช้เพื่อป้องกัน และรักษาอาการป่วย (ใช่หรือไม่) แต่ผลการติดตามการบังคับใช้ให้เป็นไปตามกติกานั้นคงต้องมีความเข้มงวด ต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับการนำเข้าสารเคมีจนถึงการใช้ในฟาร์ม และติดตามการตกค้างในอาหารสดที่ตลาด พร้อมการดำเนินการจัดการตามหน้าที่ เพื่อนำมาเปิดเผยให้ผู้บริโภคได้ทราบ อย่างสม่ำเสมอ7. ควรอนุญาตให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการผสมในอาหารสัตว์หรือไม่  ห้ามทั้งหมด หรือห้ามบางรายการ เป็นอะไรบ้าง เพียงใด และอย่างไร มีงานวิจัยที่รองรับมาตรฐานอย่างไรบ้างในการประกาศ ทั้งนี้คำศัพท์ ที่ผู้บริโภคควรรู้จัก  Chicken with antibiotic free (ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะในตัวอย่าง) หรือ raise without antibiotics  (เลี้ยงสัตว์โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นเมื่อป่วย ต้องแยกคอก) คำแถลงจาก อธิบดี กรมปศุสัตว์(อ้างอิง12)  “กรมปศุสัตว์มุ่งพัฒนาการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังยาหรือสารตกค้างในเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวดที่สอดคล้องกับมาตรฐานโลก และมีมาตรการลงโทษตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องหากมีการตรวจพบ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายกลาง และเกษตรกรรายย่อย ได้ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ว่าได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัยจากยาและสารตกค้าง สามารถสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต”8. ผลกระทบของยาปฏิชีวนะนั้นรุนแรงมาก เกิดผลเสียต่อสุขภาพ แม้จะใช้ปริมาณไม่มาก  การดื้อยา การแพ้ยา เป็นความห่วงใยแรก นอกจากนี้เด็กเล็กถ้าได้รับยาปฏิชีวนะในขณะช่วงอายุแรก ๆ ยิ่งถ้าได้รับบ่อย จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอ้วน(อ้างอิง13)  ปัญหาคือ ผู้บริโภคจะทราบได้อย่างไรว่าอาหารที่เรารับประทานนั้นมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะหรือยีนเชื้อดื้อยาหรือไม่    Sir Alexander Fleming ได้บรรยายเมื่อรับรางวัลโนเบล(อ้างอิง14)   ถึงความห่วงใยการดื้อยา ว่า “ I would like to sound one note of warning. Penicillin is to all intents and purposes non-poisonous so there is no need to worry about giving an overdose and poisoning the patient. There may be a danger, though, in underdosage. It is not difficult to make microbes resistant to penicillin in the laboratory by exposing them to concentrations not sufficient to kill them, and the same thing has occasionally happened in the body ”  9. แนวทางการดำเนินงานโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข  นั้นเป็นเรื่องที่ดี จะติดตามเรื่องการตกค้างยาปฏิชีวนะ หรือยีนเชื้อดื้อยาในวัตถุดิบได้อย่างไร  หากประกันคุณภาพได้ รัฐบาลควรจะได้ขยายแนวคิดอาหารปลอดภัยให้ครอบคลุมทุกท้องที่ และให้ประชาชนในประเทศไทยทุกคนได้รับประโยชน์ต่อเนื่องจากนโยบายนี้10. ไทยมียุทธศาสตร์การจัดการดื้อยาต้านจุลชีพ ประเทศไทย พ.ศ.2560-2564.  โดยทำแผนปฏิบัติการแล้ว ทั้งนี้ยุทธศาสตร์มีพัฒนาการมาจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8  คงต้องมีการติดตามผลงานที่เกี่ยวข้องที่ใกล้ตัวผู้บริโภค ทั้งเรื่องอาหาร สิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากโรงพยาบาล ในลักษณะสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) อย่างจริงจัง----------------------------------------------------------------------------------------(อ้างอิง1)  Wongsuwan G, et al (2017) Antibiotic use in poultry: a survey of eight farms in Thailand.  Bull World Health Organ  96(2): 94–100.(อ้างอิง2)  ณัฐธิดา สุขสาย และคณะ (2559) การใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ : กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ . วารสารเภสัชกรรมไทย 8(2): 282-294.(อ้างอิง3) Sarker YA, et al (2018) Screening of antibiotic residues in chicken meat in Bangladesh by Thin Layer Chromatography.   J Adv Vet & Animal Res 5(2): 140-145.(อ้างอิง4)  Nguyen TH, et al (2018) Antimicrobial residue and resistance against critically important antimicrobials in non-typhoidal Salmonella from meat sold at wet-markets and supermarkets in Vietnam. Int J Food Microbiol 266:301-309.(อ้างอิง5) Chaisatit C, et al (2012) Molecular Characterization of Antibiotic-Resistant Bacteria in Contaminated Chicken Meat Sold at Supermarkets in Bangkok, Thailand.  Jpn. J. Infect. Dis., 65, 527-534. (อ้างอิง6)Hang J, et al (2018) Molecular detection of colistin resistance genes (mcr-1, mcr-2 and mcr-3) in nasal/oropharyngeal and anal/cloacal swabs from pigs and poultry.  Sci Rep. 8: 3705.(อ้างอิง7)Liu J, et al (2018)  Isolation of an IncP-1 plasmid harbouring mcr-1 from a chicken isolate of Citrobacter braakii in China. Int J Antimicrob Agents. 51(6):936-940.  (อ้างอิง8) Schrauwen EJA, et al (2017) High prevalence of the mcr-1 gene in retail chicken meat in the Netherlands in 2015. Antimicrob Resist Infect Control. 6: 83.(อ้างอิง9) Zwi YH, et al (2018) Prevalence, sequence types, antibiotic resistance and, gyrA mutations of Salmonella isolated from retail fresh chicken meat in Singapore.  Food Control 90: 233-240.(อ้างอิง10)  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อสัตว์ 27  ก.ค. 2560   (accessed July 2018)http://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/136 (อ้างอิง11) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เรื่องกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะ หรือคุณสมบัติของวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์  พ.ศ. 2558  (อ้างอิง12) กรมปศุสัตว์ระวังยาปฎิชีวนะตกค้าง ในเนื้อสัตว์ตามมาตรฐานสากล (accessed July 2018) http://certify.dld.go.th/certify/index.php/th/2016-04-30-03-59-03/2016-05-01-02-55-53/476-2016-11-21-03-29-40 (อ้างอิง13) Rasmussen SH, et al (2018) Antibiotic exposure in early life and childhood overweight and obesity: A systematic review and meta-analysis. Diabetes, Obesity, and Metabolism  20: 1508-1514.(อ้างอิง14) AL E X A N D E R F L E M I N G (1945) Penicillin Nobel Lecture, December 11, 1945https://www.nobelprize.org/nobel_prizes/medicine/laureates/1945/fleming-lecture.pdf  @page { margin: 0.79in } p { margin-bottom: 0.1in; direction: ltr; line-height: 120%; text-align: left; orphans: 2; widows: 2 } a:link { color: #0563c1 }

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 สถานการณ์การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ เชื้อดื้อยา และยีนดื้อยา ในห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อม และการจัดการ

1. เกริ่นนำ ความห่วงใยเรื่องปัญหาเชื้อดื้อยาเดิมเริ่มจากผลกระทบและปัญหาที่พบในโรงพยาบาล  และไทยก็มีการตั้งศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในมนุษย์ ส่งมาจากโรงพยาบาลเป็นหลัก ต่อมาเริ่มเห็นปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะในชุมชน  และมีความเข้าใจมากขึ้นถึงปัญหาในระบบห่วงโซ่อาหาร  รวมถึงมีคำอธิบายความเชื่อมโยงของการดื้อยาทั้งในคน สัตว์ พืช และ สิ่งแวดล้อม ที่ไม่อาจแยกจากกันได้ ปัจจุบันทั้งนักวิชาการ และฝ่ายนโยบายจึงให้ความสำคัญมากขึ้น กับสิ่งที่เรียกว่า one health โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการรายงานการใช้ยาปฏิชีวนะและการปนเปื้อนเชื้อโรค เชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อม บทความนี้ทบทวนสถานการณ์ถึงความก้าวหน้าใหม่ๆ ในด้านนี้ ต่อเนื่องจากบทความในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 164 เรื่องยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร พบว่า มีความก้าวหน้าเชิงนโยบายและวิชาการทั้งจากทั่วโลกและในประเทศไทย  แต่ขณะเดียวกันก็มีความน่ากลัวของสถานการณ์การดื้อยาที่รุนแรงขึ้น จากห่วงโซ่อาหารมาสู่คนและสิ่งแวดล้อม ที่ทุกภาคส่วนล้วนยอมรับว่ากระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ และต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อมที่กระทบทั้งสุขภาพและกระทบต่อการผลิตอาหารในระยะยาวในวงจรอาหารมีองค์ประกอบที่มีความหลากหลายและเชื่อมโยงกันเป็น one health  ดังนั้นการทำงานเกี่ยวกับเชื้อดื้อยาควรมองการป้องกันและจัดการอย่างบูรณาการ ระบาดวิทยาของเชื้อดื้อยา (Epidemiology of Antimicrobial Resistance)  สะท้อนแหล่งผลิตเชื้อดื้อยาหรือยีนดื้อยา ที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะหรือเกิดการปนเปื้อนของเชื้อดื้อยา  มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันหมด ทั้งทางตรงและทางอ้อม   อาจมีปฏิสัมพันธ์ทางเดียวหรือสองทิศทางก็ได้ ที่สำคัญๆ มีได้ 7 จุด ได้แก่ มนุษย์(โรงพยาบาล สถานีอนามัย ชุมชน และการท่องเที่ยว) ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหาร(วัว หมู แกะ เป็ดไก่ ฯลฯ) สัตว์เลี้ยง สัตว์สวยงาม สัตว์โชว์(เช่นสุนัข แมว ไก่ชน ฯลฯ) การปลูกพืช ผัก ผลไม้ ผลิตเม็ลดพันธ์(ส้ม ส้มโอ มะนาว มันเทศ ฯลฯ) การประมง(ปลา กุ้ง ฯลฯ) โรงงานผลิตยา สารเคมี และสารเคมีใช้ในบ้าน(อาจปล่อยยาปฏิชีวนะ หรือสารเคมีลงสิ่งแวดล้อม) การผลิตแอลกอฮอล์จากพืช(มีการใช้กลุ่มยาปฏิชีวนะด้วย) ในการเชื่อมโยง แพร่ปัจจัยการเกิดเชื้อดื้อยา มีทั้งสัมผัสตรงหรือได้ทางอ้อม จุดเชื่อม เช่น มูลสัตว์และน้ำจากฟาร์ม การขายทำปุ๋ย หรือปล่อยลงดิน การลงแม่น้ำ นำไปสู่ ทะเลหรือทะเลสาบ มีการนำไปบริโภค แหล่งบำบัดน้ำเสียจากจุดปล่อย ต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น     2. MCR-1 gene เรื่องใหญ่ของโลกและของไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2558  มีรายงานจากประเทศจีนที่ลงตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Lancet Infectious     เป็นการค้นพบยีน (gene) ที่ดื้อต่อยาโคลิสติน ที่ชื่อว่า mcr-1 gene เป็นครั้งแรกในโลก โดยที่เป็นการพบว่า ยีนการดื้อยานี้ มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากยีนดื้อยาเดิม คือชนิดใหม่เกิดบน plasmid มีการถ่ายทอดพันธุกรรมในลักษณะเป็น Horizontal Gene Transfer สามารถถ่ายทอดสายพันธุกรรมข้ามสายพันธุ์ได้  การค้นพบนี้ก่อให้เกิดความตื่นเต้นและตระหนกไปทั่วโลก แม้ว่าก่อนหน้านี้มีการศึกษา การดื้อยาโคลิสติน มาแล้วหลายรายงาน แต่รายงานดั้งเดิมพบยีนดื้อยาที่มีลักษณะแบบ Vertical Gene Transfer  ทั้งนี้ยาโคลิสตินเป็นหนึ่งในยากลุ่ม polymyxin   เนื่องจากความเป็นพิษต่อมนุษย์ จึงมีการแนะนำให้ใช้ในการเลี้ยงสัตว์(หมูและไก่) แต่ในขณะเดียวกัน ยาโคลิสตินก็เป็นยากลุ่มสำคัญที่มักจะใช้รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ดื้อต่อยาอื่นๆ  การค้นพบครั้งนี้ จึงสะท้อนปัญหาการดื้อยาที่เกิดในห่วงโซ่อาหารและกระทบต่อสุขภาพของคนและนำไปสู่สิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว หลังรายงานฉบับแรก ได้เพียง 3 เดือน พบรายงานถึงการพบ mcr-1 gene ในอย่างน้อยใน 19 ประเทศ และเพียงกลางปี พ.ศ. 2559 พบรายงานแล้วกว่า 32 ประเทศ  จากการที่ผู้เขียนได้รวบรวมเอกสารงานวิจัยและข่าวต่างๆ จากทั่วโลกในช่วงเวลาสองปีย้อนหลัง(พฤศจิกายน พ.ศ. 2558-ตุลาคม พ.ศ. 2560) พบว่ามีการรายงานการพบ mcr-1 gene แล้วถึงมากกว่า 42 ประเทศ กระจายทุกภูมิภาค(ตารางที่ 1) คาดว่าน่าจะมีมากกว่านี้ตารางที่ 1 รายชื่อประเทศ ที่มีรายงานตรวจพบ mcr-1 gene และยีนในกลุ่มเดียวกัน (mcr-1 gene ถึง mcr-5 gene)จากรายงานวิจัยที่รวบรวม พบว่าแหล่งของยีนเชื้อดื้อยามาจากหลากหลายแหล่ง เช่น จากฟาร์ม (อุจจาระ เลือด สารคัดหลั่ง หรือการ swab ทวารหนัก ของหมู วัว ไก่ในฟาร์ม) จากเนื้อสัตว์แหล่งต่างๆ  (หมู ไก่ วัว)  จากพืชผัก (ตรวจที่ปลายทางที่ประเทศนำเข้า ส่วนไทยยังไม่ได้ตรวจ)   จากสิ่งแวดล้อม(แม่น้ำ น้ำบ่อ น้ำระหว่างการบำบัด) รวมถึงตัวอย่างเชื้อที่แยก จากผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยที่เพาะและแช่แข็งเก็บไว้ และต่อมาพบในผู้ป่วย ( เลือด อุจจาระ สารคัดหลั่ง)  หรือในอาสาสมัครปกติ( เลือด อุจจาระ สารคัดหลั่ง)   ความห่วงใยต่อการปนเปื้อนของ mcr-1 gene หรือ แบคทีเรียที่มี mcr-1 gene  ในสิ่งแวดล้อมหรือในระบบนิเวศน์ เพราะหลังจากตรวจพบ mcr-1 gene ในสัตว์ ในคน ก็เริ่มพบว่ามีการแพร่ไปสู่สิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ ลักษณะ นอกจากนี้  มีข่าวบางข่าวจากต่างประเทศสะท้อนความห่วงใยการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะยาหรือยีนเชื้อดื้อจากโรงงานผลิตยา และจากโรงพยาบาล  ยังพบต่อมาว่าเกิดยีนส์อีกหลายชนิดที่เป็นกลุ่มใกล้เคียงกัน รวมแล้วปัจจุบันพบยีนดื้อยาโคลิสตินชนิดร้ายแรงนี้ ได้แก่ mcr-1, mcr-2, mcr-3, mr-4, mcr-5  และในบางครั้งพบยีนดื้อยาที่รวมกันหลายชนิดในสายพันธุกรรมเดียวกันด้วยที่มาจากผู้ป่วย  ส่วนสถานการณ์ของไทย พบว่ามีรายงานต่างประเทศระบุว่าพบ mcr-1 gene ในตัวอย่าง ที่เก็บ ตั้งแต่ พ.ศ. 2555   โดยพบในคนไทย  2 ราย จากตัวอย่างคนไทยที่ตรวจทั้งหมด 3 ราย ที่ยังไม่ได้แสดงอาการ และเห็นความเชื่อมโยงว่าอาจแพร่จากหมูมาสู่คนได้ต่อมามีรายงานในผู้ป่วย ตามที่ปรากฎในบทความ ในหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก   ที่ระบุว่า  มีเอกสารรายงาน “สถานการณ์การเกิดโรคประจำสัปดาห์ที่ 24 ระหว่างวันที่ 12-18 มิถุนายน 2559” ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่ามีการตรวจพบยีนดื้อยาดังกล่าวในตัวอย่างปัสสาวะผู้ป่วยชาย ข้อความดังนี้  "4.พบผู้ป่วยติดเชื้อ Escherichia coli มียีนดื้อยา mcr-1 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จ.นนทบุรี โดยศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติได้ตรวจพบเชื้อ Escherichia coli มียีนดื้อยา mcr-1 จากตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยไทย เพศชาย อายุ 63 ปี ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาครั้งแรกระหว่างวันที่ 23 มกราคม-25 กุมภาพันธ์ 2559 ด้วยอาการ Intracerebral hemorrhage แพทย์ได้ผ่าตัด และผู้ป่วยเข้ารับการรักษาครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 8-11 เมษายน 2559 ด้วยโรคหลอดลมอักเสบ คาดว่าผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาจากโรงพยาบาล”ทั้งนี้ต่อมามีรายงานวิชาการระบุการพบเชื้อดื้อยาที่ชื่อ Escherichai coli (E coli) จากปัสสาวะของผู้ป่วยชายไทยอายุ 63 ปี ที่มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ  การตรวจเบื้องต้นพบการดื้อต่อยาปฏิชีวนะถึงกว่า 30 ชนิด เมื่อทำการตรวจยีนพบทั้ง mcr-1 gene ที่ดื้อต่อโคลิสตินและยีนดื้อยารุนแรงอื่น   หมายเหตุ ผู้เขียน เข้าใจว่าตัวอย่างนี้น่าจะเป็นชายคนเดียวกับที่รายงานในคมชัดลึก มีรายงานจากต่างประเทศระบุว่าพบ mcr-1 gene ในตัวอย่าง ผัก จากไทย(ชะอม) และเวียดนาม (โหระพา) ที่ส่งไปขายในสวิตเซอร์แลนด์ โดยตัวอย่างเก็บเมื่อพ.ศ. 2557 รายงานการตรวจพบ mcr-1 gene ในไทยจากตัวอย่างเชื้อที่เก็บจากหมู  ในช่วงพ.ศ. 2547, 2554-2557 จาก 4 จังหวัด พบ mcr-1 gene ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 (1 จังหวัด) และพบต่อเนื่อง ในปีพ.ศ. 2555-2556 (2 จังหวัด) และพ.ศ.2557 (1 จังหวัด)  รายงานข่าวในคมชัดลึก ถึงการสำรวจฟาร์มหมู และการดำเนินการของกรมปศุสัตว์ที่เข้มงวด รวดเร็ว ที่ลงต่อเนื่อง  3. นานาชาติเขาทำอะไรกันบ้าง เกี่ยวกับเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร  Antibiotic Awareness Week/Day 2017วันที่ 18 พฤศจิกายน ของทุกปี จัดเป็นวัน antibiotic awareness day  ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2551 โดยเริ่ม European Antibiotic Awareness Day ด้วยการประสานงานของ European Center for Diseases Prevention and Control  ร่วมกับภาคีหลายภาคส่วน เป็นการรณรงค์ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ/ยาต้านแบคทีเรียอย่างสมเหตุผลและอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้ยายังคงมีประสิทธิผลในการรักษาและเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเชื้อดื้อยา ซึ่งเดิมเป้าหมายมุ่งที่การใช้ยาในคน แต่ต่อมาขยายสู่การใช้ในสัตว์และในพืชด้วย  ซึ่งงานนี้ก็แพร่หลายไปสู่ประเทศต่าง ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ส่วนไทยนับได้ว่าเป็นประเทศต้นๆ ในเอเชีย ที่จัดงานนี้ ตั้งแต่ปี 2556 สำหรับปี พ.ศ. 2560 องค์การอนามัยโลก ประกาศ ให้ World Antibiotic Awareness Week 2017  คือ ช่วง 13-19 พฤศจิกายน 2560  ซึ่งประเทศไทย กำหนดจัดกิจกรรม ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 จัดเป็นงานใหญ่ เพราะกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดงานนี้ เป็นครั้งแรก ด้วยการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก ทั้งวิชาการและงบประมาณ  นอกจากนี้ กพย. สสส. ให้การสนับสนุน ทั้งงานส่วนกลาง และงานพื้นที่ เพราะ กพย. ได้เคยจัดงานนี้ มาแล้วอย่างต่อเนื่อง ถึง 4 ปี (พ.ศ.2556-2559) ในชื่อวัน(สัปดาห์) รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย  มีประเด็นหลักแตกต่างกันไป  ที่เกี่ยวเนื่องกับอาหาร ชุมชน และสิ่งแวดล้อม คือปี พ.ศ.2558  และมีแผนงานที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการการดื้อยา ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 และต่อเนื่องมาจนผลักเข้าเป็นวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ใน พ.ศ. 2558 และต่อมาจึงมียุทธศาสตร์ชาติด้านนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย องค์กรระหว่างประเทศองค์การอนามัยโลก เน้นเฉพาะสุขภาพของมนุษย์ มีมติสมัชชาอนามัยโลกมาอย่างต่อเนื่อง ออกรายงานการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาทั่วโลก และมีการรับรอง Global Action Plan อย่างไรก็ดี สุขภาพมนุษย์มีความเชื่อมโยงกับอาหารที่มาจากสัตว์และสัตว์เลี้ยง จึงมีการประกาศร่วมในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ (General Assembly) เมื่อ ตุลาคม พ.ศ 2559  Resolution adopted by the General Assembly   และให้ทำงานร่วม ระหว่าง 3 หน่วยงาน WHO, FAO และ OIEองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ออกแผนปฏิบัติการต่อสู้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ   เมื่อ 14 กันยายน พ.ศ. 2559 มีหัวใจสำคัญ ๔ ข้อ  ได้แก่ (ก) สร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาเชื้อดื้อยาและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานอาหารรับทราบ   และ ทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือชำนาญในเรื่องนี้ (ข) เพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการติดตามและเฝ้าระวังการใช้ยาต้านจุลชีพ และปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในการผลิต อาหารและสินค้าเกษตร (ค) เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพและปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในการผลิตอาหารและสินค้าเกษตร (ง) สนับสนุนแนวทางปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหารและสินค้าเกษตร และ การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างระมัดระวังล่าสุดองค์การอนามัยโลก ออกคู่มือการใช้ยาต้านจุลชีพที่มีความสำคัญด้านการแพทย์ในการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร  4. สถานการณ์ของไทย ข้อมูลจากพื้นที่ งานวิชาการ และมาตรการนโยบายที่เกี่ยวข้อง ในวงจร ห่วงโซ่อาหาร ยังพบการใช้ยาปฏิชีวนะ ทั้งในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืช มีงานสำรวจการพบเชื้อในหลายพื้นที่ โดยตัวอย่างการสำรวจการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ในเชียงใหม่  พบว่าเกษตรกรที่สำรวจเกือบทั้งหมดมีการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งรายการยาปฏิชีวนะ 5 อันดับแรกของการเลี้ยงสัตว์แต่ละกลุ่ม เป็นดังนี้ ในโคนม ได้แก่ oxytetracycline, penicillin, sulphamethoxydiazine, cloxacillin + ampicillin (ยาดราย), kanamycinในหมู  ได้แก่ amoxicillin, enrofloxacin, oxytetracycline, gentamycin, neomycin ในไก่ไข่ ได้แก่ enrofloxacin, Sulfadimethoxine , cocidiocidal triazinetrione โดยที่ในรายงานมิได้กล่าวถึงการใช้อาหารสัตว์ผสมยาปฏิชีวนะที่ชัดเจน แต่ได้ระบุว่ามีการใช้โคลิสตินผสมน้ำให้ดื่มตั้งแต่เป็นลูกสุกรทุกวัน เรียกว่าวิตามิน ทั้งนี้ข่าวจากคมชัดลึก สะท้อนว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงหมูจริง ใช้ตั้งแต่แรกเกิดมีการสำรวจแหล่งขายยาหรือขายอาหารผสมยาชัดเจนนอกจากนี้จากการรวบรวมรายงานวิชาการ การสำรวจหรือสอบถามคนพื้นที่ และติดตามข่าว พบมีการใช้ยาปฏิชีวนะฉีดเข้าลำต้นผลไม้ในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ปทุมธานี ชัยนาท  โดยต้นส้ม  ต้มส้มโอ มะนาว หรือแม้แต่พ่นยากับต้นมันเทศ ยาที่ใช้ในไทย เช่น แอมพิซิลลิน เอม๊อกซี่ซิลลิน เตตร้าไซคลิน สเตรปโตมัยซิน หรือการใช้ เพนนิซิลลิน จี สำหรับจุ่มตา หรือการใช้สารเคมีฉีดเข้าลำต้นทุเรียน  ส่วนในต่างประเทศบางประเทศก็มีการใช้ด้วยเช่นกัน เช่นจีน   ที่น่าเป็นห่วงคือการตกค้างในผลไม้และการไหลค้างลงสู่สิ่งแวดล้อม ที่ต้องการการศึกษาอย่างจริงจัง  ถึงระบาดวิทยาการดื้อยา ผลกระทบต่อมนุษย์พร้อมทั้งศึกษาหาสาเหตุและวิธีการรักษาโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ  ในมิติมุมมองผู้บริโภค พบมีการเคลื่อนไหว สำรวจและรณรงค์ให้เลิกใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหาร เมื่อ 2 มีนาคม 2559 มพบ. แถลงข่าวรณรงค์ในวันสิทธิผู้บริโภคสากล เรียกร้องให้บริษัทขายอาหารฟาสต์ฟู้ด เลิกใช้เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงโดยใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นการรณรงค์พร้อมกันทั่วโลกของเครือข่ายสมาชิกองค์กรผู้บริโภคทั่วโลก เมื่อ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา  ได้ ร่วมแถลงข่าวพบยาปฏิชีวนะใน แซนด์วิชไก่อบ ซับเวย์ แต่ไม่เกินมาตรฐาน องค์กรผู้บริโภค-นักวิชาการสุขภาพ เรียกร้องให้ลดและยกเลิกการใช้เนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะ14 มี.ค.60 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รายงานผลการเก็บตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดสด และห้างค้าปลีก รวม 15 แห่งในกรุงเทพมหานคร พบเนื้อหมูมียาปฏิชีวนะตกค้างถึงร้อยละ 13 พบจาก 2 ตลาดสด   เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัยมีความพยายามของเกษตรกรที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจากการใช้ยาปฏิชีวนะผสมเลี้ยงสัตว์ หันมาเลี้ยงหมูเสรี หมูปลอดภัย หมูหลุม เลี้ยงไก่ ปลูกผักอินทรีย์ ไม่ใช้ยา เลี้ยงปลาปลอดสาร หรือสารเคมีต่าง ๆ มีตัวอย่างที่นครปฐม ปทุมธานี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ มหาสารคาม เป็นต้น   รัฐบาลควรได้มีการส่งเสริมความรู้ แก่ทั้งเกษตรกร สนับสนุนการจัดตลาดอาหารปลอดภัย และให้ความรู้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงสาธารณสุข มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ฉบับ พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไข และ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2559ล่าสุดมีการประกาศยกเลิกยาโคลิสติน ชนิดรับประทานสำหรับคน และมีความพยายามทบทวนทะเบียนตำรับยาปฏิชีวนะ(กพย. ได้จัดแถลงข่าวและทำหนังสือถึง รมว.สธ. เรียกร้องให้ทำการทบทวนทะเบียนตำรับยาสูตรที่ไม่เหมาะสม ด่วน) แต่ผลยังไม่มีความคืบหน้านักกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะหรือคุณสมบัติของวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558  ห้ามใช้ยาต้านจุลชีพทุกชนิดผสมลงในอาหารสัตว์ในวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารสัตว์5. ยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย เป็นยุทธศาสตร์ร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ผ่านมติ ครม. เมื่อ 17 สิงหาคม 2559 ต่อมาขยายไปอีกหลายกระทรวงวิสัยทัศน์  แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 มีการกําหนดวิสัยทัศน์คือ การป่วย การตาย และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากเชื้อดื้อยาลดลง และกําหนดเป้าประสงค์ที่ต้องการบรรลุภายในปี 2564 ไว้ 5 ประการ คือ การป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลงร้อยละ 50 (ซึ่งสามารถนําไปใช้คํานวณผลกระทบต่อสุขภาพและเชิง เศรษฐกิจ) การใช้ยาต้านจุลชีพสําหรับมนุษย์และสัตว์ลดลงร้อยละ 20 และ 30 ตามลําดับ ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยา และตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และประเทศไทยมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากลประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวยุทธศาสตร์ที่ 2 การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและควบคุมกํากับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมยุทธศาสตร์ที่ 4 การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกํากับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยงยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชนยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืนแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ มีรองนายกเป็นประธาน และคณะกรรมการมีมติรับรองแผนปฏิบัติการเบื้องต้น และให้มีการปรับปรุงต่อเนื่องได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหาร ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมประกาศกลยุทธ์ 5 ด้าน  ได้แก่ ก. การลดใช้ยาต้านจุลชีพในการทำปศุสัตว์และประมง ข. ลดเชื้อ ดื้อยาในห่วงโซ่การผลิต อาหาร ค. การพัฒนาระบบเฝ้าระวังการใช้ยาต้านจุลชีพในพืช ง.  พัฒนาต้นแบบสถานพยาบาลสำหรับสัตว์เลี้ยง จ. พัฒนาให้ความรู้เรื่องการใช้ยาต้านจุลชีพแก่ผู้เกี่ยวข้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 เนื้อหมูกับการตกค้างของยาปฏิชีวนะ

เมื่อปีที่แล้ว เรารายงานไว้ในนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 188 ตุลาคม 2559 ว่าพบ การตกค้างของยาปฏิชีวนะ 1 ตัวอย่าง คือ เมนูแซนวิชไก่อบ จากร้าน ซับเวย์ สาขาพารากอน โดยพบ Doxycycline ในกลุ่มยา Tetracycline ปริมาณ 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม(ug/kg)  จากการสุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 18 ตัวอย่าง ภายหลังการแถลงข่าวของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและฉลาดซื้อ ทางตัวแทนของซับเวย์ได้ติดต่อขอรายละเอียดและเมื่อได้พิจารณาผลการทดสอบของทางฉลาดซื้อแล้ว ได้ชี้แจงกลับมาว่า จะปรับปรุงเรื่องซับพลายเออ ซึ่งทางซับเวย์ในประเทศไทยใช้ซับพลายเออในประเทศ อีกทั้งยังให้คำมั่นว่า ประเทศไทยจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ทางซับเวย์จะวางนโยบายเลิกใช้เนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ  ต่อมาในเดือนมกราคม 2560 มีการทำข่าวเชิงลึกโดย หนังสือพิมพ์คมชัดลึก เรื่อง อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มหมู โดยเฉพาะยา โคลิสติน ซึ่งเป็นยาต้านแบคทีเรียในลำดับสุดท้ายที่โลกมีอยู่ในฟาร์มหมูอย่างไม่เหมาะสมและในปริมาณที่มากจนน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีรายงานจากประเทศจีนว่า การเลี้ยงหมูด้วยยาโคลิตินเป็นสาเหตุให้เกิดยีนดื้อยาที่เรียกว่า mcr-1   ซึ่งจะทำให้ยาโคลิสตินหมดประสิทธิภาพในการต้านหรือฆ่าเชื้อ หมายถึงเราจะไม่มียาสำหรับการฆ่าเชื้อแบคทีเรียอีกต่อไป ดังนั้นฉลาดซื้อจึงไม่ได้นิ่งนอนใจ เราขออาสาไปตรวจสอบเนื้อหมูสดในตลาดอีกรอบ โดยเก็บตัวอย่างเนื้อหมูสันในจากตลาดสด 6 แห่งใน กรุงเทพฯ ห้างค้าปลีก 8 แห่ง และสั่งซื้อออนไลน์ 1 แห่ง รวม 15 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหายาปฏิชีวนะตกค้าง 5 ชนิด โดยห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ผลการทดสอบพบ 2 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 13.3 มีการตกค้างของยา คลอร์เททระไซคลีน (Chlortetracycline) ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย โดยปริมาณที่พบ คือ 20.28 ไมโครกรัม/กิโลกรัม(ug/kg)   ในตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดใหม่บางแค และ 42.57 ไมโครกรัม/กิโลกรัม(ug/kg)   และในตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดยิ่งเจริญ  ถึงแม้จะไม่เกินมาตรฐานที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนด แต่ในทางวิชาการแล้ว ปริมาณไม่ใช่สิ่งสำคัญเพียงพบว่ามีการตกค้าง ก็อาจหมายถึงสาเหตุหนึ่งของการเกิดเชื้อดื้อยาได้เช่นกัน ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง เพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ข้อมูลตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ กำหนดให้พบการตกค้างของยาในกลุ่ม Tetracycline (เททระไซคลีน) ในเนื้อหมู(กล้ามเนื้อ) สูงสุดได้ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อ 1 กิโลกรัม---------------------------------------------------------รู้หรือไม่ว่า ในอาหารที่เรากิน เราอาจเจอได้ทั้ง ยาปฏิชีวนะ เชื้อโรคที่ดื้อยา และยีนของเชื้อที่ดื้อยา ตัวหลังนี้สำคัญเพราะมันข้ามสายพันธุ์กันได้ในหมู่เชื้อ ทำให้เชื้อโรคต่างก็พากันดื้อยา สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า มียีนที่เรียกว่า mcr-1   เกิดขึ้นแล้วพบในจีน อเมริกา อินเดีย หรือในประเทศไทยอย่างน้อยก็มีรายงานว่าพบแล้วสามคน ที่มียีนดื้อยาอยู่ในร่างกาย ยีนตัวนี้สำคัญอย่างไร ยีนดื้อยาตัวนี้ มันไม่กลัวยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะตัวที่แรงสุดในปัจจุบันคือ ยาโคลิสติน เรียกว่า ถ้ายานี้เอาเชื้อโรคไม่อยู่แล้วก็หมดยาที่จะใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 เนื้อสัตว์ในร้านฟาสต์ฟูด ปลอดภัยจาก “ยาปฏิชีวนะ” มากน้อยแค่ไหน?

ปัญหาเรื่อง “เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ” เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ที่หลายประเทศต่างก็พยายามเร่งหาทางแก้ไข ในปีนี้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้นำประเด็นปัญหาเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมจนนำไปสู่การเกิดปัญหาเชื้อดื้อยา มาเป็นประเด็นหลักในการรณรงค์ทั่วโลก โดยใช้ชื่อแคมเปญว่า “เอายาปฏิชีวนะ ออกจากอาหารของเรา” (Antibiotics Off the Menu) เป้าหมายสำคัญในการรณรงค์ครั้งนี้ก็คือ เพื่อให้เกิดการลดและยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในกระบวนการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหาร ซึ่งในปัจจุบันภาคปศุศัตว์มีการใช้ปฏิชีวนะเพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วยของสัตว์ไม่น้อยไปกว่าการใช้ปฏิชีวนะรักษาอาการเจ็บป่วยในคน โดยเป้าหมายหลักในการรณรงค์ครั้งนี้ก็คือบรรดาร้านอาหารฟาสต์ฟูดแฟรนไชส์ชื่อดังที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ที่มีการใช้เนื้อสัตว์มาปรุงอาหารเป็นจำนวนมากฉลาดซื้อฉบับนี้จึงได้เลือกสุ่มสำรวจหาการตกค้างของ “ยาปฏิชีวนะ” ในเนื้อสัตว์ปรุงสุกที่อยู่ในเมนูต่างๆ ของร้านฟาสต์ฟูดชื่อดังที่ขายในประเทศไทย ลองไปดูกันสิว่าคนไทยเรามีความเสี่ยงต่อการได้รับยาปฏิชีวะโดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นต้นเหตุขอการเกิดเชื้อดื้อยามากน้อยแค่ไหนทำไมเชื้อดื้อยาถึงอยู่ในเนื้อสัตว์ที่เรากินเพราะ ยาปฏิชีวะ ไม่ได้ถูกนำมาใช้กับคนเท่านั้น แต่ในสัตว์โดยเฉพาะในภาคการทำปศุสัตว์ ยาปฏิชีวนะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายด้วยเช่นกัน โดยทั่วไปการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์นั้นมีวัตถุประสงค์ หลัก 3 ประการ คือ 1.เพื่อการรักษา 2.เพื่อการป้องกันโรค และ 3.เพื่อเร่งการเจริญเติบโตสำหรับสาเหตุที่ทำให้ยาปฏิชีวนะมีการตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น น้ำนม ไข่ หลักๆ ก็มาจากการใช้ยาอย่างไม่ถูกวิธี บวกกับความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในการใช้ยา เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อน ทำให้เกิดปัญหาโรคติดเชื้อสูง ส่งผลให้เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์มีความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อไม่ให้สัตว์ตายหรือล้มป่วย ส่งผลให้มีการใช้ยาในปริมาณสูง ยิ่งในฟาร์มรายย่อยสถานที่เลี้ยงไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะ ยิ่งส่งผลให้สุขภาวะของสัตว์ที่เลี้ยงไว้มีความอ่อนแอและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อการใช้ยาอย่างไม่ถูกวิธี คือ ใช้ยาไม่ตรงกับโรค ผิดขนาด ผิดช่วงเวลา วิธีการใช้ไม่ถูกต้อง ซึ่งการใช้ยาในสัตว์ต้องคำนึงถึงช่วงเวลา อุณหภูมิ และความเป็นกรด-ด่างของน้ำ การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องจะส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผล ทำให้เกษตรกรหลงคิดไปว่าปริมาณยาที่ใช้ยังไม่เพียงพอนำไปสู่การเพิ่มปริมาณยา ใช้ยาบ่อยและนานขึ้น หรือไปจนถึงการเปลี่ยนไปใช้ตัวยาอื่น รวมทั้งการหยุดใช้ยาที่ไม่ถูกต้องก็ส่งผลให้เกิดการตกค้างในเนื้อสัตว์เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนที่จะนำสัตว์มาบริโภค ซึ่งต้องมีการหยุดยาก่อนตามระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนจะถึงขั้นตอนการแปรูปสู่การบริโภคการใช้ยาไม่ตรงกับโรค ผิดขนาด ผิดชนิด หรือผิดช่วงเวลา รวมทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์เป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้เชื้อแบคทีเรียในสัตว์เกิดการพัฒนายีนส์ต้านทานยามากขึ้นนอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องการใช้ยาอย่างผิดกฎหมาย คือ การนำยาปฏิชีวนะในรูปเภสัชเคมีภัณฑ์ ซึ่งไม่ใช่ยาสำเร็จรูปที่ได้รับขึ้นทะเบียนมีฉลากและเอกสารกำกับยาอย่างถูกต้องตามกฎหมายไปใช้ผสมในอาหารสัตว์ หรือการนำยาปฏิชีวนะสำหรับคนไปใช้กับสัตว์ ซึ่งส่งผลให้การใช้ยาไม่ได้ผลการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเชื้อดื้อยาที่ตกค้างในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ทำให้เกิดอาการข้างเคียงของยา เกิดการแพ้ยา และ เกิดเชื้อดื้อยาการใช้ยาในสัตว์อย่างไม่ถูกต้อง มีโอกาสที่จะเกิดเชื้อดื้อยาในสัตว์ซึ่งสามารถพัฒนาเชื่อดื้อยาแบบข้ามกลุ่ม ทำให้ทำเชื้อดื้อยาชนิดนั้นส่งผลต่อการรักษาโรคในคน โดยเชื้อดื้อยาในสัตว์นั้นสามารถถูกส่งผ่านมายังคนได้ 3 วิธีหลักๆ คือ 1.การบริโภคเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ 2.การสัมผัสกับสัตว์โดยเฉพาะผู้เลี้ยง และ 3.การรับเชื้อจากสิ่งแวดล้อม เช่น ในแหล่งน้ำและดินใกล้ฟาร์มเลี้ยงกลุ่มยาปฏิชีวนะที่วิเคราะห์1.Tetracycline group ประกอบด้วย Chlortetracycline และ Doxycyclineยาปฏิชีวนะกลุ่มเททระไซคลีน มีสรรพคุณ ใช้รักษาโรคติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อในปาก โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ 2.Colistin ประกอบด้วย Colistin A และ Colistin B โคลิสติน ใช้ในการรักษาอาการติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียหลายชนิด ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการติดเชื้อในปอดและทางเดินอาหาร3.Beta-lactam groups ประกอบด้วย Amoxicillinเบต้า-แลคแทม ใช้รักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โพรงจมูกอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนกลาง4.Macrolide groups ประกอบด้วย Tylosin tartrateยาปฏิชีวนะในกลุ่ม แมคโครไลด์ ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง รวมทั้งยังช่วยใช้ในการเร่งการเจริญเติบโตผลการทดสอบผลการสุ่มเก็บตัวอย่าง เนื้อสัตว์ปรุงสุกในเมนูอาหารของร้านฟาสต์ฟูด 18 ตัวอย่าง จาก 7 แหล่งซื้อ พบว่ามีการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 1 ตัวอย่าง คือ เมนูแซนวิชไก่อบ จากร้าน ซับเวย์ สาขาพารากอน ที่พบ Doxycycline ในกลุ่มยา Tetracycline ปริมาณ 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม(ug/kg)ทั้งนี้ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง ที่เป็นประกาศควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ โดยสารดังกล่าวถูกใช้เพื่อมุ่งหวังในการรักษา ป้องกัน วินิจฉัยโรค หรือเพื่อวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงทางสรีระหรือพฤติกรรมของสัตว์โดยข้อมูลตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ กำหนดให้พบการตกค้างของยาในกลุ่ม Tetracycline (เททระไซคลีน) ในเนื้อไก่สูงสุดได้ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อเนื้อไก่ 1 กิโลกรัมเท่ากับว่า ปริมาณยาปฏิชีวนะที่พบตกค้างในตัวอย่าง เมนูแซนวิชไก่อบ จากร้าน ซับเวย์ สาขาพารากอน ที่ปริมาณ 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดในแต่ละปีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยา หรือ “โรคติดเชื้อในกระแสเลือด” ประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000 – 38,000 คน ส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 46,000 ล้านบาทนั่นเป็นเพราะยาที่คุณใช้อยู่มีส่วนผสมของ “ยาต้านแบคทีเรีย” โดยไม่จำเป็นทำให้เกิด “เชื้อดื้อยา” ที่มา : ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)ฟาสต์ฟู้ดกับยาปฏิชีวนะปีที่แล้วองค์กรผู้บริโภคของสหรัฐฯ Consumers Union ร่วมกับองค์กรพันธมิตรด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทำการสำรวจแนวปฏิบัติเรื่องการใช้เนื้อสัตว์ปลอดยาปฏิชีวนะในเมนูอาหารของร้านฟาสต์ฟู้ด 25 แบรนด์ดังในอเมริกา และพบว่ามีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่มีแผนหรือนโยบายดังกล่าวแต่ผลการสำรวจในปีนี้ (ซึ่ง Consumers Union ประกาศเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา) อยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีถึง 9 แบรนด์จาก 25 แบรนด์ที่หันมาใช้นโยบายที่ทำให้เกิดการลดหรือเลิกใช้ยาปฏิชีวนะอย่างผิดวิธีในการเลี้ยงไก่ หมู หรือวัวในภาพรวมแล้วแบรนด์ร้านอาหารเหล่านี้แสดงให้เห็นความพยายามในการจัดซื้อจัดหาเนื้อสัตว์จากฟาร์มที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ และข่าวดีสำหรับผู้บริโภคคือภายในปี 2560 เนื้อไก่ที่ขายในร้าน Chipotle / แมคโดนัลด์ / Panera Bread / และซับเวย์ จะปลอดจากยาปฏิชีวนะผลการให้คะแนนปีนี้ปรากฏว่า Chipotle และ Panera Bread ยังรักษาเกรด A จากปีที่แล้วไว้ได้ซับเวย์ถีบตัวขึ้นจากเกรด F มาเป็น B พร้อมคำมั่นว่าภายในสิ้นปีนี้เนื้อไก่ในเมนูของร้านจะไม่มียาปฏิชีวนะ และในอีก 9 ปีข้างหน้าบริษัทมีแผนจะใช้เนื้อสัตว์ปลอดยาปฏิชีวนะทั้งหมดด้วยChick-fil-A ได้เกรด B ไปครองเพราะสามารถทำตามแผนการหยุดใช้เนื้อไก่ที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะภายในปี 2561 ไปได้ถึงร้อยละ 25 แล้วตามมาติดๆ คือแมคโดนัลด์ที่ปีนี้ได้เกรด C+ ไปครอง เพราะมีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้และจัดซื้อเนื้อไก่จากฟาร์มที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเท่านั้นส่วนดังกิ้นโดนัท ที่ปีก่อนเคยได้ถึงเกรด C ปีนี้กลับสอบตกเป็นเพื่อน เบอร์เกอร์คิง เคเอฟซี และสตาร์บัคส์ เพราะปรับเปลี่ยนนโยบายของบริษัทให้ยอมรับการใช้เนื้อสัตว์ที่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 188 เชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะ ผู้บริโภคจะทำอย่างไร ?

ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพ ใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีคุณประโยชน์อย่างมากต่อมวลมนุษยชาติ แม้ว่าการค้นหาและสังเคราะห์ยาต้านจุลชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย แต่ทว่าจากปัญหาการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม ทำให้เชื้อแบคทีเรียปรับตัวดื้อยามากขึ้น ยาหลายชนิดไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคติดเชื้อที่เคยรักษาได้อีกต่อไป จนปัจจุบันยอมรับกันแล้วว่า ปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก จุลชีพที่เป็นปัญหาการดื้อยาอย่างมากคือ แบคทีเรีย เพราะแบคทีเรียดื้อยาเกิดขึ้นแล้วจะเพิ่มจำนวนและแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวาง ยืนยันได้จากการตรวจพบยีนดื้อยาปฎิชีวนะต่างๆ ที่แพร่กระจายไปในทุกภูมิภาคทั่วโลกองค์การอนามัยโลกรายงานว่า ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 ราย และหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ในปี ค.ศ. 2050 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเสียชีวิตประมาณ 10 ล้านคน เพราะมีแนวโน้มว่าพบเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นจนน่าหวั่นเกรงว่าจะนำไปสู่โลกยุคหลังยาปฏิชีวนะ (post antibiotic era) ซึ่งไม่มียาที่มีประสิทธิภาพใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียดื้ออีกต่อไป สำหรับประเทศไทย มีรายงานการศึกษาวิจัยเบื้องต้นจากการศึกษาผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยารวม 17 แห่ง แล้วได้ประมาณการว่า มีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา 87,751 ครั้ง เสียชีวิต 38,481 ราย ทั้งๆ ที่มีมูลค่ายาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาโรคสูงถึงประมาณปีละ 6,084 ล้านบาท มีมูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 40,000 ล้านบาทองค์การอนามัยโลก จึงได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความร่วมมือดำเนินการอย่างจริงจัง มีมาตรการและแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะไม่มียาใช้รักษาโรคติดเชื้อที่สำคัญต่างๆ อีกต่อไป ในความเป็นจริงการแก้ปัญหานี้จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง รวมทั้งประชาชนผู้บริโภค เพราะมิสามารถปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ/เอกชนเท่านั้น ในฐานะผู้บริโภค เรามาทำความรู้จักกับแบคทีเรีย กลไกการดื้อยา การแพร่กระจายของเชื้อดื้อยา ตลอดจนปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบจากการดื้อยาของแบคทีเรียแบคทีเรียคืออะไรแบคทีเรีย เป็นจุลินทรีย์ที่ชีวิตขนาดเล็ก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น มีรูปร่างไม่ซับซ้อน แต่แตกต่างกันตามชนิดของเชื้อ เพิ่มประชากรได้อย่างรวดเร็ว บางชนิดเพิ่มจำนวนเป็นทวีคูณได้ทุก 15 นาที เช่น เชื้อเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) หรือเรียกย่อๆ ว่า อี โคไล แต่เชื้อบางชนิดก็ต้องใช้เวลานานในการเพิ่มประชากร เช่น เชื้อวัณโรค มีการเพิ่มจำนวนทวีคูณทุก 15 ชั่วโมง เป็นต้น แบคทีเรียมีสารพันธุกรรม ที่สำคัญ คือโครโมโซม เพียง 1 ชุด ที่ควบคุมคุณสมบัติต่างๆ การเพิ่มจำนวนการปรับตัวในสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่รอด แบคทีเรียอาจมีสารพันธุกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น พลาสมิด ทรานส์โปซอน อินทิกรอน ซึ่งจะทำให้มีความสามารถต่างๆ รวมทั้งการดื้อยาเพิ่มขึ้น เป็นต้นแบคทีเรีย พบได้ทั่วไป ทั้งในดิน น้ำ อากาศ ในคน สัตว์ พืช มีทั้งชนิดที่มีประโยชน์ และชนิดที่ก่อโรค จึงมีการใช้ประโยชน์จากแบคทีเรียชนิดดีมาอย่างยาวนาน ส่วนแบคทีเรียก่อโรค มนุษย์ก็พยายามแสวงหาวิธีการรักษา จนการค้นพบยาปฏิชีวนะ ที่มีประสิทธิภาพในการฆ่า หรือยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรคนั้นๆการดื้อยาปฏิชีวนะแบคทีเรียแต่ละชนิดถูกทำลายด้วยยาปฏิชีวนะ/ยาต้านแบคทีเรียแตกต่างกันไป และกลไกออกฤทธิ์เพื่อทำลายแบคทีเรียของยาก็แตกต่างกัน เช่น การทำลายผนังเซลล์ การยับยั้งการสร้างโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเชื้อ การขัดขวางการทำงานของเอ็นไซม์ การขัดขวางการทำงานของสารพันธุกรรม การขัดขวางการแบ่งตัว เป็นต้น ดังนั้น เพื่อความอยู่รอด เชื้อจึงมีการพัฒนาความสามารถในการต้านทาน หรือทำลายฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะ โดยกรรมวิธีต่างๆ ซึ่งเรียกว่า การดื้อยาการดื้อยาของแบคทีเรียจำแนกเป็น การดื้อยาตามธรรมชาติ เช่น เชื้อแบคทีเรียบางชนิดไม่ถูกทำลายด้วยยาบางชนิดตั้งแต่ต้น เพราะมีคุณสมบัติทางสรีรวิทยาของเยื่อหุ้มเซลล์ที่ทำให้ยาเข้าสู่เซลล์ได้น้อย ไม่เพียงพอจะทำลายแบคทีเรียได้ การดื้อยาแบบนี้ไม่เป็นปัญหาต่อการใช้ยารักษาโรคติดเชื้อ เพราะเป็นความรู้พื้นฐานของการเลือกใช้ยาที่ทราบกันทั่วไป เช่น ยาเพนิซิลลิน ไม่มีผลต่อเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ต้องใช้ยาแอมพิซิลลินในการรักษา เป็นต้นการดื้อยาของแบคทีเรียที่เป็นปัญหาต่อการใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรค คือ การกลายพันธุ์ และการดื้อยาโดยการได้รับยีนดื้อยาจากแบคทีเรียอื่นๆ จากสิ่งแวดล้อม อันเป็นกลไกการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของแบคทีเรียในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมนั่นเองการดื้อยาโดยการกลายพันธุ์ กระบวนการนี้ เกิดขี้นได้โดยการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเออย่างน้อย 1 ตำแหน่งบนโครโมโซม เกิดขึ้นได้ในอัตราต่ำประมาณ 1 เซลล์ในล้านเซลล์ ทว่า การที่แบคทีเรียเพิ่มจำนวนประชากรได้อย่างรวดเร็วดังกล่าวแล้ว จึงใช้เวลาไม่นานในการกลายพันธุ์ดื้อยาและเพิ่มประชากรเชื้อดื้อยา ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อมียาต้านแบคทีเรียชนิดใหม่ๆ การรักษาจะได้ผลดีในระยะแรก หากมีการใช้ยาอย่างพร่ำพรื่อ ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ต่อมามักจะพบว่าเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ไม่ได้ผลในการรักษา ทำให้ต้องคิดค้นยาใหม่ต่อไป การกลายพันธุ์เพื่อดื้อยานี้ เป็นการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม โดยที่แบคทีเรียจำนวนมากจะถูกทำลายไปด้วยยาปฏิชีวนะ แต่หากความเข้มข้นของยาไม่เพียงพอ การใช้ยาไม่ต่อเนื่อง ก็จะมีเชื้อเพียงจำนวนน้อยที่รอดชีวิต และปรับตัวโดยการกลายพันธุ์ ในระดับยีน เพื่อไม่ให้ยาที่ใช้เข้าไปทำลายเชื้อได้ นั่นคือ เป็นการกลายพันธุ์เพื่อต่อต้านยาการดื้อยาโดยการได้รับยีนดื้อยา แบคทีเรียสามารถรับการถ่ายทอดยีนดื้อยาจากแบคทีเรียต่างสายพันธุ์ได้หลายวิธี ได้แก่ โดยกระบวนการคอนจูเกชั่น ทรานส์ฟอร์เมชั่น และทรานส์ดักชั่น ทำให้ดื้อยาตั้งแต่ 1 ชนิด ถึงหลายชนิดได้การคอนจูเกชั่น เป็นการถ่ายทอดยีนดื้อยาโดยตรงระหว่างแบคทีเรีย 2 เซลล์ที่มีคุณสมบัติต่างกัน โดยเป็นเชื้อชนิดเดียวกัน หรือเชื้อต่างชนิดกันก็ได้ ตัวอย่างเช่นการคอนจูเกชั่นระหว่างเชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella spp.) ที่ดื้อยา กับเชื้อซัลโมเนลลาที่ไวต่อยา ก็จะทำให้เชื้อซัลโมเนลลาที่ ไวต่อยา รับยีนดื้อยา เปลี่ยนเป็นเชื้อดื้อยา หรือการคอนจูเกชั่นระหว่างเชื้อซัลโมเนลลา ที่ดื้อยากับเชื้ออีโคไลที่ไวต่อยา ทำให้เชื้ออีโคไลเปลี่ยนเป็นเชื้อดื้อยา เพราะรับยีนดื้อยาจากเชื้อซัลโมเนลลาการแลกเปลียนยีนกันไปมา ก็ทำให้ยีนดื้อยาส่งต่อให้เชื้ออื่นๆ ที่เหมาะสมในสิ่งแวดล้อม หรือในร่างกายของผุ้ป่วย เช่น ทางเดินอาหาร ซึ่งมีแบคทีเรียประจำถิ่นอาศัยอยู่มากมายทรานส์ฟอร์เมชั่น เป็นกระบวนการถ่ายทอดยีน โดยแบคทีเรียรับยีนที่อยู่เป็นอิสระในสิ่งแวดล้อมเข้าสู่เซลล์ ซึ่งยีนนั้นๆ จะชักนำให้แบคทีเรียแสดงคุณสมบัติของยีนต่อไป ในกรณีนี้ แม้แบคทีเรียที่มีแบคทีเรียที่มียีนดื้อยาจะตายไป เหลือแต่ยีน ยีนนั้นๆ ก็สามารถเข้าไปในเซลล์อื่นๆ แล้วชักนำให้ดื้อยาได้ทรานส์ดักชั่น เป็นกระบวนการถ่ายทอดยีนระหว่างแบคทีเรียโดยอาศัยแบคเทอริโอฟาจ หรือไวรัสของแบคทีเรียเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดยีนระหว่างเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นวิธีการนี้มีข้อจำกัดในการถ่ายทอดยีนดื้อยากลไกการดื้อยาของแบคทีเรียการดื้อยาของแบคทีเรีย เกิดขึ้นจากหลายกลไก ได้แก่แบคทีเรียสร้างเอนไซม์ทำลายยา ทำให้ยาสูญเสียประสิทธิภาพแบคทีเรียมีการเปลี่ยนแปลงบริเวณที่เป็นเป้าหมายของยา ทำให้ยาไม่สามารถจดจำบริเวณ นั้นได้รบกวนการซึมผ่านของยาเข้าสู่เซลล์แบคทีเรีย ทำให้ยาเข้าสู่เซลล์น้อย ไม่สามารถทำลาย แบคทีเรียได้สร้างสารชีวโมเลกุลที่แย่งจับกับเอ็นไซม์หรือเป้าหมายของยา ทำให้ยาไม่สามารถทำลายเชื้อได้กลไกดังกล่าวข้างต้นควบคุมด้วยยีนต่างๆ ที่เรียกว่ายีนดื้อยา ดังนั้น การที่แบคทีเรียสามารถถ่ายทอดยีน หรือแลกเปลี่ยนยีนระหว่างเชื้อแบคทีเรีย หรือรับยีนจากสิ่งแวดล้อมได้ ทำให้แบคทีเรีย 1 เซลล์ได้รับยีนมากกว่า 1 ยีนได้ อาจรับได้มากถึง 4 ยีน จึงมีคุณสมบัติดื้อยาหลายชนิดพร้อมกัน นำไปสู่ปัญหาการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคอย่างมากปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุของการปรับตัวดื้อยาของแบคทีเรีย ได้แก่ การใช้ยาปฏิชีวนะไม่เหมาะสม การปนเปื้อนของยาใน น้ำ อาหาร และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงต้องควบคุมปัจจัยเหล่านั้นอย่างเข้มงวดการดื้อยาข้ามกลุ่มการดื้อยาข้ามกลุ่มคืออะไร ? คือการที่แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะโดยผลจากการได้รับสารที่เคมีมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อกลุ่มไบโอไซด์ (biocides) เช่น กรณีไตรโคลซาน (triclosan) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย นิยมนำมาผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ประเภทสบู่ ยาสีฟัน ครีมอาบน้ำ ล้างมือ เป็นต้น ทว่ามีรายงานวิจัยพบว่าเมื่อใช้เป็นเวลานาน ทำให้แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ โดยมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการปั๊มยาออกนอกเซลล์ ทำให้มีปริมาณยาปฏิชีวนะในเซลล์น้อยไม่สามารถฆ่าเชื้อ และเชื้อปรับตัวดื้อยาในที่สุด ปัจจุบัน องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกการใช้ไตรโคลซานในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแล้ว รวมถึงสารเคมีกลุ่มนี้อีก 18 ขนิด ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีในการลดการทำให้แบคทีเรียดื้อยา เพราะผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารเคมีเหล่านี้ ถูกใช้อย่างกว้างขวางในชีวิตประจำวันแบคทีเรียดื้อยาที่พบในประเทศไทยศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งขาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า พบแบคทีเรียดื้อยากลุ่มต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้เชื้ออะซินีโตแบคเตอร์ (Acinetobacter spp.) และเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) เป็นเชื้อที่มักพบในผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาล(Methicillin resistant Staphylococcus aureus, MRSA และ Methicillin resistant coagulase negative S. aureus, MRCoNS)เชื้อเอนเทอโรคอคไคดื้อยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin resistant enterococci , VRE)เชื้อกลุ่มเอนเทอโรแบคเทอริเอซีที่สร้างเอนไซม์เบต้าแลคเทมเมสชนิดมีฤทธิ์กว้าง (Extended spectrum beta-lactamase , ESBL producing Enterobacteriaceae)Enterobacteriaceae , CRE)เชื้อสเตรฟโตคอคคัสดื้อยาเพนิซิลลิน (Penicillin resistant Streptococcus pneumoniae , PRSP)วัณโรคดื้อยาหลายชนิด (Multidrug resistant tuberculosis , MDR-TB และ Extensively drug resistant tuberculosis, XDR-TB)เชื้ออีโคไลที่ดื้อต่อยาโคลิสติน ซึ่งต้องศึกษาในรายละเอียดต่อไปว่า มียีนดื้อยาบนโครโมโซม หรือชนิดที่มียีน mcr-1 บนพลาสมิดแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชึพในปศุสัตว์สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ได้สำรวจติดตาม ระหว่าง พ.ศ. 2545-2558 พบเชื้อดื้อยาในหมู ไก่ เป็ด และห่าน ได้แก่ เชื้ออีโคไล และ ซัลโมเนลลา พบเชื้อแคมพิโลแบคเตอร์ (Campylobacter spp.) ดื้อยาในเนื้อหมู และไก่ และบางตัวอย่างสามารถพบเชื้อซัลโมเนลลาที่ดื้อยาถึง 3 ชนิดพร้อมกัน เชื้อที่ตรวจพบนั้นดื้อยาปฏิชีวนะต่างๆ ดังต่อไปนี้อะมอกซีซิลลินอะมอกซีซิลลิน/คลาวูลานิคแอซิด แอมพิซิลลินเตตราซัยคลิน อ๊อกซีเตตราซัยคลินสเตร็ปโตมัยซิน ไทรเมทโทพริมซัลฟาเมโธซาโซล กานามัยซินเจนตามัยซินเอนโรฟ็อกซาซินด็อกซีซัยคลินโคลิสตืน เซฟติโอเฟอ สเป็คติโนมัยซิน คลอแรมเฟนิคอล นาลิดิซิคแอซิด ซัยโพรฟล็อกซาซินแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะในสัตว์น้ำกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า ในช่วงปี พ.ศ, 2549-2557 แบคทีเรียก่อโรคที่พบเป็นปัญหาสำคัญของสัตว์น้ำทั้งปลา และกุ้ง ได้แก่ เชื้อวิบริโอ ( Vibrio spp. ) ดื้อยาต่อไปนี้ ได้แก่เตตราซัยคลิน อ๊อกซีเตตราซัยคลินคลอแรมเฟนิคอลซัลฟาเมโธซาโซล ออกโซลินิตแอซิดเอนโรฟล็อกซาซินการใช้ยาปฏิชีวนะในพืชโรคกรีนนิ่งในพืชตระกูลส้ม เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะนาว เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผลผลิตลดลง โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบ ชื่อแคนดิดาตัส ลิเบอริแบคเตอร์ (Candidatus liberibacter) ซึ่งก่อโรคในท่อลำเลียงน้ำและอาหาร ปัจจุบันเกษตรกรใช้ยาแอมพิซิลลินฉีดเข้าไปในท่อลำเลียงน้ำและอาหารของต้นพืชโดยตรงเพื่อการทำลายเชื้อ ยังไม่มีรายงานการดื้อยา แต่ควรต้องติดตามต่อไปว่ายาแอมพิซิลลินที่ใช้จะทำให้เชื้อก่อโรคพืชดื้อยาหรือไม่ และมีผลกระทบทำให้แบคทีเรียอื่นๆ บริเวณต้นพืชดื้อยาหรือไม่การตกค้างของยาปฏิชีวนะในอาหารสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานผลการสำรวจยาปฏิชีวนะกลุ่มคลอแรมเฟนิคอล ไนโตรฟูแรน เพนิซิลลิน ซัลโฟนาไมด์ เตตราซัยคลิน ที่อาจตกค้างในเนื้อหมู กุ้ง ไก่ และเครื่องใน ระหว่าง พ.ศ. 2553-2557 พบว่ายาตกค้างในเนื้อสัตว์ที่ตรวจบางตัวอย่าง ได้แก่ซัลฟาไดมิดีนซัลฟาไดอะซีนซัลฟาไทอะโซลเซมิคาร์บาไซด์อ๊อกซาโซลิดิโนนซัลฟิซ็อกซาโซลผู้บริโภคจะทำอย่างไร ?ปัญหาแบคทีเรียดื้อยาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมและทันสถานการณ์ นับว่าเป็นภัยคุกคามชีวิตคนไทยและคนทั่วโลก และเห็นได้ว่า การปรับตัวดื้อยา ปฏิชีวนะของแบคทีเรียเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แล้วเชื้อสามารถแพร่กระจายได้หลายวิธีการ ผู้บริโภคจำป็นต้องรู้เท่าทันปัญหา และไม่ร่วมสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น โดย  ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น  หากจำเป็นต้องใช้ ต้องใช้อย่างถูกต้อง เพื่อทำลายเชื้อก่อโรคให้หมดจริงๆ ไม่เหลือให้ปรับตัวดื้อยาในร่างกาย  จำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมเกษตร และปศุสัตว์ ใช้เมื่อจำเป็น อย่างเหมาะสม  ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา ช่วยเฝ้าระวังการปนเบื้อนของยา เชื้อดื้อยา ในอาหาร ผลิตภัณฑ์ต่างๆ และสิ่งแวดล้อม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนมีนาคม 2559เริ่มเก็บค่าผ่านทางอัตราใหม่ “มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี” 18 เม.ย.กรมทางหลวงออกประกาศว่า ในวันที่ 18 เมษายนนี้ จะเริ่มต้นเก็บค่าผ่านทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์) สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร โดยในระยะทางตอนแรกจากกรุงเทพฯ-ชลบุรี 78 กิโลเมตร จะเป็นระบบปิด คือเก็บตามระยะทางรับบัตรจากต้นทาง แล้วจ่ายเงินเมื่อออกจากด่าน เฉลี่ยกิโลเมตรละ 1 บาท จากเดิมที่เก็บในอัตราเดียวคือด่านละ 30 บาท โดยมี 5 ด่าน คือ ด่านลาดกระบัง ด่านบางบ่อ ด่านบางปะกง ด่านพนัสนิคม และด่านพานทอง ซึ่งอัตราค่าผ่านทางใหม่นี้จะทำให้ผู้ใช้เส้นทางได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น เพราะเป็นการคิดตามระยะทางโดยอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทาง ประเภทรถ 4 ล้อ เริ่มต้นที่ 10 - 60 บาท รถ 6 ล้อ เริ่มต้นที่ 15 - 95 บาท และ รถที่มากกว่า 6 ล้อ เริ่มต้นที่ 20  – 140 บาท ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊คของกรมทางหลวง เพิ่มความคุ้มครองอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะถือว่าเป็นข่าวดี เมื่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีมติปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองการประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับทั้งกรณีเสียชีวิตและบาดเจ็บ โดยเพิ่มความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตและทุพลภาพจาก 200,000 บาท เป็น 300,000 บาท และเพิ่มค่าชดเชยเป็นค่ารักษาพยาบาลจาก 50,000 บาท เป็น 80,000 บาท ซึ่งจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 59 นี้เป็นต้นไปนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่าการเพิ่มเติมวงเงินชดเชยครั้งนี้ เป็นข้อสรุปที่ได้จากการร่วมประชุมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย และตัวแทนบริษัทประกันภัย ซึ่งการปรับปรุงเพิ่มความคุ้มครองครั้งนี้ จะครอบคลุมกับผู้ที่ทำประกันทั้งหมด ทั้งผู้ประกันรายใหม่และผู้ที่ทำประกันเดิมที่ยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาประกัน ที่สำคัญคือค่าเบี้ยประกันยังคิดในอัตราเดิมไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น   เมืองไทยยังขาดแคลนนักบินปัจจุบันนี้ในบ้านเราการสัญจรโดยเครื่องบินโดยเฉพาะการเดินทางภายในประเทศมีแน้วโน้มความต้องการการใช้บริการที่มีแต่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยราคาที่ถูกลง จำนวนเที่ยวและสายการบินที่เพิ่มขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามขณะนี้เรากำลังประสบปัญหาขาดแคลนนักบินจากการเปิดเผยข้อมูลโดย สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) พบว่าขณะนี้ไทยมีนักบินอยู่จำนวน 2,500 - 3,000 คน ซึ่งในแต่ละปี ธุรกิจการบินต้องการนักบินใหม่เพื่อเพิ่มและทดแทนปีละ 400 - 500 คน แต่ปัจจุบันสามารถผลิตนักบินได้เพียงปีละ 200 - 300 คน รวมถึงกลุ่มวิศวกรด้านการบินและช่างอากาศยาน มีทั้งสิ้น 8,000 - 9,000 คน แต่ละปีสามารถผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมการบินได้เพียง 300 - 400 คนต่อปี จากความต้องการมากกว่า 400 คนต่อปีด้าน ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจคุณภาพของหลักสูตรของสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เปิดสอนด้านการบิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรด้านการบิน จำนวน 26 แห่ง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีจำนวนนักศึกษาสนใจเข้าเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี ตามการขยายตัวของธุรกิจการบินในประเทศ แต่สายการบินส่วนใหญ่โดยเฉพาะสายการบินที่เปิดใหม่ก็ยังมีความต้องการนักบินและช่างอากาศยานที่มีความเชี่ยวชาญมีประสบการณ์มากกว่านักบินหรือช่างที่จบใหม่ ทำให้เกิดการขาดช่วงแรงงาน เอาผิด “สุรชัย Face Off” โฆษณาเกินจริงกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เอาผิดโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งกมล หลังมีความผิดจากการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง กรณีทำศัลยกรรมเสริมความงามให้แก่ นายสุรชัย สมบัติเจริญ นักร้องลูกทุ่ง ในโครงการ “เฟซออฟ ผ่าแหลก ศัลยกรรม 10 อย่างบนหน้ากระชากความแก่จาก 60 ให้เหลือ 35 โดย ดร.เซปิง” โรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งกมล มีการยินยอมให้มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณบริการเสริมความงาม เนื่องจากไม่ได้มีการทักท้วงหรือปฏิเสธ การโฆษณาประชาสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวเลย ซึ่งถือว่าผิดมาตรา 38 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 11 พ.ศ. 2546 เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโฆษณาสถานพยาบาล โดยจะมีการเปรียบเทียบปรับเป็นจำนวน 20,000 บาท และจะปรับต่อวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะยุติการเผยแพร่การโฆษณา นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภาได้ให้ความเห็นถึงการโครงการ “เฟซออฟ” ผ่าตัดศัลยกรรมใบหน้าให้ดูอ่อนวัยลงครั้งนี้ว่า “การทำศัลยกรรมของคุณสุรชัยครั้งนี้ เป็นการทำเฟซลิฟต์ (Face Lift) คือ การดึงหน้าให้ตึงขึ้น ทั้งส่วนของหน้าผาก การดึงแก้มไปซ่อนที่หลังหู นอกจากนี้ ยังมีการทำตา ฉีดโบท็อกซ์เพื่อลดการหดตัวของกล้ามเนื้อไม่ให้เกิดร่องลึก และฟิลเลอร์ให้เต่งตึง ซึ่งตรงนี้จะอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน การทำศัลยกรรมดึงหน้าและทำตา ถือว่าเป็นหัตถการที่ไม่เสี่ยงมาก หากประชาชนทั่วไปอยากทำก็สามารถทำได้ แต่ต้องพิจารณาฝีมือของหมอด้วย”   เอายาปฏิชีวนะ ออกจากอาหารของเราคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้ร่วมรณรงค์ในประเด็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างเรื่อง การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในอาหารซึ่งส่งผลต่อมายังสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่ง สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้ยกเป็นประเด็นรณรงค์ที่สำคัญและเร่งด่วน โดยได้มีการขอความร่วมมือไปยังร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อดังซึ่งมีสาขากระจายอยู่ทั่วโลก ให้เลือกใช้วัตถุดิบในการผลิตอาหารโดยเฉพาะพวกเนื้อสัตว์ที่มาจากการเลี้ยงที่ปลอดจากการใช้ยาปฏิชีวนะนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสมาชิกสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล ได้กล่าวว่า ในต่างประเทศร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดังอย่าง  แมคโดนัลด์ เริ่มตื่นตัวกับปัญหานี้บ้างแล้ว โดยสาขาในอเมริกาได้ให้คำมั่นว่าจะรับซื้อเฉพาะเนื้อไก่จากฟาร์มที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดที่ใช้ในคนภายในปี พ.ศ. 2560 การรณรงค์ในประเทศไทยครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ร้านฟาสต์ฟู้ดที่เปิดสาขาในเมืองไทยเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ด้วยด้าน ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้อำนวยการ กพย. กล่าวว่า การดื้อยาทำให้เกิดวิกฤติทางสุขภาพของผู้คนทั่วโลก สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นในการเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้คาดว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคการเกษตรจะเพิ่มขึ้นจาก 63,200 ตันในปี พ.ศ. 2553 เป็น 105,600 ตันในปี พ.ศ. 2573 ถ้าไม่จัดการปัญหาดังกล่าว ซึ่งการดื้อยาจะส่งผลต่อการรักษาอาการป่วยบางโรค อาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจเป็นเป็นโรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตคนได้การรณรงค์ครั้งนี้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถร่วมลงชื่อสนับสนุนให้เกิดการยกเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ได้ที่ www.change.org ในหัวข้อ เอายาปฏิชีวนะ ออกจากอาหารของเรา (Antibiotics Off the Menu)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 กระแสต่างแดน

เมนูนี้ต้องไม่มียาปฏิชีวนะ!วันผู้บริโภคสากล (15 มีนาคม) ปีนี้ ผู้บริโภคทั่วโลกจะร่วมกันเรียกร้องให้ผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีสาขาทั่วโลกอย่าง แม็คโดนัลด์ เคเอฟซี ซับเวย์ ฯลฯ ยกเลิกการใช้เนื้อสัตว์ที่ผ่านการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น ประมาณร้อยละ 50 ของยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อที่ผลิตขึ้นในโลก ถูกใช้ในภาคการเกษตร แม้ว่ายานี้จะมีไว้เพื่อหยุดยั้งการติดเชื้อในสัตว์ แต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้าในปัจจุบันกลับนิยมใช้เพื่อป้องกัน (ไม่ใช่รักษา) การติดเชื้อ ที่แย่ไปกว่านั้นคือการใช้ในปริมาณต่ำร่วมกับฮอร์โมนเพื่อเร่งการเจริญเติบโต วิถีปฏิบัติแบบนี้ทำให้เกิดปัญหาการดื้อยา หลายๆ ประเทศประสบปัญหานี้ในระดับร้ายแรงแล้ว องค์การอนามัยโลกเตือนว่าถ้านานาประเทศยังไม่ร่วมกันแก้ไขเรื่องนี้ เราก็จะเข้าสู่โลกยุคหลังยาปฏิชีวนะ นั่นหมายความว่ายาที่มีอยู่จะไม่สามารถรักษาโรคได้และการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เราเสียชีวิตได้ แม้จะมีความกังวลในเรื่องนี้มาระยะหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าการใช้ยาปฏิชีวนะจะลดลง ข้อมูลจากสหพันธ์ผู้บริโภคสากลระบุว่าเมื่อถึงในปีค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) การใช้ยาฆ่าเชื้อจะเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 70 ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายประกาศว่าจะยกเลิกการใช้วัตถุดิบเนื้อสัตว์ที่ผ่านการเร่งโตด้วยยาปฏิชีวนะ แต่การสำรวจร้านอาหารฟาสต์ฟูด 25 แบรนด์ในอเมริกาครั้งล่าสุดในปี 2558 โดยองค์กรผู้บริโภค พบว่ามีถึง 20 รายที่ยังไม่มีนโยบายงดซื้อเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะเลยนางสาวอมานดา ลอง ผู้อำนวยการสหพันธ์ผู้บริโภคสากลกล่าวว่าธุรกิจอาหารขนาดใหญ่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างกว้างขวาง เป็นกำลังสำคัญในการรณรงค์ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับธุรกิจอื่นๆ ผู้บริโภคเองก็เป็นกำลังสำคัญเช่นกัน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หนึ่งในองค์กรสมาชิกของสหพันธ์ผู้บริโภคสากลจึงขอเชิญชวนผู้อ่านฉลาดซื้อ ร่วมเรียกร้องให้ร้านฟาสต์ฟู้ดยกเลิกเมนูที่มีเนื้อสัตว์ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ ด้วยการถ่ายรูปตัวเองขณะถือป้าย #AntibioticsOffTheMenu (เมนูนี้ต้องไม่มียาปฏิชีวนะ) หน้าร้านฟาสต์ฟู้ด โพสต์ลงในเฟสบุ้คแล้วติดแฮชแท็ก #AntibioticsOffTheMenu ก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2559 นี้   ทีพีพี ที่ไม่พอเพียงเกษตรกรญี่ปุ่นส่วนหนึ่งกำลังหวั่นวิตกว่าแผนเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (TPP) ของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ จะทำให้วิถีชีวิตแบบเรียบง่ายของพวกเขาเปลี่ยนไป   เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลก นายอาเบะเสนอให้ญี่ปุ่นทำการเกษตรเชิงรุก โดยเกษตรกรรายเล็กจะได้รับการส่งเสริมให้ขยายกิจการ หลายคนมองว่าแผนนี้หมายถึงการเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งจากสภาพอากาศและราคาน้ำมันที่ผันผวนตลอดเวลา โซอิจิ ยามาชิตะ เกษตรกรวัย 79 ปี เป็นหนึ่งในเกษตรกรรายย่อยที่ไม่ต้องการรวยจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว  ด้วยพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ ในแต่ละปีครอบครัวยามาชิตะผลิตข้าวได้ 2.5 ตัน ส้ม 7 ตัน มะนาวเหลือง 500 กิโลกรัม พลัมและผักหลากหลายชนิดอีก 200 กิโลกรัม พวกเขารู้สึกเพียงพอแล้วสำหรับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ชาวสวนผลไม้ในญี่ปุ่นยังไม่ลืมความล้มเหลวของนโยบายส่งเสริมการปลูกส้มของรัฐบาลในช่วงปี 70 ที่ส่งผลให้ผลผลิตส้มล้นตลาดในช่วงปี 80 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการเปิดเสรีทางการค้าที่ทำให้ส้มจากต่างประเทศสามารถเข้ามาตีตลาดในญี่ปุ่นด้วย ผู้ดีกินดี นิสัยการกินของคนอังกฤษกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เรื่องนี้ยืนยันโดยงานสำรวจ National Food Survey ของรัฐบาลอังกฤษ ในสองสามทศวรรษที่ผ่านมา คนอังกฤษหันมาบริโภคนมพร่องมันเนย ขนมปังโฮลวีท และผลไม้สดกันมากขึ้น ผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดได้แก่กล้วย ด้วยสถิติการบริโภคคนละ 221 กรัมต่อสัปดาห์ ตามด้วยแอปเปิ้ล (131 กรัม) และส้ม (48 กรัม) แม้แต่การดื่มน้ำอัดลมก็หันมาเลือกดื่มชนิดที่มีแคลอรี่ต่ำกันมากกว่าเดิม คนอังกฤษมีนิสัยการกินดีขึ้นทั้งๆ ที่มีการใช้จ่ายด้านอาหารลดลง เมื่อ 40 ปีก่อนพวกเขาใช้จ่ายร้อยละ 24 ของรายได้เพื่อซื้ออาหารแต่ปัจจุบันการใช้จ่ายดังกล่าวมีเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น ในทางกลับกันเขาพบว่าการบริโภคชาของชาวเมืองผู้ดีลดลงครึ่งหนึ่งจากช่วงปี 70 จากที่เคยดื่มสัปดาห์ละ 23 ถ้วย ปัจจุบันเหลือเพียงสัปดาห์ละ 8 ถ้วยเท่านั้น และแม้ว่าชาจะเป็นเครื่องดื่มร้อนที่นิยมมากที่สุด คนอังกฤษกลับมีรายจ่ายไปกับกาแฟมากกว่า งานสำรวจนี้เก็บข้อมูลจาก 150,000 ครัวเรือน ระหว่างปีค.ศ.1974 ถึง ค.ศ. 2014

อ่านเพิ่มเติม >